Tag: รัก

ความหลง ความรัก ความตาย : เมื่อรักทำร้าย กลับกลายเป็นยาพิษ

December 8, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 740 views 0

ความหลง ความรัก ความตาย : เมื่อรักทำร้าย กลับกลายเป็นยาพิษ

ความรักที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สวยงาม หอมหวาน เป็นสิ่งที่หลายคนแสวงหา ยอมทุ่มเท ลงทุนลงแรง เสียเวลามากมายเพื่อที่จะได้มันมาครอบครอง แต่สุดท้ายรักนั้นกลับเบาบางกว่าเมฆหมอก ไม่มีตัวตน สลายหายไป ทิ้งไว้แต่ความผิดหวัง

ถ้ามีรักแล้วมันเป็นสุขตลอดไป ก็คงจะไม่มีคนทุกข์ แต่ใช่ว่าคนจะแก้ปัญหาที่ความทุกข์ พวกเขากลับไปแก้ปัญหาที่ความรัก โทษรัก ใส่ความว่ารักนั้นทำให้ผิดหวัง เป็นทุกข์  ทั้งที่คนที่ไปตั้งความหวังไว้ผิด ๆ ก็คือคนที่แสวงหาความรักเหล่านั้น การแก้ปัญหาของพวกเขาคือแสวงหาคนรักที่ดีขึ้น มั่นคงขึ้น สุขยาวนานขึ้น นั่นคือทิศทางของความคาดหวังที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความใคร่อยากเสพความรัก กลายเป็นความกลัวความผิดหวัง จึงพยายามหาสิ่งที่จะป้องกัน มาประกันให้รักนั้นคงอยู่ให้นาน เท่าที่ตนจะได้เสพสมใจตลอดไป

การป้องกันรักร้าวแตกสลายที่คนนิยมทำกันคือการยอม ยอมตามใจ ยอมให้ ยอมแพ้ ยอมเป็นเบี้ยล่าง ยอมเสียตัว ยอมเสียศักดิ์ศรี ยอมเป็นทาส ฯลฯ เพื่อแลกมาซึ่งการดำรงอยู่ของความรักเหล่านั้น แต่ถึงแม้จะยอมสักเท่าไหร่ จะจ่ายสักเท่าไหร่ จะแลกไปสักเท่าไหร่ ก็ไม่ได้หมายความรักนั้นจะไม่แปรผัน ความรักเหล่านั้นยังอยู่ภายใต้ไตรลักษณ์ คือลักษณะ 3 อย่าง คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีตัวตน

ผู้คนพยายามแสวงหาหนทางที่จะเอาชนะไตรลักษณ์ พยายามที่ก้าวข้ามความไม่เที่ยง ความทุกข์ และสร้างตัวตนขึ้นมาจากความว่างเปล่า ก็จริงอยู่ที่ว่าเขาอาจจะมีอำนาจ บารมีที่สามารถดำรงสภาพเหล่านั้นไว้ได้ช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีสิ่งใดในโลกหนีจากไตรลักษณ์ได้เลย เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนแปลง สุดท้ายก็ต้องเจ็บปวด ผิดหวัง ทรมาน ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ นำมาซึ่งการกล่าวหากัน ทำร้ายกัน จนถึงขั้นฆ่ากันตาย ไม่ฆ่าคนอื่น ก็ฆ่าตัวเอง ด้วยความคับแค้นใจ ทนไม่ได้ ยอมรับไม่ได้กับสภาพรักที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มั่นคง ไม่แท้ ไม่จริง

ทุกวันนี้มีข่าวคนตายเพราะความรักมากมาย เรียกได้ว่าเห็นเกือบจะทุกวัน วันละ 1-2 ข่าว อันนี้เท่าที่เขานำมาทำข่าว ที่ไม่รู้อีกตั้งเท่าไร ความร้ายของความรักนั้นยิ่งกว่าอุบัติเหตุ เพราะจิตโลภ โกรธ หลง นั้นมีน้ำหนักที่แตกต่างกันไปตามเหตุ  อุบัติเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความประมาท (กรรมใหม่) อีกส่วนหนึ่งเกิดจากวิบากกรรมเก่า(ผลของการกระทำเก่า) แต่การทำร้ายกันเพราะความรัก ถูกกำหนดด้วยจิตอันมีกิเลสเป็นอำนาจในปัจจุบันล้วน ๆ ว่าจะทำหรือไม่ทำ ถ้ากิเลสมากก็ร้ายแรงมาก ถ้ามีธรรมะก็อาจจะพอข่มอาการได้บ้าง แต่ถ้าไม่มีกิเลส ก็จะไม่มีความเบียดเบียนใด ๆ เกิดขึ้นเลย

