Tag: อบายมุข

สวยสมัยนิยม

November 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,891 views 0

สวยสมัยนิยม

สวยสมัยนิยม

…ความสวยงามที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัยตามกิเลสของคน

ในแต่ละยุคสมัยนั้นคนเรามักมีนิยามความสวยต่างกันไป เช่นยุคเรเนซองส์เขาก็มักจะมองผู้หญิงอวบอ้วนสมบูรณ์ว่าสวย แต่ในยุคสมัยนี้กลับไม่คิดเช่นนั้น การที่เรามองและวิจารณ์ไปว่าสิ่งใดสวยหรือไม่สวย น่าดูหรือไม่น่าดูนั้น มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนอย่างมาก

เช่นในยุคสมัยหนึ่งของจีน นิยมใส่รองเท้าดัดเท้าให้เล็ก โดยมีเหตุผลต่างๆนาๆ ทำให้เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สวยและดูดี เมื่อมีคนคิดว่าสวยก็กลายเป็นแฟชั่น ค่านิยม หลายคนทำตามด้วยความหลง หลงไปว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้มีคุณค่า สิ่งนี้สังคมยอมรับ ทั้งๆที่เป็นเรื่องของกิเลสที่ปรุงแต่งกันไปเอง หากคนสมัยนี้มองกลับไปแล้วก็คงต้องสงสัยว่าทำกันไปได้อย่างไร ทั้งลำบาก ทั้งเจ็บ ทั้งทรมาน และที่สำคัญ มันไม่เห็นสวยตรงไหนเลย

นี่คือความคิดที่ผิดยุคผิดสมัย หากเราคิดว่าไม่สวยในสมัยนั้น ณ ที่ตรงนั้นของจีน เราก็จะเป็นคนตกยุค แต่ถ้าใครมาทำสิ่งนั้นในสมัยนี้ก็จะกลายเป็นคนหลงยุค

ในยุคนี้ก็มีความสวยที่สมัยนี้นิยมเหมือนกันในกรณีเรื่องเท้าในยุคนี้ก็มีเติมแต่งกันด้วยการใส่รองเท้าส้นสูง ที่เพิ่มความสูงและความสวยงาม รวมทั้งการทาเล็บเท้าด้วยสีต่างๆ ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ไร้สาระและไม่จำเป็นทำให้ชีวิตลำบาก เสียเงิน เสียสุขภาพและเสียเวลา แต่คนที่หลงว่ามันทำให้สวย หลงในความสวยก็ยังยินดีจะหา จะเอาสิ่งเหล่านั้นเขามาในชีวิตตนเหมือนสมัยที่จีนทำการดัดเท้าเพราะเชื่อว่ามันสวย

ยังมีความเข้าใจเรื่องความสวยอีกมากมายในยุคนี้ที่เป็นเรื่องตลกที่ทุกคนให้ความสำคัญอย่างจริงจังจนเรื่องไร้สาระกลายเป็นเรื่องจำเป็น เช่นการแต่งหน้าแต่งตาที่ดูจะสิ้นเปลืองแต่คนก็ยังยอมเอาเงินไปซื้อ การยอมฉีดสารเคมีต่างๆเพื่อให้ได้มาซึ่งความแต่งตึง การศัลยกรรมที่ดูแล้วยังไงก็น่าจะเจ็บปวดแต่ทำไมคนถึงยอมแลก หรือแม้แต่การแต่งตัวจนโป๊จนเกือบเปลือยสร้างค่านิยมโชว์เนื้อหนังซึ่งจริงๆ เนื้อหนังก็เป็นของสามัญที่ทุกคนก็มีแต่กลับสร้างให้เป็นเรื่องแปลกและน่าดู แม้จะดูเพี้ยนสุดๆแต่คนในยุคนี้ก็ยังทำกันไปได้

หากคนในอนาคตมองย้อนกลับมาก็อาจจะสงสัยและงงๆว่าคนในยุคนี้ทำไปได้อย่างไร ทั้งการแต่งหน้า ทั้งศัลยกรรม ทั้งการล่อลวงด้วยเนื้อหนัง ท่วงท่า ลีลาทั้งหลาย พวกเขาเป็นสุขกับของหยาบ กิเลสหยาบอย่างนี้ได้อย่างไร ทำไมคนยุคนี้ถึงได้ปรุงแต่งกิเลสกันออกมาได้แบบนี้ นี่คือสภาพที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่มีสิ่งใดคงทนถาวร แม้แต่เรื่องของความเชื่อในเรื่องความสวยงาม

…เราหลงในความสวยนั้นอย่างไร?

คนส่วนใหญ่นั้นหลงมัวเมาไปกับความสวยงามตามยุคสมัย เชื่อปักใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือความสวย คือคุณค่า คือความสุข สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กิเลสหลอก เรียกว่าเป็นอุปาทานหมู่ ซึ่งหลายคนก็ยินดีที่จะแต่งหน้า แต่งตัว ฉีดสารพิษ รวมไปถึงศัลยกรรมตกแต่งให้ร่างกายตัวเองเป็นไปตามความนิยมในยุคสมัยนั้น

กิเลสที่หลอกเราอยู่นั้นหากกล่าวกันกว้างๆก็คืออวิชชา แต่การรับรู้ว่ามันคือความไม่รู้หรือความหลงนั้นไม่สามารถช่วยให้เราเห็นกิเลสได้ ซึ่งจะยกตัวอย่างของรูปแบบและกิเลสที่ฝังอยู่ในความอยากสวยอยากงามกันด้วยกิเลสใน 4 หมวดหมู่ นั่นคือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม และอัตตา

อบายมุข … เป็นความหลงในความสวยในระดับมัวเมา เมามายไปกับการทำให้เกิดความสวยเช่น คนที่เสพติดศัลยกรรม เสพติดการแต่งหน้า ต้องซื้อเสื้อผ้าทุกอาทิตย์ ต้องไปสปา ต้องไปเข้าคอร์สเสริมความงาม เหล่านี้เป็นความหลงกับความสวยในระดับหยาบ ในระดับที่ต่ำ อยู่ในขุมนรกที่ลึกที่สุด ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา

กามคุณ … คือการหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทั่วไป ซึ่งในกรณีของความงามนั้นก็คือผิวงาม เสียงงาม กลิ่นงาม เอาง่ายๆว่าโดยรวมขอให้ดูดีไว้ก่อน ผู้ที่ติดกิเลสในระดับของกามนั้นจะมัวเมาน้อยกว่าระดับอบายมุข ซึ่งจะไม่เน้นการเสริมความงามที่ต้องทรมาน หรือเติมแต่งจนลำบาก แต่ยังมีความอยากแต่ง อยากสวย ซึ่งถ้าบำรุงบำเรอกิเลสมากๆ ก็จะเสื่อมลงไปสู่อบายมุขได้เช่นกัน

โลกธรรม … คือการหลงไปในโลก ในเรื่องของโลก เช่นสังคมเขาว่าต้องสวยแบบนี้ ต้องงามแบบนี้ ต้องหุ่นดีแบบนี้ก็เชื่อตามเขา เขาว่าอย่างไรก็ตามเขา พอไม่เป็นเหมือนอย่างเขาก็จะไม่มีความมั่นใจ คนที่ถูกกิเลสในระดับโลกธรรมจูงไปนั้น จะไม่มีความอยากสวยเป็นส่วนตัวสักเท่าไรนัก แต่ความกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าไม่สวยนั้นยังรุนแรงอยู่ โลกธรรมยังเป็นแรงผลักดันให้กิเลสโตไปถึงขั้นอบายมุขได้เช่นกัน เพราะคนที่สนใจเสียงคนรอบข้างได้ ก็อาจจะโดนสังคมพาลงไปสู่อบายมุขได้เช่นกัน

อัตตา … คือรากแท้ของกิเลส คือความหลงว่าต้องสวย หลงว่าเกิดมาแล้วต้องงาม ต้องดูดีจึงจะมีคุณค่า รวมถึงความรู้สึกมั่นใจลึกๆว่าฉันสวย ฉันดูดี ฉันมีคนนิยม คือมีตัวเราของเรา ความรู้สึกเหล่านี้ทั้งหมดคือสิ่งที่ยึดไว้ให้ตัวเรานั้นยังแสวงหาการเติมเต็มความสวยความงามให้คงอยู่ตลอด ซึ่งแท้จริงแล้วกิเลสนี้คือต้องการการยอมรับ ต้องการความสนใจ ต้องการมีตัวตน พอมีต้องการมีตัวตนก็เลยสร้างตัวตน เกิดมาเป็นคนสวย แม้ไม่สวยก็จะทำให้สวย จนยึดเป็นตัวเป็นตนต่อไปอีกที ยึดมั่นถือมั่นกันไม่ปล่อยไม่วาง ก็เลยต้องเกิดมาเสพความสวยที่ตัวเองยึดไว้กันไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว

