พระไตรปิฏก

ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

August 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,590 views 0

ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นเลยว่าการมีสิ่งที่รักนั้นคือความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีสุขเลยแม้น้อย แต่กระนั้นคนที่หลงในสุขลวงยังพยายามยกสุขลวงเหล่านั้นขึ้นมาเป็นสาระ เป็นประโยชน์ ให้ตนได้เสพสุขในสิ่งที่รักเหล่านั้น

ในปิยชาติกสูตร มีเรื่องราวว่า บุตรของคฤหบดีคนหนึ่งตาย จึงทำให้คฤหบดีเกิดความทุกข์มาก ว่าแล้วก็ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เล่าความตามที่เป็น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ความโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นของเกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

แต่คฤหบดีกล่าวว่า ความยินดี ความดีใจก็เกิดจากสิ่งที่เป็นรักด้วย แล้วก็เดินจากไป ไปพบกับกลุ่มนักเลงอยู่ไม่ไกล เข้าไปเล่าความที่กล่าวโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า นักเลงก็เห็นด้วยกับคฤหบดี เมื่อคฤหบดีเห็นว่าความเห็นของตนนั้นตรงกับพวกนักเลง จึงจากไป

– – – – – – – – – – – – – – –

จะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กล่าวถึงสุขเลยแม้แต่นิดเดียว ท่านตรัสถึงแต่เรื่องทุกข์ เพราะจริงๆแล้วมันมีแต่เรื่องทุกข์ ทีนี้คฤหบดีก็ยังมีกิเลส ยังมีความหลงติดหลงยึด ยังมีความไม่รู้อยู่มาก เห็นว่าในทุกข์เหล่านั้นยังมีสุขอยู่ เห็นสุขลวงเป็นสุขจริง จึงได้เผยความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ)ออกมา ซ้ำยังไปหาคนที่เห็นตรงกันกับตนเพื่อยืนยันความถูกต้องในความเห็นของตนอีก

คนที่เห็นผิด ไปคุยกับคนที่เห็นผิด มันก็เห็นผิดเหมือนกันหมด ถึงแม้คนอีกร้อยล้านคนทั่วโลกจะเห็นตามคฤหบดี แต่ก็ใช่ว่าความเห็นเหล่านั้นจะเป็นความเห็นที่ถูก ถึงจะไปเห็นตรงกับคนที่มีชื่อเสียง คนที่ได้รับการเคารพนับถือ แต่ถ้ายังมีความเห็นที่ขัดกับพระพุทธเจ้า ก็ยังเรียกว่าเห็นผิดอยู่ดี

ทีนี้เราลองกลับมาสังเกตตัวเองดูว่าเราเห็นตามพระพุทธเจ้าหรือคฤหบดี เห็นตามบัณฑิตหรือคนพาล ความเห็นเราไปในทิศทางไหน ไปทางเห็นทุกข์หรือไปทางเห็นสุขในสิ่งที่รัก เรายังจะหาเหตุผล หาหนทาง เจาะช่อง เว้นที่เหลือไว้ให้ความเห็นผิดเหล่านั้นทำไม ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสความจริงสู่การพ้นทุกข์ ดังนั้นผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าคือผู้ที่หันหัวไปในเส้นทางทำทุกข์ทับถมตน

ในเรื่องนี้กล่าวถึงสิ่งที่รัก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดและกินความกว้างมาก เพราะหมายถึงทุกสิ่งที่เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพสุขจากสิ่งนั้นก็ยังต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น แล้วเรื่องของการมีคู่ การเป็นคู่รัก การแต่งงาน เป็นเรื่องหยาบๆ ที่เห็นได้ชัด เจาะจงชัดเจนเลยว่ามีการเข้าไปรัก เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพ เข้าไปยึดมั่นถือมั่น คงไม่ต้องบอกกันเลยว่าเป็นการแสวงหาทุกข์มาสู่ชีวิตตนเองขนาดไหน

เพราะขนาดสิ่งที่รักในทุกวันนี้ก็เยอะมากยากเกินจะสลัดออกแล้ว ยังโหยหา ยังแสวงหาสิ่งอื่นเพื่อที่จะรักอีก มันมีทิศทางที่พอกหนาขึ้นเรื่อยๆ กิเลส ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นที่พอกชั้นหนาขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไข เมื่อถูกความหลงผิดครอบงำจึงไม่ง่ายที่จะรู้ว่าสิ่งใดคือความเห็นที่ถูก สิ่งใดคือความเห็นที่ผิด

