ข้อคิด

โอกาสและอัตตา

June 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,358 views 0

โอกาสและอัตตา

โอกาสและอัตตา

จากละครซีรี่พระพุทธเจ้า ในช่วงที่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งนำโดยท่านโกณฑัญญะ เดินทางมาเพื่อเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า จากคนที่เคยเป็นอาจารย์ ต่อมากลายเป็นเพื่อนร่วมสำนัก และสุดท้ายก็กลายเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เป็นสงฆ์คนแรกของศาสนาพุทธ

เรื่องนี้ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่า สถานะนั้นไม่เที่ยงเลย จากคนที่เคยมีหน้าที่สั่งสอน ต่อมากลายเป็นเพื่อนที่มีสถานะเท่าเทียม สุดท้ายกลายมาเป็นลูกศิษย์ (แม้ในเรื่องจะนำเสนอว่าไม่รับเป็นศิษย์ ให้เป็นเพื่อนปฏิบัติธรรมแทน แต่ภายหลังก็เป็นศิษย์ คือ สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั่นเอง)

นั่นแสดงให้เห็นถึงปัญญาของท่านโกณฑัญญะ ที่ก้าวข้ามความยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวตน” จนทำให้ได้รับ “โอกาส” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกถ้าท่านยังยึดมั่นถือมั่นว่าตนเองเป็นอาจารย์ ก็คงจะไม่มีวันยอมเป็นลูกศิษย์ ของอดีตลูกศิษย์

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะยอมละวางตัวตน ความหลงติดหลงยึดในบทบาทและหน้าที่ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งที่ขัดขวางความเจริญทันทีหากเรายังยึดมั่นถือมั่นมันไว้ในวันที่หลายสิ่งได้เปลี่ยนไปจากเดิม

เราจะยอมรับได้อย่างไร หากคนที่เคยอยู่ใต้การปกครองของเราเปลี่ยนมาเสมอเราและก้าวข้ามเราไป ในขณะที่อัตตาทำงานมันจะพยายามแสดงตัวตนว่าฉันเก่งกว่า ฉันแน่กว่า ฉันรู้มากกว่า จนต้องแสดงความคิดออกมาโดยผ่านคำพูด ท่าทาง ลีลา น้ำเสียง แล้วเราจะมีปัญญารู้ทัน “อัตตา” ของเราอย่างไร

อัตตาเป็นสิ่งที่ขวางกั้นโอกาสในการเรียนรู้ แทนที่เราจะได้เรียนรู้ว่าคนอื่นนั้นแตกต่างจากเราอย่างไร? เขามีความรู้ตามที่เขาได้เปิดเผยไว้จริงหรือไม่? เขาเก่งกว่าเราจริงหรือไม่? แล้วเขาทำเช่นนั้นได้อย่างไร? เราจะไม่มีวันรู้เลยหากเราถูกขวางกั้นด้วยความคิดประมาณว่า “ฉันเก่งกว่า ฉันเป็นถึง…”

ความเจริญทางโลกยังพอมีรูปลักษณ์ให้พอหยิบยกเป็นหลักฐานได้ แต่ความเจริญทางธรรมนั้นเป็นเรื่องนามธรรมทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงอย่างถี่ถ้วนซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากจะประมาณได้

อย่ากระนั้นเลยหากเราฝึกละวางอัตตาของเราตั้งแต่ทีแรก ก็ไม่ต้องมาคอยระวังว่าอัตตาจะมาทำให้ตนเองนั้นพลาดพลั้งเสียโอกาสต่างๆ แต่โดยมากแล้วกว่าจะเห็นอัตตาของตนก็มักจะสายไปเสียแล้ว ดังเช่นพระเทวทัตถ้าท่านวางอัตตาได้เสียตั้งแต่ทีแรกก็คงจะเป็นหนึ่งในผู้พ้นทุกข์ในสมัยของพระพุทธเจ้าไปแล้ว แต่นั่นก็ไม่สูญเปล่าเสียทีเดียว ความผิดพลาดของท่านก็จะเป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังจะได้นำมาศึกษาและเรียนรู้เช่นกัน

