การปฏิบัติธรรม
บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑
บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑
มีประเด็นในการวิจารณ์เรื่องนี้อยู่มากในสังคม คนไม่กินเนื้อก็มักจะใช้ข้อนี้ในการอ้างอิงว่าผิด คนกินเนื้อก็จะใช้ข้อนี้ในการปฏิเสธว่าไม่ผิดเช่นกัน
เพราะถ้าอ้างศีลข้อ ๑ ตามที่ ” แปลและเข้าใจกันโดยทั่วไปแค่เพียงว่า ไม่ฆ่าสัตว์ ” มันจะไม่ตรงเสียทีเดียว มันจะแฉลบออกไปได้ เลี่ยงบาลีไปได้ ไม่ครบเงื่อนไของค์ประกอบของการฆ่าเพราะไม่ได้ฆ่าเอง และไม่ได้มีจิตคิดจะฆ่า ซึ่งทำให้คนที่กินเนื้อสัตว์ก็จะสามารถเข้าใจว่าไม่ผิดศีล และจะกลายเป็นว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ตีความเอนเอียงเข้าข้างตนเอง
แต่ถ้าศึกษาไตรสิกขา ปฏิบัติอธิศีลไปเรื่อยๆจะพบว่า อธิศีลของศีลข้อ ๑ นั้นครอบคลุมทุกองค์ประกอบอยู่แล้ว การอธิศีลนั้นคือการศึกษาศีลให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป ตั้งแต่ ๕ ๘ ๑๐ ส่วนนักบวชเริ่มต้นที่จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งฆราวาสเองก็สามารถถือเอาศีลสามหมวดนี้มาปฏิบัติได้ตามบารมี
ศีลข้อ ๑ ในจุลศีล : ดูกรพราหมณ์ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล? ๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรามีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
คำถามก็คือ การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น มีความเกื้อกูลและมีความกรุณาต่อใคร? เอ็นดูสัตว์ทั้งหลายจริงหรือ? หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงยังไง? การมีความเห็นเช่นนั้นเป็นความละอายต่อบาปจริงหรือ? การฆ่านั้นมีประโยชน์กับสัตว์เหล่านั้นหรือ? ถึงยังคงให้การสนับสนุนอยู่ ในเมื่อการเข่นฆ่านั้นมีแต่ทุกข์และอกุศลกรรมจะบอกว่าศีลข้อนี้ไม่ใช่หลักปฏิบัติของพุทธก็ไม่ใช่ เพราะเวลาพระพุทธเจ้าบวชให้ใครท่านก็ให้ถือเอาจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลเป็นข้อปฏิบัติ หลักฐานนี้พบเห็นได้ทั่วไปในพระไตรปิฎก
และแม้จะเป็นศีล ๕ ที่แปลและเข้าใจกันแค่เพียงว่า “ไม่ฆ่าสัตว์นั้น” หากศึกษาในสาระของศีลข้อนี้ไปเรื่อยๆจะทำให้จิตเมตตาขึ้น ไม่ใช่แค่ถือไว้เฉยๆแล้วจิตไม่พัฒนาอะไรเลย นั่นคือไม่มีอธิศีล แต่ผู้มีอธิศีลแม้ตนเองจะเริ่มจากฐานศีล ๕ ก็จะพัฒนาความเมตตาขึ้นไปเรื่อยๆ จากไม่ฆ่า พัฒนาเป็นไม่เบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นไม่มีส่วนเบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นมีความเกื้อกูล เมตตากรุณาต่อกัน คือนอกจากไม่ฆ่า ไม่รบกวน แล้วยังต้องช่วยเหลืออีก เรียกว่าถ้าศึกษาให้ถูกต้องจะพบว่าศีลจะเป็นตัวนำให้หยุดชั่วทำดีได้เอง ปิดนรกเปิดสวรรค์ได้เองตามระดับอธิศีลที่ได้ศึกษา
ทีนี้คนที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง จะไม่สามารถยกระดับของตัวเองไปถึงจุลศีลได้ ก็มักจะยกเอาหลักฐานที่เอื้อกับความเห็นตนมา ก็สามารถทำให้ตีเนียนกินเนื้อไปได้ เพราะภาษาที่แปลมามันไม่มีข้อห้ามหรือคำผิดตรงๆ ศีล 5 เขาก็แปลกันแค่นั้นจริงๆ มันก็เลยปฏิบัติกันอยู่แค่นั้น ทั้งที่จริงแล้วมันมีความลึกและมีมิติอยู่มากมาย
