Tag: แต่งงาน

ขาดแฟนชีวิตเจริญ ขาดมิตรดีชีวิตไม่เจริญ

October 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,748 views 3

ขาดแฟนชีวิตเจริญ

เป็นส่วนเกินไม่มีก็ได้

ขาดมิตรดีชีวีฉิบหาย

เจริญก็ไม่ได้ไม่พ้นโลกีย์

– – – – – – – – – – – – – – –

ขาดแฟน

 

แฟน คู่รัก คู่ครอง ฯลฯ แท้จริงแล้วเป็นความสัมพันธ์ที่ “ไม่มีความจำเป็นในชีวิต” ถึงไม่มีก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ และถ้ามีแล้วนอกจากจะสามารถขวางทางเจริญ ยังสามารถฉุดกันลงนรกได้อีกด้วย กว่าจะถึงวันแต่งงานบำเรอกิเลสกันไปเท่าไหร่ เลี้ยงกิเลสโตกันไปขนาดไหน แม้ว่ามันจะดูน่าใคร่น่าเสพในทางโลกีย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันคือทุกข์ล้วนๆ

เหตุผลหนึ่งในการหาแฟนหรือคู่ครองที่คนมักจะซ่อนเอาไว้ก็คือ “การสมสู่” ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เพื่อนที่ดีไม่สามารถทำให้กันได้ เพราะการระบายอารมณ์ การให้เป็นที่พึ่ง การปรึกษาปัญหาชีวิต การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันจนแก่เฒ่า หรือแม้กระทั่งการง้องอน เพื่อนที่ดีก็สามารถทำหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้ได้ครอบคลุมทั้งหมด

แต่การจะให้เหตุผลว่าหาคู่ครองเพื่อมาบำเรอความใคร่ เอามาบำบัดความอยากในกามอารมณ์ มันก็ดูจะตรงเกินไปสักหน่อย คนเราก็เลยโอนคุณสมบัติบางอย่างของเพื่อนเพื่อมาให้น้ำหนักทางฝั่งแฟน ลดความสัมพันธ์ของเพื่อนมาเพิ่มคุณค่าให้กับแฟน สร้างระยะว่านี่เพื่อน นี่แฟน เพื่อนได้แค่เท่านี้ แฟนต้องขนาดนี้ และเว้นอาณาเขตพิเศษไว้ให้แฟน จึงกลายเป็นเหตุผลอันชอบธรรมในการหาแฟนหรือคู่ครองในที่สุด(สามารถพิสูจน์ข้อคิดเห็นนี้ได้โดยถือศีลการเว้นการสมสู่ตลอดชีวิต แล้วจะเห็นพลังของกิเลสว่ามีจริง)

เหตุผลอีกข้อก็คือ หลงผิดว่ามนุษย์ต้องมีคู่ ต้องแต่งงาน ต้องสืบพันธุ์ การมีคู่เป็นคุณค่า เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่สมควรทำ เป็นสิ่งที่เป็นเป้าหมายในชีวิต ฯลฯและยังมีเหตุผลยิบย่อยอีกมากมายเช่น อยากมีไว้แก้เหงา, อยากมีคนเอาใจ, อยาก…ฯลฯ

– – – – – – – – – – – – – – –

ขาดมิตรดี

หากว่าชีวิตของเรานั้นไม่มีมิตรดี ไม่ได้คบหาหรือรู้จักคนที่ปฏิบัติดี จะไม่มีทางที่ชีวิตจะไปสู่ความเจริญได้เลย แม้จะเจริญไปได้ ก็หนีไม่พ้นวิถีโลก ไม่พ้นโลกีย์ วนเวียนอยู่ในโลกีย์ แม้จะมีธรรมะก็เป็นธรรมะในขั้นโลกีย์ เป็นคนดีแบบที่โลกเขาสมมุติเอา แม้จะได้รับการเชิดชูเป็นศาสดา ก็เป็นเพียงศาสดาโลกีย์ ทำความดีในวิสัยของโลกีย์ วนอยู่เพียงเท่านั้น

