Tag: บรรลุธรรม
ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด
ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด
ตั้งชื่อเปรียบเปรยกันไป ประมาณว่าในเมื่อฉันยังไม่ทุกข์ ฉันก็ยังไม่ต้องศึกษาและปฏิบัติธรรม ไม่ต้องเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ต้องมีครูบาอาจารย์ เอาไว้ฉันแก่ ฉันทุกข์ ฉันตาย ฉันค่อยไปวัดก็ได้
ในบทความนี้จะขยายถึงเรื่องของอัตตา เมื่อเราเห็นว่าคนที่เข้าวัดทำบุญนั้นไม่ได้ทำให้จิตใจดีขึ้น ไม่ได้ทำให้ชีวิตเจริญขึ้น และแม้จะดีขึ้นก็ไม่ได้ดีในระดับที่มีนัยสำคัญให้เราสนใจอะไร จนกระทั่งเราเสื่อมศรัทธาในการทำบุญ การไปวัด การไปพบครูบาอาจารย์
ในโลกนี้ประกอบด้วยคนมีทุกข์และคนไม่มีทุกข์ เปรียบเสมือนคนป่วยทางจิตใจกับคนจิตใจปกติ สำหรับคนที่ไม่ป่วยหรือจิตใจปกติจะขอยกไว้ แต่จะกล่าวถึงคนที่มีอาการป่วยทางจิตใจ ซึ่งก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันโดยจะยกตัวอย่างเป็นลักษณะของคนป่วย 5 ประเภทดังนี้
1.คนป่วย
ในสังคมเรานั้น ถ้าพูดถึงคนที่เข้าวัดทำบุญทำทาน ก็คงจะเป็นคนส่วนน้อย โดยมักจะเป็นคนแก่ แม้บ้าน คนโสด หรือเป็นคนที่มีทุกข์ ตกงาน อกหัก โดนทอดทิ้ง ครอบครัวแตกแยก ชีวิตพัง ฯลฯ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านี้ พวกเขาจึงได้มองหาที่พึ่งพิงทางใจ เพราะเขาเหล่านั้นเริ่มจะรู้สึกแล้วว่า เขาไม่สามารถพึ่งพาจิตใจตนเองได้อีกต่อไป ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ดี เมื่อเรามีปัญหาที่แก้ไม่ตก เราก็ควรจะให้โอกาสกับตัวเอง โดยการให้โอกาสผู้อื่นได้ยื่นมือเข้ามาช่วยแก้บ้าง
การที่เขาเหล่านั้นหาที่พึ่งทางจิตใจไม่ได้หมายความว่าเขาอ่อนแอเสมอไป แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เขามีอัตตาลดลง เขามีความยึดมั่นถือมั่นลดลง อาจจะเกิดจากสิ่งที่พวกเขาเคยเชื่อและมั่นใจมาทั้งชีวิตถูกทำให้พังทลายลง สิ่งที่พอจะเหลือไว้ให้คิดถึงสำหรับคนไทยอย่างเราก็คือพระรัตนตรัย ที่พอให้เขายึดเหนี่ยวและเป็นหลักให้พึ่งพิงไว้ได้
2.คนป่วยที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วย
ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่เข้าวัดทำบุญ อาจจะไม่รู้สึกก็ได้ว่าตัวเองนั้นก็มีปัญหาทางจิตใจ ไม่รู้สึกว่าตนนั้นเป็นคนอ่อนแอ ไม่รู้ว่าตนนั้นเป็นคนป่วยอยู่เช่นกัน เมื่อยังไม่มีทุกข์หนักมากพอที่จะทำให้เขาเหล่านั้นตระหนักถึงเรื่องกรรมและผลของกรรม และวิบากกรรมชั่วที่เคยทำนั้นยังไม่มาถึง เขาเหล่านั้นจึงใช้ชีวิตอย่างประมาท เข้าใจว่าเรื่องธรรมะเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนแก่ เป็นเรื่องของคนทุกข์ และในเมื่อเขายังไม่รู้สึกทุกข์ เขาก็ไม่จำเป็นต้องเข้าหาธรรมะขนาดนั้นก็ได้
ความคิดเหล่านี้คืออัตตาก้อนใหญ่ คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง แทนที่จะยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เขากลับยึดเอาอัตตา คือยึดเอาความคิดตัวเองนี่แหละเป็นที่พึ่ง จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่ถึงเวลาอันสมควรกรรมจะพาให้เขาได้พบกับทุกข์ที่มากพอที่จะกระตุ้นให้เขาได้รู้สึกเข็ดขยาดกับการสะสมบาป ทำลายทุกอย่างที่เขาเชื่อมั่นลงราบเป็นหน้ากลอง จนสุดท้ายก็กลายเป็นเหมือนคนทุกข์ที่แสวงหาทางพ้นทุกข์จนไปพึ่งพาที่วัดนั่นแหละ
เขาเหล่านี้มักมีความคิดเห็นว่า ตัวเองก็ไม่ได้ชั่วมาก และก็ไม่ได้ดีมาก เข้าใจว่าเป็นกลางๆ จึงใช้ชีวิตทำดี ทำชั่วปนกันไปสลับไปมา 3 วันดี 4 วันไข้ รับสุขรับทุกข์แบบนี้เรื่อยไป และเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเหมือนคนป่วยที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ทั้งที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะทำดีทุกวันได้ เป็นการทำดีที่สอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน สอดแทรกเข้าไปในความเห็นความเข้าใจ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าวัดทำบุญทุกวันอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ
แต่ด้วยอัตตาที่เขาเหล่านั้นมี คือมีความรู้สึกว่าเข้าวัดทำบุญก็ไม่ได้เป็นคนดีขึ้น และชีวิตที่ใช้อยู่นั้นก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น จึงทำให้เสียโอกาสในการได้รับการรักษาเยียวยาทางจิตใจไปอย่างน่าเสียดาย
