Tag: มิจฉาทิฏฐิ

ใกล้กลียุคจิตใจคนวิปริต…

October 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,347 views 0

ใกล้กลียุคจิตใจคนวิปริต...

ใกล้กลียุค จิตใจคน วิปริต

สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด เลี่ยงศึกษา

มุ่งเสพกาม ยึดยั่วเย้า เมาอัตตา

เหมือนเป็นบ้า อวดมิจฉา ทิฏฐิตน

 

เห็นกงจักร เป็นดอกบัว นั่นหลงผิด

เห็นเบียดเบียน นั้นเป็นมิตร กับมรรคผล

อวดอ้างเกียรติ์ หยิ่งศักดิ์ศรี ทะนงตน

ยังเวียนวน อยู่ในโลก และอัตตา

– – – – – – – – – – – – – – –

บทขยาย

วันเวลาได้ผ่านจากยุคที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความเจริญทางจิตใจสูงสุด ก้าวไปสู่ความเสื่อมอย่างที่สุดจนประมาณไม่ได้ ที่เรียกกันว่า “กลียุค” ซึ่งตอนนี้ก็เดินทางมาเพียงแค่กึ่งหนึ่ง กลับเห็นได้ว่าจิตใจของคนนั้นต่ำลงอย่างน่าใจหาย

ในยุคที่ผู้คนไม่สามารถแยกแยะถูกผิดดีชั่วได้ มีแต่เรื่องผลประโยชน์ ตามจิตใจที่โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย ปล่อยให้มีการฆ่าสัตว์ได้โดยไม่มีความละอาย โกงบ้านโกงเมืองจนฉิบหาย มีชู้มีกิ๊กยั่วกามกันให้วุ่นวาย โกหกปกปิดซับซ้อนไร้ความจริงใจ เพราะลุ่มหลงมัวเมาในกิเลส และไม่เคยคิดจะศึกษาว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สนใจเพียงแต่ฉันจะได้เสพอะไร ฉันจะได้ครอบครองอะไร ฉันจะได้เป็นอะไร ฯลฯ

คนส่วนใหญ่นั้นลุ่มหลงอยู่กับกาม อยากได้อยากเสพ ให้ชัดกันก็เรื่องกิน เป็นเรื่องที่แสดงว่าสังคมเสื่อมไปสู่กาม แต่ก็ไม่เคยมีใครตระหนัก ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ร้านอาหารเกิดขึ้นมากมาย เมนูต่างๆล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมอมเมาคนผู้หลงในกาม ต้องอร่อย ต้องดูดี ต้องแปลกใหม่ ฯลฯ คนก็แห่กันไปเสพกามด้วยความเมา ตนเองเมายังไม่พอยังมาอวดชาวบ้าน เอามายั่วชาวบ้าน “นี่ฉันได้เสพกาม, ฉันสุขในกาม, พวกเธอจงมาเสพกามอย่างฉัน” เพราะมีความยึดว่ากามนั้นคือสุขของฉัน เป็นตัวฉัน ฉันต้องเสพกาม ฉันคือกาม เป็นตัวตนของกันและกันในที่สุด

แล้วก็หลงไปว่าการหลงในรสเสพรสสุขเหล่านั้นไม่เป็นไร ไม่ขัดขวางความเจริญ เราสามารถเสพกามไปได้ พร้อมๆกับปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ไปได้ อวดมิจฉาทิฏฐิให้เห็นกันชัดๆแบบไร้ยางอาย คือความเสื่อมของผู้ที่เห็นผิดเป็นถูก แล้วยกทิฏฐิตนเป็นใหญ่

เป็นสภาพที่เห็นผิดเป็นถูกโดยสิ้นเชิง มืดบอดอย่างไร้แสงใดๆจะเข้ามาทำให้ปัญญานั้นสว่างขึ้นมาได้ เพราะเห็นกงจักรเป็นดอกบัวไปแล้ว ก็หลงยึดเอาว่ากงจักรนั้นคือความเจริญ แท้ที่จริงแล้วมันเป็นความเสื่อม ยิ่งขยันยิ่งเสื่อม ยิ่งเผยแพร่ก็ยิ่งเลวร้าย และที่ร้ายที่สุดคือเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้องที่สุดในโลก เป็นเหมือนกับความเพี้ยนที่ซ้อนอยู่ในความเป็นพุทธ และแนบแน่นแนบเนียน จนคนจับไม่ได้ เป็นยิ่งกว่ามายากล ยิ่งกว่าภาพลวงตา เพราะมันคือมิจฉาทิฏฐิลวงใจ ก็เลยล่อลวงคนผู้ตาบอดให้หลงตามไปได้มากมาย

