มังสวิรัติ การกินมื้อเดียว

สรุปการไม่กินเนื้อสัตว์(แบบสั้น)

October 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,156 views 0

เรื่องไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันเรื่องตื้นๆนะ ใช้แค่ปัญญาตื้นๆ เป็นสามัญ คนที่ไม่นับถือศาสนาเขาก็ยังเข้าใจได้

ว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเนี่ย มันส่งผลโดยตรงต่อการฆ่า เป็นการร่วมวงจรแห่งการเบียดเบียน เอาแค่ตรงนี้ก่อน มันเป็นอกุศลชัดๆอยู่แล้ว

แล้วคนมีปัญญาที่ไหนเขาจะเสียเวลาไปทำอกุศลให้มันลำบากตัวเอง ทั้งๆที่เลือกได้เล่า

สรุปกันให้ชัดๆ ว่าจะไปโง่ทำทุกข์ใส่ตัวเองทำไม (…ที่มันโง่เพราะมันมีกิเลสนั่นแหละ)

ปลดอาวุธพร้อม!! (เทศกาลเจ)

October 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,049 views 0

เข้าใกล้ช่วงเทศกาลเจเข้าไปทุกที จริงๆผมเองจำไม่ได้หรอกนะ เพราะไม่ค่อยสนใจเทศกาลอะไรสักเท่าไหร่

แต่ก็เรียกได้ว่าช่วงเจนี่เป็นช่วงปล่อยของแห่งปีเลยทีเดียว หลอกหลอนกันยิ่งกว่าวันปล่อยผี ผีกาม ผีอัตตา มีมากันเต็มไปหมด

เป็นช่วงเวลาที่หลายๆคนจะได้แสดงภูมิอันยิ่งใหญ่ของตนผ่านการยัดเยียดความรู้เหล่านั้นให้ผู้อื่น และจะดุดันเป็นพิเศษในช่วงปล่อยผีนี่แหละ

ซึ่งก็ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไรเหมือนกัน….. (คนเขาไม่อยากรู้ แล้วไปบอกเขาเรียกว่า…)

สำหรับผู้ที่แสวงหาความผาสุกในชีวิต ต้องการที่จะพ้นทุกข์ ก็แนะนำว่าให้ปลดอาวุธ วางหอก วางดาบ วางอัตตาของตัวเองไว้ แล้วเรียนรู้โลกอย่างที่มันเป็น

ไม่ได้ให้วางเฉยนะ เพียงแค่ให้ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวเองเท่านั้นเอง จะอ่าน จะศึกษา จะแบ่งปันอะไรก็ทำไป แต่อย่าไปแข่งดีเอาชนะ อย่าไปดูถูกดูหมิ่น อย่าไปยกตนข่มใครหรือเถียงกันในพื้นฐานความเห็นที่แตกต่าง เพราะมันเป็นสิ่งที่เสียเวลาเอามากๆ

ฟ้าจะส่งนักรบเข้ามาพิสูจน์ความแข็งแกร่งของจิตใจด้วยลีลาท่าทาง ที่จะทำให้รู้สึกว่า แหม… มันน่าจะหยิบดาบมาฟาดให้หัวหลุดจากบ่าเสียนี่กระไร …แต่ช้าก่อน!!! ถึงจะทำเช่นนั้นไปก็เท่านั้น เพราะการตอบสนองอัตตาด้วยอัตตา ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีสิ่งดีงามอะไรเติบโตขึ้นมาในโลก มีเพียงคนที่จมลงสู่นรกอีกคนเท่านั้นเอง

เผื่อมีคนสงสัย … ถ้าเขาเข้ามาทิ่มแทงเราด้วยวาจา ฟาดฟันเราด้วยหลักฐานอ้างอิงต่างๆ ถ้าไม่สู้แล้วจะให้ทำอะไร?

