วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ

September 24, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,714 views 0

วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ

วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ

วิธีการที่จะนำมาเสนอต่อไปนี้ เป็นการสรุปย่อเพื่อให้เข้าใจหลักปฏิบัติโดยรวมได้ง่าย พยายามที่จะใช้ศัพท์เฉพาะให้น้อยเพื่อการเข้าถึงที่ง่าย หากมีโอกาสในวันใดวันหนึ่งคงได้พิมพ์ฉบับละเอียดออกมา ซึ่งจะร้อยเรียงข้อธรรมะเข้ากับการปฏิบัติให้เห็นถึงความสอดคล้องของสภาวธรรมที่เจริญไปพร้อมกับการปฏิบัติ แต่ในบทความนี้ คงพิมพ์ไว้ให้เป็นแนวทางไปก่อน

1). บทนำ

การลดเนื้อกินผัก กินอาหารมังสวิรัติ กินเจ ใครหลายคนก็มักจะมองไปในเรื่องของเมตตา หรือการไม่เบียดเบียนเป็นหลัก แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้นเราสามารถใช้มังสวิรัติเป็นการปฏิบัติธรรมได้อย่างดีเยี่ยม

การปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธนั้น เป็นการปฏิบัติที่ใจ เป็นการขัดเกลาจิตใจ ขัดเกลากิเลส พัฒนาใจให้สูงขึ้น แต่การจะพัฒนาใจให้สูงขึ้นนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ไปนั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือทำสมถะเท่านั้น แต่จำเป็นต้องวิปัสสนา เพื่อให้เกิดผลเจริญขึ้นในจิตใจด้วย

ถ้าจะกล่าวถึงมังสวิรัติหลายคนคงเบือนหน้าหนี มีหลายล้านเหตุผลที่เราจะไม่กินมังสวิรัติ และมีอีกหลายล้านเหตุผลที่จะทำให้เรากลับไปกินเนื้อสัตว์ เหตุผลเหล่านั้นมาจากกิเลสของเรา แต่แท้จริงกิเลสนั้นไม่ใช่เรา เราจะมาเริ่มปฏิบัติการจับผี ล่าผี ล้างป่าช้า ฆ่ากิเลสกันง่ายๆ ใน 3 ขั้นตอน คือ เตรียมตัว ระวัง ไป!

2). เตรียมตัว! ตั้งศีล

การจะลดกิเลสไม่ได้มีความยากในเรื่องของกระบวนการ แต่จะยากในเรื่องของการปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติสู้กับกิเลสตัวเอง สู้กับความอยากของตัวเอง ใช้พลังของตัวเองในการฝ่าฟันกิเลสเหล่านั้น

การเริ่มต้น เราจะเริ่มจากการตั้งศีล ศีล คือข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อความปกติสุข เพื่อความเจริญ ศีลที่เราจะตั้ง หรือให้ตนเองถือว่าก็คือ “กินมังสวิรัติ” เราจะไม่กำหนดเวลา ไม่กำหนดกรอบ เราแค่ลดเนื้อกินผัก ลดเนื้อเท่ากับศูนย์ กินแต่ผัก

การตั้งศีลนี้เราควรตั้งหรือถือไว้ด้วยปัญญา ไม่ควรเชื่อหากใครบอกว่าศีลนี้ดี ในขั้นตอนนี้เราควรจะหาความรู้ว่าทำไมจึงต้องกินมังสวิรัติ กินมังสวิรัติแล้วดีอย่างไร การกินเนื้อเบียดเบียนอย่างไร จงใช้เวลาหาความรู้จนมั่นใจว่าตัวเองยินดีที่จะตั้งศีลนี้ เพราะความยินดีในประโยชน์ในการออกจากทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย เป็นด่านแรกของปัญญา ซึ่งคนไม่มีปัญญาก็จะไม่สามารถตั้งศีลนี้ได้ เพราะไม่สามารถมองทะลุถึงประโยชน์แท้ในการมีศีล ถึงจะถือศีลก็ถือตามคนอื่นเขา ถือแบบเหยาะแหยะ ถือแบบลูบๆคลำๆถือเอาไว้อวดบารมี ถือไว้เฉยๆ ทำอะไรกับมันไม่ได้ ไม่รู้ว่ามันทำอะไรได้ เหมือนคนป่าถือสมาร์ทโฟน

ข้อดีของศีลมังสวิรัติคือเราจะได้สู้กับกิเลสทุกวัน วันละหลายครั้งตามมื้ออาหารที่เรากิน เป็นการปฏิบัติธรรมที่สามารถทำได้ง่าย ทำได้ทุกวัน ไม่ต้องเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน ไม่ต้องรอไปวัด ไม่ต้องใช้เวลาสวดมนต์ เพียงแค่แทนที่อาหารมื้อเดิมด้วยอาหารมังสวิรัติเท่านั้นเอง ถือว่าเป็นการเริ่มต้นการปฏิบัติธรรมที่ง่าย สะดวกที่สุด และเหมาะกับทุกคน ทุกสังคม ทุกชนชั้น

อาจจะมีบางคนงงเกี่ยวกับ “ศีลมังสวิรัติ” การกินมังสวิรัติเป็นศีลได้อย่างไร? มังสวิรัติคือส่วนหนึ่งของศีลข้อ ๑ คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ในระดับของอธิศีล คือ ยากกว่าการไม่เบียดเบียนทั่วไป เป็นขั้นกว่าของศีลข้อ๑ แบบปกติ นั่นคือ นอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้ว เรายังต้องมีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาต่อสัตว์และเพื่อนมนุษย์อื่นๆด้วย( ดูส่วนขยายได้ในจุลศีลข้อ ๑)

3). ระวัง! ข้อควรระวังในการถือศีล

การถือศีลของเรานั้นไม่ใช่การถือเพื่อทำเล่นๆ แต่เป็นการถืออย่างจริงจัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตั้งศีลกินมังสวิรัติตลอดชีวิตได้ตั้งแต่แรก อาจจะตั้งเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ หรือเดือนละ 2 สัปดาห์ก่อนแล้วค่อยตั้งอธิศีล คือเพิ่มศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน 1 ปี จนกระทั่งมั่นใจว่าทำศีลนี้ได้ดีจึงตั้งศีลว่า “มังสวิรัติตลอดชีวิต

เราควรประมาณการตั้งศีลของตัวเองให้เหมาะกับพลังของตัวเอง ถ้ามันตึงจนเครียดทรมานจิตใจตัวเองเกินไปก็ให้ผ่อนลงมา เก่งแล้วค่อยขยับขึ้นไปใหม่ หรือใครที่รู้สึกว่าตัวเองทำศีลได้ดีก็อย่าไปแช่อยู่นานให้ตั้งอธิศีลขึ้นไปอีก ถ้ากินมังสวิรัติได้ดี ก็ให้ขยับไปทำศีลอื่นๆเช่น การกินจืด การกินมื้อเดียว การลดชนิดและความหลากหลายของอาหาร เป็นต้น

การปฏิบัติศีลต้องรับรู้ได้ด้วยตัวเองว่ากิเลสหรือความอยากเสพของตนเองนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เพิ่มขึ้นหรือลดลง มากน้อยเท่าไหร่ ถ้ายังไม่สามารถรู้ถึงกิเลสของตัวเองได้แสดงว่าอาจจะปฏิบัติมาผิดทางหรือความเข้าใจยังคลาดเคลื่อน

4). ไป! ลุยกันเลย ลงมือปฏิบัติ

หลังจากที่เราตั้งศีล ถือศีล ยึดศีลนี้เพื่ออาศัยไปสู่ความเจริญแล้ว เราก็จะดำเนินชีวิตประจำวันไปตามปกติ เราจะไปเจอกับอาหารในแต่ละมื้อ ที่เราจะต้องใช้สมาธิที่มากกว่าเดิมในการกดข่มความอยาก และปัญญาที่มากกว่าเดิมในการที่จะหาทางออกเพื่อที่จะได้กินอาหารมังสวิรัติรวมถึงปัญญาที่จะใช้ฆ่ากิเลสด้วย จะลองจำลองสถานการณ์พอเห็นภาพดังนี้

มื้อเช้า…. เราออกไปทำงานพบกับแผงขายเจอหมูปิ้งหน้าปากซอย เราเคยกินหมูปิ้งกับข้าวเหนียวและชอบมากแค่เห็นยังน้ำลายไหล แต่เราอดทนข่มใจ พิจารณาเข้าไปว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดีอย่างไร ว่าแล้วเราก็เดินเข้าร้านหมูปิ้ง ดิ่งตรงเข้าไปสั่งข้าวเหนียวสองห่อ เพื่อกินให้อิ่ม ให้ผ่านๆไปหนึ่งมื้อ

