Tag: คนดี

ความมัวเมาในรสรัก

August 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,945 views 4

ความมัวเมาในรสรัก เมื่อความหลงผิด ทำให้หลงสร้างบาป ท่ามกลางความหลงสุข

การที่คนเรานั้นไปหลงมัวเมากับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นอกจากจะสร้างภัยอันน่ากลัวให้กับตนเองแล้ว ยังเป็นเหตุให้ผู้อื่นพากันหลงผิด และนั่นคือบาปที่จะย้อนกลับมาเล่นงานผู้ที่หลงมัวเมานั่นเอง

คนที่หลงในความรักนั้น นอกจากที่เขาเหล่านั้นจะเสียเวลาที่สำคัญในชีวิตไปกับการหลงสุขในการมีคู่ ไปหลงสร้างบาป คือการเพิ่มกิเลสให้กับตนเองโดยแลกกับการเสพสุขลวงแล้ว เขาเหล่านั้นก็ยังเป็นสื่อให้ผู้อื่นได้หลงผิดมาเห็นดีเห็นงามกับเรื่องทางโลกด้วย

คนที่หลงในความรักนั้น บางคนก็หลงกันอยู่นานหลายปี สิบปี ยี่สิบปี หรือตลอดชีวิต และตลอดเวลาแห่งความหลงนั้น เขาก็ได้เป็นทูตแห่งความหลงที่คอยเผยแพร่ความเห็นที่ว่า การมีคู่นั้นดี การได้มีความรักนั้นดี การมีคนดูแลเอาใจนั้นดี ฯลฯ แต่ถึงแม้จะไม่ได้แสดงออกหรือเผยแพร่ความเห็นใดๆเลยก็ตาม แค่เพียงความเป็นไปของเขาเหล่านั้นก็ได้แสดงให้คนที่ไม่รู้เดียงสา ได้เห็นว่าการมีคู่นั้นน่าจะมีความสุขจริงอย่างที่ใครเขาว่า

เป็นบาปของคนมีคู่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เรายั่วกิเลสคนอื่นตั้งแต่เราคบหาเป็นแฟนกับคู่ของเรา ทำให้ผู้อื่นอิจฉา อยากได้อยากเสพบ้าง เรายั่วกิเลสคนอื่นมากขึ้นไปอีกเมื่อเราแต่งงาน ทำให้คนอื่นอิจฉา อยากได้อยากเสพมากขึ้นไปอีก และเรายั่วกิเลสคนอื่นยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆเมื่อเราสร้างของรักใหม่ที่เรียกว่าลูก แสดงให้เห็นว่ารักนั้นได้เสพอะไร ให้เห็นว่ารักนั้นเป็นสุขอย่างไร ให้เห็นว่ารักนั้นเที่ยงแท้ยืนนานอย่างไร โดยผ่านความเป็นไปที่เราได้แสดงออกมาในชีวิตประจำวัน แต่ทั้งหมดนั้นกลับไม่ใช่ความจริงเลย

ด้วยความหลงในสุขของเรา หลงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี เราจะไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการมีคู่ การอวดคู่ หรือการบูชาความรักที่เกิดจากความหลงนั้นเป็นโทษภัยอย่างไร ความหลงทำให้เราไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ แต่ทำให้เราเห็นกงจักรเป็นดอกบัว จึงทำให้คนที่หลงในการมีคู่นั้นภูมิใจในสถานะที่ตนเองมี เพราะหลงเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดี

ถ้าเราคบหากันไป 10 ปี เราก็สร้างวิบากบาป กลายเป็นตัวอย่างของคนที่หลงสุขในกิเลส ให้คนอื่นเอาอย่างไป 10 ปี ถ้าเราคบไปร้อยปีก็เป็นตัวอย่างไปร้อยปี หลงนานเท่าไหร่ก็สร้างบาปให้ตัวเองและผู้อื่นมากเท่านั้น

ทีนี้คนที่มีคู่แล้วไม่ใช่ว่ารู้ถึงโทษภัยผลเสียต่างๆแล้วจะออกกันได้ง่ายๆ การเลิกกันด้วยความไม่ยินยอมทั้งสองฝ่ายไม่ใช่สิ่งที่ดี แต่การไม่ผูกพันกันด้วยความหลงเป็นสิ่งที่ดี คนที่มีคู่นั้นจะมีขอบเขตในการทำกุศลที่จำกัด แม้จะพากันออกจากความหลง ไม่สร้างอกุศลกรรม พากันถือศีล ไม่สมสู่ ไม่แตะเนื้อต้องตัว ไม่พูดจากันด้วยคำหวานของกิเลส ไม่เอาแต่ใจเพราะความยึดติด แม้จะทำได้ดีขนาดนั้น แต่ก็ยังจะเป็นตัวอย่างให้คนหลงติดหลงยึดในความเป็นคู่อยู่ดี เพราะคนดีที่มัวเมาในความเป็นคู่รักก็ย่อมจะอยากได้คู่รักที่ดีเป็นตัวอย่าง

ดังนั้นการเป็นโสดแต่แรกจึงดีที่สุด ไม่ต้องไปผูกให้ต้องลำบากมาแก้กันทีหลัง เพราะเมื่อมีคู่ไปแล้ว มันผูกพัน มันแก้กันไม่ง่าย ถึงจะตัดทันทีก็จะมีวิบากกรรม แม้จะใช้ความติดดียึดดี เลิกกัน อย่าร้างกัน แต่กรรมก็จะไม่ยอมอย่างนั้น ถ้าอีกฝ่ายยังหลงในความรัก เขาก็ยังจะจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติอยู่ดี ดังนั้นคนที่มีคู่จึงไม่สามารถตัดความเป็นคู่ออกได้ง่ายๆแม้จะปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแค่ไหนก็ตาม

