ทักทาย

ทักทาย ๒๕๕๘ : 2015

January 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 17,763 views 2

ทักทาย ๒๕๕๘ : 2015

ปี 2015 นี้ก็เป็นปีที่ดี เริ่มแผยแพร่บทความสู่สาธารณะก็ประมาณ 4 เดือนกว่าแล้ว มีบทความมากมายถูกพิมพ์ขึ้นมาในช่วงปีที่ผ่านมาและก็มากกว่าที่คิดเสียด้วย เหมือนว่าช่วงแรกจะเน้นปริมาณก็ไม่เชิง แต่จะไม่มีคุณภาพก็ไม่ใช่ เพราะแต่บทความที่พิมพ์ออกมานั้นก็ตั้งใจและทบทวนกันอยู่หลายหนก่อนจะพิมพ์ กว่าจะพิมพ์เสร็จแล้วตรวจทานบางบทบางตอนก็ปาเข้าไปหลายเดือนก็มี

20.1.2015 ปรับปรุงเว็บไซต์ใหม่อีกครั้ง แต่ก่อนไม่ได้ใช้เป็นหลัก ใช้เพียงแค่ไว้ backup ข้อมูลเท่านั้น แต่ตอนนี้กลับมาปัดฝุ่นเพราะเห็นว่าน่าจะใช้ประโยชน์ได้อีกช่องทาง ทำให้มันดีเสียหน่อย คนเขาจะได้อ่านง่ายๆ

บทความเกี่ยวกับความรักที่เพิ่งผ่านไปไม่นานนี้ก็ถือว่าค่อนข้างพอใจและประหลาดใจมากที่พิมพ์ออกมาได้มากมายขนาดนี้ จริงอยู่ที่ว่าตอนแรกก็ตั้งเป้าไว้เล็กๆว่าจะเน้นเรื่องความรักในปี 2014 แต่ไปๆมาๆก็ลืมเหมือนกัน มาพิมพ์เยอะๆเอาตอนท้ายปีนี่แหละ มีคนถามก็เลยได้โอกาสพิมพ์ไป ดีเหมือนกันนะ

10.2.2015 เพิ่มหน้าเอาไว้ให้ ถาม-ตอบ ผมคิดว่าน่าจะช่วยเป็นช่องทางให้หลายท่านได้ถามคำถามมาโดยไม่ต้องระบุตัวตน ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าใครเป็นคนถาม ซึ่งอาจจะช่วยคลายสงสัยในปัญหาที่เก็บไว้ได้ ซึ่งผมอาจจะตอบช้าสักหน่อย แต่ก็พยายามจะเข้ามาดูบ่อยๆครับ

10.11.2015 ผมจะเข้ามาในบล็อกแห่งนี้ในช่วงที่มีอัพเดทบทความใหม่นะ ส่วนใหญ่จะอยู่ใน facebook เป็นหลัก

27.11.2015 ได้รับเชิญไปบรรยายในงาน ประชุมมังสวิรัติเอเซียแปซิฟิก APVC และได้บรรยายในหัวข้อ ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

รักมั่นคง

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,624 views 0

รักมั่นคง

รักมั่นคง

… ความตั้งมั่นจะที่ก้าวข้ามความเห็นแก่ตัวเพื่อดำรงไว้ซึ่งสัจจะ

คงจะเป็นเรื่องยากถ้าจะให้เราปล่อยวางความรัก ทำตัวเฉยๆกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นมา แม้ว่าจะศึกษาธรรม อ่านบทความเกี่ยวกับความรัก มีกรณีศึกษามากมายที่ทำให้รู้สึกหวั่นเกรงอยู่บ้าง แต่เมื่อได้ประสบกับความรักเข้าจริงๆแล้ว เราก็มักจะยอมปล่อยวางธรรมเหล่านั้นและเดินตามความรักไปอย่างเต็มใจ

เมื่อความรักในแบบที่เข้าใจดำเนินมาตามขั้นตอนคบหา ดูใจ เรียกว่าคนสนิท ได้ชื่อว่าแฟน จนกระทั่งแต่งงานเป็นสามีภรรยา แน่นอนว่ามีเวลามากมายให้เราได้คิดพิจารณา แต่ถ้ากิเลสยังอยู่ละก็เวลาเหล่านั้นก็จะถูกใช้ไปกับการเสพสุข ใช้ในการบ่มเพาะเรื่องราวความรักจนกระทั่งแต่งงาน

ในบทความนี้เราจะมาเล่ากันในเรื่องการประคองความรักหลังแต่งงาน ทำอย่างไรให้ชีวิตรักนั้นมั่นคง สิ่งใดที่คงทำให้เจริญ สิ่งใดที่ควรทำลาย

0). เกริ่นนำ

มนุษย์นั้นได้ชื่อว่าประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งปวง นั้นเพราะมนุษย์มีคุณธรรม มีความดีงามเหนือสัตว์อื่น ดังนั้นการครองคู่ของมนุษย์ที่ประเสริฐนั้นก็ย่อมจะมีคุณค่าและมั่นคงเหนือสัตว์อื่นเช่นกัน

นกเงือกเป็นสัตว์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ของรักแท้ เพราะตลอดชีวิตมันก็จะมีคู่เดียว เลือกแล้วเลือกเลยไม่แปรผัน อยู่กันไปจนตาย สัตว์เดรัจฉานนี้อาจจะทำไปด้วยปัจจัยหรือสัญชาติญาณใดๆก็ตาม แต่ก็นับเป็นสัญลักษณ์ที่ประเสริฐ ที่ควรน้อมนำมาปฏิบัติ ดังนั้นเกิดเป็นมนุษย์ก็จงอย่าทำตนให้ต่ำกว่านกเงือก

1). เปิดม่านละครเรื่องใหม่

หลังจากที่เราได้เกี้ยวพาราสี สนองกิเลส บำรุงบำเรอคู่จนหลงในความรัก ตกลงปลงใจแต่งงานกันแล้ว ก็ถือเป็นการเริ่มต้นละครเรื่องใหม่ซึ่งต่างไปจากเดิม หลายคนมองว่าการแต่งงานคือความสมบูรณ์ในชีวิต มองว่าการแต่งงานเป็นตัววัดคุณค่าของคน เป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรี เป็นความหมายในการเป็นคน

แม้ว่าเราจะมีความเห็นผิดเหล่านั้นแต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสักเท่าไรนัก เพราะปัญหาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราแต่งงานมีครอบครัวใหม่ นั่นก็เพราะว่าบทที่เราต้องเล่นจะเปลี่ยนไป ทุกอย่างที่เคยมีจะเปลี่ยนแปลง ทั้งเสพทั้งเสื่อมสลับปรับเปลี่ยนหมุนไปอย่างรวดเร็วจนเราเล่นตามบทไม่ทัน

