Tag: หิริโอตตัปปะ

ตั้งตนเป็นโสด ไม่ล่อลวงให้ใครมารักมาหลง

February 6, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 655 views 0

การปฏิบัติอย่างหนึ่งของการประพฤติตนเป็นโสด คือการสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้ไปล่อลวงใคร ในขั้นของมรรคก็จะสังวรในข้อปฏิบัติ ถือเอาสิ่งเหล่านี้เป็นทาง อาจจะไม่ได้รู้โทษชั่วของการล่อลวงชัดเจน แต่ก็พยายามทำไปตามที่ครูบาอาจารย์สอน

แต่เมื่อปฏิบัติจนถึงผล จิตจะเปลี่ยนไป การสำรวมเหล่านั้นจะไม่ได้มีเพื่อตัวเอง แต่ทำไปเพื่อคนอื่น 100% คือ เราจะรู้สึกสงสารเขา ที่เขามาหลงเราในประเด็นที่ไม่ใช่ประโยชน์แท้ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ เราก็จะปิดช่องเหล่านั้นไปเรื่อย ๆ เท่าที่ทำได้

ในขั้นมรรคจะมีหิริโอตตัปปะไม่เต็มรอบ แต่ถ้าขั้นผลจะมีหิริโอตตัปปะเต็มรอบถ้วนสมบูรณ์ จะรู้จักบาปชัดเจน ดังนั้นตัวเองจึงไม่ทำและไม่นำพาให้คนอื่นทำด้วย

เมื่อปฏิบัติตนเป็นโสดจนถึงผล จึงไม่มีเจตนาที่จะสร้างอาการกิริยาใด ๆ ที่จะไปทำให้ใครเขาชอบชื่นใจ รูปก็จะลด แต่งตัวแต่งหน้านี่ไม่มีแล้ว แต่แต่งให้ถูกกาลเทศะก็อีกเรื่อง แต่ใจจะไม่เอาแล้ว กลิ่นนี่ไม่ต้องเติมให้หอมเลย เอาแค่ไม่เหม็นไปเบียดเบียนชาวบ้านก็พอแล้ว เสียงนี่ก็จะไม่ปรุงให้มันเด่น ไม่มีเสียงสองเสียงสาม มีแต่เสียงปกติ กิริยาท่าทางก็ลดลง เท่าที่จำเป็น ไม่ต้องมาทำท่านั้นท่านี้ ผู้ชายปกติจะไม่ค่อยมีอยู่แล้ว แต่ผู้หญิงจะมีท่ามาก เล่นหูเล่นตา ลีลามาก กรีดกราย มือไม้จะมีท่าเยอะ อาการสะดีดสะดิ้งต่าง ๆ ตรงนี้ก็จะลดลงจนถึงขั้นไม่มีเลยเป็นปกติ คือปกติจะไม่ใช้ ถ้าจะใช้ก็ใช้ทำเพื่อเป็นประโยชน์

เมื่อจิตมีหิริโอตตัปปะ จะสะดุ้งกลัวต่อบาปแห่งการล่อลวง เขาจะร้สึกได้เองว่าการกระทำใด ทางกาย วาจา ใจ มีผลให้คนหลงรัก เขาจะกลัวบาปและเลิกทำสิ่งนั้น มันจะพลาดและเรียนรู้แล้วจะลดลงไปเรื่อย ๆ เป็นลำดับ

ส่วนคนไม่มีธรรมดังกล่าว หรือปฏิบัติไม่ถึงผล อย่างเก่งก็จะได้แค่ภาษา คือเข้าใจธรรมตามที่ครูบาอาจารย์สอน แต่ไม่มีสภาวะ คือจิตไม่ได้เป็นไปตามนั้น มันก็จะไม่รู้สึกผิดบาปอะไร แม้ตนจะจมอยู่กับบาปเหล่านั้นก็ตาม

ความฉลาดที่จะกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีเหตุมีผล

December 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,355 views 0

ฉลาดเฉโก คือ กิเลสฉลาด

ไม่ใช่ปัญญาที่พาพ้นทุกข์ แต่เป็นความฉลาดของกิเลสที่พาให้เป็นทุกข์ด้วยการหาช่องในการเสพสิ่งที่ไร้สาระ

การเห็นโทษภัยของการเบียดเบียนเพราะกินเนื้อสัตว์ เป็นปัญญาระดับพื้่นๆ คนทั่วไปก็สามารถรู้ได้เข้าใจได้ ว่าการที่เรายังกินเนื้อสัตว์อยู่จะไปมีส่วนในการเบียดเบียน

ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความตื้นระดับนี้ ก็อย่าหวังจะมีปัญญาในระดับลึกเลย พระอริยะก็เป็นหวังเลย พระอรหันต์ยิ่งไม่ต้องหวังเลย เพราะนี้มันปัญญาระดับที่คนดีทั่วไปยังเข้าใจได้เท่านั้นเอง ถ้ายังเข้าใจไม่ได้แล้วจะหวังให้ตนเองมีปัญญาสูงกว่านั้นได้อย่างไร

การเห็นโทษภัยของการเบียดเบียนกันด้วยการฆ่านี้เป็นเรื่องหยาบ การปฏิบัติธรรมของพุทธต้องเป็นไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่อยู่ๆโผล่มาเป็นพระอรหันต์เลย มันต้องละอบายมุขให้ได้ก่อน ศีล ๕ ให้ได้ก่อน การเบียดเบียนตื้นๆเช่นนี้เอาออกให้ได้ก่อน

ไม่ใช่จะมาตีกินว่าฉันบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว หาช่องให้ตัวเองเสพ อันนั้นมันเฉโก กิเลสมันฉลาด มันไม่มีความสะดุ้งกลัวต่อการเบียดเบียน ไม่มีหิริโอตตัปปะ ธรรมะมันจะขัดกันวุ่นวายไปหมด มีแต่วาทะว่าฉันนี้เลิศ แต่ไม่ลดการเบียดเบียน

สรุปไว้ก่อนเลยว่า ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ก็อย่าเฉโกว่าตัวเองมีปัญญามากกว่านั้นเลย ที่ยากกว่านั้นยังมีอีกเยอะ

เดี๋ยวคนเขาจะเข้าใจผิดว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาเทวดา ที่สามารถเบียดเบียนผู้อื่นได้โดยไม่มีผลกรรมอะไรที่ต้องรับผิดชอบ มันจะพาโง่ พามิจฉาทิฏฐิวุ่ยวายกันไปหมด มันจะแก้ยาก

พระไตรปิฏกมีหลักฐานไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้เจริญในทางพุทธศาสนา ตัวเองก็ต้องไม่ฆ่า และไม่ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่าทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งยังต้องสรรเสริญคุณของการไม่ฆ่านั้นอีก (เล่ม 19 ข้อ 1459)

ถ้าตัวเองยังกินเนื้อที่เขาฆ่ามาอยู่ มันก็คือการทำให้คนเข้าใจว่าการให้กันด้วยเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นดี มันก็ผิดหลักปฏิบัติทั้งยังขัดกับความรู้สึกของผู้ไม่เบียดเบียนอยู่เนืองๆ

แต่ก็เอาเถอะ… คนปฏิบัติแบบมิจฉา ก็ย่อมได้มิจฉาผลเป็นธรรมดา การที่เขาเหล่านั้นจะไม่มีหิริโอตตัปปะย่อมเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน

คนที่ไม่ยึดติดจะโอนอ่อนไปสู่สิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่ไม่เบียดเบียน แต่คนที่ยึดติด กิเลสจะพาเฉโกให้ไปทางเบียดเบียน จะเถียงกิน ทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองได้กิน แม้จะกล่าวตู่ว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ก็ยังกล่าวได้โดยไม่ละอายใจใดๆ เพราะไม่ได้ศึกษามานั่นเอง

สรุปสุดท้ายไว้ว่า สาวกของพระพุทธเจ้าแท้ๆ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนพวกที่ยังเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่โดยไม่รู้สึกผิดนั้น ก็สุดแล้วแต่จะพิจารณา… (เล่ม 25 ข้อ 29)

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย

August 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,569 views 3

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับการค้าขายที่ผิด ชาวพุทธไม่ควรทำไว้ด้วยกันห้าข้อในวณิชชสูตร และสองในห้าข้อนั้นก็เกี่ยวพันกับชีวิตของสัตว์โดยตรง

การค้าขายสัตว์ (สัตตวณิชชา) และการค้าขายเนื้อสัตว์ (มังสวณิชชา) เป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำ ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าจะทำก็ไม่เรียกว่าเป็นทางของพุทธ ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติของพุทธ นั่นหมายความว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์นั้นเป็นกิจกรรมนอกพุทธ ไม่เกี่ยวกับความเป็นพุทธ เป็นทางแห่งมิจฉา ทางแห่งบาป ทางแห่งความหลงผิด ไม่เป็นไปเพื่อกุศล ไม่เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์

