Tag: อธิศีล

บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?

October 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,465 views 0

การกินไม่มีโทษจริงหรือ?

บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?

ความเห็นที่ว่าการไปยุ่งวุ่นวายกับการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรมนั้น มักจะเป็นความเห็นที่มีการนำเสนอขึ้นมาในช่วงเทศกาลกินเจ แท้จริงแล้วศาสนาพุทธใส่ใจเรื่องการกินหรือไม่ หรือเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ที่เข้าใจว่าการกินไม่มีผล เรามาลองศึกษาบทวิเคราะห์กันดู

มีความคิดเห็นของนักปฏิบัติธรรมบางคนที่เห็นว่าการกินนั้นไม่มีผลต่อการปฏิบัติธรรมบ้าง เลือกกินไปก็ไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญบ้าง สนใจเรื่องกินก็ไม่บรรลุธรรมบ้าง แต่ในความเป็นจริงนั้น กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการขัดเกลาหนึ่งของผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ “ท่านให้ศึกษาการกินมื้อเดียว

เปิดเรื่องมาก็เกี่ยวกับเรื่องกินแล้ว การกินมื้อเดียวนั้นอยู่ในจุลศีล ข้อ ๙ เป็นหลักปฏิบัติมาตรฐานในศาสนาพุทธของนักบวชทุกรูปที่พระพุทธเจ้าบวชให้ ถือเป็นศีลต้นกำเนิดของพุทธที่มีมาตั้งแต่แรก เป็นข้อปฏิบัติสู่ความเจริญ ต่างจากพระวินัยที่ถูกบัญญัติขึ้นมาทีหลัง

ท่านยังกำชับไว้ด้วยว่า การกินนี่ต้องประมาณให้ดีนะ (โภชเนมัตตัญญุตา) จะไปสักแต่ว่ากินแล้วกิเลสโตไม่ได้นะ เพราะกินอย่างพุทธคือต้องกินแล้วกิเลสลด กามลด อัตตาก็ลด กามคุณ ๕ เราก็ไม่หลง ความยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ต้องมี ต้องประมาณให้เกิดความเจริญขึ้นในตน ให้เกิดการชำระกิเลส ให้เกิดกุศล ไม่ใช่แค่กินให้ชีวิตอยู่ไปวันๆ แบบนั้นใครเขาก็ทำกัน เพราะคนจะอยู่ได้ก็ต้องกินอาหารกันทุกคนอยู่แล้ว แต่การจะกินให้เกิดความเจริญนี่มีเฉพาะในพุทธเท่านั้น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุของการเกิดของตัณหา (ตัณหาสูตร) หนึ่งในนั้นคืออาหารที่ได้รับมา นั่นหมายความว่าการกินอาหารทุกวันนี่แหละ จะทำให้เกิดตัณหาได้ แล้วทีนี้คนที่เห็นว่าการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรม ไม่มีผลต่อความเจริญ ประมาทในอาหาร สุดท้ายตัณหาก็แอบโตกันไปสิ เพราะไม่รู้เหตุของตัณหาว่าเกิดที่ใด พอไปยึดมั่นถือมั่นว่าฉันจะไม่ปฏิบัติเรื่องกิน ก็โดนกิเลสลากไปลงนรกหมด

พอตนเองไม่เท่าทันการเกิดของตัณหาในการกิน แล้วยังไม่ยินดีปฏิบัติธรรมในการกิน ก็เท่ากับเสียโอกาสในการล้างกิเลส เมื่อไม่ได้ตั้งศีลตั้งตบะเพื่อละเว้นอาหารที่จะก่อให้เกิดการกำเริบของตัณหา ถึงจะมีผัสสะแต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะ “เมื่อไม่ตั้งใจละเว้นก็ย่อมเท่ากับ เสพกามได้เท่าที่ใจต้องการโดยไม่มีขอบเขต” พอไม่มีขอบเขตก็เลยไม่มีการปฏิบัติใดๆ เกิดขึ้น จึงกลายเป็นการกินเพื่ออยู่ไปวันๆ โดยไม่รู้เท่าทันตัณหา ตัณหานั้นมีอยู่แต่การรู้การมีอยู่ของตัณหาต้องใช้การละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่จะได้เห็นตัณหา(ใช้อธิศีล) เมื่อไม่ยินดีละเว้นหรือปฏิบัติธรรมในเรื่องอาหารก็คือการปล่อยให้ตัณหาโตโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งพระพุทธเจ้าให้ดับปัญหาที่เหตุ การปฏิบัติธรรมนั้นก็เพื่อดับทุกข์ ดับทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ ถ้าอาหารที่ได้มานั้นยังทำให้ตัณหาเกิดอยู่ก็ต้องปฏิบัติกันในเรื่องของอาหาร เพราะตัณหาที่เกิดจากอาหารก็ต้องมาจัดการที่อาหาร จะไปนั่งสมาธิ เดินจงกรมดับมันไม่ได้ ใจมันเกิดความหลงติดหลงยึดในอาหาร ไม่ใช่ว่าขี้เกียจนั่งขี้เกียจเดิน เหตุมันคนละตัวกัน ปัญหาเกิดที่ไหนต้องแก้ที่ตรงนั้น จึงเรียกได้ว่ารู้แจ้งสมุทัย รู้เหตุแห่งทุกข์

ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่ากามนี่ให้ละก่อนเลย เพราะกามคือ ข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า (อาคาฬหปฏิปทา) คือ มันชั่วมาก หยาบมาก มีโทษมาก เบียดเบียนมาก ควรละเว้นให้ได้ก่อน คนที่หลงในกามจะมีความเห็นและคำกล่าวดังเช่นว่า “กามไม่มีโทษ” (๒๐,๕๙๖) ดังนั้นผู้ที่เห็นว่ากามไม่มีโทษย่อมตกลงไปในกาม จมสู่กาม มัวเมาในกาม ซึ่งกามในความหมายของพุทธศาสนานั้นกินความกว้างมาก โดยรวมคือการหลงเสพหลงสุข

จะยก “กาม” ที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้คือ “กามคุณ ๕ ในอาหาร” เพื่อที่จะชี้ชัดกันว่า ผู้ที่ละเว้นการสำรวมในอาหารการกินนั้นจะมีความเห็นไปทางไหน

กามคุณ ๕ นั้นมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นเดียวกับกับอาหารนั้นก็มีกามคุณ ๕ แบบครบเครื่อง เรียกว่าเป็นกิเลสที่สัมผัสกันได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่รูปคืออาหารนั้นมีหน้าตาดีไหม น่ากินไหม เพียงแค่เห็นรูปสวยก็อยากกินสิ่งนั้นแล้ว, รสชาติ ของอาหารที่เขาว่าเด็ด ร้านไหนอร่อยต้องไปกิน ร้านไหนไม่อร่อยอยากจะขว้างทิ้ง , กลิ่นที่ยั่วยวนหอมหวาน พัดมาตั้งแต่ไหนทำให้เกิดความอยากกินเพียงแค่สูดกลิ่นเข้าไป, เสียง แค่ได้ยินเสียงผัด เสียงตะหลิวที่โดนกระทะ เสียงผัดดังซู่ซ่าก็ทำให้คิดถึงเมนูที่ชอบใจ เกิดอยากจะกินขึ้นมาทันที , สัมผัส ความกรอบ นุ่ม เย็น ร้อน ฯลฯ ทั้งหลายที่ชวนสัมผัส พากันจ่ายเงินซื้อมากินกันจนหนำใจ