…เราจะออกจากความหลงนั้นอย่างไร

ความหลงในความสวยนั้น หากเรายังไม่เห็นสิ่งนั้นว่าเป็นกิเลส ไม่เห็นว่าเป็นภัย ยังคงเห็นว่าการปรุงแต่งให้ความสวยนั้นคงอยู่หรือสวยยิ่งขึ้นเป็นความสุข เป็นความจำเป็นในชีวิต ก็จะไม่สามารถออกจากกิเลสได้

ในขั้นแรกต้องศึกษาให้รู้จริงด้วยใจตัวเอง ยอมรับด้วยใจตัวเองว่าความอยากสวยเหล่านี้ล้วนเป็นกิเลส ล้วนเป็นสิ่งเศร้าหมอง ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และไม่มีตัวตนอยู่จริง สิ่งที่เราเห็นทั้งหมดนั้นคือตัวตนที่เราสร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น จริงๆแล้วความสวยไม่มีอยู่ เหมือนกับความสวยที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั่นแหละ

เมื่อเห็นความอยากสวยนั้นเป็นกิเลสก็ให้เพียรพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าความอยากสวยนั้นเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นประโยชน์อย่างไรหากจะทำลายความอยากสวย จะมีกรรมอะไรบ้างที่เราต้องรับหากยังยึดติดกับความสวยเหล่านั้น

เพียรพยายามไปจนกระทั่งปัญญานั้นเต็มรอบก็จะสามารถดับกิเลสนั้นๆได้เอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากเราได้เพียรพิจารณาอย่างถูกตัวถูกตรงกิเลส คือติดกิเลสตัวไหนก็พิจารณาตัวนั้น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม พิจารณาไล่มาเรื่อยๆจะจบที่อัตตาเอง

เมื่อพิจารณาจนหมดความยึดมั่นถือมั่นในความสวย ก็จะสามารถออกจากนรกแห่งความสวย หลุดจากวงจรของความสวยสมัยนิยม ไม่ต้องทุกข์เพราะความไม่สวย ไม่ต้องมารับกรรมจากความสวย ไม่ต้องสนใจเรื่องไร้สาระเหล่านี้อีกต่อไป เมื่อไม่มีเหตุให้ทุกข์ก็ไม่เป็นทุกข์ และความหมดทุกข์นั่นเองก็คือความสุขที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

20.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ

November 4, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,621 views 0

คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ

Download ภาพขนาดเต็ม กดที่นี่

คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ

ในกลุ่มของมังสวิรัติวิถีพุทธ เราจะใช้การฝึกและปฏิบัติไปในแนวทางของศาสนาพุทธ คือเพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ เพราะเป้าหมายของการเป็นมังสวิรัติในความหมายของมังสวิรัติวิถีพุทธ คือผู้ที่ไม่มีความอยากกินเนื้อสัตว์หลงเหลืออยู่ในจิตวิญญาณเลย

เมื่อเราพูดถึงเรื่องของการกำจัดความอยาก การละความอยาก หรือการทำลายกิเลสนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความรู้และความเข้าใจในศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือ เป็นกระบวนการ เป็นเครื่องตรวจสอบ ฯลฯ

ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นต้องเรียบเรียงธรรมะเข้ากับการกินมังสวิรัติ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติหรือ “มังสวิรัติวิถีพุทธ” ด้วยองค์ความรู้ใน 9 หมวดหมู่ดังนี้

1 ). ทาน ศีล ภาวนา… เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ

การเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในมังสวิรัติวิถีพุทธ ต้องเริ่มตามลำดับจากการรู้จักการให้ทาน การถือศีล ไปจนกระทั่งการภาวนา

การให้ทานที่รู้กันโดยทั่วไปนั้นคือการทำบุญทำทาน การสละสิ่งของ ในกรณีเริ่มต้นก็จะเป็นการทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ ส่งเสริมการกินมังสวิรัติ ให้ความรู้มังสวิรัติกับคนอื่น แต่ทานที่จะให้ผลมากนั้นคืออภัยทาน คือทานที่ไม่มีภัย เป็นทานที่สละกิเลส สละความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ออกไป โดยใช้กระบวนการของการถือศีล และภาวนา

การถือศีลคือความตั้งมั่นที่จะลด ละ เลิก การเสพ การติดการยึดความสุขจากการกินเนื้อสัตว์ อย่างจริงจังในช่วงใดช่วงหนึ่งหรือตลอดไปการถือศีลมีหลายลักษณะ เช่น การถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ,การถือศีลเหยาะแหยะ , การถือศีลเพื่อฆ่ากิเลส การถือศีลหรือเข้าใจศีลแต่ละแบบเป็นไปตามบุญบารมีที่แต่ละคนได้สะสมมา

ศีลเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้เห็นกิเลส ให้เห็นว่ายังมีบาป บาปคือการสะสมกิเลส การที่ไม่ถือศีลก็เหมือนคนที่ทำบาปแต่ไม่รู้ว่าบาป บาปนั้นมีอยู่เพียงแต่ไม่เห็น

การภาวนาคือการทำให้เกิดผลเจริญ เป็นการพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นกิเลสที่หยาบ ร้าย สร้างทุกข์ โทษ ภัยผลเสียอย่างไรโดยเริ่มเรียนรู้สุขจากความอยากเสพ ทุกข์จากความอยากเสพ และวิธีดับทุกข์คือการล้างความอยากเสพนั้น

ผู้ที่จะเริ่มเข้าสู่การปฏิบัติมังสวิรัติวิถีพุทธควรจะเริ่มเรียนรู้จากทาน ศีล เจริญมาจนถึงภาวนา การจะรู้และเข้าใจการภาวนาได้นั้น เกิดจากการที่เราได้ปฏิบัติทานและศีลมาด้วยบุญบารมีที่เต็มรอบ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงภาวนาได้ บางคนติดอยู่ที่ระดับทาน บางคนติดอยู่ที่ระดับศีล สามารถสังเกตได้จากเขาเหล่านั้นไม่ยินดีประพฤติธรรมที่สูงกว่า เจริญกว่า ดังนั้นใครอยู่ในฐานใดก็ควรจะปฏิบัติตามฐานของตน เป็นกรรมฐาน เป็นฐานะตามกรรมของตัวเอง

2 ). ศีล สมาธิ ปัญญา… เป็นกระบวนการปฏิบัติ

ศีล สมาธิ ปัญญานั้นเป็นการปฏิบัติที่เป็นไปในทางเดียวกัน ไม่แยกจากกัน ปฏิบัติอย่างสอดคล้องกัน ไม่มุ่งเน้นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ผลักไสสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ปฏิบัติไปพร้อมๆกัน เป็นองค์ประกอบเดียวกัน

เริ่มจากการปฏิบัติศีล ศีลของมังสวิรัติวิถีพุทธก็คือ การละเว้นจากการเบียดเบียน ซึ่งเป็นศีลข้อ ๑ ที่ให้ละเว้นการฆ่าสัตว์ แต่เป็นศีลที่อยู่ในระดับของอธิศีล คือละเอียดกว่าทั่วไป ยากกว่าทั่วไป เพราะนอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้ว เรายังไม่เบียดเบียนด้วย และเรายังต้องมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายด้วย สภาวะเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะคิดเอาได้ แต่ต้องเกิดจากการปฏิบัติศีล อย่างมีสมาธิ จนเกิดปัญญา

การตั้งศีลนั้นเริ่มจากมีปัญญา เข้าใจถึงประโยชน์ของศีล หากไม่มีปัญญาก็จะไม่ยินดีในการถือศีล เมื่อถือศีลแล้วจึงปฏิบัติศีลนั้นด้วยความตั้งมั่น มั่นคงในศีล มีสมาธิ มีสติ มีขันติ เพื่อดำรงให้ศีลไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย ใช้ปัญญาพิจารณาโทษของการมีความอยากเสพเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปัญญาที่เป็นมรรค กลายเป็นปัญญาที่เป็นผลเจริญ คือเข้าใจได้ตามจริงโดยไม่มีกิเลสมาปนเปื้อนว่า ความอยากเสพเนื้อสัตว์ มีทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย อย่างไร

เมื่อปฏิบัติศีล ด้วยสมาธิ และมีปัญญาแล้ว ผลสุดท้ายที่ได้คือมีสภาวะของศีลในจิตใจอย่างเป็นปกติ ถือศีลได้ปกติ ถือเหมือนไม่ได้ถือ มีอยู่แต่ไม่ได้ถือ ไม่ลำบากในการมีศีล เหมือนสิ่งที่รวมเข้าไปในวิญญาณ มีความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์เป็นเรื่องปกติในชีวิต และมีปัญญาในการหลีกหนีสถานการณ์ที่ต้องไปกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีศิลปะ

3 ). สมถะ วิปัสสนา… เป็นแนวทางปฏิบัติ

การปฏิบัติธรรมนั้น จำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องของสมถะ วิปัสสนาด้วย เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราไปสู่จุดหมายได้ง่ายขึ้น

