Tag: ประโยชน์ตน

ถูกเพื่อนร่วมงานที่มีครอบครัวอยู่แล้วมาตามจีบ คุกคาม ฯลฯ ต้องทำอย่างไร?

February 4, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 777 views 0

การจีบกันนั้นเป็นการเบียดเบียนอย่างหนึ่ง ไม่ทำให้หลง ก็ทำให้โกรธ น้อยคนที่จะรู้สึกเฉย ๆ ไม่ยินดียินร้าย คนจีบเขาก็หวังจะให้หลงรักเขานั่นแหละ ทีนี้ก็ใช่ว่าทุกคนจะชอบการจีบหรือการเข้าหาในลักษณะต่าง ๆ มันก็เลยกลายเป็นความอึดอัด สุดท้ายก็สะสมกลายเป็นความโกรธเกลียด เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สรุป การจีบไม่สร้างประโยชน์ใด ๆ กับใครเลย จะสร้างแต่ผลอันเป็นความมัวเมา หดหู่ เศร้าหมองในท้ายที่สุด

ถ้าคนทั่วไป ไม่ค่อยเจอกัน มันก็ไม่เท่าไหร่ ถ้าเป็นเพื่อนร่วมงานมาจีบนี่มันก็อาจจะทำตัวลำบาก เพราะเกรงใจบ้าง กลัวบ้าง ฯลฯ ยิ่งถ้าเป็นหัวหน้ามีตำแหน่งสูงกว่ายิ่งไปกันใหญ่ คนที่เขามีความกำหนัด ใคร่อยาก เขาก็แสดงท่าทีลีลาต่าง ๆ เพื่อยั่วเย้า  หรือเกี้ยวพาราสีเป็นธรรมดา แน่นอนว่าเขาต้องมุ่งหวังผลคือได้เสพสมใจ เขาก็ใช้ทุกวิถีทางที่เขามีนั่นแหละ เข้ามาเป็นกรอบมาบีบให้เราอยู่ในสถานการณ์น่าอึดอัดต่าง ๆ

ในการเสพสมใจของเขานั้นเป็นไปได้หลายระยะ ตั้งแต่เราออกอาการเมื่อเขาแซว จนถึงขั้นเรายอมตกเป็นของเขา แม้เขาจะมีครอบครัวแล้วก็ตาม การสาสมใจนั้นเกิดขึ้นเพราะมีการตอบสนองเป็นอาหาร กิเลสจะมีกิเลสเป็นอาหาร ดังนั้นถ้าเราควบคุมอาการไม่ได้ ก็หมายถึงเรายังไปให้อาหารกิเลสเขาอยู่ คนที่ยังยั่วขึ้นอยู่ ก็ยังเป็นเหยื่ออยู่ดีนั่นเอง

การปฏิบัติก็เริ่มจากเบาไปก่อน คือถ้าลองพูดคุยกันได้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้น มันเป็นโทษ มันเบียดเบียนอย่างไร ถ้าประเมินแล้วว่าพูดแล้วไม่อันตราย ก็พูด บอกเตือนสิ่งดีมันก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่มั่นใจในการควบคุมสติของตัวเองก็ให้หาเพื่อนหรือผู้ใหญ่ที่มีศีลธรรม ไว้ใจได้ มาช่วยอยู่เป็นเพื่อนหรือมาช่วยแก้ปัญหา แต่ถ้ายิ่งทำยิ่งแย่ ยิ่งเละก็ลองอ่านต่อไป

สิ่งที่ต้องทำคือพิจารณาประโยชน์ของตนเองให้มาก ว่าเราจะสามารถทำงานอยู่อย่างผาสุกต่อไปได้จริงไหม หากเรายังอยู่กับคนที่เขามีความอยากมีคู่ขนาดที่ยอมผิดศีลนั้น บางงานนั้นมีคุณประโยชน์ก็จริง มีผลตอบแทนมากก็จริง แต่สิ่งที่แลกไปบางทีมันก็ไม่คุ้ม คือได้ประโยชน์นิดหน่อย ได้เงินจำนวนหนึ่ง ได้กุศลเล็กน้อย แต่เขาก็จะเอาสิ่งเหล่านั้นนั่นแหละมาล่อเรา ให้เราหลงไปตามสิ่งที่เขาล่อลวง ถ้าเราเมากับโลกธรรมที่เขาล่อลวงไว้ เราก็หลงต่อไป ยังเป็นมิจฉาชีพ เพราะมอบตนในทางที่ผิด รับใช้คนผิดศีล แต่ถ้าเราไม่ได้ยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น เราจะมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงมากขึ้น

