มังสวิรัติ การกินมื้อเดียว

การไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องของจิตใจ

April 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,217 views 0

การไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องของจิตใจ

ความเจริญของจิตใจนั้นสามารถชี้วัดได้จากสิ่งหนึ่ง คือการลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นผลที่เจริญขึ้นจากการทำความเห็นให้ถูกต้องโดยลำดับ

การไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจโดยตรง เพราะการจะเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นเราจะต้องหักห้ามใจ บังคับใจ ไม่ให้ใจนั้นหลงไปกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ จะไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเมตตา หวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสัตว์ทั้งปวง ก็เป็นจิตที่เมตตาจนถึงรอบที่จะลงมือทำ ไม่ใช่แค่คิดเมตตาแต่ปากยังเป็นเหตุให้เบียดเบียนอยู่ หรือว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ การหักห้ามใจไม่กินเนื้อสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่จะทำให้ไม่เบียดเบียนตนเอง ถ้ากินแล้วตนเองก็เป็นทุกข์ เป็นโรค ก็ต้องฝืนใจเลิก นั่นเพราะใจที่ทุกข์จากเหตุแห่งสุขภาพนั้นมีน้ำหนักกว่าสุขเมื่อได้เสพเนื้อสัตว์ หรือจะเหตุผลอื่นใดก็ตาม การลด ละ เลิกสิ่งที่เป็นภัยต่อตนเองและผู้อื่นย่อมเป็นเรื่องดีทั้งสิ้น

แต่การจะเลิกกินนั้นไม่ง่าย หากเราตั้งใจละเลิกกินเนื้อสัตว์สักอย่างที่เราเคยติด เช่นเนื้อวัว การจะออกจากเนื้อวัวได้ต้องหักห้ามใจไม่ไปกินเป็นเบื้องต้น จนพิจารณาเห็นโทษภัยของการกินเนื้อวัวจนความอยากนั้นจางคลาย จึงค่อยๆ ขยับไปเลิกหมู ไก่ ปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อยอื่นๆ จนถึง นม ไข่ น้ำผึ้ง ฯลฯ ซึ่งหลายคนก็สามารถตัดทุกอย่างทั้งชีวิตได้ในทันที แต่อีกหลายคนก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ การเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นต้องมีกำลังใจที่หนักแน่นและสำคัญที่สุดคือกำลังของปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงในโทษชั่วของการที่เรายังกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น

ในขณะที่เรากำลังพยายามลด ละ เลิก ก็จะมีเสียงสะท้อนกับสังคม คำชื่นชมจากคนเห็นดีกับไม่กินเนื้อสัตว์ ไปจนถึงคำประชดประชันจากคนที่มีอคติต่อการไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ ถ้าเราเลิกแค่เนื้อวัวเราก็จะเจอการกระทบระดับหนึ่ง แต่ถ้าเลิกหมู ไก่ ปลา ไปอีกก็จะเจอแรงกระทบอีกระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าไม่กิน นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ด้วยแล้วยิ่งจะเจอมากเข้าไปอีก ชมก็ชมมาแรง นินทาก็นินทามาแรง และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราเป็นผู้นำเสนอข้อดีของการไม่กิน ชักชวนผู้อื่นให้ละเว้นเนื้อสัตว์ แม้จะมีจิตที่ยินดีแบ่งปันสิ่งดีให้กับคนอื่นเช่นนั้น ถึงจะสื่อสารอย่างถูกกาลเทศะอย่างไรก็ตาม แต่ก็จะไม่สามารถหนีสรรเสริญนินทาพ้น

สรรเสริญก็ทำให้อัตตาโต ยิ่งมีคนชื่นชมมากๆ ก็สามารถทำให้หลงติดดีได้ นินทาก็เช่นกัน มันจะมาในทุกรูปแบบ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งสุภาพและหยาบ ซึ่งจะคอยแซะให้เราตบะแตกแสดงความโกรธ นี่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องฝึกจิตใจ อดทนข่มใจไม่ลอยไปตามคำชม ไม่ขุ่นมัวไปตามคำนินทา