ภาพช้า… ในขณะที่เราเดินเข้าไป สายตาจะจับจ้องที่หมูปิ้ง กลิ่นควันหอมลอยแตะจมูก ใจก็คิดจะสั่ง ปากก็อยากจะบอก มือก็อยากจะเอื้อมไปคว้าหมูปิ้ง แต่ด้วยพลังการกดข่มที่เราฝึกไว้บ้าง ทำให้เราพอจะผ่านไปได้

มื้อเที่ยง…. วันนี้มีลูกค้าพาไปเลี้ยงบุฟเฟต์นานาชาติ ด้วยความเกรงใจจึงไปด้วย เห็นอาหารละลานตา ไอ้นั่นก็อยากกิน ไอ้นี่ก็อยากกิน สายตาผ่านไปเจอเมนูกุ้งเผาสุดโปรด น้ำลายไหลโดยยังไม่ทันรู้ตัว ว่าแล้วก็เดินตรงดิ่งเข้าไปจะสั่งกุ้งเผา บังเอิญว่าเพื่อนร่วมงานเข้ามาทักได้ทัน บอกเตือนว่า ไหนเราตั้งใจว่าจะกินมังสวิรัติ แล้วเราก็ได้สติกลับมาอีกครั้ง เลยไปตักแต่ผักกิน ผ่านไปอีกมื้อ

ภาพช้า…ในขณะที่เห็นกุ้งเผา สติ ได้หลุดลอยออกไป ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไม่มีอีกต่อไป ศีลอะไรก็ช่างมันเถอะ กุ้งเผาไม่ใช่ของที่จะกินกันได้บ่อยๆ ถ้าไม่กินตอนนี้ แล้วจะได้กินตอนไหน ยิ่งมีลูกค้าเลี้ยงด้วยแบบนี้ ลุยกันให้เต็มที่ไปเลย

มื้อบ่าย…. เพื่อนๆในออฟฟิศชวนกันไปซื้อลูกชิ้นเจ้าประจำ แต่ก่อนตอนยังไม่ตั้งศีลก็ชอบซื้อกินกับเขา ลูกชิ้นเนื้อ เอ็นเนื้อนี่ของโปรดเลยทีเดียว แต่วันนี้เกือบจะพลาดมื้อกลางวันมาแล้วจึงข่มใจ พยายามนั่งนิ่งๆไว้ไม่ตอบรับ ทันใดนั้นเพื่อนผู้หวังดีก็มาสะกิดถาม ฝากซื้อไหม เอาลูกชิ้นกี่ไม้? ด้วยความที่ตั้งศีลไว้จึงอดกลั้นไว้ก่อนบอกเพื่อนว่าวันนี้ไม่กิน ผ่านไปได้อีกวัน

ภาพช้า… ตอนเพื่อเข้ามาถาม ฝากซื้อไหม เอากี่ไม้ เหมือนมีคลื่นกิเลสผลักดันให้ลุกออกไป ใจก็คิดไปแล้วว่า เหมือนเดิมอย่างละสองไม้ ปากก็เกือบจะพูดออกไปแล้ว ดีว่าได้สติก่อนจึงสงบปากสงบคำ ปล่อยให้ความอยากนั้นอยู่แค่ในใจ

มื้อเย็น…. ว่าจะกลับบ้าน แต่เจ้านายชวนไปกินอาหารญี่ปุ่นเป็นเพื่อน เจ้านายสั่งชุดปลาดิบราคาแพงมา ประกอบด้วยปลาชั้นดี รสชาติน่าจะละมุนนุ่มลิ้น แถมยังมีแค่ในฤดูนี้เท่านั้น ในตอนนั้นใจก็กดข่มไว้ เปิดเมนูพยายามมองหาเมนูข้าวปั้นกับเต้าหู้ แต่สายตาก็ยังไม่ละจากจานที่หัวหน้าสั่งไว้ให้ ว่าแล้วด้วยความมั่นใจจึงสั่งข้าวปั้นเต้าหู้ทอดมา แต่ด้วยความที่เจ้านายเป็นห่วงสุขภาพ จึงบอกว่า กินไปเถอะ กินปลาไม่เป็นไรหรอก อย่าเคร่งมากนักเลย…

ภาพช้า… เสียงและคำพูดของเจ้านายช่างดูเป็นห่วงเรา เป็นคำพูดที่มาปลดปล่อยความเครียด ปลาอยู่ตรงหน้า ตะเกียบก็อยู่ในมือ จะช้าอยู่ทำไม ก็เขาอนุญาตแล้วนี่นา จะกินสักครั้งก็ไม่เห็นเป็นไรอย่างที่เจ้านายว่าเลย จะเครียดไปทำไมเนาะ

มือไม้แทบสั่นไปด้วยความอยาก ว่าแล้วก็หยิบปลาจิ้มโซยุ พลันคีบปลาเข้าปาก เคี้ยวด้วยความเอร็ดอร่อยสมอยาก มื้อนี้ก็แพ้กิเลสไปอย่างราบคาบ พอกลับมาบ้านก็ต้องมาสลดเพราะไปแพ้กิเลสมาอีกแล้ว แต่ก็ไม่ตีตัวเองเพิ่ม รู้แค่แพ้แต่ครั้งหน้าจะสู้ใหม่ (สู้ต่อไป ทาเคชิ!)

มื้อค่ำ…. ด้วยความที่กินผักมาทั้งวัน แถมยังเป็นมือใหม่ ทำให้น้ำย่อยในกระเพาะยังคงเหลืออยู่ เพราะแต่ก่อนกินแต่เนื้อ ต้องใช้น้ำย่อยเยอะ พอมากินผักน้ำย่อยเลยเหลือให้แสบท้องเล่น ว่าแล้วก็เดินไปเปิดตู้เย็น เห็นไส้กรอกหมูที่ซื้อมาเมื่อวานก่อน ถึงกลับกลืนน้ำลายดังเอื้อก

ภาพช้า… เมื่อเห็นไส้กรอก ก็พลันนึกถึงภาพ ตัวเองเอาไส้กรอกเข้าเตาไมโครเวฟ ปิดฝาตั้งตารอด้วยใจจดจ่อ นำมันออกมาพร้อมหั่นเป็นชิ้นอย่างบรรจง จิ้มซอสและมายองเนสนิดหน่อย เอาใส่ปากช้าๆ อั้มมม~

ดูเหมือนว่าสติจะหลุดลอยไปทันทีที่ได้เห็นไส้กรอก แต่โชคยังดีที่มีนมถั่วเหลืองอยู่ข้างๆอีกหนึ่งกลอ่ง

ภาพช้า… เมื่อเห็นนมถั่วเหลือง กับไส้กรอก น้ำหนักของไส้กรอกช่างหนักและดึงดูดเหมือนแม่เหล็กที่ดูดลูกเหล็ก นมถั่วเหลืองมันจะไปอิ่มได้อย่างไรมันต้องไส้กรอกสิ

ว่าแล้วก็หยิบไส้กรอกไปทำกินตามที่หมายไว้ เพราะแท้จริงแล้วเรากินไปด้วยความอยาก ไม่ได้กินเพราะความหิว การอดทนอดกลั้นมักจะมีขีดจำกัด และสะสมเป็นความเครียด ถ้าเราบริหารความเครียดไม่ดีก็จะออกมาในลักษณะของการตบะแตก ซึ่งเราควรประมาณให้ดี เมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆก็อย่าไปใกล้เนื้อสัตว์มากนัก อยู่ให้ห่างๆไว้ หรือซื้ออาหารจำพวกมังสวิรัติมาเตรียมไว้แทนเลยก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง

เห็นไหมว่าการถือศีลมังสวิรัติ เราจะได้สนุกกับการเห็นกิเลสขนาดไหน เราจะได้เจอกับกิเลสทุกวัน อย่างน้อยก็วันละ 2 – 3 มื้อเชียวนะ

