ความสัมพันธ์ ครอบครัว มิตรสหาย

การมีคู่ สืบพันธุ์ ออกลูกออกหลาน คือความถูกต้องตามธรรมชาติจริงหรือ?

December 17, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 569 views 0

ถาม การมีคู่ สืบพันธุ์ ออกลูกออกหลาน คือความถูกต้องตามธรรมชาติจริงหรือ?

ตอบ จริง ตามธรรมชาติของสัตว์ และไม่จริงตามธรรมชาติของบัณฑิต

การที่สัตว์นั้นจะเกิดมาเพื่อหากิน ดำรงชีวิต ดำรงเผ่าพันธุ์ มันก็เป็นปกติของมัน เพราะมันโง่ ชีวิตของมันก็มีอยู่แค่นั้น เกิด กิน ผสมพันธุ์ ดำรงอยู่ แล้วก็ตายไป ไม่ได้มีความดีงามอะไรในชีวิตมากมาย เขาถึงเรียกว่าเดรัจฉาน เป็นสภาพของความไม่มีปัญญา

คนที่จะเอาอย่างสัตว์ก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นไปตามธรรมของเขา อันนี้เราไปห้ามใครเขาไม่ได้ เขามีสิทธิ์เลือกของเขา ว่าจะอยู่เป็นโสด หรือจะไปมีคู่ดำรงเผ่าพันธุ์

การอยู่เป็นโสดไม่ได้ทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ เพราะในความจริงแล้วการอยู่เป็นโสดนั้น ทำได้ยากกว่าการมีชีวิตเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ยิ่งนัก คนที่เขามีหน้าที่ผลิตลูกหลานเขาก็ทำของเขาไป เอาจริง ๆ คนผลิตลูกหลานนี่มากกว่าคนตั้งใจอยู่เป็นโสดอีกด้วย ถ้าดูจากจำนวนประชากรประเทศไทยที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น งานสร้างลูกสร้างหลาน ไม่ใช่งานที่โลกขาดแคลน โลกไม่ได้ขาดแคลนมนุษย์ แต่ขาดแคลนธรรมะ

ผู้เป็นบัณฑิตจึงเล็งเห็นประโยชน์ตรงนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ตน เพราะตนเองก็ไม่ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เพิ่มพลังของความหลงไปตามธรรมชาติของสัตว์ แหวกผ่าวงล้อมโลกีย์ ออกมาปฏิบัติตนเป็นโสด ทวนกระแส ไม่ไหลไปตามกระแสโลกียะ ที่จะพาคนหมุนวนเวียนไปตามกำลังของกามและอัตตา หรือหลงไปตามกิเลสนั่นเอง ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ โดยสรุปว่า บัณฑิตคือผู้ที่ปฏิบัติตนเป็นโสด

จะเห็นได้ว่าพอคนพัฒนาไปถึงศีล ๘ จะเริ่มแปลกจากคนทั่วไปแล้ว เริ่มเป็นมนุษย์ประหลาดไปเรื่อย ๆ เพราะจะไม่ไปเสพตามโลก ไม่ไหลไปตามกระแสโลก อันนี้คือความเจริญของมนุษย์ที่พัฒนาตนจนทวนกระแสความหลง ความวน ความเป็นธรรมชาตินั่นแหละ ที่จะรั้งคนให้อยู่ในวิถีที่สังคมอุดมกิเลสสร้างมา

เอาจริง ๆ คนเขาก็ไม่ได้คิดจะสืบพันธุ์อะไรกันมากมายหรอก จริง ๆ เขาแค่อยากจะสมสู่กันนั่นแหละ แต่เอาเรื่องการสืบเผ่าพันธุ์มาบังไว้เฉย ๆ ไหน ใครที่เขามีลูกแล้ว เขาเลิกสมสู่กันบ้าง ไหนใครที่เขาไม่ได้คุมกำเนิดกันบ้าง ส่วนมากคนเขาก็เอาเรื่องใหญ่มากลบเรื่องเล็กนั่นแหละ คือพูดให้ดูเหมือนมีอุดมการณ์ แต่จริง ๆ มีอุดมกาม พูดให้โก้ ๆ ไปแบบนั้นเอง

