Tag: การคิดบวก
คิดบวก จนลวงความจริง
คิดบวก จนลวงความจริง
วิธีแก้ปัญหาในชีวิตยอดนิยมวิธีหนึ่งที่ใช้กันในสังคมก็คือ “การคิดบวก” คือการพยายามทำความเห็นให้ไปในแนวทางที่ดี เพื่อที่ตนเองนั้นจะได้ไม่ต้องรู้สึกทุกข์จากความคิดติดลบเหล่านั้น
การคิดบวกเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้กันมากในการบทเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกและการพัฒนาจิตใจในปัจจุบัน มีผลมากกับจิตใจที่อยู่ในภาวะตกต่ำเซื่องซึม เป็นการดึงจิตให้ขึ้นมาจากภวังค์โดยการผลักให้ไปอยู่ในจุดที่สูงสุด ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คืออยู่ในสภาพที่ดีเกินกว่าความเป็นจริง อยู่ในสภาพที่สวยงามที่สุด เพื่อให้จิตใจได้เสพสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในสถานการณ์นั้นๆ
ผลของการคิดบวกนั้นออกมาค่อนข้างดูดี คือสามารถกลายเป็นคนคิดบวก มองโลกสวยงาม ไม่ติดลบ คิดไปในทางที่ดีเสมอๆ ไม่จมอยู่กับทุกข์ ดูเผินๆก็จะเห็นและเข้าใจว่าดี แต่ในความจริงแล้วการคิดบวกนั้นยังซ่อนภัยร้ายอันน่ากลัวไว้อยู่ด้วย
ศาสนาพุทธไม่เคยสอนให้เราคิดบวก ไม่เคยสอนให้เราสะกดจิตตัวเอง ว่าฉันดี ฉันเก่ง ฉันทำได้ เขาไม่ได้คิดไม่ดีกับฉัน เขาไม่ได้ตั้งใจทำร้ายฉัน ฯลฯ แต่สอนให้มองความจริงตามความเป็นจริง ไม่มีการคิดบวกหรือคิดลบใดๆทั้งนั้น มีเพียงแค่ความจริงตามความเป็นจริงตามเหตุปัจจัยในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่การคาดเดาอนาคต และไม่ใช่การยึดมั่นถือมั่นในอดีต
ในปัจจุบันเรามีข้อความ ข้อคิด คำคมที่เสริมพลังในการคิดบวกมากมาย เช่น ชั่ว 7 ที ดี 7 หน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสิ่งนี้ไม่เป็นไปตามความจริง เหมือนคำปลอบคนที่กำลังท้อแท้เท่านั้น เพราะในความจริงแล้ว ชั่วมันก็มาเท่าที่เราเคยทำกรรมไว้ เช่นเดียวกันกับดี ถ้าทำมามาก มันก็จะมามาก ไม่จำเป็นต้องสลับกันมา แต่จะมาตามกรรมของเรา ดังนั้นคนที่คิดบวกเช่นนี้ก็จะเกิดอาการอกหักเมื่อเจอกับสภาพที่มีแต่ชั่วอย่างเดียวไม่มีดีเกิดขึ้นเลย คือตอนแรกก็พอจะคิดบวกได้อยู่แต่พอทุกข์มันกระหน่ำเข้ามามากๆก็จะเกิดอาการท้อใจ เช่นคนที่ชีวิตผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนฆ่าตัวตาย นั่นเพราะเขาเจอแต่ชั่วเข้ามาในชีวิตจากผลของการกระทำของเขานั่นเอง
บางครั้งการคิดบวกนั้นอาจจะทำให้เกิดสภาพที่ตีกลับจากขาดเป็นเกินก็ได้ เช่นคนมีปมด้อย พอไปศึกษาการคิดบวกมากๆก็ตีกลับ กลายเป็นว่าเอาปมด้อยของตัวเองมาเป็นปมเด่น สุดท้ายก็ติดสุขในปมด้อยและเด่นที่จิตของตัวเองปั้นขึ้นมาอีก กลายเป็นว่าสร้างอัตตาขึ้นมาพันอีกชั้นหนึ่ง ห่างไกลความจริงตามความเป็นจริงเข้าไปอีก ซึ่งจริงๆแล้วการแก้ไขปมด้อยก็คือการแก้ไขจิตที่เป็นทุกข์เพราะปมด้อยนั้น ให้เห็นตามความเป็นจริง แต่ไม่จำเป็นต้องผลักปมด้อยให้เป็นปมเด่นแต่อย่างใด
การคิดบวกว่าทำดีมากๆ ช่วยคนมากๆ ทำทานมากๆ แล้วจะพ้นทุกข์นั้นก็เช่นกัน คนดีที่คิดบวกมักจะเข้าใจเช่นนี้ แต่ความจริงผลของกรรมก็ไม่จำเป็นต้องออกมาตามใจเช่นนั้น เราจะได้รับดีในชาตินี้ก็ได้ ไม่ได้รับดีในชาตินี้ก็ได้ คือทำดีไปแล้วจะได้รับผลแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าตอนไหน ที่นี้คนที่คิดบวกทำดีเพื่อหวังผล มักจะมีจิตโลภซ้อนอยู่ตรงที่ว่าถ้าฉันทำดีมากพอฉันก็จะพ้นทุกข์ไปได้ ซึ่งความจริงมันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ ใครจะรู้ว่าเราทำกรรมชั่วมาเท่าไหร่ แล้วดีที่ทำไปมันอาจจะไม่มากพอจะมาขั้นให้ชั่วนั้นหยุดหรือพักการส่งผลก็ได้และสุดท้ายคนที่ทำดีเพราะคิดบวกก็จะอกหัก
