Tag: กาม

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

May 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,352 views 0

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

ในบทความนี้จะเป็นบทขยายข้อธรรมะในบทความ “การขึ้นคานอย่างเป็นสุข” เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ร่วมเรียนรู้เพิ่มเติมให้ลึกซึ้งถึงนัยที่ซ่อนอยู่ด้วยกัน 7 ข้อ

1). วัฏสงสาร

ในข้อที่ 1-7 นั้น เป็นสภาพของคนที่ต้องวนเวียนเสพสุขลวงรับทุกข์จริงกันโดยประมาณจำนวนชาติไม่ได้ เราต่างวนเวียนเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลส อยากมีคู่ หาคู่แล้วก็มีคู่ สุดท้ายก็จบด้วยการจากลา เป็นเช่นนี้มีหลายภพหลายชาติ ซึ่งหลายคนก็อาจจะมีโอกาสได้เรียนรู้ในชาตินี้หลายต่อหลายครั้ง แต่มันก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อดำเนินไปถึงข้อ 7 สุดท้ายก็วนกลับไปที่ข้อ 1 ใหม่อยู่ดี และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆหากเหตุยังไม่ดับ

2). ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รัก

แท้จริงแล้วตั้งแต่ข้อ 1 – 7 ในบทความการขึ้นคานอย่างเป็นสุขนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รักเสมอไป เพียงแค่เริ่มที่จะมองหาใครสักคนในข้อ 2. และข้อ 3. เลือกใครสักคนที่ตนชอบ ในข้อ 4.ก็จะเริ่มแสวงหาทางไม่โสด นั้นหมายถึงจิตใจที่ไม่คงอยู่กับความโสด ล่องลอยคิดถึงใครบางคนจนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ข้อ 5. นั้นคือการที่เราไปหลงรักหลงเสพเขาแล้ว แม้จะไม่ได้คบหากัน แม้จะไม่เคยคุยกันเลย เพียงแค่เราไปติดสุขกับการได้เห็นหน้าเขา ได้ยินเสียงเขา ได้รับรู้เรื่องของเขา ก็เรียกได้ว่าหลงแล้ว ดำเนินต่อไปในข้อ 6. นั้นคือความอกหักจากความหวังใดๆ ก็ตามที่จะได้เสพ เช่น เขาไม่เป็นดังใจเราหมาย เขาไปมีคนรักของเขา เขาไม่รับรักเรา เราก็จะเกิดความทุกข์ และอาจจะไปจองเวรจองกรรมกันอีก เพราะหากจิตใจไปคิดแค้นแม้น้อย ก็มากพอที่จะสร้างกรรมชั่วให้ต้องไปรับผลในอนาคตต่อไป สุดท้ายก็มาจบในข้อ 7. คืออกหักแล้วก็เลิกชอบคนนั้น กลับมาที่ใจตนเอง มาอยู่กับตัวเอง กลับมารักษาแผลใจตัวเอง

3). ปล่อยวางแบบชาวบ้าน

สภาพการปล่อยวาง ปลง หรือไม่รู้สึกว่าต้องมีแฟน สามารถเป็นการปล่อยวางแบบชาวบ้านๆได้ หมายถึงการปล่อยวางที่ใครก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรม ไม่ได้หมายความว่าธรรมนั้นเจริญขึ้น ใครๆก็ทำได้เป็นได้ การปล่อยวางเช่นนี้อาจจะเกิดจากสาเหตุดังเช่นว่า ไม่มีปัจจัยให้หาได้จริงๆ, ไม่มีคนที่เข้าตา, หน้าที่การงานที่หนัก, วัยที่ล่วงเลย, ความเบื่อการมีคู่เพราะเสพจนอิ่ม, หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้, เขาไม่พอที่จะสนองกิเลสเรา ฯลฯ หลายๆเหตุผลเหล่านี้สร้างความเบื่อ ความปลง ความปล่อยวางแบบชาวบ้านขึ้นมา

4). โสดใช่ว่าเป็นสุข

การโสดหรือการอยู่บนคานนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสุข หลายคนอาจจะติดอยู่บนคานทั้งที่ไม่อยากติดและไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากสภาพโสดได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์อะไร ซึ่งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะจัดตัวเองอยู่ในข้อ 9 ได้ เพราะ โสดในแบบข้อ 1,7,8,9 นั้นมีสภาวะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ข้อ 1 นั้นจะเป็นความโสดแบบจมกิเลส กิเลสแต่ละตัวนั้นมีภพที่ละเอียดซับซ้อนถึงสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ แม้ใจจะรู้สึกว่าไม่สุขไม่ทุกข์จากความโสด แต่นั้นก็อาจจะเป็นแค่การกดข่มไว้ก็ได้ ในกรณีผู้ที่ไม่ได้มีญาณปัญญาที่สามารถรู้กิเลสได้ การกดข่มที่กามภพ(ไม่ให้ออกอาการอยากมีคู่)แล้วกิเลสที่ยังอยู่ในรูปภพและอรูปภพก็ใช่ว่าจะจับอาการได้ แต่ถ้าอยากรู้ก็ลองตั้งใจว่าจะโสดตลอดชาติดูจะเห็นกิเลสดิ้นได้ชัดเจนข้อ 7 จะเป็นความโสดแบบสัตว์ที่ถูกทำร้าย จะหวาดกลัว จะป้องกันตัวเอง มีโอกาสเวียนกลับไปข้อ 1 , ส่วนข้อ 8 นั้นเป็นโสดแบบมีอัตตา โสดแบบมีอุดมการณ์ว่าจะโสดตลอดชีวิต) ข้อ 9 นั้นเป็นโสดที่หลุดพ้นจากตัณหาทั้งปวง

