Tag: ยึดมั่นถือมั่น

เมฆกับความรัก

September 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,815 views 0

เมฆกับความรัก

ลูกหมู : โอ๊ะ!! นั่นเมฆรูปหัวใจโชคดีจังที่ได้เห็น ความรักครั้งใหม่ของฉันจะต้องดีแน่เลย

หมูเด็ก : แต่เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไปเป็นรูปอื่นนะ

ลูกหมู : เมฆเปลี่ยนแต่ความรักของฉันจะไม่เปลี่ยนไปนะ

หมูเด็ก : ความรักก็เหมือนเมฆนั่นแหละ ตอนแรกมันก็ไม่มีหรอก ต่อมามันก็ก่อตัวให้เห็น ให้เรารัก ให้เราหลงว่ามันจะดี แต่สุดท้ายมันก็สลายหายไป

ลูกหมู : ฉันจะพยายามทำให้ความรักอยู่กับเราไปนานๆ

หมูเด็ก : ถึงจะพยายามอย่างไร แต่สุดท้ายมันก็จะเปลี่ยนไป แม้อย่างนั้นเธอก็ยังอยากจะพยายามเพื่อสิ่งนั้นอยู่อีกหรือ?

ลูกหมู : ใช่แล้ว เพราะฉันจะพยายามรักษาความรักให้คงอยู่ ดูแลกันไป ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปเป็นคู่กันไป

หมูเด็ก : แบบนั้นก็พอจะทำให้ครองรักกันไปนานๆได้นะ แต่สุดท้ายก็ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงก็ต้องทุกข์อยู่ดี

ลูกหมู : ฉันจะมีความรักโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น ฉันพร้อมจะปล่อย ฉันจะได้ไม่ต้องทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลง

หมูเด็ก : ก็ปล่อยตั้งแต่ตอนนี้เลยสิ ตอนที่ความสัมพันธ์ยังไม่ลึกซึ้ง ยังไม่ผูกพันกันมาก

ลูกหมู : …

ลูกหมู : …(a. ถ้าคุณเป็นลูกหมู จะตอบว่าอย่างไร?)

หมูเด็ก : …

– – – – – – – – – – – – – – –

*เนื้อหาในตอนนี้ก็อาจจะไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ซึ่งอาจจะมีการแก้ไขและมีเนื้อหาต่อเนื่องไปเรื่อยๆตามที่เหตุปัจจัยจะอำนวย เช่นมีคนมาเสนอความคิดเห็น ผมก็จะลองพิมพ์ต่อไปเรื่อยๆ ตามที่เห็นว่าเหมาะสม เข้ากับเนื้อหาและเป็นประโยชน์

– – – – – – – – – – – – – – –

3.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ถ้าฉันอยู่ไปจนถึง ๑๐๐ ปี

August 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,456 views 0

ถ้าฉันอยู่ไปจนถึง ๑๐๐ ปี

ถ้าฉันอยู่ไปจนถึง ๑๐๐ ปี

ฉันคงได้เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง การพลัดพรากจากลา

ได้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของหลายสิ่ง

ได้เห็นความไม่เที่ยง ความทุกข์ และความลวงของสิ่งต่างๆ

ได้เห็นเด็กน้อยในวันนี้เติบโตจนกระทั่งกลายเป็นคนแก่

ได้เห็นคนวัยเดียวกัน และคนที่สูงวัยในวันนี้ จากไปทีละคน

ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วล้วนถูกกรรมกลืนกินไปตามกาลเวลา

