Tag: ผัสสะ

ความสงบ เกิดจากจิตที่สงบจากกิเลส

November 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,389 views 0

ความสงบในความหมายของศาสนาพุทธ ไม่ใช่ความสงบภายนอกที่เอาแต่แสวงหาที่สงบเงียบ เช่นไปวัดแล้วสงบ เข้าป่าแล้วสงบ

แต่เกิดจากการทำใจในใจให้สงบ สงัดต่อกิเลส ทำลายความแส่หา(ตัณหา) และความยึดมั่นถือมั่น(อุปาทาน) ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสังคมเมืองหรือในป่าหรืออยู่ที่ใดก็ตาม ก็จะไม่มีเหตุปัจจัยใดๆที่จะมาเคลื่อนจิตที่สงบของผู้ฝึกดีแล้วให้เคลื่อนออกจากความสงบนั้นได้เลย

ผิดกับผู้ที่แสวงหาความสงบภายนอก เขามักจะใช้ความสงบจากสิ่งแวดล้อมภายนอกทำให้จิตใจนั้นสงบ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของโลกที่การปลีกวิเวก ไม่เจอคน ไม่กระทบใคร ไม่มีผัสสะ แล้วจะเกิดความสงบ

แต่การแสวงหาของสงบของพุทธไม่ได้เหมือนกับการหนีสังคมออกไปหาความสงบ แต่ปฏิบัติอยู่กับ “ผัสสะ” อยู่ในโลกในสังคมที่มีการกระทบกระทั่งกัน เพื่อทำลายความอยากและความยึด

เพราะเป้าหมายของศาสนาพุทธนั้นไม่ใช่การไขว่คว้าหาที่สงบ หรือทำความสงบเป็นช่วงๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ยั่งยืน พระพุทธเจ้าท่านสอนให้กำจัดเหตุแห่งความไม่สงบก็คือกิเลส

ซึ่งการจะเห็นกิเลสของตนได้ก็ต้องเข้ามาอยู่ในสังคม ปะทะกับอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตา ให้เห็นกันชัดๆว่าติดอะไร อะไรที่มันสกปรกก็เช็ดตรงนั้นให้สะอาด ไม่ใช่ไปเข้าป่าเข้าถ้ำไม่เจออะไร สงบ ดิ่ง เงียบ จมลงลึกไปแล้วก็หลงเข้าใจว่านั่นคือสงบของพุทธ

ไปแสวงหาความสงบนอกกาย หลีกเลี่ยงการกระทบกับโลกและสังคมแล้วกิเลสมันจะแสดงตัวได้อย่างไร มันก็ซ่อนตัวอยู่ในจิตนั่นแหละ มันจะออกมาก็ต่อเมื่อมี “ผัสสะ” เท่านั้น ดังนั้นการปฏิบัติแสวงหาความสงบที่ไม่มีผัสสะจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะได้สัมผัสความสงบที่แท้จริง อย่างเก่งก็สงบเป็นช่วงๆตามกำลังของจิตที่ได้ฝึกมา แต่จะให้สงบแบบถาวรก็จะเป็นไปไม่ได้ เพราะปฏิบัติผิดทาง

ชี้กันให้ชัดอีกครั้งว่าความสงบของพุทธนั้นเกิดจากการสงบจากกิเลสเป็นหลัก ไม่ใช่การหาความสงบโดยสิ่งแวดล้อมภายนอก

สงครามอัตตา : ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ (กรณีศึกษาเทศกาลเจ)

October 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,032 views 0

สงครามอัตตา

สงครามอัตตา : ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ (กรณีศึกษาเทศกาลเจ)

หากเราให้ความสำคัญของเทศกาลเจในขอบเขตของการถือศีลกินเจ ใครอยากทำอะไรก็ทำไป กรรมใครกรรมมัน ปากใครปากมัน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปล่อยวาง ก็จะเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านพ้นไปด้วยดีไม่มีปัญหาอะไร และจะไม่มีบทความนี้

