Tag: มารยา
คนพาลสอนรัก
ความรักนี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่พาคนหลงได้มากมายมหาศาลอยู่แล้ว และถ้าได้คนพาลมาสอนเรื่องความรักซ้ำไปอีกด้วย รับรองไปไหนไม่รอด เขาก็พาวนอยู่ในเรื่องคู่นั่นแหละ
ในสังคมทุกวันนี้ มีความเห็นที่หลากหลายมากมาย และก็มีความเห็นผิดเกี่ยวกับความรักปนอยู่ในนั้นเยอะมากเสียด้วย และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ คำความเหล่านั้นดันออกจากผู้เห็นผิดที่หลงว่าตนเห็นถูกนั่นเอง
หากจะแสดงภาพรวมให้พอนึกออก ภาพกว้าง ๆ ของคำสอน ความเห็น ทฤษฎีเกี่ยวกับความรัก จะเป็นไปใน 2 แนวทาง คือพาให้ยินดีในการมีคู่ กับคลายความอยากมีคู่ มีแค่สองทิศนี้เท่านั้น ส่วนทิศกำกวมจะขยายทีหลัง
การพาให้คนยินดีในการมีคู่คือ คำพูดหรือข้อความนั้น ๆ มีเจตนาที่จะน้อมให้คนยินดีในการมีคู่ ปิดบังไม่ให้เห็นโทษภัยในการมีคู่ ไม่กล่าวถึงประโยชน์ในการอยู่เป็นโสด และยินดีเมื่อผู้รับสาร เกิดความยินดีในการมีคู่นั้น ๆ ไม่ว่าจะในเงื่อนไขใดก็ตาม
การพาให้คนคลายความอยากมีคู่ คือ คำพูดหรือข้อความนั้น ๆ มีเจตนา พาให้คนออกจากความหลงมัวเมาในสภาพคนคู่ ชี้ให้เห็นโทษภัยของการอยู่เป็นคู่ ๆ ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการอยู่เป็นโสด อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสในหลายสูตร เช่น บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง , หรือการที่ท่านสอนให้ไม่ไปคลุกคลีกับเพศตรงข้าม เช่น สอนชายว่า ถ้าจะให้ชีวิตมีความผาสุก ไม่พึงเอาชีวิตไปคลุกคลีกับผู้หญิง หรือการได้ลูกหรือคู่ครอง พระพุทธเจ้าว่าเป็นการได้ลาภเลว เป็นต้น
เราจะเห็นว่าโลกุตระนี่มันชัด ๆ เลย ชี้ชัดไม่กำกวม ทิศไหนสวรรค์ ทิศไหนนรก ไม่มีตรงกลาง มีแต่ทางเจริญกับทางเสื่อมก็เลือกเอาเอง
การจะพาคนไปทางอยากมีคู่ เขาก็ทำกันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่แล้ว สื่อต่าง ๆ ละคร เพลง หนัง ฯลฯ นี่แหละสื่อกระตุ้นราคะอย่างหนัก เขาก็ทำกันอยู่เต็มโลก มอมเมาคนอยู่ในโลก
ส่วนที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้คือพวกกำกวม คล้าย ๆ จะเป็นทางสายกลาง คือ มีรักแต่จะไม่มีทุกข์ เช่นมีรักอย่างมีสติ มีรักอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือมีรักด้วยเมตตา จะเห็นว่าเขาจะเอาความดีมาผสมในรัก ให้รักนั้นน่าเสพ เหมือนเอาน้ำผึ้งมาเจือในยาพิษ ใส่สีใส่กลิ่น สวยงามหอมหวาน มันก็ดูเหมือนน่าเสพ ข้อความจะดูกำกวม ไม่ชัดเจนว่าตกลงมีแล้วดีหรือไม่มี แต่ถ้าจับใจความดูจะมีทิศทางที่ว่า มีคู่ก็ไม่มีโทษภัยนักหรอก
