Tag: วิถีชีวิต

ลากันสักพัก

September 25, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,871 views 0

ลากันสักพัก

ลากันสักพัก

บางครั้งบางเวลา เราก็ควรจะมีช่วงเวลาที่ละเว้นจากกิจกรรมเดิมๆ เพื่อใช้เวลาเหล่านั้นในการคิดทบทวนและทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆที่ทำลงไปแล้วหรือคิดไว้ว่าจะทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แม้บทความในเพจนี้จะถูกเผยแพร่เป็นจำนวนมาก ถี่ที่สุดก็เผยแพร่กันหลายบทความต่อวัน ซึ่งนอกจากเยอะแล้วยังจะยาวอีกด้วย

แต่ก็มีบางช่วงที่ผมรู้สึกว่าไม่สมควรจะเรียบเรียงอะไรออกมาเลย ไม่ควรแม้แต่จะคิด แต่ควรจะศึกษาให้มากขึ้น เพื่อลับความคมที่มีอยู่ ให้คมยิ่งขึ้นกว่าเดิม

มีหลายครั้งที่ผมหายไปและกลับมาพร้อมความรู้ความเข้าใจชุดใหม่ จนบางครั้งผมก็แปลกใจกับตัวเองเหมือนกันว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพียงเล็กน้อย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้เชียวหรือ…

สรุปแล้วที่ผมหายไปเป็นช่วงๆ ก็คือไปทบทวนตัวเอง ให้เวลากับตัวเองได้ลองเปลี่ยนแปลงบ้าง ให้ตัวเองได้พบกับความสงบบ้าง ซึ่งในชีวิตปกติแล้วผมมักจะอยู่กับความ “ฟุ้ง” เป็นหลัก ไม่ว่าจะการศึกษา หาข้อมูล วิจัยวิจารณ์ คิดเรื่องต่างๆ แต่การเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่ความ “ดับ” คือไม่ต้องคิดอะไรเลย ก็เอื้อให้ชีวิตสมดุลขึ้นได้เหมือนกัน

ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ก็ควรจะประมาณตนไม่ให้ฟุ้งจนเหนื่อย และไม่ให้ดับจนไม่เหลืออะไรเลย เมื่อเรายังไม่เก่งในการใช้จิตของตัวเองจัดการทุกอย่าง เราก็ควรจะใช้องค์ประกอบภายนอกในการสร้างสภาวะให้เหมาะสมต่อการเข้าใจชีวิตด้วย

– – – – – – – – – – – – – – –

25.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คุยกับหลานสาว เรื่องมังสวิรัติ

May 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,471 views 0

หลานสาว 7 ขวบ คุยกันเรื่องเราเป็นสัตว์กินพืช แต่คนอื่นเขาเป็นสัตว์กินทั้งพืชทั้งเนื้อ (เรื่องก็เริ่มมาจากบทเรียนที่เขาเรียนรู้มาละนะ)

หลานก็บอกว่าแต่ก่อนน้าดิณก็กินเนื้อมา
เราก็ตอบว่า ก็ตอนนี้ก็เลิกแล้วไง
ว่าแล้วหลานก็บอกว่า หนูก็ทำได้
เราก็ตอบว่า ก็ลองทำสิ
หลาน : แต่หนูก็ต้องกินอาหารที่โรงเรียนทำให้อยู่ (ป.2)
เรา : ซื้อกินเองได้ค่อยกินก็ได้
หลาน : (ท่าทางมั่นใจ)

อืม…. อนาคตก็ยังมาไม่ถึงเนาะ ค่อยว่ากันตอนหลานโต แต่ไม่รู้กิเลสจะโตตามด้วยรึเปล่า สังเกตุว่าเด็กนี่จะมีเหตุผลไม่ค่อยมากเท่าไหร่ แต่ผู้ใหญ่นี่เหตุผลในการที่จะไม่เลิกกินเนื้อสัตว์นี่ก็มีกันมากมายก่ายกอง น่าฟังน่าเชื่อเสียด้วยสิ 55

จะหาเหตุผลให้ตัวเองได้มีส่วนเบียดเบียนสัตว์อื่นโดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิดบาป ก็ไม่แปลกอะไร ใครๆเขาก็ทำกัน แต่ก็เป็นวิถีชีวิตที่ลำบาก เพราะต้องเติมทั้งเนื้อทั้งผักจึงจะดำเนินชีวิตได้ ไม่เหมือนชีวิตที่กินแต่ผักก็ดำเนินชีวิตได้ง่ายกว่ากันเยอะ