3.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองมียาดี
เป็นคนที่มีทุกข์มีสุขปะปนกันไปในชีวิตเหมือนกับคนป่วยที่คิดว่าตัวเองไม่ป่วย แต่เขาเหล่านี้รู้ตัวว่ามียาดี คือมีครูบาอาจารย์ มีพระดี มีวัดดี มีคนดีคอยแนะนำอยู่ จึงมีความประมาทในชีวิต เมื่อไม่คิดว่าธรรมะนั้นเป็นเรื่องสำคัญ รอไว้ให้ทุกข์ รอไว้ให้แก่ จึงค่อยเข้าวัด จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมได้มาถึง ทุกข์มากมายได้โถมกระหน่ำเข้ามา ยาดีที่มีอยู่ ก็อาจจะหมดอายุ ครูบาอาจารย์ลาโลกนี้ไปหมดแล้ว แถมบางทียาดีที่คิดว่ามีอยู่ กลับกลายเป็นยาปลอมอีก ธรรมที่เคยศึกษามาทั้งชีวิตกลับเป็นธรรมะปลอมๆ ที่พาสะสม พาให้เสพกิเลส พาให้กลัว กังวล หลงในเรื่องโลก เป็นต้น
แม้จะมียาดี มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงอยู่ใกล้ แต่เมื่อทุกข์ เมื่อวิบากมาถึง อาจจะใช้ยานั้นไม่ทันก็ได้ เพราะธรรมไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ การบรรลุธรรมแบบชั่วพริบตานั้นไม่มีทางเกิดได้ หากไม่เคยทำเหตุมา นั่นหมายถึงถ้าไม่เคยปฏิบัติมาจนบรรลุเรื่องนั้นๆมาในชาติก่อนภพก่อนแล้ว ก็ไม่มีวันที่จะเข้าใจได้ในวันสองวันในชาตินี้หรอก
พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ธรรมวินัยนี้เหมือนทะเล ลาด ลุ่ม ลึก ไปตามลำดับ ไม่ลาดชันเหมือนเหว คือต้องปฏิบัติไปเรื่อยๆ จากหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่อยู่ๆ จะกระโดดจากหยาบไปละเอียดได้เช่นบางคนปฏิบัติธรรมได้นิดเดียวก็จะไปนิพพานเลย กลายเป็นเอาหลังมาหน้า เอาหน้ามาหลัง กลับหัวกลับหาง ไม่เป็นไปตามลำดับ รีบเร่ง โลภ ขี้เกียจ มักง่าย สุดท้ายก็หลงทางกันไป หนักเข้าก็หลงว่าบรรลุธรรมกันไปเลยก็มี
ยังมีคนอีกพวกที่ถือยาผิด เขาเหล่านั้นเข้าใจว่าตัวเองเข้าใจแก่นของพุทธ จึงไม่สนใจการทำบุญ ปฏิบัติธรรม พบปะครูบาอาจารย์ ฟังสัจธรรม คิดแค่ทำตัวเองให้ดีก็พอแล้ว นั่นคือความหลงผิดอย่างยิ่ง เพราะว่าแก่นของพุทธนั้นคือวิมุตติ คือสภาพที่หลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะนึกเอา คาดคะเนเอา ไม่ใช่แค่การทำดี ไม่ทำชั่ว แต่เป็นเรื่องของการดับกิเลส
พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าธรรมวินัยนี้ ลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ดังนั้นการจะบอกว่ารู้แก่น เข้าใจแก่นของพุทธโดยไม่ได้ปฏิบัติจนถึงผลนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
4.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองหายป่วย
คนอีกประเภทคือคนที่คิดว่าตนเองนั้นได้เจอหมอ ได้ยาดี ได้รับการเยียวยาทางจิตใจดีแล้ว ได้รับการอบรมสั่งสอนดีแล้ว หายป่วยแล้ว เมื่อกลับเข้ามาในสังคม ก็จะมีอาการติดดี ยึดดี ถือดี ยึดมั่นถือมั่นว่าทางที่ฉันเดินนั้นดี เราสามารถพบเจอคนเหล่านี้ได้ในหมู่นักปฏิบัติธรรมที่ช่ำชองการปฏิบัติธรรม เขาสามารถเข้าใจศัพท์ ภาษาบาลี ข้อธรรมต่างๆ สภาวธรรมเบื้องต้นได้
ตัวเขาเองนั้นมักจะไม่ได้แสดงอาการทุกข์ใจให้คนอื่นเห็นมากนัก เพราะเข้าใจไปว่าไม่เป็นทุกข์หรือทุกข์น้อยแล้วก็เลยกดไว้ ปิดบังไว้ แต่มักจะสร้างทุกข์ให้คนอื่นด้วยกฎระเบียบ แนวคิด ทิฏฐิที่ตัวเองได้เรียนรู้มา เช่น พระท่านว่ามาแบบนี้ ถ้าทำอย่างนั้นจะบาป ถ้าทำอย่างนี้จะบาป ถ้าทำแบบนั้นจะบุญ ต้องทำแบบที่ฉันทำนี่สิดี ได้บุญเยอะบรรลุธรรมง่ายกลายเป็นคนดีที่ชอบปราบคนไม่ดี ชอบปราบคนชั่ว ซึ่งก็ยังชั่วอยู่นั่นเอง
ในสังคมทุกวันนี้จึงมีจอมยุทธ์นักปฏิบัติธรรมเต็มไปหมด เป็นจอมยุทธ์ที่ฟาดฟันกันด้วยอัตตามานะ ซึ่งสร้างจากความรู้ความเข้าใจที่ได้ร่ำเรียนมาในแต่ละสำนัก เชิดชูสำนักตัวเอง คอยทำลายสำนักอื่นๆ ล่าบริวาร ล่าลาภ ยศ สรรเสริญและมักสร้างกรอบว่าใครไม่คิดเหมือนฉันคนนั้นผิด ใครไม่ปฏิบัติเหมือนฉัน ฉันไม่คบคนนั้น ใครจะปฏิบัติได้ดีเหมือนฉันนั้นไม่มีสำนักไหนหรือใครจะปฏิบัติอย่างไรฉันไม่รู้ ฉันมีแนวทางของฉันเอง ครูบาอาจารย์ฉันสอนมาแบบนี้ ใครอย่ามาเปลี่ยนฉันเสียให้ยาก ….ก็หลงมัวเมาในอัตตากันต่อไป
