ความสัมพันธ์ ครอบครัว มิตรสหาย

โสด ไม่เบียดเบียน

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,655 views 0

โสด ไม่เบียดเบียน

โสด ไม่เบียดเบียน

สัตว์โลกนั้นเบียดเบียนกันด้วยความอยากเป็นธรรมดา เพื่อที่เราจะเบียดเบียนกันได้อย่างสบายใจ เราจึงสร้างความลวงขึ้นมาบดบังความจริง ดังเช่นว่าการมีครอบครัวเป็นสุข เพื่อปิดบังความจริงที่ว่าการมีครอบครัวนั้นเบียดเบียน คับแคบ เป็นทุกข์ แต่ก็ต้องทำเพราะเหตุแห่งความอยากนั้นเอง

เมื่อเราอยากได้อยากเสพอะไรมากๆ เราจะพยายามหาข้อดีของมัน พยายามปั้นแต่งประโยชน์ต่างๆนาๆ เพื่อที่จะได้เสพสิ่งนั้นโดยไม่ต้องรู้สึกผิด ซึ่งเป็นธรรมชาติของกิเลสที่จะสร้างความลวงให้คนหลงผิดติดยึดในสิ่งที่เป็นภัยต่อชีวิตมากขึ้น

แท้จริงแล้วการมีครอบครัวนั้นคือความเบียดเบียน เป็นความคับแคบ เป็นบ่วงที่คล้องคอไว้ เป็นภาระของชีวิต แม้เราจะพยายามปั้นข้อดีมากมายของการมีครอบครัว แต่ความจริงก็คือความจริง ว่าการมีครอบครัวนั้นไม่สบายเท่าความเป็นโสด

เมื่อเราอยู่เป็นโสด เราก็ไม่จำเป็นต้องเบียดเบียนทรัพย์สิน ร่างกาย เวลา และจิตใจของใคร เราต่างอยู่เป็นอิสระในพื้นที่ที่เรามี ไม่ไปก้าวก่ายชีวิตใครโดยไม่จำเป็น

แต่เมื่อเรามีครอบครัว เราก็จำเป็นต้องเบียดเบียนทรัพย์สิน ร่างกาย เวลา และจิตใจของกันและกัน พากันเสพสุขตามกิเลสก็เป็นการพากันไปทางเสื่อม ทะเลาะเบาะแว้งกันก็เป็นการพากันทำชั่ว การมีครอบครัวจึงกลายเป็นเบียดเบียนกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งเรามักจะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เป็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด เมื่อถูกชี้โทษของการมีครอบครัวให้เห็นดังนี้แล้ว กิเลสข้างในก็ยังจะสามารถสร้างเหตุผลที่สวยงามและประโยชน์มากมายของการมีครอบครัวขึ้นมาได้ ทั้งหมดนั้นเพราะเรามีความอยาก คือตัณหา คือความแส่หา คือความใคร่อยากเสพ พออยากเสพสุขมากๆ แล้วมีคนมาบอกว่าสิ่งนั้นเป็นโทษเป็นภัย …ด้วยกำลังจิตที่น้อย ต่อต้านกิเลสไม่ไหวจึงไม่สามารถทำใจในใจพิจารณาตามให้ทันว่าเหตุเกิดแห่งความทุกข์นั้นคือที่ใด

เมื่อได้รับข้อมูลว่าการมีครอบครัวเป็นทุกข์ แทนที่จะพิจารณาไปถึงที่เกิดว่า “ความอยากของเรานี้สร้างทุกข์” แต่มักจะเห็นและเข้าใจว่า “การถูกห้ามไม่ให้มีครอบครัว และการถูกชี้โทษนี่แหละเป็นทุกข์” ซึ่งเป็นการมองปัญหาคนละจุด กรณีแรกคือการมองกิเลสเป็นปัญหา กรณีที่สองคือมองธรรมะเป็นปัญหา พอมองธรรมะเป็นสิ่งผิด สุดท้ายก็เลยจับมือกับกิเลส ถล่มธรรมะจนสิ้นซาก ตอกตะปู ปิดฝาโลง ฝังความเจริญในทันที

แค่มีความอยากก็เบียดเบียนตนเองด้วยความเห็นผิดมากพออยู่แล้ว การที่เราจะไปหาคนผู้โชคร้ายมาสนองความอยากของเรา มาสนองความเชื่อที่ผิดของเรา นั่นยิ่งเป็นการเบียดเบียนที่มากกว่า

