กรรมและผลของกรรม

กรรมชั่วไม่มีวันหมด ถ้ากิเลสยังคงอยู่

July 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,962 views 0

กรรมชั่วไม่มีวันหมด ถ้ากิเลสยังคงอยู่

กรรมชั่วไม่มีวันหมด ถ้ากิเลสยังคงอยู่

กรรมชั่วนั้นหมายถึงเจตนาที่จะทำสิ่งไม่ดี และเมื่อทำกรรมที่ไม่ดีลงไปแล้ว ก็จะสั่งสมกลายเป็นพลังงานที่จะสร้างผลของกรรมนั้นในวันใดก็วันหนึ่ง

ความเข้าใจในเรื่องกรรมนั้นสามารถทำให้เราพ้นทุกข์ได้ไม่ยากนัก เพราะการเข้าใจว่าสิ่งใดๆล้วนเป็นสิ่งที่เราทำมา จะทำให้เรายอมรับความจริงตามความเป็นจริงได้ง่าย แต่นั่นหมายถึงส่วนของกรรมเก่า

กรรมเก่าที่ได้รับแล้วก็จะหมดไป ปัญหาคือกรรมใหม่ที่กำลังสร้างนั้นเกิดจากอะไร? การทำดีทำชั่วนั้นมีอะไรเป็นแรงผลักดัน? การทำดีนั้นมีจิตที่ใฝ่ดี มีศีลธรรมเป็นตัวผลัก แต่กรรมชั่วนั้นมีกิเลสเป็นเหตุเกิด นั่นหมายถึงว่า หากเรายังมีกิเลสอยู่ เราก็จะสร้างกรรมชั่ว ให้ต้องวนเวียนมารับผลกรรมชั่วนั้นไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

ความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อทำความเข้าใจที่จะรับต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดหวังอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นไปในเชิงการป้องกันไม่ให้เกิดกรรมชั่วด้วย คือสามารถใช้ได้ทั้งการรับและรุก

การรับกรรมอย่างเข้าใจจะทำให้เราไม่เป็นทุกข์มาก ส่วนการรุกก็คือการหยุดทำกรรมชั่ว แล้วสร้างกรรมดีขึ้นมาแทนที่ในแต่ละวินาทีของชีวิต ให้ละเว้นกรรมชั่วให้น้อยลง และสร้างกรรมดีให้มากขึ้น

ทีนี้ถ้ากรรมดีที่ทำนั้นยังไม่สามารถทำขนาดที่จะทำลายกิเลสได้ ก็จะยังมีเหตุแห่งทุกข์ มีเชื้อชั่วทำงานอยู่ตลอดเวลา แม้เราจะทำกรรมดีแค่ไหน แต่ถ้ากิเลสยังอยู่ก็จะบังคับเราให้ทำกรรมชั่วด้วยเช่นกัน ทีนี้กรรมดีกับกรรมชั่วมันไม่ได้หักลบกัน ทำกรรมดีก็ต้องได้รับผลดี ทำกรรมชั่วก็ต้องได้รับผลชั่ว ดังนั้นใช่ว่าเราจะทำดีบ้าง ไม่ดีบ้างปนกันไป ศาสนาพุทธไม่ได้สอนเช่นนั้น แต่สอนให้เราหยุดชั่ว คือไม่ทำชั่วเลย แล้วทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส

ถ้าเราไม่กำจัดกิเลส เราก็จะเป็นคนดีที่สร้างกรรมชั่วโดยที่ไม่รู้ตัวไปเรื่อยๆ แม้จะเข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรม แต่ไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงขนาดที่ว่าเหตุเกิดแห่งกรรมดีและร้ายนั้นมีที่มาอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการชีวิตของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากจะถามหาประสิทธิผลที่พอหวังได้ก็คงจะไม่มี

ผู้ที่ทำลายกิเลสได้หมดจะไม่สร้างกรรมชั่วอีกเลย แต่ผลของกรรมชั่วนั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผลของกรรมชั่วจะไม่มีวันหมดไปเพราะกรรมนั้นเมื่อทำแล้วจะถูกแบ่งส่วนของการรับไปทั้งชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป นั่นหมายความว่ากรรมใดๆที่เราได้รับอยู่ในชาตินี้ ล้วนแต่เป็นเศษกรรมที่เราทำมาทั้งนั้น นั่นหมายถึงทั้งดีและร้ายที่เราได้รับนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กน้อยเท่านั้น ยังมีผลของกรรมอีกมากมายที่รอส่งผลในภายภาคหน้า

