ความสัมพันธ์ ครอบครัว มิตรสหาย
ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว
ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว
ทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่ากตัญญู สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติมานั้น ใช่ความเป็นที่สุดแล้วหรือยัง และต้องทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าได้กระทำการตอบแทนคุณพ่อแม่ที่สมควรแล้ว
การกระทำบางอย่างแม้จะเป็นสิ่งที่โลกให้การยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่ก็อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อกุศลสูงสุด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เช่นเดียวกับการตอบแทนคุณพ่อแม่ ในมุมมองของพุทธนั้นมีความลึกซึ้งและยากแท้ในการเข้าถึงคุณวิเศษเหล่านั้น
ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๒๗๘ พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับการทดแทนคุณพ่อแม่ว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ง่ายๆ แม้ว่าเราจะแบกพ่อแม่ไว้บนบ่าทั้งสองข้าง มีชีวิตยืนยาวดูแลท่านไปถึงร้อยปี อาบน้ำให้ท่าน นวดให้ท่าน ฯลฯ แม้ท่านจะขับถ่ายก็ให้ขับถ่ายลงบนบ่าทั้งสองของเรา แม้ว่าเราจะทำเช่นนี้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าตอบแทนบุญคุณท่านเลย
และแม้ว่าบุตรจะให้อำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญแก่พ่อแม่สักเท่าไหร่ ให้ความสุขความสบาย ให้ปัจจัยสี่อันหาประมาณไม่ได้ แม้ว่าเราจะทำเช่นนี้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าตอบแทนบุญคุณท่านเลย นั่นเพราะพ่อแม่มีพระคุณแก่เรามาก บำรุงเลี้ยงดู ให้โอกาสเราได้เกิดมาเรียนรู้โลก
นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเราจะดูแลเอาใจใส่ไม่ให้ขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถทดแทนพระคุณของพ่อแม่ได้ แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีทางทดแทนได้ การทดแทนพระคุณในทางของพุทธที่ได้ชื่อว่าบุตรเป็นผู้ทดแทนพระคุณแล้วนั้นมีอยู่
นั่นคือการนำพาให้พ่อแม่ที่ยังไม่มีศรัทธาให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา นำพาพ่อแม่ที่ไม่มีศีลให้ยินดีถือศีล นำพาพ่อแม่ที่ตระหนี่ให้เป็นผู้ที่ยินดีเสียสละ นำพาให้พ่อแม่ที่ยังไม่รู้จักโทษชั่วของกิเลสให้เกิดปัญญารู้เท่าทันกิเลส การกระทำเหล่านี้ ย่อมชื่อว่าลูกเหล่านั้นได้ตอบแทนพระคุณพ่อแม่แล้ว
ซึ่งสรุปความได้ว่านอกจากเราจะดูแลท่านด้วยปัจจัยสี่อันสมควรแก่กุศลแล้ว เรายังต้องพาท่านให้เจริญใน ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาอีกด้วย ทางโลกเราก็ไม่ควรให้พร่องจนท่านต้องทุกข์ทรมาน ทางธรรมเราก็ควรทำให้เจริญยิ่งขึ้น ถึงแม้สุดท้ายต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง เราก็สมควรจะเลือกทางธรรม เพราะเป็นทางเดียวที่จะทดแทนบุญคุณท่านได้อย่างบริบูรณ์ที่สุดแล้ว