และบางคนก็ถึงกับหลงผิดว่าตนเป็นผู้บรรลุธรรมไปเลย เปิดสำนักหลอกลวงคนมาทำบุญ สุดท้ายเมาลาภ เมากาม เมาสรรเสริญ เมาอัตตา ยิ่งเสพยิ่งติด เมื่อต้องการเสพมากขึ้นก็มักจะไม่ระวังตัว พอเรื่องแตก กลายเป็นข่าวใหญ่ ก็วงแตกหนีกันแทบไม่ทัน เหล่าญาติโยมผู้หลงผิดบ้างก็ยังหลงมัวเมาไม่จบไม่สิ้น บ้างก็ตาสว่าง ก็แล้วแต่บาปบุญของใคร
คนที่หลงคิดไปเองว่าตัวเองหายป่วย หลงคิดไปเองว่ามีจิตใจที่ไม่ทุกข์ หรือหลงคิดไปเองว่าตัวเองบรรลุธรรม คนเหล่านี้แหละ คือคนที่ทำลายศาสนาอย่างแท้จริง เพราะตัวเองก็ไม่ได้รู้จริงเรื่องการฆ่ากิเลส แต่กลับมาสอนคนอื่น ซึ่งสอนไปก็สอนผิดๆ ทำให้คนหลงมัวเมา ทำให้คำสอนของศาสนาเพี้ยน คนปฏิบัติตามก็บรรลุธรรมแบบเพี้ยนๆตามกันไป แถมการไปสอนคนผิด และยังมีความคิดที่จะล่าบริวารเพื่อลาภยศเหล่านั้น ยังนำมาซึ่งวิบากกรรมหนัก เพราะแทนที่คนผู้มีทุกข์เหล่านั้นจะได้ไปพบกับครูบาอาจารย์ที่ถูกที่ตรง กลับต้องมาเสียเวลา เสียทรัพย์ เสียสติให้กับคนที่หลงคิดว่าตัวเองหายป่วย
วิธีสังเกตคนที่หลงว่าตัวเองบรรลุธรรมก็ลองไล่ถามดูว่า ทำอย่างนี้ทำอย่างนั้นแล้วมันจะบรรลุธรรมอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร กิเลสลดอย่างไร ในคนที่มีธรรมไม่จริงก็มักจะพูดวนๆ พูดเป็นข้อธรรม พูดเป็นหลักกำกวม ตีความได้หลากหลาย พอไล่เข้าหนักๆ จนเริ่มจนมุม ก็จะเริ่มโกรธ หรือทำเป็นโกรธ เปลี่ยนประเด็น ไล่ให้ไปทำเอง ให้ไปปฏิบัติมาก่อน ส่วนใหญ่ก็เก่งเพราะฟังเขามาซึ่งตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จริงๆแล้วทำอย่างไร พอรู้ไม่จริงก็เลยตอบไม่ได้ ส่วนคนที่ปฏิบัติได้จริงเขาก็จะพูดได้เป็นลำดับ ชัดเจน ไม่เขิน ไม่ประหม่า ไม่โกรธ แม้คนอื่นจะไม่เข้าใจ เพราะเข้าใจว่าก็เป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะเข้าใจ แต่ก็ยินดีที่จะพูด โดยไม่ปิดบัง ซ่อนเร้น เชิญให้มาพิสูจน์ได้
5.คนป่วยที่สามารถปรุงยารักษาตัวเองได้
เป็นคนที่รู้จักทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้ถึงการดับทุกข์ และรู้วิธีการปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์นั้นๆ เป็นคนป่วยที่สามารถสร้างยารักษาอาการป่วยทางจิตใจของตัวเองได้ ทำลายทุกข์ที่เกิดในตัวเองได้ ทำลายเหตุแห่งทุกข์หรือกิเลสของตัวเองได้
ทั้งนี้ก็เกิดจากเขาได้พบกับหมอ หรือครูบาอาจารย์ผู้รู้จริงเรื่องการดับทุกข์ คนที่รู้จริงเท่านั้นที่จะสามารถสอนเรื่องการดับทุกข์ได้ ถ้าเราได้พบท่านเหล่านี้ ได้ฟังสัจธรรมจากท่าน จนเกิดศรัทธา จึงทำใจไว้ในใจโดยแยบคาย เกิดสติสัมปชัญญะ เกิดสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จนเกิดสติปัฏฐาน เจริญขึ้นสู่โพชฌงค์ นำไปสู่วิชชาและวิมุตติในที่สุด
…การตรวจสอบว่าตนเองป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร
วิธีที่ง่ายที่สุดในการตรวจสอบว่าเราเองนั้นป่วย หรือหายป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ก็คือการตั้งศีล การตั้งศีลจะทำให้เราเห็นกิเลสหรือเห็นเหตุแห่งทุกข์ชัดเจนขึ้น คนถือศีลเมื่อมีกิเลสขึ้นมาก็จะร้อนใจเปรียบเหมือนดังผีร้ายถูกด้ายสายสิญจน์ ยกตัวอย่างเช่น เราถือศีลข้อ๑ ไม่ฆ่าสัตว์ ยุงมากัด เราก็อยากจะตบ แต่ถือศีลจึงไม่ตบ หักห้ามใจไว้ แม้จะแค้นยุงโกรธยุง เจ็บปวดคันแค่ไหน จนสุดท้ายก็ถือศีลไปจนกระทั่งล้างความแค้นความอาฆาตยุงที่มากัด และเมตตายุงได้แม้ว่าจะถูกยุงรุมกัดอยู่ก็ตาม ศีลนี้เองคือตัวจับผี จับอาการป่วย จับกิเลส
ง่ายที่สุดก็ลองถือศีล ๕ แบบที่ชาวบ้านเข้าใจให้ได้ก่อน ถ้ารู้สึกว่าเราไม่ไปโกรธ ไม่โลก ไม่อยากเสพ ไม่อยากพูดโกหก ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดหยาบคาย ได้อย่างปกติสุข คือไม่ต้องคอยบังคับใจ ไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวปล่อยใจได้ตามสบาย ถึงแม้จะปล่อยใจตามสบายก็ไม่ได้ผิดศีลแม้แต่น้อย ก็ลองขยับมาศีล ๘ ศีล๑๐ซึ่งจะทำให้สามารถเห็นอาการป่วย หรืออาการของกิเลสที่ซ่อนเร้นอยู่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
หรือจะลองปฏิบัติศีลอื่นๆดูก็ได้เช่น การกินมังสวิรัติ ก็จะทำให้เห็นทุกข์ที่อยากกินเนื้อชัดเจน หรือการกินจืด ก็จะเห็นทุกข์ที่อยากเสพรสอร่อยชัดเจน หรือลองกินมื้อเดียวดู ก็จะเห็นทุกข์ของผู้หิวโหยชัดเจนยิ่งขึ้น
