ข้อคิด

วิธีเรียนรู้ชีวิต

April 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,198 views 0

วิธีเรียนรู้ชีวิตมีสองวิธีกว้างๆ

  1. คือเรียนรู้จากผู้รู้และประสบการณ์ของผู้อื่น
  2. คือเรียนรู้ด้วยตัวเอง

คือว่าเรียนรู้นั้นหมายถึงการเอาสิ่งนั้นมาพิจารณาในใจอย่างแยบคายให้ถึง เหตุปัจจัยที่เกิดผล หรือโยนิโสมนสิการ ดังนั้นไม่ว่าจะวิธีไหน หากไม่เกิดโยนิโสมนสิการ ก็ไม่เกิดการเรียนรู้

1.เรียนรู้จากผู้อื่น

เป็นวิธีเรียนรู้ที่ได้ผลไวที่สุด และเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าเป็นทางที่ตรงที่สุดที่พาพ้นทุกข์ คือต้องเรียนรู้จากผู้รู้สัจธรรมจึงจะพาชีวิตไปสู่ความเจริญ

เมื่อเราเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นแล้วนำมาไตร่ตรองหรือปฏิบัติตาม ย่อมจะได้ผลที่ใกล้เคียง ดังเช่นการปฏิบัติตามสัมมาอริยมรรค ก็ย่อมให้ผลไปในทิศทางที่เจริญ ไม่หลงทาง

2.เรียนรู้ด้วยตนเอง

เป็นวิธีเรียนรู้อีกทางที่ได้ผลช้า ถึงช้ามาก ด้วยความไม่รู้และความหลงผิดซึ่งเป็นพื้นฐานของเราแต่ละคน ทำให้ชีวิตเรียนรู้ไปในทางที่ผิดอยู่เสมอ ซึ่งผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นการเรียนรู้ด้วยตนเองนี้ส่วนมากเกิดจากอัตตา คือยึดว่าฉันทำได้ ฉันรู้เองได้ ฉันไม่ต้องพึ่งใคร ฉันไม่ต้องมีครู ฉันไม่ต้องมีศาสนา

จึงต้องไปลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ก็เป็นอีกทางหนึ่งในการเรียนรู้ที่ทำได้ แต่ไม่ดี เพราะสุขน้อย ทุกข์มาก

นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก

April 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,286 views 0

นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก

นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก

การมี การได้รับ การได้ครอบครอง หรือการได้เสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อเขาเหล่านั้นได้ความรู้สึกสุขก็จะยึดมันไว้ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการเป็นนักสะสม

นักสะสมนั้นสามารถสะสมได้ตั้งแต่วัตถุที่เป็นรูปธรรมจนถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เรียกได้ว่าติดสุขในอะไรก็มักจะสะสมสิ่งนั้น และสิ่งที่เราทุกคนนิยมสะสมกันมากที่สุดก็คือการสะสม “กิเลส

กิเลสเป็นพลังที่พาให้คนหลงไปในสุขลวงในมุมที่แตกต่างกัน บางคนไปสุขกับการสะสมสิ่งของ บางคนสุขกับการสั่งสมคนรัก บางคนสุขกับการได้รับคำสรรเสริญเยินยอ เมื่อได้รับสิ่งใดก็จะยิ่งอยากได้รับสิ่งนั้นมากขึ้นไปอีก กลายเป็นคนที่กระหายใคร่อยากจะเสพในสิ่งที่ตนหลงรักและชอบใจ

การสะสมกิเลสนั้นง่าย มีคนเก่งในการสะสมกิเลสมากมาย ยิ่งสนองกิเลสตนเองและกระตุ้นกิเลสผู้อื่นได้มากเท่าไหร่ก็มักจะได้รับการยอมรับว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนที่มีความสามารถ เป็นคนที่มีคุณค่าต่อโลก ฯลฯ

ต่างจากการเลิกสะสมกิเลส การลดกิเลส การละกิเลส การทำลายกิเลส เรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครสนใจนัก แม้จะเห็นแต่ก็ไม่ใยดี ไม่ยินดีที่จะลดกิเลส เพราะเข้าใจว่าการสะสมกิเลสมันได้สุขมากกว่า

ถึงแม้จะสนใจก็ใช่ว่าจะหาคนที่พาลดกิเลสได้ง่ายนัก เหมือนใช้ชีวิตอยู่ในกระแสของกิเลสที่เชี่ยวกราก ยากแท้จะหาผู้ใดที่สามารถจะทวนกระแสของกิเลสนั้นได้ และยากยิ่งกว่าคือการจะพาตัวเองออกจากกระแสของกิเลสไปเจอคนเหล่านั้น จึงได้แต่ปล่อยให้ชีวิตลอยไปตามกระแสของกิเลส สนองกิเลส สะสมกิเลส เสพสุขอยู่ในโลกอย่างไม่จบไม่สิ้น

