Tag: อกุศล
ไปแต่ผู้เดียว เด็ดเดี่ยวเหมือนนอแรด
ระหว่างค้นหาพระไตรปิฎกในหมวดคนคู่ ก็มาเจอ “ขัคควิสาณสูตร ที่ ๓” (25,296) ในภาพรวม ท่านกล่าวเปรียบถึงถ้าเจอกับสภาพที่ไม่ดี อยู่คนเดียวจะดีกว่า ซึ่งแน่นอนว่า ถ้ามันแย่ เราก็ต้องห่าง แต่อะไรล่ะที่มันไม่ดี แล้วอะไรที่มันดี ที่ควรใกล้ ในบทนี้มีทั้งไปแต่ผู้เดียว และเก็บเกี่ยวคนดีมาเป็นเพื่อน จะยกเป็นช่วง ๆ มาลองวิเคราะห์กันครับ
“พ.ความเยื่อใยย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกัน ทุกข์นี้ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย บุคคลเล็งเห็นโทษอันเกิดแต่ความเยื่อใย พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น”
… ส่วนนี้จะทำให้เห็นภาพรวมของสภาพไม่ดี เป็นทุกข์ เป็นบาป เป็นอกุศล คนที่มีปัญญาเห็นโทษดังนั้น ให้ละออกเสีย มีของไม่ดี อย่ามีเลยดีกว่า
“พ.บุคคลข้องอยู่แล้ว ด้วยความเยื่อใยในบุตรและภริยา เหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยวก่ายกัน ฉะนั้นบุคคลไม่ข้องอยู่เหมือนหน่อไม้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น”
… ถ้ามองไผ่กอใหญ่ก็จะเห็นถึงความวุ่นวาย ลมพัดมาก็เสียดสีกันบ้าง ชนกันบ้าง เสียงดัง เหมือนกับเรื่องคู่มันวุ่นวาย ถ้าใครยังไม่มี ยังไม่ถึงวัย ยังเป็นหน่อไม้อยู่ ก็ไม่ต้องไปมี ไม่ต้องไปยุ่ง ไปคนเดียว ฉายเดี่ยวเหมือนนอแรด
“พ.ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ พึงครอบงำอันตรายทั้งปวง เป็นผู้มีใจชื่นชม มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น หากว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว”
… แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ส่งเสริมให้ไปคนเดียวตลอด ไม่ได้ให้หลีกหนีผู้คน ถ้าเจอคนดี มีปัญญา พาทำกรรมดี ก็ให้อยู่ร่วมกัน พึ่งพากัน แต่ถ้าหาคนมีปัญญาไม่ได้ ไปคนเดียวเถอะ โดดเดี่ยวดั่งนอแรด
“พ.เราย่อมสรรเสริญสหายผู้ถึงพร้อมด้วยศีลขันธ์เป็นต้น พึงคบสหายผู้ประเสริฐสุด ผู้เสมอกัน กุลบุตรไม่ได้สหายผู้ประเสริฐสุดและผู้เสมอกันเหล่านี้แล้ว พึงเป็นผู้บริโภคโภชนะไม่มีโทษเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น”
… พระพุทธเจ้าท่านแนะนำให้คบคนมีศีล คนที่เก่งกว่า มีศีลมากกว่า มีปัญญามากกว่า หรือผู้ที่เสมอกัน แต่ถ้าชีวิตนี้มันอับจนหนทาง ไม่มีบารมี ไม่เจอคนที่สูงกว่า ไม่เจอคนเสมอกัน ก็อยู่กินใช้สิ่งที่ไม่เป็นโทษ คือใช้ชีวิตไม่หลงระเริงไปตามกิเลส แล้วก็เด็ดเดี่ยวดั่งนอแรดกันไป
จะเห็นได้ว่า ในศาสนาพุทธไม่ได้มีคำสอนมิติเดียว ใช่ว่าจะให้หนีผู้คนออกป่าหาความสงบไปเสียหมด อันนั้นมันคือกรณีที่หมดปัญญา หมดบารมีหาคนเก่งกว่าไม่ได้แล้วเท่านั้น ถึงจะปลีกตัวออกไปคนเดียว ถ้าหาคนเก่งกว่าหรือเสมอกันได้ ท่านก็ให้อยู่เกื้อกูลกัน พึ่งพากัน อันนี้เป็นปัญญาของพุทธที่ต่างจากฤๅษี ถ้าสายฤๅษีนี่เข้าถ้ำไปคนเดียวเลย สายพุทธนี่จะหาคนมีปัญญาแล้วร่วมกันทำกุศล
จริง ๆ ยุคนี้ก็มีครูบาอาจารย์อยู่มาก แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นผิด หลงป่ากันไปเยอะ ถ้าเอามาเทียบพระไตรปิฎกหลาย ๆ บทจะเห็นว่ามีความขัดแย้งสูง แต่ถ้าเอาบางบทมา มันก็ดูเหมือนจะใช่ ในความจริงแล้วยังมีครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถมากอยู่ แต่การจะไปอยู่ผู้เดียวทั้ง ๆ ที่มีคนเก่งอยู่ นั่นก็สื่อให้เห็นว่าเขาไม่มีปัญญารู้ว่าใครเก่งกว่าเขา ไม่เห็นใครเก่งเสมอเขา เขาก็ฉายเดี่ยวไปเหมือนนอแรดตาบอดกันเลยล่ะนั่น คือปฏิบัติถูกบางบท แต่ภาพรวมไม่ครบทุกบท
