ทักทาย
มิตรแท้คนโสด
มิตรแท้คนโสด
ผมพิมพ์บทความเกี่ยวการไปสู่ความเป็นโสดไว้มากมาย เพราะเล็งเห็นแล้วว่า ปัญหาในชีวิตคู่รักแต่ละอย่างนั้นไม่มีทางแก้ไขได้เด็ดขาดหากยังจะต้องเป็นคู่รัก จึงสร้างบทความที่จะตัดเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นไปเลย
บทความแต่ละบทนั้นมีถ้อยคำที่ข่ม ประณาม ด่ากิเลสอยู่ด้วยเสมอ ชี้แจ้งโทษของการมีคู่และประโยชน์ของความโสด ซึ่งจะไปสู่ผู้อ่านที่มีลักษณะดังนี้
1). คนมีกิเลสที่เห็นว่ากิเลสคือทางชั่ว: แม้ว่าจะยังไม่สามารถสู้กิเลสได้ แต่เมื่ออ่านบทความไปแล้วก็จะกระตุก จะรู้สึกผิด จะมีความเกรงกลัวขึ้นมา คนเหล่านี้หากเพียรพิจารณาธรรม ที่ว่าด้วยประโยชน์ของความโสดและโทษชั่วของการมีคู่จะสามารถทำให้จิตตั้งมั่นขึ้นได้ เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว (พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าการพิจารณาโทษของกิเลสจะทำให้เกิดสมาธิ : วิตักกสัณฐานสูตร) การพิจารณาธรรมเพื่อชำระกิเลสจึงเป็นไปโดยง่าย
2). คนมีกิเลสที่สงสัยในกิเลส : คนเช่นนี้จะยังลังเลอยู่ว่า จะโสดดี หรือไม่โสดดี อย่างไหนเป็นสุขกว่ากัน ก็ให้เพียรศึกษาไปเรื่อยๆ พิจารณาประโยชน์ในการโสด และโทษของการมีคู่ให้มาก แต่ถ้าไปพิจารณาโทษของความโสดและประโยชน์ของการมีคู่มันก็มีทิศทางไปทางเสพกิเลส ไปนรกนั่นเอง
3). คนมีกิเลสแต่ไม่เห็นกิเลส : คนที่ประมาทต่อภัยของกิเลสนั้น พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเหมือนบุคคลที่ตายแล้ว แม้จะมีธรรมที่พาให้ปลดเปลื้องกิเลสออกแสดงอยู่ทุกวี่ทุกวัน ก็เหมือนกับตักน้ำรดหัวตอ เหมือนกับเอาไฟไปเอาศพ เหมือนเอาดาบไปแทงศพ ร่างที่ตายไปแล้วนั้นก็ไม่รู้สึกอะไรเลย
4). คนมีกิเลสแต่ไม่เห็นกิเลสและมีอัตตาจัด: คนที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว นอกจากจะไม่เห็นภัยของกิเลสแล้วยังเห็นกิเลสเป็นมิตร “เอากิเลสมาเป็นอัตตาของตน” พอกิเลสโดนด่าก็เหมือนตนถูกด่า เพราะในใจลึกๆมันเสพติดการมีคู่ จนกระทั่งไม่ยอมให้ใครมาทำลายทิฏฐินั้น แม้ใครเห็นแย้งไม่ว่าจะเป็นเทพหรือมารมาจากไหน คนที่เมาอัตตาก็จะสู้กับเขาไปหมด
ส่วนคนไม่มีกิเลสขอยกไว้ แต่ถึงแม้ท่านเหล่านั้นจะมาอ่าน ท่านก็ย่อมยินดีในธรรมที่พาให้ลดกิเลส คือลดความโลภ โกรธ หลง อยู่ดี
เมื่อเห็นประโยชน์ในการพิจารณาธรรมที่พาออกจากกิเลสดังนี้ ผมจึงขอแนะนำบทความเกี่ยวกับความรักที่เป็นทางที่จะพาไปสู่รักที่ไม่มีกิเลสใดๆมาปนให้หม่นหมอง
คลังบทความ ความรัก(ที่เพียรละกิเลส)
เส้นบางๆของที่ขีดกั้นความหลงผิด
วันนี้ไปร้านหนังสือ เห็นหนังสือศาสนาพุทธกับหนังสือประเภทดูดวง อภินิหาร อำนาจวิเศษ ของขลัง ฯลฯ วางอยู่ติดกัน และนึกได้ว่าพวกมันมักจะถูกวางไว้ติดกันเสมอ เรียกว่ากลืนไปด้วยกันเลยก็ว่าได้
ในความจริงแล้ว พุทธไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้เลย เรียกว่ารังเกียจเสียด้วยซ้ำ แต่ความจริงในปัจจุบันกลับถูกปะปนจนเป็นเนื้อเดียวกันไปเสียได้
เส้นที่แบ่งคนที่ถูกตรงกับคนที่หลงผิดอยู่ตรงไหน?
