Tag: เมตตา

คนหากิน สัตว์หากิน เราไม่เบียดเบียนกันและกัน

July 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,188 views 0

คนหากิน สัตว์หากิน เราไม่เบียดเบียนกันและกัน

นอนๆอยู่ก็นึกถึงประโยคหนึ่งที่เคยได้ยิน เป็นประโยคที่ดีมาก เลยไปค้นว่ามาจากไหนก็ได้เจอเพลงนี้ เพิ่งจะเคยฟังเต็มๆ

แม้เพลงนี้จะกล่าวในขอบเขตของสัตว์ป่า แต่ประโยคนี้กลับขยายได้ไปถึงองค์รวมของการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์

ทำไมเราไม่หากินของเราไป และปล่อยให้สัตว์หากินของมันไป ไม่ต้องไปเบียดเบียนมัน เราจะเบียดเบียนกันและกันไปด้วยเหตุผลอะไรบ้าง ในเมื่อแท้จริงแล้วชีวิตที่ไม่เบียดเบียนกันก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข

“เราหยุดแล้ว แต่ท่านสิยังไม่หยุด” เป็นประโยคที่พระพุทธเจ้าผู้ไม่เบียดเบียน กล่าวกับ อหิงสกะ หรือองคุลีมาล จนเกิดดวงตาเห็นธรรม ตื่นจากความหลงผิด ความมัวเมาในคำลวงของผู้อื่น ที่ล่อหลอกให้ไปฆ่าคนมากมาย

ชื่อ อหิงสกะ แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ซึ่งแท้จริงแล้วท่านมีบารมีพร้อมจะเป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเพียงแค่แนะนำธรรมะที่มีพลังพอจะกระเทาะเปลือกแห่งโลกีย์ให้ จนเกิดปัญญารู้โทษชั่วของการเบียดเบียน บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

แม้ว่าในเมื่อวานเราจะยังหลงสุขกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ แต่อาจจะไม่ใช่วันนี้ก็ได้….

เพียงแค่เราปลดเปลื้องเปลือกที่เคยห่อหุ้มไว้ ละทิ้งความหลงสุขที่พาให้เบียดเบียน ปลุกจิตวิญญาณที่มีเมตตาของตนขึ้นมา จนแผ่ไพศาลไกลออกไปมากกว่าความสุขในตัวเอง แผ่ไปสู่ความสงบสุขในสัตว์ทั้งหลายด้วย

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

July 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,048 views 0

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

การลดเนื้อกินผักนั้นเป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติที่จะลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นทางแห่งบุญ สร้างกุศลกรรมอันมีแต่ประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่มีโทษใดๆเลย หากผู้ลดเนื้อกินผักนั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์

แม้ว่าการลดเนื้อกินผักจะถูกมองว่าไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ หรือหลุดพ้นจากสิ่งใดได้ นั่นก็เป็นเรื่องปกติ เพราะหากผู้ที่ไม่มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งเหล่านี้นำมาใช้ปฏิบัติอย่างไร ลดกิเลสอย่างไร เป็นประโยชน์อย่างไร ซึ่งการทำให้ทุกคนมีสัมมาทิฏฐินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการเห็นต่างกันย่อมจะเป็นเรื่องธรรมดา

การลดเนื้อกินผักนั้นมิใช่การทำให้หลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะขอบเขตของมันก็เพียงแค่ทำลายความอยากในการกินเนื้อสัตว์ ดังนั้นประสิทธิผลสูงสุดของมันก็แค่เพียงทำให้ความอยากกินเนื้อสัตว์หมดไป ทำให้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์ ทำให้ไม่ต้องกลายเป็นทาสเนื้อสัตว์ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ที่มากเกินพอแล้วสำหรับการดำรงชีวิตในสังสารวัฏนี้

เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้เกิดโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นผู้ที่คิดจะบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ในโลกนี้ ย่อมใช้การไม่เบียดเบียนนี่เอง ยังอัตภาพให้คงอยู่ เพื่อสร้างโอกาสให้ชีวิตได้เรียนรู้ที่จะทำให้เกิดบุญ และกุศลมากยิ่งขึ้น

กินอย่างวัวควาย

การลดเนื้อกินผัก มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบว่า “ถ้าการไม่กินเนื้อสัตว์สามารถหลุดพ้นได้จริง วัวควายกินแต่หญ้าทั้งชีวิตก็หลุดพ้นไปแล้ว

ต้องทำความเข้าใจอย่างนี้ว่า วัวควายเหล่านั้นมันไม่ได้กินเนื้อสัตว์ ไม่ได้มีความอยากกินเนื้อสัตว์ เอาเนื้อสัตว์ไปให้มันก็ไม่กิน เพราะมันไม่มีสัญญาแบบนั้น มันไม่ได้หลงว่าเนื้อสัตว์กินได้ เป็นของน่าใคร่ เป็นของควรบริโภค ดังนั้นไม่ว่าจะให้เนื้อสัตว์ชั้นดีแค่ไหน มันก็ไม่กิน

แต่กับคนที่มีกิเลส ให้เนื้อสัตว์ไป เขาก็กิน ถ้าลองเอาเนื้อสัตว์ชั้นดีมายั่ว เขาก็อยาก ร้านไหนจัดโปรโมชั่นเนื้อสัตว์หายากราคาถูกเมื่อไหร่ผู้คนก็ต่างกรูกันเข้าไปกิน เดินทางแสวงหาเนื้อสัตว์ชั้นดีมาบำเรอความอยากของตนโดยมีข้ออ้างในการกินเนื้อสัตว์มากมาย เช่น เราต้องการโปรตีน เราต้องการวิตามิน เราต้องกินเพื่ออยู่ ฯลฯ จึงทำให้หมกมุ่นอยู่กับการกินเนื้อสัตว์นั้นเอง

ถามว่า “วัวควายมันมีความอยากเหมือนคนไหม? ” มันไม่มีนะ มันต่างกันตรงนี้ เพราะวัวควายมีขอบเขตของจิต มันเกิดมาโดยมีข้อจำกัดมาก จิตวิญญาณก็พัฒนาไม่ได้มาก กิเลสก็พัฒนาไม่ได้มาก มันเกิดมาเพื่อชดใช้กรรมหรือเพราะจิตนั้นยังไม่พัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์