เพียงแค่ยกตัวอย่างเรื่องกามหยาบๆเช่นนี้ ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า อาหารนี่เป็นเหตุแห่งตัณหาอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ แล้วยังไงล่ะ? ทีนี้คนที่ปฏิบัติธรรมแล้วตีทิ้งอาหารการกิน มองว่าการกินไม่มีผล เห็นว่าปฏิบัติเรื่องการกินไปก็ไม่เจริญ จะเป็นอย่างไร ….เขาก็โดนกิเลสตลบหลังเข้าสักวันนั่นแหละ เพราะประมาทต่อกาม เพราะกามนั้นล่อลวง กามทำให้ลุ่มหลง ทำให้ประมาทตามประสาของกิเลส

อะไรที่มันน่าใคร่น่าเสพคนเขาก็ไม่อยากจะพรากหรอก ก็หาสารพัดข้ออ้างที่แสนจะดูดีเพื่อให้เสพมันทุกวันนั่นแหละ เพราะมีตัณหา ก็เลยมีอุปาทาน แล้วก็จึงมีภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ไม่จบไม่สิ้น

มันจะจบได้อย่างไรในเมื่อตัณหาไม่ได้ถูกจัดการ ปล่อยไว้เป็นขยะหมักหมม เอาไปแอบซ่อนอยู่ในมุมหนึ่งของจิตใจ แม้วันนี้จะไม่เห็นโทษของมัน แต่วันหนึ่งก็จะรู้ได้เองว่ากามนั้นมีโทษมาก กามเป็นภัยมาก พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงธรรมให้ปฏิบัติโดยลำดับคือให้จัดการกับกามเสียก่อน แล้วค่อยล้างความยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วไปมัวเมาเสพกาม อันนั้นมันวิปริตผิดพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

October 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,553 views 0

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

มีประเด็นในการวิจารณ์เรื่องนี้อยู่มากในสังคม คนไม่กินเนื้อก็มักจะใช้ข้อนี้ในการอ้างอิงว่าผิด คนกินเนื้อก็จะใช้ข้อนี้ในการปฏิเสธว่าไม่ผิดเช่นกัน

เพราะถ้าอ้างศีลข้อ ๑ ตามที่ ” แปลและเข้าใจกันโดยทั่วไปแค่เพียงว่า ไม่ฆ่าสัตว์ ” มันจะไม่ตรงเสียทีเดียว มันจะแฉลบออกไปได้ เลี่ยงบาลีไปได้ ไม่ครบเงื่อนไของค์ประกอบของการฆ่าเพราะไม่ได้ฆ่าเอง และไม่ได้มีจิตคิดจะฆ่า ซึ่งทำให้คนที่กินเนื้อสัตว์ก็จะสามารถเข้าใจว่าไม่ผิดศีล และจะกลายเป็นว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ตีความเอนเอียงเข้าข้างตนเอง

แต่ถ้าศึกษาไตรสิกขา ปฏิบัติอธิศีลไปเรื่อยๆจะพบว่า อธิศีลของศีลข้อ ๑ นั้นครอบคลุมทุกองค์ประกอบอยู่แล้ว การอธิศีลนั้นคือการศึกษาศีลให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป ตั้งแต่ ๕ ๘ ๑๐ ส่วนนักบวชเริ่มต้นที่จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งฆราวาสเองก็สามารถถือเอาศีลสามหมวดนี้มาปฏิบัติได้ตามบารมี

ศีลข้อ ๑ ในจุลศีล : ดูกรพราหมณ์ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล? ๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรามีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

คำถามก็คือ การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น มีความเกื้อกูลและมีความกรุณาต่อใคร? เอ็นดูสัตว์ทั้งหลายจริงหรือ? หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงยังไง? การมีความเห็นเช่นนั้นเป็นความละอายต่อบาปจริงหรือ? การฆ่านั้นมีประโยชน์กับสัตว์เหล่านั้นหรือ? ถึงยังคงให้การสนับสนุนอยู่ ในเมื่อการเข่นฆ่านั้นมีแต่ทุกข์และอกุศลกรรมจะบอกว่าศีลข้อนี้ไม่ใช่หลักปฏิบัติของพุทธก็ไม่ใช่ เพราะเวลาพระพุทธเจ้าบวชให้ใครท่านก็ให้ถือเอาจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลเป็นข้อปฏิบัติ หลักฐานนี้พบเห็นได้ทั่วไปในพระไตรปิฎก

และแม้จะเป็นศีล ๕ ที่แปลและเข้าใจกันแค่เพียงว่า “ไม่ฆ่าสัตว์นั้น” หากศึกษาในสาระของศีลข้อนี้ไปเรื่อยๆจะทำให้จิตเมตตาขึ้น ไม่ใช่แค่ถือไว้เฉยๆแล้วจิตไม่พัฒนาอะไรเลย นั่นคือไม่มีอธิศีล แต่ผู้มีอธิศีลแม้ตนเองจะเริ่มจากฐานศีล ๕ ก็จะพัฒนาความเมตตาขึ้นไปเรื่อยๆ จากไม่ฆ่า พัฒนาเป็นไม่เบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นไม่มีส่วนเบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นมีความเกื้อกูล เมตตากรุณาต่อกัน คือนอกจากไม่ฆ่า ไม่รบกวน แล้วยังต้องช่วยเหลืออีก เรียกว่าถ้าศึกษาให้ถูกต้องจะพบว่าศีลจะเป็นตัวนำให้หยุดชั่วทำดีได้เอง ปิดนรกเปิดสวรรค์ได้เองตามระดับอธิศีลที่ได้ศึกษา

ทีนี้คนที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง จะไม่สามารถยกระดับของตัวเองไปถึงจุลศีลได้ ก็มักจะยกเอาหลักฐานที่เอื้อกับความเห็นตนมา ก็สามารถทำให้ตีเนียนกินเนื้อไปได้ เพราะภาษาที่แปลมามันไม่มีข้อห้ามหรือคำผิดตรงๆ ศีล 5 เขาก็แปลกันแค่นั้นจริงๆ มันก็เลยปฏิบัติกันอยู่แค่นั้น ทั้งที่จริงแล้วมันมีความลึกและมีมิติอยู่มากมาย

นี่คือความเสื่อมของชาวพุทธอย่างแท้จริงเพราะความไม่ศึกษาในอธิศีล จมอยู่กับศีล ๕ เท่าที่รู้หรือต่ำกว่านั้น และยึดเอาความเสื่อมนั้นเป็นหลักชัย ว่าฉันจะทำดีเท่านี้ ฉันดีได้แค่นี้ เรียกว่าปิดประตูสู่ความเจริญของตนในทันที ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าการไม่ศึกษาในอธิศีลเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เมื่อไม่ศึกษาอธิศีลก็จะไม่รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ก็เลยมีการถกเถียงกันมากในประเด็นของศีลข้อ ๑ ทั้งผู้ที่ปฏิบัติธรรมและผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม

เมื่ออธิศีลเสื่อมไป ไตรสิกขาจึงไม่มี ก็ไปศึกษาแยกกัน จิตบ้าง ปัญญาบ้าง ถือเอาจิตเป็นที่สุดบ้าง ถือเอาปัญญาเป็นที่สุดบ้าง เข้ารกเข้าพงกันไปหมด เมื่อไม่ครบองค์ประกอบของไตรสิกขา ไม่รู้ความเกี่ยวพันเชื่อมโยงของศีล สมาธิ ปัญญาว่าเกื้อกูลกันอย่างไร ปฏิบัติร่วมกันไปอย่างไร จิตและปัญญาเหล่านั้นจึงเป็นไปโดยมิจฉา เมื่อไม่มีไตรสิกขาก็ไม่เกิดมรรค เมื่อไม่มีมรรคก็ไม่มีการผลในรู้แจ้งเห็นจริง สุดท้ายจึงปฏิบัติธรรมแบบคิดเอา เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง เป็นมิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ แล้วก็เมามิจฉาทิฏฐิของตนอยู่เช่นนั้น

การยกธรรมะมากล่าวอ้างนั้นเป็นสิ่งที่ต้องประมาณให้ดี เพราะเป็นดาบสองคม ถ้าใช้ผิด เอามาตีกิน เอามาเพิ่มกิเลส เอามาเบียดเบียน ทำให้หลงงมงายทั้งตนเองและผู้อื่น ก็จะสร้างทุกข์ครอบขังให้ตัวเองหลงงมงายกับธรรมที่มิจฉา จนบางครั้งร้ายแรงถึงขั้นหลงว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม ทำให้ต้องวนเวียนหลงไปกับโลกชั่วกัปชั่วกัลป์

ดังนั้นจากจุลศีล ซึ่งเป็นความเจริญที่สุดของศีลในศาสนาพุทธ ที่บุคคลพึงปฏิบัติ จะเห็นได้ว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นมีความขัดแย้งในเนื้อหาอย่างชัดเจน ไม่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ สิ่งนั้นจึงไม่ควร ผู้ศึกษาและปฏิบัติสู่ความผาสุกจึงควรละเว้นเหตุแห่งอกุศลเหล่านั้นเสีย

– – – – – – – – – – – – – – –

7.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

July 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,716 views 0

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

โลกปัจจุบันนี้ได้ดำเนินผ่านยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดจนกระทั่งมาถึงกึ่งกลางพุทธกาล หลายสิ่งเปลี่ยนผันไปความชั่วกลายเป็นสิ่งดีในสายตาผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ความดีก็ดูเหมือนว่าจะไร้ค่าลงไปทุกที ทุกวันนี้เราสามารถทำสิ่งที่ชั่วได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาปอะไรด้วยเหตุผลประมาณว่าใครๆเขาก็ทำกัน จนสิ่งชั่วนั้นกลายเป็นค่านิยม เป็นความเข้าใจ เป็นมาตรฐาน สิ่งเดียวที่สามารถแยกดีแยกชั่วที่แท้จริงได้นั่นก็คือ “ศีล

ศีลเป็นตัวกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจนว่าสิ่งใดเบียดเบียนสิ่งใดไม่เบียดเบียน ศีลมีตั้งแต่ระดับที่ปฏิบัติไม่ยากจนเกินไปคือศีล ๕ จนกระทั่งถึงศีลระดับสูงอีกมากมาย ซึ่งนั่นหมายถึงหากต้องการขัดเกลาตนเองให้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นก็ต้องศึกษาในศีล

ศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้นเป็นของที่ประเสริฐที่สุด เป็นสัจจะที่ถูกกล่าวออกมาจากบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก เป็นความดีที่คัดสรรค์มาแล้ว เราไม่ควรจะตัดหรือบัญญัติใหม่ หรือกล่าวว่าศีลแต่ละข้อนั้นก็เหมือนๆกัน หรือเห็นว่าศีลเป็นเพียงพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม ผู้ที่กล่าวเช่นนั้นอาจจะยังไม่เข้าใจแก่นสารสาระของศีล ไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติศีล ไม่เข้าใจกระบวนการของไตรสิกขา ไม่รู้จักการชำระล้างกิเลส ไม่เข้าถึงแก่นของพุทธ

สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ศีล หิริโอตตัปปะ

สติกับศีลนั้นทำงานต่างกัน สตินั้นไม่ใช่ตัวแยกดีแยกชั่ว แต่เป็นตัวรู้ว่าขณะนั้นเกิดสภาวะใดในจิตใจขึ้น เป็นเพียงตัวรู้เฉยๆ ส่วนศีลคือตัวแยกเลยว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดชั่ว ถ้าอยู่ในศีลคือดี ผิดศีลคือชั่ว ส่วนความรู้สึกผิดกลัวต่อบาปที่เกิดขึ้นเรียกว่าหิริโอตตัปปะ เป็นสภาพของจิตที่เจริญมาจากการศึกษาศีล

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราถือศีล ๕ ไม่ฆ่าสัตว์ ในตอนแรกเราก็อาจจะยังตบยุงอยู่เพราะหิริโอตตัปปะยังไม่เจริญถึงขั้นสกัดขั้นไม่ให้ทำบาปได้ ส่วนสติสัมปชัญญะก็จะเป็นตัวรู้ว่าถูกยุงกัด ยุงกัด เจ็บ เจ็บ โกรธ โกรธ นี่คือระดับสติทั่วไป ถ้าจับได้ก็อาจจะสามารถข่มใจได้บ้าง หรือแม้จะมีสติก็อาจจะตบยุงได้ เพราะสภาวะที่จะมากั้นไม่ให้ลงมือทำบาปจริงๆจะเริ่มที่ขั้นของโอตตัปปะคือละอายต่อบาปจนไม่กล้าทำบาปแล้ว ส่วนหิรินั้นแค่เกรงกลัว ทำให้บางทีก็มีตามใจกิเลสแอบตบบ้าง แต่ตบไปแล้วก็จะรู้สึกผิด และถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ จะระลึกรู้ไปถึงจิตที่มีกิเลสปน จะรู้ลึกไปถึงเหตุปัจจัยในการเกิดความโกรธ ว่ากิเลสใดที่ทำให้ตัดสินใจจะตบยุง และรู้ไปถึงธรรมที่จะมาขัดกิเลสนั้นๆ

ตัวอย่างที่สอง เราหัดกินมังสวิรัติ แม้จะเห็นคุณในการไม่เบียดเบียนสัตว์ทางอ้อมจนกระทั่งอธิศีลเพิ่มขึ้นมาในขอบเขตของศีลข้อ ๑ นั่นคือเรามีปัญญารู้แล้วว่ากินมังสวิรัติไม่เบียดเบียนอย่างไร กินเนื้อสัตว์เบียดเบียนอย่างไร เรียกว่าแยกดีแยกชั่วได้แล้ว เมื่อปฏิบัติไปต้องกระทบกับเมนูเนื้อสัตว์ สติเป็นเพียงตัวรู้ว่าเกิดอาการอะไรขึ้นในจิต แต่ศีลจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตของดีและชั่ว ถ้าดีคืออดทนถือศีลต่อไป ถ้าชั่วก็ข้ามกำแพงศีลธรรมไปกินตามกิเลส