แต่ก็ห้ามกันไม่ได้หรอก วิบากกรรมเขาเป็นแบบนั้น การได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกที่มนุษย์จะพึงเห็นได้เลยนะเอ้อ (อนุตตริยสูตร) ดังนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา
แยกดี แยกชั่ว
แยกดี แยกชั่ว
การที่เราจะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ไม่ง่ายนักที่เราจะรู้ได้ว่าสิ่งนั้นดีหรือชั่ว หากคิดเอาเอง คาดคะเนเอาเองอาจจะไม่แน่ โชคดีที่เราเกิดในยุคสมัยที่ศาสนาพุทธยังคงอยู่ เราจึงไม่จำเป็นต้องทดลองทำดีหรือชั่วนั้นเองทั้งหมด เพราะเราสามารถเรียนรู้จากพระพุทธเจ้า สงฆ์สาวก และคนผู้ที่ปฏิบัติดีต่างๆได้เช่นกัน
พื้นฐานแรกสุดที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมควรจะเรียนรู้ก็คือการแยกดีแยกชั่ว สิ่งที่ดีมีประโยชน์ก็ทำให้มาก เข้าถึงให้มาก สิ่งที่ไม่ดี ไม่มีประโยชน์ก็อย่าไปมัวเสพ อย่าไปหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เป็นพื้นฐานสำคัญที่ควรมีติดตัวไว้ แยกแยะว่าสิ่งใดควรเชื่อ สิ่งใดไม่ควรเชื่อ (กาลามสูตร)
หากจะเปรียบเทียบกับการปลูกพืชในแปลงหนึ่ง เราก็ควรจะรู้ว่า พืชชนิดใดที่เราจะใช้ประโยชน์ และพืชชนิดใดที่ถ้าปล่อยให้โตจะเป็นภัยต่อพืชที่เราต้องการ เช่นเราเพาะเมล็ดผักบุ้ง แต่พอถึงเวลามีทั้งผักบุ้งและวัชพืชที่งอกออกมาจากพื้นดินที่เราให้การดูแล ตอนเป็นต้นเล็กๆ ก็คงจะแยกได้ยากสำหรับมือใหม่ แต่ถ้าโตไปหรือมีความรู้ก็จะแยกได้ไม่ยากนัก
แยกพืชที่จะใช้ประโยชน์กับพืชที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้นแยกง่าย แต่แยกดีแยกชั่วนั้นไม่ง่าย ตอนที่กระทำตอนแรกๆ ก็ยากจะรู้ผล เพราะกรรมอาจจะไม่ส่งผลทันที ต้องรอดูไป เรียนรู้ไปหลายภพหลายชาติกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นดีหรือชั่ว ให้ผลเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ความรู้ที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศมานั้นจะสามารถลดการสูญเสียเวลาจากการลองผิดลองถูกหลายชาติของเราได้ เช่นท่านตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” เราก็พิจารณาตามว่าควรเชื่อไหม เราเห็นว่าสิ่งนั้นจริงอย่างไร เราจะลองลดการเบียดเบียนแล้วดูผลว่าดีจริงอย่างที่ท่านตรัสไว้หรือไม่ หรือจะเลือกเมินเฉย ยินดีเบียดเบียนต่อไปเพราะเชื่อว่ากรรมที่เบียดเบียนนั้นไม่มีผล
ศาสนาพุทธให้อิสระกับทุกคนในการเรียนรู้กรรม เชื่อสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น แต่ความจริงจะบอกผลเองว่าผิดหรือถูก ใครจะลองตามพระพุทธเจ้าก็ได้ จะลองในแบบที่ตัวเองเชื่อก็ได้ ก็พิสูจน์สัจจะกันไปตามที่เห็นสมควร
แต่กระนั้นก็การแยกดีแยกชั่วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะได้ศึกษาศาสนาพุทธมา ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถเข้าใจและแยกแยะกรรมดีกรรมชั่ว เข้าใจคุณประโยชน์ของกรรมดีและโทษภัยของกรรมชั่วได้ทั้งหมด ทั้งๆที่เรื่องดีเรื่องชั่วนี่แหละ เป็นหลักการพื้นฐานของศาสนาเลย คือชั่วอย่าไปทำ ให้ทำแต่สิ่งดี และที่สุดของศาสนาพุทธคือการทำจิตใจให้ผ่องใสจากเหตุแห่งความชั่วนั้น (โอวาทปาติโมกข์)
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน, แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น.” ยากนักที่จะรู้โทษของกรรมชั่ว คนโง่มักเข้าใจว่าชั่วที่ทำนั้นเป็นสิ่งดี เพราะได้เสพโลกียสุข สุดท้ายเมื่อได้รับอกุศลวิบากกรรมนั้น ก็ต้องทุกข์ทรมาน ซึ่งเกิดจากไม่รู้ดีรู้ชั่ว จึงไม่หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลสนั่นเอง
