Tag: แต่งงาน

โสดก่อนซวย

April 23, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,966 views 1

โสดก่อนซวย

โสดก่อนซวย : ชิงโสดก่อนแต่ง หรือแต่งก่อนแล้วจำยอมโสด (ตายก่อนตายในมุมของการมีคู่)

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ตายก่อนตาย หมายถึง ทำให้กิเลสนั้นตายก่อนจะถึงวันตายของเรา โสดก่อนซวยก็เช่นกัน หมายถึงให้เรามีความยินดีในความโสดของเราก่อนจะถึงวันซวยของเรา…

ความโสดนั้นเป็นสถานะของคนที่พึ่งตน เป็นอิสระ เป็นค่ามาตรฐานของคน เกิดมาก็ได้มาเลยไม่ต้องแสวงหา ไม่มีบ่วง ไม่มีเครื่องผูก ตรงกันข้ามกับสถานะ “แต่งงาน” ที่ต้องผูกพันพึ่งพากัน เป็นสิ่งยึดมั่นของกันและกัน เป็นบ่วงของกันเลยกัน เป็นเจ้ากรรมนายเวรของกันและกัน สร้างวิบากที่ผูกมัดไว้ด้วยกัน ในบทความนี้เราจะแทนด้วยความ “ซวย

ซวย นั้นหมายถึงเคราะห์ร้าย อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะงงว่าทำไมถึงตีความว่าการแต่งงานเป็นความซวย ทั้งๆที่เวลาใครเขาแต่งงานก็มีแต่คนแสดงความยินดี ไม่เห็นมีใครเสียใจ ได้ทั้งลาภ(เงินใส่ซอง) ยศ(สามี-ภรรยา) สรรเสริญ(คำยินดี คำชม) สุข(สุขลวงตามอุปาทานที่แต่ละคนสร้างมา) การแต่งงานคือความซวยอย่างไร ก็ขอเชิญให้ลองพิจารณาเนื้อหาต่อจากนี้กัน

๐. ทางสู่ความผาสุกที่แท้จริง

ศาสนาพุทธแม้จะไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้คนแต่งงานหรือครองคู่กัน พระพุทธเจ้าเปรียบคู่ครองกับบุตรนั้นเป็นเหมือนบ่วงถ่วงความเจริญในธรรม ดังนั้นเส้นทางธรรมของคนโสดกับคนคู่จึงแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะแตกต่างกันเท่าไหร่ โจทย์หนึ่งในการปฏิบัติธรรมนั้นคือต้องก้าวข้าม “ความอยากมีคู่” เป็นโจทย์ที่ถูกบังคับให้แก้ปัญหา ไม่ว่าจะคนโสดหรือคนคู่ก็ตาม ซึ่งรายละเอียดจะถูกขยายไว้ในบทวิเคราะห์ต่อไปนี้

๑.ชิงโสดก่อนแต่ง

ความโสดเป็นสถานะแรกที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานะนี้จะคงอยู่ตลอดไป เพราะ “ความอยากมีคู่” ทำให้คนมากมายพยายามที่จะทิ้งความโสดไป บ้างก็สละโสดได้ บ้างก็สละไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่ควรสละไม่ใช่ความโสด แต่เป็นความอยากมีคู่ต่างหาก

เมื่อเราเลือกสละความผาสุกเพื่อที่จะได้เสพสุขลวงตามกิเลส นั่นก็หมายถึงธรรมะพ่ายแพ้ต่ออธรรม แต่ถ้าหากเราพยายามที่จะรักษาความโสดไว้และผลักไสความอยากมีคู่ออกไป นั่นก็หมายถึงธรรมะนั้นมีกำลังเหนืออธรรม

มีคนจำนวนมากใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหาคู่ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการหลีกหนีการมีคู่ ผู้ที่ประพฤติตนเป็นคนโสด พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นผู้รู้ ดังนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้ คือรู้โทษชั่วของการมีคู่ จึงพยายามที่จะทำลายเหตุของความอยากมีคู่ หรือกิเลสที่เข้ามาฝังอยู่ในจิตวิญญาณของตน ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้เขาเหล่านั้นพลาดพลั้งเผลอใจไปมีคู่ในอนาคตได้

เมื่อเขาเหล่านั้นรู้แจ้งชัดเจนในโทษภัยของการมีคู่ จึงจะสามารถละหน่ายความอยากมีคู่นั้นได้ นั่นหมายถึงไม่จำเป็นต้องไปมีคู่ ก็สามารถเกิดปัญญารู้แจ้งโทษชั่วได้ เรียกว่าชิงโสดก่อนแต่ง คือประพฤติตนให้รู้แจ้งเห็นจริงในคุณค่าของความโสดและโทษภัยของการมีคู่ก่อนที่จะหลงไปแต่งงานเพราะความอยากมีคู่ พวกเขาจึงไม่ต้องสร้างกรรมกับใคร ไม่ต้องเบียดเบียนกัน ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นกัน ไม่ต้องพากันหลงเสพหลงสุขให้มัวเมา ทำให้พวกเขาไม่ต้องรับวิบากบาปเหล่านั้น เบาสบายไปอีกชาติ ปัญญาก็มี ทุกข์ก็ไม่ต้องรับ

