Tag: ตรวจสอบวิมุตติ
คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ
คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ
ในกลุ่มของมังสวิรัติวิถีพุทธ เราจะใช้การฝึกและปฏิบัติไปในแนวทางของศาสนาพุทธ คือเพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ เพราะเป้าหมายของการเป็นมังสวิรัติในความหมายของมังสวิรัติวิถีพุทธ คือผู้ที่ไม่มีความอยากกินเนื้อสัตว์หลงเหลืออยู่ในจิตวิญญาณเลย
เมื่อเราพูดถึงเรื่องของการกำจัดความอยาก การละความอยาก หรือการทำลายกิเลสนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความรู้และความเข้าใจในศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือ เป็นกระบวนการ เป็นเครื่องตรวจสอบ ฯลฯ
ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นต้องเรียบเรียงธรรมะเข้ากับการกินมังสวิรัติ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติหรือ “มังสวิรัติวิถีพุทธ” ด้วยองค์ความรู้ใน 9 หมวดหมู่ดังนี้
1 ). ทาน ศีล ภาวนา… เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ
การเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในมังสวิรัติวิถีพุทธ ต้องเริ่มตามลำดับจากการรู้จักการให้ทาน การถือศีล ไปจนกระทั่งการภาวนา
การให้ทานที่รู้กันโดยทั่วไปนั้นคือการทำบุญทำทาน การสละสิ่งของ ในกรณีเริ่มต้นก็จะเป็นการทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ ส่งเสริมการกินมังสวิรัติ ให้ความรู้มังสวิรัติกับคนอื่น แต่ทานที่จะให้ผลมากนั้นคืออภัยทาน คือทานที่ไม่มีภัย เป็นทานที่สละกิเลส สละความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ออกไป โดยใช้กระบวนการของการถือศีล และภาวนา
การถือศีลคือความตั้งมั่นที่จะลด ละ เลิก การเสพ การติดการยึดความสุขจากการกินเนื้อสัตว์ อย่างจริงจังในช่วงใดช่วงหนึ่งหรือตลอดไปการถือศีลมีหลายลักษณะ เช่น การถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ,การถือศีลเหยาะแหยะ , การถือศีลเพื่อฆ่ากิเลส การถือศีลหรือเข้าใจศีลแต่ละแบบเป็นไปตามบุญบารมีที่แต่ละคนได้สะสมมา
ศีลเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้เห็นกิเลส ให้เห็นว่ายังมีบาป บาปคือการสะสมกิเลส การที่ไม่ถือศีลก็เหมือนคนที่ทำบาปแต่ไม่รู้ว่าบาป บาปนั้นมีอยู่เพียงแต่ไม่เห็น
การภาวนาคือการทำให้เกิดผลเจริญ เป็นการพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นกิเลสที่หยาบ ร้าย สร้างทุกข์ โทษ ภัยผลเสียอย่างไรโดยเริ่มเรียนรู้สุขจากความอยากเสพ ทุกข์จากความอยากเสพ และวิธีดับทุกข์คือการล้างความอยากเสพนั้น
ผู้ที่จะเริ่มเข้าสู่การปฏิบัติมังสวิรัติวิถีพุทธควรจะเริ่มเรียนรู้จากทาน ศีล เจริญมาจนถึงภาวนา การจะรู้และเข้าใจการภาวนาได้นั้น เกิดจากการที่เราได้ปฏิบัติทานและศีลมาด้วยบุญบารมีที่เต็มรอบ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงภาวนาได้ บางคนติดอยู่ที่ระดับทาน บางคนติดอยู่ที่ระดับศีล สามารถสังเกตได้จากเขาเหล่านั้นไม่ยินดีประพฤติธรรมที่สูงกว่า เจริญกว่า ดังนั้นใครอยู่ในฐานใดก็ควรจะปฏิบัติตามฐานของตน เป็นกรรมฐาน เป็นฐานะตามกรรมของตัวเอง
