Tag: บรรลุธรรม
ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส
ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส
การตรวจสอบกิเลสตั้งแต่ในระดับ 1-4 ที่ผ่านมานั้น จะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าหากว่าเราขาด “ความจริงใจ”
ความจริงใจในที่นี้คือความจริงใจต่อตนเอง คือความจริง ที่เกิดขึ้นในใจ หรือการมองความจริงตามความเป็นจริงนั่นเอง ยอมรับความจริงว่าเกิดความอยากขึ้นในใจ มันอยากกินก็ยอมรับได้ มันอยากกินมากขึ้นก็ยอมรับได้ หรือความอยากกินมันลดลงไปก็รับรู้ได้
ความจริงใจคือคุณสมบัติที่จำเป็นมากในการเรียนรู้เรื่องของกิเลส เพราะกิเลสเป็นเรื่องภายในใจ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน จึงต้องอาศัยความจริงใจนี่แหละเป็นตัวที่จะเปิดเผยหน้าตาของกิเลสให้เราเห็น
…อัตตาบังความจริงใจ
สิ่งที่จะบดบังความจริงใจได้อย่างดีที่สุดก็คืออัตตาของเรานี่เอง เพราะในส่วนกามมันชัดเจนอยู่แล้วว่าเรายังกินเนื้อ แต่ถ้าเราเลิกกินเนื้อแล้วมันมักจะมีอัตตาก้อนใหญ่ติดมาด้วย
อัตตานั้นเกิดจากอะไร? การเกิดจากอัตตานั้นมักจะเกิดมาในระหว่างที่เราจะออกจากความชั่ว การออกจากชั่วเราต้องยึดดี เช่นในกรณีของการจะมากินมังสวิรัติเราต้องเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งชั่ว เป็นสิ่งที่เบียดเบียน ไม่เมตตา ฯลฯ จึงจะสามารถทำให้เราออกจากชั่วได้สบายใจ นั่นหมายถึงย้ายอัตตาจากฝั่งกินเนื้อมาฝั่งเกลียดการกินเนื้อ เพียงแค่ย้ายฝั่งของอัตตาเท่านั้นแต่อัตตาก็ยังอยู่กับเราไม่ไปไหน
ทีนี้ถ้ามีคนมาถามกับเราว่า “ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม” ด้วยความยึดดีของเรา จะตอบเขาได้ในกรณีเดียวว่าไม่อยาก แต่ในใจนั้นอยากหรือไม่อยากก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าตอบว่า “อยาก” ไม่ได้ เพราะความยึดดีมันมีมาก เราจะไม่ยอมเปิดใจไม่ยอมมองไปที่ความอยาก เพราะความชั่วความไม่ดีของการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ เราจึงใช้อัตตานี้เองบังความจริงที่เกิดขึ้นในใจไว้
ความจริงว่ากิเลสหรือความอยากยังอยู่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย แม้จะกินมังสวิรัติได้เป็นสิบยี่สิบปีก็ไม่ได้มีความหมายอะไรในเชิงของโลกุตระ เป็นเพียงแค่การสร้างกุศลโลกียะเท่านั้น เป็นความดีแบบโลกๆ ซึ่งเรื่องของการล้างกิเลสเป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการกินมังสวิรัติ แต่การกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุกนั้นเป็นผลจากการล้างความอยากในเนื้อสัตว์
ดังนั้นอัตตาที่เรามีนี่เองที่จะกั้นไม่ให้เราเข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจธรรม แม้เราจะกินมังสวิรัติได้ทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้เรื่องกิเลสอย่างถ่องแท้ เพราะไม่เคยเปิดใจยอมรับความอยากด้วยความจริงใจ
…สมถะวิธีกับการดับโดยอัตโนมัติ
สมถะวิธีนั้นเป็น วิธีการกินมังสวิรัติที่ใช้กันเป็นสากล การทำสมถะไม่ใช่แค่การนั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่หมายถึงการกดข่มจิตให้เข้าไปอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่นเรา ถือกรรมฐานว่า เนื้อสัตว์ไม่ดี มังสวิรัติดี เนื้อสัตว์เบียดเบียน ไม่เมตตา ทำร้ายสัตว์ โหดร้าย ทารุณ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นตรรกะ เป็นความรู้ เป็นเหตุผล ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกดข่มความชั่วหรืออาการอยากกินเนื้อสัตว์ไปได้ ลักษณะเหล่านี้เองคือการกดข่มด้วยสมถะ
เช่นเราไปกินข้าวกับเพื่อน เพื่อนสั่งเนื้อสัตว์มา เป็นเนื้อย่าง กลิ่นหอมน่ากิน ด้วยจิตใจที่เราฝึกกดข่มไว้มากแล้ว ทันทีที่เห็นเนื้อสัตว์เราจะสร้างความรังเกียจขึ้นมา สร้างความรู้สึกเหม็นเมื่อได้กลิ่น สร้างความรู้สึกว่ามันชั่วร้ายเบียดเบียนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ กระบวนการเหล่านี้ผู้ที่ฝึกสติมาน้อยจะไม่รู้ตัว บางครั้งจะหลงไปด้วยว่ามีสติ
ลักษณะของความคิดอัตโนมัติเหล่านั้นเกิดจากเรามีสัญญาว่าเนื้อสัตว์ไม่ดี พอเห็นเนื้อสัตว์ก็ปรุงแต่งความคิดขึ้นมาทันทีว่ามันไม่ดีอย่างนั้น ชั่วอย่างนั้น เบียดเบียนอย่างนั้น เราจึงสามารถ “ตัด” หรือ “กดข่ม” ความอยากที่เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ เป็นปกติ ทำได้โดยไม่รู้ตัว ทำได้อย่างธรรมชาติ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นเพียงวิธีที่ทำให้ความอยากสงบลงได้แต่ไม่สามารถทำให้ความอยากตายหรือสลายหายไปได้
…ความหลงผิดในสมถะวิธี
เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากจริงๆ หากจะต้องบอกว่าการกินมังสวิรัติโดยปกติทั่วไปส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้สมถะวิธี การบอกกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อการข่มหรือต้องการอวดโอ้แต่อย่างใด แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่ามันเป็นแค่วิธีหนึ่งในการกดข่มความชั่วเท่านั้น และวิธีเหล่านี้ไม่สามารถกดข่มได้ตลอดไป ถึงแม้ว่ามันจะเข้าใจง่ายและปฏิบัติได้ง่ายแต่ก็ไม่ใช่วิธีการล้างกิเลสแต่อย่างใด
สมถะวิธีกับการล้างกิเลสหรือที่เรียกว่าวิปัสสนานั้นเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อวิธีการต่างกันผลที่ได้ก็จะต่างกันไปด้วย แต่เป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเพราะผลที่เห็นได้ด้วยตาจะออกมาคล้ายๆกัน สุดท้ายแล้วไม่ว่าคนที่ใช้สมถะหรือวิปัสสนาก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกัน คนทั่วไปก็จะมองและแยกออกได้ยากมาก
แต่ผลทางจิตใจของสมถะกับวิปัสสนาจะต่างกันออกไป เหมือนกับว่าทั้งสองวิธีถึงเป้าหมายเหมือนกันคือกินมังสวิรัติได้ตลอดแต่สภาพของจิตใจนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง การกดข่มด้วยสมถะวิธีจะทำให้เกิดความไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย อึดอัด กดดัน บีบคั้น ขุ่นมัว ลักษณะเหล่านี้ถ้าไม่สังเกตให้ดีหรือไม่ได้มีญาณปัญญาตรวจวัดก็จะไม่สามารถรับรู้ได้เลย นักมังสวิรัติที่ใช้สมถะวิธีจะบอกว่าชีวิตตนเองดีมีความสุข ทั้งหมดนี้เพราะอัตตามันมาบังไว้ มันจะตอบได้แบบเดียวคือมีความสุข เพราะอัตตามันสั่งให้คิดแบบนั้น ให้เชื่อมั่นแบบนั้น
สิ่งที่ต่างออกไปทางด้านผลของวิปัสสนาที่อยู่ในระดับผลสำเร็จก็คือ ความโปร่ง โล่ง เบาสบาย มีจิตผ่องใส ผุดผ่อง โดยเฉพาะความแววไว ไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ใช้สมถะวิธีคือมีรูปแบบ ยึดมั่นถือมั่น อึดอัด กดดัน แข็ง ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์ ยอมหักไม่ยอมงอ
เพราะสมถะวิธีนั้นจะใช้วิธีในการเร่งอัตตาฝ่ายยึดดี ให้ยึดมั่นในความดี สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนติดดี ติดดีทั้งๆที่ยังมีกามอยู่นั่นแหละ คือยังมีความอยากอยู่ สรุปแล้วความอยากก็ไม่ได้ล้างแถมยังติดดีอีก นี่คืออันตรายของความหลงยึดในสมถะวิธี
ผู้ที่ใช้สมถะวิธีจะเข้าใจว่าทุกอย่างจบที่การกินมังสวิรัติได้ และสร้างอัตตามาครอบไว้ว่าฉันสำเร็จแล้ว ฉันทำได้แล้ว แล้วยึดมั่นปักมั่นตัวเองไว้ที่จุดที่ตนเองนั้นคิดว่าดี สรุปก็คือสามารถกินมังสวิรัติได้แต่ก็มีอัตตาก้อนใหญ่เพิ่มมาด้วย
…หลงผิดกลับไปกินเนื้อสัตว์
มีผู้ที่ใช้สมถะวิธีจำนวนหนึ่ง ที่หันกลับไปกินเนื้อสัตว์ ตามที่เราได้รู้แล้วว่าสมถะวิธีนั้นคือการกดข่มความชั่ว เชิดชูความดี แต่กิเลสที่มีมันไม่ตาย ทีนี้วันหนึ่งกิเลสก็สะสมกำลังไปเรื่อยๆจนฝ่าด่านมังสวิรัติได้