แปลกนะ ที่คนเราคิดว่าการกินทั้งเนื้อทั้งผักเป็นเรื่องปกติ แต่กลับคิดว่าการกินผักอย่างเดียวเป็นเรื่องลำบาก ทั้งๆที่ค่าใช้จ่ายในการกินเนื้อมันก็มากกว่าผัก หาได้ง่ายกว่า(ปลูกเองได้) ช่วยให้ระบบร่างกายทำงานได้ดีกว่า

การเปลี่ยนมาทำให้ชีิวิตประหยัด สะดวก สบายกว่าเดิมนั้น มันเป็นเรื่องที่ยากลำบากขนาดจริงหรือ?

คิดๆแล้วก็งงในตรรกะ เอาเป็นว่าโทษกิเลสไปแล้วกันนะ กิเลสนี่แหละตัวทำสับสน ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก …เบื่อมันจริงๆ

ทานนี้เพื่อให้

September 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,720 views 0

ทานนี้เพื่อให้

 

ทานนี้เพื่อให้

การทำบุญทำทาน หรือการสละให้ออกไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนทุกคนบนโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นการลดความอยากได้อยากมี เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ควรให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่ ” ดังนั้นการให้ทานจึงเป็นสิ่งที่ควรพึงกระทำอย่างสม่ำเสมอ

การให้ทานจะมีผลมากนั้นก็ขึ้นอยู่กับทานนั้นลดกิเลสหรือไม่? เราได้สละออก ได้ให้ไปจริงหรือไม่? บางครั้งเรามักจะเห็นคนที่ให้หรือบริจาคทาน ไม่ได้ให้อย่างแท้จริง เมื่อให้ไปแล้วแต่ยังมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ยังคาดหวัง ยังแลกเปลี่ยนอยู่

เช่น เราให้ขนมกับเพื่อน เราให้ไปแล้วนะ แล้วเพื่อนเอาขนมที่เราให้ไปให้หมากิน เรากลับโกรธเพื่อน อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เมื่อเราทำบุญบริจาค เราให้ไปแล้วนะ แต่เราไปตั้งจิตขอให้สมหวังอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เราแนะนำ เราบอกสิ่งดีๆให้กับเพื่อนไปแล้ว แต่เพื่อนกลับไม่ทำตามที่เราแนะนำ ตามที่เราเห็นว่าดี กลับไปทำตรงข้าม แล้วเราไม่พอใจที่เขาไม่ทำตามเรา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เราบอกคนที่ทำให้เราโกรธว่า “เอาเถอะ…ให้อภัยไม่ถือโทษกัน” เราบอกด้วยปาก ท่าทีของเราก็ดูปกติ คนนั้นเขาก็เชื่อนะ แต่ในใจเรายังโกรธ ยังเคือง ยังไม่พอใจอยู่ ยังไม่อยากเจอ ไม่อยากคบหา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

การให้ทานที่ยังมีความหวังว่าจะได้อะไรกลับมาตอบแทนหรือยังยึดมั่นถือมั่นเป็นเจ้าของอยู่นั้น เป็นการให้ทานไม่ถูกไม่ควรสักเท่าไรนัก

การให้ทานที่จะเกิดกุศลมาก ต้องเป็นทานที่ให้เพื่อที่จะให้ ให้เพื่อที่จะไม่ได้รับอะไรเลย ให้เพื่อหมดตัวหมดตน ให้เพื่อหมดความอยากได้ ให้เพื่อที่จะไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากจะเอาอะไรอีก ให้จนไม่มีอะไรจะเอา…

ในชีวิตของเราในแต่ละวันนั้น มีการให้ทานอยู่ในหลายรูปแบบ ทั้งวัตถุทาน ธรรมทาน อภัยทาน ถ้าเราพิจารณาให้ดีว่าการให้ทานที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น เราได้ให้ไปจริงหรือไม่ ยังคิดจะเอาอะไรอยู่หรือไม่ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำทานที่ให้ผลเจริญ เป็นกุศล ที่ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องรอไปทำบุญทำทานที่วัด ไม่ต้องรอตักบาตรตอนเช้า

วัตถุทาน เช่น เราสามารถแบ่งขนมให้เพื่อนกินได้หรือไม่ แบ่งของให้เพื่อนยืมได้หรือไม่ มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่นได้หรือไม่