ดังนั้นการจะเอาวัวควายไปเทียบกับคนในบริบทของการบรรลุธรรมมันไม่สามารถเทียบกันได้ มันคนละบริบท มันคนละอย่าง

การเอาวัวควายไปเทียบกับคนนั้นเพราะไม่รู้ความแตกต่างของการปฏิบัติในจิต วัวควายมันไม่ต้องปฏิบัติอะไรเพราะมันไม่ได้มีความอยากหรือยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ แตกต่างจากคนที่มีความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้น ถ้ามองเห็นเพียงว่าการลดเนื้อกินผักไม่ใช่หนทางขัดเกลาความอยากของตน ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติตนสู่ความพ้นทุกข์ เพราะหากเราไม่ขัดเกลาความอยากแล้ว จะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร?

การจะเข้าใจว่ากินอย่างวัวควายไม่บรรลุธรรมก็เป็นเรื่องจริง หากว่ากินโดยที่ไม่รู้ประโยชน์ สักแต่ว่ากิน ไม่รู้ไปถึงตัณหา อุปาทานก็จะเป็นการกินผักกินหญ้าไปเช่นนั้นเอง แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างนั้น คนที่กินผักกินหญ้าก็ยังเป็นคนที่ทำคุณประโยชน์ให้โลกมากกว่าเพราะไม่เบียดเบียนตนเองด้วยส่วนแห่งอกุศลกรรม ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น จึงเป็นชีวิตที่กินผักกินหญ้าที่มีประโยชน์ต่อโลก ไม่ตกต่ำไปกว่าสัตว์อย่างวัวควาย ควรค่าที่เกิดมาเป็นคน

กินอย่างมนุษย์

การลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญแล้ว คืองดเว้นการเบียดเบียนสัตว์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อรู้ว่าตนเองนั้นยังเป็นเหตุที่เขาจะต้องฆ่าสัตว์ ก็จะมีความยินดีที่จะงดเว้นเหตุแห่งการเบียดเบียนเหล่านั้นเสีย

เป็นความเจริญของจิตใจที่มีเมตตาขยายขอบเขตออกไปมากกว่าการเลี้ยงชีวิตตนเอง เพราะถ้าเราคนถึงแต่ชีวิตตนเอง มีแต่ความเห็นแก่ตัว เราก็จะใช้สิ่งอื่นมาบำเรอตนโดยที่ไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะมีต้นเหตุที่มาเช่นไร

ความเห็นแก่ตัวหรือจะเรียกว่าความเห็นแก่กิน หรือการกินโดยไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรองว่าเนื้อสัตว์นั้นเป็นเนื้อที่สมควรหรือไม่ เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมไม่ใช่เนื้อที่สมควรบริโภค เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ควรสนับสนุนด้วยประการทั้งปวง เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมเป็นที่น่ารังเกียจของผู้เจริญ

แต่ความเห็นแก่ตัวนั้นจะทำให้จิตใจคับแคบ สายตาคับแคบ มองเห็นเพียงแค่เนื้อสัตว์นั้นทำให้ชีวิตตนดำรงอยู่ มองเห็นเป็นเพียงวัตถุสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า มองเห็นแค่ในระยะที่ตนเองเอื้อมถึง ไม่มองไปถึงเหตุเกิดที่มาของสิ่งเหล่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ผู้ที่ไม่สามารถมองเห็นเหตุเกิดของสรรพสิ่งทั้งปวงย่อมไม่สามารถดับทุกข์หรือบรรลุธรรมใดๆได้เลย

กินลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญ จึงเป็นการกินผักที่มองไปถึงเหตุเกิด มองไปถึงสิ่งที่ทำให้ต้องไปกินเนื้อสัตว์ นั้นก็คือความอยากได้อยากเสพเนื้อสัตว์ ความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ความยึดมั่นถือมั่นในคุณค่าลวงที่โลกปั้นแต่งให้กับเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาเหล่านั้น และมุ่งทำลายเหตุเหล่านั้นโดยการไม่ให้อาหารกิเลส ทรมานกิเลส ไม่ตามใจกิเลส

ดังนั้นการลดเนื้อกินผักของผู้มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็คือการไม่ยอมไปกินเนื้อสัตว์นั้นตามที่กิเลสลากให้ไปกิน กิเลสจะหาเหตุผลมากมายให้ได้ไปเสพเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ให้ไปเบียดเบียนโดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิด ให้หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่มีผล

ทุกการกระทำใดๆที่มีเจตนาย่อมสั่งสมเป็นกรรม การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาก็ย่อมมีผลเช่นกัน ซึ่งผลกรรมของมันก็จะต่างกับการกินพืชผักอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ที่มีปัญญาย่อมไม่แสวงหาเหตุผลในการสร้างอกุศลกรรมใดๆให้ตนเอง ไม่หาเหาใส่หัวโดยที่ไม่จำเป็น เพราะหากไม่มีความอยากกินเนื้อสัตว์แล้ว แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีที่ผู้คนต่างใคร่อยาก มาวางอยู่ตรงหน้า จัดให้กินฟรีๆทุกวี่ทุกวัน ก็ไม่มีความหมายใดๆ สำหรับผู้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เลย เป็นความหลุดพ้นจากความเป็นทาส

จึงสรุปได้ว่าการลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์คือการขัดเกลากิเลสที่เกาะกุมอยู่ในจิตใจ ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้อยากจะไปเสพเนื้อสัตว์ แต่การลดเนื้อกินผักอย่างวัวควายก็เป็นธรรมชาติของวัวควาย และเป็นความเข้าใจของผู้ที่ยังเห็นไม่รอบ ยังไม่เห็นกิเลส ยังไม่เห็นตัวตนของความอยากนั้น ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าความอยากนั้นเป็นภัยแก่ตนอย่างไร ยังไม่รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุของอุปาทาน ที่จะทำให้เกิด ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

