โสด แก่ตัวไปใครจะดูแล

September 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,993 views 1

โสด แก่ตัวไปใครจะดูแล

โสด แก่ตัวไปใครจะดูแล

ความแก่และความเจ็บป่วยเป็นปัญหาที่ทำให้คนโสดหลายคนเป็นกังวล แม้ว่าจะไม่ได้คิดมีคู่เพื่อเสพสุขอะไร แต่ก็ยังอยากมีครอบครัวไว้เพื่อประกันอนาคตตัวเอง ซึ่งความกังวลเหล่านี้จะหมดไปหากเข้าใจในเรื่องกรรม

การมีครอบครัว มีคู่ครอง มีลูกหลาน ไม่ได้เป็นหลักประกันเลยว่าจะมีคนดูแลเมื่อยามแก่เฒ่า แม้หน้าตาของมันจะดูเหมือนว่าจะมีในตอนแรก แต่ก็ไม่แน่ว่าสุดท้ายเมื่อถึงเหตุการณ์นั้นจริงจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็มีให้พบเห็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน ว่าพ่อแม่แก่เฒ่าที่ถูกทิ้งไว้ลำพัง คู่ครองหรือลูกหลานที่เคยหวังว่าจะได้มาช่วยกันกลับต้องเป็นภาระแก่กันและกัน หรือไม่ก็ด่วนจากไปก่อนก็มีถมไป

คนที่มีกรรมที่จะต้องถูกทิ้งให้เดียวดายไปจนแก่ ไม่มีคนดูแล ก็ต้องได้รับผลกรรมเช่นนั้น ส่วนคนที่มีกรรมที่จะต้องมีคนดูแล ถึงจะมีครอบครัวหรือไม่มีก็ตาม เขาก็จะต้องได้รับผลกรรมเช่นนั้นเหมือนกัน

ในที่นี้ก็จะกล่าวกันถึงในบริบทที่ไม่พูดถึงกรรมเก่าเลย คือไม่มีกรรมที่จะมีคนมาดูแลเลย เพราะไม่เคยทำกรรมดีนั้นไว้ แล้วเราจะทำอย่างไร กรรมใหม่ที่เราจะทำนั้นจะทำได้ดีแค่ไหน ลองมาเปรียบเทียบกันในมุมคนมีครอบครัวกับคนที่ไม่มีครอบครัวกัน

คนมีครอบครัว(มีคู่)

… ขอบเขตในการทำกรรมดีของคนมีคู่จะกระจุกอยู่ที่คู่ของตน ลูกหลานของตน อย่างดีก็จะไปถึงวงญาติของตน แต่การจะขยายออกไปทำดีกับคนอื่นๆนั้นมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ทำได้ไม่เต็มที่ กรรมส่วนใหญ่จึงไปมีน้ำหนักตกอยู่กับคู่ครองและลูกหลาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคู่ครองและลูกต้องมาเป็นผู้ใช้กรรมนั้น ความดีที่ทำไปแล้วก็สะสมผลดี เป็นกุศลกรรมให้ตนเองได้รับผลนั้น ในวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่ง

คนไม่มีครอบครัว(โสด)

… คนโสดนั้นไม่มีข้อจำกัดในการทำกรรมดี สามารถช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่นได้อย่างเต็มที่ สามารถเอาชีวิต เอาเวลาทั้งหมดไปทำกรรมดีได้เลย ยกตัวอย่างเช่น การดูแลพ่อแม่และญาติก็สามารถทำได้สะดวกกว่าคนคู่ หรืองานจิตอาสา คนโสดก็สามารถเอาเวลาว่างจากการทำงานทั้งหมดไปสร้างกรรมดีได้มากมาย เอาไปดูแลคนอื่นได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องคู่ครองหรือลูก ไม่ต้องมีบ่วงหรือภาระที่คอยฉุดรั้งไม่ให้ทำดี

โดยเฉพาะกิจกรรมที่เป็นกุศลมาก เช่นการบวช หรือการปวารณาตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น คนโสดก็สามารถทำได้อย่างเต็มที่ สามารถสร้างกรรมดีได้มากเท่าที่เขาจะมีปัญญาทำได้ ซึ่งเรียกได้ว่ามีโอกาสที่จะสร้างกรรมดีได้มากกว่าคนมีครอบครัวมาก ทั้งหลากหลายกว่า ทั้งมีปริมาณมากกว่า และมีโอกาสที่จะได้ไปใกล้ชิดกับหมู่คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมากกว่าวนเวียนอยู่กับครอบครัวตนเองและหมู่ญาติ

แล้วใครจะดูแลคนโสด?