5). กาม อัตตา อุเบกขา

ในข้อ 1. ที่ว่าด้วยการเฝ้าคานอย่างว้าเหว่นั้น เป็นสภาพของคนโสดที่ยังเปิดประตูรอคอยคนรักอยู่ ไม่ว่าจะแสดงออกหรือไม่อย่างไร แต่ถ้ายังไม่ปิดโอกาสตัวเองกับการมีคู่ ยังมีเผื่อใจไว้ ก็ยังอยู่ในลักษณะของข้อ 1 แม้ว่าจะรู้สึกว่าตนเองนั้นโสดอย่างสบายๆ ไม่ได้ทุกข์หรือสุขอะไร แต่ถ้ายังดับโอกาสมีคู่ในใจให้เกลี้ยงไม่ได้ ก็ยังวนอยู่ในขีดของกาม

เมื่อจิตเจริญขึ้นจนสามารถที่จะข้ามขีดกาม ไม่อยากมีคู่ เพราะรู้ว่าการมีคู่จะต้องทุกข์สุดทุกข์โดยชัดในวิญญาณของตัวเองว่า ไม่ว่าจะเกิดชาติไหนก็ขออย่าให้มีคู่ เห็นคนมีคู่แล้วไม่ยินดี ดูหนัง ดูละคร ดูคนมีรักพลอดรักกันแล้วเห็นถึงทุกข์ภัยที่จะเกิดขึ้นจนขยาดกลัวในผลนั้น พร้อมกับอาการผลักไสการมีคู่ ก็จะเรียกว่าเข้าขีดของอัตตา เป็นลักษณะตามข้อ 8 คือโยนบันไดที่จะเป็นโอกาสให้คู่เข้ามาในชีวิตทิ้งไปเลย

เมื่อตัดกามด้วยอัตตาแล้ว จึงมาติดที่อัตตา การจะขยับจากข้อ 8 ไปข้อ 9 นั้นจะต้องใช้อุเบกขาเข้ามาพิจารณาเพื่อลดความยึดมั่นถือมั่นเสีย สุดท้ายแล้วพอทำลายอัตตาที่มีได้จะเป็นโสดอยู่บนคานอย่างเป็นสุขในข้อ 9 เพราะไม่มีทั้งกามและอัตตา คู่ก็ไม่อยากมี ติดดีก็ไม่ติด ใครจะมีคู่ไปก็เรื่องของเขา โลกของเราเป็นสุขก็พอ

6). โลกุตระสุข

บทความสั้นๆนี้แท้จริงแล้วประเด็นสำคัญอยู่ที่ข้อ 8 และ 9 ในข้อที่ 1-7 ใช้ชี้ลักษณะของโลกียะ แต่ในข้อ 8 และ 9 จะเข้าไปในส่วนของโลกุตระ คือการทำลายกิเลสล้วนๆ ในบทความนั้นใช้คำว่า “ทำลายความอยาก” ความอยากนั้นก็คือตัณหา พระพุทธเจ้าท่านได้สอนวิธีให้เราดับตัณหา ผู้ที่สามารถดับตัณหาในเรื่องคู่ได้ก็จะพบกับโลกุตระสุขในเรื่องของคู่

โลกุตระสุขนั้นคือสุขที่เหนือไปจากวิสัยของโลก ไม่ทั่วไป ไม่ใช่ของธรรมดา แต่เกิดจากการทำลายตัณหา ดับทั้งความอยากเสพกาม(อยากมีคู่) และติดในอัตตา(ไม่อยากมีคู่) แต่ในบทความนี้จะไม่ขยายไปถึงกระบวนการปฏิบัติ

7). ตรวจสอบและพัฒนาตนเอง

การตรวจสอบตนเองว่าพร้อมหรือยังสำหรับการจะอยู่บนคานอย่างเป็นสุขนั้นก็ไม่ยาก เพียงแค่ตั้งจิตให้มั่นว่าฉันจะโสดตลอดกาล นี้คือสิ่งที่ฉันจะต้องยึดอาศัยไว้ศึกษาให้เห็นกิเลสในตนและกำจัดมัน,หมายถึงแค่ตั้งจิตนั้นไม่พอ จะต้องคอยจับความอยากที่โผล่ขึ้นมาเพื่อกำจัดทิ้งจนกระทั่งถึงผลที่ตั้งจิตในเป้าหมายไว้