– – – – – – – – – – – – – – –

19.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

January 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,354 views 0

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

การปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนนั้นมีหลากหลายวิธี มีความยากง่ายรายละเอียดซับซ้อนแตกต่างกันไป แม้ว่าสุดท้ายแล้วผลทางรูปธรรมที่เห็นได้คือเราสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกันทุกคน แต่ผลทางนามธรรมนั้นกลับแตกต่างไปตามวิธีที่แต่ละคนยึดถือและปฏิบัติมา

ก).เมตตามังสวิรัติ

หลายคนมักจะเริ่มกินมังสวิรัติด้วยความเมตตา ความสงสาร เห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นคือการเบียดเบียนทางอ้อมที่ได้รับบาปอย่างตรงไปตรงมา ก็จะเริ่มมีจิตใจที่ยอมสละอาหารจานเนื้อสัตว์ที่เคยโปรดปราน เพื่อละเว้นการเบียดเบียนสัตว์เหล่านั้น การไม่เบียดเบียนทางอ้อมก็ทำให้ผลดีเกิดขึ้นกับเขาเหล่านั้นทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ

แต่ความเมตตานั้นไม่ใช่จุดจบสมบูรณ์ เมื่อเรามีจิตใจเมตตาแล้ว มีกรุณาคือการลด ละ เลิกเนื้อสัตว์ได้จริงแล้ว แต่ก็มักจะมาติดตรงมุทิตา เมื่อเราเห็นว่าคนอื่นสามารถกินมังสวิรัติกินเจ เห็นดีเห็นงานในการลดเนื้อสัตว์หันมากินผักกับเรา เราก็มักจะมีมุทิตาจิตหรือมีความรู้สึกยินดีตามเขาไปด้วย

แต่เมื่อเราพบว่าหลายคนยังยินดีกินเนื้อสัตว์ แถมยังหาเหตุผลมาย้อนแย้งคนที่กินมังสวิรัติ กล่าวเพ่งโทษ ให้ร้ายมังสวิรัติหรือสิ่งที่ตนยึดถือ แน่นอนว่านอกจากเราจะไม่สามารถมีจิตมุทิตาได้แล้ว เรายังอุเบกขาไม่ได้อีกด้วย

หลายคนมักจะเจอกับปัญหาความไม่ปล่อยวางความยึดดี เมื่อสามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้อย่างสมบูรณ์แล้วก็มักจะยึดดีถือดี จนกระทั่งไม่สามารถปล่อยวางความดีเหล่านั้น เมื่อมีใครมาพูดกระแทกกระทบกระทั่งก็มักจะมีจิตใจที่ขุ่นเขือง ถ้าคุมไม่อยู่ก็ด่ากลับหรือออกอาการไม่พอใจต่างๆได้

เกิดเป็นสภาพพร่องๆของพรหมวิหาร ๔ เป็นคนที่มีเมตตาแต่ไม่มีอุเบกขา เริ่มเป็นแต่จบไม่เป็น จึงต้องเกิดสภาพทุกข์ใจอยู่เรื่อยไปเพราะวางความยึดดีเหล่านั้นไม่ลง

พรหมวิหาร หรือที่ตั้งแห่งความเป็นพรหมที่ครบองค์ประกอบนั้นต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาสอดร้อยอยู่ด้วยกันเสมอ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นคนเมตตาที่ทุกข์ เป็นคนดีที่มีแต่ทุกข์ ทำความดีแต่ไม่มีคนเห็นคุณค่าก็ทุกข์ เพราะไม่มีอุเบกขาเป็นตัวจบนั่นเอง

แต่การถึงอุเบกขาไม่ได้ง่ายเพียงแค่ปากท่องว่าปล่อยวางหรือใช้กำลังของจิตในการกดข่มสภาพทุกข์ อุเบกขานั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นเสีย แม้สิ่งที่เราทำจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเรายึดดีไว้เป็นตัวตนของเราก็จะเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ผู้ที่สามารถปฏิบัติจนครบองค์ของพรหมได้นั้นจะเป็นมังสวิรัติที่มีเมตตาอย่างไม่มีขอบเขต กระจายความห่วงใยไปทั่วทั้งสัตว์ผู้มีกรรมและคนที่ยังมีกิเลส ไม่รู้สึกโกรธเกลียดขุ่นใจในเรื่องใดเลย แม้ว่าจะมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการกินมังสวิรัติ แม้จะโดนต่อว่าหรือหักหน้าก็ยังสามารถคงสภาพจิตใจที่ผ่องใสอยู่ได้

ข). อัตตามังสวิรัติ

แม้ว่าเราจะเริ่มต้นการกินมังสวิรัติด้วยเมตตาจิต แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความเราจะหนีพ้นอัตตา ดังนั้นอัตตาก็เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในวิถีปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนเช่นกัน

ในรูปแบบหยาบๆของอัตตานั้นคือการเปลี่ยนขั้วของการยึด ในตอนแรกนั้นหลายคนยึดเนื้อสัตว์เป็นอาหารในการดำรงชีวิต แต่พอคิดจะมากินมังสวิรัติหลายคนก็เปลี่ยนเอาผักและธัญพืชเป็นอาหารในการดำรงชีวิต เป็นเพียงการเปลี่ยนขั้วของการยึด

ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มักจะเห็นได้ง่ายที่สุดและมีให้เห็นได้บ่อยครั้ง เช่น คนที่ตัดสินใจเปลี่ยนมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติทันทีนั่นเอง จะเป็นสภาพที่สลับขั้วอย่างรุนแรง เปลี่ยนอัตตาจากขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งนั่นก็หมายความว่ายังวนอยู่ในอัตตาซึ่งเป็นการยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นเอง

การสลับข้างของอัตตานั้นเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับหลายครั้งในชีวิตที่เราเคยชอบอะไรแล้ววันหนึ่งกลับไม่ชอบ หรือเคยไม่ชอบอะไรวันหนึ่งกลับมาชอบ มันก็กลับไปกลับมาแบบนี้ เรื่องการกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็เช่นกัน ถ้าเราใช้ความยึดมั่นถือมั่นเป็นหลักในการปฏิบัติเราก็จะสลับไปสลับมาแบบนี้ อาจจะชาตินี้หรือชาติหน้าก็ได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร?

