Tag: สุขลวง

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,970 views 1

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

ในทุก ๆ การตัดสินใจของชีวิตของคนที่ยังมีกิเลส ก็มักจะต้องเลือกระหว่างกิเลสหรือธรรมะ สองสิ่งนี้เป็นทางเลือกอิสระที่ให้ผลต่างกัน

กิเลสคือสิ่งที่จะพาให้ทุกข์ พาเสื่อม ห่างไกลความผาสุกในชีวิต ในขณะที่ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะพาให้พ้นทุกข์ นำความเจริญมาให้ และเข้าใกล้ความผาสุกที่ยั่งยืน

กิเลสและธรรมะนั้นไปด้วยกันไม่ได้ หากเราเลือกกิเลส เราก็จะต้องเสียธรรมะไป หากเราเลือกที่จะเสพสุขกับบางสิ่งบางอย่าง เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงธรรมเพราะมัวแต่สนใจสุขลวง เช่น นักบวชในพุทธศาสนาที่เลือกที่จะมีคู่ ก็ต้องสึกและเสื่อมจากธรรมเพื่อแลกกับการเสพโลกีย์สุข

ไม่มีอะไรได้มาโดยที่ไม่เสียอะไรไป เมื่อเราเลือกที่จะเสพโลกีย์สุขตามคำสั่งของกิเลส เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงโลกุตระสุขที่ปราศจากกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ เพราะสละความสุขพอประมาณไซร้ เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์ พึงสละความสุขพอประมาณเสีย

สุขจากกิเลสนั้นสุขน้อยทุกข์มาก หรือเรียกว่าเป็นสุขลวง ซึ่งการจะเห็นสุขแท้ที่ยั่งยืนนั้นต้องยอมสละสุขลวงจากกิเลส แต่การจะเห็นสุขแท้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีคำกล่าวว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ถึงกระนั้นสุขแท้จริงเหล่านั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะสัมผัสมันได้ง่ายนัก เพราะถ้าหากสุขแท้นั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้โดยทั่วไป รู้ได้โดยภาษา เข้าถึงได้โดยการเพ่งเพียรปฏิบัติ ทุกคนก็คงจะเห็นได้ว่าโลกุตระสุขนั้นมีค่ามากกว่าโลกีย์สุข(กิเลส)และยอมทิ้งโลกีย์สุขนั้นกันหมด ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะมีแต่คนที่เมินเฉยต่อการแสวงหาโลกุตระสุข เพียงเพราะพอใจในโลกีย์สุขที่ตนมี

และถึงแม้ว่าเราจะเลือกธรรมะ ก็ใช่ว่าเราจะหมดกิเลส ไม่เหมือนกับตอนที่เราเลือกตามใจกิเลสแล้วเราจะเสียธรรมะ ซึ่งการปฏิบัติของพุทธศาสนามิใช่การนึกคิดเอาเองว่าถ้าทำจิตให้เป็นเช่นนั้น แล้วทุกอย่างจะเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เราเข้าใจว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้วจะเป็นพระอรหันต์จริงๆ แต่ต้องเป็นการปฏิบัติที่ลงไปล้างถึงเหตุแห่งทุกข์ โดยใช้หลักของอริยสัจ ๔ ซึ่งจะปฏิบัติชำระความเห็นผิดไปโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ลาดลุ่มไปโดยลำดับเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว

นั่นหมายความว่าถึงจะเรียนรู้เป็นพันเป็นหมื่นคัมภีร์ ท่องจำได้คล่องปากไม่มีตกหล่น หรือแม้จะเพ่งเพียรปฏิบัติจนแทบจะเรียกได้ว่าเอาชีวิตไปทิ้ง แม้จะเด็ดเดี่ยวจนถึงขั้นยอมตายถวายธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงผลของธรรมะได้ หากยังมีความเห็นที่ตั้งไว้ไม่ตรง(มิจฉาทิฏฐิ)

การทำตามกิเลสแล้วเสื่อมจากธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่การทำตามธรรมะให้กิเลสเสื่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก มีแต่บัณฑิตเท่านั้นที่รู้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะด้นเดาเอาได้ เพราะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งยากจะเข้าใจเกินกว่าจะคิดคำนวณเอาเอง จึงมีแต่สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่แท้จริงเท่านั้นที่จะไขความลับนี้ได้

ผู้ที่เลือกตามใจกิเลสอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมจะเสื่อมจะกุศลธรรมไปเรื่อยๆ และห่างไกลจากโอกาสในการเข้าถึงธรรมะที่พาล้างกิเลสไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

และข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าให้ไว้เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสก็คือ “ศีล” ซึ่งศีลจะทำให้รู้ขอบเขตว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ หากปราศจากศีลแล้ว ก็คงยากจะแยกแยะว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดคือชั่ว สิ่งใดที่ควร สิ่งใดไม่ควร ดังนั้นผู้ที่ไม่มีศีลจึงไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ ผู้เสื่อมจากศีล จึงเสื่อมจากความเป็นพุทธ และเสื่อมจากธรรมทั้งหลายทั้งปวงด้วยเช่นกัน

ศีลคือข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการเข้าถึงการล้างกิเลส เมื่อผู้ปฏิบัติไม่มีศีล ก็ไม่มีไตรสิกขา ไม่มีการปฏิบัติที่ถูกตรงของพุทธ นั่นหมายถึงไม่มีการล้างกิเลส และไม่มีการหลุดพ้นจากกิเลส ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า หากเลือกธรรมะนั้นก็จำเป็นต้องมีศีลเป็นพื้นฐานด้วย ต่อให้อีกอ่านอีกกี่ล้านคัมภีร์ หรือนั่งนิ่งเป็นพรหมลูกฟัก อวดอ้างตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม หากปราศจากศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ก็คงจะเป็นเพียงแค่โมฆะบุรุษเท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โสด ไม่เบียดเบียน

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,764 views 0

โสด ไม่เบียดเบียน

โสด ไม่เบียดเบียน

สัตว์โลกนั้นเบียดเบียนกันด้วยความอยากเป็นธรรมดา เพื่อที่เราจะเบียดเบียนกันได้อย่างสบายใจ เราจึงสร้างความลวงขึ้นมาบดบังความจริง ดังเช่นว่าการมีครอบครัวเป็นสุข เพื่อปิดบังความจริงที่ว่าการมีครอบครัวนั้นเบียดเบียน คับแคบ เป็นทุกข์ แต่ก็ต้องทำเพราะเหตุแห่งความอยากนั้นเอง

เมื่อเราอยากได้อยากเสพอะไรมากๆ เราจะพยายามหาข้อดีของมัน พยายามปั้นแต่งประโยชน์ต่างๆนาๆ เพื่อที่จะได้เสพสิ่งนั้นโดยไม่ต้องรู้สึกผิด ซึ่งเป็นธรรมชาติของกิเลสที่จะสร้างความลวงให้คนหลงผิดติดยึดในสิ่งที่เป็นภัยต่อชีวิตมากขึ้น

แท้จริงแล้วการมีครอบครัวนั้นคือความเบียดเบียน เป็นความคับแคบ เป็นบ่วงที่คล้องคอไว้ เป็นภาระของชีวิต แม้เราจะพยายามปั้นข้อดีมากมายของการมีครอบครัว แต่ความจริงก็คือความจริง ว่าการมีครอบครัวนั้นไม่สบายเท่าความเป็นโสด

เมื่อเราอยู่เป็นโสด เราก็ไม่จำเป็นต้องเบียดเบียนทรัพย์สิน ร่างกาย เวลา และจิตใจของใคร เราต่างอยู่เป็นอิสระในพื้นที่ที่เรามี ไม่ไปก้าวก่ายชีวิตใครโดยไม่จำเป็น