ชาวพุทธย่อมไม่ยินดีในการขายสัตว์และเนื้อสัตว์ เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นสิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยง ไม่ควรฝืน ไม่ควรต้าน แต่ก็ไม่ควรเชื่อในทันที ควรใช้ปัญญาพิจารณาตามสิ่งที่ท่านตรัสว่าเป็นประโยชน์จริงไหม? แล้วสิ่งใดเป็นโทษ? ในเมื่อท่านตรัสหนทางสู่การพ้นทุกข์ เราจึงควรมีความเห็นไปตามท่านหรือขัดแย้งกับท่าน ดังนั้นการที่เราจะไปยินดี ไปสนับสนุนให้คนขายสัตว์และเนื้อสัตว์นั้นหมายถึงเรายอมรับในสิ่งที่ไม่สมควรนั้น เช่นเดียวกับการ รับของโจรทั่งที่รู้ว่าเป็นของที่ถูกปล้นมาขโมยมา

ในปัจจุบันเรารู้ได้โดยทั่วไปว่าชีวิตสัตว์นั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกซื้อขาย กลายเป็นเหมือนวัตถุสิ่งของ ซึ่งเป็นการพยายามเข้าไปควบคุมชีวิตผู้อื่น ทั้งๆที่จริงแล้วหนึ่งชีวิตตีค่าไม่ได้ เราไม่ควรมีสิทธิ์ในการควบคุมชีวิตสัตว์ใดเลย ดังนั้นการค้าขายชีวิตสัตว์จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเป็นการดูถูกคุณค่าของชีวิต การพยายามสร้างสิทธิ์อันชอบธรรม ทั้งๆที่ไม่มีสิทธิ์ใดๆเลยเหตุนั้นเพราะความหลงว่าตนเป็นผู้อยู่เหนือกว่า จึงมัวเมาในอำนาจลวงโลกที่ตนเองสร้างขึ้นมา สร้างความถูกต้องในการรังแกสัตว์อื่น ให้สามารถเบียดเบียนสัตว์อื่นได้อย่างไม่รู้สึกผิด

ชาวพุทธย่อมรังเกียจการเบียดเบียนและการฆ่าเรารู้กันดีอยู่แล้วว่าเนื้อสัตว์ที่ขายกันในตลาดทุกวันนี้ เป็นเนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยง ถูกจองจำ ถูกบังคับ และถูกฆ่ามา เราจึงไม่ควรยินดีในเนื้อสัตว์เหล่านั้น อีกทั้งการค้าขายเนื้อสัตว์นั้นยังเป็นการค้าที่ผิดชาวพุทธไม่ควรทำ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ที่มีที่มาอย่างไรก็ไม่ควรซื้อขาย เพราะถึงจะไปเจอเนื้อสัตว์ที่มันตายเอง กินได้โดยไม่ผิดบาป แต่เมื่อนำมาขาย ให้ผู้คนหลงติดหลงยึดในรสชาติ แล้วคนขายเกิดจิตโลภอยากได้เงิน แต่สัตว์นั้นก็ไม่ได้ตายเองตามธรรมชาติทุกวัน จึงทำให้คนโลภเหล่านั้นทิ้งศีลเพื่อถือเงิน เอาเงินเป็นหลัก เอาศีลเป็นรอง ยอมฆ่าแต่ไม่ยอมจน ยอมบาปเพียงเพราะหวังเสพสุขลวงจากความร่ำรวยเติบโตจนเป็นอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์อย่างในทุกวันนี้

ดังนั้นการที่เราจะไปซื้อสัตว์เป็น ซากสัตว์ตายหรือเนื้อสัตว์ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรเอาเสียเลย เพราะจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้อื่นหลงมัวเมาในบาปนั้น เป็นการสนับสนุนให้เขาฆ่าสัตว์ และที่แน่ๆ คือสนับสนุนให้ผู้อื่นประพฤติธรรมผิดทาง ซึ่งนั่นก็หมายถึงเรามีความเห็นผิดด้วยเช่นกัน ผู้เห็นผิดก็ย่อมหลงผิดไปตามๆกันไป ซึ่งเป็นไปตามธรรมของผู้เห็นผิดซึ่งจะต้องหลงผิดเป็นเรื่องธรรมดา