ถ้าเกิดบาดหมางกับคนดีมีศีลธรรม อย่างมากก็แค่ทุกข์ใจ ส่วนทุกข์กายนั่นก็แล้วแต่ใครจะปรุงสารพัดอาการไม่สบาย กินไม่ได้นอนไม่หลับขึ้นมาเอง แต่คนส่วนใหญ่ในโลกนั้นไม่ใช่คนมีศีลธรรม โดยมากแล้วเป็นคนไม่มีศีล แรกคบหากับคนไม่มีศีลก็อาจจะไม่เห็นโทษเห็นภัยอะไร แต่พอเกิดเรื่องขึ้นมา กิเลสมันกำเริบ มันก็จะทำผิดเกินไปถึงขีดที่อันตราย ด่ากันได้ ทำร้ายกันได้ ฆ่ากันได้ พระพุทธเจ้าท่านกล่าวถึงมงคลชีวิต อันดับแรกเลยคือไม่คบคนพาล และในกรณีที่จำเป็นต้องเลือกคู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ให้เลือกคนมีศีล ศีลธรรมนั้นจะคุ้มครองคน ไม่ให้ทุกข์มาก ไม่ให้ลำบากมาก ดีที่สุดคือคบหาคนมีศีลระดับที่เขาไม่ยินดีในคู่ครองนั่นแหละ จะแคล้วคลาดปลอดภัย เพราะเขาไม่มายุ่งอะไรกับเราแน่ ๆ อันนี้ก็เป็นกรณีของการถูกคลุมถุงชน

แต่สมัยนี้ไม่ค่อยมีหรอกคลุมถุงชน ก็มีแต่เลือกกันตามความหลงเท่านั้นแหละ ชอบแบบไหน ยึดมั่นถือมั่นแบบไหน ก็เอาแบบนั้น เคยได้ยินผู้หญิงที่เขาชอบผู้ชายเจ้าชู้ไหม? นั่นเขาชอบรสจัดแบบนั้น มันต้องมีลีลา ท่าทีเย้ายวน ล่อลวง หอมหวาน อันนี้มันก็ติดเสพรสไปตามอัตตาที่มี ดีไม่ดีจะเป็นอัตตาซ้อนไปอีกว่า “ข้าแน่” ข้านี่แหละจะปราบเสือร้าย มันก็เมาขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คนเขาก็หลงไปตามภพตามภูมิของเขา ชอบอะไรก็ใฝ่หาอันนั้นมาเสพ เป็นความหลงที่พาให้แสวงหา แล้วก็วนเวียน สมหวัง ผิดหวัง เศร้า เหงา แล้วก็หาเสพใหม่ เป็นวงจรที่น่าสงสาร เนิ่นนานผ่านไปหลายภพหลายชาติก็ใช่ว่าจะหมดรส ยิ่งทุกข์ก็ยิ่งคาดหวัง หาสิ่งใหม่มาเสพ ก็หวังว่าคนใหม่จะดีกว่าคนเก่า หรือไม่ก็มีประสบการณ์มั่นใจว่าเลือกได้ดีกว่าเก่า อันนี้มันก็ยังหลงโง่อยู่

เพราะสุขจริง ๆ สุขแท้ ๆ สุขโดยส่วนเดียวจากความรักมันไม่มีหรอก มันจะมีทุกข์ด้วยเสมอ แล้วเอาจริง ๆ ถ้าตัดเรื่องกิเลสออกไป สุขจากความรักมันไม่มีเลย ที่มันมีเพราะกิเลสมันปรุงสุขขึ้นมา ได้สมใจก็สุข ได้ดั่งใจก็สุข มันก็ไปปั้นสุขลวงขึ้นมาจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง เหมือนกับเด็กที่อยากได้ของเล่น อยากมากจนถึงขั้นร้องห่มร้องไห้ พอโตขึ้นมาคิดย้อนไป อันนั้นเราไปอยากได้ขนาดนั้นได้ยังไงหว่า? นั่นกิเลสมันปรุงสุขลวงมาอย่างนั้น มันเห็นสิ่งไม่มีประโยชน์เป็นสิ่งมีประโยชน์ แล้วก็อยากได้อยากมี พอได้มาแล้วก็หลงเป็นสุขใจ กอดของไร้สาระอย่างเป็นสุข รสสุขจิตเราปั้นขึ้นมาเอง จริง ๆ มันไม่มี

เรื่องคู่ก็เช่นกัน จริง ๆ สุขมันไม่มี แต่ที่มันเป็นสุข เกิดอาการสุข รู้สึกสุข รู้สึกยินดี ปลื้มใจ อิ่มใจ อุ่นใจ พอใจ อะไรเหล่านี้มันก็ปั้นขึ้นมาเหมือนเด็กได้ของเล่นนั่นแหละ ถ้าโตแล้วจะเห็นเลยว่าของเล่นมันไม่มีประโยชน์อะไรเลย มันมีสิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่า อันนี้ผู้ใหญ่ที่มีศีลธรรม พ้นทุกข์ พ้นโง่นะ แต่ถ้าผู้ใหญ่แบบหลงมัวเมาไม่เลิก เขาก็ยินดีกับเด็กที่ได้ของเล่นนั่นแหละ เหมือนกับคนที่แก่แล้ว ถึงวัยแล้ว แต่กลับมีจิตยินดีในคนคู่ ในความเป็นคู่ พวกนี้ก็ยังเป็นเด็กในทางธรรมอยู่ เหมือนกับผู้ใหญ่ที่เห็นเด็กเล่นของเล่นแล้วอยากเล่นด้วย ยินดีกับการเล่นนั้นด้วย ส่งเสริมการเล่นนั้นด้วย มันก็พากันเมาไป เรื่องนี้มันก็เข้าใจยาก