สรุปคือพวกกำกวมนี่สุดท้ายจะไปทางฝั่งพาให้ยินดีในการมีคู่ แต่มักจะวางตำแหน่งตัวเองไว้ว่าเป็นเหมือนบัณฑิตที่ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ มันจะมีความย้อนแย้งในตัวของมัน แต่คนส่วนมากจะชอบ ยินดีชื่นชมในคำกำกวมเหล่านี้ เพราะมันได้เสพสมใจไง มันมีรักแล้วไม่รู้สึกผิด ไม่รู้สึกว่าบาป ไม่รู้สึกว่าโง่ ไม่ต้องอายใคร แค่มีวาทะเก๋ ๆ ก็กลบเกลื่อนได้หมดแล้ว
นี่คือมารยาของคนพาลที่หลอกคนซ้อนไปอีกทีหนึ่ง ลำดับแรกคือเขาหลอกตัวเองอยู่ก่อนแล้ว แล้วก็เอาความเห็นผิดของตัวเองมาหลอกคนต่อ ดังจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้คำตรัสของพระพุทธเจ้าในหมวดความรักมักจะไม่ค่อยมีคนเอามาใช้เท่าไหร่ คำที่มันหนัก ๆ พระสูตรคม ๆ นี่เขาไม่เอามาใช้กันเลย แต่ถ้าใช้เวลาศึกษาจะเจอเยอะมาก
ที่เขาใช้กันบ่อย ๆ ก็บทที่ว่า สามีภรรยาจะได้เกิดมาเจอกันเรื่อยไป ต้องมีศีล ศรัทธา จาคะ ปัญญา เสมอกัน (สมชีวิสูตร เล่ม 21 ข้อ 55) สูตรนี้จะจบตรงประโยคที่ว่า “ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก ฯ” ตรงนี้เองที่ปราชญ์เขาไม่ค่อยได้ยกมาสอนกัน คือสภาพของคนคู่นี่ มันยังไม่ใช่สภาพที่สุดของความเจริญ แต่ภพของผู้เสพกามติดใจในสวรรค์
เนื้อหาของสูตรนี้ไม่ใช่ว่าการตรวจเชคว่าคนนั้นคนนี้ใช่คู่ครองรึเปล่า แต่เป็นการถามเพื่อยืนยันสิ่งที่ตนต้องการ คือสามีภรรยาคู่หนึ่งมาหาพระพุทธเจ้า แล้วต่างเล่าว่าตนเองนั้นคบกับคู่ครองมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่เคยนอกใจ จึงไม่มีทางนอกกายไปได้ ว่าแล้วก็บอกความต้องการแก่พระพุทธเจ้าว่าทั้งสองต้องการจะพบกันตลอดไป พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบตามที่ถาม คนถามเขาไม่ได้ถามนะว่าทางพ้นทุกข์ ทางหมดทุกข์ไปทางไหน เขาถามทางให้ได้เจอกันเรื่อยไป พระพุทธเจ้าก็ตอบตามนั้นเท่านั้น แล้วท่านก็แทรกยาทิพย์ไปตามฐานของสามีภรรยาคู่นี้คือสอนให้สำรวม มีธรรมะ พูดจากันดี ๆ ไม่ใจร้ายหรือทำร้ายกัน แล้วก็จบด้วยทำแบบนี้จะเป็นผู้เสวยกามพอใจอยู่เทวโลก
มีหลายครั้งที่มีคนมาถามแบบ… จะเรียกว่ายังไงดี คือถามโง่ ๆ นั่นแหละ เช่น กระผมได้ยินมาว่าตรงนั้นตรงนี้เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบว่า แม้เราก็ได้ยินมาว่าฯ คุยแบบนี้กันอยู่สักพัก… จนพระอานนท์ทนไม่ไหว ต้องชี้นำให้ถามให้ถูกซิ ถามแบบนั้นจะได้ประโยชน์อะไร คือบางทีเรื่องมันก็อยู่ที่ต้นทางด้วย ถ้าจะศึกษาธรรมะนี่บางทีก็ต้องลงรายละเอียดในพระไตรปิฎกเหมือนกัน มันก็เป็นหลักฐานที่มากที่สุดที่พอจะศึกษาหาความในเหตุและที่มาได้