พระพุทธเจ้าให้ห่างไกลคนพาล คบบัณฑิต ชีวิตจึงจะอยู่ผาสุก คนที่เขามีคู่อยู่แล้ว แล้วยังมาตามจีบ หรือทำท่าทีหมาหยอกไก่กับคนอื่น อันนี้เขาก็ผิดศีลของเขาอยู่แล้ว เขานอกใจไปแล้ว เขาต่ำกว่าศีล ๕ นะ คนไม่มีศีล คบไว้ไม่เจริญหรอก คนไม่มีศีลก็คือคนพาลนั่นแหละ เพราะเดี๋ยวก็ทำบาป เดี๋ยวก็ทำชั่ว เดี๋ยวก็พาให้เราเดือดร้อน

เข้าหาบัณฑิต คือเข้าหาหมู่มิตรที่ปฏิบัติดี มิตรดีจะช่วยเพิ่มกำลังใจและกำลังปัญญา จะมีพลังในการต้านความชั่ว ต้านคนผิดศีล จะเป็นอยู่ผาสุกต้องเลือกกลุ่มในการร่วมใช้ชีวิต ให้เป็นกลุ่มมีศีลธรรม เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนสู่ความพ้นทุกข์ กุญแจที่จะไขรหัสสู่ความสำเร็จของคำถามนี้คือการเข้าหาบัณฑิตนี่แหละ ก็เข้าหา ปรึกษา เป็นลำดับ มันจะมีปัญหาขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็แก้ไปเรื่อย ๆ โดยพึ่งพาปัญญาของมิตรดี ปัญหาก็จะคลายไปเรื่อย ๆ

แต่ถ้าคลุกอยู่กับหมู่คนพาลมันก็มีแต่เรื่องแบบนี้แหละ เรื่องชู้สาว เรื่องผิดศีล ดีไม่ดีเขาลวงเราไปข่มขืนอีก ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ นะ คนพาลนี่เขาอัตตาจัดมาก เขามีความอยากเอาชนะจัดมาก ๆ ยิ่งเราทำแข็งข้อ เขาก็ยิ่งสู้ ยิ่งทำตัวเป็นดีแสนดีดั่งนักบวช เขายิ่งอยากปราบเรา อยากพิชิตเรา แล้วก็ใช่ว่าเราจะไปสอนเขาได้นะ บางทีเขาไม่ได้เราด้วยการยอมของเรา เขาก็ใช้กำลังอำนาจของเขาบีบเราให้เราต้องจำนนได้เลย ดีไม่ดีเขาฆ่าเราปิดปากด้วย คบคนพาลมีแต่เสีย เสียเวลา เสียแรงงาน เสียทรัพย์ เสียชีวิต

แต่หมู่มิตรดีนี่ก็ต้องเลือกนะ ไปเข้าสำนักผิดหนีเสือปะจระเข้อีก กลายเป็นว่าหลงไปในหมู่นักปฏิบัติธรรมเมากาม ปฏิบัติธรรมหาคู่ มันจะไม่พ้นเรื่องบาปที่น่าปวดหัวเหล่านี้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าพรากประโยชน์ตนเพื่อผู้อื่นแม้มาก หมายถึง ต้องยึดประโยชน์ตัวเองไว้เป็นหลักก่อน ต้องเอาตัวเราพ้นทุกข์ให้ได้ก่อนแล้วถึงจะไปช่วยคนอื่น แม้คุณประโยชน์ในการช่วยคนอื่นนั้นจะดูเหมือนมีคุณมากก็ตามที เหมือนกับเรือร่ม เราก็ต้องเอาตัวรอดให้ได้ก่อน ถึงจะไปช่วยคนอื่น เราว่ายน้ำไม่เป็น ไม่มีอุปกรณ์ ไปช่วยคนอื่นมันก็จะพากันตายเปล่า ๆ มันไม่เหมือนการเสียสละนะ การเสียสละ คือเรามี แต่เราสละสิ่งนั้นให้ อันนี้ประโยชน์ตนเรายังไม่มี เรายังพาชีวิตเราเองไปพ้นทุกข์ยังไม่ได้เลย แล้วเราจะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร

ในความเห็นของผม ถ้าต้องคลุกอยู่กับกลุ่มคนผิดศีลเป็นประจำ ผมไม่อยู่หรอก เขาจะพาเราฉิบหาย แต่ถ้ามันมีภาระมาก มันออกไม่ได้ ก็ลองปรึกษาขอความช่วยเหลือกับผู้ใหญ่ในที่ทำงานที่มีศีลธรรม ถ้าเขาช่วยจัดการจนคลี่คลายก็พอทนอยู่ไปได้ แต่ถ้าอยู่แล้วโดดเดี่ยวไม่มีหวัง ไม่มีมิตรดี ไม่สามารถทำให้เจริญขึ้นได้ ก็ลองพิจารณางานอื่น ๆ ดู อย่างน้อยเราก็เจริญขึ้นเพราะพ้นจากมิจฉาอาชีวะอีกหนึ่งเรื่อง