นี่คือความเสื่อมของชาวพุทธอย่างแท้จริงเพราะความไม่ศึกษาในอธิศีล จมอยู่กับศีล ๕ เท่าที่รู้หรือต่ำกว่านั้น และยึดเอาความเสื่อมนั้นเป็นหลักชัย ว่าฉันจะทำดีเท่านี้ ฉันดีได้แค่นี้ เรียกว่าปิดประตูสู่ความเจริญของตนในทันที ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าการไม่ศึกษาในอธิศีลเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เมื่อไม่ศึกษาอธิศีลก็จะไม่รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ก็เลยมีการถกเถียงกันมากในประเด็นของศีลข้อ ๑ ทั้งผู้ที่ปฏิบัติธรรมและผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม
เมื่ออธิศีลเสื่อมไป ไตรสิกขาจึงไม่มี ก็ไปศึกษาแยกกัน จิตบ้าง ปัญญาบ้าง ถือเอาจิตเป็นที่สุดบ้าง ถือเอาปัญญาเป็นที่สุดบ้าง เข้ารกเข้าพงกันไปหมด เมื่อไม่ครบองค์ประกอบของไตรสิกขา ไม่รู้ความเกี่ยวพันเชื่อมโยงของศีล สมาธิ ปัญญาว่าเกื้อกูลกันอย่างไร ปฏิบัติร่วมกันไปอย่างไร จิตและปัญญาเหล่านั้นจึงเป็นไปโดยมิจฉา เมื่อไม่มีไตรสิกขาก็ไม่เกิดมรรค เมื่อไม่มีมรรคก็ไม่มีการผลในรู้แจ้งเห็นจริง สุดท้ายจึงปฏิบัติธรรมแบบคิดเอา เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง เป็นมิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ แล้วก็เมามิจฉาทิฏฐิของตนอยู่เช่นนั้น
การยกธรรมะมากล่าวอ้างนั้นเป็นสิ่งที่ต้องประมาณให้ดี เพราะเป็นดาบสองคม ถ้าใช้ผิด เอามาตีกิน เอามาเพิ่มกิเลส เอามาเบียดเบียน ทำให้หลงงมงายทั้งตนเองและผู้อื่น ก็จะสร้างทุกข์ครอบขังให้ตัวเองหลงงมงายกับธรรมที่มิจฉา จนบางครั้งร้ายแรงถึงขั้นหลงว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม ทำให้ต้องวนเวียนหลงไปกับโลกชั่วกัปชั่วกัลป์
ดังนั้นจากจุลศีล ซึ่งเป็นความเจริญที่สุดของศีลในศาสนาพุทธ ที่บุคคลพึงปฏิบัติ จะเห็นได้ว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นมีความขัดแย้งในเนื้อหาอย่างชัดเจน ไม่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ สิ่งนั้นจึงไม่ควร ผู้ศึกษาและปฏิบัติสู่ความผาสุกจึงควรละเว้นเหตุแห่งอกุศลเหล่านั้นเสีย
– – – – – – – – – – – – – – –
7.10.2558
ปัญญาก็มีตามศีลที่มีนั่นแหละ !
ปัญญาก็มีตามศีลที่มีนั่นแหละ !
ยุคสมัยนี้ปฏิบัติ ศึกษาธรรมะกันแต่ไม่ค่อยสนใจศีล ลืมศีล ไม่เข้าใจศีล ถ้าไม่ยึดศีลแบบงมงาย ก็ตีทิ้งศีลไปเลย พอไม่มีศีลมันก็เลยไม่มีปัญญา แล้วจะเอาปัญญาที่ไหนมารู้แจ้งเห็นจริงในธรรม
ศีลกับปัญญานั้นเป็นคู่กัน ถ้าปฏิบัติศีลอย่างสัมมาทิฏฐิกันจริงๆ ยังไงก็หนีไม่พ้นการมีปัญญา
แต่เดี๋ยวนี้ถือศีลกันแล้วหมายเอาแค่ศีลมาคลุมแค่ร่างกาย กับคำพูดคำจา แต่ความจริงแล้ว ศีลก็ปฏิบัติทั้งกาย วาจา ใจ นั่นแหละ ซึ่งก็อยู่ที่ความเห็นของผู้ที่ศึกษา ถ้าเข้าใจก็เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ จะติดอยู่แค่ร่ายกาย กับคำพูดเท่านั้น จะไปต่อถึงใจไม่เป็น
สรุปลงไปเลยว่า ศีลนี่แหละคือข้อปฏิบัติที่จะชำระกิเลสในใจ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า “ศีลที่เป็นกุศล ยังอรหัตตผลโดยลำดับ” นั่นหมายถึงแค่มีศีลนี่แหละ พอแล้วจบกิจแน่ๆ แต่ต้องสัมมาทิฏฐินะ~
อกหัก ช้ำรัก พึ่งธรรม เพื่อคลายทุกข์ แต่ไม่อยากพ้นทุกข์