นั่นก็เพราะว่าการเปลี่ยนจากการยึดเนื้อสัตว์มายึดมังสวิรัตินั้นเป็นการเปลี่ยนแค่ความเห็น แต่กิเลสมันไม่ได้เปลี่ยนตามมาด้วย เราจะยังคงมีความสุข ความอร่อยจากการกินเนื้อสัตว์อยู่เหมือนเดิม สังเกตได้จากการทำวัตถุดิบเทียมเนื้อสัตว์ขึ้นมา บางชนิดทำได้เหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ ทั้งรสชาติและสัมผัส

แล้วทำไมแล้วยังต้องกินสิ่งเทียมเนื้อสัตว์ในเมื่อเราไมได้อยากกินเนื้อสัตว์แล้ว ทำไมเราไม่เปลี่ยนเมนูไปกินผัก กินเห็ด กินเต้าหู้หรือสิ่งที่มีกระบวนการสังเคราะห์ที่น้อยลง หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ไม่เป็นภัยมาก นั่นเพราะเรายังติดกิเลสในลักษณะที่เรียกว่ากามคุณอยู่นั่นเอง

เรายังหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์อยู่ ซึ่งในกรณีนี้เราไม่ได้ทำลายความหลงเหล่านี้ เพียงแค่ใช้อัตตาเข้ามาข่มความชั่วไว้ ยึดดีไว้ เมตตาเข้าไว้ เป็นคนดีละเว้นการเบียดเบียนเข้าไว้

แต่กิเลสมันไม่ได้ปล่อยให้เราทำดีอยู่แบบนั้น เมื่อกิเลสยังมีเชื้ออยู่ ความอยากเสพรสต่างๆของเราจะโตขึ้นเรื่อยๆ ใครที่มีแนวโน้มในการหาอาหารอร่อย หรือสิ่งเทียมเนื้อสัตว์ หรือแสวงหารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ใกล้เคียงเนื้อสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ เตรียมใจไว้ได้เลยว่าวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่งจะต้องหลุดจากวิถีของการกินมังสวิรัติ เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม

คนที่มีทิศทางที่จะเจริญไปได้อย่างยั่งยืนนั้น คือคนที่มีแนวโน้มที่จะลดการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นลดความจัดของรสชาติ ลดการประดับตกแต่งที่สวยงาม ลดการใช้สิ่งเทียมเนื้อสัตว์ หรือลดความต้องการในการกินอาหารที่น้อยชนิดลงเช่น เลิกกินของทอด เลิกกินขนมหวาน การลดชนิดอาหารหรือลดความหลากหลายของความอยากนี้เอง จะเป็นสิ่งที่ประกันไม่ให้กิเลสของเราพาเราไปแสวงหาเมนูแปลกๆ เมนูเด็ดๆ ซึ่งเป็นการสะสมกิเลสที่จะทำให้เกิดความเสื่อมในศีลธรรมต่อไป

ดังจะเห็นได้ว่าการใช้ความยึดดีหรือใช้อัตตาเข้ามายึดว่า “ฉันจะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติ ,ฉันจะไม่เบียดเบียนอีก” ไม่ใช่สิ่งยืนยันว่าจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างยั่งยืน เพราะหากวันใดวันหนึ่งที่ความอยากนั้นเกินปริมาณที่ความยึดดีจะทนไหว ก็อาจจะตบะแตกกลับไปกินเนื้อสัตว์และหลงว่าเป็นทางสายกลางจนไม่กลับมากินมังสวิรัติอีกเลยก็เป็นได้

…ไม่ว่าจะกินมังสวิรัติด้วยวิธีไหน ก็หนีเรื่องกิเลสไม่พ้น ไม่ติดกามก็ต้องมาติดอัตตา ติดไปติดมาวนเวียนกันไปมา ชาติหนึ่งกินเนื้อ อีกชาติกินมังสวิรัติ สลับไปมาแบบนี้เพราะเป็นชีวิตที่ถูกผลักดันด้วยกิเลส ไม่ว่าจะหลงยึดไปในด้านใด การหลงเหล่านั้นก็คือกิเลส เมื่อเราหลงไปในสิ่งใดเราก็มักจะลำเอียงให้คุณค่าแก่สิ่งนั้นอย่างมัวเมา ลองสังเกตดูว่าเรารู้สึกรักหรือชอบใจคนกินเนื้อกับคนที่กินผักเท่ากันหรือไม่

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โสดอย่างเป็นสุข

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 7,328 views 0

โสดอย่างเป็นสุข

โสดอย่างเป็นสุข

…เมื่อความโสดที่เคยเป็นเหมือนคำสาป กลับกลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่สุดในโลก

ปลายทางสุดท้ายของความรักที่เป็นชานชาลาเป้าหมายของการเดินทางของทุกดวงวิญญาณ ไม่ว่าเราจะหลงเดินทางตามกิเลสมานานแค่ไหน แต่ในท้ายที่สุดเราก็จะมาลงตรงสถานีนี้ กับสถานีปลายทางที่ชื่อว่า “โสดอย่างเป็นสุข

เรามักจะเข้าใจกันไปว่าการมีคู่รักเป็นความสุข เมื่อเห็นผู้คนครองคู่กันแล้วมีความสุขเราก็หลงอยากมีสุขอย่างเขาบ้าง จึงเริ่มจะพยายามผลักไสความโสดออกจากชีวิต คนมากมายสามารถไล่ความโสดออกไปได้ ก็จะไปเจอกับชีวิตแบบหนึ่ง ส่วนคนอีกมากมายที่ยังคงครอบครองความโสดทั้งที่ไม่อยากจะครอบครองก็ต้องเจอกับชีวิตอีกแบบหนึ่ง

คนมีคู่ก็ทุกข์แบบคนมีคู่ คนโสดก็ทุกข์แบบคนโสด ไม่ว่าจะมีคู่หรือโสดก็ยังต้องทนทุกข์อยู่กับความอยากได้อยากมีอยากเป็นอยู่นั่นเอง