2 ). ศีล สมาธิ ปัญญา… เป็นกระบวนการปฏิบัติ
ศีล สมาธิ ปัญญานั้นเป็นการปฏิบัติที่เป็นไปในทางเดียวกัน ไม่แยกจากกัน ปฏิบัติอย่างสอดคล้องกัน ไม่มุ่งเน้นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ผลักไสสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ปฏิบัติไปพร้อมๆกัน เป็นองค์ประกอบเดียวกัน
เริ่มจากการปฏิบัติศีล ศีลของมังสวิรัติวิถีพุทธก็คือ การละเว้นจากการเบียดเบียน ซึ่งเป็นศีลข้อ ๑ ที่ให้ละเว้นการฆ่าสัตว์ แต่เป็นศีลที่อยู่ในระดับของอธิศีล คือละเอียดกว่าทั่วไป ยากกว่าทั่วไป เพราะนอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้ว เรายังไม่เบียดเบียนด้วย และเรายังต้องมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายด้วย สภาวะเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะคิดเอาได้ แต่ต้องเกิดจากการปฏิบัติศีล อย่างมีสมาธิ จนเกิดปัญญา
การตั้งศีลนั้นเริ่มจากมีปัญญา เข้าใจถึงประโยชน์ของศีล หากไม่มีปัญญาก็จะไม่ยินดีในการถือศีล เมื่อถือศีลแล้วจึงปฏิบัติศีลนั้นด้วยความตั้งมั่น มั่นคงในศีล มีสมาธิ มีสติ มีขันติ เพื่อดำรงให้ศีลไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย ใช้ปัญญาพิจารณาโทษของการมีความอยากเสพเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปัญญาที่เป็นมรรค กลายเป็นปัญญาที่เป็นผลเจริญ คือเข้าใจได้ตามจริงโดยไม่มีกิเลสมาปนเปื้อนว่า ความอยากเสพเนื้อสัตว์ มีทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย อย่างไร
เมื่อปฏิบัติศีล ด้วยสมาธิ และมีปัญญาแล้ว ผลสุดท้ายที่ได้คือมีสภาวะของศีลในจิตใจอย่างเป็นปกติ ถือศีลได้ปกติ ถือเหมือนไม่ได้ถือ มีอยู่แต่ไม่ได้ถือ ไม่ลำบากในการมีศีล เหมือนสิ่งที่รวมเข้าไปในวิญญาณ มีความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์เป็นเรื่องปกติในชีวิต และมีปัญญาในการหลีกหนีสถานการณ์ที่ต้องไปกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีศิลปะ
3 ). สมถะ วิปัสสนา… เป็นแนวทางปฏิบัติ
การปฏิบัติธรรมนั้น จำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องของสมถะ วิปัสสนาด้วย เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราไปสู่จุดหมายได้ง่ายขึ้น
สมถะ คืออุบายทางใจ โดยทั่วไปจะเป็นการฝึกจากการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ซึ่งโดยหลักของสมถะแล้ว เป็นการกำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง จุดใดจุดหนึ่ง เราสามารถประยุกต์สมถะเข้ากับชีวิตประจำวันได้ เช่น การทำอาหาร การล้างผัก การหั่นผัก หรือกิจกรรมที่เป็นไปในลักษณะซ้ำๆ มีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการฝึกสมถะทั้งสิ้น