คนที่ปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธเจ้าแล้วสามารถล้างความหลงติดหลงยึดในเรื่องคู่ได้จริง จะไม่วนเวียนอยู่กับการแส่หาความรักอีกต่อไป จะเกิดสภาพของบัณฑิตโดยธรรม คือ มีการประพฤติตนเป็นโสดเป็นธรรมดา ส่วนคนที่พลาดพลั้งไปมีคู่แล้ว ก็จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง คือเห็นนรกจริง เห็นความลำบากจริง ๆ เห็นภาระจริง ๆ ที่ต้องแบกไว้ ให้หนัก ให้เหนื่อย ให้ลำบาก ก็จะมีความเหนื่อยกายเป็นหลัก ส่วนความเหนื่อยใจถ้าล้างความหลงไปได้มันก็ไม่ทุกข์ เหลือแต่ภาระ คือวิบากกรรมชั่วที่เคยทำมา ที่ต้องใช้เวลาในการชดใช้ หรือที่เรียกกันว่า “รับกรรม”

ก็ใช่ว่าคนคู่เขาจะออกจากสภาพความเป็นคู่ได้ง่าย ๆ แม้เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าคู่ของเรานั้นจะมีสภาพจิตเหมือนเรา เกิดเขาเป็นผีห่าซาตานมาเกิด แล้วเราดันเลือกเขามาแล้ว ตอนเลือกก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่มีศีลธรรม ต่อมาตนเองก็พัฒนาขึ้น แต่คู่ไม่พัฒนาด้วย มันก็เหมือนผีกับเทวดาอยู่ด้วยกัน อันนี้มันก็ลำบากหน่อย เพราะถ้าจะไปหักกันรุนแรง พาลจะบาดเจ็บล้มตายแล้วกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งกันเปล่า ๆ

คู่เทวดากับเทวดา หรือคนดีมีศีลคู่กัน ถ้าพ้นหลง พ้นโง่ พ้นทุกข์แล้ว ที่เหลือก็แยกวงกันเท่านั้นเอง เพราะการคบหา การแต่งงาน สัญญาเหล่านั้นก็เป็นแค่เรื่องสมมุติขึ้นมา พอไม่ได้ยึดสมมุติ มันก็เลิกได้ทุกเมื่อ ก็แค่ตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร เหมือนกับกรณีของพระมหากัสสปะ ที่มีคู่มีบารมีทางธรรมเหมือนกัน พอนึกจะเลิก ก็เลิกได้เลย แล้วก็แยกกันไปบวชตามทางของแต่ละคน

ส่วนคู่ผีกับผี ก็เป็นอย่างหัวข้อเรื่อง พากันหลงวนเวียน สุดท้ายก็จบด้วยความบาดหมาง ว่าร้ายกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากันเอง ฆ่าคนอื่น ฆ่าตัวเอง ไม่มีพลังความดีคุ้มภัย ไม่มีศีลไว้คุ้มกันความชั่วของตนเอง ไม่มีกุศลธรรมคอยพาให้แคล้วคลาดปลอดภัย ห้อยพระดังแค่ไหนก็ไม่ช่วย เพราะคนจะเจอดี เจอร้าย ไม่ได้เกี่ยวกับพระที่ห้อยคอเลย แต่เกี่ยวกับกรรมที่ทำมา พระพุทธเจ้าสอนว่าเรามีกรรมเป็นของของตน เราเป็นทายาทของกรรม เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เราทำกรรมอะไรไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราต้องได้รับผลกรรมนั้นอย่างแน่นอน

… สรุป เรื่องความรักก็เป็นความหลงแบบหนึ่งที่ทำให้คนเบียดเบียนกันได้มากถึงขนาดทำร้ายกัน ฆ่ากันตาย ฆ่าตัวตาย ซึ่งจริง ๆ เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ยับยั้งได้ ลดภัยจากความรักนั้นทำได้ง่ายกว่าลดอุบัติเหตุเสียอีก แต่การจะเข้ามาศึกษาเพื่อลดทุกข์ โทษ ภัยจากความรักให้ถ่องแท้นั้น ทำได้ยากยิ่งเหลือเกิน

