Dinh (Author's Website)
ทำไมเธอไม่เลิกทำบาป ทำไมเธอไม่ทำดีทำไมเธอไม่ปล่อยวาง
ทำไมเธอไม่เลิกทำบาป ทำไมเธอไม่ทำดี ทำไมเธอไม่ปล่อยวาง
หลายครั้งในชีวิต เราคงจะเคยสงสัย ว่าทำไมพวกเขาเหล่านั้นจึงไม่เลิกทำบาป ไม่หาอะไรดีๆในชีวิตทำ ไม่อยู่กับปัจจุบัน จมอยู่แต่ในอดีตและวาดฝันล่องลอยไปแต่ในอนาคต และเคยสงสัยไหมว่า ในหลายๆครั้งไม่ว่าเราจะทำอย่างไร จะพูดอย่างไร จะแนะนำอย่างไร ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เขาก็ยังคงทำบาปเหมือนเดิม ยังใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ยังเศร้าหมองอยู่เหมือนเดิม….นอกจากจะไม่ดีขึ้นแล้วยังอาจจะแย่ลง และอาจจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ผิดใจกันเข้าไปอีก
….ปัญหา
เรามักจะรู้สึกขัดอกขัดใจเมื่อเจอกับคนหรือเหตุการณ์เหล่านี้…
นักโทษที่ต้องโทษจำคุกอยู่นาน เมื่อพ้นโทษมาแล้ว แต่ก็ยังมาก่อคดีอยู่อีก ,นักการเมืองที่มีประวัติโกงแม้ว่าจะโดนจับได้แล้ว แต่ก็ยังจะหาทางโกงอยู่อีก , คนที่รู้ว่าฆ่าสัตว์ผิดศีล ไม่ดีเป็นบาป แต่ก็ยังตบยุงอยู่อีก , คนที่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขอโทษขอโพยกันไปแล้ว บอกว่าจะแก้ไข แต่ก็ยังทำผิดอยู่อีก ,คนที่รู้ว่าการกินเหล้าเสพสิ่งเสพติดของมึนเมา นั้นเป็นบาป แต่ก็ยังกินอยู่อีก ,คนที่มัวเมายึดมั่นถือมั่นอยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบจนเริ่มสะสมทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียในชีวิตของตนเอง แต่ก็ยังหลงมัวเมาอยู่อีก …ฯลฯ
หรือการที่ใครสักคนหนึ่งใช้ชีวิตไปวันๆ อยู่ไปวันๆ ไม่ทำอะไรให้ชีวิตมันดีขึ้น เขาไม่ทำเรื่องชั่วหนักๆแล้วนะ แต่เราก็ยังเห็นว่ามันไม่ดี เราก็อยากให้เขาลุกขึ้นมาทำชีวิตของตัวเองให้ดี เช่น ขยันเรียนเพิ่ม,หาความรู้ในการทำงานเพิ่ม,ออกกำลังกายรักษาสุขภาพ,หากิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือสังคม ทำบุญบริจาคทรัพย์ แบ่งปันแรงงาน ฯลฯ
หรือแม้แต่การที่ใครสักคนจะใช้ชีวิตไปอย่างไร้จุดหมาย เศร้าโศกเสียใจกับอดีตที่ผ่านมา เศร้าหมองจากการสูญเสียสิ่งสำคัญ จมอยู่กับทุกข์ อยู่กับอดีต ซึมเศร้าเหงาหงอย
…แล้วจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร
….การที่เรารู้สึกหงุดหงิดใจ ว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงไม่ปรับปรุงตัวไปในทางที่ดี นั่นแหละคือเรามีอาการ “ติดดี” อาการติดดี ยึดดี ถือดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข พอไม่เกิดดีตามที่ใจคิดก็จะเป็นทุกข์ ซึ่งในขณะที่เราติดดียึดดี เราก็มักจะไปคาดหวัง ไปแนะนำ ไปบีบคั้น ไปหาสารพัดวิธีมาให้เขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราต้องการ พอเขาไม่เปลี่ยนหรือทำไม่ได้อย่างใจเรา เราก็ทุกข์ ร้อนใจ หงุดหงิด สุดท้ายก็กลายเป็นเราเองที่ไม่ปล่อยวาง
บางทีเราเห็นทางแก้นะ แล้วพยายามจะไปฝืนกิเลส พยายามจะไปล้วงกิเลส จะไปชี้ขุมทรัพย์ให้เขาเห็นว่าการที่เขาทุกข์ สับสน เศร้าหมอง ยังทำบาป ไม่ทำดีอยู่นั้น เป็นเพราะเขาอาจจะยึดติดในสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่พอเราไปพูดแบบนี้เขาอาจจะไม่พอใจเราก็ได้ เพราะพลังกิเลสเขามากกว่าพลังความดีของเรา
สิ่งที่เราพูดเป็นสิ่งดีนะ เขาก็ยอมรับและเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งดี แต่เขาไม่เอา ไม่ทำ ไม่ต้องมาบอก ไม่ต้องมาสอน อยากจะทำก็ทำไป ฉันไม่ทำก็เรื่องของฉันฉันยินดีจะเสพกิเลสนี้ต่อไป ยินดีที่จะทำชั่ว ยินดีที่จะไม่ทำดี ยินดีที่มัวเมาเศร้าหมองต่อไป ฉันมีความสุขในแบบของฉันปล่อยฉันเป็นในแบบของฉัน อยากสอนก็ไปสอนคนอื่น…ทีนี้ถ้าเราปล่อยวางความติดดียึดดีถือดีไม่ทันละก็ มีโอกาสได้ผิดใจกันอย่างแน่นอน เพราะยิ่งเขาถอย เราก็จะยิ่งยัดยาแรงมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสกระทบกระทั่งกันด้วยความยึดมั่นถือมั่นของแต่ละฝ่ายมากขึ้น
ดูสิว่ากิเลสมันรุนแรงได้ขนาดนี้ มีพลังขนาดสะท้อนพลังดี สะท้อนพลังบุญที่จะพาลดกิเลส ถ้าจิตใจของเขาเต็มไปด้วยกิเลสแบบนี้ ต่อให้อีกกี่สิบผู้วิเศษมาบอก มาสอน มาแนะนำ ก็เอาไม่อยู่หรอก จะยัดให้ตายก็ยัดไม่เข้า ดีแค่ไหนเขาก็ไม่เอา ก็เขามีกิเลสอยู่เต็มหัวใจแล้วยังจะมีที่ว่างตรงไหนให้บุญเข้าไปแทรก
ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องยอมปล่อยวาง ปล่อยให้เขาทำบาปทำชั่ว หรือใช้ชีวิตไปวันๆ ซึมเซาหม่นหมองไปเรื่อยๆ ยอมปล่อยเขาไป แม้ว่าทางที่เขาไปจะเป็นนรกก็ตาม วันใดที่เขาทุกข์เกินทน เมื่อเขาสะสมความชั่วที่เขาทำจนสุกงอม วิบากบาปจะส่งผลให้เขาได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัส
เหมือนดังพระเทวทัตปองร้ายพระพุทธเจ้า หาวิธีทำร้ายทำลายพระพุทธเจ้าสารพัด แต่สุดท้ายตัวเองโดนธรณีสูบจนร่างแหลก เจ็บปวดทรมานจนกระทั่งสำนึกบาปของตน จึงตั้งจิตขอเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าท่านได้พยากรณ์ว่า หลังจากที่พระเทวทัตต้องรับกรรมทุกข์ทรมานในนรกชั่วกัปชั่วกัลป์พระเทวทัตจะทำดีบำเพ็ญเพียรจนได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ใดองหนึ่งในอนาคต …เห็นไหมว่าขนาดคนที่ชั่วสุดชั่วอย่างพระเทวทัต สุดท้ายก็จะเปลี่ยนมาเป็นคนดี ดีขนาดพระปัจเจกพุทธเจ้าเชียวนะ แต่ก็ต้องทนรับใช้กรรมไปก่อน อีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ที่กว่าจะหมดวิบาก