สมถะ นี้คืออุปการะของการวิปัสสนา เป็นส่วนเสริมพลังให้กับการวิปัสสนาได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มพลังสติ พลังสมาธิ ที่ช่วยในการกดข่มความอยาก ดับความคิดที่ฟุ้งซ่านได้ดียิ่งขึ้น ผู้ที่ต้องการบรรลุธรรมไวก็จะทำสมถะไปควบคู่กับการวิปัสสนา
วิปัสสนา คืออุบายทางปัญญา เป็นการพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง เมื่อเรามีความอยากเสพเนื้อสัตว์อยู่ เราก็จะมีความลำเอียงไปเพราะรักและหลงในเนื้อสัตว์ วิปัสสนาจะเข้ามาแก้ไขความเห็นผิดในจุดนี้
การทำวิปัสสนานั้นกระทำโดยใช้พื้นฐานของการถือศีลกินมังสวิรัติให้ได้เห็นกิเลส เมื่อเราถือศีลเราจะเห็นทุกข์จากกิเลส คือความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ชัดเจน เมื่อเห็นดังนั้นจึงพิจารณาทุกข์จากความอยากเสพเนื้อสัตว์ เช่นทุกข์เมื่อไม่ได้กินและทุกข์เมื่อไม่ได้เสพเนื้อที่อร่อยสมใจ
พิจารณาความไม่เที่ยงของความสุขที่ได้จากความอยากเสพเนื้อสัตว์ แม้ว่าเราจะอยากกินเนื้อสัตว์มากๆแล้วไปเสพ มันก็จะมีความสุขได้ครู่เดียว สุขตอนที่เอาเข้าปาก ตอนที่เคี้ยว พอกินอิ่มสุขนั้นก็หายไป ไม่เหมือนตอนกิน อีกไม่นานก็อยากกินเนื้อสัตว์ใหม่ สุขจากเสพมันไม่เที่ยงแบบนี้
พิจารณาความไม่มีตัวตนแท้ของกิเลส คือความอยากเสพเนื้อสัตว์นี้ จริงๆมันไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่เราไปหลงยึด หลงติดมาเป็นตัวเราของเรา หลงยึดว่าได้เสพเนื้อสัตว์แล้วจะมาความสุข หลงยึดว่าหากเราไม่มีกิเลสตัวนี้เราจะทุกข์ แท้จริงแล้วกิเลสนี่แหละตัวทำให้ทุกข์ และกิเลสไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กิเลส เราสามารถทำลายกิเลสนี้ได้ ผลักไสมันออกจากตัวเราได้
พิจารณาประโยชน์ของการไม่มีความอยากเสพเนื้อสัตว์และโทษจากความอยากเสพเนื้อสัตว์นั้น โดยพิจารณาไปตามความเป็นจริง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง และโทษที่เกิดขึ้นจริง
พิจารณากรรมและผลของกรรม หากเรายังมีความอยากเสพเนื้อสัตว์ จะสร้างผลกรรมให้เราอย่างไรบ้าง จะต้องรับวิบากกรรมไปอีกเท่าไหร่ กรรมที่เราต้องรับจะคุ้มค่ากับความอยากเสพของเราแค่ไหน
การวิปัสสนานั้น เป็นการพิจารณาธรรม ซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ เพื่อให้กิเลส จางคลาย ลด หด หายไปตามลำดับ มิใช่ทำเพื่อบรรลุธรรมโดยทันที เพราะการบรรลุธรรมโดยทันทีนั้นไม่มีทางเกิดได้หากไม่ได้สะสมบุญบารมีมาแต่ปางก่อน ผู้ที่ยังมีบุญน้อย มีกุศลน้อย นั่นเพราะเขาลดกิเลสมาน้อย สะสมกิเลสมาเยอะ ดังนั้นการล้างกิเลสจึงจำเป็นต้องใช้เวลามาก ไม่ควรหวังผล หรือเร่งผลจนเกินไป
4 ). ไตรสิกขา… เป็นขั้นตอนการปฏิบัติ
ไตรสิกขา คือการศึกษาสามอย่าง อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา …อธิ แปลว่ายิ่งขึ้น การใช้ไตรสิกขาในการกินมังสวิรัติก็คือการยกระดับการกินมังสวิรัติให้เบียดเบียนน้อยลง เช่น ตอนแรกเราลดเนื้อวัว พอทำให้ความอยากจางคลายได้เราก็มาลดเนื้อหมู ลดเนื้อไก่ ลดปลา ลดกุ้ง ลดปลาหมึก ลดลูกชิ้น ลดขนมที่มีรสของเนื้อสัตว์ ลดไข่ ลดนมวัวฯลฯ