ในละครเรื่องนี้ หน้าที่ของเราก็คือเล่นบทบาทให้สมจริง ให้เป็นสามีจริงๆ ให้เป็นภรรยาจริงๆ เป็นนักแสดงรางวัลตุ๊กตาทองที่แม้บทจะยากเย็นแสนเข็ญก็จะแสดงให้ดีให้สมจริงให้ได้

1.1). ในบทสามี

เมื่อเป็นสามี ชีวิตจะเปลี่ยนไปเพราะได้ภาระคนใหม่ในชีวิตที่ชื่อว่า “ภรรยา” เข้ามา แม้ความสวยงามของเธอ อัตตาของเธอ การสมสู่กับเธอ ในช่วงแรกๆอะไรก็ดีไปหมดดังที่เขาว่า “ข้าวใหม่ปลามัน” แต่อารมณ์สุขเหล่านั้นจะเสื่อมลงไปอย่างรวดเร็วเมื่อได้เสพซ้ำๆ

ผ่านไปเรื่อยๆความเป็นเธอหรืออัตตาในแบบของเธอที่เราเคยชอบมันจะเริ่มเป็นปัญหา เพราะจริงๆเธอก็ยั้งไว้เช่นกัน ก่อนแต่งก็เก็บๆไว้ก่อนหลังแต่งก็ปล่อยเต็มที่ สุดท้ายเราจะได้พบกับความเอาแต่ใจของเธอแบบเล่นจริงเจ็บจริง เพราะเมื่อเธอได้ยึดเราเป็นที่พึ่งแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผัวเมียแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเกรงใจกันมากนัก จริงใจกันจะดีกว่า ว่าแล้วก็เลยปลดปล่อยอัตตากันเต็มที่

ผ่านไปอีกไม่นาน ความเต่งตึงและความงามที่เคยมีจะค่อยๆเสื่อมสลาย หลายส่วนจะค่อยๆหย่อนยานเหี่ยวย่น หมองคล้ำ ไม่น่ามอง ไม่น่าสัมผัส เนื่องจากเธอไม่จำเป็นต้องดูแลตัวเองให้มากเหมือนสมัยที่ต้องยั่วกิเลสเราให้เราหลงแต่งงานกับเธอ และเธอเองก็ยังไม่สามารถที่จะป้องกันความแก่ที่เพิ่มขึ้นทุกวันได้อีกด้วย

ยิ่งถ้าเธอมีลูกแล้วสามีอาจจะต้องพบกับสภาพที่น่าสงสารที่สุดก็คือ ภรรยารักลูกมากกว่า หรือไม่ก็ร่างกายเธอเปลี่ยนไปจนกู่ไม่กลับ ด้วยสัญชาติญาณความเป็นแม่ ความรักความห่วงใยมักจะไปลงที่ลูก แน่นอนว่าจริงๆแล้วคนที่อยากได้ความรักจากภรรยาคือสามี แต่โดนลูกแย่ง ทีนี้จะไปโกรธลูกก็ไม่ได้เพราะรักลูกเหมือนกัน แต่นี่เองคือสภาพความเสื่อมที่ต้องเผชิญ

รวมถึงภาระที่ต้องแบก ฝ่ายชายซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำโดยสากล ย่อมแบกภาระในหลายๆด้าน นำมาซึ่งความกดดันทางจิตใจ แต่ก็ไม่เป็นไรนะ ไหนๆเราก็เลือกที่จะมาเป็นสามีเธอแล้ว ถึงแม้เธอจะแก่จะเหี่ยว เรื่องมาก เอาแต่ใจเพียงใด นี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ ดังนั้นด้วยบทสามีดีเด่น ก็ควรจะดำรงความดีไว้ แม้ว่ามันจะไม่สุขเหมือนก่อนแล้วก็ตาม

1.2). ในบทภรรยา

เมื่อเป็นภรรยาแล้ว แรกๆอาจจะพบว่าเต็มไปด้วยความสวีทหวานสามีทำการบ้านตลอดไม่เคยเกเร พอผ่านไปก็ชักจะเริ่มขาดส่ง จนกระทั่งหายไปนานๆ เราพยายามแต่งตัวสวยยั่วกิเลสก็แล้ว ทำตัวน่ารักเหมือนสมัยสาวๆก็แล้ว ก็ยังไม่ได้ผล ซึ่งจริงๆเราก็ต้องเข้าใจความเป็นจริงของโลกว่า อาการคนเสพจนเบื่อมันเป็นเช่นนี้

แล้วแต่ก่อนเราเคยถูกเอาใจ ดูแล โทรหาทุกเช้าเย็น ไปรับไปส่ง มันอาจจะเสื่อมลงสลายลง กลายเป็นผลติดลบเช่น ต้องมาคอยดูแล เอาใจ ต้องคอยโทรเช็คทุกเช้าเย็นว่าไปไหน ต้องขับรถไปรับไปส่งสามี แม่สามี และลูกอีกอะไรแบบนี้ก็คงต้องยอมเข้าใจ

เรื่องความสวยนี่ไม่ต้องพูดถึง ถ้าคนเสพรูปความสวยจนเบื่อแล้ว แต่งไปก็เท่านั้น สวยไปก็เท่านั้น แต่ไม่สวยแล้วอาจจะโดนติได้ มีแต่เท่าทุนกับขาดทุน

ยิ่งถ้ามีลูกยิ่งแล้วใหญ่ ลูกก็ต้องเลี้ยง สามีก็อ้อนเอาแต่ใจ ต้องแบ่งความรักความเห็นใจวุ่นวายกันไปหมด แถมร่างกายหลังมีลูกมันก็ไม่เหมือนเดิมอีกด้วย จะทำให้เหมือนเดิมมันก็ยาก บางคนคลอดแล้วก็ยังเหมือนไม่ได้คลอด

ทีนี้พอมีลูกก็มักจะมีญาติผู้ใหญ่เข้ามาเสริมในชีวิตเข้าไปอีก ปรุงแต่งกิเลสกันสนุกสนาน คนนั้นก็จะเอาอย่างนั้น คนนี้ก็จะเอาอย่างนี้ แต่แน่นอนว่าในบทภรรยาดีเด่น เราก็ต้องกระจายความรักความเมตตาให้กับทุกคน สามีก็ต้องเป็นสุข ลูกก็ต้องเป็นสุข ญาติๆก็ต้องเป็นสุข สุดท้ายเราก็แบกทุกข์ไว้เอง ทนๆกันไปนะ