แต่เมื่อเรามีครอบครัว เราก็จำเป็นต้องเบียดเบียนทรัพย์สิน ร่างกาย เวลา และจิตใจของกันและกัน พากันเสพสุขตามกิเลสก็เป็นการพากันไปทางเสื่อม ทะเลาะเบาะแว้งกันก็เป็นการพากันทำชั่ว การมีครอบครัวจึงกลายเป็นเบียดเบียนกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งเรามักจะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เป็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด เมื่อถูกชี้โทษของการมีครอบครัวให้เห็นดังนี้แล้ว กิเลสข้างในก็ยังจะสามารถสร้างเหตุผลที่สวยงามและประโยชน์มากมายของการมีครอบครัวขึ้นมาได้ ทั้งหมดนั้นเพราะเรามีความอยาก คือตัณหา คือความแส่หา คือความใคร่อยากเสพ พออยากเสพสุขมากๆ แล้วมีคนมาบอกว่าสิ่งนั้นเป็นโทษเป็นภัย …ด้วยกำลังจิตที่น้อย ต่อต้านกิเลสไม่ไหวจึงไม่สามารถทำใจในใจพิจารณาตามให้ทันว่าเหตุเกิดแห่งความทุกข์นั้นคือที่ใด

เมื่อได้รับข้อมูลว่าการมีครอบครัวเป็นทุกข์ แทนที่จะพิจารณาไปถึงที่เกิดว่า “ความอยากของเรานี้สร้างทุกข์” แต่มักจะเห็นและเข้าใจว่า “การถูกห้ามไม่ให้มีครอบครัว และการถูกชี้โทษนี่แหละเป็นทุกข์” ซึ่งเป็นการมองปัญหาคนละจุด กรณีแรกคือการมองกิเลสเป็นปัญหา กรณีที่สองคือมองธรรมะเป็นปัญหา พอมองธรรมะเป็นสิ่งผิด สุดท้ายก็เลยจับมือกับกิเลส ถล่มธรรมะจนสิ้นซาก ตอกตะปู ปิดฝาโลง ฝังความเจริญในทันที

แค่มีความอยากก็เบียดเบียนตนเองด้วยความเห็นผิดมากพออยู่แล้ว การที่เราจะไปหาคนผู้โชคร้ายมาสนองความอยากของเรา มาสนองความเชื่อที่ผิดของเรา นั่นยิ่งเป็นการเบียดเบียนที่มากกว่า

น่าสงสารว่าที่คู่ครองที่ต้องมาแบกรับความอยากปริมาณมหาศาลของเรา เพราะแค่กิเลสของตัวเองก็มากมายพออยู่แล้ว ยังต้องมาบำรุงบำเรอกิเลสของกันและกันอีก นี่มันจะพาชั่วเบียดเบียนกันเข้าไปใหญ่

ดังนั้นการเป็นประพฤติตนให้เป็นโสดจึงเป็นสุขที่สุด เพราะไม่ต้องเบียดเบียนตนเองด้วยความเห็นผิด ไม่ต้องเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกิเลสของเรา และไม่ไปสร้างตัวอย่างของความสุขที่หลอกลวงให้สังคมและโลกได้หลงผิดตามๆกันไปอีกด้วย

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แก้ทุกข์ ไม่แก้สุข จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร : การแก้ปัญหาความรักที่ไม่ลงไปแก้ถึงเหตุแห่งทุกข์

October 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,931 views 0

แก้ทุกข์ ไม่แก้สุข จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร

แก้ทุกข์ ไม่แก้สุข จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร : การแก้ปัญหาความรักที่ไม่ลงไปแก้ถึงเหตุแห่งทุกข์

เวลาที่เราเจอกับปัญหาความรัก หลายคนมุ่งแต่จะแก้ทุกข์ที่เกิดขึ้น แสวงหาหนทาง หาความรู้ในการดับทุกข์ ทั้งที่จริงแล้วการจะแก้ปัญหาที่ทำให้เกิดทุกข์เหล่านั้น ก็ต้องกลับมาแก้ว่าเราไปติดสุขในอะไร

ตอนที่คนเราตกหลุมรักใครสักคน น้อยคนนักที่จะปรึกษาคนอื่นว่าจะดีไหม จะเห็นอย่างไร ถ้าจะปรึกษาก็คงจะปรึกษากับผู้ที่เห็นด้วยเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยก็เป็นเพียงแค่สายลมเบาๆที่ผ่านหูไป โดยเฉพาะถ้าให้คนที่กำลังตกหลุมรักไปปรึกษากับพระ หรือผู้ที่ปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ เขาย่อมไม่ยินดีที่จะรับฟังทางพ้นทุกข์เหล่านั้นอย่างแน่นอน เพราะเรารู้กันดีอยู่แล้วว่าการมีคู่นั้นเป็นทางแห่งทุกข์แต่คนก็ยินดีที่จะรับทุกข์นั้นเพราะหลงว่าในทุกข์นั้นยังมีสุข และเห็นว่าสุขที่มีนั้นมากกว่าทุกข์นั่นเอง

