Tag: อธิศีล

การเพิ่มศีล

July 19, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,742 views 0

มีคำถามเข้ามาว่าให้ช่วยอธิบายการเพิ่มศีลให้สูงขึ้น

การเพิ่มศีลหรือ “อธิศีล” เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของไตรสิกขา ซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาเพื่อชำระล้างกิเลสโดยลำดับ

ปัจจุบันไตรสิกขาได้เลือนหายไปตามกาล จางไปตามกิเลส ไม่ค่อยมีคนพูดถึง ไม่ค่อยมีใครปฏิบัติ แต่ความจริงที่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการศึกษาที่ทำให้หลุดพ้นจากกิเลสโดยลำดับก็ไม่ได้เปลี่ยนไป

ศีล คือข้อปฏิบัติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจับอาการของกิเลสในจิต เพื่อเข้าสู่กระบวนการของจิตที่พร้อมจะเรียนรู้ให้เกิดปัญญาและพัฒนาไปจบที่จิตผ่องใสแม้กระทบสิ่งเหล่านั้นอยู่

การเพิ่มศีล หรืออธิศีล คือการยกระดับของศีลที่ปฏิบัติอยู่ หลักการกว้าง ๆ เช่น ศีล 5 เพิ่มไปเป็นศีล 8 หรือเพิ่มไปเป็นศีล 10 โดยมีการกำหนดช่วงเวลาตามกำลังของจิตที่พอจะทนความลำบากไหว เช่น อาจจะถือศีล 8 มาปฏิบัติในวันหยุด แต่ถ้าอินทรีย์พละมาก จะทำทั้งชีวิตเลยก็ได้

การเพิ่มศีลยังมีรายละเอียดยิบย่อยในแต่ละบุคคล เพราะคนเรามีกิเลสหนาบางต่างกัน แต่ละโจทย์จึงมีความยากง่ายต่างกันตามบารมีที่บำเพ็ญสะสมมา

เช่นการเพิ่มศีลข้อ ๑ โดยทั่วไปก็จะรับรู้ว่าไม่ฆ่า อันนี้เราก็ทำให้ได้ก่อน แล้วเราก็เพิ่มศีลขึ้นมาเป็น ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ก็จะทำให้เราปฏิบัติเก็บรายละเอียดได้มากขึ้น

ทีนี้พอไม่เบียดเบียนแล้วก็ต้องมานั่งคิดว่าอะไรล่ะที่เบียดเบียน มันก็ต้องละไปตามลำดับ เช่นโจทย์ทั่วไปคือไปสนับสนุนเขาฆ่าสัตว์โดยการซื้อมากินนี่มันเบียดเบียนนะ เบียดเบียนทั้งสัตว์ ทั้งคนฆ่าสัตว์ ทั้งตัวเรา

แต่จะให้เลิกทีเดียวทั้งหมดมันก็ไม่ไหว ก็อาจจะตั้งตอนแรกว่าไม่กินสัตว์ใหญ่ แล้วค่อยเพิ่มขอบเขตของศีลหรือการปฏิบัติเพื่อความละเว้นการเบียดเบียนไปตามที่ไหว เช่น ไก่ ปลา หอย ฯลฯ

การปฏิบัติอธิศีล ไม่ใช่ว่าจะกดเอาดื้อ ๆ คือเห็นว่าสิ่งนั้นแล้วชั่ว จึงเลิกเลย มันก็ไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว เพราะถ้าคิดและเข้าใจแบบนั้นก็อาจจะมีแนวโน้มไปทางกดข่ม ถือดีข่มไว้ก็เป็นได้

อธิศีล คือการสร้างกรอบขึ้นมาเพื่อ “ศึกษา” กิเลสในใจตนเอง โดยเอากิเลสตัวเองเป็นหลัก เอากิเลสตัวเองเป็นโจทย์ ไม่ใช่เอาเรื่องข้างนอกมาเป็นโจทย์หรือเป็นหลักชัย

เพราะศาสนาพุทธมุ่งทำลายกิเลสเป็นหลัก ดังนั้นทุกการปฏิบัติ จะมีเป้าแรกที่กิเลสตนเองก่อนเสมอ ส่วนจะเอื้อเฟื้อออกไปถึงผู้อื่นมากเท่าไหร่ก็แล้วแต่บารมี