เมื่อเราทำชั่วที่สุด เดี๋ยวก็ต้องกลับมาทำดีอยู่ดีนั่นแหละ เหมือนเดินไปเจอทางตันสุดท้ายมันก็ต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้นกันใหม่ เดินผิดทางเดินถูกทางไปเรื่อยๆ เมื่อทำดีไปเรื่อยๆชาติใดชาติหนึ่งก็จะเจอวิธีพ้นทุกข์ เลิกทำบาป ทำแต่ความดี ทำจิตใจปล่อยวางความเศร้าหมองได้ บรรลุธรรมกันได้สักชาติหนึ่งละนะ
คนที่เราคาดหวังว่าจะช่วยเขาหรือหวังจะให้เขาดีขึ้นก็เช่นกัน ถึงแม้เราจะไม่สามารถช่วยได้ วันใดวันหนึ่งเขาก็จะทำทุกข์ไปเรื่อยๆจนได้รับวิบากกรรม เขาก็จะเข้าใจได้เองว่าสิ่งที่เขาทำมันบาปมันไม่ดี ถึงแม้จะสำนึกในชาตินี้ไม่ได้ ก็อาจจะไปสำนึกในชาติหน้าก็ได้ เพราะบุญบาป วิบากกรรมมันก็ตามติดตัวเป็นสมบัติของเขาไปนั่นแหละ วันใดวันหนึ่งเขาก็ต้องบรรลุธรรมแน่นอน
ส่วนเรานั้น เมื่อได้ทำหน้าที่มิตรที่ดี คอยแนะนำ ช่วยแก้ปัญหาเท่าที่จะทำได้แล้ว ถึงแม้เขาจะไม่ทำตามที่เราหมาย ก็ให้ปล่อยวางเสีย คือให้ทำดีแล้ววางดีตรงนั้นเลย ทำดีเสร็จก็จบไป จะเกิดสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะการจะเกิดสิ่งดีหรือเขาสามารถฟังเราจนแก้ปัญหาได้นั้น เกิดจากหลายปัจจัย คือบุญบาปของเรา บุญบาปของเขา สังเคราะห์กันให้เกิดผล ซึ่งอาจจะเป็นดี ร้าย หรือไม่เกิดอะไรเลยก็ได้วันหนึ่งถ้าเขาเข้าใจที่เราบอก เราก็ค่อยแนะนำเขาอีกทีก็ได้
…คนบาปคนหลงมัวเมาเป็นเรื่องธรรมดา
การที่คนจะเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั้น ในยุคนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเป็นยุคที่เต็มไปด้วยการส่งเสริมกิเลส เรามีการทำการตลาดเป็นกิจกรรมส่งเสริมกิเลส ทำให้คนอยากมี ทำให้คนอยากได้ ทำให้คนไม่รู้ดีรู้ชั่ว เช่น เราเริ่มนุ่งน้อยห่มน้อย เริ่มจะไม่สงวนร่างกายเพราะเราหลงไปว่าดี เข้าใจไปว่าการอวดเนื้อหนังเป็นสิ่งดี คนส่วนใหญ่ก็หลงตามไปด้วยนะว่าดี แท้จริงแล้วนั่นเป็นบาป เป็นอกุศล เป็นทุกข์แท้ๆเลยทีเดียว
ทุกวันนี้เราเองก็ยังแทบจะแยกไม่ออกว่าสิ่งใดที่ชั่วหรือดีแท้ต่อชีวิตเรา บางครั้งสิ่งที่เขาว่าดี แต่ทำไมพอเราเอามาใช้ เอามาเสพกลับเกิดทุกข์ โชคดีที่เรายังมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบว่าสิ่งใดดีสิ่งใดชั่ว โดยใช้ธรรมะหรือศีลของพระพุทธเจ้าเป็นหลักยึด
….ลองเป็นคนบาปดูบ้างไหม
ตอนที่เห็นคนอื่นทำบาป ไม่ทำดี หลงมัวเมา เป็นทุกข์ เราก็มักจะเห็นได้ง่าย แนะนำได้ง่าย แต่พอมาเป็นที่ตัวเราเองเรากลับแก้ไม่ได้ เช่น ให้เราถือศีล ๕ เราก็ทำแทบไม่ได้แล้ว ถามว่าศีลดีไหม ก็ดี แต่ทำไม่ได้ นี่แหละคือพลังกิเลสที่มาต้านไว้ คนที่เขาสู้กิเลสไม่ได้ก็แบบนี้แหละ ไม่ว่าจะพยายามยังไงมันก็จะไม่อยากสู้ จะไปเสพท่าเดียว ไม่คิดด้วยว่ากิเลสคือความทุกข์ เข้าใจว่าการได้เสพสมใจคือความสุข กอดกิเลสไว้อย่างนั้นยึดกิเลสเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ยึดเป็นตัวเป็นตน
ถ้าเรายังรู้สึกว่าเราเก่ง แล้วคนอื่นต้องทำได้อย่างเรา ก็ลองไปหาคนที่เก่งกว่า หรือลองถือศีลที่ยากขึ้น เช่น ศีล ๘ ศีล๑๐,กินมังสวิรัติ กินจืด กินมื้อเดียว ไม่แต่งตัวไม่แต่งหน้า แล้วเราก็จะรู้ว่าจริงๆแล้วเราก็ไม่ใช่คนดีสักเท่าไหร่หรอก เรายังมีกิเลสอีกมาก แค่เรามองไม่เห็นตัวเองเท่านั้นเอง เรามัวแต่เอาตาไปมองคนอื่น ไม่เคยมองตัวเอง ทั้งๆที่ควรจะแก้กิเลสของตัวเองก่อนแล้วค่อยไปแก้คนอื่น งานตัวเองยังไม่เสร็จเลย ชอบรีบไปวิจารณ์งานคนอื่น
บาปคือการสั่งสมกิเลส ศีลเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นกิเลสที่เหลืออยู่ได้ชัดเจน ตราบใดที่เราถือศีลแล้วยังทุกข์จากการถือศีล นั่นแหละคือเรามีกิเลส มีบาป
….เมื่อเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้ว
ทุกคนอยากทำดี อยากเป็นคนดี อยากเป็นที่รักของคนอื่น ไม่มีใครที่อยากทำบาป อยากเศร้า อยากหลง อยากมัวเมา เพียงแค่เขาไม่รู้ว่ามันเป็นบาป และถึงเขาเหล่านั้นจะรู้ว่ามันไม่ดี ก็ไม่สามารถที่จะหยุดความอยากนั้นไว้ได้ เพราะแรงแห่งกิเลสนั้นมักจะมีพลังรุนแรงกว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่เสมอ จะบอกว่าการไม่ทำบาปดีไหม หลายคนก็ตอบว่าดี เรารู้กันทุกคน แต่ทำกันไม่ได้ มันฝืนใจ มันทรมาน ไปเสพกิเลสแล้วมีความสุขมากกว่า ใครจะอยากมาอดทนฝืนทวนกระแสกิเลส มาล้างกิเลสกันล่ะ
ทุกวันนี้เราอยู่กับสังคมและโลกในยุคมอมเมากิเลส แม้ว่าเราจะทำบุญทำทาน แต่ก็ยังไม่รู้ตัวว่าทุกวันนี้เราได้สะสมกิเลสเข้าไปทุกวัน เราอยากกินของอร่อยมากกว่าเดิมใช่ไหม , เราแต่งหน้าจัดแต่งตัวโป๊กว่าเดิมใช่ไหม , เราใช้เงินเก่งกว่าเดิมใช่ไหม ,เราอยากได้อยากมีมากขึ้นใช่ไหม, เรามีความอดทนน้อยลงใช่ไหม , เราโกรธกันง่ายขึ้นใช่ไหม , เราให้อภัยกันน้อยลงใช่ไหม นี่แหละพลังแห่งการร่วมกันสั่งสมกิเลสบนโลกใบนี้ ทุกคนต่างช่วยกันเสพ ช่วยกันเติมกิเลสให้แก่กันและกันอย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น
เรื่องกิเลสไม่ดีทุกคนก็รู้ แต่ปัญหาคือไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน ไม่มีใครพาล้าง พาฆ่า พาทำลายกิเลส เรื่องการชำระกิเลสเหล่านี้ต้องให้ผู้ที่ทำเป็นสอนเท่านั้น จะคิดเอาเอง นึกเอาเอง มั่วเอาเองไม่ได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า การที่เราจะบรรลุธรรมหรือล้างกิเลสได้ เราต้องพบกับสัตบุรุษ คือคนผู้มีสัจจะแท้ มีธรรมที่สวนกระแสโลก มีโลกุตตรธรรมอยู่จริง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสอนได้ ไม่ได้หมายความว่าแค่บวชเป็นพระจะสอนได้ ไม่ได้หมายความว่าเข้าใจธรรมะปฏิบัติธรรมแล้วจะสอนได้ แต่ต้องเป็นคนที่ล้างกิเลสเป็นจึงจะสอนได้
