Tag: สุขลวง

ทำอย่างไรดี ฉันอยากมีคู่

June 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,934 views 0

ทำอย่างไรดี ฉันอยากมีคู่

แม้ว่าจะได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับทุกข์ของการมีคู่มามากมาย ได้รู้ธรรมะที่ว่าการมีคู่นั้นสุขน้อยทุกข์มาก ทราบดีว่าเป็นสิ่งที่ผูกพันเราอยู่ในวิถีโลกียะ จำที่เขาสอนได้ว่าทั้งหมดเป็นเพียงแค่สิ่งที่ว่างเปล่าไม่มีแก่นสาระอะไร แต่กระนั้นกิเลสข้างในก็ยังไม่ยอมรับความโสด ยังคงมีเหตุผลมากมายที่จะมาหักล้างความดีงามของความโสด จนความอยากมีคู่นั้นล้นทะลักออกมาเป็นความคิดที่ปักมั่นว่า “ฉันจะต้องมีคู่

แล้วเราจะทำอย่างไรในเมื่อกิเลสนั้นทรงพลังมาก แต่ธรรมะที่มีนั้นอ่อนแอเสียเหลือเกินมองไปทางไหนเห็นคนมีคู่ก็สุขใจ ได้ยินเรื่องราวความรักก็แอบอมยิ้ม อิจฉา อยากได้อยากมีแบบเขาบ้าง

ก่อนที่เราจะพลาดพลั้งเสียทีให้กับกิเลสจนตัดสินใจที่จะต้อนรับใครสักคนเข้ามาในชีวิต เราก็ควรจะศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของการมีคู่ เพราะการมีคู่นั้นมีความเสี่ยงสูง ผู้ที่คิดจะมีคู่ควรตัดสินใจให้ถี่ถ้วนเสียก่อน และทั้งหมดนี้ไม่ใช่การลงทุน

1).เราหลงสุขในอะไร

ความอยากมีคู่นั้นคือผลที่สุกงอมของกิเลส ซึ่งอาจจะเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นว่ามนุษย์ต้องเกิดมาเพื่อสืบพันธุ์ มีครอบครัวจึงจะสมบูรณ์ หรือไม่ก็ในมุมที่อยากเสพสุขทางกามอารมณ์ใดๆสักอย่าง

การหลงว่าการสืบพันธุ์เป็นหน้าที่ คนเราต้องมีครอบครัว การมีคนรักคือเครื่องยืนยันความสมบูรณ์ ฯลฯ ความเห็นทั้งหลายเหล่านี้เป็นความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องโลก(โลกียะ) ซึ่งไม่แปลกอะไรถ้าใครจะเห็นเช่นนี้ แต่ความเห็นที่จะพาออกจากโลก (โลกุตระ) จะไม่เห็นเช่นนี้ เพราะรู้ดีว่าความเห็นเหล่านี้ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์เลย มีแต่จะทำให้หลงในสุขลวง หลงในความเชื่อ หลงวนเวียนในวิสัยแห่งโลกไปเรื่อยๆ

ในส่วนของความอยากเสพสุขในกามอารมณ์ใดๆ สักอย่าง อยากเสพ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรืออยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สนองอัตตาใดๆก็ตาม เป็นสาเหตุหลักที่ผูกคนไว้กับการมีคู่ ทำให้คนเหล่านั้นไม่ยอมปิดโอกาสในการมีคู่ของตน เพราะรู้ดีว่าถ้าโสดก็จะไม่ได้เสพ แต่ถ้ามีคู่ก็จะได้เสพอย่างที่ตนเองหวังไว้

โดยเฉพาะเรื่องของการสมสู่ เป็นเรื่องที่ติดกันโดยทั่วไป ไม่ว่าจะยากดีมีจน คนเลวคนดี ก็ล้วนเสพติดสุขจากการสมสู่ด้วยกันทั้งนั้น หากอยากจะลองดูว่าเราติดจริงไหมก็ให้ตั้งตบะเลิกสมสู่ทั้งชีวิตก็จะเห็นอาการของกิเลสที่ดิ้นรนหาเหตุผลให้ได้เสพ ไม่ว่าจะเป็นการสมสู่ตัวเองหรือกับคู่ครองก็ตาม

ทั้งหมดนี้คือความสุขที่เราเข้าใจว่าจะได้เสพต่อเมื่อมีคู่ครอง ดังนั้นเมื่อเราอยากเสพ เราก็ต้องหาคู่ครอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลสวยหรูงดงามแค่ไหน การมีคู่นั้นก็ยังเป็นสภาพที่จมอยู่ในกามภพ คือสภาวะที่ยังเสพสุขจากกามอยู่เป็นนิจ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สมสู่กัน ก็ยังเสพสุขในการมีกันและกันอยู่ดี

2). โทษภัยของการมีคู่

แม้ว่าเราจะมองว่าการมีคู่นั้นจะทำให้เราได้เสพสุขจากกิเลสนั้นๆที่เรายึดติด จนทำให้เรามองข้าม ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ได้หายไปไหน ยังคงสะสมผลของอกุศลกรรมที่ทำลงไปเรื่อยๆและรอวันให้ผล

ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ยังเป็นประโยคอมตะที่ไม่มีใครลบล้างได้ แม้เราจะหมายมั่นว่าเราสามารถยอมรับและจัดการทุกข์จากการมีคู่ได้ แต่กระนั้นก็ยังต้องวนเวียนทุกข์อยู่เรื่อยไป ไม่สามารถหนีพ้นพลังแห่งความจริงที่ว่ากิเลสเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ได้ ในเมื่อยังมีความอยาก(ตัณหา) เกิดขึ้น ก็ยังมีอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) ภพ(ที่อาศัย) ชาติ(การเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(คร่ำครวญรำพัน) ทุกข์ โทมนัส(เสียใจ) อุปายาส(ความคับแค้นใจ) เกิดขึ้นตามไปด้วย

และแท้จริงแล้วความสุขจากกิเลสนั้นเป็นความสุขลวง เป็นพลังงานที่เราสร้างขึ้นมาหลอกตัวเอง สร้างรสสุขให้ตัวเอง สร้างเองเสพเอง เสียพลังงานไปเปล่าๆ ทำให้ต้องแสวงหาสิ่งอื่นมาบำเรอเพื่อที่จะได้เสพสุขที่ตนหลงยึดมั่นถือมั่นว่าจะได้เสพจากสิ่งนั้น นั่นหมายถึงการมีคู่แท้จริงแล้วไม่มีรสสุขใดๆเลย สุขที่เห็นและเข้าใจว่ามีนั้น เป็นรสสุขที่เกิดจากพลังของกิเลสทั้งสิ้น

ถึงรสสุขจะเป็นสิ่งลวง แต่ทุกข์นั้นกลับเป็นของจริง ทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์จริงๆที่ต้องรับทั้งหมด เพราะเป็นผลที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยกิเลส เราอาจจะเคยชั่งน้ำหนักว่า ถ้ามีคู่ก็สุขครึ่งหนึ่ง ทุกข์ครึ่งหนึ่ง หรือไม่ก็สุขมากทุกข์น้อย ซึ่งในความเป็นจริงแท้ๆแล้วนั่น สุขไม่มีจริงเลย มีแต่ทุกข์แท้ๆอย่างเดียวเท่านั้น

การมีคู่นั้นสร้างทุกข์ให้มากมาย ทั้งการต้องคอยบำเรอคู่ วิบากกรรมที่ต้องร่วมรับ เช่นเขาไปทำความผิด ทำให้เราและครอบครัวต้องเดือดร้อน เขาต้องเป็นภาระให้เราคอยดูแล เป็นห่วงกังวล เขาล้มป่วยหรือตายก่อนถึงวันที่พร้อม ทำให้เราต้องประสบทุกข์อย่างมาก และยังมีเรื่องราวทุกข์จากการมีคู่ให้ได้เห็นอีกมากมายในสังคม

โทษภัยที่ร้ายที่สุดของการมีคู่คือการดึงรั้งกันไว้ในโลกีย์ ไม่ยอมให้ออกไปง่ายๆ ใช่ว่าคนหนึ่งปฏิบัติธรรมแล้วอีกคนจะยอมให้ทำได้อย่างอิสระ หรือถ้าปฏิบัติธรรมทั้งคู่ก็ใช่ว่าจะสลัดกันออกได้ง่ายๆ เพราะสิ่งที่ผูกกันไว้ใช่ว่าจะตัดกันได้ง่ายๆ สายสัมพันธ์ที่ถูกสอดร้อยด้วยกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่เหนียวแน่นและยากจะแกะออกได้ แม้ว่าเป้าหมายของทั้งคู่คือการบรรลุธรรม แต่การครองคู่นั่นเองคือสิ่งที่ถ่วงและเหนี่ยวรั้งไม่ให้พบกับความเจริญ

3). ประโยชน์ของความโสด

หากเราจะกล่าวถึงประโยชน์ของความโสด ก็เรียกได้ว่ามีประโยชน์กว่าการมีคู่อย่างหาประมาณไม่ได้ แต่คนมักจะไม่ให้ค่าความโสด เพราะหากโสดแล้วก็จะไม่ได้เสพสุขจากการครองคู่ ทั้งที่จริงแล้วความโสดมีคุณประโยชน์มากมาย

ในชีวิตทั่วไป ความโสดทำให้เราคล่องตัวในการดำเนินชีวิต ไม่ต้องผูกพันกับใครมากจนเป็นภาระ เปิดโอกาสให้เพื่อนได้เข้ามาช่วยเหลือจุนเจือ เป็นสังคมเกื้อกูลมากกว่าต้องพึ่งพากันในสภาพของคู่ครองอย่างที่สังคมมักจะทำกัน โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ซึ่งเป็นประโยชน์ตนที่ทุกคนควรทำเป็นอันดับแรก

ความคล่องตัวในชีวิตหมายถึงความสามารถไขว่คว้าโอกาสในการเจริญได้ง่าย เช่นถ้ามีเพื่อนชวนไปทำสิ่งที่ดี คนโสดแทบจะไม่ต้องคิดอะไรมาก แค่เห็นประโยชน์แล้วปัจจัยพร้อมก็ไปได้ทันที แต่คนคู่นั้นมีปัจจัยที่ผูกพันมากกว่า จึงอาจเสียโอกาสในการเข้าถึงสิ่งที่ดีได้