เมื่อถูกกิเลสครอบงำเข้ามากๆ จะไม่สามารถแยกดีแยกชั่วได้ จะมองเห็นว่าแม้ตนจะไม่เลิกเบียดเบียน ก็ยังสามารถเกิดปัญญารู้แจ้งบรรลุธรรมได้ นั่นคือสภาพที่เลี้ยงกิเลสไปด้วยแล้วปฏิบัติมิจฉามรรคไปด้วย คือหลงไปเข้าใจว่าการเบียดเบียนกับการรู้แจ้งในศาสนาพุทธนั้นไม่มีความเกี่ยวเนื่อง ไม่มีนัยสำคัญต่อกัน ทั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พระอริยะหรือสาวกแท้ๆ ของท่านนั้น คือผู้ไม่เบียดเบียน

การเบียดเบียนนั้นมีหลายมิติ ทั้งแต่หยาบๆ เช่นมัวเมาในอบายมุข, ผิดศีล ๕ และละเอียดไปจนผิดในอธิศีลอื่นๆตามลำดับ ยกตัวอย่างการเบียดเบียนหยาบๆเช่นการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เพราะไปมีความเกี่ยวเนื่องกับการฆ่า ถ้าจะให้ไม่เกี่ยวคือไม่ต้องเอามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตเลย ถ้ากินอยู่ก็เกี่ยว เอาตัวไปร่วม เอากรรมไปร่วม ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ และนั่นหมายถึงเบียดเบียนตนเองด้วยเช่นกัน หรือยกอีกตัวอย่างคือการกินเหล้าสูบบุหรี่ มันเป็นของไม่มีประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องเอามาใส่ร่างกายให้มันเบียดเบียนตนเอง เสียสุขภาพ เสียเงิน เสียเวลา หาประโยชน์ไม่ได้ คนที่มีปัญญารู้ประโยชน์ในการหยุดเบียดเบียนตนเองก็มีทิศทางที่จะลด ละ เลิก ส่วนคนที่หลงในกิเลสก็จะมีข้ออ้างที่แสนจะสวยหรูเพื่อไม่ให้ตัวเองได้เลิก นี่เป็นเพียงการเบียดเบียนหยาบๆเท่านั้น

เมื่อโดนกิเลสหลอกเข้ามากๆ จนเสพติด ยึดติดเข้ามากๆ เมื่อมีคนมาทักว่าทำไมถึงไม่เลิก ทำไมยังเบียดเบียนตนและผู้อื่นอยู่ ทั้งที่มีเหตุปัจจัยให้เลิกได้โดยไม่เกิดผลเสีย ก็มักจะมีอาการตอบสนองที่รุนแรง มีการโต้กลับ เพราะยึดในเกียรติ์ ศักดิ์ศรี เพราะตนนั้นมีอัตตามาก ผู้ที่บรรลุธรรมจะมีภาวะของอุเบกขาเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีลักษณะอยู่ข้อหนึ่ง คือ “มุทุ” หมายถึงหัวอ่อนดัดง่าย มีความแววไวในการปรับเปลี่ยนไปทางกุศล จะไม่ต้านทานสิ่งที่เป็นกุศล แต่จะน้อมไปทางกุศล ในทางที่ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น แม้สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นจะขัดกับสิ่งที่ตนเคยเข้าใจก็ตาม

เมื่อมีอัตตาจึงแข็ง ไม่มีอัตตาก็ไม่แข็ง โอนอ่อนพลิ้วไหวไปในทิศทางแห่งกุศล แต่ถ้ามีอัตตามากๆ จะไม่พลิ้วไหว จะยึด จะปักมั่น ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนเข้ามาหาตัวฉัน โลกต้องหมุนรอบตัวฉัน ฉันถูกคนอื่นผิด ฉันเก่ง ฉันเยี่ยม ฉันดี ฉันเลิศ ทำให้ได้อย่างฉันหรือยัง ทำให้ได้อย่างฉันเสียก่อนแล้วค่อยมาติ ให้รู้บ้างว่าใครเป็นใคร … เป็นต้น

