Tag: ยึดมั่นถือมั่น

ทุกข์จากความรัก คืออาหารของปัญญา

March 11, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 809 views 0

เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม คือข้อธรรมที่เผยแพร่เป็นที่รู้กันโดยมาก เนื้อหาสั้น ๆ เหมือนจะเข้าใจง่าย แต่จริง ๆ เข้าใจได้ยากมาก

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะกิเลสมันจะบังไว้ไม่ให้เห็นธรรม จะมีก็แค่ได้เป็นทุกข์เท่านั้นเอง ถ้าไม่ชีวิตไม่เจอสัตบุรุษ ไม่มีทางเห็นธรรมแล้วพ้นทุกข์ได้เลย

คนทั่วไป เมื่อมีทุกข์จากความรัก เขาจะไม่สามารถย่อยทุกข์นั้นไปเพิ่มเป็นปัญญาได้ เขาทำได้แค่เปลี่ยนทุกข์นั้นเป็นตัณหา

เช่นเขาอกหัก ช้ำรัก เขาก็เอาความทุกข์นั้นแหละ เป็นพลังในการเปลี่ยนตัวเองให้น่าเสพมากขึ้น คือเอาไปเพิ่มกามเพิ่มอัตตา เพื่อที่จะได้เพิ่มกำลังในการล่อลวงหลอกใจคนให้หลงในตัวตนของเขามากขึ้น หรือไม่ก็ไปเพิ่มข้อเรียกร้องในการเลือกคู่ให้มากขึ้น กลัวมากขึ้น กังวลมากขึ้น หวังจะเสพสุขที่มากขึ้นจากความผิดหวังในความรัก

ถ้าไม่ไปเพิ่มฝั่งกาม คือฝั่งหาคู่ยิ่ง ๆ ขึ้น ก็เพิ่มฝั่งอัตตา คือยึดดี ยึดมั่นถือมั่น เกลียดความรัก ชังความรัก เหม็นความรัก เป็นการทรมานตนเองด้วยอัตตา คือจริง ๆ ตัวเองต้องการเสพความรัก แต่มันเจ็บ แล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยกดไว้ด้วยความเกลียดชัง ยึดดีถือดี

คนโลกีย์เขาก็ทำได้แค่เท่านี้ ไปได้สองฝั่ง ไม่กามก็อัตตา นรกทั้งสองฝั่ง

ที่ว่าทุกข์จากความรัก คืออาหารของปัญญา นั้นจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีสัมมาทิฏฐิแล้ว เพื่อที่จะใช้ทุกข์นั้นเป็นตัวพิจารณาในการละหน่ายคลายจากความหลงรัก ใช้ทุกข์นั้นเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง เข้าใจธรรมะ เข้าใจตามที่ครูบาอาจารย์ เข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ไม่มีรักเลย ไม่ทุกข์เลย คือสภาพจิตเช่นใด

มันจะเป็นปัญญาก็ตรงนี้ ตรงที่ใช้ประโยชน์ให้ถูก คือใช้ทุกข์มาเป็นเครื่องมือในการล้างโลภ โกรธ หลง ถ้าเอาทุกข์ไปใช้เพิ่ม โลภ โกรธ หลง อันนั้นจะกลายเป็นว่าทุกข์คืออาหารของตัณหา

แม้ทุกข์แบบเดียวกัน เกิดเหมือนกัน แต่จิตคนต่างกัน มีความเห็นความเข้าใจต่างกัน ก็จะปฏิบัติต่างกันไป

ดังนั้นเวลาศึกษาธรรมก็ระวังให้ดี ไปเจอคนมิจฉาทิฏฐิเรื่องความรักสอนธรรมนี่จะไปคนละทิศเลย คือไปทิศเพิ่มตัณหา เพิ่มปัญหา เพิ่มทุกข์ เพิ่มความเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

พระไตรปิฎกคือคลังปัญญาวุธ

February 7, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 700 views 0

ปัญญาวุธ = ปัญญา + อาวุธ น่าจะอยู่ในลักษณะของคำสนธิ

สมัยก่อนผมไม่อ่านหนังสือเลยนะ พอเรียนจบมานั่นแหละ จึงได้หัดอ่านหนังสือบ้าง แต่ก็เป็นพวก how to เรียนรู้ต่าง ๆ ก็เป็นคนรักการอ่านมากขึ้น พอมาอ่านพระไตรปิฎกนี่รู้ได้เลยว่านี่คือ “คลังแสง”