สมถะ คืออุบายทางใจ โดยทั่วไปจะเป็นการฝึกจากการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ซึ่งโดยหลักของสมถะแล้ว เป็นการกำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง จุดใดจุดหนึ่ง เราสามารถประยุกต์สมถะเข้ากับชีวิตประจำวันได้ เช่น การทำอาหาร การล้างผัก การหั่นผัก หรือกิจกรรมที่เป็นไปในลักษณะซ้ำๆ มีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการฝึกสมถะทั้งสิ้น

สมถะ นี้คืออุปการะของการวิปัสสนา เป็นส่วนเสริมพลังให้กับการวิปัสสนาได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มพลังสติ พลังสมาธิ ที่ช่วยในการกดข่มความอยาก ดับความคิดที่ฟุ้งซ่านได้ดียิ่งขึ้น ผู้ที่ต้องการบรรลุธรรมไวก็จะทำสมถะไปควบคู่กับการวิปัสสนา

วิปัสสนา คืออุบายทางปัญญา เป็นการพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง เมื่อเรามีความอยากเสพเนื้อสัตว์อยู่ เราก็จะมีความลำเอียงไปเพราะรักและหลงในเนื้อสัตว์ วิปัสสนาจะเข้ามาแก้ไขความเห็นผิดในจุดนี้

การทำวิปัสสนานั้นกระทำโดยใช้พื้นฐานของการถือศีลกินมังสวิรัติให้ได้เห็นกิเลส เมื่อเราถือศีลเราจะเห็นทุกข์จากกิเลส คือความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ชัดเจน เมื่อเห็นดังนั้นจึงพิจารณาทุกข์จากความอยากเสพเนื้อสัตว์ เช่นทุกข์เมื่อไม่ได้กินและทุกข์เมื่อไม่ได้เสพเนื้อที่อร่อยสมใจ

พิจารณาความไม่เที่ยงของความสุขที่ได้จากความอยากเสพเนื้อสัตว์ แม้ว่าเราจะอยากกินเนื้อสัตว์มากๆแล้วไปเสพ มันก็จะมีความสุขได้ครู่เดียว สุขตอนที่เอาเข้าปาก ตอนที่เคี้ยว พอกินอิ่มสุขนั้นก็หายไป ไม่เหมือนตอนกิน อีกไม่นานก็อยากกินเนื้อสัตว์ใหม่ สุขจากเสพมันไม่เที่ยงแบบนี้

พิจารณาความไม่มีตัวตนแท้ของกิเลส คือความอยากเสพเนื้อสัตว์นี้ จริงๆมันไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่เราไปหลงยึด หลงติดมาเป็นตัวเราของเรา หลงยึดว่าได้เสพเนื้อสัตว์แล้วจะมาความสุข หลงยึดว่าหากเราไม่มีกิเลสตัวนี้เราจะทุกข์ แท้จริงแล้วกิเลสนี่แหละตัวทำให้ทุกข์ และกิเลสไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กิเลส เราสามารถทำลายกิเลสนี้ได้ ผลักไสมันออกจากตัวเราได้

พิจารณาประโยชน์ของการไม่มีความอยากเสพเนื้อสัตว์และโทษจากความอยากเสพเนื้อสัตว์นั้น โดยพิจารณาไปตามความเป็นจริง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง และโทษที่เกิดขึ้นจริง

พิจารณากรรมและผลของกรรม หากเรายังมีความอยากเสพเนื้อสัตว์ จะสร้างผลกรรมให้เราอย่างไรบ้าง จะต้องรับวิบากกรรมไปอีกเท่าไหร่ กรรมที่เราต้องรับจะคุ้มค่ากับความอยากเสพของเราแค่ไหน

การวิปัสสนานั้น เป็นการพิจารณาธรรม ซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ เพื่อให้กิเลส จางคลาย ลด หด หายไปตามลำดับ มิใช่ทำเพื่อบรรลุธรรมโดยทันที เพราะการบรรลุธรรมโดยทันทีนั้นไม่มีทางเกิดได้หากไม่ได้สะสมบุญบารมีมาแต่ปางก่อน ผู้ที่ยังมีบุญน้อย มีกุศลน้อย นั่นเพราะเขาลดกิเลสมาน้อย สะสมกิเลสมาเยอะ ดังนั้นการล้างกิเลสจึงจำเป็นต้องใช้เวลามาก ไม่ควรหวังผล หรือเร่งผลจนเกินไป

4 ). ไตรสิกขา… เป็นขั้นตอนการปฏิบัติ

ไตรสิกขา คือการศึกษาสามอย่าง อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา …อธิ แปลว่ายิ่งขึ้น การใช้ไตรสิกขาในการกินมังสวิรัติก็คือการยกระดับการกินมังสวิรัติให้เบียดเบียนน้อยลง เช่น ตอนแรกเราลดเนื้อวัว พอทำให้ความอยากจางคลายได้เราก็มาลดเนื้อหมู ลดเนื้อไก่ ลดปลา ลดกุ้ง ลดปลาหมึก ลดลูกชิ้น ลดขนมที่มีรสของเนื้อสัตว์ ลดไข่ ลดนมวัวฯลฯ

คือการพัฒนาขอบเขตของศีลขึ้นไป เมื่อเราขยายของเขตของศีล หรือการละเว้นต่างๆขึ้นไป เราก็ต้องขยายขอบของสมาธิ และปัญญาด้วย เพื่อที่จะปฏิบัติศีลนั้นให้เจริญไปถึงผลของศีลนั้นๆได้ เมื่อปฏิบัติได้ก็ขยับเพิ่มศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ

5 ). ลด ละ เลิก ไปตามลำดับ…เป็นลำดับการปฏิบัติ

การปฏิบัติไตรสิกขาในระดับย่อย ของความอยากเสพเนื้อสัตว์ในแต่ละชนิด ยกตัวอย่างเช่นเนื้อวัว อธิศีลของคนที่เสพติดเนื้อวัวมากๆก็คือการลด คือลดปริมาณการเสพเนื้อวัว หันมากินผักให้มากขึ้น หรือเสพเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆไปก่อน เช่น ไก่ หรือปลา (เราต้องแก้โจทย์ไปทีละตัว ในตอนนี้คือเนื้อวัว)

เมื่อลดเนื้อวัวได้แล้ว เราก็จะมาละเนื้อวัว อาจจะละในชนิดของเนื้อวัวเช่น สเต็กไม่กิน แต่ถ้าในก๋วยเตี๋ยวก็อาจจะพอเสพอยู่ หรือใช้การละเป็นช่วงเวลาเช่น วันจันทร์-ศุกร์ไม่กินเนื้อวัว , สัปดาห์นี้ไม่กินเนื้อวัว , เดือนนี้ไม่กินเนื้อวัว , ปีนี้ไม่กินเนื้อวัว ลองหัดละ หัดพรากจากเนื้อวัวดู

หากเรารู้สึกไม่ทุกข์ทรมานจากการละก็ให้ตั้งศีลเลิกเนื้อวัวไปเลย ตั้งใจว่าจะเลิกทั้งชีวิตไปเลย จากนี้และตลอดไปจะไม่มีวันอยากกินเนื้อวัวอีกเลย จะไม่สั่ง ไม่หยิบ ไม่เอาเนื้อวัวเข้าปากอีกเลย เมื่อตั้งศีลได้ดังนี้ก็จะเห็นกิเลสในระดับละเอียดขึ้นไปอีก ก็พิจารณาฆ่ากิเลสต่อไป

การปฏิบัติไปตามลำดับนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะมีการเจริญขึ้นตลอดเวลา บางครั้งเราก็อาจจะมีแรงไม่พอที่จะสู้กิเลสซึ่งก็ต้องถอยกลับมากินเนื้อสัตว์บ้างเพื่อไม่ให้ทุกข์ทรมานจิตใจมากเกินไป หรือแม้กระทั่งเนื้อสัตว์บางชนิดที่ติดมากๆ ก็ให้ละเว้นการตั้งศีลละเนื้อสัตว์ชนิดที่ติดมากไปก่อน ให้ปฏิบัติกับเนื้อสัตว์ที่ติดไม่มากไปก่อน เพราะการตั้งศีลที่ยากเกินกำลังนั้นนอกจากจะปฏิบัติยากแล้ว อาจจะทำให้ท้อแท้ต่อการปฏิบัติธรรมไปเลยก็ได้

6 ). ทางสายกลาง… เป็นขอบเขตของการปฏิบัติ

คำว่าทางสายกลางนั้น เป็นการปฏิบัติที่ไม่โต่งไปในสองด้าน ด้านหนึ่งคือความอยากเสพเนื้อสัตว์ อีกด้านหนึ่งคือการทรมานตัวเองด้วยความยึดดีถือดี อยากกินเนื้อสัตว์แล้วอดทนจนทรมาน เพราะมีความอยากเสพแรงแต่อดกลั้นไม่ไปเสพ

ในด้านของความอยากเสพเราจะเรียกว่า “ กาม ”(กามสุขัลลิกะ) เราจำเป็นต้องละเว้นกามก่อน เพราะกามนี้เองคือสิ่งที่ผลักดันให้เราไปเบียดเบียนผู้อื่น ไปกินเนื้อสัตว์ ไปหลงงมงายอยู่ว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี สิ่งเลิศ สิ่งจำเป็น เราขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ เราจึงต้องละเว้นจากทางโต่งด้านนี้เสีย