และเมื่อเขาเหล่านั้นยังมีภาพลักษณ์ของคนคู่ที่สวยงามอยู่ ก็จะเป็นสื่อให้คนที่หลงนั้น อยากได้อยากเสพในภพของคนดี อยากมีคู่รักแบบคนดี เช่นเดียวกับเขาเหล่านั้น ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นความเป็นสื่อแห่งบาป ที่จะต้องมารับวิบากบาปในภายหลัง เกิดมาชาติหน้าก็ต้องโดนคนอื่นเขามอมเมาว่ามีคู่แล้วทำดีด้วยกันได้ มีคู่แล้วพาเจริญด้วยกันได้ มีคู่แล้วปฏิบัติธรรมด้วยกันได้ ก็เลยหลงไปมีคู่ สุดท้ายก็ติดบ่วง ซ้ำไปซ้ำมา เป็นความเมาในรสรักที่ให้ผลสืบเนื่องหลายต่อหลายชาติ ต้องรับทุกข์ สร้างอกุศล สร้างบาปกันอย่างไม่จบไม่สิ้น

จนกว่าจะทุกข์จนเกินทน จนกว่าจะเห็นว่าการหลงมัวเมาในรสรักเหล่านั้นสร้างทุกข์ โทษ ภัย อย่างไร จึงค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นภพคนโสด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะออกได้ง่ายๆขนาดนั้น แม้จะเกิดชาติไหนก็จะมีคนมายั่วกิเลส เอาความรักในอุดมคติมานำเสนอ เป็นคนดีก็มีความรักได้ พากันเจริญได้ ฯลฯ อีกทั้งคู่เวรคู่กรรมที่จ้องจะเข้ามาลากไปลงนรกกันทุกภพทุกชาติ

สรุปแล้วคนมีคู่ก็ต้องเรียนรู้ความจริงตามความเป็นจริงและรับกรรมตามที่ตัวเองก่อไว้ต่อไป ส่วนคนโสดก็เป็นโอกาสที่จะคิดทบทวน ตัดสินใจว่าจะเอาไหม? จะดีไหม? สุขลวงแป๊ปเดียวทุกข์ชั่วกัปชั่วกัลป์เลยนะ ผูกนิดเดียวต้องตามไปแก้กันทุกภพทุกชาติเลยนะ จะเอาไหม? จะลองไหม? มันทุกข์มากนะ มันเป็นสุขลวงแต่นรกจริงๆนะ ยังจะเอาอีกหรือ?

– – – – – – – – – – – – – – –

23.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สมรภูมิคนดี

August 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,446 views 0

สมรภูมิคนดี

สมรภูมิคนดี : บททดสอบที่จะประดังเข้ามาเพื่อพิสูจน์ความดีที่แท้จริง (กรณีศึกษามังสวิรัติ)

คนทุกคนย่อมพยายามผลักดันตนเองไปสู่ความดีที่ตนเห็นว่าดีกันทุกคน เส้นทางแห่งความดีนั้นไม่ใช่เส้นทางที่เดินได้ง่าย มีบททดสอบมากมายที่จะเข้ามาพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราเห็นว่าดีนั้นดีจริงแท้หรือไม่

ในบทความนี้จะยกตัวอย่างคนที่พยายามลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ พยายามที่จะทำตนเองให้ดีขึ้น ให้เบียดเบียนสัตว์อื่นน้อยลง เป็นทางสู่ความดีทางหนึ่งด้วยเนื้อหาต่างๆรวม 7 ข้อ

1). การทดสอบความตั้งมั่น(บททดสอบกาม – การเสพติดเนื้อสัตว์)

คนที่คิดจะพยายามทำดีในชีวิต เช่นในเรื่องของการลดเนื้อกินผัก จะเจอบททดสอบแรกที่ท้าทายความดี คือจะละเว้นเนื้อสัตว์ได้จริงไหม จะกินได้นานเท่าไหร่ ถ้าโดนยั่วยวนด้วยเมนูเนื้อสัตว์ต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะงานเลี้ยง รวมญาติ งานรื่นเริง หรือสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดต่างๆ เราจะยังตั้งมั่นอยู่ไหม เราจะกลับไปกินไหม เราจะหาเหตุผลไปกินไหม และที่สำคัญที่สุดคือเรายังเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นมีคุณค่ามีประโยชน์ในชีวิตเราอีกไหม เรายังหลงว่ามันเป็นของดีอีกไหม เรายังมีความเข้าใจว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่บำรุงร่างกายอยู่ไหม เรายังยินดีให้คนที่รักกินเนื้อสัตว์อยู่อีกไหม เรายังเหลือเยื่อใยใดๆกับเนื้อสัตว์อยู่อีกไหม จะมีเหตุการณ์ต่างๆที่จะเข้ามาทดสอบความตั้งมั่นของผู้ที่จะลดเนื้อกินผักตลอดช่วงเวลาที่คิดจะทำดี

2). ออกสู่โลกภายนอก ( เตรียมเข้าสู่บททดสอบอัตตา )

เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว แต่ถ้าอยากให้เกิดสิ่งดีมากขึ้น เป็นกุศลมากขึ้น ก็จะต้องทำหน้าที่เชิญชวนให้ผู้อื่นสนใจที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์ด้วย ซึ่งสิ่งที่จะขวางกั้นไม่ให้เราได้เป็นคนดีขึ้นอย่างใจหวัง นั่นก็คืออัตตา หรือความยึดดีถือดี อัตตาจะทำให้เราต้องเป็นทุกข์เมื่อไม่ได้อย่างใจ ทำให้เราแข็งกระด้าง ทำให้เราไม่เมตตา ทำให้เราต้องสร้างศัตรู ทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จในการชักชวนผู้อื่นให้ศึกษาเพื่อละเว้นการกินเนื้อสัตว์

ผู้ที่เข้ามาทดสอบจะเป็นไปตามธรรม เป็นไปตามสิ่งที่เราทำ ถ้าเราลดเนื้อกินผักอยู่ในภพ คือ กินโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร โจทย์ก็มักจะน้อย แม้จะลดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ดี สามารถออกจากกามได้ แต่ก็ยากที่จะวัดเรื่องอัตตาได้

และถ้าเราเริ่มออกจากภพ ออกจากถ้ำ ออกจากที่มั่น เริ่มอธิศีลขึ้นไปอีกระดับ พยายามสร้างกุศลขึ้นไปอีก คือการพยายามชักชวนผู้อื่นให้ลดเนื้อกินผัก ก็จะเริ่มมีโจทย์ที่มากขึ้นมาตามธรรมเช่นกันและนี่คือการก้าวสู่คนดีที่ดียิ่งขึ้นอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากขึ้น เพราะต้องพร้อมรับความเห็นที่แตกต่างที่จะประดังเข้ามามากขึ้น

ซึ่งความหนักของบททดสอบนั้นจะมากและแรงขึ้นเรื่อยๆตามความดีที่ทำ ยิ่งทำดีมาก ยิ่งมีบารมีสูงมาก โจทย์ก็ยิ่งยาก ยิ่งหนัก ยิ่งแก้ยาก ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเข้ามาทดสอบว่าเราดีจริงหรือไม่ เราจะทำดีได้มากกว่านี้ หรือจะเลิกล้มลงตรงนี้

3). การต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น( รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง )

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเอาชนะกัน การเถียงกัน เป็นการสู้รบที่ไม่มีวันจบสิ้น เราไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนเห็นเหมือนเราได้ ขนาดบุรุษที่เก่งที่สุดในโลกก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนศรัทธาได้

เราจึงต้องกำหนดเป้าหมายให้ดีว่า การทำดีของเรานั้นไม่ใช่เพื่อเอาชนะใคร ไม่ใช่เพื่อข่มเหงใคร ไม่ใช่เพื่ออวดในคุณความดีที่ตนได้ แต่เป็นการทำดีเพื่อจะสร้างเหตุในการขัดเกลาตนเองให้เป็นคนดีที่ดียิ่งขึ้น การต่อสู้ภายนอกนั้นไม่มีวันจบสิ้น การเถียงเอาชนะกันมีแต่จะเสื่อมศรัทธาต่อกัน เขาก็ยังกินเนื้อเหมือนเดิม เราก็ได้ศัตรูเพิ่ม ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเอาผลแพ้ชนะทางโลกเป็นเป้าหมาย การเพิ่มคนลดเนื้อกินผักไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่เป็นการเพิ่มคนดีขึ้นมาอีกหนึ่งคน นั่นคือทำตัวเราให้ดียิ่งๆขึ้น ไม่ใช่การไปทำคนอื่นให้ดีอย่างใจเรา

การต่อสู้ภายในนั้นมีวันสิ้นสุด เพราะแท้จริงแล้ว เราไม่ได้สู้กับใครเลย เราสู้กับใจตัวเองเท่านั้น สู้กับความยึดดีถือดี ความเอาแต่ใจ ความคาดหวัง เราสู้กับกิเลสของตัวเราเองเท่านั้น คนที่วุ่นวายอยู่กับการต่อสู้ภายนอก จะเป็นคนดีที่มีแต่ความทุกข์ใจ ต้องสู้กับคนที่เห็นต่างไปชั่วกัปชั่วกัลป์

4). ผู้เข้ามาทดสอบ(บททดสอบอัตตา – การยึดดีถือดี )

กรรมจะลิขิตขีดเขียนสร้างเหตุการณ์และผู้ที่เข้ามาทดสอบความยึดดีถือดีด้วยลักษณะและลีลาที่ต่างกัน ซึ่งอาจจะเข้ามาเพื่อกระทบแค่ครั้งเดียว ,มาๆหายๆ , มาแบบกัดไม่ปล่อย, ลากเราไปรุมขยี้ ฯลฯ ก็เป็นรูปแบบการเข้ามาของบททดสอบต่างๆ ซึ่งเราควรพึงระลึกไว้เสมอว่า สิ่งที่เข้ามากระทบทั้งหมดนั่นคือผลของกรรมที่เราทำมา เรากำลังได้รับผลกรรมของเรา เพื่อที่จะขัดเกลาจิตใจให้ดียิ่งขึ้น และใช้หนี้กรรมชั่วให้หมดไป โดยจะยกตัวอย่างลักษณะของผู้ที่เข้ามาคร่าวๆดังนี้

นักเลง คนพาล –มักจะมาในลักษณะหาเรื่อง เพ่งโทษ มีการดูถูก ประชด เยอะเย้ย ฯลฯ คือขอให้ได้ข่มก็พอใจ ถ้าเจอคนลักษณะนี้ก็ให้วางเฉยเสีย อย่าไปถือโทษโกรธเคือง เขามาวัดโทสะเรา ว่าเราจะโกรธไหม จะแค้นไหม จะขุ่นเคืองไหม เราก็เจริญเมตตาจิตไป และค้นหาเหตุแห่งความโกรธว่าการที่เขามาว่า มาด่าเรานั้น เราจะโกรธทำไม เรายึดดีถือดียังไงเราจึงต้องไปโกรธเขา