ดังนั้นจึงไม่ควรรีบปักใจเชื่อ พระเขาเป็นเกจิอาจารย์ก็ตาม แม้เขาน่าเชื่อถือก็ตาม แม้เขามีชื่อเสียงก็ตาม แม้คนส่วนมากจะเชื่อตามเขาก็ตาม แม้เราจะชอบใจก็ตาม และแม้คำความเหล่านี้จะมีอยู่ในพระไตรปิฎกก็ตามที
ก็ต้องลองด้วยตัวเอง คือทำแล้วพ้นทุกข์ก็ทำ แต่ถ้าทำแล้วไม่พ้นทุกข์ก็เลิก (กาลามสูตร/ เกสปุตตสูตร) เพราะสุดท้ายความเป็นพาลก็ใช่ว่าจะรู้กันได้ง่าย ๆ ก็ต้องโดนหลอกจนทุกข์เข้าจริง ๆ นั่นแหละ จึงจะพอตาสว่างกันได้ เห็นทุกข์แล้วเห็นธรรมนี่คือมีปัญญา แต่เข้าไปคว้าทั้งที่มันทำให้ทุกข์นี่มันไม่มีปัญญา มันก็ต่างกันตรงนี้แหละ
คนไหนไม่ใช่มิตร คนไหนเป็นมิตร
อ่านเจอในหนังสือครับ จากหนังสือ “รู้ชัดตัวเองแล้วหรือยัง คนพาล/บัณฑิต” เป็นหนังสือสรุปเนื้อหาจากพระไตรปิฎกครับ เห็นว่าข้อนี้เอามาใช้ได้ครอบคลุมดี จึงทำภาพมาแบ่งกันครับ
อ่านเจอวิธีจำแนกมิตรและคนที่ไม่ใช่มิตรออกจากกัน บางทีมีคนเข้ามาในชีวิตเยอะแยะ เราก็ไม่รู้จะคัดอย่างไร ไม่รู้จะใช้หลักอะไร แต่พอมาศึกษาจากพระไตรปิฎก ก็จะมีจุดให้สังเกตได้ง่ายขึ้น
หลัก ๆ ของชีวิตนี่มันต้องมีมิตรดีไว้ก่อน แต่ก็ต้องดูด้วย บางคนเหมือนจะเป็นคนดีแต่ก็ไม่ใช่มิตร บางคนดูเหมือนจะเป็นมิตรแต่ก็ไม่ใช่คนดี ถ้าทุกคนมีความจริงใจ มันจะดูกันง่าย ไม่น่ากลัว
แต่ด้วยความที่คนสมัยนี้มีกิเลสมาก มีมารยามาก ยากที่จะดูได้ สมัยพุทธกาล ก็ยังมีพระเทวทัตปนมาในหมู่นักบวช สมัยนี้ย่อมมีเยอะกว่าเพราะไม่มีพลังความดีมาต้านคนชั่ว คนชั่วก็ปนเข้ามาเสพประโยชน์ของศาสนาเยอะมาก เพราะโลกธรรมในงานศาสนานั้นหอมหวาน
วิธีคัดคือเราปฏิบัติธรรมให้ได้ผลชัดเจนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วเราจะรู้จักคนชัดเจนยิ่งขึ้น มันจะมีคน 3 พวกคือ คนที่เห็นด้วยกับเรา คนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา และคนที่ไม่ได้สนใจใยดีเราหรือไม่รู้จักเรา เราก็เลือกที่เป็นธาตุใกล้ ๆ กันนี่แหละ เพราะเอาธาตุไม่เข้ากันมาอยู่ด้วยมันจะมีแต่เรื่องปวดหัว ก็ให้เขาอยู่ของเขาไป เราก็อยู่ของเรา
ยิ่งเราได้ เราชัดในวิธีการปฏฺิบัติของเราแล้ว เราไม่ต้องกลัวหรอก ที่เหลือก็แค่คัดศพออกจากทะเล คัดคนที่เป็นคนพาลออกจากชีวิต คัดผู้ไม่ใช่มิตรออกไปให้ห่างใจ
แน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือความรัก
แน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือความรัก : อย่าเพิ่งบอกว่ารัก ช้าไว้ก่อน ยั้งไว้ก่อน รอไปก่อน ให้โอกาสกันเรียนรู้จักรักให้ดีเสียก่อน