ความโสดยังลดโอกาสในการสร้างวิบากกรรมชั่ว ที่หากยังครองคู่อยู่คงจะต้องสร้างบาปและอกุศลเช่นนี้เรื่อยไป เช่น สมสู่กันอยู่เป็นนิจ พากันเสพสุขลวงจากของอร่อย สถานที่ท่องเที่ยว การสะสม ฯลฯ ซึ่งเมื่ออยู่เป็นโสด จะไม่มีกำลังของกิเลสมากพอจะผลักดันให้ไปทำชั่ว แต่เมื่ออยู่เป็นคู่ คนมีกิเลสสองคนจะรวมพลังกิเลสกันแล้วร่วมใจกันเสพ จึงมีโอกาสทำชั่วได้ง่าย

ทั้งนี้การมองเห็นความดีความชั่วขึ้นอยู่กับฐานศีล ถ้าศีลต่ำก็มองไม่เห็นชั่ว ถ้าศีลสูงก็จะเห็นชั่ว แต่ถึงแม้เห็นหรือไม่เห็น ชั่วก็ยังเป็นชั่ว กิเลสก็ยังเป็นกิเลส มันก็เป็นพลังงานอกุศลของมันอยู่แบบนั้น

4). พรากออกห่าง

เมื่อศึกษาเหตุจากความหลงสุข โทษ และประโยชน์แล้ว แต่ยังไม่สามารถหักห้ามใจได้ ก็พยายามออกห่างจากสถานการณ์ที่ชวนให้กำหนัด ให้รู้สึกหลงรัก ให้เกิดความอยากมีคู่ สร้างระยะห่างขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองพลาดพลั้งให้กับพลังของกิเลสได้ง่าย

เพราะยิ่งอยู่ใกล้สิ่งที่อยากเสพมากเท่าไหร่ หากเราไม่มีกำลังสติมากพอ ก็อาจจะข่มใจไม่ไหว หลวมตัวหลงรัก ตกลงปลงใจคบหากันก็ได้ ยิ่งถ้าพูดถึงปัญญานี่ไม่ต้องห่วงเลย มันไม่มีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะถ้ามีปัญญา ต่อให้มีกำลังสติน้อยมันก็ไม่คิดจะไปเอาใครเข้ามาเป็นคู่ครอง เพราะมันรู้แจ้งในโทษชั่วของการมีคู่แล้ว แต่โดยทั่วไปนั้นจะต้องใช้กำลังสติเป็นเครื่องยับยั้งใจ และใช้ศีลเป็นกำแพงขวางกั้น

5). กำแพงศีลธรรม

เราอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่าผู้ที่จะคบหาเป็นมิตรกันได้นานนั้น จะต้องมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาเสมอกัน ซึ่งความเสมอนั้นไม่ว่าดีหรือชั่ว ต่ำหรือสูง เพียงแค่เสมอก็ทำให้สามารถเป็นมิตรผูกภพผูกชาติไปด้วยกันได้แล้ว

คนชั่วก็จะมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาระดับคนชั่ว คนดีก็จะมีระดับของคนดีเช่นกัน แล้วเราอยากให้คนชั่วหรือคนดีเข้ามาในชีวิตของเรา ถ้าเราอยากให้คนดีเข้ามาในชีวิตของเรา เราก็จะต้องพัฒนาองค์ประกอบทั้งหมดให้ยกระดับขึ้นไปอีก ถ้าในไตรสิกขาก็จะเริ่มด้วยอธิศีล คือศึกษาศีลให้ยิ่งกว่าเดิม

เช่นเราไม่เคยกินมังสวิรัติเลย แต่ก็ไม่อยากเจอคนไม่ดีเลยถีบตัวเองขึ้นไปกินมังสวิรัติด้วยกำลังของศรัทธาที่เห็นประโยชน์ในการลดเนื้อกินผักและเกิดปัญญาว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งดี มีจาคะพอที่จะสละความสุขลวงในความติดรสของตน

ถ้ารู้สึกว่ายังดีไม่พอ ยังเจริญไม่พอ กินมังสวิรัติแล้วยังเจอคนชั่วอยู่ ก็ให้ขยับอธิศีลขึ้นอีก มาศึกษาการกินมื้อเดียว พอมาฐานนี้จะเริ่มมีคนตามได้ยากแล้ว ใครจะปีนกำแพงศีลธรรมมาต้องแกร่งพอสมควร แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีคนทำได้ เราก็ก่อกำแพงขึ้นมาอีกเป็นศีล “อพรหมจริยา เวรมณี” คือละเว้นการประพฤติที่ไม่ใช่พรหม ที่เข้าใจได้ง่ายๆคืองดเว้นการสมสู่แตะเนื้อต้องตัวกัน พอมาฐานศีลนี้ก็จะป้องกันตัวเองจากคนกิเลสหนาและกามจัดได้มากขึ้นอีก ถ้าอยากปลอดภัยอีกก็มีศีลระดับสูงอีกมากมายที่จะป้องกันไม่ให้เราต้องเจอกับตัวเวรตัวกรรม