5). ลีลาของกิเลส

กิเลสมักจะมีลีลาที่หลากหลาย มีการส่งข้อความ ส่งความทุกข์กดดันให้เรารู้สึกอยากเสพ เช่น ทำให้เราน้ำลายไหล ทำให้เราหิวเร็ว ทำให้เราอยากกิน ทำให้เรากลับไปกินด้วยประโยคเช่น กินๆไปเถอะ พลาดมื้อเดียวไม่เป็นไรหรอก, กินไปเถอะ เรากินเขา เขาได้บุญ , กินไปเถอะ อันนี้แพง หากินยาก , กินไปเถอะ ไม่มีใครรู้หรอก, กินไปเถอะแค่มีความสุขก็พอแล้ว , กินไปเถอะไม่ได้อยากจะเอาสวรรค์วิมาน , กินไปเถอะ เกรงใจเขา , กินไปเถอะ เราต้องใช้พลังงาน , กินไปเถอะมันอร่อยนี่นา , กินไปเถอะเดี๋ยวเขาหาว่าเราเรื่องมาก , กินไปเถอะ อย่าเคร่งนักเลย ฯลฯ เหล่านี้แหละ คือลีลาของกิเลส ส่วนกิเลสของใครจะปรุงลีลาออกมาหลากหลายเท่าไหร่ก็แล้วแต่ระดับความอยากของคนนั้น ยิ่งกิเลสมาก ก็จะยิ่งยาก ยิ่งซับซ้อน ต้องเพียรให้มาก

6). การพัฒนาไปเป็นลำดับ

ในระหว่างที่ปฏิบัตินั้น เราจะต้องใช้ปัญญาที่เป็นมรรค(ข้อปฏิบัติ วิธีการปฏิบัติ) คือเราจะกินมังสวิรัติอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ สุดท้ายเมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ จะได้ปัญญาที่เป็นผล(ผลเจริญ ความเจริญที่ได้)มาเป็นลำดับๆ เช่นถ้าเราไปในที่แบบนี้ เราก็จะกินอาหารชนิดนี้ หรือเราอาจจะไม่กิน หรือกินไปก่อน ก็ได้ นี่เป็นลักษณะของปัญญาที่ใช้ในเชิงโลกียะ ส่วนปัญญาในเชิงโลกุตระนั้นจะเป็นลักษณะของการเห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของการกินมังสวิรัติ

เมื่อปฏิบัติอย่างตั้งมั่น จะพบว่าตนเองสามารถตั้งศีลที่ยากขึ้นไปได้ (อธิศีล) โดยไม่ลำบากนัก เช่น ลดเนื้อสัตว์ได้แล้วยังสามารถที่จะลดไข่ได้อีก และมีพลังสติ พลังสมาธิ ความอดทนอดกลั้น (อธิจิต) เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติไปเป็นลำดับ รวมทั้งได้ปัญญาเพิ่มขึ้น (อธิปัญญา) จากการสู้สั่งสมปัญญาในแต่ละด่านที่ผ่านมา พลาดก็ได้ปัญญา ชนะก็ได้ปัญญา ทั้งหมดนี้เป็นความเจริญที่เป็นไปโดยลำดับ และเมื่อปฏิบัติสำเร็จจะได้ปัญญาชุดหนึ่งที่สามารถที่จะตัดกิเลสนั้นได้ ซึ่งกิเลสจะคลาย ณ จุดนี้ ในส่วนของปัญญานั้นเจริญไปต่อได้เรื่อยๆอย่างไม่มีจำกัด จนกว่าจะเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

7). ข้อสังเกต

ผู้ที่ตั้งศีลมังสวิรัติอย่างถูกต้องและมีปัญญา เมื่อไม่ได้กินเนื้อสัตว์ จะมีความรู้สึกหรือเวทนาที่แตกต่างกับตอนที่ยังไม่ได้ตั้งศีล ตอนที่เราไม่ได้ถือศีลนี้ เมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แต่เราไม่ได้กินเราก็จะทุกข์จากการที่ไม่ได้กิน ในส่วนของผู้ที่ถือศีลนั้น แม้จะมีเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า แต่เราก็จะฝืนไม่ยอมกิน เป็นทุกข์ที่เกิดจากการกดข่ม ฝืนใจกิเลส

ในส่วนของผู้ไม่ถือศีลแล้วทุกข์จากการไม่ได้กิน เรียกว่า เคหสิตโทมนัส , เคหะ หรือ ชาวบ้าน แบบบ้านๆ คนทั่วไป คือทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ได้เสพก็สุข เป็นไปในทางโลกียะ มีลักษณะ สุข ทุกข์สลับกันไปเรื่อยๆ เกิด ดับ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

ในส่วนของผู้ถือศีลแล้วทุกข์จากการไม่ยอมไปกิน เรียกว่า เนกขัมมสิตโทมนัส , เนกขัมมะ หรือ นักบวช เป็นการปฏิบัติแบบผู้บวช เป็นการปฏิบัติเพื่อที่จะหลุดออกจากโลกียะเข้าสู่โลกุตระเป็นความทุกข์ที่เกิดการที่เราฝืนกิเลส กิเลสจะสร้างความรู้สึกทุกข์ให้กับเรา เพื่อที่จะกดดันให้เราไปเสพ พร้อมด้วยเหตุผลต่างๆนาๆที่มันจะคอยเป่าหูเราให้เรากลับไปเสพ การปฏิบัติแบบเนกขัมมะคือการอดทนต่อสู้ ฝืน ทน ข่ม เราจะเจอแต่ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ และทุกข์ ไปตลอดทางของการปฏิบัติ แม้ว่าเราจะกลับไปเสพเราก็จะทุกข์ ทุกข์เพราะเรารู้สึกผิดต่อศีลมากกว่าสุขที่ได้จากเสพ

เมื่อวันหนึ่งหลังจากที่เราสามารถกดหัวกิเลสอดทนไม่ไปเสพและใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียจากความอยากกินของเรา จนรู้แจ้ง เห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นว่ากิเลสไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่เพียงผู้ที่มาอาศัยใช้ร่างกายและจิตใจของเราไปบำรุงบำเรอความอยาก เราทำลายกิเลสเหล่านั้นจนสิ้นเกลี้ยง แล้วเราก็จะพบกับสุข เป็นสุขแบบเนกขัมมะ สุขจากการฆ่ากิเลส จนกระทั่งสงบลงเป็นอุเบกขา และต่อจากนี้ทั้งชีวิตที่เหลือ ในชาตินี้และชาติหน้า เราก็จะไม่มีวันทุกข์กับเรื่องนี้อีกเลย

ในการถือศีลปฏิบัติในแบบเนกขัมมะนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถเข้าใจและปฏิบัติสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว บางคนอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน บางคนอาจจะเป็นปี บางคนสิบปี บางคนทั้งชีวิตก็อาจจะไม่มีวันเข้าใจเลยก็ได้ เพราะการปฏิบัติทางใจนี้เป็นเรื่องยากกว่าการปฏิบัติทางกายนัก มีความสลับซับซ้อนของกิเลสมากมายที่เราต้องคอยแก้ ในหลากหลายสถานการณ์

เหมือนดังสงครามที่รบกันไม่จบไม่สิ้นระหว่างเรากับกิเลส มีเมืองมากมายที่เราต้องไปตีคืนจากกิเลส ในขณะเดียวกันกิเลสก็ส่งกองทัพมาโจมตีเราเช่นกัน เราจึงต้องสู้กันไปกันมาอยู่แบบนี้กันหลายภพหลายชาติแล้ว ซึ่งผู้ที่คิดจะสู้ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่สู้ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติศีล ไม่ถือศีลก็เหมือนยอมให้กิเลสได้ครอบครองใจ บ้างก็อ้างว่าใจไม่มีกิเลส แต่พอได้ลองถือศีลกลับต้องพบว่ามีแต่ผีร้ายเต็มบ้านเต็มเมือง เต็มจิตใจของตัวเองไปหมด

การปฏิบัติในแบบเวทนาเนกขัมมะเช่นนี้ไม่ว่า พระ หรือฆราวาสก็สามารถทำได้ ไม่ได้หมายความว่าพระจะเป็นเนกขัมมะหรือฆราวาสจะเป็นเคหสิตะ แต่เรื่องนี้เป็นสภาพของจิต ที่จิตนั้นเป็นนักบวช หรือเป็นชาวบ้าน อยู่ที่ตัวเราปฏิบัติ

8). สมถะ-วิปัสสนา

ในการปฏิบัติศีล เราจะใช้สมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป โดยสมถะ คือการพักจิต เพิ่มพลังจิต โดยใช้วิธีนั่งสมาธิ เดินจงกรม ฯลฯ เพื่อเพิ่มพลังที่จะใช้ในการกดข่มกิเลสไว้

และวิปัสสนา คืออุบายทางใจ ที่จะใช้สร้างปัญญา ให้รู้เห็นจริงตามความเป็นจริง การจะฆ่าล้างกิเลสนั้นต้องใช้วิปัสสนาเป็นหลักจึงจะสามารถล้างกิเลสได้ ส่วนสมถะเป็นแรงเสริมให้วิปัสสนาสามารถคงสภาพได้ยาวนานขึ้น เป็นเครื่องหนุน เครื่องช่วย