การค้าขายเนื้อสัตว์นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ในตลาด แต่ยังรวมไปถึงร้านอาหารที่ขายเนื้อสัตว์ด้วย แม้จะขายเป็นเนื้อสดหรือเนื้อปรุงสุกก็อยู่ในขอบเขตของการค้าขายเนื้อสัตว์ทั้งสิ้น ดังนั้นร้านอาหารที่ขายเนื้อสัตว์ในปัจจุบันจึงเป็นการค้าที่ผิด(มิจฉาวณิชชา) เป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำ นั่นหมายถึงเนื้อสัตว์และเมนูเนื้อสัตว์นั้นเป็นเนื้อนอกพุทธ คือไม่มีความเป็นบุญและกุศลใดๆในวิสัยของพุทธ ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของศาสนาพุทธ เป็นเนื้อนอกรีต เมื่อเนื้อนั้นเป็นเนื้อนอกพุทธ ไม่ว่าเราจะทำอย่างไร จะซื้อมา หรือจะรับต่อจากเขามา มันก็เป็นเนื้อสัตว์ที่อยู่นอกพุทธอยู่ดี

ในบทที่ว่าด้วยความเสื่อมของชาวพุทธ(หานิยสูตร) มีข้อหนึ่งได้กล่าวไว้ถึง “การแสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนาพุทธคือความเสื่อมของชาวพุทธ” นั่นหมายถึง “คนที่เห็นผิดจะพยายามเอาสิ่งที่อยู่นอกพุทธ มาทำให้เกิดเป็นสิ่งที่เขาเข้าใจว่าเป็นบุญเป็นกุศล นั้นเป็นความเสื่อม” เช่นการเอาเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ซึ่งเป็นเนื้อนอกพุทธ ไปทำอาหารใส่บาตรพระ ผิดตั้งแต่คนฆ่า คนขาย คนซื้อ และเอาไปใส่บาตรพระ เป็นการทำบุญได้บาป เพราะเอาสิ่งที่ไม่ควร เอาเนื้อที่เขาฆ่ามา เนื้อที่ควรรังเกียจ ไปให้สาวกของพระพุทธเจ้าฉัน (ชีวกสูตร) แล้วหวังผลบุญกุศล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความเห็นที่ผิด เป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธ เป็นการทำบุญที่ผิดหลักพุทธ เป็นการทำบุญได้บาป ซึ่งเป็นความเสื่อมของชาวพุทธที่เห็นได้ในปัจจุบันนั่นเอง

เพียงแค่ข้อธรรมสองข้อจากวณิชชสูตร คือ การค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์นั้นไม่ใช่สิ่งที่ชาวพุทธควรทำ ก็เพียงพอจะตัดเนื้อสัตว์ในชีวิตประจำวันของชาวพุทธออกไปได้มากกว่าครึ่งแล้ว เราซื้อสัตว์มาเลี้ยงก็ไม่ได้ ฆ่ากินเองก็ไม่ฆ่า ส่วนจะซื้อเนื้อสัตว์ก็ทำไม่ได้อีก ซื้ออาหารที่มุ่งเน้นการขายเนื้อสัตว์ก็ไม่ถูกธรรมอีก เพราะเราไปซื้อ เขาก็ขาย เมื่อมีการค้าขายก็เรียกได้ว่าผิดหลักปฏิบัติอย่างชัดเจน จะเลี่ยงบาลีอย่างไรก็คงยากจะหนีพ้น และมันก็สนับสนุนการกระทำที่ผิดไปจากหลักของพุทธอีก แล้วทีนี้จะหาเนื้อสัตว์มาจากไหน มันไม่มีให้กินหรอก ที่กินกันอยู่ทุกวันนี่มันเนื้อนอกพุทธทั้งนั้น เนื้อบาปทั้งนั้น เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ถึงจะหาเหตุผล หาข้ออ้าง พยายามบิดเบือนพระไตรปิฎก พยายามแปลความ ตีความเข้าข้างตน ให้ได้กินเนื้อสัตว์ได้อย่างถูกต้องตามที่ต้องการ แต่สุดท้ายมันก็จะผิดไปจากธรรมะอยู่ดี