ทั้งนี้การศึกษาศีล หรือศึกษาไตรสิกขานั้นไม่ใช่จะกระทำได้ง่าย ใช่ว่าจะสำเร็จผลได้ง่าย หากเราถือศีลเป็นคราวๆก็จะได้กำแพงศีลเป็นคราวๆ ซึ่งไม่รู้ว่าวิบากกรรมชั่วจะบุกเข้ามาเมื่อไหร่ แต่ถ้าเราใช้การศึกษาศีลเพื่อให้เกิดปัญญาจนไปชำระกิเลสได้ ก็เรียกว่าได้กำแพงถาวร เกิดเป็นสภาพศีลที่มีโดยปกติ มีศีลได้โดยไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องพยายาม

6). กิเลสนี้เองคือไส้ศึก

แม้ว่ากำแพงศีลธรรมจะมีอยู่ แต่ก็มักจะมีผู้พลาดพลั้งเป็นเรื่องธรรมดา นั่นเพราะมีไส้ศึก คือกิเลสซึ่งเป็นศัตรูร้ายที่อยู่ภายในจิตใจเรา ซึ่งจะคอยชักนำสิ่งที่ดีไม่งามเข้าสู่ชีวิตเรา

การที่มีใครสักคนหลุดทะลุเข้ากำแพงศีลธรรมมาได้โดยไม่ได้ผ่านมาตรฐานอะไรเลยนั้น ดังเช่นสภาพที่ว่า ไม่ได้ชอบแบบนี้แต่สุดท้ายก็ไปคบกับเขา ก็มักจะเกิดจากกิเลสซึ่งเป็นไส้ศึกลากศัตรูเข้ามาในช่องลับ หรือไม่ก็ทำลายกำแพงศีลธรรมเข้ามาเองเลย

การลากศัตรูเข้ามาในช่องลับคือการที่กิเลสของเราหาช่องทางเล็ดรอดให้พ้นกำแพงของศีลเพื่อที่จะให้ได้เสพสุขจากคนที่หมายนั้นโดยไม่ต้องผ่านการคัดครองของศีลแต่อย่างใด ทั้งนี้มักจะเกิดจากความอยากเสพในคนนั้นที่มากเกินควบคุมแล้วจึงหาข้ออ้าง หาช่องให้ได้เสพโดยที่ตนไม่ต้องรู้สึกผิดบาป

การทำลายกำแพงศีลก็คือเมื่อเจอกับคนที่ชอบแล้วก็ยอมลดศีลตนเอง เช่นปกติแล้วเป็นคนกินมังสวิรัติ แต่พอเจอกับคนที่ถูกใจแต่เขายังกินเนื้อสัตว์ก็จะเริ่มอนุโลมไปกินเนื้อสัตว์กับเขา ยอมลดศีลยอมเสพเนื้อสัตว์ไปพร้อมๆกับเสพสุขจากเขาเป็นต้น

7). วิบากกรรมเพื่อเรียนรู้

สุดท้ายเมื่อพยายามอย่างที่สุดแล้วก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับพลังของกิเลส ซึ่งมาในรูปรวมของคำว่า”วิบากกรรม” หรือกรรมเก่า ซึ่งหมายรวมไปถึงกิเลสที่สะสมมาจนมีกำลังมากพอที่จะพาให้รู้สึกหลงรักจนคบหาได้เช่นกัน

สรุปได้ว่าเราไม่สามารถโทษกรรมเก่าแต่ปางก่อนได้เสมอไป เพราะมีกิเลสเป็นองค์ประกอบร่วมด้วย แต่ถ้าคิดว่ากำจัดกิเลสได้จนสิ้นเกลี้ยงหรือไม่มีความอยากเสพใดๆปรากฏให้รู้ได้ทั้งสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพแล้ว การต้องรับคู่เข้ามาในชีวิตก็คือเรื่องของวิบากกรรมที่จำเป็นต้องรับไว้ด้วยองค์ประกอบทางโลกบางอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นภาระ แต่เป็นความจำเป็นที่ต้องแบกไว้เพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่นบางอย่างเช่นกัน

คนธรรมดาทั่วไปอย่างเราๆนั้น ไม่มีความจำเป็นใดๆเลยที่ต้องรับใครเข้ามาในชีวิต ถึงเราจะมีคู่ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรที่สังคมให้ความสนใจ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้เกิดสิ่งดีงามอะไรขึ้นมา

นั่นหมายความการพ่ายแพ้ต่อแรงของกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักมากที่สุดในการไปมีคู่ ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นสิ่งที่ยากจะห้ามได้ ในเมื่อเขาเหล่านั้นไม่ได้มีกรรมดีที่ทำไว้มากพอที่จะช่วยดึงเขาออกจากนรกคนคู่ ซ้ำยังมีกรรมชั่วที่สั่งสมอุปาทานว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสุขไว้อย่างมากมาย เขาเหล่านั้นจึงต้องไปทดลองมีคู่เพื่อเรียนรู้วิบากกรรมกิเลสที่ตัวเองได้สร้างขึ้นมานั่นเอง