ผู้ที่ใช้สมถะวิธีในการกินมังสวิรัติจะไม่สามารถทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อกิเลสกำเริบจึงกลับไปกินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี และมักหลงไปว่านี่แหละคือความพอดี ไม่ทรมาน ไม่ลำบากตัวเองจนเกินไป เข้าใจผิดว่าเป็นทางสายกลาง แล้วก็ปักมั่นอยู่ที่ตรงนั้น ยึดดีอยู่แบบนั้น หลงว่าภาวะนั้นแหละคือการบรรลุธรรม ทั้งๆที่เป็นเพียงสภาวะของการตึงเกินไปแล้วปรับมาหย่อนเท่านั้นเอง เป็นเพียงระหว่างทางที่ไกลแสนไกลสู่เป้าหมายที่เรียกว่าการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์
แต่ผู้หลงผิดจะมีความเชื่อความเข้าใจว่าเขาเหล่านั้นถึงเป้าหมายแล้ว ทั้งๆที่ยังเดินมาไม่ถึงครึ่งทางก็ปักมั่นที่ตรงนั้นเป็นจุดหมายแล้วไม่เดินทางต่อ กลับไปเสพกาม คือกลับไปกินเนื้อสัตว์ พร้อมกับอัตตาก้อนใหญ่อีกก้อนว่าต้องแบบนี้สิถึงจะพอดี ถึงจะเป็นทางสายกลาง
นี้เองคือลักษณะของผู้หลงผิดว่าบรรลุธรรม ซึ่งในความจริงแล้วจะค่อนข้างตกต่ำกว่าคนธรรมดาที่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เพราะคนที่กินเนื้อสัตว์ทั่วไปยังไม่ได้ปักมั่นว่านี่คือทางบรรลุธรรมหรือทางสายกลางอะไร คนกินเนื้อเขาก็รู้และเข้าใจว่าเนื้อเบียดเบียน แต่ก็ห้ามความอยากไม่ได้ แต่คนที่หลงผิดนี่จะกินเนื้อสัตว์ไปด้วยอัตตาที่หลงผิดยึดติดเข้าไปอีก ทำให้ต้องอยู่กับความหลงนั้นอีกนานแสนนาน
…มังสวิรัติกับศาสนาพุทธ
การตั้งกลุ่มมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น ตั้งมาเพื่อการศึกษาเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึก ไม่ใช่เพื่อการกินมังสวิรัติโดยตรง การกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องเป็นพุทธก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ หรือไม่มีศาสนา ก็สามารถกินมังสวิรัติหรือเลิกกินเนื้อสัตว์ได้
ดังนั้นศาสนาจึงไม่มีผลต่อความสามารถในการเลิกกินเนื้อสัตว์เลย เพียงแค่ใช้สามัญสำนึกของมนุษย์ทั่วไปก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว เพราะมนุษย์มีความยึดดี ถือดี มีจิตใจดี เมตตา สงสาร เพียงใช้ข้อมูลที่เผยแพร่โดยทั่วไปเกี่ยวกับการทรมานสัตว์ ข้อมูลทางสุขภาพ หรือภาพที่กดดันทางจิตวิญญาณ ก็สามารถทำให้คนหันมากินมังสวิรัติได้โดยไม่ต้องไปโยงเรื่องศาสนาให้มันลำบาก
ทุกวันนี้ศาสนาถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมืออ้างอิงถึงความดี เพื่อให้คนหันมากินมังสวิรัติเท่านั้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ยังอยู่ในลักษณะของสมถะวิธี คือใช้ข้อมูล ใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้ความดี มากดข่มความชั่ว หากถามว่าดีไหม? ก็ตอบได้ว่าดีเยี่ยม แต่ก็ยังไม่ดีที่สุดเท่านั้นเอง
ศาสนาพุทธนั้นไม่ใช่ศาสนาที่เน้นสมถะวิธี แต่ก็มีการใช้สมถะวิธีเป็นเครื่องมืออยู่บ้าง ในส่วนสิ่งที่เน้นก็คือการทำลายกิเลส โดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติ ซึ่งจะประกอบด้วยธรรมะย่อยๆอีกมากมาย ซึ่งในทำลายกิเลสนี้จำเป็นต้องเห็นตัวตนของกิเลสเสียก่อน การเห็นกิเลสนั้นจะต้องค้นให้เจอเหตุแห่งทุกข์ จากที่สุดแห่งทุกข์ ในกรณีของการเข้าถึงมังสวิรัติอย่างผาสุกก็คือการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์
ความอยากกินเนื้อสัตว์นี้เป็นคือรากที่ควรใช้เพื่อพิจารณากิเลส เพราะไม่ตื้นเกินไปเหมือนการใช้เมตตาหรือใช้ความดี และไม่ลึกเกินไปเหมือนกับการจะไปพิจารณาอวิชชาตั้งแต่แรก คือมีความเหมาะสมพอดีในการเริ่มต้น ส่วนหนึ่งเพราะ “ความอยาก” เป็นสาเหตุที่แท้จริงในการพาเราให้ไปกินเนื้อสัตว์ ส่วนเราจะสามารถขยายหรือขุดค้นเหตุอื่นๆที่ซ้ำซ้อนกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำต่อไป
ดังนั้นหากไม่ได้เริ่มต้นที่ “ความอยาก” ก็ไม่มีวันที่จะทำลายกิเลสได้ หากไม่หยุดชั่วก็ไม่มีวันที่จะเกิดความดีที่แท้จริง ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้เน้นการทำดีเท่ากับการหยุดทำชั่ว เพราะรู้ดีว่าการหยุดชั่วแล้วก็จะเกิดผลดีขึ้นเองไม่น้อยก็มาก
…ความจริงใจคือคุณสมบัติสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน
การจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขนั้น จึงจำเป็นต้องเพ่งเล็งไปที่การทำลาย “ความอยาก” ด้วย “ความจริงใจ” ในทุกๆขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม ก็จะสามารถข้ามผ่านความอยากไปได้ในวันใดวันหนึ่ง
หากผู้ที่มองว่าเพียงเมตตาแล้วสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขก็แล้วแต่จะพิจารณา แต่จะสรุปไว้ตรงนี้เพียงแค่ว่า มังสวิรัติทั่วโลกก็ใช้ความเมตตาหรือความดีนี่แหละในการเข้าถึงการเป็นมังสวิรัติ แต่ศาสนาพุทธจะทำลายกิเลสหรือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ และสุดท้ายเมื่อไม่มีความอยากก็เลยกลายเป็นมังสวิรัติไปเองโดยไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องบังคับตัวเอง ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องทรมาน และไม่ต้องมีอัตตาไว้ยึดให้มันหนัก
สุดท้ายนี้หากผู้ใดอยากลองเห็นความอยาก ก็ลองดูตัวเองอย่างจริงใจ ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจโดยไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวเองไปตามธรรมชาติและรับรู้ด้วยสัญชาติญาณแบบซื่อๆว่ายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม ไม่ต้องมีความดี ไม่มีความชั่ว มีเพียงเรากับเนื้อสัตว์ตรงหน้าเท่านั้น เราจะยังอยากกินอยู่ไหม เราจะรู้สึกอะไรกับเนื้อสัตว์เหล่านั้นไหม เราจะเป็นอย่างไร
ก็ขอเชิญให้ทบทวนในการตรวจระดับ 1-4 ที่มีมาก่อนหน้านี้อีกครั้ง เพื่อให้เห็นกิเลสในตนเองอย่างแท้จริง เพื่อที่จะเริ่มต้นกันใหม่กับการล้างกิเลสอย่างแท้จริง
ติดตามต่อได้ที่
Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)
อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา
อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา
หลังจากที่เราได้ผ่านการทดสอบจิตใจตัวเองตั้งแต่ระดับ 1-3 มาแล้ว ก็ยังเหลือการทดสอบอีกขั้นหนึ่งซึ่งเรียกว่าการตรวจเวทนา ๑๐๘ ซึ่งจะขออธิบายโดยย่อสำหรับการตรวจกิเลสในระดับนี้
การตรวจเวทนา ๑๐๘ เป็นการตรวจสภาวะ ทุกข์ สุข เฉยๆ ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ต่างกันสองแบบคือแบบเคหสิตะหรือแบบชาวบ้าน และแบบเนกขัมมะหรือแบบนักบวช โดยตรวจผ่านสามช่วงเวลาคืออดีต อนาคต และปัจจุบัน
อธิบายกันให้ง่ายขึ้นคือการที่เรานึกย้อนไปในอดีตในสิ่งที่เราเคยยึดติด เคยชอบใจ เคยถูกใจแล้วเรายังเหลือสุข ทุกข์อยู่อีกไหม และนึกไปถึงอนาคตต่อว่าถ้าเราได้เสพสิ่งนั้นสิ่งนี้เราจะเป็นสุขอยู่ไหม ถ้าเราไม่ได้เสพเราจะเป็นทุกข์ไหม นี่คือลักษณะของการตรวจเวทนาในอดีตและอนาคต
เมื่อเราคิดถึงอดีตและอนาคต สภาวะของความสุข ทุกข์ เฉยๆ จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่นเราคิดถึงเมนูที่เราชอบในอดีต เราก็ไม่ได้กินในปัจจุบันนะ แต่น้ำลายมันอาจจะไหล มันเกิดความอยากขึ้นในปัจจุบัน ในอนาคตก็เช่นกันหากเราคิดถึงเมนูอาหารที่เราติดยึดมากๆ อาจจะทำให้เรามีน้ำลายไหล เกิดอาการอยากกินขึ้นในปัจจุบันนี้เลย
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นของจริง สุข ทุกข์ที่เกิดนั้นเป็นของจริง ไม่ใช่สิ่งลวง เป็นกิเลสจริงๆที่แสดงตัวออกมา แม้จะคิดย้อนไปในอดีตหรือจินตนาการไปในอนาคตแต่สุข ทุกข์ เฉยๆที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน
1.1) วิธีการตรวจอดีต