3.2.2563

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เลือกกิน เลือกกรรม

October 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,466 views 0

เลือกกิน-เลือกกรรม

เลือกกิน เลือกกรรม

ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา มีความรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดทำไปแล้วเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ หรือสิ่งใดเป็นไปเพื่อความทุกข์และเสื่อมถอย นั่นเพราะมีความรู้ในเรื่องกรรมและผลของกรรมอย่างแจ่มแจ้ง

พระพุทธเจ้านั้นท่านเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง กรรมใดที่กระทำลงไปแล้ว จะให้ผลดีร้ายเช่นไร ท่านรู้ได้ทั้งหมด ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่า “บาปแม้น้อย อย่าทำเสียเลยดีกว่า” ท่านยังเปรียบไว้อีกว่า “เราไม่ควรดูหมิ่นในบาปที่เล็กน้อย แม้น้ำหยดทีละหยดก็ทำให้หม้อเต็มได้ บาปนั้นก็เช่นกัน” นั่นหมายถึง แม้อกุศลกรรมเพียงเล็กน้อยก็มีผล การกระทำใด ๆ ล้วนมีผลทั้งหมด และมีผลต่างกันไปตามเหตุของกรรมนั้นๆ

ศาสนาพุทธนั้นปฏิบัติไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ปฏิบัติไปเพื่อสั่งสมความทุกข์ให้กับตนเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ใน “อนายุสสสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๑๒๕)” ว่าด้วยเหตุที่ทำให้อายุสั้นและอายุยืน หนึ่งในเหตุที่ทำให้อายุสั้นนั้นคือกินของที่ย่อยยาก และเหตุที่ทำให้อายุยืนนั้นคือกินของที่ย่อยง่าย ซึ่งพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ปฏิบัติไปเพื่อให้เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น การที่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอายุยืนจะเป็นประโยชน์มาก เรื่องนี้คงจะไม่มีใครเห็นแย้ง ดังนั้นเพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ก็ควรจะเลือกกินของที่ย่อยง่ายเป็นหลัก หากไม่ได้ยึดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเราก็ควรจะเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายนี้และเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์จากการที่ร่างกายนี้ยังทำงานได้ดีอยู่

เช่นเดียวกับคนที่มีอาการแพ้อาหารบางอย่าง การ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารที่แพ้นั้น ก็ถือว่าเป็นปัญญาทั่วไป ไม่ทำความลำบากให้แก่ตน เพราะถ้ากินไปแล้วป่วยหรือเสียชีวิต ก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใดเลย เพราะการทำความลำบากให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุสั้นตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

เช่นเดียวกับคนที่เลือกเฟ้นอาหารที่มีคุณค่า เลือกอาหารที่ไร้สารพิษ และ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารหรือวัตถุดิบที่มีสารพิษมากเช่น เนื้อสัตว์ พืชผักรวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ ที่มีโอกาสที่จะมีสารพิษตกค้าง แม้แต่การเลือกที่จะไม่กินอาหารขยะ , ขนม นม เนย ฯลฯ ก็เป็นการทำความสบายให้แก่ตน ให้ตนได้มีสุขภาพดี อายุยืน อย่างน้อยก็ลดเหตุปัจจัยในการเกิดโรคลงได้ การทำความสบายให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุยืนตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

ในส่วนของฆราวาสนั้นก็คงไม่ได้ปฏิบัติยากเท่าไหร่ ผู้ที่อยากเป็นอยู่อย่างผาสุกก็จะเลือกสิ่งที่ย่อยง่ายและไม่มีโทษให้กับตนเอง และจะเลือกสิ่งดีเหล่านั้นแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นด้วยเช่นกัน

แล้วทีนี้นักบวชล่ะจะทำอย่างไร ในเมื่อนักบวชควรจะเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย แล้วจะเลือกกินสิ่งที่ดีมีประโยชน์อย่างไร

นักบวชในพระพุทธศาสนานั้นมีจะกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่าเป็นการพิจารณาอาหาร คือพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ และพิจารณาลงไปให้ลึกถึงกิเลสภายใน สิ่งใดเสพแล้วลดกิเลส สิ่งใดเสพแล้วเพิ่มกิเลส และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ให้เข้าถึงสิ่งนั้น สิ่งใดที่เป็นโทษให้ละเว้นสิ่งนั้นเสีย นี่คือการเลือกอย่างชัดเจน