มีคนจำนวนไม่น้อย มีคู่แล้วประสบทุกข์อย่างมาก ในตอนแรกก็คาดหวังไว้ว่านี้คือคู่ชีวิตที่จะรักและดูแลกันไปชั่วนิรันดร์ ซึ่งคู่แต่งงานก็มักจะประกาศถ้อยคำที่มีนัยเช่นนี้ทั้งนั้น แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่สุดท้ายต้องตะเกียกตะกายออกมาจากนรกคนคู่ แม้จะพยายามปีนป่ายก็จะโดนวิบากกรรมลากกลับไปทุกข์อยู่ไม่จบไม่สิ้น

คนที่หลุดออกมาได้ก็จะมีสภาพบาดเจ็บ ถูกทำร้ายจิตใจ บ้างก็ถูกทำร้ายร่างกายด้วย ส่วนคนที่ทุกข์แต่ยอมทนเพราะไม่กล้าพอจะแบกรับผลก็อยู่กันทั้งรักทั้งชัง หวานก็ไม่ค่อยมี ขมก็ต้องฝืนกลืน

คนบางพวกที่ยังประสบทุกข์น้อยสุขมากยิ่งน่ากลัว เพราะจะหลงว่าความรักดีๆสามารถสร้างได้ เช่นในกลุ่มคนดีก็มักจะสร้างกุศลกรรมเป็นแรงหนุนให้ได้เสพสุขอยู่ในรักร่วมกันจนแก่เฒ่า เป็นความประมาทที่ร้ายสุดร้าย เพียงเพราะหลงสุขลวงในชาตินี้เท่านั้น เหตุจากไม่เข้าใจกฎแห่งกรรมอย่างแจ่มแจ้ง จึงมองการเสพสุขแบบโลกีย์เช่นนี้เป็นเป้าหมายในชีวิต

สุดท้ายไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การรับใครเข้ามาในชีวิตด้วยกิเลสคือการสร้างหนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบไว้ว่า กามฉันทะ คือความเป็นหนี้ กามฉันทะนั้นกินความหมายกว้างมากไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเพศ แต่หมายรวมไปถึงความสุขจากการได้เสพทั้งหมด ซึ่งเป็นลักษณะของกามภพ

นั่นหมายความว่าหากเรายังต้องคอยเสพสุขลวงจากการมีคู่อยู่ เราก็ต้องคอยใช้หนี้กรรมอยู่เรื่อยไปไม่จบไม่สิ้น…

– – – – – – – – – – – – – – –

20.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา

April 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,831 views 0

การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา

สรุปขั้นตอนปฏิบัติธรรมแบบรวบรัด การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา

สรุปหลักปฏิบัติที่เป็นขั้นตอนที่สั้นและรวบรัดนั่นคือการทำลายกามด้วยอัตตา และทำลายอัตตาด้วยอุเบกขาตามลำดับ ด้วยหลักใหญ่เพียงเท่านี้ก็สามารถทำลายกิเลสในเรื่องนั้นๆได้สิ้นเกลี้ยง

ในตอนแรกเราก็มักจะติดกามกันอยู่ คือการที่ยังไปเสพสุขลวงที่เกิดจากกิเลสยังเป็นความชั่วและเป็นบาปที่หยาบอยู่ และการจะออกจากสุขลวงเหล่านั้นจะต้องใช้อัตตาคือความยึดดีเข้ามาช่วยทำลายกาม เรียกว่าต้องเป็นคนดีก่อนแล้วจึงจะไม่ไปเสพสิ่งที่ชั่ว ต้องติดดีขนาดที่ว่าเว้นขาดจากการเสพกามทั้งทางกาย วาจา ใจ คือใช้อัตตาทำลายกามให้สิ้นเกลี้ยงไปก่อนเลย

ทีนี้พอออกจากกามได้ก็จะเหลืออัตตาไว้ กลายเป็นคนติดดี ยึดดี ถือดี คือชั่วไม่ทำแล้ว ทำแต่ดี แต่ก็ยังมีความยึดดีที่เคยใช้ออกจากชั่วนั้นเป็นสิ่งที่สร้างทุกข์ที่ทรมานตนและทำร้ายผู้อื่นอยู่ ดังนั้นเมื่อออกจากกามได้เด็ดขาดแล้ว จึงต้องใช้อุเบกขา หรือการไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ปล่อยวางตัวตนเสียก็จะสามารถทำลายอัตตาได้

เมื่อไม่มีทั้งกามและอัตตา ก็จะถือว่าจบกิจในเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องๆไป เรื่องไหนทำได้ถึงที่สุดก็คือจบ เช่นกินมังสวิรัติ กินจืด กินมื้อเดียวได้โดยไม่มีกามและอัตตาก็ถือว่าจบในเรื่องนั้นๆไป