สรุปแล้วคนที่มีอัตตามากๆ แล้วยังหลงผิด คิดว่าจะมีมรรคผลได้โดยที่ไม่ลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าให้สร้างประโยชน์ตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อม พวกเขาจึงยังคงหลงอยู่ในความเป็นโลก อยู่ในความเวียนวนของโลก เหมือนปลาตายที่ลอยไปตามน้ำ แล้วแต่ชะตากรรมจะซัดพาไป ไม่มีแรงขัดขืนโลก โดยมีอัตตาเป็นตัวปิดประตูตอกฝาโลงฝังตัวเองให้ยึดติดอยู่ในความเห็นที่ตัวเองเข้าใจเช่นนั้น ไปชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

October 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,557 views 0

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

มีประเด็นในการวิจารณ์เรื่องนี้อยู่มากในสังคม คนไม่กินเนื้อก็มักจะใช้ข้อนี้ในการอ้างอิงว่าผิด คนกินเนื้อก็จะใช้ข้อนี้ในการปฏิเสธว่าไม่ผิดเช่นกัน

เพราะถ้าอ้างศีลข้อ ๑ ตามที่ ” แปลและเข้าใจกันโดยทั่วไปแค่เพียงว่า ไม่ฆ่าสัตว์ ” มันจะไม่ตรงเสียทีเดียว มันจะแฉลบออกไปได้ เลี่ยงบาลีไปได้ ไม่ครบเงื่อนไของค์ประกอบของการฆ่าเพราะไม่ได้ฆ่าเอง และไม่ได้มีจิตคิดจะฆ่า ซึ่งทำให้คนที่กินเนื้อสัตว์ก็จะสามารถเข้าใจว่าไม่ผิดศีล และจะกลายเป็นว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ตีความเอนเอียงเข้าข้างตนเอง

แต่ถ้าศึกษาไตรสิกขา ปฏิบัติอธิศีลไปเรื่อยๆจะพบว่า อธิศีลของศีลข้อ ๑ นั้นครอบคลุมทุกองค์ประกอบอยู่แล้ว การอธิศีลนั้นคือการศึกษาศีลให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป ตั้งแต่ ๕ ๘ ๑๐ ส่วนนักบวชเริ่มต้นที่จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งฆราวาสเองก็สามารถถือเอาศีลสามหมวดนี้มาปฏิบัติได้ตามบารมี

ศีลข้อ ๑ ในจุลศีล : ดูกรพราหมณ์ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล? ๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรามีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

คำถามก็คือ การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น มีความเกื้อกูลและมีความกรุณาต่อใคร? เอ็นดูสัตว์ทั้งหลายจริงหรือ? หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงยังไง? การมีความเห็นเช่นนั้นเป็นความละอายต่อบาปจริงหรือ? การฆ่านั้นมีประโยชน์กับสัตว์เหล่านั้นหรือ? ถึงยังคงให้การสนับสนุนอยู่ ในเมื่อการเข่นฆ่านั้นมีแต่ทุกข์และอกุศลกรรมจะบอกว่าศีลข้อนี้ไม่ใช่หลักปฏิบัติของพุทธก็ไม่ใช่ เพราะเวลาพระพุทธเจ้าบวชให้ใครท่านก็ให้ถือเอาจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลเป็นข้อปฏิบัติ หลักฐานนี้พบเห็นได้ทั่วไปในพระไตรปิฎก

และแม้จะเป็นศีล ๕ ที่แปลและเข้าใจกันแค่เพียงว่า “ไม่ฆ่าสัตว์นั้น” หากศึกษาในสาระของศีลข้อนี้ไปเรื่อยๆจะทำให้จิตเมตตาขึ้น ไม่ใช่แค่ถือไว้เฉยๆแล้วจิตไม่พัฒนาอะไรเลย นั่นคือไม่มีอธิศีล แต่ผู้มีอธิศีลแม้ตนเองจะเริ่มจากฐานศีล ๕ ก็จะพัฒนาความเมตตาขึ้นไปเรื่อยๆ จากไม่ฆ่า พัฒนาเป็นไม่เบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นไม่มีส่วนเบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นมีความเกื้อกูล เมตตากรุณาต่อกัน คือนอกจากไม่ฆ่า ไม่รบกวน แล้วยังต้องช่วยเหลืออีก เรียกว่าถ้าศึกษาให้ถูกต้องจะพบว่าศีลจะเป็นตัวนำให้หยุดชั่วทำดีได้เอง ปิดนรกเปิดสวรรค์ได้เองตามระดับอธิศีลที่ได้ศึกษา