น่าสงสารว่าที่คู่ครองที่ต้องมาแบกรับความอยากปริมาณมหาศาลของเรา เพราะแค่กิเลสของตัวเองก็มากมายพออยู่แล้ว ยังต้องมาบำรุงบำเรอกิเลสของกันและกันอีก นี่มันจะพาชั่วเบียดเบียนกันเข้าไปใหญ่

ดังนั้นการเป็นประพฤติตนให้เป็นโสดจึงเป็นสุขที่สุด เพราะไม่ต้องเบียดเบียนตนเองด้วยความเห็นผิด ไม่ต้องเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกิเลสของเรา และไม่ไปสร้างตัวอย่างของความสุขที่หลอกลวงให้สังคมและโลกได้หลงผิดตามๆกันไปอีกด้วย

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การแต่งงานคือเข้าสู่สงคราม

November 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,131 views 0

กรณีศึกษาจากกระทู้ในพันทิพ “ใครเคยมีประสบการณ์แย่ ๆ กับงานแต่งของตัวเองบ้างคะ มาแชร์กันหน่อย” ( http://pantip.com/topic/34427805 )

….เพื่อการเรียนรู้ที่มากขึ้น เราควรศึกษาเพิ่มเติมจากประสบการณ์ของท่านอื่นที่เจอปัญหาในการแต่งงานตั้งแต่กระบวนการคบหา จัดงาน สร้างครอบครัว จนกระทั่งวัยชรา เพื่อให้เห็นปัญหาและความทุกข์ที่เกิดขึ้นอย่างแจ่มแจ้ง

การแต่งงาน ก็คือการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ นอกจากจะรบกับคู่แล้ว ยังต้องรบกับพ่อแม่พี่น้องญาติมิตรสหายของคู่ด้วย ซ้ำร้ายกว่านั้นอาจจะเจอทั้งศึกนอกศึกใน

….ก็เรียนรู้กันไป

เลือกสักคน ฉันหรือเขา…เราหรือเธอ

August 26, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,447 views 0

เลือกสักคน ฉันหรือเขา…เราหรือเธอ

ในสถานการณ์ที่น่ากระอักกระอ่วนเมื่อเรากำลังรับบทบาทของผู้ที่กำลังจะถูกตัดสินชะตากรรมว่าจะอยู่หรือไป เราควรทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนั้น

เมื่อเรามีคู่ครองที่คบหาดูใจกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนรู้ใจ แฟน หรือคู่แต่งงาน ซึ่งรับรู้กันโดยทั่วไปในสังคมว่าคบหากัน แต่แล้ววันหนึ่งกลับมีผู้ท้าชิงตำแหน่งเข้ามา ซึ่งในเวทีนี้ไม่มีตำแหน่งตัวสำรอง ไม่มีที่ยืนสำหรับผู้เป็นที่สอง มีแต่คนที่อยู่หรือคนที่ไป ในสถานการณ์เช่นนี้เราควรจะตัดสินใจเช่นไร?

ถ้าเรายังอยู่ในระดับคบหาดูใจ แล้วมีคนอื่นเข้ามาก็คงไม่ต้องสนใจอะไรมาก ในขั้นตอนนี้ก็พิสูจน์ใจกันไปว่าจะมั่นคงได้แค่ไหน ถ้าไม่มั่นคงก็ปล่อยไป ไม่ต้องไปเอาชนะหรือเสี่ยงลองใจใครให้เสียเวลา เพราะถ้าเขาคิดว่าจะมั่นคงกับเราจริงๆแล้วล่ะก็ เขาก็จะไม่หวั่นไหวต่อสิ่งเร้าจนหลงทางอย่างแน่นอน แต่ถ้าเขาหลงทางห่างหาย ก็ไม่จำเป็นต้องไปตามเขา ไม่จำเป็นต้องพยายามเอาชนะ บังคับ บีบคั้น ยั่วยวนหรือเอาไปอะไรไปแลกเพื่อให้เขากลับมาเลย

