Tag: การยึดมั่นถือมั่น

อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์

July 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,084 views 1

อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์

อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์

ในหนึ่งการกระทำอาจจะมีเหตุผลที่ต่างกันมากมาย การไม่กินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน แม้ดูเผินๆจะเหมือนว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์หลายคนต่างก็เหมือนๆกัน แต่ในความเหมือนนั้นก็อาจจะมีลักษณะของจิตที่แตกต่างกัน ซึ่งก็อาจจะ ยึดบ้าง อาศัยบ้าง แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะฝึกฝนจิตมามากน้อยเช่นไร

อุปาทานคือสภาพของการยึดมั่นถือมั่น ในกรณีของการกินเนื้อสัตว์ก็มีทั้งผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์ ในส่วนสมาทานคือสภาพของการยึดอาศัย ใช้เพียงแค่อาศัยให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้ยึดว่าต้องเป็นสิ่งใด โดยมีการพิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นเป็นหลัก

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการกินเนื้อสัตว์ )

คือสภาพยึดมั่นถือมั่นในจิตว่า คนจะต้องกินเนื้อสัตว์ กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ผิด ใครๆเขาก็กินกัน เนื้อสัตว์มีคุณค่า ฯลฯ เป็นลักษณะของการยึดเพื่อเสพ วิธีตรวจดูความยึดมั่นถือมั่นก็ง่ายๆ เพียงลองละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นสักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะหนึ่งเดือน หนึ่งปี หรือหนึ่งชีวิต ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่นก็จะมีอาการทุกข์เกิดขึ้น ที่มีความทุกข์นั้นเพราะเกิดจากการไม่ได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องได้เสพ กิเลสจะดิ้นทุรนทุรายและหาเหตุผลอันชอบธรรมเพื่อจะให้ได้กลับไปเสพเนื้อสัตว์เหล่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ ถึงเขาจะไม่กินตลอดชีวิตเขาก็จะไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร ไม่คิดถึง ไม่โหยหา ไม่กระวนกระวาย ไม่ต้องหาเหตุผลให้ไปกินเนื้อสัตว์ การที่ยังมีอาการทุกข์ในจิตนั้นเพราะไปหลงเสพ หลงติด หลงยึดในอะไรสักอย่างในเนื้อสัตว์

ความทุกข์นั้นเกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก พรากจากสิ่งที่ตนหวงแหน เมื่อเขายึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ดังนั้นแล้ว เขาย่อมไม่อยากพรากจากเนื้อสัตว์เหล่านั้น เขาจะไม่ยอมให้ธรรมะหรือความเห็นอื่นใดเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่นของเขา เขาจะยึดมันไว้เป็นสรณะ แม้ว่าเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะเป็นเนื้อผิดศีลผิดธรรม เป็นเนื้อที่เขาฆ่ามา เป็นเนื้อสัตว์ที่ผิดไปจากหลักของการพ้นทุกข์ก็ตาม

เป็นลักษณะของการมีอุปาทานในเนื้อสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นที่ฝังลึกลงไปในจิตวิญญาณ ที่มักจะหาเหตุผลและสิ่งอ้างอิงต่างๆมาใช้เพื่อให้ตนได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาป ทั้งที่จริงแล้วเราไม่ควรคิดหาเหตุผลและข้ออ้างในการเบียดเบียนเลย เพราะความจริงนั้นมีปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปแล้วว่า แม้เราจะไม่เบียดเบียนสัตว์ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ แต่ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะเขาเหล่านั้นจะทุกข์ทรมานจากความอยากเพราะสิ่งที่เขายึดมั่นถือมั่นนั้นเอง

ความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เป็นสภาพของการดูดดึงเข้าไปเสพสิ่งที่เป็นภัย ยังจมอยู่ในกามภพ คือภพที่ยังหลงสุขลวงจากการได้เสพ เป็นทางโต่งไปในทางกามสุขลิกะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการไม่กินเนื้อสัตว์ )

คือสภาพที่ยึดมั่นถือมั่นว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นั้นดี เป็นสิ่งดีที่ควรจะทำ ใครไม่กินเนื้อดี ใครกินเนื้อไม่ดี โดยมักจะมีความกดดัน อึดอัด บังคับ ยัดเยียด ยกตกข่มท่านเข้าไปร่วมด้วย มักจะมีอาการรังเกียจเนื้อสัตว์และคนกินเนื้อสัตว์อยู่และไม่สามารถปล่อยวางความยึดดีเหล่านั้นได้จนมักเกิดอารมณ์ขุ่นมัวในจิตใจ

หากอยากลองทดสอบความยึดมั่นถือมั่นก็ให้ลองเข้าไปอยู่ในหมู่คนกินเนื้อสัตว์ อยู่ร่วมโต๊ะอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ หรือกระทั่งลองกินเนื้อสัตว์ จะพบสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจที่เกิดจากการที่จิตมีอาการรังเกียจผลักไส เพราะยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์แต่ถ้ามีอาการสุขเมื่อได้เสพเนื้อสัตว์แสดงว่ายังล้างกามไม่หมด ยังมีความดูดซ้อนในความผลักอยู่