คำว่าผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายนั้นหมายรวมถึงผู้ที่ไม่ทำตนให้เป็นภาระด้วย ดังที่กล่าวมาข้างตน ถ้ากินไม่เลือกแล้วเกิดผลให้เจ็บป่วย เป็นโรค ก็ไม่ควรเรียกว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย เพราะการเจ็บป่วยนั้นจะทำให้เป็นผู้เลี้ยงยากบำรุงยากในทันที

จริงอยู่ที่นักบวชนั้นไม่ควรเลือกที่จะรับตามที่สมมุติโลกนั้นเข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามเลือกที่จะกิน ทุกกรรมกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างกินนั้น ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น มือที่เอื้อมไปตักของที่ย่อยยากและมีโทษมากเช่นเนื้อสัตว์ ก็ควรกำหนดรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ ไม่เป็นไปเพื่อความสบาย ทุกการขยับ การตัก การนำเข้าปาก การเคี้ยว ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่าไม่มีความรู้เรื่องกรรม ไม่มีสติมากพอจะจับเจตนาซึ่งอาจจะปนเปื้อนด้วยกิเลส ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า อันนี้เราทำบาปกรรมอยู่ จึงสะสมบาปกรรมที่ไม่รู้ตัวว่าทำไปเรื่อย ๆ  ซึ่งตรงกับที่ยกไว้ข้างต้นว่า บาปแม้น้อยก็สะสมกลายเป็นบาปที่เต็มรูปได้ เมื่อบาปเต็มที่ กิเลสก็เต็มขั้น กามก็โต อัตตาก็แกร่งกล้า ถ้าไม่สึกไปแสวงหากาม ก็แสวงหากามในคราบผ้าเหลืองนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าตรัสเหตุของการเกิดตัณหาใน “ตัณหาสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๙)” ไว้สี่ข้อ โดยรวมแล้วก็คือปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคือ ตัณหาเกิดด้วยการบิณฑบาต นั่นก็หมายถึงกิเลสมันเกิดก็เพราะเรื่องห่วงกินนี่แหละ ดังนั้นนักบวชก็ควรจะพิจารณาในการกินของตน ว่ากินสิ่งใดแล้วกิเลสมันเพิ่มก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วร่างกายเป็นทุกข์ ทำให้อายุสั้น ก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วเป็นไปเพื่อส่งเสริมความมัวเมา ก็ไม่ควรกิน

ที่บอกว่าควร “เลือกกิน” นั้นเพราะ นักบวชนั้นพึงรู้เองว่าสิ่งใดสมควรหรือไม่สมควร เพราะไม่มีใครมาบังคับใครให้ใครตักอะไรใส่ปากได้ มือก็เป็นของท่าน ปากก็เป็นของท่าน กรรมก็เป็นของท่าน ท่านล้วนกำหนดกรรมของท่านเอง

การจะกินทุกอย่างนั้น ก็ดูจะเป็นคนละโมบไปเสียอีก เพราะหากผู้ศรัทธาเขาเอาอาหารมาพันอย่าง ก็ต้องกินทุกอย่างจนพุงแตกกันเลยเชียวหรือ ส่วนการจะกินเพื่อให้เขาศรัทธา ให้เขาดีใจปลื้มใจนี่มันก็ควรจะประมาณให้เหมาะสมเป็นบางกรณี ไม่ใช่กินให้เขาทุกวันจนตัวเองอ้วน เดินลำบาก ขยับลำบาก ป่วยเป็นโรค อันนี้ก็เป็นการทำให้ตนเองเป็นทุกข์ไปเปล่า ๆ มันต้องเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์เพื่อตนเป็นหลัก ไม่ใช่มุ่งเอาใจคนอื่นเป็นที่ตั้ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อย่าพรากประโยชน์ตน เพื่อผู้อื่นแม้มาก” หมายถึงไม่จำเป็นต้องไปทำเพื่อใครขนาดที่ตนเองต้องทนทุกข์ทรมาน ต้องกิเลสเพิ่ม ต้องอายุสั้น ต้องเสียโอกาสในการปฏิบัติธรรม แม้สิ่งเหล่านั้นจะดูเหมือนมีประโยชน์มากก็ตามที