นรกของกาม

กามนั้นเป็นสิ่งที่มีภัยมาก พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ละกามเสียก่อน จนกระทั่งให้เว้นขาดจากกามไปเลย กามนั้นส่งผลทั้งกาย วาจา ใจ แม้ว่าเราจะหักห้ามร่างกายไม่ให้ไปเสพกามได้แล้ว แต่ถ้าความรู้สึกลึกๆมันยังสุขอยู่ ใจมันยังอยากเสพอยู่ ก็เรียกได้ว่ายังไม่พ้นจากพลังของกาม ซึ่งกามในระดับของใจนั้นฝังลึกติดแน่น สามารถวัดได้คร่าวๆ จากความรู้สึกยินดี เราเมื่อได้เสพหรือเห็นผู้อื่นเสพกามนั้นๆแล้วเกิดอาการอยากบ้าง เป็นสุขบ้าง อยากเสพอีกบ้าง

ความยากของอัตตา

กามนั้นเป็นเรื่องหยาบที่ยังเป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่นที่เห็นได้ชัดเจนอยู่ จึงสามารถกำจัดได้ไม่ยากนัก แต่อัตตานั้นเป็นเรื่องยาก เห็นได้ยาก ล้างได้ยาก การจะล้างอัตตาโดยไม่ศึกษาธรรมะนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถึงจะติดอัตตาอยู่ก็อาจจะจับอาการของตัวเองไม่ได้ง่ายๆ เพราะมันมีความลึก ความละเอียด ความซับซ้อนอยู่มาก นี้เองคือความยากของอัตตา

ความหลงผิดในอนัตตา

การลัดขั้นตอนไม่เป็นไปตามลำดับนั้น จะทำให้เกิดความหลงผิด และจมหนักยิ่งกว่าเดิม เช่นเรายังติดกามอยู่ แต่เราก็ดันไปพิจารณาอุเบกขา เจอของอร่อยก็พิจารณา “ไม่ใช่ตัวเราของเรา, อย่าไปยึดมั่นถือมั่น, อย่ามีตัวตน,ฯลฯ” ว่าแล้วก็ไปกินของอร่อยอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ไปเสพกามอยู่นั่นเอง เป็นสภาพอนัตตาหลอกๆที่จิตปรุงขึ้นมาเพื่อให้ได้เสพกามเท่านั้น กลายเป็นทิฏฐิเช่นว่า เสพสุขจากกามอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น …ซึ่งมันก็เหมือนคนทั่วไปที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย แถมยังมีกรรมอันเป็นมิจฉาทิฏฐิสะสมไว้เป็นทุนให้ต้องใช้วิบากในภายภาคหน้าอีก

อุเบกขาธรรมะ

การหลงผิดแบบแย่สุดแย่เข้าไปอีกคือการไม่ได้คิดจะปฏิบัติอะไรเลย กามก็ไม่ล้าง อัตตาก็ไม่ล้าง แต่ใช้การอุเบกขาให้ดูเหมือนเป็นผู้มีอนัตตาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอะไรสักอย่าง คือมองไปว่าการปฏิบัติธรรมก็มีตัวตน จึงทำตนให้ไม่ต้องมีตัวตนตั้งแต่แรก อุเบกขาการปฏิบัติธรรมทั้งหมดไปเลย ใช้ชีวิตไปตามปกติอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น(แบบคิดไปเอง) ทีนี้พอปล่อยวางธรรมะ ทั้งที่ยังมีกิเลสหนา มันก็ไปนรกอย่างเดียวเท่านั้นเอง ซึ่งจริงๆแล้วอุเบกขามันมีเอาไว้จบในตอนท้าย เป็นตัวจบของกิเลส ไม่ใช่ตัวเริ่ม ใครเอาอุเบกขามาทำตั้งแต่เริ่มจะไม่ได้ทำอะไรเลย กลายเป็นอนัตตาแบบคิดไปเอง เรียกว่าเป็นปัญญาแบบเฉโก คือมีความฉลาดที่พาไปในทางฉิบหาย

– – – – – – – – – – – – – – –

30.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก

April 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,297 views 0

นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก

นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก

การมี การได้รับ การได้ครอบครอง หรือการได้เสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อเขาเหล่านั้นได้ความรู้สึกสุขก็จะยึดมันไว้ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการเป็นนักสะสม

นักสะสมนั้นสามารถสะสมได้ตั้งแต่วัตถุที่เป็นรูปธรรมจนถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เรียกได้ว่าติดสุขในอะไรก็มักจะสะสมสิ่งนั้น และสิ่งที่เราทุกคนนิยมสะสมกันมากที่สุดก็คือการสะสม “กิเลส

กิเลสเป็นพลังที่พาให้คนหลงไปในสุขลวงในมุมที่แตกต่างกัน บางคนไปสุขกับการสะสมสิ่งของ บางคนสุขกับการสั่งสมคนรัก บางคนสุขกับการได้รับคำสรรเสริญเยินยอ เมื่อได้รับสิ่งใดก็จะยิ่งอยากได้รับสิ่งนั้นมากขึ้นไปอีก กลายเป็นคนที่กระหายใคร่อยากจะเสพในสิ่งที่ตนหลงรักและชอบใจ