ในด้านการทรมานตัวเองด้วยความยึดดีเราจะเรียกว่า ” อัตตา ” (อัตตกิลมถะ)เมื่อเราละเว้นกามจนเกินพลังของเรา บางครั้งจะเข้าไปในขีดของการทรมานตัวเอง เพราะความยึดดี ถือดี อยากเสพมากแต่ก็ไม่ไปกิน ทำให้เครียด ทำให้กดดัน ทำให้ท้อ ทำให้ทุกข์ อัตตานี้เองคือการเบียดเบียนตัวเอง เพราะมีความยึดดีถือดี เมื่อมีความอยากเสพเกินกำลังและมากจนเริ่มเครียด เริ่มทรมาน เราจึงควรลดอัตตาลง ไปเสพเนื้อสัตว์เพื่อให้คลายความทรมานบ้าง

ทั้งนี้คนที่ยึดมั่นในอัตตา เพราะมีความถือดี คิดว่าตัวเองทำดีได้มากกว่านั้น เป็นความโลภ ความอยากได้การบรรลุธรรมที่เกินฐานะของตัวเอง เกินกว่าที่ตัวเองทำมา กิเลสมีพลังมหาศาล แต่คิดเพียงว่าจะอดเอาทนเอา ซึ่งเมื่อจิตใจเข้าสู่สภาวะของอัตตาเมื่อไหร่ ก็เรียกได้ว่าปิดประตูบรรลุธรรม นั่นหมายความว่าถึงจะอดเอาทนเอา แต่ถ้าเกินความพอดีก็ไม่บรรลุธรรมเหมือนกัน การมีอัตตาจึงไม่มีประโยชน์ใดๆ มีเพียงคนโง่เท่านั้นที่จะยึดไว้

ในการปฏิบัติสู่ทางสายกลางหรือสัมมาอริยมรรคนั้น ต้องปฏิบัติไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป ไม่เสพเนื้อสัตว์ และไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ในขณะที่ปฏิบัติมรรคไปในเวลาเดียวกันจึงจะเกิดความเจริญ ในช่วงที่ปฏิบัติและยังไม่ถึงผลนั้น ก็จะเหมือนคนเดินเซ ซ้ายที ขวาที แต่ถ้าปฏิบัติจนล้างกิเลสได้ กิเลสตายแล้ว จะเข้าสู่สภาพของมรรคเอง

7 ). ข้ามกิเลส ข้ามสามภพ… เป็นจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ

การข้ามกิเลสนี้ เราจำเป็นต้องรู้ว่ามีกิเลส ซึ่งเป็นแรงผลักดัน เป็นเหตุแห่งทุกข์อยู่ 4 หมวด คือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม และอัตตา

อบายมุข คือการที่เราไปเสพติดเนื้ออย่างลุ่มหลง มัวเมา เช่นการตามไปกินเนื้อสัตว์ตามที่เขานิยม เดินทางไปเสาะหาร้านเนื้อสัตว์ที่มีชื่อเสียงเพราะหลงมัวเมาในความเป็นเนื้อ หลงว่าการกินเนื้อคือความสุข ความเจริญ

กามคุณ คือ กิเลสในระดับที่เราติดรส ไม่ได้ตระเวนไปเสาะหาเนื้อที่ดีเลิศ แต่เมื่อมีโอกาสจะสั่งเนื้อสัตว์ที่ชอบตลอดเพราะหลงในรส หลงในสัมผัสของเนื้อ

โลกธรรม คือการที่เราไปติดกับคำพูดของคนอื่น ในกรณีที่เลิกยังไม่เลิกเสพ ก็จะไปติดกับคำพูดคนอื่นจนไม่เลิกเสพ ในกรณีที่เราไม่กินเนื้อแล้ว เราก็มักจะกลับไปกินเนื้อเพราะความเกรงใจคนอื่น กลัวคนอื่นลำบากใจ กลัวเป็นคนยุ่งยากเรื่องมาก กลัวและกังวลต่อความคิดเห็นของคนอื่น

อัตตา คือการที่เราไปยึดเนื้อสัตว์ไว้เป็นเสมือนสิ่งจำเป็นในชีวิตของเรา เช่น เราจำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วไม่แข็งแรง ฉันชอบกินเนื้อสัตว์ ฉันเป็นสัตว์กินเนื้อ และเมื่อเราข้ามความอยากกินเนื้อสัตว์ไปแล้วจะไปเจออัตตาในมุมของนักมังสวิรัติผู้ยึดดีถือดี

การข้ามสามภพ … สามภพนั้นคือสภาวะที่เราติดกิเลสอยู่ในสามลักษณะ ในส่วนแรกคือกามภพ คือการที่เรายังไปเสพ ไปกินเนื้อสัตว์อยู่ ถ้าเรายังไปเสพไปกินด้วยความอยากกิน ไม่ว่าในกรณีใดๆ เราก็ยังอยู่ในกามภพ

รูปภพ คือสภาพที่เจริญขึ้นมาจากกามภพ เป็นสภาวะที่ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้ว สามารถอดกลั้นได้ แต่หากเห็นเนื้อสัตว์ที่ชอบก็จะมีอาการอยากเกิดขึ้นจนรู้สึกได้ มีความคิดที่จะไปกินเนื้อสัตว์ มีความคิดถึงเนื้อสัตว์นั้นเป็นรูปที่สัมผัสได้ชัดเจน ดังเช่น การปรุงแต่งความคิดภายในใจประมาณว่า “เนื้อชิ้นนี้น่าอร่อยจัง แต่เราต้องอดไว้ทนไว้

เมื่อผ่านรูปภพได้แล้ว จะเข้าสู่อรูปภพเป็นสภาวะที่เห็นเนื้อสัตว์ที่ชอบแล้วก็จะไม่มีการปรุงแต่งความนึกคิดหรือคำพูด หรือการกดข่มใดๆอีก คือไม่มีรูปให้เห็น ไม่เห็นกิเลสเป็นตัวชัดๆแล้ว แต่จะเหลือความขุ่นใจ กังวลใจ ห่วงหา เป็นความไม่โปร่งไม่โล่ง ไม่สบายใจ แต่ไม่ออกมาเป็นรูปของคำว่า “อยากกินเนื้อ” จะเหลือแต่อารมณ์ขุ่นๆ ไม่ใส ซึ่งยากต่อการรู้และตรวจสอบ เมื่อเข้าสู่ภาวะของอรูปภพ คนมักจะประมาทหลงว่าบรรลุธรรมแล้ว ซึ่งการข้ามอรูปภพนี้แหละคือโจทย์ปราบเซียน โจทย์สุดท้ายก่อนถึงวิมุตติ

สามภพนี้เราควรละเสียให้หมด เพราะถ้าทำลายไม่หมด แม้จะเจริญได้ถึงอรูปภพแล้ว แต่ประมาทสะสมกิเลส ก็วนกลับไปกามภพได้เช่นกัน แต่ถ้าเราเพียรพยายามละทั้งสามภพนี้เสียจะพ้นสภาพของความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างถาวร ไม่กลับกำเริบอีก

8 ). ทำลายอัตตา… เป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติ

เมื่อเราล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์ หรือมีความตั้งใจที่ละเว้นเนื้อสัตว์แล้ว เราจะเกิดความยึดดีถือดีขึ้นมา เรียกว่าอัตตา อัตตานี้เองคือสิ่งที่จะช่วยให้เราออกจากความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ เพราะการที่เราจะออกจากความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้นั้น เราจะต้องเกลียดเนื้อสัตว์ เห็นโทษของเนื้อสัตว์ เมื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์จะได้อัตตาก้อนโตมาหนึ่งก้อน

เมื่อมีอัตตาก้อนโต ก็มักจะไปดูถูกคนที่ยังกินเนื้อ ยกตนข่มท่าน โอ้อวด หัวดื้อ ฯลฯ เรียกได้ว่าออกจากนรกเนื้อสัตว์ได้เราก็จะได้คนติดดีมาหนึ่งคน ซึ่งนั่นก็ชั่วอยู่นั่นเอง เพราะคนติดดีนี่แหละที่จะทำลายความสามัคคี ทำลายกลุ่ม แบ่งคนออกเป็นสองพวก เพราะมีความยึดดี ถือดี หลงว่าตนเป็นคนดี

คนติดดีในมังสวิรัติ ในบางครั้งนอกจากที่เขามักจะไปข่ม ไปแขวะ ไปทำร้ายทำลายใจคนที่ยังกินเนื้อสัตว์แล้ว ความถือดีเหล่านั้นยังมักจะมาทำร้ายผู้ที่กินมังสวิรัติด้วยกันด้วย เช่นพอหลงว่าตนเก่งตนดี ก็มักจะข่มคนที่กินมังสวิรัติได้ด้อยกว่า หรือถ้าเห็นใครเป็นมังสวิรัติแล้วผิดกฎที่เขาตั้งไว้ เขาก็มักจะทำตัวเป็นผู้พิพากษามังสวิรัติ ด้วยความยึดดีถือดีในตัวเขานั่นเอง