ถ้าเขามีมาวางให้เลือก ก็เลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ว่า เขาเอาไก่ทอดมาวาง เอาผัดผักมาวาง มีแค่สองอย่างนี้ ว่าแล้วก็ตักไก่ทอดใส่ปากก่อนเลย อันนี้ต้องอ่านจิตตัวเองดี ๆ ว่าทำไมมันไปเอาของที่มันมีโทษก่อน เพราะแม้ในทางโลก เขาก็รู้กันอยู่แล้วว่า เนื้อสัตว์ทอดนั้นเป็นอาหารที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ นา ๆ อันนี้ปัญญาโลก ๆ ก็รู้ได้ คนที่รักษาสุขภาพเขาก็รู้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงปัญญาโลกุตระหรอก ถ้าปัญญาโลกุตระนี่ไม่มีแล้วที่จะกินสิ่งที่เป็นโทษ มีแต่กินสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้น

สรุปรวมแล้วศาสนาพุทธนั้น “เลือก” ที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อเว้นขาดจากสิ่งชั่ว ที่ให้โทษ ที่ทำให้เป็นทุกข์ทำ ฯลฯ มุ่งทำสิ่งที่ดี และทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะรู้ชัดว่าสิ่งที่ทำนั้นจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งในปัจจุบันและอนาคตทีเดียว

1.10.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รักที่มากกว่า

September 15, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,990 views 0

รักที่มากกว่า

รักที่มากกว่า

คำว่ารักเป็นคำที่คนนิยม มีการตีความหมายของคำว่ารักออกมาหลายแง่ หลายมุม หลายนิยาม หลายความเข้าใจ จนยากที่จะเข้าใจว่ารักจริงๆเป็นเช่นไร

แม้จะเคยได้พบกับความรัก แต่รักของเรากับเขาก็อาจจะไม่เหมือนกัน ทั้งๆที่เราก็รักกัน แต่ทำไมมันไม่เหมือนกัน เพราะเรานิยามต่างกัน? เพราะเราเข้าใจต่างกัน? หรืออาจจะเป็นเพราะว่าเรามีกิเลสที่ต่างกัน…

คำว่า “รัก” นั้นอาจจะเป็นดอกไม้ หรือมีดที่ฉาบไว้ด้วยน้ำผึ้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะใช้มัน ซึ่งความรักนั้นถ้าแบ่งตามใจคน ก็คงจะอวดอ้างว่ารักของตนนั้นยิ่งใหญ่ บริสุทธิ์ เป็นรักแท้หาที่ใดเปรียบได้ แต่ถ้าแบ่งตามกิเลสเราก็จะเห็นได้ชัดจากการกระทำที่ออกมา โดยไม่ต้องไปคิดวิเคราะห์หรือหลงไปในคำพูดที่เป็นคำลวง

รักหยาบๆ ….. เป็นรักที่หามาเสพเพื่อตน ใช้คำว่ารักเพื่อที่จะได้ใครสักคนมาบำรุงบำเรอกิเลสตัวเอง

เช่น จริงๆก็ไม่ได้ชอบเขามากหรอก แต่เขาหล่อและรวย คิดว่าน่าจะดูแลเราได้เลยคบกันไป

…หรือเช่น ชอบเขามาก ก็เลยใช้คำว่ารัก ป้อนคำหวาน ในนามแห่งความรัก ทำดีไปจนกว่าเขาจะยอมให้เสพสมใจ

…หรือเช่น เราก็ไม่ได้ชอบเขาหรอก แต่บังเอิญว่าเหงา อยากหาคนมาบำเรอความใคร่เลยคบกันไป

…หรือเช่น ชอบเขามาก อยากได้เขามาเป็นของตัว จนสามารถยอมใช้ร่างกายตัวเองแลกกับการมีเขาไว้ในชีวิต

…หรือเช่น เขาก็ไม่ได้นิสัยดีอะไรมากมายหรอก แต่ทำงานเก่งขยันเอาใจเราทุกอย่าง เราคบเขาไว้ก็ดีก็เลยบอกรักเขาเพื่อให้เขาทำอย่างที่เราอยากเสพไปเรื่อยๆ

ความรักที่เกิดจากเหตุเหล่านี้ก็เป็นเรื่องหยาบ เรื่องกาม เรื่องหน้าตา เรื่องสังคม เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นรักที่วนเวียนอยู่กับการเสพกิเลส เสพโลกธรรม ยากจะหาความสุขเพราะจิตคิดแต่จะเอา ไม่วันใดก็วันหนึ่งก็ต้องพบกับความพราก ความไม่ได้ ความเสียไปแบบไม่หวนกลับ คนที่มีรักแบบนี้ยังต้องทนทุกข์อยู่มากตามความหนาของกิเลส ตามความอยากได้อยากมี