หรือการคิดบวกว่า ถ้าเราคิดดี พูดดี ทำดีกับเขาแล้ว เขาจะต้องดีตอบเราในวันใดวันหนึ่งอย่างแน่นอน เราทำดีจะต้องได้รับผลดี หรือถ้าเราทำผิดแล้วเราทำดีมากๆ เขาก็จะให้อภัย ข้อนี้เหมือนจะดี เหมือนจะถูกตรง แต่ยังมีความเอนเอียงเข้าข้างตนเองอยู่
ในความเป็นจริงแล้ว ถึงเราจะคิดดี พูดดี ทำดีกับใคร ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องดีตอบ ถึงเราจะทำดีทั้งชาติ เขาก็อาจจะไม่ได้ทำดีอะไรตอบแทนเราเลยก็ได้ หรือเขาจะหันมาทำชั่วใส่เรา ทำร้ายเราก็เป็นไปได้ นั่นเพราะกรรมที่เราทำมามันหนักหนามากกว่าดีที่เราทำในชาตินี้ ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้ากับพระเทวทัต มีการจองเวรจองกรรมกันมานับชาติไม่ได้ กว่าจะมาซึ้งในรสพระธรรมก็ตอนชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ก่อนหน้านั้นท่านทำดีเท่าไหร่ก็ยังโดนทำร้าย นั่นก็เกิดจากกรรมที่ท่านทำมา
ทีนี้คนที่พยายามคิดบวก แต่ไม่เข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ก็จะคิดดี พูดดี ทำดีแบบหวังผล ไม่รอคอย ไม่ให้อภัย คิดว่าทำดีไปมากๆ แล้วมันก็จะต้องเกิดผลดี แต่สุดท้ายไม่ว่าจะทำเท่าไหร่มันก็ไม่ดี แถมอาจจะยิ่งแย่ขึ้น ซึ่งก็ทำให้คนคิดบวกอกหักอีกเช่นเคย
ในความจริงนั้น ดีที่ทำไปแล้วก็เป็นกุศลกรรมที่ได้สั่งสมลงไปแล้ว ส่วนผลดีจะเกิดขึ้นแบบไหนเมื่อไหร่นั้นไม่มีใครรู้ เป็นเรื่องอจินไตยที่ไม่ควรคิด แต่ควรทำความเข้าใจว่ามูลเหตุของการเกิดสิ่งดีและร้ายในชีวิตนั้นเกิดจากอะไร ก็จะมีแต่เรื่องกรรมเท่านั้นที่ส่งผลให้เราได้รับดีและร้ายนั้นในปัจจุบัน ถ้าเราหยุดทำสิ่งที่ร้าย หันมาทำดี ชีวิตในปัจจุบันและอนาคตก็จะมีแนวโน้มที่จะเจอสิ่งดีมากขึ้น
ทั้งนี้การคิดบวกก็ยังไม่ใช่แนวทางที่สมควรอยู่ดีสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม แต่ควรจะคิดเห็นตามความเป็นจริง เมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาหรือประสบทุกข์ การแก้ปัญหาที่ดีจึงไม่ใช่การคิดบวกหรือการมองโลกให้สวย แต่เป็นการมองให้เห็นความจริงของปัญหาว่าทุกข์จากอะไร เหตุแห่งทุกข์คืออะไร จะต้องดับเหตุอะไรบ้างทุกข์จึงดับ แล้วจะปฏิบัติอย่างไรให้ทุกข์นั้นดับไป นี่คือสิ่งที่สมควรเรียนรู้ ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ไม่ใช่การคิดลบหรือคิดบวกอะไรทั้งนั้น
ถึงแม้ว่าความจริงจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเข้าถึงความจริงนั้นได้ การคิดบวกจึงเหมือนยารสหวานที่จำเป็นต้องใช้กับเด็ก แม้จะมีโทษภัยอยู่แต่ก็พอจะแก้ปัญหาไปได้บ้าง แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่จิตใจเข้มแข็งแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินยารสหวานแบบเด็กอีกต่อไป ควรจะหันมากินยาขม มาศึกษาความจริงตามความเป็นจริง มาศึกษาการแก้ปัญหาให้แจ่มแจ้ง ให้ลึกถึงต้นเหตุ เพื่อที่ปัญหาเหล่านั้นจะได้ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง
– – – – – – – – – – – – – – –
3.12.2558
สมถะ-วิปัสสนา ความแตกต่างในลักษณะของการเกิดดับ
สมถะ-วิปัสสนา ความแตกต่างในลักษณะของการเกิดดับ
มุมมองต่อการเกิดดับของกิเลสจะแตกต่างกันไปตามวิธีปฏิบัติ สมถะและวิปัสสนาจะมีมุมมองที่แตกต่างกันเพราะมีการทำงานที่แตกต่างกัน
ผู้ที่เรียนรู้สมถะ
สมถะคือวิธีการพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม มีใช้กันทุกศาสนา โดยมากจะอยู่ในรูปการทำสมาธิ การเจริญสติในแบบต่างๆ การระลึกรู้ การคิดบวก การใช้ข้อธรรมดีๆเข้ามาจัดการกับการเกิดดับของจิตใจ โดยแนวคิดหลักๆคือการใช้อุบายเข้ามาควบคุมใจ ซึ่งสมถะจะแทรกอยู่ในการปฏิบัติของทุกๆศาสนา เป็นความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นมาก่อนศาสนาพุทธ และจะอยู่คู่โลกไปอีกนานแสนนานแม้ว่าพุทธจะเสื่อมสลายไปแล้วก็ตาม
มุมมองของสมถะต่อการเกิดและดับคือมองว่ามีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในแบบเปิดปิด ( on / off ) คือมีเกิด ก็ต้องมีดับ ดังนั้นหลักของสมถะคือกระทำความดับไม่ให้เกิด เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายเหมือนปิดสวิตซ์ไฟ แต่การจะดับจิตหรือความคิดที่เกิดขึ้นมาได้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถดับได้ทันที
สมถะจึงต้องการมีฝึกเช่นกัน เพื่อที่จะใช้กำลังของจิต ใช้ตรรกะ ใช้ความคิด เข้ามากดข่มจิตที่เกิดขึ้นนั้นๆให้ดับไป และหมายเอาว่าถ้าสามารถทำความดับให้ต่อเนื่องจนเป็นสมาธิได้ ก็จะบรรลุธรรม
นี้คือทิฏฐิของผู้ที่ฝึกแต่สมถะ ซึ่งก็จะมีมรรคผลแบบสมถะ ได้ความสงบ สามารถดับความคิด ดับจิตที่เกิดได้ในระดับอัตโนมัติ คือดับได้โดยไม่ต้องใช้สติไปรู้ หรืออีกนัยหนึ่งคือกดข่มโดยไม่มีสติอย่างเป็นธรรมชาติ สภาวธรรมเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ติดสงบ ติดภพ ติดสภาพของฤๅษี ที่หลงว่าสมถะนั้นคือทางบรรลุธรรม
บ้างก็หมายเอาว่าสมถะของตนนั้นคือวิปัสสนา ทำให้หลงอยู่กับการกระทำความดับในแบบเปิดปิดเช่นนี้ โดยไม่เข้าใจเหตุปัจจัยของรูปและนามอย่างแท้จริง แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะสามารถกดข่มกิเลสได้ มีรูปสวย ดูดีไปจนตาย แม้จะกดข่มได้ข้ามภพข้ามชาติต่อไปอีกเป็นสิบเป็นร้อยชาติ แต่ความเกิดนั้นก็จะยังเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งอยู่ดี
ซึ่งวิธีการดับด้วยสมถะนี้เอง เป็นเรื่องที่เข้าใจและปฏิบัติได้ง่าย มีสอนกันโดยทั่วไป วิธีการก็ไม่ยาก แค่พยายามกดไปเรื่อยๆ กดข่มไป คิดบวกไป ตัดรอบไป ทำเป็นลืมไป ฯลฯ เรียกว่าเจอผัสสะเข้ามากระทบแล้วก็ทำลายสภาพจิตที่เกิดเวทนาสุขทุกข์นั้นเสีย
ด้วยวิธีสมถะนี้เอง ทำให้หลายคนสามารถถือศีลที่ยากๆได้ เพราะใช้การกดข่มอย่างต่อเนื่อง พยายามบีบบังคับความอยากด้วยอุบายทางใจไม่ให้โผล่หน้าออกมา แต่ถึงกระนั้นก็เป็นเพียงการถือศีลในแบบสีลัพพัตตุปาทาน คือการถือศีลอย่างงมงาย ไม่มีปัญญา เขาว่าดีก็ถือ เขาว่าเป็นกุศลก็ถือ ไม่ได้เข้าใจในสาระและข้อปฏิบัติเพื่อการศึกษาในศีลนั้นๆ ดังนั้นการถือศีลยากๆได้ไม่ได้หมายความว่าบรรลุธรรม เพราะสามารถใช้การกดข่มหรือวิธีของสมถะเข้ามาบริหารจัดการได้
ผู้ที่เรียนรู้วิปัสสนา
โดยปกติแล้ว ผู้ที่เข้าใจวิปัสสนาจะสามารถเข้าใจสมถะอย่างถ่องแท้ด้วย นั่นเพราะสมถะคือพื้นฐานของการปฏิบัติในทุกๆศาสนา แม้ไม่มีศาสนาก็เป็นนักสมถะที่เก่งได้ แต่วิปัสสนานั้นเป็นกระบวนการของพุทธเท่านั้น หากจะนับจำนวนชาติที่หลงผิดต่อจำนวนชาติที่เห็นถูกตรง ย่อมปฏิบัติกันผิดๆมามาก ซึ่งในการปฏิบัติที่ผิดเหล่านั้นมักจะมีการใช้สมถะเป็นวิถีทางหลักอยู่แล้ว นั่นหมายถึงก่อนจะมาเรียนรู้วิปัสสนาก็มักจะสะสมบารมีเกี่ยวกับสมถะมาจนรู้แจ้งเห็นจริงแล้วกันมาไม่มากก็น้อย