เมื่อรู้ได้เช่นนี้เราก็ควรจะหยุดกรรมชั่วเสียทั้งหมด เพราะแม้เราจะไม่เห็นผลในชาตินี้ แต่แน่นอนว่ามันจะส่งผลไปต่อถึงชาติหน้า เหมือนกับเหตุการณ์ร้ายๆที่เราได้รับมาในชาตินี้โดยที่เราไม่สามารถสืบหาสาเหตุที่เหมาะสมได้เลย

พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก สะสมบารมี ทำดีมามากมายหลายกัป แต่ท่านก็ยังมีผลของกรรมที่ท่านเคยได้ทำชั่วมาตั้งแต่ปางไหนก็ไม่รู้ ที่ยังต้องมารับกันในชาติที่เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหลักฐานว่ากรรมชั่วนั้นจะติดตามเราไป แม้ว่าเราจะดับกิเลสได้จนสิ้นเกลี้ยงแล้วก็ตาม ในจักรวาลนี้คงมีวิธีเดียวที่จะพ้นจากผลของกรรมที่ทำมาได้นั่นคือปรินิพพาน

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับการที่เราสามารถทำลายกิเลสได้หมดหรือไม่ ถ้ากิเลสยังไม่หมด ยังไม่จบสิ้น ก็อย่าไปกล่าวกันถึงเรื่องปรินิพพานที่สุดแสนจะไกลตัวให้เสียเวลากันเลย

เพราะแก่นของศาสนาพุทธคือการหลุดพ้นจากกิเลส ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่าการที่เราหลุดพ้นจากความเป็นทาสของกิเลส เป็นผู้อยู่เหนือกิเลส เป็นผู้อยู่เหนือโลก เป็นโลกุตระ

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความคาดหวังของพ่อแม่

July 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,974 views 0

ความคาดหวังของพ่อแม่

ความคาดหวังของพ่อแม่

เมื่อเป็นพ่อแม่เรามักอยู่กับความหลงผิด เพราะเราต่างสร้างอนาคตให้ลูก แต่หลายสิ่งเกิดขึ้นตามโชคชะตาของแต่ละคน

บทละครที่ถ่ายทอดเรื่องราวของพระเจ้าสุทโธทนะ ในละครซีรี่พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก ตอนที่ ๔๒ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ที่มีพลังมากกว่าความยึดมั่นถือมั่นใดๆในโลก

คนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรืออาจจะรวมไปถึง เจ้านาย คู่รัก เพื่อน ฯลฯ ก็ย่อมมีความหวังให้คนที่ตนรักและดูแลเป็นไปในทางที่ตนเข้าใจว่าดี ตามความยึดมั่นถือมั่นของตนเอง

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งจะต้องเป็นไปตามนั้น เพราะผลของกรรมนั้นมีพลังมากกว่า หากเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดให้เป็นไปตามใจของเราแล้ว สุดท้ายทุกอย่างก็จะพังทลายลงด้วยพลังแห่งกรรมที่มีอำนาจเหนือใครในโลก

มนุษย์พยายามฝืนกรรมลิขิตได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปตามนั้นเสมอไป เพราะถึงแม้เราจะฝืน เราจะพยายามเท่าใด ทุกชีวิตก็ล้วนอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมที่ทำมา อย่างเช่นเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านมีกรรมที่จะต้องเป็นพระพุทธเจ้า อะไรก็มาห้ามท่านไม่ได้ มันถูกกำหนดไว้เช่นนั้น เพราะท่านทำกรรมมาเช่นนั้น

ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ตนคิดและเข้าใจว่าดีนั้น คือสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริง ไม่มีไหวพริบ ขาดความแววไวต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะตนได้ยึดสิ่งที่ตนว่าดีไปแล้วจึงไม่เปิดใจยอมรับสิ่งอื่นๆ ทั้งที่จริงทุกสิ่งผันเปลี่ยนหมุนเวียนไปไม่หยุดตามวิบากกรรมที่ได้ทำมา