27.11.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

November 19, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,143 views 0

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

ความเห็นในความรักนั้นแตกต่างกันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน แต่ในทางพุทธศาสนา ทางที่ถูกต้องนั้นมีทางเดียว มีทิศเดียว ไม่มีทางอื่น ความเห็นที่ถูกต้องถูกตรงก็มีทิศทางเดียว คือเดินไปสู่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าในเรื่องความรักก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องความรัก ในเรื่องคนคู่ ครอบครัว ญาติ ชุมชน ชาติหรือแม้กระทั่งโลกนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเข้าไปยึดไว้เลย

ความเห็นเกี่ยวกับความรักนั้น แต่ละคนก็ว่ากันไปตามที่ตนชอบ ตามที่ตนว่าถูก อันนั้นก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะเชื่อ แต่ถ้าเราจะศึกษาว่ารักแบบใดเป็นรักที่ถูกต้อง ถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ เป็นรักที่สัมมาทิฏฐิแล้วล่ะก็ จะยกเนื้อหาสำคัญมาให้ศึกษากัน

จุลศีลกับความรัก

ในหลักจุลศีล ถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างละเอียดของชาวพุทธ โดยหลักการแล้วเป็นของนักบวช แต่หลักปฏิบัติในจุลศีลข้อนี้ ก็ได้ปรากฏอยู่ในข้อธรรมหมวดอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งเนื้อหานั้นได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

“ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่” ให้สังเกตว่าศีลข้อนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนในการปฏิบัติ คือ ไม่ทำ และ ทำ  , ไม่ทำ คือไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ทำ คือเห็นใจและลงมือช่วยสัตว์อื่น สัตว์นั้นหมายรวมตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานไปจนถึงมนุษย์

ความรักในหลักพุทธ ในเชิงแนวคิดหลัก ๆ ภาพรวมก็ประมาณนี้ คือไม่ไปเบียดเบียนเขา แล้วช่วยสิ่งเสริมเขาให้เกิดสิ่งดีที่พาเจริญขึ้น ทีนี้เรามาศึกษากันต่อว่าอะไรคือการเบียดเบียน ความรักแบบไหนคือการเบียดเบียน

ถ้าความรักของพุทธ (รักโลกุตระ) คือการปฏิบัติไปสู่ความเมตตาเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน โดยมีหลักคือการลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งที่ตรงข้ามกันนั้นก็คือความรักในรูปแบบที่เบียดเบียน (รักโลกียะ) คือ พากันเพิ่มความโลภ โกรธ หลง และ ความรักที่เบียดเบียนที่เห็นได้ชัดและมีมากที่สุดก็คือการจับคู่ของคนอยากมีคู่สองคนมารวมกัน

ความรัก ที่ต้องพากันครองคู่อันนี้หยาบที่สุด ต้องเอาคนมาเสพ มาประทังความอยาก มีการเบียดเบียนสารพัดอย่าง ตั้งแต่การล่อลวงให้หลง ให้ปัญญาอ่อนลงไป ยั่วย้อมมอมเมา ให้กิเลสโตขึ้น ให้เกิดความอยากได้อยากครอบครอง ไปจนถึงต้องเอาอีกฝ่ายมาบำเรอตน ไม่ว่าจะกาม ทรัพย์สิน แรงกาย เวลา ปัญญา ฯลฯ ก็ต้องเอามาเทให้ตน แทนที่จะให้เขาเอาองค์ประกอบในชีวิตที่มีไปทำประโยชน์อื่นที่มากกว่า กลับเห็นแก่ตัว ลวงเขามาไว้ทำเพื่อตน เพื่อสนองกามตน เพื่อสนองอัตตาตนเอง

กามในมิติที่รู้กันโดยกว้างในสังคมก็คือการสมสู่ แต่กามก็ไม่ได้หมายเพียงแค่การสมสู่ เพราะการยินดีในการมองก็เป็นกาม การได้มองทุกวัน ได้เห็นเขายิ้ม ได้เห็นท่าทีลีลาอาการต่าง ๆ แล้วยินดี ก็เป็นกาม การได้ยินเสียงแล้วยินดีก็เป็นกาม ได้ยินเสียงเพราะ ๆ ของเขา แล้วชื่นใจ ก็เป็นกาม การยินดีในกลิ่นของเขาก็เป็นกาม เขาใส่น้ำหอมมาแล้วยินดี ชอบใจ ถูกใจในกลิ่นนั้นก็เป็นกาม การยินดีในการสัมผัสก็เป็นกาม การที่เขามาจับ แตะ ควงแขน สารพัดสัมผัส แล้วยินดี ก็เป็นกาม ถ้าไม่ได้เสพกามตามที่ติด ก็จะเกิดอาการทุกข์ ขุ่นข้องหมองใจ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าการมีคู่ก็จะมีความยินดีในกามในหลายอิริยาบถ ซึ่งมันก็ไม่ได้ซ่อนลึกซึ้งอะไรหรอก มันก็เห็นกันอยู่ชัด ๆ นั่นแหละ เพียงแต่คนไม่รู้ว่านี่เป็นกาม

อัตตาเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ลึกลับ ซับซ้อน และถูกปิดบังโดยกิเลส แม้แสดงอยู่ก็ใช่ว่าจะมองเห็นได้ เช่น ความเชื่อ ศักดิ์ศรี อำนาจ(ความสำคัญในตนเองว่ามี) การมีคู่นั้น จะมีอัตตาร่วมด้วยเป็นแรงหลักเสมอ กามเป็นตัวเคลื่อน(ให้เห็นอาการ) อัตตาเป็นแรงส่งอยู่ภายใน

ในมุมของอำนาจ เช่น สำคัญตนว่ามีอำนาจ สำคัญตนว่าใหญ่กว่า เจ๋ง เก๋า แน่ ครอบครองได้ ควบคุมได้ ก็เลยแสดงอาการเช่น พูด กอด จูบ หรือแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใด ๆ ที่แสดงถึงความเหนือกว่า ต่อหน้าคนอื่นก็ตามหรือต่อหน้าคู่ก็ตาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีอำนาจ ตนสามารถควบคุมได้ อันนี้มันก็เป็นอาการของอัตตา ที่แสดงออกด้วยกาม

ในมุมของความเชื่อ เช่น เชื่อว่าชีวิตจะสมบูรณ์ก็ต้องมีครอบครัวที่ดีมีลูก หรือเชื่อว่าฉันจะสามารถมีคู่ครองแล้วพากันเจริญในธรรมได้ เป็นต้น อันนี้เป็นความเชื่อ แต่เป็นความเชื่อที่ไม่พาพ้นทุกข์ เพราะมันตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ “คนที่ประพฤติตนเป็นโสดเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง” คือทิศทางมันไม่ไปด้วยกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัส

เรามีอิสระที่จะเชื่อและทำอะไรก็ได้ เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นมันถูกต้องหรือเปล่า แล้วจะถูกต้องตามหลักของใคร หลักของฉัน หลักของใคร หรือหลักของพระพุทธเจ้า ก็เลือกหลักกันเอาว่าจะปักหลักไหน แล้วก็พิสูจน์ความจริงกันไปว่ามันจะพ้นทุกข์หรือทุกข์จริง เศร้าหมองจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าว่ามาหรือไม่

การยึดมั่นถือมั่นคืออัตตา เช่นเมื่อได้รู้แล้วว่ามันไปคนละทางกับทางพ้นทุกข์ ก็ยังจะดื้อ จะรั้น จะลองพิสูจน์ ซึ่งมันก็ไม่แปลก มันเป็นอาการของอัตตาที่เชื่อว่า ข้าแน่ ข้าเก่ง ข้าทำได้ และลึก ๆ ข้าก็คิดว่า แนวคิดของข้าเจ๋งกว่าพระพุทธเจ้าอีกด้วย

ในอัตตาเรื่องคู่นี้มักจะซ่อนกามไว้เสมอ คือจริงๆ ตนน่ะ อยากเสพกาม อยากสมสู่ แต่เอาเป้าอื่นมาล่อไว้ เอามาบังไว้ เอามาลวงไว้ให้ดูโก้ ๆ ดูเท่ ๆ ทำเป็นจะดูแลเขาไปตลอด ทำเป็นอยากแต่งงาน อยากมีครอบครัว ทำเป็นมีอุดมการณ์ แต่จริง ๆ อยากจะสมสู่กับคนที่หวังเท่านั้นแหละ ส่วนอุดมการณ์ หรืออัตตานั้นก็ปั้นขึ้นมาลวงคู่ตรงข้ามเฉย ๆ ดีไม่ดีลวงจิตตัวเองไปด้วย หลงเชื่อไปจริง ๆ ว่าตนอยากมีครอบครัว ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ตนแค่อยากเสพกาม ดังจะปรากฏผลเป็นการผิดศีลข้อ ๓ ที่เห็นกันโดยทั่วไป เพราะมันเสพแล้วมันไม่พอ มีแฟนคนเดียวมันไม่พอ แต่งงานแล้วมันไม่พอ อุดมการณ์มันกินไม่ได้ มันเสพไม่พอสุข สุดท้ายก็ต้องยอมผิดศีลผิดธรรม ไปตามอุดมกามของตนต่อไป

พรหมวิหารกับความรัก

ธรรมะอีกหมวดที่มักจะถูกยกขึ้นมาเมื่อกล่าวถึงเรื่องความรัก คือพรหมวิหาร ๔  คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เมตตาคือมีจิตที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขา กรุณาคือลงมือช่วยเขา ( คือว่ากรุณา หมายถึงทำให้ ลงมือทำให้ เช่น กรุณาส่ง คือช่วยส่งให้หน่อย หรือกรุณาให้ทาง คือช่วยหลีกทาง เป็นลักษณะที่มีกายกรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงมโนกรรม ไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องลงมือทำด้วย)