ธรรมทาน เช่น เราแนะนำสิ่งดีให้กับคนอื่น พูดสิ่งที่ดี ที่พาลดกิเลสให้กับคนอื่น เมื่อมีปัญหาในกลุ่ม เราพูดเพื่อลดความบาดหมาง ลดโลภ โกรธ หลง หรือกระทั่งสอนให้เขาเข้าใจวิธีการทำให้ชีวิตไม่ทุกข์ก็เป็นธรรมทาน

อภัยทาน เช่น มีคนทำไม่ถูกใจเรา รถคันหน้าขับปาดแซงเรา คันหลังเปิดไฟสูงไล่เรา คันข้างๆเบียดเข้ามา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เพื่อนร่วมงานนินทาเรา เจ้านายว่าเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เห็นข่าวไม่ดีไม่งาม คนทำผิด ทำชั่ว ทำเลว เราให้อภัยเขาได้ไหม , มีคนพูดไม่ถูกใจเรา ทำไม่ถูกใจเรา คิดไม่ตรงใจเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม

ดังจะเห็นได้ว่า การทำทานนั้นสอดร้อยไปในทุกจังหวะชีวิตของเรา หากคนมีปัญญารู้จักเก็บเกี่ยวกุศลสูงสุดของทุกๆเหตุการณ์ในแต่ละวัน ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท รู้จักทำทานอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่ได้มีภาพลักษณ์เหมือนคนที่ใจบุญ ทำบุญตักบาตรนุ่งขาวห่มขาวไปวัดเป็นประจำอย่างที่สังคมเข้าใจ แต่เขาก็จะได้รับแต่สิ่งที่ดีในชีวิต เพราะผลแห่งทานเหล่านั้นนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เรียนรู้เพื่อเพิ่มมิติในชีิวิต

June 25, 2013 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,098 views 0

กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปเรียนรู้วิถีชีวิตที่ต่างออกไป ห่างออกไปไกลจนเกือบขอบประเทศ ผมพาตัวเองไปในที่ที่คิดจะได้รู้จักตัวเองในอีกมุมหนึ่งมากขึ้น

การเดินทางในครั้งนี้ เป็นการไปเรียนรู้ว่าผมจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาวะอื่นๆนอกจากที่เคยเป็นได้หรือไม่ ครั้งนี้ผมได้ไปศึกษาอยู่กับกลุ่มชาวนาคุณธรรม ที่จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกันอยู่บ้างแล้ว ซึ่งทางกลุ่มได้ต้อนรับและดูแลผม พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผมได้เรียนรู้หลายๆอย่างที่ผมไม่เคยได้รู้อย่างเต็มที่

ผมมีความรู้สึกว่าวันหนึ่งความเคยชินมันจะฆ่าผม มันทำให้ผมตายใจและประมาทอย่างช้าๆ ดังนั้นก่อนที่ผมจะชินกับความเป็นปัจจุบันที่อยู่นิ่งๆเป็นการดำเนินชีวิตที่วนซ้ำไปมา ก่อนที่จะสายเกินไป ผมเลือกเดินทางไปตามหามิติใหม่ หามุมมองที่ผมยังไม่เคยรู้จักให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในครั้งนี้ผมเลือกเดินทางไปใช้วิถีชีวิตแบบไทยๆพื้นบ้าน ในถิ่นของชาวนาต่างจังหวัดห่างไกลกรุงเทพฯ ผมเลือกที่จะไปเรียนรู้รากเหง้า ชาติกำเนิดของเราเพราะเมืองไทยเป็นประเทศที่เหมาะกับการเกษตร น้ำเราดี ดินเราเยี่ยม เรามีต้นไม้มากมาย ไม่มีที่ใดในโลกที่เหมาะกับการเกษตรเท่านี้อีกแล้ว แต่ถึงจะมีผมก็คงจะไม่เดินทางไปให้ลำบากหรอก เพราะเมืองไทยนี่แหละ ดีพอแล้ว เมื่อเข้าใจว่าดีพอที่จะเรียนรู้เราก็ไปกันเลย

ปกติแล้วเวลาผมท่องเที่ยวเอง ผมก็จะพยายามใช้เวลาเดินดูเมือง คน วิถีชีวิต ต่างๆเท่าที่จะเห็นได้ตามเหตุและปัจจัย แต่ในครั้งนี้มีโอกาสดีกว่า ผมไปฝังตัวเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆจากกลุ่มชาวนาคุณธรรมรวม 17 วัน ได้ไปพักก็หลายบ้าน หลายอำเภอ กลุ่มชาวนาคุณธรรมเมตตากับผมมาก มีโอกาสมากมายให้คนเมืองอย่างผมได้เรียนรู้ ได้มอง ได้เห็น ได้เข้าใจ และได้ลงมือทำบ้าง ทำให้เห็นชีวิตที่แตกต่างไป