แต่คนที่หลงเรื่องสืบพันธุ์จริง ๆ ก็มี แต่มีจำนวนน้อย ไม่มีนัยสำคัญเท่าไหร่

สุดท้ายก็เลือกเอาเองว่าจะเอาตามธรรมแบบไหน จะตามธรรมแบบสัตว์โลกทั่วไป หรือจะเอาตามธรรมของบัณฑิต ที่ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ ก็เลือกได้ตามอัธยาศัย

ความเสื่อมสลาย สัญญาณแห่งการจากลา ที่เราไม่อยากจะรับรู้

July 12, 2017 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,400 views 0

ความเสื่อมสลาย

ความเสื่อมสลาย สัญญาณแห่งการจากลา ที่เราไม่อยากจะรับรู้

เราต้องจากพรากสิ่งที่เรารักและชอบใจเป็นธรรมดา นี้คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ฝากไว้สอนใจเรา แม้ว่าจะเป็นเพียงประโยคสั้น ๆ แต่การทำความเข้าใจในสิ่งนี้ได้อย่างถ่องแท้ ช่างเป็นเรื่องที่ยากยิ่งนัก

เป็นความรู้ที่ใครหลาย ๆ คน ก็รู้ว่าทุกสิ่งต้องเสื่อมและดับไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านั้นจะยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นจริงได้

ความสัมพันธ์ใด ๆ  ก็เช่นเดียวกัน มันมีวันหมดอายุของมัน มีวันสิ้นสุดและมีสัญญาณของความเสื่อมสลายให้ได้เห็นเป็นระยะ ในความจริงแล้ว แม้เราจะเห็นความเสื่อมในความสัมพันธ์ แต่เราก็มักจะไม่ทันได้ระลึกรู้ว่ามันต้องจบดับไป เราทำได้เพียงแค่ประคองความสัมพันธ์และหมายมั่นจะพัฒนามันให้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่ความเสื่อมสลายได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

…เหมือนผู้หญิงที่พยายามจะปั้นแต่งหน้าตาและร่างกายให้ดูเด็ก แม้ว่าวัยจะล่วงเลยไปมากแล้ว

…เหมือนความรักที่พยายามจะยื้อให้ดูดี แม้ว่ามันจะหมดความหวานไปหมดแล้ว

…เหมือนความสัมพันธ์ที่อยากจะรักษาไว้ แต่ความจริงมันแตกสลายและยากจะเชื่อมต่อกันได้แล้ว

พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีชาติ (การเกิด) ก็มีชรา (แก่,เสื่อม) สุดท้ายก็มรณะ (จบ,ดับ,ตาย) ลงท้ายเหลือไว้แค่ความโศกเศร้าเสียใจอาลัยอาวรณ์

ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกอย่างหรือทุกความสัมพันธ์จบ ดับหรือตายไป เราก็สามารถเห็นความดับของสิ่งเหล่านั้นได้ จากความเสื่อมสลายของมันที่เกิดขึ้น และความเสื่อมนี้เองคือสิ่งที่ยากจะทำใจยอมรับ หลายคนรู้ หลายคนเห็นอาการเสื่อมของสิ่งเหล่านั้น แต่ไม่อยากยอมรับ ปิดกั้น ไม่อยากจะให้มันเกิด ไม่อยากให้มันเป็นความจริง ทั้ง ๆ ความจริงในปัจจุบันก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามันกำลังเสื่อมสลาย มีแต่เราเท่านั้นที่ไม่ยอมรับความเป็นจริงเหล่านั้น

การที่เรารับรู้ว่าทุกอย่างต้องเสื่อมสลาย ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องปล่อยมันไปตามเวรตามกรรม แต่หมายถึงให้เราทำความเข้าใจว่าวันหนึ่งมันจะต้องจบดับไปตามเหตุปัจจัยของมัน ซึ่งเรามีหน้าที่อะไร ก็ทำไปตามนั้นให้สมบูรณ์ มีหน้าที่ประคองก็ประคอง มีหน้าที่รักษาก็รักษา โดยไม่ต้องไปตั้งความหวังว่ามันจะดีขึ้นหรืออย่างไร เราเพียงแค่ทำสิ่งที่ดีในปัจจุบัน ส่วนผลเป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ในท้ายที่สุด หากเราสามารถเข้าใจธรรมะได้ลึกซึ้งขึ้น เราจะรู้ว่าสิ่งใดหรือความสัมพันธ์ใดๆ ก็ตามจะต้องจบลงไป ก็เพราะมันเกิดขึ้นนี่แหละ เราจะเห็นความเสื่อมสลายและดับไปตั้งแต่ที่มันเกิด เมื่อเห็นดังนั้นเราก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นความสัมพันธ์หรือสิ่งใดเหล่านั้นมาเป็นตัวตน มาเป็นของของตน