ตัวอย่างที่สาม ถ้าเราไม่ถือศีลกินมื้อเดียว ก็เรียกได้ว่ายังไม่ได้เริ่มแยกดีแยกชั่ว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการกินหลายมื้อนั้นมีโทษภัยอย่างไร เข้าใจว่ามาตรฐานต้องสามมื้อ อันนี้เกิดจากไม่มีปัญญาศึกษาในสาระของศีล พอไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วก็ไม่ถือศีล เพราะฉะนั้นถืงจะมีสติแค่ไหนแต่ถ้ายังแยกดีแยกชั่วไม่ได้ ก็ยังกินสามมื้อเหมือนปกติ แม้จะกินไปอย่างมีสติรู้ตัวอย่างเต็มที่เคี้ยวข้าวทีละคำอย่างช้าๆ ค่อยๆ กลืน แต่ก็ไม่มีปัญญารู้ว่ากินสามมื้อชั่วอย่างไร กินมื้อเดียวดีอย่างไร

เมื่อเราศึกษาไปจะพบว่าสภาวธรรมแต่ละอย่างนั้นมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน แต่ทำคนละหน้าที่กัน เราจึงควรศึกษาให้เห็นสภาวะเหล่านั้นในตน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะต้องงงกับสมมุติโลกที่หลากหลาย เช่นคำว่า “สติ” คำเดียว เขาครอบคลุมทุกอย่างเลยก็มี หรือแม้แต่เข้าใจว่าถ้ารู้ธรรม จำธรรมได้ ก็สามารถบรรลุธรรมได้ ความเห็นเหล่านั้นเกิดจากการไม่ศึกษาธรรมให้ถ่องแท้ ไม่เข้าใจไตรสิกขา ไม่รู้ความสัมพันธ์ของศีล สมาธิ ปัญญา ไม่คบบัณฑิต ไม่มีกัลยาณมิตร

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีลกับลูกหมูสามตัว

ในบทความนี้ก็จะยกตัวอย่างประกอบภาพไว้สามตัวอย่าง ซึ่งก็แนะนำให้ดูภาพประกอบบทความและค่อยๆทำความเข้าใจไปควบคู่กัน ในตัวอย่างแรกคือหมูดำ ที่ใช้ชีวิตไปสบายๆ ไม่ยินดีถือศีล ตัวอย่างที่สองคือหมูขาว ที่ถือศีลเพื่อความดีงาม ป้องกันความชั่ว และตัวอย่างสุดท้ายคือหมูชมพูที่ศึกษาศีลเพื่อที่จะชำระกิเลสไปโดยลำดับ

คนไม่มีศีล(หมูดำ)

คนที่ไม่มีศีล ก็ไม่ต้องทุกข์ร้อนลำบากใจอะไร ไม่ต้องมีอะไรขัดใจเมื่อตนเองอยากได้อยากเสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่น เหมือนปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำแต่ไม่เห็นน้ำ คือแม้จะจมอยู่ในกองกิเลสแต่ก็ไม่รู้ตัวว่าอยู่ในกองกิเลส จึงใช้ชีวิตโดยประมาท โดยไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว

ศีลเป็นเครื่องวัดกิเลสที่ดีมาก เมื่อเราถือศีลก็จะสามารถเห็นพลังของกิเลสที่จะทำลายศีลนั้นๆ ด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือต่างๆนาๆ แม้กระทั่งเหตุผลที่ทำลายคุณค่าของศีลก็อาจถูกสร้างขึ้นมาจากกิเลสได้เช่นกัน

เมื่อศีลคือเครื่องทรมานสำหรับคนกิเลสหนา เขาเหล่านั้นจึงไม่ถือศีล ไม่ศรัทธาศีล ไม่ยินดีศึกษาในศีล เพราะความขยาดทุกข์ที่จะต้องเจอเมื่อถือศีล ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะถือศีลได้ เพราะกิเลสนั้นจะเป็นมารที่มาคอยขัดขวาง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถูกตรงมักจะไม่มีวิธีการจัดการกับกิเลส สุดท้ายก็ทิ้งศีลและยึดกิเลสไว้แทน การไม่ถือศีลจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับพวกเขา

และเมื่อไม่มีศีล ก็ไม่มีอะไรเข้ามาแยกดีแยกชั่ว จึงมักจะใช้ตรรกะของตนเข้ามาเป็นตัวกำหนดว่าอะไรดีอะไรชั่ว ไม่ได้ใช้หลักการของพระพุทธเจ้า แต่เปลี่ยนมาใช้หลักกู เมื่อไม่เห็นตามพระพุทธเจ้าก็คือคนที่มีความเห็นผิด เมื่อเขามีความเห็นความเข้าใจที่ผิด ก็จะคิดผิดตามไปด้วย ดังนั้นหลักการตัดสินดีชั่วก็จะผิดแปลกตามไปด้วยเช่นกัน

คนถือศีล (หมูขาว)

คนที่ถือศีล คือคนที่มีศรัทธาและปัญญาเห็นคุณค่าของศีล แต่ก็มักจะถือศีลอย่างงมงาย เข้าใจว่าศีลนั้นเป็นเพียงแค่กฎ เป็นข้อบังคับไม่ให้ทำชั่ว โดยมีการปฏิบัติศีลในลักษณะของการกดข่มความชั่ว ใช้ศีลเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ทำชั่ว ให้อยู่ในกรอบของความดีงาม

ซึ่งคนเหล่านี้ก็ถือว่าเจริญแล้ว เพราะพยายามละเว้นสิ่งที่จะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพราะแยกดีแยกชั่วได้บ้างแล้ว สิ่งใดชั่วก็ควรจะละเว้น สิ่งใดที่ดีก็ควรจะทำ แต่ก็ยังมีความลำบากในการถือศีล เพราะต้องคอยกดข่มความอยาก อดทนข่มใจเพื่อไม่ให้ผิดศีล จึงมีข้อจำกัดในการถือศีล เพราะถือศีลแต่ไม่ได้ชำระกิเลส เพียงแค่ใช้ศีลเป็นกรอบแห่งความดีงามและป้องกันสิ่งชั่วเท่านั้น

คนที่ถือศีลจะสามารถรู้ได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วและรู้ว่ายังมีศีลที่ละเว้นสิ่งที่ชั่วอีกมาก ซึ่งเขาอาจจะทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่ก็สามารถเห็นขอบเขตพรมแดนที่แบ่งแยกดีชั่วได้แล้ว

สรุปสองหมู คือทางโต่งสองด้าน

ทั้งหมูดำและหมูขาว คือแนวทางที่มีโอกาสจะลำเส้นเข้าไปในทางโต่งได้ง่าย หมูดำผู้ที่ไม่ยินดีในการถือศีลก็มักจะ โต่งไปทางกาม ไปติดสุขจากการเสพ เพราะไม่มีศีลมาเป็นตัวคอยขัดขวาง จึงสามารถทำชั่วได้โดยไม่มีขอบเขต ชั่วก็ไม่รู้ว่าชั่ว มักจะจมไปกับกามและห่างไกลจากทางสายกลางไปเรื่อยๆ

