เกี่ยวกับฉัน
พระไตรปิฎกคือคลังปัญญาวุธ
ปัญญาวุธ = ปัญญา + อาวุธ น่าจะอยู่ในลักษณะของคำสนธิ
สมัยก่อนผมไม่อ่านหนังสือเลยนะ พอเรียนจบมานั่นแหละ จึงได้หัดอ่านหนังสือบ้าง แต่ก็เป็นพวก how to เรียนรู้ต่าง ๆ ก็เป็นคนรักการอ่านมากขึ้น พอมาอ่านพระไตรปิฎกนี่รู้ได้เลยว่านี่คือ “คลังแสง”
พระไตรปิฎก คือคลังปัญญาวุธ เป็นสิ่งที่พระเถระได้ทำทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ ผ่านมากว่า 2500 ปี แม้จะมีฝุ่นอยู่บ้าง แต่อาวุธในคลังนี้ยังคมกริบเหมือนเดิม
เป็นอาวุธที่เอาไว้ประหารกิเลสได้เป็นอย่างดี และเอาไว้ใช้ปกป้องศาสนาจากคนเห็นผิดได้อีกด้วย เรียกว่าใช้ได้ทั้งภายในตนเองและภายนอก
ตัวผมนี่ค่อนข้างได้ประโยชน์มาก เพราะเข้าไปศึกษาแล้วเอามาใช้ได้เยอะ พวกอาวุธเบา ๆ นี่ใช้ได้เยอะ กลาง ๆ ก็พอได้ แต่หนัก ๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน มีหลายบทหลายสูตรที่ยากเกินภูมิไปเหมือนกัน ต้องให้ระดับครูบาอาจารย์ท่านขยายให้ฟัง
แม้แต่บทเดียวกัน มีดเล่มเดียวกัน ผมก็จะใช้ได้เก่งไม่เท่าครูบาอาจารย์ ในแต่ละบทแต่ละสูตรจะสามารถตีความลึกซึ้งขึ้นได้ตามปัญญาญาณของแต่ละท่าน สรุปคือฝึกมามากก็เก่งมาก
ส่วนคนไม่มีสภาวะ ก็จะเอามีดไปตอกตะปู อะไรแบบนี้ คือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งนี้คือมีด ดังนั้นพระไตรปิฎกจึงไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะใช้ได้เท่าเทียมกันทั้งหมด จึงเป็นเครื่องอาศัยในการศึกษา ไม่ใช่เครื่องยึดมั่นถือมั่น
เพราะสุดท้ายคนสัมมากับคนมิจฉาก็จะตีความหมายของคำหรือประโยคต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกต่างกันอยู่ดีนั่นเอง
ผู้ใหญ่พาทำ
จากประสบการณ์ที่ได้ตามศึกษาจากครูบาอาจารย์มา จะพบได้ว่า ท่านเหล่านั้นได้สร้างองค์ประกอบที่จะ “เอื้อ” ให้ผู้คนได้เข้ามาร่วมบำเพ็ญกันได้อย่างงดงามและแนบเนียนสุด ๆ
กิจกรรม การงานใด ๆ ที่สร้างขึ้นมานั้น แน่ละ ดูเผิน ๆ ก็เป็นกุศล แต่เนื้อในคือการสร้างองค์ประกอบที่จะให้เกิด “บุญ” ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างระหว่างการปฏิบัติธรรมหรือทำดีในแบบทั่ว ๆ ไป คือใช้องค์ประกอบของกิจกรรมในการชำระกิเลส
ถ้าแบบโลกีย์ทั่วไป เขาก็ไปรวมกันทำดี ทำกุศล สะสมความดี หวังผลดี หวังสวรรค์วิมาน หวังโชคดีต่าง ๆ ในชีวิต คือไปทำดีแล้วยังมีหวัง ยังมีฝัน ยังเป็นลาภแลกลาภ ยังเป็นมิจฉาอาชีวะ
แต่ถ้ามาแบบโลกุตระ จะดีแบบให้หมดหวังกันไปสักที ดีแบบให้เลิกหวัง ด้วยองค์ประกอบของคำสอนที่แตกต่างกัน ในนิยามของคำว่า “บุญ” ก็ตาม ที่หมายถึงการชำระกิเลส ดังนั้น กิจกรรมการงานต่าง ๆ จึงมีจุดมุ่งหมายต่างกันกับกลุ่มหรือลัทธิทั่วไป