ทีนี้คนที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง จะไม่สามารถยกระดับของตัวเองไปถึงจุลศีลได้ ก็มักจะยกเอาหลักฐานที่เอื้อกับความเห็นตนมา ก็สามารถทำให้ตีเนียนกินเนื้อไปได้ เพราะภาษาที่แปลมามันไม่มีข้อห้ามหรือคำผิดตรงๆ ศีล 5 เขาก็แปลกันแค่นั้นจริงๆ มันก็เลยปฏิบัติกันอยู่แค่นั้น ทั้งที่จริงแล้วมันมีความลึกและมีมิติอยู่มากมาย

นี่คือความเสื่อมของชาวพุทธอย่างแท้จริงเพราะความไม่ศึกษาในอธิศีล จมอยู่กับศีล ๕ เท่าที่รู้หรือต่ำกว่านั้น และยึดเอาความเสื่อมนั้นเป็นหลักชัย ว่าฉันจะทำดีเท่านี้ ฉันดีได้แค่นี้ เรียกว่าปิดประตูสู่ความเจริญของตนในทันที ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าการไม่ศึกษาในอธิศีลเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เมื่อไม่ศึกษาอธิศีลก็จะไม่รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ก็เลยมีการถกเถียงกันมากในประเด็นของศีลข้อ ๑ ทั้งผู้ที่ปฏิบัติธรรมและผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม

เมื่ออธิศีลเสื่อมไป ไตรสิกขาจึงไม่มี ก็ไปศึกษาแยกกัน จิตบ้าง ปัญญาบ้าง ถือเอาจิตเป็นที่สุดบ้าง ถือเอาปัญญาเป็นที่สุดบ้าง เข้ารกเข้าพงกันไปหมด เมื่อไม่ครบองค์ประกอบของไตรสิกขา ไม่รู้ความเกี่ยวพันเชื่อมโยงของศีล สมาธิ ปัญญาว่าเกื้อกูลกันอย่างไร ปฏิบัติร่วมกันไปอย่างไร จิตและปัญญาเหล่านั้นจึงเป็นไปโดยมิจฉา เมื่อไม่มีไตรสิกขาก็ไม่เกิดมรรค เมื่อไม่มีมรรคก็ไม่มีการผลในรู้แจ้งเห็นจริง สุดท้ายจึงปฏิบัติธรรมแบบคิดเอา เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง เป็นมิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ แล้วก็เมามิจฉาทิฏฐิของตนอยู่เช่นนั้น

การยกธรรมะมากล่าวอ้างนั้นเป็นสิ่งที่ต้องประมาณให้ดี เพราะเป็นดาบสองคม ถ้าใช้ผิด เอามาตีกิน เอามาเพิ่มกิเลส เอามาเบียดเบียน ทำให้หลงงมงายทั้งตนเองและผู้อื่น ก็จะสร้างทุกข์ครอบขังให้ตัวเองหลงงมงายกับธรรมที่มิจฉา จนบางครั้งร้ายแรงถึงขั้นหลงว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม ทำให้ต้องวนเวียนหลงไปกับโลกชั่วกัปชั่วกัลป์

ดังนั้นจากจุลศีล ซึ่งเป็นความเจริญที่สุดของศีลในศาสนาพุทธ ที่บุคคลพึงปฏิบัติ จะเห็นได้ว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นมีความขัดแย้งในเนื้อหาอย่างชัดเจน ไม่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ สิ่งนั้นจึงไม่ควร ผู้ศึกษาและปฏิบัติสู่ความผาสุกจึงควรละเว้นเหตุแห่งอกุศลเหล่านั้นเสีย

– – – – – – – – – – – – – – –

7.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความเห็นผิดควรปิดไว้ ความเห็นถูกให้เปิดเผย