วิปัสสนานั้นคือการทำให้มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง โดยรู้เหตุปัจจัยแก่กันและกันทั้งหมดของความเกิดและความดับ รู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสที่เกิดตลอดจนถึงความจางคลายละหน่ายจากกิเลสไปโดยลำดับ โดยมีญาณปัญญารู้ถึงระดับของกิเลสในตน
ปัญญาที่เกิดขึ้นจากวิปัสสนาจะกระจ่างแจ้งคนละระดับกับวิธีสมถะ เพราะเป็นปัญญาคนละโลก สมถะจะได้แค่ปัญญาโลกียะ ส่วนวิปัสสนาจะได้ทั้งปัญญาโลกียะและปัญญาโลกุตระ โดยหลักแล้วแม้สมถะจะเน้นไปที่สติ ดังคำว่า “สติมาปัญญาเกิด” แต่หากยังใช้เพียงวิธีของสมถะก็จะได้แค่ปัญญาโลกียะเท่านั้น เป็นปัญญาที่มีอยู่ในระดับที่กิเลสไม่กำเริบเท่านั้น ไม่ใช่ปัญญาในระดับของการชำระกิเลส
วิปัสสนานั้นจะไม่ได้ทำเพื่อการดับในทันทีเหมือนสมถะ เพราะรู้แน่ชัดว่ากิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์จนทำให้จิตใจหวั่นไหวนั้นมีปริมาณมาก จะจำกัดทีเดียวไม่ใช่เรื่องง่าย ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีไว้ศึกษาโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด กิเลสก็เช่นกัน มันมีสภาวะที่ละเอียดลึกลงไปตั้งแต่กามภพ รูปภพ อรูปภพ ซึ่งถ้าวิปัสสนาอย่างถูกตรงจะสามารถทำลายทั้งสามภพนี้ได้ แต่ถ้าปฏิบัติสมถะจะไม่ได้ทำลายภพ แต่จะเป็นการกดตัวเองเข้าไปอยู่ในภพ และกดข่มไปได้อย่างมากสุดก็แค่อรูปภพ จึงไม่มีวันหลุดพ้นจากกิเลสนั่นเอง
วิปัสสนานั้นจะทำให้เกิดปัญญาเจริญไปโดยลำดับ มีมรรคผลไปโดยลำดับ เติบโตไปทีละนิด กิเลสลดลงไปตามลำดับ ซึ่งอาจจะมีกิเลสเพิ่มบ้างในกรณีเกิดความทรมานจากการปฏิบัติธรรมแล้วย้อนกลับไปเสพตามกิเลสบ้างในบางคราว แต่โดยรวมแล้วจะมีทิศทางที่จะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นการเกิดดับของวิปัสสนาจะเป็นไปโดยลำดับ เป็นขั้นตอน เป็นกระบวนการจนสุดท้ายดับเหตุที่จะทำให้กิเลสเกิดได้ จึงกลายเป็นสภาวะดับตลอดกาล ไม่มีวันเกิดอีก ไม่มีเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปอีกต่อไป เพราะเป็นการดับที่ถาวร ไม่มีเชื้อของกิเลสอีกแล้ว
วิธีของวิปัสสนานั้นเห็นผลไม่ได้ง่ายๆเหมือนอย่างวิธีสมถะ เพราะต้องอาศัยความเพียรที่ถูกตรงอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดผล ต่างจากวิธีสมถะที่สามารถดับกันได้ชัดๆ จนบางครั้งสมถะวิถีเหล่านั้นกลายเป็นหลักปฏิบัติของคนที่มักง่าย หวังบรรลุธรรมไว เข้าใจว่าแค่ดับให้หมด ดับให้ได้ ดับให้ต่อเนื่องก็บรรลุธรรมแล้ว ทั้งที่จริงแล้วทั้งหมดนั้นยังไม่เข้าหลักของพุทธเลย
ทั้งนี้สภาพที่จะมียืนยันความเจริญของการปฏิบัติวิปัสสนานั้นละเอียดล้ำลึกกว่าสมถะมาก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้สอนไว้ให้เป็นแนวทางปฏิบัติและตรวจสอบกันทั้ง วิปัสสนาญาณ ๙ ,ญาณ ๑๖(โสฬสญาณ),จรณะ ๑๕, เจโตปริยญาณ ๑๖ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นสภาพความเจริญในจิตวิญญาณของผู้ที่ปฏิบัติได้จริง
– – – – – – – – – – – – – – –
31.3.2558
จิตว่าง
จิตว่าง
…ว่างจากอะไร?
จิตว่างเป็นคำที่ในยุคสมัยนี้นิยมกันมาก เพราะเป็นคำที่สั้น จำง่าย เหมาะกับยุคที่รวดเร็วร้อนแรงเช่นนี้อย่างยิ่ง แต่หลายคนมักจะมีนิยามของจิตว่างในใจที่ต่างกันออกไป มีการแตกประเด็นออกไปมากมายจากคำนี้ตามแต่ใจคน
เรื่องที่มาของคำนี้จะขอยกไว้ จะกล่าวแต่เพียงความเห็นที่ได้พบและประสบมาในปัจจุบัน เราอาจจะได้ยินคำว่าจิตว่างบ่อยครั้ง แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันว่างจากอะไร? แล้วมันว่างยังไง? ว่างแบบไหน? ต้องขนาดไหนถึงเรียกว่าว่าง? ว่างจริงๆมันเป็นอย่างไร?