คือการพัฒนาขอบเขตของศีลขึ้นไป เมื่อเราขยายของเขตของศีล หรือการละเว้นต่างๆขึ้นไป เราก็ต้องขยายขอบของสมาธิ และปัญญาด้วย เพื่อที่จะปฏิบัติศีลนั้นให้เจริญไปถึงผลของศีลนั้นๆได้ เมื่อปฏิบัติได้ก็ขยับเพิ่มศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ
5 ). ลด ละ เลิก ไปตามลำดับ…เป็นลำดับการปฏิบัติ
การปฏิบัติไตรสิกขาในระดับย่อย ของความอยากเสพเนื้อสัตว์ในแต่ละชนิด ยกตัวอย่างเช่นเนื้อวัว อธิศีลของคนที่เสพติดเนื้อวัวมากๆก็คือการลด คือลดปริมาณการเสพเนื้อวัว หันมากินผักให้มากขึ้น หรือเสพเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆไปก่อน เช่น ไก่ หรือปลา (เราต้องแก้โจทย์ไปทีละตัว ในตอนนี้คือเนื้อวัว)
เมื่อลดเนื้อวัวได้แล้ว เราก็จะมาละเนื้อวัว อาจจะละในชนิดของเนื้อวัวเช่น สเต็กไม่กิน แต่ถ้าในก๋วยเตี๋ยวก็อาจจะพอเสพอยู่ หรือใช้การละเป็นช่วงเวลาเช่น วันจันทร์-ศุกร์ไม่กินเนื้อวัว , สัปดาห์นี้ไม่กินเนื้อวัว , เดือนนี้ไม่กินเนื้อวัว , ปีนี้ไม่กินเนื้อวัว ลองหัดละ หัดพรากจากเนื้อวัวดู
หากเรารู้สึกไม่ทุกข์ทรมานจากการละก็ให้ตั้งศีลเลิกเนื้อวัวไปเลย ตั้งใจว่าจะเลิกทั้งชีวิตไปเลย จากนี้และตลอดไปจะไม่มีวันอยากกินเนื้อวัวอีกเลย จะไม่สั่ง ไม่หยิบ ไม่เอาเนื้อวัวเข้าปากอีกเลย เมื่อตั้งศีลได้ดังนี้ก็จะเห็นกิเลสในระดับละเอียดขึ้นไปอีก ก็พิจารณาฆ่ากิเลสต่อไป
การปฏิบัติไปตามลำดับนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะมีการเจริญขึ้นตลอดเวลา บางครั้งเราก็อาจจะมีแรงไม่พอที่จะสู้กิเลสซึ่งก็ต้องถอยกลับมากินเนื้อสัตว์บ้างเพื่อไม่ให้ทุกข์ทรมานจิตใจมากเกินไป หรือแม้กระทั่งเนื้อสัตว์บางชนิดที่ติดมากๆ ก็ให้ละเว้นการตั้งศีลละเนื้อสัตว์ชนิดที่ติดมากไปก่อน ให้ปฏิบัติกับเนื้อสัตว์ที่ติดไม่มากไปก่อน เพราะการตั้งศีลที่ยากเกินกำลังนั้นนอกจากจะปฏิบัติยากแล้ว อาจจะทำให้ท้อแท้ต่อการปฏิบัติธรรมไปเลยก็ได้
6 ). ทางสายกลาง… เป็นขอบเขตของการปฏิบัติ
คำว่าทางสายกลางนั้น เป็นการปฏิบัติที่ไม่โต่งไปในสองด้าน ด้านหนึ่งคือความอยากเสพเนื้อสัตว์ อีกด้านหนึ่งคือการทรมานตัวเองด้วยความยึดดีถือดี อยากกินเนื้อสัตว์แล้วอดทนจนทรมาน เพราะมีความอยากเสพแรงแต่อดกลั้นไม่ไปเสพ
ในด้านของความอยากเสพเราจะเรียกว่า “ กาม ”(กามสุขัลลิกะ) เราจำเป็นต้องละเว้นกามก่อน เพราะกามนี้เองคือสิ่งที่ผลักดันให้เราไปเบียดเบียนผู้อื่น ไปกินเนื้อสัตว์ ไปหลงงมงายอยู่ว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี สิ่งเลิศ สิ่งจำเป็น เราขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ เราจึงต้องละเว้นจากทางโต่งด้านนี้เสีย
