สังคม สิ่งแวดล้อม

ปฏิบัติธรรมคนเดียว

May 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,318 views 0

คนกิเลสหนาที่อยากพ้นทุกข์ แม้จะพยายามศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งสู่ความเจริญ

แต่กลับไม่มีครูบาอาจารย์ให้คำปรึกษาแนะนำ ไม่มีหมู่กลุ่มที่พากันทำดี ไม่มีมิตรดีคอยตักเตือนและสนทนาธรรม ไม่มีใครช่วยชี้ถูกชี้ผิด

…ก็คงจะเป็นการเดินทางที่ยากลำบากยิ่งนัก

…ยิ่งเดินยิ่งท้อ ยิ่งพยายามยิ่งทุกข์ ยิ่งทำยิ่งหลงทาง

7-11 ?

May 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,219 views 0

7-11 ?

เห็นช่วงนี้หลายคนดูจริงจังกันนะ เลยจะยกประเด็นนี้ขึ้นมาหน่อย

จริงๆแล้วชีวิตเรานี่มันไม่ได้จำเป็นต้องไปซื้ออะไรให้มันมากมายหรอก ที่มันอยากกินมันก็กิเลสสั่งทั้งนั้นแหละ

  • กิเลสพาให้น้ำลายไหล
  • กิเลสพาขาเดินไป
  • กิเลสพาให้เลือกของ
  • กิเลสพาไปจ่ายตัง
  • กิเลสพาให้หยิบมากิน
  • กิเลสสร้างรสสุขให้
  • กิเลสทำให้อยากกินอีก
  • ฯลฯ

คือถ้าเราลดกิเลสได้เนี่ย มันจะมีแนวโน้มที่กินน้อยใช้น้อยอยู่แล้ว เรียกว่าไม่ต้องไปร้านสะดวกซื้อให้มันลำบาก

อย่างผมนี่เดินในร้านสะดวกซื้อก็ไม่รู้จะกินอะไร ส่วนมากก็ซื้อน้ำเปล่า ลองคิดดูว่าถ้าทั้งปีไปซื้อแค่น้ำเปล่ากับจ่ายค่าไฟ ค่าน้ำ มันจะเป็นอย่างไร

สินค้าที่เขาเอามาขายส่วนมากก็เป็นสินค้ายั่วกิเลสเราทั้งนั้นแหละ บอกว่าอร่อย บอกว่าถูก บอกว่ามีคุณค่า ก็ให้เราหลงเท่านั้นเอง

แต่ถ้าเรามีปัญญาเราจะไม่หลงนะ เขาว่าอร่อยเราก็ไม่กิน เขาแจกฟรีเรายังไม่เอาเลย มีคุณค่าแค่ไหนเราก็ไม่สน เพราะเราสนใจเรื่องกิเลสเรามากกว่า การไม่สนองกิเลสตัวเองนั้นสำคัญกว่า

พอลดกิเลสไปเรื่อยๆมันจะเริ่มชัดว่าสิ่งใดมีประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ แล้วเราจะไปเอาสิ่งที่เป็นโทษมาใส่ตัวทำไม ก็มีแต่คนที่เป็นทาสกิเลสเท่านั้นแหละ ที่จะหลงในสิ่งที่เป็นโทษว่าเป็นประโยชน์

ดังนั้นเมื่อเรียนวิชาลดกิเลสและปฏิบัติไปเรื่อยๆ จะมีแนวโน้มที่จะลดความเป็นทาสลง จนเหลือสภาพไม่จำเป็นต้องพึ่งพิง แบบสบายๆ ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องพยายาม

ในส่วนสินค้าจำเป็นถ้ามันจะซื้อก็ต้องซื้อไป ตรงนี้ต้องแยกให้ออกระหว่างอันไหนความอยาก อันไหนความจำเป็น ถ้าเราซื้อตามความจำเป็นก็เป็นกุศลของเรา แต่ถ้าเราซื้อตามความอยากก็เป็นบาปของเรา

สรุปคือ หากเรารบศึกในชนะ ศึกข้างนอกก็ไม่จำเป็นต้องสนใจอีก เพราะผลที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับพลังมวลรวมของสังคมแล้ว

เรื่องลดเนื้อกินผัก

May 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,266 views 0

ปกติผมจะไม่ค่อยได้พิมพ์เกี่ยวกับวิธีการเลิกกินเนื้อสัตว์สักเท่าไหร่ ส่วนมากจะพิมพ์ในแนวทางของการลดอัตตา เพราะอยู่ในกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติ กินเจกันได้บ้างแล้ว

จริงๆแล้วเรื่องการลดเนื้อกินผัก จนกระทั่งเลิกกินได้เลยนั้น เป็นปัญญาระดับทั่วไป เป็นเรื่องง่ายๆ เพราะมันเป็นเหตุของการเบียดเบียนกันอย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว

ในคลิปนี้ จะเห็นได้ว่าการมีความกรุณาช่วยเหลือผู้อื่นนี่เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย จะกระชากก็กลัวมันจะเจ็บ ก็ต้องระวังและค่อยๆทำ ผู้ที่มีความเจริญทางจิตใจ มีหิริ ดูเพียงเท่านี้ก็จะสำนึกได้เองว่าการเบียดเบียนสร้างทุกข์ให้กับผู้อื่น อย่างไร

เรียกว่าใช้เชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถขยายผลไปที่การเบียดเบียนแบบองค์รวม ได้ ส่วนคนที่ยังไม่เจริญนัก ก็ขยันดูที่มาที่ไปของเนื้อสัตว์ที่ซื้อบ่อยๆก็จะพอ สำนึกได้

ในส่วนคนที่ดูยังไงมันก็ยังไม่เกิดความรู้สึกผิด ไม่รู้สึกว่าอยากลดละเลิกการเบียดเบียน ก็สามารถใช้วิธีทำชั่วไปจนกรรมชั่วนั้นมากระทบให้ได้ซึ้งถึงทุกข์ของการ เบียดเบียนได้เช่นกัน (เช่น พระเทวทัต)

เรามีวิธีเข้าถึงธรรมได้มากมายหลายวิธี ใครชอบวิธีเบาๆสบายๆก็ขยันทำดีไป ใครชอบหนักๆ โหดๆ ก็ขยันทำชั่วไป สุดท้ายก็จะมีปัญญาเห็นโทษชั่วของการเบียดเบียนอยู่ดี

กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

May 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,356 views 0

กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

ความเห็นผิดที่พาตนไปในทางฉิบหายเมื่อเห็น… กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

ในกึ่งพุทธกาลดังเช่นทุกวันนี้ กระแสของความหลงผิดนั้นรุนแรงและมีปริมาณมาก เป็นยุคที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะของการเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นดอกบัวเป็นกงจักร

เห็นกิเลสเป็นมิตร

ยุคที่เรายินดีกับการเป็นทาสของกิเลส ยินดีเต็มใจให้มันบงการชีวิต มันบอกให้ไปเสพอะไรก็ไปเสพ มันบอกหาอะไรก็หา มันบอกให้รักอะไรก็รักตามใจมัน แล้วหลงในความสุขที่มันมอบให้ว่านั่นคือของดี แต่ที่ร้ายที่สุดคือเห็นว่ากิเลสนั้นคือตัวเรา สุดท้ายก็เลยแยกตัวเรากับกิเลสไม่ออก เรากับกิเลสเลยกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นตัวตนของกันและกัน ขาดกิเลสเราตาย

สุดท้ายเราก็มีกิเลสเป็นมิตรแท้ กินด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน พากันไปเสพสุขลวงได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร หรือไม่ต้องไปสนใจว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นเหตุให้เกิดกรรมชั่ว ต้องหลงวนทนทุกข์อยู่ในโลกนี้อีกนานเท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญของผู้ที่เห็นกิเลสเป็นมิตร เพียงแค่มีฉัน(ทาส)และมีเธอ(กิเลส) บำเรอสุขกันไปชั่วนิรันดร

หนักเข้าก็กลายเป็นผู้ที่มีกิเลส แต่ไม่รู้ว่ามีกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนที่เห็นเช่นนี้ “เป็นผู้ไม่เจริญ” หรือเรียกว่า ยังเลวอยู่ และถึงแม้จะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นกิเลส แต่ไม่รู้จักพิษภัยของกิเลส ยังยินดีเลี้ยงกิเลส ก็เรียกได้ว่าไม่รู้จักกิเลส

ศัตรูของกิเลส คือศัตรูของผู้เห็นผิด

การเห็นกิเลสเป็นมิตรก็ไม่ได้สร้างความเสียหายเพียงแค่เสพสุขลวงและทำทุกข์ทับถมตนเองไปวันๆเท่านั้น เมื่อยังมีความเห็นว่าศัตรูของมิตรนั้นก็คือศัตรู และสิ่งใดที่เป็นศัตรูของกิเลส นั่นหมายถึงสิ่งนั้นก็เป็นศัตรูของตนด้วยเช่นกัน

ผู้ที่มีความเห็นผิดจะมีอาการหวงกิเลสของตน ไม่ยอมให้ใครมาแตะกิเลสในตน ไม่ยอมให้คนอื่นมาว่าการที่ตนหลงเสพหลงสุขเพราะกิเลสเป็นสิ่งผิด หนักเข้าก็นิยามสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าความรักบ้าง สไตล์บ้าง วิถีชีวิตบ้าง เป็นความชอบส่วนบุคคลบ้าง คนเราไม่เหมือนกันบ้าง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปก้าวก่ายกับเรื่องกิเลสของตนเอง

เรียกได้ว่ายิ่งกว่างูหวงไข่ ถ้าใครไปวิจารณ์หรือแนะนำ คนที่เห็นกิเลสเป็นมิตรว่า “กิเลสนั่นแหละคือศัตรู” พวกเขาก็จะมีอาการต่อต้านขึ้นมา เบาหน่อยก็ทางใจ หนักขึ้นมาก็ทางวาจา หนักสุดก็ทางกายกรรมกันเลย คือใครมาว่าสิ่งที่ฉันชอบเป็นกิเลส ฉันจะด่ามัน ฉันจะทำร้ายมัน มันจะต้องพินาศ