ปฏิบัติตนอย่างไร จึงทำให้ไม่อยากมีคู่

December 14, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 727 views 0

ถาม : ปฏิบัติตนอย่างไร จึงทำให้ไม่อยากมีคู่

ตอบ : กำจัดกิเลส

ขยายเพิ่ม…

กำจัดความหลงที่พาให้อยากไปมีคู่

ขยายเพิ่มอีก…

ความอยากไปมีคู่นั้นคือ “ตัณหา” คืออาการแส่หา แสวงหาสิ่งที่อยากได้อยากเสพ เพราะหลงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี ที่ควรได้ น่าเสพ มีประโยชน์ ฯลฯ ความหลงคือ “โมหะ” ความยึดคือ “อุปาทาน” ที่คนอยากไปมีคู่เพราะยึดในความหลงสุขจนปล่อยตัวปล่อยใจไปแสวงหาคู่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องกำจัดคือความหลง แต่จะไปกำจัดความหลงตั้งแต่แรกไม่ได้ เพราะมันอยู่ลึก เราต้องเริ่มจากตื้นคือจัดการกับตัณหาเสียก่อน คุมทวารทั้ง 6 ตา หู จมูก ปาก ร่างกาย และใจ ไม่ให้ไหลไปตามความอยากเสียก่อน แล้วตั้งสติกำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้น แล้ววิจัยอาการนั้น ๆ ว่าเกิดจากการที่เราอยากเสพสิ่งใด เราถึงมีใจพุ่งไปเช่นนั้น จับอาการนั้นได้ เหมือนจับโจรได้ แต่ต้องลงโทษโจรให้เด็ดขาด สรุปคือต้องชัดก่อนว่าที่อยากมีคู่นั้นอยากได้อยากเสพเรื่องอะไร แต่ละคนจะมีเรื่องที่ติดไม่เหมือนกัน ต้องแจกแจงกิเลสในตัวเองให้ละเอียดจึงจะสามารถ ดำเนินการต่อในขั้นกำจัดได้ ในขั้นกำจัดนั้น ต้องอาศัยธรรมะจากผู้รู้ จากพระพุทธเจ้า จากครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงจริง ๆ เท่านั้น ไม่ใช่แค่แปะป้ายว่าอรหันต์ ต้องมีสภาวะจริง จึงจะได้ความรู้มาเพื่อพิจารณาล้างกิเลสในตน คือใช้ธรรมะ ล้างอธรรม จิตมันเบี้ยว มันหลงตรงไหน ใช้ธรรมะดัดให้ตรง ตัดให้ตรง เติมให้ตรง ทิฏฐิที่ผิดในความอยากมีคู่จะมีทั้งเกินและพร่อง ธรรมะของครูบาอาจารย์จะเป็นตัวเทียบว่าตนเองนั้นเกินหรือพร่อง นำมาพิจารณาเอาสิ่งที่หลงขาดหลงเกินออก จนได้เท่าครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านนั้นเป็นของจริง จะหมดความอยากมีคู่ได้จริง แต่ถ้าไม่ใช่ของจริง จะติดเพดานกิเลสของอาจารย์ท่านนั้น ๆ จะไม่สามารถไปไกลกว่าสภาวะจริงของท่านนั้น ๆ ได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าคนจะพ้นทุกข์ได้ ต้องเริ่มจากการพบสัตบุรุษหรือคนที่พาพ้นทุกข์ได้จริงเท่านั้น

ขยายละเอียดหน่อย…

ในภาคปฏิบัตินั้น เบื้องต้นคือการสำรวมอินทรีย์ ในส่วนของศีลหรือข้อปฏิบัตินั้นเราได้มาแล้ว คือตั้งใจปฏิบัติตนเป็นโสด มีศีลแล้วก็สำรวมตนอยู่ในศีล ตรงนี้จะไม่เหมือนที่เขาเป็นโสดหรือไม่อยากมีคู่กันโดยทั่วไป เพราะคนไม่อยากมีคู่ทั่วไปมักจะมีเงื่อนไขในการมีหรือไม่อยากมี เช่น ไม่อยากมีคู่หน้าตาไม่ดี ไม่อยากมีคู่ไม่รวย อันนี้มันเป็นกำแพงกิเลส ไม่ใช่กำแพงธรรม ในส่วนของนักปฏิบัติธรรม จะเรียกว่า ทำตนให้ยินดีพอใจในการอยู่เป็นโสด ไม่ยินดีในการหมกมุ่นกับเรื่องคู่ครองอันเป็นเรื่องน่าเศร้าหมอง