ถ้าเรากับคู่มีความสัมพันธ์กันมาก แล้วคนที่เข้ามาใหม่มีความสัมพันธ์ที่เกือบจะใกล้เคียงกัน เช่นในคู่รักที่อยู่ในลักษณะของแฟนหรือสามีภรรยา แล้วมีใครอีกคนโผล่เข้ามาในชีวิต ในระดับความสัมพันธ์ที่คู่ของเราต้องเลือก ระหว่างเราหรือคนใหม่ที่เข้ามา ถ้าในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเลือกที่รอคอยการตัดสินชะตากรรม แต่ควรเป็นคนที่ตัดสินใจ

เพราะถ้าเขามั่นคงจริงก็จะไม่มีสถานการณ์เช่นนี้ คู่ที่ดีย่อมมีความยับยั้งชั่งใจ มีความละอายต่อบาป มีความเกรงกลัวต่อบาป โดยทั่วไปแล้วคนในยุคนี้ยังมีความรู้ศีลธรรมพื้นฐานในเรื่องการครองคู่ว่าอะไรดีหรือชั่ว แต่จะทำดีหรือชั่วนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นการมีคนใหม่หรือมือที่สามเข้ามานั้นเป็นสัญญาณของการผิดศีล

ในศีลข้อ ๓ นั้นในระดับหยาบๆว่าด้วยการไม่นอกใจคู่ของตน การนอกใจนั้นมีตั้งแต่ระดับกายกรรม คือไปข้องแวะ แตะตัวสมสู่กัน วจีกรรม คือการหยอกเย้า ป้อนคำหวาน แซวกัน จีบกัน มโนกรรม คือมีจิตคิดอยากจะได้คนที่ไม่ใช่คู่มาเสพ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าใจเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง เมื่อจิตเกิดนอกใจ เกิดความอยากได้อยากเสพในคนที่ไม่ใช่คู่ของตนแล้ว การหยอกล้อ การจีบ จนเกินเลยไปถึงการนอกกายไปสมสู่กับคนที่ไม่ใช่คู่ ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

คนที่ผิดศีลข้อ ๓ ในระดับนี้ถือว่าหยาบมาก เพราะมีการเบียดเบียนทั้งร่างกายและจิตใจผู้อื่นอย่างรุนแรง เพราะไม่รักษาสัจจะ ไม่รักษาคำสัญญาที่ตัวเองให้ไว้ ทำให้ผิดศีลข้ออื่นๆไปด้วย เหตุเพราะมีความใคร่อยากเสพจนตามืดบอด รักชั่วเกลียดดี เอากิเลสไม่เอาธรรมะ ยอมทำลายศีลธรรมขอเพียงแค่ได้เสพสุข และที่สำคัญที่สุดคือทำร้ายจิตใจคนที่ตนเองนั้นเคยบอกว่ารักที่สุด เป็นการสร้างเวรสร้างกรรมที่หนักหนาคนที่ผิดศีลในระดับเช่นนี้ ถึงจะถูกเรียกว่าชั่วก็ไม่แปลกอะไร

ดังนั้นเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ จึงไม่จำเป็นต้องไปเป็นตัวเลือกใดๆเลย เพราะเขาได้เลือกไปแล้ว เขาเลือกที่จะเสพคนใหม่ดีกว่าเสพคนเก่า หรือในขั้นโลภมากก็รั้งไว้เพื่อเสพทั้งสองคน แล้วเราจะตัดสินใจอย่างไร จะปล่อยคนชั่วให้ออกไปจากชีวิต หรือจะเก็บคนชั่วไว้ก็เป็นสิทธิ์ที่เราเลือกจะรับไว้ได้ทั้งสองทาง

มงคล ๓๘ คือสิ่งที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ เป็นความเจริญในชีวิต ข้อแรกที่ควรทำก็คือการห่างไกลคนพาล คนชั่วคนผิดศีลนี่เอาให้ห่างจากชีวิตก่อนเลย จึงจะเป็นมงคลในชีวิต คนที่ยินดีรับคนผิดศีล คนผิดสัจจะไว้ในชีวิต การจะหวังความสุขความเจริญที่แท้จริงนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่หวังได้

แล้วเรายังจะรออะไรอีก รอให้คนผิดศีล รอให้คนที่ผิดสัจจะตัดสินชะตากรรมของเราอย่างนั้นหรือ หากเขาเป็นผู้ผิดศีลแล้วเขาจะมีความเที่ยงธรรมได้อย่างไร การตัดสินใจใดๆของเขาย่อมจะเป็นไปตามระดับศีลธรรมที่เขามีนั่นเอง นั่นหมายถึงเรากำลังให้คนชั่วมาตัดสินความสุขความทุกข์และความเป็นไปในชีวิต มันดีแล้วอย่างนั้นหรือ มันถูกต้องแล้วอย่างนั้นหรือ มันสมควรแล้วอย่างนั้นหรือ…

– – – – – – – – – – – – – – –

26.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เรากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม?