๒.แต่งก่อนแล้วจำยอมโสด

คนที่ “หลง” มาจนถึงขั้นแต่งงาน มีทั้งคนที่พ่ายแพ้ต่อกำลังของกิเลส จนถึงคนที่หลงมัวเมาว่ากิเลสนั้นเป็นของดี ยอมเป็นทาสกิเลสกันเลยก็มี เขาเหล่านั้นมักมีความเชื่อว่า การครองคู่ก็สามารถเจริญในธรรมได้เช่นกัน และแน่นอนว่าลึกๆในใจย่อมเชื่อว่าทางที่ตนเลือกนั้นดีกว่าอยู่เป็นโสด

โดยทั่วไปคนที่จะแต่งงานกันนั้นจะมีกิเลสมากกว่าคนโสดอยู่แล้ว เพราะกว่าคนจะรู้จักกัน คบหากัน จนถึงขั้นแต่งงานกัน จะมีระดับชั้นของความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน ถ้าแค่รู้จักกันก็ยึดว่ารู้จักกัน คบหากันก็ยึดว่านี่แฟนฉัน แต่งงานกันก็ยึดว่านี่ผัวฉันเมียฉัน ไม่มีใครยึดผู้อื่นมาเป็นคู่ตั้งแต่แรก กิเลสมันจะค่อยๆโต ค่อยๆผูกพัน ค่อยๆยึด จนแต่งงาน มีลูกมีหลานนั่นแหละ เรียกว่ากิเลสสุกงอมจนเห็นผลเป็นรูปธรรมได้แล้ว ดังนั้นจะบอกว่าแต่งงานแล้วเจริญในธรรมนี่ไม่จริงอย่างแน่นอน มีแต่เสื่อมกับเสื่อมมากเท่านั้นเอง

การเจริญในธรรมของคนโสดกับคนคู่นั้นต่างกัน คนโสดเหมือนกับต้องพยายามห้ามตนไม่ให้หลงเข้าไปเขาวงกต แต่คนมีคู่นั้นจะต้องพาตนเองออกจากเขาวงกตเพราะหลงเข้าไปเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นโจทย์ที่แตกต่างกันในการปฏิบัติ

ตั้งแต่เริ่มคิดจะมีคู่ ก็เอาตัวมาจ่อรออยู่หน้าเขาวงกตแล้ว พอมีคู่ก็พากันเดินเข้าเขาวงกต ทุกก้าวที่เดินไปก็โปรยตะปูเรือใบเอาไว้ด้วย ตะปูเหล่านั้นคือความยึดมั่นถือมั่นที่สร้างไว้ ป้องกันไม่ให้กลับไปหาความโสดได้ง่าย และยิ่งสะสมความหลงเสพหลงสุขตามกิเลสมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไกลจากปากทางเข้ามากเท่านั้น

แล้วถ้าไปจนถึงขั้นแต่งงาน มีคนมายินดี ให้ลาภยศสรรเสริญสุขเข้ามากๆ ก็จะยิ่งเป็นวิบากบาปที่ต้องรับไว้ เพราะที่เขาเข้ามาแสดงความยินดีนั้น เพราะเขาไม่มีปัญญารู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นโทษ เห็นคนมีคู่แสดงท่าทางว่ามีความสุข เขาก็หลงไปว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี การนำเสนอชีวิตรักจนถึงการจัดงานแต่งงานจึงเป็นการสร้างกรรมที่ลวงคนให้หลงยินดีในการครองคู่ นั่นหมายถึงต้องรับผลกรรมที่ทำให้คนอื่นหลงมัวเมาในสุขลวงเหล่านี้ด้วย ยิ่งเผยแพร่ไปมากเท่าไหร่ ยิ่งจัดงานยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งจะต้องรับผลของกรรมมากเท่านั้น ถึงแม้โลกจะถือว่าการแต่งงานเป็นเรื่องมงคล แต่ในทางธรรมนั้นไม่ใช่อย่างแน่นอน

ทีนี้ยิ่งเดินก็ยิ่งไกล ยิ่งลึกเข้าไปในเขาวงกต ทางที่ผ่านก็มีแต่ตะปูเรือใบที่เผลอวางไว้โดยไม่รู้ตัว แม้คิดจะถอยหลังกลับ แต่กิเลสก็ไม่ยอมให้กลับไปง่ายๆ เดินไปข้างหน้าเสพสุขนั้นดูเหมือนจะสบายกว่าถอยหลงแล้วยอมทนทุกข์ ซึ่งโดยมากก็มักจะคิดเช่นนั้น

แน่นอนว่าคนมีคู่ก็คงไม่มีใครอยากกลับไปหาความโสด แต่โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ คนเราต้องพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจเป็นธรรมดา วันหนึ่งเมื่อวิบากกรรมส่งผล อาจจะทำให้รักนั้นเกิดปัญหา ทะเลาะรุนแรง,รักจืดจาง,มือที่สาม หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุพิกลพิการ ป่วยหรือตายก็ได้ มีปัญหาอีกสารพัดที่จะทำให้ชีวิตคู่นั้นสั่นคลอน บางคู่ก็ประคองต่อไปได้ บางคู่ก็ต้องจบตรงนั้น

แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อเขาวงกตนั้นไม่มีทางออก มันมีแต่ทางเข้า เข้าทางไหนมันก็ต้องออกทางนั้นจึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง คนจำนวนหนึ่งยินดีที่จะหลงวนเวียนในเขาวงกตนั้นต่อไปเรื่อยๆ เจอคนใหม่ก็พากันหลงต่อไป ถึงไม่เจอก็รออยู่ตรงนั้นจนกว่าจะเจอ จมอยู่กับความอยากปริมาณมหาศาลที่ไม่มีทางออก เขาวงกตนี้เรียกว่าวัฏสงสารน้อยๆ (เฉพาะเรื่องคนคู่)

ซึ่งการจะออกนั้นคือต้องกลับไปทางที่เข้ามา ยึดมั่นถือมั่นในอะไรก็ต้องทุกข์เพราะสิ่งนั้น สร้างไว้เท่าไหร่ก็ต้องรับเท่านั้น เหมือนกับการที่ต้องทนเจ็บปวดลุยเหยียบตะปูเรือใบเพื่อกลับไปที่ปากทางเข้า แล้วเข้ามาทางไหนก็จำไม่ได้ กี่แยกกี่ซอยที่วกวนผ่านพ้นมา เสียเวลาหลงทางมากขึ้นไปอีก ถึงแม้จะกลับออกไปได้ แต่ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความอยากมีคู่ เดี๋ยวก็จะพากันเข้ามาหลงสุขในเขาวงกตนี้ใหม่ (กี่ชาติๆ ก็ยังไม่เข็ด)

นี่คือความซวยของคนคู่ คือต้องทุกข์เพราะตนเองหลงสุขในกิเลส อยากได้ก็เป็นทุกข์ พยายามหามาก็เป็นทุกข์ ได้เสพก็เพิ่มเชื้อทุกข์(ความยึดมั่นถือมั่น) เสียไปก็ทุกข์ วนเวียน อยาก แสวงหา เสพ สูญสลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นอีกวนเวียนไปอย่างนี้ไม่จบไม่สิ้น

ซึ่งสุดท้ายทุกคนก็ต้องไปคนเดียว สถานะสุดท้ายยังไงก็ต้องจบที่โสด ไม่โสดตอนเป็นก็โสดตอนตาย เวลาตายเราก็ไปของเราคนเดียว ไม่มีใครไปด้วย ซึ่งในกรณีนี้เป็นการถูกบังคับให้โสด ต้องโสดด้วยความจำยอม ผู้บังคับคือวิบากกรรมของเราเอง ต่างจากผู้ที่ประพฤติตนเป็นโสด เป็นผู้ที่ขีดเส้นกรรมด้วยตัวเอง ยินดีที่จะเป็นโสดด้วยตนเอง จึงไม่ต้องพบกับทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลง ความผิดหวัง หรือการพลัดพรากใดๆเลย

สรุปก็คือคนที่แต่งงานสุดท้ายก็ต้องกลับไปเป็นโสดอยู่ดีนั่นเอง ไม่ว่าจะเพราะกรรมบังคับ หรือเพราะการเจริญในทางธรรมก็ตาม นั่นหมายถึงแต่งงานไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้แต่ความยึดมั่นถือมั่นและวิบากบาปสารพัดติดตัวมา แม้จะกลับมาประพฤติตามธรรมอยู่เป็นคนโสด แต่ก็จะมีวิบากบาปมากกว่าการตั้งใจอยู่เป็นโสดตั้งแต่แรก เรียกว่าเริ่มต้นที่ติดลบก็ว่าได้ ในส่วนปัญญาแม้จะรู้เรื่องคู่มากแต่ถ้าไม่รู้เท่าทันความอยากมีคู่ของตัวเองมันก็ยังไปเทียบกับคนที่ปฏิบัติตนให้เป็นโสดไม่ได้

การเป็นโสดนั้น ไม่ได้และไม่ต้องเสียอะไร ไม่ทำร้ายและไม่เบียดเบียนใคร ใครที่เข้าใจแล้วพาตนเองให้เป็นโสดก่อนก็จะได้พบกับความผาสุกก่อน ต่างจากคนคู่ที่มุ่งทำร้ายทำลายกัน(เช่นการสมสู่กัน) หลอกลวงกันด้วยความหลงและสร้างความยึดมั่นถือมั่นให้แก่กัน ซึ่งเป็นไปเพื่อการจองเวรกันชั่วกาลนาน ดังนั้นใครโสดได้ก่อนก็ไม่ต้องซวยทีหลัง ส่วนคนที่อยากสละโสดก็ต้องพบกับความซวยกันต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

21.4.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รักจริงที่หลอกลวง เมื่อเขาไม่ได้รักเธอจริง และเธอเป็นเพียงสิ่งสนองตัณหาของเขา

February 12, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,410 views 0

รักจริงที่หลอกลวง เมื่อเขาไม่ได้รักเธอจริง และเธอเป็นเพียงสิ่งสนองตัณหาของเขา

จริงหรือที่ว่าเขารักเรา? จริงหรือที่ว่าเราคือคนที่เขาหมายจะร่วมชีวิตด้วย? จริงหรือที่เขาจะมั่นคงและดีกับเราตลอดไป? ถ้าความรักที่เขาอ้างว่าจริงแท้ตามที่ได้แสดงออกมาทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องหลอกลวงตั้งแต่ต้นล่ะ จะเป็นอย่างไร?

เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราเป็นสิ่ง “จำเป็น” สำหรับชีวิตของเขา หรือเป็นเพียงแค่สิ่งสนองตัณหา ที่จะมาบำเรอความอยากของเขา แน่ใจแล้วหรือว่าต้องเป็นเราเท่านั้น หรือว่าจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถบำบัดความใคร่อยากของเขาได้ เพียงแค่เราบังเอิญอยู่ในความคิดของเขาตอนนั้นเท่านั้น ซึ่งจริงๆ อาจจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรา ถึงจะไม่มีเรา เขาก็ไปหาคู่ของเขาอยู่ดี

เขาอาจจะมีอุบายหลายอย่างที่ล่อลวงให้เราหลงว่าเราคือสิ่ง “จำเป็น” สำหรับชีวิตของเขา ตั้งแต่การพรรณนาพร่ำเพ้อถึงความดีงามของเรา พูดคำหวานซึ่งว่าเขารักเราและเราจำเป็นกับชีวิตเขามากแค่ไหน หรือเราเป็นคนที่เขาเฝ้ารอมานานแสนนานเพียงใดก็ตาม

คนเราเมื่ออยากได้อยากเสพสิ่งใดแล้ว ก็มักจะใช้ความพยายามในการแสวงหาสิ่งนั้นมาเสพมาครอบครองตามที่ใจตนเองอยาก บางคนอาจจะรอได้ไม่นาน บางคนอาจจะรอได้เป็นสิบยี่สิบปีหรือทั้งชีวิต แต่นั่นไม่ได้แสดงถึง “ความจำเป็น” ของเราที่มีต่อเขาแต่อย่างใด มันเป็นเพียงแค่สภาพของความยึดมั่นถือมั่น(อุปาทาน) ของเขา ที่ใคร่อยากจะเสพคนแบบเรา หน้าตาแบบเรา รูปร่างแบบเรา เสียงแบบเรา นิสัยแบบเรา ฯลฯ

ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า “สเปค” หรือคนในฝัน จึงไม่มีจริงในความจริง แต่มีจริงในความลวง คือโดนกิเลสลวง ว่าฉันชอบแบบนั้นแบบนี้ ขาว สวย หมวย ฯลฯ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่ที่ตนมีอุปาทาน หลงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งน่าได้น่ามี เพราะเอาเข้าจริงๆ ถึงจะตั้งสเปคไว้ แต่ถ้ามีดีกว่าที่ตั้งไว้ ก็อาจจะเปลี่ยนไปหาคนใหม่ได้เหมือนกัน อย่างที่คนมากมายนอกใจคู่ของตน

สรุปคือสเปคนั้นคือตัวบอกอุปาทานของคน ว่าหลงติดหลงยึดในสิ่งใดเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าได้เสพสิ่งที่หลงติดหลงยึดแล้วจะพอใจเช่นนั้นตลอดไป เพราะกิเลสของคนนั้นโตได้ เมื่อได้เสพสิ่งหนึ่งจนชินชาก็มักจะไปหาสิ่งที่มากกว่ามาเสพ ต้องสวยกว่าเดิม ต้องเด็ดกว่าเดิม ฯลฯ มีความอยากมากขึ้นไปตามความหลงว่าสิ่งใดเป็นสุข คล้ายกันกับอาการที่เราไม่หยุดแสวงหาของอร่อยใหม่ๆ มากิน

ถ้าการที่เขาเข้ามาในชีวิตของเราเพราะอยากเสพ หน้าตา รูปร่าง เสียง นิสัย ฐานะ ชื่อเสียง สิ่งเหล่านั้นยังเป็นสิ่งที่พอเห็นและสังเกตได้ง่าย แต่ยังมีภาวะของกิเลสเชิงซ้อนคือไม่ได้อยากเสพอะไรในตัวเรา แต่ต้องการมีตัวเราเพื่อเสพภาพลักษณ์ดีๆ ในชีวิตของเขา เช่น อยากเล่นบทพระเอกนางเอก อยากแสดงตนเป็นคู่ครองที่ดี อยากเล่นบทพ่อแม่ลูก อยากเป็นคนที่มีคุณค่า สามารถดูแลคู่ครองได้ บำเรอความสุขให้คู่ของตนได้ นี่กิเลสมันซ้อนมาแบบนี้เลย คือภาพลักษณ์จะเป็นคนดีมาก ไม่สวยก็ไม่ว่า หุ่นไม่ดีก็ไม่เป็นไร ไม่มีอะไรก็ไม่เป็นไร ขอให้ฉันได้เป็น “คนดี” ที่ดูแลเธอได้ นี่มันเสพความดีของตัวเองอยู่(อัตตา) โดยใช้คู่ครองมาเป็นตัวบำบัดความอยากนั้นๆ

และในความซ้อนนี้ก็เหมือนกันกับกรณีทั่วๆไป คือจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสวยเลิศเลอ หรือดีมากเป็นพิเศษ ขอแค่ใครสักคนให้ฉันได้แสดงความสามารถในการเป็นคู่ครองที่ดีก็พอ ดังนั้นคู่ครองคนนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรา จะเป็นใครก็ได้ที่ให้เขาได้แสดงบทพระเอกนางเอก ถึงเขาจะไม่เจอเรา เขาก็ไปจับคู่กับคนอื่นเสพดราม่าในชีวิตอยู่ดี