อกหัก ช้ำรัก พึ่งธรรม เพื่อคลายทุกข์ แต่ไม่อยากพ้นทุกข์ : การแก้ปัญหาความรักที่ไม่ลงแก้ไปถึงเหตุแห่งทุกข์
ความทุกข์ที่เกิดจากความรัก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนส่วนหนึ่งหันเข้าหาศาสนา เพื่อที่จะคลายทุกข์เหล่านั้น พวกเขาจึงเลือกธรรมะมาใช้เป็นเครื่องมือกำจัดทุกข์
แต่กระนั้นคนที่ทุกข์จากความรักส่วนมาก ไม่ได้ต้องการที่จะดับทุกข์ให้หมดสิ้น เขาเพียงแค่ต้องการให้ทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นอยู่นั้นได้จางคลายลง เปรียบเหมือนคนที่โดนปืนยิง แต่ไม่ต้องการผ่าเอาหัวกระสุนที่ฝังในออก เพียงแค่ต้องการให้รักษาทั่วไปแล้วเย็บแผลให้ดูหายเป็นปกติ นั่นหมายถึงเขาไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาทั้งหมดของความรัก เพียงแค่ต้องการแก้ทุกข์เท่าที่เป็นอยู่เท่านั้น
เขาเหล่านั้นเป็นทุกข์ แต่กลับไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็น “ความอยาก” ว่าเป็นความทุกข์ ไม่เห็นหัวกระสุนที่ฝังในอยู่นั้นคือปัญหา และเขาก็ไม่ได้อยากจะเห็นทุกข์ ไม่ได้อยากเห็นธรรม เขาแค่เพียงไม่อยากเป็นทุกข์ อยากจะหลุดพ้นจากทุกข์ในขณะนั้น โดยไม่ได้ต้องการทำลายเหตุแห่งทุกข์
ซึ่งทุกข์จากความรักเหล่านี้แท้จริงแล้ว ก็เป็นทุกข์ที่เกิดจากกิเลส มันมีเหตุ และสามารถดับเหตุของมันได้ จึงเป็นทุกข์ที่เลี่ยงได้ ไม่จำเป็นต้องมีทุกข์เช่นนี้เกิดขึ้นในชีวิต
หาธรรม ให้ช้ำคลาย
การเข้าหาธรรม ด้วยความบีบคั้นของทุกข์จากความรักนั้น เกิดจากค่านิยมของคนส่วนใหญ่ว่าถ้าเข้ามาหาธรรมแล้วใจจะสงบขึ้น มีปัญญาขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้ว ทุกข์เหล่านั้นสามารถดับลงไปเองได้แม้จะไม่ได้ทำอะไรกับมัน ตามวงจรของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่การดับเช่นนี้เป็นลักษณะทั่วไปของโลก เป็นสามัญ แต่เมื่อดับแล้วก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ เพราะเหตุยังไม่ดับนั่นเอง
คนทั่วไปมักจะใช้วิธีเปลี่ยนเรื่องเพื่อช่วยในการออกจากความทุกข์ การใช้ธรรมะก็เช่นกัน เราสามารถนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพื่อหยุดความฟุ้งซ่าน หรือถ้าแบบทั่วๆไป ก็ออกไปเที่ยว หากิจกรรมทำ หางานทำให้เรื่องมันเปลี่ยนจะได้ลืมๆความทุกข์ไป วิธีเหล่านี้จะถูกจัดอยู่ในลักษณะของ “สมถะ” คือการใช้อุบายเข้ามาบริหารจิต ให้เกิดความจางคลายจากสภาพหนึ่งๆ
การใช้ธรรมะเป็นทางเลือกก็เป็นโอกาสที่ดีที่ครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้เดินเข้ามาศึกษาธรรมะ ซึ่งก็อาจจะเป็นโอกาสที่จะได้ศึกษาหาความรู้เพื่อการหลุดพ้นอย่างแท้จริง ตามขอบเขตของผู้ที่ต้องการศึกษา หรือจะใช้ธรรมะแค่คลายทุกข์ไปวันๆก็ตามแต่จะประสงค์
หาหมอ แต่ไม่ยอมรักษา
คนที่เลือกใช้ศาสนา ใช้ธรรมะในการคลายทุกข์จากความรัก น้อยคนนักที่จะยอมรักษาให้ถึงเหตุแห่งทุกข์ โดยส่วนมากก็ขอแค่ให้ทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นคลาย พออาการดีขึ้นก็รีบหนีออกจากความดูแลของหมอ(ผู้ผ่าตัดกิเลส) ไปเสพสุขในโลกต่อ เหมือนกับคนที่รักษาโรคแบบขอไปที หรือคนที่อาบน้ำกลัวเปียก
