Tag: พระพุทธเจ้า

ข้าคือเหตุผลที่นางต้องทรมานและเจ็บปวด

July 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,781 views 0

ข้าคือเหตุผลที่นางต้องทรมานและเจ็บปวด

ข้าคือเหตุผลที่นางต้องทรมานและเจ็บปวด

ประโยคหนึ่งจากละครซีรี่พระพุทธเจ้า ตอนที่ 40 เป็นประโยคสั้นๆที่สรุปรวมความทรมานและเจ็บปวดที่ยาวนานมากกว่า 4 อสงไขย . . .

ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ที่พระนางยโสธราได้ผูกพันกับพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นการผูกกันด้วยความดีงาม ความเสียสละอย่างที่สุด แต่ก็ยังเป็นเหตุให้ต้องทนทุกข์ ทรมานและเจ็บปวดอยู่

นับประสาอะไรกับคนทั่วไปที่ผูกกันด้วยกิเลส พันกันด้วยตัณหา เหนี่ยวรั้งกันด้วยความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีความทุกข์ เป็นไปไม่ได้เลย

ทางที่ทุกข์น้อยที่สุดก็คือไม่ต้องผูกพันกันด้วยความเป็นคู่รัก อย่าพยายามหาข้ออ้างให้ตัวเองได้เป็นทุกข์ เพราะข้ออ้างเหล่านั้นนั่นแหละคือข้ออ้างของกิเลส

คู่ของพระพุทธเจ้าไม่ใช่คู่รัก แต่เป็นคู่ที่จะเข้ามาเพื่อให้เรียนรู้ ทุกเหลี่ยมทุกมุมของทุกข์ ทุกอย่างในจักรวาลนี้ โดนทิ้งโดนพรากไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เป็นเหตุให้อีกคนต้องเสื่อมและตายไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง

ไม่ใช่คู่ที่พากันเสพสุขอย่างที่หลายคนเข้าใจ คนที่จะมาบำเพ็ญบารมีคู่กับพระพุทธเจ้าต้องยอมทรมานและเจ็บปวดอย่างที่สุด ไม่มีธรรมใดงอกงามบนความสุข มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่จะทำให้ธรรมะบังเกิด

ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

July 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,318 views 0

เมื่อเผยแพร่บทความที่มีความเห็นชี้ชัดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ก็มักจะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา ซึ่งเราควรพิจารณาเอาเองว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ

ผมจะนำเสนอเนื้อความตอนหนึ่งให้เพื่อนๆที่ติดตามได้มั่นใจมากขึ้น

“บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะเหตุที่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง บุคคลที่เราเรียกว่าเป็นอริยะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง”

(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ข้อ ๒๙)

พระพุทธเจ้าเองท่านก็เป็นพระอริยะ และเป็นพระอริยะที่ระดับสูงที่สุดคือพระอรหันต์ และด้วยปัญญาระดับผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง จึงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนที่เหนือกว่าผู้ใดในโลก

การมีความเห็นต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา การโต้วาทีก็เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนย่อมปกป้องทิฏฐิที่ตนยึดมั่นอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเราชี้แจงได้ก็ชี้แจงไป แต่ถ้ามันหนักมากไปก็ให้ปล่อยวางเสีย

เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือไม่ทะเลาะ ไม่ชวนทะเลาะ เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปบีบบังคับให้ใครมาเห็นตามเรา บางคนเขาก็แค่มาบอกความเชื่อของเขา เราก็รับรู้ว่าเขาเชื่อแบบนั้น ถ้าเขาถามเราก็พิจารณาก่อนว่าจะตอบให้เกิดประโยชน์อย่างไร ไม่ใช่ตอบเพราะยึดมั่นถือมั่นว่าของฉันถูก

หากเราปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ เราย่อมไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่นด้วยการเถียงเอาชนะ การเบียดเบียนความเห็นผู้อื่นแม้ว่าสิ่งที่เขาเข้าใจนั้นจะผิดไปจากทางพ้น ทุกข์ก็ตาม ก็ยังเป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่ชั่วอยู่

เราควรเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ จนบางครั้งหมายถึงการปล่อยให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเอง ปล่อยเขาไปตามบาปบุญของเขา สุดท้ายวันใดวันหนึ่งเขาก็จะเรียนรู้ได้เอง โดยที่เราไม่ต้องไปยัดเยียด ไปบังคับ หรือไปสั่งสอนผิดถูกแต่อย่างใด