ดังนั้นผู้ที่พยายามกินเนื้อสัตว์ทั้งที่มีข้อธรรมะต่างๆ เป็นแนวสกัดขวางไม่ให้หาเนื้อสัตว์กินได้ง่ายๆ แต่ก็ยังจะกิน ยังหามากิน ยังเถียงเพื่อให้ได้กิน ยังหาเหตุผลมากิน ก็เป็นเพียงความหลงผิดที่ผลักดันให้ทำเช่นนั้น และเมื่อเป็นเช่นนั้น การที่พวกเขาเหล่านั้นจะถูกกล่าวหา ถูกข่มขี่ ถูกประณามว่าเป็นผู้เบียดเบียน ย่อมเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา นั่นเพราะพวกเขายังต้องเบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อบำเรอตน บำเรอสังขารตน หรือบำเรอกิเลสตนอยู่เป็นนิจ

ผู้ที่ปฏิบัติตนสู่ความพ้นทุกข์ ย่อมไม่ยินดีในการผิดศีล ผิดธรรม ผิดวินัย ใช่ว่าจะมีคนที่ฆ่าสัตว์นั้นมาแล้ว มีคนที่เอาเนื้อสัตว์เหล่านั้นปรุงแต่งเป็นอาหารให้เรา แล้วเราจะต้องยินดีรับ เพราะเรารู้อยู่เต็มอกว่านี้คือเนื้อที่เขาฆ่ามา สัตว์ถูกพรากชีวิตมา เราย่อมรังเกียจเนื้อที่เขาฆ่ามา ดั้งนั้นผู้ที่มีหิริโอตตัปปะจึงไม่สามารถรู้สึกยินดีกับเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้ หากจะมีผู้ที่ยินดีในเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ก็คงจะไม่ใช่เรื่องของพุทธ เป็นเรื่องนอกพุทธ ไม่อยู่ในวิสัยของพุทธ

แนะนำบทความเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมที่ ” สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ

– – – – – – – – – – – – – – –

8.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

July 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,701 views 0

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

โลกปัจจุบันนี้ได้ดำเนินผ่านยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดจนกระทั่งมาถึงกึ่งกลางพุทธกาล หลายสิ่งเปลี่ยนผันไปความชั่วกลายเป็นสิ่งดีในสายตาผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ความดีก็ดูเหมือนว่าจะไร้ค่าลงไปทุกที ทุกวันนี้เราสามารถทำสิ่งที่ชั่วได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาปอะไรด้วยเหตุผลประมาณว่าใครๆเขาก็ทำกัน จนสิ่งชั่วนั้นกลายเป็นค่านิยม เป็นความเข้าใจ เป็นมาตรฐาน สิ่งเดียวที่สามารถแยกดีแยกชั่วที่แท้จริงได้นั่นก็คือ “ศีล

ศีลเป็นตัวกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจนว่าสิ่งใดเบียดเบียนสิ่งใดไม่เบียดเบียน ศีลมีตั้งแต่ระดับที่ปฏิบัติไม่ยากจนเกินไปคือศีล ๕ จนกระทั่งถึงศีลระดับสูงอีกมากมาย ซึ่งนั่นหมายถึงหากต้องการขัดเกลาตนเองให้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นก็ต้องศึกษาในศีล

ศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้นเป็นของที่ประเสริฐที่สุด เป็นสัจจะที่ถูกกล่าวออกมาจากบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก เป็นความดีที่คัดสรรค์มาแล้ว เราไม่ควรจะตัดหรือบัญญัติใหม่ หรือกล่าวว่าศีลแต่ละข้อนั้นก็เหมือนๆกัน หรือเห็นว่าศีลเป็นเพียงพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม ผู้ที่กล่าวเช่นนั้นอาจจะยังไม่เข้าใจแก่นสารสาระของศีล ไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติศีล ไม่เข้าใจกระบวนการของไตรสิกขา ไม่รู้จักการชำระล้างกิเลส ไม่เข้าถึงแก่นของพุทธ

สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ศีล หิริโอตตัปปะ

สติกับศีลนั้นทำงานต่างกัน สตินั้นไม่ใช่ตัวแยกดีแยกชั่ว แต่เป็นตัวรู้ว่าขณะนั้นเกิดสภาวะใดในจิตใจขึ้น เป็นเพียงตัวรู้เฉยๆ ส่วนศีลคือตัวแยกเลยว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดชั่ว ถ้าอยู่ในศีลคือดี ผิดศีลคือชั่ว ส่วนความรู้สึกผิดกลัวต่อบาปที่เกิดขึ้นเรียกว่าหิริโอตตัปปะ เป็นสภาพของจิตที่เจริญมาจากการศึกษาศีล