วิถีโลกีย์คือความวน ไปถึงจุดสูงสุดแล้วก็วนลงไปต่ำสุด ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นความวนได้เพราะมีกิเลสเป็นเหตุ ไม่ว่าจะจนหรือรวย จะฉลาดหรือโง่ จะทำดีหรือทำชั่ว ถ้าไม่มีมิตรดี ก็ไม่มีวันที่จะปฏิบัติสู่การหลุดพ้นจากความเวียนวนนี้ไปได้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า ก่อนจะเห็นมรรคได้นั้น ต้องมีมิตรดีเป็นอันดับแรก ถ้าเปรียบมรรคดังดวงตะวัน มิตรดีก็เป็นดังแสงแรกที่จะเห็นเมื่อตะวันนั้นกำลังจะโผล่ขึ้นมา นั่นหมายถึงว่า ถ้าไม่มีมิตรดี ก็ไม่ต้องปฏิบัติมรรคเลย เพราะผิดแน่นอน ปฏิบัติไปก็ผิด เรียนไปก็ผิด ทำอะไรก็ผิด

ย้ำลงไปอีกในอวิชชาสูตร ท่านได้กล่าวว่าคนจะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ต้องเริ่มต้นจากการคบหาสัตบุรุษหรือมิตรดีที่พาเจริญ มิตรดีในที่นี้คือผู้ที่รู้ธรรม รู้ทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ แล้วเรียนรู้จากสัตบุรุษเท่านั้นจึงจะพ้นทุกข์ เพราะความรู้ของศาสนาพุทธนั้นคิดเอาเอง อ่านเอาเอง ปฏิบัติเอาเองไม่ได้ ถึงจะ คิด อ่าน หรือขยันปฏิบัติแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีภูมิเก่าก็จะมีแต่หลงเท่านั้น บางครั้งหลงไปด้วยว่าตนมีภูมิ หลงซ้ำซ้อนกันไปอีกหลายชั้น หลงถึงขั้นสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ก็มี

สรุปคือ ถ้าชีวิตไม่เจอมิตรดี ไปเจอมิตรลวง หรือเจอกับมิตรหลง นอกจากจะไม่มีวันพ้นทุกข์แล้ว ยังเพิ่มความหลงในโลกีย์ซ้อนเข้าไปอีก สร้างทุกข์หนักเข้าไปอีก ในทางกลับกันถ้าเจอมิตรดี หมั่นเข้าหา สนทนา ศึกษาและปฏิบัติตาม ก็จะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ได้โดยลำดับ

ข้อสังเกตในเบื้องต้นว่าคนไหนมิตรดี คนไหนที่ควรคบ ก็ให้ดูที่ศีล พระพุทธเจ้าตรัสศีลเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ย่อมจะไม่ทิ้งศีล อาศัยศีลเป็นเครื่องนำความเจริญ ไม่ถือศีลอย่างยึดมั่นถือมั่น แต่ก็จะไม่ถือศีลอย่างลูบๆคลำๆ เหยาะแหยะ ทำทีเล่นทีจริง โดยจะสามารถเข้าถึงศีลได้ตามบารมี ๕ ๘ ๑๐ จนถึง จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

1.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เรากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม?

August 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,165 views 0

เรากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม?

เรากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม?

ปัญหา: คู่รักหลายคู่ที่แต่งงานมีลูกด้วยกันแล้วเกิดมีปัญหาถึงขั้นหย่าร้าง ต่อมาฝ่ายที่ขอหย่าก็ไปมีครอบครัวใหม่ แต่สุดท้ายอยู่กินกับคนใหม่ได้ไม่นานก็อยากจะกลับมาสู่ครอบครัวเดิม อยากให้ช่วยไขประเด็นทางธรรม

ตอบ: ในเรื่องนี้จะแสดงความคิดเห็นโดยแบ่งเป็นสามช่วงนะครับ ช่วงแรกคือการแต่งงานมีลูกด้วยกัน ช่วงที่สองคือหย่าร้าง ช่วงที่สามคือคนขอหย่าไปมีครอบครัวใหม่และสุดท้ายก็อยากจะกลับมา