October 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,626 views 1

ความเห็นผิดควรปิดไว้ ความเห็นถูกให้เปิดเผย

ความเห็นผิด ปิดไว้ ดีที่สุด

หากเผลอหลุด เอ่ยอ้าง อับอายเขา

หลงเมากาม เมาอัตตา ว่าตัวเรา

แล้วยึดเอา ว่าฉันนี้ ดีสุดเอย

– – – – – – – – – – – – – – –

คนที่เห็นผิด ก็จะเห็นถูกว่าเป็นผิด เห็นผิดว่าเป็นถูก ก็เลยมักจะนำเสนอสิ่งผิดด้วยความมั่นใจ เผยแพร่มันออกมาด้วยความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นถูกต้อง เมื่อความเห็นผิดเหล่านั้นถูกประกาศไปสู่คนที่มีเห็นผิดด้วยกัน เขาเหล่านั้นย่อมกลืนกินกันเองด้วยความเห็นผิด และมัวเมาหลงผิดกันอยู่เช่นนั้น ภูมิใจกับความหลงผิดเช่นนั้น นำเสนอความเห็นผิดเช่นนั้นโดยมิได้รู้สึกอับอายแม้แต่น้อย

ส่วนคนที่เห็นถูก ก็จะเห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูก แต่พอประกาศออกไปว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่นั้นเห็นและเข้าใจนั้นเป็นสิ่งผิด เมื่อคนเห็นผิดได้ยินดังนั้น ก็จะมองความถูกเป็นความผิดและมีข้อขัดแย้งในความเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

คนเห็นผิดก็ขยันสร้างกรรมที่ผิด ส่วนคนเห็นถูกก็ต้องขยันที่จะเอาภาระ คอยแก้กลับสิ่งที่ผิดให้มันถูก คนหนึ่งสร้าง(ความเห็นผิด) คนหนึ่งทำลาย(ความเห็นผิด) มีอยู่คู่กันเช่นนี้ทุกยุคทุกสมัย

แล้วจะแยกอย่างไรในเมื่อคนเห็นผิดก็ประกาศความเห็นผิดของตน และคนที่เห็นถูกก็ประกาศความเห็นถูกของตน แล้วตกลงใครที่เห็นผิด ใครที่เห็นถูก แล้วเรากำลังมองในมุมไหน เราเห็นผิดหรือเราเห็นถูก แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเห็นถูก เพราะในเมื่อคนเห็นผิดก็จะเห็นความผิดของตนเป็นความถูกเสมอ ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกที่ทำให้คนทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากันมามากมายแล้ว

ในกาลามสูตรได้สรุปเรื่องนี้ไว้ว่า อย่าพึ่งปักใจเชื่อง่ายๆ แต่ควรศึกษาและปฏิบัติสิ่งที่เห็นเหล่านั้นจนเกิดปัญญารู้ในตนว่าเป็นกุศลหรืออกุศล คือดีหรือชั่ว เป็นการเกื้อกูลหรือเบียดเบียน เป็นการสละออกหรือการสะสม เป็นไปเพื่อพรากหรือเพื่อผูก เป็นไปเพื่อลดกิเลสหรือสนองกิเลส เป็นไปเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์หรือเป็นไปเพื่อทุกข์ชั่วกาลนาน

แต่ความหลงที่ร้ายกาจและรุนแรงที่สุดที่มีความซ้อนลึกจนยากที่จะแก้ นั่นคือการหลงว่าตนเองนั้นเป็นพระอริยะหรือพระอรหันต์ ซึ่งจะมีความซ้อนเข้าไปในวิถีปฏิบัติและปริยัติของลักษณะของศาสนาพุทธที่แยกได้ยากมาก ซึ่งเป็นความหลงที่แนบเนียนที่สุดที่จะมากวาดต้อนคนหลงผิดให้มัวเมาอยู่กับความเป็นโลกและความเป็นอัตตา

ซึ่งวิธีเดียวที่จะพ้นจากความหลงผิดที่สุดแสนจะเนียบเนียนเหล่านั้นได้ คือการทำความถูกให้เกิดในตน แล้วจะทำความถูกต้องได้อย่างไร ก็ต้องมีคนที่มีความเห็นที่ถูกต้องเป็นผู้ชี้ทางแล้วทีนี้ก็วนกลับมาเหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน…

แล้วตกลงใครที่มีความเห็นถูกต้องกัน ในเมื่อมองไปแล้วก็ดูเหมือนมีส่วนถูกด้วยกันทั้งนั้น อันนี้ก็สุดแล้วแต่บุญแต่กรรม ใครทำกรรมดีมามากก็มีโอกาสได้เข้าใกล้ความถูก ส่วนใครทำกรรมชั่วมามากก็มีโอกาสที่จะหลงมัวเมาในความผิด ยังรวมทั้งกรรมที่เคยเกื้อกูลคนที่ถูกต้องมาก็จะชักนำให้เจอคนที่ถูกต้อง และกรรมที่ไปเกื้อกูลคนที่ผิดก็จะชักนำให้เจอคนที่ผิด แต่ก็จะไม่รู้หรอกว่าคนไหนถูก คนไหนผิด จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามจนมีความเห็นถูกนั้นขึ้นในตนเอง