จากที่ยกตัวอย่างมา เราก็สามารถคิดย้อนไปในเหตุการณ์ต่างๆสมัยที่เรายังกินเนื้อสัตว์ เมนูที่เคยชอบ เหตุการณ์ที่เคยกินต่างๆ ทุกเมนูเนื้อสัตว์ที่เคยอยู่ในความทรงจำ เราก็คิดถึงมันและตรวจอาการตัวเองด้วยสติปัฏฐาน ๔ ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็จะมีอาการเกิดขึ้นเอง เช่นตอนนี้เราเลิกเนื้อสัตว์ได้ 100% แล้วนะ แต่พอคิดย้อนไปถึงตอนกินหมูกระทะกับเพื่อนแล้วมันน้ำลายไหล พอคิดไปถึงเนื้อสัตว์ที่จิ้มน้ำจิ้มเข้าปากแล้วมันก็ยังรู้สึกมีความสุข อันนี้ก็ถือว่ายังมีกิเลสซ่อนอยู่ พอเห็นกิเลสเราก็ใช้สติปัฏฐาน ๔ นี่แหละเป็นตัวพิจารณาหาสาเหตุของกิเลสนั้นๆต่อไป
1.2) วิธีการตรวจอนาคต
ในอนาคตก็จะคล้ายๆอดีต แต่จำเป็นต้องใช้การจินตนาการออกไปล่วงหน้าโดยใช้ข้อมูลในอดีตหรือหาใหม่ในปัจจุบันเป็นวัตถุดิบในการปรุงแต่ง เช่นเราไปดูกระทู้พาชิมอาหาร เราจะได้ข้อมูลในปัจจุบัน หากปัจจุบันมีอาการสุขขึ้นมาจากการได้เห็นเมนูเนื้อสัตว์ก็พิจารณาหากิเลสไป แต่หากยังไม่เจอเราก็ใช้การจินตนาการต่อไปว่าถ้าเราได้กินเนื้อสัตว์แบบเขานะ ถ้าเราได้ลิ้มรสจานนั้นจานนี้นะ ถ้าจินตนาการไปแล้วอาการสุขมันออกนั่นแหละกิเลสมันแสดงตัวออกมาแล้ว นี้คือการหากิเลสในอนาคต
….วิธีการตรวจเวทนาเหล่านี้เป็นวิธีของผู้ที่ต้องการบรรลุธรรมไว ต้องการจะหลุดพ้นจากความอยากไว เป็นวิธีของคนขยัน และมักจะมีคนเข้าใจวิธีนี้ผิดว่าเป็นการคิดฟุ้งไปไกลโดยไม่จำเป็น แต่แท้ที่จริงแล้ววิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างปกติในคนที่เข้าใจเรื่องล้างกิเลส เพราะสุดท้ายการล้างกิเลสใดๆก็ต้องมาจบด้วยตรวจสอบเวทนา ๑๐๘ กันอยู่ดี
เราสามารถใช้เวทนา ๑๐๘ ได้ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยทำไปพร้อมๆกับแบบทดสอบระดับที่ 1-3 เลยก็ได้ คือไปเจอเหตุการณ์เหล่านั้นมาแล้วก็กลับมาใช้เวลาคิดย้อนกลับไปอีก ตรวจหากิเลสซ้ำไปอีกหลายๆครั้ง นี่เองคือลักษณะนิสัยที่ต้องใช้ความเพียรมาก ถ้าคนทั่วไปก็จะปล่อยให้มันผ่านไปเพราะถือว่ามันจบไปแล้ว แต่ผู้มีความเพียรนอกจากจะไม่ปล่อยให้ผัสสะหายไปแล้วยังสามารถนำผัสสะเหล่านั้นกลับมาใช้ตรวจกิเลสของตัวเองได้ใหม่อีกครั้งด้วย
2) สรุปเรื่องเวทนา ๑๐๘
คนที่ตรวจเวทนา ๑๐๘ ตรวจ อดีต อนาคต ปัจจุบันดีแล้ว ตรวจหลายรอบแล้ว ไม่ว่าจะหาเมนูเนื้อสัตว์น่ากินแค่ไหนก็เฉยๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข แม้จะลองกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ไม่สุข รู้สึกเฉยๆ แถมยังมีปัญญารู้ด้วยว่ากินเนื้อเป็นอกุศลอย่างไร แม้ว่าจะไม่ทุกข์แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รู้คุณรู้โทษ ผู้ซึ่งหมดความรู้สึกสุขทุกข์จากความอยากจะอยู่ในสภาพที่เป็นอิสระจากกิเลส
เนกขัมมสิตอุเบกขานั้นคือเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมหรือการล้างกิเลสเป็นการปล่อยวางกิเลสอย่างนักบวช หมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมที่รู้และเข้าใจกระบวนการล้างกิเลสอย่างถ่องแท้ รู้แจ้งทุกขั้นตอนในการล้างกิเลส รู้ว่ากิเลสลดอย่างไร และหมดไปอย่างไรได้อย่างชัดเจน
2.1) อดีตและอนาคต
เมื่อเข้าถึงภาวะอุเบกขา ก็จะจบเรื่องของอดีตและอนาคต คือไม่ต้องไปคิดเรื่องความอยากย้อนไปในอดีตหรือไม่ต้องคิดต่อไปแล้วว่าหลังจากนี้จะมีเมนูเนื้อสัตว์ใดๆที่จะมาทำให้เกิดความอยากได้อีก มีคนเขาว่าอร่อยแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะกลับไปอยากกินอีกต่อไปแล้ว คือจะเป็นคนที่ไม่มีทั้งอดีตและอนาคตของกิเลสในเรื่องของความอยากกินเนื้อสัตว์ อยู่กับปัจจุบันที่ไม่มีกิเลส จึงกลายเป็นผู้อยู่กับปัจจุบันเป็นปกติ โดยไม่ต้องพยายามใดๆ
2.2) อดีต
รู้ในส่วนของอดีตคือรู้ว่าอดีตเราทำบาปมาเท่าไหร่ ทำอกุศลมาเท่าไหร่ ตรงนี้ก็จะรับรู้และยอมรับวิบากกรรมเหล่านี้ไว้ ในส่วนของอดีตนี้เองก็มีความไม่เที่ยงในตัวของมัน คือมีอกุศลกรรมเก่าที่เราทำไว้ และมันจะค่อยๆถูกชดใช้ไปเรื่อยๆ จะถูกเปลี่ยนมาสร้างเป็นทุกข์ โทษ ภัยให้เราเรื่อยๆ และที่มันไม่เที่ยงนั้นก็หมายถึงว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง เช่นวันที่เราเลิกกินเนื้อสัตว์เรามีอกุศลอยู่ 100% แต่พอเวลาผ่านไปเราก็ใช้ชีวิตไปพร้อมกับใช้วิบากกรรมไปเรื่อยๆ มันก็จะลดลงมาโดยลำดับ
2.3) อนาคต
และรู้ในส่วนของอนาคต คือรู้ว่าต่อจากนี้ไม่มีการสะสมบาปต่อไปอีกแล้ว ไม่มีการล้างกิเลสต่อไปอีกแล้ว สิ้นบุญสิ้นบาปกันไป เหลือแต่กุศลและอกุศล ในสองส่วนนี้ก็ไม่เที่ยงเช่นกัน กุศลก็สามารถเพิ่มได้เรื่อยๆ เช่นวันนี้เรามีกุศล 100% แต่ผ่านไปหนึ่งปีเราละเว้นเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆกุศลก็เพิ่มโดยลำดับ
และอกุศลก็เป็นส่วนที่ไม่เที่ยงเช่นกัน ในบางครั้งบางโอกาสอาจจะมีเหตุที่จำเป็นให้เราต้องอนุโลมกลับไปกินเนื้อ แต่การอนุโลมนั้นก็อยู่บนพื้นฐานของกุศลและอกุศล เช่นถ้าเรากินเนื้อเราจะรอดชีวิต สามารถไปสร้างกุศลได้อีก 100 หน่วย แต่ถ้าต้องกินเนื้อจะเป็นอกุศล 10 หน่วย ถ้าปล่อยตายก็ไม่ได้อะไรเลย อันนี้ผู้ที่พ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ก็จะสามารถกินได้โดยไม่มีบาป เพราะไม่ได้อยากกิน แต่กินเพราะพิจารณาดีแล้วว่าถ้ารอดตายไปจะทำกุศลได้มากกว่า เป็นกุศลมากกว่า ในกรณีนี้ก็จะคล้ายกับอรหันต์จี้กงที่กินเหล้าสอนคน เพราะท่านได้ประเมินแล้วว่ามันมีกุศลมากกว่าหากใช้วิธีนี้
คนที่สามารถรู้แจ้งในอดีต รู้แจ้งในอนาคต รู้แจ้งในเรื่องอดีตและอนาคตได้ จะพ้นความกังวลหลายอย่างในชีวิตไปได้ เพราะคนที่ตั้งใจจะเลิกตลอดชีวิต จะเลิกนับเวลาว่าตัวเองกินมังสวิรัติมาตั้งแต่เมื่อไหร่และไม่สนใจว่าจะต้องกินไปถึงเมื่อไหร่ เพราะไม่มีทั้งอดีตและอนาคต มีแต่ปัจจุบันคือไม่กิน และจะเป็นปัจจุบันแบบนี้ไปเรื่อยๆ คือไม่กินเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน
ซึ่งจะเป็นสภาพผลของการปฏิบัติศีล หรือที่เรียกกันว่ามีศีลเป็นปกติในชีวิต นั่นคือสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างปกติ และมีความสุขโดยไม่ต้องระวังและเคร่งเครียดมาก เพราะรู้ชัดแจ้งว่าตนเองไม่ได้อยากกินเนื้อสัตว์ ส่วนจะเผลอไปกินโดยไม่รู้นั้นก็แค่เลิกกินหรือถอยออกมาตามที่เห็นสมควร แต่จะไม่ทุกข์ ไม่กลับไปจมในอัตตาใดๆ เพราะรู้ดีว่าการกินเนื้อสัตว์ด้วยความอยากกับการกินแต่ไม่อยากนั้นต่างกันอย่างไร
ผู้ที่บรรลุธรรมจะมีสภาพเหมือนคนธรรมดาที่ไม่ได้เคร่งเครียด เหมือนไม่ได้ถือศีล แต่จะมีศีลไว้ยึดอาศัย ไม่ใช่ว่าสำเร็จวิชาเข้าใจธรรมแล้วทิ้งศีลกลับไปกินเนื้อ ที่ต้องยกตัวอย่างนี้เพราะมีบุคคลบางพวกมักตีกิน ใช้สภาวะสุดท้ายเข้ามาหลอกคนอื่นว่าตนเองนั้นบรรลุธรรมแล้วเลยไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงถือว่ากลับไปกินเนื้อสัตว์ได้
ดังนั้นหากจะยืนยันว่าคนที่เข้าใจเรื่องความอยาก รู้แจ้งเรื่องกิเลสจริงนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ยาก ดูได้ยาก สังเกตได้ยาก และเข้าใจได้ยาก ไม่สามารถใช้ตรรกะทั่วไปเข้ามาอธิบายสภาวะของจิตใจได้อย่างชัดเจน ทำได้เพียงอธิบายด้วยภาษาเท่าที่ทำได้เท่านั้น การที่เข้าใจและเข้าถึงได้ยากนั้นไม่ใช่ว่าอธิบายธรรมไม่ได้ แต่หมายถึงยากที่คนทั่วไปจะเข้าถึงธรรมที่เป็นโลกุตระ คนที่บรรลุธรรมจริงๆจะสามารถพูดได้ ขยายได้ ชี้แจงได้ แสดงธรรมให้เข้าใจได้ง่ายได้ แต่ปัญหาคือคนฟังจะไม่เข้าใจหรือเข้าใจได้ยากเพราะไม่มีสภาพของธรรมนั้นในตนเอง จึงเกิดช่องว่างแบบนี้ให้คนเอาไปตีกินว่าตนเองบรรลุธรรมนั่นเอง
สรุป