รักดีๆ….. เป็นความรักที่เกิดจากการเกื้อกูลกันมา พึ่งพากันและกัน สนับสนุนช่วยเหลือดูแล คนที่มีความรักแบบนี้จะลดการอยากได้อยากมีในกันและกันในระดับหยาบลงไปแล้ว แต่จะมีสภาพเหมือนเพื่อน เหมือนพี่น้อง จะเริ่มเข้าใจสาระแท้ของคำว่ารักได้มากขึ้น เริ่มจะมองเห็นคุณค่าแท้ในตัวคนมากขึ้น มองข้ามกาม คือความหล่อสวย มองข้ามโลกธรรม คือความรวย มีชื่อเสียง มีตำแหน่งการงานดี เหล่านี้ไปได้บ้างแล้ว จึงทำให้รักที่มีนั้นค่อนข้างราบรื่น ไม่หวือหวา เป็นไปเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน

รักที่มากกว่า…. เป็นความรักที่เสียสละ คำว่าเสียสละ คือสละโดยที่ไม่หวังจะได้อะไรกลับมา เรามักจะถูกทำให้สับสนเมื่อเห็นภาพพ่อบุญทุ่มเสียสละให้ผู้หญิงคนหนึ่งตลอด นั่นอาจจะเป็นเพราะเขามีแผนเพื่อที่จะเสพผู้หญิงคนนั้นในสักวันหนึ่ง เป็นความหยาบที่ซ้อนเข้าไปในการเสียสละ

การเสียสละที่แท้จริง คือการยอมลำบาก ยอมทน ยอมเจ็บ ยอมเหนื่อย เพื่อคนที่รักได้

เช่น แม้คนรักจะต้องตกงานหรือพิกลพิการ แต่ก็ยังดูแลกันไปไม่ทิ้งกัน ไม่โกรธ แม้สิ่งที่เคยมีเคยได้จะไม่มีอีกต่อไป แต่ก็ยังดูแลด้วยความรักและเข้าใจในกรรมที่เขาทำมา

เช่น แม้จะโดนต่อว่า ดุด่าจากฝ่ายตรงข้าม ก็ยอมเจ็บ ยอมโดนด่าโดยไม่โกรธเคือง ยอมให้อภัย สละความโกรธออกไป เพื่อที่จะไม่ไปส่งเสริมกิเลสของตนเองและคู่ครอง

หรือเช่น ยอมสละให้เขาไปกับคนใหม่ที่เขาถูกใจ โดยที่ไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาต เข้าใจและยอมปล่อยเขาไปตามที่เขาอยากจะไป

รักแท้ …. ความรักที่แท้จริงนั้น เป็นความรักที่เข้าใจทุกอย่าง เข้าใจว่าฉันก็เป็นแบบนี้ เธอก็เป็นแบบนั้น เรามีกรรมเป็นของตัวเอง ฉันก็มีของฉัน เธอก็มีของเธอ แต่จะทำอย่างไรเราจึงจะสามารถกุศลสูงสุดได้?

รักที่แท้คือการยอมปล่อย ยอมให้คู่ของตนเป็นไปตามกรรมที่เขาควรจะเป็น ไม่คิดจะเอาเขามาเสพ ไม่แม้แต่อยากจะได้รับสิ่งดีจากเขา ไม่ต้องการคำหวาน คำปลอบโยน กำลังใจ อ้อมกอด หรืออนาคตใดร่วมกัน ไม่คิดจะเอาเขามาผูกไว้ด้วยการคบหาเป็นแฟน หรือการแต่งงาน ที่เราเห็นชัดแล้วว่าจะนำมาซึ่งความทุกข์

ยอมแม้แต่จะไม่ไปรักเขา ยอมให้จิตเราเลิกผูกพันกับเขา ยอมให้เราเลิกยึดมั่นถือมั่นในตัวเขา แม้ว่าเขาหรือเธอคนนั้นจะเป็นดั่งเนื้อคู่ที่ผูกภพผูกชาติกันมานานแสนนาน แต่ก็จะยอมที่ปล่อยความสัมพันธ์นี้ให้เป็นอิสระ ให้เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีกิเลสใดๆมาเจือปนให้หม่นหมอง

ไม่หลงรัก ไม่ผลักไส ไม่ดูด ไม่ผลัก ไม่รัก ไม่เกลียด ไม่ชอบ ไม่ชัง ก็คงจะเหลือสาระแท้ เหลือแต่ประโยชน์ เหลือแต่กุศลร่วมกันเท่าที่พอจะทำได้ เป็นรักที่เข้าใจถึงสาระแท้ของชีวิตว่าควรจะต้องทำอะไรให้พ้นทุกข์ เข้าถึงความสุขแท้