ฉันคงได้แต่มองดูการเปลี่ยนแปลงของโลกไปอย่างเงียบๆ

เมื่อฉันนึกถึงวันนั้น ในวันที่ฉันจะมีอายุ ๑๐๐ ปี ในอนาคต

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้ราวกับว่าเป็นเรื่องตลก

คนที่เคยรัก ค่อยๆแก่ เจ็บป่วย และตายจากฉันไป

คนที่เคยชัง ก็ค่อยๆ ตายจากโลกนี้ไปเช่นเดียวกัน

คนที่เคยสวย เคยหล่อ ค่อยๆเหี่ยวย่น แก่ชรา และตาย

คนที่รวยล้นฟ้า มีหน้าที่การงานดี มีชื่อเสียง ก็ตายไปเช่นกัน

มันดูเป็นเรื่องตลกที่ฉันยังหลงมัวเมาอยู่กับหลายสิ่งในวันนี้

ในอนาคตข้างหน้า ในวันที่ฉันมีอายุถึง ๑๐๐ ปี

คนที่เคยอยู่ข้างฉัน เป็นเพื่อนฉัน เป็นกำลังใจให้ฉันในวันนี้

ก็คงจะทยอยหายจากชีวิตของฉันไปจนเกือบหมด

คงไม่เหลือใครที่จำอดีตในวันนี้ของฉันได้ แม้แต่ตัวฉันเอง

ตัวตนของฉันย่อมจะถูกกลืนหายไปตามกาลเวลาเช่นกัน

ฉันในวันนี้ กับฉันในอนาคตก็คงจะไม่ใช่คนเดียวกัน

ในเมื่อฉันได้เห็นว่าความเป็นฉันมันไม่แน่นอนอย่างนี้

ฉันก็ไม่รู้ว่าจะต้องเป็นฉันในแบบทุกวันนี้ไปทำไม

แม้แต่คนรอบตัวฉันก็ไม่แน่นอน ฉันก็ไม่รู้จะยึดไว้ทำไม

ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องถูกกรรมและกาลพรากไป

ฉันก็ไม่รู้จะต่อต้านมันไปเพื่ออะไร …

ในเมื่อความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่แน่นอน

แล้วฉันจะไปหวังให้สิ่งที่ฉันรัก อยู่กับฉันตลอดไปได้อย่างไร

สิ่งที่ฉันจะทำได้ก่อนที่ฉันจะมีอายุถึง ๑๐๐ ปี ไม่ใช่การไขว่คว้า

แต่เป็นการพยายามปล่อยวางในสิ่งที่ฉันยังยึดมั่นถือมั่น

ปล่อยวางให้ได้ก่อนกรรมและกาลเวลาจะมาพรากมันไป

ถึงฉันจะไม่ยอมปล่อยให้สิ่งที่รักนั้นจากไป

แต่วันหนึ่งมันก็ต้องจากฉันไปอยู่ดี

ดังนั้นฉันจึงตัดสินใจที่จะลงมือก่อน

ฉันจะไม่รอกรรม ฉันจะไม่รอกาลเวลามาพรากมันไป

ฉันจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นด้วยตัวฉันเอง

ทั้งคนที่ฉันรัก คนที่ฉันชัง และไม่ว่าสิ่งใดที่รัก สิ่งใดที่ชัง

ฉันจะปล่อยให้สิ่งเหล่านั้น เป็นไปตามธรรมชาติของมัน

ฉันจะอยู่กับสิ่งเหล่านั้น อย่างกลมกลืนไปตามธรรมชาติของมัน

แต่ฉันจะไม่เอาสิ่งนั้นเข้ามาเป็นของฉัน เป็นตัวฉัน เป็นชีวิตของฉัน

ฉันอยากให้เป็นการก้าวไปสู่ ๑๐๐ ปีที่ดีที่สุดในช่วงชีวิตของฉัน

แม้ว่าฉันอาจจะอยู่ได้ไม่ถึง ๑๐๐ ปีก็ตาม…

– – – – – – – – – – – – – – –

28.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์

July 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,113 views 1

อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์

อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์

ในหนึ่งการกระทำอาจจะมีเหตุผลที่ต่างกันมากมาย การไม่กินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน แม้ดูเผินๆจะเหมือนว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์หลายคนต่างก็เหมือนๆกัน แต่ในความเหมือนนั้นก็อาจจะมีลักษณะของจิตที่แตกต่างกัน ซึ่งก็อาจจะ ยึดบ้าง อาศัยบ้าง แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะฝึกฝนจิตมามากน้อยเช่นไร