การตรวจเวทนานี้เองคือด่านสุดท้ายของการตรวจสอบกิเลสทั้งหมด ซึ่งเราจำเป็นต้องแม่นยำในเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ไม่เช่นนั้นเราก็จะตรวจหากิเลสไม่เจอ ถึงกิเลสจะแสดงอาการอยู่ก็มองไม่เห็น เพราะกิเลสนั้นมีสามระดับ คือหยาบ กลาง ละเอียด และอยู่ในลักษณะสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ การจะเห็นกิเลสที่ละเอียดก็ต้องผ่านชั้นของกิเลสกลางมาก่อน และก่อนจะเห็นกิเลสกลางก็ต้องผ่านกิเลสหยาบมาก่อน และกิเลสที่อยู่ในระดับความละเอียด ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะของอรูปภพ คือไม่มีรูปมีร่างให้เห็นแล้ว บางครั้งก็แทบจะไม่มีอาการใดๆให้เห็นเด่นชัดเลย มีเพียงอารมณ์ขุ่นมัวเล็กน้อยเท่านั้น
ผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาถูกทางก็จะมีอินทรีย์พละแกร่งกล้าขึ้นเรื่อยๆ และสามารถเรียนรู้ถึงกิเลส หยาบ กลาง ละเอียดได้ตามลำดับกำลังของตน การที่เราจะเริ่มต้นจากกิเลสละเอียดนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีไว้เพื่อขัดเกลากิเลสไปตามลำดับ คือ หยาบ กลาง ละเอียด มีความลาด ลุ่ม ลึกไปตามลำดับเหมือนมหาสมุทร ไม่ชันเหมือนเหว
ผู้ที่เรียนรู้การล้างกิเลสก็ให้ทบทวนไปตามลำดับของการตรวจสอบ 1-3 จนกระทั่งใช้การตรวจเวทนา ๑๐๘ นี้เป็นเครื่องมือในการตรวจหากิเลส ถ้าเจอก็พิจารณาโทษไป ถ้าไม่เจอก็ค้นหาต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งจะมั่นใจได้เอง จะรู้ได้เองว่าเราพ้นจากความอยากแล้ว ไม่มีอดีตและอนาคตใดทำร้ายเราได้อีกแล้ว เราพ้นจากกิเลสทั้งสามภพแล้ว
เมื่อมั่นใจได้เช่นนี้ก็อาจจะมีผัสสะมาทดสอบบ้าง ซึ่งก็ตรวจใจซ้ำเข้าไปอีก ถ้าตรวจแล้วตรวจอีกยังไงก็ไม่เจอความอยากก็ขอแสดงความยินดีด้วย
ติดตามต่อได้ที่
Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)
กินมังอหังการ
กินมังอหังการ
…วิเคราะห์อาการติดดีในทุกระยะของการกินมังสวิรัติ
ในบทความนี้จะวิเคราะห์และไขสภาพอาการติดดีหรือในเรื่องของอัตตาในทุกระยะของการกินมังสวิรัติตั้งแต่เริ่มกินไปจนกระทั่งถึงสภาพอนัตตาคือไม่มีตัวตนให้เป็นทุกข์อีกต่อไป โดยจะแบ่งระยะของความยึดเป็น 5 ข้อ ลองมาอ่านกันเลย
1).ความยึดดีของคนกินเนื้อสัตว์
ความยึดของคนกินเนื้อสัตว์ชอบเนื้อสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ เขาหลงว่าเนื้อสัตว์ดี จึงยึดดีนั้นไว้ และเข้าใจว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นดี นำประโยชน์มาให้กับเขา ประโยชน์ทางโลกที่มีการส่งเสริมกันมาอย่างเนิ่นนานคือต้องกินอาหารให้ครบห้าหมู่ โดยตัวแทนของโปรตีนก็คือเนื้อสัตว์ พอเรารับรู้ว่าโปรตีนต้องเนื้อสัตว์ แล้วกินมาทั้งชีวิตมันก็จะจำและยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นี้เองคือโปรตีนที่ดีที่สุดที่ร่างกายต้องการ เป็นความเข้าใจทางโลกที่ถูกต้องตามที่เขาสอน แต่ไม่ถูกต้องตามธรรมเพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นการยึดว่าเนื้อสัตว์คือโปรตีนที่ดีที่สุดนั้นคงไม่ใช่อย่างแน่นอน
หรือความเชื่อที่ว่าคนเราเป็นสัตว์กินเนื้อนั้นก็เป็นอัตตาหรือการยึดเนื้อสัตว์ว่าดี ถ้ายึดระดับนี้อาจจะมีเหตุหลายอย่าง แต่เหตุหลักนั้นคือการเสพติดรสเนื้อสัตว์ เมื่อเกิดความอยากเสพจึงเกิดความยึด ไม่อยากพรากไปจากเนื้อสัตว์จึงต้องสร้างเกราะอัตตาขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองได้มั่นใจในการเสพเนื้อสัตว์มากขึ้น เพื่อให้เสพได้อย่างเป็นสุขและสบายใจมากขึ้น จะได้ไม่รู้สึกผิดเวลาไปเจอสื่อของมังสวิรัติ เป็นสภาพที่เกิดการต่อต้านมังสวิรัติขึ้นเองโดยธรรมชาติของกิเลส
ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วมันย่อมปกป้องตัวเองและพยายามให้เราหามาเสพ เราเรียกการสะสมกิเลสสนองกิเลสว่า “บาป” และการจะลดกิเลสจนถึงดับกิเลสเราเรียกว่า”บุญ” เป็นเรื่องยากที่คนจะเอาชนะกิเลสและยอมลดกิเลส นอกจากจะไม่สามารถเอาชนะกิเลสได้แล้วยังโดนกิเลสเพิ่มอัตตาเข้าไปอีกหนาขึ้นไปเรื่อยๆ นี้เองคือความยึดว่าเนื้อสัตว์ดีของคนที่ยังติดเนื้อสัตว์ทั่วไป
อัตตาของคนกินเนื้อสัตว์เมื่อยึดดีแล้วจะทำให้ต่อต้านการลดเนื้อกินผัก ต่อต้านการกินมังสวิรัติ ต่อต้านการกินเจ หากต้องเจอข้อมูลมังสวิรัติมากๆหรือโดนกล่าวหาว่ากินเนื้อไม่ดีก็อาจจะเกิดการโต้เถียง เอาชนะ ทะเลาะเบาะแว้งเหตุเพราะตนนั้นยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์
2). ความยึดดีของคนที่กินมังสวิรัติได้และยังคงกินเนื้อสัตว์
ในระยะที่เจริญขึ้นมาบ้างแล้ว เราสามารถรับรู้โทษชั่วของการเบียดเบียนได้บ้างจึงหันมากินมังสวิรัติ แต่ก็ยังไม่สามารถตัดเนื้อสัตว์ได้ในหลายๆเหตุผล อาจจะตัดสำหรับตัวเองไม่ได้หรืออาจจะตัดสำหรับคนอื่นไม่ได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น เรารู้ว่ามังสวิรัติดีนะ แต่ถ้ามีโอกาสเราก็จะกลับไปกินเนื้อสัตว์โดยมีเหตุผลต่างๆนาๆให้กลับไปกิน เช่นความพอดีบ้างละ ธาตุอาหารบ้างละ สุขภาพบ้างละ จริงๆรากทั้งหมดนั้นมาจากความอยากนั่นละ ในมุมของการตัดสำหรับคนอื่นเช่น เรากินมังสวิรัติได้บ้างแล้ว แต่ยังไม่เห็นดีกับการให้ลูกหลานกินหรือให้คนป่วยกินเพราะยังมีความหลงผิดในความรู้และยังมีความยึดในเนื้อสัตว์อยู่
สำหรับคนที่อยู่ในระยะกลางนี้จะเรียกว่าครึ่งๆกลางๆก็ได้ จะเป็นผีก็ไม่ใช่เป็นคนก็ไม่เชิง จะมังสวิรัติก็ไม่ชัดจะกินเนื้อสัตว์ก็ไม่เต็มที่ กินมังสวิรัติก็กินอย่างไม่รู้สาระ ไม่รู้กิเลส กินผ่านๆไปในแต่ละมื้อ จะกินเนื้อสัตว์ก็มีฟอร์ม มีลีลาก่อนกิน อ้างเหตุผลพอประมาณให้ดูดีแล้วค่อยกิน ก็จะวนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความยึดดี ใครบอกว่ามังสวิรัติไม่ดีนี่ก็จะโกรธ จะไม่พอใจ เพราะตนเองนั้นกินมังสวิรัติ แต่ถ้าบอกให้เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเลยก็จะทำไม่ได้ เพราะยังไปยึดเนื้อสัตว์ว่าดีอยู่เช่นกัน เหมือนคนสองจิตสองใจยังไม่ยอมเลือกข้างชัดเจน ยังแยกกุศลอกุศลไม่ชัด ไม่ชัดแจ้งในธรรม ไม่ชัดเจนในกรรม
ในระยะนี้หลายคนอาจจะหลงยึดไปได้ว่านี่แหละคือความพอดีที่สุดในชีวิต คือกินเนื้อบ้างกินผักบ้างไม่ให้ทรมานตัวเองเกินไป ซึ่งเป็นทางสายกลางคนละแบบกับของพุทธ แต่จะหลงเข้าใจไปว่าถูกทางพ้นทุกข์ เข้าใจว่าพอดี เป็นกลาง ไม่ยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ถ้าเข้าไปในสภาวะเช่นนี้เรียกว่าหลงบรรลุธรรม เพราะเดินมายังไม่ถึงครึ่งทางก็หลงเข้าใจว่าถึงเป้าหมายแล้ว คนจะมาติดในระยะนี้เยอะมาก จะมายึดอยู่แค่ระยะนี้แล้วสร้างเกราะอัตตามาพอกไว้แล้วจะไม่ยินดีไปต่อ ไม่ยินดีในความดีที่มากกว่า เพราะถ้าอยู่ตรงนี้จะได้เสพทั้งเนื้อสัตว์ที่สนองกิเลสตัวเองได้และกินผักซึ่งเป็นข้ออ้างเอาไว้อวดว่าตนดีได้ เรียกได้ว่าสร้างเกราะเพื่อทำบาปโดยป้องกันไม่ให้ความดีเข้าไปถึงตัวและไม่ให้ใครมาว่าเราว่าชั่ว แล้วเสพกิเลสอยู่ในภพ อยู่ในสภาวะในอัตตาที่ตัวเองสร้างไว้ ไม่ยอมให้ใครไปยุ่ง
ถึงระยะนี้จะเริ่มอัตตาแรงและเป็นภัยมากขึ้น เพราะหลงยึดว่าเนื้อก็ดีผักก็ดี เมื่อเจอคนที่กินแต่เนื้อสัตว์จะไม่มีอาการเท่าไหร่เพราะยังเสพกิเลสเช่นเดียวกัน จะพูดออกไปมากก็ไม่ได้เพราะตัวเองก็ยังชอบเนื้อสัตว์อยู่ แต่ถ้าเจอคนที่กินมังสวิรัติเก่งๆมาข่ม ก็จะเกิดอาการต่อต้านขึ้นมาทันที มีเหตุผลต่างๆนาๆที่จะบอกว่าเนื้อบ้างผักบ้างดี คนกินมัง 100% สิไม่ดี ไม่ปล่อยวาง ไม่พอดี เห็นไหมว่าอัตตาจะทำให้มองเห็นกรงจักรเป็นดอกบัว เห็นคนมีศีลเป็นคนไม่มีสาระ
คนกินเนื้อจะไม่ค่อยมีปัญหาในการกระทบกับคนกินมังสวิรัติมากนัก เพราะโดยส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกผิดบาปและยอมรับในศีลจึงเกิดศรัทธาในคนกินมังสวิรัติ ยกเว้นคนที่กินเนื้อจนเข้าระดับยึดเนื้อสัตว์ว่าดีจะเป็นอีกกรณี แต่คนที่หลงยึดดีในเนื้อและผักเป็นความพอดีนั้น จะไม่เคารพในศีลที่สูงกว่าของผู้กินมังสวิรัติได้ดีกว่า เพราะหลงเข้าใจไปว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม ตนเองก็สามารถกินมังสวิรัติได้ แต่ด้วยความพอดีจึงกลับมากินเนื้อบ้างกินผักบ้าง เป็นทางสายกลางที่เข้าใจไปเอง และยังมองว่ามังสวิรัติสุดโต่ง