ศีลที่พระพุทธเจ้าให้มาเหล่านี้ คือศีลที่พาปฏิบัติไปสู่การบรรลุธรรม ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล คนใดไม่มีศีลก็ไม่มีปัญญา คนไม่มีปัญญาก็เลยไม่ถือศีล และพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า “ ศีลยอดเยี่ยมในโลก(สีลัง โลเก อนุตตรัง) ” คนผู้มีปัญญาย่อมศรัทธาในศีล ย่อมเคารพในศีล คนหมู่ใดถือเอาคนมีศีลเท่าเทียมกับคนไม่มีศีล ท่านให้พรากออกจากคนเหล่านั้น
เมื่อไม่ถือศีลก็ไม่รู้ว่าตัวเองไม่มีกิเลส ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย บางครั้งถึงกับหลงผิดว่าบรรลุธรรมจึงไม่ถือศีล ถ้าหากมีบุญ ไม่หลงผิดไปมาก ก็ลองถือศีลยากๆสักข้อ ก็จะได้เห็นกิเลสของตัวเองชัดเจน จะได้ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต
เมื่อเราถือศีลแล้วทุกข์มาก ก็คือเรามีกิเลสมาก ป่วยมาก แต่ถ้าเราถือศีลแล้วเราทุกข์น้อย ก็ให้ขยับฐานศีลให้ยากขึ้นจนกว่าจะเจอทุกข์ สุดท้ายไม่ว่าจะถือศีลอย่างไรก็ไม่เจอทุกข์เลย นั่นแหละคือเราหายป่วยแล้ว
– – – – – – – – – – – – – – –
20.9.2557
สรณะ..เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง
สรณะ…เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง
ในสังคมที่สับสนวุ่นวายทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีความสะดวกสบาย มากมายไปด้วยสิ่งบำรุงบำเรอกิเลส แต่มันก็ไม่เคยจะทำให้ใครมีความสุขได้อย่างยั่งยืน เพราะการสนองกิเลสนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้อย่างยั่งยืน แต่คนก็มักจะหลงมัวเมาไปพึ่ง ไปยึดว่าการสนองกิเลสนั้นดี ต้องใช้ชีวิตให้เต็มที่ สนองกิเลสให้เต็มที่ เพราะหลงผิดคิดไปว่าเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้ได้เสพสุขมากที่สุด
ความสุขจากกิเลสนั้นเหมือนความสุขลวงๆ เหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด สุขอยู่ได้ไม่นานแล้วก็หายไป แต่ทิ้งทุกข์ไว้ให้นานแสนนาน เหมือนกับนายทาสที่เอาของกินมาล่อมาเลี้ยงไว้ แล้วถึงเวลาใช้งานก็เอาแส้ฟาดให้เราลากของ ให้เราทำงาน ให้เราพาไปยังที่ที่เขาหมายเพียงเพื่อที่จะได้เสพเศษแห่งความสุขเพียงน้อยนิด
แต่โลกในยุคนี้ก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น ยังมีมหาบุรุษที่รู้ทุกอย่างในมหาจักรวาลที่บังเกิดขึ้นเมื่อกว่า ๒๖๐๐ ปีก่อนและส่งต่อคำสั่งสอนมาให้ ผ่านอริยสาวกของท่านจากรุ่นสู่รุ่น
แม้สังคมและชีวิตทุกวันนี้จะมีแต่ความทุกข์จากความสับสนวุ่นวาย แต่ถ้าเรายึดพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยึดพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยึดพระสงฆ์ อริยสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ชีวิตก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ เป็นไปในแนวทางที่ถูกที่ควร เป็นไปในทางลดการสะสมกิเลส เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน
ชาวพุทธที่จะมีปลายทางสู่การพ้นทุกข์ จะยึดพระรัตนไตร คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีสามสิ่งนี้เป็นที่พึ่งเท่านั้น ที่พึ่งอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่มี
การไปพึ่งพาสิ่งอื่นนั้นนอกจากจะไม่เกิดความสุขแล้วยังจะสร้างความทุกข์ความฉิบหายได้อีก บางคนมีวิบากกรรมที่ต้องไปเชื่อ ไปหลง ไปงมงาย ไปมัวเมา ในเดรัจฉานวิชา เช่น การทายใจ ทำนายฝัน ปลุกเสก หมอผี ดูดวง ดูฤกษ์ ดูโหงวเฮ้ง หมอดูต่างๆ การบนบาน ทำพิธีบวงสรวง รดน้ำมนต์ พยากรณ์ทำนายทายทักต่างๆ และอื่นๆอีกมากมาย ( สามารถหาข้อมูลเพิ่มได้จากการศึกษามหาศีล ซึ่งเป็นศีลแบบกว้าง ครอบคลุมการเลี้ยงชีพ ไปจนถึงประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิต ที่เป็นไปในเชิงสังคม)
เดรัจฉานนั้นคือความโง่ เดรัจฉานวิชาก็คือวิชาที่คนโง่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้หลอกคนโง่กว่าอีกที ก็หลงโง่กันไปทั้งคนใช้คนเสพ…