จริงอยู่ที่ว่าสภาวธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบอกกล่าวไม่ได้ เพียงแค่บอกแล้วอาจจะไม่เข้าใจกันเท่านั้นเอง แต่การไขสภาพหรือบอกกล่าวกันไว้ให้เป็นหลักอ้างอิงก็ยังดีกว่าไม่ได้ชี้แจงอะไร เพราะหากเราจะเหมารวมทุกอย่างเป็นปัจจัตตังแล้วเก็บอมไว้ แล้วใครล่ะจะรู้ว่าสิ่งที่คิดและเข้าใจนั้นมันถูกต้องจริงไหม บางครั้งเราอาจจะไปยึดสภาพที่ยังไม่ถูกตรงนักมาเป็นผลก็ได้ใครจะรู้…
1). จิตว่างจากความทุกข์
จิตว่างจากทุกข์นี้เป็นประโยคที่ตีความได้ทั้งทางโลกและทางธรรม แต่น้ำหนักส่วนใหญ่น่าจะเป็นไปทางโลก เพราะการจะว่างจากทุกข์นั้นทำได้ไม่ยากนัก ไม่ต้องใช้ธรรมะ ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นเรากำลังทุกข์เพราะหิว การไปกินอาหารก็ทำให้ทุกข์นั้นหายไป จิตก็ว่างจากทุกข์แล้ว
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง กำลังรู้สึกหงุดหงิดใจเพราะทำเงินหาย แต่พอเดินไปดูละครมันก็ลืมเรื่องทุกข์ไปแล้ว มันก็กลายเป็นจิตว่างจากทุกข์ อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น กำลังอกหักแฟนที่รักและผูกพันมาทิ้งไป ก็ไปทำให้จิตว่างจากทุกข์ด้วยการเสพสุขอื่นๆให้มัวเมาจนลืมทุกข์
สภาพของจิตว่างจากทุกข์นั้นโดยทั่วไปก็สามารถใช้วิธีวิ่งไปหาสุขก็สามารถออกจากสภาวะทุกข์ได้แล้ว หรือถ้าจะใช้สมถะเข้ามาช่วยก็ได้เช่นกัน ความเข้าใจว่าจิตว่างจากทุกข์จะพาลให้เฉโก(ฉลาดในเรื่องสะสมกิเลส)พาชีวิตไปเสพแต่สุขโลกีย์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเข้าใจว่าต้องทำชีวิตให้สุข ต้องอยู่อย่างมีความสุข ไม่จมทุกข์
จริงๆแล้วจิตว่างจากทุกข์นั้นก็หมายถึงการคิดบวก การคิดในแง่ดี มองโลกในแง่ดีทั่วไป แม้ทางภาษาอาจจะต่างกันแต่สภาวะนั้นเป็นแบบเดียวกัน
ในส่วนจิตว่างจากทุกข์ในระดับทางธรรมนั้นจะต่างออกไป คำว่าว่าง คือไม่มี ว่างจากทุกข์คือไม่มีทุกข์เลย ทุกข์ในที่นี้คือทุกข์ทางใจเท่านั้น และผู้ที่จะเกิดสภาพนี้ได้คือผู้มีสภาวะของพระอรหันต์เท่านั้น เข้าใจง่ายๆแค่ว่าไม่มีกิเลสก็ไม่ต้องทุกข์ ดังนั้นมันจึงว่างจากทุกข์
2). จิตว่างจากความคิด
เป็นอีกความหมายหนึ่งของจิตว่างที่ได้ยินบ่อย หลายคนตีความว่า “สุขก็เพราะความคิด ทุกข์ก็เพราะความคิด” ก็เลยหาวิธีดับความคิดเสียเลย
การทำให้จิตว่างจากความคิดปรุงแต่งหรือการสังขารนั้น โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีการสมถะเข้ามาจัดการกับความคิด ใช้อุบายทางใจที่สารพัดจะคิดขึ้นมา ตบ ดับ กดข่ม เมินเฉย ดูเฉยๆ รอจนดับไป หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เราไม่ต้องไปยุ่งกับความคิดเหล่านั้นซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นวิธีของสมถะ
ในสมัยนี้วิธีสมถะนั้นมีมากมาย ที่รู้กันโดยทั่วไปก็จะมีนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพ่งกสิณ จดจ่ออยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็มีการพัฒนาวิธีขึ้นให้เหมาะกับจริตของคนที่หลากหลายขึ้นเช่นการขยับตัวไปในท่าต่างๆ ย้ายจิตไปจดจ่อกับสิ่งอื่น ทิ้งผัสสะที่เกิดขึ้นแล้วไปสนใจสิ่งอื่น จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำโดยไม่คิด ไม่ปรุงแต่งใดๆ
การฝึกสมถะจะได้ผลเป็นฌานอยู่เหมือนกันแต่จะเป็นฌานฤๅษี เกิดจากการทำให้จิตจมไปอยู่ในภพใดภพหนึ่งและจมลึกไปเรื่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ ดับตั้งแต่สังขาร(ความคิด) ดับสัญญา(ความจำได้หมายรู้) จนเกิดเป็นสภาพที่จิตว่างจากความคิด เกิดความสงบ เป็นความสุขที่เกิดจากความทุกข์ที่ถูกดับทิ้งจากการคิดฟุ้งซ่านนั่นเอง
การทำสมถะในสมัยนี้ก็มีรูปแบบให้เห็นอย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น “สมถะลืมตา” คือทำสมถะทั้งที่ลืมตาและใช้ชีวิตนั่นแหละ ใช้ชีวิตได้แบบคนปกติเลย ไม่ต้องไปนั่งสมาธิ แต่ก็ใช้วิธีของสมถะดับความคิดไปด้วย จนบางครั้งมีหลายคนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา ซึ่งจริงๆแล้วมักจะไม่ได้เกี่ยวกับการวิปัสสนาเลย เป็นสมถะแท้ๆเพียงแค่ไม่ได้ทำเหมือนที่เข้าใจโดยทั่วไป