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

July 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,267 views 11

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

มังสวิรัติกับพระพุทธศาสนานั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานแสนนานว่า พระพุทธเจ้าท่านกินเนื้อสัตว์หรือไม่? ในบทความนี้ไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆที่จะมาแสดง มีเพียงผลของการปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาที่จะมายืนยันกันว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กินเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติว่าสาวกห้ามกินเนื้อสัตว์ แต่มีข้อแม้มากมายในการได้กินเนื้อสัตว์นั้นๆ เช่นเนื้อสัตว์ที่ห้ามกินอย่างเด็ดขาดสิบอย่างในมังสัง ๑๐ คือห้ามกินเนื้อ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ที่เขาลากมา บังคับมา แล้วก็ฆ่ามา เป็นเนื้อที่มีบาป เป็นเนื้อสัตว์นอกพุทธ ดังนั้นจึงไม่ควรกินอยู่แล้ว อีกทั้งบัญญัติว่าสามารถกินเนื้อที่ไม่เห็นว่าเขาฆ่ามา ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามา ไม่รังเกียจว่าเขาฆ่ามา ในข้อไม่รังเกียจนี้เองเป็นตัววัดหิริโอตตัปปะ เพราะเนื้อสัตว์ที่ถูกเบียดเบียนมาย่อมไม่เป็นที่น่ายินดีในหมู่สาวก เนื้อสัตว์ที่ได้มานั้นย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

ซึ่งในทุกวันนี้เรียกได้ว่ายากนักที่จะหาเนื้อสัตว์ที่ไม่มีบาปบน เพราะเนื้อสัตว์ที่ขายอยู่ก็มีแต่เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ใครๆก็รู้ว่ามันไม่ได้ตายเอง เขาเพาะเลี้ยงมา เขาจับมา เขาฆ่ามา แล้วเขาก็เอามาขายเรา เมื่อเรารู้ดังนี้ย่อมไม่ยินดีส่งเสริมให้เขาทำอาชีพที่เป็นบาปเหล่านั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ถึงการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ มีสองข้อที่เกี่ยวกันคือ ห้ามค้าขายชีวิต และห้ามค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายความว่าหากฝืนทำก็ไม่ใช่พุทธ เพราะพุทธไม่ส่งเสริมให้เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในบทโอวาทปาติโมกข์ยังได้กล่าวว่า ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่เรียกว่าเป็นสมณะเลย สมณะนั้นคือผู้สงบจากกิเลส เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เรารู้ในใจกันดีอยู่แล้วว่าการไม่กินเนื้อสัตว์คือการไม่มีส่วนในการเบียดเบียนสัตว์นั้น การยังกินเนื้อสัตว์อยู่เป็นการเบียดเบียนกันอย่างตรงไปตรงมา เพียงแต่เราไม่คิดจะสนใจที่ไปที่มาของเนื้อสัตว์เหล่านั้นเท่านั้นเอง

ถ้าหากเรายังยืนยันว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่สมควรแล้วล่ะก็ ความเห็นของเราก็จะไปขัดกับพระสูตรต่างๆอยู่เสมอ เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น แต่คนที่หลงว่าเนื้อสัตว์เป็นคุณค่าก็จะกินเนื้อสัตว์โดยหวังให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งขัดกับสัจจะของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง ถ้าท่านตรัสแนวทางปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าก็มีความเห็นที่ดำเนินไปสู่ความเป็นทุกข์เท่านั้นเอง

ความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ใช้หลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาเข้ามากำจัดความอยาก จากคนที่เคยหลงใหลชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ เคยยึดมั่น เคยผูกพัน แต่ก็สามารถใช้กระบวนการของพุทธเข้ามากำจัดความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้

เมื่อหมดความอยากกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกว่าเนื้อสัตว์มีคุณค่าแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องไปกินให้เมื่อย ไม่ต้องเบียดเบียนสร้างกรรมชั่วให้ต้องลำบากรับการมีโรคมากและอายุสั้นในภายหลัง ไม่ต้องคอยคิดปั้นแต่งเหตุผลใดๆที่จะทำให้การกินเนื้อสัตว์นั้นดูเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องผูกภพผูกชาติกับเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเป็นทาสเนื้อสัตว์อีกต่อไป