คนที่พูดกันไม่รู้เรื่อง – อาจจะเป็นคนที่รีบสรุป อ่านน้อย ฟังน้อย หรือเข้าใจผิด มักจะพูดคนละประเด็น หรือพูดกันเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจ พอจะคุยกันได้ ไม่ทะเลาะกันรุนแรง แต่มักจะหาข้อสรุปไม่ได้ ยิ่งคุยก็ยิ่งงง เจอแบบนี้ก็ตรวจดูว่าหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไหม พยายามจะไปยัดเยียดความรู้ให้เขาไหม ก็ล้างความยึดดีถือดีของเราไป บางครั้งก็ต้องปล่อยวางกับเรื่องที่หาคำตอบไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนเรื่องได้ก็เปลี่ยน เลี่ยงได้ก็เลี่ยง

ผู้คมกฎ – เป็นคนที่เข้ามาบัญญัติ ข้อกำหนดว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำแค่นี้ไม่ได้ ทำแบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นมังสวิรัติ ถ้าทำแบบนี้ผิด แบบนี้ถูก อาจจะพ่วงท้ายด้วยการประณามหยามเหยียดได้ในบางกรณี ก็กลับมาตรวจใจเราว่าขุ่นเขืองไหม สิ่งที่เขาแนะนำเป็นกุศล สมควรทำจริงหรือไม่ เหมาะสมกับฐานจิตของเราหรือไม่ ถ้าเขาแนะนำเกินก็ไม่เป็นไร เราก็ปฏิบัติเหมือนเดิมตามฐานจิตของเรา เท่าที่เราจะทำไหวในขีดที่เราจะพัฒนาขึ้นไปได้โดยลำดับ

ผู้ไม่เห็นด้วย –คนทั่วไปที่เข้ามาแสดงความเห็นในมุมที่แตกต่าง มักจะมีข้อมูล มีเหตุผล มีที่อ้าง เราจะวางใจได้ไหม ถ้าเขามีข้อมูลที่แย้งกับของเรา เราจะลองศึกษาของเขาดูบ้างได้ไหม เราจะเมตตาให้ความรู้กับเขาโดยที่ไม่ไปแข่งดีเอาชนะกับเขาได้ไหม และถ้าเขาไม่เอาดีตามเรา เราจะปล่อยวางได้ไหม จะยอมปล่อยให้เขาเชื่อในแบบของเขาได้ไหม

ผู้ที่เห็นว่าดีแต่ไม่เอาด้วย – คนที่เข้ามาเห็นดีกับเราในบางส่วน แต่ไม่ยินดีจะเอาด้วย ไม่ร่วมด้วย มักจะมีข้ออ้าง ข้อหลบเลี่ยงในการไม่เอาดี นั่นเพราะเขายังไม่เห็นว่าทำแบบเรานั้นดีพอที่เขาจะเอา มักจะมีภพที่เข้าใจว่าดีกว่ายึดอาศัยอยู่ เข้าใจว่ามีสิ่งที่ดีกว่าที่เราทำ ซึ่งมักจะเข้ามาชมแกมข่ม ลูบหลังแล้วตบหัว มักจะมีแนวทางของตัวเองอยู่ มักประกาศตนอยู่เนืองๆว่ามีดีกว่า ซึ่งอาจจะทำให้เรางงว่าจะมายังไงกันแน่ ก็ลองตรวจใจตัวเองว่าขุ่นเคืองใจไหม เขามาข่มจะยอมให้เขาข่มได้ไหม ยอมให้เขาเผยแพร่ความเห็นของเขาได้ไหม บอกเขาไป เตือนเขาไปแล้วเขาข่มกลับ เราวางใจได้ไหม

คนดีที่เห็นต่าง – เป็นโจทย์ที่ยากกว่าคนทั่วไป เช่นการนำคำพูดของคนที่ปฏิบัติดี มีชื่อเสียง น่าเคารพ น่านับถือมาอ้างอิง ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่เราเชื่อและปฏิบัติอยู่ จะทำอย่างไรในเมื่อคุณความดีของเราก็สู้เขาไม่ได้ เราจะทุกข์ทรมานจากความยึดดีไหม เราจะแสวงหาคำตอบเหล่านั้นไหม เราจะอึดอัดขัดเคืองกับการไม่สามารถโต้แย้งใดๆได้หรือไม่ เพราะบางครั้งมันก็ไม่สมควรไปโต้แย้งในบางประเด็น เราจะวางใจได้หรือไม่ ลองพิจารณาทบทวนตามที่เขาว่าได้ไหม สำรวจตัวเองอีกครั้งได้ไหมว่าสิ่งที่เราคิดและทำอยู่นั้น เราถูกจริงดีจริงเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ แม้จะมีคนดีที่เห็นต่าง เราจะยังมั่นคงอยู่ในคุณความดีที่เราทำได้จริงได้หรือไม่