ตรงนี้เองคือบาปและอกุศลที่จะต้องได้รับมากขึ้น เป็นนรกที่หนักกว่าคนกินเนื้อสัตว์ เพราะยิ่งเจริญขึ้นมาบ้างยิ่งต้องระวังต้องสำรวม ระวังจะไปมีอัตตา เพราะการมีอัตตานอกจากจะทำให้เราไม่เจริญแล้วยังทำให้เราหลงผิดคิดว่าตนบรรลุธรรม แล้วมีอาการยึดดี อวดดี หลงตนเองจนทำให้ไปปรามาสผู้ที่มีศีลมากกว่าได้
การจะออกจากความเหยาะแหยะต้องใช้ความจริงจังเข้ามาช่วย คือเลือกไปทางด้านใดด้านหนึ่งจะเลือกด้านมังสวิรัติก็ได้ จะเลือกกินเนื้อก็ได้ ถ้าทำดีทำชั่วชัดเจนผลกรรมมันก็จะชัดเจนมากขึ้นไปด้วย คนที่ทำดีมากก็เห็นดีมาก คนที่เบียดเบียนมากก็จะได้รับผลเสียมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปอีกจุดที่เจริญขึ้น จำเป็นต้องล้างอัตตาเสียก่อนเพราะความยึดทำให้เราก้าวออกไปไม่ได้ ทำให้เราไม่พัฒนา ส่วนการเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่เสื่อมลงนั้นไม่ใช่เรื่องยากอะไร พอมันไม่ทำดี มันก็สะสมชั่วไปในตัวนั่นเอง
3). ความยึดดีของคนกินมังสวิรัติ
คนที่กินมังสวิรัติได้ 100% ไม่ตกร่วง ไม่พลั้งเผลอ แม้ว่าจะต้องออกไปนอกสถานที่ ไปประชุม ไปต่างจังหวัด ไปกินข้าวกับเพื่อน ไปงานเลี้ยงครอบครัว ไปที่ไหนๆก็สามารถลดเนื้อกินผักได้ สามารถอนุโลมได้บ้างในบางกรณี แต่การจะไปหยิบชิ้นเนื้อเข้าปากนั้นไม่มีแล้ว อาหารใดที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์อย่างชัดเจนเพื่อให้ได้รสเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบนั้นไม่เอาแล้ว ความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นไม่มีแล้ว
หรือแม้กระทั่งผู้ที่กินมังสวิรัติได้นานๆ หลายเดือนติดต่อกัน หรือหลายปีติดต่อกันก็จะอนุโลมให้อยู่ในหมวดนี้แม้ว่าจะกลับไปกินเนื้อสัตว์บ้างก็ตาม แต่ลักษณะของการยึดมังสวิรัติว่าดีนั้นมีเต็มที่แล้วเพียงแต่อินทรีย์พละอาจจะยังไม่พอ
ในระยะนี้ถือว่าเจริญได้มากแล้ว พ้นภัยจากการเบียดเบียนสัตว์อื่นแล้ว เป็นบุญมาก เป็นกุศลมาก แต่มักจะต้องมาติดอัตตายึดว่ามังสวิรัติดี กินมังสวิรัติแล้วเป็นคนดี ดูดี ศีลดี มีบุญ มีปัญญา มีสติ จะเริ่มรู้สึกไม่ดีกับเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน ไม่สามารถกินร่วมในวงเนื้อสัตว์ได้อย่างสบายใจ กินมังเขี่ยแล้วเป็นทุกข์เพราะรู้สึกขยะแขยง รวมทั้งรู้สึกไม่ดีกับคนกินเนื้อสัตว์ มีอาการข่มคนที่กินเนื้อสัตว์และคนที่ยังกินมังสวิรัติไม่ได้เต็มที่
เมื่อมีคนมาแซว ด่า ว่า คนที่กินมังสวิรัติว่าโง่หรือบ้าจะมีอาการรุนแรงมาก เพราะยึดดีมาก ความรุนแรงจะเกิดตามสภาพที่ลดเนื้อสัตว์ได้ ยิ่งลดได้สมบูรณ์ก็จะยิ่งมีความยึดดีรุนแรง ไม่พอใจรุนแรง โกรธรุนแรง
คนที่อยู่ในระยะนี้จะยิ่งหลงว่าตัวเองบรรลุธรรมมากขึ้นไปอีก เพราะไม่เบียดเบียนแล้วดูเป็นคนดีมาก ผู้คนต่างสรรเสริญเป็นเหมือนพ่อพระแม่พระของสัตว์อื่น สามารถสอนคนกินเนื้อสัตว์ได้เต็มที่เพราะตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์แล้ว มีบารมีมาก มีพลังมาก ซึ่งโดยส่วนมากจะเข้าใจว่าสุดทางแล้ว จบแล้ว บรรลุแล้ว ซึ่งก็ยังไม่ใช่เสียทีเดียวมันยังมีดีกว่านั้นอีก
แต่เมื่อเกิดการยึดดีแล้ว ก็จะไม่ยินดีในการพัฒนาจิตใจต่อ ไม่ยินดีในการดับอัตตา เพราะหลงว่าอัตตานั้นเป็นของดี หลงในความดีความดูดีของผู้กินมังสวิรัติ กอดไว้เป็นอัตตาของตน อาจเพราะหลงในยศ สรรเสริญ และสุขที่ได้รับมากขึ้นในระยะนี้จึงทำให้หลงยึดและไม่ยอมไปต่อ
เมื่อจิตมันยึดไม่ยอมไปต่อแล้วมีผู้มาชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของอัตตานั้น ก็จะเกิดการต่อต้านเพราะตนหวงแหนอัตตา เมื่อต่อต้านก็สามารถออกอาการได้หลายรูปแบบไม่ต่างกับคนยึดมั่นถือมั่นทั่วไป สามารถโกรธ ไม่พอใจ ทะเลาะเบาะแว้งได้เหมือนคนทั่วไป มีความอยากเอาชนะเป็นแรงผลักดันเพราะยึดว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อนั้นถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ถ้าอย่างดีก็คือสงบไม่ตอบโต้ แต่ไม่เชื่อไม่พิจารณาตามให้เห็นถึงโทษของอัตตา พอไม่เชื่อคนที่มาชี้ให้เห็นอัตตามันก็ยึด พอมันยึดก็ไปไหนไม่ได้ ติดอยู่ในภพนี้ต่อไป
4).ความยึดดีของคนกินมังสวิรัติที่มองกลับมาที่คนยึดดี
ในระยะนี้จะเป็นขั้นกว่าของคนที่กินมังสวิรัติได้ ซึ่งผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะสามารถกินมังได้ 100% ไม่มีความอยาก ไม่มีอัตตาไปอัดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจเนื้อสัตว์ สามารถกินอาหารร่วมจานกับผู้อื่นได้โดยไม่ทุกข์ แม้อาหารนั้นจะมีส่วนประกอบของสัตว์ปนอยู่บ้างก็จะสามารถอนุโลมไปได้เป็นกรณีๆแต่จะไม่ทำบ่อย โดยหลักอยู่ที่ความไม่ทุกข์ใจใดๆเลยนั่นเอง
แม้จะมีใครมาด่าว่ามังสวิรัติอย่างไร ใครจะว่าโง่ว่าบ้าก็ยังเฉยๆ สามารถกินมังสวิรัติไปได้พร้อมๆกับการรับคำด่าของคนอื่นและยังสามารถสอนเขากลับด้วยท่าทีสุภาพ ด้วยเมตตา ด้วยความเห็นใจ ด้วยความเข้าใจในเวลาเดียวกัน
ผู้อยู่ในระยะนี้คือผู้เจริญมากแล้วพ้นภัยจากความทุกข์ของอัตตามาได้มากแล้ว ไปกินมังสวิรัติที่ไหนก็ไม่ทุกข์ ใครจะกินเนื้อเราก็ไม่ทุกข์ ไปดูสัตว์ถูกฆ่าดูเนื้อสัตว์ในตลาดเราก็ไม่ทุกข์
แต่มันจะเหลือทุกข์จากอัตตาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอัตตาปลายสุดท้ายคือยึดสภาพนี้ว่าดี ยึดว่าสภาพที่พ้นจากการเสพเนื้อสัตว์และพ้นจากอัตตามากแล้วนี่คือดี จึงทำให้มีอัตตาเหลือในส่วนหนึ่ง เมื่อมองลงไปในคนจำพวกมังสวิรัติที่ยึดดี อัตตาแรงๆก็จะรู้สึกทุกข์ รู้สึกเห็นใจ รู้สึกอยากสอน แต่คนกินเนื้อสัตว์ คนกินเนื้อกินผักเราไม่ไปทุกข์กับเขาแล้วนะ แต่จะมาทุกข์กับพวกกินมังได้ดีแล้วติดดีนี่แหละ
ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะการที่เราจะออกจากชั่วได้เราต้องใช้ความดี ความยึดดีเป็นตัวช่วยผลักดันเราออกมา ทีนี้พอเราผ่านมาได้มันจะเหลือความยึดดีอยู่ เหลืออัตตาอยู่ จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมเมื่อผ่านมาแล้วมักจะมีปัญหากับคนที่มีลักษณะเหมือนเราก่อนหน้านี้ก็เพราะว่าเราเพิ่งเคยผ่านมา เราเพิ่งเห็นทุกข์มา เราเห็นว่ามันไม่ดี เราก็เกลียด พอเราออกมาได้เจริญมาได้เราก็ยังเหลือความยึดดี สิ่งนี้เองจะทำให้เราทุกข์กับคนที่ตามหลังเรามาติดๆ
ความยึดดีตรงนี้แม้จะบางและน้อยแต่ก็ยังเป็นความชั่วอยู่ดี ยังเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่ดี แต่ข้อดีของคนที่อยู่ในระยะนี้คือเขาเหล่านั้นจะล้างอัตตาเป็นแล้ว เพราะล้างมาตั้งแต่ตอนกินมังสวิรัติติดดีแล้ว เมื่อพบกับอาการที่เราไปข่ม ไปอวด ก็จะสามารถจับอาการเหล่านี้ได้เอง และล้างกิเลสได้เอง ผู้ที่อยู่ในระยะนี้คือผู้ที่เจริญแล้ว แม้จะยังขัดเกลาตัวเองไม่สำเร็จแต่ก็คือผู้ที่จะก้าวเข้าสู่ความพ้นทุกข์จากเนื้อสัตว์และความยึดดีในมังสวิรัติในสักวันหนึ่ง
5).ความไม่ยึดดี
เป็นสภาวะสุดท้ายที่เป็นเป้าหมายปลายทางของนักมังสวิรัติทุกคน เป็นสภาพที่สุขที่สุด ไม่มีอะไรเปรียบได้ ไม่มีอะไรหักล้างได้ ความไม่ยึดดีหรือไม่มีอัตตา หรือจะเรียกว่าอนัตตาคือไม่มีตัวตนแห่งทุกข์ ไม่มีตัวตนให้ทุกข์ ไม่มีตัวตนของกิเลสในเนื้อสัตว์และความยึดดีในมังสวิรัติเหลืออยู่