1). คนที่เขาหลงรักกัน ขนาดถึงขั้นที่ว่าจะแต่งงานกันให้ได้ นี่เป็นผลของกิเลสที่สะสมมาจนโต มองเห็นแต่ข้อดีของอีกฝ่าย ไม่เห็นข้อเสียเลย จึงพร้อมที่จะยึดมั่นถือมั่น ผูกพันกันและกัน ต่างคนต่างให้สัญญาว่าจะรักและดูแลกันตลอดไป จนกระทั่งมีลูกด้วยเหตุอันใดก็ตาม อาจจะใช้เป็นหลักประกันของครอบครัว อาจจะมีความหลงในการมีลูก หรืออื่นๆ เมื่อมีลูกเกิดขึ้นมา หลายครอบครัวก็มักจะเริ่มแกว่ง เริ่มไม่มั่นคง เริ่มมีปัญหา เพราะบางครั้งคนที่แต่งงานก็เพราะรักและหลงในอีกฝ่าย แต่ไม่ได้หลงในลูกที่เกิดมา

ซึ่งโดยหน้าที่แล้วฝ่ายภรรยาก็ต้องแบ่งน้ำหนักความรักจากสามีมาลงที่ลูก ต้องใส่ใจลูกมากขึ้น ในขณะที่สามีได้รับเวลาและการดูแลลดน้อยลง ถ้าสามีรักและหลงลูกด้วยก็มักจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าสามีเป็นคนหลงตัวเอง อยากให้คนอื่นมาดูแลตัวเอง พอภรรยามีลูกก็มักจะบกพร่องในหน้าที่บางประการ จึงทำให้สามีบางคนนั้นไม่พอใจ เกิดความทุกข์ เพราะไม่ได้เสพในสิ่งที่ตนอยากจะเสพ (คำว่าเสพในที่นี้มีความหมายกว้างตั้งแต่ต้องการดูแลเอาใจใส่ การยิ้มให้ การแต่งตัวให้ดูดี การพูดคำหวาน จนไปถึงเรื่องการสมสู่) มักจะเกิดกับคนที่หลงในตัวของภรรยามากๆ อยากได้อยากเสพภรรยา จนไม่อยากให้ใครหรือแม้แต่ลูกแย่งโอกาสนี้ไป

ซึ่งในกรณีนี้ก็เกิดขึ้นได้กับผู้ชายเช่นกัน บางครั้งผู้ชายอยากมีลูกมากกว่าอยากมีภรรยา เมื่อมีลูกจึงให้น้ำหนักไปที่ลูกมากกว่า รักและดูแลลูกมากกว่าจนเป็นเหตุให้ภรรยาน้อยใจได้

2). ปัญหาในครอบครัวถึงขั้นหย่าร้างนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เรื่องเล็กจนไปถึงเรื่องใหญ่ แต่สาระของปัญหาเหล่านั้นเกิดจากความไม่ยอมกัน การเอาชนะ การยึดชั่วและยึดดีทั้งหลาย รวมๆแล้วก็เรียกว่าเกิดจากกิเลส

ในตอนแรกคนสองคนมาอยู่ด้วยกัน อยากเสพกันและกันก็มักจะดูแลเอาใจใส่เพื่อให้ได้เสพ ซึ่งพอเสพกันบ่อยครั้งเข้าก็มักจะเริ่มเบื่อ เริ่มเคยชินกับสิ่งที่เคยรักเคยหลง ซึ่งการดูแลเอาใจก็มักจะเสื่อมไปตามธรรมชาติเมื่อได้เสพจนเบื่อ และเรื่องเหล่านี้เป็นสภาวะที่เกิดโดยทั่วไป ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ได้

เมื่อความอยากเอาใจหมดไป ในขณะที่ความคาดหวังที่จะได้รับการเอาใจกลับเพิ่มมากขึ้น ไม่มีคู่รักคู่ไหนที่ตั้งใจแต่งงานกันโดยที่คิดว่ารักนั้นจะเสื่อมลงหลังจากแต่งงาน มีแต่คนที่คิดว่าจะได้รัก ได้เสพ ได้สุขมากขึ้นถ้าเขาและเธอแต่งงาน ด้วยเหตุผลนั้นจึงเกิดการแต่งงานขึ้นมา