แต่การจะทดแทนคุณในทางธรรมตามที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นไม่ง่าย การจะเป็นผู้ชี้นำให้ท่านเจริญใน ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเอาซีดีธรรมะให้ท่านฟัง เอาหนังสือธรรมะให้ท่านอ่าน พาท่านไปวัดไปฟังเทศน์ฟังธรรม ทำทานทำกุศลเท่านั้น แต่ยังจะต้องทำศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ให้เจริญขึ้นในตัวเองอีกด้วย
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน แล้วค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงเราต้องทำตัวเองให้มีธรรมนั้นในตน เอาตัวเองให้รอดก่อน แล้วจึงคิดช่วยผู้อื่น ไม่ใช่ว่าเราว่ายน้ำไม่เป็นแต่กระโดดน้ำลงไปช่วยคนจมน้ำ ก็จะพากันตายทั้งคู่ เช่นเดียวกันกับที่เรายังไม่ทำตนเองให้มีคุณธรรมเหล่านั้น เราก็จะไม่สามารถช่วยใครได้
พ่อและแม่นั้นเป็นผู้ที่เลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็ก การจะทำให้ท่านศรัทธาในตัวของเรานั้นไม่ง่าย ถ้าเรายังใช้ชีวิตโดยไร้ศีลไร้ธรรม ไม่แสดงให้เห็นถึงความเจริญของการปฏิบัติธรรม ท่านก็จะไม่ศรัทธาทั้งตัวเราและในธรรมเหล่านั้น เราจะกลายเป็นผู้ที่กล่าวแต่ในสิ่งที่ตนทำไม่ได้ กล่าวแต่สิ่งที่จำเขามา ไม่ได้ตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน แต่กลับไปพร่ำสอนผู้อื่นเพราะหวังว่าจะตอบแทนพระคุณพ่อแม่ด้วยการให้ธรรมนั้น
ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากเราจะให้สิ่งที่ไม่มีในตน หากเราไม่มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา แล้วเราจะเอาธรรมเหล่านั้นจากไหนไปนำพาพ่อแม่สู่ความเจริญได้ ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งทำตนให้เจริญในธรรมเหล่านั้นเสียก่อน จึงค่อยชี้แนะผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ธรรมเหล่านั้นไม่มัวหมอง
แม้กระนั้นก็ใช่ว่าจะสามารถทดแทนบุญคุณท่านได้โดยง่าย การพ้นทุกข์ การหลุดพ้นจากกิเลส ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจและปฏิบัติได้โดยง่าย ไม่ใช่เรื่องที่จะยึดถือและปฏิบัติกันโดยสามัญ แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้กลับมาโปรดพ่อแม่ของท่านตั้งแต่แรก ท่านมีคุณธรรมที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ที่สุดในโลก แต่ท่านก็รอให้กาลเหมาะสม รอให้พระเจ้าสุทโธทนะเกิดศรัทธา จึงค่อยกลับไปโปรด
อีกตัวอย่างหนึ่งของพระสารีบุตร แต่ท่านเลือกที่จะกลับไปหาแม่ของท่านในช่วงสุดท้ายก่อนที่ท่านจะละสังขาร แสดงธรรมโปรดแม่ จนแม่ของท่านบรรลุเป็นพระโสดาบันในที่สุด
ดังนั้นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ในทางธรรมจึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปยัดเยียด บีบคั้น บังคับ ด้วยความยึดดีถือดี แต่ต้องใช้การประมาณอย่างมาก ให้ถูกกาลเทศะ ให้มีศิลปะ สร้างศรัทธาแต่อย่าให้เสื่อมศรัทธา ให้เป็นไปเพื่อกุศล ไม่สร้างอกุศล การทำคุณอันสมควรในตนว่ายากแล้ว การนำพาผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรนั้นยากยิ่งกว่า ดังนั้นหากเรายังไม่สามารถทำให้ตัวเองเจริญในศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาได้แล้ว ก็พึงสังวรระวังในการแสดงธรรมที่ไม่เหมาะสมกับฐานะ พูดในเรื่องที่ตนเองยังไม่มีคุณเหล่านั้น ซึ่งสุดท้ายจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียและมัวหมอง
เราจึงควรศึกษาและปฏิบัติให้เกิดธรรมเหล่านั้นในตนเอง ให้เจริญยิ่งขึ้นในศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เมื่อเรามีสิ่งเหล่านี้อยู่ในตนเอง เป็นของตนเองอย่างแท้จริง เราก็สามารถแจกจ่ายธรรมเหล่านี้เป็นทาน ในกาลที่เหมาะสมแก่ท่านเหล่านั้นได้ โดยไม่ปล่อยโอกาสในการทดแทนพระคุณพ่อแม่ให้หลุดลอยไป โดยเปล่าประโยชน์ไปอีกชาติ
– – – – – – – – – – – – – – –
13.8.2558
เบื่อผัว เบื่อเมีย : ปัญหาโลกแตกของคนคู่ เบื่อผัว เบื่อเมีย แต่ไม่เคยเบื่อการมีคู่
เบื่อผัว เบื่อเมีย : ปัญหาโลกแตกของคนคู่ เบื่อผัว เบื่อเมีย แต่ไม่เคยเบื่อการมีคู่
เรามักจะได้ยินคำว่า “คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า” ในที่นี้หมายถึงเรื่อง “การแต่งงาน” สื่อถึงสภาพของคู่เคยรัก ที่ไม่อยากจะใช้ชีวิตร่วมกันอีกต่อไป กับคนที่หลงว่าการแต่งงานนั้นเป็นสุข
จากกรณีศึกษาในกระทู้ “เบื่อผัว (http://pantip.com/topic/34020591)” และ “เบื่อเมีย (http://pantip.com/topic/34018249)” จะทำให้เราค้นพบความหมายของคำว่า “คนในอยากออก” ในมุมที่ลึกซึ้งขึ้น เพราะเต็มไปด้วยประสบการณ์ของผู้คนที่เพิ่งตาสว่างจากการหลงผิด เข้ามาแบ่งปันประสบการณ์ความเจ็บช้ำแก่กันและกัน
ถ้าเราอยากมีคู่ เราก็จะแสวงหาหนทางในการมีคู่ พยายามสร้างบทบาท พยายามทักทาย พยายามเรียกร้องความสนใจ ใช้มารยาล่อหลอกสารพัด ให้คนที่เราคาดหวังว่า…ถ้าเราได้เขามาเป็นคู่แล้วเราจะเป็นสุข ให้เขาหลงกลเรา ซึ่งมันก็มีทั้งกลยุทธ์เชิงรุกและเชิงรับ แต่ผลก็เหมือนๆกัน คือหาเหยื่อมาบำเรอกิเลสตน
พอได้คู่มาครอง คบหากัน เป็นแฟนกันแล้วเสพสุขกันไป บำเรอกิเลสกันไป ทีนี้กิเลสมันไม่พอนะ มันเสพไม่เคยอิ่ม มันอยากลิ้มรสสุขที่มากกว่า ได้ยินเขาว่ากันว่าแต่งงานมันเป็นสุข จิตมันเลยเกิดความโลภ มันไม่พอใจแค่ได้คบหาได้เป็นแฟนกัน มันจะเอาอีก มันอยากได้อีก มันอยากเสพรสที่สุขยิ่งกว่านี้อีก มันไม่ยอมหยุดแค่นี้หรอก ที่ว่ามาทั้งหมดนี่พลังกิเลสล้วนๆเลย กิเลสมันหลอกเราให้หลงสุขทั้งนั้นเลย บังคับใจเรา บังคับคำพูดเรา บังคับร่างกายเรา แถมเราก็ยังยอมให้มันบงการชีวิตเราด้วย
คนที่หลงในความรักจนพร้อมจะแต่งงาน เรื่องก็ธรรมะมักจะไม่เข้าหูแล้ว กิเลสมันปิดหูหมด ใครเขาว่ามันทุกข์อย่างไร แต่งงานไม่ดีอย่างไร เขาไม่รับรู้หรอก เพราะจิตมันโดนกิเลสหลอกไปแล้ว โดนลากให้หลงทางไปแล้วจะฟังก็แต่อธรรมที่สนับสนุนข้อดีในเรื่องคู่
ทีนี้พอได้แต่งงานแล้วยังไง ทั้งสองคนก็เป็นคนมีกิเลสเหมือนกัน อยากได้รสสุขเหมือนกัน อยากให้อีกฝ่ายมาบำเรอตนเองยิ่งกว่าก่อนแต่งงาน เพราะหมายมั่นว่าแต่งงานแล้วมันจะต้องสุขกว่านี้ ต้องเลิศกว่านี้ ต้องดีกว่านี้ จึงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นอีกฝ่ายเป็นผัวเป็นเมียโดยไม่ลังเล ยอมทุกอย่างขอแค่ให้ได้เสพสุขที่ยิ่งกว่า