12.7.2560

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

 

แมวเลี้ยงเดี่ยว

September 14, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,094 views 0

แมวเลี้ยงเดี่ยว

แมวเลี้ยงเดี่ยว

วันก่อนก็นึกย้อนไปสมัยเด็ก ๆ ที่ยังเลี้ยงแมวอยู่ แมวตัวแรกที่ผมเลี้ยงเป็นแมวตัวเมีย จริง ๆ ได้มาเป็นคู่ แต่ตัวผู้หนีไปไหนไม่รู้เหมือนกัน

ตลอดเวลาที่เลี้ยง แมวตัวนี้ก็เสน่ห์แรงมาก ๆ คลอดไม่นานก็ท้องใหม่ จนผมลืมไปแล้วว่ากี่คอก คลอดมันทุกที่ในบ้านตั้งแต่ใต้บันได ในกล่องหน้าทีวี หรือแม้กระทั่งในห้องนอนผม เรียกว่าสนิทกันมาก

ก็เพิ่งมานึกได้ว่า นี่เราไม่เคยเห็นแฟนหรือคู่ของมันเลยนะ อย่างเก่งก็เดา ๆ ได้จากสีลูก แล้วก็สังเกตุจากตัวผู้ที่มาป้วนเปี้ยนเอา

แมวนี่มันไม่เคยพาแฟนมาแนะนำตัวเลย มันมาคลอดอย่างเดียว มาเอาที่พึ่งพาอาศัย เอาที่อยู่ที่ปลอดภัย ส่วนเรื่องกินตัวนี้มันเก่ง จับหนูกินเองได้ จับมาแยกร่างให้เก็บทิ้งประจำ

คลอดเสร็จแล้วมันก็เลี้ยงลูกของมันไปตามประสา ก็เป็นภาระของเราด้วยที่เราต้องรับเลี้ยงลูกมันอีกที กว่าจะหมดภาระก็เป็นสิบปีนั่นแหละ

ก็มานึกเทียบกับคน คนเรานี่มีความยึดมั่นถือมั่นที่เด่นชัดกว่าสัตว์มาก แมวมันมีลูกมันก็เลี้ยงของมันไป ไม่เห็นสนใจจะให้ตัวผู้มาช่วยเลี้ยง แต่คนนี่มีปัญหามาก มีเงื่อนไขมาก ตอนมีลูกแล้วจะเลิกกันมันไม่ง่าย ไม่เหมือนแมว

เพราะคนไปหลงยึดเอาหลายสิ่งหลายอย่างที่มันเป็นเพียงค่านิยม เป็นเพียงความเชื่อ เป็นความสะดวกสบาย เป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีหรืออะไรก็ตาม เลยทำให้ชีวิตมันยุ่งยากวุ่นวาย

เพราะถ้าเอาเนื้อแท้ของการมีลูกจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ต่างกับสัตว์ผสมพันธุ์กันหรอก ส่วนที่เหลือนั้นเป็นเปลือกสวย ๆ ที่คนทำไว้หลอกตัวเองว่าประเสริฐกว่าสัตว์เท่านั้นเอง

ดังนั้นคนที่จะดีกว่าสัตว์ ประเสริฐกว่าสัตว์ก็คือคนที่ไม่หลงไปกับการผสมพันธุ์ ถ้ายังหลงอยู่ก็ต้องรับภาระเลี้ยงลูก รวมทั้งรับทุกข์จากผลแห่งความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายที่ตนเองแบกไว้