พ่อแม่ที่มองแค่เพียงว่าบุตรนี้คือของของตน ต้องเป็นไปตามแนวทางของตน ต้องเป็นไปตามที่ตนต้องการ คือผู้ที่สร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะความยึดมั่นถือมั่น นั่นเพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาเป็นใครมาเกิด เขามีกรรมของเขามาอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างมีเบื้องหลังเสมอ เขามีกรรมเป็นของเขา เรามีกรรมเป็นของเรา ซึ่งดูๆไปแล้วเหมือนจะมีความสัมพันธ์ที่เกาะเกี่ยวกันแต่แท้ที่จริงแล้ว เราแต่ละคนมีกรรมแยกกันไป

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราควรปล่อยปละละเลย เพราะการเลี้ยงดูบุตรก็เป็นกรรมดีของเราเช่นกัน การเลี้ยงดูบุตรเป็นหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ดังนั้นเราก็ควรจะสร้างกรรมดีของตน โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าผลนั้นจะเกิดดีหรือไม่ เพราะผลที่เกิดนั้นจะถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากหลายเหตุปัจจัยและไม่ว่าผลที่เกิดจะเป็นเช่นไร กรรมดีของเรานั้นได้ทำไว้แล้ว สะสมไว้แล้ว เป็นประโยชน์แล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คำพิพากษา : เมื่อวันที่ชีวิตได้เผชิญหน้ากับผลของกรรม

July 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,864 views 0

คำพิพากษา : เมื่อวันที่ชีวิตได้เผชิญหน้ากับผลของกรรม

คำพิพากษา : เมื่อวันที่ชีวิตได้เผชิญหน้ากับผลของกรรม

เราต่างล้วนถูกพิพากษาให้เกิดมาในโลกนี้ ให้เป็นคนแบบนี้ ให้ต้องเจอเรื่องราวแบบนี้ และนี่คือการพิพากษาของศาลที่เที่ยงตรงที่สุดในโลกชื่อว่ากรรม

ในชีวิตของเราอาจจะเคยเจอคำสั่ง คำตัดสิน บีบบังคับ ยัดเยียด บทลงโทษ คราวเคราะห์ โชคดี หรือเหตุการณ์อะไรก็ตามแต่ ล้วนแต่เป็นคำพิพากษาของกรรม หรือที่เรียกกันว่า ผลของกรรม

เราไม่มีทางได้รับกรรมที่เราไม่ได้ทำมา เช่นเดียวกันกับสิ่งที่เราได้รับจะต้องเป็นสิ่งที่เราทำมาแน่นอน เราถูกพิพากษาให้ได้รับทั้งสิ่งดีและสิ่งร้ายในชีวิตโดยไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือเรียกร้องใดๆได้ เพราะคำพิพากษาของกรรมนั้นเป็นที่สุดของการตัดสินว่าเราจะต้องได้รับสิ่งดีหรือสิ่งร้ายนั้น

แต่หลังจากได้รับการพิพากษามาแล้วจะทำอย่างไรกับสิ่งนั้นก็จะเป็นสิทธิ์ของเราที่จะเลือก ยกตัวอย่างเช่น เราถูกพิพากษาให้ถูกทำร้าย แต่เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปโกรธหรือทำร้ายเขาตอบ หรือเราถูกพิพากษาให้ได้รับลาภก้อนโต แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ทั้งหมด เราสามารถแบ่งปันแจกจ่ายไปในที่ที่สมควรแก่การได้รับประโยชน์จากทรัพย์นั้นได้เช่นกัน

การพิพากษาของกรรมนั้นจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่คุ้นเคยจนเราหลงลืมไปว่าแต่ละสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกช่วงเวลานั้นเกิดจากผลของกรรมที่เราทำมา ซึ่งเมื่อหลงลืมก็อาจจะทำให้พลั้งเผลอประมาทในเรื่องของกรรมไปได้ เช่นไปทำกรรมชั่วโดยที่ไม่ได้ระลึกถึงภัยของสิ่งนั้น