การปฏิบัติธรรมนั้นจึงควรเริ่มต้นจากการแยกดีแยกชั่ว แยกกุศลแยกอกุศล พยายามเข้าถึงสิ่งที่เป็นกุศล หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอกุศล จึงจะเป็นทิศทางที่จะนำพาความเจริญอื่นๆมาสู่ชีวิตได้
– – – – – – – – – – – – – – –
19.1.2559
เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์
เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์
ย้อนไปเมื่อราวๆ 3 ปีก่อน ตอนที่ผมยังไม่รู้จักธรรมะ ผมใช้ชีวิตแสวงหาความสุขโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือการสร้างความเบียดเบียนให้กับผู้อื่น ผมได้ถูกโลกและกิเลสมอมเมาอยู่จนกระทั่งได้พบกับความจริง 4 ประการ ที่เป็นเหตุให้ผมหลุดออกจากความเวียนวนหลงเบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อตนได้
1.ความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์
ผมรู้จักการไม่กินเนื้อสัตว์ครั้งแรกในชีวิตก็อายุเกือบ 30 ปี ก่อนหน้านี้มีเทศกาลเจ ฯลฯ ก็ไม่ได้สนใจอะไรกับเขาหรอก ไม่ได้รังเกียจอะไรหรอกนะ ยินดีด้วย แต่ก็ไม่ได้คิดสนใจ เพราะไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของมัน จนกระทั่งตนเองได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมกับเครือข่ายคนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาที่วัดป่าสวนธรรม ซึ่งที่วัดก็ไม่กินเนื้อสัตว์ เวลาสามวันที่ร่วมกิจกรรม ทำให้ผมเกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็มีชีวิตอยู่ได้ นี่คือความจริงข้อแรก
2.ความจริงที่ว่า การกินเนื้อสัตว์นำไปสู่การเบียดเบียน
หลังจากนั้นแม้จะรู้ว่าไม่กินเนื้อสัตว์ก็อยู่ได้ นำไปสู่การปรับเมนูอาหารบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเลิก เพราะยังไม่ชัดในโทษภัยของการกินเนื้อสัตว์ ต้นปี 2556 ได้ไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ในค่ายสุขภาพนั้นไม่กินเนื้อสัตว์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ได้รับจากค่าย ที่ทำให้ยินดีเลิกเนื้อสัตว์คือ สื่อวีดีโอ “ชีวิตร่ำไห้” เป็นการนำเสนอเรื่องราวของการเบียดเบียนสัตว์เพื่อที่จะต้องมาสนองการดำรงอยู่ของมนุษย์ ผมได้เกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า หากเรายังกินเนื้อสัตว์อยู่ สัตว์นั้นจะต้องถูกเบียดเบียนและเป็นทุกข์เพราะเรา นั่นคือสิ่งที่ไม่ควรเลย เมื่อเข้าใจความจริงข้อนี้เพิ่มเติม ผมจึงตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์
3.ความจริงที่ว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นทุกข์
เมื่อตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์ จึงได้พบความจริงอีกข้อคือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” นั้นเป็นทุกข์ เมื่อเราอยากกินเราก็ต้องไปเสาะหาเนื้อสัตว์มาเสพ แถมยังต้องหาเหตุผลที่ดูดีเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดในการกินเนื้อสัตว์ ซ้ำร้ายบางทียังอาจจะเฉโกออกไปในทิศทางที่เรียกว่า “ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ขยันเสพกาม” อีกด้วย คือปากก็พูดว่าไม่ยึด แต่ก็ไม่หยุดกินเนื้อสัตว์
โชคยังดีที่ผมไม่ได้มีอาการเฉโกเหล่านั้น ตนเองนั้นเป็นคนที่ซื่อสัตย์ยอมรับความจริงตามความเป็นจริง อยากกินก็ยอมรับว่าอยากกิน ยังเลิกไม่ไหวก็ยอมรับว่ายังไม่ไหว ไม่ได้ปั้นแต่งข้ออ้างใดๆมาทำให้ตนได้เสพอย่างดูดี