เป็นรักที่นำมาซึ่งที่สุดของประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน เพราะตนเองก็ไม่ต้องมาทุกข์ยากลำบากเพราะวิบากกรรมของคู่ครอง เพราะแค่วิบากกรรมของตัวเองก็หนักจะแย่อยู่แล้ว ไหนจะกิเลสของตัวเองอีก และประโยชน์ท่าน ก็คือ สามารถเอาเวลาที่เคยไปทำเรื่องไร้สาระมาสร้างประโยชน์กับคนผู้อื่น สังคม สิ่งแวดล้อม ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

รักแท้ที่เกิดนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการเสพสมใจในชาตินี้ภพนี้ แต่เป็นไปเพื่อกุศล เป็นประโยชน์ทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็คงจะรู้แล้วว่าตัวเองพอใจอยู่ที่รักแบบไหน ความรู้สึกนั้นแหละคือระดับกิเลสของตัวเอง หนาบ้าง บางบ้างแล้วแต่ใครจะขัดกิเลสกันมาเท่าไหร่

– – – – – – – – – – – – – – –

15.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

September 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,101 views 0

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

ถาม: ปัจจุบันมีภิกษุพยายามสร้างประโยชน์ให้สังคมด้วยการกระทำให้เป็นรูปธรรมเช่นการให้ความรู้ญาติโยมในการประอาชีพทางการเกษตร การเป็นผู้นำในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสังคมมีการเดินขบวนเรียกร้องการใช้พื้นที่วัดทำนาเองเพื่อนำเงินเข้าวัด เป็นต้นซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันของญาติโยมบางคนก็ว่าควรทำ บางคนก็ว่าไม่ควรทำคุณดิณห์มีความเห็นอย่างไรเมื่อเอาหลักพระพุทธศาสนามาเป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์ขอบคุณล่วงหน้าครับ

ตอบ: เขาทำดี ก็ดีแล้วนี่ครับ 🙂

ขอยกคำตรัสพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงก่อนแล้วกันนะ “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักเตือนเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต”

การมีชีวิตอยู่เพื่อความผาสุกที่แท้จริงนั้น ต้องทำทั้งประโยชน์ตัวเอง คือขัดเกลา เพียรล้างกิเลสในใจตน ประกอบการงานเลี้ยงชีพ งานของพระคือศึกษาธรรมะและช่วยคนให้พ้นทุกข์ ฯลฯ และประโยชน์ท่าน คือ ประโยชน์ทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม คือ กิจกรรมการงานและการให้ความช่วยเหลือเพื่อคลายความทุกข์ ความลำบากของหมู่มิตร สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

เราจะมาเน้นตรง “ประโยชน์ท่าน” เพราะประโยชน์ท่านนี่แหละคือส่วนหนึ่งในการบรรลุธรรม คนที่ปฏิบัติธรรมถูกตรงก็จะมีความเมตตามากขึ้นเมื่อพากเพียรลดกิเลส ยิ่งหมดกิเลสก็ยิ่งเมตตาอยากช่วยคน อยากช่วยชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ในทางเดียวกันก็จะต้องใช้สังคมสิ่งแวดล้อมเป็นตัวขัดเกลากิเลสอัตตาของตัวเองให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป และแม้ท่านเหล่านั้นหมดกิจตนคือการล้างกิเลสแล้ว การช่วยเหลือผองชนก็ยังเป็นหน้าที่ของท่านอยู่ดี เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่อยู่กับสังคม อยู่ในสังคมแต่ไม่ปนไปกับสังคม ไม่ไปเสพกิเลสร่วมกับเขาและยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้

ในบทโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ คือ ให้หยุดทำชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส

จะสังเกตได้ว่า หยุดชั่ว นั้นมาก่อนทำดี เราต้องหยุดชั่วเสียก่อนจึงจะทำดี ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว ไม่เต็มสักที ถ้าท่านเหล่านั้นมองว่าบ้านเมืองกำลังเกิดสิ่งชั่ว ท่านไปหยุดความชั่วนั้น ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

หรือท่านเห็นว่าหมู่บ้าน สังคม ชุมชนกำลังย่ำแย่ กำลังเป็นทุกข์ เป็นหนี้ การที่ท่านออกมาช่วยพัฒนาชุมชนก็จะช่วยลดความชั่วอันเกิดจากความทุกข์ ที่จะนำมาซึ่งการลักขโมยได้ ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

หรือแม้แต่ท่านหยุดการทะเลาะเบาะแว้งด้วยการเอาภาระมาเป็นของตน ก็อาจจะดีกว่าปล่อยให้ชาวบ้านทะเลาะกัน ด่าว่ากัน ทำร้ายกัน ฆ่ากัน ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