และยังมีปัญญารู้อีกด้วยว่า การกินเนื้อสัตว์ เป็นโทษ ทุกข์ ภัย ผลเสียอย่างไร มีปัญญาที่จะหลีกเลี่ยงละเว้น และอนุโลมบ้าง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ ให้ใจต้องเป็นทุกข์จากความอยากและไม่อยาก ไม่มีทั้งความทั้งความอยากกินเนื้อสัตว์ และไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ใยดี ไม่สนใจ ไม่ให้คุณค่า มีเพียงประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง โดยรวมเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่นั้นเป็นโทษอยู่แล้ว เราจึงไม่เอาสิ่งที่เป็นโทษนั้นเขามาใส่ตัวด้วยใจที่เป็นสุข

นี่คือผลที่ปฏิบัติมาด้วยการชำระล้างความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดไปจากจิตวิญญาณ ถือเป็นกิเลสระดับที่ไม่ยากไม่ลำบากนัก สาวกระดับกระจอกๆอย่างผมยังทำได้ แล้วผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่าจะไม่ได้หรืออย่างไร แล้วพระพุทธเจ้าผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งจะขนาดไหน ท่านรู้ทุกอย่างในโลก ท่านรู้ที่มาที่ไปของทุกเหตุปัจจัย ขนาดผมไม่รู้ถึงขนาดท่านก็ยังรู้เลยว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภค เพราะค่าโดยรวมแล้วมีโทษมากกว่าประโยชน์ เรียกว่าได้รสสุขนิดหน่อย แต่เก็บสะสมอกุศลกรรมสร้างทุกข์ไปอีกนานแสนนาน

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดเป็นสิ่งลวง เมื่อเราเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ เราก็ไม่ควรจะเอาโทษนั้นมาใส่ตัว หากว่าเราไม่มีกิเลส ก็คงจะไม่มีแรงต้านมากนัก แต่หากกิเลสมาก ก็คงจะคิดหาวิธีที่จะให้ได้เสพเนื้อสัตว์โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือถูกกล่าวหาใดๆ

แม้แต่การกล่าวหาว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ข้อคิดเห็นเหล่านี้ได้เลย ไม่มีหลักฐานชี้ชัดใดๆเลยสักอย่างเดียว เรื่องราวทั้งหมดนั้นผ่านมากว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว สิ่งที่เหลือไว้มีเพียงคำสั่งสอนให้เพียรปฏิบัติจนเกิดปัญญารู้ขึ้นเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรเชื่อแต่แรก แต่ควรพิสูจน์ให้เห็นด้วยปัญญาของตนเองว่าเนื้อสัตว์นั้นควรละเว้นหรือควรบริโภค

ผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นก็มีมากมายหลากหลาย มีอินทรีย์พละต่างกัน ผู้ที่สามารถตัดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็มี ผู้ที่ยังหลงเมามายอยู่กับรสของเนื้อสัตว์ก็มี แต่หากมุ่งปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ก็เป็นสาวกในพระพุทธศาสนาทั้งนั้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถละเว้นการเบียดเบียนทั้งหมดได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ทิ้งคนเหล่านั้น เพราะพวกเขายังมีความดี ยังมีทิศทางในการลดละกิเลสอยู่ จึงไม่มีบัญญัติใดๆที่ระบุว่าห้ามกินเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน มีเพียงข้อแม้ต่างๆตามที่ได้ระบุไว้ดังที่ยกตัวอย่างบางส่วนมาก่อนหน้านี้

คนที่อยากกินเนื้อสัตว์ก็จะหาช่องว่างในเนื้อหาและตัวอักษรเหล่านั้นให้ตัวเองได้กินเนื้อสัตว์ ส่วนคนที่ปฏิบัติจนลดและทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็จะไม่สงสัยใดๆอีกว่าควรจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กิน

การเลือกกินเนื้อสัตว์เป็นเจตนา ซึ่งเป็นกรรมของแต่ละคน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอาหารเสียก่อนว่าเราควรจะทำกรรมนี้หรือเราจะเลี่ยงกรรมนี้ หากมีผักและเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า เราจะเลือกเขี่ยสิ่งใดออก เราจะเลือกนำสิ่งใดเข้าปากเรา เราจึงควรใช้ปัญญาของเราพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ให้เห็นประโยชน์และโทษของมัน ควรเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่มีประโยชน์ จึงจะพบกับความผาสุก