สรุปแล้ว ตลอดเส้นทางแห่งการละเว้นเนื้อสัตว์ ย่อมจะเจอโจทย์ที่หลากหลายเข้ามาฝึกใจ ทั้งจากข้างในและข้างนอก ความอยากกินเขาเราเองก็ว่าหนักแล้ว เสียงจากสังคมก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก คนที่จิตใจไม่ตั้งมั่นในการทำความดี ไม่มีกำลังใจ ไม่มีปัญญา ก็จะหวั่นไหวได้ง่าย เจอโลกเขาลากกลับไปกินเนื้อสัตว์ ก็กลับไปกินตามเขา เพราะใจง่ายนั่นเอง การไม่กินเนื้อสัตว์จึงเป็นเรื่องของจิตใจที่ต้องฝึกฝนเช่นนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

15.3.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ชีวิตจะง่าย เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,344 views 0

ชีวิตจะง่าย เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์

ชีวิตที่ตั้งอยู่บนความเรียบง่าย คือชีวิตที่กินใช้อย่างประหยัด พอเพียง ไม่นำสิ่งของหรือส่วนเกินใดๆ ที่ไม่จำเป็น เข้ามาเปลืองพื้นที่ในชีวิต เช่นเดียวกันกับชีวิตที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มันช่างเรียบง่าย ประหยัด และยาวนาน

ผมได้ลองใช้ชีวิตอยู่บ้านต่างจังหวัด บ้านของผมอยู่ห่างจากบ้านอื่นๆ ราวสองร้อยเมตร ห่างจากชุมชนใกล้เคียงประมาณหนึ่งกิโลเมตร ที่บ้านยังไม่ได้นำไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้ามา มีเพียงไฟฟ้าที่ผลิตเองจากแผงโซล่าเซลล์ให้พอใช้สูบน้ำ,เปิดไฟ,ชาร์จโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์พกพาเท่านั้น ดังนั้นการจะหวังว่าจะได้ใช้ทีวี ตู้เย็น พัดลม ฯลฯ ในชีวิตประจำวันก็ลืมไปได้เลย

เมื่อผมได้มาทดลองอยู่อย่างประหยัด เรียบง่าย มีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อย จึงมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ในการหาสิ่งใดๆก็ตามมาปรนเปรอกิเลส

เนื้อสัตว์ก็เป็นวัตถุอีกชนิดที่มีอิทธิพลต่อจิตใจคนมาก ถึงขนาดว่าขาดกันไม่ได้ เป็นคุณค่า เป็นชีวิตจิตใจสำหรับใครหลายคนกันเลยทีเดียว แต่สำหรับผม เนื้อสัตว์ไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลยในชีวิต เป็นเพียงวัตถุแท่งก้อนอ่อนนุ่มที่หากกินเข้าไปแล้ว ย่อยยาก เป็นโทษ เป็นเหตุแห่งโรค สร้างกลิ่นตัว ราคาแพง เน่าเสียง่าย เก็บรักษายาก และอีกหลายๆ ข้อเสียของเนื้อสัตว์เมื่อเทียบกับพืชผัก แม้มันจะทำให้อิ่มท้องและสร้างพลังงานได้ก็ตาม แต่ผมก็ไม่จำเป็นต้องเลือกพลังงานจากแหล่งเหล่านั้น ในเมื่อมีสิ่งที่มีคุณค่าและประโยชน์มากกว่าขายกันอยู่ทั่วไป

หากว่าผมยังหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ผมจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพที่มีข้อจำกัดเช่นนี้ได้ เรื่องแรกคือการจัดเก็บเนื้อสัตว์ มันไม่สามารถวางไว้ในอุณหภูมิห้องได้ เพราะจะทำให้เน่าเสียและมีสัตว์อื่นมากินได้ง่าย ต่างกับผักที่ซื้อมาวางไว้เป็นอาทิตย์ยังคงสภาพเดิมได้ดีอยู่ เช่น ฟักทอง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี มะเขือยาว หอมใหญ่ มันต่างๆ ฯลฯ ถ้าต้องการเสพเนื้อสัตว์เป็นประจำ นั่นหมายถึงต้องมีตู้เย็นหรือสร้างที่เก็บกักความเย็นเพิ่มให้มันวุ่นวายมากกว่าการเก็บผัก นี่คือเริ่มจะฟุ้งเฟ้อสิ้นเปลืองแล้ว