ความถี่และความรุนแรงของผลการพิพากษานั้นขึ้นอยู่กับคุณธรรมในตัวคน ถ้าเราเป็นคนดี มีความละอายต่อบาป โทษทัณฑ์เพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เราเลิกทำชั่วได้แล้ว แต่ถ้าเราเป็นคนดีบ้างไม่ดีบ้าง ไม่มีความละอายต่อบาป การพิพากษาก็มักจะถูกเลื่อนไปจนกระทั่งสะสมพลังงานให้มากพอที่จะสร้างความทุกข์ให้กับเราได้

คนดีได้รับทุกข์เพียงเล็กน้อยก็สำนึกผิด รีบทบทวนตัวเองเพื่อละเว้นสิ่งชั่ว ส่วนคนที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็จะมองทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นเมื่อได้รับทุกข์ก็มักจะมองข้ามการปรับปรุงตนเอง มองข้ามโทษภัยของการทำกรรมชั่ว จึงประมาททำชั่วสะสมกรรมชั่วเหล่านั้นไว้ จนได้รับคำพิพากษาโทษที่หนัก ทำให้ทุกข์ทรมานมาก จึงจะเรียนรู้ผลของกรรมที่ทำมา

คำพิพากษานั้นแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเราทำกรรมอะไรมา เราจึงต้องโดนพิพากษาให้รับผลของกรรมเหล่านั้น เมื่อรู้ชัดแล้วว่าเราเคยทำชั่วมามาก ก็ควรจะละเว้นชั่ว ทำแต่ดี เพื่อที่เราจะไม่ต้องมาสร้างทุกข์เพื่อวนเวียนรับทุกข์ให้เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

22.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

Happy ending เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขที่ไม่มีอยู่จริง

July 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,736 views 0

Happy ending เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขที่ไม่มีอยู่จริง

Happy ending เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขที่ไม่มีอยู่จริง

คำว่า “Happy ending” มักจะเป็นคำที่เราได้เห็นในหนังในละครมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก เรื่องราวหลายเรื่องมักจะจบด้วยความสมหวังด้วยการครองคู่ เราได้จดจำสิ่งเหล่านั้นโดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นคือสิ่งที่หลอกหลอนเรามาจนถึงทุกวันนี้

การแต่งงานกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งในการมีชีวิต เป็นคุณค่า เป็นความสมบูรณ์ ตามที่โลกได้ปั้นแต่งเรื่องราวเอาไว้ และสื่อที่มีอิทธิพลมากกว่านิยาย ละคร ภาพยนตร์ เพลงรัก ก็คือผู้ที่หลงใหลมัวเมาในความสุขลวงเหล่านั้น

คนที่หลงเสพหลงสุขจะเติมพลังความอยากให้แก่กันและกัน ว่าการแต่งงานมีชีวิตคู่ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ สุขอย่างนั้นสุขแบบนี้ จะได้เสพรสแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้คนที่อยู่ในสังคมเหล่านั้นถูกมอมเมาด้วยความหลงผิด เพิ่มความอยากได้ อยากลอง อยากเสพ อยากสัมผัสประสบการณ์ที่เขาว่าดีว่าเลิศทั้งหลาย

แม้กระทั่งการแต่งงานครั้งหนึ่งก็ต้องมีการป่าวประกาศ แห่ขันหมากตีกลองโห่ร้อง จัดงานแต่งงานประดับประดาให้เป็นที่น่าสนใจ เชิญคนมากมายมาร่วมรับรู้เรื่องส่วนตัว ปั้นแต่งภาพให้สวยงามประดุจเจ้าชายเจ้าหญิง เป็นที่น่าจับตามอง เป็นที่น่าหลงใหล เป็นการกระตุ้นกิเลสให้คนอื่นอยากได้อยากมีตามไปด้วย แม้กระทั่งการดึงนักบวชเข้ามายุ่งเรื่องทางโลก ก็กลายเป็นสิ่งที่แสนจะธรรมดาไปแล้วสำหรับยุคนี้

เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้น

หลายคนอาจจะรู้สึกโล่งใจที่ชีวิตได้เป็นฝั่งเป็นฝา ได้ไปถึงจุดหนึ่งที่ใครเขาบอกต่อๆกันมา ว่าจำเป็นสำหรับชีวิต เหมือนจะเป็นตอนจบของละครบทหนึ่ง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของละครบทใหม่

