Tag: สมัยพุทธกาล

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

October 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,928 views 0

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

จนถึงตอนนี้ก็เรียกได้ว่ากึ่งพุทธกาลแล้ว นั่นหมายความว่าศาสนาได้ดำเนินมาถึงครึ่งทาง ความเจริญก็ได้หายไปครึ่งหนึ่ง ความเสื่อมก็เข้ามาแทนที่ในส่วนนั้นเช่นกัน

ในความจริงที่ผ่านมานั้น เราได้เวียนว่ายตายเกิดและอยู่ในยุคของพระพุทธเจ้ามาหลายพระองค์แล้ว อย่างองค์สมณะโคดม หรือพระพุทธเจ้าในยุคของเรานี้ ท่านได้ผ่านและร่ำเรียนจากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆมามากกว่า 3 ล้านพระองค์

ซึ่งในอนาคตก็จะมีผู้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ อย่างภัทรกัปนี้ องค์สุดท้ายที่จะมาบังเกิดคือพระศรีอริยเมตตรัย ซึ่งเป็นยุคที่พระพุทธเจ้าได้พยากรณ์ไว้ว่าคนจะมีอายุถึง 80,000 ปี

พอชาวพุทธส่วนหนึ่งได้ยินดังนั้น ก็ได้หมายมั่นตั้งจิตว่าจะไปปฏิบัติในยุคหน้า ในอนาคตที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยเข้าใจ เพียงแต่ได้ยินได้ฟังเขาพูดมา …ในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ไหนก็เหมือนกัน สอนให้ลด ละ เลิกกิเลสเหมือนกัน สอนเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิถีทางดับทุกข์เหมือนกัน

และธรรมะนั้นเป็นอกาลิโก คือปฏิบัติจนเห็นผลได้ไม่ว่าเมื่อไหร่ ยุคใด สมัยใด แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว แต่ธรรมะนั้นยังคงอยู่ หากว่าเราปฏิบัติตามธรรมะที่ถูกต้อง โดยผ่านคำสอนของสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่ถูกตรง ก็จะสามารถไปถึงผลได้ไม่ต่างจากการปฏิบัติในสมัยพุทธกาล

นั่นคือไม่ว่าเราจะปฏิบัติตอนนี้ หรือไปปฏิบัติในยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป การได้รับความสุขจากการหมดกิเลส ก็เป็นสภาพที่เหมือนกัน แต่คนที่ขยันปฏิบัติและเรียนรู้ก็จะสามารถหมดทุกข์ได้เร็ว หมดทุกข์ก่อนก็สุขก่อน หมดทุกข์ได้ในชาตินี้ก็สุขได้เลยในชาตินี้ หมดทุกข์วันนี้ก็สุขวันนี้ และสุขยาวต่อไปอีกกี่ยุค กี่สมัยก็ได้ตามแต่ใจ

ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่ล้างทุกข์ หรือคนขี้เกียจ ผัดวันประกันพรุ่งก็จะแบกทุกข์ไว้ แบกกิเลสเอาไว้ปฏิบัติกับพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป โดยไม่รู้เลยว่าตนเองนั้นทำแบบนี้มาตั้งแต่ยุคไหนสมัยไหนแล้ว พระพุทธเจ้าผ่านมากี่พระองค์เราก็ทำแบบนี้ ผลัดกันไปเรื่อยๆ ไม่ปฏิบัติ ไม่เรียนรู้สักที จะขอเสพกิเลส ตามใจกิเลสอยู่นั่น แล้วหลงว่าตัวเองควบคุมกิเลสได้ แต่จริงๆโดนกิเลสควบคุมชีวิตอยู่อย่างไม่รู้ตัว

การที่ตั้งจิตว่าจะไปบำเพ็ญในยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปไม่ได้หมายความว่าเราจะได้ไปเกิดเป็นคนในยุคนั้นเสมอไป เพราะกว่าที่จะถึงยุคนั้น จะต้องผ่านกลียุค ผ่านยุคที่ไม่มีพระพุทธศาสนาอย่างยาวนานมาก นานแสนนาน จนกว่าจะไปถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ดังนั้นผู้ที่ไม่เรียนรู้และปฏิบัติในยุคนี้ ก็จะไม่รู้จักกิเลส พอถึงกลียุคก็ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ทำบาปตามเขา เสพกิเลสตามเขา สะสมกิเลสตามเขา