เราจะวิปัสสนาโดยการพิจารณาความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย พิจารณากรรมและผลของกรรม ของความอยากเสพเนื้อสัตว์ เช่น ทำไมฉันต้องอยากกิน ฉันติดใจอะไรในเนื้อสัตว์นั้น มันอร่อยตรงไหน กินผักแทนไม่ได้หรือ กินแล้วเบียดเบียนเป็นกรรมของเราจะดีได้อย่างไร ให้ใช้ปัญญาหาเหตุพิจารณาโทษของการกินเนื้อสัตว์ และประโยชน์ของการกินผัก อย่างซ้ำๆ ย้ำๆ ด้วยความเพียรพยายาม แม้บางครั้งจะต้องพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็ควรจะพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งจะได้ปัญญาที่จะสามารถชำระกิเลสนี้เอง

9). ข้อควรระวังในการปฏิบัติ

ความหลงไปในธรรมมักจะเกิดได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะความเข้าใจผิดเรื่องสมถะ ผู้ที่หลงในสมถะ หลงในภพ หลงในการปฏิบัติแบบฤาษีจะเข้าใจผิดไปว่าเป็นการปฏิบัติของตนเป็นแบบวิปัสสนา เมื่อกดข่มเก่งๆ จะเข้าสู้ภาวะกดข่มแบบอัตโนมัติ สามารถดับจิตที่เกิดได้โดยอัตโนมัติ ทำให้ไม่เห็นตัวกิเลส และไม่เห็นตัวทุกข์ ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นนิโรธแบบดับสนิท ดำมืด ไม่รู้อะไรเลย และไม่ใช่สัมมามรรค เป็นการปิดตัวเองไว้ในภพ หรือสภาวะที่ตนสุขใจ ติดภพ ติดชาติ ไปอีกนาน ยากที่จะบรรลุธรรม

10). ตรวจสอบ

ในขั้นแรกก็ต้องทดสอบในระดับของการร่วมโต๊ะกับคนอื่นที่ยังกินเนื้อให้ได้ก่อนว่าเราไหวหรือไม่ เรายังอยากไปกินกับเขาหรือไม่ เขาตักเนื้อสัตว์มาให้เราแล้วเราอยากกินหรือไม่ แม้เราจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์นั้น เรายังคิดห่วงหา คิดเสียดายโอกาสนั้นหรือไม่

ถ้าอยากรู้ว่าเราผ่านด่านความอยากของเนื้อสัตว์ได้จริงไหม ก็ลองกลับไปกินดูก็ได้ ถ้าเรากินแล้วไม่รู้สึกว่าอร่อย ไม่รู้สึกว่าติดใจ สามารถทิ้งได้ ละได้ วางได้ เมื่อละมาแล้วจิตใจไม่พะวง ไม่อาลัย ไม่เสียดาย ก็ถือเป็นใช้ได้

11). กาม-อัตตา

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือการฆ่ากิเลสในทางโต่งของกามของการเสพเนื้อสัตว์เท่านั้น เมื่อเรากินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขแล้ว เรายังต้องกลับไปล้างกิเลสในฝั่งของอัตตาด้วย นั่นคือทางโต่งอีกด้านที่เราจะไปติด

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในบทธัมมจักกัปปวัตนสูตร ว่าด้วยเรื่องทางโต่งทั้งสองด้าน ให้พึงละเสีย คือทางหนึ่งโต่งไปด้านกาม (กามสุขัลลิกานุโยค) คือการทรมานตนด้วยการเสพ อีกทางหนึ่งโต่งไปทางด้านอัตตา (อัตตกิลมถานุโยค) คือการทรมานตนด้วยความยึดดีถือดี

เมื่อเราละเนื้อสัตว์เราจะผ่านกามและอัตตาในมุมเนื้อสัตว์ แต่เราจะมาติดกามและอัตตาในมุมของคนที่ไม่อยากกินเนื้อสัตว์ หรือการติดดีนั่นเองเป็นส่วนกลับของกิเลสทุกตัว เหมือนเป็นด้านมืดที่เรียกว่านรกคนดี ซึ่งก็ต้องล้างไปด้วย

กามในอัตตาที่เราต้องล้างต่อไปคือการความอยากกินแต่ผัก ไปแนะนำ ไปสั่งสอน ไปเพ่งโทษ ทำร้ายทำลายใจคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ส่วนอัตตา คือ ความยึดว่าต้องกินแต่ผัก ความยึดดี ถือดี คิดว่าตนเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์แล้วจึงยึดว่าตนนั้นดีเลิศ ทำแบบตนสิดี ไม่มีใครดีเท่าตน

เมื่อเราสามารถพ้นนรกคือการกินเนื้อสัตว์และพ้นนรกจากความเกลียดคนกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว จึงจะสามารถพบกับความสุขแท้หรือทางสายกลางได้นั่นเอง ทางสายกลางไม่ใช่ทางที่แค่พูดและเข้าใจความหมายแล้วจะเข้าถึงได้แต่ต้องปฏิบัติทำลายทางโต่งทั้งสองด้านจนเข้ารูปเข้ารอยของทางสายกลาง ซึ่งเป็นทางเอกทางเดียวในการพ้นทุกข์หรือสัมมาอริยมรรค นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

24.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ศรัทธาของคนใกล้ตัว

September 24, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,610 views 0

ศรัทธาของคนใกล้ตัว

ศรัทธาของคนใกล้ตัว

เราคงจะเคยสงสัยกันว่า ทำไมความรัก ความเคารพ ความเอื้ออาทรต่อกัน น้ำใจ สิ่งดีต่างๆ กลับมีให้กันน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป

ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อเริ่มแรกก็มักจะดึงดูดเข้ามาด้วยความชอบ ความรัก เราเข้าหาสิ่งของ สัตว์ และผู้คนด้วยความชอบ ไม่ว่าจะผู้หญิง ผู้ชาย พ่อแม่ พี่น้อง ต่างมีจุดเริ่มต้นกันด้วยความชอบหรือไม่ชอบทั้งนั้น

ความไม่ชอบนั้นทำให้เราผลักตัวเองออกจากสิ่งนั้นได้ง่าย ทำให้มันห่างหาย สลาย หรือตายจากออกจากชีวิตเราได้ง่าย นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะถ้าเราไม่ชอบ แล้วสิ่งนั้นไม่เกี่ยวกับเรามันก็จะหายไป แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าแม้เราจะไม่ชอบ แต่จะถูกความดี คุณค่าของสิ่งนั้น หรือกรรม ทำให้กลับกลายมาเป็นชอบ จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ดังนั้นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่จะดำเนินต่อไปก็มักจะเป็นความชอบ แต่ความรู้สึกเหล่านี้ กลับเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในทิศทางที่เป็นบวกและเป็นลบ เราจะมากล่าวถึงในทางลบกันก่อน

ศรัทธาที่ลดน้อยลง….

เด็กน้อย… เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก พ่อแม่ก็ให้ความรัก อุ้มชู เอาใจทุกอย่าง แต่พอโตมากลับเริ่มปล่อย เริ่มรู้สึกว่าไม่ศรัทธาลูกตัวเองเหมือนก่อน จากที่เคยเป็นเทวดาตัวน้อย กลับกลายเป็นภาระของชีวิต สร้างปัญหา สร้างความทุกข์ นั่นเพราะอะไร? เพราะแรกรักนั้นมักเต็มไปด้วยความเสน่หา รักเพราะหลง แต่พอได้เจอกับนิสัยจริงของเขา ได้รับรู้ว่าเขาเป็นอย่างไร ก็เริ่มจะหมดศรัทธาในตัวเขา นำมาซึ่งความไม่เชื่อใจกันในครอบครัว ตอนเขายังเป็นเด็กเรายังฟังเขา แต่พอเขาโตมาเราเริ่มไม่ฟังเขา นอกจากจะไม่ฟังเขาแล้วเรายังจะไปยัดเยียดความเป็นเราให้เขาอีก จนเกิดสภาพพูดกันยากในครอบครัว ดังจะเห็นได้ว่า คนส่วนใหญ่มักจะไม่ปรึกษาปัญหาชีวิตกับพ่อแม่ แต่ไปปรึกษากับเพื่อนแทน เพราะอะไร เพราะเราศรัทธาเพื่อนมากกว่า ที่พ่อแม่ได้แสดงออกถึงความศรัทธาในกันและกันเหมือนเมื่อก่อน