แต่เมื่อมีความยึดว่าความเห็นของตนนั้นถูกต้องแต่ผู้เดียวเมื่อไหร่ เมื่อนั้นสงครามย่อมเกิดขึ้นได้ ตามโอกาสและช่องทางที่มี ซึ่งเราจะได้เห็นกันทุกปีใน social network ต่างๆ ที่ผู้คนออกมาห้ำหั่นผู้ที่คิดต่างจากตน ด้วยอาวุธคือความรู้ที่ได้รับรู้มา มุ่งฟาดฟันอีกฝ่ายหมายให้มอดม้วยด้วยความยึดดีของตน

เทศกาลเจ กับ สงครามแห่งอัตตา

ในช่วงเทศกาลเจนั้น เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้วัดผลของความเจริญในจิตใจ เราสามารถวัดผลการปฏิบัติธรรมหรือความเห็นความเข้าใจในชีวิตว่ามีความเจริญแค่ไหน ได้จากการเข้าร่วมรับรู้เรื่องราวของข้อขัดแย้งเหล่านั้น คือพาตัวเข้าไปดูสงครามอัตตานั้นๆ

แต่การเข้าไปดูก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปร่วม ทำตัวเองให้เป็นผู้ดูและศึกษาเท่านั้น เมื่อไหร่ที่ใจคิดจะลงไปร่วมรบ เคลื่อนทัพเดินทางออกจากใจที่ปกติ เป็นใจที่เดือดร้อนเพราะความไม่พอใจ ถือหอกถือดาบหมายจะฟาดฟัน ด้วยการชี้แจงในเชิงยัดเยียด ดูถูกดูหมิ่น ยกตนข่มผู้อื่น และสารพัดลีลาของกิเลสที่พร้อมจะประดังใส่ฝ่ายที่คิดต่างจากตน เมื่อนั้นความเสื่อมก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

เมื่อเป็นฝ่ายรับก็เช่นกัน แม้จะเห็นกลุ่มนักรบยกทัพมาพร้อมด้วยอาวุธครบมือ ถือธงโบกสะบัด ฝุ่นคลุ้งไปทั่วสมรภูมิ ดังกึกก้องไปทั่วด้วยเสียงกลอง มุ่งหมายจะมาดับความคิดของผู้ที่เห็นต่างให้สิ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องจัดทัพไปต้อนรับหรือตอบโต้ใดๆ สิ่งที่ควรทำมีเพียงแค่ชี้แจงในขีดที่จะเป็นกุศล ไม่ชวนทะเลาะหรือทำให้ยืดเยื้อจนเลอะเทอะ หรือเลือกที่จะปล่อยวางทั้งหมดก็สามารถทำได้ ปล่อยให้นักรบเหล่านั้นเข้ามาฟาดฟันกันด้วยทิฏฐิ โดยไม่จำเป็นต้องตอบโต้ก็ย่อมได้ เพราะผู้ที่มีอัตตาเท่านั้นที่จะต้องเจ็บปวด ผู้ไม่มีอัตตาแม้จะถูกเสียบด้วยวาทะที่เชือดเฉือนมากมายสักเพียงใด ก็ไร้ซึ่งความเจ็บปวด ไม่ใช่เพราะทนได้ แต่เพราะไม่มีตัวตนให้โดนต่างหาก

ความประเสริฐของคนจะไม่มีวันเกิดขึ้นกับหมู่คนที่มุ่งฟาดฟันกันด้วยความเห็นของตน แม้ว่าความเห็นนั้นจะเป็นความเห็นที่ถูกต้องก็ตามที คนที่ยังไม่หยุดสงครามย่อมไม่เรียกว่าผู้ประเสริฐ ผู้ที่มุ่งฟาดฟันผู้อื่นด้วยความเห็นของตนย่อมไม่ใช่ผู้เจริญ

ความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะมีความยึดมั่นถือมั่นว่าของฉันถูก ของฉันดีที่สุด ซึ่งแต่ละคนนั้นจะมีความยึดมั่นถือมั่นต่างกันไปตามบุญตามกรรม แต่เมื่อคนที่เห็นต่างมาพบกัน ก็ย่อมหาทางจะทำให้ความเห็นของตนนั้นเป็นหนึ่งเดียว ให้ผู้อื่นยอมรับ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้โลกหมุนรอบตัวเองเช่นนั้น ดังนั้นใครที่วางความเห็นของตนได้ก่อน ปล่อยวางการโต้แย้งได้ก่อน ผู้นั้นจึงเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะ เป็นผู้ที่เจริญอย่างแท้จริง

ผู้ที่พยายามเอาชนะ พยายามหาหลักฐาน หาข้ออ้างมาเพื่อยกตนข่มผู้อื่น อวดอ้างคุณวิเศษใดๆ ที่ตนเรียนรู้มา ดูถูก ดูหมิ่น เยอะเย้ย ถากถางผู้อื่น ฯลฯ โดยที่ผู้รับนั้นไม่อยากรู้ คนเหล่านั้นได้ประจานความเสื่อมของตนให้เป็นที่ประจัก ว่าความเห็นหรือการปฏิบัติธรรมของเขานั้นไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญขึ้นเลย ทั้งยังตกต่ำมัวเมาในความยึดมั่นถือมั่น จนหลงตัวหลงตน แสดงความดีที่ตนเข้าใจให้ผู้อื่นเห็นไปทั่วด้วยการยัดเยียดในสิ่งที่ผู้อื่นไม่ได้ต้องการรับรู้ในเรื่องนั้น

เทศกาลเจ จึงเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าเข้าร่วมไปสัมผัสและทดสอบ”ความแท้” ของตนเอง ว่าจะเป็นของจริงหรือของปลอม ที่ว่าเรามีศีลมีธรรม เป็นคนดี เป็นคนไม่เบียดเบียน บรรลุธรรมกันไปต่างๆนาๆนั้น เราสามารถฟังความเห็นต่างได้ไหม เรายังสงบได้ไหม เราจะยอมเขาได้ไหม ถ้าเขาถามแล้วเราจะชี้แจงด้วยใจเมตตาได้ไหม และที่สุดคือเราจะยอมปล่อยให้เขากล่าวหาและเข้าใจไปอย่างนั้นได้ไหม

เข้าร่วมเทศกาล(ในความเห็นของฉัน)

ถ้าเราอยู่ในถ้ำ หมกตัวอยู่ในภพ อยู่ในที่ปลอดภัย ไม่รับรู้เรื่องราวใดๆ ก็คงจะไม่ใช่การปฏิบัติธรรม ซึ่งผมเองก็คงจะเข้าร่วมรับรู้ข้อมูลต่างๆในช่วงเทศกาลนี้ด้วย

ซึ่งผมจะไม่อยู่เป็นกลางแบบชั่วบ้างดีบ้างตามที่โลกเข้าใจ แต่จะเป็นกลางในแบบพุทธ คือไม่โต่งไปทางกามและไม่โต่งไปทางอัตตา ซึ่งจะอยู่ข้างกุศล ข้างที่ไม่เบียดเบียน ใครทำกุศลก็เห็นดีกับคนนั้น และผมจะไม่ไปร่วมรบกับเขา แต่ก็จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่มีให้กับผู้ที่สนใจ

เหมือนกับเราอยู่ในสนามรบ เราไม่ได้ไปรบกับเขาหรอก เราก็ตั้งค่ายอยู่บนเนินเขาของเรา ดูเขารบกันไป ส่วนหน้าที่ของเราก็ผลิตความรู้ไม่ให้คนต้องไปรบกันเพราะยึดความเห็นทั้งผิดและถูกของตน แต่ทันทีที่เราเผยแพร่ความรู้ของเราออกไป แม้เราจะอยู่ในที่มั่นของเราซึ่งห่างไกลจากสมรภูมิ ก็จะมีผู้ที่เห็นต่างยกทัพมาฟาดฟันเป็นธรรมดา