เมื่อเราตั้งใจสำรวมกาย วาจาและใจของเราแล้ว ธรรมชาติของกิเลสก็จะเกิดเป็นธรรมดา เราจะสามารถสังเกตอาการที่จะพุ่งออกไปเสพ อยากคุยด้วย อยากมองเขา ชอบที่จะคิดถึงเขา ฯลฯ หลาย ๆ อาการที่จะพุ่งออกไปเสพ แม้จะเป็นแค่ในใจก็ตาม เราก็จะจับอาการเหล่านั้นนั่นแหละ มาพิจารณาสาเหตุว่าเราหลงอะไรหนอ เราติดอะไรหนอ เราอยากได้อะไรหนอ

ติดมุมไหนก็ต้องแก้มุมนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีใครทำสารบัญกิเลสในความอยากมีคู่ เพราะถึงจะทำกระดาษก็คงไม่พอ เพราะกิเลสเป็นเรื่องหยุมหยิบ ซับซ้อน น่าปวดหัว มีมารยา ไม่เปิดเผยตามจริง ดังนั้น การที่จะพิจารณาอาการได้ชัดจะต้องมีสัญชาติญาณคนตรงว่าติดตรงไหน โดยปกติกิเลสมันจะปัดป้องให้มันเบี้ยวออกไป เพื่อที่จะไม่ได้จับตัวมันได้ อาการที่เกิดขึ้นคือความจริง แต่กิเลสจะสร้างความคิดขึ้นมาว่านั่นไม่ใช่บ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง โดยเบื้องต้นต้องหัดที่จะยอมรับความจริงก่อนว่าเราหลงมามากจริง ยอมรับความจริงว่ามันติด มันชั่ว มันทุกข์ อยากจะออกจากความหลงติดหลงยึดหลงผิดไปชั่วนั้น มันจะเบิกทางได้ง่ายขึ้น ถ้ามาปฏิบัติตนเป็นโสดแล้วไม่ยอมรับความจริงตามความเป็นจริงในแต่ละอาการที่เกิดขึ้น เรียกว่าปิดประตูบรรลุธรรมได้เลย เพราะนอกจากจับโจรไม่ได้แล้ว ยังโดนโจรหลอกปั่นหัวอีกด้วย

เมื่อเราซื่อตรงกับตนเอง พบว่าตนเองหลงติดเรื่องนั้นเรื่องนี้ว่าเป็นสุข น่าได้น่าเสพ ตรงนี้เราก็กำหนดศีลเพิ่ม ว่าเราจะกำจัดความหลงตัวนี้ในหมวดความอยากมีคู่เพิ่ม เรียกว่าอธิศีล คือศีลที่มีความละเอียดในการกำจัดกิเลสมากขึ้น เหมือนลงรายละเอียดระดับจุดทศนิยม เป็นข้อย่อยของกิเลส ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติในการกำจัดกิเลส เราจะแจกแจงกิเลสไปเรื่อย ๆ จนลึกถึงขั้นโมหะ จนถึงตอนนั้นก็เรียกว่าจุดทศนิยมหลายหลักเลยเชียวล่ะ

เมื่อกำหนดศีลว่าจะกำจัดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ความรู้ของเราถึงขีดจำกัดแล้ว ธรรมะที่ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ เริ่มจะไม่ตอบโจทย์ที่ความลึกระดับนี้ ก็ให้หมั่นเข้าหาครูบาอาจารย์เพื่อสอบถามเพิ่มในรายละเอียด เข้าหาหมู่มิตรดีที่มีพลังในการพาพ้นเรื่องความอยากมีคู่ แล้วสอบถามสนทนา จะได้เหลี่ยมมุมในการรับมือกับกิเลส พร้อมกับปัญญาในการโต้กลับ ในตอนนั้น ปัญญาของเรายังเป็นระดับของสุตมยปัญญา คือปัญญาจากการได้ยินได้ฟัง ในขั้นต่อไปคือการพัฒนาตนไปสู่ภาวนามยปัญญา คือปัญญาจากการที่ได้พัฒนาจิตจนเกิดผล