หลังจากนั้นก็ลองไปเรียนรู้เรื่องราวของความรักที่หวานชื่นดู ไป ดูหนัง ดูละคร อ่านนิยาย ไปงานแต่งงาน ดูหน้าคนที่เคยชอบ ฯลฯ แต่ไม่ต้องถึงขนาดไปชอบหรือไปจีบใครนะ เพราะเพียงแค่เราได้เจอผัสสะ(สิ่งกระทบ) แต่ละครั้งที่เข้ามา เราก็จะรู้ได้ชัดแล้วว่าเราพร้อมแค่ไหน

ถ้าเราไปดูเรื่องราวความรักแล้วยังมีความรู้สึก ซึ้งใจ ปลื้มใจ อยากเป็นอย่างเขาบ้าง อยากได้แบบนั้นบ้าง ก็รู้ได้เลยว่ายังมีเชื้อของความอยากอยู่ ก็ให้เพียรพิจารณาโทษของ”ความอยากมีคู่” ซึ่งเป็นเหตุของปัญหาทั้งหมดที่ต้องมาลำบากลำบนแก้กันจนทุกวันนี้

และใช้ไตรลักษณ์ย้ำเข้าไปอีกว่า ความสุขที่ได้จากคู่มันก็ไม่เที่ยงหรอก ได้เสพไม่นานๆเดี๋ยวมันก็ดับไป ไปยื้อไว้ให้มันสุขตลอดกาลก็ไม่ได้ ไปหลงยึดสิ่งที่ไม่เที่ยงมันก็เป็นทุกข์ สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสาระเลย จะไปยึดมันทำไมไอ้”ความอยากมีคู่”นี่ แล้วก็ขุดความอยากลงไปอีกว่าที่มันอยากมีคู่นั้น *เราอยากเสพอะไร(*กุญแจแห่งความสำเร็จอยู่ตรงนี้) ต้องลงไปให้ลึกถึงรากของปัญหา แล้วพิจารณาธรรมอัดเข้าไป ใส่ความจริงตามความเป็นจริงเข้าไป กิเลสจะค้านแย้งตามธรรมชาติ แต่เราก็ใช้การพิจารณาโทษ ใช้ไตรลักษณ์ ใช้การพิจารณาผลของกรรมที่จะเกิดขึ้นหากเรายังมีความอยากเหล่านั้นอยู่ เพียรทบทวนธรรมที่สวนกระแสกิเลสให้มาก กิเลสเถียงมาเราก็เถียงกลับ ทำมันไปอย่างนี้ทุกวันๆ

ถ้ามันหลุดพ้นแล้วมันจะรู้ได้เอง เพราะไปแตะแล้วก็ไม่สุข ไม่ว่าจะสัมผัสกี่ครั้งก็ไม่มีรสสุข ไม่มีความชอบใจพอใจใดๆเกิดขึ้นเลย ถูกพรากก็ไม่ทุกข์ ไม่ได้เสพก็ไม่ทุกข์ นั่นเพราะเราพ้นจากสุขลวงที่โลกได้มอมเมาเรามานานแสนนานแล้ว สุดท้ายจะไม่มีทั้งความรักหรือความชัง ไม่มีทั้งอยากและไม่อยาก จะสามารถอยู่ในสังคมปกติได้ด้วยการปนแต่ก็ไม่เปื้อน(กิเลส)

เมื่อจิตรู้สึกตั้งมั่นในผลเจริญนั้น อาจจะมีผัสสะที่จะเข้ามากระแทกเพื่อทดสอบเรา ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ เราจะหาเรื่องทดสอบเองก็ได้ ถ้าหลุดพ้นจริงมันจะไม่มีความลังเลสงสัย ไปแตะก็รู้ว่าหลุดพ้น ไม่ใช่อารมณ์ที่ว่าจะหลุดก็ใช่ ไม่หลุดก็ไม่ใช่ จะมั่นใจเต็มที่ไม่มีแม้เสี้ยวความสงสัย ไม่ใช่การเดา ไม่ใช่จากฟังเขามา หรือท่องจำต่อๆกันมา แต่รู้ได้เองจาก”ปัญญาที่รู้แจ้งกิเลส”ในตน

– – – – – – – – – – – – – – –

15.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โสดไม่เป็นสุข

May 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,326 views 0

ช่วงนี้เหมือนมีไฟพิมพ์เรื่องโสดๆนี้มาก จึงเอาโอกาสนี้มาไขความกันหน่อย

บทความความรักทั้งหลายที่ผมพิมพ์ขึ้นมานี้ มีเนื้อหาเพื่อให้ออกจากกามเป็นหลัก(การหลงว่าการมีคู่เป็นสุขเมื่อได้เสพ) คนที่พยายามพิจารณาตามไปจะค่อยๆคลายจากกามได้