แต่กระนั้นก็ยังต้องทุกข์เพราะกิเลสที่เคยมี ความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นอร่อย มีคุณค่า ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดขาดได้ในทันที เราจำเป็นต้องปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง เพื่อที่จะถอนลูกศรที่ปักมั่นอยู่ในจิตใจ อันคือ ตัณหา (ความอยากกินเนื้อสัตว์) ให้ออกให้ได้ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแก้ปัญหาที่ตัณหา เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ในท้ายที่สุดผมค้นพบว่า “ความอยาก” ที่รุนแรงถึงขนาดต้องเป็นเหตุให้พรากชีวิตสัตว์อื่นนี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าอาย ไม่น่ายึดไว้ ไม่น่าคบหา เราไม่ควรมีมันอยู่ในจิตวิญญาณ ความอยากขั้นนี้มันหยาบเกินไปแล้ว มันเบียดเบียนมากไป มันสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่น จะยังแบกไว้อีกทำไม ผมจึงตั้งมั่นในการเลิกคบกับความอยากกินเนื้อสัตว์ตลอดกาล
4.ความจริงที่ว่า การหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นยิ่งกว่าสุข
หลังจากได้ปฏิบัติธรรมเพื่อถอนตัณหา คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากจิตใจแล้ว จึงค้นพบความจริงอีกข้อที่ปรากฏขึ้นมาภายหลัง ข้อนี้ไม่ใช่เหตุเหมือนกับความจริง 3 ข้อแรก แต่เป็นผลจากการเห็นความจริงในการปฏิบัติ 3 ข้อแรก
จากตอนแรกที่เคยเข้าใจว่า ถ้าเราขาดเนื้อสัตว์เราจะต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ เราต้องสละสุขจากการเสพ กลายเป็นผู้ที่ขาดทุนชีวิตเพราะไม่ได้เสพสุขตามที่โลกเข้าใจ
แต่ความจริงนั้นไม่ใช่เลย การหลุดพ้นจากความอยากนั้นยิ่งกว่าสุขที่เคยเสพเสียอีก จะเอาสุขเดิมมาแลกก็ไม่ยอม เพราะมันเทียบกันไม่ได้ เหมือนเอาเงิน 1 บาท ไปซื้อโลก มันซื้อไม่ได้อยู่แล้ว คุณค่ามันเทียบกันไม่ได้ จะเปรียบเทียบไปมันก็จะด้อยค่าเกินจริงไป เพราะคุณค่าของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นยากที่จะหาสิ่งใดมาเทียบได้
เราไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำอกุศลเพราะต้องหาสิ่งที่เบียดเบียนมาบำเรอตน เราจะเป็นอิสระจากความอยาก ไม่จำเป็นต้องสร้างเหตุผลอะไรมาเพื่อให้ได้เสพสมใจอีกต่อไป มีแต่กุศลและอกุศลตามความจริงเท่านั้น
จะเหลือเพียงแค่ทำสิ่งที่เป็นกุศลตามความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็อยู่ได้ เป็นความจริงข้อหนึ่งที่เน้นการพึ่งตน เลี้ยงง่ายกินง่าย มักน้อย ใจพอ มีเพียงแค่พืชผักก็พอเลี้ยงชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์มาเป็นส่วนเกินให้เสียเงิน เสียสุขภาพ เสียเวลาหา เสียเวลาประกอบอาหาร และความจริงที่ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทาน ถ้าเรากิน เขาก็ยังต้องฆ่าเพื่อมาขาย ดังนั้นเมื่อเราไม่มีความอยาก เราก็ไม่จำเป็นต้องกินให้เป็นการส่งเสริมการฆ่า เป็นการหยุดอกุศลกรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี
เมื่อเราไม่มีความอยาก เราจะมีจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น โอนอ่อนไปตามกุศล หลีกหนีจากอกุศล ไม่ใช่ลักษณะที่ยึดว่าจะต้องกินอะไรหรือไม่กินอะไร แต่จะเป็นไปเพื่อกุศล เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน เป็นไปเพื่อความพราก เป็นไปเพื่อความมักน้อย ขัดเกลา เกื้อกูล ตลอดจนสิ่งต่างๆที่นำมาซึ่งความเจริญทางจิตวิญญาณทั้งหลาย