คนในครอบครัว… เป็นภาพที่สะท้อนความเสื่อมศรัทธาภายในครอบครัวในปัจจุบันได้อย่างดี บางครั้งเราอาจจะนึกสงสัยว่าทำไม เพื่อน คนข้างนอก คนอื่นๆ กลับรู้จัก รู้ถึงคุณค่าของตัวเราได้มากกว่าครอบครัว บางครั้งเราไปสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ มีคนหลายคนรับรู้ แต่ครอบครัวกลับไม่รู้ บางทีก็ไม่ได้สนใจ นั่นก็เพราะความเคยชิน เราอยู่กันมา 20 ปี 40 ปี 60 ปี เราจึงเคยชินกับสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้จัก ทุกคนคิดว่าตนเองรู้จักคนอื่นในครอบครัวดี ทั้งๆที่ในความจริงแล้วแต่ละคนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา กิเลสของแต่ละคนทำให้เรามีเวลาร่วมกันน้อย คุยกันน้อย เข้าใจกันน้อย แต่ปัญหาคือเราไปยึดมั่นถือมั่นว่าเรารู้จัก เพียงแค่เพราะเราเกิดมาในครอบครัวเดียวกัน ความคิดนี้เป็นความประมาท เพราะไม่มีสิ่งใดเที่ยง แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ความประมาทในความสัมพันธ์จึงนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อกันและกัน ส่วนครอบครัวที่ศรัทธากันและกันนั้นคงมี แต่คงจะมีอยู่ไม่มาก

เพื่อนสนิท… เมื่อแรกพบกัน เป็นเพื่อนกันด้วยกิจกรรมที่ชอบร่วมกัน ชอบในความสนุกเฮฮา มีน้ำใจ มีศรัทธาให้แก่กันเต็มเปี่ยม เชื่อใจกัน สามัคคีกัน แต่พออยู่ๆกันไป ทำกิจกรรมกันไป เริ่มจะมีปัญหา ต่างคนก็ต่างมีอัตตา เริ่มจะชิงดีชิงเด่น เอาตัวเองเป็นใหญ่ เริ่มจะไม่ยอมกัน ศรัทธาที่มีต่อกันก็เริ่มจะลด บางครั้งกลายเป็นแตกความสัมพันธ์ ทะเลาะกันจนถึงขั้นพยาบาทก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป

คนรัก… เมื่อแรกรักกันก็หวานชื่น ชี้ไม้เป็นนก ชี้นกเป็นไม้ ยอมให้กัน ตามใจกัน เอาใจกันทุกอย่าง พอได้เสพสมใจกัน ได้คบหากันสักพัก หรือแต่งงานกัน ก็จะเริ่มพบกับความเสื่อมของความรัก เห็นความรักนั้นค่อยๆคลาย และค่อยๆพรากจากไป ศรัทธาที่เคยเกิดขึ้นเพราะหมอกแห่งความรักก็จะค่อยๆเริ่มจางหายไป เมื่อได้พบกับชีวิตจริง เมื่อคนมีกิเลสสองคนมาอยู่ด้วยกัน มันไม่ง่ายเลยที่จะสามารถสนองกิเลสให้กันได้ตลอด เมื่อสนองไม่ได้ก็เริ่มจะหมดศรัทธาต่อกันและกัน นำมาซึ่งความเบื่อหน่ายในความรัก อยู่กันไปทั้งรักทั้งชัง หรือหย่าร้างกันไป

คนที่เคารพ….หัวหน้าที่เคารพ ผู้นำที่เคารพ แรกๆมาเจอกันก็ยังรู้สึกศรัทธา รู้สึกว่าเก่ง แต่พออยู่กันไป ทำงานร่วมกันไปสักพัก กลับพบว่ามีเรื่องยุ่งวุ่นวายมากมาย เดี๋ยวคนนั้นก็จะเอาอย่างนี้ เดี๋ยวคนนี้ก็จะเอาอย่างนั้น จากเจ้านายที่เคยเคารพศรัทธา กลายเป็นคนที่น่าเอือมระอาได้ในที่สุด

….การที่ศรัทธานั้นลดลง เป็นเพราะเขาเหล่านั้นมีกิเลส เมื่อคบหากันแรกๆคนเราก็จะไม่เอากิเลสของตัวเองออกมาเปิดเผย แอบซ่อนไว้ ทำให้ดูดี ทำให้น่าเคารพ แต่พอคบกันนานวันไป มันก็กดข่มยาก มันก็ปิดไม่มิด มันก็เอาความอยากได้เอาแต่ใจ เอาอารมณ์ไปใส่กับคนอื่น

เช่นเดียวกันกับตัวเรา การที่เราศรัทธาคนอื่นลดลง หรือคนอื่นศรัทธาเราลดลง เพราะเรามีกิเลส บางครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัวว่าทำไมเราต้องรู้สึกไม่ดีกับคนนั้นคนนี้ ทั้งๆที่ตอนแรกก็รู้สึกหลงรักชอบพอใจกับเขา นั่นก็เพราะเราติดดี ยึดดี หวังให้เขาดีดังใจเราทุกอย่าง เราเจอเขาครั้งแรก เราก็เห็นว่าเขาดี เราก็เลยอยากให้เขาดีอย่างใจเราหมายตลอด โดยที่ไม่ได้เข้าใจเลยว่าความดีที่เห็นนั้นก็ไม่เที่ยงพอเขาคบกันไปก็เริ่มเห็นความไม่ดี เราก็ผิดหวัง เราทุกข์ บางทีคนเรายังไปคาดหวังให้คนอื่นดีขึ้นอีกด้วย การคงสภาพความดีว่ายากแล้ว การทำตัวให้ดีขึ้นนั้นยากยิ่งกว่า โอกาสในการผิดหวังก็จะยากขึ้นไปด้วย

และการที่คนอื่นศรัทธาตัวเราลดลงนั้น ก็เพราะเรามีกิเลสที่เผยออกมาโดยไม่รู้ตัว โดยไม่ทันระวังตัว เพราะเมื่อคนเราสนิทกันมากๆ ก็จะได้รับโอกาสในการเห็นธาตุแท้ของกันและกัน ซึ่งเราไม่สามารถที่จะรู้ง่ายนัก ถ้าเพื่อนผู้คบหาคนนั้นไม่ได้บอกข้อเสียนั้นแก่เรา บางครั้งอาจจะบอกหรือเตือนกันสายเกินไป อาจจะทำให้ใครบางคนหายไปจากชีวิตเรา หรือเกิดการทะเลาะเบาะแว้งเพราะความเอาแต่ใจของเรา

กัลยาณมิตร…

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า การที่เราจะพัฒนาไปสู่ชีวิตที่ผาสุกอย่างยั่งยืนได้นั้น เราต้องมีมิตรดี คือกัลยาณมิตร คือ เป็นผู้ที่เราไว้ใจ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา สามารถเห็นข้อผิดพลาดในตัวเรา วิเคราะห์แยกแยะ ช่วยแก้ปัญหา ชี้แจงได้ สามารถเตือนเราได้และ เราสามารถยอมรับคำเตือนของมิตรคนนี้ได้โดยไม่โกรธเคือง และยังต้องพากันไปทางเจริญ

ตัวเราก็เช่นกัน นอกจากเขาจะเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อเราแล้ว เราเองก็ต้องเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อเขา ความสัมพันธ์ขาเดียวไม่มีทางไปได้ไกล หากใครคนใดคนหนึ่งหวังแต่จะพึ่งพาคนอื่น อีกคนก็คงต้องเหนื่อยและจากไปในวันใดวันหนึ่ง แต่ถ้าหากเราเกื้อกูลกัน เป็นมิตรดีของกันและกัน รักกัน เคารพกัน ให้อภัยกัน พากันสู่ความเจริญ แน่นอนว่าปัญหาในชีวิตนั้นจะแก้ง่ายขึ้นอีกมาก

ศรัทธาที่เพิ่มมากขึ้น….