แม้เขาจะแสดงออกว่าเรานั้น “จำเป็น” ต่อชีวิตเขาเพียงใดก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะจำเป็นกับเขาจริงๆ อาจจะเป็นใครก็ได้ที่มายืนแทนที่เรา ถึงจะไม่มีเราอยู่ในโลกนี้ เขาก็จะไปหาคนมาบำเรอกาม บำเรออัตตาของเขาอยู่ดี เรานั้นเป็นเพียงแค่เหยื่อของกิเลสที่หลงไปตามวาทะของคนผู้มัวเมาด้วยตัณหาและอุปาทาน และหลงว่าสิ่งที่เขาพูดออกมาเป็นของจริง

แค่เขาหลงมัวเมาในตัวเองก็โง่งมงายพออยู่แล้ว นี่เราดันหลงไปเชื่อคำของคนที่มัวเมาในกิเลสอีก มันก็โง่มากไปกว่าเขาอีก สุดท้ายก็ชวนกันเมาตัณหาอุปาทาน หลงว่าเป็นของจริง หลงว่าเป็นสุข กลายเป็นสิ่งสนองตัณหาของกันและกัน สร้างเวรสร้างกรรมผูกกันด้วยความหลงว่าสิ่งเหล่านั้นน่าใคร่น่าเสพ มันก็ชวนกันโง่เท่านั้นเอง

ที่หนักกว่าก็คือรู้ทั้งรู้นะว่าเขาไม่ได้รักเราจริงหรอก เขาไม่ได้ซื่อสัตย์มั่นคงขนาดนั้น แต่ก็ไปตกลงปลงใจกับเขา เพราะอยากได้อยากเสพในสิ่งที่เขามีเขาเป็น นี่กิเลสมันร้ายแบบนี้ มันชิงกันเป็นเหยื่อเป็นผู้ล่าสลับกันไปมา เธอมาเสพตัวฉันก็ได้ เพราะฉันก็จะเสพในสิ่งที่เธอมีเหมือนกัน สรุปก็กอดคอลากกันไปนรกด้วยความสวยงามแบบ happy ending ตามที่โลกเข้าใจ (คบหา/แต่งงาน)

จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วความรักที่หวังจะครอบครอง ได้ใกล้ชิด ได้เสพสมสู่อะไรกันก็ตาม สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ความรักหรอก เป็นแค่ความหลงที่ฉาบทาด้วยนิยามสวยๆ โดยให้ชื่อว่า “ความรัก” เพื่อให้ตนได้เสพอย่างตะกละมูมมามโดยไม่ต้องรู้สึกผิด และไม่มีใครกล่าวหาว่าผิดจารีตในสังคม

ให้ “ความรัก” เป็นเพียงฉากบังตาที่เอาไว้บังความจริง จากความหลงที่ลวงกันจนมัวเมา ปิดบังกิเลสที่สกปรกโสมมในจิตใจไว้ในนามของความรักเท่านั้นเอง

…เขาอาจจะบอกว่ารักเราจริง แม้เขาจะรู้สึกเช่นนั้นจริง แต่ความรักนั้น…ไม่ใช่ความจริง

– – – – – – – – – – – – – – –

9.2.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

อธรรมของชาย ธรรมะสอนหญิง : เมื่อความจริง ทำลายความเชื่อของผู้หญิงช่างฝัน

November 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,978 views 3

เมื่อความจริง ทำลายความเชื่อของผู้หญิงช่างฝัน

อธรรมของชาย ธรรมะสอนหญิง : เมื่อความจริง ทำลายความเชื่อของผู้หญิงช่างฝัน

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” นี้คือคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่จะพาให้เห็นภาพรวมในการแก้ปัญหาของเรื่องนี้

คนที่หลงในความรักก็จะเชื่อว่าความรักของพวกเธอนั้นดี ฉันคิดว่าฉันเป็นคนดี ฉันคิดว่าเขาเป็นคนดี รักของพวกเรานั้นมั่นคง ยืนนาน ถาวร ไม่จบง่ายๆเหมือนคู่ของคนอื่น และมันจะเป็นเช่นนั้นไปจนกว่า….จะถึงวันที่พบกับ”ความจริง

เรามักจะถูกทำให้เชื่อด้วยเงื่อนไขบางอย่างที่เราได้ตั้งไว้เท่าที่ปัญญาของเราจะมี เช่น…

ถ้าเขาอดทนจีบเราได้ถึงสามเดือน หนึ่งปี ห้าปี สิบปี คือเขารักเราจริง

ถ้าเขาเอาใจเราได้ตามที่เราเอาแต่ใจ คือเขารักเราจริง

ถ้าเขามาง้อทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ผิด คือเขารักเราจริง

ถ้าเขายอมให้อภัยแม้เราจะทำผิดแค่ไหน คือเขารักเราจริง

ถ้าเขารักครอบครัวเรา รักสัตว์เลี้ยงของเรา รักงานอดิเรกของเรา ฯลฯ คือเขารักเราจริง