หมูขาวคือผู้ยินดีในการถือศีล แม้ว่าตนเองจะไม่ไปทำชั่วแล้ว แต่ก็มักจะมีทิศทางที่โต่งไปในด้านของอัตตา ไปในแนวทางการถือศีลอย่างยึดมั่นถือมั่น ถือศีลอย่างตึงเครียด กดดัน บีบคั้น จนสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนเอง ก็เป็นทางโต่งอีกด้านหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะอยู่บนพื้นฐานของความดี แต่ก็ยังเป็นความดีที่สร้างทุกข์ให้ตนเองอยู่ ซึ่งการทำทุกข์ให้ตนเองก็คือชั่ว ชั่วก็คือกิเลส และนั่นก็คือทางโต่งอีกด้าน

คนศึกษาศีล (หมูชมพู)

คนที่ศึกษาและปฏิบัติศีลอย่างถูกตรง จะรู้วิธีถือศีลให้เกิดความเจริญ ไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือไม่ทิ้งศีลเพื่อไปเสพอย่างมัวเมา และไม่ยึดมั่นถือมั่นในศีลจนทุกข์ทรมาน

ผู้ที่ศึกษาศีลจะใช้ศีลเป็นตัวกำหนดกรอบในการชำระกิเลส ใช้ศีลเป็นเขตในการปฏิบัติธรรม ด้วยพื้นฐานของปัญญาที่เห็นคุณค่าของศีลนั้นๆ หรือเรียกว่าเป็นไปตามอินทรีย์พละ เมื่อถือศีลแล้วก็จะค่อยๆชำระกิเลสไปด้วยสติปัญญาที่ตนมี ใช้กำลังจิตในการข่มอาการของกิเลสที่จะกำเริบ ใช้สติในการรู้ตัวตนของกิเลสเพื่อที่จะทำลาย และใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณาโทษภัยของกิเลสนั้นๆ จนทำลายกิเลสไปได้โดยลำดับ

เมื่อถือศีลจนชำระกิเลสในขอบเขตหนึ่งได้ ก็จะขยายเพิ่มศีลในส่วนอื่นๆต่อไป ในส่วนเดิมก็ไม่ต้องทำแล้วเพราะกิเลสหมดแล้ว ก็ขยับไปทำอธิศีลหรือสร้างขอบเขตในการปฏิบัติธรรมขึ้นมาใหม่ เช่นตอนนี้ถือศีล ๕ ได้โดยไม่ลำบากใจแล้วนะ ก็ขยับฐานศีลขึ้นไปจากฐานเดิม เช่นมังสวิรัติ คือนอกจากไม่ฆ่าเองแล้วยังไม่สนับสนุนให้ใครฆ่าอีกด้วย ไม่เบียดเบียนทั้งทางตรงทางอ้อม พอขยับฐานก็ต้องตั้งมั่นในศีล ศึกษาศีลไปพร้อมๆกับ สร้างอธิจิตและอธิปัญญา ไตรสิกขาจึงเป็นการศึกษาที่ไปด้วยกันเป็นกระบวน ไม่แยกปฏิบัติ เมื่อแยกปฏิบัติจึงไม่เรียกว่าไตรสิกขา เมื่อไม่ใช้ไตรสิกขาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าให้ศึกษาเพื่อการพ้นทุกข์ แล้วจะเอาผลสำเร็จมาจากไหน

ดังนั้นการศึกษาและปฏิบัติธรรมควรเริ่มต้นจากศีล โดยเรียนรู้กระบวนการปฏิบัติของไตรสิกขา เพื่อความเจริญก้าวหน้า ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถือศีลอย่างงมงาย แต่เป็นผู้ถือศีลเพื่อชำระกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

2.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

วิธีพิสูจน์รักแท้

December 24, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 17,262 views 0

วิธีพิสูจน์รักแท้

วิธีพิสูจน์รักแท้

…รักนั้นแท้จริงหรือ? เป็นกุศลจริงหรือ? นำมาซึ่งความสุขจริงหรือ?

ความต้องการที่จะมีใครสักคนเข้ามาอยู่ข้างกาย เข้ามาเป็นคู่ชีวิตนั้นเป็นความต้องการที่ยากจะต้านทานได้ แม้ว่าจะได้ยินคำบอกเล่าเรื่องจริงของความรักมามากมาย แต่เราก็มักจะเลือกเชื่อในมุมที่เราต้องการ เลือกที่จะเชื่อว่าความรักนั้นคือสิ่งที่สวยงาม เชื่อว่าความรักของเราคือความสุข คือความยั่งยืน เคียงคู่กันสร้างกุศลร่วมกันตลอดไป

การสร้างกุศลร่วมกันนั้นดูจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่ทำให้เราคิดว่าการมีคู่นั้นดี เพราะเป็นไปในแนวทางร่วมกันทำดี ร่วมกันเจริญ คงเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถต้านทานความดีความเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบทั้งหน้าตา ฐานะ นิสัยของคู่รัก เราจึงสร้างเหตุผลต่างๆนาๆขึ้นเมื่อเพื่อให้เราได้มีคู่อย่างมั่นใจ เต็มใจ ภาคภูมิใจ เพื่อให้เราได้เสพสมใจในความรัก ในความมั่งคั่ง ในความสมบูรณ์ตามแบบที่โลกเข้าใจ

…รักแท้นั้นคืออะไร?

รักนั้นคือความต้องการ คือตัณหา คือความอยาก ส่วนคำว่าแท้นั้นหมายถึง เที่ยง ไม่แปรเปลี่ยน ไม่แปรปรวน ไม่หวั่นไหว ความรักแท้ก็คือความรู้สึกต้องการที่ไม่หวั่นไหว ในเรื่องของคู่รักนั้นก็หมายถึงความรู้สึกที่มีต่อคู่ของตนอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

คนเรานั้นมีความพยายามที่จะทำสิ่งต่างๆเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีหรือร้ายก็จะพยายามไขว่คว้าให้ได้มาเสพสมใจ คนรักก็เช่นกัน เป็นหนึ่งในเรื่องที่เราต้องพยายาม ในมุมของผู้ชายก็ต้องดูแลเอาใจ เลี้ยงดู ป้อนคำหวานให้คำสัญญา ในมุมของผู้หญิงก็คล้ายๆกันแต่ก็มักจะมีเรื่องของความงามเข้ามาเกี่ยวมากหน่อย คือต้องทำตัวให้งาม ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ว่าง่ายๆก็คือต้องพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ เพื่อที่จะให้ชายสักคนมาหลงใหลได้ปลื้ม

เราจึงพยายามเร่งและบำรุงบำเรอกิเลสของอีกฝ่ายให้ตกลงปลงใจเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ ถาวร มั่นคง ซึ่งในระยะนี้หลายคนจะเรียกว่า “ช่วงโปรโมชั่น” เป็นช่วงที่แต่ละฝ่ายจะพยายามให้ว่าที่คู่รักได้เห็นภาพที่ดีที่สวยงามของตนเอง เพื่อที่จะได้อีกฝ่ายมาเสพสมใจ ชายก็เสพหญิง หญิงก็เสพชาย เสพในตัวตนของกันและกัน