แม่หวังให้เจ้า…

August 12, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,391 views 0

แม่หวังให้เจ้า…

เมื่อแม่ให้กำเนิดลูกขึ้นมาแล้ว แม่หวังอะไรในตัวลูก? ถ้าเป็นยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ก็คงจะหวังให้ลูกมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เจริญก้าวหน้ากันไปตามสมมุติโลก แต่ในบทความนี้เราจะยกความหวังของแม่ในสมัยพุทธกาลมาเล่ากัน

หญิงชาวพุทธผู้มีศรัทธาตั้งมั่น เธอวอนขอให้ลูกซึ่งเป็นที่รักของเธอ ว่าจะเป็นฆราวาสก็ดี จะออกบวชก็ดี ก็จงทำตนให้เป็นพระอรหันต์ เพราะหากแม้ว่าลูกจะเป็นพระเสขะ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ถึงกระนั้นลูกก็ยังจะต้องเผชิญอันตรายจากลาภสักการะและชื่อเสียง ที่ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย ซึ่งเป็นภัยต่อการบรรลุความผาสุกที่แท้จริง(สรุปความจาก ปุตตสูตร พระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ข้อ ๕๗๐)

จะเห็นได้ว่า แม่สมัยพุทธกาลนั้นหวังให้ลูกเป็นพระอรหันต์อย่างเดียวเลย แต่ไม่ได้หวังให้ลูกเป็นอรหันต์เพื่อให้ลูกได้รับการเคารพ ได้รับชื่อเสียง ได้รับความสบาย ได้โลกีย์ทรัพย์อะไรทำนองนั้นเลย เพียงแต่หวังให้ลูกนั้นพ้นภัยอันตรายจากลาภสักการะและชื่อเสียง คือให้ลูกอยู่เป็นสุข ซึ่งการจะเข้าถึงความสุขที่สุดในโลกก็คือให้ลูกนั้นเพียรพยายามศึกษาจนเป็นพระอรหันต์นั่นเอง

ส่วนแม่ในสมัยปัจจุบันก็เป็นไปตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน ศรัทธามากก็จะชัดเจนว่าไม่มีอะไรดีกว่าการส่งเสริมให้ลูกเป็นพระอรหันต์อีกแล้ว ถ้าศรัทธาน้อยก็จะโดนกระแสโลกีย์พาไป จนผลักดันลูกให้เป็นเจ้าคนนายคนบ้าง เป็นผู้มั่งคั่งบ้าง เป็นผู้มีชื่อเสียงบ้าง เป็นผู้มีอำนาจบ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามความหลงติดหลงยึดของแม่แต่ละคน

โดยพื้นฐานนั้น สิ่งที่แม่พึงให้ลูกก็คือปัจจัยสี่ แต่จะให้ดี ให้เลิศ ให้ประเสริฐก็คือให้ลูกได้มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาที่มากยิ่งขึ้น ยิ่งนำพาให้ลูกได้สิ่งนั้นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น ให้เหตุเหล่านั้นเจริญไปถึง ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาในระดับอริยะเลยยิ่งดี และดีที่สุดคือส่งเสริมให้ลูกเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ พอเป็นอรหันต์แล้วลูกจะทำอะไรต่อก็เรื่องของลูก แต่ลูกจะไม่เป็นทุกข์แน่นอน

แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่พ่อแม่จะส่งเสริมให้ลูกมีความเจริญทางด้านจิตใจได้ ถ้าตัวเองยังไม่รู้จักความเจริญนั้นจริงก็ยังไม่สามารถแนะนำสิ่งที่ดีกว่าที่ตนรู้จักให้ลูกได้ การจะทำให้ลูกนั้นเจริญด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น จึงต้องทำสิ่งนั้นให้มีในตนก่อน หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็พาลูกไปพบกับสัตบุรุษ ไปพบกับคนที่รู้ธรรมะ มีธรรมนั้นในตนจริง เข้าใจอริยสัจ อย่างแจ่มแจ้งและทำตนเองให้หมดกิเลสได้จริง แล้วให้โอกาสเขาได้ฟังสัจธรรม ได้ศึกษาเรียนรู้ และนำธรรมเหล่านั้นมาปฏิบัติจนลูกได้เกิดความเจริญเหล่านั้นขึ้นในตน