ทีนี้ถ้าเราเอาแต่กดข่ม ทนฝืน โดยไม่เห็นตัวกิเลสที่เป็นเหตุให้เราอยากเสพนั้น เราจะยิ่งเครียดไปเรื่อยๆ ยิ่งพยายามก็ยิ่งยาก ยิ่งกดดัน ยิ่งทำก็ยิ่งท้อ สุดท้ายก็ตบะแตกนั่นแหละ

สภาพของ “โสดอย่างเป็นสุข” ความโสดที่ไม่มีกามและอัตตาเป็นสภาวะที่เดาเอาไม่ได้ เหมือนจะไม่มีจริงในโลก(โลกียะ) ซึ่งจริงๆมันก็มีแต่ไม่ได้อยู่ในวิสัยของโลก เพราะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือโลก (โลกุตระ)

คนที่พยายามเดาจะเข้าใจไม่ได้ จึงคิดว่าเป็นเพียงจินตนาการ เป็นอุดมคติ เป็นความฝัน เป็นภพของคนเจ็บจากความรัก เป็นคนเกลียดความรัก ซึ่งก็ถูกที่เขาจะคิดแบบนั้น เพราะเป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ได้เพียงแค่การด้นเดาเอาเอง

เดาไปก็ผิด คิดเอาก็หลงทาง มีทางเดียวคือน้อมใจเข้ามาศึกษาและเพียรปฏิบัติจนเห็นผลเองในตน

แถม… บทความ “โสดไม่ได้เสพ” ที่ลงไปก่อนหน้านี้คือแผนที่แรกที่เราจะสามารถใช้แกะรอยกิเลสได้

การจะทำลายกิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ หรือสมุทัยนั้น หากไม่พิจารณาลงไปที่เหตุเกิดของกิเลสนั้นก็ไม่มีทางทำลายได้

ก่อนจะข้ามไปที่ โทสะ โมหะ โลภะ ราคะ หรือกิเลสใดก็ตาม ให้ค้นให้ชัดว่าเราอยากเสพอะไร แล้วจึงค่อยพิจารณาเพื่อระบุจำแนกชนิดของกิเลสอีกที

แล้วค่อยเจาะลงไปอีก ลงไปอีก กิเลสจะมีลักษณะเป็นชั้นๆที่ซับซ้อนการกรรมที่ผูกมา

การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา

April 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,819 views 0

การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา

สรุปขั้นตอนปฏิบัติธรรมแบบรวบรัด การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา

สรุปหลักปฏิบัติที่เป็นขั้นตอนที่สั้นและรวบรัดนั่นคือการทำลายกามด้วยอัตตา และทำลายอัตตาด้วยอุเบกขาตามลำดับ ด้วยหลักใหญ่เพียงเท่านี้ก็สามารถทำลายกิเลสในเรื่องนั้นๆได้สิ้นเกลี้ยง

ในตอนแรกเราก็มักจะติดกามกันอยู่ คือการที่ยังไปเสพสุขลวงที่เกิดจากกิเลสยังเป็นความชั่วและเป็นบาปที่หยาบอยู่ และการจะออกจากสุขลวงเหล่านั้นจะต้องใช้อัตตาคือความยึดดีเข้ามาช่วยทำลายกาม เรียกว่าต้องเป็นคนดีก่อนแล้วจึงจะไม่ไปเสพสิ่งที่ชั่ว ต้องติดดีขนาดที่ว่าเว้นขาดจากการเสพกามทั้งทางกาย วาจา ใจ คือใช้อัตตาทำลายกามให้สิ้นเกลี้ยงไปก่อนเลย

ทีนี้พอออกจากกามได้ก็จะเหลืออัตตาไว้ กลายเป็นคนติดดี ยึดดี ถือดี คือชั่วไม่ทำแล้ว ทำแต่ดี แต่ก็ยังมีความยึดดีที่เคยใช้ออกจากชั่วนั้นเป็นสิ่งที่สร้างทุกข์ที่ทรมานตนและทำร้ายผู้อื่นอยู่ ดังนั้นเมื่อออกจากกามได้เด็ดขาดแล้ว จึงต้องใช้อุเบกขา หรือการไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ปล่อยวางตัวตนเสียก็จะสามารถทำลายอัตตาได้

เมื่อไม่มีทั้งกามและอัตตา ก็จะถือว่าจบกิจในเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องๆไป เรื่องไหนทำได้ถึงที่สุดก็คือจบ เช่นกินมังสวิรัติ กินจืด กินมื้อเดียวได้โดยไม่มีกามและอัตตาก็ถือว่าจบในเรื่องนั้นๆไป