การยึดมั่นถือมั่นในความดีจนตัวเองต้องทุกข์ทรมานด้วยความยึดดีนั้น เป็นการสร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะมีอัตตา เป็นทางโต่งไปในด้านอัตตกิลิมถะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง

ผู้ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ไม่กินเนื้อสัตว์( สมาทาน )

เป็นสภาพของการสมาทานหรือยึดอาศัย คืออาศัยสิ่งที่เป็นประโยชน์ละเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ สิ่งใดเบียดเบียนก็ไม่เอา สิ่งใดมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นก็เอา ไม่มีความดูดดึงในเนื้อสัตว์ ไม่มีความอยากเข้าไปกิน และไม่มีอาการผลักไส หรือไม่อยากกิน แต่จะเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นสำคัญ

การสมาทานหรือการยึดอาศัยนี้เอง คือจุดที่เป็นกลางที่สุด หรือที่เรียกกันว่าทางสายกลาง เป็นกลางบนกุศลสูงสุด ไม่ยึดชั่ว ไม่ยึดดี ไม่เสพกาม ไม่เมาอัตตา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นเพียงสภาวะที่จะอาศัยให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

15.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงใหลไม้ประดับ

April 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,294 views 2

คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงใหลไม้ประดับ

คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงใหลไม้ประดับ

เมื่อการยึดมั่นถือมั่นของเรากลายเป็นการเสริมกิเลสให้กับผู้อื่น

ผมเป็นคนที่ชอบศึกษา เวลาอยากรู้อะไรก็จะหมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้น ให้เวลากับมัน คิดทบทวน วิเคราะห์ ตรวจสอบ การเรียนรู้ของผมมักเป็นไปในเชิงการทดลอง

เมื่อผมได้รับความรู้เรื่องไม้ประดับมา ผมก็มักจะแบ่งปันความรู้เหล่านั้นด้วยการพิมพ์บทความลงเว็บไซต์ ซึ่งตอนนั้นเองก็คิดเพียงแค่ว่าเป็นการแบ่งปันการเรียนรู้ แต่นั่นเองคือหลุมพรางที่ผมขุดไว้เพื่อฝังตัวเอง

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นไม่ใช่ของเราคถาคต” แม้ความรู้ที่ผมได้มานั้นจะสามารถทำให้ผมเติบโตไปในวงการไม้ประดับได้อย่างสบายๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่ความรู้ที่ดีเลย เพราะมันเป็นความรู้ที่พาให้หลงในสุขลวงทำให้เข้าถึงความสุขแท้ได้ช้าไปอีก

ผมศึกษาตั้งแต่บอนสี กระบองเพชร ลิ้นมังกร มีประสบการณ์มากมายที่ผมเปิดเผยและไม่ได้เปิดเผย แต่เพียงแค่สิ่งที่ผมเปิดเผยไปนั้น ก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนสนใจและหันมาเลี้ยงไม้ประดับแบบผมอยู่บ้าง และนั่นคือวิบากบาปที่ผมจะต้องรับต่อไป

ถ้าผมไม่ได้พิมพ์เรื่องราวเหล่านั้นออกมา เขาคงจะได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ ไม่ต้องมาหลงตามที่ผมหลง จะเห็นได้ว่าเมื่อเราหลงมัวเมาในสิ่งใดแล้ว เราก็จะมีโอกาสที่จะพาคนอื่นหลงตามไปด้วย ซึ่งเราต้องรับผิดชอบกรรมที่เราสร้างขึ้นมาทั้งหมดรวมถึงดอกผลของมันด้วย เพราะสิ่งนั้นมีเราเป็นเหตุ

ผมเองรู้สึกเสียใจและต้องขออภัยกับผู้ที่สนใจไม้ประดับเพราะผม ในตอนนี้คุณอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่ในวันที่คุณเข้าใจว่าสิ่งใดคือสาระแท้ของชีวิต และสิ่งใดไม่จำเป็นต่อชีวิต คุณก็จะเข้าใจได้เอง

ในบทความนี้ผมจะขอใช้โอกาสนี้ไขสภาวะและธรรมะทั้งหลายที่คิดว่ายังตอบไม่กระจ่างไปก่อนหน้านี้ ด้วยกัน 10 หัวข้อ ซึ่งค่อนข้างยาว ขอให้ท่านค่อยๆพิจารณากัน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นความเข้าใจตามที่ผมได้เรียนรู้มา ดังนั้นท่านมีสิทธิ์ที่จะคิดและเข้าใจต่างออกไป ไม่ใช่เรื่องผิด

1). ไม้ประดับคืออะไร?