ถ้าเขาอ้อนวอนขอร้องที่จะแต่งงานกับเรา คือเขารักเราจริง

ถ้าเขายินดีมีลูกกับเรา คือเขารักเราจริง

ภาคฝัน

ผู้หญิงหลายคนต่างรู้สึกยินดีเมื่อมีคนที่ถูกใจเข้ามาจีบ เข้ามาเอาใจ ยอมง้อก่อน ยอมให้อภัย รักครอบครัวของเรา ขอเราแต่งงาน มีลูก สร้างครอบครัวกับเรา แล้วหลงเชื่อจนหลงยึดไปว่าสิ่งเหล่านั้นคือความรัก ทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความรักเลยแม้แต่นิดเดียวก็ได้

เพราะการที่เขามาจีบ เอาใจ ง้อ ให้อภัย จนกระทั่งแต่งงานมีลูก เขาก็อาจจะแค่อยากเอาชนะเรา อยากเสพเรา อยากให้เรายอมให้เขาหมดตัวหมดใจก็ได้ นั่นอาจจะเป็นการพิสูจน์ศักยภาพของตัวเองอย่างหนึ่งของเขาก็ได้ ซึ่งหมายความว่าเรากลายเป็นแค่เป้าหมายให้เขาเข้ามาท้าทาย เป็นยอดเขาให้เขาปีนขึ้นมาแล้วปักธง พอเขาถึงยอดก็อาจจะไม่หยุดแล้วไปหาภูเขาอื่นขึ้นอีกก็ได้ เพราะการที่ผู้ชายจะแต่งงานจนมีลูก ก็มักจะไม่ได้ลำบากอะไรมากมาย ตั้งท้องก็ไม่ต้อง คลอดก็ไม่ต้อง ให้นมก็ไม่ต้อง แถมบางคนยังไม่ต้องเลี้ยงลูกอีก เรียกได้ว่าแทบไม่ต้องลำบากอะไรเลยในการสร้างลูก เพียงแค่เอาชนะใจหญิงสาวผู้อ่อนโลกแล้วเอาธงไปปักให้ได้เท่านั้นเอง

มีผู้ชายจำนวนมากที่ได้ทำลายวิมานในจินตนาการของผู้หญิงช่างฝันจนเหลือแต่เศษซากของความฝัน ที่เคยคิดว่าเขาดี เคยคิดว่าเขาจะอยู่กับเราตลอดไป แต่สุดท้ายก็ต้องผิดหวังช้ำรักอย่างซ้ำซากมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน แต่พวกเธอก็ไม่เคยจำ ไม่เคยเข็ด ยังคงเชื่อมั่นว่าจะต้องมีเจ้าชายในฝันที่จะมาทำให้ความรักนั้นเป็นสุขยั่งยืนนิรันดร์อย่างที่พวกเธอฝันไว้

แม้จะพลาดพลั้งเสียทีให้กับผู้ชายคนก่อนไป แต่ก็จะตั้งหน้าตั้งตาหาคนใหม่เข้ามาแทนที่ในลักษณะที่เรียกว่าต้องมากกว่าของเก่า เช่น ถ้าคนแรกจีบกัน 1 เดือน คนต่อไปก็ต้องจีบกัน 1 ปี ตั้งมาตรฐานสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เท่าที่จะมีปัญญาตั้งได้

แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันวิบากบาปได้ ฟ้าจะส่งเทพบุตรมาร ที่มีคุณสมบัติครบพร้อมในการเอาชนะใจเรา และมีความสามารถมากพอในการขยี้ฝันให้แหลกสลายในเวลาเดียวกัน เราจะเรียกชายที่เข้ามานี้ว่า “คู่เวรคู่กรรม

คู่เวรคู่กรรมคือ ผู้ที่มีกรรมสอดคล้องกับที่เราต้องรับ เขาจะเสนอตัวเข้ามาเพื่อทำหน้าที่จัดส่งผลกรรมนั้นๆให้เราได้รับ ซึ่งในตอนแรกมักจะมาในรูปของความสุข เป็นกุศลที่เกริ่นนำทางมา เป็นรสหวาน เป็นวิบากกรรมดีที่เคยสะสมร่วมกันมา ทำให้ได้มาเจอกันอีกในชาตินี้ ซึ่งจะมีความสามารถในการเจาะทะลุทุกเหตุผลและทำลายกำแพงใจของผู้หญิงคนนั้นได้

ภาคเทพ (เทวดา)

ต่อให้นานเป็นสิบปีเขาก็จะรอเราได้ ทนจีบ คอยรับคอยส่ง อดทนดูแลเอาใจอยู่ได้ด้วยใจเป็นสุข ถึงทะเลาะกันก็ยอมกันให้อภัยกันได้ เข้ากับครอบครัวได้ดี ดีแสนดี มีศีลมีธรรม มีแนวโน้มที่จะได้แต่งงานกัน และอาจจะได้แต่งงานกันในที่สุด สุดท้ายก็อาจจะผลิตทายาทออกมาเป็นบ่วงคล้องคอผูกกันไว้ทั้งสองฝ่าย ไม่ให้หลุดออกจากกันได้โดยง่าย ในทางโลกจะเรียกกระบวนการนี้ว่า “ชีวิตคู่เป็นสุข” หรือ “happy ending”ในทางธรรมจะเรียกว่า “บ่วง” หรือ “ภาระ” หรือ “bad never ending (ซวยไม่รู้จบ)