ชีวิตยังมีอยู่ ร่างกายและอวัยวะยังมีอยู่ การย่อยสลายอาหารเป็นพลังงานยังมีอยู่ แต่สิ่งที่ทำให้ทุกข์ในเรื่องของมังสวิรัตินั้นไม่มีแล้ว ไม่ว่าใครจะทำอย่างไร จะพูดอะไร ใครจะกินเนื้อ ใครจะกินมังสวิรัติ ใครจะติดดี ใครจะเจริญ เราจะไม่ไปทุกข์กับเขาไม่ไปยินร้ายกับเขาจะมีแต่ความยินดี แม้จะเห็นคนกินเนื้อก็ยินดี กินมังสวิรัติก็ยินดี กินครึ่งๆกลางๆก็ยินดี เพราะเข้าใจแล้วว่าคนมันก็เป็นแบบนี้ แม้วันนี้เขาจะยังกินเนื้อสัตว์อยู่ วันหน้าเขาอาจจะเป็นนักมังสวิรัติที่กล้าแกร่งก็ได้ และแม้บางคนจะกินมังสวิรัติอยู่ ในวันหนึ่งเขาอาจจะเลิกกินมังสวิรัติกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็ได้ มันไม่เที่ยงทั้งในเรื่องความเจริญและความเสื่อม เข้าใจแล้วว่าการจะมาล้างกิเลสในการกินมังสวิรัติให้สิ้นเกลี้ยงนั้นยากสุดยาก พอเห็นความจริงดังนั้นจิตจึงตั้งไว้ที่อุเบกขา
แม้จะมีเหตุการณ์ใดเข้ามากระทบ เราก็จะเมตตา กรุณา มุทิตา และจบลงที่อุเบกขาได้เสมอ ช่วยคนไปแล้ววางใจได้เสมอ ไม่ติดไม่ยึด ไม่ทุกข์ร้อนใดๆ กับเพื่อนชาวมังสวิรัติหรือเพื่อนมนุษย์ผู้ยังกินเนื้อและสัตว์ทั้งหลาย เพราะรู้แจ้งแล้วในเรื่องกิเลสและกรรม รู้ชัดจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากกรรม และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นก็เกิดขึ้นจากกรรมที่เรากำลังตัดสินใจทำด้วย เมื่อชัดเจนในกรรมดังนั้นจึงเข้าใจคนในทุกฐานะของการกินมังสวิรัติ จะไม่โกรธไม่เกลียดใครเลย
ความเข้าใจทั้งหมดนั้นเกิดจากการสะสมความรู้ตั้งแต่ยังเสพติดเนื้อสัตว์ผ่านพ้นมาจนถึงระดับนี้ได้ ได้ผ่านการเรียนรู้ในทุกระดับมาหลายภพหลายชาติจนรู้ชัดเจนในทุกเหลี่ยมทุกมุม พอรู้ทั้งหมดมันก็รู้ว่าอัตตานี่มันไม่ดี มันชั่ว มันเลว มันเป็นตัวขวางกั้นไม่ให้เราบรรลุธรรม ก็จะทำลายอัตตานั้นทิ้งไปจนกระทั่งเป็นอนัตตา
เรื่องของมังสวิรัติทั้งหมดมันก็จบตรงนี้นี่เอง ส่วนจะเลือกทำอะไรต่อไปนั้นก็อยู่กุศลหรืออกุศลเท่านั้น ไม่มีบุญหรือบาปอีกต่อไป เพราะไม่มีตัวตนให้มีกิเลส ให้มีการสะสมกิเลส หรือให้มีการดับกิเลส เพราะมันไม่มีอะไรเหลือให้ทำแล้วจึงมีแต่ทำความดีต่อไปเท่านั้นเอง
ในสภาพนี้จึงสามารถกินมังสวิรัติต่อไปได้อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นแต่เพียงว่ายึดอาศัย อาศัยให้เกิดความดี อาศัยให้เกิดความสมบูรณ์แก่ร่างกายนี้ อาศัยให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ศึกษาและปฏิบัติตาม เป็นแบบอย่างแห่งความดีด้วยความเมตตาที่มีต่อผู้อื่นสืบไป
– – – – – – – – – – – – – – –
4.12.2557
ฉันคือผู้หลุดพ้น
ฉันคือผู้หลุดพ้น
…ความหลงว่าบรรลุธรรม กรณีศึกษามังสวิรัติ
(*คำเตือน!! บทความนี้มีเนื้อหาที่จะไปกระแทกอัตตาของผู้ที่หลงว่าบรรลุธรรม ผู้ที่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถรับสิ่งกระทบระดับนี้ไหวขอแนะนำว่าไม่ควรอ่าน ถ้าท่านฝืนอ่านแล้วเกิดอาการไม่พอใจก็สุดแล้วแต่บาปกรรมของท่านเอง)
สภาวะของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นได้เรียบเรียงกันไว้หลายบทหลายตอนแล้ว ในบทความนี้จะมาขยายในมุมของความหลงกันบ้าง เพื่อที่นำจะความรู้เหล่านี้ไปใช้พิจารณาหาประโยชน์ที่แท้จริงของการกินมังสวิรัติด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นทั้งหมด 9 ข้อ
1).กินมังสวิรัติไม่ลำบาก
มีหลายคนที่สามารถกินมังสวิรัติได้เองโดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก แต่เขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าเพราะอะไร เกิดมาจากอะไร การมีบารมีสะสมมาแบบนี้อาจจะเกิดจากการสะสมพลังเจโตสมถะมาหลายชาติก็ได้ เช่นในชาติที่เป็นฤๅษีก็กินผลไม้ รากไม้ ใบไม้ไป จนเกิดสภาวะเคยชินส่งผลมาถึงชาตินี้ก็สามารถกดข่มความรู้สึกได้ง่ายดายเหมือนกับว่าไม่ต้องพยายามใดๆเลย แต่เขาเหล่านี้จะไม่รู้จักกับความอยาก ไม่รู้จักกิเลส เพราะมันถูกกดลงไปก่อนที่จะรู้ตัวเป็นสภาพจิตกดข่มโดยอัตโนมัติเพราะเหตุที่สะสมมาหลายชาติ
2).เข้าใจว่ากินมังสวิรัติแล้วกิเลสลด
ตรงนี้เป็นความหลงที่ค่อนข้างหนัก เพราะการกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าลดกิเลสเป็น และไม่ได้หมายความว่ากิเลสลด คนที่กินมังสวิรัติได้เป็นสิบๆปี อาจจะลดกิเลสไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ข่มไว้ด้วยสัญชาติญาณปกติของมนุษย์คือเมื่อรับรู้ว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่ดี เป็นบาป เบียดเบียน ก็รู้สึกว่าไม่อยากทำก็เลยใช้การอดทนไปตามธรรมชาติ เหมือนกับการที่เราอดทนไม่ต่อว่าใครที่มาดูถูกเรา มันก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะอดทนต่อสิ่งเร้า เป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้เกี่ยวกับกระบวนการลดกิเลสแต่อย่างใด
คนที่กินมังสวิรัติแล้วลดกิเลสไม่เป็นจะไม่รู้ต้น ไม่รู้กลาง ไม่รู้ปลาย คือไม่รู้อะไรเลย รู้แค่กินมังสวิรัติแล้วดี แต่ไม่รู้ว่ากิเลสเริ่มเกิดจากตรงไหน ไม่รู้ว่ามันตั้งอยู่หรือซ่อนอยู่แบบใด และไม่รู้ว่ามันจบลงที่ใด ในพระไตรปิฏกมีการอธิบายเรื่องเจโตปริยญาณชัดเจนว่าต้องรู้ในทุกสภาวะจิต คือเกิดก็รู้ดับก็รู้ มีอยู่ก็รู้หายไปก็รู้ และรู้ได้ด้วยว่าเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงเท่าไหร่ นี้คือปัญญาของพุทธ คนที่ไม่มีปัญญาพุทธ จะเดาๆเอา มั่วเอา คาดคะเนเอาเอง แล้วมันก็เมาหมัดตัวเองเพราะดูสภาวะจิตตัวเองไม่ออก
คนที่ลดกิเลสได้จริงถ้าทำได้ถึงระดับดับจิตที่อยากให้สิ้นเกลี้ยงหรือสามารถดับกิเลสได้ จะดับวจีสังขารคือคำปรุงแต่งในใจได้ และดับไปถึงกายสังขารคือร่างกายจะไม่โหยหิว ไม่อยากกิน ไม่อร่อยตามไปด้วย คือถ้าดับกิเลสได้จริงมันจะไม่กินเป็นธรรมชาติเป็นเรื่องปกติ แต่ก็สามารถไปกินได้โดยการอนุโลมเป็นกรณีไป
3). การอนุโลมของผู้หมดกิเลส
สมมุติว่ามีหลวงปู่ท่านหนึ่งสามารถดับกิเลสเรื่องมังสวิรัติได้แล้ว แต่ลูกศิษย์ของท่านนั้นยังอินทรีย์พละอ่อนมาก ถ้าสอนให้กินมังสวิรัติเลยลูกศิษย์จะตายเพราะพลังไม่พอ จะทรมาน จะทุกข์ จะเข้าขีดของอัตตกิลมถะ ซึ่งเป็นทางโต่ง ท่านก็เลยไม่ได้เน้นหนักไปทางนั้นเพราะยังมีวิธีสอนให้ลดกิเลสอีกตั้งหลายทาง จึงยอมอนุโลมแบกวิบากบาปในการกินเนื้อสัตว์ตรงนี้ต่อไปเพื่อไม่ให้ศิษย์เครียด
หรือกรณีเอตทัคคะของพระพุทธเจ้าท่านหนึ่งสามารถกินข้าวเพียงหยิบมือเดียวแล้วมีกำลังอยู่ได้ทั้งวัน เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดี เบียดเบียนน้อย แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องทำเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ยาก และผู้ที่อินทรีย์พละอ่อนจะตายกันเสียก่อน ท่านจึงอนุโลมไว้เพียงแค่กินข้าวมื้อเดียว ดีที่สุดในโลก
ตรงนี้เองที่คนมีกิเลสใช้เอามาตีกิน มาเหมาเอาว่าตนเองบรรลุธรรม อ้างว่าอนุโลม แล้วบอกว่าทำให้พอดีเป็นเรื่องที่เห็นได้ในทุกยุคทุกสมัย หากถามถึงมรรคผลคือวิธีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์และสภาพพ้นทุกข์เป็นอย่างไรก็จะพบว่า “ไม่มี” และผู้หลงผิดที่มีกิเลสหนากว่านั้นก็บอกว่าจะ”ตนมีมรรคผล”แต่ไม่บอก ไม่ชี้แจง ไม่แถลง ไม่อธิบายให้ไปปฏิบัติเอาเองแล้วจะรู้
ซึ่งผิดกับผู้บรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาซึ่งจะมีหลักข้อหนึ่งคือ “ธรรมทาน ชนะทานทั้งปวง” เมื่อธรรมทานนั้นเป็นทานที่ดีที่สุด จะมีเหตุอันใดที่ผู้บรรลุธรรมนั้นจะไม่มอบทานนั้นแก่คนผู้ที่ยังมีความสงสัย เว้นเสียแต่เขาเหล่านั้นไม่มีธรรมนั้นในตนเอง พอไม่มีเลยไม่รู้ว่าจะให้อะไร
4).การรู้ประมาณ
การรู้จักประมาณในการบริโภคนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก มีหลายคนที่คิดว่ากินเนื้อกินผักมันก็เบียดเบียนเหมือนกัน อันนี้มันก็ถูกใครประโยคแต่ในสาระมันไม่ใช่ เพราะปริมาณมันต่างกัน
ทุกคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกนั้นเกิดมาพร้อมกับร่างกายที่ต้องคงสภาพด้วยการเอาธาตุอาหารมาเลี้ยง แต่เราจะเอาสิ่งใดมาเลี้ยงนั้นมีผลต่อชีวิตจิตใจเราด้วยเช่นกัน การรู้จักปัจจัยที่ส่งผล คือ บุญ บาป กุศล อกุศลนั้น จะทำให้เราวิเคราะห์การลงทุนใช้ชีวิตได้ดีขึ้น นักลงทุนที่ไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวปัจจัยหรือตัวแปรที่ส่งผลต่อชีวิตก็จะตีรวมๆ ว่าเบียดเบียนเหมือนกันหมดฟังแล้วมันก็ดูดีแต่ไม่ฉลาด
เพราะการที่เราใช้แต่ละสิ่งในการเข้ามาบำรุงร่ายกายเรานั้นให้ผลต่างกัน ทั้งในทางความรู้เชิงโลกเช่นกินเนื้อแล้วอาจจะเป็นมะเร็ง หรือกินผักแล้วถ่ายคล่อง หรือในทางธรรมคือบุญ บาป กุศล อกุศล คือการเบียดเบียนนี้สร้างทุกข์ หรือผลกระทบเท่าไร เช่นเรากินเนื้อวัว วัวเป็นสัตว์ที่มีบุญมาก มีพลังชีวิตมาก การจะฆ่าวัวมันจะเจ็บปวดทุกข์ทรมานมาก เราต้องรับกรรมส่วนนั้นมาด้วย
ในส่วนของการกินผัก ผักคือพืช พืชนั้นมีชีวิต แต่ไม่มีวิญญาณและเวทนา พืชไม่รู้สึกเจ็บ ไม่รู้สึกโกรธ ไม่แค้น ไม่อาฆาต สามารถเด็ดกิ่งไปชำได้ โตแล้วขยายพันธุ์ได้เรื่อยๆเพราะมันเป็นพืช ไม่ได้ใช้วิญญาณในการสังเคราะห์ร่างกาย แต่ใช้สัญญาในการสังเคราะห์เช่น เมื่อรดน้ำพืชจะดูดเอาน้ำไปสังเคราะห์รวมกับธาตุอื่นจนเป็นพลังงานขึ้นในตัว เกิดเป็นแป้ง เป็นเนื้อไม้หรืออื่นๆ ในกรณีของยางพืชที่ไหลออกเมื่อกรีดนั้นก็คือสัญญาที่มันรับรู้ว่าเมื่อลำต้นเป็นแผลก็ต้องหลั่งสารมาปิดแผล เป็นเช่นนี้เสมอมา ไม่มีพืชต้นไหนที่เคยงอนไม่ยอมหลั่งน้ำยาง หรือโกรธเราจนต้นเหี่ยวเฉาตายไปเอง แต่เป็นเพราะธาตุที่มาสังเคราะห์กันนั้นส่งผลให้มันโต ตรงไหนธาตุครบมันก็โตเหมือนกันหมด ไม่มีต้นไหนโตเอาใจเราเพราะรักเรา แต่มันโตเพราะได้ธาตุครบตามสัญญาที่มี
ดังนั้นเมื่อรู้ประมาณในเรื่องบุญบาปกุศลอกุศลแล้ว จึงใช้ความรู้เหล่านี้มาประมาณกรรมของตัวเอง ผู้มีปัญญาย่อมยึดอาศัยสิ่งที่ส่งผลต่อกรรมชั่วให้กับตัวเองน้อยที่สุด
ดังเช่นผู้ที่หมดกิเลสอย่างแท้จริง จะรู้ว่ากินเนื้อแล้วต้องทรมานร่างกายเช่นไร ได้รับผลกรรมเช่นไรบ้าง แต่บาปคือการสะสมกิเลสนั้นไม่มีแล้วเพราะไม่มีเชื้อกิเลสให้เพิ่ม กินเนื้อไปกิเลสก็ไม่เพิ่ม ดังนั้นจึงเหลือแต่กุศล อกุศลเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นคนที่มีชีวิตปกตินั้นก็ไม่จำเป็นต้องอนุโลมกลับไปกินเนื้อให้มันลำบากกายลำบากกรรม ส่วนคนที่หลงว่าบรรลุธรรมแล้วจะกินเนื้อกินผักให้พอดีนั้นนี้มันยังเห็นผิดอยู่มาก เพราะเอาผิดมาเป็นถูก เอากรรมชั่วเข้ามาใส่ตนโดยไม่จำเป็น
ถ้าจะให้เปรียบก็คงเป็น ความคิดประมาณว่า แหม…ช่วงนี้ชีวิตมันดีเหลือเกิน กินมังสวิรัติมาได้เป็นเดือนมีแต่เรื่องกุศล ว่าแล้วก็ชั่วเสียหน่อย กินเนื้อให้ชีวิตมันมีกรรมชั่วเข้ามาเสียหน่อยเดี๋ยวมันไม่เป็นกลาง …อันนี้มันก็ประมาทอยู่มาก เห็นผิดอยู่มาก เพราะกรรมมันไม่ได้มีแค่ในชาตินี้ชาติเดียว มันยังมีของเก่าที่ยังไม่ส่งผลอยู่ ผู้ดับกิเลสได้จริงจะเห็นถึงผลกรรมที่หนักหนา และก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะพิจารณาอนุโลมกลับไปกิน ท่านก็ยอมรับกรรมเหล่านั้นเพราะรู้ว่าแลกมาด้วยบางสิ่งซึ่งมีค่ากว่าจึงอนุโลมไปกิน
ไม่ใช่การตีกินของพวกหลงบรรลุธรรม ว่ากินเนื้อบ้างกินผักบ้าง ให้พอดีไม่ทรมาน ไม่ลำบาก การกินเนื้อสัตว์ไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับร่างกาย ไม่ได้เป็นกุศลใด ไม่ได้ช่วยให้ใครพ้นทุกข์ แถมตัวเองยังทำทุกข์ทับถมตัวเองไปเสียอีก
คนมีปัญญาจะสามารถรู้ได้ว่าเรารับมาเท่าไหร่ เราจ่ายออกไปเท่าไหร่ คือกินใช้เท่าไหร่ ทำประโยชน์ให้โลกมากเท่าไหร่ สิ่งไหนเป็นกำไรบุญ สิ่งไหนขาดทุน สิ่งไหนเป็นประโยชน์ สิ่งไหนเป็นโทษ แต่ถ้ามันหมดปัญญาขนาดเห็นว่าทำอะไรก็เบียดเบียนไปหมดแล้วไม่รู้จะหาทางออกยังไงเลยเบียดเบียนมันทุกอย่างนั่นแหละซึ่งใครจะคิดแบบนั้นก็คงช่วยไม่ได้
5).ปัญญากับมังสวิรัติ
การกินมังสวิรัติได้นั้นจำเป็นต้องศรัทธา มีปัญญาเป็นตัวเริ่ม คือเห็นความไม่ดีไม่งามของการกินเนื้อสัตว์ ปัญญาตรงนี้เป็นปัญญาตัวเริ่มไม่ใช่ตัวจบ เป็นปัญญาที่เป็นมรรคหรือเป็นทางเดินให้เราก้าวเข้าสู่การกินมังสวิรัติ
แต่ปัญญาที่เป็นมรรคนั้นไม่ได้หมายความว่าจะฉลาด รู้แจ้งทะลุปรุโปร่ง ก็รู้แค่เพียงว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดีด เป็นบาปกรรม ทำให้สุขภาพแย่ มันก็ได้เพียงแค่นั้น หลังจากกินมาได้สักพักจะนานเท่าไหร่ก็แล้วแต่ว่าจะกดข่มกิเลสไว้ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ถ้าล้างกิเลสไม่เป็นสุดท้ายจะหวนกลับไปกินเนื้อสัตว์
พอไม่ถึงผลที่แท้จริงมันจะเพี้ยนได้ปัญญาเฉโก ได้ปัญญาปนกิเลสไปแทน มันจะเข้าใจว่าปัญญาตัวนั้นคือตัวบรรลุธรรม จะเกิดสภาพหลอกๆเหมือนกับว่าปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติแล้วกลับมากินเนื้อได้อย่างเป็นสุข โดนกิเลสมันหลอกเข้าอย่างแนบเนียนที่สุด กิเลสผูกเข้ากับปัญญาเป็นเนื้อเดียวกัน พูดแล้วคนอื่นจะรู้สึกดูดีมีพลัง ฟังแล้วเหมือนคนบรรลุธรรม เหมือนคนหลุดพ้น จริงๆมันก็แค่พ้นจากทางสายกลางกลับไปเสพกามเท่านั้นเอง ทีนี้พอมาพูดให้คนที่มักกินเนื้อหรือกินมังสวิรัติไม่จริงจังกัน เขาก็จะเห็นดีด้วยชื่นชมกัน เพราะจริงๆแล้วก็ไม่มีใครอยากทรมานเพราะความอดอยากหรอก
การจะถึงผลที่แท้จริงถ้าเทียบอัตราส่วนก็สองต่อเส้นขนวัวทั้งตัว เป็นอัตราการประสบความสำเร็จที่ต่ำมาก เพราะไม่คบสัตบุรุษหรือผู้มีสัจจะแท้ กินมังสวิรัติเอาเอง เข้าใจธรรมเอาเอง คิดเอาเอง เดาเอาเอง พอได้เจอสภาวะหนึ่งก็หลงไปเองว่าบรรลุธรรม บางครั้งบางคนมีครูบาอาจารย์แต่ท่านเหล่านั้นกลับไม่ใช่สัตบุรุษ ไม่ใช่ผู้มีสัจจะ ไม่ใช่ผู้ดับกิเลสได้ ก็จะพากันเฉโก พากันหลงทางกันไปทั้งกลุ่มทั้งก้อนแบบนั้นเอง
เรื่องกิเลสนั้นเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ไขและขยายไว้อย่างละเอียดลออ ในบทของอวิชชา ๘ นั้นได้กล่าวไว้ว่า ถ้าไม่ได้คบหาสัตบุรุษย่อมไม่ได้ฟังสัจธรรม เมื่อไม่ได้ฟังสัจธรรมย่อมไม่เกิดศรัทธา เมื่อไม่เกิดศรัทธาย่อมไม่เกิดการพิจารณาลงไปถึงที่เกิด จึงไม่เกิดสติสัมปชัญญะ ไม่สำรวมตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ จนกระทั่งทำผิดทั้งกายวาจาใจ จนเกิดนิวรณ์ นำมาซึ่งอวิชชาในที่สุด
ดังนั้นเรื่องจะกินมังสวิรัติให้ถึงผลแท้จริงหรือการดับกิเลส โดยที่คิดเอาเอง ไม่มีครูบาอาจารย์ที่มีความรู้หรือมีสัจจะแท้ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ถ้าเห็นว่าเป็นไปได้แม้ไม่มีคนสอนก็จะมีสองกรณี หนึ่งคือเพี้ยนหลงว่าบรรลุธรรม สองคือมีธรรมนั้นในตัวมาอยู่แล้วเคยดับกิเลสนั้นๆมาก่อนแล้วในชาติก่อนภพก่อนกำเนิดก่อน
6). ทางสายกลวง
ทางสายกลางนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากแต่กลับเป็นสิ่งที่คนหลงผิดกันมากที่สุด ทางสายกลางนั้นมาจากบทหนึ่งของคำสอนในพุทธศาสนา คำว่ากลางนั้นไม่ได้หมายถึงกินเนื้อบ้างกินผักบ้างให้พอดี แต่เป็นกลางอยู่บนกุศลสูงสุด กลางด้วยปัญญา ไม่ใช่กลางแบบสบายๆ กินก็ได้ไม่กินก็ได้ อันนี้ถ้าตามหลักเขาจะเรียกพวกติดกาม คือกามสุขัลลิกะ คือโต่งไปในด้านเสพ แล้วอีกด้านหนึ่งก็คือโต่งไปในด้านการทรมานตัวเองด้วยอัตตาหรืออัตตกิลมถะ เช่นการพยายามฝืนกินมังสวิรัติด้วยความทรมานกายและใจ
คนที่อยู่บนทางสายกลางนั้นจะไม่ไปเสพเนื้อสัตว์ แต่ก็จะไม่ทุกข์กับการไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่กลางตามที่หลายคนเข้าใจ เพราะถ้าธรรมะมันง่ายขนาด 1+1 แล้วหารด้วย 2 เป็นกลาง พระพุทธเจ้าคงไม่ต้องลำบากถึงสี่อสงไขยกับแสนมหากัปหรอก ดังนั้นการเข้าใจคำว่าทางสายกลางจะคิดเอาเองไม่ได้นึกเอาเองไม่ได้ ต้องมีผู้ที่เข้าใจธรรมหรือบรรลุธรรมเป็นผู้ชี้แจงและแถลงให้เท่านั้น