ดังนั้นเมื่อความอยากเสพได้จางคลายไป พฤติกรรมทั้งหลายที่เคยสร้างเพื่อให้ได้เสพ เช่น คำหวาน ของขวัญ การดูแลเอาใจใส่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำเหมือนเดิมอีกต่อไป จึงเกิดสภาพของการเปลี่ยนแปลง ไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนสมัยจีบกันหรือแต่งงานกันใหม่ๆ ซึ่งถ้าอีกฝ่ายเข้าใจและทำใจยอมรับได้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ายังมีใครที่ติดสุขอยู่ ยังอยากเสพสุขอยู่ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ได้ต้องการจะสนองให้อีกต่อไป นั่นคือเหตุหนึ่งของความขุ่นเขืองใจในครอบครัว

ซึ่งสามารถพัฒนาให้รุนแรงลุกลามขึ้นไปได้ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดไม่พอใจในการได้รับการสนองกิเลส ก็อาจจะไปแสวงหาสิ่งใหม่มาเสพ หรือไม่ยินดีทนอยู่กับสภาพที่ไม่ได้เสพสมใจ จึงเกิดการทะเลาะหรือหย่าร้างขึ้น

3). เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังคงมีความอยากเสพ ยังคงแสวงหา เขาก็จะพยายามหาสิ่งที่เขาต้องการมาเสพ ซึ่งอาจจะเป็นคนรักใหม่ ชู้รัก หรือสิ่งอื่นใดก็ตาม ที่จะมาทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป ในโจทย์นี้ก็จะเป็นแต่งงานใหม่ ซึ่งการแต่งงานก็จะวนไปเช่นเดียวกับข้อหนึ่ง คือหวังว่าตนเองจะได้เสพสุข จะมีคนมาคอยสนองกิเลส

แต่เมื่อแต่งงานไปก็พบว่ามันไม่ได้สุขอย่างใจฝัน มันไม่ได้เสพอย่างที่คาดหวังไว้ จึงเกิดการเปรียบเทียบว่าเสพอันไหนจะสุขกว่า อยู่กับคนเก่าหรือคนใหม่ฉันจะเป็นสุขกว่า เมื่อตกลงใจได้ว่าของเก่าดีกว่า จึงอยากจะกลับไปเสพของเก่า เพราะในสภาพที่เป็นอยู่นั้นคือสภาพที่ทุกข์กว่าเก่า อาจเพราะไม่ได้เสพสิ่งที่ตัวเองต้องการอย่างที่คิดฝันไว้และยังเข้าใจว่ามีทางเลือกที่ดีกว่านั่นคือเลิกกับคนใหม่แล้วกลับไปหาคนเก่า

เพราะได้จำไว้ว่าคู่ครองคนเก่าดูแลเท่านี้ สมมุติว่า ดี 5 เสีย 3 ส่วนต่างอยู่ที่ +2 แต่คนใหม่ดี 7 เสีย 8 ส่วนต่างอยู่ที่ -1 แม้ตอนแรกจะดูเหมือนคนใหม่ดี แต่ไปๆมาๆกลับขาดทุน เป็นทุกข์ เมื่อเกิดสภาพดังนั้นจึงเข้ากับคำเปรียบเปรยที่ว่า “กำขี้ดีกว่ากำตด” เพราะแม้จะสุขน้อยแต่ก็ยังมีสุขให้ได้เสพบ้าง ไม่เหมือนกับคนใหม่ที่มีแต่ทุกข์

ทีนี้จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม เมื่อเขากลับมาอีกฝ่ายจะยอมรับไหม ตรงนี้ต้องพิจารณาให้ดี เขาออกจากชีวิตเราไปตั้งแต่ครั้งก่อนนั้นก็ได้ใช้เวรใช้กรรมกันไปแล้ว ไม่ต้องผูกพันกันแล้ว การกระทำของคนที่ออกจากชีวิตไปแล้วมีคนใหม่นั้นแสดงให้เห็นแล้วว่าเขายังเสพไม่พอ และการที่เขากลับมานั่นก็หมายถึงแม้เขาจะได้เสพคนใหม่ เขาก็ยังสุขไม่พอ จึงต้องกลับมาหาเรา การที่เขากลับมานี่อาจจะเพราะเขาไม่มีอะไรให้เสพหรือสำนึกผิดก็ไม่มีใครรู้ แต่โดยมากแล้วก็จะแสดงบทสำนึกผิดกันเป็นหลักไว้ก่อน เพราะคนอยากเสพก็ต้องป้อนคำหวาน คำสัญญา เหมือนในสมัยจีบกันก่อนแต่งงาน

