การปฏิบัติธรรม

ความสงบ เกิดจากจิตที่สงบจากกิเลส

November 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,299 views 0

ความสงบในความหมายของศาสนาพุทธ ไม่ใช่ความสงบภายนอกที่เอาแต่แสวงหาที่สงบเงียบ เช่นไปวัดแล้วสงบ เข้าป่าแล้วสงบ

แต่เกิดจากการทำใจในใจให้สงบ สงัดต่อกิเลส ทำลายความแส่หา(ตัณหา) และความยึดมั่นถือมั่น(อุปาทาน) ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสังคมเมืองหรือในป่าหรืออยู่ที่ใดก็ตาม ก็จะไม่มีเหตุปัจจัยใดๆที่จะมาเคลื่อนจิตที่สงบของผู้ฝึกดีแล้วให้เคลื่อนออกจากความสงบนั้นได้เลย

ผิดกับผู้ที่แสวงหาความสงบภายนอก เขามักจะใช้ความสงบจากสิ่งแวดล้อมภายนอกทำให้จิตใจนั้นสงบ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของโลกที่การปลีกวิเวก ไม่เจอคน ไม่กระทบใคร ไม่มีผัสสะ แล้วจะเกิดความสงบ

แต่การแสวงหาของสงบของพุทธไม่ได้เหมือนกับการหนีสังคมออกไปหาความสงบ แต่ปฏิบัติอยู่กับ “ผัสสะ” อยู่ในโลกในสังคมที่มีการกระทบกระทั่งกัน เพื่อทำลายความอยากและความยึด

เพราะเป้าหมายของศาสนาพุทธนั้นไม่ใช่การไขว่คว้าหาที่สงบ หรือทำความสงบเป็นช่วงๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ยั่งยืน พระพุทธเจ้าท่านสอนให้กำจัดเหตุแห่งความไม่สงบก็คือกิเลส

ซึ่งการจะเห็นกิเลสของตนได้ก็ต้องเข้ามาอยู่ในสังคม ปะทะกับอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตา ให้เห็นกันชัดๆว่าติดอะไร อะไรที่มันสกปรกก็เช็ดตรงนั้นให้สะอาด ไม่ใช่ไปเข้าป่าเข้าถ้ำไม่เจออะไร สงบ ดิ่ง เงียบ จมลงลึกไปแล้วก็หลงเข้าใจว่านั่นคือสงบของพุทธ

ไปแสวงหาความสงบนอกกาย หลีกเลี่ยงการกระทบกับโลกและสังคมแล้วกิเลสมันจะแสดงตัวได้อย่างไร มันก็ซ่อนตัวอยู่ในจิตนั่นแหละ มันจะออกมาก็ต่อเมื่อมี “ผัสสะ” เท่านั้น ดังนั้นการปฏิบัติแสวงหาความสงบที่ไม่มีผัสสะจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะได้สัมผัสความสงบที่แท้จริง อย่างเก่งก็สงบเป็นช่วงๆตามกำลังของจิตที่ได้ฝึกมา แต่จะให้สงบแบบถาวรก็จะเป็นไปไม่ได้ เพราะปฏิบัติผิดทาง

ชี้กันให้ชัดอีกครั้งว่าความสงบของพุทธนั้นเกิดจากการสงบจากกิเลสเป็นหลัก ไม่ใช่การหาความสงบโดยสิ่งแวดล้อมภายนอก

ไตรสิกขา มันไม่ได้ปฏิบัติแบบนั้น!

November 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,212 views 0

ไม่ใช่ว่ารับศีลรับพร ถือศีล แล้วไปนั่งสมาธิกำหนดจิต แล้วหวังว่าจะเกิดปัญญาเองขึ้นมา อันนั้นมันไม่ใช่ไตรสิกขาของพุทธ เป็นอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน ไปปฏิบัติแยก ศีล สมาธิ ปัญญาออกจากกันมันจะเจริญได้อย่างไร

ศึกษากันดีๆเถอะ ถ้ายิ่งทำยิ่งทุกข์นี่ยิ่งผิดทางแล้ว ทิศที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีแนวทางกำกับไว้แล้วคือ

1.เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด
2.เป็นไปเพื่อความพราก
3.เป็นไปเพื่อความไม่สะสม
4.เป็นไปเพื่อความมักน้อยกล้าจน
5.เป็นไปเพื่อความสันโดษใจพอ
6.เป็นไปเพื่อความสงัดจากกิเลส
7.เป็นไปเพื่อปรารภความเพียรยอดขยัน
8.เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย
(หลักตัดสินธรรมวินัย ๘ เล่ม ๒๓ สังขิตตสูตร ข้อ ๑๔๓)