เมื่อสามารถทำจิตว่างจากความคิดได้แล้วเกิดความสุขความสงบ หลายคนจึงปักมั่นในสภาวะนั้นว่าคือผลเจริญของพุทธ จริงๆแล้วไม่ใช่เพราะการปฏิบัติแบบสมถะหรือแบบฤๅษีก็มีผลเจริญและสงบแบบฤๅษีเช่นกัน มันมีความสุขจริง มันว่างจริง ซึ่งมักจะพาให้เข้าใจผิดกันไปได้
หลายคนพอใจที่ตัวเองทำจิตว่างจากความคิดได้ จนสามารถควบคุมความคิดได้ แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าวิธีนั้นคือวิธีพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นความประมาทที่ค่อนข้างมาก เพราะลืมพิจารณาไปว่าความคิดเหล่านั้นมันเกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรคือตัวการที่ทำให้คิด ทำไมมันจึงทุกข์เมื่อคิด สิ่งเหล่านี้มักจะถูกมองข้ามไป เพราะหลงเสพหลงยึดเพียงความสงบด้วยความว่างจากความคิดนั่นเอง
3). จิตว่างจากตัวตน
เป็นอีกลักษณะความเข้าใจที่มักจะพบเห็นได้โดยทั่วไป เพราะเขาเหล่านั้นเห็นว่าการมีอัตตาเป็นทุกข์ ก็เลยทำให้เป็นอนัตตาเสียเลย ปราศจากตัวตนเสียเลย ว่างจากตัวตนเสียเลยก็น่าจะดี
จริงๆแล้วการใช้ตรรกะหรือความคิดเข้าไปกำหนดสภาวะมันก็ดูจะเป็นอะไรซื่อๆไปสักหน่อย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนยึดมั่นถือมั่นการใช้ภาษาเข้ามากำหนดสภาวธรรม เพราะจริงๆแล้วการทำลายอัตตาจนกลายเป็นอนัตตานั้นไม่ได้ง่ายเพียงแค่คิด เพียงแค่กำหนดจิต เพียงแค่หมั่นกระทำจิตให้ไม่ถือตัวถือตน มีอะไรมากระทบก็วางเฉย เห็นว่าเป็นเช่นนั้นเองมันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเช่นนั้นเอง สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของเราก็เท่านั้นเอง มันคิดและท่องจำเอาแบบนี้ไม่ได้
การกระทำเหล่านั้นแท้จริงก็อยู่ในลักษณะของสมถะ เป็นการทำสมถะที่ใช้ธรรมะเข้ามาเป็นกรรมฐาน ใช้เป็นบทบริกรรมแทนพุท-โธทั่วไป ซึ่งจะดูซับซ้อนกว่าวิธีสมถะทั่วไปอยู่บ้าง แต่การคิดพิจารณาเป็นรูปแบบเดิมๆ ซ้ำแบบเดิมๆ เพื่อให้จิตเข้าสู่ภพใดภพหนึ่ง หรือสภาพใดสภาพหนึ่งก็เป็นสมถะอยู่ดี ยังไม่ได้เข้าวิปัสสนาแต่อย่างใด
ความเห็นเช่นนี้มักจะมีคนสนใจมาก แม้คนที่เชื่อเช่นนี้ก็จะดูดีมาก ดูเหมือนคนไม่ยึดมั่น ไม่มีอัตตา ดูเหมือนสามารถปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ จริงๆแล้วก็เหมือนฤๅษีที่ทำสมถะ ทำสมาธิจนเป็นฌานทั่วไปนั่นแหละ มันก็จะมีความสุข ความสงบที่เกิดขึ้นเช่นกัน
แต่การเข้าใจว่าจิตว่างจากอัตตาแล้วใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้การตรึกตรองในความไม่มีอัตตาแล้ว อาจจะให้ผลเสียที่ร้ายสุดท้ายก็ได้ เพราะการที่เราคิดหรือหมายมั่นว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือการไม่มีอัตตาตั้งแต่แรกคือการเอาตอนจบมาทำตั้งแต่แรก ซึ่งขัดกับหลักของพุทธ เพราะศาสนาพุทธนั้นต้องปฏิบัติไปโดยลำดับ จากหยาบ กลาง ละเอียด
แน่นอนว่าก่อนจะไปถึงการไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือไม่มีอัตตานั้น จะต้องทำลายทางโต่งไปทางด้านกามเสียก่อนถึงจะมีผลเจริญจริงๆ แต่ในเมื่อเราใช้ความเห็นผิดเข้ามาเป็นตัวปฏิบัติ ใช้กรรมฐานเข้ามากดข่มให้เกิดสภาพอนัตตาหลอกๆ ก็เหมือนเราข้ามขั้นตอน เหมือนข้อสอบที่มีคำถามสองหน้า แต่เราพลิกไปทำหน้าหลังแล้วส่งเลย
ธรรมะก็เช่นกัน กามนั้นมีภัยมาก หลายคนที่ทำตัวให้รู้สึกว่าเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่แรกก็จะหลงกลายเป็นว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในการละกามเสียเลย มองว่าการไปละกามนั้นคือตัวตนก็ว่าได้ กลายเป็นมองว่าไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนให้ยึดมั่นถือมั่น
สุดท้ายก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย จริงๆแล้วก็เหมือนคนธรรมดาที่ยังเสพกามนั่นแหละ แต่แย่กว่าตรงที่หลงผิด หลงผิดทั้งลำดับการปฏิบัติ หลงผิดทั้งสมถะวิปัสสนา หลงผิดทั้งอัตตา-อนัตตา คือไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย มาถึงก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น สุดท้ายก็เสพกามแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำชั่วแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็เพี้ยนไปอย่างนั้นเอง