1.3). แนะนำตัวละครใหม่ที่เรียกว่า “ลูก”

ใครก็ไม่รู้ที่มาสวมบทบาทเป็นลูกของเรา แน่นอนว่าเนื้อหนังที่หุ้มนั้นเป็นส่วนที่เราสร้างมา แต่จิตใจและกรรมนั้นเป็นของเขา ซึ่งเขาจะเป็นตัวละครที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตพ่อแม่ เปลี่ยนวิถีจากคู่รักกลายเป็นครอบครัวอย่างแท้จริง เป็นคนที่จะเข้ามาพึ่งพิงพลังชีวิตของสามีและภรรยา นั่นหมายถึงเขาคือภาระที่เราต้องเลี้ยงดู เป็นเหมือนดังบ่วงที่ผูกไว้ให้เป็นสภาพครอบครัว ให้หนีจากความเป็นครอบครัวไม่ได้

แต่แน่นอนว่าในฐานะพ่อแม่ดีเด่นแล้ว เราต้องทำหน้าที่เลี้ยงลูกให้เหมาะสมที่สุดอย่างเป็นกุศลตามที่เขาควรจะเป็น ไม่ใช่ที่เราอยากให้เป็น ซึ่งก็เป็นผลกรรมที่พ่อแม่ต้องรับไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะต้องเลี้ยงไปนานเท่าไหร่น่ะหรอ? ก็จนกว่าจะหมดวิบากกรรมที่ทำมานั่นแหละ

1.4). ตัวละครเสริมพ่อตาแม่ยาย ญาติ มิตรสหาย

เป็นคนที่มักจะเข้ามาเป็นฉากๆ ไม่ประจำนัก สมัยนี้คนไทยมักจะไม่ค่อยมีภาพครอบครัวใหญ่ให้เห็นมากเหมือนก่อน แต่ญาติมิตรสหายนั้นก็กลับเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อชีวิตคู่เช่นกัน โดยเฉพาะพ่อแม่นี่แหละ เพราะเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อชีวิตคู่อย่างมาก มีพลังอำนาจที่สามารถทำให้ทุกข์หรือสุขได้ เราไม่สามารถจะไปกำหนดบทบาทของตัวละครเสริมเหล่านี้ได้นัก ได้แต่รับผลกรรมไปตามที่ทำมา

2). หน้าที่

เมื่อเปลี่ยนจากการคบหาดูใจมาเป็นสามีภรรยาแล้ว หน้าที่ที่จะต้องทำก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย นั่นคือการสงเคราะห์ ดูแล ช่วยเหลือภรรยา บุตร ญาติ พ่อแม่ ฯลฯ ซึ่งเป็นมงคลชีวิตที่ต้องกระทำ ถ้าไม่ทำก็ถือว่าละทิ้งหน้าที่ ไม่เป็นมงคล เป็นทางเสื่อม

เรารู้ดีกันอยู่แล้วว่าการเพิ่มใครเข้ามาสักคนในชีวิตนั้นหมายถึงภาระที่เพิ่ม แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ตระหนักกันในมุมนี้สักเท่าไร มักจะมองว่าช่วยกันพาเจริญ ช่วยกันทำดี เห็นแต่มุมที่สวยงาม แต่ลืมมองเรื่องของกิเลสและวิบากกรรมที่มีร่วมกัน

การพูดถึงหน้าที่นั้นเข้าใจได้ไม่ยาก ใครก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจกันโดยสามัญ แต่หน้าที่ในที่นี้หมายถึงการทำหน้าที่แม้กระทั่งอยู่บนปัจจัยที่ต่างไปจากเดิม สภาพที่ไม่เอื้อต่อการทำหน้าที่ หรือแม้สภาพจิตใจที่ไม่อยากทำหน้าที่

ชีวิตคู่ไม่ได้ราบเรียบเหมือนน้ำในทะเลสาบ แต่ปรับเปลี่ยนรุนแรงเหมือนกับทะเล ดังนั้นความยากของการทำหน้าที่คือการทำหน้าที่บนความเปลี่ยนแปลงที่ควบคุมไม่ได้ เราไม่ควรละทิ้งหน้าที่ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างใดๆก็ตาม แต่หน้าที่นั้นเป็นภาระที่เราต้องแบ่งพลังชีวิตของเรามาทำแม้ว่ามันจะเหนื่อยยากลำบากแค่ไหน เพราะนั่นเป็นวิบากกรรมที่เราทำมา เราตัดสินใจแต่งงานมาเอง เราต้องรับภาระนี้เอง จะมาเหยาะแหยะอ้างนู่นอ้างนี่ ทำตัวงอแงเหมือนเด็กที่หาข้ออ้างเพื่อจะไม่ได้ทำการบ้านไม่ได้

ไม่ใช่ว่างอนหรือทะเลาะกันแล้วละเว้นหน้าที่ บ้านก็ต้องดูแล งานบ้านก็ต้องทำ ต้นไม้ก็ต้องรดน้ำ การสมสู่ก็ต้องยอม พอเรารู้สึกโกรธ เกลียด ไม่พอใจ สิ่งเหล่านี้นี่แหละจะทำให้เราละเว้นจากหน้าที่ เห็นไหมว่าการทำหน้าที่ยากเพียงใด ดังนั้นจงอย่าประมาท อย่าให้ความเห็นแก่ตัวมาอยู่เหนือหน้าที่

3). ความมั่นคง

เมื่อวันคืนผันผ่าน เนิ่นนานเป็นเดือนเป็นปี เป็นสิบปี ยี่สิบปี…ความรักสุดหวานเมื่อครั้งสมัยแต่งงานใหม่ๆหรือสมัยจีบกันนั้นเลือนหายไปหมดแล้ว ถึงแม้จะคงอยู่ก็อยู่เพียงแค่รูปธรรม เป็นแค่ภาพเก่าๆ สัญลักษณ์เก่าๆ แต่ความสุขนั้นได้จางลงไปแล้ว

เมื่อความหลงที่เคยมีกลับเลือนหายเหมือนหมอกที่โดนแสงตอนสาย ความจริงก็จะปรากฏ ผู้หญิงที่เราเคยรักเคยหลงใหลอาจจะกลายเป็นเพียงแค่คนที่เอาแต่ใจ แก่ เหี่ยว ขี้งอน ขี้บ่น ขี้ลืม ขี้เหนียว ซุ่มซ่าม มักง่าย อ้วน ไม่เรียบร้อย ฯลฯ และผู้ชายที่เราเคยปักใจรักมั่นอาจจะลงพุง เกเร พูดจาไม่หวานเหมือนก่อน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โทรม ไร้ราศีหนวดเครารุงรัง ขี้โม้ ขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบ ฯลฯ

และทุกสภาพความเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมที่ต้องเผชิญเช่น ความจน ตกงาน ล้มละลาย เสื่อมเสียชื่อเสียง โดนฟ้องในคดีต่างๆ ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง พิการ กลายเป็นผัก ลูกติดยา ลูกอยากเปลี่ยนเพศ ปัญหาในหมู่ญาติและสารพัดปัญหาอีกมากมายที่จะต้องเจอเมื่อดำเนินชีวิตคู่

เราจะสามารถมั่นคงอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อทุกสิ่งที่เราเคยหวังจะได้เสพมันได้หายไปหมดแล้ว มันเสื่อมสลายไปหมดแล้ว มองไปรอบกายดอกไม้ของคนอื่นช่างดูงดงาม แต่ทำไมดอกไม้ของเรากำลังร่วงโรย เราจะทนกับสภาพแห่งความเสื่อมเหล่านี้ได้อย่างไร

สิ่งเดียวที่จะช่วยให้รักนั้นมั่นคงและดำเนินต่อไปได้คือความเสียสละ ยอมสละความเห็นแก่ตัวทิ้งไป ยอมไม่สุข ยอมไม่เสพ ยอมอยู่กับความเสื่อม ยอมทนทุกข์เพื่อดำรงสัจจะ เพื่อพิสูจน์ความแท้ของรักที่มี เพื่อดำรงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ การยอมเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง น่าสรรเสริญ เป็นคุณธรรมที่ควรค่าแก่การเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง

4). บทสรุปรักลวง

ในศาสนาพุทธนั้นการแต่งงานหมายถึงการครองคู่กันดูแลกัน ทำหน้าที่ตลอดไป ศีลข้อ ๓ นั้นเป็นพื้นฐานสำคัญของการครองคู่ การนอกใจคู่ครองนั้นเป็นบาปและสร้างกรรมชั่วที่ร้ายกาจ เพราะการทำลายความเชื่อใจของคนคนหนึ่งนั้นหมายถึงการทำลายศรัทธาและความเชื่อมั่นในคุณธรรมของคนไปด้วย

คนที่นอกใจนั้นคือผู้ที่ทำลายคุณค่าในตนเองด้วยกิเลสที่มีในตน เพราะตนนั้นทนพลังกิเลสตัวเองไม่ไหว จึงยอมทิ้งศีลธรรมจนกระทั่งนอกใจคู่ของตน คำว่า “นอกใจ” นั้นมีความหมายลึกซึ้ง เพราะครอบคลุมทั้งร่างกาย วาจา ไปจนถึงใจ การที่มีจิตคิดไปว่าถ้าได้เสพคนนั้นหรือคนไหนที่ไม่ใช่คู่ของตนก็ถือว่านอกใจแล้ว ใจไปถึงบาปนั้นแล้ว เพียงแค่รอร่างกายตามไป รอที่จะสะสมกิเลส สะสมกำลังและวิธีการให้ได้ไปเสพในวันใดวันหนึ่งเท่านั้นเอง

สามีภรรยาทุกคู่นั้นย่อมจะต้องเจอกับสภาพความเสื่อมอยู่แล้ว เราแต่งงานเพราะความหลง เมื่อความหลงจางคลายจึงพบความจริง หลายคนยอมทำใจรับกับความจริงได้ ยอมเสียสละสุขบางส่วนเพื่อคนที่รัก แต่ก็มีหลายคนที่ทำใจไม่ได้ จึงทำให้คนรักที่เคยพูดแค่คำหวาน ให้คำสัญญามั่นหมาย รักกันเสียสละให้กัน ดูแลกันจนตาย ยินดีที่จะทำลายคำสัญญาเหล่านี้ ยอมกลายเป็นผู้ไม่มีสัจจะเพียงเพราะแค่ตนนั้นทนสภาพทุกข์ไม่ไหว จึงขอเอาตัวรอดไปเสพสุขเพียงผู้เดียว

แม้จะละทิ้งหน้าที่ ทำลายสัจจะ ฉีกสัญญารัก เอาตัวรอดไปได้เหมือนนกที่รักอิสระโบยบินออกจากกรงทอง แต่กรรมนั้นกลับผูกมัดไว้อย่างแน่นหนา เพราะการละทิ้งหน้าที่ การไม่ดูแลคู่ของตน การประพฤตินอกใจคู่ครองนั้นเป็นความหยาบที่หนักหนาสาหัส หยาบขนาดที่ว่าสัตว์เดรัจฉานบางชนิดยังไม่ทำกันเลย

ผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความลวงในหน้ากากของความรัก ได้ชดใช้กรรมที่ตนเคยก่อไว้ และได้อิสระคือความโสดกลับมาอีกครั้ง ซึ่งมีแต่เรื่องน่ายินดี แม้ว่าในตอนแรกอาจจะเต็มไปด้วยความเสียใจที่เสียของรัก แต่ในที่สุดในวันใดวันหนึ่งก็จะเข้าใจได้เองว่าความโสดนี้คือสมบัติที่มีคุณค่าที่สุดแล้ว ดังนั้นจึงควรขอบคุณคนที่ยอมทิ้งเราไป

ส่วนคนที่ละทิ้งหน้าที่ แสร้งทำเป็นผู้ยอมมาทำบาป จึงกลายเป็นตัวแทนชำระหนี้กรรมให้กับผู้ถูกทิ้ง โดยยินดีสร้างกรรมชั่วนั้นไว้กับตนเสียเอง จึงกลายเป็นผู้ที่น่าสงสารที่สุด เพราะนอกจากจะสูญเสียศักดิ์ศรี เสียสัจจะ เสียคุณค่า แล้วยังต้องมาสร้างบาปแบกวิบากกรรมชั่วที่ตัวเองทำไว้อีก มีแต่เสียกับเสียอย่างเดียว แต่นั่นก็หมายถึงว่าในท้ายที่สุด เขาก็จะได้เรียนรู้กับผลกรรมที่เจ็บแสบจากกรรมที่เขาเคยกระทำไว้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

15.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,364 views 0

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

การที่เราจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุก ปราศจากธุลีละอองความอยากใดๆในจิตวิญญาณนั้นหากเราไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถ่องแท้และไม่ได้เข้าถึงธรรมนั้นด้วยใจตัวเองก็คงยากที่จะพบกับความสุขแท้