ไม้ประดับนั้นก็คือสิ่งที่เข้ามาตกแต่ง เพิ่มเติมให้เกิดความงามขึ้น ในฐานของศีล 8 จะเห็นได้ว่าท่านให้งดเว้นการประดับตกแต่ง แน่นอนว่าหมายรวมถึงทุกอย่าง เพราะเป็นฐานแห่งการลด “กาม” (การเสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ไม้ประดับนั้นเป็นสิ่งที่เข้ามาสนอง “กาม” เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตเลย ดังจะเห็นได้ว่าคนโดยมากไม่เป็นทุกข์หากขาดไม้ประดับ ซึ่งต้องเข้าใจด้วยว่าการสะสมไม้ประดับนั้นต่างจากการปลูกต้นไม้ทั่วไป

เมื่อไม้ประดับเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิต แม้จะใช้ประโยชน์ได้ในบางกรณีแต่เราก็ไม่จำเป็นต้องนำมันเข้ามาในชีวิต คนที่เอาสิ่งไม่จำเป็นเข้ามาในชีวิตจนยึดมั่นถือมั่น ก็คือคนที่หลงไปตามกิเลส

2). ความสุขคืออะไร?

หลายคนบอกว่าเลี้ยงไม้ประดับแล้วมีความสุข ความสุขเหล่านั้นเป็นความสุขที่ได้เสพสมใจตามที่กิเลสบงการ ได้เสพจึงจะเป็นสุข ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ผู้หลงว่ากิเลสเป็นตัวเป็นตนจึงต้องหามาไม้ประดับมาเสพเรื่อยไป แม้จะหาไม่ได้ ได้มองรูปก็ยังดี ได้คิดถึงก็สุขใจ อาการเหล่านี้เป็นอารมณ์ของราคะแท้จริงแล้วสุขที่ได้รับนั้นคือทุกข์ที่ลดลง

กิเลสนี้มันร้ายมากนะ มันทำให้เราเห็นสุขลวงเป็นสุขจริง และทำให้มองไม่เห็นทุกข์เลย คนที่หลงสุขเขาจะสามารถเลี้ยงไม้ประดับได้อย่างไม่ทุกข์เลยนะ เพราะกิเลสมันบังตาจนมิดเลย

3). ทุกข์คืออะไร?

ทุกข์คือสภาพที่ทนได้ยากได้ลำบาก ในกรณีทุกข์ของคนที่หลงมัวเมาก็คือความอยากได้อยากเสพ เมื่อไม่ได้อย่างที่ตัวเองต้องการก็จะทุกข์ จึงต้องลำบากลำบนเบียดเบียนเพื่อไปแสวงหาสิ่งที่ตนอยากได้จึงจะเป็นสุข ถ้ากิเลสหนามากๆจะมองทุกข์ตัวนี้ไม่เห็นเลย

เมื่อไม่เห็นทุกข์ก็เลยไม่เห็นธรรม การจะเรียนรู้และศึกษากิเลสนั้นจำเป็นต้องเห็นทุกข์เสียก่อน จึงจะหาเหตุของทุกข์ในลำดับต่อไป จะเห็นได้ว่าเมื่อผมแสดงความเห็นว่าการเลี้ยงไม้ประดับเป็นภาระ เป็นทุกข์ หลายท่านมีความเห็นที่ต่างกันออกไป บ้างก็ว่าฉันไม่ทุกข์ บ้างก็ว่าหมดรักจึงทุกข์ บ้างก็ว่ามันมีแต่สุขนะ ฯลฯ

อันนี้เขายังไม่เห็นทุกข์ด้วยตัวเอง เรื่องทุกข์นี่มันบอกกันไปก็ไม่เข้าใจ มันต้องทุกข์เอง เจ็บเอง เรียนรู้เอง จึงจะเข้าใจ

4). สัมมาอาชีวะคืออะไร?

หลายท่านอาจจะยังเข้าใจว่าการประกอบอาชีพด้วยไม้ประดับนั้นสัมมาอาชีวะ ในข้อนี้อาจจะทำให้ท่านอกหักจนถึงขั้นไม่พอใจได้ ขอให้ตั้งสติดีๆ

สัมมาอาชีวะนั้นประกอบด้วย การเลี้ยงชีพที่ไม่โกง ไม่ล่อลวง ไม่ตลบตะแลง เป็นต้น และในมิจฉาวณิชชาว่าด้วยเรื่องการค้าที่ชาวพุทธไม่ควรทำ หนึ่งในนั้นคือ ค้าขายของเมา (มัชชวณิชชา) คำว่าเมานั้นถ้าแปลตื้นๆ เขาก็มักจะแปลกันว่าเหล้า แต่คำบาลีว่า สุรา เมระยะ มัชชะ นั้นแปลว่าเมาทั้งสามคำ แล้วเมานี้คืออะไร ก็คือมัวเมาในกิเลส หรือความหลงมัวเมา (โมหะ) นั่นเองแต่ทั้งสามคำนั้นเป็นความละเอียดในความเมาที่ต่างกัน สุรานั้นหยาบ มัชชะนั้นละเอียด นั่นหมายความว่าการค้าขายใดที่ทำให้เกิดการหลงมัวเมานั้นชาวพุทธไม่ควรทำ