วิธีที่จะพบสัตบุรุษนั้นไม่จำเป็นต้องไปค้นหา ไม่ต้องไปตรวจค้นสืบค้นจากที่ไหน เพราะถึงจะหาแทบพลิกแผ่นดินยังไงก็จะหาไม่เจอ แต่ที่ต้องทำคือทำดีไปมากๆ อดทนทำดีไปอย่างตั้งมั่น ทำบุญทำทาน ทำงานอย่างเต็มที่ ทำหน้าที่อย่างเต็มใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติศีลให้เคร่งครัด แต่ไม่เครียดจนทรมาน ลดการเบียดเบียน ลดเนื้อกินผัก หาทางทำดีไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็จะได้พบเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
21.9.2557
ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด
ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด
ตั้งชื่อเปรียบเปรยกันไป ประมาณว่าในเมื่อฉันยังไม่ทุกข์ ฉันก็ยังไม่ต้องศึกษาและปฏิบัติธรรม ไม่ต้องเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ต้องมีครูบาอาจารย์ เอาไว้ฉันแก่ ฉันทุกข์ ฉันตาย ฉันค่อยไปวัดก็ได้
ในบทความนี้จะขยายถึงเรื่องของอัตตา เมื่อเราเห็นว่าคนที่เข้าวัดทำบุญนั้นไม่ได้ทำให้จิตใจดีขึ้น ไม่ได้ทำให้ชีวิตเจริญขึ้น และแม้จะดีขึ้นก็ไม่ได้ดีในระดับที่มีนัยสำคัญให้เราสนใจอะไร จนกระทั่งเราเสื่อมศรัทธาในการทำบุญ การไปวัด การไปพบครูบาอาจารย์
ในโลกนี้ประกอบด้วยคนมีทุกข์และคนไม่มีทุกข์ เปรียบเสมือนคนป่วยทางจิตใจกับคนจิตใจปกติ สำหรับคนที่ไม่ป่วยหรือจิตใจปกติจะขอยกไว้ แต่จะกล่าวถึงคนที่มีอาการป่วยทางจิตใจ ซึ่งก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันโดยจะยกตัวอย่างเป็นลักษณะของคนป่วย 5 ประเภทดังนี้
1.คนป่วย
ในสังคมเรานั้น ถ้าพูดถึงคนที่เข้าวัดทำบุญทำทาน ก็คงจะเป็นคนส่วนน้อย โดยมักจะเป็นคนแก่ แม้บ้าน คนโสด หรือเป็นคนที่มีทุกข์ ตกงาน อกหัก โดนทอดทิ้ง ครอบครัวแตกแยก ชีวิตพัง ฯลฯ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านี้ พวกเขาจึงได้มองหาที่พึ่งพิงทางใจ เพราะเขาเหล่านั้นเริ่มจะรู้สึกแล้วว่า เขาไม่สามารถพึ่งพาจิตใจตนเองได้อีกต่อไป ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ดี เมื่อเรามีปัญหาที่แก้ไม่ตก เราก็ควรจะให้โอกาสกับตัวเอง โดยการให้โอกาสผู้อื่นได้ยื่นมือเข้ามาช่วยแก้บ้าง
การที่เขาเหล่านั้นหาที่พึ่งทางจิตใจไม่ได้หมายความว่าเขาอ่อนแอเสมอไป แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เขามีอัตตาลดลง เขามีความยึดมั่นถือมั่นลดลง อาจจะเกิดจากสิ่งที่พวกเขาเคยเชื่อและมั่นใจมาทั้งชีวิตถูกทำให้พังทลายลง สิ่งที่พอจะเหลือไว้ให้คิดถึงสำหรับคนไทยอย่างเราก็คือพระรัตนตรัย ที่พอให้เขายึดเหนี่ยวและเป็นหลักให้พึ่งพิงไว้ได้
2.คนป่วยที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วย
ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่เข้าวัดทำบุญ อาจจะไม่รู้สึกก็ได้ว่าตัวเองนั้นก็มีปัญหาทางจิตใจ ไม่รู้สึกว่าตนนั้นเป็นคนอ่อนแอ ไม่รู้ว่าตนนั้นเป็นคนป่วยอยู่เช่นกัน เมื่อยังไม่มีทุกข์หนักมากพอที่จะทำให้เขาเหล่านั้นตระหนักถึงเรื่องกรรมและผลของกรรม และวิบากกรรมชั่วที่เคยทำนั้นยังไม่มาถึง เขาเหล่านั้นจึงใช้ชีวิตอย่างประมาท เข้าใจว่าเรื่องธรรมะเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนแก่ เป็นเรื่องของคนทุกข์ และในเมื่อเขายังไม่รู้สึกทุกข์ เขาก็ไม่จำเป็นต้องเข้าหาธรรมะขนาดนั้นก็ได้
ความคิดเหล่านี้คืออัตตาก้อนใหญ่ คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง แทนที่จะยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เขากลับยึดเอาอัตตา คือยึดเอาความคิดตัวเองนี่แหละเป็นที่พึ่ง จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่ถึงเวลาอันสมควรกรรมจะพาให้เขาได้พบกับทุกข์ที่มากพอที่จะกระตุ้นให้เขาได้รู้สึกเข็ดขยาดกับการสะสมบาป ทำลายทุกอย่างที่เขาเชื่อมั่นลงราบเป็นหน้ากลอง จนสุดท้ายก็กลายเป็นเหมือนคนทุกข์ที่แสวงหาทางพ้นทุกข์จนไปพึ่งพาที่วัดนั่นแหละ
เขาเหล่านี้มักมีความคิดเห็นว่า ตัวเองก็ไม่ได้ชั่วมาก และก็ไม่ได้ดีมาก เข้าใจว่าเป็นกลางๆ จึงใช้ชีวิตทำดี ทำชั่วปนกันไปสลับไปมา 3 วันดี 4 วันไข้ รับสุขรับทุกข์แบบนี้เรื่อยไป และเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเหมือนคนป่วยที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ทั้งที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะทำดีทุกวันได้ เป็นการทำดีที่สอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน สอดแทรกเข้าไปในความเห็นความเข้าใจ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าวัดทำบุญทุกวันอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ
แต่ด้วยอัตตาที่เขาเหล่านั้นมี คือมีความรู้สึกว่าเข้าวัดทำบุญก็ไม่ได้เป็นคนดีขึ้น และชีวิตที่ใช้อยู่นั้นก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น จึงทำให้เสียโอกาสในการได้รับการรักษาเยียวยาทางจิตใจไปอย่างน่าเสียดาย
3.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองมียาดี
เป็นคนที่มีทุกข์มีสุขปะปนกันไปในชีวิตเหมือนกับคนป่วยที่คิดว่าตัวเองไม่ป่วย แต่เขาเหล่านี้รู้ตัวว่ามียาดี คือมีครูบาอาจารย์ มีพระดี มีวัดดี มีคนดีคอยแนะนำอยู่ จึงมีความประมาทในชีวิต เมื่อไม่คิดว่าธรรมะนั้นเป็นเรื่องสำคัญ รอไว้ให้ทุกข์ รอไว้ให้แก่ จึงค่อยเข้าวัด จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมได้มาถึง ทุกข์มากมายได้โถมกระหน่ำเข้ามา ยาดีที่มีอยู่ ก็อาจจะหมดอายุ ครูบาอาจารย์ลาโลกนี้ไปหมดแล้ว แถมบางทียาดีที่คิดว่ามีอยู่ กลับกลายเป็นยาปลอมอีก ธรรมที่เคยศึกษามาทั้งชีวิตกลับเป็นธรรมะปลอมๆ ที่พาสะสม พาให้เสพกิเลส พาให้กลัว กังวล หลงในเรื่องโลก เป็นต้น
แม้จะมียาดี มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงอยู่ใกล้ แต่เมื่อทุกข์ เมื่อวิบากมาถึง อาจจะใช้ยานั้นไม่ทันก็ได้ เพราะธรรมไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ การบรรลุธรรมแบบชั่วพริบตานั้นไม่มีทางเกิดได้ หากไม่เคยทำเหตุมา นั่นหมายถึงถ้าไม่เคยปฏิบัติมาจนบรรลุเรื่องนั้นๆมาในชาติก่อนภพก่อนแล้ว ก็ไม่มีวันที่จะเข้าใจได้ในวันสองวันในชาตินี้หรอก
พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ธรรมวินัยนี้เหมือนทะเล ลาด ลุ่ม ลึก ไปตามลำดับ ไม่ลาดชันเหมือนเหว คือต้องปฏิบัติไปเรื่อยๆ จากหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่อยู่ๆ จะกระโดดจากหยาบไปละเอียดได้เช่นบางคนปฏิบัติธรรมได้นิดเดียวก็จะไปนิพพานเลย กลายเป็นเอาหลังมาหน้า เอาหน้ามาหลัง กลับหัวกลับหาง ไม่เป็นไปตามลำดับ รีบเร่ง โลภ ขี้เกียจ มักง่าย สุดท้ายก็หลงทางกันไป หนักเข้าก็หลงว่าบรรลุธรรมกันไปเลยก็มี
ยังมีคนอีกพวกที่ถือยาผิด เขาเหล่านั้นเข้าใจว่าตัวเองเข้าใจแก่นของพุทธ จึงไม่สนใจการทำบุญ ปฏิบัติธรรม พบปะครูบาอาจารย์ ฟังสัจธรรม คิดแค่ทำตัวเองให้ดีก็พอแล้ว นั่นคือความหลงผิดอย่างยิ่ง เพราะว่าแก่นของพุทธนั้นคือวิมุตติ คือสภาพที่หลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะนึกเอา คาดคะเนเอา ไม่ใช่แค่การทำดี ไม่ทำชั่ว แต่เป็นเรื่องของการดับกิเลส
พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าธรรมวินัยนี้ ลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ดังนั้นการจะบอกว่ารู้แก่น เข้าใจแก่นของพุทธโดยไม่ได้ปฏิบัติจนถึงผลนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
4.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองหายป่วย
คนอีกประเภทคือคนที่คิดว่าตนเองนั้นได้เจอหมอ ได้ยาดี ได้รับการเยียวยาทางจิตใจดีแล้ว ได้รับการอบรมสั่งสอนดีแล้ว หายป่วยแล้ว เมื่อกลับเข้ามาในสังคม ก็จะมีอาการติดดี ยึดดี ถือดี ยึดมั่นถือมั่นว่าทางที่ฉันเดินนั้นดี เราสามารถพบเจอคนเหล่านี้ได้ในหมู่นักปฏิบัติธรรมที่ช่ำชองการปฏิบัติธรรม เขาสามารถเข้าใจศัพท์ ภาษาบาลี ข้อธรรมต่างๆ สภาวธรรมเบื้องต้นได้
ตัวเขาเองนั้นมักจะไม่ได้แสดงอาการทุกข์ใจให้คนอื่นเห็นมากนัก เพราะเข้าใจไปว่าไม่เป็นทุกข์หรือทุกข์น้อยแล้วก็เลยกดไว้ ปิดบังไว้ แต่มักจะสร้างทุกข์ให้คนอื่นด้วยกฎระเบียบ แนวคิด ทิฏฐิที่ตัวเองได้เรียนรู้มา เช่น พระท่านว่ามาแบบนี้ ถ้าทำอย่างนั้นจะบาป ถ้าทำอย่างนี้จะบาป ถ้าทำแบบนั้นจะบุญ ต้องทำแบบที่ฉันทำนี่สิดี ได้บุญเยอะบรรลุธรรมง่ายกลายเป็นคนดีที่ชอบปราบคนไม่ดี ชอบปราบคนชั่ว ซึ่งก็ยังชั่วอยู่นั่นเอง
ในสังคมทุกวันนี้จึงมีจอมยุทธ์นักปฏิบัติธรรมเต็มไปหมด เป็นจอมยุทธ์ที่ฟาดฟันกันด้วยอัตตามานะ ซึ่งสร้างจากความรู้ความเข้าใจที่ได้ร่ำเรียนมาในแต่ละสำนัก เชิดชูสำนักตัวเอง คอยทำลายสำนักอื่นๆ ล่าบริวาร ล่าลาภ ยศ สรรเสริญและมักสร้างกรอบว่าใครไม่คิดเหมือนฉันคนนั้นผิด ใครไม่ปฏิบัติเหมือนฉัน ฉันไม่คบคนนั้น ใครจะปฏิบัติได้ดีเหมือนฉันนั้นไม่มีสำนักไหนหรือใครจะปฏิบัติอย่างไรฉันไม่รู้ ฉันมีแนวทางของฉันเอง ครูบาอาจารย์ฉันสอนมาแบบนี้ ใครอย่ามาเปลี่ยนฉันเสียให้ยาก ….ก็หลงมัวเมาในอัตตากันต่อไป
และบางคนก็ถึงกับหลงผิดว่าตนเป็นผู้บรรลุธรรมไปเลย เปิดสำนักหลอกลวงคนมาทำบุญ สุดท้ายเมาลาภ เมากาม เมาสรรเสริญ เมาอัตตา ยิ่งเสพยิ่งติด เมื่อต้องการเสพมากขึ้นก็มักจะไม่ระวังตัว พอเรื่องแตก กลายเป็นข่าวใหญ่ ก็วงแตกหนีกันแทบไม่ทัน เหล่าญาติโยมผู้หลงผิดบ้างก็ยังหลงมัวเมาไม่จบไม่สิ้น บ้างก็ตาสว่าง ก็แล้วแต่บาปบุญของใคร
คนที่หลงคิดไปเองว่าตัวเองหายป่วย หลงคิดไปเองว่ามีจิตใจที่ไม่ทุกข์ หรือหลงคิดไปเองว่าตัวเองบรรลุธรรม คนเหล่านี้แหละ คือคนที่ทำลายศาสนาอย่างแท้จริง เพราะตัวเองก็ไม่ได้รู้จริงเรื่องการฆ่ากิเลส แต่กลับมาสอนคนอื่น ซึ่งสอนไปก็สอนผิดๆ ทำให้คนหลงมัวเมา ทำให้คำสอนของศาสนาเพี้ยน คนปฏิบัติตามก็บรรลุธรรมแบบเพี้ยนๆตามกันไป แถมการไปสอนคนผิด และยังมีความคิดที่จะล่าบริวารเพื่อลาภยศเหล่านั้น ยังนำมาซึ่งวิบากกรรมหนัก เพราะแทนที่คนผู้มีทุกข์เหล่านั้นจะได้ไปพบกับครูบาอาจารย์ที่ถูกที่ตรง กลับต้องมาเสียเวลา เสียทรัพย์ เสียสติให้กับคนที่หลงคิดว่าตัวเองหายป่วย
วิธีสังเกตคนที่หลงว่าตัวเองบรรลุธรรมก็ลองไล่ถามดูว่า ทำอย่างนี้ทำอย่างนั้นแล้วมันจะบรรลุธรรมอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร กิเลสลดอย่างไร ในคนที่มีธรรมไม่จริงก็มักจะพูดวนๆ พูดเป็นข้อธรรม พูดเป็นหลักกำกวม ตีความได้หลากหลาย พอไล่เข้าหนักๆ จนเริ่มจนมุม ก็จะเริ่มโกรธ หรือทำเป็นโกรธ เปลี่ยนประเด็น ไล่ให้ไปทำเอง ให้ไปปฏิบัติมาก่อน ส่วนใหญ่ก็เก่งเพราะฟังเขามาซึ่งตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จริงๆแล้วทำอย่างไร พอรู้ไม่จริงก็เลยตอบไม่ได้ ส่วนคนที่ปฏิบัติได้จริงเขาก็จะพูดได้เป็นลำดับ ชัดเจน ไม่เขิน ไม่ประหม่า ไม่โกรธ แม้คนอื่นจะไม่เข้าใจ เพราะเข้าใจว่าก็เป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะเข้าใจ แต่ก็ยินดีที่จะพูด โดยไม่ปิดบัง ซ่อนเร้น เชิญให้มาพิสูจน์ได้