สุดท้ายกว่าถึงยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ก็สะสมบาปมากพอ กรรมอาจจะดลไม่ให้เกิดในยุคนั้น หรือไม่ก็เกิดเป็นสัตว์ อาจจะเป็นสุนัขไปสัก 40,000 ปี ตายแล้วเกิดใหม่มาเป็นแมวอีก 40,000 ปี เป็นเดรัจฉานวนเวียนไม่จบไม่สิ้น จนไม่พบพระพุทธเจ้าสักที แคล้วคลาดกันทุกยุคทุกสมัย พอชาติใดชาติหนึ่งได้พบศาสนาพุทธก็พลัดวันประกันพรุ่งต่อไป วนเวียนไปแบบนี้ ถึงจะผ่านพระพุทธเจ้าอีกล้านพระองค์ก็อาจจะวนเวียนอยู่เช่นนี้ก็เป็นได้

พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้เราประมาท เพราะคนประมาทก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คนที่ยังอยู่ในยุคที่ยังมีศาสนาอยู่ อยู่ในยุคที่ธรรมะยังดำรงอยู่ แต่ไม่ปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำตัวย่อหย่อน พลัดวันประกันพรุ่ง ก็เหมือนกับคนที่ตายไปแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

September 28, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,517 views 0

นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

ทุกข์เกิดมาจากอะไร ทำไมเราจึงต้องทุกข์ ยิ่งใช้ชีวิตนานวันไปยิ่งพบกับทุกข์มากขึ้น ยิ่งค้นยิ่งหาก็ยังไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ แล้วมันทุกข์จากอะไร เพราะเราอยากได้ อยากมี อยากเป็น ใช่ไหมเราจึงต้องทุกข์

ความอยากหรือตัณหานั้นเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ทุกชีวิต ตื่นลุกออกจากเตียงก้าวออกไปเผชิญชีวิตในสังคมเมือง ออกไปทำงานตามล่าหาเงิน หาความสำเร็จ หาความมั่งคั่ง มาบำเรอความอยาก ที่เรามักจะเรียกให้มันดูดีว่า “ความฝัน

อารมณ์ต่างๆในชีวิต เช่น ความโกรธ ขุ่นเคือง ไม่พอใจ ฯลฯ อารมณ์เหล่านี้เกิดจากการที่เราไม่ได้สมใจอยาก บางคนสามารถใช้วิธีทางสมถะตบความทุกข์เหล่านี้ออกจากใจได้ สามารถดับความโกรธ ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจได้ เขาเหล่านั้นเชื่อว่านี่คือทางแห่งการพ้นทุกข์ แต่จริงๆแล้ว เพียงแต่ตบความคิด ดับความคิด หยุดฟุ้งซ่าน แค่ทำใจให้โล่ง โปร่งสบายได้ ยังมาไม่ถึงคำว่า “พุทธ” เลย

วิถีแห่งสมถะ มีมาก่อนพระพุทธศาสนาจะกำเนิดอยู่แล้ว เป็นวิถีแห่งฤาษี พราหมณ์ ในอดีตสมัยพุทธกาลก็มีกันอยู่มาก พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ทดลองแล้วและพบว่ามันไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีคนที่หลงทางอยู่มากมาย เข้าใจว่าการทำสมถะ ดับความคิด ตบความคิดได้ นั่นคือทางแห่งพุทธะ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ใกล้เคียงเลย…

แม้เราจะสามารถดับความคิดขุ่นเคือง เศร้าหมอง โกรธ ฯลฯ ได้ แม้เราจะบอกว่ามันเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปได้ แม้จะรู้ว่ามันเป็นอนิจจัง ความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ในระดับทั่วไป แน่นอนว่าศาสนาพุทธก็สอนให้ดับปัญหาเหล่านั้นที่ปลายเหตุด้วยส่วนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันเราก็มุ่งเน้นมาที่ต้นเหตุ คือสมุทัย เหตุแห่งทุกข์

ทุกข์มันเกิดจากตรงไหน เกิดจากการที่เราโกรธ ขุ่นเคืองใจอย่างนั้นหรือ? ผู้มีปัญญาตื้นเขินก็จะมองเห็นได้เพียงแค่นั้น และดับความคิดเพียงแค่นั้น จนสุดท้ายหลงเข้าใจผิดว่าการบรรลุธรรมก็มีแค่นั้น ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะเหตุแห่งทุกข์จริงๆเราต้องขุดค้นลงไป ว่าเราโกรธเพราะอะไร ที่เราโกรธเพราะเราไม่ได้เสพสมใจในเรื่องใด