….พอผมได้พบเจอความจริงตามนี้ มันก็เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเอง ไม่รู้จะหาเหตุผลไปกินทำไม เพราะดูแล้วไม่เห็นมีอะไรดีเลย ไม่กินก็อยู่ได้ กินก็ไปเบียดเบียนทั้งตนเองและสัตว์อื่นอีก
สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหานั้นคือ “ตัณหา” เพราะความอยากกินเนื้อสัตว์ จะสร้างเหตุที่จะต้องไปกินเนื้อสัตว์อีกเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น ทั้งๆที่ความจริงมันไม่จำเป็น แต่ตัณหาก็สร้างความลวงขึ้นมาบังความจริง ให้มันจำเป็น ให้มันสุขเมื่อได้เสพ ให้มันเป็นคุณค่า ให้มันเป็นชีวิตจิตใจของคน ให้มันยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์นั้นต่อไป
หากคนนั้นยังมี “ความอยากกินเนื้อสัตว์” ก็ไม่มีทางหนีทุกข์พ้น ถึงจะกดข่มไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นทุกข์ แม้จะได้กินก็ทุกข์เพราะสะสมอุปาทานและอกุศลวิบากเพิ่ม สรุปคือหากยังมีตัณหาถึงจะได้เสพหรือไม่ได้เสพก็ต้องรับความทุกข์ไปตลอดกาล
– – – – – – – – – – – – – – –
2.1.2559
บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?
บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?
เป็นข้อสงสัยกันมานานว่าแท้จริงแล้ว ชาวพุทธควรกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาหรือไม่ มีความเห็นที่แตกต่างกันมากมายในสังคม ทุกความเห็นล้วนฟังดูน่าเชื่อถือ แต่ความจริงที่สมควรทำตามหลักของศาสนาพุทธนั้นเป็นอย่างไร เราจะมาศึกษาจากบทความนี้กัน
ในบทความนี้จะไม่ลงไปในรายละเอียดของคำว่าบุญหรือบาป บรรลุธรรมหรือไม่บรรลุ ไม่กล่าวไปถึงเรื่องยิบย่อยในความเห็นต่างๆ แต่จะยกเพียงหลักใหญ่ๆของพุทธมาพิจารณาขอบเขตของกุศลและอกุศล คือจะชี้ชัดกันว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว โดยจะยกพระสูตรอ้างอิงทั้งหมด 3 สูตร คือโอวาทปาติโมกข์, มหาปเทส และกาลามสูตร
ซึ่งคำถามว่าการที่ชาวพุทธนั้นจะไปกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเรื่องสมควรไหม? มีผู้ให้ความเห็นกันมากมายทั้งผู้ที่มีชื่อเสียง มีผู้คนนับถือ ซึ่งความเห็นเหล่านั้นก็คือความเห็น และในบทความนี้เราจะมาวิเคราะห์เรื่องนี้จากคำตรัสของพระพุทธเจ้ากันดูว่า ความจริงนั้นควรจะเป็นเช่นไร
โอวาทปาติโมกข์
เป็นหลักใหญ่ของศาสนาพุทธ เป็นองค์รวมทั้งหมด ขึ้นต้นด้วยการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส โดยลำดับ นั่นหมายถึงประการแรกท่านให้หยุดทำบาปหยุดทำชั่วทั้งหมด คือชั่วนี่ไม่ต้องทำเลย ทำแต่ความดี ไม่ใช่ชั่วบ้างดีบ้างนะ ทำครึ่งๆกลางๆ อันนั้นไม่พ้นทุกข์ ที่ถูกต้องไม่ควรมีบาปเลยแม้น้อย
จะหยิบยกข้อต่อมาคือ “ผู้ที่ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย”สมณะนั้นหมายถึงผู้สงบจากกิเลส คำว่าสมณะในพุทธศาสนาหมายถึงพระอริยะ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่จะเป็นพระอริยะได้นั้นย่อมไม่ทำให้สัตว์ใดลำบากเลย ผู้ที่ยังมีส่วนร่วมในการทำให้สัตว์อื่นต้องได้รับความลำบากอยู่ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นผู้สงบเช่นนั้นเอง
และข้อสุดท้ายที่จะยกมาคือ “ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค”พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสให้สาวกจงกินไม่เลือก เห็นเป็นแค่การกิน สักแต่ว่ากินโดยไม่พิจารณาใดๆเลย แต่ท่านให้ประมาณในการกิน ให้รู้ว่ากินสิ่งใดแล้วเกิดกุศล ไม่เป็นโทษ ทำให้เกิดความเจริญ ทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวแต่ในอาหารที่กินเพื่อเลี้ยงร่างกายเท่านั้น อาหารอื่นๆจะยกไว้