ขอให้กลับไปทบทวนว่าสิ่งที่เราขายนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตจริงหรือไม่ ถ้ามันไม่จำเป็นแล้วเราขายได้อย่างไร เราก็ต้องล่อลวงผู้ซื้อ ต้นนี้งามนะ ต้นนี้หายาก เอากามคุณเช่น รูป สัมผัส เอาโลกธรรมเช่น ต้นนี้เขาฮิตกัน เอาอัตตาเช่น ต้นนี้เหมาะกับคุณ ไปล่อเขาให้ซื้อ มันก็เข้าเขตมิจฉาอาชีวะกันอยู่เห็นๆ อันนี้เป็นเรื่องลึก ถ้ามองตื้นๆก็จะทำต่อไปได้ เพียงแค่บาปโดยไม่รู้ตัวหรือว่ารู้ตัวแต่ก็ยอมเพราะหลงมัวเมาเช่นกัน

เราขายสิ่งที่ทำให้เขามัวเมาอยู่กับสิ่งไร้สาระและไม่เป็นประโยชน์นี้เป็นกุศลไหม? เป็นทางของชาวพุทธหรือไม่ หากจะบอกว่าสัมมาอาชีวะและสัมมาวณิชชาขอให้ทบทวนและศึกษาดีๆ เพราะวิบากกรรมนั้นเห็นได้ยาก กว่าจะรู้ก็มักจะสายไปเสียแล้ว

5). ทางสายกลางคืออะไร?

ทางสายกลางนั้นไม่ใช่ทั้งเลี้ยงไม้ประดับและไม่เลี้ยงไม้ประดับ แต่เป็นการไม่เลี้ยงโดยที่ไม่มีอัตตา พระพุทธเจ้าไม่เคยกล่าวทางสุดโต่งสอนด้านว่า “เธอจงเสพกามแต่ไม่ติดกาม” แต่ท่านสอนว่า “ให้เว้นขาดจากกาม แต่ไม่ให้ไปติดอัตตา

กามหรือความหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นี่ให้ตัดออกไปก่อนเลย เพราะไม่มีความจำเป็น เป็นสิ่งสิ้นเปลือง เป็นบาปที่แสบเผ็ดร้อน

แล้วอัตตาคืออะไร? อัตตาคือความยึดดี เช่นเราหลงติดกามในไม้ประดับอยู่ แล้วอยู่ๆเราก็ยึดดีว่าเราจะเลิก แต่กามมันยังมีอยู่ มันยังอยากได้อยู่ มันมองแล้วสวยอยู่ ทีนี้พอไม่ได้เสพมันก็จะเริ่มรู้สึกทุกข์ทรมาน อันนี้คือทางโต่งอีกด้านหนึ่ง

การประมาณทางสายกลางนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้ปัญญา ต้องลด ละ เลิกการเสพกามให้ได้ จนไม่ทำให้ตัวเองลำบากจนถึงขั้นทรมาน ขีดของทางสายกลางนั้นมันอยู่ตรงไหนไม่ใช่สิ่งที่จะคิดเอาได้ แต่มันต้องปฏิบัติเอาจึงจะรู้ได้เอง

6). ปลายทางของผู้ยึดมั่นถือมั่นคือทางไหน?

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวเองหลงนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อหลงในสิ่งใดก็จะเห็นแต่คุณค่าของสิ่งนั้น ว่าดี ว่าเลิศ ว่ามีประโยชน์ ใครมาบอกว่าไม่ดีก็จะรู้สึกไม่พอใจ เพราะตัวเองเห็นว่าดีจริงๆ นั่นก็ถูกแล้วเพราะถ้าคนมีกิเลสมันไม่ยึดกิเลสของตัวเองมันก็ผิดสัจจะ(คนเห็นผิด จะเห็นถูกเป็นผิด = ถูกของเขา)

ทีนี้มันอยู่ที่ทิศทางที่เดินไป ทางที่ไปนั้นเป็นทางพ้นทุกข์หรือไม่ สิ่งที่ทำนั้นทำไปเพื่ออะไร เพื่อการสะสมอย่างนั้นหรือ เพื่อการเสพสมใจอย่างนั้นหรือ เพื่อลาภ ยศ สรรเสริญอย่างนั้นหรือ นั่นคือทางพ้นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้นหรือ เดินไปทางตันแม้จะเดินไปได้ไกลอย่างไร ก้าวหน้าแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องเดินกลับมาอยู่ดี เพราะมันผิดทาง

ถ้ายึดสิ่งที่เป็นกุศลอยู่บ้างยังพอหาประโยชน์ได้ แต่ถ้าไปยึดสิ่งที่ไม่มีสาระ ไม่จำเป็นในชีวิต เป็นสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มันก็หลงทางเข้าป่าเข้าพงไปเลย

7). เลี้ยงอย่างมีสติได้จริงไหม?