ตราบใดที่เรายังกำจัดความหลงในเนื้อสัตว์ไม่ได้ เนื้อสัตว์เหล่านั้นก็จะยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตเรา มีอิทธิพลต่อเรา เป็นตัวกำหนดทุกข์และสุขของเรา เป็นเจ้านายของเรา เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นจนเป็นเหตุให้ต้องทุกข์เมื่อไม่ได้เสพ เป็นสุขเมื่อได้เสพ วนเวียนอยู่ในสุขทุกข์แบบโลกๆอย่างไม่มีวันจบสิ้นเพราะเป็นทาสเนื้อสัตว์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :กรณีการโต้แย้งต่างๆในบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

– – – – – – – – – – – – – – –

13.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เรียนรู้เรื่องคู่จาก พระนางพิมพา

June 26, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,933 views 0

เรียนรู้เรื่องคู่จาก พระนางพิมพา

เรียนรู้เรื่องคู่จาก พระนางพิมพา

คงจะมีเหตุบางอย่างให้คนในยุคนี้ได้เรียนรู้เรื่องราวของความเป็นคู่บุญคู่บารมีในรูปแบบของคู่รัก ซึ่งเป็นคู่แบบหนึ่งที่เรียกได้ว่าต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส ใช่ว่าเส้นทางเหล่านี้จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ หากเราได้ศึกษาจะพบว่าท่ามกลางความรักที่ดูน่าหลงใหลได้ปลื้มนั้น ยังมีความทุกข์และวิบากบาปจำนวนมหาศาลที่ต้องแบกรับอีกด้วย

เราอาจจะเข้าใจผิด หลงคิดว่าถ้าพระพุทธเจ้ามีคู่บุญคู่บารมีในรูปแบบของคู่รักแล้วตนจะมีได้บ้าง จึงมักจะยกเจ้าชายสิทธัตถะและนางพิมพาเป็นต้นแบบ โดยไม่ตระหนักว่าสาระสำคัญของเรื่องราวทั้งหมดนั้นเป็นอย่างไร เรามักจะยินดีรับรู้เรื่องราวเท่าที่เราอยากเสพเท่านั้น นั้นก็เพื่อให้เราสามารถมีคู่ได้ด้วยความชอบธรรม

ความเป็นคู่นั้นแม้จะรักกันเกื้อกูลกันเพียงใด แต่การผูกกันไว้ด้วยสภาพของ “คู่รัก” ซึ่งจะกลายเป็นกรรมที่ต้องชดใช้กันไปไม่รู้อีกกี่ชาติต่อกี่ชาติ ใช่ว่าคู่บุญคู่บารมีพระพุทธเจ้าจะเกื้อกูลให้เจริญเสมอไป กว่าจะถึงวันที่เราเห็นดังที่ได้เรียนรู้มา ท่านทั้งสองผ่านกันมามากมาย ทั้งพากันทำบาป ทั้งถ่วงความเจริญกัน ทั้งหึงหวง ทั้งทะเลาะ ทั้งเป็นภาระ ทั้งถูกทิ้ง ทั้งเป็นเหตุให้อีกคนเจ็บปวดและตาย กว่าจะแบกกันมาจนถึงชาติสุดท้ายนี่ต้องทนทุกข์ทรมานมากเท่าไหร่ เราคงไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมด ทำได้เพียงศึกษาข้อมูลบางส่วนเท่านั้น

ถ้าใครอยากรู้ก็ลองนึกดูก็ได้ว่า คู่ที่เราทะเลาะกัน เกลียดกัน ทำร้ายกันนั่นแหละจะมาจองเวรจองกรรมกันทุกชาติไม่จบไม่สิ้น พากันลงนรกไปอีกนานแสนนานจนกว่าจะปีนป่ายขึ้นมาจากนรก แต่กระนั้นก็ไม่ใช่ง่าย ต้องผลัดกันแบกกันและกันปีนขึ้นจากเหวนรก บางทีอีกคนก็ฉุด บางทีเราก็ไปฉุดอีกคนลงนรก ใช่ว่าจะพบความสุขความเจริญได้ง่ายนัก