ภาคมาร

แต่ความสุขลวงที่เกิดขึ้นในชีวิตคู่รักเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง ให้จำไว้เลยว่ายิ่งสุขเท่าไหร่ก็จะยิ่งทุกข์เท่านั้น ทุกๆความสุขที่เสพไปคือกุศลกรรมเก่าที่เคยได้ทำมา เราจะได้เสพเท่าที่เราเคยทำกรรมดีไว้ และเมื่อเปลี่ยนจากคนโสดมาคบกันเป็นคนคู่จนแต่งงาน คือความเสื่อมจากธรรม เมื่อคนมีกิเลสสองคนมารวมกันก็จะเริ่มพากันเสพตามกิเลส หลงกาม เมาอัตตา ทั้งกิน ทั้งเที่ยว ทั้งสมสู่ มีแต่กิจกรรมเสริมกิเลส นั่นหมายความว่า พอมาเข้าคู่กับคู่เวรคู่กรรมแล้ว ก็จะมีแนวโน้มไปทางชั่ว

สุดท้ายพอกุศลหมด แต่อกุศลที่ทำมาเต็มไปหมด ก็จะเกิดสภาวะที่เรียกว่าสวรรค์ล่ม เทวดาตกสวรรค์ จากที่เคยเสพสุขกันบนสวรรค์ก็ร่วงลงมาบนโลก นั่นก็คือสภาพของความจริง คือต้องพบกับการพลัดพราก การเสื่อมสลายของทุกสิ่ง ความรักก็เช่นกัน

ตอนที่เราก็หลงสุข ก็หลงว่าคู่ของเราดี ทั้งที่จริงๆมันอาจจะยังไม่ถึงเวลาก็ได้ ซึ่งเมื่อมีความเห็นว่าคู่ของเราเป็นคนดีตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันและน่าจะตลอดไป นั่นแหละคือความประมาท คือไม่รู้ไม่สนใจเลยว่าวันหนึ่งชั่วมันจะเกิดหรือไม่เกิด ขอฉันเสพฉันสุขในปัจจุบันก็พอ เป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดที่ว่าหลงเข้าใจว่าความสุขในการเสพกามในปัจจุบันคือของแท้

คู่เวรคู่กรรมบางคนอาจจะหมดเวรหมดกรรมตั้งแต่ตอนเป็นแฟน แต่บางคนต้องโดนสมสู่แล้วทิ้งถึงจะหมดกรรมชั่วชุดนั้น บางคนหนักกว่าต้องไปแต่งงานกันกว่าจะออกฤทธิ์ชั่วให้เห็น ที่หนักกว่านั้นคือรอให้มีลูกก่อน และจะไม่ค่อยรอให้ลูกโตกันหรอก พอมีแล้วก็ให้โอกาสใช้เวรใช้กรรมกันเลยในขณะที่ยังลำบากอยู่นั่นแหละ คือมีเหตุให้เลิกกัน ทะเลาะ หักหลัง มีชู้ ป่วย ตาย ฯลฯ ตามวิบากกรรมของแต่ละคน และที่ชั่วที่สุดคือรักกันไปจนแก่ตายนี่แหละ อภิมหาชั่วเลย คือหลอกล่อมัวเมากันด้วยสุขลวงแล้วหลงกันข้ามภพข้ามชาติเลย

คนโดนทิ้งตอนเป็นแฟนก็ยังมีโอกาสตาสว่างได้ไว คนโดนทิ้งตอนโดนสมสู่ไปแล้ว โดนทิ้งตอนแต่งงานไปแล้ว โดนทิ้งตอนมีลูกไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสตาสว่างได้แม้จะมีความทุกข์มากเพราะยึดมั่นถือมั่นมากตามระยะเวลาที่ได้สะสมมาแต่ก็จะสามารถที่จะเห็นธรรมะได้ แต่คนที่พากันให้หลงมัวเมาในรักจนแก่ตายนั้น ไม่มีโอกาสตาสว่างได้เลย นี้จึงเรียกว่าชั่วที่สุด

ด้วยลีลาที่เรียกว่าเกินปัญญาจะคาดเดา เหมือนเสือที่หลอกหมูว่าตนเองนั้นไม่มีภัย ทำตัวเป็นเสือกินพืชกินผักหลอกให้หมูนั้นตายใจ หลงว่าเสือนั้นจะไม่กินตน เสือนั้นกินผักได้ เสือนั้นเชื่องกับตน เสือจะปกป้องตน เสือรักตน โดยหารู้ไม่ว่าที่เสือมันอดทนกินพืชผักอยู่นั้น มันก็รอให้ถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะกินหมูตัวนั้นเท่านั้นเอง

สรุปว่าเทพบุตรมาร(คู่เวรคู่กรรม)ที่เข้ามาเอาชนะใจของเราได้นี่แหละ คือคนที่จะมีผลในการทำลายใจของเราในท้ายที่สุด ขึ้นอยู่กับเมื่อไหร่จะหมดกรรมที่ทำมาร่วมกัน หากจะคิดว่าทำดีสู้ มันสู้ไม่ไหวอยู่แล้ว เพราะเวลาคู่กันแล้วชั่วมันเยอะกว่าดี ถ้าให้ดีคือไม่ต้องไปคู่กันแล้วทำดีต่อกัน นั่นจึงเรียกว่าดี