ปัญญาจากการได้ยินได้ฟัง ก็เหมือนกับหลาย ๆ คน ในสำนักปฏิบัติธรรม สำนักใดสำนักหนึ่ง ที่อาจจะพูดหรือเข้าใจคล้าย ๆ กัน เพราะได้ยินได้ฟังและเข้าใจมาเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความเวลาเขาเหล่านั้นกระทบกับทุกข์แล้วจะยังสามารถดำรงจิตได้ตามสิ่งที่เคยได้ยินมา แต่ถ้าเราพัฒนาจิตของเราได้จริง จนเกิดภาวนามยปัญญาคือสภาพที่ล้างกิเลสจนเกิดปัญญาในตน จะทำให้เราไม่หวั่นไหวแม้กระทบสิ่งยั่วยุยั่วยวนอยู่ นั่นเพราะมีปัญญาเห็นโทษชั่ว เห็นความจริงของสิ่งเหล่านั้นด้วยตนเองแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่ได้ยินได้ฟัง

เมื่อได้ศึกษามาแล้วมาตรวจในจิตตนเอง จะพบว่าธรรมะกับกิเลสมันจะไม่ไปทางเดียวกัน กิเลสมันจะเถียงเอาอย่างมันท่าเดียว ฟังครูบาอาจารย์หรือหมู่มิตรดีมาเท่าไหร่ มันจะมีเงื่อนไข มีข้อแม้ มีแต่ว่า… เพื่อให้ได้มาเสพเสมอ นี่คืออาการดิ้นของกิเลสเมื่อเจอกับธรรมะ มันจะไม่ยอมสลายตัว มันไม่ยอมให้จิตเราเป็นเนื้อเดียวกับธรรมะ มันจะเป็นส่วนเกินของจิตอยู่เสมอ

ก็หมั่นพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงตามที่ได้ศึกษาตามครูบาอาจารย์และหมู่มิตรดีมา กิเลสจะถูกทำลายโดยลำดับ เพราะมีพลังสัมมาทิฏฐิ มาเปลี่ยนมิจฉาทิฏฐิ ความสงบลงโดยลำดับ คือสามารถดับ 3 ภพ ของกิเลสได้โดยลำดับ คือ ดับกามภพ ดับรูปภพ ดับอรูปภพ

การดับกามภพคือ ไม่ไปเสพกามในหมวดนั้น ๆ อีกแล้ว ในเรื่องการมีคู่ ผู้ที่ดับกามภพได้จะไม่ไปมีคู่อีกต่อไปแล้ว แต่ในใจลึก ๆ ยังมีความยินดีในการมีคู่อยู่ เรียกว่ารูปภพ คือรู้ว่าตนเองอยาก แต่ไม่ได้อยากระดับที่จะต้องไปมีคู่ จะมีการปรุงเพื่อเสพสุขอยู่บ้าง ก็เป็นภายในใจ ไม่เผยให้คนอื่นได้เห็น ในขั้นนี้ก็ยังมีความหลงผิดเหลือ แต่เหลือในระดับรูปภพ คือยังเห็นกิเลสปรุงอยู่ชัด ๆ แต่ยังกำจัดมันออกไปไม่ได้