ความยึดดีถือดีถ้ามีมากขนาดนี้เรียกได้ว่าโง่สุดโง่ เพราะแทนที่จะชวนคนกินเนื้อมากินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา แทนที่จะส่งเสริมให้คนหัดกินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา แทนที่จะเห็นดีกับเพื่อนที่กินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา เรียกได้ว่าทำกรรมชั่วกับคนดี แล้วแบบนี้บาปและอกุศลกรรมจะไปไหนเสีย

คนที่ยังเบียดเบียนคนอื่นด้วยอัตตา หรือความยึดดีของตัวเอง ก็ยังถือว่าเป็นการเบียดเบียนสัตว์โลกอยู่นั่นเอง แม้ว่าจะไม่ได้ไปเบียดเบียนสัตว์ แต่ก็ไปเบียดเบียนคนอื่น มันก็ยังชั่วอยู่นั่นเอง จะเรียกว่าคนดีนั้นเป็นไปไม่ได้เลย

คนกินมังสวิรัติที่มีอัตตามากๆ เวลาเห็นสัตว์ถูกทรมานแล้วจะเกลียด เห็นอาหารเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนกินเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนกินมังสวิรัติที่ไปกินเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนอื่นผิดหมด ตัวเองถูกและดีอยู่คนเดียว สร้างความทรมานใจให้ตัวเอง แถมบางครั้งยังไปทำร้ายจิตใจคนอื่น เป็นนรกล้วนๆ

การที่ยังมีอัตตาอยู่แม้น้อย นั่นคือตัวกันไม่ให้เราบรรลุธรรม ในมังสวิรัติวิถีพุทธ การที่เราจะถึงเป้าหมายปลายทางคือความผาสุกจากการหมดสิ้นกิเลส เราจำเป็นต้องล้างกาม และอัตตาจนสิ้นเกลี้ยง

9 ). ตรวจสอบวิมุตติ … เป็นที่สุดของการปฏิบัติ

เป้าหมายของมังสวิรัติวิถีพุทธคือวิมุตติ หรือสภาพของการหลุดพ้นกิเลส คือหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ทุกข์ ไม่ทรมาน แม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ หรือเห็นว่าคนอื่นกินเนื้อสัตว์ ไม่ติดดี ยึดดี ถือดี ในเรื่องของเนื้อสัตว์ ใครจะกินมังสวิรัติก็ได้ ไม่กินก็ได้ ลดแค่เนื้อวัวก็ได้ หรือจะลดเท่าไหร่ก็ได้ มีความยินดีกับทุกคนที่สนใจกินมังสวิรัติ ไม่รู้สึกยินร้ายแม้ว่าใครจะไม่กินมังสวิรัติ หรือไม่เอาดีตามที่ตนเองได้แนะนำ หรือแม้แต่เห็นผู้ที่กินมังสวิรัติไปกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกยินร้าย หรือรู้สึกทุกข์ โกรธ แค้น ขุ่นเคืองใดๆ

ไม่ได้มีความรังเกียจเนื้อสัตว์ หรือการที่สัตว์จะมาตาย ไม่มีแม้แต่ความรังเกียจใดๆที่ใครสักคนจะยินดีและหลงเสพเนื้อสัตว์ เพราะเข้าใจในกฎแห่งกรรมอย่างถ่องแท้ เข้าใจเรื่องกิเลสอย่างชัดเจน รู้แจ้งทุกเหลี่ยมทุกมุม รู้ดีว่าการทำลายกิเลสนั้นยากแค่ไหนและเข้าใจว่าทำไมคนถึงยังหลงเสพหลงยึด

ผู้ที่บรรลุธรรมจะไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่ไปทำให้ตัวเองและผู้อื่นเกิดความทุกข์ ไม่เอาความดีที่ตนมี ไปอวดเบ่ง ไปกดดัน ไปข่มเหง ไปทับถมผู้อื่น

สภาพของวิมุตติคือสภาวะจิตที่ข้ามกิเลสสามภพ เป็นสภาพที่ไม่ดูดไม่ผลัก ไม่รักไม่เกลียด แต่เห็นประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง เป็นสภาพที่กิเลสตายและไม่กลับมากำเริบ แม้จะได้เผลอหรือตั้งใจกลับไปทดลองกินเนื้อสัตว์แต่ก็ไม่มีวันที่ความอยากกินนั้นจะกลับมาอีก จะไม่มีวันที่จะเกิดความสุขจากการเสพอีก เพราะมีความสุขที่มากกว่าแล้ว นั่นคือสภาพของวิมุตติ หรือสุขจากการพ้นกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

4.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

October 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 23,630 views 1

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

คำว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันอยู่แล้ว ไม่มีใครเกิดมาไม่พบกับทุกข์ ทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องพบกับทุกข์ เป็นสัจจะ เป็นความจริงแท้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทุกข์นั้นมีอยู่สองส่วน หนึ่งทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ และสองคือทุกข์ที่เลี่ยงได้นั่นก็คือทุกข์จากกิเลสนั่นเอง เราจะมากล่าวถึงทุกข์จากกิเลสกัน

ทุกข์นั้นจะเกิดได้ก็เพราะมีเหตุ เหตุแห่งทุกข์ นั้นพระพุทธเจ้าเรียกว่า “สมุทัย” และเหตุแห่งทุกข์นั้นแท้จริงแล้วอยู่ข้างในตัวเรา

(1). ด่านแรก ทุกข์อยู่ข้างใน…

ด่านแรกของการเห็นเหตุแห่งทุกข์เลยก็คือมันอยู่ที่ตัวเรา ใครที่พบเจอกับความทุกข์แล้วมัวแต่มองหาคนผิด มองหาผู้ที่ทำให้ตนทุกข์ มองหาคนรับผิดชอบในทุกข์นั้น เป็นคนที่มองไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะทุกข์นั้นเกิดจากใจของตัวเอง เกิดจากกิเลสของตน เกิดจากกรรมของตน การจะรู้เหตุแห่งทุกข์ได้จึงต้องยอมรับว่าทุกข์นั้นเกิดจากตนเองก่อนเป็นอันดับแรก

(2). ด่านที่สอง ทุกข์ที่เห็นอาจจะไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์

ทุกข์ที่เห็นนั้น มักจะเป็นผลสุดท้ายของการไม่ได้เสพสมใจ แต่หลายคนไปเข้าใจผิดว่าความทุกข์นั้นคือเหตุแห่งทุกข์ เช่นเราถูกเพื่อนสนิทนินทา เราโกรธเพื่อน แล้วเรารู้สึกว่าโกรธเป็นทุกข์ เราจึงเห็นว่าความโกรธคือเหตุแห่งความทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วความโกรธนั้นเป็นผลที่ปลายเหตุแล้ว จะไปดับความโกรธนั้นก็ได้ก็เรียกว่าดี แต่ก็ถือว่าไม่ได้ดับเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิพยายามที่จะดับความคิด ดับเวทนา ดับความสุข ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการได้กระทบสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน โดยพยายามทำการดับสิ่งที่เกิดขึ้น ดับจิตที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็เป็นการดับปลายเหตุที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ก็เหมือนมองเหตุที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียวไม่ได้เข้าไปค้นที่ต้นเหตุ มองเพียงว่าจิตใจที่สั่นไหวนั้นคือเหตุเท่านั้น เหมือนกับเกิดแผ่นดินไหว เขาเหล่านั้นมักมองปัญหาคือแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายคือปัญหา เขาต้องหยุดการพังทลายหรือพยายามสร้างบ้านที่ป้องกันแผ่นดินไหวได้ แต่ผู้ที่ค้นหาเหตุจริงๆ คือเข้าไปค้นหาว่าแผ่นดินไหวจากสาเหตุใด แผ่นดินเคลื่อนเพราะอะไร อากาศร้อนเย็นมีผลหรือไม่ ค้นหาไปถึงนามที่ทำให้เกิดรูปคือแผ่นดินนั้นเคลื่อนไหวได้ และดับเหตุนั้นจึงจะเป็นการดับทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิที่มองว่าทุกข์นั้น เป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมาผ่านไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง จริงอยู่ว่าทุกข์ที่เกิดนั้น มันเกิดขึ้นมา มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไป เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผู้ที่เข้าใจเช่นนี้จะสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์ที่เกิดได้ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถดับเหตุแห่งทุกข์ได้ เสมือนกับผู้ที่มองแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายด้วยจิตใจว่างๆ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ เกิดดับ เกิดดับเช่นนี้ตลอดไป ด้วยพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้วิธีดับทุกข์ที่เหตุ เมื่อไม่ได้เข้าไปดับเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสก็ต้องเกิดขึ้นอยู่เรื่อยไป แม้จะดับไปตามกฎ แต่ก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