นรกของกาม

กามนั้นเป็นสิ่งที่มีภัยมาก พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ละกามเสียก่อน จนกระทั่งให้เว้นขาดจากกามไปเลย กามนั้นส่งผลทั้งกาย วาจา ใจ แม้ว่าเราจะหักห้ามร่างกายไม่ให้ไปเสพกามได้แล้ว แต่ถ้าความรู้สึกลึกๆมันยังสุขอยู่ ใจมันยังอยากเสพอยู่ ก็เรียกได้ว่ายังไม่พ้นจากพลังของกาม ซึ่งกามในระดับของใจนั้นฝังลึกติดแน่น สามารถวัดได้คร่าวๆ จากความรู้สึกยินดี เราเมื่อได้เสพหรือเห็นผู้อื่นเสพกามนั้นๆแล้วเกิดอาการอยากบ้าง เป็นสุขบ้าง อยากเสพอีกบ้าง

ความยากของอัตตา

กามนั้นเป็นเรื่องหยาบที่ยังเป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่นที่เห็นได้ชัดเจนอยู่ จึงสามารถกำจัดได้ไม่ยากนัก แต่อัตตานั้นเป็นเรื่องยาก เห็นได้ยาก ล้างได้ยาก การจะล้างอัตตาโดยไม่ศึกษาธรรมะนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถึงจะติดอัตตาอยู่ก็อาจจะจับอาการของตัวเองไม่ได้ง่ายๆ เพราะมันมีความลึก ความละเอียด ความซับซ้อนอยู่มาก นี้เองคือความยากของอัตตา

ความหลงผิดในอนัตตา

การลัดขั้นตอนไม่เป็นไปตามลำดับนั้น จะทำให้เกิดความหลงผิด และจมหนักยิ่งกว่าเดิม เช่นเรายังติดกามอยู่ แต่เราก็ดันไปพิจารณาอุเบกขา เจอของอร่อยก็พิจารณา “ไม่ใช่ตัวเราของเรา, อย่าไปยึดมั่นถือมั่น, อย่ามีตัวตน,ฯลฯ” ว่าแล้วก็ไปกินของอร่อยอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ไปเสพกามอยู่นั่นเอง เป็นสภาพอนัตตาหลอกๆที่จิตปรุงขึ้นมาเพื่อให้ได้เสพกามเท่านั้น กลายเป็นทิฏฐิเช่นว่า เสพสุขจากกามอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น …ซึ่งมันก็เหมือนคนทั่วไปที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย แถมยังมีกรรมอันเป็นมิจฉาทิฏฐิสะสมไว้เป็นทุนให้ต้องใช้วิบากในภายภาคหน้าอีก

อุเบกขาธรรมะ

การหลงผิดแบบแย่สุดแย่เข้าไปอีกคือการไม่ได้คิดจะปฏิบัติอะไรเลย กามก็ไม่ล้าง อัตตาก็ไม่ล้าง แต่ใช้การอุเบกขาให้ดูเหมือนเป็นผู้มีอนัตตาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอะไรสักอย่าง คือมองไปว่าการปฏิบัติธรรมก็มีตัวตน จึงทำตนให้ไม่ต้องมีตัวตนตั้งแต่แรก อุเบกขาการปฏิบัติธรรมทั้งหมดไปเลย ใช้ชีวิตไปตามปกติอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น(แบบคิดไปเอง) ทีนี้พอปล่อยวางธรรมะ ทั้งที่ยังมีกิเลสหนา มันก็ไปนรกอย่างเดียวเท่านั้นเอง ซึ่งจริงๆแล้วอุเบกขามันมีเอาไว้จบในตอนท้าย เป็นตัวจบของกิเลส ไม่ใช่ตัวเริ่ม ใครเอาอุเบกขามาทำตั้งแต่เริ่มจะไม่ได้ทำอะไรเลย กลายเป็นอนัตตาแบบคิดไปเอง เรียกว่าเป็นปัญญาแบบเฉโก คือมีความฉลาดที่พาไปในทางฉิบหาย

– – – – – – – – – – – – – – –

30.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

จะอยู่เป็นโสด หรือจะมีคู่

April 25, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,455 views 0

จะอยู่เป็นโสด หรือจะมีคู่

ดาวน์โหลดภาพขนาดเต็ม | Download full size image

จะอยู่เป็นโสด หรือจะมีคู่

ก่อนที่เราจะตัดสินใจลิขิตชีวิตของตัวเองว่าจะให้เป็นไปทางไหน ก็ควรจะศึกษาข้อมูลเพื่อการตัดสินใจลงทุนที่มีความเสี่ยงที่มากที่สุดในชีวิตกันก่อน

จิตเดิมแท้ของเรานั้นแม้ว่าจะเป็นจิตที่บริสุทธิ์ แต่ก็ยังเป็นจิตที่ยังไม่มี “ปัญญา” เมื่อได้รับรสสุข จึงยึดติดความสุขเหล่านั้น สะสมลงไปกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่น ทำให้กลายเป็นเหตุแห่งทุกข์ โดยรวมเราจะเรียกสิ่งที่ทำให้เราทุกข์ว่า “กิเลส