เมื่อเจริญถึงขั้นดับรูปภพ จะเข้าสู่อรูปภพ กิเลสที่เหลือจะไม่เป็นรูปให้เห็นแล้ว ไม่มีการปรุงแต่งใด ๆ ขึ้นมาเป็นรูปชัด จะเหลือแต่อาการขุ่นข้อง หมองใจ หดหู่ ซึมเศร้า เห็นเขามีคู่ก็แอบฟู ๆ พอตนเองไม่มีก็ไม่สดชื่น ไม่สดใส ไม่เต็มใจ มันจะออกไปทางหมอง ๆ ไม่ใส ไม่ชัดเจนในความพ้นทุกข์ ในขั้นนี้จะมีอาการแล่บ ๆ ออกมาให้เห็นเป็นระยะอยู่ว่ายังไม่พ้น ซึ่งก็ตั้งศีลเพิ่มขึ้นไปอีก ละเอียดลงไปอีกว่าความหวั่นไหวแม้น้อยก็จะไม่มีเพื่อทำร้ายตนและผู้อื่น มันก็จะบีบกิเลสไปเรื่อย ๆ อาการจะชัดขึ้นเมื่อตั้งศีล สำรวมอินทรีย์ ก็ใช้วิธีเดิมในการปฏิบัติ ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนหมดโง่ พอหมดโง่ มันจะฉลาดเอง จะมีปัญญารู้เองว่าเคยโง่อะไร โง่แค่ไหน โง่อย่างไรมาก่อน ตัวพ้นทุกข์ คือปัญญาที่รู้แจ้งเท่าทันความโง่ในหมวดนั้น ๆ ทุกเหลี่ยมทุกมุม

เมื่อดับอรูปภพได้ จะไม่หวั่นไหวกับใครอีกต่อไปแล้ว แม้กระทบกับคนที่น่ารัก น่าเอามาเป็นคู่ที่สุดในโลกก็ตามที ในส่วนของการปฏิบัติ คือ ไม่เหลืองานในกิเลสเรื่องนี้ให้ทำอีกแล้ว ถือว่าได้ปฏิบัติตนเพื่อกำกัดความอยากมีคู่หมดแล้ว ก็เอากำลังกับธรรมะที่มีไปปฏิบัติเรื่องอื่น ๆ ที่หลงผิดต่อ

ที่เล่ามานี้ก็เป็นขั้นตอนโดยสรุปที่พยายามย่อให้สั้น ในรายละเอียดของการปฏิบัติ ก็ต้องเรียนรู้การตรวจสภาวธรรมข้ออื่น ๆ เช่น สติปัฎฐาน 4,เวทนา 108, อรูปฌาน 4 เพื่อใช้ในการตรวจสอบความหลงเหลือหลงโง่ในกิเลสเรื่องนั้น ๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย

14.12.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

โอกาสในการ่วมกันทำความดี

November 28, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,306 views 0

โอกาสในการทำดี

ในช่วงเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา หลายคนก็คงจะได้เห็นผู้คนออกมาร่วมทำความดีกันในหลายรูปแบบ ซึ่งผมเองก็ได้ไปเก็บข้อมูลในพื้นที่แถวสนามหลวง และพบว่าที่นี่มีงานหลากหลายที่เอื้อให้คนทุกวัยทุกฐานะได้ทำความดีร่วมกัน

คิดดี นั้นก็ดีอยู่ พูดดีนั้นก็ยิ่งดี แล้วถ้าทำดีตามที่คิดและพูดยิ่งจะดีเข้าไปใหญ่ การที่เราจะลุกออกมาทำดีนั้นไม่ง่าย ต้องมีกำลังใจที่มากพอจะผลักดันเราออกจากชีวิตเดิม ๆ ลุกออกมาทำสิ่งใหม่ คือสิ่งที่ดีมากยิ่งขึ้น ในภาษาธรรมะเรียกว่า “อธิศีล” คนที่ยังไม่เคยทำดี ก็หันมาทำดี คนที่ทำดีอยู่แล้ว ก็ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก นี่คือลักษณะของคนที่จะไม่เสื่อมไปจากความดีงามและธรรมทั้งหลาย

ผมเองได้ลองสัมผัสงานจิตอาสาหลาย ๆ แบบ และพบว่าแต่ละงานนั้นมีรายละเอียด ใช้ทุน ใช้ความสามารถต่างกันไป แต่งานที่ทำได้ง่ายก็คือการช่วยกรอกข้าวสารที่ทำเนียบรัฐบาล ผมลองไปแล้วพบว่าบรรยากาศผ่อนคลายเหมือนครอบครัวพากันไปนั่งเล่นที่สวนสาธารณะ คนเฒ่าคนแก่ก็นัดมาเจอกัน กรอกข้าวไปก็พูดคุยกันไป มีอาหารเลี้ยง มีห้องน้ำสะดวก เหมาะสำหรับจิตอาสามือใหม่