ทีนี้ช่วงโปรโมชั่นนั้นจะสั้นจะยาวก็ขึ้นอยู่กับกิเลส ถ้ากิเลสมากก็จะสั้น ถ้ากิเลสน้อยก็จะยาว ยกตัวอย่างเช่นพ่อบุญทุ่ม ที่ดูแลเทคแคร์เอาใจ เลี้ยงดูทั้งกายและใจของอีกฝ่ายหมายจะให้เขาหลงรัก ลักษณะนี้ก็มักจะเป็นแบบสั้น แต่ถ้าคบกันเป็นเพื่อนช่วยเหลือกันดูแลกันไปแบบนี้ก็มักจะยาวหน่อย

แต่เมื่อปัจจัยต่างๆได้เปลี่ยนไป เช่น เปลี่ยนจากคนที่คบหาเป็นแฟน จากที่เคยมีระยะห่างก็จับมือถือแขนกอดจูบใกล้ชิด จากที่ไม่เคยมีอะไรกันก็มีอะไรกัน จากแฟนมาเป็นสามีภรรยา จากที่เคยเต่งตึงกลับหย่อนยาน จากที่เคยมีกันสองคนก็มีคนเพิ่มมาหลายคนจากที่เคยไม่มีภาระก็มีภาระ จากที่เคยสนองกิเลสกันได้ก็เริ่มจะไม่สามารถสนองกันได้จนเต็มอิ่ม

ปัจจัยเหล่านี้เองที่จะมาทดสอบความรักแท้ คนที่อ้างนักอ้างหนาว่าตนเองมีรักแท้ รักที่ตนมีเป็นของแท้ คนที่ตนเองเลือกคือเนื้อคู่ คือคนที่ฟ้าส่งมาให้ คือคนที่จะร่วมชีวิตไปจนตาย หลังจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ “ความรัก” ยังจะสามารถคง “ความแท้” ได้หรือไม่

เราจะเห็นได้ว่าความจริงมักจะเปิดเผยหลังการเปลี่ยนแปลง ว่าความรักนั้นแท้หรือไม่แท้ เอาของปลอมมาหลอกขายเป็นของแท้หรือไม่ โดยการดูจากเหตุการณ์เหล่านี้ หลายคู่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากได้กัน หลายคนเปลี่ยนไปหลังจากเป็นแฟนกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากแต่งงานกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากมีลูกด้วยกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากผ่านไปเป็นสิบยี่สิบปีก็มี

และหลายคู่เหล่านั้นทำได้แค่ประคองชีวิตคู่ต่อไปแบบที่ทั้งรักทั้งชัง หวานอมขมกลืน ใช้ชีวิตแบบน้ำท่วมปาก จะพูดว่าชีวิตดีก็พูดได้ไม่เต็มปาก แต่จะบอกทุกข์มันก็มีสุขร่วมด้วยอยู่บ้าง สุขทุกข์ปนกันไป ทุกข์มากหน่อย สุขนิดเดียว แต่ก็ยอมทนต่อไป บางคู่ทนไม่ได้ก็เลิกราหย่าร้างกันไป ทิ้งไว้เพียงคนที่อกหักผิดหวังกับความรัก รังเกียจความรัก ประณามความรัก

ทั้งหมดนั้นเกิดก็เพราะว่า “ความรักมันไม่แท้ตั้งแต่แรก” ไม่ใช่ว่าตอนแรกแท้แล้วตอนหลังมันไม่แท้ อันนี้มันเล่นคำ ของแท้จริงๆมันต้องไม่แปรเปลี่ยน ไม่เวียนกลับ ไม่เปลี่ยนจากรักเป็นเมินเฉย ไม่เปลี่ยนจากความต้องการเสพเป็นต้องการให้ออกไปจากชีวิต

การพิสูจน์ความรักแท้โดยรอการทดสอบจากกาลเวลาและกรรมนั้นช้าและเสี่ยง เพราะบางคู่กว่าจะรู้ตัวก็มีลูกเป็นเครื่องผูกมัดไปแล้ว หนีไม่ได้แล้ว ยังไงก็ต้องแบกไว้แบกทั้งลูกแบกทั้งความขมขื่นที่ได้รับ เราจึงควรศึกษาวิธีพิสูจน์รักแท้ในหัวข้อต่อไป

…การสร้างกุศลร่วมกันคืออะไร?

หลายคนที่คิดจะมีคู่ก็มักจะใช้เหตุผลเรื่องของการสร้างกุศล ร่วมบุญ สร้างความเจริญทั้งทางโลกทางธรรมไปด้วยกัน การที่คนเราจะเจริญไปพร้อมๆกับคู่รักได้นั้น ต้องมี ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาที่เสมอกัน (สมชีวิสูตร) ความเสมอกันนี้จะทำให้ได้พบเจอกันในชาติภพต่อๆไป ชาติในที่นี้ไม่ใช่แค่ชีวิตหน้า แต่เป็นชีวิตนี้ที่จะเกิดความรู้สึกต่างๆในอนาคตต่อไป

คู่รักที่ประคองคุณสมบัติสี่ข้อนี้ให้เสมอกันได้จะทำให้ชีวิตรักเป็นไปอย่างราบรื่น ได้อยู่ด้วยกันนานตราบเท่าที่ยังเสมอกัน แต่ความเสมอกันนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ความดีเท่านั้น อาจจะหมายถึงความเลวเสมอกันก็ได้ เช่นไม่มีศรัทธาในความดีเหมือนกัน ไม่ถือศีลเหมือนกัน ไม่เสียสละเหมือนกัน ไม่มีปัญญาเหมือนกัน คู่ที่เสมอกันเหล่านี้ก็สามารถร่วมภพร่วมชาติกันสร้างบาป เวร ภัยไปได้กันทุกภพทุกชาติเช่นกัน

ดังเป้าหมายของเราที่ตั้งไว้ว่าเราจะครองคู่กันเพื่อร่วมกันสร้างกุศล ร่วมบุญ สร้างความเจริญต่างๆ เราจึงไม่มีทางที่จะเลือกวิธีที่ทำให้ชีวิตตกต่ำอย่างแน่นอน เช่นเดียวกันกับคำว่าการสร้างกุศลนั้นคือการเพิ่มความดี นั่นหมายถึงเราต้องพากันทำดี เร่งทำความดีและจะไม่หยุดอยู่ที่เดิมแล้วใช้ชีวิตเสพสุขไปวันๆอย่างแน่นอน

การสร้างกุศลร่วมกันนั้นหมายถึงการยกระดับศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ไปด้วยกันกับคู่รัก ในบทนี้จะขอยกตัวอย่างในกรณีของศีลเพราะเห็นภาพได้ชัดเจน

ความเจริญของคนนั้นเริ่มต้นจากการมีศีล มีศีลก็มีธรรม มีศีลก็มีปัญญา จริงๆแล้วทั้งสี่ข้อนี้ไม่ได้แยกกันแต่เชื่อมโยงกันร้อยเรียงผูกพันกันอย่างน่ามหัศจรรย์ เมื่อหยิบยกข้อใดข้อหนึ่งมาอธิบาย ก็สามารถขยายไปถึงข้ออื่นๆได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราตั้งใจจะยกระดับการทำกุศลของชีวิตคู่ เราจึงตัดสินใจถือศีลในข้อที่ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์อื่น เราจึงเลือกที่จะกินมังสวิรัติ การเลือกที่จะถือศีลนี้ต้องมีศรัทธา และมีความเสียสละความอยากเพื่อละเว้นการเบียดเบียน รวมถึงมีปัญญาที่จะทำให้การถือศีลเป็นไปในแนวทางที่พาพ้นทุกข์ได้