คนดีที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยบางประเด็น – เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดก็คือการที่คนดีที่เห็นตรงกันแล้วมาเห็นต่างกันในบางประเด็นนี่แหละ โจทย์นี้จะวัดความยึดดีถือดีของเราได้อย่างรุนแรงที่สุด ในเมื่อเขาก็เห็นอย่างเรา และปฏิบัติได้อย่างเรา แต่มีบางประเด็นที่เห็นต่างกันไป เราจะยอมรับได้ไหม เราจะยินดีฟังไหม เราจะยึดว่าของเราดีกว่าของเขา จนไม่ฟังไหม คนดีที่เห็นตรงกันจะแนะนำสิ่งที่แตกต่างกันด้วยความหวังดี เรียกว่าการชี้ขุมทรัพย์ให้กัน แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะยอมรับ เพราะชี้ผิดก็มี ชี้ถูกก็มี ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วยิ่งคนดีมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งยึดดี อย่าคิดว่าคนดีจะวางดีกันง่ายๆ ยิ่งเก่ง ยิ่งสะสมบารมีมากก็จะยึดมั่นถือมั่นมากเป็นธรรมดา ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งล้างความยึดมั่นถือมั่นในความดีนี้

5). การเรียนรู้โลกจากบททดสอบ

เราสามารถเรียนรู้ได้จากทุกอย่างที่ประดังเข้ามาหาเรา ถ้าเขาติมาเราก็ฟังไว้ จะได้นำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขจุดบกพร่อง จุดที่คนถือสา จุดที่เป็นอกุศล ฯลฯ การที่จะมีคนมาช่วยชี้ช่วยบอกจุดบกพร่องของเรานี่ไม่ง่ายนะ เขามาทำให้ฟรีๆ ไม่ต้องจ้าง ต้องขอบคุณเขา ส่วนที่เราเป็นสุขเป็นทุกข์ เราก็กลับมาล้างใจของเรา

6). การขัดเกลาจิตใจตนเองให้ดียิ่งขึ้น

การที่คนเห็นต่างเข้ามาแนะนำ ติชม ด่า ว่า เหน็บแนม ประชด ดูถูก ฯลฯ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากในการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นคนดียิ่งขึ้นได้ เพื่อให้เราได้นำสิ่งกระทบเหล่านั้นเข้ามาตรวจสอบว่า เราโกรธหรือไม่ เราไม่ชอบใจหรือไม่ เราขุ่นใจหรือไม่ ใจเราสั่นไหวหรือไม่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร แล้วจะกำจัดอาการเหล่านั้นได้อย่างไร การชมเชย และการให้กำลังใจก็เช่นกัน เราอิ่มใจ ฟูขึ้นในใจหรือไม่ เราลอยหรือไม่ เราเหลิงหรือไม่ เราหลงไปในคำชมเหล่านั้นหรือไม่ ทั้งนินทาและสรรเสริญนี้เองจะเป็นสิ่งที่เข้ามาเป็นวัตถุดิบในการขัดเกลาจิตใจของเรา

7). ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น

เป้าหมายของการขัดเกลาจิตใจคือการทำดีด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเกิดผลดี ซึ่งจะต้องเกิดจากการทำดีอย่างเต็มที่เท่าที่จะมีกำลังพอจะทำได้ แล้ววางผลที่จะเกิดขึ้นนั้นให้ได้ เรามุ่งเน้นการทำดี แต่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผล เพราะผลเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

การปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นที่ยากที่สุดคือการปล่อยวางการยึดในบทบาทและหน้าที่ เพราะเรานั้นไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า เราช่วยทุกคนไม่ได้ หากเรายังยึดว่าเราจะต้องช่วยสัตว์ ช่วยทุกคนให้พ้นจากการเบียดเบียน เราเองจะเป็นคนที่ไม่พ้นไปจากทุกข์

การทำดีโดยที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวกูของกู จะเป็นการทำดีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะเป็นการทำดีที่พร้อมจะวางดีทุกเมื่อ พร้อมจะพังได้ทุกเมื่อ เมื่อไม่ยึดมั่น ก็ไม่ทุกข์ ไม่ท้อถอย พร้อมจะล้มและพร้อมจะลุกเดินหน้าทำดีต่อไปอีก เป็นคนดีที่เป็นอมตะ ไม่มีวันตายไปจากความดี พร้อมจะทำดีโดยไม่มีเงื่อนไขให้ใจต้องเป็นทุกข์

– – – – – – – – – – – – – – –

9.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กรณีการโต้แย้งต่างๆในบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

July 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,421 views 0

หากใครได้ติดตามอ่านความคิดเห็นในบทความแล้วก็จะพบว่ามีคนจำนวนหนึ่งเข้ามาเห็นแย้ง ด้วยเหตุผลก็ตาม ด้วยอารมณ์ก็ตาม

ให้เรียนรู้ว่านี่แหละ ธรรมชาติของการปฏิบัติธรรม จะให้ทุกคนมีความเห็นเดียวกันไม่ได้หรอก แต่ละคนจะมีความเห็นไปตามกรรมของตน

หากอ่านบทความจะเห็นได้ว่าผมยกพระสูตรมาเยอะพอสมควร เพียงแต่ย่อมา และอีกส่วนเป็นสภาวธรรมซึ่งเป็นของส่วนตัว เป็นความเห็นส่วนตัว

แต่ก็ยังมีผู้ที่หวังดีเข้ามาพยายามปกป้องพุทธศาสนาและความเชื่อของเขาโดยการยัดเยียดความคิดเห็นของเขา และยัดเยียดความผิดมาให้ผม

จะสังเกตุได้ว่าผมก็อยู่ของผมดีๆนั่นแหละ แต่ก็มีคนแชร์เอาไปตีความ เอาไปข่ม เอาไปยำกันเสียสนุกเลย

ตรงนี้เองเรียกว่า “มานะ” คือความยึดดี การมีความยึดดีนี้จะไม่ยอมให้สิ่งดีของตัวเองด้อยค่าลงและมักจะยัดเยียดดีของตนให้ผู้อื่น