เห็นบัณฑิตเป็นศัตรู

ทีนี้ผู้เป็นบัณฑิตโดยธรรมนั้นคือผู้ที่ปฏิบัติตนเพื่อการลดล้างทำลายกิเลส และชักชวนผู้อื่นให้ทำลายกิเลสด้วยเช่นกัน ถ้อยคำของบัณฑิตนั้นจะมีแต่คำพูดที่ข่ม ด่า ประณามกิเลส เรียกได้ว่ากิเลสนั้นไม่มีค่าในสายตาของบัณฑิตทั้งหลาย ซ้ำร้ายยังเป็นมารของชีวิตที่ต้องเพียรกำจัดไปให้สิ้นเกลี้ยง

เมื่อคนที่เห็นกิเลสเป็นมิตร มาเจอถ้อยคำที่กล่าวถึงการหลงติดหลงยึด สะสมกิเลสนั้นเป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องชั่ว เป็นเรื่องที่ผู้เจริญแล้วไม่พึงปรารถนา และควรจะพยายามออกห่างจากกิเลสเหล่านั้น เมื่อได้ยินดังนั้นด้วยความที่ตนเองก็เสพสมใจกับการมีกิเลสในตน เห็นกิเลสเป็นมิตร จึงเห็นบัณฑิตเหล่านั้นเป็นศัตรู เป็นข้าศึกต่อการเสพสุขของตน

จนกระทั่งคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ กล่าวถ้อยคำที่ดึงผู้มีศีลมีธรรมให้ต่ำลง ประณามธรรมที่พาให้ลดกิเลสดูไร้ค่า(เมื่อเทียบกับการสนองกิเลส) หรือกระทั่งเกิดการไม่พอใจที่มาบอกว่ากิเลสของตนไม่ดีจนถึงขั้นทำร้ายกันก็สามารถทำได้

แม้ในขั้นที่ละเอียดที่สุดคือคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ คือคิดไปในทางตรงข้ามกับการลดกิเลส คือการสะสมกิเลส ก็เรียกได้ว่าพาตนให้ห่างไกลจากการพ้นทุกข์เข้าไปอีก นับประสาอะไรกับผู้ที่สร้างวจีกรรม และกายกรรม ในเมื่อเพียงแค่มโนกรรมก็พาให้ไปนรกได้แล้ว

ผู้ที่ยังไม่หลงผิดขนาดหน้ามืดตามัว จะพิจารณาจนเห็นว่าสิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ แม้ตนเองจะยังติดสุขลวงที่กิเลสมอบให้ แต่เมื่อได้ฟังว่ากิเลสนั้นแหละคือตัวสร้างทุกข์แท้ และสร้างสุขลวงมาหลอกไว้ ก็จะพึงสังวรระวังไม่ให้กิเลสของตนกำเริบ และยินดีในธรรมที่บัณฑิตได้กล่าวไว้

ส่วนผู้ที่หลงผิดจนมัวเมา ก็มีแต่หันหน้าไปทางนรกด้านเดียว เพราะเมื่อไม่เห็นด้วยกับทางที่พาให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืน ก็ต้องเดินไปในทิศทางที่ตรงข้าม ถ้าบัณฑิตไปสู่ทางพ้นทุกข์ ผู้ที่หลงผิดเหล่านั้นก็จะไปสู่ทางแห่งทุกข์ ยิ่งไปก็ยิ่งทุกข์ กลายเป็นผู้ที่ก้าวไปสู่นรกด้วยความยินดี เพียงเพราะเหตุจากความหลงผิด

เหตุนั้นเพราะคนที่หลงมัวเมาในกิเลสจะสร้างอัตตาขึ้นมา หลอมรวมตนเองเข้ากับกิเลส กลายเป็นความยึดชั่ว เห็นความชั่วเป็นความสุข เห็นสุขลวงเป็นสุขแท้ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว และเมื่อมีอัตตา ก็จะไม่ยอมให้ใครมาดูถูก มาบอกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิด เพราะเข้าใจไปเองว่า สิ่งที่ตนทำนั้นดีแล้ว, ไม่ได้เบียดเบียนใคร, ไม่ใช่เรื่องของใคร, ใครๆเขาก็ทำกัน, ความสุขของใครของมัน, มันคือชีวิตฉัน, เกิดมาครั้งเดียวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ฯลฯ

สุดท้ายแล้ว เมื่อเห็นกิเลสเป็นมิตร และหลงผิดขนาดว่าเห็นบัณฑิตเป็นศัตรู ก็จะมีทิศทางที่ไปทางชั่ว และจะยิ่งเพิ่มความชั่วและมัวเมาขึ้นเรื่อยๆด้วยความหลงผิดที่สะสมมากขึ้น และวิบากกรรมชั่วที่ได้ทำก็จะพาให้เกิดความฉิบหายในชีวิตได้อีกหลายประการ

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)