…ก็ไม่ต้องทำอะไรหรอก ก็รับไปอย่างนั้นแหละ เขาจะฟันจะแทงมายังไงก็รับๆไป ปล่อยให้เขาชนะไป เขาไม่อยากได้อะไรจากเราหรอกนอกจากชัยชนะ เราก็ยอมให้เขาไป เห็นเขาอยากได้ แล้วเราชี้แจงหรือห้ามไม่ได้ก็ปล่อยเขาชนะไปอย่างที่เขาต้องการ

ส่วนเราก็มาตรวจสอบใจเราเองก่อน ว่าเป็นอย่างไร ถูกผิดวางไว้ก่อน เอาใจนี่เป็นหลักเลย จับผีในตัวเองให้ได้ก่อน อย่าไปเสียเวลาจับผีข้างนอก ถ้าใจสงบดีแล้วก็ค่อยมาตรวจสอบข้อมูลว่าที่เขาว่ามันถูกไหม เราแก้ไขส่วนผิดตัวเองได้ก็แก้ อะไรที่มันถูกอยู่แล้วก็คงไว้ เท่านั้นเอง

วิเคราะห์ข้อคิดเห็น : กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป…จริงหรือ?

October 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,093 views 0

กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป...จริงหรือ?

วิเคราะห์ข้อคิดเห็น : กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป…จริงหรือ?

ในสังคมเรานั้นยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่มากในประเด็นของการกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาว่าบาปหรือไม่บาป ซึ่งผู้ที่กินเนื้อสัตว์ก็บอกว่าไม่บาป ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็บอกว่าบาป แท้จริงแล้วมันบาปหรือไม่ ในบทความนี้เราจะมาวิเคราะห์กัน

ก่อนจะเข้าบทวิเคราะห์ เราก็ต้องปรับสัญญาให้ตรงกันก่อนว่า “บาป” นั้นคืออะไร บาปกับความชั่วหรือสิ่งไม่ดีนั้นเหมือนกันไหม เราจะมากำหนดหมายคำว่าบาป กับคำว่าอกุศล เพื่อให้เข้าใจตรงกันในเนื้อหาของบทความนี้

บาป นั้นหมายถึงกิเลส การสนองกิเลส การสะสมกิเลส การยั่วกิเลส การมัวเมาในกิเลสย่อมเป็นบาปทั้งนั้น ตรงข้ามกับ บุญ คือการชำระกิเลส เป็นตัวทำลายกิเลส

กิเลส คือ สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ จำแนกได้สามลักษณะใหญ่ๆ คือโลภ โกรธ หลง

อกุศล คือความชั่ว ความไม่ดี ความเบียดเบียน ตรงข้ามกับกุศล คือความดีงาม และอกุศลกรรมนั้นก็คือกรรมที่ให้ผลไปในทางลบ กรรมชั่ว กรรมดำอกุศลไม่ใช่บาป เป็นคนละอย่างกัน แต่การทำบาปสร้างอกุศล

บทนำในการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น

การกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาปจริงหรือ? หลายคนที่ยังกินเนื้อสัตว์มักจะมีความเชื่อว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่บาป ด้วยตรรกะหรือการได้ยินได้ฟังเหตุผลใดก็ตามแต่ สิ่งเหล่านั้นก็ยังเป็นเพียงแค่ความคิดเห็น ไม่ใช่ความจริง

เราไม่พึงเชื่อเพราะเขากล่าวอ้างมา เพราะเขาพูดกันมา ทำกันมา เพราะการคิดเอาเอง เพราะเห็นว่าสิ่งนั้นเหมือนกับที่ตนเข้าใจ เพราะเขาเป็นคนมีชื่อเสียง เพราะเขาเป็นอาจารย์ของเรา ฯลฯ แต่พึงพิจารณาด้วยปัญญาว่าสิ่งใดเป็นกุศลสิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงธรรมนั้น ถ้าเป็นอกุศลก็ละเว้นจากธรรมนั้นเสีย นี่คือข้อมูลส่วนหนึ่งจาก “กาลามสูตร” ซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันความหลงมัวเมาในข้อมูล และป้องกันการติดภพหลงในความยึดมั่นถือมั่นและอื่นๆอีกมากมาย

อย่างที่เรารู้กันว่า ในสมัยนี้มีโรงฆ่าสัตว์มากมาย ธุรกิจค้าเนื้อสัตว์ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมบ้านเรา ซึ่งจะมีสัตว์ที่ถูกบังคับ ถูกทำร้าย ถูกฆ่าทุกวันๆ ซึ่งมีองค์ประกอบในการทำชีวิตสัตว์ให้ตกร่วงที่ครบพร้อม คือรู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต และพยายามฆ่าจนสัตว์นั้นตาย นั่นหมายถึงผิดบัญญัติของพุทธเต็มประตูอยู่แล้ว คงจะไม่มีชาวพุทธคนไหนกล้ากล่าวว่าการฆ่าสัตว์นั้นไม่เบียดเบียน ไม่ผิดศีล