ในยุคสมัยนี้ เรายังโชคดีที่ยังมีธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ ยังมีแนวทางปฏิบัติ ยังมีความเห็นที่ถูกตรงที่ท่านได้กล่าวไว้ให้เป็นหลักฐานในการเทียบว่า เรามีความเห็นถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ ถ้าใครยังมีความเห็นไปในแนวทางของคฤหบดีว่า “ รักมันไม่ได้มีแต่ทุกข์ มันมีสุขด้วย” ก็ควรจะเพียรศึกษาให้มาก เพราะทิศทางของท่านนั้นยังไม่ตรงไปสู่การพ้นทุกข์ หากใช้ชีวิตต่อไปบนทางที่ไม่ตรงเช่นนั้น ก็จะเสียเวลาไปเปล่าๆ เนิ่นช้าไปเปล่าๆ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใด วินัยใด เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้น วินัยนั้น ไม่ใช่ของเราคถาคต” ดั้งนั้นการจะอ้างว่า มีคู่เพื่อเรียนรู้ มีคู่เพื่อพัฒนาจิตใจ มีคู่เพื่อเจริญไปด้วยกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุผลของกิเลสที่แนบเนียนที่สุด จึงต้องถูกแย้งด้วยคำตรัสนี้อย่างชัดเจน

นั่นหมายถึง การจะไปมีคู่เพื่อประโยชน์ใดๆนั้น ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ มีแต่พาให้หลงทาง พาให้เสียเวลา สร้างทุกข์และบาป เวร ภัย ให้กับตนเองและผู้อื่น ให้หลงวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้

ดังนั้นการแสวงหาสุขในรักและการมีคู่จึงไม่ใช่สิ่งที่สมควรกระทำ ผู้แสวงหาสุขในรักและการมีคู่ คือผู้ที่มีความเห็นตามคฤหบดี และเมื่อไม่ได้เห็นตามบัณฑิต การพ้นทุกข์ย่อมไม่มี

– – – – – – – – – – – – – – –

4.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความเห็นในการละสิ่งที่เป็นภัย (ลฑุกิโกปมสูตร)

June 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,081 views 0

อ่านพระไตรปิฎกเจอบทที่น่าสนใจ สรุปมาอ่านกัน

เมื่อพระพุทธเจ้าได้กล่าวว่า “จงละสิ่งนี้” ก็จะมีผู้ที่เห็นต่างกันออกไป โมฆบุรุษบางคน ก็มักจะเห็นว่า จะมาขัดเกลาอะไรกันนักกันหนา กับเรื่องเล็กน้อยแค่นี้ต้องทำด้วยหรือ เมื่อไม่เห็นควรตามนั้นจึงไม่ยอมละ ทั้งยังไม่พอใจ

บางพวกสนใจศึกษาแต่อินทรีย์พละอ่อนก็มองว่าสิ่งที่ท่านให้ละนั้นเป็นสิ่งที่ยาก แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็ยังยากที่จะละสิ่งนั้น

บางพวกสนใจศึกษาแต่มีิอินทรีย์พละมากก็มองว่าสิ่งที่ท่านให้ละนั้นสามารถทำ ได้โดยง่าย จึงทำได้โดยไม่ยากไม่ลำบาก แม้เรื่องยากกว่านี้ก็ทำได้

(ความตอนหนึ่งของ ลฑุกิโกปมสูตร)

…………………………………….

จะเห็นได้ว่าการละสิ่งใดได้ยากหรือง่ายนั้นเกิดจากอินทรีย์พละที่สะสมมา ซึ่งแต่ละคนมีต้นทุนที่ปฏิบัติมาต่างกัน คนทำมามากก็มีมาก คนทำมาน้อยก็มีน้อย บางคนมีน้อยถึงขั้นหลงผิดไม่พอใจพระพุทธเจ้าก็ยังมี

คนที่มีมากเขาก็ละสิ่งที่เป็นภัยได้ง่าย เช่น ศึกษากันไม่นานก็สามารถถือศีลยากๆได้ ส่วนคนที่มีน้อยแค่เจอศีลง่ายๆเขาก็หงายแล้ว

เรื่องแข่งบุญแข่งวาสนามันแข่งกันไม่ได้ ดังนั้นปฏิบัติธรรมอย่าเปรียบเทียบกับใคร อย่าคิดว่าคนนั้นคนนี้ทำได้แล้วเราจะทำได้ โดยเฉพาะการศึกษาพระไตรปิฎกจะเห็นว่าบรรลุธรรมกันง่ายๆ แค่ฟังไม่กี่ประโยคก็บรรลุแล้ว

ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำได้ ถึงแม้เราจะอ่านพระไตรปิฎกทั้งหมดก็ใช่ว่าจะเข้าใจหรือบรรลุธรรมใดๆได้ ดังนั้นปฏิบัติธรรมอย่าไปเปรียบเทียบกับใคร อย่าไปลอกใคร ให้เอากระบวนการปฏิบัติเป็นหลักส่วนได้มรรคผลอย่างไรเป็นเรื่องของแต่ละคน

ไม่เช่นนั้นก็จะท้อมากเมื่อเห็นเพื่อนกัลยาณมิตรก้าวหน้าไปไกลแต่เรากลับยัง อยู่ที่เดิม นั่นเพราะมีเหตุปัจจัยต่างกัน มีอินทรีย์พละต่างกัน และอาจจะมีทิฏฐิที่ต่างกัน ซึ่งตรงนี้ต้องศึกษาและตรวจสอบให้ดี

ทานมีผล?

March 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,083 views 0

ทานมีผล?

ทานที่ให้นั้นจะมีผลสูงสุดก็ต่อเมื่อปัจจัย 3 ประการนี้บริสุทธิ์
๑. ผู้ให้
๒. สิ่งที่ให้
๓. ผู้รับ

– – – – – – – – – –
๑.ในส่วนของผู้ให้ถ้าจิตนั้นปนไปด้วยการให้ที่หวังผล เช่นให้ทานแล้วหวังให้ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ หรือการให้ใดๆก็ตามที่ทำให้จิตใจจมอยู่กับความโลภ โกรธ หลง ผู้ให้นั้นย่อมไม่บริสุทธิ์

๒.สิ่งที่ให้นั้นไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ก็ตาม ในกรณีของวัตถุนั้นต้องเป็นของที่ได้มาโดยสุจริต หากเป็นของที่ขโมยมา ฉ้อโกงมา พรากของผู้อื่นมา แย่งชิงผู้อื่นมา ก็เป็นของที่ไม่บริสุทธิ์

ในส่วนที่จับต้องไม่ได้เช่นธรรมทาน การให้ธรรมเป็นทานนั้น หากธรรมนั้นเป็นมิจฉาธรรม เป็นธรรมที่ผิด เป็นสิ่งที่ล่อลวงให้หลงวนอยู่ในโลก ธรรมนั้นย่อมไม่บริสุทธิ์

๓. ผู้รับควรบริสุทธิ์จากกิเลส ไม่ใช่รับเพราะความโลภ ไม่ใช่รับเพราะนำมาสนองกิเลสส่วนตนหรือกลุ่มของตน แต่รับมาเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม รับมาเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น

การเป็นเนื้อนาบุญนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องอยู่ในรูปของพระหรือนักบวชเสมอไป แต่หมายถึงการที่เราทำสิ่งดีให้กับผู้รับ แล้วผู้รับนั้นสามารถนำไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและโลกต่อไปได้ นั่นเพราะคนที่มีกิเลสน้อยก็จะไม่ฉกฉวยเอาสิ่งที่ได้รับไว้เพื่อตนมาก และยังมีปัญญาในการใช้ทรัพย์หรือความรู้ที่ได้มานั้นสร้างประโยชน์ให้แผ่กระจายออกไปได้อีกด้วย

โอวาทปาติโมกข์ ๓

March 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,127 views 0

โอวาทปาติโมกข์ ๓

๑. ไม่ทำบาปทั้งปวง
๒. ทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓. ทำจิตใจให้ผ่องใส

– – – – – – – – – – – – – – – –
๑). การไม่ทำบาปนั้นหมายถึงการไม่ส่งเสริมและไม่สนองตามกิเลสใดๆเลย เพราะ “บาป” นั้นเองคือการสะสมกิเลส ซึ่งตรงข้ามกับ “บุญ” ที่หมายถึงการชำระกิเลส

๒). การทำกุศลนั้นหมายถึงการทำความดี ทำสิ่งดีที่ ตรงข้ามกับการทำอกุศลคือการทำสิ่งที่ชั่ว แน่นอนว่าเมื่อเราไม่ทำบาป ไม่ทำตามกิเลสแล้ว เรายังต้องทำสิ่งที่ดีอีกด้วย ไม่ใช่ว่าไม่ทำชั่วแล้วไม่ทำสิ่งดีอะไรเลย

๓). การทำจิตใจให้ผ่องใส ให้ขาวรอบ ไม่มีความขุ่นมัว ไม่มีกิเลสปน ซึ่งหมายถึงการชำระกิเลสซึ่งเป็นที่ทำให้เกิคความเศร้าหมองและเป็นสิ่งไม่จำเป็นในชีวิตให้หมดไปจากใจ

….เกิดมาเป็นมนุษย์ ทั้งชีวิตทำได้แค่ 3 อย่างนี้ก็เป็นยอดมนุษย์แล้ว