ถ้ากำลังใจแข็งกล้าแล้วก็มาลุยงานกันต่อที่สนามหลวง มีงานอาสามากมายที่นี่ เป็นเหมือนสวรรค์ของนักบำเพ็ญความดีทั้งหลาย มีงานเช่น เดินเก็บขยะ ช่วยคัดแยกขยะ แจกยา แจกอาหาร แจกน้ำ ช่วยให้คำแนะนำต่าง ๆ ฯลฯ ก็เป็นงานที่ต้องใช้แรงกันมากขึ้น ใครสนใจก็ไปสอบถามเจ้าหน้าที่หรือจิตอาสารุ่นพี่กันได้

หรือถ้ารู้สึกว่าแรงยังเหลือ กำลังใจยังมีมาก อยากทำงานหนักมากขึ้น ต้องการทำดีในส่วนที่คนขาด ในตอนนี้ก็มีหลายโรงทานที่เปิดพื้นที่เอื้อให้ช่วยกันทำความดี โดยงานหลักก็จะเป็นงานครัวตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ ล้างวัตถุดิบ หั่น ปรุง ยก เสริฟ ล้างภาชนะ .. ซึ่งในส่วนนี้อาจจะต้องเข้าไปสอบถามในแต่ละโรงทานว่าเขาต้องการกำลังคนไหม

หรือถ้าเป็นผู้มีทุนทรัพย์ มีกำลัง จะทำอาหารมาแจกก็ได้ หลายคนเขาก็ทำอาหารมาแจกเป็นครั้งคราว หรือจะเป็นของใช้จำเป็นบางอย่างเช่น ยาดม ผ้าเย็น ฯลฯ รวมถึงของอื่น ๆ  ที่ช่วยให้ระลึกถึงบุคคลที่ควรบูชาก็มีผลดี เกิดผลดีเหมือนกัน

หรือจะเป็นงานจิตอาสาจำพวกขับรถมอเตอร์ไซค์รับส่งคนก็มีประโยชน์มากเช่นกัน เพราะหลังออกจากวัง จะเดินกลับไปขึ้นรถเมล์ที่สนามหลวงมันก็ไกล คนหนุ่มสาวก็พอเดินไหว แต่ถ้าคนแก่นี่ท่าจะลำบาก งานรับส่งคนก็ช่วยกันได้มาก ใครที่ชอบขับรถก็เอาความสามารถตรงนี้มาทำดีได้

จริง ๆ ก็มีงานจิตอาสาที่หลากหลาย แต่เอาเท่านี้ก่อน จะสรุปว่า ตอนนี้มีพื้นที่ที่เอื้อให้ทุกคนได้ร่วมกันทำความดี ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นสนามหลวงก็ได้ ผมยังเคยเจอวัยรุ่นไปถือถุงช่วยเก็บขยะที่ตลาดนัดจตุจักรด้วยซ้ำ คือใครทำดีที่ไหนได้ก็ทำไป นั่นแหละดีแล้ว แต่ถ้ามาร่วมกันทำ เราจะมีกำลังใจเพิ่ม คนที่เริ่มทำงานจิตอาสาใหม่ ๆ ทำพร้อม ๆ กับเพื่อนกับรุ่นพี่จะมีกำลังใจดีขึ้น ไม่โดดเดี่ยว แถมยังได้เพื่อนใหม่ ชวนกันมาทำดีเรื่อย ๆ

ถ้าอยู่ห่างไกลสนามหลวง ก็รวมตัวกันทำ หรือแบ่งงานแยกกันไปทำแล้วค่อยมารวมกัน เช่นการพับกระทงกระดาษไว้ใส่อาหาร เป็นการสร้างวัฒนธรรมเพื่อลดการใช้โฟม แม้มันจะไม่สมบูรณ์แบบในเชิงการใช้งาน แต่มันสวยงามในเชิงของจิตใจ เพราะคนที่แม้จะอยู่ห่างไกล แต่ใจเวลาพับก็จะระลึกถึงเพื่อนที่ร่วมกันทำดี จิตตรงนี้แหละที่มันสวยงาม มันมีคุณค่า มันประเมินค่าไม่ได้ พอทำเสร็จเอามาส่ง ที่โรงทานเขาก็ได้ใช้ประโยชน์ ได้ลดใช้โฟม ได้ร่วมกันทำความดี