การไม่ฆ่าสัตว์นั้นถือเป็นบทบัญญัติแรกของศาสนาพุทธ เป็นขั้นต่ำที่สุดของผู้ที่ศรัทธาและปฏิบัติตามหลักของพุทธพึงกระทำ เรียกว่าอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีศีลข้อนี้ให้ได้ นี่เป็นเพียงศีลข้อแรกในศีล ๕ คือการงดเว้นการฆ่าสัตว์ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ยินดีในการฆ่า และชักชวนให้ผู้อื่นงดเว้นการฆ่า

ดังนั้นจะสรุปประเด็นนี้ไว้ก่อนเลยว่า แม้จะเรียกตนเองว่าชาวพุทธ ศรัทธาในศาสนาพุทธ เข้าวัดฟังธรรม แต่ถ้าศีล ๕ ยังถือปฏิบัติไม่ได้ ก็ไม่เรียกว่ามีความเป็นพุทธ เป็นเพียงผู้ที่ศรัทธาแต่ไม่สามารถเข้าถึงการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะไม่มีปัญญารู้ว่าอะไรเป็นกุศล อกุศล ไม่สามารถแยกแยะดีชั่วได้ จึงไม่ยินดีในการเข้าถึงสิ่งที่ดี และไม่ละเว้นสิ่งที่เป็นภัย

แล้วทีนี้การฆ่าสัตว์นี้มันผิดทางพุทธ เป็นเรื่องนอกพุทธ ชาวพุทธเขาไม่ทำกัน เพราะไม่ใช่สิ่งที่ปฏิบัติแล้วนำพาความเจริญมาให้ชีวิต มีแต่ความเสื่อมและอกุศลกรรม ดังนั้นผู้มีปัญญาย่อมหลีกเลี่ยงจากการฆ่า แม้ว่าจิตตนนั้นจะยังไม่สามารถทำลายความโกรธและอาฆาตได้ก็ตาม

บทวิเคราะห์ : เนื้อที่ถูกฆ่ามา กับการซื้อขายเนื้อสัตว์

เมื่อการฆ่าสัตว์นั้นผิดทางพุทธ เนื้อที่ถูกฆ่ามาย่อมเป็นเนื้อที่ผิดแนวทางของพุทธด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่เนื้อที่ได้มาด้วยการไม่เบียดเบียน แต่การจะได้มาต้องใช้การฆ่า นั่นหมายถึงเนื้อนั้นย่อมไม่ใช่สิ่งที่บริสุทธิ์ เป็นของที่ถูกพรากมา เป็นของที่ขโมยมาจากสัตว์เหล่านั้น และที่สำคัญมันไม่ได้ตายเพื่อเราด้วยเจตนาของมันเอง แต่เขาฆ่ามันให้ตายเพื่อที่จะได้ประโยชน์จากมัน

หลังจากได้เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาแล้ว ก่อนจะได้เนื้อสัตว์มากินนั้น ต้องผ่านจุดคัดกรองที่เรียกว่า มิจฉาวณิชชา ๕ ท่านบัญญัติว่าชาวพุทธไม่ควรค้าขายเนื้อสัตว์ ถ้าค้าขายก็ถือว่าผิด ปรับตกไปได้เลย ไม่ต้องคิดต่อว่าบาปหรือไม่บาป เพราะผิดพุทธมันไม่พ้นทุกข์อยู่แล้ว

บทวิเคราะห์ : กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา บาปหรือไม่?

ถึงแม้จะได้เนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่านั้นมาฟรีๆ หรือเลี่ยงบาลีจนเข้าใจว่าตนเองซื้อเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ผิด ไม่ได้ฆ่าเอง จนได้เนื้อสัตว์นั้นมาก็ตาม ตรงนี้จะเป็นจุดวิเคราะห์ในเรื่อง “บาปหรือไม่” ถ้าบาปนั้นหมายถึงมีกิเลสเป็นองค์ประกอบร่วม กิเลสในที่นี้ที่จะระบุลงไปเลยคือความหลง (โมหะ) คือ การหลงยินดีในเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา(ยอมรับการผิดศีลว่าดี เป็นเรื่องที่กระทำได้โดยไม่มีโทษ)ถ้ามีจิตเช่นนี้ จะสรุปลงไปเลยว่า “บาป