ถ้าหาใครไม่ได้ก็ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งในยุคนี้ยังพอมีหลักฐานที่มีความถูกต้องเป็นส่วนมากให้ศึกษาอยู่ บทไหน หมวดหมู่ไหน ศึกษาให้มาก ให้หลากหลาย ถ้าสามารถทำได้ก็ทำตามที่ท่านแนะนำให้หมด สิ่งใดเป็นไปเพื่อความไม่เจริญในธรรม ทำให้ลุ่มหลงมัวเมาในกิเลสให้ละเว้น สิ่งใดขัดเกลากิเลสให้ศึกษา และทำใจในใจให้เห็นตรงกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

เช่น ท่านบอกให้ภิกษุผู้บวชกับท่านถือศีล ๓ หมวด คือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ถ้าเราเป็นฆราวาสแล้วรู้สึกว่าศีล ๕ ยังไม่ชัดเจน ก็ให้ศึกษาศีลใน ๓ หมวดนี้ในข้อที่พอจะกระทำได้โดยไม่ทรมานจนเกินไป ศึกษาและปฏิบัติให้จิตนั้นแนบแน่น แนบเนียนไปกับศีลเหล่านั้น ให้เกิดปัญญาเห็นจริงว่า ความพ้นทุกข์นั้นถูกตรงตามศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสจริงๆ ถือศีลแล้วพ้นทุกข์พ้นภัยจริงๆ ศีลประเสริฐจริงๆ ศีลวิเศษจริงๆ ศีลเยี่ยมยอดที่สุด …แต่ถ้าไม่ไหวก็ศึกษาและปฏิบัติในศีล ๕ ให้ได้ความเห็นในแนวทางนี้แล้วค่อยขยับจาก ๕ ๘ ๑๐ พร้อมๆกับศึกษาทางเลือกเสริมสู่ความเจริญใน ศีล ๓ หมวด และบัญญัติข้ออื่นๆ ไปพร้อมๆกันก็ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

August 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,859 views 0

ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นเลยว่าการมีสิ่งที่รักนั้นคือความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีสุขเลยแม้น้อย แต่กระนั้นคนที่หลงในสุขลวงยังพยายามยกสุขลวงเหล่านั้นขึ้นมาเป็นสาระ เป็นประโยชน์ ให้ตนได้เสพสุขในสิ่งที่รักเหล่านั้น

ในปิยชาติกสูตร มีเรื่องราวว่า บุตรของคฤหบดีคนหนึ่งตาย จึงทำให้คฤหบดีเกิดความทุกข์มาก ว่าแล้วก็ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เล่าความตามที่เป็น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ความโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นของเกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

แต่คฤหบดีกล่าวว่า ความยินดี ความดีใจก็เกิดจากสิ่งที่เป็นรักด้วย แล้วก็เดินจากไป ไปพบกับกลุ่มนักเลงอยู่ไม่ไกล เข้าไปเล่าความที่กล่าวโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า นักเลงก็เห็นด้วยกับคฤหบดี เมื่อคฤหบดีเห็นว่าความเห็นของตนนั้นตรงกับพวกนักเลง จึงจากไป

– – – – – – – – – – – – – – –

จะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กล่าวถึงสุขเลยแม้แต่นิดเดียว ท่านตรัสถึงแต่เรื่องทุกข์ เพราะจริงๆแล้วมันมีแต่เรื่องทุกข์ ทีนี้คฤหบดีก็ยังมีกิเลส ยังมีความหลงติดหลงยึด ยังมีความไม่รู้อยู่มาก เห็นว่าในทุกข์เหล่านั้นยังมีสุขอยู่ เห็นสุขลวงเป็นสุขจริง จึงได้เผยความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ)ออกมา ซ้ำยังไปหาคนที่เห็นตรงกันกับตนเพื่อยืนยันความถูกต้องในความเห็นของตนอีก