ภาคนรก

ทีนี้พอผิดหวังช้ำรักนี่มันหลุดกันไม่ได้ง่ายๆหรอก ตามสัจจะมันต้องลงนรกกันก่อน คือต้องได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจให้สาสมกับความยึดมั่นถือมั่นที่สะสมมาเสียก่อน ถ้าวิบากกรรมที่ส่งผลชุดนั้นยังไม่หมด ก็ไม่มีวันจะตาสว่างเห็นธรรมในทุกข์เหล่านั้นได้ ได้ฟังธรรมะก็จะไม่เข้าหู ถึงมีผู้รู้มาแนะนำก็จะไม่เข้าใจ มันจะตัน จะตื้อไปหมด

ต่อเมื่อหมดวิบากกรรมชั่วชุดนั้นแล้ว จะมีสัญญาณให้รู้สึกถึงความคลี่คลาย จะได้รับธรรมะที่ทำให้ใจสบายขึ้น เช่นพ่อแม่ปลอบ เพื่อนแนะนำ ได้ฟังธรรมะครูบาอาจารย์แล้วจิตใจผ่อนคลายจากทุกข์ได้ จะไม่จมอยู่กับทุกข์นั้นๆ มีโอกาสในการพิจารณาธรรมที่เป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น และหากสามารถปฏิบัติธรรมจนกระทั่งดับเหตุแห่งทุกข์นั้นๆได้ก็ถือว่าคุ้มค่า

แต่ในอีกกรณีหนึ่งคือผู้ที่คลายจากวิบากกรรมชุดนั้นแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีความเจริญในทางธรรม เพียงแค่ปล่อยให้ทุกข์เกิดแล้วดับไปตามธรรมชาติ แล้วปล่อยโอกาสแห่งการศึกษาให้ลอยไป ใช้ชีวิตเหมือนปกติ เป็นคนช่างฝันเหมือนสมัยก่อน พร้อมกับตั้งเงื่อนไขของชายคนต่อไปเท่าที่ปัญญาจะมี เพราะยังอยากเสพสุขในการมีคู่อยู่ นั่นจึงเป็นเหตุที่พวกเธอจะต้องวนเวียนอยู่ในสวรรค์ลวงและนรกจริงเช่นนี้ตลอดไปนั่นเอง

สรุป

เราทุกคนที่วิบากกรรมชั่วที่ไล่ล่าอยู่ตลอดเวลา ถ้าจะพอป้องกันได้ก็คงจะมีแต่ศีล คู่เวรคู่กรรมคือผู้ที่จะพยายามเข้ามาพรากศีลไปจากเรา พรากความโสดไปจากเรา เข้ามาสร้างสุขลวงให้เราหลงเสพหลงสุขตามที่เราเคยไปหลอกล่อใครต่อใครไว้ในชาตินี้และชาติก่อนๆ จนเราต้องหลงมัวเมากับความรัก

และสุดท้ายก็พังทิ้งอย่างไร้เยื่อใย เหมือนกับการแก้แค้นของใครบางคนที่ตามมาทวงคืนกันข้ามภพข้ามชาติ ความผิดหวัง ความทุกข์ต่างๆที่ได้รับมานั้นคือสมบัติของเราเอง ที่รอเพียงจะมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมในการรับผลของกรรมนั้นในช่วงเวลาที่สมควร

วิบากกรรมที่ไล่ล่าเรานั้น มันอาจจะมาถึงในอีกกี่วัน กี่เดือน กี่ปี กี่ชาติ ก็ได้ในการส่งผล ให้พึงระลึกไว้เถอะว่า กรรมที่เราทำมา มันตามมาล้างแค้นเราแน่ “แค้นนี้จะอีกกี่ปีกี่ชาติก็ยังไม่สาย” และวันนั้นคือวันที่คนผู้ประมาทจะต้องเสียใจ

ผู้มีคู่จึงต้องทนทุกข์อยู่กับความกังวลกับชีวิตคู่ในอนาคต และต้องเจอกับการจากพรากกับคู่เป็นที่แน่นอนในที่สุด ต่างจากคนโสดที่ไม่ต้องมีความกังวลใดๆเหล่านี้เลย คนโสดจึงเป็นคนที่ผาสุกที่สุด

– – – – – – – – – – – – – – –

30.11.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การแต่งงานคือเข้าสู่สงคราม

November 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,249 views 0

กรณีศึกษาจากกระทู้ในพันทิพ “ใครเคยมีประสบการณ์แย่ ๆ กับงานแต่งของตัวเองบ้างคะ มาแชร์กันหน่อย” ( http://pantip.com/topic/34427805 )

….เพื่อการเรียนรู้ที่มากขึ้น เราควรศึกษาเพิ่มเติมจากประสบการณ์ของท่านอื่นที่เจอปัญหาในการแต่งงานตั้งแต่กระบวนการคบหา จัดงาน สร้างครอบครัว จนกระทั่งวัยชรา เพื่อให้เห็นปัญหาและความทุกข์ที่เกิดขึ้นอย่างแจ่มแจ้ง

การแต่งงาน ก็คือการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ นอกจากจะรบกับคู่แล้ว ยังต้องรบกับพ่อแม่พี่น้องญาติมิตรสหายของคู่ด้วย ซ้ำร้ายกว่านั้นอาจจะเจอทั้งศึกนอกศึกใน

….ก็เรียนรู้กันไป