การมีความอยากแต่ไม่ได้เสพในสิ่งที่อยากเสพนั้นทรมานเหมือนตกนรกทั้งเป็น ความอยากจะทำให้เราเหงา ให้เราแสวงหา ให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้ใครสักคนมาสนใจเรา มาหลงรักเรา มาครองคู่กับเรา นี่คือสิ่งที่ทำให้คนโสดบางพวกกลายเป็นคนมีคู่ และคนโสดบางพวกต้องจมอยู่กับทุกข์เพราะไม่ได้เสพสมดังใจ

ถ้าเรามีโอกาสที่จะขอพรเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้กับตัวได้จริงๆ ส่วนมากก็คงจะขอคู่รักที่เหมาะสมกับใจของตัวเอง และคงจะมีน้อยคนที่จะเลือกว่าขอเป็นโสดตลอดทุกชาติ

คนที่ขอให้ตัวเองโสดมีด้วยหรือ? เขารังเกียจความรักอย่างนั้นหรือ? เป็นคนเย็นชาอย่างนั้นเชียวหรือ? ไม่มีใครรักเลยประชดหรือเปล่า? ….อาจจะเป็นเรื่องที่ดูขัดกับความเป็นจริงในสังคมสักหน่อย แต่ในบทความนี้เราจะมาขยายสภาพของ “โสดอย่างเป็นสุข” ความโสดในมิติที่แตกต่างออกไปจากความโสดที่โหยหาและเดียวดาย เป็นความโสดที่อบอุ่นชุ่มเย็น พิเศษ ล้ำลึก และทรงคุณค่ากันใน 9 หัวข้อดังต่อไปนี้

1). ไม่รักไม่ชัง

มากันที่ข้อแรกของความโสดอย่างเป็นสุข คือการไม่รักและไม่ชัง เป็นสภาพที่อยู่ตรงกลางระหว่างการดูดกับการผลัก เป็นตัวยืนยันการปฏิบัติอยู่บนทางสายกลางซึ่งไม่โต่งไปในทางทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งคือกาม อีกด้านหนึ่งคืออัตตา

ในมุมของกามก็คือการมีความรักแบบหลงรักหรือมีคนรักเข้าไปรักเข้าไปเสพสมในอารมณ์ต่างๆ ส่วนในมุมของอัตตาคือความขยาดในความรักทั้งๆที่ยังอยากมีความรัก การจะโสดอย่างเป็นสุขเราต้องพ้นจากสองสภาวะดังกล่าว

1.1)รัก

รัก ในแบบทั่วไปนั้นคือการพาตนเองไปสู่สิ่งที่หลง สิ่งที่ชอบ ไปคลุกคลี ไปเสพ ไปมัวเมาอยู่กับสิ่งนั้น โดยมากคำว่ารักนั้นมักจะถูกความหลงเข้าครอบงำ แม้ตนเองจะไม่ได้จะมีคู่รัก แต่ก็มักจะยังยินดีกับความรักในแบบคนคู่ ดูละครก็ชอบใจที่พระเอกนางเอกรักกัน เห็นคนครองคู่แต่งงานกันก็หลงใหลได้ปลื้มไปกับเขาด้วย

1.2) ไม่รัก

ทีนี้เวลาจะออกมันก็ต้องไม่รัก คือไม่ไปหลงเสพอีกแล้ว สมมุติว่าเราชอบคนคนหนึ่ง เราก็จะพยายามลดการดูดดึงของกิเลสที่ทำให้เราเข้าไปเสพในความเป็นเขา ไม่ว่าจะความงาม น้ำเสียง ท่าทาง เหตุการณ์ เรื่องราว คำมั่นสัญญาต่างๆ ฯลฯ ซึ่งโดยปกติแล้วกิเลสจะพาให้เราหลงไปเสพสิ่งเหล่านี้ เป็นความสุขลวงที่ล่อเราไว้ให้หลงเสพอย่างมัวเมาไม่มีวันได้โงหัวขึ้นมาเห็นแสงเดือนแสงตะวัน

จนกระทั่งเราปฏิบัติจนถึงผลจนเกิดความเจริญขึ้นในจิตใจจริงๆ คือ “ความไม่รัก” เกิดขึ้นจริงแล้ว สภาพการดูดดึง ความชอบ ความหลงต่างๆจะถูกทำลายไปจนหมดสิ้น จะไม่มีความยินดีในการครองคู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรู้สึกชิงชังการมีคู่

1.3) ชัง

เมื่อความรักไม่เกิดขึ้นดังใจหมายหรือผิดหวังจากความรัก เราก็มักจะเข็ดขยาดกับความรักจนสร้างความรังเกียจความรัก สร้างเหตุผลและข้อแม้มากมายเพื่อไม่ให้ตัวเองเข้าใกล้รัก ปิดประตูขังตัวเองไว้กับความอยากมีคู่ที่ฝังใจอยู่ลึกๆ

ความชังโดยทั่วไปไม่สามารถทำให้ตัวเองโสดอย่างเป็นสุขได้ เพราะนอกจะทำให้ทุกข์เมื่อต้องเห็นคนรักกันแล้ว ยังต้องทุกข์กว่าเมื่อพลาดกลับไปมีความรักอีกครั้ง

1.4) ไม่ชัง

ความไม่ชังนั้นเกิดจากการพากเพียรปฏิบัติจนล้างอัตตาหรือความยึดดีถือดีได้ คนที่โสดอย่างเป็นสุขจะไม่ชังความรัก ไม่ชังคนที่มีรัก ไม่ชังแม้จะเห็นคนพลอดรักหรือไปงานแต่งงานของใคร ไม่มีอาการกดดันตัวเอง ไม่ผลักไสสิ่งใด ยอมรับทุกอย่างตามความเป็นจริง เพราะเห็นว่าเป็นธรรมชาติของกิเลส คนมีกิเลสก็เป็นแบบนี้ อยากมีรักแบบนี้ แล้วสุดท้ายก็ต้องทุกข์แบบนั้น