จิตว่างจากตัวตนแท้นั้นก็มีผลอยู่แต่จะอธิบายอยู่ในหัวข้ออื่นต่อไป…
4). จิตว่างจากปัญญา
จิตว่างแบบนี้ที่จริงแล้วไม่มีอยู่หรอก ไม่มีใครบัญญัติไว้ สร้างขึ้นมาใหม่ในบทความนี้เพื่อเป็นตัวสรุปของความผิดพลาดในการปฏิบัติธรรมจนหลงผิด
วิธีการปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนั้นมีมาก หลายคนแม้จะเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดมรรคผลตามหลักศาสนาพุทธ แน่นอนว่าการปฏิบัติที่เพียรพยายามนั้นต้องการผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนก็จะนำมาซึ่งผลที่ผิดเพี้ยนเช่นกัน
ผู้มีมรรคผลที่ผิดเพี้ยนมักจะไม่รู้ตัว เพราะคนที่มิจฉาทิฏฐิจะไม่มีทางรู้ตัวอยู่แล้ว ก็จะเชื่อว่าตนเองนั้นสัมมาทิฏฐิ เชื่อว่าการปฏิบัติของตนนั้นถูกต้อง พ้นทุกข์ได้จริง ปฏิบัติได้จริง มีผลจริงๆ สภาพที่เห็นจะเหมือนกับการปฏิบัติแบบพุทธเลย แต่นามธรรมภายในจะต่างกัน เรียกว่าสัญญาเดียวกันกายต่างกัน
คือจะใช้ศัพท์ ภาษา สมมุติเหมือนกันหมด เรียกสภาวะอย่างเดียวกัน สงบก็สงบเหมือนกัน ว่างก็ว่างเหมือนกัน ดับก็ดับเหมือนกัน ดังนั้นเวลาคุยกันก็จะเหมือนว่าบรรลุธรรมพ้นทุกข์กันจริงๆ แต่ไม่มีใครรู้จริงหรอกว่าสภาพจิตใจที่เกิดนั้นถูกจริงหรือผิดเพี้ยนไป ใครจะรู้ในเมื่อมิจฉาทิฏฐิก็หลงว่าตัวเองสัมมาทิฏฐิ จึงมีผู้บรรลุธรรมเต็มประเทศไปหมด แล้วคนไหนของจริง คนไหนของปลอม ใช้อะไรแยก จะรู้ได้อย่างไร คนนั้นก็อวดว่าตนจริง แล้วก็ชี้ว่าคนอื่นปลอม มันก็มีให้เห็นแบบนี้บ่อยๆ
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัมมาอริยมรรคนั้นเป็นทางเอกทางเดียวที่พาพ้นทุกข์ เราสามารถใช้มรรคที่ถูกตรงนี้เป็นตัววัดได้คร่าวๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีหลายสำนักหลายกลุ่มที่อ้างว่ามรรคของตนถูก แน่นอนว่ามีทั้งถูกและผิด มิจฉาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรค สัมมาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรคและเกิดสภาพจิตว่างเหมือนกันด้วย
กลับมาที่หัวข้อ ในหัวข้อนี้คือ “จิตว่างจากปัญญา” ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่มีปัญญา ดังนั้นจิตที่ว่างจากปัญญาจึงไม่ใช่พุทธ ปัญญาในทีนี้นั้นไม่ใช่ปัญญาที่เพียงแค่ทำให้มีความสงบ ความสุข ความว่างจากความคิด ความว่างจากตัวตนโดยใช้ความคิด แต่เป็นปัญญาที่ทำให้สงบจากกิเลส ชำระกิเลส ดับกิเลส
การดำเนินตามสัมมาอริยมรรคนั้นหมายถึงทางที่พาไปสู่ความเจริญเพียงอย่างเดียว ทางที่พาลดละกิเลส สวนกระแสโลก ทางที่พาให้คิดดี พูดดี ทำดี ทำงานดี ดังนั้นการไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำนั้นไม่ใช่วิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ การที่จะเดินทางไปสู่ความผาสุกจะต้องคิด พูด ทำ
แล้วมันต้องคิด พูด ทำอะไร? ก็คือคิดไปในทางลดกิเลส พูดแต่เรื่องลดกิเลส ทำแต่สิ่งที่พาลดกิเลส
แล้วมันจะคิด พูด ทำ อย่างไร? แบบนี้มันก็ต้องมีปัญญา คนที่ปฏิบัติยังไม่ถูกทางก็จะไม่มีปัญญา จิตก็เลยว่างจากปัญญา กลายเป็นคนไม่มีปัญญา แม้จะมีความสุข ความสงบ ความไม่มีตัวตน แต่กลับไม่มีปัญญารู้ในเรื่องลดกิเลส ไม่มีปัญญาจัดการกับกิเลส ไม่รู้แจ้งเรื่องกิเลส ก็เรียกได้ว่า “จิตว่างจากปัญญา”
5). จิตว่างจากกิเลส
มาถึงประเด็นหลักกันเสียที ถ้าจะให้คำว่าจิตว่างมันถูกตรง ถูกตามพุทธนี่มันก็ต้องว่างจากกิเลสนี่แหละ แต่สภาวะว่างจากกิเลสนั้นก็ยังมีคนหลงผิดกันไปมาก ก็จะขอขยายตรงนี้กันให้เข้าใจกันเสียก่อน
เรามักจะเข้าใจว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นคือกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความโลภ ฯลฯ ซึ่งก็ถูกต้องเช่นนั้น แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นกิเลสปลายเหตุ หลายคนสามารถดับความโกรธที่เกิดขึ้นได้แล้วหลงเข้าใจไปว่า เรานี่ว่างจากกิเลสแล้ว ซึ่งจริงๆมันก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้นเสียทีเดียว