พระไตรปิฎก คือคลังปัญญาวุธ เป็นสิ่งที่พระเถระได้ทำทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ ผ่านมากว่า 2500 ปี แม้จะมีฝุ่นอยู่บ้าง แต่อาวุธในคลังนี้ยังคมกริบเหมือนเดิม

เป็นอาวุธที่เอาไว้ประหารกิเลสได้เป็นอย่างดี และเอาไว้ใช้ปกป้องศาสนาจากคนเห็นผิดได้อีกด้วย เรียกว่าใช้ได้ทั้งภายในตนเองและภายนอก

ตัวผมนี่ค่อนข้างได้ประโยชน์มาก เพราะเข้าไปศึกษาแล้วเอามาใช้ได้เยอะ พวกอาวุธเบา ๆ นี่ใช้ได้เยอะ กลาง ๆ ก็พอได้ แต่หนัก ๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน มีหลายบทหลายสูตรที่ยากเกินภูมิไปเหมือนกัน ต้องให้ระดับครูบาอาจารย์ท่านขยายให้ฟัง

แม้แต่บทเดียวกัน มีดเล่มเดียวกัน ผมก็จะใช้ได้เก่งไม่เท่าครูบาอาจารย์ ในแต่ละบทแต่ละสูตรจะสามารถตีความลึกซึ้งขึ้นได้ตามปัญญาญาณของแต่ละท่าน สรุปคือฝึกมามากก็เก่งมาก

ส่วนคนไม่มีสภาวะ ก็จะเอามีดไปตอกตะปู อะไรแบบนี้ คือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งนี้คือมีด ดังนั้นพระไตรปิฎกจึงไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะใช้ได้เท่าเทียมกันทั้งหมด จึงเป็นเครื่องอาศัยในการศึกษา ไม่ใช่เครื่องยึดมั่นถือมั่น

เพราะสุดท้ายคนสัมมากับคนมิจฉาก็จะตีความหมายของคำหรือประโยคต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกต่างกันอยู่ดีนั่นเอง

จะเป็นโสดหรือมีคู่ ก็มีสุขทุกข์เหมือนกัน จริงหรือไม่?

December 17, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 744 views 0

ถาม จะเป็นโสดหรือมีคู่ ก็มีสุขทุกข์เหมือนกัน จริงหรือไม่?

ตอบ ไม่จริง

ในสมัยพุทธกาล เคยมีชาวบ้านมาเถียงพระพุทธเจ้าอยู่เหมือนกันในประเด็นนี้ ชาวบ้านมาอวดภูมิว่า ถึงแม้การมีความรักจะเป็นทุกข์ แต่ก็มีสุขอยู่

พระพุทธเจ้าท่านตอบเพียงว่า ความรักนั้นมีแต่ทุกข์ ไม่มีสุขอยู่เลย ชาวบ้านก็ยังเถียงอยู่เช่นนั้น สุดท้ายก็เดินหนีจากพระพุทธเจ้าไปถามความเห็นกลุ่มคนที่อยู่แถวนั้น คนกลุ่มนั้นก็เห็นด้วยกับชาวบ้านคนนั้น ก็เออออกันไปว่ารักนั้นมีทั้งสุขและทุกข์ซิ ถึงจะถูกต้อง

นั่นคือความเห็นผิดของผู้ที่มีมิจฉาทิฏฐิ จะเห็นสภาพสองสภาพเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่มันไม่เหมือนกันเลย แต่เขาจะพยายามทำให้เหมือนกัน จะได้เป็นข้ออ้างว่า จะเป็นอะไรก็เหมือนกันนั่นแหละ ทำให้มันดูธรรมดา ให้มันดูเป็นธรรมชาติไป กลบเกลื่อน ๆ ไป ให้กลายเป็นเรื่องธรรมดา

ความรู้โลกีย์ก็แบบนี้ โสดก็ทุกข์แบบหนึ่ง มีคู่ก็ทุกข์แบบหนึ่ง แต่เขาไม่เข้าใจดีกรี หรือระดับของความทุกข์ที่แตกต่างกัน ก็เลยตีขลุมไปว่ามันคล้าย ๆ กัน