August 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,165 views 0

เรากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม?

เรากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม?

ปัญหา: คู่รักหลายคู่ที่แต่งงานมีลูกด้วยกันแล้วเกิดมีปัญหาถึงขั้นหย่าร้าง ต่อมาฝ่ายที่ขอหย่าก็ไปมีครอบครัวใหม่ แต่สุดท้ายอยู่กินกับคนใหม่ได้ไม่นานก็อยากจะกลับมาสู่ครอบครัวเดิม อยากให้ช่วยไขประเด็นทางธรรม

ตอบ: ในเรื่องนี้จะแสดงความคิดเห็นโดยแบ่งเป็นสามช่วงนะครับ ช่วงแรกคือการแต่งงานมีลูกด้วยกัน ช่วงที่สองคือหย่าร้าง ช่วงที่สามคือคนขอหย่าไปมีครอบครัวใหม่และสุดท้ายก็อยากจะกลับมา

1). คนที่เขาหลงรักกัน ขนาดถึงขั้นที่ว่าจะแต่งงานกันให้ได้ นี่เป็นผลของกิเลสที่สะสมมาจนโต มองเห็นแต่ข้อดีของอีกฝ่าย ไม่เห็นข้อเสียเลย จึงพร้อมที่จะยึดมั่นถือมั่น ผูกพันกันและกัน ต่างคนต่างให้สัญญาว่าจะรักและดูแลกันตลอดไป จนกระทั่งมีลูกด้วยเหตุอันใดก็ตาม อาจจะใช้เป็นหลักประกันของครอบครัว อาจจะมีความหลงในการมีลูก หรืออื่นๆ เมื่อมีลูกเกิดขึ้นมา หลายครอบครัวก็มักจะเริ่มแกว่ง เริ่มไม่มั่นคง เริ่มมีปัญหา เพราะบางครั้งคนที่แต่งงานก็เพราะรักและหลงในอีกฝ่าย แต่ไม่ได้หลงในลูกที่เกิดมา

ซึ่งโดยหน้าที่แล้วฝ่ายภรรยาก็ต้องแบ่งน้ำหนักความรักจากสามีมาลงที่ลูก ต้องใส่ใจลูกมากขึ้น ในขณะที่สามีได้รับเวลาและการดูแลลดน้อยลง ถ้าสามีรักและหลงลูกด้วยก็มักจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าสามีเป็นคนหลงตัวเอง อยากให้คนอื่นมาดูแลตัวเอง พอภรรยามีลูกก็มักจะบกพร่องในหน้าที่บางประการ จึงทำให้สามีบางคนนั้นไม่พอใจ เกิดความทุกข์ เพราะไม่ได้เสพในสิ่งที่ตนอยากจะเสพ (คำว่าเสพในที่นี้มีความหมายกว้างตั้งแต่ต้องการดูแลเอาใจใส่ การยิ้มให้ การแต่งตัวให้ดูดี การพูดคำหวาน จนไปถึงเรื่องการสมสู่) มักจะเกิดกับคนที่หลงในตัวของภรรยามากๆ อยากได้อยากเสพภรรยา จนไม่อยากให้ใครหรือแม้แต่ลูกแย่งโอกาสนี้ไป

ซึ่งในกรณีนี้ก็เกิดขึ้นได้กับผู้ชายเช่นกัน บางครั้งผู้ชายอยากมีลูกมากกว่าอยากมีภรรยา เมื่อมีลูกจึงให้น้ำหนักไปที่ลูกมากกว่า รักและดูแลลูกมากกว่าจนเป็นเหตุให้ภรรยาน้อยใจได้

2). ปัญหาในครอบครัวถึงขั้นหย่าร้างนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เรื่องเล็กจนไปถึงเรื่องใหญ่ แต่สาระของปัญหาเหล่านั้นเกิดจากความไม่ยอมกัน การเอาชนะ การยึดชั่วและยึดดีทั้งหลาย รวมๆแล้วก็เรียกว่าเกิดจากกิเลส