คนที่ปลดบ่วงกรรมไปแล้ว เอาคนไม่ดีออกจากชีวิตไปได้แล้ว แต่กลับเลือกคนที่เคยทำร้าย คนที่เคยทิ้งไปเข้ามาในชีวิตใหม่ ก็ต้องยอมรับกรรมกันไป เพราะว่ากิเลสของเรานั้นยังเยอะ เราอาจจะยังอยากเสพเขาอยู่ จึงรับเขากลับเข้ามาในชีวิต ให้เขาได้เข้ามาทำร้ายร่างกายและจิตใจเราอีกครั้ง ให้เข้าได้เข้ามาทำบาป สร้างเวรสร้างกรรมกับเราอีกครั้ง ให้เข้าได้เข้ามาผูกภพผูกชาติกับเราอีกครั้ง ดังนั้นการเสียใจและความผิดหวังก็คงต้องดำเนินต่อไป เพราะได้ผูกกรรมใหม่ขึ้นมาแล้ว

การที่อดีตคู่รักจะกลับมาในชีวิตนั้น ถ้าจิตไม่แข็งแกร่งก็ไม่ควรจะอยู่ใกล้ ควรมีระยะที่เหมาะสม ถ้ามีลูกก็ให้ดูแลไปตามหน้าที่ แต่อย่าให้เข้ามาใกล้จนความสัมพันธ์นั้นเกินเลยไปกว่าเพื่อน เพราะคนที่เคยเลิกกันไปแล้ว จะทำตัวให้เหมือนเดิมก็ไม่ควร เพราะถ้าเขาเป็นคนดีมีศีลธรรมจริง ก็คงจะไม่มีคำว่า “อดีตคู่รัก” คงยอมอดทน ยอมให้อภัย ยอมทำใจ แล้วรักษาความสัมพันธ์กันไปแม้ว่าใจนั้นจะไม่อยากเสพแล้วก็ตาม ด้วยสัญญา ด้วยหน้าที่ ด้วยสัจจะ จึงจะต้องยอมทนอยู่ ดังคำว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์” (นัยหนึ่งของศีลข้อ ๔) หมายถึงว่า แม้จะหลงมาแต่งงานแล้วพบว่านั่นคือนรกแท้ๆก็จะไม่หนีไปจากนรกนั้น ยอมรับสภาพ ยอมรักษาสัจจะ รักษาคำมั่นสัญญา ดีกว่าจะยอมหนีทุกข์ไปเสพสุขลวงใหม่ ซึ่งจะสร้างกรรมชั่วใหม่ที่จะต้องมาคอยรับผลเก่าสร้างเหตุใหม่ให้วนเวียนทุกข์กันอย่างไม่จบไม่สิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

17.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เบื่อผัว เบื่อเมีย : ปัญหาโลกแตกของคนคู่ เบื่อผัว เบื่อเมีย แต่ไม่เคยเบื่อการมีคู่

August 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,263 views 0

เบื่อผัว เบื่อเมีย : ปัญหาโลกแตกของคนคู่ เบื่อผัว เบื่อเมีย แต่ไม่เคยเบื่อการมีคู่

เบื่อผัว เบื่อเมีย : ปัญหาโลกแตกของคนคู่ เบื่อผัว เบื่อเมีย แต่ไม่เคยเบื่อการมีคู่

เรามักจะได้ยินคำว่า “คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า” ในที่นี้หมายถึงเรื่อง “การแต่งงาน” สื่อถึงสภาพของคู่เคยรัก ที่ไม่อยากจะใช้ชีวิตร่วมกันอีกต่อไป กับคนที่หลงว่าการแต่งงานนั้นเป็นสุข