ในด้านการทรมานตัวเองด้วยความยึดดีเราจะเรียกว่า ” อัตตา ” (อัตตกิลมถะ)เมื่อเราละเว้นกามจนเกินพลังของเรา บางครั้งจะเข้าไปในขีดของการทรมานตัวเอง เพราะความยึดดี ถือดี อยากเสพมากแต่ก็ไม่ไปกิน ทำให้เครียด ทำให้กดดัน ทำให้ท้อ ทำให้ทุกข์ อัตตานี้เองคือการเบียดเบียนตัวเอง เพราะมีความยึดดีถือดี เมื่อมีความอยากเสพเกินกำลังและมากจนเริ่มเครียด เริ่มทรมาน เราจึงควรลดอัตตาลง ไปเสพเนื้อสัตว์เพื่อให้คลายความทรมานบ้าง
ทั้งนี้คนที่ยึดมั่นในอัตตา เพราะมีความถือดี คิดว่าตัวเองทำดีได้มากกว่านั้น เป็นความโลภ ความอยากได้การบรรลุธรรมที่เกินฐานะของตัวเอง เกินกว่าที่ตัวเองทำมา กิเลสมีพลังมหาศาล แต่คิดเพียงว่าจะอดเอาทนเอา ซึ่งเมื่อจิตใจเข้าสู่สภาวะของอัตตาเมื่อไหร่ ก็เรียกได้ว่าปิดประตูบรรลุธรรม นั่นหมายความว่าถึงจะอดเอาทนเอา แต่ถ้าเกินความพอดีก็ไม่บรรลุธรรมเหมือนกัน การมีอัตตาจึงไม่มีประโยชน์ใดๆ มีเพียงคนโง่เท่านั้นที่จะยึดไว้
ในการปฏิบัติสู่ทางสายกลางหรือสัมมาอริยมรรคนั้น ต้องปฏิบัติไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป ไม่เสพเนื้อสัตว์ และไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ในขณะที่ปฏิบัติมรรคไปในเวลาเดียวกันจึงจะเกิดความเจริญ ในช่วงที่ปฏิบัติและยังไม่ถึงผลนั้น ก็จะเหมือนคนเดินเซ ซ้ายที ขวาที แต่ถ้าปฏิบัติจนล้างกิเลสได้ กิเลสตายแล้ว จะเข้าสู่สภาพของมรรคเอง
7 ). ข้ามกิเลส ข้ามสามภพ… เป็นจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ
การข้ามกิเลสนี้ เราจำเป็นต้องรู้ว่ามีกิเลส ซึ่งเป็นแรงผลักดัน เป็นเหตุแห่งทุกข์อยู่ 4 หมวด คือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม และอัตตา
อบายมุข คือการที่เราไปเสพติดเนื้ออย่างลุ่มหลง มัวเมา เช่นการตามไปกินเนื้อสัตว์ตามที่เขานิยม เดินทางไปเสาะหาร้านเนื้อสัตว์ที่มีชื่อเสียงเพราะหลงมัวเมาในความเป็นเนื้อ หลงว่าการกินเนื้อคือความสุข ความเจริญ
กามคุณ คือ กิเลสในระดับที่เราติดรส ไม่ได้ตระเวนไปเสาะหาเนื้อที่ดีเลิศ แต่เมื่อมีโอกาสจะสั่งเนื้อสัตว์ที่ชอบตลอดเพราะหลงในรส หลงในสัมผัสของเนื้อ
โลกธรรม คือการที่เราไปติดกับคำพูดของคนอื่น ในกรณีที่เลิกยังไม่เลิกเสพ ก็จะไปติดกับคำพูดคนอื่นจนไม่เลิกเสพ ในกรณีที่เราไม่กินเนื้อแล้ว เราก็มักจะกลับไปกินเนื้อเพราะความเกรงใจคนอื่น กลัวคนอื่นลำบากใจ กลัวเป็นคนยุ่งยากเรื่องมาก กลัวและกังวลต่อความคิดเห็นของคนอื่น
อัตตา คือการที่เราไปยึดเนื้อสัตว์ไว้เป็นเสมือนสิ่งจำเป็นในชีวิตของเรา เช่น เราจำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วไม่แข็งแรง ฉันชอบกินเนื้อสัตว์ ฉันเป็นสัตว์กินเนื้อ และเมื่อเราข้ามความอยากกินเนื้อสัตว์ไปแล้วจะไปเจออัตตาในมุมของนักมังสวิรัติผู้ยึดดีถือดี
การข้ามสามภพ … สามภพนั้นคือสภาวะที่เราติดกิเลสอยู่ในสามลักษณะ ในส่วนแรกคือกามภพ คือการที่เรายังไปเสพ ไปกินเนื้อสัตว์อยู่ ถ้าเรายังไปเสพไปกินด้วยความอยากกิน ไม่ว่าในกรณีใดๆ เราก็ยังอยู่ในกามภพ