การร่วมทำความดีนี่แหละ ที่จะหลอมรวมคนดีให้พบเจอกันในทุกชาติ เป็นการประกันชีวิตที่ดีที่สุด เพราะทำความดีกับคนดีแล้วก็จะได้พบเจอกับคนดี ได้เจอกับสิ่งดี พอชีวิตพบเจอกับคนดี มีน้ำใจ เสียสละ หวังประโยชน์เกื้อกูลกันและกัน ชีวิตก็จะมีความผาสุก

ถ้าไม่อยากได้ความผาสุก ชีวิตไม่อยากเจอคนดี ก็ไม่ต้องทำอะไร ใช้ชีวิตไปเหมือนเดิม ปล่อยวาง อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด ไม่ต้องรีบร้อน ไม่วุ่นวาย ไม่ลำบาก ปล่อยไปตามเวรตามกรรม สุดท้ายก็จะได้ประกันชีวิตอีกชุดหนึ่ง คือประกันเลยว่าชีวิตหนึ่งเกิดมาจะพบกับคนดียาก เพราะไม่เคยทำกรรมดีร่วมกันมา ย่อมไม่พบเจอกัน ก็เลือกพิจารณากันไปตามแต่จะเห็นประโยชน์

สุดท้ายนี้ก็ชักชวนกันตรง ๆ ว่านี่คือโอกาสที่ดีที่สุดในช่วงชีวิตหนึ่ง ๆ  ซึ่งอาจจะมีแค่ครั้งเดียวที่มีโอกาสอันยิ่งใหญ่แบบนี้ก็ได้ คือโอกาสข้างหน้าน่ะมี… แต่จะมีชีวิตอยู่ถึงตอนนั้นหรือไม่ก็ไม่รู้ ดังนั้นเราไม่ควรประมาทกับเวลาที่ผ่านไป เราควรใช้เวลาที่มีให้เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นให้มากที่สุด เพราะนั่นคือหลักประกันแห่งความผาสุกในชาตินี้ ชาติหน้าและชาติอื่น ๆ สืบไป

ปฏิบัติธรรมที่ไหนดี?

November 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,210 views 0

ปฏิบัติที่กิเลสสิดี
ถ้าไม่เอาธรรมะไปปฏิบัติต่อกิเลส
แล้วจะปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร?

กิเลสมีตรงไหนก็ปฏิบัติตรงนั้น
มีกิเลสเรื่องไหนก็ปฏิบัติเรื่องนั้น
ให้มันถูกตัวถูกตนของกิเลส

ปฏิบัติธรรมไม่เห็นตัวตนของกิเลส
ก็เหมือนคนตาบอดถือปืนเดินเข้าป่าหมายจะล่าสัตว์
ได้ยินเสียงอะไรขยับก็ยิงออกไป
ในทิศทางที่เดาเอาเองว่าใช่
พอเสียงนั้นเงียบไป จึงเข้าใจว่าสัตว์นั้นตาย
ก็หลงดีใจว่าเรานี่เป็นผู้ล่า เราชนะสัตว์นั้นแล้ว

แต่สัตว์นั้นคืออะไรไม่รู้…
ยิงไปทางไหนก็ไม่รู้…
แล้วกำลังอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้…
ว่าแล้วก็หลงป่าไปในที่สุด….

กิเลสจะถูกเห็นได้ก็ต่อเมื่อมีศีล
และจะชัดยิ่งขึ้นเมื่อเพิ่มอธิศีล
หากคนไม่มีอธิศีล สักแต่ว่าถือศีล
ก็จะเสื่อมจากความเจริญในที่สุด

การปฏิบัติธรรมที่ไม่มีศีล
ย่อมไม่มีมรรคผลใดๆเกิดขึ้น
เหมือนนักปฏิบัติธรรมตาบอด
แต่หมายจะไล่ล่าทำลายกิเลส
ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้เลย
แม้แต่จะจินตนาการ…