5.คนป่วยที่สามารถปรุงยารักษาตัวเองได้
เป็นคนที่รู้จักทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้ถึงการดับทุกข์ และรู้วิธีการปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์นั้นๆ เป็นคนป่วยที่สามารถสร้างยารักษาอาการป่วยทางจิตใจของตัวเองได้ ทำลายทุกข์ที่เกิดในตัวเองได้ ทำลายเหตุแห่งทุกข์หรือกิเลสของตัวเองได้
ทั้งนี้ก็เกิดจากเขาได้พบกับหมอ หรือครูบาอาจารย์ผู้รู้จริงเรื่องการดับทุกข์ คนที่รู้จริงเท่านั้นที่จะสามารถสอนเรื่องการดับทุกข์ได้ ถ้าเราได้พบท่านเหล่านี้ ได้ฟังสัจธรรมจากท่าน จนเกิดศรัทธา จึงทำใจไว้ในใจโดยแยบคาย เกิดสติสัมปชัญญะ เกิดสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จนเกิดสติปัฏฐาน เจริญขึ้นสู่โพชฌงค์ นำไปสู่วิชชาและวิมุตติในที่สุด
…การตรวจสอบว่าตนเองป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร
วิธีที่ง่ายที่สุดในการตรวจสอบว่าเราเองนั้นป่วย หรือหายป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ก็คือการตั้งศีล การตั้งศีลจะทำให้เราเห็นกิเลสหรือเห็นเหตุแห่งทุกข์ชัดเจนขึ้น คนถือศีลเมื่อมีกิเลสขึ้นมาก็จะร้อนใจเปรียบเหมือนดังผีร้ายถูกด้ายสายสิญจน์ ยกตัวอย่างเช่น เราถือศีลข้อ๑ ไม่ฆ่าสัตว์ ยุงมากัด เราก็อยากจะตบ แต่ถือศีลจึงไม่ตบ หักห้ามใจไว้ แม้จะแค้นยุงโกรธยุง เจ็บปวดคันแค่ไหน จนสุดท้ายก็ถือศีลไปจนกระทั่งล้างความแค้นความอาฆาตยุงที่มากัด และเมตตายุงได้แม้ว่าจะถูกยุงรุมกัดอยู่ก็ตาม ศีลนี้เองคือตัวจับผี จับอาการป่วย จับกิเลส
ง่ายที่สุดก็ลองถือศีล ๕ แบบที่ชาวบ้านเข้าใจให้ได้ก่อน ถ้ารู้สึกว่าเราไม่ไปโกรธ ไม่โลก ไม่อยากเสพ ไม่อยากพูดโกหก ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดหยาบคาย ได้อย่างปกติสุข คือไม่ต้องคอยบังคับใจ ไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวปล่อยใจได้ตามสบาย ถึงแม้จะปล่อยใจตามสบายก็ไม่ได้ผิดศีลแม้แต่น้อย ก็ลองขยับมาศีล ๘ ศีล๑๐ซึ่งจะทำให้สามารถเห็นอาการป่วย หรืออาการของกิเลสที่ซ่อนเร้นอยู่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
หรือจะลองปฏิบัติศีลอื่นๆดูก็ได้เช่น การกินมังสวิรัติ ก็จะทำให้เห็นทุกข์ที่อยากกินเนื้อชัดเจน หรือการกินจืด ก็จะเห็นทุกข์ที่อยากเสพรสอร่อยชัดเจน หรือลองกินมื้อเดียวดู ก็จะเห็นทุกข์ของผู้หิวโหยชัดเจนยิ่งขึ้น
ศีลที่พระพุทธเจ้าให้มาเหล่านี้ คือศีลที่พาปฏิบัติไปสู่การบรรลุธรรม ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล คนใดไม่มีศีลก็ไม่มีปัญญา คนไม่มีปัญญาก็เลยไม่ถือศีล และพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า “ ศีลยอดเยี่ยมในโลก(สีลัง โลเก อนุตตรัง) ” คนผู้มีปัญญาย่อมศรัทธาในศีล ย่อมเคารพในศีล คนหมู่ใดถือเอาคนมีศีลเท่าเทียมกับคนไม่มีศีล ท่านให้พรากออกจากคนเหล่านั้น
เมื่อไม่ถือศีลก็ไม่รู้ว่าตัวเองไม่มีกิเลส ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย บางครั้งถึงกับหลงผิดว่าบรรลุธรรมจึงไม่ถือศีล ถ้าหากมีบุญ ไม่หลงผิดไปมาก ก็ลองถือศีลยากๆสักข้อ ก็จะได้เห็นกิเลสของตัวเองชัดเจน จะได้ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต
เมื่อเราถือศีลแล้วทุกข์มาก ก็คือเรามีกิเลสมาก ป่วยมาก แต่ถ้าเราถือศีลแล้วเราทุกข์น้อย ก็ให้ขยับฐานศีลให้ยากขึ้นจนกว่าจะเจอทุกข์ สุดท้ายไม่ว่าจะถือศีลอย่างไรก็ไม่เจอทุกข์เลย นั่นแหละคือเราหายป่วยแล้ว
– – – – – – – – – – – – – – –
20.9.2557
เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่
เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่
เรื่องนี้มักจะเป็นเรื่องที่ทำให้หลงเข้าใจผิด ทำให้พุทธศาสนิกชนที่ไม่ได้ศรัทธาอย่างจริงจังนึกสงสัยว่า การทำบุญและการเข้าวัดนั้นดีจริงหรือ ในเมื่อคนที่เข้าวัดทำบุญ ยังมีนิสัยที่โกรธ โลภ หลงมัวเมาอยู่เหมือนเดิม ดีไม่ดียังมีอาการเมาบุญเข้าไปอีก ทำให้หลายคนเกิดความลังเลสงสัย หรือแม้กระทั่งเสื่อมศรัทธาในศาสนา
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า คนที่เข้าวัดทำบุญส่วนใหญ่นั้น เป็นคนที่หาที่พึ่งทางจิตใจ เพราะจิตใจของเขาเหล่านั้นอ่อนแอ เปราะบาง สับสน วิตก กังวล สงสัย ไม่เข้าใจ วัดจึงเหมือนเป็นศูนย์รวมคนป่วยทางจิตใจและผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ไปรวมกันมากมาย ทีนี้กุญแจของเรื่องนี้ก็คือ พระสามารถเป็นหมอที่จะรักษาจิตใจหรือให้ปัญญาแก่ผู้แสวงหาทางเดินของชีวิตได้หรือไม่ สามารถสอนให้คนเป็นคนดีได้หรือไม่
ถ้าพระของวัดนั้นๆ สอนแค่เรื่องทำบุญทำทาน ไม่สอนลดกิเลส คนที่ไปก็อาจจะกลายเป็นเมาบุญ แย่งกันทำบุญ เพราะกลัวตัวเองจะต้องตกนรก กลายเป็นดงผีเปรตโลภเสพบุญกันในวัดนั้นแหละ
มันไม่ผิดเลยถ้าพระที่วัดนั้นๆจะสอนธรรมแค่ระดับการทำทาน ถือศีลหรือทำสมถะในแบบทั่วไป นั่นเพราะท่านก็อาจจะเข้าใจแค่นั้น ซึ่งเอาเข้าจริงๆ พระก็คือคนธรรมดาที่ห่มผ้าเหลืองไปเรียนรู้ธรรมนั่นแหละ ส่วนท่านจะมีความรู้มากแค่ไหนก็อยู่ที่ความเพียรของท่าน ปัญญาที่ท่านมีไม่ได้มีเพราะผ้าเหลือง แต่มีเพราะความเพียรในการศึกษาเรื่องทางธรรมของท่าน แต่หลักสำคัญอยู่ที่ว่า ปัญญาและความรู้นั้น เป็นความรู้ที่สามารถพาลดกิเลส หรือทำได้แค่เยียวยาทุกข์ หรือจะกลายเป็นพาสะสมกิเลส ดังเช่นพระที่ใช้เดรัจฉานวิชาในทุกวันนี้