คนที่ไปพึ่งพาสิ่งที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้น จะไม่มีทางพ้นทุกข์ เพราะยังหลงอยู่กับสิ่งมัวเมาในระดับหยาบ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่ทางสู่ความเจริญ ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ยิ่งไปพึ่งพาก็ยิ่งจะพาให้ทุกข์ แต่ผู้มีวิบากบาปก็จะมองไม่เห็น ไม่เข้าใจ และหลงมัวเมาอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ชาวพุทธผู้มีปัญญา พึงระลึกว่ามีเพียงพระรัตนไตรเท่านั้นเป็นที่พึ่ง แม้แต่เทพเจ้า ตำนาน หรือคำกล่าวอ้างใดๆ ก็ไม่ใช่ที่พึ่งทางใจของเรา
ผู้ที่ยังบูชา เทวดา เทพเจ้า หรือเทพต่างๆ อยู่นั้น คงยากที่จะพ้นทุกข์ ยกเว้นเสียแต่เทพเจ้าที่บูชาเคารพและยึดเป็นที่พึ่งนั้นจะเป็นอริยสาวกคือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ถ้าไม่จัดอยู่ในหมวดของพระรัตนไตร บูชาไป พึ่งพาไปก็มีแต่จะหลงทาง แต่ถึงจะบูชาถูกตรงแต่บูชาเพียงรูปคือขอแค่กราบไหว้ ขอแค่ได้เคารพ ขอแค่ได้ร่วมบุญ ขอแค่มีที่ระลึกติดไว้ที่บ้าน นั้นก็เป็นเพียงความเข้าใจที่ยังตื้นเขินนักไม่ทำให้พ้นทุกข์อีกเหมือนกันเพราะไม่ได้นำมาปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าในยุคของเรานี้มีพระโคดมพระองค์เดียว และท่านก็ได้ตรัสไว้ว่า ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี ประกอบกับธรรมในข้อ วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย ผู้ที่ยังไม่มั่นใจก็จะลังเลสงสัย จะเหมารวมว่าศาสนาอื่นๆก็ปฏิบัติได้เหมือนกัน เข้าใจว่าทำให้พ้นทุกข์ได้เหมือนกัน เข้าใจว่าทางพ้นทุกข์มีหลายทาง… แต่ในความเป็นจริงคือ การพ้นทุกข์ในระดับการดับกิเลสนั้น มีในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น ลัทธิอื่นนอกศาสนาพุทธไม่มี
ทีนี้เราก็มักจะเข้าใจตามที่คนอื่นว่า ท่านนี้ท่านนั้นเป็นอรหันต์บ้างละ ตำนานเขาว่ากันอย่างนั้นบ้างละ มีหลักฐานว่าอย่างนั้นบ้างละ แต่จริงๆคือเราเชื่อตามเขาเท่านั้น เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณสมบัติของพระอริยะมีอะไรบ้าง ถึงจะรู้ก็ดูไม่ออกอยู่ดี แต่ก็มีที่เขาว่าหลงเข้าใจผิดว่าตนเองบรรลุธรรมก็มีมากเหมือนกัน เอาเป็นว่าถ้าเราไปเชื่อตามเขากล่าวอ้างกันมานั้นก็คงจะไม่ดีแน่ เรื่องนี้เรายกไว้ก่อนจะดีกว่ารอดูไปก่อนจะดีกว่า อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขากล่าวอ้าง อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขาเป็นครูบาอาจารย์ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคนเขาพูดกันมา สังคมเขาเชื่อกันมา ให้ลองดูก่อน ลองนำแนวทางคำสั่งสอนมาปฏิบัติดู ถ้าชีวิตไม่ดีขึ้น ทุกข์หนักขึ้นก็ให้ถอยออกมา แต่ถ้านำคำสั่งสอนมาปฏิบัติแล้วชีวิตดีขึ้น ตัวเราและคนรอบข้างเป็นสุขมากขึ้น ความยึดมั่นถือมั่นน้อยลง ความอยากได้อยากมีน้อยลง ก็ให้ปฏิบัติตามต่อไปเรื่อยๆ
การยึดพระรัตนไตรเป็นสรณะ…
ในอีกแง่มุมหนึ่งของการยึดพระรัตนไตรเป็นที่พึ่งพา ที่อาศัย คือการทำตัวเองให้ความเป็นในสิ่งนั้นๆ คือการเรียนรู้ธรรม (ปริยัติ) การปฏิบัติธรรม(ปฏิบัติ) จนกระทั่งเกิดภาวะที่สามารถเข้าใจถึงธรรมนั้นๆได้อย่างถ่องแท้ (ปฏิเวธ) เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดังนั้นสุดท้ายการพึ่งพระรัตนไตรก็ต้องน้อมเข้ามาสู่ตัวเอง
เราจะไม่รอให้ใครหรืออะไรมาดลบันดาลความสุขให้ เราไม่รอให้วิบากกรรมส่งผลให้เราทุกข์เกินทนจนเลิกทำชั่ว แต่เราจะพาตัวเองให้พ้นทุกข์เอง โดยการศึกษาพระธรรม ควบคู่ไปกับการปฏิบัติ คือการลด ละ เลิก การยึดมั่นถือมั่นกิเลสเป็นของตน จนกว่าจะถึงสภาพของการหลุดพ้นจากกิเลส เบื่อหน่ายคลายจากกิเลส มีปัญญารู้แจ้งถึงกิเลสนั้นๆ รู้ไปจนถึงว่ากิเลสนั้นดับสนิทแล้ว
เมื่อยึดพระรัตนไตรมาสู่ตนเองอย่างแท้จริงแล้ว ก็เหมือนว่าเส้นทางชีวิตของเราจะถูกขีดไว้ให้เดินไปแต่ในทางเจริญทางด้านจิตใจ แม้ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างคนปกติทั่วไป ทำงานออฟฟิศ มีธุรกิจส่วนตัว ไม่ว่าจะมีวิถีชีวิตแบบใด ถ้ามีการนำพระรัตนไตรเป็นที่พึ่งเป็นที่ยึดอาศัยแล้ว เราก็จะมีโอกาสเข้าถึงความสุขแท้กันได้ทุกคน
– – – – – – – – – – – – – – –
8.9.2557
ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง
ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง
คงจะมีหลายครั้งหลายเหตุการณ์ในชีวิต ที่เราหมายมั่นตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อเราลงมือทำบางสิ่งลงไปแล้ว สิ่งนั้นจะเปลี่ยนแปลง พัฒนาไปตามที่เราคาดหวังไว้ แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น กลายเป็นเหมือนกับว่าเราพยายามที่ทำให้น้ำทะเลจืด พยายามทำไปอยู่อย่างนั้นโดยไม่เข้าใจความเป็นจริง…
อาจจะเพราะทำกรรมอะไรเอาไว้…
คงจะเหมือนกันกับตอนที่เรายังเป็นเด็ก พ่อแม่ของสอนสั่ง แนะนำสิ่งที่ดีให้กับเรา แต่เราก็ยังจะดื้อ ไม่ทำตาม ไม่เชื่อฟังในสิ่งที่ดี ก็จะเอาแต่สิ่งที่กิเลสของตัวเองต้องการ จนถึงเวลาที่ผลของกรรมสุกงอม เราจึงได้รับผลของกรรมนั้น พ่อแม่อาจจะไม่ได้มาดื้อกับเราเหมือนที่เราไปดื้อกับท่านก็ได้ แต่อาจจะส่งคนบางคน สิ่งบางสิ่ง เหตุการณ์บางเหตุการณ์ ที่ทำให้เราต้องทุกข์กับความดื้อรั้น เอาแต่ใจของสิ่งๆนั้น ซึ่งอาจจะมาในรูปของ คนในครอบครัว คนรัก เพื่อน ลูกน้อง สิ่งของ หรือเหตุการณ์อื่นๆก็ได้เหมือนกัน เป็นอะไรก็ได้ เดาไปก็ไม่ถูก แต่เมื่อเวลาถูกกระทำกลับก็จะสามารถรับรู้ได้ด้วยตัวเองได้บ้าง
ขึ้นชื่อว่ากรรมแล้ว ไม่มีทางผ่านพ้นไปโดยที่เราไม่ได้รับผลนั้นอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าชาตินี้เราไปทำกับใครไว้ ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะไม่ได้รับ เราได้สิทธิ์นั้นแน่นอน แล้วกรรมเขายังใจดีแบ่งให้เรารับไปในชาติหน้า และชาติอื่นๆสืบไปด้วย จึงเรียกได้ว่า การทำกรรมดีหรือกรรมชั่วครั้งเดียว ก็สามารถนอนรอรับผลกันได้จนคุ้มข้ามชาติกันเลย
ในเวลาที่เหมาะสม กรรมก็จะดึงคู่เวรคู่กรรมของเราเข้ามา หรือที่ใครหลายๆคนอาจจะเรียกว่าเนื้อคู่ก็ได้ เป็นคนที่ทำให้เราสุขหรือทุกข์ได้รุนแรงกว่าคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น ในเหตุการณ์แบบเดียวกัน คนทั่วไปทำอะไรกับเราแบบหนึ่ง เราไม่ถือสา แต่พอเป็นคนนี้ทำกับเรา เรากลับถือสา คิดมาก ถ้าเป็นเชิงคู่รักที่เคยเสพสมกิเลสร่วมกันมา ก็จะมีลักษณะเป็นเหมือนเหตุการณ์ที่คนอื่นเขาจีบเราแทบตาย เราไม่สนใจ แต่คนนี้พูดไม่กี่ประโยค เรากลับหลงใหล ลักษณะแบบนี้แหละที่เรียกว่าตัวเวรตัวกรรม เจอแล้วก็ให้พึงระวังตั้งสติกันไว้ดีๆ เพราะกรรมจะลากเขาเหล่านั้นเข้ามาใช้เวรใช้กรรมด้วยกันต่อ อาจจะเป็นคนมาร่วมรัก คนที่ได้รักแค่ฝ่ายเดียว คนที่เข้ามารัก หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือคนใดๆที่มีจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตของเราก็ได้
กรรมส่วนหนึ่งก็มาจากกิเลสของเรานี่แหละ ด้วยความที่เราอยากจะสนองกิเลสของเรา ก็เลยไปทำสิ่งที่ไม่ถูกใจใครหลายๆคนไว้มาก เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม กรรมเหล่านั้นก็จะส่งผลมาเป็นเหตุการณ์ที่พาให้ขัดใจเรา ทำให้เราทุกข์ แต่เราก็ไม่สามารถหนีออกไปได้ เรายังต้องวนอยู่กับทุกข์เหล่านั้นโดยไม่เห็นทางออก แม้จะมีคนมาบอกแนะนำ เราก็จะไม่ฟัง ถึงฟังก็ไม่เข้าใจ จนบางครั้งพาลไปสร้างกรรมใหม่ ไม่พอใจคนที่หวังดี ไม่พอใจคนที่มาแนะนำทางออกให้เราด้วย ซึ่งเป็นธรรมดาของคนที่หลงในกิเลส เมื่อเวลาที่มีคนมาพูดขัดใจ ขัดกับกิเลสของเรา เราก็มักจะไม่พอใจ ไม่สนใจ ด้วยเหตุนั้นเราก็เลยต้องทนทุกข์ไปจนกว่าจะรับวิบากกรรมชุดนั้นหมด
กรรมที่เราได้รับนั้น เป็นเพียงภาพเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เราเห็นสิ่งที่เราได้ทำมา ที่เราเคยทำชั่วมาตั้งแต่ชาติไหนๆก็ตาม เป็นสิ่งที่เราต้องรับเพราะเราทำมา แต่โลกก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น เรายังสามารถทำกุศล เพื่อที่จะละลาย ลด บรรเทาอกุศล หรือความทุกข์ โทษ ภัย ที่เกิดขึ้นได้ …หากยังรู้สึกทุกข์ มืดมัว ปวดหัว หาทางไปไม่เจอ ก็ให้ทำดีมากๆ ทำดีไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาหมดวิบากกรรมชุดนั้นๆ ก็จะมีเหตุการณ์ที่พาหลุดจากสภาพนั้นเอง อาจจะเกิดปัญญาเข้าใจก็ได้ หรือเขาอาจจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ก็ได้ จะเป็นอะไรก็ได้ แต่จะพ้นจากสภาพของทุกข์ที่เคยแบกเอาไว้
ดังนั้นการล้างกรรมที่ดีที่สุด ก็คือการล้างกิเลส เพราะเมื่อเราหมดกิเลสนั้นๆ เราก็จะไม่สร้างวิบากบาปต่อไปอีก และกุศลยังสามารถไปละลายวิบากบาปที่เคยทำในอดีตให้เบาบางได้อีกด้วย เรียกว่าปิดประตูนรกกันไปเลย
เมื่อเราจมอยู่กับความคาดหวัง ฝนลมๆแล้งๆ….