พระพุทธเจ้าและสาวกเป็นตัวอย่างของการเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่นในกรณีของสุกรมัทวะ อาหารมื้อสุดท้ายของท่าน ซึ่งจำเป็นต้องใช้สุกรมัทวะนี่เองเป็นตัวทำให้เกิดสิ่งที่ท่านประสงค์ ท่านจึงรับสุกรมัทวะนั้นไว้แต่ผู้เดียว และที่เหลือให้นำไปทิ้งอย่าให้สาวกอื่นได้ฉัน เพราะมันมีโทษ แต่ท่านจำเป็นต้องใช้โทษนั้นเพื่อประโยชน์ของท่าน มันมีความซ้อนในเหตุปัจจัย ดังนั้นพุทธวิสัยจึงเป็นเรื่องอจินไตย ไม่ควรคิดเอาเอง ถ้าหมกมุ่นคิดจะเป็นบ้าได้ เพราะมันเกินวิสัยที่คนทั่วไปจะเข้าใจ ให้ทำความเข้าใจตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น หรือตัวอย่างของพระสารีบุตร ในช่วงที่ท่านป่วย แม้ท่านจะได้รับยาแก้โรคนั้นมา แต่ท่านก็เห็นว่าควรจะเทยานั้นทิ้ง เห็นไหมว่าท่านไม่ได้ฉันทุกอย่างที่รับมา ท่านประมาณกุศลของท่าน เพราะท่านมีปัญญาเห็นว่ามีสิ่งที่ดีกว่า ท่านเลยไม่เอาสิ่งเหล่านั้นเท่านั้นเอง ถ้าใครจะเอ่ยอ้างว่า กินไม่เลือก กินโดยไม่พิจารณา คงจะไม่ใช่หลักปฏิบัติของพุทธแน่นอน
มหาปเทส
เป็นพระสูตรที่เอาไว้ใช้สำหรับตัดสินว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ด้วยการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย จึงทำให้มีหลายสิ่งสูญหาย บางสิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ทั้งที่ไม่ตรงกับที่บัญญัติไว้บ้าง คาดเคลื่อนบ้าง เราจึงจะใช้หลักการนี้ตรวจสอบความถูกต้องของความเห็นนั้นๆว่าเป็นไปในทางพ้นทุกข์หรือไม่
และสูตรนี้เหมาะกับกลียุคเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการตีความบัญญัติต่างๆให้เป็นไปในทางที่เอื้อต่อการที่กิเลสจะเติบโต มีการเลี่ยงบาลี หาช่องว่าง เช่นไม่ได้ตรัสไว้บ้าง ไม่มีระบุไว้บ้าง แปลความให้ผิดเพี้ยนบ้าง เป็นต้น พระสูตรนี้จึงเข้ามาอุดรอยรั่วเหล่านั้นได้สมบูรณ์ เว้นเสียแต่กิเลสนั้นไม่ยอมที่จะอุดรอยรั่วนั้น
ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “สิ่งใดไม่ห้ามว่า ไม่ควร แต่สิ่งนั้นเข้ากับสิ่งไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นจึงไม่ควร” พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ แต่ “เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา” นั้นมีเงื่อนไขที่เพิ่มเข้ามา เป็นอีกกรณีหนึ่ง คือมีการฆ่าซึ่งผิดหลักของพุทธอยู่ในนั้น การที่เราไปสนับสนุนเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นย่อมส่งผลตรงต่อความไม่ควร คือไปสนับสนุนให้เขาฆ่า เอาเงินเอาความหลงผิดให้เขาเป็นแรงผลักดันในการฆ่าต่อ จึงเป็นสิ่งไม่ควร ซึ่งขัดกับหลักของพุทธที่ว่าเมื่อตนเองตั้งอยู่ในศีลในธรรมได้แล้ว ก็ควรจะชักชวนคนอื่นให้อยู่ในศีลธรรมนั้นด้วย การสนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาจึงเป็นความขัดแย้งต่อกุศลของเขา ขัดกับสิ่งที่ควร ดังนั้นจึงสรุปว่า “การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควร”
กาลามสูตร (เกสปุตตสูตร)
ในพระสูตรนี้เป็นสูตรที่จะใช้เพื่อทำความเห็นให้เป็นกลาง มองความจริงตามความเป็นจริง โดยใช้ปัญญาเข้าถึงการปฏิบัตินั้นๆจนรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ โดยไม่ให้รีบปักใจเชื่อ หรือยึดมั่นถือมั่นในคำกล่าวของใครต่อใครแม้คนผู้นั้นจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ตามที
ในการวิเคราะห์พระสูตรนี้จะยกข้อความในพระไตรปิฎกเข้ามาประกอบในการอ้างอิง เพื่อความเป็นสากล เข้าใจตรงกันในหมู่ชาวพุทธ