เมื่อเราถือศีลดังนี้ ก็จะเป็นกุศล เป็นความดีในชีวิตเรา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคู่ของเราจะสามารถถือศีลตามได้ด้วย เช่นเรากินมังสวิรัติ แต่เขากลับยินดีในการกินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีจะเป็นมังสวิรัติ เท่านี้ศีลก็เริ่มไม่เสมอกันแล้ว เพราะศรัทธาไม่เสมอ จาคะไม่เสมอ และปัญญาไม่เสมอ จึงไม่ยินดีที่จะถือศีลร่วมกัน

เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำขององค์ประกอบทั้งสี่ข้อนี้แล้ว ก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตคู่เกิดขึ้น เหมือนเทวดากับมารอยู่ด้วยกัน วิธีที่จะทำให้กลับมาเป็นคู่กันแบบปกติมีสองทาง ทางหนึ่งคือทำให้เป็นเทวดาทั้งคู่ ทางที่สองคือกลับไปเป็นมารเหมือนกันทั้งคู่

แต่ในเมื่อเราบอกว่าเรามีคู่เพื่อทำกุศลไปร่วมกัน เพื่อความเจริญทั้งทางโลกทางธรรมไปด้วยกัน หากคำตอบของเราที่ว่าจะยอมลดศีลไปเพื่อให้ชีวิตได้เคียงคู่กันอย่างปกตินั้น ก็สามารถเป็นเหตุผลได้แล้วว่าจริงๆเราไม่ได้อยากมีคู่เพราะจะทำกุศลร่วมกันหรอก เราแค่อยากมีคู่เฉยๆและอยากมีเพื่ออะไรก็มีกิเลสมากมายมารองรับในผลนี้ ส่วนการทำกุศลนั้นก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างให้เราได้เสพคู่อย่างดูมีเหตุมีผลเท่านั้นเอง

คนที่มีปัญญาก็จะไม่รีบแต่งงาน จะดูกันไปคบกันไป เพิ่มอธิศีล คือกระทำศีลให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ดูว่าคนที่เราเรียกว่าเนื้อคู่นั้นจะตามศีลเราไหวไหม เขามีอินทรีย์พละมากพอไหม เขามั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไหม ถ้าเรายกระดับศีลเรื่อยๆแล้วเขาตามไม่ทัน นั่นไม่ใช่เนื้อคู่ของเราอย่างแน่นอน เพราะถ้าเราสามารถถือศีล ปฏิบัติศีลยากๆได้ แต่เขาทำไม่ได้ ก็คือศีลไม่เสมอกัน ดังนั้น ศรัทธา จาคะ ปัญญา ก็จึงไม่เสมอกัน คนที่มีบุญบารมีไม่พอเหมาะกับเราก็ไม่มีทางเป็นเนื้อคู่เราได้อย่างแน่นอน

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ศีลจะเป็นสิ่งที่ทดสอบความแท้ของคน ทดสอบบุญบารมีของคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนจะสนใจทดสอบคู่ของตน ในทางกลับกันก็ยังยอมยินดีลดศีลของตนเพื่อให้ตัวเองได้มีคู่อีกด้วย เช่นบางคนกินมังสวิรัติได้ แต่เพื่อให้ได้มีสามีหรือภรรยาเป็นตัวเป็นตน ก็ยอมเลิกกินมังสวิรัติกลับไปกินเนื้อสัตว์เพราะคู่คนนั้นเขาไม่กินมังสวิรัติ ความจริงที่เกิดในโลกมันก็แบบนี้ ใครจะยอมเพิ่มศีลเพื่อคัดคนที่ตัวเองหลงออกจากชีวิตได้ เวลาคนหลงแล้วธรรมะก็ไม่เกิด กิเลสมันชั่วแบบนี้เพราะมันทำให้เราทิ้งศีลธรรม ยอมลดคุณงามความดีกลับไปชั่วเพื่อไปเสพให้สมใจตามที่กิเลสต้องการ

…ความสุขในการมีคู่คืออะไร?

การที่เราไปมีคู่นั้น ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากความหลงสุข หลงว่ามีคู่แล้วจะเป็นสุข หลงว่าชีวิตสมบูรณ์แล้วจะเป็นสุข ถ้าถามว่าความสุขของการมีคู่คืออะไรก็มักจะได้คำตอบแบบอุดมคติว่าอยู่ด้วยกัน ดูแลกัน พึ่งพากัน ฯลฯ ซึ่งจริงๆความสุขเหล่านี้มีอยู่แล้วในครอบครัว ในพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มิตรสหาย เราสามารถใช้คำเหล่านี้ได้กับคนใกล้ตัวของเราทุกคน

สิ่งเดียวที่ต่างออกไปจากสิ่งที่ได้รับจากพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มิตรสหายก็คือการสมสู่หรือเซ็กส์ (sex)…เรามักจะปิดบังความจริงไว้ใต้เหตุผลสวยหรูต่างๆให้ดูว่าความรักของตนนั้นสวยงามเลิศเลอและสูงค่า แต่สุดท้ายก็มาติดตรงเรื่องเซ็กส์ เรื่องการสมสู่ เป็นเรื่องลับๆที่ไม่มีใครเคยบอกกล่าว ว่าจริงๆแล้วฉันมีคู่และฉันแต่งงานก็เพราะอยากมีเซ็กส์นี่แหละ เรื่องเซ็กส์จึงเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ เป็นปัญหาที่หลายคนสงสัยว่าทำไมหลายคนหลายคู่จึงทะเลาะเลิกรากัน หรือจนกระทั่งมีปัญหา ชู้ กิ๊ก เมียน้อย ฯลฯ เรื่องราวต่างๆเหล่านี้มักจะมีเรื่องเซ็กส์เป็นเบื้องหลังเสมอ

โดยปกติแล้วเรามักจะไม่ยอมรับในเรื่องเซ็กส์หรอก มันเป็นกิเลสที่เก็บไว้ลึกๆ เก็บไว้สนองกันในคู่ของตน ไม่มีใครกล้าพูดออกมาเพราะเป็นเรื่องน่าอาย แต่เราสามารถเห็นภาพสะท้อนได้จากสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น มีการผลิตยาปลุกเซ็กส์ หรือยาที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว หรือเมื่อมีกระแสสมุนไพรกระชับช่องคลอดหรือทำให้หน้าอกใหญ่ก็มีแต่คนตามหา ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นเป็นตลาดที่มีการเจริญเติบโตอย่างลับๆแม้ว่าจะไม่เปิดเผย แต่ก็มี supply & demand มากจนสังเกตได้ถึงขนาดที่ว่าในยุคสมัยนี้มีการศัลยกรรมเพื่อให้มีหน้าอกใหญ่กลายเป็นเรื่องปกติ หรือมีดารานักน้องที่แต่งตัวโป๊ เต้นด้วยท่าเต้นที่ยั่วยวนจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่ามากเกินไปจนอุจาดตา ซึ่งเป็นเจตนาที่ชัดเจนในการกระตุ้นทางเพศ