และขุดค้นลงไปอีกว่า การที่เราอยากเสพในเรื่องนั้นๆ เราอยากเสพเพราะอะไร เราอยากได้อยากมีอะไร เราติดสุขอะไรในรสชาติ ติดอะไรในอารมณ์ของสิ่งนั้น พิจารณาลึกลงไปเรื่อยๆ ลึกกระทั่งจนไปถึงเหตุเกิด หรือที่เกิดของความทุกข์ นั่นคือสมุทัย ไม่ใช่ปลายเหตุคือความโกรธที่เราเห็นได้ทั่วไป

เพราะเหตุแห่งทุกข์นั้นมักจะซ่อนอยู่ภายในลึกๆ แม้ว่าจะค้นเจอแล้วครั้งหนึ่งอาจจะไม่ได้หมายความว่าจะเจอทั้งหมด และไม่ได้หมายความว่าที่เราเจอคือต้นเหตุจริงๆ เราต้องเฝ้าพิจารณาหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า หารากที่เหลือของมันและขุดรากถอนโคนมันออกมาด้วยวิธี …นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

หลังจากที่เราได้เจอกับกิเลสของเราแล้ว วิธีการที่จะดับกิเลสนั้น ไม่ใช่การทำลายมันด้วยการตบทิ้ง หรือการกดข่ม หรือการดับใดๆ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเราได้เจรจากับกิเลส ได้ใช้เวลาคุยกับกิเลสให้มาก ให้ตัวเราและกิเลสได้ทำความเข้าใจว่า ฉันไม่ใช่เธอ และเธอก็ไม่ใช่ฉัน เราไม่ใช่กันและกัน เธอไม่จำเป็นต้องอยู่กับฉันตลอดไปก็ได้ เราจะใช้เวลาเจรจานานตราบเท่าที่กิเลสจะยอมใจอ่อน เดินจากเราไป อาจจะใช้เวลา 1 วัน 1 เดือน 1 ปี 1 ชาติ 1 กัป หรือ 1 อสงไขยก็เป็นได้

ยกตัวอย่างเช่น เราโกรธเพื่อน เพราะว่าเพื่อนพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบ ถ้าสายสมถะหรือสายฤาษีก็จะตบความโกรธทิ้งไป ดับความคิดที่โกรธทิ้งไป แล้วเข้าใจไปเองว่าตนบรรลุธรรม แต่ในทางพุทธ เราจะย้อนกลับมาที่ใจตัวเองว่า… ทำไมเราถึงโกรธเพื่อน

เพราะเขาพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใช่ไหม?

แล้วเราไม่ชอบคำพูดเหล่านั้น

หรือเราไม่ชอบเรื่องราวในคำพูดเหล่านั้น?

หรือเรื่องราวเหล่านั้นมันทำร้ายทำลายใจเรา?

แล้วเรามีเรื่องอะไรให้ต้องเจ็บ?

เพราะเราเคยมีแผลเก่าในใจใช่ไหม?

แผลเก่าในใจนั้นคืออะไร?

เป็นเพราะมีใครคนหนึ่งเคยฝากแผลใจให้กับเราไว้ใช่ไหม?

แล้วเราเจ็บปวดเพราะอะไร

เพราะเราคาดหวังว่าเขาจะต้องทำดีกับเราใช่ไหม?

พอเขาไม่ทำดีกับเรา ทำร้ายเรา เราก็ผิดหวังใช่ไหม?

นั่นเป็นเพราะเราหวังมากเกินจริงใช่ไหม?

เขาก็เป็นของเขาแบบนั้นแล้วเราจะไปหวังอะไรกับเขา

เราหวังเพราะเราอยากเสพดีใช่ไหม?

อยากเสพดีเพราะเราติดว่าดีเป็นสุขใช่ไหม?

….