1). สุขลวง

ตั้งแต่เราเกิดมาก็จะได้พบกับการชักชวนให้มีคู่แล้ว ไม่ว่าจะนิทาน การ์ตูน ละคร รวมถึงสังคมที่พากันแสวงหาคู่ เรียกได้ว่าคนส่วนใหญ่จะเกิดในสังคมที่พากันส่งเสริมให้มีคู่ มองว่าการมีคู่ครองเป็นเรื่องธรรมดา มองว่าการมีคู่เป็นสุข เป็นเป้าหมายในชีวิต เป็นคุณค่า เป็นสิ่งสำคัญ

สภาพจิตใจของคนที่ยังหลงสุขลวงแม้ว่าจะยังไม่มีคู่ก็คือ อยากมีคู่ หมกมุ่นในเรื่องคู่ ยังยินดีที่เห็นคนอื่นเขาคู่กัน ยินดีที่เขาแต่งงานกัน แม้แต่ความรู้สึกที่เข้าใจว่าตนอยู่เป็นโสดก็ได้ แต่ถ้ามีคู่จะสุขกว่า คือถ้าเลือกได้ก็ขอมีคู่ดีกว่า ก็ยังเรียกได้ว่าหลงสุขลวงอยู่โดยรวมก็คือถ้ามีคู่จะเป็นสุข ไม่มีคู่จะเป็นทุกข์

การหลงสุขลวงนั้นเป็นเรื่องทั่วไปของคนส่วนใหญ่ ซึ่งคนที่หลงแล้วได้เสพสมใจ ได้มีแฟน มีคนรัก มีครอบครัว ก็จะยิ่งหลงขึ้นไปอีก แล้วก็มักจะชักชวนผู้อื่นให้หลงไปในสุขลวงเหล่านั้นด้วย นั่นเพราะตนหลงแล้วจึงไม่อยากจะออกจากความหลง จึงชักชวนให้คนอื่นเขาหลงตามเพื่อที่จะให้เห็นได้ว่า “ใครๆเขาก็ทำกัน

แม้แต่คนที่มีความรู้ความสามารถ มีธรรมะ ก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมากที่ยังหลงสุขลวง จึงใช้สิ่งที่ตนมีเหล่านั้นสร้างเหตุผลที่จะสามารถมีคู่ได้โดยที่ตนไม่รู้สึกผิด แต่ถึงกระนั้นก็ตามการมีคู่ก็ยังเป็นเหตุแห่งทุกข์อยู่ดี

แน่นอนว่าความหลงสุขลวงในการมีคู่นั้นเป็นเรื่องสามัญในโลกไปแล้ว ใครที่บอกว่าการมีคู่ครองนั้นเป็นเรื่องทุกข์ ก็คงจะโดนหาว่าบ้า หรือไม่ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนอ่อนต่อโลก อิจฉาคนมีคู่ ขยาดในความรัก ผิดหวังในรัก ขี้ขลาดขี้กลัว ฯลฯ อะไรก็ตามแต่ที่จะมาเป็นเหตุผลให้คนหลงสุขลวงได้ปักมั่นอยู่ในความเห็นที่ตนเข้าใจว่าถูก

ผู้ที่เลือกการมีคู่เพราะหลงสุขลวงจะต้องวนเวียนเรียนรู้ เกี่ยวกับทุกข์จากความรักของคนมีคู่ต่อไปอีกนานแสนนานจนกว่าจะเข้าใจได้ว่า ความรักแบบมีคู่นั้นคือความทุกข์

ลักษณะของผู้ที่เห็นดีต่อการเสพสุขลวงจะมีอาการต่อต้าน “ความโสด” ไม่ยินดีฟังธรรมที่จะพาให้เป็นโสด ยินดีในธรรมที่จะพาให้มีคู่ จึงควรศึกษาเรื่อง ทุกข์ โทษ ภัยที่เกิดจากการมีคู่ เพื่อจะได้เรียนรู้ให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ของสุขลวงได้ไวขึ้น

2). เกลียดชั่วยึดดี

คนที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรัก สะสมทุกข์จนถึงจะดับหนึ่ง ก็จะสามารถออกจากการมีคู่ด้วยการยึดดีได้ เพราะตนเองนั้นเกลียดทุกข์ที่มาพร้อมกับการมีคู่รัก อาจจะเพราะได้เคยพบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์จนเกินทนเลยเข็ดขยาดกับความรักครั้งก่อนๆ

เมื่อเขาเหล่านั้นได้เข็ดขยาดจากความรักที่ต้องคอยมาเติมเต็มกิเลสให้แก่กันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเติมเต็ม ยิ่งเติมก็ยิ่งพร่อง ยิ่งเสพก็ยิ่งทุกข์ จึงเลิกเติมเต็มกิเลสให้กับผู้อื่น และใช้ตัวเองถมช่องว่างในการมีคู่เหล่านั้นเสีย เรียกว่าสร้าง “อัตตา” ขึ้นมาเพื่อทำลายความหลงเสพในสุขลวง