สัจธรรมที่เราไม่สามารถหนีพ้นได้เลย คือ เรามีกรรมเป็นของของตน เราเป็นทายาทของกรรม เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ไม่ว่าเราจะทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม เราต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน

นั่นหมายความว่า กรรมดีที่ได้ทำนั้นก็จะดูแลคนทำที่กรรมนั้นเอง กรรมจะจัดสรรเหตุการณ์ให้ได้รับผลกรรมดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนที่ใช้ชีวิตเพื่อดูแลคนอื่น ก็ย่อมจะได้รับผลกรรมนั้น เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่ดูแลลูก ก็จะได้รับผลของกรรมดีนั้นในวันใดวันหนึ่ง คนโสดก็เช่นกัน แม้ว่าเขาจะไม่มีคู่ครองหรือลูกหลาน แต่ถ้าหากเขาใช้เวลาที่มีนั้นเสียสละตนเอง ดูแล ช่วยเหลือ เกื้อกูลผู้อื่น เขาย่อมได้รับผลกรรมเหล่านั้นเช่นกัน

การที่เรามุ่งทำกรรมดีเช่นนี้ไม่ใช่เพราะเราหวังจะให้ใครเข้ามาดูแลเรา เราเพียงแค่มุ่งทำกรรมดีให้มากที่สุดเท่าที่พอจะมีกำลังทำได้ ส่วนผลนั้นจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามกรรม เราไม่หวังผลดี แต่เรามุ่งทำดี เพราะเรารู้แน่ชัดในใจอยู่แล้วว่า ทำดีก็ต้องได้ดี ไม่ได้ชาตินี้ก็ได้ชาติหน้า

ซึ่งในกรณีที่มีผลกรรมดีมาส่งผลให้มีคนมาดูแลในยามแก่ชราแม้จะโสดนั้น จะเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ที่ทำกรรมดีไว้มากพอเท่านั้น ทำเท่าไหร่ก็ได้รับผลเท่านั้น ไม่มีขาด ไม่มีเกิน ซึ่งคนที่หลงระเริงในชีวิต ไม่เคยก่อกรรมดี ก็ย่อมไม่ได้รับผลเหล่านั้น ซึ่งจะทำให้เขาเป็นกังวลเรื่องความเป็นอยู่ในอนาคตเช่นกัน

ดังนั้นเมื่อคนโสดกลัวเรื่องอนาคตก็ต้องหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ หาสิ่งที่จะมาผูกมัดให้อนาคตของตนมั่นคง หาตัวช่วยให้ตนได้ทำกรรมดี และสุดท้ายก็จะเปลี่ยนจากคนโสดเป็นคนคู่ที่พัฒนาความสัมพันธุ์ไปจนเป็นครอบครัวไปในที่สุด

คนโสดที่เข้าใจเรื่องกรรม จะไม่กังวลในจุดนี้ จึงไม่จำเป็นต้องแสวงหาสิ่งใดๆมาประกันอนาคตของตัวเอง เพราะรู้ดีว่ากรรมดีที่เราทำนี่แหละ คือสิ่งที่จะประกันอนาคตของเรา ดังนั้นเขาจึงแสวงหาโอกาสในการสร้างกรรมดี เข้าร่วมกิจกรรมที่จะสร้างกรรมดี อยู่กับหมู่คนที่จะพากันทำกรรมดี และเข้าหาผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการสร้างกรรมดี