เมื่อมีความรู้แน่ชัดแล้วว่า ในยุคสมัยนี้เนื้อสัตว์ใดก็ล้วนถูกฆ่ามาทั้งนั้น ชาวพุทธที่มีหิริโอตตัปปะ ย่อมสะดุ้งกลัวต่ออกุศลกรรมที่จะเกิดขึ้น ย่อมหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นกรรมชั่ว คือการเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เขาทำชั่ว ให้เขาฆ่าสัตว์ ให้เขาทำบาป ให้เขาทำผิดวิสัยของพุทธ

การสนับสนุนให้ผู้อื่นทำบาปและอกุศลกรรมย่อมไม่ใช่ลักษณะของมิตรที่ดี ชาวพุทธย่อมรักกันดูแลกันไม่ให้ตัวเองและผู้อื่นทำบาป ย่อมตักเตือนและชี้นำกันไปสู่ทางเจริญ เพราะรู้ดีว่าผลแห่งบาปนั้นสร้างทุกข์ขนาดไหน ดังนั้นผู้ที่ตั้งจิตไว้ดีแล้วย่อมไม่สนับสนุนให้คนได้ทำบาปนั้นๆต่อไป จึงไม่สามารถสนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาได้ เพราะรู้ดีว่าการสนับสนุนด้วยการซื้อหรือรับเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น จะเป็นเหตุให้เขาต้องทำบาปนั้นต่อไป นั่นหมายถึงเจตนาในการสนับสนุนสิ่งที่เป็นอกุศลนั้นคืออกุศลกรรมของเราด้วย

ซึ่ง ณ จุดนี้เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เรากำลังจะวางเส้นทางกรรมของเรา ว่าจะให้เป็นไปอย่างไร ทางเลือกมีชัดเจนอยู่แล้วคือกุศลหรืออกุศล เบียดเบียนหรือไม่เบียดเบียน ถ้าเราไม่มีกิเลสก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเราต้องเลือกที่จะไม่เบียดเบียนเพราะการเบียดเบียนผู้อื่นก็คือการเบียดเบียนตนเอง ดังนั้นผู้มีปัญญาย่อมไม่เลือกการเบียดเบียนหากสามารถหลีกเลี่ยงได้

กิเลสคือตัวแปรหลักในการทำให้คนไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ไม่สามารถแยกกุศลกับอกุศลออกได้ เพราะมีความหลง (โมหะ) เป็นเหตุ เมื่อมีความหลงในความเห็นนั้น ก็หมายถึงยังมีบาปอยู่ในสิ่งคนเหล่านั้นคิดและเข้าใจ

เพราะถ้าผู้ใดรู้ชัดว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเหตุให้ต้องเบียดเบียนสัตว์ และผลของกรรมนั้นเองจะสร้างทุกข์ให้ตนเองในท้ายที่สุด ผู้นั้นจะสามารถเข้าใจและสรุปได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอกุศล จึงเลือกที่จะละเว้นกรรมเหล่านั้น

แต่ด้วยความหลงในเนื้อสัตว์ เช่นหลงในรูป รส สัมผัส ฯลฯ หรือหลงไปจนทิฏฐิวิปลาส คือเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี ทั้งที่มันไม่ดีหรือหลงไปจนกระทั่งเห็นว่ากรรมและผลของกรรมไม่มี ก็จะเป็นเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งที่เป็นกุศลได้

เพราะจริงๆแล้วการกินเนื้อสัตว์ในทุกวันนี้กระทบกับการฆ่าสัตว์โดยตรง เป็น demand & supply ที่แปรผันตามกันอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงการที่เรากินเนื้อสัตว์นั้นจะไปสนับสนุนการฆ่าสัตว์โดยตรง และยังจะไปสร้างความหลง ให้สังคมเข้าใจว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ทำได้ ถ้าถามว่ามันบาปตรงไหน มันก็บาปชัดๆกันตรงนี้แหละ คือทำให้คนหลงมัวเมาในความเห็นผิด เป็นความหลงที่หลอกกันซับซ้อนจนกลายเป็นความเข้าใจที่สุดแสนจะวิบัติไปแล้วว่า “กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่บาป”