คนที่เข้าใจว่าทางสายกลางคือไม่ยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติจนเกินไปแล้วผ่อนมากินเนื้อนั้น ขอสรุปตรงนี้เลยว่าเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะเป็นเพียงการปรับจากอัตตกิลมถะเข้าสู่กามสุขัลลิกะเท่านั้น คือมันลำบากใจก็ผ่อนกลับมากินแล้วก็สบายๆ มันก็เป็นการสนองกิเลสแบบสามัญธรรมดา เหมือนกับคนทั่วไปที่หิวแล้วไปกินข้าว ไม่ได้พิเศษอะไร ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร ไม่ได้มีสาระสำคัญใดๆ
7).กินมังเหยาะแหยะ
คนที่กินมังสวิรัติอย่างครึ่งๆกลางๆ กินบ้างไม่กินบ้าง กินเหยาะแหยะ กินมังสวิรัติแล้วก็กลับไปกินเนื้อ ไม่จริงจัง ไม่รู้สาระหรือประโยชน์ แม้ว่าจะกินมา 20 ปี 30 ปี หรือทั้งชีวิต ก็ไม่ก่อให้เกิดบุญเท่ากับผู้ที่ตัดสินใจเลิกเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตเพียงแค่หนึ่งเดือน
จริงอยู่ที่ว่าคนที่กินมานานนั้นทำความดีมามาก โดยรวบยอดแล้วกุศลจะมาก แต่บุญเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บุญนั้นคือการลดละกิเลส ดังนั้นจิตที่ตั้งใจว่าจะเลิกอย่างจริงจังนั้นหมายถึงความเข้มแข็งในจิตวิญญาณที่เข้มข้นจนกระทั่งตั้งตบะเลิกตลอดชีวิตเป็นความตั้งใจที่จะทำลายกิเลสนี้ให้สิ้นเกลี้ยง ถึงแม้ว่าจะทำจนถึงผลไม่ได้แต่ก็เป็นบุญที่มากกว่าในจิตวิญญาณที่มีความตั้งใจเช่นนั้นแล้ว
การบรรลุธรรมหรือการเข้าใจความจริงอย่างถ่องแท้ บรรลุสัจจะ เข้าใจโลก นั้นหมายถึงการตัดกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง ไม่ใช่แค่ระดับลด ละ แต่ต้องอยู่ในระดับที่เลิกไปเลย เลิกอย่างถาวรไม่มีความคิดที่จะกลับมากินอีกแม้น้อย ดังนั้นต่อให้กินมังสวิรัติมาทั้งชีวิต กินมาหลายภพหลายชาติ แต่ถ้าจบเรื่องกิเลสไม่เป็นมันก็เท่านั้นเป็นกุศลเกิดประโยชน์แต่ไม่เป็นบุญเพราะลดกิเลสไม่เป็น
คนที่จะสามารถอนุโลมได้อย่างไม่มีบาปนั้นคือผู้บริสุทธิ์ด้วยศีลมังสวิรัติ คือกินอย่างรู้สาระ และกินได้อย่างปกติ ไม่ใช่กินแบบงมงาย กินแบบเขาพูดกันมาว่าดี หรือกินเพราะสงสาร แต่ต้องรู้ไปถึงประโยชน์ขั้นปรมัตถสัจจะด้วย จึงจะเรียกได้ว่าอนุโลม ถ้ายังไม่ถึงระดับนั้นจะเรียกว่าตีกิน เนียนกินตามกิเลสโดยหาข้ออ้างที่ทำให้ตัวเองดูฉลาดเพื่อให้ได้กินเนื้อสัตว์
ถ้าลองให้คนที่หลงว่าบรรลุธรรมแล้วกลับไปกินเนื้อสัตว์เลิกเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต กิเลสของเขามันก็หาข้ออ้างที่ดูฉลาดๆเหมือนคนกินเนื้อนั่นแหละ สุดท้ายคนที่หลงว่าบรรลุธรรมกับคนยังอยากกินเนื้อมันก็เหมือนๆกัน คนที่ยังอยากกินเนื้อยังดีเสียกว่าด้วยซ้ำเพราะว่ายังรู้ว่าตัวเองอยาก การรู้ว่ากินเพราะอยากก็เป็นความเจริญอยู่บ้าง แต่อยากกินแล้วไม่รู้ว่าอยากกินนี่ไม่รู้ว่าจะเปรียบกับอะไร
8). กินอยู่อย่างพอดี
หลายคนที่กินมังสวิรัติแล้วหย่อนลงมากินเนื้อสัตว์อาจจะเพราะพบว่าเป็นทางที่สุขกว่า พอดีกว่า เห็นผลดีกว่า ที่มันสุขเพราะมันมีกิเลสมันเลยสุข ถ้าคนไม่มีกิเลสไปกินเนื้อมันจะไม่มีมีรสสุขและเขาจะไม่ไปกินให้ลำบากกายลำบากใจตัวเอง
ทีนี้ผู้หลงบรรลุธรรมแล้วเสพทั้งเนื้อสัตว์และผักก็จะหลงยึดว่านี่คือสิ่งที่ดี ความพอดี ความสมดุลนี่เองคือสิ่งที่เรียกว่าพอดี มันต้องแบบนี้ ดูๆแล้วเหมือนว่าจะดีแต่ก็ไม่ต่างกับคนทั่วไปที่กินเนื้อสัตว์และกินผักสักเท่าไหร่ พูดมาก็จะเหมือนๆกัน สรุปว่ามังสวิรัติที่กินไปก่อนหน้านั้นมีอะไรเจริญขึ้นบ้าง ปัญญาในการเริ่มต้นมันมีนะ แต่ปัญญาในตอนจบมันไม่มี มันเสื่อมถอยกลายเป็นเหมือนคนกินเนื้อสัตว์ไปอย่างนั้น จะว่าสูงสุดคืนสู่สามัญมันก็ไม่ใช่ เพราะมันก็ไม่ได้ไปสูงอะไร แค่กินมังสวิรัติวัวควายมันก็กินได้ มันกินมาทั้งชีวิตก็ไม่เห็นมันจะเจริญอะไรขึ้นมา คนกินมังสวิรัติที่ไม่รู้สาระก็เช่นกัน กินผักกินหญ้าไปมันก็ดำรงชีวิตได้เหมือนกินเนื้อนั้นแหละ คนที่ไม่รู้สาระไม่รู้สัจจะเขาก็ไม่คิดมากกินเนื้อกินผักไปทำบาปทำกุศลไปตามประสาคนโลกียะ
ส่วนคนที่กินมังสวิรัติแล้วหาสาระไม่เจอ สุดท้ายก็จะเสื่อมลงมาเหมือนกับคนกินเนื้อกินผักทั่วๆไปนี่เอง จะว่าสูงกว่าคนกินเนื้อกินผักมันก็คงจะไม่ใช่ เพราะเวลาร่วงลงมามันจะมีอัตตาติดมาด้วย มันจะยึดดี หลงว่าดี หลงว่าฉันนี่บรรลุธรรม ฉันนี่เคยกินมังสวิรัติมาแล้วและพบว่ามันไม่พอดี ต้องกินเนื้อกินผักสิจึงจะพอดีอัตตานี้เองจะเป็นตัวกั้นไม่ให้ผู้หลงว่าบรรลุธรรมเข้าถึงสิ่งที่ดีสิ่งที่มีประโยชน์เพียงแค่เพราะมีอัตตาว่า “ฉันก็เคยมาแล้ว” ทำให้ต้องติดอยู่ในอวิชชามากกว่าผู้ที่กินเนื้อกินผักทั่วไปด้วยซ้ำ
9).มังสวิรัติบารมี
ถ้ามองกันแบบชาวบ้าน มองกันทั่วไปแล้วเวลาเราไปกราบไหว้พระทำบุญกับนักบวช คิดว่าใครน่าศรัทธากว่ากันระหว่างพระที่ละเว้นเนื้อสัตว์กินมังสวิรัติได้ กับพระที่กินเนื้อกินผัก เอาแค่ข้อมูลเท่านี้นะ ไม่ต้องคิดถึงข้อมูลอื่น ไม่ต้องคิดถึงชื่อเสียงบารมี เราก็มักจะมองว่าพระรูปที่ละเว้นเนื้อสัตว์ได้น่าเคารพกว่าจริงไหม
หรือถ้าให้ชัดเลย คือระหว่างพระที่ฉัน 2 มื้อกับมื้อเดียวนี่แบบไหนน่าศรัทธาน่าเคารพกว่ากัน เอาข้อมูลแค่นี้นะ มันก็น่าจะเป็นฉันมื้อเดียวจริงไหม เพราะทำได้ยากกว่า ขัดกิเลสมากกว่า อดทนมากกว่า
ทีนี้ด้วยความที่คนมีกิเลสมากก็จะหาข้ออ้างต่างๆนาๆเพื่อที่จะกลบกองกิเลสของตนไว้ให้ดูสวยงาม แต่ยิ่งทำก็เหมือนช้างตายแล้วเอาใบบัวมาปิด คนตาดีเขาก็มองออกว่านั่นคือกิเลสนะ กลิ่นมันออก ภาพมันฟ้อง แต่คนที่มีกิเลสก็พยายามจะปิดไว้แล้วบอกมันไม่ใช่ความอยากไม่ใช่กิเลส เราพอดี เราปล่อยวาง เราเพียงเลี้ยงธาตุขันธ์ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่ความฉลาดของกิเลส
พอโดนไล่ไปมากๆคนมีกิเลสก็จะเริ่มทำลายบารมีของคนมีศีล ของคนที่ถือศีลมังสวิรัติ เช่นกินมังฯกินเนื้อมันก็เบียดเบียนเหมือนกันแหละ , คนเราทำลายกิเลสที่จิต จะกินก็ได้, กินด้วยจิตว่างก็ได้ , เรากินไปไม่ยึดมั่นถือมั่น คนกินมังฯสิยึดมั่นถือมั่น , กินผักทำลายโลก , กินผักทำให้คนอื่นลำบาก ฯลฯ อันนี้เป็นกลยุทธ์ของคนกิเลสหนาซึ่งพยายามจะดึงคนที่มีศีลลงต่ำ ทำให้การกินมังสวิรัติดูโง่ ดูไม่ดี ดูเป็นเรื่องธรรมดา ดูเป็นเรื่องงมงาย ดูเป็นเรื่องไม่จำเป็นหากอยากจะบรรลุธรรมหรือบรรลุอะไรก็ตามแต่จะเรียก
ว่ากันตามจริงเรื่องกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์นี่มันเป็นกิเลสหยาบๆ ในระดับรุนแรงเพราะต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ถ้ายังละ ยังวางไม่ได้ก็อย่าพึ่งไปคิดบรรลุธรรมให้มันลำบากเลย เดี๋ยวมันจะยิ่งเพี้ยนไปไกล เพราะหลงว่าบรรลุธรรมมันก็หนักหนาพออยู่แล้ว อย่าไปเพิ่มบาปให้กับตัวเองอีกเลย
พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ดังนั้นคนที่ละเว้นศีลก็ยากที่จะมีปัญญา เพราะศีลนี้เองคือสิ่งที่ขัดเกลาปัญญา ปัญญาคือสิ่งที่ทำให้เราคิดถึงศีล และศีลสมาธิปัญญานั้นเป็นไปในทางเดียวกัน เป็นก้อนเดียวกัน ไม่แยกกันปฏิบัติ ไม่ขาดออกจากกัน
หากจะบอกว่าไม่มีศีลก็มีปัญญาได้ หรือมีสติก็มีปัญญาได้ มันก็เดาเอา มั่วเอา ปฏิบัติไม่ครบองค์ประกอบ ฟังเขามา ยืมเขามา แล้วก็หลงบรรลุธรรมตามเขา คือหลงกันไปทั้งสายทั้งคณะนั่นแหละ คล้ายๆกับธุรกิจขายตรงบางเจ้าที่อุปโลกน์ยศ ตำแหน่ง ชื่อเสียงขึ้นมา เพื่อปลุกเร้าให้คนหลงยึดหลงอยากได้นั่นแล เรื่องทางธรรมก็เช่นกัน ยศ สภาวะ ตำแหน่ง ระดับธรรมมันก็ปั้นขึ้นมาเป็นแบบโลกๆได้ อธิบายได้ อ้างอิงได้ ทำวิจัยได้ เชื่อถือได้ ยอมรับได้ แต่แค่มันไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนเท่านั้นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
2.12.2557