(3). ด่านที่สาม ขุดค้นเหตุแห่งทุกข์

เมื่อเราเห็นได้ว่า การค้นหาเหตุแห่งทุกข์โดยการดูแค่ผิวเผินนั้นไม่สามารถทำลายเหตุแห่งทุกข์ได้อย่างแท้จริง เราจึงต้องมาค้นหาว่าเหตุแห่งทุกข์นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนนินทาเรา เราก็โกรธเพื่อน ความเข้าใจทั่วไปจะดับความโกรธที่เกิดตรงนี้ แต่ในความจริงแล้ว ความโกรธ (โกธะ)คือกิเลสปลายทาง เป็นสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ครอบครองสมใจ ไม่ได้มาอย่างใจหมาย เราจึงแสดงอาการโกรธเหล่านั้นออกไป อันเกิดจากความโลภ ความอยากได้ อยากครอบครองเกินความจำเป็นจริง เกินจากความจริง(โลภะ) คือเราอยากให้เพื่อนทุกคนพูดดีกับเรา การที่เราอยากให้ทุกคนพูดดีกับเรานั้นเพราะเราเสพติดคำพูดดีๆอยากฟังสิ่งดีๆ (ราคะ) ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความหลง(โมหะ) หลงไปว่าการได้เสพคำพูดดีๆ จะนำมาซึ่งความสุขให้ตน เป็นต้น

ลำดับของกิเลสที่จะเห็นได้จากละเอียดไปหยาบคือ…

โมหะ เพราะเราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราจะอยากเสพสิ่งนั้น เป็นรากที่ละเอียดที่สุด แก้ยากที่สุด

ราคะ เราอยากเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดจากเราหลงชอบหลงยึดสิ่งนั้น พอเสพก็ติด ยิ่งเสพก็ยิ่งจะอยากเสพเพิ่มอีก

โลภะ เมื่อเราชอบสิ่งนั้นอยากเสพสิ่งนั้น ก็จะพยายามหามาปรนเปรอกิเลสตัวเอง จนเกิดการสะสม หามามากเกินความจำเป็น หวง ไม่ยอมให้ใครเพราะกลัวตัวเองจะไม่ได้เสพ

โกธะ เป็นกิเลสปลายเหตุ เกิดขึ้นเมื่อไม่ได้เสพสมใจอยาก เมื่อมีคนพรากสิ่งที่อยากเสพไปรุนแรง เป็นไฟที่ทำลายได้ทุกอย่าง

การวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุแห่งทุกข์นี้ ต้องใช้กระบวนการของสติปัฏฐาน๔ คือกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เข้ามาวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้ ซึ่งสติปัฏฐาน๔ นี้ต้องปฏิบัติทุกองค์ประกอบไปพร้อมกัน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นก้อนเดียวกัน เป็นกระบวนการเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาใช้เป็นตัวๆอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจได้

เมื่อปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน๔ อย่างถูกต้องจึงจะมีสิทธิ์ได้เห็นไปถึงเหตุแห่งทุกข์อันคือความหลงติดหลงยึดในกิเลสใดๆได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณาครั้งเดียวก็เห็นได้ทุกอย่าง เพราะกิเลสนั้นลึกลับซับซ้อน จนบางครั้งเราอาจจะต้องให้เหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นหลายที หรือพิจารณาซ้ำๆในจิตใจอย่างหนักเพื่อที่จะทำให้เห็นเข้าไปถึงเหตุแห่งทุกข์นั้น

การวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้บางครั้งสติปัญญาที่เรามีอาจจะไม่สามารถทำเหตุแห่งทุกข์ให้กระจ่างได้ การมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี คือมีครูบาอาจารย์ที่คอยชี้แนะ มีเพื่อนกัลยาณมิตรที่คอยแนะนำ ก็จะช่วยให้สติ ช่วยให้เกิดปัญญาที่มากขึ้นกว่าขอบเขตที่เราเคยมีได้

(4). ด่านที่สี่ เหตุแห่งทุกข์เกิดจากการหลงในกิเลส

ความหลงในกิเลสนั้นมีมิติที่หลากหลาย หากเราเข้าใจเพียงแค่ว่าหลง แต่ไม่รู้ว่าหลงในอะไร ก็ยากที่จะแก้ไปถึงเหตุได้ เพราะถ้าไม่รู้สาเหตุว่าหลงในอะไร ก็คงจะไม่สามารถดับทุกข์ได้ เพราะการดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ เมื่อดับไม่ถูกเหตุ ทุกข์ก็ไม่ดับ เราจะมาลองดูเหตุแห่งทุกข์ อันคือความหลงยึดในกิเลสสี่ตัวนี้กัน

(4.1). อบายมุข

คือกิเลสขั้นหยาบที่พาให้คนหลงไป สามารถหลงจนไปนรก ไปเดรัจฉานได้เลย คือความหลงในอบายมุขต่างๆ เช่นเที่ยวเล่น เที่ยวกลางคืน เล่นพนัน หวย หุ้น เสพสิ่งมึนเมาทั้งหลายไม่ว่าจะสุรา บ้าดารา กิจกรรมหรือสิ่งต่างๆที่ทำให้จิตใจมัวเมา เที่ยวดูการละเล่น ดูละคร ดูหนัง ดูทีวี เพื่อความบันเทิงใจ คบคนชั่ว พาไปทางเสื่อม พาให้เล่นพนัน พาให้มัวเมา พาให้เป็นนักเลง พาให้หลอกลวงผู้อื่น พาให้คดโกง และความเกียจคร้านการงาน

คนส่วนมากมักจะติดในอบายมุขจนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่พยายามทำตัวกลืนไปกับสังคมโดยใช้ค่ามาตรฐานของสังคมเป็นตัววัดความดี จะถูกกิเลสมวลรวมของคนส่วนใหญ่ลากไปลงนรก หรือที่เรียกว่าอุปาทานหมู่ คือสังคมคิดไปเองว่ากิเลสเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ใครๆก็เสพกัน ทั้งๆที่เป็นอบายมุข เป็นกิเลสหยาบที่พาให้ชีวิตเดือดร้อน เมื่อเสพอบายมุขก็จะยิ่งนำพากิเลสตัวอื่นที่หยาบเข้ามา เสพมากๆก็ติด พอไม่เสพก็โกรธไม่พอใจ เป็นทุกข์

(4.2). กามคุณ

คือความหลงในกิเลสที่พาให้อยากเสพใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นชอบแต่งตัวสวย ชอบคนหน้าตาดี อาหารอร่อย กลิ่นที่หอม เสียงไพเราะ เตียงที่อ่อนนุ่ม หรือกระทั่งเรื่องการเสพเมถุน ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของการหลงในกาม เมื่อเราหลงติดในกามเหล่านี้ ก็จะพาให้เราอยากเสพกามตามที่เราติด พอเสพมากๆก็พาสะสม พอไม่ได้เสพสมใจก็โกรธเป็นทุกข์

(4.3). โลกธรรม

โลกธรรมคือกิเลสที่ละเอียดที่ฝังอยู่ในคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็เป็นสภาพของโลกธรรม เมื่อคนหลงในลาภก็จะสะสมมาก หลงในยศก็จะไต่เต้าเพื่อหายศหาตำแหน่ง หลงในสรรเสริญก็จะพยายามทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจ อยากให้คนยอมรับ เชิดชูบูชา หลงในโลกียะสุขก็จะแสวงหาสุขในทางโลก สุขที่วนอยู่ในโลก เมื่อเสพสิ่งเหล่านี้มากเข้า ก็จะเริ่มสะสม เริ่มหวงลาภ ยศ สรรเสริญ สุข พอไม่ได้หรือเกิดสภาพของความเสื่อมทั้งหลายก็จะโกรธ เป็นทุกข์ เสียใจ

(4.4). อัตตา

อัตตาคือกิเลสที่ละเอียดที่สุดที่คนหลงยึดไว้ ไม่ว่าจะอบายมุข กามคุณ โลกธรรม สุดท้ายก็ต้องมาจบที่อัตตา เป็นเสมือนรากของกิเลส ส่วนที่เหลือนั้นเหมือนกิ่งก้านใบของกิเลสเท่านั้น ผู้ที่ดับอัตตาได้ก็จะเข้าสู่อนัตตา เป็นภาษาที่พูดกันได้ง่ายแต่ทำได้ยากยิ่ง

อัตตานั้นคือความยึดมั่นถือมั่น เรายึดมั่นถือมั่นตั้งแต่คน สัตว์ วัตถุสิ่งของ หรือสิ่งที่เป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ เรายึดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา เราอยากครอบครอง วัตถุ คน สัตว์ สิ่งของเหล่านี้มาเป็นตัวตนของเราซึ่งจะสะท้อนออกไปอีกทีในรูปของ อบายมุข กาม โลกธรรม เช่นเราอยากคบหาคนผู้นั้นไว้เพราะเขารวย เพราะเขามีชื่อเสียง เพราะเขามีอำนาจ หรือเรายึดว่าคนต้องกินเนื้อสัตว์ คนเป็นสัตว์กินเนื้อเพราะเราหลงในกาม หลงติดในรสชาติรสสัมผัส เมื่อเราจะกำจัดกามเหล่านั้นแล้วก็ต้องมากำจัดอัตตาไปพร้อมๆกันด้วย