เพราะจริง ๆ มันไม่เหมือนกันเลย ในบทธรรมที่รู้กันโดยทั่วไปเช่น มีรัก 100 ก็ทุกข์ 100 มีรัก 1 ก็ทุกข์ 1 ไม่มีรักไม่ทุกข์เลย คนเขาจะไม่เข้าใจว่าถ้าไม่มีรัก ไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก มันจะไม่ทุกข์อย่างไร

นี่คือสภาพของความลึกซึ้งของพุทธ ที่เดาเอาไม่ได้ รู้ตามได้ยาก เข้าถึงได้เฉพาะบัณฑิต ดังนั้น จะเอาความรู้โลก ๆ มาเถียง มันก็เหมือนชาวบ้านมาเถียงกับพระพุทธเจ้านั่นแหละ แม้ตัวเองจะยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเองถูก แต่สุดท้ายมันจะไม่พ้นทุกข์ เพราะมีความคิดเห็นและปฏิบัติไปคนละทางกับที่พระพุทธเจ้าตรัส

ในความเป็นจริงแล้ว การมีคู่นั้น จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์มากกว่าการอยู่เป็นโสดมากมายมหาศาลยิ่งนัก มีเหตุให้กังวลระแวงหวั่นไหวมากกว่าการอยู่เป็นโสดมากมาย

จะยกตัวอย่างเช่น เอาแค่คู่ไม่พูดด้วยตั้งแต่เช้าจรดเย็น ไม่มองหน้า ระหว่างคนที่มีคู่ กับคนโสดใครจะทุกข์กว่ากัน

หรือมีคนมาพูดไม่ถูกใจ ระหว่างคนคนนั้นเป็นเพื่อนทั่วไป กับคนนั้นเป็นคู่ครอง อันไหนเราจะมีอาการขุ่นเคืองใจมากกว่ากัน

จะสังเกตว่าคนคู่มักจะทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องที่คนอื่นเขาก็งงกันว่าเรื่องแค่นี้ต้องทะเลาะ ต้องงอน ต้องโกรธกัน นี่แหละคือความโง่ของคนคู่ที่มองไม่เห็นทุกข์ที่มากกว่าการอยู่เป็นโสด เพราะในความจริงมันทุกข์มากกว่า ส่วนความสุขนั้นไม่มีเลย

เพราะความสุขเหล่านั้นเกิดจากกิเลสปั้นขึ้นมาเมื่อได้เสพสมใจ เช่นเขาสวย เขาเอาใจ เขาดีกับเราแล้วสุขใจ ถ้าคนเสพติดตรงนี้เขาจะเป็นสุข แต่ถ้าคนไม่เสพติด ไม่มีตัณหา ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่หลง เขาจะไม่เป็นสุข เพราะจริง ๆ มันไม่มีรสสุข แต่คนเขลาปั้นรสสุขขึ้นมาหลอกตัวเองและผู้อื่น คือกิเลสมันหลอกอยู่ ก็เหมือนที่ชาวบ้านเถียงพระพุทธเจ้านั่นแหละ ที่เขาเห็นว่าสุขเพราะเขาหลง ที่พระพุทธเจ้าบอกว่ามีแต่ทุกข์ เพราะท่านเห็นความจริงตามความเป็นจริง

มันก็ต่างกันแบบนี้นี่เอง ต่างกันที่ปัญญาในการมองเห็นทุกข์ สุข ในเหตุปัจจัยที่ต่างกัน

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

January 9, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,463 views 1

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

ย้อนไปเมื่อราวๆ 3 ปีก่อน ตอนที่ผมยังไม่รู้จักธรรมะ ผมใช้ชีวิตแสวงหาความสุขโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือการสร้างความเบียดเบียนให้กับผู้อื่น ผมได้ถูกโลกและกิเลสมอมเมาอยู่จนกระทั่งได้พบกับความจริง 4 ประการ ที่เป็นเหตุให้ผมหลุดออกจากความเวียนวนหลงเบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อตนได้