ดังจะเห็นได้ตามที่กล่าวมา อย่าว่าแต่คนไปวัดเลย พระในวัดก็อาจจะไม่ได้เก่งขนาดที่ว่าจะสอนให้คนพ้นทุกข์ ทีนี้คนทุกข์กับคนทุกข์มาอยู่ด้วยกันมันก็ทุกข์ไปด้วยกันนั่นแหละ มีแต่จะทุกข์น้อยทุกข์มากเท่านั้นเอง พระก็มีทุกข์มีกิเลสของพระ โยมก็มีทุกข์มีกิเลสของโยม ในเมื่อล้างกิเลสกันไม่เป็น ก็เลยพากันเสพกิเลสเพื่อจะได้เสพสุขพักหนึ่งเท่านั้น
การปฏิบัติสมถะทั้งหลาย คือการพานั่งสมาธิ เดินจงกรมนั้น หากได้ศึกษาและเรียนรู้ขอบเขตของการทำสมถะจะพบว่าเป็นการปฏิบัติที่มีเป้าหมายในการทำจิตให้นิ่ง กดข่มจิต ดับความคิด การทำสมถะนี้ ไม่สามารถทำให้บรรลุธรรมใดๆได้ ไม่สามารถทำให้ลดกิเลสได้
สามารถลองดูด้วยตัวเองก็ได้ เช่น วางขนมอร่อยๆที่ชอบไว้ตรงหน้า ทีนี้นั่งสมาธิเข้าภวังค์ไปเลย 1 ชั่วโมง 1 วัน 3 วัน 7 วัน แล้วออกมากิน ถามว่า ความอร่อยนั้นจะลดลงไหม? ความสุขจากเสพลดลงไหม? ไม่ลดลงหรอก เพราะความอร่อยถูกสร้างจากวิญญาณที่มีกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลส มันก็ยังรู้สึกอร่อยเหมือนเดิมนั่นแหละ
การทำสมถะคือการดับความคิด ดับจิต ถ้าเก่งมากก็ดับสัญญา คือดับความจำได้หมายรู้กันไปเลย แต่ไม่ได้ดับกิเลสนะ ศาสนาพุทธสอนให้ดับกิเลส ไม่ได้ดับความคิด ต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้ไม่รู้ ไม่ตื่น ผู้เฉยๆ
รู้ในที่นี้ คือรู้แจ้งเรื่องกิเลส ตื่นตัวไม่หลับใหลเมามายในอวิชชาหรือความโง่ที่พาให้หลงไปในกิเลส ผู้เบิกบานนั้นเกิดจากความปล่อยวางความเศร้ามองที่เกิดจากกิเลสในใจ
การปฏิบัติแบบพุทธต้องมีเป้าหมายแบบนี้ ไม่อย่างนั้นก็จะปฏิบัติกันไปผิดๆ จึงได้ผลแบบไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากคนเข้าวัดทำบุญมากมาย แต่นิสัยแย่ ขอลาไปปฏิบัติธรรม 7 วัน กลับมายังเอาเปรียบยังนินทาคนอื่นเหมือนเดิม นั่นเป็นเพราะเขาปฏิบัติมาผิดทาง สอนกันผิดทาง หรืออาจจะสอนถูก แต่คนผู้นั้นมีบาปมาก ไม่ตั้งใจเรียนก็อาจจะทำให้ฟังมาผิดๆ
ในสมัยพุทธกาลก็มีมาแล้ว มีคนที่ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ตั้งนาน แต่ก็กลับไปแบบไม่ได้อะไร ขนาดมหาบุรุษที่เก่งที่สุดในจักรวาลให้สัจจะอยู่ตรงหน้าก็ยังไม่สามารถเข้าใจและเกิดปัญญาใดๆได้ เหตุการณ์ดังนี้ก็มีให้เห็นมาแล้ว
ดังนั้น การไปเข้าวัดทำบุญ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำให้กลายเป็นคนดีได้เลย ดังจะเห็นตัวอย่างในสังคมทุกวันนี้ คนที่เขาทำไม่ดี ทำชั่ว เขาก็ไปวัดทำบุญเหมือนกันกับเราใช่ไหม แต่ทำไมเขาก็ยังไม่หยุดทำชั่ว ไม่หยุดทำเลว ยังโกหก ปลิ้นปล้อน หลอกลวงอยู่เลย
แก่นแท้ของการไปเข้าวัดทำบุญก็คือไปพบปะครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถในการสอนสั่งเราไปในทางที่ลด ละ เลิก การยึดมั่นถือมั่นได้ สามารถสอนให้เราล้างกิเลสได้ โดยสามารถบอกขั้นตอนได้อย่างละเอียดพิสดาร เข้าใจได้ไม่ยากนัก ไม่ซับซ้อน เราก็ไปพบท่าน ฟังสัจธรรมจากท่าน แล้วนำมาปฏิบัติจนเกิดผล คือกิเลสเราลดได้จริง นั่นแหละทางถูกที่ควร
แต่ถ้าใครไปวัดทำบุญ เพียงแค่ทำบุญ ใส่บาตร ฝึกสมถะ ก็เหมือนไปเอาแต่เปลือก แต่สะเก็ด เอาแต่ใบ เอาคุณค่าแค่บางส่วน ไม่ได้เอาแก่น เหมือนคนเข้าป่าไปหวังจะเอาแก่นไม้ แต่ก็เด็ดใบไม้กลับบ้านไป แล้วหลงเข้าใจว่าใบไม้นั้นเป็นแก่น แล้วมันจะเป็นคนดีได้อย่างไร….
– – – – – – – – – – – – – – –
20.9.2557
อย่าไว้ใจชาย
อย่าไว้ใจชาย
มารยาหญิงที่ว่ามีกว่าร้อยเล่มเกวียน กลวิธีมากมายหลากหลายกระบวนท่า แต่สุดท้ายก็ต้องพลาดท่าให้กับชายอยู่ดีนั่นแหละ
มารยา กลยุทธ์ กลวิธีของชายนั้น มักจะไม่ได้ถูกบันทึกหรือกล่าวขานไว้ กว่าจะรู้ตัวก็มักจะพลาดท่าเสียทีไปแล้ว ทั้งการหลอกล่อลับลวงพรางด้วยของขวัญและคำหวานมากมายให้เฝ้าเพ้อฝันไปถึงความรักที่งดงามและอนาคตที่สวยหรู คำสัญญาที่ว่าจะมั่นคง ความจงรักภักดี การเกื้อกูลดูแลกันและกัน คำยืนยันหรือการแต่งงานมีครอบครัว เหล่านี้คือมารยาที่ชายใช้ล่อลวงใจหญิงได้ทุกยุคทุกสมัย เราลองมาดูตัวอย่างกลยุทธ์ของชายแต่ละแบบกัน
1. ผู้ชายติดอบายมุข (อบายมุข): ตัวเองก็เสพติดอบายมุขทั้งการพนัน หวย หุ้น ติดเหล้าติดยาเสพติด สิ่งมัวเมาทั้งหลาย เที่ยวกลางคืน ท่องเที่ยวไปเสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ในที่ต่างๆ เที่ยวเล่นดูดนตรี ดูการแสดง คบคนชั่ว เกียจคร้านการทำงาน วิธีของผู้ชายเหล่านี้ก็ไม่มีอะไรมาก แค่หานำอบายมุขที่ตัวเองเสพติด เช่น ชอบกินเหล้าก็ชวนกันไปกิน ชอบดูการแสดงชอบดูหนังก็ชวนกันไปดู ชอบรถแต่งรถหรูก็ชวนกันมานั่ง ใช้อบายมุขที่น่าจะตรงกับกิเลสไปเสนอให้กับผู้หญิงที่หลงเสพหลงติดพอกัน พากันมัวเมาไปในที่สุด และมักจะมีคำนิยามแบบสวยๆว่าชอบทำกิจกรรมเหมือนกัน ไลฟ์สไตล์เหมือนกัน ชอบอบายมุขเหมือนกัน ก็เลยพากันไปนรกด้วยกัน
ผู้หญิงที่มีกิเลสหนาก็มักจะโดนชักจูงด้วยอบายมุขได้ง่าย เพียงแค่หลงชอบเสพสิ่งเดียวกันก็อาจจะยอมร่วมหอลงโรงด้วยกันได้แล้ว จากความหลงติดหลงยึดสุขลวงจากการเสพอบายมุข คือกิเลสในระดับหยาบ ที่พาให้เสียเวลา เสียทรัพย์ เสียสุขภาพ เสียชีวิต ฯลฯ