ผมเห็นความเห็นในแนวทางนี้ ก็อยากจะเสนอความคิดเห็นว่า เรื่องนี้มันค่อนข้างซับซ้อน เราลองมาค่อยๆขยายคำว่า “เลี้ยงอย่างมีสติ” กันอย่างช้าๆ

คำว่ามีสตินั้นหมายถึงความรู้ตัว จะทำอะไรก็รู้ตัว ในมุมมองทั่วไปเราก็อาจจะประยุกต์ไม้ประดับมาช่วยในการเจริญสติได้เช่น ปลูกต้นไม้ รดน้ำ พรวนดิน

แต่ในความจริงแล้วต้องดูว่าเรามีสติอยู่บนพื้นฐานของอะไรต่างหาก ถ้าเราหลงไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเรายังจะเรียกสภาวะที่เรามีนั้นว่าสติได้อีกหรือ ในเมื่อมันตกอยู่ภายใต้การบงการของกิเลสตั้งแต่แรกแล้ว มันก็สติหลอกๆเท่านั้นแหละ เพราะมันไม่มีศีลมากั้นให้เห็นกิเลส ไม่มีปัญญามาพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดไม่จำเป็นของชีวิต

หากเรายังหลงอยู่ เราจะเรียกว่าเรามีสติได้อย่างไร มันก็หลงว่ามีสติเท่านั้นเอง หรือถ้ากล่าวให้ดูสวยๆก็คือ “หลงอย่างมีสติ” มันก็ย้อนแย้งกันอยู่ หลงแล้วจะมีสติได้อย่างไร ว่าแล้วก็โดนกิเลสหลอกให้เสพสะสมแล้วสุขสมใจอยู่กับสิ่งลวงนั่นแหละ

8). ภาระคืออะไร?

ภาระนั้นคือผล หรือวิบากบาปที่ต้องแบกไว้ ความหนักของภาระนั้นขึ้นอยู่กับปัญญาที่เกิดหลังจากเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น พอพระราหุลเกิด พระพุทธเจ้าท่านก็ อุทานว่า “ บ่วงเกิดแล้ว ” ว่าแล้วก็หนีไปบวชเลย นี่คือปัญญาของมหาบุรุษผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

คนเรานั้นมีปัญญาไม่เท่ากันในการที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นคุณหรือเป็นโทษ คนที่มัวเมาในกิเลสเขาก็ยินดีที่จะแบกกิเลสนั้นไว้ แม้มันจะสร้างทุกข์ บาป อกุศล เวรภัย ให้กับเขา แต่ก็เขาก็ยังเห็นว่าสิ่งนั้นดี เรียกว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

สรุปแล้วคนมัวเมาก็แบกกิเลสไปได้แบบไม่คิดว่ามันหนัก คนที่รู้ความจริงพอเห็นว่าหนักก็วางลงแค่นั้นเอง มันไม่ใช่เรื่องของความเบื่อ ความรัก หน้าที่ การงานหรืออะไรอื่นๆ มันเป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ ต่อตนเองและผู้อื่น

9). อัตตา

ผู้ที่หลงมัวเมามากๆ แม้จะไม่ได้แสดงอาการอะไรออกมา แต่โดยพฤติกรรมแล้วคือจากไม่ได้ พรากไม่ได้ ไม่ยอมแยกจากกัน คือสภาพของการยึดมั่นถือมั่นจนถึงระดับอัตตา

ความยึดนั้นมีความลึกที่แตกต่างกัน หลายคนเลี้ยงไม้ประดับเพราะมันสวยดี ขั้นนี้เขาติดกาม ถ้าแก้ที่กามก็จบ บางคนเลี้ยงเพราะโลกธรรมเช่น ชอบที่ตนเองเป็นกูรูไม้ประดับ ถ้าแก้ที่โลกธรรมก็จบ ส่วนที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือ ฉันชอบมัน มันคือชีวิตของฉัน ขาดมันฉันตาย ขาดฉันมันตาย อันนี้แก้ที่อัตตา แต่อัตตามันไม่ได้แก้ง่ายขนาดนั้น เพราะเป็นสภาพของการยึดที่ลึกและเห็นได้ยาก เป็นภัยน้อยแต่มาก

คือถ้ามองด้วยตาและตัดสินตามโลก เขาก็เป็นคนเลี้ยงไม้ประดับคนหนึ่งที่ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร แถมเป็นคนดีมีศีลธรรม ถ้าจะวัดโดยขีดของโลกนั้นมันก็ถูกของเขา แต่ในมุมของการทวนกระแสโลก คือหลุดจากการเป็นทาสของกามและอัตตาใดๆ การยึดมั่นถือมั่นในลักษณะนี้เป็นเหมือนคนที่ตกอยู่ในทะเลยางที่เหนียว ข้น และลึก ยากนักที่จะหลุดออกมาได้