แล้วสุดท้ายก็ไปงงกันเองว่า “อ้าว! มันไม่ใช่อย่างที่หวังไว้นี่” ตั้งความคาดหวังกันไปเอง แล้วก็อกหักอกพังกันไปเอง คือไปหวังว่ามันจะต้องได้รับสุขที่เลิศกว่าตอนเป็นแฟนกัน แต่ที่ไหนได้ ต่างคนก็ต่างรอเสพ พอมีแต่คนรอเสพมันก็ไม่มีคนคอยเสริฟ พอคนหนึ่งเสียสละบำเรอให้อีกคน ก็มักจะเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะตนตั้งเป้าหมายว่าจะได้รับการบำเรอ ไม่ใช่ต้องมาบำเรอคนอื่น มันก็จะเริ่มสะสมเชื้อทุกข์กันตรงนี้ ซึ่งก็จะค่อยๆสร้างปมและเงื่อนไขแห่งความทุกข์ขึ้นไปเรื่อยๆจนเกิดสภาพของ “คนในอยากออก” เพราะไม่ได้เสพสมใจตามที่ตนได้คาดหวังไว้
แต่ถ้าใครมีศักยภาพในการสนองกิเลสกันได้จริงๆเช่นมีลาภ ยศ สรรเสริญเยอะก็สามารถบำเรอกันไปจนกว่าจะหมด คนที่มีทุนทรัพย์เยอะเขาก็สร้างสุขได้จริง แต่สุขนั้นเป็นสุขที่ลวงจริงๆคือลวงให้คนหลงติดในความเป็นเทวดา ติดสุขบนสวรรค์ ได้เสพสุขอยู่ในภพที่มีคนมาบำเรอให้ สุดท้ายวันใดวันหนึ่งหมดรอบกุศล หยอดเหรียญเพิ่มไม่ทัน ก็เหมือนกับนางฟ้าที่ถูกถีบตกสวรรค์ ซึ่งมีกรณีศึกษาให้เห็นในสังคมกันมามากแล้ว แบบที่ว่ารักกันบำเรอกันอยู่ดีๆ สุดท้ายโดนเฉดหัวออกมาจากความเป็นคู่ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
แต่คนส่วนใหญ่ที่เขาไม่ได้มีศักยภาพในการสนองกิเลสกันขนาดนั้น ก็มักจะต้องฝันค้าง หรือตกสวรรค์กันในเวลาไม่นานนักซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีจะได้เห็นทุกข์แล้วหันมาศึกษาธรรมะกัน
ทีนี้แม้ว่าจะจบความสัมพันธ์กันไปแต่กิเลสมันไม่ตายตามไปนะ มันยังหลงสุขในการมีคู่อยู่ แต่มันก็จะระวังขึ้น ระแวงขึ้น คือจะมีข้อแม้ในการได้เสพมากขึ้น เช่นคบคนแรกด้วยเหตุที่หลงรัก พอคบไปคบมาไม่มีเงิน ไม่ได้กินไม่ได้เที่ยวสมใจ ทรมานเพราะความอยากแต่ไม่ได้สมอยาก พอเลิกกันไปก็ตั้งความหวังว่าถ้าเจอคนใหม่จะต้องดีกว่าคนเก่า จะต้องมีอย่างนั้นอย่างนี้ให้เสพเรียกว่าอยากเสพมากขึ้น กิเลสมากขึ้น
สรุปก็คือแม้จะเบื่อผัว เบื่อเมีย แต่คนก็ไม่หยุดหาผัว หาเมียกันหรอก เพราะเขามีกิเลสเป็นแรงผลักดัน ทำให้เกิดความอยาก มันมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ว่าถ้าได้มีคู่จะเป็นสุข หรือยึดมั่นว่าถ้าได้คู่ดีจะเป็นสุข ได้คู่ไม่ดีจะเป็นทุกข์ เมื่อมีความเห็นความเข้าใจอย่างนี้ การออกจากนรกคนคู่นั้นจึงเป็นไม่ได้เลย ถึงจะหลุดออกมาได้ แต่สักพักก็จะโดนกิเลสลากกลับไปลงนรกใหม่เช่นเคย
– – – – – – – – – – – – – – –
8.8.2558
โสดก็ดี มีคู่ก็ทนเอา
หลายๆบทความที่ชี้ทุกข์ในการมีคู่ ชี้นำให้โสดนี่เหมาะกับคนที่ยังโสดเป็นหลักเลยนะ ให้รักษาความโสดไว้ก่อน อย่าเพิ่งรีบสละโสด
อ่านบทความไปพิจารณากันไป ถึงจะคบหาดูใจกันอยู่ ก็ดูกันไปก่อน ดูกันไปนานๆ อย่าเพิ่งรีบผูกมัดกันด้วยร่างกายและสมมุติโลกต่างๆเลย ถึงเวลาอยากออกจริงๆมันจะออกยาก เพราะติดไปแล้ว ผูกพันไปแล้ว
เวลาผ่านไปนานๆ เดี๋ยวกิเลสก็เริ่มออกลีลาเอง พอทั้งคู่ไม่ได้อย่างใจตนก็ตอนนั้นแหละ ก็ดูกันไป พิจารณากันไป
……..