รูปภพ คือสภาพที่เจริญขึ้นมาจากกามภพ เป็นสภาวะที่ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้ว สามารถอดกลั้นได้ แต่หากเห็นเนื้อสัตว์ที่ชอบก็จะมีอาการอยากเกิดขึ้นจนรู้สึกได้ มีความคิดที่จะไปกินเนื้อสัตว์ มีความคิดถึงเนื้อสัตว์นั้นเป็นรูปที่สัมผัสได้ชัดเจน ดังเช่น การปรุงแต่งความคิดภายในใจประมาณว่า “เนื้อชิ้นนี้น่าอร่อยจัง แต่เราต้องอดไว้ทนไว้”
เมื่อผ่านรูปภพได้แล้ว จะเข้าสู่อรูปภพเป็นสภาวะที่เห็นเนื้อสัตว์ที่ชอบแล้วก็จะไม่มีการปรุงแต่งความนึกคิดหรือคำพูด หรือการกดข่มใดๆอีก คือไม่มีรูปให้เห็น ไม่เห็นกิเลสเป็นตัวชัดๆแล้ว แต่จะเหลือความขุ่นใจ กังวลใจ ห่วงหา เป็นความไม่โปร่งไม่โล่ง ไม่สบายใจ แต่ไม่ออกมาเป็นรูปของคำว่า “อยากกินเนื้อ” จะเหลือแต่อารมณ์ขุ่นๆ ไม่ใส ซึ่งยากต่อการรู้และตรวจสอบ เมื่อเข้าสู่ภาวะของอรูปภพ คนมักจะประมาทหลงว่าบรรลุธรรมแล้ว ซึ่งการข้ามอรูปภพนี้แหละคือโจทย์ปราบเซียน โจทย์สุดท้ายก่อนถึงวิมุตติ
สามภพนี้เราควรละเสียให้หมด เพราะถ้าทำลายไม่หมด แม้จะเจริญได้ถึงอรูปภพแล้ว แต่ประมาทสะสมกิเลส ก็วนกลับไปกามภพได้เช่นกัน แต่ถ้าเราเพียรพยายามละทั้งสามภพนี้เสียจะพ้นสภาพของความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างถาวร ไม่กลับกำเริบอีก
8 ). ทำลายอัตตา… เป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติ
เมื่อเราล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์ หรือมีความตั้งใจที่ละเว้นเนื้อสัตว์แล้ว เราจะเกิดความยึดดีถือดีขึ้นมา เรียกว่าอัตตา อัตตานี้เองคือสิ่งที่จะช่วยให้เราออกจากความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ เพราะการที่เราจะออกจากความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้นั้น เราจะต้องเกลียดเนื้อสัตว์ เห็นโทษของเนื้อสัตว์ เมื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์จะได้อัตตาก้อนโตมาหนึ่งก้อน
เมื่อมีอัตตาก้อนโต ก็มักจะไปดูถูกคนที่ยังกินเนื้อ ยกตนข่มท่าน โอ้อวด หัวดื้อ ฯลฯ เรียกได้ว่าออกจากนรกเนื้อสัตว์ได้เราก็จะได้คนติดดีมาหนึ่งคน ซึ่งนั่นก็ชั่วอยู่นั่นเอง เพราะคนติดดีนี่แหละที่จะทำลายความสามัคคี ทำลายกลุ่ม แบ่งคนออกเป็นสองพวก เพราะมีความยึดดี ถือดี หลงว่าตนเป็นคนดี
คนติดดีในมังสวิรัติ ในบางครั้งนอกจากที่เขามักจะไปข่ม ไปแขวะ ไปทำร้ายทำลายใจคนที่ยังกินเนื้อสัตว์แล้ว ความถือดีเหล่านั้นยังมักจะมาทำร้ายผู้ที่กินมังสวิรัติด้วยกันด้วย เช่นพอหลงว่าตนเก่งตนดี ก็มักจะข่มคนที่กินมังสวิรัติได้ด้อยกว่า หรือถ้าเห็นใครเป็นมังสวิรัติแล้วผิดกฎที่เขาตั้งไว้ เขาก็มักจะทำตัวเป็นผู้พิพากษามังสวิรัติ ด้วยความยึดดีถือดีในตัวเขานั่นเอง
ความยึดดีถือดีถ้ามีมากขนาดนี้เรียกได้ว่าโง่สุดโง่ เพราะแทนที่จะชวนคนกินเนื้อมากินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา แทนที่จะส่งเสริมให้คนหัดกินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา แทนที่จะเห็นดีกับเพื่อนที่กินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา เรียกได้ว่าทำกรรมชั่วกับคนดี แล้วแบบนี้บาปและอกุศลกรรมจะไปไหนเสีย