การสะสมกิเลสนั้นง่าย มีคนเก่งในการสะสมกิเลสมากมาย ยิ่งสนองกิเลสตนเองและกระตุ้นกิเลสผู้อื่นได้มากเท่าไหร่ก็มักจะได้รับการยอมรับว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนที่มีความสามารถ เป็นคนที่มีคุณค่าต่อโลก ฯลฯ

ต่างจากการเลิกสะสมกิเลส การลดกิเลส การละกิเลส การทำลายกิเลส เรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครสนใจนัก แม้จะเห็นแต่ก็ไม่ใยดี ไม่ยินดีที่จะลดกิเลส เพราะเข้าใจว่าการสะสมกิเลสมันได้สุขมากกว่า

ถึงแม้จะสนใจก็ใช่ว่าจะหาคนที่พาลดกิเลสได้ง่ายนัก เหมือนใช้ชีวิตอยู่ในกระแสของกิเลสที่เชี่ยวกราก ยากแท้จะหาผู้ใดที่สามารถจะทวนกระแสของกิเลสนั้นได้ และยากยิ่งกว่าคือการจะพาตัวเองออกจากกระแสของกิเลสไปเจอคนเหล่านั้น จึงได้แต่ปล่อยให้ชีวิตลอยไปตามกระแสของกิเลส สนองกิเลส สะสมกิเลส เสพสุขอยู่ในโลกอย่างไม่จบไม่สิ้น

เมื่อเสพสุขอยู่แต่เรื่องโลก ไม่ว่าจะในระดับอบายมุข กามคุณ โลกธรรม หรืออัตตา ต่างก็ล้วนสร้างความยึดมั่นที่ตรึงตนเองให้อยู่ในโลกมากขึ้น แม้จะต้องทนทุกข์จากกิเลส แต่ก็จะหลงมัวเมาจนไม่สามารถมองเห็นกิเลสได้ เหมือนกับปลาที่อยู่ในน้ำย่อมหมายเอาว่าแม่น้ำนั้นแหละคือที่อาศัยของมัน และโลกเหนือน้ำไม่มีอยู่จริง ถึงจะมีจริงก็อยู่ไม่ได้

แท้จริงแล้วกิเลสนี้เองคือสิ่งที่ยึดเราไว้กับโลก ยิ่งเราสะสมกิเลสมากเท่าไหร่ แรงยึด แรงที่ดูดดึงไว้กับเรื่องโลกก็จะมากเท่านั้น ดังนั้นการจะพยายามทวนกระแสโลก การจะออกจากโลก จนกระทั่งการจะอยู่เหนือโลกที่เรียกกันว่า “โลกุตระ” นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ในวิสัยของนักสะสม

กิเลสจะบังตาของนักสะสมไว้ เรียกว่าเห็นก็ไม่ได้ ถึงเห็นก็ไม่รู้ ถึงรู้ก็ไม่เข้าใจ ถึงเข้าใจก็เป็นเพียงตรรกะหรือคำบอกเล่าที่ยินได้ฟังมา

แม้จะพยายามยอมตัดใจเลิกสะสม แต่กิเลสก็มักจะเหนี่ยวรั้งไว้ ถึงจะเลิกอย่างหนึ่งก็ไปติดอีกอย่างหนึ่ง ถึงจะบังคับข่มใจอย่างไรก็จะมีแต่ความทรมานที่กิเลสมอบให้ บังคับให้นักสะสมเหล่านั้นกลับไปเสพด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือต่างๆนาๆ

ดังนั้นการสะสมจึงกลายเป็นนรกที่ตนเองสร้างไว้ขังตัวเอง ยึดสะสมมากก็ยิ่งลึกมาก ยิ่งปีนขึ้นมายาก ต่อให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถขนาดไหน ต่อให้ได้ปริญญาเอกเป็นร้อยใบ ต่อให้ได้ชื่อว่าฉลาดรอบรู้และเป็นที่ยอมรับในสังคม ต่อให้เป็นนักบวชและผู้ปฏิบัติธรรมที่เคร่งศีล ต่อให้นักรบที่ว่าแน่แค่ไหน ผ่านความเจ็บปวดความเสี่ยงตายมาเท่าไร แต่ถ้าไม่ได้เรียนวิชาล้างกิเลสก็จะไม่สามารถหลุดออกจากห้วงนรกของการสะสมกิเลสที่ลึกสุดลึกได้

นรกของนักสะสมจึงกลายเป็นหลุมดำที่คอยดูดคนที่หลงสุขลวงเข้าไปเสพสุข กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มั่วกาม เมาอบาย บ้าอัตตา จึงกลายเป็นนรกที่ต้องเผชิญไปพร้อมๆกับการใช้ชีวิตที่หลงเข้าใจว่าเป็นความสุขแท้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

27.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การสะสม สร้างบาปเสียกุศล

April 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,900 views 0

การสะสม สร้างบาปเสียกุศล

การสะสม สร้างบาปเสียกุศล

การสะสมสิ่งที่ไร้สาระไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตนั้น เป็นเพราะกิเลสพาให้หลงเพลิดเพลินไปกับสิ่งลวง ให้จมอยู่กับสุขลวงและเหลือทิ้งไว้แต่ทุกข์แท้ๆ