เราต้องสังเกตเอาเองว่า ท่านทำเพื่อลาภ ยศ ชื่อเสียง เงินทองหรือไม่ ท่านทำเพื่อตัวเองหรือไม่ ถ้าท่านเข้าไปทำเรื่องทางโลกเพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง มันก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากนี่

ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละท่านที่จะประมาณว่าทำสิ่งนั้นไปแล้วจะเกิดกุศลมากน้อยเท่าไหร่ เพราะบางทีเหตุการณ์ที่มันจะได้โดยไม่เสียมันไม่มี ต้องยอมเสียบ้าง เพื่อที่จะได้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์หนึ่งถ้าไม่ทำอะไร จะเกิดอกุศล 20 แต้ม (อกุศลเพราะดูดาย ไม่ทำอะไรทั้งที่ทำได้) แต่ถ้าทำจะได้กุศล 80 แต้ม และอกุศล 40 แต้ม (ทำดี แต่ก็ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อนเพิ่มขึ้น) ….ถ้าเทียบกันแล้วอกุศลมันก็ดูมากกว่าใช่ไหม แต่ผลรวม หรือค่ากุศลสุทธิมันได้กำไร ท่านก็อาจจะตัดสินใจลงทุนทำกิจกรรมนั้นๆก็ได้ ซึ่งเราเองหากไม่เคยฟังเหตุผล ไม่เคยถามท่าน ก็อย่าพึ่งไปตัดสินท่านเลย บางทีท่านประมาณเก่งกว่าเราเยอะ

การประมาณของพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น จะเข้าใจยากเกินกว่าที่คนมีกิเลสหนาจะเข้าใจ เพราะท่านคิดในพื้นฐานของคนที่ขัดเกลากิเลส มีกิเลสน้อย หรือไม่มีกิเลสเลย มันไม่มีทางที่เราจะเข้าใจท่านเหล่านั้นได้เพียงแค่ใช้การคิดวิเคราะห์ไปเอง ทำได้อย่างมากแค่รอดูผลเท่านั้น เพราะจะเข้าไปยุ่งก็เสี่ยงนรกเปล่าๆ หากท่านเป็นพระอลัชชีที่คิดแต่จะหลอกลวงต้มตุ๋นก็รอดไปบ้าง แต่ถ้าท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดี การเพ่งโทษครั้งหนึ่งคงจะพาเราลงนรกไปได้นานข้ามภพข้ามชาติเชียวละ

เราจำเป็นต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เราเกิดมาเพื่อทำกุศลกรรม ก็คงจะดีถ้าในชีวิตมีทางให้เลือกชัดเจนว่าทางไหนคือดี ทางไหนคือชั่ว แต่ด้วยกรรมที่เราทำมาจะทำให้หนทางสู่ความดีแท้นั้นลึกลับซับซ้อน บางครั้งจำเป็นต้องเสี่ยง บางครั้งก็หลงผิดเห็นชั่วเป็นดี เห็นดีเป็นชั่ว ต้องใช้ปัญญาเท่าที่มีประมาณเอาเองว่าทำอย่างนั้นจะดีไหม ทำอย่างนี้จะดีไหม พระก็คนเหมือนเรานั่นหละ มีกรรมเหมือนเรา มีเหตุที่ต้องตัดสินใจเหมือนเรา เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งการทำกุศลที่มากกว่า ในบางครั้งอาจจะจำเป็นต้องยอมเสียบ้าง ยอมสละบ้าง ยอมถูกด่าบ้าง แต่เพื่อกุศลที่มากกว่า เพื่อสิ่งดีที่มากกว่า ในบางครั้งเราก็ยังยอมทำเลยใช่ไหม?

พระพุทธเจ้าท่านมีหลักในการใช้สังเกตการปฏิบัติของพระที่ปฏิบัติดีไว้ นั่นคือ เป้าหมายการประพฤติพรหมจรรย์ ๙ ได้แก่..ไม่ใช่เพื่อหลอกลวงคน ไม่ใช่เพื่อเกลี้ยกล่อมคน ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ ไม่ใช่เพื่ออวดตนเป็นเจ้าลัทธิ ไม่ได้อยากให้คนรู้จักเราดังที่เราอวดอ้าง เป็นไปเพื่อความสำรวม เพื่อละกิเลส เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส

ถ้าพระท่านใดยังถือเอาเป้าหมายเหล่านี้เป็นกรอบการดำเนินกิจกรรมใดๆแล้วล่ะก็ ปล่อยท่านทำไปเถอะ อย่าไปยุ่งกับท่านเลย นรกกินหัวเปล่าๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

14.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์