การดับความโกรธ ความคิด ความฟุ้งซ่านต่างๆได้ ถ้าเราใช้วิธีสมถะก็สามารถดับทิ้งไปได้แล้ว ยังไม่ได้เข้าหลักการลดกิเลสแต่อย่างใด เป็นเพียงการใช้สมถะเข้ามาตบกิเลสที่ฟุ้งขึ้นมาให้ดับลง ทำให้กิเลสที่แสดงตัวนั้นดับลงเท่านั้น จริงๆแล้วคนที่ทำได้แบบนี้ก็ถือว่าดีแล้ว เก่งแล้ว แต่ก็มักจะหลงเข้าใจว่า สิ่งนี้เรียกกว่าการดับกิเลส หรือจิตว่างจากกิเลส ซึ่งจริงๆเรื่องกิเลสมันไม่ได้ตื้นเขินแบบนั้น มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น
การที่จะจิตว่างจากกิเลสได้ ต้องปราศจากกิเลสใดๆในเรื่องนั้นๆเลย ถ้าว่างได้หมดก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเอง แต่การจะว่างได้ก็ไม่ได้ว่างเพียงแค่ดับปลายเหตุ แต่ต้องขุดลึกลงไปถึงต้นเหตุที่เรียกว่าสมุทัย
โดยทั่วไปเรามักจะมองง่ายๆ แบบตื้นๆว่า ทุกข์เกิดเพราะเราโกรธเพราะเรามีตัวตน พอเราดับความโกรธดับตัวตนก็ไม่ต้องทุกข์ แบบนี้ใช้สมถะก็ได้ ฤๅษีก็ทำได้ยังไม่ต้องเข้าพุทธ ซึ่งหมายความว่าวิธีดับที่เหตุนี่ยังไม่ใช่พุทธนั่นเอง
แต่ถ้าวิธีของพุทธจะมองสมุทัยลึกลงไปอีก เช่น เราเกิดทุกข์เพราะเราโกรธ แล้วเราทำไม่จึงโกรธ เพราะเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพสมใจใช่ไหม แล้วเราอยากเสพสิ่งนั้นไปทำไม เราติดสุขอะไร …. การหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีรูปแบบแน่ชัดนัก ขึ้นอยู่ว่าใครสะสมกิเลสมาหนาขนาดไหน ซับซ้อนขนาดไหน แต่ละคนก็จะมีเหลี่ยมมุมในการวิเคราะห์กิเลสที่แตกต่างกัน เพราะเราชอบต่างกัน ยึดติดต่างกัน เรามีตัวตนที่ต่างกันไปตามกรรมของแต่ละคน
ดังนั้นการปฏิบัติธรรมนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จใดๆให้ท่องจำแล้วทำตามจึงจะบรรลุธรรม แต่เป็นการปฏิบัติไปเพื่อล้างกิเลสที่เป็นของตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเอาเอง ทำเอาเอง ตามรูปแบบของกิเลสตัวเอง จะมีก็เพียงหลักพื้นฐานเพื่อให้พิจารณาเช่น ไตรลักษณ์ ประโยชน์และโทษ กรรมและผลของกรรม
แต่การพิจารณานี้ไม่ได้พิจารณากันที่ผลที่เกิด แต่ต้องพิจารณาไปที่สมุทัย ที่กิเลสที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เหมือนกับการแก้ปัญหาให้ถูกจุด ถ้าเราไปใช้ไตรลักษณ์ ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน กับความโกรธที่เป็นผลปลายเหตุ มันก็จะเข้าลักษณะของสมถะเท่านั้นเอง
เพราะแท้จริงแล้วการจะได้มาซึ่งจิตว่างจากกิเลสไม่ใช่ด้วยการท่องจำ หรือใช้กรรมฐานต่างๆ พอเราเจอตัวกิเลสจริงๆ มันจะพิจารณาไตรลักษณ์ไม่ออก เมื่อเรายึดติดเราจะรู้สึกว่ามันเที่ยง ไม่เป็นทุกข์ มันเป็นตัวตนของเรา กิเลสจะไม่ยอมให้เราเห็นต่างจากนี้ ถึงแม้เราจะท่องด้วยภาษา แต่จิตเราไม่ได้ลดกิเลสจริง มันก็จะติดจะยึดอยู่แบบนั้นเอง นี่แหละคือความจริงของการปฏิบัติธรรม รู้จริง เห็นจริง ในทุกเหลี่ยมมุมของกิเลสกันเลย
ทีนี้พอปฏิบัติเพื่อชำระล้างกิเลสเป็นแล้ว เข้าใจอริยสัจ ๔ ,สัมมาอริยมรรคแล้ว ก็จะเดินหน้าลุยล้างกิเลสลูกเดียว มีกิเลสไหนสู้ไหวก็จะสู้ ไม่ปล่อยทิ้งให้เวลาเสียเปล่า จนเกิดเป็นผลจริง เกิดความว่างจากกิเลสจริง
แล้วว่างจากกิเลสในเรื่องไหน? ก็ว่างจากกิเลสในเรื่องที่ตั้งศีลเพื่อปฏิบัติ แล้วปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ใช้ไตรสิกขาเพื่อข้ามสามภพคือ กามภพ รูปภพ อรูปภพของกิเลสนั้นๆ จนกระทั่งกิเลสตาย
เมื่อกิเลสตายจึงว่างจากทุกข์ ว่างจากความคิดที่เจือปนด้วยกิเลส ว่างจากอัตตาตัวตนเพราะไม่ยึดมั่นทั้งกามและอัตตา จิตว่างที่แท้จริงมันว่างแบบนี้ มันว่างจากกิเลสเช่นนี้
6). สรุป
จริงๆแล้วคำว่า “จิตว่าง” คือสภาพของผล คือผลที่เจริญแล้ว คือการปฏิบัติที่เห็นผลแล้ว แต่หลายคนที่หลงผิดกลับเอา “จิตว่าง” มาเป็นมรรค คือใช้จิตว่างมาเป็นตัวปฏิบัติ พยายามให้จิตที่มีนั้นว่าง โดยมากก็ใช้วิธีสมถะทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อใช้มรรคที่ผิดจากทางพุทธ ผลก็ผิดจากทางพุทธไปด้วยเช่นกัน
– – – – – – – – – – – – – – –
12.1.2558