ศรัทธาที่จะเพิ่มมากขึ้นได้อย่างยั่งยืนนั้น ไม่ได้มาจากความหลง หรือความลำเอียงใดๆ เพราะความรู้สึก รัก ชัง หลง กลัว นั้นไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน แปรเปลี่ยนผกผันได้ตลอดเวลา

การที่ศรัทธาจะเพิ่มได้นั้น เกิดจากการที่เราลดกิเลส เมื่อเราลดกิเลสด้วยการปฏิบัติศีล ปฏิบัติธรรม ขัดเกลาจิตใจตัวเองให้ดี ไม่ให้กิเลสนั้นได้กระจายออกมาทำความเดือดร้อนให้คนอื่น เมื่อเราทำกิจกรรมการงานในชีวิตโดยสังวรระวังไม่ให้กิเลสของตัวเองไปกระทบใคร ก็จะทำให้บาป ความชั่ว รวมทั้งวิบากกรรมก็จะลดน้อยลง เพราะเราไม่ได้ทำชั่วแล้ว ในทางเดียวกัน การทำดีในแต่ละกิจกรรมก็จะยิ่งส่งผลดีมากขึ้นเพราะไม่มีกิเลสมาคอยขัดขวาง นั่นหมายถึงเราสามารถเข้าถึงสิ่งที่ดี เข้าถึงบุญกุศลที่มากกว่าได้ หากเราลดกิเลส

คนรอบข้างที่เคยเสื่อมศรัทธาจากเราก็จะรู้สึกได้ถึงการพัฒนาของเรา โดยที่เราไม่ต้องไปประกาศบอกใครว่าเราเป็นคนดี เป็นคนเก่งเพียงแค่เราลดกิเลสไปเรื่อยๆ ทำความดีไปเรื่อยๆ ความดีนั้นจะนำมาซึ่งศรัทธา เป็นศรัทธาที่แท้ และไม่เสื่อม เพราะเป็นศรัทธาที่เกิดจากปัญญา เห็นถึงคุณค่าที่มีในตัวเรา ไม่ใช่ศรัทธาด้วยความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะต้านทานความเสื่อมได้ คือการทำให้เกิดผลเจริญขึ้นในตัวเรา เป็นการเปลี่ยนแปลง เป็นความไม่เที่ยงที่เป็นไปในทางบวก ทางเจริญ ทางแห่งบุญ

– – – – – – – – – – – – – – –

23.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เมาบุญ

September 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,171 views 0

เมาบุญ

เมาบุญ

การที่เรามีศาสนาเป็นที่พึ่ง มีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งเรามักจะวางตัวห่างไกลจากความพอดี บ้างก็เป็นศาสนานั้นแต่ในทะเบียนบ้าน บ้างก็นับถือศาสนานั้นอย่างมัวเมา หรือที่เรียกกันว่า “เมาบุญ

ความหลงมัวเมาในบุญนี้ มักเกิดจากความศรัทธาที่ไม่มีปัญญา จึงมัวเมาลุ่มหลงอยู่ในสิ่งที่สังคมเขาเห็นว่าดี ดังจะเห็นได้จากการทำบุญทำทานอย่างเกินพอดีจนตนเองและครอบครัวลำบาก การใช้เวลาไปกับวัดและการบำรุงศาสนาจนบกพร่องในหน้าที่ของตัวเอง การยึดดีถือดีติดดีจนทำให้คนรอบข้างเอือมระอา ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของการ “มัวเมา

การทำบุญทานอย่างเมาบุญนั้น เบียดเบียนตนเองและคนอื่นอย่างไร?

การทำบุญทำทานที่ทำเพราะอยากได้บุญนั้น ไม่มีทางที่จะได้บุญเลย เพราะการทำทานที่ได้บุญคือการทำทานที่พาให้เราลดกิเลส แต่การทำเพราะอยากได้อยากมี คือการเพิ่มกิเลส ดังนั้นไม่มีทางได้บุญอยู่แล้วแต่อานิสงส์ก็ยังจะมีอยู่บ้าง ในส่วนของการเบียดเบียนคือการทำทานเกินความพอดี บางครั้งแทนที่จะได้ใช้ทรัพย์นั้นไปทำกุศลอย่างอื่นก็ไม่ได้ใช้ บางทีก็ต้องไปเรี่ยไรขอเงินจากคนอื่นเพื่อมาสมทบความอยากได้บุญในกองบุญของตนเองอีก ความไม่พอดีจึงกลายมาเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

การใช้เวลาไปกับวัดบำรุงศาสนามาก ไม่ดีอย่างไร?

การใช้เวลากับการไปวัดและบำรุงศาสนามาก ถ้าเป็นนักบวชก็ถือว่าดี ยิ่งใช้เวลาศึกษาธรรม ก็จะยิ่งเป็นการบำรุงศาสนา คือการทำให้ตัวเองให้มีความเป็นพระยิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบันฆราวาสมักจะใช้เวลาที่มากไปกับการไปวัด ไปทำงานบำรุงศาสนา จนมักจะเห็นศาสนาดีกว่าทุกสิ่ง ทำให้บกพร่องในหน้าที่ของตนเอง เช่นแทนที่จะดูแลกิจกรรมการงาน กลับเอาเวลาไปวัด แทนที่จะดูแลคู่ครองครอบครัว กลับเอาเวลาไปวัด สุดท้ายงานและครอบครัวก็มีปัญหา เพราะตนทำหน้าที่บกพร่อง แต่ด้วยความติดดีจึงโยนความผิดไปให้คนอื่นและบอกว่าศาสนาของตนดีเลิศ การที่ตนให้เวลากับศาสนาเป็นสิ่งดี เป็นความเข้าใจที่มัวเมาหลงผิดซ้ำซ้อน เพราะแท้จริงแล้วศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้คนละทิ้งหน้าที่ แต่ให้ทำหน้าที่ของตัวเองไปพร้อมๆกับการบำรุงศาสนาอย่างสอดคล้องในชีวิตประจำวันโดยไม่ให้บกพร่อง

การยึดดีถือดีติดดี เป็นอย่างไร?

ขึ้นชื่อว่าการยึดมั่นถือมั่นก็ไม่ดีอยู่แล้ว แต่การยึดดี ถือดี ติดดีเหล่านี้ ผู้ที่ติดมักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดดี แม้ว่าจะมีคนมาทัก หรือแนะนำก็จะไม่ยอมรับว่าตัวเองติดดี และไม่ระวังตัว มักจะใช้ความดีที่ตนมีอยู่ เข้าไปทำหน้าที่ตัดสิน พิพากษาคนที่เขาพลาดทำชั่วอยู่เรื่อยไป โดยเฉพาะคนที่เมาบุญ พอเจอคนที่เขาไม่เอาดีในการทำบุญทำทานก็จะเริ่มเพ่งโทษเขา ตำหนิเขา มองว่าที่ตนทำนั้นดี แต่ที่เขาทำไม่ดี มองว่าตนดีเขาไม่ดี มองแบบนี้ก็ติดดีแล้ว เข้าใจแบบนี้ก็ยึดดีเข้าแล้ว

เมาบุญ เมาโลกธรรม

การเมาบุญยังมีระดับการเมาที่หลงไปในระดับที่ลึกยิ่งกว่า นั่นคือเมาบุญในระดับหลงโลกธรรม คือหลงยึดติด ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

เมาบุญหลงลาภ เช่น การทำทานที่เข้าใจไปว่าจะนำมาซึ่งความเจริญ เช่นคิดว่าทำทาน 1 พัน แล้วจะได้กลับมา 1 ล้าน หรือคิดว่าทำบุญ 1 ล้านแล้วจะสามารถซื้อนิพพาน ซื้อสวรรค์วิมานอยู่ได้ ตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ เป็นการหลงเมาบุญในเชิงของลาภหรือในลักษณะของการเอาลาภไปแลกลาภ

เมาบุญหลงยศ เช่น การที่เขาเหล่านั้นได้มีโอกาสดูแลใกล้ชิดพระเกจิอาจารย์ หรือพระดังต่างๆ บางครั้งถึงขนาดใช้เวลาไปเสาะหา ติดตามพระดังทั้งหลาย พระรูปไหนที่เขาว่าดีก็ตามไปหมด เพื่อที่จะเสริมคุณค่าและบารมีให้กับตัวเอง หลงมัวเมาไปว่าพระดัง หรือวัดดังเหล่านั้นจะเป็นบุญบารมีคุ้มกันภัยให้ตนเองได้ หรือถึงขั้นเอาครูบาอาจารย์ไปอวดอ้างเพื่ออวดเบ่งบารมีของตนเอง ว่าฉันนี่แหละที่เป็นศิษย์ท่านนั้นท่านนี้ ฉันดูแลพระรูปนั้นรูปนี้ เพราะมัวเมาหลงบุญหลงยศไปพร้อมๆกัน