สมมุติว่าเราหยุดตรงนี้ เราหยุดตรงที่เราติดว่า “เกิดดีจึงจะเป็นสุข” เราก็คุยกับกิเลส ก็คือพิจารณาโทษของการติดดี และประโยชน์ของการไม่ไปติดดี พิจารณากรรมและผลของกรรมว่าถ้าเรายังติดดีอยู่ อนาคตเราต้องรับอะไรบ้าง รวมทั้งพิจารณาว่าการติดดีนั้นเป็นทุกข์อย่างไร ถึงจะติดดีอย่างไรในความจริงมันก็ไม่เที่ยง ไม่สามารถเกิดดีหรือเป็นดังใจเราได้เสมอไป รวมถึงความดีที่เรายึดไว้ แท้จริงมันก็ไม่ได้มีตัวตนอยู่อย่างที่เราคิด เราคิดไปเองว่าความติดดีคือเรา เราคือความติดดี จริงๆแล้วมันไม่ใช่ของกันและกัน เราและความยึดว่าต้องเกิดดีนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกันกับเราเลย

แล้วเราก็ใช้เวลาของเรานั่งจับเข่าคุยกับกิเลสในตัวเองต่อไป คุยไปเรื่อยๆ คุยไปทุกครั้งที่เจอกัน เจอกิเลสเมื่อไหร่เราก็เจรจา หาเหตุผล หาความจริงตามความเป็นจริงมาเรื่อยๆ พิจารณาไปแม้ว่าเราจะพ่ายต่อกิเลส โดยไม่ลดความพยายาม หน้าด้านคุยกับกิเลสไปจนถึงวันหนึ่งกิเลสก็จะยอมถอย เก็บกะเป๋าออกจากจิตใจเรา วันนั้นคือวันที่ปัญญาของเรามากพอที่จะไล่กิเลส ทำลายกิเลส หรือที่เรียกว่าฆ่ากิเลสนี้ลงได้

กิเลสจะไม่มีวันกลับมาได้อีกต่อไป ไปแล้วก็ไปเลย ถึงกิเลสจะวนกลับมา เพียงแค่เราพูดหรือใช้การพิจารณาเพียงเล็กน้อย กิเลสก็ยอมล่าถอย ไม่เข้าใกล้เราอีกต่อไปนั่นคือเรามีปัญญามากพอที่จะพ้นภัยจากกิเลสนั้นๆ

ทั้งหมดนี้คือลักษณะของการวิปัสสนา ซึ่งถ้าใครทำวิปัสสนาอย่างถูกตรงก็จะเข้าใจกระบวนการนี้ได้ดี แต่ถ้าใครหลงผิดไปว่าสมถะของตนนั้นคือวิปัสสนา อาจจะไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะเขาเข้าใจได้เพียงแค่ว่า แค่ดับความคิดก็จบแล้ว ทำไมต้องคิด ทำไมต้องทำขนาดนี้ ซึ่งเขาเองอาจจะไม่ได้สังเกตว่า วิธีที่เขาทำนั้น ความอยากมันไม่ได้หายไป ความอยากมันไม่ได้ตาย มันดับ แล้วมันก็เกิดใหม่ เกิดและดับไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น อย่างเก่งก็ดับได้แบบอัตโนมัติ กดดับไปแบบไม่รู้ตัว กดข่มดับจิตไปทั้งชาติ เกิดมาชาติหน้าก็ต้องมาเจอกิเลสใหม่อยู่ดีเพราะยังตัดตัณหาไม่ขาด กิเลสไม่ตาย ก็ต้องเจอกันใหม่อยู่ดี

ด้วยวิธีนี้เราจะสามารถดับตัณหา หรือความอยากที่มีกิเลสปนเปื้อนได้ และสามารถรู้ได้เองว่ากิเลสของตนนั้น “ลด” ไปเท่าไหร่ กิเลสลดก็รู้ กิเลสเพิ่มก็รู้ กิเลสดับก็รู้ เป็นลักษณะของความรู้แจ้ง ไม่ใช่แบบมั่ว คิดเอาเอง หรือคาดเอาไปเอง ไม่รู้อะไรเลย ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ ผู้ไม่รู้ ผู้หลับใหลมัวเมา ผู้เฉยๆ

หากเราได้ใช้เวลาในชีวิตประจำวัน เฝ้าคุยกับกิเลสของตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องขุ่นเคืองใจใดๆ ที่เข้ามาในชีวิตเรา เราจะจับเข่าคุยกับกิเลสทุกครั้งที่ว่างจากการทำงาน หรือกระทั่งพิจารณาสอดร้อยไปในกิจกรรมการงาน เราก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้พ้นทุกข์จากกิเลส เพราะเราได้กำจัดเหตุแห่งทุกข์นั้นสิ้นไปแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์