เพราะท่านสอนให้เราสละ สละกันเป็นลำดับ เท่าที่ทำได้ เท่าที่ทำไหว องค์ประกอบมีอยู่ กิจกรรมการงานนั่นไง ท่านก็สร้างไว้ให้ เราก็เข้าไปร่วม ไปลด ไปเลิก ไปสละ ไปทำความดีแบบไม่ต้องหวัง ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ไปทำบุญ ไม่ใช่ไปเอาบุญ ไปชำระกิเลส ไม่ใช่ไปเอากิเลสเพิ่ม
ไม่ใช่การทำดีเพื่อการหวังใหญ่หวังโต อำนาจ บารมี ลาภ ยศใด ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ท่านสอนให้สละออก อย่าไปหวง อย่าไปหวัง
ผมเห็นแล้วก็ศรัทธา เพราะที่อื่นไม่มีแบบนี้ ที่อื่นเขาไม่เป็นแบบนี้ เขาสอนต่างกัน ทิศทางไปต่างกัน เราไม่ไปสวรรค์ เราไม่เมากุศล เรามุ่งเอากิเลสของเราออก เป็นอันดับแรก ปฏิบัติตามแบบนี้แล้วรู้สึกว่าตนเองเจริญมากขึ้น ผ่อนคลาย เบาสบายมากขึ้น
หลายปีที่ผ่านมาเรียกว่ายกเรื่องปวดหัวออกได้หลายเรื่องมาก ๆ แสดงว่าวิธีของท่านมีผล ทำตามแล้วมีผล
สัมมาทิฏฐิ อย่างหนึ่งที่เป็นจริงคือ “พิธีที่ทำแล้วมีผล” คือทำตามแล้วกิเลสมันลดล้างจางคลายได้จริง อาจารย์เคยบอกว่าพระโพธิสัตว์จะสร้างองค์ประกอบให้ผู้คนได้ฝึกลดกิเลสได้เก่งตามบารมี ผมฟังแล้วก็รู้สึกศรัทธามาก การที่คนจะฉลาดในการลดกิเลสตัวเองก็ว่าประเสริฐแล้ว แต่การที่จะมีปัญญาในการพาคนพ้นทุกข์นั้นเหนือไปกว่านั้น
เก่งที่สุดก็คือพระพุทธเจ้า แต่เกิดมาชาตินี้ก็ไม่เจอพระพุทธเจ้า แต่อย่างน้อยได้เกิดมาเจอครูบาอาจารย์ก็คุ้มค่าแล้ว เราก็ทำตามท่านไป ท่านทำให้เราดู เราก็ศึกษาตามที่ผู้ใหญ่พาทำ
ทำไมถึงเลือกพิมพ์บทความเกี่ยวกับความรัก
เมื่อปีก่อนมีคนถามคำถามนี้มา ก็ตอบไปว่า “เพราะมันเป็นเหตุแห่งทุกข์ที่ร้ายมากขนาดที่คนฆ่ากันตายได้” ก็ตอบไปสั้น ๆ ประมาณนี้
ก็คงจะมาพิมพ์ขยายกันเพิ่มว่าทำไม ผมจึงเลือกพิมพ์บทความความรักมากมายในช่วงนี้
ช่วงหลายปีก่อนเป็นช่วงที่มีบทความหลากหลาย การไม่กินเนื้อสัตว์ ชีวิตความเป็นอยู่ การปฏิบัติธรรม ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ แต่มาช่วงสุดท้ายของปี 62 จนมาถึงวันนี้ กลับดูเหมือนเน้นแต่เรื่องความรัก
นั่นก็เพราะผมเลือกว่าถ้าเราสังเคราะห์สิ่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด เพราะมีคนทำน้อย เรื่องไม่กินเนื้อสัตว์เขาก็ทำกันเยอะแยะ ก็ไม่ต้องไปปรุงกันมากนัก เราก็เลือกที่เราทำได้เด่น ๆ อันนี้มันเป็นความถนัดเฉพาะทางด้วย มันพิมพ์แล้วมันไปได้ มีคนอ่าน ถือว่าทำออกมาแล้วขายออก ก็ทำอันนี้ แม้จะมีแบบอื่นที่ทำได้อีก แต่ก็เอาอันนี้แหละ เรื่องความรักแบบนี้แหละ ไม่ค่อยมีคนทำเลย มาลดโลภ โกรธ หลง ในความรัก หาอ่านไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่ก็มีแต่จะพาเพิ่ม โลภ โกรธ หลงในความรักเสียมากกว่า
มีคนเขาถามว่าสิ่งที่เราพิมพ์นั้นมาจากความคิดหรือประสบการณ์ ก็จะตอบว่าทั้งสองอย่าง