สรุปว่าตอนที่เรากำลังสร้างปัญหานี้ขึ้นมานั้น เราไม่ค่อยปรึกษาใครหรอก แต่ตอนที่รักนั้นมีปัญหา ชีวิตคู่มีปัญหา เป็นทุกข์ ทุรนทุราย คร่ำครวญ รำพัน จะเป็นจะตาย กินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็มักจะแสวงหาทางออก ซึ่งหนทางยอดนิยมทางหนึ่งของคนไทยก็คือหันหน้าเข้าหาศาสนา

แล้วยังไง? ทีนี้คนก็มุ่งแต่จะแก้ทุกข์ที่เกิดพยายามแสวงหาผู้วิเศษ ที่มีอิทธิฤทธิ์ช่วยให้ทุกข์ของตนคลายได้ “ เป็นความเชื่อที่จะเปรียบไปแล้วก็เหมือน ไปหาคนอื่นมาเช็ดขี้ของตัวเอง “ รังเกียจขี้เหม็นๆ ของตัวเอง โดยไม่รู้ว่าขี้มันก็เกิดจากอาหารที่กินเข้าไปนั่นแหละ กินอะไรเข้าไปมันก็ขี้ออกมาอย่างนั้น แล้วก็มุ่งประเด็นว่าจะทำอย่างไรขี้ถึงจะหอม ถึงจะออกมาสะอาด เหมือนกับคนที่ทำชั่วแล้วหวังให้ผลออกมาดี ซึ่งไม่มีทางเป็นอย่างนั้นได้เลย

ปัญหาของตัวเองสร้างขึ้นมาเอง ก็ต้องแก้เอาเอง จะไปโยนปัญหาของตัวเองให้คนอื่นแก้นั้นไม่ได้ ความเห็นแก่ตัวไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ การพึ่งตนเองต่างหากคือทางพ้นทุกข์ ขยันสร้างทุกข์มาเท่าไหร่ก็ต้องแก้เท่านั้น ตอนสุขก็เออออไปกับกิเลสไม่เอาธรรมะ แต่พอทุกข์แล้วจะมาเอาธรรมะไปล้างทุกข์ แต่ไม่ยอมล้างกิเลส หวงกิเลส แล้วมันจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร?

ความทุกข์ทั้งหลายมีอาหาร ไม่ใช่ไม่มีอาหาร เพียงแต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเป็นอาหารของความทุกข์เหล่านั้น ก็คงจะไม่มีใครเข้าไปรู้ใจคนอื่นได้ นอกจากคนที่กินอาหารนั้นเอง ต่อให้ครูบาอาจารย์เก่งแค่ไหนก็แนะนำได้แค่ภาพรวม แต่คนที่รู้ว่าอาหารของทุกข์นั้นคืออะไร คนนั้นคือผู้ที่เป็นทุกข์เองเท่านั้น

การเกิดของความทุกข์นั้นก็เกิดจากความหลงสุข หากเราไปหลงสุขหลงเสพ หลงติดหลงยึดในอะไร ก็จะต้องทุกข์เพราะเรื่องนั้น ดังนั้นจะแก้ทุกข์ก็ต้องลงไปแก้ที่ความติดสุข แล้วทีนี้ปัญหาก็คือคนที่เป็นทุกข์จากความรัก กลับไม่อยากทิ้งความสุขเหล่านั้น ไม่อยากแม้แต่จะไปข้องแวะในอาณาเขตแห่งความสุขเหล่านั้น เป็นพื้นที่หวงห้ามที่ถูกปกป้องอำพรางไว้ด้วยขุนพลกิเลสใหญ่น้อย ที่มีกำลังแกร่งกล้า เพราะกิเลสนั้นฝึกตนให้หลงมาหลายภพหลายชาติ