ทีนี้คนมีคู่มาอ่าน ก็ไม่ใช่ว่าต้องสละคู่เลยนะ มันไม่ง่ายนะ ถึงจะทำได้แต่มันก็มีวิบากบาปติดมาด้วยเหมือนกัน เรียกว่าไม่คุ้ม ยกเว้นเช่นว่าขอเขาไปบวชตลอดชีวิตแล้วเขาอนุญาตอย่างเต็มใจ แต่ต้องบวชตลอดชีวิตจริงๆนะ แล้วชีวิตเขาจะต้องอยู่ได้ปกติโดยไม่มีเราด้วย …เห็นไหมว่ามันยาก มันมีเงื่อนไขยิบย่อยเยอะมาก
คนมีคู่นี่เขามีหนี้กรรมที่ต้องชดใช้กัน เป็นคู่เวรคู่กรรม ก็ทนๆใช้กรรมกันไป วันหนึ่งเราทำดีมากพอ เขาก็ปล่อยเราหลุดจากความเป็นคู่เอง ถ้าร้ายๆก็เขาไปมีคนใหม่ ไม่ก็ตายไป ถ้าดีๆหน่อยก็กลายมาเป็นเพื่อนกัน (เห็นไหมว่าสุดท้ายก็กลายเป็นเพื่อนกันอยู่ดี)
ส่วนใครที่ทนทุกข์อยู่ไม่ต้องไปโทษใครหรอก ทำมาเองทั้งนั้น กรรมตัวเองทั้งนั้น ไม่ใช่ชาติก่อนหรอก ก็ชาตินี้แหละ หลงไปแต่งงานกับเขาเอง ตอนเขามาผูกพันก็ไปหลงสุขหลงเสพกับเขาเอง มันก็ต้องใช้กรรมกันไป
ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก
ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก
ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นเลยว่าการมีสิ่งที่รักนั้นคือความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีสุขเลยแม้น้อย แต่กระนั้นคนที่หลงในสุขลวงยังพยายามยกสุขลวงเหล่านั้นขึ้นมาเป็นสาระ เป็นประโยชน์ ให้ตนได้เสพสุขในสิ่งที่รักเหล่านั้น
ในปิยชาติกสูตร มีเรื่องราวว่า บุตรของคฤหบดีคนหนึ่งตาย จึงทำให้คฤหบดีเกิดความทุกข์มาก ว่าแล้วก็ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เล่าความตามที่เป็น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ความโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นของเกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก
แต่คฤหบดีกล่าวว่า ความยินดี ความดีใจก็เกิดจากสิ่งที่เป็นรักด้วย แล้วก็เดินจากไป ไปพบกับกลุ่มนักเลงอยู่ไม่ไกล เข้าไปเล่าความที่กล่าวโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า นักเลงก็เห็นด้วยกับคฤหบดี เมื่อคฤหบดีเห็นว่าความเห็นของตนนั้นตรงกับพวกนักเลง จึงจากไป
– – – – – – – – – – – – – – –
จะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กล่าวถึงสุขเลยแม้แต่นิดเดียว ท่านตรัสถึงแต่เรื่องทุกข์ เพราะจริงๆแล้วมันมีแต่เรื่องทุกข์ ทีนี้คฤหบดีก็ยังมีกิเลส ยังมีความหลงติดหลงยึด ยังมีความไม่รู้อยู่มาก เห็นว่าในทุกข์เหล่านั้นยังมีสุขอยู่ เห็นสุขลวงเป็นสุขจริง จึงได้เผยความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ)ออกมา ซ้ำยังไปหาคนที่เห็นตรงกันกับตนเพื่อยืนยันความถูกต้องในความเห็นของตนอีก
คนที่เห็นผิด ไปคุยกับคนที่เห็นผิด มันก็เห็นผิดเหมือนกันหมด ถึงแม้คนอีกร้อยล้านคนทั่วโลกจะเห็นตามคฤหบดี แต่ก็ใช่ว่าความเห็นเหล่านั้นจะเป็นความเห็นที่ถูก ถึงจะไปเห็นตรงกับคนที่มีชื่อเสียง คนที่ได้รับการเคารพนับถือ แต่ถ้ายังมีความเห็นที่ขัดกับพระพุทธเจ้า ก็ยังเรียกว่าเห็นผิดอยู่ดี