สรุป…ถ้าถามว่าคนโสดจะพึ่งใคร ก็ตอบว่า ก็พึ่งพากรรมของตัวเองนั่นแล

– – – – – – – – – – – – – – –

9.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

Related Posts

  • Run for your lives (Karma) ชีวิตบนทางที่ขีดไว้ด้วยกรรมและผลของกรรม Run for your lives (Karma) ชีวิตบนทางที่ขีดไว้ด้วยกรรมและผลของกรรม การกระทำใดๆ ไม่ว่าจะดีและร้าย ล้วนสั่งสมลงเป็นกรรม เป็นพลังงานที่ถูกสะสมเอาไว้ […]
  • ฉันผิดตรงไหน ฉันผิดตรงไหน ...เมื่อความรักได้ผ่านพ้นไป ทิ้งไว้เพียงแค่คำถาม ที่ไม่รู้คำตอบ ในบางครั้งเราอาจจะได้ยินเรื่องราวของความรักที่จบไปอย่างไม่มีเหตุผล บางคู่คบกันมาเนิ่นนานกลับต้องมาเลิกรากันด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง […]
  • โสด ไม่เบียดเบียน โสด ไม่เบียดเบียน สัตว์โลกนั้นเบียดเบียนกันด้วยความอยากเป็นธรรมดา เพื่อที่เราจะเบียดเบียนกันได้อย่างสบายใจ เราจึงสร้างความลวงขึ้นมาบดบังความจริง ดังเช่นว่าการมีครอบครัวเป็นสุข เพื่อปิดบังความจริงที่ว่าการมีครอบครัวนั้นเบียดเบียน […]
  • แฟนคนไหนดี แฟนคนไหนดี แฟนในอดีตก็ผ่านไปแล้ว แฟนในอนาคตก็ยังไม่มาสักที แฟนในปัจจุบันก็ดูจะไม่ไหว หรือจริงๆแล้วไม่มีแฟนจะดีกว่า? เรื่องของการมีคู่เป็นหนึ่งในปัญหาโลกแตกที่วนเวียนกันไม่จบไม่สิ้น […]
  • 30+ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์( โลกธรรม ) 30+ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์( โลกธรรม ) เมื่ออายุล่วงเลยเข้าไปถึงสามทศวรรษ สิ่งต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไป ทั้งร่างกาย ความคิด […]

Comments (1)

  1. ความกังวลหนึ่งของคนโสด คือกลัวตอนแก่ ตอนป่วย ตอนจะตายไม่มีคนดูแล
    เพราะเขาดันไปเข้าใจผิดว่ามีครอบครัวแล้วครอบครัวจะดูแล ถ้าไม่มีครอบครัวคือไม่มีคนดูแล…(โลกแคบมากกกกก)

    ความเห็นแบบนี้เหมือนผลักตัวเองไปในทางตัน พยายามตัดทางเลือกในการเป็นโสดของตน สร้างอุปสรรคในการเป็นโสดของตน ทั้งๆที่ความจริงแล้วอนาคตคนโสดมันไม่ได้แคบและมืดมนขนาดนั้น

    เวลาตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงแก่นี่ไม่คิดจะสร้างประโยชน์จะสานสัมพันธ์กับใครเลยหรือ? ไม่คิดจะมีเพื่อน มีกลุ่มที่มีความคิดเห็นเดียวกันเลยหรือ? คิดจะพึ่งพิงสิ่งที่เรียกว่าสามีภรรยาและลูกอย่างเดียวเลยหรือ?

    พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้เอาผัว เอาเมีย เอาลูกเป็นที่พึ่งนะ ท่านให้เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ท่านยังตรัสอีกว่า มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีเป็นทั้งหมดทั้งสิ้นแห่งการพ้นทุกข์ นั่นหมายความว่าให้พาตัวเองไปอยู่ในหมู่ของคนที่ปฏิบัติดี หรืออยู่ในหมู่สงฆ์นั่นแหละ ให้พึ่งพิงสงฆ์คือผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ทั้งในเชิงของสังคม และสงฆ์ในความหมายของการปฏิบัติเพื่อพาตนเองให้พ้นทุกข์ด้วย

ฝากความคิดเห็น : Leave a Reply