สองข้อแรกจะสอดคล้องกับจุลศีล คือมีจิตที่จะช่วยและลงมือกระทำ มุทิตาคือมีจิตยินดี ในสิ่งที่เกิดขึ้น อุเบกขาคือปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น สรุปหลักของพรหมวิหารคือ เห็นใจ คิดที่จะเกื้อกูลและลงมือช่วย ได้ผลอย่างไรก็ยินดีไปตามนั้น และปล่อยวางในท้ายที่สุด แม้สิ่งที่คิดหรือช่วยทำนั้นจะเกิดผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตามที

จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วพรหมวิหาร ไม่ได้เกี่ยวกับความรักในเชิงชู้สาวเลย หรือแม้กระทั่งครอบครัว ญาติ สังคม ประเทศชาติก็ไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้เล็กแค่นั้น ธรรมหมวดนี้หมายถึงจิตที่เมตตากว้างไกลไม่มีประมาณซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุก ๆ เหตุการณ์ ในชีวิต

สรุปได้ว่า แนวทางความรักของพุทธนั้น ไม่ได้กระจุกอยู่ที่จุดเล็ก ๆ อย่างคู่ครอง คู่รักใด ๆ ดังนั้น ความรักที่ถูกต้องจึงเป็นคำที่ห่างไกลจากความอยากจะไปมีคู่อย่างมาก ไกลลิบ ๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา เพราะความรักของพุทธนั้นกระจายออกไปโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ความรักแบบคู่ครองนั้น กระจุกอยู่โดยยึดมั่นถือมั่นว่า ความเชื่อของฉันคือแบบนี้ ความสุขของฉันคือแบบนี้ เขาคนนี้คือความสุขของฉัน และความถูกต้องของฉันคือแบบนี้

ว่าแล้วก็แยกกันไปตามความเห็น ความเห็นแบบหนึ่งก็ไปแบบหนึ่ง ความเห็นอีกแบบก็ไปอีกแบบ ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงหรือทะเลาะอะไรกัน ต่างคนก็ต่างศึกษากันไป คนที่ศึกษาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าโดยหลักฐานก็จะพบว่ามีความทุกข์น้อย มีความผาสุกมาก ตลอดจนไม่มีทุกข์เลยก็มี ส่วนคนที่เห็นต่างก็ไปทางอื่น จะเรียกชื่อทางว่าอะไรก็แล้วแต่ ทางแห่งรักที่ถูกตรงก็ได้ ทางแห่งรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ จะเปลี่ยนปกไปยังไงก็ได้ แต่ถ้าเนื้อในมันเน่า มันพาหลง มันเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มันก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล

18.11.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รัก เพื่อ ทุกข์

February 14, 2017 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,995 views 1

รักเพื่อทุกข์

รัก เพื่อ ทุกข์

บางครั้ง การที่เราพยายามแสวงหาไขว่คว้าความรักและกอดมันไว้ นับเดือน นับปี จนถึงหลายสิบปีหรือกระทั่งหลายต่อหลายล้านชาติ ก็เพียงเพื่อที่จะได้เรียนรู้ว่า รักมันทุกข์อย่างนี้นี่เอง…

ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ แต่หลายคนกลับยินดีที่จะหลงรักใครสักคนหนึ่ง หลงยึดมั่นถือมั่นคนที่เพิ่งพบเจอได้ไม่นานมาเป็นหลักชัย มาเป็นเป้าหมาย มาเป็นที่พึ่งพิงของชีวิต แม้ตัวเราเองอยู่กับตัวเองมาจนถึงป่านนี้ ก็ยังทำหลายสิ่งหลายอย่างให้ตัวเองต้องเป็นทุกข์ ต้องเสียหาย ไม่ว่าจะด้วยความโลภ โกรธ หลง ใด ๆ ก็ตาม เราก็ยังแก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ได้ แต่เรากลับเชื่อมั่นว่าใครสักคนหนึ่งที่เข้ามาในชีวิตในบทบาทของคู่รักนั้น จะทำให้เราพ้นไปจากทุกข์ได้

มันจะเป็นไปได้อย่างไร ที่การมีคู่นั้นจะทำให้พ้นไปจากทุกข์ ในเมื่อความเป็นจริงแล้ว เราคนเดียวก็ทุกข์จากความโลภโกรธหลงของเราจะแย่อยู่แล้ว ยังเพิ่มอีกคนเข้ามาและยึดเขาเป็นของเรา แล้วมาเพิ่มความโลภโกรธหลง แบ่งปันกิเลสตัณหาให้มันเป็นทุกข์ทวีทับถมหนักขึ้นไปอีก