ความคาดหวังกับความผิดหวังเป็นของคู่กัน คงเพราะเรามีความฝัน อุดมคติ ความมั่นใจ ความยึดดีถือดี ว่าสิ่งดีจะต้องเกิดเมื่อเราคิดดีพูดดีทำดี แต่ในความเป็นจริง ดีนั้นอาจจะไม่เกิดก็ได้ เมื่อดีไม่เกิดสมใจ คนติดดีก็เลยเป็นทุกข์ บางคนก็ถึงกับฝันลมๆแล้งๆ หลอกตัวเองไปวันๆว่าสิ่งที่ดีจะต้องเกิด โดยไม่ได้เข้าใจเหตุปัจจัยที่ทำให้ดีนั้นเกิด เหมือนคนที่เฝ้าฝันว่าวันหนึ่งจะสร้างชีวิตให้ยิ่งใหญ่ แต่ก็ยังมัวแต่นอนฝันอยู่บนเตียง
การที่เราไปเฝ้าฝันให้เขาหรือใครเปลี่ยนนั้น เป็นการเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากเรื่องกรรมที่ถูกที่ควร เพราะการที่เขาจะเปลี่ยนได้นั้น จะเกิดจากกรรมของเขาเอง ไม่ได้เกิดจากการที่เราคิดหวัง ฝันไป หรือจะไปบอกให้เขาแก้ไข ไปช่วยเขาแก้ไข โดยมีความคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าเขาจะแก้ไขเพราะเขาก็มีกรรมของเขา เขาก็เป็นอย่างนั้น เราจะอยากให้เขาเป็นอย่างที่เราหวัง เราก็จะผิดหวัง แล้วเราก็ทุกข์ เหมือนอย่างที่หลวงพ่อชาท่านได้สอนไว้ว่า เราอยากให้เป็ดมันเป็นไก่ มันก็ทุกข์ เพราะเป็ดมันก็เป็นเป็ด มันจะเป็นไก่ตามใจเราไปไม่ได้
จะไปแก้เขานี่มันยาก ลองกลับมาแก้ตัวเราก่อนดีไหม…
เมื่อเราไม่สามารถทำให้เขาเปลี่ยนแปลงได้ เราก็จะลองกลับมาแก้ตัวเองกันดู เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่ฝืนธรรมชาติ หรือฝืนกิเลสของตัวเองนั้น มันยากขนาดไหน เรามาลองปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆในชีวิตกันดู เช่น ตื่นให้เช้าขึ้น ,นอนให้พอดี ,ศึกษาแต่สาระหรือสิ่งที่มีประโยชน์ ,กินแต่สิ่งที่มีประโยชน์ , ทำงานบ้านเป็นประจำ, เลิกสิ่งฟุ่มเฟือย, เลิกสิ่งที่ทำให้หลงมึนเมา ในแบบหยาบๆ ก็คือ เหล้า เบียร์ ยาเสพติด ฯลฯ หรือจะขยับขึ้นมาก็เลิกหลงเมามายในสิ่งที่หลงอยู่เช่น ชอบฟังเพลง ชอบดูกีฬา ชอบเล่นพนันชอบดูละคร ชอบเที่ยวกลางคืน ชอบไปตระเวนกินของอร่อย บ้าดารา ฯลฯ,,,
ถ้ายังรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงโดยลดสิ่งไร้สาระพวกนี้มันง่ายไป ก็ลองถือศีล ๕ ดู และยกระดับของศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น ศีล ๘ ศีล ๑๐ ไปจนถึงนำจุลศีลบางข้อที่พอจะปฏิบัติได้มาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะศีลเหล่านี้เป็นไปเพื่อความสุข เพื่อการพ้นทุกข์ เป็นสิ่งที่ดีเลิศ เป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดที่สุดในโลก
แล้วเราก็จะเห็นว่า…เป็นอย่างไรล่ะ เราเองก็ยังเปลี่ยนแปลงไปทำสิ่งที่ดีไม่ได้เลย ถึงแม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ดี แต่ความคิดหรือกิเลสข้างในมันจะค้านแย้งตลอดเวลา มีหลายๆเหตุผลที่เราจะไม่ยอมทำดี เช่น ก็แค่อยากเป็นคนธรรมดาที่มีความสุข , ไม่ได้เคร่งขนาดนั้น , แค่อยากมีชีวิตที่ดี ….ฯลฯ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั่นแหละ เป็นวิธีปฏิบัติสู่ชีวิตที่ดี ที่เราเองก็ทำไม่ได้แถมยังปฏิเสธ พร้อมทั้งหาเหตุผลมากมายที่จะไม่ทำดีเหมือนกัน
จะเห็นว่าการจะแก้ตัวเรานี่ยังทำได้ยากเลย จะทำตัวเราให้เป็นคนดีว่ายากแล้ว การไปแก้คนอื่นนั้นยากกว่า เพราะการจะไปแก้คนอื่นหรือไปสั่งสอน ไปแนะนำคนอื่นนั้น จำเป็นต้องทำตัวเองให้เรียนรู้และเข้าใจในเรื่องนั้นๆอย่างถ่องแท้เสียก่อน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน แล้วสอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง” เข้าใจกันง่ายๆว่า ทำตัวเองให้ได้ก่อนเถอะ แล้วค่อยไปสอนคนอื่น