๑.”พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา … อย่าได้ยึดถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย “
* * * ประการแรก ให้ตัดความสำคัญของแหล่งข้อมูลเสียก่อน เพราะมันจะหลอกเราได้ แต่ต้องรู้ว่าสิ่งใดเป็นอกุศล มีโทษ มีคนติเตียน ทำแล้วไม่เป็นประโยชน์ …กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันเป็นสิ่งดีไหม มีผลเสียไหม มันเบียดเบียนไหม ทุกวันนี้ยังมีคนติอยู่ไหม เป็นประโยชน์ยังไง
ในสมัยพุทธกาล มีหลักฐานอ้างอิงอย่างน้อยสองครั้งที่พระพุทธเจ้าโดนกลุ่มที่คิดต่างประณามว่า ท่านกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เขาเหล่านั้นโพนทะนาไปทั่วเมือง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ จนหมอชีวกไปถามพระพุทธเจ้าว่าจริงไหม ท่านก็ตอบว่า “เราถูกกล่าวตู่” ซึ่งท่านจะกินเนื้อนั้นโดยมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างรัดกุมมาก คือไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ ในกรณีเนื้อที่ไม่ได้ฆ่ามาจะยกไว้ก่อนไม่กล่าวในบทความนี้ แต่เนื้อที่ถูกฆ่ามานั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะฉัน เพราะท่านตรัสไว้ชัดเจนว่า ผู้ประพฤติธรรมในศาสนาของท่านย่อมรังเกียจการฆ่า การผิดศีล การเบียดเบียน ย่อมไม่ทำเช่นนั้นหรือร่วมวงบาปกรรมนั้นด้วยเช่นกัน
ในอีกนัยหนึ่ง การที่กลุ่มที่เห็นต่างและต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของพระพุทธเจ้าออกมาประณามท่านว่ากินเนื้อสัตว์นั้น เป็นตัวยืนยันชัดอยู่แล้วว่าท่านไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เพราะถ้าท่านกิน จะประณามทำไมให้เสียเวลา ถ้าคนเขารู้ว่าท่านกินก็คงจะเป็นเรื่องปกติ แต่อันนี้มันไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเรื่องที่เขาจ้องจับผิดหาเรื่องมานาน แต่หาหลักฐานไม่ได้สักที พอมีหลักฐานนิดๆหน่อยๆก็ป่าวประกาศเลย ทั้งๆที่จริงท่านจะกินหรือไม่กินก็ไม่มีใครรู้ ดังนั้นจึงสรุปว่า การกินเนื้อจึงไม่ใช่เรื่องปกติของท่าน
ให้สังเกตว่าสมัยพุทธกาล คนที่กินเนื้อจะโดนประณาม แต่ในสมัยปัจจุบันกลับเป็นเรื่องที่ตีกลับแบบหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นสมัยนี้ใครกินเนื้อเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆเขาก็ทำกัน แต่ถ้าใครลุกขึ้นมาประกาศว่าชาวพุทธไม่ควรกินเนื้อ คนนั้นจะโดนประณามทันที เรื่องนี้ก็น่าคิด…
๒.”พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่หลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ฯ
กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่หลง ไม่ถูกความหลงครอบงำ
มีจิตไม่ถูกความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จสิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่หลง ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ
กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ”
* * * ประการที่สองคนผู้ไม่หลงย่อมชักชวนให้ผู้อื่นตั้งตนอยู่ในศีล แล้วคนที่ทำไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่สนใจใยดีทั้งๆที่ผู้อื่นยังทำผิดศีล ก็ยังสนับสนุนอยู่ เรียกว่าชักชวนให้ผู้อื่นเป็นอย่างนั้นหรือ … ไม่ใช่อยู่แล้ว เพราะคนที่หลงย่อมไม่สามารถชักชวนคนให้มีศีลได้ ไม่สามารถเอื้อให้คนมีศีลได้ ไม่สามารถสร้างชุมชนหรือสังคมให้มีศีลได้ เพราะถ้าเขามีศีลแล้วใครจะฆ่ามาให้กิน??