เพราะเขาเหล่านั้นได้ผูกตัวตนของตัวเองไว้กับสิ่งเท่าเขารัก โดยที่เขาไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว กิเลสเหล่านั้นไม่ใช่ตัวตนของเขา เขาไม่จำเป็นต้องยึดแบบนั้น ถึงไม่ยึดก็อยู่ได้ มันไม่ใช่ตัวตนอะไรเลย มันไม่ใช่ความจริง เราไปสร้างมันขึ้นมาเองแล้วก็ยึดไว้เอง เรียกว่าอุปาทาน พอมีอุปาทานก็มีภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ อุปายาส กองทุกข์ทั้งมวลจึงเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปอย่างไม่รู้จุดหมาย

10). เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

การเห็นทุกข์นั้นเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะสามารถเห็นทุกข์ทั้งๆที่ยังหลงติดหลงยึดได้ แต่การเห็นทุกข์นั้นก็ต้องใช้ปัญญา และปัญญานั้นก็ใช่ว่าจะได้มาด้วยความบังเอิญ ต้องใช้การคิด พิจารณาประโยชน์และโทษให้ถี่ถ้วน ศึกษาใช้ธรรมอ้างอิงจนเข้าใจว่าสิ่งใดเป็นกุศลหรืออกุศล

ผู้ที่เห็นทุกข์ แม้จะยังไม่สามารถหลุดจากความอยากได้ แต่ก็ได้เปิดประตูแห่งอริยสัจแล้ว เราอาจจะต้องเรียนรู้ทุกข์ไปอีกหลายล้านชาติ หรือเพียงแค่จบบทความนี้ก็สามารถเห็นทุกข์ได้ทันทีแล้วแต่บุญบารมีที่แต่ละท่านสะสมมา

คนที่ไม่รู้จักทุกข์ก็จะไม่หาทางออกจากทุกข์ เขาเหล่านั้นก็จะยินดีที่จะจมลงในภพของการเสพสมในของกิเลสต่อไป ส่วนคนที่รู้แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะออกได้ง่ายนัก เพราะวิบากบาปที่เราได้ทำไว้นั่นแหละจะดึงรั้งเราไว้ ยกตัวอย่างเช่นเราเป็นร้านขายไม้ประดับ พอเรามีปัญญาเห็นคุณเห็นโทษแล้วมันจะเลิกไม่ง่ายนะ ลูกค้าจะไม่ยอม ไหนจะครอบครัว ค่าใช้จ่าย หนี้สิน คนงาน ไหนจะต้นไม้อีกมากมายที่จะเป็นภาระอีก เราหลุดออกไปไม่ได้ง่ายๆหรอก สร้างบาปไว้เยอะก็ต้องรับผลกรรมชั่วนั้นๆไปด้วย

คนที่เห็นโทษก็ให้ศึกษาหาทางออกในลำดับต่อไป คนที่ยังไม่เข้าใจก็ศึกษาเพิ่มเติมไปก่อน ส่วนคนที่ยังเห็นว่าเป็นสุขอยู่นั้นก็ขออภัยด้วยเพราะบทความนี้คงจะไปขัดใจท่านไม่มากก็น้อย ก็ถือซะว่าเราคิดต่างกัน แล้วก็ปล่อยวางมันไปเสีย

– – – – – – – – – – – – – – –

9.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เมาบุญ

September 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,171 views 0

เมาบุญ

เมาบุญ

การที่เรามีศาสนาเป็นที่พึ่ง มีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งเรามักจะวางตัวห่างไกลจากความพอดี บ้างก็เป็นศาสนานั้นแต่ในทะเบียนบ้าน บ้างก็นับถือศาสนานั้นอย่างมัวเมา หรือที่เรียกกันว่า “เมาบุญ

ความหลงมัวเมาในบุญนี้ มักเกิดจากความศรัทธาที่ไม่มีปัญญา จึงมัวเมาลุ่มหลงอยู่ในสิ่งที่สังคมเขาเห็นว่าดี ดังจะเห็นได้จากการทำบุญทำทานอย่างเกินพอดีจนตนเองและครอบครัวลำบาก การใช้เวลาไปกับวัดและการบำรุงศาสนาจนบกพร่องในหน้าที่ของตัวเอง การยึดดีถือดีติดดีจนทำให้คนรอบข้างเอือมระอา ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของการ “มัวเมา

การทำบุญทานอย่างเมาบุญนั้น เบียดเบียนตนเองและคนอื่นอย่างไร?

การทำบุญทำทานที่ทำเพราะอยากได้บุญนั้น ไม่มีทางที่จะได้บุญเลย เพราะการทำทานที่ได้บุญคือการทำทานที่พาให้เราลดกิเลส แต่การทำเพราะอยากได้อยากมี คือการเพิ่มกิเลส ดังนั้นไม่มีทางได้บุญอยู่แล้วแต่อานิสงส์ก็ยังจะมีอยู่บ้าง ในส่วนของการเบียดเบียนคือการทำทานเกินความพอดี บางครั้งแทนที่จะได้ใช้ทรัพย์นั้นไปทำกุศลอย่างอื่นก็ไม่ได้ใช้ บางทีก็ต้องไปเรี่ยไรขอเงินจากคนอื่นเพื่อมาสมทบความอยากได้บุญในกองบุญของตนเองอีก ความไม่พอดีจึงกลายมาเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

การใช้เวลาไปกับวัดบำรุงศาสนามาก ไม่ดีอย่างไร?