จริงอยู่ที่แรกรักนั้นว่าหวาน เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า  “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น” รสหวานหรือความรู้สึกสุขของความรักนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง มันเป็นเพียงสิ่งที่คนปั้นแต่งขึ้นมาหลอกจิตว่าเมื่อได้เสพสิ่งนั้นแล้วจะเป็นสุข เป็นสิ่งที่คนหลงหลอกตัวเองและหลอกกันเองมาหลายภพหลายชาติ และจะหลอกกันไปอีกนานไม่จบไม่สิ้น สามารถพิสูจน์ความลวงของความหลงได้โดยการทดลองเปรียบเทียบ เช่น มีคนร้อยคน แม้เขาจะทำบางสิ่งบางอย่างที่เหมือน ๆ กันให้กับเรา เราจะไม่ได้รู้สึกกับเขาเหมือนกันทุกคน หรือ ให้เราไปทำดีกับคนร้อยคน ให้ทำแบบเดียวกันเลย เราจะไม่ได้รู้สึกกับเขาเหมือนกันทุกคน มันจะมีชอบมากชอบน้อยต่างกันไปตามความหลง ตามความลำเอียง ตามความยึดมั่นถือมั่น ความรู้สึกที่เกินหรือขาดตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือความหลงทั้งนั้น ความรักที่จะต้องมีคู่มาสนองนั้นจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของความหลง

ความทุกข์จากความรัก เกิดขึ้นเมื่อไม่ได้สมใจอยาก การมีคู่คือการหาใครสักคนมาสนองตัณหา ให้ใครคนนั้นมาสร้างสุขให้ แรก ๆ มันก็อาจจะพอทนทำดีต่อกันไปได้ เพราะได้ผลประโยชน์บางอย่างร่วมกัน แต่วันหนึ่งสิ่งที่เขาเคยอยากได้ เคยหลงชื่นชอบ ยกย่องและให้คุณค่า มันเสื่อม มันเก่า มันแก่ มันเปลี่ยนแปลง ฯลฯ หรือไม่มันก็มีอะไรที่มันดีกว่า เขาก็อาจจะเลิกสนองตัณหาให้เราก็เป็นได้

เมื่อถึงวันใดวันหนึ่งที่เกิดความพร่อง เขาไม่ส่งส่วย ไม่บำเรอความรัก ไม่บำบัดความใคร่อยากของเราเหมือนดังเดิม วันนั้นแหละ คือวันที่จะทุกข์และทุกข์สะสมไปเรื่อย ๆ จากความไม่พอใจบ้าง จากความอยากเอาชนะบ้าง จากความหึงหวงบ้าง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือผลจากความโลภโกรธหลงที่สะสมมาตั้งแต่แรกรัก หรือที่เรียกว่ากิเลส หรือรู้จักกันสั้น ๆ ว่า “บาป

การหลงรักแล้วไม่ทุกข์นั้นไม่มีหรอก ถึงจะพยายามเลี่ยงบาลี หาคำวิเศษวิโสหรือนิยามอันสวยหรูขนาดไหนมาอ้าง การเข้าไปหลงรักมันก็ทุกข์อยู่ดี เพราะถ้าไม่มีความหลง มันก็ไม่มีเหตุอะไรที่จะเข้าไปสัมพันธ์กับใคร ๆ ในเรื่องชู้สาวเลย “เหตุ” นั้นแหละคือความหลง คือกิเลส คือบาป คือทุกข์ คือความชั่วที่ทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้อย่างแนบเนียน

ถ้ามีใครสักคนเอ่ยขึ้นมาว่า “การที่เราเข้าไปหลงรักสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเป็นเพราะความไม่รู้” อาจจะฟังดูเป็นประโยคสรุปปัญหาที่แสนจะสั้น แต่ในความเป็นจริงนั้นการเดินทางสู่การปลดเงื่อนแห่งความหลงนั้นเป็นเส้นทางที่แสนจะยาวไกลและยากลำบาก

เพราะการที่เราจะ “รู้” โทษภัยของความหลงอย่างแท้จริงนั้น ต้องไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือทุกข์จะพอใจ ทุกข์จนสาสมใจ ทุกข์จนสาแก่ใจให้มันเข็ดขยาดไม่เอาสิ่งนั้นด้วยปัญญารู้โทษชั่วของสิ่งนั้นอย่างแจ่มแจ้ง ว่าการหลงรักนั้นมีแต่ทุกข์ ทุกข์ และทุกข์ สุขไม่มีอยู่จริงเลย และสิ่งนั้นไม่จำเป็นกับชีวิตแม้แต่นิดเดียว มีแล้วจะเป็นภาระด้วยซ้ำ