เราอาจจะคิดได้ว่า เราคนเมืองไปทำไร่นา เสาร์อาทิตย์ก็เหมือนกัน แต่จริงๆมันไม่เหมือนนะครับ ที่นี่เวลาแต่ละวันไหลช้า ไม่รีบเร่ง แต่มีการทำงานทุกวัน ไม่มีเจ้านาย ไม่มีลูกน้่อง มีแต่หน้าที่ ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง อยู่กับธรรมชาติ กับผลผลิต เป็นผู้ผลิตที่รู้ที่มาที่ไปของแหล่งอาหาร ชีวิตที่มีอิสระจากระบบ ห่างไกลจากกิเลส มันเป็นอะไรที่อธิบายได้ยากมาก ไปคุยก็ไม่เข้าใจ ต้องเข้าไปคลุกวงใน

ที่ผมสามารถบอกได้แบบนี้เพราะไปมาหลายรอบแล้ว แต่ก็ไม่เหมือนรอบนี้ ปกติจะไปกับทีวีบูรพา จัดเป็นทัวร์พามาเรียนรู้ แน่นอนข้อจำกัดมันเยอะมาก ผมเลยเลือกที่จะลดข้อจำกัดเหล่านั้นด้วยการเดินทางมาเองเสียเลย

มิติในชีิวิตที่เพิ่มขึ้น

มาถึงเนื้อหาหลักๆของเรื่องนี้จริงๆเสียที ที่บอกว่าเพิ่มมิติในชีวิตนั้น อธิบายได้ง่ายๆ ก็เหมือนเพิ่มขนาดพื้นที่ความปลอดภัยในความรู้สึกเรานั้นแหละ ผมรู้จักชีวิตชาวนา คนต่างจังหวัด อาหารท้องถิ่น ชีวิตแบบเกือบจะเสื่อผืนหมอนใบ แน่นอนถ้าชีวิตผมต้องมีเหตุให้เปลี่ยนแปลง ผมจะยังสามารถดำรงชีวิตในรูปแบบอื่นนอกจากวิถีคนเมืองได้ ในขณะที่คนเมืองอาจจะทุกข์ทรมาณกับการกินอาหารที่ไม่เคยกิน นอนที่ที่ไม่เคยนอน เขาจะรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่สามารถไว้ใจใครได้เลย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ให้นึกถึงน้ำท่วมปี 54 ที่ผ่านกันมา คนเมืองอย่างเราถูกจำกัดในสภาวะที่ของกินหายาก อาหารขาดแคลน น้ำไฟโดนตัด โชคดีหน่อยก็หนีได้ แต่ถ้าหนีไม่ได้จะทนอยู่อย่างไรไหว เครียดแย่เลย ไม่เคยหัดใช้ชีวิตลำบาก แน่นอนตามธรรมชาติของมนุษย์เราจะปรับตัวได้ในเวลาไม่นานนัก แต่ถ้าใครปรับตัวได้ไวกว่า เข้าใจได้ไวกว่ามันก็ทุกข์น้อยกว่า มันวัดกันตรงนี้

ถ้าถามว่าทำไมต้องลงทุนเรียนรู้กันขนาดนี้ ถ้าเกิดค่อยทำแล้วกัน ในมุมมองผมก็จะตอบว่า “ยามศึกเรารบ ยามสงบเราฝึก”ลองคิดดูว่าคนที่ประมาทกับคนที่พร้อม คนไหนจะมีโอกาสรอดมากกว่ากัน

แต่การเพิ่มมิติในชีวิต ไม่จำเป็นต้องเป็นการปรับลดปัจจัยเสมอไป เราอาจจะลองเข้าไปอยู่ในสังคมที่คิดว่าใช้ปัจจัยในการดำรงชีวิตเยอะก็ได้ ก็เป็นการเพิ่มมิติ มุมมองในชีวิตได้เหมือนกัน แต่สุดท้ายก็แล้วแต่ว่าใครจะลองเพิ่มมุมไหน มุมไหนที่จะเป็นประโยชน์ มุมไหนที่ทำแล้วมันมีแต่จะแย่ลง ก็ลองเรียนรู้กันดูนะครับ

สวัสดี