ก่อนที่ความสัมพันธ์จะผูกมัดกันมากขึ้นด้วยสัญญาใดๆ ก็ตาม และก่อนที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป แน่ใจแล้วหรือว่านั่นเป็นคุณค่าที่เราต้องการอย่างแท้จริง ทิศทางที่จะเปลี่ยนไปนั้นคือนรกหรือสวรรค์ลวงกันแน่ เรามาเรียนรู้จัก “ความรัก” กันให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะสายเกินไป จนยากจะแก้ไข
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเป็นความรักนั้น มันเป็นความรักจริงๆ มันเป็นความบริสุทธิ์จริงๆ ไม่ใช่ความหลง ไม่ใช่มารยาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองอยากได้อยากเสพ ไม่ใช่ความรู้สึกที่ปนเปื้อนด้วยขยะคือกิเลส
มีหลายเหตุผลที่ทำให้คน “หลง” ไปว่านั่นคือ “ความรัก” เช่น ความใกล้ชิดกันที่มากเกินไป ความเหงาที่อยากหาใครสักคนเข้ามาคลายเหงา ความใคร่ที่อยากหาใครมาบำเรอ ความอยากมีคุณค่าที่จะหาใครสักคนมาสะท้อนคุณค่าของตน ความขี้เกียจที่อยากจะเกาะใครสักคนไปชั่วชีวิต และอีกหลายสาเหตุจนกระทั่งถึงความหลงที่เข้าใจว่าเราจำเป็นต้องมีคู่ก็ตาม
แล้ววันหนึ่งบังเอิญมีใครคนหนึ่งเข้ามาในชีวิต ซึ่งเขาจะเป็นใครก็ไม่รู้ แต่ตรงตามสเปค(ตรงตามกิเลส) ของเราพอดิบพอดี เราก็เลยหลงเข้าใจว่าคนนั้นใช่แน่ๆ นี่คือความรักแน่ๆ ทั้งที่จริงแล้ว อาจจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถมาแทนที่คนคนนี้ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันหรือมากกว่า ถ้ายังมีความรู้สึกแบบนี้ มันไม่ใช่ความรักอย่างแน่นอน
และการปักมั่นว่าต้องเป็นคนนี้ “ต้องคนนี้เท่านั้นที่ฉันจะรักไปจนตาย แม้ความตายก็ยังพรากความรักของฉันไปจากเธอไม่ได้” แบบนี้ก็ไม่ใช่ความรักเช่นกัน แต่เรียกว่า “ความยึดมั่นถือมั่น” หรืออุปาทาน เป็นลักษณะหนึ่งของกิเลส ที่หลงติดหลงยึดในการเสพสิ่งนั้นๆ อย่างไม่ยอมปล่อยวาง ซึ่งกิเลสไม่ใช่เรื่องดีที่พาเจริญอย่างแน่นอน ดังนั้นการปักมั่นก็ไม่ใช่ความรักอีกเช่นกัน
แล้วอย่างไหนจึงจะเรียกว่าความรัก? ใครก็ได้ก็ไม่ใช่ความรัก… ใครก็ไม่ได้ต้องคนนี้เท่านั้นก็ไม่ใช่ความรัก…เรามาเรียนรู้ระหว่างทางก่อนจะไปเรียนรู้ “ความรักที่แท้จริง” กัน
เราสามารถทดสอบสิ่งที่เราเข้าใจว่ามันเป็น “ความรัก” ได้ด้วยการ ”รอและให้โอกาส” …ถ้าเป็น ความใคร่อยากเสพ มันจะไม่รอ มันจะเพิ่มความสัมพันธ์ท่าเดียว มันต้องได้เสพมากขึ้น ต้องสุขมากขึ้น ความกระสันอยากให้ความสัมพันธ์พัฒนาไปมากขึ้นนั่นแหละคือ “ความอยาก (ตัณหา)” แม้จะมีสารพัดข้ออ้างให้ความสัมพันธ์คืบหน้าที่น่าฟังและน่าเชื่อถือปานใดก็ตาม แต่ถ้ารอไม่ได้ ไม่ยอมรอ เอาสารพัดสวรรค์ลวงมาหลอก มันก็รีบไปนรกเท่านั้นแหละ