ผู้ที่คิดว่าตนเองรู้แล้ว ก็จะปิดโอกาสในการเรียนรู้ของตน ส่วนผู้ที่คิดเสมอว่าตนเองนั้นยังไม่รู้แน่ชัด ก็ยังมีโอกาสในการเรียนรู้ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

23.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รักด้วยใจ

June 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,598 views 0


รักด้วยใจ

ต่อให้ หน้าตาไม่ดี ฐานะไม่ร่ำรวย

ทำงานต่ำต้อย ไร้การยอมรับ

เขาก็รักอยู่ดี…

…ถ้าความรักเป็นเรื่องของจิตใจจริงล่ะก็ แล้วทำไมยังหลงเสพสุขกับเปลือกนอกอยู่?

ทำไมจึงยังหลงสมมุติโลกว่าต้องเป็นแฟนกันหรือแต่งงานกัน? เป็นเพื่อนกันไปไม่ได้อย่างนั้นหรือ?

…………………..

การที่เราจะรู้ได้ว่าเรารักด้วยใจจริงหรือไม่นั้น ต้องทดสอบด้วยการปลดเปลื้องสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ในกรณีที่เราไปรักคนอื่น เราอาจจะต้องค้นใจตัวเองว่า คนดีมีตั้งมากมาย เราไปรัก ไปหลง ไปเสพอะไรกับเป้าหมายคนนี้อยู่ ถ้าเขาหน้าตาไม่ดีล่ะ บ้านจนล่ะ ทำงานที่ดูแล้วไม่น่าเจริญล่ะ เป็นคนที่ผู้อื่นไม่ยอมรับล่ะ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังเป็นคนจิตใจดีนะ เรายังจะรักเขาอยู่หรือไม่ หรือเรายังต้องการปัจจัยพื้นฐานเพื่อเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่

ถ้ามีคนมารักเราก็ลองดูซิว่าเขามาเสพอะไรจากเรากันแน่ คุณสมบัติพื้นฐานทางโลกีย์นั้นอาจจะลดได้ยาก แต่เราก็สามารถใช้ศีลเข้ามาคัดกรองได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราหน้าตาดีเราก็เลิกแต่งตัวแต่งหน้าเสีย ถ้าเราฐานะดีเราก็สร้างนิสัยประหยัดอดออม ถ้าเราหน้าที่การงานดีก็หัดออกไปทำงานฟรี ทำงานจิตอาสาบ่อยๆ หรือถ้าเราเป็นคนที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับมาก ก็ให้เราลดความหลงในตัวตน เช่น ยอมเป็นผู้น้อยสำหรับใครสักคน ยกตัวอย่างเช่น ยอมยกพระพุทธเจ้าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และน้อมรับคำสอนและวิธีปฏิบัติของท่านมาใช้

วิธีที่ยกตัวอย่างมานี้ก็ทำเพื่อที่จะคลายข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วเขารักเราที่ใจหรือรักเปลือกที่ห่อหุ้มเราอยู่ เปลือกแห่งโลกีย์นั้นมีดูเหมือนสิ่งที่น่าได้น่ามี คนเขลาย่อมเข้าใจว่ามีรสหวาน ซึ่งคงไม่มีใครอยากรับเอาคนที่หวังจะเสพสุขแค่เปลือกเข้ามาในชีวิตแน่นอน

แต่เราก็มักจะหลงทำในทิศทางตรงกันข้าม เมื่อมีใครที่เราชอบเข้ามาในชีวิต เราก็จะเริ่มแต่งตัว ทำตัวเองให้ดูดี พรั่งพร้อมไปด้วยกาม ลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งหลายเพื่อให้เขาเข้ามาสนใจ เราใช้ความเป็นโลกีย์ล่อเหยื่อที่เราอยากเสพเข้ามาในชีวิต แล้วเราจะได้พบกับคนที่รักด้วยใจได้อย่างไร?