จากกรณีศึกษาในกระทู้ “เบื่อผัว (http://pantip.com/topic/34020591)” และ “เบื่อเมีย (http://pantip.com/topic/34018249)” จะทำให้เราค้นพบความหมายของคำว่า “คนในอยากออก” ในมุมที่ลึกซึ้งขึ้น เพราะเต็มไปด้วยประสบการณ์ของผู้คนที่เพิ่งตาสว่างจากการหลงผิด เข้ามาแบ่งปันประสบการณ์ความเจ็บช้ำแก่กันและกัน

ถ้าเราอยากมีคู่ เราก็จะแสวงหาหนทางในการมีคู่ พยายามสร้างบทบาท พยายามทักทาย พยายามเรียกร้องความสนใจ ใช้มารยาล่อหลอกสารพัด ให้คนที่เราคาดหวังว่า…ถ้าเราได้เขามาเป็นคู่แล้วเราจะเป็นสุข ให้เขาหลงกลเรา ซึ่งมันก็มีทั้งกลยุทธ์เชิงรุกและเชิงรับ แต่ผลก็เหมือนๆกัน คือหาเหยื่อมาบำเรอกิเลสตน

พอได้คู่มาครอง คบหากัน เป็นแฟนกันแล้วเสพสุขกันไป บำเรอกิเลสกันไป ทีนี้กิเลสมันไม่พอนะ มันเสพไม่เคยอิ่ม มันอยากลิ้มรสสุขที่มากกว่า ได้ยินเขาว่ากันว่าแต่งงานมันเป็นสุข จิตมันเลยเกิดความโลภ มันไม่พอใจแค่ได้คบหาได้เป็นแฟนกัน มันจะเอาอีก มันอยากได้อีก มันอยากเสพรสที่สุขยิ่งกว่านี้อีก มันไม่ยอมหยุดแค่นี้หรอก ที่ว่ามาทั้งหมดนี่พลังกิเลสล้วนๆเลย กิเลสมันหลอกเราให้หลงสุขทั้งนั้นเลย บังคับใจเรา บังคับคำพูดเรา บังคับร่างกายเรา แถมเราก็ยังยอมให้มันบงการชีวิตเราด้วย

คนที่หลงในความรักจนพร้อมจะแต่งงาน เรื่องก็ธรรมะมักจะไม่เข้าหูแล้ว กิเลสมันปิดหูหมด ใครเขาว่ามันทุกข์อย่างไร แต่งงานไม่ดีอย่างไร เขาไม่รับรู้หรอก เพราะจิตมันโดนกิเลสหลอกไปแล้ว โดนลากให้หลงทางไปแล้วจะฟังก็แต่อธรรมที่สนับสนุนข้อดีในเรื่องคู่

ทีนี้พอได้แต่งงานแล้วยังไง ทั้งสองคนก็เป็นคนมีกิเลสเหมือนกัน อยากได้รสสุขเหมือนกัน อยากให้อีกฝ่ายมาบำเรอตนเองยิ่งกว่าก่อนแต่งงาน เพราะหมายมั่นว่าแต่งงานแล้วมันจะต้องสุขกว่านี้ ต้องเลิศกว่านี้ ต้องดีกว่านี้ จึงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นอีกฝ่ายเป็นผัวเป็นเมียโดยไม่ลังเล ยอมทุกอย่างขอแค่ให้ได้เสพสุขที่ยิ่งกว่า

แล้วสุดท้ายก็ไปงงกันเองว่า “อ้าว! มันไม่ใช่อย่างที่หวังไว้นี่” ตั้งความคาดหวังกันไปเอง แล้วก็อกหักอกพังกันไปเอง คือไปหวังว่ามันจะต้องได้รับสุขที่เลิศกว่าตอนเป็นแฟนกัน แต่ที่ไหนได้ ต่างคนก็ต่างรอเสพ พอมีแต่คนรอเสพมันก็ไม่มีคนคอยเสริฟ พอคนหนึ่งเสียสละบำเรอให้อีกคน ก็มักจะเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะตนตั้งเป้าหมายว่าจะได้รับการบำเรอ ไม่ใช่ต้องมาบำเรอคนอื่น มันก็จะเริ่มสะสมเชื้อทุกข์กันตรงนี้ ซึ่งก็จะค่อยๆสร้างปมและเงื่อนไขแห่งความทุกข์ขึ้นไปเรื่อยๆจนเกิดสภาพของ “คนในอยากออก” เพราะไม่ได้เสพสมใจตามที่ตนได้คาดหวังไว้