ทีนี้เราลองกลับมาสังเกตตัวเองดูว่าเราเห็นตามพระพุทธเจ้าหรือคฤหบดี เห็นตามบัณฑิตหรือคนพาล ความเห็นเราไปในทิศทางไหน ไปทางเห็นทุกข์หรือไปทางเห็นสุขในสิ่งที่รัก เรายังจะหาเหตุผล หาหนทาง เจาะช่อง เว้นที่เหลือไว้ให้ความเห็นผิดเหล่านั้นทำไม ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสความจริงสู่การพ้นทุกข์ ดังนั้นผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าคือผู้ที่หันหัวไปในเส้นทางทำทุกข์ทับถมตน
ในเรื่องนี้กล่าวถึงสิ่งที่รัก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดและกินความกว้างมาก เพราะหมายถึงทุกสิ่งที่เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพสุขจากสิ่งนั้นก็ยังต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น แล้วเรื่องของการมีคู่ การเป็นคู่รัก การแต่งงาน เป็นเรื่องหยาบๆ ที่เห็นได้ชัด เจาะจงชัดเจนเลยว่ามีการเข้าไปรัก เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพ เข้าไปยึดมั่นถือมั่น คงไม่ต้องบอกกันเลยว่าเป็นการแสวงหาทุกข์มาสู่ชีวิตตนเองขนาดไหน
เพราะขนาดสิ่งที่รักในทุกวันนี้ก็เยอะมากยากเกินจะสลัดออกแล้ว ยังโหยหา ยังแสวงหาสิ่งอื่นเพื่อที่จะรักอีก มันมีทิศทางที่พอกหนาขึ้นเรื่อยๆ กิเลส ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นที่พอกชั้นหนาขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไข เมื่อถูกความหลงผิดครอบงำจึงไม่ง่ายที่จะรู้ว่าสิ่งใดคือความเห็นที่ถูก สิ่งใดคือความเห็นที่ผิด
ในยุคสมัยนี้ เรายังโชคดีที่ยังมีธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ ยังมีแนวทางปฏิบัติ ยังมีความเห็นที่ถูกตรงที่ท่านได้กล่าวไว้ให้เป็นหลักฐานในการเทียบว่า เรามีความเห็นถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ ถ้าใครยังมีความเห็นไปในแนวทางของคฤหบดีว่า “ รักมันไม่ได้มีแต่ทุกข์ มันมีสุขด้วย” ก็ควรจะเพียรศึกษาให้มาก เพราะทิศทางของท่านนั้นยังไม่ตรงไปสู่การพ้นทุกข์ หากใช้ชีวิตต่อไปบนทางที่ไม่ตรงเช่นนั้น ก็จะเสียเวลาไปเปล่าๆ เนิ่นช้าไปเปล่าๆ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใด วินัยใด เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้น วินัยนั้น ไม่ใช่ของเราคถาคต” ดั้งนั้นการจะอ้างว่า มีคู่เพื่อเรียนรู้ มีคู่เพื่อพัฒนาจิตใจ มีคู่เพื่อเจริญไปด้วยกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุผลของกิเลสที่แนบเนียนที่สุด จึงต้องถูกแย้งด้วยคำตรัสนี้อย่างชัดเจน
นั่นหมายถึง การจะไปมีคู่เพื่อประโยชน์ใดๆนั้น ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ มีแต่พาให้หลงทาง พาให้เสียเวลา สร้างทุกข์และบาป เวร ภัย ให้กับตนเองและผู้อื่น ให้หลงวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้
ดังนั้นการแสวงหาสุขในรักและการมีคู่จึงไม่ใช่สิ่งที่สมควรกระทำ ผู้แสวงหาสุขในรักและการมีคู่ คือผู้ที่มีความเห็นตามคฤหบดี และเมื่อไม่ได้เห็นตามบัณฑิต การพ้นทุกข์ย่อมไม่มี
– – – – – – – – – – – – – – –
4.8.2558