และยังมี “อติมานะ” คือการดูหมิ่นกัน จะสังเกตุได้ว่าบางคนก็ดูหมิ่นผมทั้งที่ยังไม่เคยศึกษา ไม่เคยรู้จักกันเลย บางคนก็ดูหมิ่นผิดเรื่องผิดประเด็น อาจจะเพราะเคยมีปมจากที่อื่น

บางคนยังมีอาการของ การโอ้อวด(สาเฐยยะ) หัวดื้อ(ถัมภะ) แข่งดีเอาชนะ(สารัมภะ) ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี (อิสสา) ร่วมเข้าไปด้วยอีกต่างหาก

ทั้งหมดนี้เป็นอาการของกิเลสทั้งนั้น ผมเองไม่เคยบังคับให้ใครเข้ามาอ่านหรือเข้ามาแสดงความคิดเห็น การกระทำเหล่านั้นเป็นเจตนาของแต่ละคน เป็นกรรมของแต่ละคน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นกรรมที่เกิดจากกิเลส

นั่นหมายถึงสิ่งที่พวกเขาได้รับคงหนีไม่พ้น อกุศลกรรม บาป เวร ภัย ฯลฯ สรุปแล้วคือเข้ามาพิมพ์โต้แย้งก็ไม่ได้มีผลดีเกิดขึ้นมาเลยสักอย่าง ซึ่งก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ทำไปก็ไม่มีผลเจริญอย่างใดเลย

เพราะไม่ว่าเขาจะมีความเห็นอย่างไร ก็ลบความจริงในการปฏิบัติของผมไม่ได้ มันเป็นของจริงในจิตอยู่เช่นนั้น การกระทำของผู้ที่เห็นแย้งเพื่อสนองมานะตนจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีประโยชน์ กับใครเลย

ผมก็ยังมีความสุขกับการละเว้นเนื้อสัตว์อยู่เหมือนเดิม แต่เขากลับได้กิเลสเพิ่ม ยิ่งด่า ยิ่งข่ม ยิ่งดูถูก เขาจะยิ่งสะสมกิเลสมากขึ้น สะสมเชื้อทุกข์มากขึ้น เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นในเวลาเดียวกัน เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ไม่ควรทำ

…ที่ยกมานี้ก็เพื่อจะเตือนเพื่อนๆว่า เวลามีคนที่เสนอความเห็นที่ต่างให้ระวัง “มานะ” หรือความยึดดีถือดีของเราไว้ให้ดี ถ้าเรายังไม่สามารถปฏิบัติให้เกิดผลจริงจนเห็นด้วยตัวเองได้ ถ้าเราสักแต่ว่าฟังมา เราจะมีความเสี่ยงในการโอ้อวดสิ่งที่ไม่มีในตน แถมยังไปเบียดเบียนผู้อื่นอีก

การไปถกเถียงกับเขาจะยิ่งต่อความยาว สาวความยืด ยิ่งเพิ่มกิเลสของเขา ผมได้ลองให้เห็นแล้วในบทความนั้น ลองศึกษากันดู ไม่ว่าเราจะชี้แจงอย่างไรเขาจะไม่สนใจหรอก เขาแค่อยากแสดงให้เห็นว่าทิฏฐิของเขาถูก ของเราผิดเท่านั้นเอง

ดังนั้นเราจึงไม่ควรให้อาหารกิเลส ไม่ควรให้เขาเสพสมใจในกิเลส ถ้าเขาอยากข่มก็ปล่อยเขา เรายิ่งดิ้นเขายิ่งสะใจ ถ้าเขาอยากแข่งก็ไม่ต้องไปแข่งกับเขา ยิ่งแข่งยิ่งบาป ถ้าเขาจะหยาบมาอย่างไรก็เป็นกรรมของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา

เรื่องของเราคือเรารักษาใจตนเองให้ผาสุกได้ไหม เขามายั่วยวนขนาดนี้เรายอมเขาได้ไหม ยอมเขาไปเถอะ เขาอยากทำกรรมอะไรก็เรื่องของเขา เราเอาแต่เรื่องกุศล เรื่องบาปเราไม่ยุ่ง

ถ้าเราจะเป็นคนดีที่คอยตีคนที่เห็นต่างจากตน มุ่งมั่นกับการปราบคนที่เห็นไม่ตรงกับที่ตนเข้าใจ เราจะกลายเป็นคนดีที่มีแต่ความทุกข์ไปตลอดกาล

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,637 views 0

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

หลายคนอาจจะเคยรู้สึกว่าโลกไม่ยุติธรรม กฎแห่งกรรมไม่มีจริง ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดีสักที เพียรทำดีเท่าไหร่ก็ไม่เกิดผลดีดังใจหวัง ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น?

ถ้าคุณเคยมีความรู้สึกเหล่านี้….