ในตอนแรกคนสองคนมาอยู่ด้วยกัน อยากเสพกันและกันก็มักจะดูแลเอาใจใส่เพื่อให้ได้เสพ ซึ่งพอเสพกันบ่อยครั้งเข้าก็มักจะเริ่มเบื่อ เริ่มเคยชินกับสิ่งที่เคยรักเคยหลง ซึ่งการดูแลเอาใจก็มักจะเสื่อมไปตามธรรมชาติเมื่อได้เสพจนเบื่อ และเรื่องเหล่านี้เป็นสภาวะที่เกิดโดยทั่วไป ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ได้

เมื่อความอยากเอาใจหมดไป ในขณะที่ความคาดหวังที่จะได้รับการเอาใจกลับเพิ่มมากขึ้น ไม่มีคู่รักคู่ไหนที่ตั้งใจแต่งงานกันโดยที่คิดว่ารักนั้นจะเสื่อมลงหลังจากแต่งงาน มีแต่คนที่คิดว่าจะได้รัก ได้เสพ ได้สุขมากขึ้นถ้าเขาและเธอแต่งงาน ด้วยเหตุผลนั้นจึงเกิดการแต่งงานขึ้นมา

ดังนั้นเมื่อความอยากเสพได้จางคลายไป พฤติกรรมทั้งหลายที่เคยสร้างเพื่อให้ได้เสพ เช่น คำหวาน ของขวัญ การดูแลเอาใจใส่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำเหมือนเดิมอีกต่อไป จึงเกิดสภาพของการเปลี่ยนแปลง ไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนสมัยจีบกันหรือแต่งงานกันใหม่ๆ ซึ่งถ้าอีกฝ่ายเข้าใจและทำใจยอมรับได้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ายังมีใครที่ติดสุขอยู่ ยังอยากเสพสุขอยู่ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ได้ต้องการจะสนองให้อีกต่อไป นั่นคือเหตุหนึ่งของความขุ่นเขืองใจในครอบครัว

ซึ่งสามารถพัฒนาให้รุนแรงลุกลามขึ้นไปได้ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดไม่พอใจในการได้รับการสนองกิเลส ก็อาจจะไปแสวงหาสิ่งใหม่มาเสพ หรือไม่ยินดีทนอยู่กับสภาพที่ไม่ได้เสพสมใจ จึงเกิดการทะเลาะหรือหย่าร้างขึ้น

3). เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังคงมีความอยากเสพ ยังคงแสวงหา เขาก็จะพยายามหาสิ่งที่เขาต้องการมาเสพ ซึ่งอาจจะเป็นคนรักใหม่ ชู้รัก หรือสิ่งอื่นใดก็ตาม ที่จะมาทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป ในโจทย์นี้ก็จะเป็นแต่งงานใหม่ ซึ่งการแต่งงานก็จะวนไปเช่นเดียวกับข้อหนึ่ง คือหวังว่าตนเองจะได้เสพสุข จะมีคนมาคอยสนองกิเลส

แต่เมื่อแต่งงานไปก็พบว่ามันไม่ได้สุขอย่างใจฝัน มันไม่ได้เสพอย่างที่คาดหวังไว้ จึงเกิดการเปรียบเทียบว่าเสพอันไหนจะสุขกว่า อยู่กับคนเก่าหรือคนใหม่ฉันจะเป็นสุขกว่า เมื่อตกลงใจได้ว่าของเก่าดีกว่า จึงอยากจะกลับไปเสพของเก่า เพราะในสภาพที่เป็นอยู่นั้นคือสภาพที่ทุกข์กว่าเก่า อาจเพราะไม่ได้เสพสิ่งที่ตัวเองต้องการอย่างที่คิดฝันไว้และยังเข้าใจว่ามีทางเลือกที่ดีกว่านั่นคือเลิกกับคนใหม่แล้วกลับไปหาคนเก่า