เมื่อเสพสุขอยู่แต่เรื่องโลก ไม่ว่าจะในระดับอบายมุข กามคุณ โลกธรรม หรืออัตตา ต่างก็ล้วนสร้างความยึดมั่นที่ตรึงตนเองให้อยู่ในโลกมากขึ้น แม้จะต้องทนทุกข์จากกิเลส แต่ก็จะหลงมัวเมาจนไม่สามารถมองเห็นกิเลสได้ เหมือนกับปลาที่อยู่ในน้ำย่อมหมายเอาว่าแม่น้ำนั้นแหละคือที่อาศัยของมัน และโลกเหนือน้ำไม่มีอยู่จริง ถึงจะมีจริงก็อยู่ไม่ได้

แท้จริงแล้วกิเลสนี้เองคือสิ่งที่ยึดเราไว้กับโลก ยิ่งเราสะสมกิเลสมากเท่าไหร่ แรงยึด แรงที่ดูดดึงไว้กับเรื่องโลกก็จะมากเท่านั้น ดังนั้นการจะพยายามทวนกระแสโลก การจะออกจากโลก จนกระทั่งการจะอยู่เหนือโลกที่เรียกกันว่า “โลกุตระ” นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ในวิสัยของนักสะสม

กิเลสจะบังตาของนักสะสมไว้ เรียกว่าเห็นก็ไม่ได้ ถึงเห็นก็ไม่รู้ ถึงรู้ก็ไม่เข้าใจ ถึงเข้าใจก็เป็นเพียงตรรกะหรือคำบอกเล่าที่ยินได้ฟังมา

แม้จะพยายามยอมตัดใจเลิกสะสม แต่กิเลสก็มักจะเหนี่ยวรั้งไว้ ถึงจะเลิกอย่างหนึ่งก็ไปติดอีกอย่างหนึ่ง ถึงจะบังคับข่มใจอย่างไรก็จะมีแต่ความทรมานที่กิเลสมอบให้ บังคับให้นักสะสมเหล่านั้นกลับไปเสพด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือต่างๆนาๆ

ดังนั้นการสะสมจึงกลายเป็นนรกที่ตนเองสร้างไว้ขังตัวเอง ยึดสะสมมากก็ยิ่งลึกมาก ยิ่งปีนขึ้นมายาก ต่อให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถขนาดไหน ต่อให้ได้ปริญญาเอกเป็นร้อยใบ ต่อให้ได้ชื่อว่าฉลาดรอบรู้และเป็นที่ยอมรับในสังคม ต่อให้เป็นนักบวชและผู้ปฏิบัติธรรมที่เคร่งศีล ต่อให้นักรบที่ว่าแน่แค่ไหน ผ่านความเจ็บปวดความเสี่ยงตายมาเท่าไร แต่ถ้าไม่ได้เรียนวิชาล้างกิเลสก็จะไม่สามารถหลุดออกจากห้วงนรกของการสะสมกิเลสที่ลึกสุดลึกได้

นรกของนักสะสมจึงกลายเป็นหลุมดำที่คอยดูดคนที่หลงสุขลวงเข้าไปเสพสุข กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มั่วกาม เมาอบาย บ้าอัตตา จึงกลายเป็นนรกที่ต้องเผชิญไปพร้อมๆกับการใช้ชีวิตที่หลงเข้าใจว่าเป็นความสุขแท้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

27.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กรณีศึกษาความโลภที่ซ่อนในความรัก

April 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,493 views 0

ความไม่เคยพอของกิเลส
กรณีศึกษาความโลภที่ซ่อนในความรัก

(http://pantip.com/topic/13112327)

การใช้ทรัพย์ที่ตนมี เช่น หน้าสวย หุ่นดี ไปแลกกับลาภที่มากกว่า ผลออกมาคล้ายกับนิทานอีสิปที่ว่าด้วยหมาคาบเนื้อแล้วไปเห็นเงาเนื้อที่สะท้อนในน้ำใหญ่กว่า จึงทิ้งเนื้อในปากเพื่อจะได้เนื้อที่ใหญ่กว่า สุดท้ายจึงทำให้เสียเนื้อไป

คนเราโดยส่วนใหญ่เมื่อถูกกิเลสยั่วยวนก็มักจะหลงตามไปเสพอยู่เสมอ แม้จะมีให้เสพอยู่แล้วแต่ก็มักจะไม่เคยพอ หวังจะได้เสพในสิ่งที่จะบันดาลสุขให้แก่ตนมากขึ้นไปอีก มากขึ้นไปอีก และมากขึ้นไปอีก

การสะสม สร้างบาปเสียกุศล

April 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,891 views 0

การสะสม สร้างบาปเสียกุศล

การสะสม สร้างบาปเสียกุศล

การสะสมสิ่งที่ไร้สาระไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตนั้น เป็นเพราะกิเลสพาให้หลงเพลิดเพลินไปกับสิ่งลวง ให้จมอยู่กับสุขลวงและเหลือทิ้งไว้แต่ทุกข์แท้ๆ