คนที่เห็นผิด ไปคุยกับคนที่เห็นผิด มันก็เห็นผิดเหมือนกันหมด ถึงแม้คนอีกร้อยล้านคนทั่วโลกจะเห็นตามคฤหบดี แต่ก็ใช่ว่าความเห็นเหล่านั้นจะเป็นความเห็นที่ถูก ถึงจะไปเห็นตรงกับคนที่มีชื่อเสียง คนที่ได้รับการเคารพนับถือ แต่ถ้ายังมีความเห็นที่ขัดกับพระพุทธเจ้า ก็ยังเรียกว่าเห็นผิดอยู่ดี

ทีนี้เราลองกลับมาสังเกตตัวเองดูว่าเราเห็นตามพระพุทธเจ้าหรือคฤหบดี เห็นตามบัณฑิตหรือคนพาล ความเห็นเราไปในทิศทางไหน ไปทางเห็นทุกข์หรือไปทางเห็นสุขในสิ่งที่รัก เรายังจะหาเหตุผล หาหนทาง เจาะช่อง เว้นที่เหลือไว้ให้ความเห็นผิดเหล่านั้นทำไม ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสความจริงสู่การพ้นทุกข์ ดังนั้นผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าคือผู้ที่หันหัวไปในเส้นทางทำทุกข์ทับถมตน

ในเรื่องนี้กล่าวถึงสิ่งที่รัก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดและกินความกว้างมาก เพราะหมายถึงทุกสิ่งที่เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพสุขจากสิ่งนั้นก็ยังต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น แล้วเรื่องของการมีคู่ การเป็นคู่รัก การแต่งงาน เป็นเรื่องหยาบๆ ที่เห็นได้ชัด เจาะจงชัดเจนเลยว่ามีการเข้าไปรัก เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพ เข้าไปยึดมั่นถือมั่น คงไม่ต้องบอกกันเลยว่าเป็นการแสวงหาทุกข์มาสู่ชีวิตตนเองขนาดไหน

เพราะขนาดสิ่งที่รักในทุกวันนี้ก็เยอะมากยากเกินจะสลัดออกแล้ว ยังโหยหา ยังแสวงหาสิ่งอื่นเพื่อที่จะรักอีก มันมีทิศทางที่พอกหนาขึ้นเรื่อยๆ กิเลส ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นที่พอกชั้นหนาขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไข เมื่อถูกความหลงผิดครอบงำจึงไม่ง่ายที่จะรู้ว่าสิ่งใดคือความเห็นที่ถูก สิ่งใดคือความเห็นที่ผิด

ในยุคสมัยนี้ เรายังโชคดีที่ยังมีธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ ยังมีแนวทางปฏิบัติ ยังมีความเห็นที่ถูกตรงที่ท่านได้กล่าวไว้ให้เป็นหลักฐานในการเทียบว่า เรามีความเห็นถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ ถ้าใครยังมีความเห็นไปในแนวทางของคฤหบดีว่า “ รักมันไม่ได้มีแต่ทุกข์ มันมีสุขด้วย” ก็ควรจะเพียรศึกษาให้มาก เพราะทิศทางของท่านนั้นยังไม่ตรงไปสู่การพ้นทุกข์ หากใช้ชีวิตต่อไปบนทางที่ไม่ตรงเช่นนั้น ก็จะเสียเวลาไปเปล่าๆ เนิ่นช้าไปเปล่าๆ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใด วินัยใด เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้น วินัยนั้น ไม่ใช่ของเราคถาคต” ดั้งนั้นการจะอ้างว่า มีคู่เพื่อเรียนรู้ มีคู่เพื่อพัฒนาจิตใจ มีคู่เพื่อเจริญไปด้วยกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุผลของกิเลสที่แนบเนียนที่สุด จึงต้องถูกแย้งด้วยคำตรัสนี้อย่างชัดเจน

นั่นหมายถึง การจะไปมีคู่เพื่อประโยชน์ใดๆนั้น ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ มีแต่พาให้หลงทาง พาให้เสียเวลา สร้างทุกข์และบาป เวร ภัย ให้กับตนเองและผู้อื่น ให้หลงวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้

ดังนั้นการแสวงหาสุขในรักและการมีคู่จึงไม่ใช่สิ่งที่สมควรกระทำ ผู้แสวงหาสุขในรักและการมีคู่ คือผู้ที่มีความเห็นตามคฤหบดี และเมื่อไม่ได้เห็นตามบัณฑิต การพ้นทุกข์ย่อมไม่มี

– – – – – – – – – – – – – – –

4.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)