หน้าที่ของลูกก็เช่นกัน ดูแลพ่อแม่ด้วยปัจจัยสี่อันพอประมาณ แต่ถ้าถามว่าต้องดูแลพ่อแม่แค่ไหนถึงจะได้ชื่อว่า “ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่” พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบไว้ว่า ต่อให้แบกพ่อแม่ไว้บนบ่าทั้งสองข้างตลอดร้อยปี คอยเช็ดล้างทำความสะอาดให้ คอยนวดคอยดูแล มอบสมบัติ ปราสาท ราชวังให้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าได้ตอบแทนคุณแล้ว แต่ท่านบอกว่า ลูกที่สามารถพาให้พ่อแม่มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ที่เจริญขึ้นนั่นแหละ คือลูกที่ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่แล้ว

มันกลับหัวกลับหางกับทางโลกเขาเลยนะ ทางโลกเขาถือเอาวัตถุสิ่งของเป็นสำคัญ ส่วนทางธรรมนี่วัตถุก็เอาแค่พอเลี้ยงชีพ แต่ให้น้ำหนักในด้านความเจริญของจิตใจมากกว่า เราไม่จำเป็นต้องสมดุลโลกธรรมหรอก เพราะโลกที่มีแต่กิเลสเป็นตัวนำนั้นมีแต่ทุกข์ เกิดมากี่ชาติก็แสวงหาแต่ความเจริญทางโลก ไม่เคยยอมปล่อยยอมวางเสียที แม่ก็คลอดมาชาติแล้วชาติเล่า แทนที่จะศึกษาหาความรู้ที่จะทำให้แม่ไม่ต้องลำบากอีก ก็ไม่สนใจใยดีในการศึกษาหาความรู้ในการพ้นทุกข์ แต่กลับไปแสวงหาแต่สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ ก็เลยพากันวนเวียนกันอยู่ในโลก วนอยู่กับวัตถุสิ่งของ วนอยู่กับความสุขลวง วนอยู่กับอุดมการณ์ทั้งหลาย กอดโลกไม่ยอมปล่อย ก็เลยทำให้แม่ลำบากไปทุกชาติ เกิดแล้วก็เกิดอีก ไม่มีจุดจบ ไม่มีเป้าหมายในการหยุดแสวงหา ไม่มีความพอใจในเรื่องโลก

พอตนเองไม่สร้างความเจริญให้ตน ไม่นำพาความเจริญให้พ่อแม่ ไม่พากันลดกิเลส ตนเองก็ต้องเป็นทุกข์ พ่อแม่ก็ต้องเป็นทุกข์ วันเวลาผ่านไปก็มีแต่กิเลสเพิ่มขึ้นทุกวัน ได้สมใจก็เพิ่มกิเลส ไม่ได้สมใจก็เพิ่มกิเลส มันก็พากันทุกข์ชั่วกัปชั่วกัลป์นั่นแหละ ดังนั้นตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลูกที่ทำให้พ่อแม่เจริญด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น คือผู้ที่ตอบแทนบุญคุณแล้ว นั่นคือธรรมเหล่านั้นเอง ที่จะทำให้ตนเองและพ่อแม่พ้นทุกข์ไปโดยลำดับ จนถึงขั้นไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดเพราะแรงแห่งกิเลสตัณหาอีกต่อไป

ดั้งนั้น ไม่ว่าแม่จะหวังอะไรก็ตามแต่ แม้ท่านจะไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ หน้าที่หลักของลูกก็คือการนำพาความเจริญมาสู่จิตวิญญาณของแม่ โดยการทำตนให้เป็นตัวอย่าง เป็นการทำดีที่ตน ทำให้เกิดในตน ให้แม่ได้เห็นคุณค่าของความดีนั้น เห็นคุณค่าของการลดกิเลส แม้จะยากเย็นขนาดไหนก็ต้องทำ ถึงจะขนาดจะเรียกว่าทำดีให้คนตาบอดเห็นได้ก็ต้องทำ เพราะเป็นคุณประโยชน์ที่สุดที่ลูกจะพึงทำให้กับแม่ได้แล้ว และผู้ที่กระทำคุณเหล่านั้นได้ ก็ถือได้ว่าได้ตอบแทนบุญคุณแม่แล้วนั่นเอง

11.8.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)