การใช้เวลากับการไปวัดและบำรุงศาสนามาก ถ้าเป็นนักบวชก็ถือว่าดี ยิ่งใช้เวลาศึกษาธรรม ก็จะยิ่งเป็นการบำรุงศาสนา คือการทำให้ตัวเองให้มีความเป็นพระยิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบันฆราวาสมักจะใช้เวลาที่มากไปกับการไปวัด ไปทำงานบำรุงศาสนา จนมักจะเห็นศาสนาดีกว่าทุกสิ่ง ทำให้บกพร่องในหน้าที่ของตนเอง เช่นแทนที่จะดูแลกิจกรรมการงาน กลับเอาเวลาไปวัด แทนที่จะดูแลคู่ครองครอบครัว กลับเอาเวลาไปวัด สุดท้ายงานและครอบครัวก็มีปัญหา เพราะตนทำหน้าที่บกพร่อง แต่ด้วยความติดดีจึงโยนความผิดไปให้คนอื่นและบอกว่าศาสนาของตนดีเลิศ การที่ตนให้เวลากับศาสนาเป็นสิ่งดี เป็นความเข้าใจที่มัวเมาหลงผิดซ้ำซ้อน เพราะแท้จริงแล้วศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้คนละทิ้งหน้าที่ แต่ให้ทำหน้าที่ของตัวเองไปพร้อมๆกับการบำรุงศาสนาอย่างสอดคล้องในชีวิตประจำวันโดยไม่ให้บกพร่อง

การยึดดีถือดีติดดี เป็นอย่างไร?

ขึ้นชื่อว่าการยึดมั่นถือมั่นก็ไม่ดีอยู่แล้ว แต่การยึดดี ถือดี ติดดีเหล่านี้ ผู้ที่ติดมักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดดี แม้ว่าจะมีคนมาทัก หรือแนะนำก็จะไม่ยอมรับว่าตัวเองติดดี และไม่ระวังตัว มักจะใช้ความดีที่ตนมีอยู่ เข้าไปทำหน้าที่ตัดสิน พิพากษาคนที่เขาพลาดทำชั่วอยู่เรื่อยไป โดยเฉพาะคนที่เมาบุญ พอเจอคนที่เขาไม่เอาดีในการทำบุญทำทานก็จะเริ่มเพ่งโทษเขา ตำหนิเขา มองว่าที่ตนทำนั้นดี แต่ที่เขาทำไม่ดี มองว่าตนดีเขาไม่ดี มองแบบนี้ก็ติดดีแล้ว เข้าใจแบบนี้ก็ยึดดีเข้าแล้ว

เมาบุญ เมาโลกธรรม

การเมาบุญยังมีระดับการเมาที่หลงไปในระดับที่ลึกยิ่งกว่า นั่นคือเมาบุญในระดับหลงโลกธรรม คือหลงยึดติด ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

เมาบุญหลงลาภ เช่น การทำทานที่เข้าใจไปว่าจะนำมาซึ่งความเจริญ เช่นคิดว่าทำทาน 1 พัน แล้วจะได้กลับมา 1 ล้าน หรือคิดว่าทำบุญ 1 ล้านแล้วจะสามารถซื้อนิพพาน ซื้อสวรรค์วิมานอยู่ได้ ตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ เป็นการหลงเมาบุญในเชิงของลาภหรือในลักษณะของการเอาลาภไปแลกลาภ

เมาบุญหลงยศ เช่น การที่เขาเหล่านั้นได้มีโอกาสดูแลใกล้ชิดพระเกจิอาจารย์ หรือพระดังต่างๆ บางครั้งถึงขนาดใช้เวลาไปเสาะหา ติดตามพระดังทั้งหลาย พระรูปไหนที่เขาว่าดีก็ตามไปหมด เพื่อที่จะเสริมคุณค่าและบารมีให้กับตัวเอง หลงมัวเมาไปว่าพระดัง หรือวัดดังเหล่านั้นจะเป็นบุญบารมีคุ้มกันภัยให้ตนเองได้ หรือถึงขั้นเอาครูบาอาจารย์ไปอวดอ้างเพื่ออวดเบ่งบารมีของตนเอง ว่าฉันนี่แหละที่เป็นศิษย์ท่านนั้นท่านนี้ ฉันดูแลพระรูปนั้นรูปนี้ เพราะมัวเมาหลงบุญหลงยศไปพร้อมๆกัน