เรื่องที่สองคือหากไม่ได้คำนึงถึงการจัดเก็บ เลือกที่จะออกไปซื้อเนื้อสัตว์ทุกวัน ก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายและการเสียพลังงานที่ไม่จำเป็นอยู่ดี เพราะเมื่อเทียบกับผัก ผมสามารถออกไปซื้อผักมาครั้งเดียวอยู่ได้เกือบครึ่งเดือน อย่างต่ำๆก็ หนึ่งสัปดาห์

เรื่องที่สามคือค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งมื้อนั้น เนื้อสัตว์ยังไงก็มีค่าใช้จ่ายมากกว่าผัก และเมื่อเทียบมวลต่อน้ำหนัก หนึ่งกิโลกรัมของเนื้อสัตว์นั้นจะได้น้อยกว่ามวลของผัก คือซื้อผักหนึ่งกิโลกรัมจะดูได้เยอะกว่า ซึ่งเมื่อพิจารณาต่อไปอีกว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์หนึ่งกิโลกรัมต้องใช้อาหารสัตว์มากมายเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่างจากผัก คือผักหนึ่งกิโลกรัม ก็มีอย่างมากแค่ปุ๋ยกับน้ำเท่านั้น เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ น้ำก็ต้องกิน พืชผักสัตว์ก็ต้องกิน อาหารเสริมสัตว์ก็ต้องกิน ไหนจะกระบวนการฆ่า ชำแหละอีก มีขั้นตอนยุ่งยากกันมากเลยทีเดียว ผักนี่เก็บมาเอารากล้างน้ำสลัดดินออกเขาก็เอามาขายกันแล้ว

เรื่องที่สี่คือเนื้อสัตว์ ผลิตเองไม่ได้ ถึงจะเลี้ยงเองแต่ชาวพุทธเขาก็จะไม่ฆ่าสัตว์กัน ไม่จ้างวานผู้อื่นฆ่าด้วย และไม่แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นหากรับรู้ว่าผู้อื่นฆ่ามาด้วย ดังนั้นแม้จะเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เนื้อสัตว์เป็นผลผลิตทันทีเมื่อใจอยากเสพ คงจะต้องรอให้ฟ้าผ่ามันตาย หรือมันเดินไปโดนรถชนตายเอง หรืออะไรที่ทำให้มันตายของมันเองเท่านั้นถึงจะกินมันได้ , ต่างจากผักที่สามารถปลูกเองได้ โตเมื่อไหร่ก็กินได้ คิดอะไรไม่ออกก็ปลูกผักบุ้ง ปลูกง่ายโตไว และหากมีเวลาก็ปลูกธัญพืช และปลูกข้าวไว้กินเองได้ ผักหลายชนิดยิ่งตัดก็ยิ่งงอกออกมา บ้างก็ปักชำใหม่ได้ บางชนิดเก็บเกี่ยวแล้วก็หว่านใหม่ ได้ผลผลิตไม่จบไม่สิ้น

ถ้าชาวพุทธอยากกินเนื้อสัตว์ก็คงต้องเลี้ยงกันหลายร้อยตัว จะได้มีสัตว์ตายไปตามกรรมบ้างบางเวลา จะได้รอเสพโดยไม่ต้องให้ใครฆ่าเขามากิน แต่พอนึกถึงภาพนั้นก็ดูลำบากยุ่งยากขึ้นมาทันที

เมื่อผมพิจารณาด้วยเหตุปัจจัยดังนี้แล้ว การที่เรายังต้องการเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นจะสร้างความลำบากยุ่งยากให้กับชีวิตอย่างมาก ต้องมีสิ่งต่างๆมาเพิ่มเติมมากกว่าชีวิตที่กินผักเป็นหลัก อย่างน้อยๆ ตอนนี้ก็อยู่ได้สบายโดยไม่ต้องลากสายไฟเข้ามาให้เสียเงินเสียทองผมจึงยังไม่เห็นเลยว่าอะไรที่จะทำให้ชีวิตมันง่ายไปมากกว่าการที่เราไม่ต้องหาเนื้อสัตว์มากินอีก