2.ผู้ชายบ้ากาม(กามคุณ): กามในที่นี้คือกามคุณ๕ คือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่เป็นภัย ผู้ชายที่ติดกามก็มักจะบำรุงดูแลตัวเองให้ดูดี งดงาม ออกกำลังกายให้ดูดี หรือกระทั่งไปผ่าตัดศัลกรรมให้หน้าตาดีดั่งใจหมาย ในขณะเดียวกันความบ้ากามก็ยังจะทะลักไปบ้านอกร่างกายตัวเองด้วย คือจะไปเสพคนสวยคนงาม ด้วยความที่คนสวยคนงามเหล่านั้นก็มีกิเลสของเธออยู่ คือความติดสวย สุดท้ายก็จะพากันบำรุงบำเรอกิเลส พากันกินอาหารอร่อย พากันแต่งตัวให้ดูดี รวมไปถึงการเสพกามเมถุนร่วมกัน เพราะยังมีกิเลสในชั้นของกามอย่างแน่นหนา
ผู้ชายที่พรั่งพร้อมไปด้วย รูปงาม เสียงงาม กลิ่นงาม และสัมผัสอันน่าหลงใหล จะพาให้ผู้หญิงที่บ้ากามด้วยกันหลงไปได้ง่าย เช่น เพียงแค่พบคนหน้าตาดี ก็สามารถยอมพลีกายให้เขาได้เพียงแค่ต้องการเสพสมใจว่าได้คบหากับคนหน้าตาดี หรือไม่ก็ยินดีคบหาเป็นแฟน หรือแต่งงาน เพราะชอบที่เขาหน้าตาดี พูดดี มีทักษะการสัมผัสเสียดสีที่ดี ก็หลงติดกามกันไป
ความงามด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสนั้น เป็นสิ่งที่ดึงดูด พาให้หลงใหล พาให้เคลิ้มหลงไป แม้แต่หญิงที่ว่าใจแข็งมั่นคงก็อาจจะพ่ายแพ้ต่อพลังแห่งกามทั้ง ๕ นี้ได้ ยอมเผลอไปรักโดยที่ไม่ทันระวังตัว โดยไม่รู้ตัวเลยว่าได้แพ้พ่ายต่อกิเลสไปแล้ว
3.ผู้ชายเจ้าชู้(โลกธรรม) : เขาเหล่านี้คือผู้ที่เสพลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ผู้ชายเจ้าชู้มักสามารถใช้โลกธรรมในการจูงใจหญิงได้ค่อนข้างเก่ง ป้อนคำหวาน ดูแล เทคแคร์ เอาใจใส่ บำเรอด้วยทรัพย์สิน คำเยินยอ และให้ความสำคัญ ทำเสมือนว่าเขาให้ค่ากับผู้หญิงคนนั้นมาก แต่แท้ที่จริงเขาเองสามารถที่จะเข้าใจและใช้กิเลสที่ระดับที่ละเอียดกว่ากามมาเป็นตัวล่อผู้หญิงได้
เราคงเคยสังเกตกันมาบ้าง ว่าทำไมบางทีผู้ชายที่หน้าตาไม่ดี ไม่หล่อ ดูไม่ดี แต่กลับควงคู่กับผู้หญิงสวยๆอยู่เสมอ นั่นก็เพราะเขามีลาภ ยศ สรรเสริญ อยู่ในปริมาณมาก หญิงที่ว่าจิตใจมั่นคง ไม่มัวเมาในอบายมุข ไม่หลงในกามรูปหรือไม่หลงคนหน้าตาดี ก็อาจจะมาแพ้พ่ายกันในด่านของโลกธรรมนี้ก็ได้ นั่นเพราะตัวเธอเองก็อยากเสพความสบาย เสพความร่ำรวย การเอาใจใส่ จนอาจจะเผลอยอมปล่อยตัวปล่อยใจเพื่อแลกกับการได้เสพกิเลสเหล่านี้ ซึ่งมีเขาผู้มากไปด้วยโลกธรรม คอยบำรุงบำเรอให้ก็เป็นได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายเจ้าชู้จะหยุดอยู่แค่เรา ถ้าเราเองไม่สามารถสนองต่อความอยากในกามของเขา ไม่สนองโลกธรรมของเขา เขาก็อาจจะทิ้งเราไปมีคนใหม่ที่สามารถจะสนองกิเลสเขาได้มากกว่าเรา ซึ่งเขาจะทำเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะเขามีอำนาจในการที่จะสนองกิเลสผู้อื่นอยู่ในมือ เป็นอำนาจบาป ที่นำมาซึ่งความทุกข์ นำมาซึ่งนรกอย่างไม่จบไม่สิ้น
4.ผู้ชายนักฝัน(อัตตา): ช่างคิดช่างฝัน ปั้นจินตนาการ วาดฝันไว้ เจ้าอุดมการณ์ ชายในกลุ่มนี้มักจะไม่ได้ล่อลวงหญิงด้วย อบายมุข กามคุณ และโลกธรรมอีกแล้ว แต่จะล่อลวงเธอด้วยความฝัน อุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่งดงาม เช่น คำพูดที่บอกว่าเธอคือเนื้อคู่ , เราจะเป็นคู่รักที่รักกันตลอดไป , ผมจะซื่อสัตย์ตลอดไป , ผมจะดูแลคุณตลอดไป ,เราจะพากันเจริญไปด้วยกัน ,เราจะสร้างครอบครัวไปด้วยกัน เป็นคำมั่นสัญญา เป็นอัตตา เป็นความยึดมั่นถือมั่น ทำตัวเหมือนหลักชัยให้ผู้หญิงซึ่งอ่อนไหว อ่อนต่อโลกได้ยึดเกาะพาให้หลงใหล พาให้ฝากตัว ฝากใจ ฝากชีวิตเอาไว้กับเขา
แต่ความยึดมั่นถือมั่นนั้นก็เป็นกิเลส อุดมการณ์จะยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่ถ้ารากของมันคืออัตตา ก็เหมือนมีรังปลวกอยู่ใต้หลักไม้ใหญ่ จะดูยิ่งใหญ่หรือแข็งแกร่งแค่ไหนไม่นานก็คงจะผุกร่อนพังทลาย เพราะโดนปลวกคือกิเลสกัดกินจนหมด
สิ่งที่เคยยึดมั่นอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในสักวันหนึ่ง คำสัญญากลายเป็นเพียงแค่ลมปาก สิ่งที่เหลือคือความอึดอัดกดดัน ความผิดหวัง ความฝันที่พังทลาย ทิ้งไว้แต่ซากแห่งความฝันของหญิงผู้ที่ได้แต่หลงเสพหลงละเมอไปในคำหวานและอุดมการณ์ของคนกิเลสหนา
5.ผู้ชายรักจริง(เสน่หา): จะมีลักษณะที่ดูปักมั่น หลงมัวเมาในหญิงที่เธอหมายมั่น ทุ่มเทเอาใจ รักจริงหวังแต่ง แสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอกิเลสให้กับเธอ ถ้าเธอชอบอบายมุขก็จะพาเธอไปเสพอบายมุข ถ้าเธอชอบกามคุณ ก็จะไปเธอไปกินของอร่อย พาไปซื้อเสื้อผ้าสวยๆ ทำตัวเองให้ดูดีให้เธอชอบ ถ้าเธอชอบโลกธรรม ก็จะขยันทำงานหาเงินมาให้เธอ พยายามทำตัวให้ประสบความสำเร็จในชีวิต มีฐานะหน้าที่การงานที่ดีเพื่อให้เธอยอมรับ ถ้าเธอชอบอัตตาก็ป้อนคำมั่นสัญญาผูกมัดเธอด้วยกิเลส ด้วยสัญญาว่าเราจะไม่พรากจากกัน เราจะดูแลกันไปชั่วนิรันดร์
เป็นผู้ชายที่มีกลยุทธ์และใช้วิธีที่หลากหลายเพื่อที่จะมัดใจเธอ ให้เธอยอมรับ ให้เธอหลงเสพในความรักของเขา ให้เธอรักเขา หญิงที่ว่าใจแกร่งเพียงใด เจอกับกลยุทธ์ทุ่มเทเอาใจใส่ สลับซับซ้อนแบบนี้ ก็ยากที่จะหนีรอดไปได้ เป็นกลยุทธ์ที่พรั่งพร้อมไปด้วยกิเลสในทุกระดับ ยินดีบริการ บำรุงบำเรอให้เธอเต็มที่จนกว่าเธอจะยอมรับรัก
ที่เขาทำทั้งหมดนี้ เขาก็แค่ทำให้เธอเพียงคนเดียว เพราะเขาอยากจะเสพเธอคนเดียว อยากจะได้เธอมาคนเดียว อาจจะกระจายการสนองกิเลสเหล่านี้ออกไปยังคนใกล้ชิดของเธอแต่จะไม่ได้เน้นมากเท่าไหร่