เมาบุญหลงสรรเสริญ เช่น การมีความอยากในการเป็นประธานของงานบุญใหญ่ งานกุศลสำคัญต่างๆ หลงคิดว่าการที่ตนได้เป็นประธานนั้นจะนำมาซึ่งบุญที่มากกว่า จึงมีการจองเป็นประธานงานกฐิน กันแบบข้ามปี บางวัดก็จองกันข้ามชาติคือชีวิตนี้ตัวเองคงไม่ทันแล้วเลยจองไว้เผื่อลูกหลาน อาจจะเพื่อให้ลูกหลานทำบุญให้ตัวเองด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เกิดจากความเมาสรรเสริญร่วมด้วย คืออยากให้คนเคารพนับหน้าถือตา ให้คนเขามาชม ให้มีเรื่องไปอวดชาวบ้าน ว่าเป็นตนนี้เป็นผู้ใหญ่ที่ใจบุญน่าเคารพยกย่อง จึงชอบไปทำบุญทำทานเพื่อการได้หน้า เพราะเขาเหล่านั้นหลงมัวเมาไปในบุญพร้อมกับเมาสรรเสริญ

เมาบุญหลงสุข เช่น ผู้ที่ทำบุญทำทานทั่วไป เมาไปในการทำบุญ หลงสุขติดสุข ถ้าไม่ได้ทำบุญจะไม่สุข ชีวิตต้องทำบุญ ในระดับเสพติดการทำบุญทำทานในลักษณะของทางโลก เช่น ทำทาน บำรุงวัด บริการพระ ฯลฯ เขาเหล่านี้จะหลงมัวเมาในบุญโลกียะเหล่านี้ ทำให้ติดหลงสุข ไม่ปฏิบัติในธรรมที่สูงกว่า ดีกว่า วิเศษกว่า เพราะมัวแต่พอใจกับกุศลทางโลก จึงเป็นความมัวเมาที่มาบดบังกุศลที่แท้จริง

…..เราจะเห็นผู้ที่เมาบุญในระดับของโลกธรรมเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มจะมีความสมบูรณ์ในชีวิต มีการงานดี มีครอบครัวดี มีลูกน้องบริวารดี เขาเหล่านั้นก็จะเริ่มหากิเลสในระดับที่มากขึ้นมาปรนเปรอตัวเอง โดยการเลือกมัวเมาไปกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งเขาหลงเข้าใจไปว่าสิ่งเหล่านั้น จะทำให้ตัวเขามีความสุข

เมาบุญในระดับอบายมุข

และถ้าหากมัวเมาในบุญมากๆ ก็มักจะหลงไปในการเมาถึงระดับของเดรัจฉานวิชา ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำและหยาบ นอกจากจะไม่เกิดบุญอย่างที่เข้าใจแล้ว ยังสร้างความหลงมัวเมาบาปอกุศลในระดับที่มากอีกด้วย

คนที่เมาบุญจนขาดสติมักจะไปหลงมัวเมาในผู้บวชเป็นพระ หรือเกจิอาจารย์ที่ทำเดรัจฉานวิชา แล้วหลงเข้าใจว่าสิ่งนั้นคือบุญ สิ่งนั้นคือกุศล สิ่งนั้นคือสิ่งดี เช่นกิจกรรมเหล่านี้คือ ทายนิมิต ทำนายฝัน ทำพิธีเป่าเสก ทำนายทายทักวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ หมอผี หมอลงยันต์ ดูฤกษ์ ดูดวง ดูดาว ทำนายฟ้าฝน ทรงเจ้า ทำพิธีเชิญขวัญ พิธีบนบาน การแก้บนต่างๆ รดน้ำมนต์ ฯลฯ (ดูเพิ่มเติมในมหาศีล)

เหล่านี้คือเดรัจฉานวิชา คือวิชาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นวิชาที่พาโง่ โดยคนโง่ เพื่อคนโง่ พาให้หลงมัวเมาในกิจกรรมอันไม่เป็นกุศล ไม่เป็นบุญ ไม่พาลดกิเลส ไม่พาพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญ ท่านให้เว้นเสียจากกิจกรรมการงานพวกนี้ คนที่หลงมัวเมาไปก็มีแต่จะเพิ่มทุกข์ คนที่ใช้วิชาเหล่านี้ก็มีแต่จะเพิ่มวิบากบาปให้ตนเอง เพราะไปทำให้คนอื่นหลงมัวเมา เพื่อแลกกับการเสพ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และเป็นการเพิ่มกิเลสของตัวเองด้วย

ดังจะเห็นได้ว่า ความเมาบุญ นี้มีมิติที่หลากหลายลึกซึ้ง บ้างเมาน้อย บ้างเบามาก ไปตามเหตุปัจจัยที่แต่ละคนทำมา ผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกตรง ทำดีมาก มีปัญญามาก ก็จะสามารถเห็นโทษภัยจากการเมาบุญในระดับต่างๆได้อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันผู้ที่มีกิเลสหนา มีวิบากบาป จะแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนที่เป็นกุศลหรืออกุศล สิ่งไหนที่เป็นบุญหรือบาป วิธีออกจากความโง่เขลาเหล่านี้คือทำบุญทำทานให้มาก เสียสละให้มาก ช่วยเหลือผู้อื่นให้มาก ถือศีลให้เคร่งครัด แล้วก็จะออกจากนรกนี้ได้เอง

– – – – – – – – – – – – – – –

23.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์