1.ความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์

ผมรู้จักการไม่กินเนื้อสัตว์ครั้งแรกในชีวิตก็อายุเกือบ 30 ปี ก่อนหน้านี้มีเทศกาลเจ ฯลฯ ก็ไม่ได้สนใจอะไรกับเขาหรอก ไม่ได้รังเกียจอะไรหรอกนะ ยินดีด้วย แต่ก็ไม่ได้คิดสนใจ เพราะไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของมัน จนกระทั่งตนเองได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมกับเครือข่ายคนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาที่วัดป่าสวนธรรม ซึ่งที่วัดก็ไม่กินเนื้อสัตว์ เวลาสามวันที่ร่วมกิจกรรม ทำให้ผมเกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็มีชีวิตอยู่ได้ นี่คือความจริงข้อแรก

2.ความจริงที่ว่า การกินเนื้อสัตว์นำไปสู่การเบียดเบียน

หลังจากนั้นแม้จะรู้ว่าไม่กินเนื้อสัตว์ก็อยู่ได้ นำไปสู่การปรับเมนูอาหารบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเลิก เพราะยังไม่ชัดในโทษภัยของการกินเนื้อสัตว์ ต้นปี 2556 ได้ไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ในค่ายสุขภาพนั้นไม่กินเนื้อสัตว์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ได้รับจากค่าย ที่ทำให้ยินดีเลิกเนื้อสัตว์คือ สื่อวีดีโอ “ชีวิตร่ำไห้” เป็นการนำเสนอเรื่องราวของการเบียดเบียนสัตว์เพื่อที่จะต้องมาสนองการดำรงอยู่ของมนุษย์ ผมได้เกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า หากเรายังกินเนื้อสัตว์อยู่ สัตว์นั้นจะต้องถูกเบียดเบียนและเป็นทุกข์เพราะเรา นั่นคือสิ่งที่ไม่ควรเลย เมื่อเข้าใจความจริงข้อนี้เพิ่มเติม ผมจึงตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์

3.ความจริงที่ว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นทุกข์

เมื่อตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์ จึงได้พบความจริงอีกข้อคือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” นั้นเป็นทุกข์ เมื่อเราอยากกินเราก็ต้องไปเสาะหาเนื้อสัตว์มาเสพ แถมยังต้องหาเหตุผลที่ดูดีเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดในการกินเนื้อสัตว์ ซ้ำร้ายบางทียังอาจจะเฉโกออกไปในทิศทางที่เรียกว่า “ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ขยันเสพกาม” อีกด้วย คือปากก็พูดว่าไม่ยึด แต่ก็ไม่หยุดกินเนื้อสัตว์

โชคยังดีที่ผมไม่ได้มีอาการเฉโกเหล่านั้น ตนเองนั้นเป็นคนที่ซื่อสัตย์ยอมรับความจริงตามความเป็นจริง อยากกินก็ยอมรับว่าอยากกิน ยังเลิกไม่ไหวก็ยอมรับว่ายังไม่ไหว ไม่ได้ปั้นแต่งข้ออ้างใดๆมาทำให้ตนได้เสพอย่างดูดี

แต่กระนั้นก็ยังต้องทุกข์เพราะกิเลสที่เคยมี ความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นอร่อย มีคุณค่า ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดขาดได้ในทันที เราจำเป็นต้องปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง เพื่อที่จะถอนลูกศรที่ปักมั่นอยู่ในจิตใจ อันคือ ตัณหา (ความอยากกินเนื้อสัตว์) ให้ออกให้ได้ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแก้ปัญหาที่ตัณหา เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ในท้ายที่สุดผมค้นพบว่า “ความอยาก” ที่รุนแรงถึงขนาดต้องเป็นเหตุให้พรากชีวิตสัตว์อื่นนี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าอาย ไม่น่ายึดไว้ ไม่น่าคบหา เราไม่ควรมีมันอยู่ในจิตวิญญาณ ความอยากขั้นนี้มันหยาบเกินไปแล้ว มันเบียดเบียนมากไป มันสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่น จะยังแบกไว้อีกทำไม ผมจึงตั้งมั่นในการเลิกคบกับความอยากกินเนื้อสัตว์ตลอดกาล

4.ความจริงที่ว่า การหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นยิ่งกว่าสุข

หลังจากได้ปฏิบัติธรรมเพื่อถอนตัณหา คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากจิตใจแล้ว จึงค้นพบความจริงอีกข้อที่ปรากฏขึ้นมาภายหลัง ข้อนี้ไม่ใช่เหตุเหมือนกับความจริง 3 ข้อแรก แต่เป็นผลจากการเห็นความจริงในการปฏิบัติ 3 ข้อแรก