แต่ถ้าใครมีศักยภาพในการสนองกิเลสกันได้จริงๆเช่นมีลาภ ยศ สรรเสริญเยอะก็สามารถบำเรอกันไปจนกว่าจะหมด คนที่มีทุนทรัพย์เยอะเขาก็สร้างสุขได้จริง แต่สุขนั้นเป็นสุขที่ลวงจริงๆคือลวงให้คนหลงติดในความเป็นเทวดา ติดสุขบนสวรรค์ ได้เสพสุขอยู่ในภพที่มีคนมาบำเรอให้ สุดท้ายวันใดวันหนึ่งหมดรอบกุศล หยอดเหรียญเพิ่มไม่ทัน ก็เหมือนกับนางฟ้าที่ถูกถีบตกสวรรค์ ซึ่งมีกรณีศึกษาให้เห็นในสังคมกันมามากแล้ว แบบที่ว่ารักกันบำเรอกันอยู่ดีๆ สุดท้ายโดนเฉดหัวออกมาจากความเป็นคู่ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

แต่คนส่วนใหญ่ที่เขาไม่ได้มีศักยภาพในการสนองกิเลสกันขนาดนั้น ก็มักจะต้องฝันค้าง หรือตกสวรรค์กันในเวลาไม่นานนักซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีจะได้เห็นทุกข์แล้วหันมาศึกษาธรรมะกัน

ทีนี้แม้ว่าจะจบความสัมพันธ์กันไปแต่กิเลสมันไม่ตายตามไปนะ มันยังหลงสุขในการมีคู่อยู่ แต่มันก็จะระวังขึ้น ระแวงขึ้น คือจะมีข้อแม้ในการได้เสพมากขึ้น เช่นคบคนแรกด้วยเหตุที่หลงรัก พอคบไปคบมาไม่มีเงิน ไม่ได้กินไม่ได้เที่ยวสมใจ ทรมานเพราะความอยากแต่ไม่ได้สมอยาก พอเลิกกันไปก็ตั้งความหวังว่าถ้าเจอคนใหม่จะต้องดีกว่าคนเก่า จะต้องมีอย่างนั้นอย่างนี้ให้เสพเรียกว่าอยากเสพมากขึ้น กิเลสมากขึ้น

สรุปก็คือแม้จะเบื่อผัว เบื่อเมีย แต่คนก็ไม่หยุดหาผัว หาเมียกันหรอก เพราะเขามีกิเลสเป็นแรงผลักดัน ทำให้เกิดความอยาก มันมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ว่าถ้าได้มีคู่จะเป็นสุข หรือยึดมั่นว่าถ้าได้คู่ดีจะเป็นสุข ได้คู่ไม่ดีจะเป็นทุกข์ เมื่อมีความเห็นความเข้าใจอย่างนี้ การออกจากนรกคนคู่นั้นจึงเป็นไม่ได้เลย ถึงจะหลุดออกมาได้ แต่สักพักก็จะโดนกิเลสลากกลับไปลงนรกใหม่เช่นเคย

– – – – – – – – – – – – – – –

8.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

อะไรเป็นตัวตัดสินว่าคนไหนที่เราจะแต่งงานด้วย?

August 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,174 views 0

จากกระทู้ในพันทิพ : อะไรกันครับที่เป็นตัวตัดสิน ว่าคนนี้แหละ เราจะแต่งงานด้วย (http://pantip.com/topic/33997358)

กิเลสล้วนๆเป็นตัวตัดสิน ถ้าได้สมกิเลสก็ตัดสินว่าใช่ ถ้าไม่ได้สมกิเลสก็ตัดสินว่าไม่ใช่

อยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข สนองกาม สนองอัตตา บ้าอบายมุข เรื่องกิเลสทั้งหมดก็วนๆอยู่กับเรื่องพวกนี้ละนะ

ก็ว่ากันไป ตามแต่กิเลสจะนำพา….