เมื่อเห็นดังนี้แล้วว่า ต้องทำตัวเองให้ดีก่อน จึงจะสามารถช่วยคนอื่นได้ เราก็พยายามทำตัวให้ดี ลดอบายมุข หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสไปเรื่อยๆเมื่อเราทำดีมากๆ เวลามีคนที่เขามาทำสิ่งไม่ดีกับเรา เขาก็จะได้รับวิบากกรรมแรงกว่าทำสิ่งไม่ดีกับเราในสมัยเมื่อเรายังชั่วอยู่ เมื่อได้รับวิบากกรรมแรง ก็จะเกิดทุกข์แรง เมื่อเกิดทุกข์แรง ก็จะสามารถเข้าใจได้เร็ว ดังคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม”
ดังนั้น การที่เราพยายามทำดี ประพฤติตัวเป็นคนดี ก็เพื่อที่จะช่วยเขาทางอ้อม คือเร่งให้เขาได้รับ ทุกข์ โทษ ภัย จากการที่เขายังยึดมั่นในสิ่งไม่ดีให้เร็วขึ้น จะได้เห็นทุกข์ เข้าใจทุกข์ เลิกทำชั่วให้เกิดทุกข์ จะได้พ้นทุกข์ได้ไวขึ้น จากที่เคยต้องจมอยู่หลายปี ถ้าเราทำดีมากๆ เขาอาจจะหลุดจากสภาพดื้อรั้นนั้นได้ในเวลาไม่กี่เดือน โดยเฉพาะคนที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เช่น คนในครอบครัว คนรัก เพื่อนร่วมงาน คนที่มีความสัมพันธ์ในชีวิตกับเรามากๆ จะได้รับผลกระทบนี้โดยตรง
จนผู้ที่ได้ทดลองทำดีสามารถเห็นผลได้ด้วยตัวเองว่า เมื่อเราเปลี่ยน ทุกคนก็จะเปลี่ยนตาม โดยที่แทบจะไม่ต้องพูด บอกกล่าว ชี้แจง แถลง บังคับใดๆ กับคนเหล่านั้นเลย เขาจะเห็นดีตามเรา และเกิดศรัทธาจนเขาอาจจะทดลองที่จะเปลี่ยนตามเราดูบ้าง หรือในบางกรณี คนที่ร้ายกับเราก็อาจจะหลุดพ้นชีวิตเราไปเลยก็ได้ เพราะเราได้ใช้วิบากบาปที่ต้องมาทนใช้กรรมร่วมกันนั้นหมดไปแล้ว เมื่อเขาเองไม่คิดจะร่วมกุศลกับเรา เขาก็จะไปตามทางที่กิเลสเขาชี้นำ ในส่วนนี้ถ้าช่วยเขาได้ก็ช่วยไป ถ้าช่วยไม่ได้ก็ปล่อยเขาไป
แต่ถ้าเราคิดว่าเราทำดีแล้วไม่เกิดดี นั่นก็เพราะว่าเรายังทำดีไม่มากพอ ก็ให้พยายามทำดีไปเรื่อยๆ อย่าไปหวังผล วันหนึ่งจะพบการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเอง กรรมจะจัดสรรช่องให้เราออกไปพบสิ่งที่ดี มีสิ่งดีในชีวิตเข้ามา แม้แต่คนรอบข้างก็อาจจะเปลี่ยนไปเพราะพลังแห่งความดี หรือกุศลที่เราทำมานั่นเอง
หรือในอีกกรณีคือการทำดีที่ไม่เข้าใจถึงผลแห่งความดี คือทำดีในความเข้าใจที่โลกเข้าใจ แต่ผิดไปจากทางของพุทธ คือผิดสัมมาทิฏฐิ เมื่อผิดไปจากความคิดเห็น ความเข้าใจ ความเชื่อที่ถูกที่ควร ก็มีแต่จะพาไปนรกเท่านั้น กลายเป็นดีที่ทำไปนั้น ไม่ได้ดีตามจริง เพียงแค่เป็นดีที่เขาบอกกันมา แต่ไม่ใช่สาระแท้ ไม่ได้พาพ้นทุกข์ ไม่ได้พาลดกิเลส จึงมีกุศลเพียงน้อยนิด หรือบางทีก็อาจจะกลายเป็น “ทำบุญได้บาป” มาแทนก็เป็นได้
ดังนั้น ในเรื่องของความดี จำเป็นต้องศึกษาจากผู้รู้ มีเพื่อนที่คอยช่วยแนะนำในทางที่ถูกที่ควร เพราะความดีที่ถูกตามหลักของพุทธนั้น จะคิดเอาเองไม่ได้ เข้าใจเองไม่ได้ ต้องมีผู้รู้มีแสดงให้เห็นเท่านั้น เป็นสัจจะของพระพุทธเจ้าว่า ถ้าคนจะบรรลุธรรม หรือจะปฏิบัติชีวิตไปสู่การพ้นทุกข์ ต้องคบหาสัตบุรุษเสียก่อน สัตบุรุษก็คือบัณฑิตที่มีสัจจะแท้ มีธรรมนั้นๆในตัวเอง ปฏิบัติจนเข้าใจแจ่มแจ้ง รู้จริงเรื่องกิเลส เกิดปัญญารู้แจ้งในตัวเอง แล้วจึงสามารถถ่ายทอด สอน แนะนำ คนอื่นได้
– – – – – – – – – – – – – – –
31.8.2557