จากตอนแรกที่เคยเข้าใจว่า ถ้าเราขาดเนื้อสัตว์เราจะต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ เราต้องสละสุขจากการเสพ กลายเป็นผู้ที่ขาดทุนชีวิตเพราะไม่ได้เสพสุขตามที่โลกเข้าใจ

แต่ความจริงนั้นไม่ใช่เลย การหลุดพ้นจากความอยากนั้นยิ่งกว่าสุขที่เคยเสพเสียอีก จะเอาสุขเดิมมาแลกก็ไม่ยอม เพราะมันเทียบกันไม่ได้ เหมือนเอาเงิน 1 บาท ไปซื้อโลก มันซื้อไม่ได้อยู่แล้ว คุณค่ามันเทียบกันไม่ได้ จะเปรียบเทียบไปมันก็จะด้อยค่าเกินจริงไป เพราะคุณค่าของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นยากที่จะหาสิ่งใดมาเทียบได้

เราไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำอกุศลเพราะต้องหาสิ่งที่เบียดเบียนมาบำเรอตน เราจะเป็นอิสระจากความอยาก ไม่จำเป็นต้องสร้างเหตุผลอะไรมาเพื่อให้ได้เสพสมใจอีกต่อไป มีแต่กุศลและอกุศลตามความจริงเท่านั้น

จะเหลือเพียงแค่ทำสิ่งที่เป็นกุศลตามความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็อยู่ได้ เป็นความจริงข้อหนึ่งที่เน้นการพึ่งตน เลี้ยงง่ายกินง่าย มักน้อย ใจพอ มีเพียงแค่พืชผักก็พอเลี้ยงชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์มาเป็นส่วนเกินให้เสียเงิน เสียสุขภาพ เสียเวลาหา เสียเวลาประกอบอาหาร และความจริงที่ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทาน ถ้าเรากิน เขาก็ยังต้องฆ่าเพื่อมาขาย ดังนั้นเมื่อเราไม่มีความอยาก เราก็ไม่จำเป็นต้องกินให้เป็นการส่งเสริมการฆ่า เป็นการหยุดอกุศลกรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี

เมื่อเราไม่มีความอยาก เราจะมีจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น โอนอ่อนไปตามกุศล หลีกหนีจากอกุศล ไม่ใช่ลักษณะที่ยึดว่าจะต้องกินอะไรหรือไม่กินอะไร แต่จะเป็นไปเพื่อกุศล เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน เป็นไปเพื่อความพราก เป็นไปเพื่อความมักน้อย ขัดเกลา เกื้อกูล ตลอดจนสิ่งต่างๆที่นำมาซึ่งความเจริญทางจิตวิญญาณทั้งหลาย

….พอผมได้พบเจอความจริงตามนี้ มันก็เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเอง ไม่รู้จะหาเหตุผลไปกินทำไม เพราะดูแล้วไม่เห็นมีอะไรดีเลย ไม่กินก็อยู่ได้ กินก็ไปเบียดเบียนทั้งตนเองและสัตว์อื่นอีก

สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหานั้นคือ “ตัณหา” เพราะความอยากกินเนื้อสัตว์ จะสร้างเหตุที่จะต้องไปกินเนื้อสัตว์อีกเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น ทั้งๆที่ความจริงมันไม่จำเป็น แต่ตัณหาก็สร้างความลวงขึ้นมาบังความจริง ให้มันจำเป็น ให้มันสุขเมื่อได้เสพ ให้มันเป็นคุณค่า ให้มันเป็นชีวิตจิตใจของคน ให้มันยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์นั้นต่อไป

หากคนนั้นยังมี “ความอยากกินเนื้อสัตว์” ก็ไม่มีทางหนีทุกข์พ้น ถึงจะกดข่มไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นทุกข์ แม้จะได้กินก็ทุกข์เพราะสะสมอุปาทานและอกุศลวิบากเพิ่ม สรุปคือหากยังมีตัณหาถึงจะได้เสพหรือไม่ได้เสพก็ต้องรับความทุกข์ไปตลอดกาล

– – – – – – – – – – – – – – –

2.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)