แม้โดยสภาวะจะดูแข็งแกร่ง มั่นคง แต่ก็เป็นสภาพยึดดีถือดีอยู่ มีตัวตนอยู่ สภาพของผู้ที่โสดแบบเกลียดชั่วยึดดีนี้จะมีอาการผลัก ชิงชัง รังเกียจการมีคู่ ไม่เห็นดีเห็นงามกับการมีคู่โดยมีความทุกข์จากความยึดดีเป็นส่วนประกอบ เช่น เห็นคนมีคู่แล้วมันหงุดหงิด ไม่ชอบ รำคาญ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากเห็น อยู่กับคนโสดไม่เป็นไร แต่เจอคนมีคู่ทีไรอารมณ์ไม่ค่อยดี

ความเกลียดชั่วยึดดีนี้เอง ก็ถือได้ว่าเป็นสภาพที่เจริญขึ้นมาจากความหลงสุขลวงแล้ว แต่ก็ยังทำทุกข์ทับถมตนเองจากความยึดดีถือดีอยู่ แม้จะไม่ไปสร้างบาปกรรมกับคนอื่นด้วยการไปมีคู่ แต่ก็ยังสร้างบาปในใจของตนอยู่นั่นเองซึ่งอัตตาที่เพิ่มขึ้นมานั้นเองก็อาจจะเป็นเหตุให้ไปเบียดเบียนจิตใจของผู้อื่นได้ จึงยังเป็นผู้ที่ควรจะศึกษาในเรื่องของการทำลายอัตตาต่อไป

3). โสดแบบบ้านๆ

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่าตนนั้นไม่อยากมีคู่และไม่รู้สึกเกลียดคนมีคู่ แต่ความรู้สึกนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เป็นเรื่องแบบชาวบ้าน เป็นเรื่องทั่วไป ซึ่งความรู้สึกว่าโสดแล้วตนเองก็ยังเป็นสุขดีนี้อาจจะไม่ใช่การบรรลุธรรมแต่อย่างใด

เช่น เด็ก ที่ยังไม่เข้าถึงวัยที่จะรู้จักความรัก กิเลสยังไม่กำเริบ วิบากกรรมยังไม่ส่งผล ก็จะยังรู้สึกมีความสุขที่ยังเป็นโสดอยู่ แต่วันใดที่ได้รู้จักกับสุขลวง ได้หลงเสพจนหลงสุขนั้น หรือพบคนที่จะมาสนองกิเลสตนเองได้ ก็จะพลาดพลั้งเสียทีไปได้

เช่น คนหนุ่มสาวที่อยากเสพสุขลวง แต่คนเองก็ยังไม่เคยได้เสพ ก็มักจะเข้าใจผิดไปว่า แม้ตนนั้นโสดก็ยังเป็นสุขดีอยู่ จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่จิตนั้นยังยินดีกับการมีคู่ การแต่งงานอยู่ ก็จะเรียกได้ว่ายังหลงกับสุขลวง หรือคนที่เจ็บปวดจากความรักและผลักตัวเองออกจากความรัก ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นสภาพความยึดดีแบบชั่วคราว สุดท้ายความสุขลวงยังไม่ตายก็จะกลับไปอยากมีคู่อยู่ดี

เช่น คนทำงานที่หลงไปในเรื่องของการงาน ฐานะ ความสำเร็จมากๆ ก็จะให้ความสำคัญกับโลกธรรม แม้ว่าจะไม่มีเรื่องคู่ครองมาในเบื้องต้น แต่สุดท้ายก็จะหนีไม่พ้นอยู่ดี ถึงแม้จะดูเป็นคนโสดที่ใส่ใจการงาน แต่ถ้าสุขลวงยังไม่ถูกทำลาย มันก็เป็นเหตุให้ไปแสวงหาคู่ในท้ายที่สุดอยู่ดี

เช่น คนแก่ที่หมดวัยในการมีคู่แล้วก็มักจะเชื่อว่าตนนั้นเป็นโสดก็สุขดี ทั้งๆที่จริงแล้วสภาพของกรรมมันไม่เอื้อให้มีคู่แล้ว จึงทำได้แต่ปลง คือมันไม่มีให้เสพแล้ว จะทำยังไงก็ไม่มี ถึงมีก็ไม่ควรแก่วัย ทำได้แค่ทำใจเท่านั้น สุดท้ายก็ทำให้เข้าใจไปว่าฉันโสดก็สุขดี แบบนี้เป็นโสดแบบทั่วไป