สติปัฏฐานคือช่วงหนึ่งของเส้นทางสู่ความผาสุกที่เราจำเป็นต้องเดินผ่าน เป็นขั้นตอนของการตรวจจับและพิจารณาธรรมเพื่อทำลายกิเลส เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไว้ หากไม่มีกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วการทำลายกิเลสก็จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น

สติปัฏฐานนั้นคือกระบวนการที่ต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มจนจบ ตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ครบองค์ประกอบเหมือนเครื่องจักรที่ตัด พับ ต่อ ประกอบ กล่องให้สมบูรณ์เพียงแค่ใส่วัตถุดิบเข้าไป สติปัฏฐานนั้นก็เช่นกันมีการทำงานเป็นองค์รวมไม่แยกกันปฏิบัติ ต้องปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นระบบที่มีกระบวนการที่สอดคล้องกันไป

สติปัฏฐานนั้นต่างจากสติสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมโดยทั่วไป เพราะทำหน้าที่คนละแบบ สติปัฏฐานไม่ใช่เพื่อความรู้ตัว แต่เป็นการนำความรู้ตัวที่เกิดจากสติสัมปชัญญะเข้ามาเป็นอาหารสู่การรู้กิเลส จับกิเลส วิเคราะห์กิเลส และทำลายกิเลส ดังนั้นหากใครยังเข้าใจความต่างของสติทั้งสองอย่างไม่ได้และไม่เข้าใจการทำงานของสติปัฏฐาน ก็ยากที่จะเข้าใจธรรมะที่เกิดในตน เพราะสติปัฏฐานนี่เองคือกระบวนการที่จะทำให้เห็นธรรมะที่เกิดในตนเองอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

สติปัฏฐานนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ไปรวดเดียวจนจบครบกระบวน ไม่ใช่การแยกปฏิบัติทีละตัว จำเป็นต้องเรียนรู้ทุกตัวแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องค่อยๆเรียนรู้ไปตามลำดับทีละขั้น เพราะสติปัฏฐานไม่ใช่การฝึกวิชา ไม่ใช่ระดับชั้น จึงไม่ต้องฝึกทีละขั้นแล้วเลื่อนชั้นไปศึกษาตัวต่อไป แต่ต้องเข้าใจองค์รวมทั้งหมดเพราะธรรมแต่ละตัวนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลส

สติปัฏฐาน ๔

ธรรมนี้คือทางเอกเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งการหลุดพ้นจากกิเลส ในบทความนี้ก็จะขยายและประยุกต์ให้กับผู้ฝึกกินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสโดยเฉพาะ แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิเลสตัวอื่นๆได้เช่นกัน

ในกรณีนี้จะยกตัวอย่างเพื่อผู้ที่ยังติดในรสชาติของเนื้อสัตว์ ยังหลงในเนื้อสัตว์ ยังคงมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ ทั้งในกรณีที่เราตั้งใจกินมังสวิรัติและไม่ได้กินมังสวิรัติอย่างจริงจัง

1). กายในกาย

เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ เราก็จะรับรู้ได้ถึงอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นอาการที่จิตวิญญาณสังเคราะห์ขึ้นมาเช่น น้ำลายไหล ตัวสั่น มือสั่น กลืนน้ำลาย น้ำย่อยไหล หายใจผิดจังหวะ อาการเหล่านี้คืออาการของความอยากที่สะท้อนให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะนามหรือพลังงานข้างในจิตใจเปลี่ยนแปลง จึงสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปคือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เราจึงจำเป็นต้องมีสติให้พร้อมเพื่อจับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนี้เพื่อให้เห็นใจที่เปลี่ยนไปแม้จะเป็นการสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยก็ตาม

เมื่อเรากินเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ อาการที่เกิดกับร่างกายชัดๆเลยคือจะยังมีความอร่อย จะยังมีรสอร่อยอยู่ รสอร่อยนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นรสชาติของวิญญาณที่มีกิเลสของเราสังเคราะห์ขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอง จิตของเราปั้นรสอร่อยเหล่านั้นขึ้นมาเองให้ร่างกายของเราได้สัมผัสแล้วหลอกเราซ้อนอีกทีว่าเนื้อสัตว์อร่อย

เมื่อเราคิดถึงเนื้อสัตว์ หากเรายังมีความอยากอยู่ จะเกิดอาการกับร่างกายคือมีอาการหิวกระหายเนื้อสัตว์ โหยหวนคิดถึงเนื้อสัตว์ มีอาการน้ำย่อยหลั่ง กลืนน้ำลาย น้ำลายไหล หิว หมดแรง ออกอาการต่างๆเพื่อให้กระตุ้นให้เรากลับไปกินเนื้อ

อาการที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ คืออาการภายนอกที่สะท้อนให้เห็นภายในคือจิตใจที่เปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะเมื่อผัสสะเข้ามากระทบกระแทกแล้วจิตใจของเราให้หวั่นไหวจนสั่งร่างกายให้หวั่นไหวตาม ผู้ที่มีสติจับอาการของร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงได้จะนำผลนี้ไปสู่ขั้นตอนต่อไป

2). เวทนาในเวทนา

เมื่อเราจับอาการของจิตใจที่เกิดจากการกระทบร่างกายได้จะพบว่าอาการที่เปลี่ยนแปลงนั้น เกิดได้สามลักษณะคือ สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ นั่นคือเกิดเวทนาอย่างไรนั่นเอง แต่เวทนาเพื่อการล้างกิเลสนั้นถูกแบ่งเป็นสองลักษณะใหญ่ๆที่ต้องเรียนรู้หากว่าเราต้องการความผาสุกอย่างยั่งยืน

เคหสิตเวทนา

หรือความมีเวทนาอย่างชาวบ้าน หมายถึงการเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แบบทั่วไป ไม่ว่าชาวบ้าน นักบวช ผู้ทรงศีลก็สามารถเกิดเวทนาแบบชาวบ้านได้ เช่นเมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แล้วไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เราก็จะเกิดทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป คือทุกข์เพราะไม่ได้กินของที่อยากกิน หรือการที่เราได้ไปกินเนื้อสัตว์แล้วเกิดสุข ก็เป็นความสุขแบบชาวบ้านทั่วไป หรือแม้กระทั่งอาการเฉยๆแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์อย่างที่หลายคนเข้าใจว่าตัวเองกินมังสวิรัติได้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความเฉยๆแบบชาวบ้าน คือตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ เกลียดเนื้อสัตว์แล้วไม่ไปกินก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร

ประเด็นนี้เองที่ทำให้คนกินมังสวิรัติหลายคนเข้าใจผิดว่าตนเองล้างกิเลสได้หรือบรรลุธรรม เพียงเพราะความเฉยๆ แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นความเฉยหรืออุเบกขาแบบชาวบ้าน เหมือนกับคนที่ไม่กินผัก ถ้าไม่มีผักในมื้ออาหารก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ชาวมังสวิรัติที่ใช้การกดข่มก็เช่นกัน เมื่อทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกว่าเนื้อสัตว์ไม่ใช่อาหาร แม้จะไม่มีเนื้อสัตว์อยู่ในมื้ออาหาร หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์เป็นสิบยี่สิบปีก็จะไม่เกิดทุกข์อะไร เพราะรู้สึกเฉยๆกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งหมดนี้เป็นเวทนาแบบชาวบ้าน เป็นเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้

คนกินมังสวิรัติแบบไม่เข้าใจเรื่องล้างกิเลสหากยังมีความอยากในเนื้อสัตว์มากอยู่ เมื่อได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดทุกข์ หรือในกรณีคนที่ยึดติดในมังสวิรัติมากๆ ถ้าได้กินผักก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินผักก็จะเกิดทุกข์ เป็นความรู้สึกสุข ทุกข์แบบทั่วไป แบบเป็นชาวบ้าน เป็นสามัญ เป็นเรื่องธรรมของโลก

เนกขัมมสิตเวทนา

คือการมีเวทนาแบบนักบวช นักบวชในที่นี้ไม่จำเป็นต้องโกนผมห่มผ้า แต่หมายถึงคนที่ใช้ศีลในการขัดเกลากิเลส บวชใจให้อยู่ในธรรม นั่นหมายถึงจะเป็นใครก็ได้ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนา ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเป็นนักบวชก็มีสิทธิ์ที่จะศึกษาธรรมด้วยกันทั้งนั้น อนึ่งการมีเวทนาแบบเนกขัมมะนี่เองคือทางสู่การพ้นทุกข์

การที่เราจะมีเนกขัมมสิตเวทนานั้นจะต้องเริ่มต้นจากการถือศีล การยึดอาศัยศีลมาเพื่อขัดเกลากิเลส ใช้ศีลมาเป็นเครื่องมือตรวจจับกิเลส ผู้ที่ไม่มีศีล ไม่ตั้งตบะ ไม่มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีวันเข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนาได้เลย เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะเป็น ความสุข ทุกข์ เฉยๆในอีกมิติหนึ่งซึ่งต่างออกไปจากเคหสิตเวทนา แม้จะได้ชื่อว่าเฉยๆหรืออุเบกขาเหมือนกัน แต่สภาพภายในจิตใจนั้นก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง นี้เองคือนัยสำคัญว่าทำไมศีล สมาธิ ปัญญาต้องปฏิบัติไปพร้อมกันเป็นองค์รวม ไม่แยกกันปฏิบัติ

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลังจากเราถือศีลก็คือ เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์เพราะว่าต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกิน แม้จะมีมาวางตรงหน้าเราก็ต้องทน ซึ่งยิ่งเรามีความอยากมากเท่าไหร่ เราก็จะทุกข์มากเท่านั้น การถือศีลนี้เองจะทำให้เราเป็นทุกข์และเห็นทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่นี่เองคือการ “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เราจะใช้ความทุกข์นี้แหละในการพิจารณาหาสาเหตุแห่งทุกข์ต่อไปในขั้นตอนของจิตในจิต

ความสุขที่เกิดจากเนกขัมมสิตเวทนา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปราศจากกิเลส ในส่วนของความสุขที่เกิดขึ้นตอนทนไม่ไหวกลับไปกินเนื้อสัตว์นั้นก็เป็นเคหสิตเวทนาซึ่งจะต่างกันออกไป เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะมีสุขแม้จะไม่ได้เสพและจะเกิดขึ้นในจังหวะของการทำลายกิเลสได้

เมื่อทำลายกิเลสได้ความสุขจะสงบลงเป็นอุเบกขา ลักษณะของเนกขัมมสิตอุเบกขาจะแตกต่างกับเคหสิตอุเบกขาอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ จะเรียกว่าคนละโลกก็ว่าได้ โลกหนึ่งเป็นโลกียะ อีกโลกหนึ่งคือโลกุตระ เนกขัมมสิตอุเบกขาเป็นมิติของโลกุตระ ซึ่งจะเป็นความปล่อยวางจากความอยาก สงบเย็น โปร่ง โล่ง สบาย แม้ว่าจะไม่ได้กินผักก็ไม่ทุกข์ แม้จะต้องกินเนื้อก็ไม่ทุกข์ สภาพที่มองเห็นโดยทั่วไปจะคล้ายๆกับคนธรรมดา แต่จะไม่ธรรมดาตรงที่ว่าจะไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในใจอีกเลย แม้จะต้องกินผักไปตลอดชีวิตก็ไม่ทุกข์ เห็นเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ เห็นคนกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ มันจะไม่มีเรื่องอะไรให้ใจเป็นทุกข์หรือขุ่นมัวได้เลย นี่คือสภาวะของเนกขัมมสิตอุเบกขา

การที่เราจะถึงเป้าหมายคือเนกขัมมสิตอุเบกขาได้นั้นต้องเริ่มจากศีล ศีลนั้นคือการเพ่งเล็งเข้าไปที่ความอยากกินเนื้อสัตว์ เข้าไปที่ความติดยึดในเนื้อสัตว์ เพื่อที่เราจะได้ออกจาความอยากกินเนื้อสัตว์ด้วยปัญญา ศีลที่ควรตั้งไว้นั้นคือละเว้น “ความอยาก” ในการกินเนื้อสัตว์ นั้นหมายถึงไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้นทั้งในกาย วาจา ใจ แม้จะเล็กน้อยเพียงเสี้ยวธุลีก็ไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้น นั่นหมายถึงการดับกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างสิ้นเกลี้ยง