หรือถ้าผู้ใดจะเห็นต่างก็สามารถเห็นเช่นนั้นได้ เพียงแต่ควรจะต้องอยู่บนเหตุปัจจัยเดียวกัน คือมีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อย ถึงจะมีเงินก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปจ่ายเพื่อให้ตนเองได้เสพสมใจ แบบนั้นมันไม่ขัดเกลา การอยู่อย่างขัดเกลาคือมีสิ่งอำนวยความสะดวกพอประมาณ ให้มีแค่พอกินพอใช้ ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ ให้เกิดความเจริญทางจิตวิญญาณ ให้พอเกิดประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

January 9, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,290 views 1

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

ย้อนไปเมื่อราวๆ 3 ปีก่อน ตอนที่ผมยังไม่รู้จักธรรมะ ผมใช้ชีวิตแสวงหาความสุขโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือการสร้างความเบียดเบียนให้กับผู้อื่น ผมได้ถูกโลกและกิเลสมอมเมาอยู่จนกระทั่งได้พบกับความจริง 4 ประการ ที่เป็นเหตุให้ผมหลุดออกจากความเวียนวนหลงเบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อตนได้

1.ความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์

ผมรู้จักการไม่กินเนื้อสัตว์ครั้งแรกในชีวิตก็อายุเกือบ 30 ปี ก่อนหน้านี้มีเทศกาลเจ ฯลฯ ก็ไม่ได้สนใจอะไรกับเขาหรอก ไม่ได้รังเกียจอะไรหรอกนะ ยินดีด้วย แต่ก็ไม่ได้คิดสนใจ เพราะไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของมัน จนกระทั่งตนเองได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมกับเครือข่ายคนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาที่วัดป่าสวนธรรม ซึ่งที่วัดก็ไม่กินเนื้อสัตว์ เวลาสามวันที่ร่วมกิจกรรม ทำให้ผมเกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็มีชีวิตอยู่ได้ นี่คือความจริงข้อแรก

2.ความจริงที่ว่า การกินเนื้อสัตว์นำไปสู่การเบียดเบียน

หลังจากนั้นแม้จะรู้ว่าไม่กินเนื้อสัตว์ก็อยู่ได้ นำไปสู่การปรับเมนูอาหารบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเลิก เพราะยังไม่ชัดในโทษภัยของการกินเนื้อสัตว์ ต้นปี 2556 ได้ไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ในค่ายสุขภาพนั้นไม่กินเนื้อสัตว์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ได้รับจากค่าย ที่ทำให้ยินดีเลิกเนื้อสัตว์คือ สื่อวีดีโอ “ชีวิตร่ำไห้” เป็นการนำเสนอเรื่องราวของการเบียดเบียนสัตว์เพื่อที่จะต้องมาสนองการดำรงอยู่ของมนุษย์ ผมได้เกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า หากเรายังกินเนื้อสัตว์อยู่ สัตว์นั้นจะต้องถูกเบียดเบียนและเป็นทุกข์เพราะเรา นั่นคือสิ่งที่ไม่ควรเลย เมื่อเข้าใจความจริงข้อนี้เพิ่มเติม ผมจึงตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์

3.ความจริงที่ว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นทุกข์

เมื่อตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์ จึงได้พบความจริงอีกข้อคือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” นั้นเป็นทุกข์ เมื่อเราอยากกินเราก็ต้องไปเสาะหาเนื้อสัตว์มาเสพ แถมยังต้องหาเหตุผลที่ดูดีเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดในการกินเนื้อสัตว์ ซ้ำร้ายบางทียังอาจจะเฉโกออกไปในทิศทางที่เรียกว่า “ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ขยันเสพกาม” อีกด้วย คือปากก็พูดว่าไม่ยึด แต่ก็ไม่หยุดกินเนื้อสัตว์