เราสามารถใช้ข้ออ้างว่าการคบกันก็ควรมีความเหมาะสมกันบ้าง นั่นหมายถึงความต้องการพื้นฐานทางโลกีย์ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าเรามีมาตรฐานในการยอมรับการสนองกิเลสขั้นต่ำได้มากน้อยเท่าไหร่ และนั่นก็หมายความว่าเรายังมีกิเลสเท่าไหร่ ถ้ามีมากก็ต้องการมาก ถ้ามีน้อยก็ต้องการน้อย

การรักที่ใจอย่างแท้จริงนั้น จะมองข้ามเปลือกแห่งโลกีย์ที่ห่อหุ้มอยู่ จะสามารถข้ามผ่านสมมุติโลกที่หลอกให้เราหลงเสพหลงติดหลงยึด ไม่ว่าจะเป็นการคบหากันเป็นแฟนหรือคู่แต่งงาน ซึ่งจะก้าวข้ามสิ่งที่ไร้สาระเหล่านั้นไปเสีย เหลือแต่คุณค่าแท้จริงของจิตวิญญาณดวงหนึ่งที่ควรได้รับความรัก

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ไม่มีสิ่งใดในโลกที่ไม่สมควรได้รับความรักเลย เราจึงควรเพิกถอนความหลงติดหลงยึดในตัวบุคคล กระจายความรักออกไปโดยไม่ต้องมีกรอบใดๆมาขวางกั้นพลังแห่งเมตตาอันไม่มีประมาณนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

22.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การคลายเหงา

June 21, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,497 views 0

การคลายเหงา

การคลายเหงา

แย่ที่สุด..คือการหาแฟน

พอใช้..คือกดข่มและฝืนทน

ดีขึ้นมา..คือหาเพื่อน

ดีที่สุด..คือการล้างกิเลส

กิเลส..ที่เป็นเหตุเกิดของความเหงา

………………….

วิธีการคลายเหงานั้นมีมากมาย แต่ละวิธีก็ให้ผลแตกต่างกันไป แต่ที่แย่ที่สุดคือเหงาแล้วหาแฟนเพื่อแก้เหงา ซึ่งเป็นการสร้างปัญหาอื่นๆเพิ่มเติมในชีวิต ซ้ำยังเป็นการแก้ที่ไม่ถูกจุด เพราะเข้าใจเพียงแค่ว่าการมีคู่เท่านั้นที่จะทำลายความเหงาได้ทั้งๆที่มีวิธีอื่นอีกมากมาย

ที่พอจะทำได้โดยไม่ลำบากตนเองมากนักก็คือกดข่มฝืนทนโดยใช้อุบายต่างๆเขามาควบคุมความฟุ้งซ่านของจิตใจ เช่น หากิจกรรมทำ ขยันทำงาน ใช้ข้อธรรมะ ใช้การปฏิบัติสมถะ ฯลฯ ก็เรียกว่าสามารถจัดการกับความเหงาได้ดีในระดับหนึ่ง

ส่วนที่ดีขึ้นมาคือการหาเพื่อน เพื่อนเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ในที่นี้จะระบุลงไปที่ระดับของกัลยาณมิตร คือมิตรที่ดี คอยรับฟัง แบ่งปัน แก้ปัญหา ยินดีช่วยเหลือ เคารพในความเห็นของกันและกัน ฯลฯ ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีมิตรที่มีความเกื้อกูลกันในระดับนี้ได้ ซึ่งจะเกิดจากการสร้างขึ้นมาเอง เริ่มจากการยอมรับว่าตนเองนั้นอ่อนแอและยอมรับความช่วยเหลือจากผู้ที่ยินดีจะช่วยและมีศีลธรรม