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราถือศีล ๕ ไม่ฆ่าสัตว์ ในตอนแรกเราก็อาจจะยังตบยุงอยู่เพราะหิริโอตตัปปะยังไม่เจริญถึงขั้นสกัดขั้นไม่ให้ทำบาปได้ ส่วนสติสัมปชัญญะก็จะเป็นตัวรู้ว่าถูกยุงกัด ยุงกัด เจ็บ เจ็บ โกรธ โกรธ นี่คือระดับสติทั่วไป ถ้าจับได้ก็อาจจะสามารถข่มใจได้บ้าง หรือแม้จะมีสติก็อาจจะตบยุงได้ เพราะสภาวะที่จะมากั้นไม่ให้ลงมือทำบาปจริงๆจะเริ่มที่ขั้นของโอตตัปปะคือละอายต่อบาปจนไม่กล้าทำบาปแล้ว ส่วนหิรินั้นแค่เกรงกลัว ทำให้บางทีก็มีตามใจกิเลสแอบตบบ้าง แต่ตบไปแล้วก็จะรู้สึกผิด และถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ จะระลึกรู้ไปถึงจิตที่มีกิเลสปน จะรู้ลึกไปถึงเหตุปัจจัยในการเกิดความโกรธ ว่ากิเลสใดที่ทำให้ตัดสินใจจะตบยุง และรู้ไปถึงธรรมที่จะมาขัดกิเลสนั้นๆ

ตัวอย่างที่สอง เราหัดกินมังสวิรัติ แม้จะเห็นคุณในการไม่เบียดเบียนสัตว์ทางอ้อมจนกระทั่งอธิศีลเพิ่มขึ้นมาในขอบเขตของศีลข้อ ๑ นั่นคือเรามีปัญญารู้แล้วว่ากินมังสวิรัติไม่เบียดเบียนอย่างไร กินเนื้อสัตว์เบียดเบียนอย่างไร เรียกว่าแยกดีแยกชั่วได้แล้ว เมื่อปฏิบัติไปต้องกระทบกับเมนูเนื้อสัตว์ สติเป็นเพียงตัวรู้ว่าเกิดอาการอะไรขึ้นในจิต แต่ศีลจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตของดีและชั่ว ถ้าดีคืออดทนถือศีลต่อไป ถ้าชั่วก็ข้ามกำแพงศีลธรรมไปกินตามกิเลส

ตัวอย่างที่สาม ถ้าเราไม่ถือศีลกินมื้อเดียว ก็เรียกได้ว่ายังไม่ได้เริ่มแยกดีแยกชั่ว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการกินหลายมื้อนั้นมีโทษภัยอย่างไร เข้าใจว่ามาตรฐานต้องสามมื้อ อันนี้เกิดจากไม่มีปัญญาศึกษาในสาระของศีล พอไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วก็ไม่ถือศีล เพราะฉะนั้นถืงจะมีสติแค่ไหนแต่ถ้ายังแยกดีแยกชั่วไม่ได้ ก็ยังกินสามมื้อเหมือนปกติ แม้จะกินไปอย่างมีสติรู้ตัวอย่างเต็มที่เคี้ยวข้าวทีละคำอย่างช้าๆ ค่อยๆ กลืน แต่ก็ไม่มีปัญญารู้ว่ากินสามมื้อชั่วอย่างไร กินมื้อเดียวดีอย่างไร

เมื่อเราศึกษาไปจะพบว่าสภาวธรรมแต่ละอย่างนั้นมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน แต่ทำคนละหน้าที่กัน เราจึงควรศึกษาให้เห็นสภาวะเหล่านั้นในตน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะต้องงงกับสมมุติโลกที่หลากหลาย เช่นคำว่า “สติ” คำเดียว เขาครอบคลุมทุกอย่างเลยก็มี หรือแม้แต่เข้าใจว่าถ้ารู้ธรรม จำธรรมได้ ก็สามารถบรรลุธรรมได้ ความเห็นเหล่านั้นเกิดจากการไม่ศึกษาธรรมให้ถ่องแท้ ไม่เข้าใจไตรสิกขา ไม่รู้ความสัมพันธ์ของศีล สมาธิ ปัญญา ไม่คบบัณฑิต ไม่มีกัลยาณมิตร