เรายังสามารถที่จะติดรูปที่สำเร็จด้วยจิตของตัวเองได้อีก เช่นการคิดฝัน ปั้นจินตนาการไปเองว่าคนนั้นพูดแบบนั้นคนนั้นพูดแบบนี้ คนนั้นเขาคิดกับเราแบบนั้น เขาจะทำกับเราแบบนี้ หลงไปว่าการเสพอบายมุขนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพกามนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพโลกธรรมนั้นเป็นสุข เป็นสภาพที่จิตสร้างความสุขหลอกๆขึ้นมาหลอกตัวเอง หรือถ้าหนักๆก็จะเป็นพวกเห็นผี เข้าทรงกันไปเลย ทั้งหมดนั้นเป็นสภาพที่จิตนั้นปั้นขึ้นมาเป็นรูปให้เราได้เห็น จึงเรียกว่ารูปที่สำเร็จด้วยจิตเป็นกิเลสของเราเองที่สร้างความรู้สึกสุข ชอบใจ พอใจ สร้างเป็นภาพ เป็นเสียงขึ้นมาให้เราได้ยิน ทั้งๆที่จริงแล้วมันไม่มี แต่เราไปยึดไว้และหลงเสพสิ่งที่ไม่มีเหล่านั้น ในเมื่อสิ่งนั้นไม่มีจริง ไม่ใช่ของจริง ไม่เที่ยง สุดท้ายเมื่อไม่ได้เสพสมใจก็จะเป็นทุกข์

อัตตายังอยู่ในสภาพไร้รูป หรือที่เรียกว่า อรูปอัตตา เช่น ความเห็น ความเข้าใจ ศักดิ์ศรี ความรู้ ฯลฯ เราก็ไปหลงยึดสิ่งเหล่านี้ไว้ เช่น เราเข้าใจธรรมแบบนี้ เราก็ยึดสิ่งนี้เป็นตัวตนของเรา พอใครมาพูดไม่เหมือนที่เราคิด ไม่เหมือนที่เราเข้าใจ เราก็จะมีอาการขัดข้องใจ ไม่พอใจ โกรธ เพราะเราไม่ได้เสพสมอัตตา คือต้องการให้คนอื่นมาทำให้ได้ดังใจเราหมาย หรือทำตามอัตตาเรานั่นเอง

….เมื่อได้รู้กิเลสทั้งหมดนี้แล้ว เราจึงควรใช้เวลาพิจารณากิเลสในตัวเองอย่างแยบคาย ทำให้เห็น ทำให้ชัดเจนว่าเราติดในกิเลสตัวไหน ปนกับตัวไหน มีรากมาจากตัวไหน การค้นหารากของกิเลสไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย กิเลสบางตัวอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือทั้งชีวิตอาจจะไม่สามารถเห็นเลยก็ได้ถ้าไม่พากเพียร และไม่คบมิตรที่ดี

(5). ด่านที่ห้า ดับเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย

เมื่อเห็นเหตุแห่งทุกข์แน่ชัดแล้ว เห็นตัวการของกิเลสแน่ชัดแล้ว ก็ให้เพียรพยายามทำให้ถึงความดับ โดยใช้มรรควิธี ก็คือการปฏิบัติมรรคทั้ง ๘ นั่นแหละ จะใช้สมถะ วิปัสสนาก็ได้ จะใช้สัมมัปปธาน ๔ ก็ได้ จะใช้โพชฌงค์๗ ก็ได้ จะใช้จรณะ๑๕ ก็ได้ จะใช้ทั้งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ได้ หรือจะใช้ธรรมใดตามที่ถนัดก็ได้ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อการละกิเลส เพื่อการล้างกิเลส เพื่อการดับกิเลสอยู่แล้ว

การจะค้นเจอเหตุแห่งทุกข์นั้นว่ายากแล้ว การดับทุกข์ที่เหตุนั้นยากยิ่งกว่า เพราะต้องใช้ความเพียรพยายาม ใช้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำที่สุดแห่งทุกข์ คือการดับทุกข์นั้นอย่างสิ้นเกลี้ยงโดยการดับกิเลสนั้นนั่นเอง

สรุป

การที่เราต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์อย่างยากลำบากนี้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ชี้ขุมทรัพย์ไว้ว่า ดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ แต่บางครั้งเรามักจะมองเหตุแห่งทุกข์นั้นตื้นเกินไป เหมือนกับเราที่เราอยากกำจัดหญ้า แต่ก็ทำแค่เพียงตัดหญ้าที่มันยาวพ้นดินออกมา บ้างเก่งกว่าก็ว่าขุดรากถอนโคนหญ้านั้นไปเลย แต่สุดท้ายหญ้าก็จะขึ้นมาใหม่ เหมือนกับกิเลสนั้นกลับมาโตใหม่อีกครั้ง

ผู้มีปัญญาย่อมขุดรากถอนโคนกิเลสทั้งหมด ทั้งตัดหญ้า ขุดรากถอนโคน และนำดินมาเผา ทำลายเมล็ดหญ้าที่ยังหลงเหลืออยู่ในฝืนดินซึ่งเป็นเมล็ดนี้เองเป็นแหล่งเกิดของหญ้า เหมือนกับตัณหา ถ้าเรายังดับตัณหาคือความอยากไม่ได้ ความอยากเหล่านั้นก็จะค่อยๆเติบโต เหมือนกับผืนดินที่เต็มไปด้วยเมล็ดหญ้า หากไม่กำจัดเมล็ดออก ก็มีแต่จะต้องมาคอยตัดหญ้า ขุดรากถอนโคนหญ้ากันทุกชาติไป

ดังนั้นผู้มีปัญญาพึงกำจัดทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ เผากิเลสเหล่านั้นด้วยไฟแห่งฌาน ให้ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสนั้นสลายไป ทำลายกามภพ ทำลายรูปภพ ทำลายอรูปภพของกิเลสนั้น ไม่ให้มีแม้เสี้ยวอารมณ์ความอยากที่เกิดภายในจิต แม้จะตรวจด้วยอรูปฌานสักกี่ครั้งก็ไม่พบความอยากในจิตอีก เมื่อนั้นแหละที่เขาเหล่านั้นจะได้พบกับสภาวะที่เรียกว่า “สัญญาเวทยิตนิโรธ” คือการดับกิเลสที่อยู่ในสัญญาอย่างสิ้นเกลี้ยง ถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้กับกิเลสนั้น ได้รับชัยชนะที่ทำได้ยาก เป็นสิ่งที่บัณฑิตต่างสรรเสริญ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แรงจูงใจในการทำงาน

October 9, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,063 views 0

แรงจูงใจในการทำงาน

แรงจูงใจในการทำงาน

ในยุคสมัยที่มีทางเลือกในการทำงานหลากหลาย ไม่ว่าจะเลือกเป็นลูกจ้าง นักลงทุน หรือผู้ประกอบการ ก็มักจะมีสิ่งหนึ่งเป็นตัวผลักดัน เรามักจะเรียกสิ่งนั้นว่าแรงจูงใจ

การสร้างแรงจูงใจนั้นจะช่วยเพิ่มพลังใจของเราในหลายๆส่วน จูงใจของเราไปทำในการงานที่เราคิดว่ามันจะเกิดประโยชน์กับตัวเราโดยใช้ผลประโยชน์บางอย่างมาล่อ แรงจูงใจนั้นสามารถเกิดมาจากเหตุได้ทั้งกุศลและอกุศล ได้ทั้งดีและร้าย

…กุศล

ในทางกุศล หรือความดีงาม เมื่อเราประกอบกิจกรรมการงานโดยมีกุศลเป็นตัวตั้ง โดยมีแรงจูงใจจากการพิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ต่อผู้อื่นจนเกิดปัญญาเข้าใจคุณค่าในกิจกรรมการงานนั้นๆ และ ใช้อิทธิบาท ๔ คือฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นตัวผลักดันให้เกิดแรงจูงใจในการทำสิ่งที่ดี

ฉันทะ คือความยินดี เต็มใจพอใจ ที่จะทำสิ่งๆนั้น เพราะเห็นว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์ เกิดประโยชน์ ทำแล้วมีความสุขความเจริญเรียกได้ว่าการพิจารณาประโยชน์ของสิ่งใดก็ตามจะทำให้เกิดความชอบ และความชอบนั้นเองคือพลัง คือแรงจูงใจ แรงผลักดันให้ทำสิ่งที่ยากอย่างมีความสุขได้

วิริยะ คือความเพียร ความพยายามที่จะทำกิจกรรมการงานนั้นอย่างอดทน ไม่ย่อท้อแม้จะต้องพบกับความยากลำบากใดๆก็ตาม แม้จะต้องประสบปัญหาก็จะพยายามที่จะทำต่อไปเรื่อยๆ