เรื่องราวในละครต่อจากที่ตอนพระเอกนางเอกได้ครองคู่กันแล้วมักจะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา ละครลวงโลกมักจะจบ happy ending กันตรงที่ได้รักกัน ได้แต่งงานกัน แล้วเหมือนทุกอย่างจะเป็นสุขตลอดกาล เหมือนว่าได้เสพสิ่งเหล่านั้นคือที่สุดของชีวิต แต่แท้ที่จริงแล้ว เราเพียงแค่หลุดจากสภาพทุกข์แบบหนึ่งไปสู่ทุกข์อีกแบบหนึ่งเท่านั้น

ผู้คนมากมายทนทุกข์จากความเหงา เดียวดาย ไร้คุณค่า อยากมีใครสักคนเป็นที่พึ่ง คอยดูแลเกื้อกูล คอยพูดคุยเอาใจ ให้ความรัก ให้ความสำคัญ เมื่อไม่มีใครคนนั้นก็ต้องทุกข์ทรมานอยู่ในนรกของคนโสดที่โหยหาความรักความเอาใจใส่ ไม่สามารถดำรงอยู่ผู้เดียวได้ ไม่สามารถทำใจให้เป็นโสดอย่างแท้จริงได้

เมื่อมีใครสักคนที่ถูกใจเข้ามาในชีวิต ก็เหมือนกับการปล่อยทิ้งปมทุกข์ที่เคยแบกรับไว้ ไม่ต้องเหงา ไม่ต้องเดียวดาย ไม่ต้องหาวิธีแก้ความเหงา ไม่ต้องคิดหาวิธีพึ่งตนเองอีกต่อไป ทิ้งเงื่อนปมแห่งทุกข์อันเก่าไว้ แล้วหันมาผูกปมใหม่ที่เรียกว่าคู่รัก

ในตอนแรกรักนั้นก็มักจะมีความสุขกับการผูกปมความรัก ยิ่งได้รัก ยิ่งใกล้ชิด ยิ่งรู้จักรู้ใจ ดูแลเอาใจใส เป็นคนสนิทกันมากเท่าไหร่ ปมแห่งความสัมพันธ์ก็จะยิ่งพันแน่นและซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งคบหาดูใจ ความสัมพันธ์ก็ยิ่งแนบแน่นขึ้นไปอีก เหมือนปมเงื่อนที่ทบกันไม่รู้กี่ชั้นต่อกี่ชั้น จนถึงวันที่แต่งงาน เป็นวันที่ปมเหล่านั้นได้ถูกทาเคลือบไว้ด้วยยางเหนียว ย้ำลงไปอีกว่าจะไม่คลายความสัมพันธ์นี้ พัฒนาต่อไปจนมีลูกมีหลาน เหมือนกับมีโซ่เหล็กมาคล้อง ล็อกความสัมพันธ์นั้นให้ยิ่งแน่นหนาขึ้นไปอีก

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” ในความเป็นจริง นรกได้เริ่มก่อตัวตั้งแต่ความอยากได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว มันค่อยๆเติบโตอย่างช้าๆ โดยไม่ให้เรารู้ตัว มันมาในภาพของความสุข เพื่อที่จะหลอกให้เราได้หลงเสพหลงสุขและวนเวียนอยู่ในโลกแห่งตัณหานี้ตลอดไป

ความเหงาเปลี่ยนคนโสดให้เป็นคนคู่ แต่ความทุกข์นั้นไม่ได้หมดไป มันแค่เพียงเปลี่ยนรูปแบบ เหมือนกับการทิ้งปัญหาหนึ่งไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง ในตอนแรกเราก็จะเห็นเหมือนกับว่าเราหนีทุกข์ไปหาสุข แต่ความจริงแล้วเราหนีจากทุกข์น้อยไปหาทุกข์มาก

กิเลสนั้นย่อมล่อลวงเราให้เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความสัมพันธ์ฉันชู้สาวเป็นเรื่องน่าใคร่น่าเสพ เห็นสิ่งลวงเป็นของที่ควรมีควรได้เห็นความทุกข์เป็นความสุข มันกลับหัวกลับหางกับความจริงทุกประการ