ไม่ใช่ว่าปฏิบัติไปในแนวทาง 8 ข้อนี้แล้วจะทุกข์มากขึ้นนะ ถ้าผิดก็ยิ่งทุกข์ แต่ถ้าถูกก็จะพ้นทุกข์โดยลำดับแล้วสามารถขยับฐานขึ้นไปให้ยิ่งขึ้นได้โดยไม่ลำบาก

ถึงจะปฏิบัติไปแล้วจะรู้สึกทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น แต่ถ้าไม่เข้าหลักนี้ก็ให้พิจารณาตัวเองดีๆ เพราะมันมีมิจฉาทิฏฐิที่เห็นว่าสุขในกามคือนิพพานเหมือนกัน

ไตรสิกขา

ไตรสิกขา

ปฏิบัติธรรมที่ไหนดี?

November 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,135 views 0

ปฏิบัติที่กิเลสสิดี
ถ้าไม่เอาธรรมะไปปฏิบัติต่อกิเลส
แล้วจะปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร?

กิเลสมีตรงไหนก็ปฏิบัติตรงนั้น
มีกิเลสเรื่องไหนก็ปฏิบัติเรื่องนั้น
ให้มันถูกตัวถูกตนของกิเลส

ปฏิบัติธรรมไม่เห็นตัวตนของกิเลส
ก็เหมือนคนตาบอดถือปืนเดินเข้าป่าหมายจะล่าสัตว์
ได้ยินเสียงอะไรขยับก็ยิงออกไป
ในทิศทางที่เดาเอาเองว่าใช่
พอเสียงนั้นเงียบไป จึงเข้าใจว่าสัตว์นั้นตาย
ก็หลงดีใจว่าเรานี่เป็นผู้ล่า เราชนะสัตว์นั้นแล้ว

แต่สัตว์นั้นคืออะไรไม่รู้…
ยิงไปทางไหนก็ไม่รู้…
แล้วกำลังอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้…
ว่าแล้วก็หลงป่าไปในที่สุด….

กิเลสจะถูกเห็นได้ก็ต่อเมื่อมีศีล
และจะชัดยิ่งขึ้นเมื่อเพิ่มอธิศีล
หากคนไม่มีอธิศีล สักแต่ว่าถือศีล
ก็จะเสื่อมจากความเจริญในที่สุด

การปฏิบัติธรรมที่ไม่มีศีล
ย่อมไม่มีมรรคผลใดๆเกิดขึ้น
เหมือนนักปฏิบัติธรรมตาบอด
แต่หมายจะไล่ล่าทำลายกิเลส
ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้เลย
แม้แต่จะจินตนาการ…

ปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน

November 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 959 views 0

สัญญาของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ จะเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมนั้นต้องนั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง ไปวัดบ้าง

แม้จะเป็นความเห็นที่เอ่ยเอ้งว่า “ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” ก็กลายเป็นการประยุกต์การนั่งสมาธิ การเดินจงกรมเข้ามาใช้อีก

ซึ่งมันแคบมากเมื่อเทียบกับองค์ประกอบทั้งหมดของมรรค ๘ และที่สำคัญ มันจะมีน้ำหนักไปทางลัทธิฤๅษีเสียด้วยซ้ำ

ซึ่งสัมมาอริยมรรคนั้นมีองค์ประกอบของการ คิด พูด ทำ ที่ถูกต้องอยู่ในปัจจุบัน

….แต่กลับไปปฏิบัติหยุดคิด ปิดวาจา นั่งนิ่งๆไม่ทำอะไร มันก็ผิดทางมรรคสิ ทำแบบนั้นมันก็สงบได้จริง แต่มันสงบแบบสมถะ ซึ่งเป็นทางของฤๅษีทั่วๆไปนั่นแหละ อย่างเก่งก็กดข่มเป็นฤๅษีสุดสงบ ไม่เสพกาม น่าศรัทธา ซึ่งมันก็มีรูปที่มองผ่านๆแล้วน่าเคารพอยู่ แต่มันผิดพุทธเท่านั้นเอง

ยิ่งถ้านักบวชไปเห็นผิด เอาความสงบแบบสมถะมาเป็นมรรคเป็นผลนี่ยิ่งแล้วใหญ่เลย กลายเป็นฤๅษีในผ้าเหลืองนั่นแหละ

ถ้าเริ่มต้นด้วยมิจฉามรรค ก็จะได้ผลเป็นมิจฉาผลตามกันด้วย เหตุแห่งความเสื่อมนั้นเกิดจากการไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่ศึกษาในอธิศีล แล้วดันไปยึดมั่นถือมั่นในมิจฉาทิฏฐิ

…ปิดประตูไปอีกชาติ