เพราะได้จำไว้ว่าคู่ครองคนเก่าดูแลเท่านี้ สมมุติว่า ดี 5 เสีย 3 ส่วนต่างอยู่ที่ +2 แต่คนใหม่ดี 7 เสีย 8 ส่วนต่างอยู่ที่ -1 แม้ตอนแรกจะดูเหมือนคนใหม่ดี แต่ไปๆมาๆกลับขาดทุน เป็นทุกข์ เมื่อเกิดสภาพดังนั้นจึงเข้ากับคำเปรียบเปรยที่ว่า “กำขี้ดีกว่ากำตด” เพราะแม้จะสุขน้อยแต่ก็ยังมีสุขให้ได้เสพบ้าง ไม่เหมือนกับคนใหม่ที่มีแต่ทุกข์

ทีนี้จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม เมื่อเขากลับมาอีกฝ่ายจะยอมรับไหม ตรงนี้ต้องพิจารณาให้ดี เขาออกจากชีวิตเราไปตั้งแต่ครั้งก่อนนั้นก็ได้ใช้เวรใช้กรรมกันไปแล้ว ไม่ต้องผูกพันกันแล้ว การกระทำของคนที่ออกจากชีวิตไปแล้วมีคนใหม่นั้นแสดงให้เห็นแล้วว่าเขายังเสพไม่พอ และการที่เขากลับมานั่นก็หมายถึงแม้เขาจะได้เสพคนใหม่ เขาก็ยังสุขไม่พอ จึงต้องกลับมาหาเรา การที่เขากลับมานี่อาจจะเพราะเขาไม่มีอะไรให้เสพหรือสำนึกผิดก็ไม่มีใครรู้ แต่โดยมากแล้วก็จะแสดงบทสำนึกผิดกันเป็นหลักไว้ก่อน เพราะคนอยากเสพก็ต้องป้อนคำหวาน คำสัญญา เหมือนในสมัยจีบกันก่อนแต่งงาน

คนที่ปลดบ่วงกรรมไปแล้ว เอาคนไม่ดีออกจากชีวิตไปได้แล้ว แต่กลับเลือกคนที่เคยทำร้าย คนที่เคยทิ้งไปเข้ามาในชีวิตใหม่ ก็ต้องยอมรับกรรมกันไป เพราะว่ากิเลสของเรานั้นยังเยอะ เราอาจจะยังอยากเสพเขาอยู่ จึงรับเขากลับเข้ามาในชีวิต ให้เขาได้เข้ามาทำร้ายร่างกายและจิตใจเราอีกครั้ง ให้เข้าได้เข้ามาทำบาป สร้างเวรสร้างกรรมกับเราอีกครั้ง ให้เข้าได้เข้ามาผูกภพผูกชาติกับเราอีกครั้ง ดังนั้นการเสียใจและความผิดหวังก็คงต้องดำเนินต่อไป เพราะได้ผูกกรรมใหม่ขึ้นมาแล้ว

การที่อดีตคู่รักจะกลับมาในชีวิตนั้น ถ้าจิตไม่แข็งแกร่งก็ไม่ควรจะอยู่ใกล้ ควรมีระยะที่เหมาะสม ถ้ามีลูกก็ให้ดูแลไปตามหน้าที่ แต่อย่าให้เข้ามาใกล้จนความสัมพันธ์นั้นเกินเลยไปกว่าเพื่อน เพราะคนที่เคยเลิกกันไปแล้ว จะทำตัวให้เหมือนเดิมก็ไม่ควร เพราะถ้าเขาเป็นคนดีมีศีลธรรมจริง ก็คงจะไม่มีคำว่า “อดีตคู่รัก” คงยอมอดทน ยอมให้อภัย ยอมทำใจ แล้วรักษาความสัมพันธ์กันไปแม้ว่าใจนั้นจะไม่อยากเสพแล้วก็ตาม ด้วยสัญญา ด้วยหน้าที่ ด้วยสัจจะ จึงจะต้องยอมทนอยู่ ดังคำว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์” (นัยหนึ่งของศีลข้อ ๔) หมายถึงว่า แม้จะหลงมาแต่งงานแล้วพบว่านั่นคือนรกแท้ๆก็จะไม่หนีไปจากนรกนั้น ยอมรับสภาพ ยอมรักษาสัจจะ รักษาคำมั่นสัญญา ดีกว่าจะยอมหนีทุกข์ไปเสพสุขลวงใหม่ ซึ่งจะสร้างกรรมชั่วใหม่ที่จะต้องมาคอยรับผลเก่าสร้างเหตุใหม่ให้วนเวียนทุกข์กันอย่างไม่จบไม่สิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

17.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)