  • ทำดีกับใครสักคนหนึ่ง แล้วเขาไม่ดีตอบ ไม่เห็นคุณค่า
  • ช่วยให้คำปรึกษาให้เขาคลายทุกข์ แต่เขากลับไม่เอาดีตามเรา
  • แนะนำสิ่งที่ดีให้กลับเขา แต่เขากลับเมินเฉย หันไปเอาทางผิดอีกด้วย
  • ทำดีเป็นตัวอย่าง แต่ก็ไม่มีใครสนใจใยดี
  • เป็นคนดีในสังคม แต่กลับโดนหาว่าไม่มีคุณค่า โดนหาว่าบ้า
  • . . . หรือการทำสิ่งดีใดๆก็ตาม ที่อยากให้เกิดผลดี แต่รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่เกิดผลดีเสียที

ในบทความนี้เราจะมาขยายเรื่องกรรมในมุมของการทำดีแล้วไม่ได้ดี ซึ่งจะมีเนื้อหาที่แบ่งเป็นหัวข้อด้วยกัน 6 ข้อ

1). ทุกข์เพราะไม่เข้าใจเหตุ

ทุกข์จากการทำดีแล้วไม่เกิดผลดีสมดังใจหมาย คือขุมนรกที่คอยเผาใจคนดี ให้หมดกำลังใจในการทำดี ให้ลังเลในความยุติธรรมของกรรม ให้หลงผิดในเส้นทางธรรม นั่นเพราะมีความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมที่ไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่สมเหตุสมผลได้ ทั้งที่จริงทุกสิ่งที่เกิดนั้นสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว แต่ที่เราไม่เข้าใจเพราะเราไม่รู้ว่า “เหตุ” ทั้งหมดนั้นมันมีอะไรบ้าง และมักเดาว่าสิ่งต่างๆไม่มีเหตุ พอไปเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผลก็เลยเป็นทุกข์เพราะไม่สามารถทำความเข้าใจและยอมรับสิ่งนั้นได้

2). กิเลสในคนดี

ความไม่เข้าใจในเรื่องกรรมบวกกับพลังของกิเลสจึงทำให้เกิดทุกข์มากขึ้น เรามักจะมีอาการอยากให้เกิดดีมากกว่าเหตุปัจจัยที่มี เป็นความโลภที่ผลักดันให้อยากได้ดีเกินจริง พอเห็นคนอื่นไม่เอาดีตามก็มักจะเกิดอาการไม่พอใจ โกรธ ผูกโกรธ พยาบาท ฯลฯ เพราะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งดีนั้น ซ้ำร้ายอาจจะมีอาการแข่งดีเอาชนะ ถือตัวถือตน ยกตนข่มคนอื่น ดูถูกดูหมิ่นเขาอีกที่เขาไม่เอาดี และเมื่อเห็นคนที่ไม่ได้ทำดีแต่กลับได้ดีก็อาจจะไปอิจฉาเขาอีกด้วย อาการเหล่านี้คือลีลาของกิเลส ที่ซ่อนตัวอยู่ในความดีที่ยังทำให้เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง

3). กรรมเขากรรมเรา

ถ้าเราตระหนักว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน เรามีกรรมเป็นของตัวเอง กรรมดีที่เราทำก็เป็นของเรา กรรมที่เขาไม่เอาดีก็เป็นของเขา กรรมเรากับเขาไม่ได้ปนกัน กรรมเป็นของใครของมัน เราจะไม่ทุกข์ใจเลยหากว่าเราทำดีแล้วไม่เกิดผลดี เพราะความจริงนั้นมันมีความดีเกิดขึ้นมาตั้งแต่เราทำดีแล้ว ส่วนเขาจะเอาดีหรือไม่ก็เป็นกรรมของเขาไม่เกี่ยวกับเราเลย

แต่เรามักหลงเอากรรมของเราไปปนกับกรรมของเขา เอามาผูกกัน เอามาเกี่ยวโยงกันให้เป็นเรื่องเป็นราว แท้จริงแล้วเมื่อเราไม่ทำชั่วทำแต่ความดี ก็จะมีผลของการทำดีเกิดขึ้นกับเรา ผลใดที่เกิดหลังจากนั้นเป็นผลของกรรมจากหลายเหตุปัจจัยที่มาสังเคราะห์กัน เราก็รับแต่ผลของกรรมในส่วนของเรา ถ้าเผลอทำดีปนชั่ว เราก็แค่รับกรรมดีกรรมชั่วนั้นมาเป็นของเรา ไม่ต้องไปแบกกรรมของคนอื่นไว้ด้วย ทำดีแล้ววางดีเลย ปล่อยวางผลไปเลย จะเกิดอะไรขึ้นมันเรื่องของคนอื่น เมื่อเราได้ทำดีที่ได้ทบทวนแล้วว่าดีจริงไปแล้ว ก็จบเท่านั้น ไม่ต้องสนใจว่าผลจะเกิดดีตามที่ทำหรือไม่ ไม่ต้องทำดีเพื่อหวังผลให้เกิดดี

4). ทำดีไม่ได้ดีเพราะมีชั่วมากั้นไว้

การที่เราทำดีแล้วไม่เกิดผลดีให้เห็นนั้น เพราะมีกรรมชั่วของเรามากั้นไว้ ไม่ให้เราได้เห็นผลดีตามที่เราทำ กรรมชั่วเก่าของเราทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับกรรมของใครเลย กรรมอาจจะจัดสรรคนที่เหมาะสมต่อการชดใช้กรรมชั่วของเรา ให้เขาได้แสดงตามบทละคร ให้เราได้ชดใช้กรรมชั่วของเราโดยมีเขามาเล่นในบทบาทคนชั่วที่คล้ายเราในอดีต ให้เราได้รับกรรมของเราและเขาก็จะได้เรียนรู้ดีรู้ชั่วตามกรรมของเขาต่อไป