หากจะสรุปว่า มันบาปตั้งแต่ตรงไหน ก็จะให้ความเห็นว่า บาปตั้งแต่มีความเห็นผิดแล้ว และคนที่มีความเห็นผิด ก็จะมีความคิดที่ผิด มีการกระทำที่ผิด เหตุเพราะถูกโมหะครอบงำจนโงหัวไม่ขึ้นจึงทำให้บาปกันต่อหลายชั้นหลายมิติ ตั้งแต่หลงมัวเมาในเนื้อสัตว์ หลงว่าการฆ่าเพื่อกินนั้นไม่ชั่วไม่บาป หลงว่าคนอื่นฆ่ามาแล้วเราเอามากินนั้นไม่ชั่วไม่บาป หลงว่าผลกรรมนั้นไม่ถึงตน ฯลฯ

– – – – – – – – – – – – – – –

4.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เลี้ยงฉัน เพื่อกินฉัน มันถูกต้องแล้วจริงหรือ?

September 26, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,191 views 0

เลี้ยงฉัน เพื่อกินฉัน มันถูกต้องแล้วจริงหรือ?

เลี้ยงฉัน เพื่อกินฉัน มันถูกต้องแล้วจริงหรือ?

การที่ฉันได้เกิดมาเช่นนี้ อยู่ในคอก อยู่ในกรง มันเป็นผลกรรมของฉัน

ถูกจำกัดพื้นที่ กินและขี้ในที่เดียวกัน มันก็เป็นผลกรรมของฉัน

ลากฉันไป ทุบตีฉัน เอามีดเชือดคอฉัน ก็เป็นผลกรรมของฉันเช่นกัน

แต่การเป็นเหตุหนึ่ง ที่ดลให้เขาทำสิ่งเหล่านั้นกับฉัน มันคือกรรมของคุณ!!

. . .

ลองคิดดูสิว่า หากชีวิตเราต้องเกิดมาในคอกเล็กๆ ที่มืดและอับชื้น

ต้องกินอาหารเมนูเดิมๆ ทุกวัน และยังต้องแย่งกันกินอีกด้วย

ที่กิน ที่นอน ที่ขับถ่าย ก็เป็นที่เดียวกัน เรานอนกันบนกองขี้

พอถึงวัยรุ่น จะมีเพื่อนๆ ที่ต้องแยกจากกันไปอย่างไม่มีวันกลับ

ถึงจะมีชีวิตโตขึ้นมาได้ก็มีแต่ช่วงเวลาเดิมๆ อยู่แบบเดิมๆ

ชีวิตนี้ถูกเขาเอามาเลี้ยงไว้โดยไม่รู้ว่าวันไหนจะต้องถูกเชือด

ถ้าแย่หน่อยก็ต้องกลายเป็นแม่พันธุ์ โดนเขากักไว้ในกรงแคบ

กรงที่ขนาดพอดีตัว ไม่มีที่ให้แม้แต่จะหมุนตัว เดิน วิ่ง….

โดนข่มขืนโดยตัวผู้ที่เขาจัดมาให้ หรือไม่ก็กระบอกน้ำเชื้อ

ต้องตั้งท้อง ต้องคลอดลูกกันซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า กี่ครอกก็ไม่เคยพอ

แถมลูกที่รัก ก็ยังจะต้องถูกพรากออกไป โดยไม่ทันได้ล่ำรา

วันเวลาผ่านไป โดยไร้ความหมาย ไร้คุณค่า อยู่อย่างชินชา

ถึงจะเบื่อยังไงก็หนีไปไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องขึ้นรถไปแดนประหาร

ดินแดนที่ผู้คนต่างไม่แยแสในความตายของเราพวกเขาล้วนสมยอม

เพราะเขาจะได้เอาเนื้อเราไปขาย เขาจะได้กินเนื้อเราเขาจะมีความสุข

. . .

การเลี้ยงเพื่อกินนั้น มันถูกต้องแล้วจริงหรือ? มันสมควรแล้วจริงหรือ?

มันไม่เบียดเบียนหรือ? มันเป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์อย่างนั้นหรือ?

มันเป็นไปเพื่อเพิ่มวิบากบาปหรือไม่? มันคุ้มค่าที่จะทำอย่างนั้นหรือ?

แล้วชีวิตที่จำเป็นต้องอาศัยและพึ่งพาการเบียดเบียนเพื่อดำรงชีพ

การปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปเช่นนั้น จะเป็นชีวิตที่ประเสริฐแท้ได้อย่างไร…

ใครเล่าจะสรรเสริญ ใครกันจะยินดี ก็คงจะโดนเขาประณามและย่ำยีเรื่อยไป

– – – – – – – – – – – – – – –

26.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)