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีลกับลูกหมูสามตัว

ในบทความนี้ก็จะยกตัวอย่างประกอบภาพไว้สามตัวอย่าง ซึ่งก็แนะนำให้ดูภาพประกอบบทความและค่อยๆทำความเข้าใจไปควบคู่กัน ในตัวอย่างแรกคือหมูดำ ที่ใช้ชีวิตไปสบายๆ ไม่ยินดีถือศีล ตัวอย่างที่สองคือหมูขาว ที่ถือศีลเพื่อความดีงาม ป้องกันความชั่ว และตัวอย่างสุดท้ายคือหมูชมพูที่ศึกษาศีลเพื่อที่จะชำระกิเลสไปโดยลำดับ

คนไม่มีศีล(หมูดำ)

คนที่ไม่มีศีล ก็ไม่ต้องทุกข์ร้อนลำบากใจอะไร ไม่ต้องมีอะไรขัดใจเมื่อตนเองอยากได้อยากเสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่น เหมือนปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำแต่ไม่เห็นน้ำ คือแม้จะจมอยู่ในกองกิเลสแต่ก็ไม่รู้ตัวว่าอยู่ในกองกิเลส จึงใช้ชีวิตโดยประมาท โดยไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว

ศีลเป็นเครื่องวัดกิเลสที่ดีมาก เมื่อเราถือศีลก็จะสามารถเห็นพลังของกิเลสที่จะทำลายศีลนั้นๆ ด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือต่างๆนาๆ แม้กระทั่งเหตุผลที่ทำลายคุณค่าของศีลก็อาจถูกสร้างขึ้นมาจากกิเลสได้เช่นกัน

เมื่อศีลคือเครื่องทรมานสำหรับคนกิเลสหนา เขาเหล่านั้นจึงไม่ถือศีล ไม่ศรัทธาศีล ไม่ยินดีศึกษาในศีล เพราะความขยาดทุกข์ที่จะต้องเจอเมื่อถือศีล ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะถือศีลได้ เพราะกิเลสนั้นจะเป็นมารที่มาคอยขัดขวาง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถูกตรงมักจะไม่มีวิธีการจัดการกับกิเลส สุดท้ายก็ทิ้งศีลและยึดกิเลสไว้แทน การไม่ถือศีลจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับพวกเขา

และเมื่อไม่มีศีล ก็ไม่มีอะไรเข้ามาแยกดีแยกชั่ว จึงมักจะใช้ตรรกะของตนเข้ามาเป็นตัวกำหนดว่าอะไรดีอะไรชั่ว ไม่ได้ใช้หลักการของพระพุทธเจ้า แต่เปลี่ยนมาใช้หลักกู เมื่อไม่เห็นตามพระพุทธเจ้าก็คือคนที่มีความเห็นผิด เมื่อเขามีความเห็นความเข้าใจที่ผิด ก็จะคิดผิดตามไปด้วย ดังนั้นหลักการตัดสินดีชั่วก็จะผิดแปลกตามไปด้วยเช่นกัน

คนถือศีล (หมูขาว)

คนที่ถือศีล คือคนที่มีศรัทธาและปัญญาเห็นคุณค่าของศีล แต่ก็มักจะถือศีลอย่างงมงาย เข้าใจว่าศีลนั้นเป็นเพียงแค่กฎ เป็นข้อบังคับไม่ให้ทำชั่ว โดยมีการปฏิบัติศีลในลักษณะของการกดข่มความชั่ว ใช้ศีลเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ทำชั่ว ให้อยู่ในกรอบของความดีงาม

ซึ่งคนเหล่านี้ก็ถือว่าเจริญแล้ว เพราะพยายามละเว้นสิ่งที่จะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพราะแยกดีแยกชั่วได้บ้างแล้ว สิ่งใดชั่วก็ควรจะละเว้น สิ่งใดที่ดีก็ควรจะทำ แต่ก็ยังมีความลำบากในการถือศีล เพราะต้องคอยกดข่มความอยาก อดทนข่มใจเพื่อไม่ให้ผิดศีล จึงมีข้อจำกัดในการถือศีล เพราะถือศีลแต่ไม่ได้ชำระกิเลส เพียงแค่ใช้ศีลเป็นกรอบแห่งความดีงามและป้องกันสิ่งชั่วเท่านั้น

คนที่ถือศีลจะสามารถรู้ได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วและรู้ว่ายังมีศีลที่ละเว้นสิ่งที่ชั่วอีกมาก ซึ่งเขาอาจจะทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่ก็สามารถเห็นขอบเขตพรมแดนที่แบ่งแยกดีชั่วได้แล้ว