เมื่อเราชูธงว่าการเบียดเบียนไม่ดี เป็นโทษ การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่ควร ศาสนาพุทธไม่ยินดีในความเบียดเบียนเหล่านั้น ย่อมมีผู้ที่เห็นต่างเป็นธรรมดา ซึ่งคนยึดในอัตตามากก็ย่อมจะไม่ยอมรับเป็นธรรมดาเช่นกัน เมื่อมีความเห็นใดที่ขัดแย้งกับความเห็นของตน คนเหล่านั้นก็พร้อมจะหยิบอาวุธขึ้นมาฟาดฟันหมายจะให้ความเห็นต่างนั้นตายจากโลกนี้ไป ซึ่งก็มากันหลากหลายลีลา ถ้าเป็นสงครามก็มาทั้งบก น้ำ อากาศ ดำดิน หายตัวเข้ามาก็ยังได้เข้ามาฟาดฟันกันด้วยอาวุธคือวิชาความรู้ที่เรียนกันมา ทื่อบ้าง คมบ้าง หนักบ้าง เบาบ้าง คละเคล้ากันไป

ทีนี้เราก็ตั้งใจว่าเราจะไม่รบกับใคร ไม่ต่อสู้กับใครอย่างน้อยก็ตลอดช่วงเทศกาลนี้ ใครมาท้าสู้เราไม่สู้ ใครมาแหย่เราไม่หลุด ใครแนะนำเราก็รับฟังและพิจารณาเนื้อหาไปตามความจริง แต่ถ้าใครมาถามด้วยความสงสัยที่เราพิจารณาดีแล้วว่าเป็นไปเพื่อกุศลเราก็จะตอบ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องตอบหรือไม่ตอบ แต่จะพิจารณาเป็นกรณีไปสรุปคือเราจะไม่ไปเถียงแข่งดีเอาชนะกับใคร แต่ก็ยังทำหน้าที่ให้ความรู้ต่อไป

คนที่เข้ามาฟาดฟันเราด้วยความยึดดีของเขา การที่เขาจะยึดผิดหรือยึดถูกนั้นก็เป็นเรื่องของเขา เพียงแต่เขาเห็นว่าสิ่งที่เขายึดนั้นดีตามประสบการณ์ที่เขาได้เรียนรู้มา การที่คนเหล่านั้นอดรนทนไม่ได้จนต้องแสดงตัวตนออกมาให้เห็น ก็ชี้ชัดให้เห็นแล้วว่าเขายังขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดความสำรวม ขาดสติ ขาดปัญญา ยากนักที่เราจะช่วยอะไรเขาได้ หากจะมีสิ่งที่พอทำได้ก็คือการเห็นใจเขา ให้อภัยเขา รักเขา ถ้าจำเป็นต้องพูดกับเขาก็ให้มีสัมมาวาจา คือพูดแล้วไม่ไปยั่วกิเลสเขา ไม่ทำให้เขาโกรธ ไม่ทำให้ต้องทะเลาะกัน หรือจะเลือกไม่พูดไม่โต้ตอบ เปลี่ยนเรื่องไปเลยก็ยังได้