การให้โอกาสคืออะไร คือให้โอกาสทั้งตัวเราและเขาได้เรียนรู้ผู้อื่น การให้โอกาสเป็นอีกสิ่งที่จะทดสอบ “ความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน)” ความรักที่แท้จริงต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้วจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” เราไม่ควรมีความทุกข์ใดๆ เพื่อจะมีความรักเลย ถ้าความรักนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ความรัก มันคือการเบียดเบียน,ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นจะไม่ยอมให้โอกาส ไม่ยอมพรากจากสิ่งที่ตนปักมั่น หากสิ่งที่ตนยึดมั่นนั้นพรากออกไปเอง ก็จะพยายามดึงกลับมา ไม่เป็นอิสระ ต้องผูกมัดกันอยู่เช่นนั้น แต่การให้โอกาสนี้ควรอยู่ในกรอบของการไม่ละเมิดศีลเท่านั้น
ผ่านเรื่องตัณหาและอุปาทานหรือความอยากและความยึดโดยย่อมาแล้ว ทีนี้เราก็จะมาทำความรู้จักความรักที่แท้จริงกัน…
“ความรักที่แท้จริง นั้นคือรักที่ไม่มีความเบียดเบียนใดๆ เลย เป็นรักที่มีแต่การเกื้อกูล หวังประโยชน์แก่กันและกันโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ”
ขยายเพิ่มกันไปอีกคือรักที่ปราศจากตัณหาและอุปาทาน เป็นอิสระจากกิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ที่มักจะเกิดในความรักลวงๆ ที่เราเรียกกันว่า “ความหลง”
เมื่อเราได้ศึกษาเรียนรู้ “ความรัก” เพื่อแยกแยะ “ความหลง” ออกไปได้แล้ว เมื่อเรามั่นใจ แน่ใจว่าความรู้สึกที่เรามีนั้นคือรักที่สะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เราก็ค่อยมอบสิ่งที่มีคุณค่าแท้เหล่านั้นให้คนที่เรารักก็ยังไม่สาย เป็นเพชรเม็ดงามที่เรา พยายามเจียระไนให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ที่สุด เหมือนคนที่พยายามขัดเกลาจิตใจตนเองเพื่อที่จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้คนที่เขานั้นรักและห่วงใย
มาถึงตรงนี้ยังมีใครยินดีที่จะรอและให้โอกาสอีกบ้าง… ตัณหาจะไม่รอ อุปาทานจะไม่ยอมพราก และมันจะไม่ยอมสยบต่อธรรมะ ไม่ยอมรับว่ามันคือศัตรูตัวร้าย ไม่ยอมรับว่ามันคือสิ่งสกปรกและความเลวทรามในจิตใจของเราหรอก มันพร้อมที่จะออกมาปฏิวัติเสมอ มันจะเสนอหน้าออกมาโกหกและบิดเบือนความจริงว่ามันต่างหากคือสิ่งดีงาม
ผู้ที่ศรัทธาในความรักที่แท้จริง จะต้องผ่านสงครามเพื่อปราบมารกิเลส เพื่อที่จะนำสันติสุขมาสู่คนที่ตนรัก ไม่ใช่ไปพากองทัพกิเลสมาถล่มคนที่ตนรัก
…มาจนถึงวันนี้ เรารู้จักความรักของเราดีจริงหรือยัง?
– – – – – – – – – – – – – – –
8.2.2559