สรุปสองหมู คือทางโต่งสองด้าน

ทั้งหมูดำและหมูขาว คือแนวทางที่มีโอกาสจะลำเส้นเข้าไปในทางโต่งได้ง่าย หมูดำผู้ที่ไม่ยินดีในการถือศีลก็มักจะ โต่งไปทางกาม ไปติดสุขจากการเสพ เพราะไม่มีศีลมาเป็นตัวคอยขัดขวาง จึงสามารถทำชั่วได้โดยไม่มีขอบเขต ชั่วก็ไม่รู้ว่าชั่ว มักจะจมไปกับกามและห่างไกลจากทางสายกลางไปเรื่อยๆ

หมูขาวคือผู้ยินดีในการถือศีล แม้ว่าตนเองจะไม่ไปทำชั่วแล้ว แต่ก็มักจะมีทิศทางที่โต่งไปในด้านของอัตตา ไปในแนวทางการถือศีลอย่างยึดมั่นถือมั่น ถือศีลอย่างตึงเครียด กดดัน บีบคั้น จนสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนเอง ก็เป็นทางโต่งอีกด้านหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะอยู่บนพื้นฐานของความดี แต่ก็ยังเป็นความดีที่สร้างทุกข์ให้ตนเองอยู่ ซึ่งการทำทุกข์ให้ตนเองก็คือชั่ว ชั่วก็คือกิเลส และนั่นก็คือทางโต่งอีกด้าน

คนศึกษาศีล (หมูชมพู)

คนที่ศึกษาและปฏิบัติศีลอย่างถูกตรง จะรู้วิธีถือศีลให้เกิดความเจริญ ไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือไม่ทิ้งศีลเพื่อไปเสพอย่างมัวเมา และไม่ยึดมั่นถือมั่นในศีลจนทุกข์ทรมาน

ผู้ที่ศึกษาศีลจะใช้ศีลเป็นตัวกำหนดกรอบในการชำระกิเลส ใช้ศีลเป็นเขตในการปฏิบัติธรรม ด้วยพื้นฐานของปัญญาที่เห็นคุณค่าของศีลนั้นๆ หรือเรียกว่าเป็นไปตามอินทรีย์พละ เมื่อถือศีลแล้วก็จะค่อยๆชำระกิเลสไปด้วยสติปัญญาที่ตนมี ใช้กำลังจิตในการข่มอาการของกิเลสที่จะกำเริบ ใช้สติในการรู้ตัวตนของกิเลสเพื่อที่จะทำลาย และใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณาโทษภัยของกิเลสนั้นๆ จนทำลายกิเลสไปได้โดยลำดับ

เมื่อถือศีลจนชำระกิเลสในขอบเขตหนึ่งได้ ก็จะขยายเพิ่มศีลในส่วนอื่นๆต่อไป ในส่วนเดิมก็ไม่ต้องทำแล้วเพราะกิเลสหมดแล้ว ก็ขยับไปทำอธิศีลหรือสร้างขอบเขตในการปฏิบัติธรรมขึ้นมาใหม่ เช่นตอนนี้ถือศีล ๕ ได้โดยไม่ลำบากใจแล้วนะ ก็ขยับฐานศีลขึ้นไปจากฐานเดิม เช่นมังสวิรัติ คือนอกจากไม่ฆ่าเองแล้วยังไม่สนับสนุนให้ใครฆ่าอีกด้วย ไม่เบียดเบียนทั้งทางตรงทางอ้อม พอขยับฐานก็ต้องตั้งมั่นในศีล ศึกษาศีลไปพร้อมๆกับ สร้างอธิจิตและอธิปัญญา ไตรสิกขาจึงเป็นการศึกษาที่ไปด้วยกันเป็นกระบวน ไม่แยกปฏิบัติ เมื่อแยกปฏิบัติจึงไม่เรียกว่าไตรสิกขา เมื่อไม่ใช้ไตรสิกขาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าให้ศึกษาเพื่อการพ้นทุกข์ แล้วจะเอาผลสำเร็จมาจากไหน

ดังนั้นการศึกษาและปฏิบัติธรรมควรเริ่มต้นจากศีล โดยเรียนรู้กระบวนการปฏิบัติของไตรสิกขา เพื่อความเจริญก้าวหน้า ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถือศีลอย่างงมงาย แต่เป็นผู้ถือศีลเพื่อชำระกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

2.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)