จิตตะ คือความตั้งมั่น ทุ่มโถมเอาใจใส่กิจกรรมการงานนั้นอย่างจดจ่อ มีสมาธิกับสิ่งนั้น จิตใจวนอยู่กับสิ่งนั้น ให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น ทำงานอย่างกัดไม่ปล่อย เอาใจใส่ในงานอย่างเต็มที่ มีเวลาว่างก็คิดถึงแต่งานนั้นๆ ให้ความสำคัญกับงานนั้นๆ

วิมังสา คือการพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับกิจกรรมการงานนั้น เอาแก่นสารสาระ ออกแบบปรับปรุงกระบวนการต่างๆที่ทำอยู่ วิเคราะห์วิจัยกิจกรรม หมั่นทบทวนศึกษาในเนื้อหาของการงาน

เมื่อมีการพิจารณาประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน และใช้อิทธิบาทจนเกิดแรงจูงใจ รวมทั้งเป็นไปตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ในข้อสัมมาอาชีวะ คือการประกอบอาชีพที่สุจริต อาชีพที่ดีงาม อาชีพที่ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ไม่คดโกง ไม่ล่อลวง ไม่ตลบตะแลง ไม่รับใช้คนชั่ว ไม่เป็นการพนันนำลาภที่มีไปแลกลาภที่มากกว่า ไม่พาให้หลงมัวเมา ซึ่งหากเราได้ทำการงานที่ถูกที่ควรก็จะผลักดันชีวิตเราและสังคมรอบข้างไปสู่ความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม

…อกุศล

ในทางอกุศล คือความไม่ดีไม่งาม ก็จะมีการใช้แรงจูงใจจากการพิจารณาประโยชน์ตนเป็นตัวตั้งเหมือนกัน แต่เป็นการพิจารณาโดยมีกิเลสเข้ามาร่วม เรียกง่ายๆว่ามีกิเลสเป็นแรงผลักดันและเป็นแรงจูงใจให้ทำกิจกรรมการงานนั้นๆนั่นเอง เรียกได้ว่ามีกิเลสทั้งผลักทั้งจูง ให้ตัวเราเคลื่อนไปทำการงานนั้นๆ

แม้ว่าเราจะมีแรงจูงใจที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดัน ก็จะสามารถใช้อิทธิบาทเป็นเครื่องผลักดันได้เหมือนกัน แต่จะมีทิศทางที่เจริญไปในด้านอกุศล ยิ่งทำกิจกรรมการงานที่เป็นอกุศลอย่างตั้งมั่นก็ยิ่งจะเกิดความเสื่อมจากธรรม ยิ่งสะสมกิเลสก็จะยิ่งทุกข์ ยิ่งขยันทำชั่วก็ยิ่งไปนรกไวขึ้นนั่นเอง

แรงจูงใจจากกิเลสเหล่านี้ ในคนแต่ละคนก็จะมีแรงจูงใจหรือกระทั่งเป้าหมายที่แตกต่างกันเพราะเรามีกิเลสที่แตกต่างกัน เราสามารถจำแนกแหล่งที่มาของกิเลสได้เป็น ๔ ระดับ ตั้งแต่หยาบไปจนถึงละเอียด คือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตาจะลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันพอประมาณดังนี้

อบายมุขคือแรงจูงใจที่พาให้หลงมัวเมาอย่างหยาบ เป็นทุกข์ โทษ ภัยอย่างเห็นได้ชัด เช่นมัวเมาในการพนัน หวย หุ้น ท่องเที่ยว ดูการละเล่น ดูละคร คอนเสิร์ต สิ่งเสพติด เหล้า เที่ยวกลางคืน เสพสิ่งบันเทิงต่างๆ ทำงานเพื่อที่จะทำให้ได้เกียจคร้านการงานในภายภาคหน้า ฯลฯ หากคนใดมีสิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจ เป็นแรงผลักดันให้ทำกิจกรรมการงาน ทำงานเพื่อจะได้เสพสิ่งเหล่านี้ ก็ถือได้ว่าติดในกิเลสในระดับที่หนาและเป็นภัยมาก

กามคุณคือแรงจูงใจที่พาให้หลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ยกตัวอย่างเช่น ตั้งใจทำงานเพื่อที่จะนำเงินไปแต่งหน้าแต่งตา แต่งตัว ศัลกรรม หรือเพื่อไปเที่ยวหาสิ่งสวยงามไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของมาเสพเพื่อสนองกิเลสในการติดรูป ทำงานหาเงินมาเพื่อซื้อน้ำหอมแพงๆเพราะหลงในกลิ่น หรือทำงานเพื่อหาของอร่อยกิน เอาเงินที่ได้มาตระเวนหาของอร่อยตามที่โลกมอมเมา คนที่ทำกิจกรรมการงานเพื่อที่จะได้เสพกามเหล่านี้ ก็ถือว่าติดในกิเลสที่หนาน้อยกว่าอบายมุข แต่ก็ยังเป็นภัยต่อตัวเองอยู่มาก

โลกธรรมคือแรงจูงใจที่หลงไปใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นสิ่งที่คนมาหลงติดกันมากที่สุด เรามักจะมีแรงจูงใจในการทำงานเพราะอยากรวย อยากมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี อยากมีคนนับหน้าถือตา อยากมีคนนิยมชมชอบ อยากเป็นที่รักเป็นที่สนใจของคนอื่น ทำเพราะอยากได้เสพสุขลวงๆจากกิเลส หลายคนขยันทำผลงาน ทำงานอย่างตั้งใจก็เพื่อที่จะได้เสพสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าโลกจะมอมเมาว่าเป็นสิ่งดี แต่แท้ที่จริงเป็นกิเลสที่ละเอียดและร้ายกาจมาก โลกธรรมจะพาเราให้ทำอย่างที่สังคมต้องการ ถ้าสังคมว่าทำแบบนี้จะรวย จะดูดี จะมีชื่อเสียง เราก็จะไหลตามสังคมไป ไปทุกข์ไปสุขตามโลกที่หมุนวนไป เป็นไปในทางโลก เป็นปลาที่ลอยตามน้ำ ลอยไปตามกิเลส

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน เป็นแรงจูงใจที่จะทำให้เราได้ทำการงานนั้นๆ อย่างมัวเมาในระดับละเอียดที่สุด เพราะหลงว่าเราเกิดมาเพื่อทำสิ่งนั้น หลงไปว่างานนั้นเป็นของเรา เราจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นการหลงไปในอุดมการณ์ที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดัน และอัตตาคือตัวการร้ายที่จะเป็นแรงผลักดันทำให้เราไปยึดในคน สัตว์ สิ่งของ อยากครอบครองสิ่งเหล่านั้นมาเป็นของตน เป็นแรงจูงใจที่ละเอียดที่สุด เป็นกิเลสที่ฝังลึกแน่นในจิตใจของคน เป็นรากสุดท้ายด่านสุดท้ายของกิเลสทุกตัว

การจะบอกว่าเรามีแรงจูงใจจากกิเลสตัวใดตัวหนึ่งนั้นก็คงเป็นเรื่องยากเพราะกิเลสเป็นเรื่องซับซ้อน หากผู้วิเคราะห์ไม่เคยขุดค้นไปถึงสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ เหตุแห่งความอยาก ก็ยากที่จะพบกับตัวการที่แท้จริง และโดยทั่วไปแล้วเรามักจะมีกิเลสหลายอย่างปะปนกัน ทับซ้อนและซับซ้อนกันไปหลายรูปแบบ คนที่เสพอบายมุขก็จะมีอัตตาเป็นตัวผลักดัน คนที่เสพกามก็จะมีโลกธรรมเป็นตัวผลักดันและมีอัตตาซ้อนอยู่ลึกๆ

กิเลสทุกตัวนั้นเป็นตัวเดียวกันคือความอยากเสพ เรามีความอยากเสพนั้นเพราะเราไปหลงติดหลงยึด และเราไปหลงติดหลงยึดเพราะว่าเรามีความไม่รู้หรือที่เรียกว่าอวิชชานั่นเอง แต่กิเลสนั้นจะออกมาลีลาไหน แบบไหน มุมไหน ก็แล้วแต่ใครจะสะสมกิเลสมามากน้อยแบบไหน จะถูกมอมเมามาแบบไหน

ผู้ที่ทำกิจกรรมการงานโดยมีกิเลสเป็นแรงจูงใจนั้น จะถูกความหวังหรือความอยากของตัวเองชักจูงให้หาให้เสพไปเรื่อยๆ เมื่อได้เสพสมใจ ได้อย่างใจมากขึ้น กิเลสก็จะโตขึ้น พอกิเลสโตขึ้นก็จะมีความอยากเสพมากขึ้นไปอีก เริ่มที่จะไม่พอใจสิ่งที่เคยได้เสพมาก่อน จนต้องพยายามแสวงหาสิ่งใหม่ สร้างความหวังใหม่ สะสมกิเลสใหม่ ในวันใดวันหนึ่งก็จะหาสิ่งเสพสมใจไม่ได้ ก็จะทุกข์ร้อนใจขัดใจโกรธเคืองไม่พอใจเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก สะสมกิเลส สะสมทุกข์ สะสมภพ สะสมชาติไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์