อุปาทานคือสภาพของการยึดมั่นถือมั่น ในกรณีของการกินเนื้อสัตว์ก็มีทั้งผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์ ในส่วนสมาทานคือสภาพของการยึดอาศัย ใช้เพียงแค่อาศัยให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้ยึดว่าต้องเป็นสิ่งใด โดยมีการพิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นเป็นหลัก

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการกินเนื้อสัตว์ )

คือสภาพยึดมั่นถือมั่นในจิตว่า คนจะต้องกินเนื้อสัตว์ กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ผิด ใครๆเขาก็กินกัน เนื้อสัตว์มีคุณค่า ฯลฯ เป็นลักษณะของการยึดเพื่อเสพ วิธีตรวจดูความยึดมั่นถือมั่นก็ง่ายๆ เพียงลองละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นสักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะหนึ่งเดือน หนึ่งปี หรือหนึ่งชีวิต ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่นก็จะมีอาการทุกข์เกิดขึ้น ที่มีความทุกข์นั้นเพราะเกิดจากการไม่ได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องได้เสพ กิเลสจะดิ้นทุรนทุรายและหาเหตุผลอันชอบธรรมเพื่อจะให้ได้กลับไปเสพเนื้อสัตว์เหล่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ ถึงเขาจะไม่กินตลอดชีวิตเขาก็จะไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร ไม่คิดถึง ไม่โหยหา ไม่กระวนกระวาย ไม่ต้องหาเหตุผลให้ไปกินเนื้อสัตว์ การที่ยังมีอาการทุกข์ในจิตนั้นเพราะไปหลงเสพ หลงติด หลงยึดในอะไรสักอย่างในเนื้อสัตว์

ความทุกข์นั้นเกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก พรากจากสิ่งที่ตนหวงแหน เมื่อเขายึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ดังนั้นแล้ว เขาย่อมไม่อยากพรากจากเนื้อสัตว์เหล่านั้น เขาจะไม่ยอมให้ธรรมะหรือความเห็นอื่นใดเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่นของเขา เขาจะยึดมันไว้เป็นสรณะ แม้ว่าเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะเป็นเนื้อผิดศีลผิดธรรม เป็นเนื้อที่เขาฆ่ามา เป็นเนื้อสัตว์ที่ผิดไปจากหลักของการพ้นทุกข์ก็ตาม

เป็นลักษณะของการมีอุปาทานในเนื้อสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นที่ฝังลึกลงไปในจิตวิญญาณ ที่มักจะหาเหตุผลและสิ่งอ้างอิงต่างๆมาใช้เพื่อให้ตนได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาป ทั้งที่จริงแล้วเราไม่ควรคิดหาเหตุผลและข้ออ้างในการเบียดเบียนเลย เพราะความจริงนั้นมีปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปแล้วว่า แม้เราจะไม่เบียดเบียนสัตว์ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ แต่ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะเขาเหล่านั้นจะทุกข์ทรมานจากความอยากเพราะสิ่งที่เขายึดมั่นถือมั่นนั้นเอง

ความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เป็นสภาพของการดูดดึงเข้าไปเสพสิ่งที่เป็นภัย ยังจมอยู่ในกามภพ คือภพที่ยังหลงสุขลวงจากการได้เสพ เป็นทางโต่งไปในทางกามสุขลิกะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการไม่กินเนื้อสัตว์ )

คือสภาพที่ยึดมั่นถือมั่นว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นั้นดี เป็นสิ่งดีที่ควรจะทำ ใครไม่กินเนื้อดี ใครกินเนื้อไม่ดี โดยมักจะมีความกดดัน อึดอัด บังคับ ยัดเยียด ยกตกข่มท่านเข้าไปร่วมด้วย มักจะมีอาการรังเกียจเนื้อสัตว์และคนกินเนื้อสัตว์อยู่และไม่สามารถปล่อยวางความยึดดีเหล่านั้นได้จนมักเกิดอารมณ์ขุ่นมัวในจิตใจ