โดยเฉพาะผู้ที่ยังมีกิเลสหนาอยู่ ซึ่งมักเอาเรื่องเกื้อกูลกัน พัฒนาไปด้วยกัน เจริญในธรรมไปด้วยกัน มาบดบังกิเลสคือความอยากมีคู่ของตน กลายเป็นหลอกตัวเองว่าถ้าคู่ไม่ดีก็ไม่ควรมี แต่ถ้าคู่ดีก็มีได้

แท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องมีคู่บุญที่อยู่ในรูปของคู่รักเลย ให้เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์ที่ต้องสะสมโลกวิทูหรือการรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง งานของพระโพธิสัตว์คือเรียนรู้ทุกบท ทุกเหตุการณ์ ทุกเหลี่ยม ทุกมุม ทุกความรู้ในเรื่องโลก แต่คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ถึงขนาดนั้น พระพุทธเจ้าบอกให้เราเรียนรู้แค่ใบไม้กำมือเดียวเท่านั้น ยังไม่จำเป็นต้องไปเรียนรู้ทั้งป่า

การที่เราจะหาคู่รักมาทำเหมือนเกื้อกูลและเจริญไปด้วยกันนั้นเป็นความเห็นของกิเลสล้วนๆ เพราะแท้จริงแล้วความเกื้อกูลและความเจริญก็สามารถหาได้ในหมู่กัลยาณมิตรเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเป็น “คู่รัก” ให้ต้องสร้างกรรมชั่ว จองเวรจองกรรมกันไปอีกหลายภพหลายชาติ

แม้พระพุทธเจ้าจะเป็นตัวอย่างของภาพความรักที่เกื้อกูลตามที่หลายคนเข้าใจ แต่ท่านก็ไม่เคยบอกให้เราไปมีคู่ ไม่มีเหตุผลใดที่สมควรมีคู่ ซ้ำยังบอกให้พยายามออกจากความหลงในเรื่องคู่ ซึ่งคนที่หลงในความรักจะยึดพุทธประวัติมาเป็นที่ตั้ง แต่มักจะไม่เอาธรรมเพื่อความพ้นทุกข์มาศึกษา

หนึ่งในความจริงที่ยากจะปฏิเสธคือ การมีคู่ของพระพุทธเจ้านั้นคือการมีเพื่อให้เห็นทุกข์และเพื่อทอดทิ้งอย่างในพระเวสสันดรชาดกก็เป็นบทเรียนที่ชัดเจนว่ามีไว้เพื่อให้ทิ้ง ให้เห็นว่าสิ่งที่รักที่สุดก็สามารถสละได้ ไม่ใช่การเป็นคู่รักเพื่อเสพสุขแต่อย่างใด

เมื่อเราศึกษาพุทธประวัติแล้วพยายามอย่าเอาอย่างท่านทุกอย่างเพราะแต่ละสิ่งล้วนมีเหตุปัจจัยที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ พึงระลึกไว้เสมอว่านั่นคือบารมีระดับพระพุทธเจ้า ส่วนเราเป็นผู้น้อยต้องประมาณกำลังให้เหมาะสม สิ่งที่เราควรศึกษาและปฏิบัติตามคือคำสอนของท่านหลังจากที่ท่านตรัสรู้ ท่านว่าอย่างไรก็ศึกษาไปตามนั้น ท่านว่าสิ่งใดไม่ควรก็จงพิจารณาให้เกิดปัญญาว่าไม่ควรอย่างไร ท่านว่าสิ่งใดควรก็จงพิจารณาให้เกิดปัญญาว่าควรอย่างไร

ผู้มีปัญญาจะรู้ชัดว่าการผูกกันด้วยความเป็นคู่รักนั้นมีแต่ความทุกข์ พวกเขาจึงพยายามออกจากความเป็นคู่นั้น เพราะงานสำคัญในชีวิตนั้นไม่ใช่การหาคู่ แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อดับทุกข์ เมื่อมีวิชาดับทุกข์ ศึกษาและปฏิบัติจนทำให้ทุกข์ดับจนสิ้นเกลี้ยงได้แล้ว จะไปลองศึกษาการมีคู่หรือไปเรียนรู้ทุกข์ในมุมอื่นๆ ก็สามารถทำได้ตามประสงค์

– – – – – – – – – – – – – – –

26.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)