ถ้าเราสามารถตัดเรื่องเพศ เรื่องการสมสู่ออกไปจากชีวิตคู่ได้ เราจะไม่รีบแต่งงาน เราจะไม่มีรู้สึกว่าต้องการ การกอด การจูบ หรือแม้แต่การถูกเนื้อต้องตัวกัน ไม่รีบเสียตัวให้กันและกันเพียงเพราะความใคร่อยาก เราจะคบกันไปเรื่อยๆ ดูกันไปเรื่อยๆ เพราะหวังคบกันอย่างเพื่อนชีวิต เมื่อเซ็กส์ไม่ใช่คำตอบในชีวิต การแต่งงานหรือการคบหาในลักษณะแฟนก็ไม่ใช่คำตอบในชีวิตเช่นกัน คนที่รักกันอย่างจริงใจจะไม่รีบหรือผูกมัดกันและกันด้วยการสมสู่หรือการแต่งงาน

นอกจากเรื่องการสมสู่แล้วคนทั่วไปก็ยังคบหากันด้วยผลประโยชน์ต่างๆ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ในเรื่องลาภก็คบกันเพราะเขามีเงิน เพราะเขารวย มีกำลังปรนเปรอกิเลสของเรา เราจึงมีความสุข ในเรื่องยศเพราะเขามีหน้าที่มีตำแหน่งมีอำนาจเราจึงเสพสุขด้วยผลพวงแห่งอำนาจของเขา ในเรื่องสรรเสริญเพราะเขาเป็นคนที่ได้รับความนิยม เป็นคนที่สังคมยอมรับเราจึงพลอยหลงใหลได้ปลื้มไปกับเขาด้วย ในเรื่องโลกียสุขคือเราได้เขามาปรนเปรอกิเลสต่างๆ มาดูแลเอาใจ มาบำรุงกาม มาบำเรออัตตาของเรา เราจึงเป็นสุขและหลงในสุขเหล่านั้น

มีหลายต่อหลายคู่ที่คบหากันด้วยผลประโยชน์ทางโลกเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรความสุขของคนมีกิเลสก็หนีไม่พ้นอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา แม้จะมีเหตุผลมากมายที่ยอมรับได้ในทางโลกแค่ไหน ก็เป็นเพียงข้ออ้างที่สวยหรูที่ใช้กันในสังคมอุดมกิเลส เพื่อที่จะทำให้การเสพกิเลสเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เป็นเรื่องปกติ เช่น ถึงคนคนนี้จะดีแสนดีแค่ไหนแต่ถ้าจนฉันก็ไม่แต่งงานด้วยถึงแม้เขาจะเป็นคนดีแต่ถ้าเลี้ยงดูบำรุงบำเรอกิเลสฉันไม่ได้ก็ไร้ค่าและสังคมอุดมกิเลสก็จะเออออตามไปด้วย ในทางตรงกันข้ามถึงแม้คนคนนี้จะเลวทรามแค่ไหนแต่ถ้ารวยฉันก็ยอมได้ฉันพร้อมจะหาข้อดีของเขาแม้จะยากปานงมเข็มในมหาสมุทรก็จะหาและสังคมอุดมกิเลสก็จะเออออตามไปด้วย เหล่านี้เองเรียกว่าการเสพสุขทางโลกซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม มีให้เห็นกันเป็นประจำตามข่าวสารประจำวัน

ในความเจริญสูงสุดตามหลักการของพุทธ สุดท้ายคู่รักก็จะกลายเป็นเสมือนญาติคนหนึ่ง เหมือนเพื่อนคนหนึ่ง ไม่มีเซ็กส์ ไม่มีการกอดจูบลูบคลำ ไม่มีการสนองกิเลสใดๆแก่กันและกัน สรุปแล้วก็เหมือนได้ญาติเพิ่มมาคนหนึ่ง แล้วจะเอาเขามาเพิ่มทำไมในเมื่อจริงๆแล้วเราก็มีญาติพี่น้องมิตรสหายให้ดูแลมากอยู่แล้ว

คนที่อยากจะรักใคร ดูแลใครสักคนตราบชั่วชีวิตจริงๆ มีรักแท้จริงๆ เขาจะไม่ไปหาคู่ให้เสียเวลาหรอก เพราะเขามีพ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนมิตรสหายที่พร้อมจะให้เขาดูแลอยู่ตั้งมากมายแล้ว ทำไมยังต้องเอาคนที่ไม่รู้จักกันเข้ามาในชีวิตเพียงเพราะอยากเสพกิเลสบางอย่างแค่นั้นเอง

การเพิ่มใครสักคนเข้ามาในชีวิตจะทำให้เราเสียเวลาในการดูแลคนสำคัญในชีวิตไปเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เรามีแฟนเพิ่มมาหนึ่งคนก็ลดเวลาที่เราจะพูดคุยและดูแลพ่อแม่ไปส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเรามีแต่งงานมีลูกเราก็แทบจะไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่เลย นี่หรือสิ่งที่เราเรียกว่าความรัก นี่หรือคือสิ่งที่เราตอบแทนคนที่รักเรามากที่สุด กับคนที่ห่วงใยเรามาทั้งชีวิตเรายังให้ค่า ให้ความสำคัญไม่เท่าใครก็ไม่รู้ที่เข้ามาในชีวิตเรา เพียงเพราะเขามาบำเรอสุขให้เรา เพียงเพราะต้องการสมสู่ เพียงเพราะแค่อยากมีลูก จึงทำให้เราเห็นแก่ตัวเอาความสุขนั้นไว้คนเดียวแล้วทิ้งให้คนที่รักเรารอคอยอย่างเดียวดายหรือ

ความสุขในการมีคู่ของคนมีกิเลสก็จะเยอะแยะมากมายไปหมด ให้พูดกันทั้งวันก็ไม่จบ มีหลักฐานมีที่อ้างตามแต่กิเลสจะพาไป แต่ถ้าได้ลองล้างกิเลสกันดูจะพบว่ามันไม่เห็นว่าจะมีความสุขตรงไหน คบกันเป็นเพื่อนก็ได้ เป็นคู่กันไปก็มีแต่ภาระ พาชั่ว พาจน ยากนักที่จะพาให้เจริญในศีลในธรรมร่วมกัน แต่การพากันเสพกิเลสไม่ว่าจะเรื่องอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตานั้นเป็นเรื่องง่ายสุดง่าย

แต่ก็อย่างว่า ขึ้นชื่อว่าคนมีกิเลสก็คือคนที่หลงมัวเมาในสุขลวง หลงมัวเมาในเรื่องโลก ไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นกุศลอกุศลได้ ไม่สามารถแยกแยะความดีความชั่วจริงๆได้ ก็จะวนเวียนต่อไปในเรื่องคู่เพราะหลงว่าเป็นสุข มีความสุข สามารถบำเรอสุขให้ตนได้ ที่จริงแล้วมันก็กิเลสแท้ๆ กิเลสบริสุทธิ์ เป็นทุกข์แท้ๆ เพราะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เพียงแค่ได้สุขลวงมาเสพ ก็ยินยอมที่จะทุกข์ทรมานไปชั่วกัปชั่วกัลป์

– – – – – – – – – – – – – – –

24.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์