ผู้ที่กิเลสหนา จิตอ่อน ปัญญาน้อย เพียงแค่ถูกกิเลสจ้องหน้าก็เข่าอ่อน ล้มลงไปกองกับพื้นแล้ว อยากพ้นทุกข์แต่ก็ไม่กล้าเข้าไปแตะว่าสุขเพราะอะไร ทำให้เหตุของปัญหาเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องลึกลับ เป็นเหมือนเมืองลับแล เป็นพื้นที่หวงห้ามที่ถูกพรางให้ไม่ปรากฏบนแผนที่โลก เหมือนกับมันไม่เคยมีอยู่ในจิตใจ เพราะไม่เคยคิดจะไปค้นหา ไปวิเคราะห์ ไปพิจารณาว่า เรานี่ติดสุขในอะไร สิ่งนั้นมันสุขตรงไหน สุขแบบไหน ทั้งยังไม่ยินยอมให้ใครเข้าไปลุกล้ำพื้นที่เหล่านั้น เรียกได้ว่าหวงกิเลส กิเลสของฉัน ความสุขของฉัน ตัวตนของฉัน บางครั้งถึงกับยกไว้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามตีความ ห้ามเข้าถึง ห้ามหาความหมาย แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงอาการที่หลง ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่ชัดแจ้งในสมุทัย

สรุปแล้ว การแก้ปัญหาความรักก็ไม่ต้องไปไหนไกลหรอก ไม่ต้องไปปรึกษาใครให้มันเวิ่นเว้อวุ่นวายเสียเวลากันมากมายหรอก แค่ศึกษาวิธีล้างกิเลส แล้วไปค้นว่าสร้างสุขลวงอะไรขึ้นมาก็ทำลายอั้นนั้นแหละ ทุกข์ก็จะดับไปเองแต่ถ้าไม่ชัดเจนในสุขลวงเหล่านั้น ไม่ทำให้สิ่งลึกลับนั้นถูกเปิดเผยให้รู้แจ้ง ก็จะต้องจมกับความทุกข์และความเศร้าหมองตลอดไป

– – – – – – – – – – – – – – –

2.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

August 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,838 views 0

ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นเลยว่าการมีสิ่งที่รักนั้นคือความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีสุขเลยแม้น้อย แต่กระนั้นคนที่หลงในสุขลวงยังพยายามยกสุขลวงเหล่านั้นขึ้นมาเป็นสาระ เป็นประโยชน์ ให้ตนได้เสพสุขในสิ่งที่รักเหล่านั้น

ในปิยชาติกสูตร มีเรื่องราวว่า บุตรของคฤหบดีคนหนึ่งตาย จึงทำให้คฤหบดีเกิดความทุกข์มาก ว่าแล้วก็ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เล่าความตามที่เป็น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ความโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นของเกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

แต่คฤหบดีกล่าวว่า ความยินดี ความดีใจก็เกิดจากสิ่งที่เป็นรักด้วย แล้วก็เดินจากไป ไปพบกับกลุ่มนักเลงอยู่ไม่ไกล เข้าไปเล่าความที่กล่าวโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า นักเลงก็เห็นด้วยกับคฤหบดี เมื่อคฤหบดีเห็นว่าความเห็นของตนนั้นตรงกับพวกนักเลง จึงจากไป

– – – – – – – – – – – – – – –

จะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กล่าวถึงสุขเลยแม้แต่นิดเดียว ท่านตรัสถึงแต่เรื่องทุกข์ เพราะจริงๆแล้วมันมีแต่เรื่องทุกข์ ทีนี้คฤหบดีก็ยังมีกิเลส ยังมีความหลงติดหลงยึด ยังมีความไม่รู้อยู่มาก เห็นว่าในทุกข์เหล่านั้นยังมีสุขอยู่ เห็นสุขลวงเป็นสุขจริง จึงได้เผยความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ)ออกมา ซ้ำยังไปหาคนที่เห็นตรงกันกับตนเพื่อยืนยันความถูกต้องในความเห็นของตนอีก

คนที่เห็นผิด ไปคุยกับคนที่เห็นผิด มันก็เห็นผิดเหมือนกันหมด ถึงแม้คนอีกร้อยล้านคนทั่วโลกจะเห็นตามคฤหบดี แต่ก็ใช่ว่าความเห็นเหล่านั้นจะเป็นความเห็นที่ถูก ถึงจะไปเห็นตรงกับคนที่มีชื่อเสียง คนที่ได้รับการเคารพนับถือ แต่ถ้ายังมีความเห็นที่ขัดกับพระพุทธเจ้า ก็ยังเรียกว่าเห็นผิดอยู่ดี