สรุปแล้วความโสดแบบบ้านๆก็คือเรื่องทั่วไปที่เกิดได้กับทุกคนโดยไม่ต้องปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด สิ่งที่แสดงได้ชัดคือความรู้สึกยินดียินร้ายที่ยังเหลืออยู่ในจิตใจ หากยังยินดีกับความรักแบบคนคู่อยู่ก็ถือว่ายังไม่พ้น และถ้าหากยังรู้สึกชิงชังรังเกียจการมีคู่อยู่ก็ยังถือว่ายังไม่จบ

4).โสดอย่างเป็นสุข

ความโสดอย่างเป็นสุขนั้นเป็นสภาพพิเศษ ไม่ทั่วไป ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะเป็นการโสดที่เกิดจากการชำระสุขลวงและทำลายความเกลียดชั่วยึดดี จนเกิดสภาพที่ไม่เสพก็เป็นสุข

ความโสดอย่างเป็นสุขไม่ใช่สภาพที่อยู่ๆจะเกิดขึ้นได้เอง ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ตนเองเบื่อความรักแล้วจะเกิดขึ้นได้ แต่เกิดจากการทำลายกิเลสทั้งๆที่เกิดความรักอยู่นั่นเอง นั่นหมายถึงการสัมผัสความรักอยู่แต่ก็ทำลายรักนั้นลงตรงหน้า

เหมือนกับนักรบที่สามารถฆ่าคนที่ตนเองรักที่สุดได้โดยไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นอีกเลย มันไม่ได้เบื่อไม่ได้หน่ายเลยนะ มันรักสุดรัก แต่ถ้าจะทำลายกิเลสมันก็ต้องทำลายกันทั้งๆที่ยังรักอยู่นี่แหละ จะไปรอทำลายตอนแก่หรือทำลายตอนหมดรักไม่ได้เพราะสุดท้ายมันจะต้องสัมผัสกับคนที่รักได้โดยไม่มีความรู้สึกรักหรือชังใดๆเลย ส่วนคนที่ยังไม่มีความรักแบบคู่ครองก็ไม่ต้องไปลองให้เสี่ยงเปล่าๆ หมั่นพิจารณาทุกข์ โทษ ภัยตามความเป็นจริงๆไปเรื่อยก็พอ

การจะเข้าถึงสภาพนี้จะต้องเห็นองค์ประกอบทั้งหมดของสุขลวงและความเกลียดชั่วยึดดีที่มีในตน จนกระทั่งทำลายทั้งความดูดผลัก รักเกลียด ชอบชังจนหมดสิ้น

โดยสภาพของผลที่เกิดขึ้นนั้นโดยภายนอกจะคล้ายกับคนที่เกลียดชั่วยึดดีคือ กลายเป็นคนโสด และไม่ยินดีกับการมีคู่ แต่จะไม่มีความทุกข์ใดๆเข้าไปร่วมด้วย

สิ่งที่แตกต่างจากคนโสดทั่วไปคือมีปัญญารู้แจ้งโทษชั่วโดยรอบของการหลงสุขลวงและการเกลียดชั่วยึดดีที่ตนเองนั้นได้เรียนรู้มา เรียกได้ว่ามีปัญญารู้แจ้งแทงตลอดทั้งกามและอัตตา ซึ่งต่างจากคนโสดทั่วไปที่โสดโดยไม่รู้จักตัวตนของกิเลส โสดไปตามกรรม โสดแบบนั้นไม่ใช่ความสุขแท้ แต่เป็นการรอคอยก่อนที่พายุใหญ่กำลังจะเข้ามา อาจจะเป็นอนาคตข้างหน้า ในชาตินี้หรือชาติหน้าก็ได้ แต่โสดอย่างเป็นสุขเพราะชำระกิเลสจะต่างออกไป เพราะเมื่อกิเลสถูกกำจัดไปทั้งหมด ในอนาคตก็จะไม่มีพายุใดๆเข้ามาทำให้ทุกข์อีกไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติหน้า จะเหลือแต่วิบากกรรมที่จะต้องรับและเศษเหลี่ยมมุมของกิเลสที่จะต้องเรียนรู้

สภาพของโสดอย่างเป็นสุขจากการชำระกิเลสจะอยู่บนทางสายกลางแบบไม่เผลอเอียงไปทางโต่งด้านใดด้านหนึ่งอีก เพราะได้ชำระกามและอัตตาอันเป็นทางโต่งสองด้านแล้ว และเมื่อดำเนินอยู่บนทางสายกลางจึงดำเนินชีวิตไปร่วมกับคนที่หลงสุขลวงและเกลียดชั่วยึดดีได้อย่างไม่ปนไม่เปื้อนไปกับเขา ถึงเขาจะอยากมีคู่เราก็ไม่อยากไปกับเขา ไม่ยินดีไปกับเขา ถึงเขาจะรู้สึกทุกข์เพราะคนคู่เราก็จะไม่ทุกข์ไปกับเขา จึงกลายเป็นผู้อยู่ในโลก แต่ไม่ปนไปกับโลก ไม่ใช่ผู้หนีโลกแต่อย่างใด

– – – – – – – – – – – – – – –

25.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)