ถ้าจะนิยาม ความคิด ว่าคือการคิดด้นเดาเอาเอง อันนั้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะความลึกซึ้งในธรรมะนั้นคิดหรือเดาเอาเองไม่ได้ นั่งเทียนเขียนก็เขียนไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาวะมันจะเขียนไม่ออก เก่งภาษาแค่ไหน ก็จะสื่อสารไม่มาไม่ไป มันจะวน ๆ งง ๆ ไม่แม่นเป้า ไม่ตรงประเด็น ไม่ตรงกิเลส
ไม่เชื่อลองดูก็ได้ มีหัวข้อให้ เป็นเรื่อง ๆ ใช่ว่าคนปฏิบัติธรรมเขาจะเขียนออก หรือถ่ายทอดได้กันทุกคนเสียที่ไหน มันต้องมีผลจากการปฏิบัติเป็นหลัก แล้วปรุงตามเหตุปัจจัยของโลก สังเคราะห์ความคิดขึ้นมาว่าถ้าเหตุแบบนี้เราจะทำอย่างไร จะแก้ไขปัญหาอย่างไร อันนี้เป็นความคิดที่มีหลักว่าต้องพาไปสู่ความพ้นทุกข์ พ้นโลภ โกรธ หลงในความรัก
ก็มีอยู่บ้าง ที่เขาอาจจะจำมา เรียนมา ศึกษามา แต่ถึงเวลาใช้จริงมันจะแข็ง ขาดความพริ้ว หรือขาดมุทุธาตุ ที่เป็นความแววไวของจิต มันจะเป็นบล็อก ๆ เป็นความรู้ชุด ๆ เหมือนนักรบที่ฝึกกระบวนท่าเป็นชุด ๆ แต่ประยุกต์ไม่ได้
ส่วนประสบการณ์นี้ก็ต้องตอบว่ามีพอหากิน การเรียนรู้ของคนนั้นวัดด้วยเวลาเท่าที่เห็นได้ยาก คนแต่ละคนมีความไวในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่สะสมมาข้ามภพข้ามชาติ จะลองให้คนแก่ที่ผ่านรักมามากมายหลายครั้งมา เล่าเรื่องแจกแจงกิเลสอย่างผมก็ได้ ผมไม่เชื่อหรอกว่า คนที่ผ่านเวลามามากมาย ผ่านรักมาหลายครั้ง จะมีความชัดเจนแจ่มแจ้งในเรื่องกิเลสได้โดยที่ไม่ได้ปฏฺิบัติธรรมอย่างถูกตรง
ญาณปัญญาคือผลจากการปฏิบัติ การเรียนรู้ในมิติที่มีปัญญาจะต่างไปจากมิติของคนที่จมอยู่กับกิเลส ทุกเรื่องราว เหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาจะถูกแปรสภาพเป็นปัญญา เป็นการรู้โลกที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ต่างจากคนที่ยังจมอยู่กับกิเลส เมื่อมีเรื่องราวหรือสิ่งกระทบ ก็จะไหลไปทางใดทางหนึ่ง ไม่ชอบก็ชัง ไม่รักก็เกลียด พอไปทางโต่งสองด้าน ปัญญามันก็ทึบ ถึงจะผ่านเวลาไปนานเท่าไหร่ แต่ถ้ากิเลสยังครอบงำอยู่ การเรียนรู้ที่ถูกตรงก็จะไม่เกิดขึ้นเลย
ส่วนถ้าถามว่าได้สิ่งเหล่านี้มาได้อย่างไร ที่ได้ความรู้เหล่านี้มาเพราะมีครูบาอาจารย์ที่ดี ที่ท่านปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างให้เราได้พึ่งพาอาศัยเรียนรู้จากท่าน พอตั้งใจปฏิบัติตาม มันจะได้ความรู้ชุดหนึ่งมาจากท่าน และความรู้อีกชุดหนึ่งจากผลการปฏฺิบัติของเรา บวกกับความรู้ที่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จากการที่เราสังเคราะห์กับผู้คน เหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกนี้