ความไม่ชังคือจุดจบของความไม่รักไม่ชัง เราจำเป็นต้องทำลายความรักแบบหลงจนสิ้นเกลี้ยงก่อนแล้วค่อยมาทำลายความชัง ไม่เช่นนั้นมันก็จะพันกันไปพันกันมา แก้ไม่ได้สักอย่าง

แต่ถึงแม้ว่าเราไม่ดูดไม่ผลัก ไม่รักไม่เกลียด ไม่รักไม่ชังแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถไปมีคู่ได้ด้วยความเฉยๆ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าจะต้องเจอกรรมอะไรบ้าง คนที่โสดอย่างเป็นสุขจะขยาดในกรรมของการมีคู่ เพราะรู้ว่าการที่ต้องมาใช้ผลกรรมที่กระทำต่อกันนั้นหนักหนาสาหัสกว่ามาก ยิ่งคนที่โสดอย่างเป็นสุขนี่จะไม่เหลือความสุขในการมีคู่แล้ว เพราะมองทะลุสุขลวงเหล่านั้นทั้งหมดแล้ว เหลือแต่ทุกข์จริงๆ ดังนั้นเมื่อเราเดินบนทางสายกลาง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่เราต้องกลับไปมีคู่หรือรังเกียจคนมีคู่เลย

2). ไม่มีเงื่อนไขในการเป็นโสด

คนที่โสดอย่างเป็นสุขจะเป็นผู้ที่ไม่มีเงื่อนไขใดๆในการโสดเลย ไม่เป็นเหมือนอย่างชาวบ้านที่ตั้งข้อแม้ว่าถ้าเขาหรือเธอไม่สามารถสนองกิเลสหรือดีดังที่ใจฉันหวังได้ ฉันก็จะเป็นโสดต่อไป

มีคนจำนวนมากที่ยังโสดแต่ก็มักจะมีข้อแม้ว่า ถ้าหาคนดีกว่าไม่ได้ คนที่พาเจริญกว่าไม่ได้ ก็โสดเสียดีกว่า ลักษณะเหล่านี้คือผู้ที่ยังมีความหวัง ยังตั้งข้อแม้ มีเงื่อนไขในการโสดอยู่ กล่าวคือถ้ามีคนสามารถดีดังใจหวัง ปรนเปรอกิเลสได้สมใจก็จะยอมทิ้งความโสดซึ่งก็เป็นธรรมดาของคนโสดทั่วไปที่ตั้งกำแพงกิเลสไว้สูงตามกิเลสของตนเอง

ซึ่งความโสดที่มีเงื่อนไขเหล่านั้นมักจะเป็นเงื่อนไขจากฝ่ายกิเลส เช่น เขาต้องรวย เขาต้องมีหน้าที่การงานดี เขาต้องมาขอเราด้วยเงินหลักล้านขึ้นไป ฯลฯ โสดฝันไกลแบบนี้ก็ยังคงต้องทนทุกข์กับความโลภของตัวเองต่อไป ในส่วนเงื่อนไขของฝ่ายศีลธรรมก็มีเช่นกัน เช่นเราถือศีล ๕ คู่ของเราต้องไม่ต่ำกว่าศีล ๕ หรือเรากินมังสวิรัติคู่ของเราก็ต้องมีบุญบารมีที่จะสามารถกินมังสวิรัติเหมือนเราด้วย อันนี้ก็อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งสุดท้ายก็จะได้คนประมาณศีลที่ตั้งไว้ แต่สุดท้ายก็ยังเป็นเงื่อนไขในการมีคู่อยู่ดี

คนที่โสดอย่างเป็นสุขจะไม่หาเรื่องใส่ตัว จะไม่สร้างเงื่อนไขใดๆให้เสียความโสด ไม่มีข้อแม้ ไม่มีการเจรจา ไม่มีการต่อรอง เพราะความโสดนั้นเป็นที่สุดแล้ว

3). ไม่เหงา

ความเหงานี่แหละคือกิเลสที่ผลักดันให้เราไปมีคู่ ถึงจะไม่มีคู่เราก็มักจะไปหาเพื่อนหรือกลุ่มสังคม สุดท้ายก็จะวนมาเรื่องหาคู่อยู่ดี เพราะความเหงานั้นไม่ได้หายไปด้วยการมีใครสักคน แต่จะหายไปจากการทำลายกิเลสเรื่องความเหงาเท่านั้น

ความเหงาคือความพร่องในจิตใจ อยากหาใครมาเติมเต็มตัวตนของเรา เป็นเพราะเราไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่พึ่งตัวเอง ไม่ศรัทธาในตัวเอง เราจึงสร้างช่องว่างลวงๆ เพื่อให้ใครเข้ามาอยู่ในช่องว่างนั้น แท้จริงเราก็เอาเขามาเพื่อเสพให้สมใจเรา พอเขาทำไม่ได้ดังใจเรา เขาจากเราไป ช่องนั้นก็ว่าง เราก็เหงาอีก

เราไม่มีวันเติมเต็มความเหงาด้วยสิ่งอื่นนอกจากตัวเราเอง การจะออกจากความเหงาจำเป็นต้องกลับมายึดที่ตัวเองก่อน เอาตัวเองเป็นสรณะก่อน ต้องยืนหยัดให้ได้ด้วยตัวเองก่อน เห็นคุณค่าในตัวเองเสียก่อนจึงจะออกจากความเหงาได้ แล้วเมื่อมีอัตตามากๆจึงค่อยล้างอัตตาที่มีทีหลัง เพราะถ้าเราเหยาะแหยะจะไม่สามารถทำลายความพร่องในใจนี้ได้เลย ถมไปก็หาย ถมไปก็ยังว่างเปล่าเหมือนเดิม

4). ไม่เรียกร้องสิ่งใด

ลักษณะที่เห็นได้ชัดของคนที่โสดอย่างเป็นสุข และยินดีจะโสด คือไม่มีการเรียกร้องสิ่งใด ไม่ส่งสัญญาณใดๆ ที่เปิดช่องให้คนอื่นเข้ามาในชีวิตเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ใดๆต่อไป ไม่เหมือนกับคนโสดทั่วไปที่ยังมีอารมณ์แอบเหงา อยากมีใครสักคน อยากให้คนอื่นเห็นคุณค่า