๓. “ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกข์เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา … มีใจประกอบด้วยมุทิตา … มีใจประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔”
* * * ประการที่สาม สรุปกันตรงๆเลยพระอริยะไม่มีความเบียดเบียน ผู้ที่จะเป็นพระอริยะได้ย่อมไม่ดำรงอยู่อย่างเบียดเบียน เพราะเป็นอกุศลด้วย มีคนถือสาด้วย วกกลับไปติดอยู่ในประการแรก ที่สำคัญการส่งเสริมเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันคือการเมตตากรุณาต่อใครกัน? การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นความเมตตาไปทั่วทิศแก่สัตว์ทุกเหล่าเช่นนั้นหรือ? สัตว์จะยินดีในความเมตตากรุณาเช่นนั้นหรือ? ก็คงมีแต่คนที่หลงผิดเท่านั้นที่เข้าใจว่าสัตว์เหล่านั้นยินดีที่ได้ถูกฆ่าเพื่อกิน
….ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องกุศล อกุศล เรื่องดีและเรื่องชั่วเท่านั้น การใช้ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้นแยกแยะดีชั่วเป็นพื้นฐานของความเจริญ สิ่งดีให้เข้าถึง สิ่งชั่วให้ละเว้น
สมัยก่อนนี้ไม่ได้มีพระไตรปิฎก สาวกแต่ละท่านมีโอกาสฟังธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มากนัก อาจจะไม่ได้หลากหลายเท่าในปัจจุบันอย่างเราด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ตกหล่นในบางเรื่องบางตอนไม่ได้รับรู้หลักเกณฑ์ระบุไว้แน่ชัดว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก แต่ท่านเหล่านั้นก็ได้ใช้ปัญญาของตัวเองพิจารณาลงไปว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ เป็นกุศล หรือสิ่งใดเป็นโทษ เป็นอกุศล ด้วยความเห็นที่มองโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองอยากให้เป็น
เรื่องกุศลกับอกุศล คนที่หลงจะแยกไม่ออก เขาจะแยกดีแยกชั่วไม่ได้ จะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ตีทิ้งกุศล กอดเก็บอกุศล จนบางครั้งถึงกับประณามสิ่งที่เป็นกุศล แล้วโอ้อวดความเห็นผิดของตนด้วยก็มี ความหลงนี่มันหลงได้ลึกและอันตรายตั้งแต่หลงในธรรม จนกระทั่งหลงว่าตนเองบรรลุธรรม และสิ่งเดียวที่จะชี้ชัดความจริงได้ มีเพียงแค่กุศล และอกุศล เป็นเรื่องสามัญของโลกที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี เป็นเพียงแค่สมมุติสัจจะที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องถึงขั้นปรมัตถสัจจะ ศาสนาพุทธไม่ได้ทิ้งสมมุติสัจจะ พระพุทธเจ้าท่านยังอนุโลมให้กับเรื่องบางเหตุการณ์ที่ผู้คนเขาถือสา ผู้คนเขาติเตียนมาเป็นข้อปฏิบัติและวินัยต่างๆ
ดังนั้นจะสรุปข้อธรรมทั้งหมดลงมาเพียงแค่ว่า “แยกดี แยกชั่ว” ให้ได้ก่อน แล้วสิ่งไหนดีให้เข้าถึงสิ่งนั้น และสิ่งไหนชั่วก็ให้ออกจากสิ่งนั้น ซึ่งเป็นข้อสรุปของกาลามสูตรในกรณีข้อมูลมีความขัดแย้ง สับสนในเนื้อหาและความหมายต่างๆ
– – – – – – – – – – – – – – –
7.10.2558