ผมพิมพ์เรื่องความรักมานานหลายปี การทบทวนธรรม การแสดงธรรมนั้นเป็นวงจรที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายรอบ พระพุทธเจ้าตรัสว่าการทบทวนธรรม และการแสดงธรรมนั้น เป็นองค์ประกอบในเหตุแห่งการหลุดพ้นจากกิเลส ๒ ใน ๕ ประการ ดังนั้น ยิ่งทบทวน ยิ่งพิมพ์ ยิ่งเผยแพร่ มันจะมีปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ปัจจุบันก็ยังไม่หยุด ก็ยังคิดว่าตนเองยังไม่เก่งหรอก มันก็มีเหลี่ยมมุมใหม่ ๆ มาให้เรียนรู้เพิ่ม ก็ฝึกย่อ ฝึกขยายกันไป บางทีมันต้องย่อให้มันกระชับ ก็ต้องฝึก บางทีมันสั้นไปมันก็จะเข้าใจยาก ก็ต้องขยายกัน ก็ฝึกไปเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวผมเอง ส่วนคนมาอ่านแล้วเขาได้ประโยชน์ ก็เป็นความลงตัวของความดีที่ได้ทำร่วมกันอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเขาเห็นว่าดี เดี๋ยวเขาก็เอาไปลองทำเอง ถ้าเขาทำแล้วดี ก็คงจะเหมือนกับผมที่ทำตามอาจารย์แล้วผลมันออกมาดี พ้นทุกข์ เราก็เลยเอาไปบอกคนอื่นต่อว่ามันดี นั่นเอง
บทความสังเคราะห์จากหลาย ๆ ปัจจัย
ที่ผมพิมพ์บทความได้เยอะ ๆ นี่ก็มาจากข้อมูลคนมากด like มา comment ด้วยครับ
คือเห็นแล้วจำได้ว่าใครมากดนั่นแหละ แล้วพอมีข่าวสารขึ้นใน feed มันก็จะพอนึก ๆ อะไรออกบ้าง ก็เรียกกันว่าสังเคราะห์กันทาง facebook
ที่ไม่ตอบ ก็คิดว่าส่วนใหญ่เป็นประโยคบอกเล่าก็เลยไม่ได้ตอบอะไร แม้จะเป็นคำถามก็ต้องพิจารณาการตอบอีกทีหนึ่ง แต่ก็ได้อ่านทุกท่านครับ พิมพ์อะไรมาก็อ่านนั่นแหละ แต่บางทีถามมาอาจจะลืมตอบจริง ๆ ทั้งที่คิดว่าจะตอบแต่ก็ลืมไป ก็มีเหมือนกัน เพราะผมก็ไม่ได้อยู่หน้าจอตลอด มันก็มีงานอื่นต้องคิด คิดเรื่องอื่น มันก็ลืมเรื่องตอบไปก็มีเหมือนกัน
แต่ผมพยายามจะยกมาเขียนตอบเป็นบทความใหม่นะ เพราะคิดว่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น คนอื่นเขาจะได้อ่านด้วย
แต่ท่านที่เป็นอวตาร(บัญชีที่ไร้การแสดงตัวตน) นี่บอกตรง ๆ ว่าผมประมาณยาก ถ้าถามมาก็จะตอบไปแบบประเมินต่ำไว้ก่อน อาจจะตอบเป็นเชิงแนวคิด ภาพรวม ๆ บางทีข้อมูลมันมีน้อย มันก็วิเคราะห์ยาก พระพุทธเจ้าท่านสอนให้มีการประมาณ หนึ่งในนั้นคือการประมาณในบุคคล สมัยนี้อวตารเยอะ ผมก็เข้าใจ เพราะผมก็เคยทำ บางคนเขาอาจจะมีเหตุในการปิดบังตัวตนก็ไม่ว่ากัน เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ครับ
ขอให้สบายใจในการแสดงความคิดเห็นครับ คิดต่างได้ คิดไม่เหมือนกันได้ครับ เป็นเรื่องธรรมดา จะติมาก็ได้ถ้าเห็นควร เห็นว่าติแล้วเป็นประโยชน์ แต่อย่าถึงขั้นด่ากันเลยครับ เกรงว่ามันจะมันจะหมิ่นเหม่ไปในทางบาป แต่จริง ๆ ก็ด่าได้นั่นแหละ ผมก็พอทนได้ประมาณหนึ่งครับ ส่วนมากก็จะไม่ค่อยถือสา เพราะผมเคารพสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นของท่านเหล่านั้นเหมือนกัน
ก็ขอบคุณที่แบ่งปันการกดแสดง feedback , comment ต่าง ๆ ฯลฯ เข้ามาครับ เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ไอเดียบรรเจิด