เมาบุญหลงสรรเสริญ เช่น การมีความอยากในการเป็นประธานของงานบุญใหญ่ งานกุศลสำคัญต่างๆ หลงคิดว่าการที่ตนได้เป็นประธานนั้นจะนำมาซึ่งบุญที่มากกว่า จึงมีการจองเป็นประธานงานกฐิน กันแบบข้ามปี บางวัดก็จองกันข้ามชาติคือชีวิตนี้ตัวเองคงไม่ทันแล้วเลยจองไว้เผื่อลูกหลาน อาจจะเพื่อให้ลูกหลานทำบุญให้ตัวเองด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เกิดจากความเมาสรรเสริญร่วมด้วย คืออยากให้คนเคารพนับหน้าถือตา ให้คนเขามาชม ให้มีเรื่องไปอวดชาวบ้าน ว่าเป็นตนนี้เป็นผู้ใหญ่ที่ใจบุญน่าเคารพยกย่อง จึงชอบไปทำบุญทำทานเพื่อการได้หน้า เพราะเขาเหล่านั้นหลงมัวเมาไปในบุญพร้อมกับเมาสรรเสริญ

เมาบุญหลงสุข เช่น ผู้ที่ทำบุญทำทานทั่วไป เมาไปในการทำบุญ หลงสุขติดสุข ถ้าไม่ได้ทำบุญจะไม่สุข ชีวิตต้องทำบุญ ในระดับเสพติดการทำบุญทำทานในลักษณะของทางโลก เช่น ทำทาน บำรุงวัด บริการพระ ฯลฯ เขาเหล่านี้จะหลงมัวเมาในบุญโลกียะเหล่านี้ ทำให้ติดหลงสุข ไม่ปฏิบัติในธรรมที่สูงกว่า ดีกว่า วิเศษกว่า เพราะมัวแต่พอใจกับกุศลทางโลก จึงเป็นความมัวเมาที่มาบดบังกุศลที่แท้จริง

…..เราจะเห็นผู้ที่เมาบุญในระดับของโลกธรรมเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มจะมีความสมบูรณ์ในชีวิต มีการงานดี มีครอบครัวดี มีลูกน้องบริวารดี เขาเหล่านั้นก็จะเริ่มหากิเลสในระดับที่มากขึ้นมาปรนเปรอตัวเอง โดยการเลือกมัวเมาไปกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งเขาหลงเข้าใจไปว่าสิ่งเหล่านั้น จะทำให้ตัวเขามีความสุข

เมาบุญในระดับอบายมุข

และถ้าหากมัวเมาในบุญมากๆ ก็มักจะหลงไปในการเมาถึงระดับของเดรัจฉานวิชา ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำและหยาบ นอกจากจะไม่เกิดบุญอย่างที่เข้าใจแล้ว ยังสร้างความหลงมัวเมาบาปอกุศลในระดับที่มากอีกด้วย

คนที่เมาบุญจนขาดสติมักจะไปหลงมัวเมาในผู้บวชเป็นพระ หรือเกจิอาจารย์ที่ทำเดรัจฉานวิชา แล้วหลงเข้าใจว่าสิ่งนั้นคือบุญ สิ่งนั้นคือกุศล สิ่งนั้นคือสิ่งดี เช่นกิจกรรมเหล่านี้คือ ทายนิมิต ทำนายฝัน ทำพิธีเป่าเสก ทำนายทายทักวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ หมอผี หมอลงยันต์ ดูฤกษ์ ดูดวง ดูดาว ทำนายฟ้าฝน ทรงเจ้า ทำพิธีเชิญขวัญ พิธีบนบาน การแก้บนต่างๆ รดน้ำมนต์ ฯลฯ (ดูเพิ่มเติมในมหาศีล)

เหล่านี้คือเดรัจฉานวิชา คือวิชาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นวิชาที่พาโง่ โดยคนโง่ เพื่อคนโง่ พาให้หลงมัวเมาในกิจกรรมอันไม่เป็นกุศล ไม่เป็นบุญ ไม่พาลดกิเลส ไม่พาพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญ ท่านให้เว้นเสียจากกิจกรรมการงานพวกนี้ คนที่หลงมัวเมาไปก็มีแต่จะเพิ่มทุกข์ คนที่ใช้วิชาเหล่านี้ก็มีแต่จะเพิ่มวิบากบาปให้ตนเอง เพราะไปทำให้คนอื่นหลงมัวเมา เพื่อแลกกับการเสพ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และเป็นการเพิ่มกิเลสของตัวเองด้วย

ดังจะเห็นได้ว่า ความเมาบุญ นี้มีมิติที่หลากหลายลึกซึ้ง บ้างเมาน้อย บ้างเบามาก ไปตามเหตุปัจจัยที่แต่ละคนทำมา ผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกตรง ทำดีมาก มีปัญญามาก ก็จะสามารถเห็นโทษภัยจากการเมาบุญในระดับต่างๆได้อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันผู้ที่มีกิเลสหนา มีวิบากบาป จะแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนที่เป็นกุศลหรืออกุศล สิ่งไหนที่เป็นบุญหรือบาป วิธีออกจากความโง่เขลาเหล่านี้คือทำบุญทำทานให้มาก เสียสละให้มาก ช่วยเหลือผู้อื่นให้มาก ถือศีลให้เคร่งครัด แล้วก็จะออกจากนรกนี้ได้เอง

– – – – – – – – – – – – – – –

23.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง

September 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,834 views 0

ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง

ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง

ถือศีลกันมาก็นานแล้ว เราเคยตรวจสอบกันบ้างไหมว่าจิตใจของเราเจริญขึ้นมาอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะศีลข้อ ๑ คือให้เว้นขาดจากการฆ่าทำร้ายทำลาย ทำชีวิตสัตว์ให้ตกร่วง ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เบียดเบียนสัตว์ เราสามารถถือศีลข้อนี้ได้ดีอยู่หรือไม่ แล้วการถือศีลข้อนี้ ได้ทำให้จิตใจของเราเจริญขึ้นอย่างไร จะแบ่งปันประสบการณ์ให้ได้ลองทบทวนกัน

ผ่านมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน ผมยังเป็นอย่างคนทั่วไป มดกัดบี้มด ยุงกัดตบยุง เหตุการณ์ล่าสุดที่ผมยังจำความอำมหิตโหดร้ายของตัวเองได้ดีคือ คือเมื่อครั้งไปเที่ยวเขาใหญ่กับเพื่อนๆ กลางปี 2012 ที่ผ่านมาไม่นานนี่เอง

เนื่องจากเป็นหน้าฝน ก็เลยมีทากมาก พอเดินเข้าไปน้ำตก ก็มีทากเกาะบ้าง พอมันเกาะแล้วกัดเรา เราก็ดึงออกไม่มีอะไร ทีนี้พอเดินผ่าน เดินเล่น ทำกิจกรรมอะไรเล็กน้อยเสร็จแล้วก็มานั่งพักกัน เพื่อนสังเกตว่ามือเราเลือดไหล เราก็สงสัยว่าไม่ได้เจ็บไม่ได้เป็นแผลอะไรนี่ ทำไมเลือดไหลเยิ้ม สุดท้ายก็มาเจอตัวการคือทากหนึ่งตัว

เมื่อได้เห็นตัวการและผลงานที่มันทำ ผมจึงหยิบมันมาบี้ๆด้วยความแค้นที่เย็นชา ไม่มีคำพูดคำด่าอะไร รู้แค่อาฆาตมัน บี้แล้วมันไม่ตายก็เลยวางลงบนพื้นแล้วเอาพื้นรองเท้าบี้และขยี้จนมันแหลกไปกับพื้น ด้วยความสะใจ

ผมยังจำสายตาของเพื่อนที่มองการกระทำของผมได้อย่างดี มองคนที่ใจดำอำมหิต ที่ฆ่าได้อย่างเลือดเย็น ด้วยวิธีที่โหดร้ายรุนแรง ผมยังจำบาปที่ทำในตอนนั้นได้ดี เป็นสิ่งที่เก็บไว้สอนใจอย่างไม่มีวันลืม

เรียนรู้ธรรมะ

จนเมื่อวันที่ผมได้ก้าวเข้ามาใกล้ชิดกับธรรมะมากขึ้น เรียนรู้เรื่องศีลมากขึ้น แต่ก่อนผมก็คิดนะเรื่องถือศีล๕ ก็ถือบ้างไม่ถือบ้าง แต่พอได้ศึกษาเรียนรู้มากขึ้น จึงได้พบว่าศีลนั้นมีคุณค่ามากกว่าแค่การถือ ศีลเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เราพัฒนาและเจริญเติบโตได้ ถ้าเรายังไม่เข้าใจคุณค่าของศีล หรือถือศีลตามเขาไปโดยที่ไม่รู้เนื้อหาสาระ ก็จะไม่มีวันพัฒนาได้เลย