การปฏิบัติธรรมนั้นจำเป็นต้องมีผัสสะ และในความเจริญใดๆ ก็ตามย่อมมีผู้เสียสละโดยที่ไม่รู้ตัวอยู่เสมอ ถึงแม้เขาเหล่านั้นจะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที การที่เขาเข้ามาทดสอบเราด้วยลีลาท่าทางต่างๆของกิเลสนั้น เขาย่อมสะสมอกุศลกรรมไปแล้ว เมื่อเห็นว่าเขาพยายามจะมาทดสอบเราด้วยการดึงเราลงนรก ไปเถียงกับเขา ไปทะเลาะกับเขา ไปโกรธกับเขา ไปขุ่นใจเพราะเขา เราก็ควรสำรวมตนให้อยู่ในความไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ไม่ลงนรกไปกับเขา อย่าให้เขาได้ทำหน้าที่เสียเปล่า หากเราไปเถียงเอาชนะ ไปทะเลาะไปโกรธกับเขา ก็เป็นอันว่าสิ่งที่เขาทำเสียเปล่า แทนที่จะได้ผู้เจริญเพิ่มขึ้นมา กลับลงนรกไปอีกคน แบบนี้มันเสียของ

ดังนั้นใครจะเข้ามาด้วยลีลาอย่างไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เรารู้สึกขัดใจขุ่นใจ ก็ให้เก็บอาการ เก็บอาวุธ ขอบคุณที่เขามาช่วยกระตุ้นให้เห็นว่าเรายังมีจิตของสัตว์นรกอยู่ในตัว แล้วมุ่งล้างใจเราเป็นหลัก นี่คือหน้าที่ของเราในสงครามนี้มุ่งทำความเจริญให้สำเร็จในจิตใจของเราก่อน อย่ามุ่งไปแส่หาในการสร้างความเจริญกับผู้อื่น

สงครามข้างนอกเราไม่รบ แต่สงครามข้างในเราจะไม่ยอมแพ้ ไม่มีวันยอมศิโรราบให้กิเลส สัตว์นรกที่ร้ายที่สุดที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจเรานั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

จิตฟุ้งซ่านเพราะถูกกระตุ้น

September 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,260 views 0

ถาม : การที่เราได้ไปเจอเหตุการณ์ที่ทำให้หวนคิดถึงเรื่องเก่าๆที่เคยสุขหรือทุกข์ใจ เช่นเรื่องของแฟนเก่า ภาพในวันเก่า จนจิตฟุ้งไปกับอารมณ์นั้น ควรทำอย่างไร?

1.1.ถ้ามันฟุ้งซ่านคุมไม่อยู่ก็เปลี่ยนเรื่องไปทำอย่างอื่น ใช้อุบายกำหนดจิต หลอกจิตให้สงบไปก่อน

1.2.ถ้าไม่ถึงกับฟุ้งซ่านมาก ก็ให้ตามดูอาการที่เกิดขึ้น ดูว่ามีความทุกข์หรือสุขขนาดไหน เพราะอะไร

1.3.ค้นลึกต่อไปที่เหตุของสิ่งที่ทำให้เราสุขหรือทุกข์นั้นว่าเราไป หลงติดหลงยึดอะไรจึงทำให้เกิดอารมณ์เหล่านั้น

1.4.เมื่อเห็นเหตุเหล่านั้นให้ให้พิจารณาธรรมะ ที่ตรงกับเหตุนั้นเพื่อไปทำลายอธรรมที่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน

ถาม : ถ้าเราไม่ไปเจอเหตุการณ์เช่นนั้นเราก็ไม่ฟุ้ง เราควรหลีกเลี่ยงหรือไม่อย่างไร

2.1.ถ้าจิตไม่แกร่งพอจะทนไหว ก็ควรจะหลีกเลี่ยงก่อน ถึงจะต้องปะทะกันก็ควรจะรักษาระยะห่าง

2.2.ถ้าพอจะสู้ไหว อาการไม่ออกไปภายนอกก็ลองเข้าไปหาเหตุการณ์เหล่านั้น เพราะ “ผัสสะ” คือตัวที่จะชี้ให้เห็นว่า “เหตุแห่งทุกข์” อยู่ตรงไหน ไม่มีผัสสะ ก็ไม่มีทางได้ปฏฺิบัติธรรม เพราะมีผัสสะจึงมีการปฏิบัติธรรมนั่นเอง ดังนั้นการปฏิบัติธรรมจึงไม่ควรหนีจากผัสสะ แต่ถ้าไม่ไหวก็วนกลับไปทำอย่างข้อ 2.1