หากอยากลองทดสอบความยึดมั่นถือมั่นก็ให้ลองเข้าไปอยู่ในหมู่คนกินเนื้อสัตว์ อยู่ร่วมโต๊ะอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ หรือกระทั่งลองกินเนื้อสัตว์ จะพบสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจที่เกิดจากการที่จิตมีอาการรังเกียจผลักไส เพราะยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์แต่ถ้ามีอาการสุขเมื่อได้เสพเนื้อสัตว์แสดงว่ายังล้างกามไม่หมด ยังมีความดูดซ้อนในความผลักอยู่

การยึดมั่นถือมั่นในความดีจนตัวเองต้องทุกข์ทรมานด้วยความยึดดีนั้น เป็นการสร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะมีอัตตา เป็นทางโต่งไปในด้านอัตตกิลิมถะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง

ผู้ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ไม่กินเนื้อสัตว์( สมาทาน )

เป็นสภาพของการสมาทานหรือยึดอาศัย คืออาศัยสิ่งที่เป็นประโยชน์ละเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ สิ่งใดเบียดเบียนก็ไม่เอา สิ่งใดมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นก็เอา ไม่มีความดูดดึงในเนื้อสัตว์ ไม่มีความอยากเข้าไปกิน และไม่มีอาการผลักไส หรือไม่อยากกิน แต่จะเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นสำคัญ

การสมาทานหรือการยึดอาศัยนี้เอง คือจุดที่เป็นกลางที่สุด หรือที่เรียกกันว่าทางสายกลาง เป็นกลางบนกุศลสูงสุด ไม่ยึดชั่ว ไม่ยึดดี ไม่เสพกาม ไม่เมาอัตตา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นเพียงสภาวะที่จะอาศัยให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

15.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

July 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,446 views 0

เมื่อเผยแพร่บทความที่มีความเห็นชี้ชัดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ก็มักจะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา ซึ่งเราควรพิจารณาเอาเองว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ

ผมจะนำเสนอเนื้อความตอนหนึ่งให้เพื่อนๆที่ติดตามได้มั่นใจมากขึ้น

“บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะเหตุที่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง บุคคลที่เราเรียกว่าเป็นอริยะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง”

(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ข้อ ๒๙)

พระพุทธเจ้าเองท่านก็เป็นพระอริยะ และเป็นพระอริยะที่ระดับสูงที่สุดคือพระอรหันต์ และด้วยปัญญาระดับผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง จึงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนที่เหนือกว่าผู้ใดในโลก

การมีความเห็นต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา การโต้วาทีก็เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนย่อมปกป้องทิฏฐิที่ตนยึดมั่นอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเราชี้แจงได้ก็ชี้แจงไป แต่ถ้ามันหนักมากไปก็ให้ปล่อยวางเสีย

เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือไม่ทะเลาะ ไม่ชวนทะเลาะ เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปบีบบังคับให้ใครมาเห็นตามเรา บางคนเขาก็แค่มาบอกความเชื่อของเขา เราก็รับรู้ว่าเขาเชื่อแบบนั้น ถ้าเขาถามเราก็พิจารณาก่อนว่าจะตอบให้เกิดประโยชน์อย่างไร ไม่ใช่ตอบเพราะยึดมั่นถือมั่นว่าของฉันถูก

หากเราปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ เราย่อมไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่นด้วยการเถียงเอาชนะ การเบียดเบียนความเห็นผู้อื่นแม้ว่าสิ่งที่เขาเข้าใจนั้นจะผิดไปจากทางพ้น ทุกข์ก็ตาม ก็ยังเป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่ชั่วอยู่

เราควรเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ จนบางครั้งหมายถึงการปล่อยให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเอง ปล่อยเขาไปตามบาปบุญของเขา สุดท้ายวันใดวันหนึ่งเขาก็จะเรียนรู้ได้เอง โดยที่เราไม่ต้องไปยัดเยียด ไปบังคับ หรือไปสั่งสอนผิดถูกแต่อย่างใด