คนโดยส่วนมากในปัจจุบันก็ไม่มีใครยอมรับว่ากิเลสนั้นเป็นผู้ร้าย ไม่เห็นความอยากได้อยากเสพเป็นศัตรู เขามักจะมองเห็นว่าการได้เสพเป็นสุข การไม่ได้เสพเป็นทุกข์ ผู้ที่ไม่หามาเสพคือผู้ที่ทรมานตน ผู้ที่หามาเสพคือผู้ที่ทำชีวิตตนให้เป็นสุข จะมีความเห็นความเข้าใจในลักษณะที่กอดคอเดินไปกับกิเลส เห็นดีกับกิเลส เห็นต่างจากธรรมะ

แล้วทีนี้ความสุขที่ได้รับจากกิเลสนี่มันเป็นความสุขลวงทั้งหมด ที่ดูเหมือนสุขมันเกิดเพราะมีกิเลสมาก ถ้าไม่ได้เสพตามใจกิเลส มันก็จะตีให้เป็นทุกข์ สร้างความทุกข์ให้กับเรา พอได้เสพมันก็ไม่ทุกข์จากกิเลส มันก็เลยเป็นสภาพสุขดังที่เห็น และสุขนั้นก็เป็นสุขลวงอย่างแท้จริง เพราะถ้าไม่ตามใจกิเลส มันก็จะไม่เกิดสุข ต้องให้อาหารกิเลสไปเรื่อยๆเพื่อจะเสพสุข ซึ่งสุขนั้นไม่เที่ยง มันเสื่อมสลาย และแท้ที่จริงแล้วมันไม่มีอยู่จริง

ถ้าสามารถล้างกิเลสได้จริงจะค้นพบเลยว่ารสสุขในการมีคู่นั้นไม่มีเลย การดูแลเอาใจใส่ มีคนเกื้อกูล หยอกล้อรักใคร่หรือกิจกรรมของความเป็นคู่รักทั้งหลายมันไม่มีสุขเลยแม้แต่นิดเดียว ที่มันเกิดสุขเหล่านั้นเพราะพลังของกิเลสมันลวง มันพาให้หลงว่าการได้เสพแล้วความทุกข์ลดลงนั้นเป็นความสุข ให้หลงเข้าใจว่านั่นคือสุขแท้ในชีวิต ให้คนไขว่คว้าหาสุขลวงเหล่านั้น

ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ “Happy ending” อย่างแน่นอน เพราะเหมือนกับคนที่ลอยคออยู่กลางทะเล ทิ้งห่วงยางเพื่อที่จะไปเกาะเรือแห่งความหวัง โดยที่หารู้ไม่ว่า เรือลำนั้นเป็นของลวง เป็นสิ่งไม่จริง ไม่ยั่งยืน รอวันที่จะผุพังและจมหายไป และมีทิศทางพาให้ลอยห่างฝั่งออกไปอีก หันหัวเรือไปทางโลก หันหลังให้ทางธรรม ยิ่งพึ่งพาเรือไปไกลเท่าไหร่ก็จะยิ่งใกล้นรกมากเท่านั้น

เรื่องราวของชีวิตนั้นไม่เหมือนในละคร มันไม่ได้ถูกตัดจบทันทีที่สมหวัง แต่มันจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ การไม่ทุกข์ในวันนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทุกข์ในวันหน้า วันใดวันหนึ่งที่กุศลกรรมหมดรอบ ก็จะเป็นวันที่วิบากบาปได้ซัดเข้ามาในชีวิตเหมือนพายุที่ก่อตัวรออยู่ข้างหน้า

เรือลำน้อยที่เกาะไว้ค่อยๆผุพังไปเรื่อยๆ ในขณะที่คลื่นแห่งอกุศลกรรมจะซัดกระหน่ำเข้ามาอย่างไม่ลดละ แรงเท่าที่เราได้เคยทำกรรมเหล่านั้นไว้ กรรมที่เคยไปหลอกลวงใครว่าการมีคู่เป็นสุข การแต่งงานเป็นสุข การผูกพัน ผูกภพผูกชาติเป็นสุข ผลกรรมแห่งการมอมเมาผู้อื่นด้วยความหลงผิดจนกระทั่งกลายเป็นแรงผลักดันให้คนอื่นอยากได้อยากเสพ จะกลับมาเล่นงานให้เราได้เรียนรู้ทุกข์จนสาสมใจในวันใดวันหนึ่ง ไม่ชาตินี้ ก็ชาติหน้า หรือชาติอื่นๆต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

20.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)