เราสามารถสะสมอะไรได้หลายอย่างทั้งที่เห็นเป็นรูปและไม่มีรูป ที่เห็นเป็นรูปก็เช่น ของสะสมต่างๆ แสตมป์ ตุ๊กตา ซีดี ต้นไม้ เสื้อผ้า บ้าน รถ เงิน ฯลฯ และที่ไม่มีรูปเช่น การยอมรับ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรี ความสุข เป็นต้น

เมื่อเราหลงไปสะสมอะไรก็ตาม นั่นหมายถึงเรากำลังสะสมกิเลสไปทีละน้อย การสะสมกิเลสหมายถึงการทำบาป สรุปแล้วผู้ที่หลงมัวเมาสะสมสิ่งใดๆที่ไม่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตคือผู้ที่สร้างบาปให้แก่ตนเอง

เพราะยิ่งสะสม ก็ยิ่งอยากได้ เมื่ออยากได้ก็จะเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์ก็ต้องไปหามาเสพ เอามาสะสมให้สมใจ เมื่อได้เสพก็สุขอยู่ชั่วครู่แล้วก็จางหายไป แล้วก็จะอยากได้สิ่งใหม่อีก เป็นทาสกิเลสแบบนี้เรื่อยไปไม่จบไม่สิ้น จึงกลายเป็นผู้ที่สร้างบาป เวร ภัย ให้กับตน เพราะเอาแต่สิ่งที่ไม่มีสาระมาเป็นแก่นสารสาระในชีวิต ดังนั้นจึงทำให้ชีวิตนั้นไร้สาระ

แม้ว่าสังคมจะให้การยอมรับผู้ที่สะสม ผู้ที่มีมาก แต่นั่นก็เป็นแค่เสียงสะท้อนจากสังคมอุดมกิเลส ผู้ที่หลงมัวเมามักจะชักชวนกันให้จมอยู่ในห้วงแห่งความหลงเสพหลงสุข พวกเขาจะไม่ยอมให้ใครพรากความสุขไปง่ายๆ นั่นหมายถึงการไม่ยอมให้ใครได้หลุดออกจากนรกของการสะสมด้วย

สังคมที่พาให้สะสมกิเลสนั้นไม่ใช่สังคมของบัณฑิต แต่เป็นสังคมของคนพาล แม้ว่าผู้สะสมจะมีหน้าตาในสังคม มีฐานะดี มีการศึกษาดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนดีแท้ เพราะถ้าเขาเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกิเลสแล้วล่ะก็… สามารถและคุณสมบัติที่มีก็จะกลายเป็นความสามารถที่จะสร้างนรกได้มากพอๆกัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนธรรมดาสะสมต้นไม้ ก็คงจะไม่มีใครให้ความสนใจต้นไม้นั้นมาก แต่ถ้ามีดาราหรือผู้ใหญ่ในสังคมสะสมต้นไม้แล้วล่ะก็ ผู้คนก็จะให้ความสนใจกับต้นไม้นั้นมากขึ้น สิ่งนี้เองคือการสร้างบาป สร้างนรกที่มากกว่า ในผู้ที่ได้รับการยอมรับในสังคม

เมื่อเราให้เวลา ให้ทุน ให้ชีวิตไปกับการสะสม ไปสร้างบาป เวร ภัย ให้กับตัวเอง เราก็จะต้องเสียโอกาสในการทำกุศล แทนที่เราจะเอาเวลาเหล่านั้นไปเรียนรู้สาระแท้ของชีวิต เอาไปทำประโยชน์ให้แก่ตนและผู้อื่น เอาเงินที่ใช้สะสมเหล่านั้นมาบริหารให้เกิดประโยชน์ต่อตนและผู้อื่น ใช้ชีวิตไปเพื่อตนและผู้อื่น ไม่ใช่ใช้ชีวิตเพื่อสนองกิเลสในตน หรือมีชีวิตเป็นเพียงแค่ทาสกิเลส

เมื่อเสียโอกาสสร้างกุศล และใช้เวลากับการสร้างบาปที่เกิดอกุศลในเวลาเดียวกัน ก็หมายถึงการสะสมสิ่งชั่วและละเว้นการทำดี ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เราสร้างกรรมชั่วเพิ่มมากขึ้นและใช้กรรมดีเก่าที่ทำไว้เพื่อดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขด้วยการบำเรอกิเลส

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น

แต่การสะสมที่เป็นบุญและได้กุศลนั้นมีอยู่ นั่นคือการสะสมอริยทรัพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์ทางนามธรรม ซึ่งเป็นทรัพย์ที่แท้จริงของมนุษย์ ส่วนหนึ่งสามารถเกิดได้จาก “การไม่สะสม” การได้พบสัตบุรุษ การได้ฟังสัจธรรม การปฏิบัติสัมมาอริยมรรค และทรัพย์หรือคุณสมบัติที่จะติดตัวไปตลอดกาลนานทั้งหมดนั้นคือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ธนสูตร ข้อ ๖)

– – – – – – – – – – – – – – –

27.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)