ศีลที่ผมเรียนรู้มาคือศีลที่มีไว้เพื่อให้เห็นกิเลส เป็นเครื่องบีบคั้นให้จิตใจได้ต่อสู้กับกิเลส ได้แพ้กิเลส ได้ล้างกิเลส ซึ่งก่อนหน้านี้มันมีแต่แพ้กับกดข่ม เพราะไม่เคยสู้เลย ผมถือศีลแบบยอมกิเลสมาตลอด อะไรพออดทนไหวก็ทำไป อะไรไม่ไหวก็ศีลแตกบ้างก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอได้เรียนรู้คุณค่าแห่งศีลแบบนี้แล้ว ก็เลยใช้ศีลนี่แหละเป็นตัวขัดเกลาตนเอง

เมื่อผมปฏิบัติศีลมาอย่างตั้งมั่น ได้พบกับความโกรธ ความอาฆาตของตัวเองอยู่หลายครั้ง เพราะมีศีลเป็นเครื่องจับผี จับจิตใจที่โกรธเคืองของเราได้อย่างดีและดักมันไว้อย่างนั้นจนกว่าเราจะทำอะไรสักอย่างกับมัน ผมได้มีโอกาสฝึกกับยุงที่มากัดตั้งแต่ขั้นกดข่ม คือมันกัดแล้วก็แค้นนะ แต่ไม่ตบ จนเจริญมาถึงเรื่องที่กำลังจะเล่าต่อไป

ผลของการปฏิบัติศีล– เรื่องของยุง

เมื่อวานก่อนผมนอนงีบหลับพักผ่อนอยู่ รู้สึกเจ็บคัน บริเวณขา จึงรู้แน่นอนว่ายุงกัด ก็เลยไม่ขยับตัวสักพัก ปล่อยให้มันดูดไป เพราะหากเราขยับตัวหรือบิดตัว ก็เกรงว่าจะทำให้มันตายได้ หรือไม่มันก็บินกลับมาดูดเลือดอีกจุดอยู่ดี การไม่ยอมให้มันดูดเลือดในครั้งนี้จึงไม่เป็นผลดีกับใครเลย ก็เลยปล่อยให้มันดูดไปอย่างนั้น ไม่ได้โกรธแค้นอะไรมัน

ทีนี้รอสักพักมันคงดูดเสร็จแล้ว เราก็งีบต่ออีกหน่อยจนลุกขึ้นมาทำงานต่อ มียุงตัวหนึ่งบินมาวนเวียนหน้าโต๊ะทำงาน ท้องของมันป่อง เต็มไปด้วยเลือด มันบินช้าเพราะมันหนักเลือดที่ท้อง บินวนอยู่ก็หลายรอบ

ในใจก็สงสารมันนะ มันคงออกไม่ได้ แต่จะทำอย่างไร จะไปจับมัน ก็กลัวจะพลาดผิดเหลี่ยมผิดมุมตายคามือ ก็คิดอยู่สักพัก ตัดสินใจว่าถ้ามันบินผ่านหน้ามาอีกครั้งจะลองจับดู และแล้วมันก็บินผ่านหน้ามาอีกที ผมค่อยๆ เอามือไปล้อมมัน โชคดีที่มันกินอิ่มมันจึงบินช้า เลยจับไว้ในอุ้งมือได้ง่ายๆ

ผมเก็บมันไว้ในอุ้งมือ และเปิดกระจกออกพอประมาณมือสอดออก เพราะเกรงว่าเดี๋ยวมันจะบินผิดทิศ บินกลับเข้ามาในห้องอีก พอยื่นแขนออกไปได้สักหน่อยก็คลายมือออก ยุงตัวนั้นก็บินจากไปตามทางของมัน

ผลของการปฏิบัติศีล– เรื่องของแมงป่อง

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อตอนไปทำงานที่ไร่ ตื่นนอน ทำธุระยามเช้า ขับรถออกจากบ้านเช่า ไปถึงไร่ก็ระยะ 2 กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อถึงก็จอดรถ ขณะที่กำลังจะลงจากรถก็รู้สึกว่ามีตัวอะไรมาไต่แขน ซึ่งตอนนั้นใส่เสื้อฝ้ายแขนยาว จึงนึกไปว่าแมงมุม ไม่รู้จะทำอย่างไรเลยไปจับผ้าเบาๆ เพื่อล็อกมันไม่ให้ขยับก่อนที่จะเปิดประตูรถออกไปเพื่อเหย่ามันออก แต่มันก็ไม่ออก แถมยังต่อยอีก ทันทีที่โดนต่อย ก็อาการปวดร้อนรุนแรงขึ้นมาทันที จึงถอดเสื้อแล้วสะบัดออก พบว่าเป็นแมงป่อง ซึ่งน่าจะเป็นแมงป่องบ้าน ตัวไม่ใหญ่มาก มันก็ค่อยๆเดินหนีเข้าไปตามซอกดินที่แตก

ในขณะที่โดนแมงป่องต่อย ไม่ได้มีความโกรธแค้นเลยแม้แต่นิดเดียว มีแต่ความเจ็บปวดที่แขน คือทุกข์ที่เกิดจากพิษ ส่วนใจยังเป็นห่วงว่ามันจะโดนบี้ในตอนถอดเสื้อ เพราะเสื้อแขนยาวนั้นไม่ได้ตัวใหญ่ หรือหลวมมากนัก เมื่อเห็นมันตกลงมาและเดินต่อได้ โดยภาพที่เห็นมันก็ครบองค์ประกอบดี ทำให้รู้สึกสบายใจที่ไม่ได้ไปฆ่ามัน สบายใจที่มันยังดีอยู่เหมือนเดิม รู้สึกได้เลยว่าจิตอิ่มเอิบไปด้วยเมตตา

ทั้งๆที่ในความจริง(แบบโลกๆ)แล้ว เราควรจะโกรธ ควรจะแค้น สิ่งที่มาทำเราเจ็บ แต่ความรู้สึกเหล่านั้นกลับไม่เกิดเลย

สรุปผล

ดังตัวอย่างเรื่องยุงและเรื่องแมงป่อง ผมจึงได้เห็นจิตใจที่พัฒนาของตัวเอง จากเป็นคนที่โกรธง่าย อาฆาตแรง แค้นฝังใจ กลับกลายเป็นคนที่ไม่โกรธ นอกจากจะไม่โกรธแล้วยังรู้สึกว่ามีเมตตา อยากให้มันพ้นภัย จนกระทั่งกรุณาคือลงมือทำให้มันเป็นสุข เช่นการนำยุงไปปล่อย มีความมุทิตา คือยินดีเมื่อมันสามารถหนีไป จากไป ได้แบบเป็นสุขดี และอุเบกขาตรงที่ปล่อยให้มันเป็นไปตามบาปบุญของมันต่อไป

การถือศีลนั้น จึงเป็นการถือเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสออกจากจิตใจของตนเอง มากกว่าที่จะถือไปเพราะมัวเมา เพราะหลง เพราะงมงาย เพราะเห็นว่าเขาถือกัน เพราะได้ยินเขาพูดกันว่าดี แต่ถือเพราะเรามีปัญญารู้ถึงคุณค่าของศีลนั้น เราจึงใช้ศีลนั้นเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเอง

ถ้าไม่มีศีล หรือไม่ถือศีล เราก็จะไม่เห็นกิเลสของเรา ถ้าถือศีลบ้างไม่ถือศีลบ้าง หรือถือศีลแบบเหยาะแหยะ หยวนๆ ลูบๆคลำๆ ไม่เอาจริงเอาจัง ก็จะกลายเป็นไม่ได้อะไรเลย จะดีก็ไม่ดี แต่จะชั่วก็ไม่ใช่ เป็นอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

ดังนั้นการจะถือหรือยึดสิ่งใดมาอาศัย เราจึงควรพิจารณาให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งนั้น เข้าถึงประโยชน์ของสิ่งนั้นด้วยปัญญารู้จริงถึงประโยชน์ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการรู้แจ้ง ศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาที่พาให้หลงงมงาย หลงมัวเมา แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความดีก็ตาม

การตรวจสอบศีลของเราก็เอาจากเรื่องง่ายๆในชีวิตประจำวันแบบนี้ละนะ ถ้าแค่เรื่องง่ายๆ เรื่องเบาๆ เรายังทำไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะทำศีลที่ยากกว่า หนักกว่า รุนแรงกว่า ได้เลย

– – – – – – – – – – – – – – –

23.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์