คนที่ยังเบียดเบียนคนอื่นด้วยอัตตา หรือความยึดดีของตัวเอง ก็ยังถือว่าเป็นการเบียดเบียนสัตว์โลกอยู่นั่นเอง แม้ว่าจะไม่ได้ไปเบียดเบียนสัตว์ แต่ก็ไปเบียดเบียนคนอื่น มันก็ยังชั่วอยู่นั่นเอง จะเรียกว่าคนดีนั้นเป็นไปไม่ได้เลย
คนกินมังสวิรัติที่มีอัตตามากๆ เวลาเห็นสัตว์ถูกทรมานแล้วจะเกลียด เห็นอาหารเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนกินเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนกินมังสวิรัติที่ไปกินเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนอื่นผิดหมด ตัวเองถูกและดีอยู่คนเดียว สร้างความทรมานใจให้ตัวเอง แถมบางครั้งยังไปทำร้ายจิตใจคนอื่น เป็นนรกล้วนๆ
การที่ยังมีอัตตาอยู่แม้น้อย นั่นคือตัวกันไม่ให้เราบรรลุธรรม ในมังสวิรัติวิถีพุทธ การที่เราจะถึงเป้าหมายปลายทางคือความผาสุกจากการหมดสิ้นกิเลส เราจำเป็นต้องล้างกาม และอัตตาจนสิ้นเกลี้ยง
9 ). ตรวจสอบวิมุตติ … เป็นที่สุดของการปฏิบัติ
เป้าหมายของมังสวิรัติวิถีพุทธคือวิมุตติ หรือสภาพของการหลุดพ้นกิเลส คือหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ทุกข์ ไม่ทรมาน แม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ หรือเห็นว่าคนอื่นกินเนื้อสัตว์ ไม่ติดดี ยึดดี ถือดี ในเรื่องของเนื้อสัตว์ ใครจะกินมังสวิรัติก็ได้ ไม่กินก็ได้ ลดแค่เนื้อวัวก็ได้ หรือจะลดเท่าไหร่ก็ได้ มีความยินดีกับทุกคนที่สนใจกินมังสวิรัติ ไม่รู้สึกยินร้ายแม้ว่าใครจะไม่กินมังสวิรัติ หรือไม่เอาดีตามที่ตนเองได้แนะนำ หรือแม้แต่เห็นผู้ที่กินมังสวิรัติไปกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกยินร้าย หรือรู้สึกทุกข์ โกรธ แค้น ขุ่นเคืองใดๆ
ไม่ได้มีความรังเกียจเนื้อสัตว์ หรือการที่สัตว์จะมาตาย ไม่มีแม้แต่ความรังเกียจใดๆที่ใครสักคนจะยินดีและหลงเสพเนื้อสัตว์ เพราะเข้าใจในกฎแห่งกรรมอย่างถ่องแท้ เข้าใจเรื่องกิเลสอย่างชัดเจน รู้แจ้งทุกเหลี่ยมทุกมุม รู้ดีว่าการทำลายกิเลสนั้นยากแค่ไหนและเข้าใจว่าทำไมคนถึงยังหลงเสพหลงยึด
ผู้ที่บรรลุธรรมจะไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่ไปทำให้ตัวเองและผู้อื่นเกิดความทุกข์ ไม่เอาความดีที่ตนมี ไปอวดเบ่ง ไปกดดัน ไปข่มเหง ไปทับถมผู้อื่น
สภาพของวิมุตติคือสภาวะจิตที่ข้ามกิเลสสามภพ เป็นสภาพที่ไม่ดูดไม่ผลัก ไม่รักไม่เกลียด แต่เห็นประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง เป็นสภาพที่กิเลสตายและไม่กลับมากำเริบ แม้จะได้เผลอหรือตั้งใจกลับไปทดลองกินเนื้อสัตว์แต่ก็ไม่มีวันที่ความอยากกินนั้นจะกลับมาอีก จะไม่มีวันที่จะเกิดความสุขจากการเสพอีก เพราะมีความสุขที่มากกว่าแล้ว นั่นคือสภาพของวิมุตติ หรือสุขจากการพ้นกิเลส
– – – – – – – – – – – – – – –
4.11.2557