…หลักการรับรู้เวทนา

การที่เราจะสามารถรับรู้เวทนาได้ชัดเจนเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองทุกอย่างตามความเป็นจริงแค่ไหน เรามีความจริงใจกับตัวเองมากเท่าไร อยากกินก็รู้สึกว่าอยากกิน เกลียดก็รู้ว่าเกลียด ยอมรับตามตรงว่ายังมีกิเลสเหลืออยู่ตามจริง มีมากก็ยอมรับว่ามาก มีน้อยก็ยอมรับว่าน้อย ไม่ใช่ว่ามีมากแล้วพยายามกดข่มบอกตัวเองไว้ว่าฉันไม่อยาก ฉันไม่อยากแบบนี้จะบรรลุธรรมช้าจนถึงไม่สามารถเข้าใจธรรมใดได้เลยเพราะหากไม่มีความจริงใจต่อตัวเองก็ยากที่จะได้เห็นหน้าตาจริงๆของกิเลส

คนกินมังสวิรัติที่ยึดดีหลายคนมักจะกดข่มความอยากไว้ ทำเป็นมองไม่เห็น ทำเหมือนไม่มี ยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองยังอยาก รู้สึกรังเกียจหากต้องยอมรับการมีอยู่ของความอยากในตัวเอง แต่ถึงจะกดข่มด้วยความคิดเช่นนั้นก็ตาม กิเลสที่มีอยู่ก็ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ลดลงหรือสลายไปแต่อย่างใด มันจะซ่อนตัวแล้วแอบไว้จนกว่าวันที่จิตใจจะกล้าค้นหามันจริงๆ หรือจนกระทั่งวันที่มันคิดว่าความอยากนั้นแข็งแกร่งพอจะทำลายความเป็นมังสวิรัติได้ วันนั้นแหละคือวันที่มันจะออกมา แม้ว่าจะกดข่มไว้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็จะแพ้พลังกิเลสอยู่ดี

ดังนั้นเราจึงควรรับรู้ความทุกข์ สุข เฉยๆ ตามความเป็นจริงโดยไม่เอาความคิด ความรู้ หรือตรรกะใดไปกดข่มความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เองคือกุญแจที่จะไขประตูสู่ร่างจริงของกิเลสเพื่อให้เราได้ต่อสู้และเพียรพยายามต่อไป

3). จิตในจิต

เมื่อเราตั้งศีลและเกิดเวทนาขึ้นในใจแล้ว เช่นเราเกิดความทุกข์เพราะความอยากกินเมนูเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า มันเป็นเมนูที่เราเคยชอบ กลิ่นมันช่างเย้ายวนใจ สัมผัสที่เคยเคี้ยว รสที่เคยลิ้มลองมันยังอยู่ในใจ เมื่อเราไม่ได้กินสิ่งที่อยากกินเราจึงเกิดทุกข์

ในขั้นตอนของจิตในจิตคือเอาทุกข์ สุข เฉยๆนั้นมาชำแหละว่าเราเกิดเวทนานั้นเพราะกิเลสตัวไหน เราไม่สามารถทำลายกิเลสได้ด้วยการบอกว่ามันคือกิเลสแล้วตบมันทิ้งด้วยสมถะวิธี แต่ต้องแยกกิเลสออกมาเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ธรรมที่เหมาะกับกิเลสนั้นๆพิจารณาให้ถูกตัวถูกตน

ในกรณีที่ยกตัวอย่างมานั้นจะเห็นว่าเรามีกิเลสหลายตัวรวมอยู่ในความทุกข์นั้นๆ เราทุกข์เพราะเราไม่ได้เสพ แต่ต้องตั้งสติดีๆให้เห็นว่าเรายึดติดกิเลสตัวใดมากที่สุด กิเลสตัวไหนที่อันตรายที่สุด เช่นเห็นหน้าตาของเมนูเนื้อสัตว์ก็ยังเฉยๆ ได้กลิ่นก็ยังเฉยๆ แต่พอคิดถึงรสที่เคยลิ้มลองเท่านั้นแหละ สติหลุดลอยไปเลย เกิดความอยากแล้วก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะอยากกินแต่ฝืนไม่กิน ดังนั้นในกรณีนี้ตัวรสชาติและรสสัมผัสคือกิเลสที่เราควรจะแยกมาจัดการก่อนเป็นอันดับแรก

การที่เราติดรสชาติและรสสัมผัสนั้นเกิดจากกิเลสในหมวดของกามคุณ ๕ การติดรสสัมผัส เช่น ติดความเย็น ร้อน อ่อน แข็งของวัตถุที่เอาเข้าปาก ในกรณีของเนื้อสัตว์ก็จะเป็นความเหนียวนุ่มของเนื้อนั้นๆ และติดรสชาติ เช่น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เผ็ด ฯลฯ ของเนื้อสัตว์นั้น

เมื่อเราเห็นกิเลสและค้นไปในรากของความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นที่มั่นใจแล้วว่า ความรู้สึกนี่แหละคือกิเลสที่เราติดยึด เราก็จะนำสิ่งที่ได้มานั้นไปสังเคราะห์ต่อในกระบวนการของธรรมในธรรม

4). ธรรมในธรรม

เมื่อเราจับตัวกิเลส หรือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์มาได้แล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดในรสสัมผัสและรสชาติ เราก็จะหาธรรมะที่ถูกที่ควรมาเจรจากับกิเลสเหล่านี้ ให้ตัวเราได้ยอมละหน่ายคลายจากความยึดมั่นถือมั่นจากกิเลสเหล่านี้

เช่นเราอาจจะเลือกเน้นไปในรสสัมผัสก่อนว่า ความอยากกินอยากสัมผัสเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร มีประโยชน์อะไรบ้างถ้าเราจะออกจากสิ่งนี้หรือไม่ติดในสิ่งนี้ ความติดในรสสัมผัสนี่มันก็ไม่เที่ยงใช่ไหม เรากินบ่อยๆมันก็เบื่อใช่ไหม มันไม่ได้สุขทุกครั้งที่กินใช่ไหม แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวตนของเราอีกด้วยเพราะจริงๆแม้เราจะไม่ต้องสัมผัสเนื้อนั้นๆเราก็ยังสามารถได้ความสุขจากการขบเคี้ยวสิ่งอื่นๆ (ในกรณีนี้ใช้เฉพาะต้องการเบี่ยงออกไปหาสิ่งที่เป็นภัยน้อยกว่า) เราติดรสสัมผัสเราไม่ได้ติดเนื้อสัตว์ เพียงแค่เราหาอย่างอื่นคล้ายๆกันมาแทนแล้วพิจารณาประโยชน์ไปเรื่อยๆก็จะทำให้ลดเนื้อสัตว์ได้