ความทุกข์จากความรักนั้น เป็นสิ่งที่หลายคนได้รับ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจความจริง ไม่ใช่ทุกคนที่จะ “รู้” ถึงขนาดจะปลดปล่อยตัวเองจากความหลงได้ จะเห็นได้ว่ามีคนที่ทุกข์แต่ก็ยังทน ทนอยู่ทนเจ็บ นั่นเพราะเขาทนเพื่อจะเสพบางสิ่งบางอย่างในสิ่งที่เขาเรียกว่าความรักนั้น เพราะเขาหลงว่านั่นเป็นสุขมากกว่าทุกข์ ดังนั้นแม้เขาจะเป็นทุกข์ แต่เขาก็จะไม่ยินดีออกมาจากวังวนนั้น

บางคนทุกข์มากจนต้องหนีออกมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะออกมาได้อย่างถาวร เพราะไม่ได้มีความรู้จริงว่าการหลงรักนั้นสร้างทุกข์อย่างไร ก็จะทำได้เพียงแค่ออกจากความรักเก่า ไปแสวงหาความรักใหม่ วนเวียนทุกข์จริงและเสพสุขลวงไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน

หลักสำคัญไม่ใช่เราจะหลุดพ้นจากสภาพของคนคู่ได้หรือไม่ มันสำคัญตรงที่ว่า เราหลุดพ้นจากความหลงติดหลงยึด หลงสุขลวง ๆ ในการมีคู่ได้หรือไม่ต่างหาก รูปธรรมหรือสิ่งที่มองเห็นนั้นไม่ใช่ตัวยืนยันว่าจะพ้นจากทุกข์ แต่นามธรรมหรือสิ่งที่มองไม่เห็น คือความหลงกับเรื่องใดในจิตได้ถูกกำจัดไปหรือยังต่างหาก คือตัวยืนยันว่าจะพ้นจากทุกข์ในเรื่องนั้น ๆ

เมื่อคนได้เรียนรู้ความทุกข์จากความรักหรือถึงความเข้าใจที่สุดแห่งทุกข์ของการหลงรัก คือไม่มีวันที่จะทุกข์ได้มากกว่านี้อีกแล้ว ไม่มีความโง่ที่จะหลงสร้างบาปเพื่อทำทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่นไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว เขาจะปล่อยวางความรักเหล่านั้นได้เอง เพราะรู้จริงแล้วว่า รักนั้นมีไว้เพื่อเป็นทุกข์เท่านั้นเอง

10.2.2560

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เพราะรักมากกว่า จึงยินดีที่จะ…โสด

April 15, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,121 views 0

เพราะรักมากกว่า จึงยินดีที่จะ...โสด

เพราะรักมากกว่า จึงยินดีที่จะ…โสด

เมื่อความรักเจริญถึงขีดสุด จะสามารถก้าวข้ามสามัญสำนึกทั่วไปได้ เป็นรักที่ไม่ไหลไปตามกระแสโลก กลายเป็นรักที่อยู่เหนือโลก เพราะอยู่เหนืออิทธิพลของกิเลส

รักนั้นยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน แต่มันจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป มันจะไม่เหมือนอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ความรักที่คนทั่วไปเข้าใจนั้น ต้องเสพสุข ต้องครอบครอง ต้องผูกพัน ฯลฯ แต่เมื่อความรักนั้นได้พัฒนาขึ้นนั้น การเสพสุข การครอบครอง การผูกพันใดๆ ที่เกิดขึ้นเพราะความอยากนั้น กลับเป็นสิ่งที่ไร้ค่าไปในทันที

เพราะการยึดมั่นถือมั่นในการมีกันและกันนั่นเอง คือเหตุแห่งทุกข์ คือความรักที่คับแคบ เป็นรักที่เห็นแก่ตัว เพราะตนต้องการเสพ ตนจึงยึดไว้ ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองอดอยาก ไม่อยากพราก ไม่ปล่อยให้เขาได้ไปทำสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่า แต่เมื่อรักนั้นพัฒนาขึ้น รักมากขึ้น รักตนเองและผู้อื่นมากกว่ารักกิเลส ความเบียดเบียน ความหลงติดหลงยึด ความเห็นแก่ตัวใดๆ ย่อมไม่มีในบุคคลนั้นเลย คงเหลือไว้แต่ความเมตตา เกื้อกูล หวังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับคนที่ตนรักเท่านั้น

และเมื่อรักนั้นไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่มีคนที่จะต้องยึดไว้เพื่อรัก แต่จะเป็นใครก็ได้ที่ยินดี เหมาะสม ควรแก่กาลที่จะได้รับความเมตตาเกื้อกูล ได้ประโยชน์เหล่านั้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเมื่อรักได้เจริญถึงขีดสุดแล้ว คนผู้ที่มีความเห็นดังนั้นจึงเลือกที่จะเป็นโสด เพราะความเป็นโสดนั้น คือสถานะที่จะสามารถสร้างประโยชน์ได้มากที่สุด เพราะไม่ผูกตัวเองไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง เป็นอิสระทั้งจากภาระทางโลก และภาระทางใจ เพื่อที่จะนำเวลา ทุนทรัพย์ และแรงงานที่เหลืออยู่มาสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

15.4.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)