โดยเฉพาะเรื่องคุณค่าในตนเอง คนที่โสดอย่างเป็นสุขคือคนที่ถมช่องว่างที่เคยเว้นไว้ให้คนอื่นเข้ามาด้วยคุณค่าในตนเอง ดังนั้นจึงไม่คิดจะเรียกร้องให้ใครมาเห็นคุณค่าใดๆ เพราะรู้ว่าตนเองนั้นมีคุณค่าเช่นไร คนที่รู้ค่าในตนอย่างแท้จริงจะไม่ต้องการเรียกร้องให้ใครมายืนยันคุณค่าหรือเห็นคุณค่าใดๆ

คนที่ยังเรียกร้องความสนใจ เรียกร้องบางสิ่งอยู่คือคนที่ต้องการสิ่งเหล่านั้นมาเติมเต็มใจที่พร่อง เพราะขาดจึงต้องเติม เขาเหล่านั้นจึงต้องแสวงหาสิ่งภายนอกมาเติมเต็มตัวเองตลอดเวลาอย่างไม่จบไม่สิ้น

5). เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

เมื่อเราพากเพียรปฏิบัติจนสามารถล้างกิเลสในเรื่องความอยากมีคู่ได้หมดแล้ว จะพบว่าความโสดนี่เองคือสมบัติแท้ที่ตามหามานาน มันอยู่คู่กับเรามานานแล้วแต่เราไม่เคยเห็นค่าของมัน เพราะกิเลสมันบังเอาไว้ บังให้เราไม่เห็นของดีใกล้ตัว บังให้เราเห็นดอกบัวเป็นกงจักร ให้เราไปหาภาระ ไปหาทุกข์มาใส่ตัว โดยเอาสุขลวงมาล่อให้สร้างวิบากกรรมชั่วให้ตัวเอง

ความโสด นั้นเป็นสิ่งที่จะเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม เป็นสมบัติที่ไม่มีสิ่งใดควรค่าที่จะแลก ไม่ว่าจะมีเงินทองกองไว้มากมายขนาดไหน ไม่ว่าจะมีคนมาคอยดูแลเอาใจ ไม่ว่าเขาหรือเธอคนนั้นจะงดงามเพียงใด และไม่ว่าเขาหรือเธอคนนั้นจะเป็นคู่รัก คนรัก คนที่เคยรัก คนที่หลงรักมากมายสักเพียงไหน ก็ไม่สามารถที่จะแลกความโสดนี้ไปได้

เราไม่สามารถวัดคุณค่าของความโสดได้จากการเปรียบเทียบกับสิ่งใดทั้งสิ้น การได้โสดอย่างเป็นสุขนั้นมีค่ามากมายมหาศาล เป็นบรมสุข ถ้าเอาตามภาษาให้มันถึงใจก็ต้องบอกว่า “โคตรพ่อโคตรแม่สุข” ที่มันสุขเพราะไม่ต้องไปแบกทุกข์ให้มันลำบากตัวเองอีกต่อไป

ในทางเดียวกันคนที่โสดอย่างเป็นสุขก็จะหวงความโสด ไม่ยอมให้ใครพรากความโสดนี้ไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีคลุมถุงชน หรืออื่นๆก็จะพยายามใช้ปัญญาเพื่อหลีกหนีออกจากสภาพนั้นเพราะรู้ดีในใจว่าสุขที่มากกว่าโสดไม่มีอีกแล้ว

6). เป็นไปเพื่อกุศลเพียงอย่างเดียว

ความโสดอย่างเป็นสุขนั้นจะเกิดขึ้นจากจิตอันเป็นกุศลฝ่ายเดียว คือเกิดความดีอย่างเดียว เป็นไปในทิศทางบวกทางเดียว จะไม่หลงไปในทางอกุศล ไม่ใช่โสดเพื่อเสพอะไรบางอย่าง แต่เป็นโสดเพื่อสละความอยากในการเสพ

หากความโสดนั้นเป็นไปเพื่ออกุศล ยังมีความชั่วปนอยู่ ยังทำผิดศีลบางอย่างอยู่ ก็อาจจะยังเป็นความโสดที่ขาดๆเกินๆ ยังพร่องอยู่นั่นเอง ต่างจากความโสดที่เป็นไปเพื่อกุศล โสดอย่างเป็นสุข ความโสดนั้นเต็มไม่มีพร่องไม่มีขาด จึงไม่ต้องทำความชั่วหรืออกุศลใดๆ ไม่ให้ตัวเองได้เสพสุขตามกิเลสจนเกิดอกุศล

แม้จะมีความเต็มแต่ก็ยังทำความดีต่อ ทำกุศลต่อ สิ่งที่ดีเหล่านั้นก็จะเริ่มล้นออกจากตัว เป็นคลื่นของความดี เป็นกระแสแห่งกุศลที่กระจายออกไป คนที่โสดอย่างเป็นสุขนี้เองคือคนที่จะทำให้สังคมและคนรอบข้างดีขึ้นเรื่อยๆตามบุญบารมีที่เขาพอจะทำได้

7). ความรักแท้

ความเข้าใจโดยทั่วไปเกี่ยวคนที่ยินดีจะโสดนั้นคือเป็นคนที่ไม่มีความรัก ซึ่งก็อาจจะมีอยู่จริงๆในคนโสดประเภทที่ชังความรัก แต่คนที่โสดอย่างเป็นสุข โสดจากการทำลายกิเลสจะไม่เป็นแบบนั้นเพราะนอกจากความรักนั้นจะไม่ถูกทำลายแล้ว รักที่มีนั้นจะเพิ่มความบริสุทธิ์ขึ้นไปอีก

เพราะทำลายความหลงสุขในความรักได้จนหมดสิ้น จึงสามารถแยกรักและหลงออกได้ทั้งหมดอย่างชัดเจน เมื่อสกัดความหลงซึ่งเป็นเชื้อร้ายแห่งทุกข์ออกก็จะเหลือความรักแท้ เป็นความบริสุทธิ์แท้ๆ ที่ไม่มีกิเลสปน