2.3. ถ้าปฏิบัติถูกตรง จนทำให้กิเลสจางคลายได้จริง จะสามารถรู้ได้เองเมื่อเกิดผัสสะ ความสุขทุกข์ที่เคยมีจะเบาลง (ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้วันเวลาเยียวยา แต่หมายถึงปฏิบัติกันทั้งๆที่เกิดอาการแรงๆกันอยู่เมื่อวาน แล้ววันนี้ทำได้ดีขึ้น)

2.4. ถ้าทำลายกิเลสได้จริง จะเหลือแต่อาการไม่ทุกข์ไม่สุข (ไม่ใช่เพราะเบื่อแบบชาวบ้าน แต่เป็นเพราะทำลายความหลงติดหลงยึดด้วยปัญญา)

ไม่มีศีล ไม่มีปัญญา

June 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,257 views 0

การจะเห็นตัวตนของกิเลสได้นั้น ว่ามันหลงเสพหลงติดหลงยึดอะไร ถ้าไม่มีศีลก็ยากนักที่จะเห็นสิ่งเหล่านั้นได้

เพราะคนไม่มีศีลก็ไม่ต้องรู้สึกทุกข์อะไร ไม่ต้องมีกฏ ไม่ต้องมีข้อบังคับ แต่คนมีศีลเขาจะใช้ทุกข์ที่เกิดเมื่อถือศีลนั่นแหละ มาเป็นตัวแกะรอยหาเหตุแห่งทุกข์

นั่นหมายถึงคนที่มีศีลจะมีผัสสะมากกว่าคนไม่มีศีล เพราะถ้าไม่มีศีลมันก็ไม่ต้องมีอะไรมาทำให้รู้สึกผิดชอบชั่วดีให้ต้องเกิดเวทนา

เมื่อผัสสะเกิดแต่ละครั้ง เราสามารถใช้สติปัฏฐานเข้าไปตรวจหาตัวตนของกิเลสนั้นได้ เมื่อมีสิ่งกระทบกายภายนอก จึงรับรู้ถึงกายข้างใน คือรู้เข้าไปถึงการเปลี่ยนแปลงของจิตด้วย

เมื่อรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง ก็ให้รู้ต่อว่าเป็นเวทนาแบบใด เช่นเป็นทุกข์ ก็มาต่อว่าที่ทุกข์นั้นเพราะเรามีกิเลสใดปนเปื้อนอยู่ในจิตของเรา ความอยากเสพที่ทำให้จิตนั้นขุ่นมัวคืออะไร โลภ โกรธ หลง แล้วมันโลภยังไง มันโกรธเพราะอะไร มันหลงสุขในอะไร เมื่อหาเจอแล้วก็ ใช้ธรรมที่ตรงข้ามกันเข้ามาพิจารณาเพื่อหักล้างพลังของกิเลส

กระบวนการของสติปัฏฐานจะมีความต่อเนื่องตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ส่งต่อกันไปโดยลำดับ แล้วก็ทำซ้ำไปเรื่อยๆเมื่อผัสสะเกิดแต่ละครั้ง ขุดคุ้ยหากิเลสแล้วก็ล้างไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเดี๋ยวก็หมดเอง

ซึ่งก็จะหมดตามขอบเขตของศีลนั้นๆ ตั้งศีลไว้กว้างเท่าไหร่ก็กำจัดกิเลสเท่านั้น พอเสร็จแล้วก็ขยับศีลไปทำเรื่องอื่นต่อ ศึกษาศีลข้ออื่นต่อ

จึงจะเห็นได้ว่า กระบวนการกำจัดกิเลสนั้นต้องเริ่มจากศีล ส่วนจะเป็นศีลอะไรนั้นก็ให้เลือกศึกษาให้สมควรแก่กำลัง ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมก็จะเจริญได้ไว