เราสามารถสะสมอะไรได้หลายอย่างทั้งที่เห็นเป็นรูปและไม่มีรูป ที่เห็นเป็นรูปก็เช่น ของสะสมต่างๆ แสตมป์ ตุ๊กตา ซีดี ต้นไม้ เสื้อผ้า บ้าน รถ เงิน ฯลฯ และที่ไม่มีรูปเช่น การยอมรับ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรี ความสุข เป็นต้น

เมื่อเราหลงไปสะสมอะไรก็ตาม นั่นหมายถึงเรากำลังสะสมกิเลสไปทีละน้อย การสะสมกิเลสหมายถึงการทำบาป สรุปแล้วผู้ที่หลงมัวเมาสะสมสิ่งใดๆที่ไม่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตคือผู้ที่สร้างบาปให้แก่ตนเอง

เพราะยิ่งสะสม ก็ยิ่งอยากได้ เมื่ออยากได้ก็จะเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์ก็ต้องไปหามาเสพ เอามาสะสมให้สมใจ เมื่อได้เสพก็สุขอยู่ชั่วครู่แล้วก็จางหายไป แล้วก็จะอยากได้สิ่งใหม่อีก เป็นทาสกิเลสแบบนี้เรื่อยไปไม่จบไม่สิ้น จึงกลายเป็นผู้ที่สร้างบาป เวร ภัย ให้กับตน เพราะเอาแต่สิ่งที่ไม่มีสาระมาเป็นแก่นสารสาระในชีวิต ดังนั้นจึงทำให้ชีวิตนั้นไร้สาระ

แม้ว่าสังคมจะให้การยอมรับผู้ที่สะสม ผู้ที่มีมาก แต่นั่นก็เป็นแค่เสียงสะท้อนจากสังคมอุดมกิเลส ผู้ที่หลงมัวเมามักจะชักชวนกันให้จมอยู่ในห้วงแห่งความหลงเสพหลงสุข พวกเขาจะไม่ยอมให้ใครพรากความสุขไปง่ายๆ นั่นหมายถึงการไม่ยอมให้ใครได้หลุดออกจากนรกของการสะสมด้วย

สังคมที่พาให้สะสมกิเลสนั้นไม่ใช่สังคมของบัณฑิต แต่เป็นสังคมของคนพาล แม้ว่าผู้สะสมจะมีหน้าตาในสังคม มีฐานะดี มีการศึกษาดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนดีแท้ เพราะถ้าเขาเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกิเลสแล้วล่ะก็… สามารถและคุณสมบัติที่มีก็จะกลายเป็นความสามารถที่จะสร้างนรกได้มากพอๆกัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนธรรมดาสะสมต้นไม้ ก็คงจะไม่มีใครให้ความสนใจต้นไม้นั้นมาก แต่ถ้ามีดาราหรือผู้ใหญ่ในสังคมสะสมต้นไม้แล้วล่ะก็ ผู้คนก็จะให้ความสนใจกับต้นไม้นั้นมากขึ้น สิ่งนี้เองคือการสร้างบาป สร้างนรกที่มากกว่า ในผู้ที่ได้รับการยอมรับในสังคม

เมื่อเราให้เวลา ให้ทุน ให้ชีวิตไปกับการสะสม ไปสร้างบาป เวร ภัย ให้กับตัวเอง เราก็จะต้องเสียโอกาสในการทำกุศล แทนที่เราจะเอาเวลาเหล่านั้นไปเรียนรู้สาระแท้ของชีวิต เอาไปทำประโยชน์ให้แก่ตนและผู้อื่น เอาเงินที่ใช้สะสมเหล่านั้นมาบริหารให้เกิดประโยชน์ต่อตนและผู้อื่น ใช้ชีวิตไปเพื่อตนและผู้อื่น ไม่ใช่ใช้ชีวิตเพื่อสนองกิเลสในตน หรือมีชีวิตเป็นเพียงแค่ทาสกิเลส

เมื่อเสียโอกาสสร้างกุศล และใช้เวลากับการสร้างบาปที่เกิดอกุศลในเวลาเดียวกัน ก็หมายถึงการสะสมสิ่งชั่วและละเว้นการทำดี ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เราสร้างกรรมชั่วเพิ่มมากขึ้นและใช้กรรมดีเก่าที่ทำไว้เพื่อดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขด้วยการบำเรอกิเลส

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น

แต่การสะสมที่เป็นบุญและได้กุศลนั้นมีอยู่ นั่นคือการสะสมอริยทรัพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์ทางนามธรรม ซึ่งเป็นทรัพย์ที่แท้จริงของมนุษย์ ส่วนหนึ่งสามารถเกิดได้จาก “การไม่สะสม” การได้พบสัตบุรุษ การได้ฟังสัจธรรม การปฏิบัติสัมมาอริยมรรค และทรัพย์หรือคุณสมบัติที่จะติดตัวไปตลอดกาลนานทั้งหมดนั้นคือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ธนสูตร ข้อ ๖)

– – – – – – – – – – – – – – –

27.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)