โชคยังดีที่ผมไม่ได้มีอาการเฉโกเหล่านั้น ตนเองนั้นเป็นคนที่ซื่อสัตย์ยอมรับความจริงตามความเป็นจริง อยากกินก็ยอมรับว่าอยากกิน ยังเลิกไม่ไหวก็ยอมรับว่ายังไม่ไหว ไม่ได้ปั้นแต่งข้ออ้างใดๆมาทำให้ตนได้เสพอย่างดูดี

แต่กระนั้นก็ยังต้องทุกข์เพราะกิเลสที่เคยมี ความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นอร่อย มีคุณค่า ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดขาดได้ในทันที เราจำเป็นต้องปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง เพื่อที่จะถอนลูกศรที่ปักมั่นอยู่ในจิตใจ อันคือ ตัณหา (ความอยากกินเนื้อสัตว์) ให้ออกให้ได้ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแก้ปัญหาที่ตัณหา เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ในท้ายที่สุดผมค้นพบว่า “ความอยาก” ที่รุนแรงถึงขนาดต้องเป็นเหตุให้พรากชีวิตสัตว์อื่นนี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าอาย ไม่น่ายึดไว้ ไม่น่าคบหา เราไม่ควรมีมันอยู่ในจิตวิญญาณ ความอยากขั้นนี้มันหยาบเกินไปแล้ว มันเบียดเบียนมากไป มันสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่น จะยังแบกไว้อีกทำไม ผมจึงตั้งมั่นในการเลิกคบกับความอยากกินเนื้อสัตว์ตลอดกาล

4.ความจริงที่ว่า การหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นยิ่งกว่าสุข

หลังจากได้ปฏิบัติธรรมเพื่อถอนตัณหา คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากจิตใจแล้ว จึงค้นพบความจริงอีกข้อที่ปรากฏขึ้นมาภายหลัง ข้อนี้ไม่ใช่เหตุเหมือนกับความจริง 3 ข้อแรก แต่เป็นผลจากการเห็นความจริงในการปฏิบัติ 3 ข้อแรก

จากตอนแรกที่เคยเข้าใจว่า ถ้าเราขาดเนื้อสัตว์เราจะต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ เราต้องสละสุขจากการเสพ กลายเป็นผู้ที่ขาดทุนชีวิตเพราะไม่ได้เสพสุขตามที่โลกเข้าใจ

แต่ความจริงนั้นไม่ใช่เลย การหลุดพ้นจากความอยากนั้นยิ่งกว่าสุขที่เคยเสพเสียอีก จะเอาสุขเดิมมาแลกก็ไม่ยอม เพราะมันเทียบกันไม่ได้ เหมือนเอาเงิน 1 บาท ไปซื้อโลก มันซื้อไม่ได้อยู่แล้ว คุณค่ามันเทียบกันไม่ได้ จะเปรียบเทียบไปมันก็จะด้อยค่าเกินจริงไป เพราะคุณค่าของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นยากที่จะหาสิ่งใดมาเทียบได้

เราไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำอกุศลเพราะต้องหาสิ่งที่เบียดเบียนมาบำเรอตน เราจะเป็นอิสระจากความอยาก ไม่จำเป็นต้องสร้างเหตุผลอะไรมาเพื่อให้ได้เสพสมใจอีกต่อไป มีแต่กุศลและอกุศลตามความจริงเท่านั้น

จะเหลือเพียงแค่ทำสิ่งที่เป็นกุศลตามความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็อยู่ได้ เป็นความจริงข้อหนึ่งที่เน้นการพึ่งตน เลี้ยงง่ายกินง่าย มักน้อย ใจพอ มีเพียงแค่พืชผักก็พอเลี้ยงชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์มาเป็นส่วนเกินให้เสียเงิน เสียสุขภาพ เสียเวลาหา เสียเวลาประกอบอาหาร และความจริงที่ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทาน ถ้าเรากิน เขาก็ยังต้องฆ่าเพื่อมาขาย ดังนั้นเมื่อเราไม่มีความอยาก เราก็ไม่จำเป็นต้องกินให้เป็นการส่งเสริมการฆ่า เป็นการหยุดอกุศลกรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี

เมื่อเราไม่มีความอยาก เราจะมีจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น โอนอ่อนไปตามกุศล หลีกหนีจากอกุศล ไม่ใช่ลักษณะที่ยึดว่าจะต้องกินอะไรหรือไม่กินอะไร แต่จะเป็นไปเพื่อกุศล เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน เป็นไปเพื่อความพราก เป็นไปเพื่อความมักน้อย ขัดเกลา เกื้อกูล ตลอดจนสิ่งต่างๆที่นำมาซึ่งความเจริญทางจิตวิญญาณทั้งหลาย

….พอผมได้พบเจอความจริงตามนี้ มันก็เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเอง ไม่รู้จะหาเหตุผลไปกินทำไม เพราะดูแล้วไม่เห็นมีอะไรดีเลย ไม่กินก็อยู่ได้ กินก็ไปเบียดเบียนทั้งตนเองและสัตว์อื่นอีก

สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหานั้นคือ “ตัณหา” เพราะความอยากกินเนื้อสัตว์ จะสร้างเหตุที่จะต้องไปกินเนื้อสัตว์อีกเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น ทั้งๆที่ความจริงมันไม่จำเป็น แต่ตัณหาก็สร้างความลวงขึ้นมาบังความจริง ให้มันจำเป็น ให้มันสุขเมื่อได้เสพ ให้มันเป็นคุณค่า ให้มันเป็นชีวิตจิตใจของคน ให้มันยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์นั้นต่อไป

หากคนนั้นยังมี “ความอยากกินเนื้อสัตว์” ก็ไม่มีทางหนีทุกข์พ้น ถึงจะกดข่มไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นทุกข์ แม้จะได้กินก็ทุกข์เพราะสะสมอุปาทานและอกุศลวิบากเพิ่ม สรุปคือหากยังมีตัณหาถึงจะได้เสพหรือไม่ได้เสพก็ต้องรับความทุกข์ไปตลอดกาล

– – – – – – – – – – – – – – –

2.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คำปลอบตนของคนดีที่ยังเบียดเบียน “ฉันกินเธอ เธอได้บุญ”

December 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,484 views 0

ฉันกินเธอ เธอได้บุญ

คำปลอบตนของคนดีที่ยังเบียดเบียน “ฉันกินเธอ เธอได้บุญ” เพราะเธอได้สละเนื้อให้ฉันไปสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม

มีความเห็นหนึ่งที่เป็นไปในแนวทางโลกสวย คือทุกอย่างล้วนสร้างมาเพื่อฉัน (all for one)ทุกคนจงทำเพื่อฉัน แล้วฉันจะทำดีเพื่อทุกคน ขอทุกคนจงรวมพลังมาที่ฉัน เสียสละเพื่อฉัน เพราะนั่นคือหน้าที่ของเธอ

ผมเคยรับรู้แนวคิดหนึ่ง มีความเห็นในแนวทางที่ว่า กินเนื้อเขา แล้วเขาจะได้ประโยชน์ เนื้อของเขาจะเลี้ยงชีวิตเรา ถ้าเราใช้ชีวิตไปทำดี แล้วเขาจะได้กุศล ซึ่งสรุปเป็นภาษาที่โลกเข้าใจได้ประมาณว่า “ฉันกินเธอ เธอได้บุญ

ความเห็นเหล่านี้เป็นเหมือนคำปลอบใจของคนที่พยายามจะเป็นคนดี โดยการสร้างชุดความคิดบวก เพื่อที่จะได้กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาโดยไม่ผิดบาป

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว….

1.การที่เราจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์นั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับการทำดีในชีวิตเลย แม้เราไม่กินเนื้อสัตว์เราก็ยังสามารถดำรงชีวิตไปสร้างคุณงามความดีได้อย่างปกติ

2.กรรมดีต้องสร้างด้วยตัวเอง ไม่ใช่กินเขาแล้วเขาจะได้ดีเพราะเรากิน แต่เขาจะดีเพราะเขาทำดีนั้นของเขาเอง สัตว์ก็เช่นกัน มันจะดีจะชั่วก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของมันเอง ไม่ใช่ว่าถูกฆ่าแล้วถูกแยกชิ้นส่วนเข้าปากลงท้องคนอื่นแล้วจะเกิดสิ่งดีขึ้น อันนี้มันผิดหลักของกรรมอย่างชัดเจน