ขีดของคนที่รู้แจ้งกับคนที่หลงมัวเมาตัดกันตรงไหน?
โลกุตระกับโลกียะแบ่งกันด้วยฐานะอย่างไร?
สาระแท้กับสิ่งไร้สาระแบ่งแยกด้วยอะไร?
มาถึงยุคนี้ก็… ตัวใครตัวมันแล้วกัน…
…ศึกษาเพื่อเอาตัวรอดกันไป
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย จาก [ ผ่าน | พบ | จบ | จาก ]
จะเห็นได้ว่าบทความชุดนี้มีทั้งแบบสั้นที่อ่านง่ายและบทขยายธรรม
- อ่านบทความ ผ่าน พบ จบ จาก
ซึ่งในความจริงแล้วบทความสั้นๆนั้นแหละมันควบแน่นมาจากความจริงอันมากมายที่ผมได้ค้นพบ กลั่นกรองจนเหลือสั้นๆให้อ่านง่าย
ทีนี้ผมก็นำมาขยายต่อ เผื่อจะมีใครสนใจในที่มาที่ไป หรือสิ่งที่ซ่อนอยู่ ซึ่งผมก็เลือกมาเขียนสรุปให้และพยายามจะให้สั้นที่โดยยกตัวอย่างให้เข้าใจ ได้มากที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าลึกซึ้งและยาก
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าผมเองไม่ค่อยเขียนบทความสั้นๆสักเท่าไร เพราะสารสำคัญมันจะหดหายไปด้วยเช่นกัน รวมถึงการกลั่นกรองเป็นบทความสั้นที่มีความครบของเนื้อหานั้นยังค่อนข้างยาก สำหรับผม
เมื่อขยายเรื่องเช่นนี้ออกกว้างๆ เราจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้มีธรรมะสั้นๆ คำคมเด็ดๆมากมาย แต่จริงๆแล้วเราสามารถเข้าใจถึงนัยที่ลึกซึ้งและที่มาที่ไปของธรรมนั้นได้ ไหม? เราเข้าใจตามที่เขาหมายหรือไม่?
– – – – – – – – – – – – – – –
5.4.2558
กระแสกิเลส ในสังคมเมือง
วันนี้ได้มีโอกาสได้ไปดูห้างใหม่ย่านพร้อมพงษ์…
ผมเห็นผู้คนจำนวนมาก กับแถวที่ต่อยืดยาวหน้าร้านอาหารที่เขาว่ากันว่าดีหลายร้าน
เป็นบรรยากาศที่แปลกตาเพราะปกติไม่ค่อยได้เข้าเมือง แต่คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองอาจจะชินก็ได้ ชินกับการอยู่กับผู้คนจำนวนมาก ชินกับการไหลไปตามกระแสของความอยากที่ใครก็ไม่รู้ได้ชักจูง
ผมรู้สึกเหมือนอยู่ในท้องทะเลแห่งกิเลสที่เต็มไปด้วยระลอกคลื่นลูกใหญ่ซัดมาตลอด
ผู้ที่ไม่สามารถต้านทานได้ก็จะถูกคลื่นแห่งกิเลสซัดให้จมและหลงวนอยู่ในนั้น “น่าอร่อยจัง ,ร้านนี้เขามีรีวิวไว้ว่าอร่อย,คนเขาต่อคิวฉันก็ต่อคิวบ้าง ,ฉันจะต้องกินจะได้ไม่ตก..trend ฯลฯ”
สิ่งเหล่านี้คือความสุขของพวกเขาอย่างนั้นหรือ?
การได้สนองกิเลสคือความสุขอย่างนั้นจริงๆหรือ?
ไม่ใช่ว่าเพราะมีกิเลสจึงต้องลำบากลำบนเพื่อหามาเสพหรือ?
ความสุขจากเสพมันมากจนทำให้มองไม่เห็นทุกข์เลยหรือ?
การที่ต้องมาคอยเสพเพื่อบรรเทาทุกข์นี้มันดีจริงหรือ?
– – – – – – – – – – – – – – –
4.4.2558