ในกรณีที่ใจป่วยรักษายังไงก็ไม่หาย อาจเพราะไม่กินยา(ไม่ปฏิบัติตาม) ทุกข์จึงไม่หาย บางทีกินยาผิด ไม่ตรงตามที่แนะนำ หรือเข้าใจผิดก็ทำให้ทุกข์ไม่หายไปอีก หรือที่ซวยกว่านั้นคือไปหาหมอผิด เช่น ท่านเหล่านั้นไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติสู่การดับทุกข์ แต่หลงเข้าใจไปว่าตนเองนั้นสามารถดับทุกข์ได้ เป็นอาจารย์หมอขั้นนั้นขั้นนี้ แล้วก็ออกมารักษาคน หายบ้างไม่หายบ้าง แต่ที่แน่ๆคือไม่มีวันหายอย่างถาวร และทุกข์จากความรักเช่นนี้ แม้ไม่รักษามันก็จะหายไปเอง ตามธรรมชาติ อาจจะทำให้หลงเข้าใจผิดว่ามันหายไปก็ได้…แต่ถ้ารักษาผิด ไม่ทำลายถึงเหตุแห่งทุกข์สักวันมันก็จะเกิดขึ้นมาใหม่
แท้จริงแล้วการที่คนเราไม่ยอมศึกษาให้ถึงเหตุแห่งทุกข์นั้นเกิดจากความหลง มันหลงในกิเลสจนหวงกิเลส รักกิเลส เสียดายกิเลส กลัวว่าจะมีคนมาล้วงลึก มาทำลายกิเลสของตัวเอง ไม่ยอมเผยธาตุแท้ของกิเลสให้ใครเห็นแม้แต่ตัวเอง เรียกว่ารักกิเลสมากกว่ารักธรรมะ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่โดนกิเลสปั่นหัวจนหลงมัวเมา เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
หมอที่ตาดีบางท่านเขาก็สังเกตเห็นอาการกิเลสกันได้ตามบารมีที่สะสมมา แต่การจะไปทัก หรือจะเข้าไปรักษานั้น มันก็ขึ้นอยู่กับคนไข้ว่าเขาอยากจะให้รักษาไหม เขาอยากให้แนะนำไหม เขายังหวงกิเลส เขายังผลักไสธรรมะอยู่ไหม ถ้ายัง…ก็ต้องปล่อยเขาไปก่อน ไว้วันใดวันหนึ่ง ชาติใดชาติหนึ่งเขาเห็นทุกข์จนอยากทำลายเหตุแห่งทุกข์นั้นแล้วค่อยมาว่ากัน
ช้ำรัก แต่ไม่หยุดรัก
พอไม่ได้แก้ปัญหาที่เหตุ ไปแก้ที่ผล ไปดับทุกข์กันแต่ที่ผล พอความทุกข์นั้นจางลงไป แต่ความใคร่อยากไม่ได้ลด กิเลสไม่ได้ลดลง สุดท้ายก็จะเวียนกลับไปหาเหาใส่หัว ไปสร้างเหตุแห่งทุกข์ให้ตัวเองเพิ่ม ซึ่งมันจะไม่ทุกข์เท่าเดิม มันจะค่อยๆเพิ่มมากกว่าเดิมขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเหตุจากความหลงที่เพิ่มขึ้น วิบากบาปก็มากตามที่หลงติดหลงยึดไปด้วย ติดนานเท่าไหร่ก็สะสมไปเท่านั้นและสุดท้ายก็ต้องชดใช้เท่าที่ทำมาไม่ขาดไม่เกิน
นี่คือความเป็นโลก ความวนเวียนอยู่ในโลก เป็นโลกียะ เป็นวิถีของผู้หลงผิด ที่มัวเมาในสุขลวง หลงว่าสิ่งที่เป็นทุกข์เหล่านั้นว่าเป็นความสุขจริงๆ เขาจึงวิ่งเข้าใส่ความทุกข์ด้วยความยินดี เปรียบเหมือนกับคนที่วิ่งเข้าไปในกองไฟแล้วรู้สึกว่ามีความสุขและเข้าใจว่า “ชีวิตมันก็ต้องสุขๆ ทุกข์ๆ เช่นนี้แหละ” นั่นหมายถึงเขาก็จะต้องวนเวียนไปเช่นนี้ชั่วกัปชั่วกัลป์ เพราะเขายินดีในสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง
ดังนั้นการไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือความวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ เสียแรง เสียทรัพย์ เสียเวลา เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ตัวเองก็ทุกข์แล้วไม่ยอมแก้เหตุแห่งทุกข์ ยังต้องไปเบียดเบียนคนอื่นเพื่อหาทางคลายทุกข์ นั่นหมายถึงว่า การไม่พยายามศึกษาและปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ คือการเบียดเบียนที่แท้จริง เป็นการใช้ชีวิตไปในทางที่ผิด เป็นทางไปสู่นรก เป็นไปเพื่อความฉิบหาย เป็นไปเพื่อความทุกข์ชั่วกัลปาวสาน
– – – – – – – – – – – – – – –
30.9.2558