3.สัตว์ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา เราคิดไปเองเท่านั้น มันก็เกิดมาตามธรรมชาติของมัน ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย

4.สัตว์เหล่านั้นไม่ได้ยินดีสละชีวิต มันถูกแย่งชิงอิสระ ถูกทำร้าย และถูกพรากชีวิตมา เนื้อสัตว์นั้นย่อมถือเป็นทรัพย์ที่ไม่บริสุทธิ์ เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มันถูกขโมยมา ดังนั้นเนื้อสัตว์นั้นจึงไม่ใช่สิ่งดี

5.การกินเนื้อสัตว์ในทุกวันนี้ ไม่ใช่การกินเพื่อดำรงชีวิตอีกต่อไป แต่เป็นการกินเพื่อสนองกาม ต้องการเสพมากๆ ต้องการเสพรูป รส กลิ่น สัมผัส เมนูใหม่ๆ อาหารรสเลิศ ฯลฯ ต้องการอวดว่าฉันได้กินเนื้อดี ราคาแพง ต้องการเสพสุขจากการมีเนื้อสัตว์ในชีวิต

6.จะเป็นอย่างไรหากมีคนแปลกหน้าบุกเข้ามาในบ้านคุณ จับคุณมัดไว้และขโมยของทุกอย่างออกไป รวมทั้งรื้อถอนบ้านออกไปด้วย ถึงแม้คุณจะมีคำถาม มีคำข้อร้องอ้อนวอน ก็ทำได้เพียงนั่งมองเขาพรากสิ่งที่รักไป สุดท้ายเหลือแต่คุณที่ถูกมัดนั่งอยู่บนพื้นดินโล่งๆ ที่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของคุณอีกต่อไป เขาเดินมากระซิบกับคุณเบาๆว่า ขอโทษทีนะมีลูกค้าต้องการ เพราะเขาจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตเพื่อการทำดีของเขา… ว่าแต่คุณจะเลือกจองเวรใครระหว่างพนักงานที่มาขนของ กับคนที่ได้ของเหล่านั้นไปใช้

7.สัตว์ที่ถูกเลี้ยงดูมา มันมีความผูกพันกับเจ้าของบ้างไม่มากก็น้อย การที่เราจะพรากมันมาขายก็เหมือนกับพ่อแม่ที่อุ้มชูเลี้ยงดูเรามา พาเราไปเดินเล่น หาอาหารให้เรา แล้วอยู่มาวันหนึ่งพอเราโตขึ้น ก็ขายเราให้กับคนอื่นเพื่อที่เขาจะได้เอาอวัยวะของเราไปใส่ให้ลูกค้าได้นำไปใช้ดำเนินชีวิตต่อไป การเบียดเบียนเพื่อต่อชีวิตเช่นนี้มีความดีงามอย่างไร?

8.เราสามารถหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ได้ โดยที่สังคมยอมรับและเข้าใจ โดยมากจะยินดีด้วย มีส่วนน้อยที่ไม่เห็นดีด้วย เพราะการละเว้นเนื้อสัตว์เป็นความดีที่ชัดเจน คนติเตียนได้ยาก กระทั่งนักบวชก็มีกลุ่มที่ไม่ยินดีรับเนื้อสัตว์อยู่มากมายในประเทศไทย

9.ไม่มีบุญ(การชำระกิเลส) หรือกุศล(ความดีงาม) อะไรเกิดขึ้นมาจากการเบียดเบียน มีแต่การจองเวรจองกรรม ทำทุกข์ทับถมตนด้วยการเบียดเบียนสัตว์อื่น เป็นไปเพื่อความทุกข์ชั่วกาลนาน

10.บุญจะเกิดกับสัตว์นั้นก็ต่อเมื่อ สัตว์นั้นสละชีวิตของตนมอบให้ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ เป็นการสละชีวิตเป็นทานให้ผู้อื่น บุญได้เกิดตั้งแต่ตอนที่สละแล้ว ไม่ใช่เกิดเพราะคนได้กินเนื้อมัน ไม่ว่าเนื้อที่สละจะถูกกินหรือทิ้ง บุญก็สำเร็จผลไปแล้ว ส่วนถ้าคนเอาเนื้อที่สละมากินเรียกว่าได้อานิสงส์ คือได้กุศลได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น