กัลยาณมิตรจะสามารถแก้ไขของความเหงาได้ดีกว่าแฟน มีความยั่งยืน และมั่นคงกว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ นั่นหมายถึงว่าหากเราอยากจะพ้นทุกข์ เราจำเป็นต้องพบกับกัลยาณมิตรเสียก่อน แล้วการมีกัลยาณมิตรจะเป็นสะพานไปสู่การคลายเหงาเอง

แต่ที่ดีที่สุดนั้นก็คือการทำลายความเหงาที่เกิดจากกิเลสนั้นไปเสีย เพราะถ้าไม่มีกิเลส ก็ไม่มีความเหงา ส่วนกิเลสนั้นคือตัวอะไร หน้าตาแบบไหน ก็คงต้องใช้การศึกษาลงไปในจิตของแต่ละคนว่าการที่เกิดความเหงาแล้วเป็นทุกข์แท้จริงแล้วเราอยากเสพอะไร ซึ่งหน้าตาของกิเลสแต่ละคนก็คงไม่เหมือนกัน เพราะสร้างและเสพมาต่างกัน

การจะเข้าถึงการทำลายกิเลสได้ต้องเริ่มจากคบหาสัตบุรุษ หรือผู้รู้สัจจะที่พาพ้นทุกข์ ในที่นี้ก็คือผู้ที่มีวิชาทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงและยอมรับท่านเหล่านั้นเป็นกัลยาณมิตรของเรา ถึงแม้เราจะไม่ได้คุยกับท่านเหล่านั้นโดยตรง แต่ก็จะเอาคำสอนของท่านน้อมเข้ามาพิจารณาในใจตามเนื้อหาสาระให้ลงลึกไปจนกระทั่งเห็นกิเลสซึ่งเป็นที่เกิดแห่งทุกข์ทั้งปวง

คือการยอมรับฟังความเห็นของท่าน ศึกษาความเห็นของท่านโดยพิจารณาเอาประโยชน์ว่าแท้จริงแล้วความเห็นของเรานั้นต่างจากท่านตรงไหน สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ สิ่งไหนที่เป็นโทษ เราควรเข้าใจตามท่านหรือเข้าใจตามที่เราเคยเข้าใจ แล้วเหตุอันใดกิเลสตัวไหนที่ขวางกั้นไม่ให้เราสามารถเข้าใจตามท่านได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องศึกษากระบวนการ จนได้ความรู้ในการชำระกิเลสมาเป็นของตน เพียรศึกษากิเลสในตน และเพียรทำลายความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นให้สิ้นเกลี้ยง ก็จะสามารถทำลายกิเลส ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเหงาได้

เมื่อได้รู้เช่นนี้แล้ว เราจึงควรศึกษาการแก้ปัญหาความเหงาให้เกิดประสิทธิภาพ ให้ความเหงานั้นหายไปอย่างถาวร มิใช่แค่เพียงหาสุขลวงมาเสพเพื่อไม่ให้จิตใจทุกข์ทรมานเพราะความเหงา

– – – – – – – – – – – – – – –

20.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

อีกหน่อยเธอคงเข้าใจ ว่าอะไรสำคัญไปกว่าแค่รักกัน

June 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,453 views 0

อีกหน่อยเธอคงเข้าใจ ว่าอะไรสำคัญไปกว่าแค่รักกัน…

ได้ดูพระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกตอนที่ 31 มีฉากหนึ่งที่หยิบยกมาเตือนใจลูกศิษย์พระพุทธเจ้าที่กำลังอยากมีคู่ นั่นคือฉากที่นำเสนอว่าท่านไม่เก็บแม้แต่ของที่ระลึกจากนางยโสธรา โดยมีบทพูดว่า “หากข้าเก็บมันไว้ มันจะผูกมัดข้ากับกบิลพัสดุ์ตลอดกาล

…จะเห็นได้ว่าแม้แต่รอยอาลัยเพียงเล็กน้อย ก็จะไม่เก็บไว้กับตน ไม่ใช่ว่าไม่ใส่ใจ แต่เพราะมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมีค่ามากกว่าจะต้องทำ หากยังเก็บรอยอาลัยเหล่านั้นไว้ ก็จะเป็นเครื่องผูกจิตไว้กับโลกีย์ตลอดกาล