เป็นความรักที่มีประสิทธิภาพกว่าใครๆ เหนือกว่ารักของพ่อแม่ เหนือกว่ารักญาติ รักชุมชม รักสังคม รักประเทศ รักโลก และแน่นอนว่าเหนือกว่ารักตัวเองแบบเห็นแก่ตัวเพราะจะมีแต่ความเสียสละ เข้าอกเข้าใจ เห็นจริงรู้จริงทั้งในรูปธรรมและนามธรรมของความรัก

ความรักที่ไม่มีกิเลสนี้ จะรักคนอื่นไปพร้อมๆกับรักตัวเอง เพราะรักตัวเองก็เลยรักคนอื่น เพราะรักคนอื่นก็เลยรักตนเอง จึงมีความรักแท้ให้กับตนเองและผู้อื่นอยู่เสมอ

8.) เมตตาที่กว้างไกลกว่า

เมื่อมีความรักที่ไม่มีกิเลสปนแม้แต่น้อย หรือที่เรียกกันว่า “ความรักแท้” ก็สามารถที่จะเมตตาได้มากกว่าเดิม เพราะไม่เอาอะไรมาเสพเพื่อตัวเองแล้ว ไม่ทำกิจกรรมใดๆเพราะอยากจะได้รัก หรือได้รับความสนใจ ดังนั้นจึงกลายเป็นชีวิตที่มีประสิทธิภาพที่จะสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นมากขึ้น

เพราะรักที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นนั้น จึงสามารถแผ่ความรัก ความเมตตา ความเห็นใจ ความเข้าใจ ออกไปได้กว้างไกลกว่าเดิม

ความรักจะเหลือแต่อารมณ์ของการให้ ไม่ได้ยึดบุคคล เรา เขา สิ่งของหรือเหตุการณ์ใดๆเป็นที่ตั้ง จึงทำให้ไม่มีเงื่อนไขใดๆในการเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีความเป็นพรหมอยู่ในตัวอย่างแท้จริง

เมื่อเมตตาได้อย่างไม่มีข้อจำกัดก็จะสามารถสร้างกุศล สร้างความสุขให้กับตัวเองและผู้อื่นได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน ความสุขที่ได้รับนั้นแตกต่างจากสุขจากการเสพ แต่เป็นสุขจากความเจริญที่เกิดขึ้นในจิตใจ

เมตตาที่กว้างไกลนั้น เป็นไปเพื่อกุศล ลดการสร้างอกุศล คือทำแต่ความดี ความชั่วและบาปจะไม่ทำเลย เลี่ยงได้ก็เลี่ยงเพราะทำไปก็ไม่เกิดกุศล ไม่เกิดผลดี ถ้าเป็นเมตตาที่ดูเหมือนจะดีแต่ให้ผลร้ายก็จะไม่ทำ เพราะรู้ชัดเจนว่าผลเหล่านั้นจะนำมาซึ่งทุกข์

นั่นหมายถึงเมตตาที่มีนั้นประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่ความเมตตาแบบศรัทธาที่ให้แบบไม่รู้คุณรู้โทษ ไม่รู้ผิดไม่รู้ถูก ไม่รู้เหตุไม่รู้ผล ไม่รู้นามรูป ซึ่งเมตตาแบบนั้นยังไม่ใช่เมตตาที่ถูกทางพุทธ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

9). รักข้ามภพข้ามชาติ

และความรักที่เกิดจากการโสดอย่างเป็นสุขนี้เองคือรักที่ยั่งยืน ไม่ผันแปร เพราะไม่ได้มีกิเลสมาเป็นแรงผลักดันอีกต่อไป มีแต่ความเมตตาล้วนๆมาเป็นตัวผลัก ดังนั้นความรักของคนโสดจึงยั่งยืนที่สุดในโลก ยั่งยืนขนาดข้ามภพข้ามชาติ

ยินดีที่จะเป็นผู้ให้ฝ่ายเดียว โดยไม่ต้องการรับอะไรมาตอบแทนเพื่อตนเองหวังดีกับผู้อื่นอยู่เสมอ และความหวังดีนั้นไม่มีขอบเขตของเวลามาเป็นตัวกำหนดจะชาตินี้หรือชาติไหนๆก็ยังหวังดีและยินดีที่จะให้อยู่เหมือนเดิม เกิดมากี่ชาติๆก็ยังให้อยู่เหมือนเดิม แม้ว่าจะมีโอกาสให้ได้เพียงเล็กน้อยก็จะอดทน รอคอยที่จะให้สิ่งดีอยู่เสมอ ไม่คิดโกรธหรือโทษใครที่เขาไม่ยินดีที่จะรับสิ่งดีนั้น เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าการล้างกิเลสนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ จึงให้อภัยกับทุกคนที่หลงผิดได้เสมอ

ความรักที่ยิ่งใหญ่จนข้ามภพข้ามชาตินี้ ไม่สามารถเกิดได้หากเรายังเห็นแก่ตัว ยังหาผู้คน สิ่งของ หรือเหตุการณ์ใดมาเสพเพื่อให้ตัวเองได้สุขจากความรักอยู่ หรือการมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวเองจนไม่กล้าที่จะมอบความรักความเมตตาให้กับใคร สภาวะเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ไม่ไหลไปกับโลก ทวนกระแสโลก จะเกิดขึ้นได้จากการเพียรอย่างถูกทางพ้นทุกข์เท่านั้น

สภาวธรรม หรือสภาพจิตใจของผู้ปฏิบัติธรรมจนเกิดสภาพ “โสดอย่างเป็นสุข” นี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะคิดเอา คาดคะเนเอา เดาเอาได้ การจะเข้าถึงหรือเข้าใจสภาวะเหล่านี้ต้องเพียรปฏิบัติด้วยศีล สมาธิ ปัญญา จนสำเร็จมรรคผลในเรื่องของความรักจนเกิดความกระจ่างแจ้งในตนว่าโสดอย่างเป็นสุขนั้นสุขอย่างไร ดังที่ได้แจงมาทั้งหมด 9 ข้อนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

3.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)