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครจะไม่เอาดีตามเรา แม้ในชาตินี้เราก็เคยไม่เอาดีตามที่คนอื่นแนะนำมามากมาย พ่อแม่บอกให้ขยันเรียน เพื่อนบอกให้แก้นิสัยเสีย ฯลฯ การไม่เอาดีในอดีตของเรานั้นสร้างกรรมไว้มากมาย นี่แค่ชาตินี้ชาติเดียวนะ เวลากรรมส่งผลก็อาจจะเอาส่วนของชาติก่อนๆมาด้วยเหมือนกัน ดังนั้นการที่เราคิดหวังว่าจะทำดีแล้วให้เกิดดีโดยคิดเข้าข้างตัวเองว่า ชาตินี้ฉันก็ไม่เคยดื้อ ชาตินี้ฉันก็เป็นคนว่าง่าย แต่ทำไมไม่มีใครยินดีฟังในสิ่งดีที่ฉันพูดเลย ฯลฯ นั่นเพราะไม่รู้เหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่เกิดสิ่งดี และเหมาเอาเองว่าถ้าตนเองทำดีจริงแล้วจะต้องเกิดดีทุกครั้ง พอกรรมเขาเล่นกลไม่ให้เป็นอย่างนั้น คนดีที่ไม่เข้าใจเรื่องกรรมก็อกหักอกพังกันไป

5). ทำดีแล้วได้ดีอย่างใจทุกครั้งไม่มีประโยชน์

การที่เราทำดี แนะนำสิ่งดี ช่วยเหลือ สงเคราะห์ ฯลฯ แล้วเกิดดีขึ้นทุกครั้งเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใดๆต่อการพ้นทุกข์ เพราะหากผลดีเกิดทุกครั้งก็จะไม่มีอะไรขัดใจ พอไม่มีอะไรขัดใจก็ไม่มีทางที่จะได้เห็นกิเลส ไม่เห็นความโลภของตัวเองที่อยากได้ดีเกินจริง ไม่เห็นความโกรธ ไม่เห็นความอิจฉาในการทำดีของผู้อื่นฯลฯ

การทำดีแล้วได้ผลดีนั้นเป็นเรื่องของโลก แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะพาให้พ้นจากวิสัยของโลก การไปสู่โลกุตระไม่ได้ไปด้วยการทำดี แต่จะไปได้ก็ต่อเมื่อทำลายกิเลสซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดให้ติดอยู่กับโลก ดังนั้นการทำดีแล้วไม่ได้อย่างใจหวังนี่แหละเป็นเครื่องมือในการขัดเกลากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง

การทำดีแล้วได้ผลดีอาจจะได้ประโยชน์ในด้านความสุข ความสบาย แต่ไม่ใช่ประโยชน์ในด้านการพ้นทุกข์ เพราะความสุขความสบายที่ได้รับมานั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วรอวันดับไป ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร และส่วนมากก็เป็นเพียงสุขลวงที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกซ้อนไว้อีกที

6). ทำดีไม่เท่ากับล้างกิเลส

การทำดีนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ชาวโลกยอมรับ แต่การมุ่งทำแต่ความดีเพื่อให้พ้นทุกข์นั้นไม่ใช่หลักของพุทธศาสนา แม้ว่าแนวคิดและข้อปฏิบัติของลัทธิอื่นทั่วโลกจะมุ่งสอนให้คนหยุดชั่วทำดี แต่ในหลักการของพุทธยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่หลุดโลก(โลกียะ) อยู่เหนือโลก ไม่อยู่ในวิสัยของโลก พ้นจากโลกไปแล้ว นั่นคือสภาพของโลกุตระที่เกิดจากการชำระล้างกิเลสในสันดานให้หมดไปโดยลำดับ

การล้างกิเลสไม่ได้ทำให้เกิดผลดีโดยตรง ที่เห็นได้ง่ายเหมือนกับการทำดีที่สังคมเข้าใจโดยทั่วไป เพราะเป็นการเข้าไปทำลายกิเลสซึ่งเป็นเชื้อชั่ว ทำลายเชื้อที่ทำให้เกิดทุกข์เป็นหลัก เมื่อทำลายกิเลสเรื่องใดได้ ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องไปทำความชั่ว ไปสร้างทุกข์ในเรื่องนั้นๆ แม้จะไม่เกิดดีให้เห็น แต่ก็ไม่มีทุกข์ นั่นหมายถึงจะไม่ตกต่ำไปสู่ความทุกข์ ส่วนจะทำความดีตามสมมุติโลกหรือตามที่สังคมเข้าใจนั้นหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งกำจัดทุกข์เป็นหลัก เรียนเรื่องทุกข์และสืบหาต้นเหตุของปัญหาเหล่านั้นจนกระทั่งทำลายมันทิ้งจนหมด เราอาจจะเคยเห็นคนดี ทำดี ปฏิบัติตัวดี แต่หนีไม่พ้นทุกข์ ซึ่งข้อปฏิบัติของพุทธจะมาอุดรอยรั่วตรงนี้ จะทำให้คนดีที่ทำดี ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะความยึดดีและความไม่เข้าใจในเรื่องของกรรม

การล้างกิเลสจะทำให้คนเป็นคนดีแท้ แม้อาจจะไม่ดีอย่างออกหน้าออกตาหรือดีอย่างที่โลกเข้าใจ แต่จะดีเพราะไม่มีชั่วปนอยู่ ไม่มีความหลงผิดปนอยู่ เป็นความดีแบบที่พ้นไปจากโลก ไม่หลงวนอยู่ในโลก แม้จะยังต้องอยู่ในสังคมแต่ก็จะสามารถอนุโลมให้เกิดดีไปด้วยกันได้ แต่ก็จะไม่ยึดดีในแนวทางของโลก เพราะรู้ดีว่าโลกุตระนั้นสุขยิ่งกว่า ดีเยี่ยมยิ่งกว่า และสมบูรณ์ที่สุดจนหาอะไรเปรียบไม่ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

3.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)