รวมทั้งการพิจารณาข้อมูลอื่นๆเสริมไปก็ได้เช่น เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเสริม เอาข้อมูลทางการวิจัยมาเสริม เอาอสุภะหรือภาพจำพวกสัตว์ถูกทรมานหรือสัตว์ตายมาเสริมก็จะเพิ่มพลังในการพิจารณาออกจากกิเลส เพราะตอนนี้เราจับตัวกิเลสได้คาหนังคาเขาแล้ว และมั่นใจว่าเป็นตัวนี้แน่ๆ เราก็ใช้ธรรมะนี่แหละเข้าถล่มสู้กับความยึดมั่นถือมั่นอย่างไม่ต้องยั้งมือได้เลย

ในมุมของการติดรสชาติก็ทำคล้ายๆกันจะขอยกตัวอย่างการเห็นธรรมของการติดรสชาติในกรณีหนึ่ง คือปลาหมึกปิ้งกับเห็ดออรินจิปิ้ง เราอาจจะเป็นคนที่ชอบกินปลาหมึกปิ้ง พอพิจารณากิเลสดีแล้วก็รู้ได้ว่า เราติดใจในรสชาติของปลาหมึกปิ้ง ถ้าปลาหมึกไม่ราดน้ำจิ้มก็ไม่อร่อย ปลาหมึกจะอร่อยหรือไม่อร่อยอยู่ที่ความสดและน้ำจิ้ม และร้านค้าปลาหมึกมักโฆษณาว่าน้ำจิ้มรสเด็ด ตอนนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับความติดรสของตัวเองเท่านี้

จนกระทั่งเมื่อเราได้ลองกินเห็ดออรินจิย่างจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด เราจึงเริ่มไม่แน่ใจว่าเราติดรสน้ำจิ้มหรือติดรสปลาหมึกที่จิ้มน้ำจิ้ม เราจึงลองเปลี่ยนจากปลาหมึกมาเป็นเห็ดออรินจิแล้วจิ้มน้ำจิ้มรสเดิม แล้วเราก็พบว่าเรายังมีความสุขอยู่เหมือนเดิม เราจึงได้ค้นพบว่าเราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องกินปลาหมึกปิ้ง ไม่ต้องเบียดเบียนปลาหมึก แค่ใช้เห็นออรินจิปิ้งมาแทน

การเห็นธรรมในกรณีนี้คือความมั่นใจว่าเราติดน้ำจิ้มไม่ได้ติดปลาหมึก เราจึงเต็มใจที่จะเลิกกินปลาหมึกและหาเห็ดมาแทนปลาหมึกและใช้น้ำจิ้มรสเดิมโดยไม่ต้องพิจารณาธรรมอะไรให้มากมาย นี่เป็นลักษณะการวิเคราะห์จิตในจิตต่อเนื่องมาธรรมในธรรมอีกนิดหน่อยก็จบกระบวน เลิกกินปลาหมึกปิ้งได้อย่างสบายใจ เพราะรู้ชัดแจ้งในวิญญาณว่าไม่ได้ติดปลาหมึกปิ้งแต่ติดน้ำจิ้ม ก็เลยไม่ต้องไปฆ่าความอยากกินปลาหมึกปิ้ง แต่ก็ต้องกลับไปทำโจทย์ของความอยากในรสชาติของน้ำจิ้มอีกทีหนึ่ง หรือจะเก็บความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดก่อนแล้วค่อยกลับมาจัดการเรื่องการติดรสชาติก็ยังไม่สาย เพราะการกินเนื้อสัตว์นั้นบาปกว่าและหยาบกว่าการติดรสของอาหาร

ในเรื่องของความติดยึดในเนื้อสัตว์นั้นยังมีการติดได้ในกิเลสอีกหลายมิติ เช่น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา และในหลายลีลาของกิเลสเช่น โลภ โกรธ หลง การวิเคราะห์หรือหาสาเหตุในขั้นตอนจิตในจิตก็จะต่างกันออกไป การใช้ธรรมมาแก้ในขั้นตอนของธรรมในธรรมก็จะต่างออกไปเช่นกัน

….แต่ถึงแม้ว่าเราจะทุ่มเทสุดชีวิตสุดปัญญาก็ตาม กิเลสอาจจะไม่ได้ตายหรือสลายหายไปง่ายๆ ซึ่งการพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็เป็นเรื่องธรรมดา ถึงเราจะเพียรอย่างเต็มที่ก็แค่อาจจะทำให้กิเลสลดกำลังหรืออ่อนแอลงไปบ้างเท่านั้น แต่เราก็จะไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ใช้สติปัฏฐานตั้งแต่กาย เวทนา จิต ธรรม นี่แหละ ตรวจจับกิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งกิเลสจะยอมถอยและตายไปเอง

ผู้ที่เข้าใจกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วจะไม่กลัวการกระทบของกิเลส จะไม่ผลักไส ไม่กดข่ม ไม่ตบกิเลสให้ดับลงในทันทีเพราะรู้ดีว่าการดับด้วยสมถะวิธีนั้นไม่ยั่งยืน เป็นเพียงการกดข่มเท่านั้น แต่จะบุกตะลุยเข้าสู้กับกิเลส เจอกิเลสที่ไหนก็จับมาพิจารณาได้หมด แสวงหาผัสสะที่จะมาเป็นอาหารของตนเอง ถ้ายิ่งเก่งก็จะยิ่งกล้าในการเข้าไปรวมหมู่รวมกลุ่มกับสังคม เป็นนักมังสวิรัติที่ชำแหละและล้างกิเลสเป็น จึงต้องใช้สังคมและมิตรสหายเป็นเครื่องมือหรือเหตุการณ์ที่จะเข้ามากระทุ้งให้เห็นกิเลส ด้วยสติปัฏฐาน จับกาย ดูเวทนา วิเคราะห์จิต สังเคราะห์ธรรม ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะเก็บสะสมความเจริญไปได้เรื่อยๆจนวันหนึ่งกิเลสหมดก็จะสามารถรู้ได้เองจากการทดสอบความอยาก หรือการทดสอบการหลุดพ้นจากกิเลสด้วยใจของตัวเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เริ่มต้น…(ชีวิตนักเขียน)

August 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,410 views 0

เริ่มต้น...(ชีวิตนักเขียน)

ตั้งเพจ ” ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ” ขึ้นมา เพราะคิดว่าประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้รับมานั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ที่ควรแบ่งปันให้คนอื่นได้รู้บ้าง

เป็นเรื่องของชีวิต ความสุข ความทุกข์ รัก โลภ โกรธ หลง กิเลส โทษของกิเลส ความหลุดพ้นจากกิเลส จนถึงความสุขแท้ ความสุขที่ยั่งยืน เที่ยงแท้ ตลอดกาล…