เราจะได้เห็นคู่ตัวอย่างของการพ้นทุกข์นั่นคือการมีรักเพื่อทิ้ง พระพุทธเจ้าท่านผูกกับนางพิมพาแล้วก็ทิ้งมาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ การพบกันนั้นก็เพื่อการพราก และท่านทำให้เราเห็นเลยว่าหากต้องการความเจริญจะต้องยอมพรากไปจากสิ่งที่เรารักที่สุด ไม่ใช่การเสพสุขไปปฏิบัติธรรมไป

เราไม่สามารถประมาณความยากหรือรู้วาระจิตของพระพุทธเจ้าได้เลย เพราะสิ่งนั้นเป็นหนึ่งในอจินไตย เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือความเข้าใจ เหล่าลูกศิษย์จึงทำได้เพียงเข้าใจแนวคิดว่า จะต้องยอมพรากจากสิ่งที่ตนรักตนหวงแหนให้ได้ ไม่ใช่ว่ารักกันไปจนตายแล้วทำใจได้นะ แต่คือการปล่อยทั้งๆที่ยังรักนี่แหละ

ในตอนก่อนหน้านี้มีบทพูดของพระเจ้าพิมพิสารในเรื่องที่เข้ากันดีกับบทความนี้นั่นคือ “คนที่เสียสละทุกอย่าง จะได้ทุกอย่าง” จึงทำให้สรุปความได้ว่า หากอยากจะพบรักที่มากกว่า จงสละรักที่ผูกพันด้วยกิเลสนี้เสีย ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “พึงสละสุขพอประมาณ เพื่อความสุขอันไพบูลย์”นั่นคือหากไม่ยอมสละความสุขในการมีคู่แล้ว จะไม่มีวันได้พบกับสุขที่มากกว่าเลย

ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ยาก มันเหมือนกับคนที่มีความสุขด้วยปัจจัยมากมายแล้วจะให้พรากสุขออกไปยังที่ที่ไม่มีอะไรเลย เขาไม่ยอมพรากกันหรอก เพราะมันไปสู่ความไม่มีอะไร และเขาก็ไม่เคยสัมผัสสุขนั้นจึงไม่มั่นใจว่าจะมีสุขอันไพบูลย์จริง จึงไม่กล้าทิ้งสุขที่ได้เสพอยู่ ทีนี้จริงๆแล้วที่ไม่มีอะไรเลยนี่มันก็มีนะ มันมีสุขอันไพบูลย์ที่เกิดจากปัญญารู้แจ้งในกิเลส มันไม่มีกิเลส มันก็เลยไม่มีอะไรเลย

สรุปความได้ว่า ยิ่งรักมากเท่าไหร่ ยิ่งควรพรากออกมา เพราะสิ่งที่รักนั้นจะผูกเราไว้กับเรื่องโลก ให้หลงวนอยู่ในโลก ให้เสพสุขอยู่ในโลกตลอดกาล

โชคดีของคนที่ยังโสด เพราะไม่ต้องไปลองบทเรียนที่ยากสุดยาก ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าทำได้แล้วเราจะทำได้นะ กำลังมันต่างกัน เรายังไม่แกร่งกล้าก็อย่าไปแตะเรื่องคู่ให้มันเหนื่อยทีหลัง ส่วนคนที่มีคู่แล้ว ใช่ว่าจะทิ้งง่ายๆนะ มันต้องมีศิลปะ กว่าจะสลัดหลุดได้ต้องสู้ทั้งกิเลสตัวเอง ทั้งพยายามไม่ให้เกิดอกุศล มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะจากกันโดยไม่สร้างเวรสร้างกรรมชั่วทิ้งไว้ให้ต้องรับผลภายหลัง

– – – – – – – – – – – – – – –

20.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)