11.พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับการทำบุญได้บาป เมื่อคนนั้นนำสัตว์ที่ถูกฆ่ามาถวายพระพุทธเจ้าและสาวกของท่าน คือไม่เกิดผลดีเลย มีแต่บาปและอกุศลเท่านั้นที่จะได้ไป (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ “ชีวกสูตร” ข้อ ๖๐ )

…เราไม่จำเป็นต้องสร้างความจำเป็นใดๆ ในการไปกินเนื้อสัตว์เลย ถึงเราจะคิดหาเหตุผลดีๆมากมายร้อยแปดเพื่อมาสร้างความดีความชอบที่จะได้กินเนื้อสัตว์ แต่ความชั่วก็คือความชั่ว ความดีก็คือความดี การเบียดเบียนผู้อื่นโดยไม่จำเป็นเพื่ออ้างว่าไปทำดี ไม่มีในพจนานุกรมของคนดีที่แท้จริง คนที่ขโมยเงินคนอื่นไปทำบุญทำทานเป็นคนดีหรือ? คนที่โกงเงินคนอื่นแล้วเอาไปบริจาคเป็นคนดีหรือ? นี่ขนาดยังไม่ถึงชีวิตยังชั่วชัดเจนขนาดนี้ แล้วการที่เรายังเสพสุขอยู่บนความตายของผู้อื่นสิ่งนั้นจะชั่วขนาดไหน

เหตุผลข้ออ้างต่างๆ ที่จะปลอบใจว่าฉันเป็นคนดี ฉันกินเนื้อสัตว์แล้วไปทำดี มันเป็นคนละเรื่องกันกับความจริง ส่วนที่ทำดีก็คือสิ่งดี แต่ส่วนที่ไม่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องทำเลย ศาสนาพุทธมีหลักโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักใหญ่ของผู้ศึกษาและปฏิบัติ คือให้หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส หมายถึงสิ่งชั่วที่ให้หยุดทำก่อนเลย อย่าเพิ่งเอาทำดีมาขึ้นก่อน เอาชั่วออกจากชีวิตก่อน แล้วค่อยทำดีก็ยังไม่สาย คนไม่ชั่วเลย นั้นดีกว่าคนดีที่ยังทำชั่วอยู่

หลวงปู่ชา สุภัทโท มีได้มีคำกล่าวไว้ว่า“การทำบุญ โจรมันก็ทำได้ มันเป็นปลายเหตุ การไม่กระทำบาป ทั้งหลายทั้งปวงนั้นนะ เป็นต้นเหตุ

ถ้าให้เลือกคบเพื่อนที่ไม่ทำชั่วเลยแม้น้อย แต่เขาก็ไม่ได้ทำดีอะไรชัดเจน กับคนดีที่พยายามเข้าวัดทำทาน ฟังธรรม ทำกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ยังไม่เลิกเบียดเบียน ยังดูถูกคนอื่น ยังนินทาคนอื่น ยังเอาเปรียบคนอื่น จะเลือกคบแบบไหน คนหนึ่งไม่ชั่วแต่ก็ไม่ทำดี แต่อีกคนหนึ่งทำดีไม่หยุดชั่ว อยากเจอคนแบบไหนในชีวิต ก็ทำตัวแบบนั้นนั่นแหละ

ผู้ปฏิบัติอย่างถูกตรงในหลักคำสอนของพุทธศาสนานั้นประเสริฐกว่าที่กล่าวมา เพราะนอกจากหยุดชั่วทั้งหลายแล้ว ยังทำดีไม่หยุดหย่อน ทั้งยังมีจิตใจผ่องใสจากกิเลสทั้งปวงอีกด้วย ไม่ใช่ว่าทำชั่วแล้วเอาดีมากลบทับ อันนั้นยังไม่เข้าท่า ยังเฉโกอยู่ ยังเป็นความเห็นผิดที่เอาแต่หาเรื่องดีๆมาปลอบตนว่าฉันเป็นคนดีอยู่นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

22.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)