แต่ความเสน่หานั้นไม่เที่ยง มีรักได้ก็หมดรักได้ ทันทีที่เขาได้เสพสมใจทุกอย่างแล้ว เขาก็อาจจะละทิ้งเธอไปอย่างไม่ใยดีก็ได้ บางคนอาจจะแค่ยินดีเสพแค่คุยกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่เป็นแฟนกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่มีอะไรกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่แต่งงานกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่มีลูกด้วยกัน ถ้าเขาได้รับสิ่งที่เขาอยากจะเสพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็คือนรก เมื่อความอยากเสพในกิเลสนั้นหมดเชื้อเพราะได้เสพสมใจแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องบำรุงบำเรอสนองกิเลสเธออีกต่อไป เป็นเวลาที่หญิงที่หลงไปกับรักจริงที่หลอกลวงจะต้องเริ่มต้นใช้หนี้บาปหนี้กรรมกันต่อไป
6.ผู้ชายแสนดี(เมตตา): ชายผู้มีจิตใจที่เมตตา เกื้อกูลทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เขาให้ความสำคัญกับทุกๆคน คอยดูแล กิจกรรมการงานของของเพื่อน ดูแลทุกข์สุขของเพื่อน มิตรสหาย โดยไม่ได้หวังเสพสิ่งใด ทำไปด้วยจิตที่เมตตาหวังจะให้คนอื่นได้ดี ให้คนอื่นมีความสุข คลายทุกข์
แม้เขาเหล่านี้จะมีเมตตามาก แต่ก็อาจจะยังมีกิเลสในเรื่องของคนคู่อยู่ บางครั้งความเมตตานั้นอาจจะปนผสมไปด้วยกิเลสลึกๆในใจของเขา คือเมตตาปนไปกับความอยากเสพเธอคนนั้น แต่ก็มักจะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนนัก เพราะจะไม่ออกมาในรูปของการจีบ การป้อนคำหวาน การเอาใจ แต่จะเป็นการดูแล ช่วยเหลือ ปรับทุกข์ บำรุงสุข เป็นเพื่อนคู่คิดคอยปลอบใจ ไม่ล่วงเกินเข้าไปในเชิงชู้สาวมากนัก ดูเหมือนว่าไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน
เขาเหล่านี้จะไม่บำรุงบำเรอเธอด้วยกิเลส พาไปพบแต่สิ่งที่พาให้ชีวิตเจริญ จะไม่พาเธอไปทางเสื่อม เช่น ไม่พาไปเสพ อบายมุขอีกแล้ว แต่ยังมีกามคุณบ้าง เหลือโลกธรรมบ้าง และอาจจะยังเหลือในส่วนของอัตตาตามแต่ที่เขาจะมีอยู่บ้าง ถ้าจะให้เปรียบก็เรียกได้ว่าเป็นคนดีที่มากแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงกับดีที่สุด
แม้ว่าจะเราจะเจอผู้ชายที่ดี ไม่เอากิเลสมาบำรุงบำเรอขนาดนี้ แม้ว่าจะเรียกได้ว่าพากันเจริญ ก็อย่าได้พลั้งเผลอไปเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะดีแสนดีแค่ไหน มีความสุขขนาดไหน แต่การดำเนินชีวิตคู่นั้น เราก็ต้องรับวิบากกรรมร่วมกัน ทุกข์ด้วยกัน มีครอบครัวซึ่งเป็นภาระด้วยกัน ผูกภพ ผูกชาติ ผูกกรรมไปด้วยกัน ความสุขที่ได้ก็ไม่ยั่งยืน เพราะสุดท้ายก็ต้องตายจากกันไป เมื่อเรายึดคนดีเป็นของเรา เมื่อเขาพรากจากเราไปเราก็ต้องเสียใจอยู่ดี
7.ผู้ชายที่มีรักแท้(อุเบกขา): ความรักแท้นั้นหากจะบอกว่าเป็นรักที่ครอบครองก็คงจะไม่ถูกนัก ชายที่มีรักแท้คือผู้ที่ยินดีจะเสียสละความรักของตน ยอมทิ้งความสุขส่วนตนให้คนอื่น ยอมทิ้งโอกาสในการเสพสุขของตนให้กับผู้อื่น ยอมปล่อยให้เนื้อคู่ของตนเองนั้นเป็นอิสระจากการผูกมัดโดยกรรมกิเลสใดๆทั้งปวง ยอมที่จะให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรรมที่ควรจะเป็นโดยไม่คิดจะเอากิเลสของตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วม
การปล่อยวางความรัก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นเหล่านี้ หากมองผ่านๆโดยทั่วไปก็เหมือนกับเอาตัวรอด เหมือนกับเห็นแก่ตัว แต่แท้ที่จริงไม่ใช่แบบนั้น
เพราะเขาคนนั้นมีความรักที่มากกว่ารักในแบบของการครอบครอง มากกว่ารักของคนสองคน มากกว่ารักแบบครอบครัว มากกว่ารักแบบคนรัก จึงยอมสละรักที่น้อย เพื่อที่จะได้รักที่มากกว่า นั่นคือรักที่สามารถเผื่อแผ่ไปให้กับทุกคนบนโลกได้ รักได้แม้กระทั่งศัตรู เป็นรักที่ให้ได้อย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นใครหรืออะไรก็ตาม
แม้แต่ชายที่ดูเหมือนว่าจะกล่าวอ้างว่ามีรักแท้แบบนี้ก็อย่าได้ตายใจไป เพราะกิเลสของคนเรานั้นมีความลับลวงพราง อาจจะมีผู้คนที่มัวเมาในอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา อวดอ้างเอาคุณเหล่านี้เป็นของตนก็เป็นได้ เราจึงต้องคอยสังเกตติดตาม พิจารณาตามไปว่ารักแท้ที่เขามีนั้นเป็นจริงดังที่เขาบอกหรือไม่ หรือเป็นรักลวงที่สอดไส้ไปด้วยกิเลสก้อนใหญ่
….ดังที่ยกตัวอย่างมา จะเห็นได้ว่ากิเลสนั้นมีลีลาท่าทางมากมายที่จะทำให้เราหลงไปกับสิ่งลวง สิ่งที่ไม่เป็นจริง เมื่อหลงเสพหลงยึดไปแล้ว เช่น คบกันเป็นแฟน ได้เสียกัน แต่งงาน มีลูก มีครอบครัว สุขที่เคยมีก็อาจจะเปลี่ยนสภาพเป็นทุกข์ก็ได้ ทุกข์จากการมี ทุกข์การยึด ทุกข์การครอบครอง
กิเลสนั้นมีความซับซ้อน มีความหลากหลายของการแสดงลีลาออกมา แม้ว่าบางครั้งเราตั้งสติดีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถตามการยั่วยวนของกิเลสเหล่านั้นได้ทัน เพราะเวลาที่พบเจอจริงๆมักจะผสมปนเปกันมาแบบมั่วๆ ดูไม่ออก แยกไม่ออกว่าแบบไหนจริงใจ แบบไหนหลอกลวง
สุดท้ายไม่ว่าเหตุจะเป็นอย่างไร เขาจะมาจีบเรา หรือเราจะไปหลงคารมของเขาเอง เราก็เป็นเหยื่ออยู่ดี เหยื่อของกิเลสที่พาให้หลงไปว่าสิ่งที่เขานำมาปรนเปรอบำรุงบำเรอเรา คำหวาน ของขวัญ คำมั่นสัญญา การดูแลเหล่านั้นจะอยู่ตลอดกาล จะไม่แปรเปลี่ยน
หญิงใดที่สามารถรักษาความโสด จิตใจที่สันโดษ พอใจในสิ่งที่ตนมี ไม่หาชายใดมาบำรุงบำเรอกิเลส บำเรออบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตาของตัวเองแล้ว นับได้ว่าเป็นหญิงที่มีบุญ ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องทรมานจากการแบกวิบากบาปจากการมีคู่ แบกสามี แบกลูก แบกครอบครัว แบกแม่ผัว แบกพ่อตา แบกญาติ เพราะลำพังแค่แบกชีวิตตัวเองก็หนักพออยู่แล้ว
– – – – – – – – – – – – – – –
19.9.2557