ทีนี้เราลองกลับมาสังเกตตัวเองดูว่าเราเห็นตามพระพุทธเจ้าหรือคฤหบดี เห็นตามบัณฑิตหรือคนพาล ความเห็นเราไปในทิศทางไหน ไปทางเห็นทุกข์หรือไปทางเห็นสุขในสิ่งที่รัก เรายังจะหาเหตุผล หาหนทาง เจาะช่อง เว้นที่เหลือไว้ให้ความเห็นผิดเหล่านั้นทำไม ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสความจริงสู่การพ้นทุกข์ ดังนั้นผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าคือผู้ที่หันหัวไปในเส้นทางทำทุกข์ทับถมตน

ในเรื่องนี้กล่าวถึงสิ่งที่รัก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดและกินความกว้างมาก เพราะหมายถึงทุกสิ่งที่เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพสุขจากสิ่งนั้นก็ยังต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น แล้วเรื่องของการมีคู่ การเป็นคู่รัก การแต่งงาน เป็นเรื่องหยาบๆ ที่เห็นได้ชัด เจาะจงชัดเจนเลยว่ามีการเข้าไปรัก เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพ เข้าไปยึดมั่นถือมั่น คงไม่ต้องบอกกันเลยว่าเป็นการแสวงหาทุกข์มาสู่ชีวิตตนเองขนาดไหน

เพราะขนาดสิ่งที่รักในทุกวันนี้ก็เยอะมากยากเกินจะสลัดออกแล้ว ยังโหยหา ยังแสวงหาสิ่งอื่นเพื่อที่จะรักอีก มันมีทิศทางที่พอกหนาขึ้นเรื่อยๆ กิเลส ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นที่พอกชั้นหนาขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไข เมื่อถูกความหลงผิดครอบงำจึงไม่ง่ายที่จะรู้ว่าสิ่งใดคือความเห็นที่ถูก สิ่งใดคือความเห็นที่ผิด

ในยุคสมัยนี้ เรายังโชคดีที่ยังมีธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ ยังมีแนวทางปฏิบัติ ยังมีความเห็นที่ถูกตรงที่ท่านได้กล่าวไว้ให้เป็นหลักฐานในการเทียบว่า เรามีความเห็นถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ ถ้าใครยังมีความเห็นไปในแนวทางของคฤหบดีว่า “ รักมันไม่ได้มีแต่ทุกข์ มันมีสุขด้วย” ก็ควรจะเพียรศึกษาให้มาก เพราะทิศทางของท่านนั้นยังไม่ตรงไปสู่การพ้นทุกข์ หากใช้ชีวิตต่อไปบนทางที่ไม่ตรงเช่นนั้น ก็จะเสียเวลาไปเปล่าๆ เนิ่นช้าไปเปล่าๆ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใด วินัยใด เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้น วินัยนั้น ไม่ใช่ของเราคถาคต” ดั้งนั้นการจะอ้างว่า มีคู่เพื่อเรียนรู้ มีคู่เพื่อพัฒนาจิตใจ มีคู่เพื่อเจริญไปด้วยกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุผลของกิเลสที่แนบเนียนที่สุด จึงต้องถูกแย้งด้วยคำตรัสนี้อย่างชัดเจน

นั่นหมายถึง การจะไปมีคู่เพื่อประโยชน์ใดๆนั้น ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ มีแต่พาให้หลงทาง พาให้เสียเวลา สร้างทุกข์และบาป เวร ภัย ให้กับตนเองและผู้อื่น ให้หลงวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้

ดังนั้นการแสวงหาสุขในรักและการมีคู่จึงไม่ใช่สิ่งที่สมควรกระทำ ผู้แสวงหาสุขในรักและการมีคู่ คือผู้ที่มีความเห็นตามคฤหบดี และเมื่อไม่ได้เห็นตามบัณฑิต การพ้นทุกข์ย่อมไม่มี

– – – – – – – – – – – – – – –

4.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)