Tag: ปัญญา

สมถะและวิปัสสนา กลยุทธ์และการประมาณตน

April 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,999 views 0

สมถะและวิปัสสนา กลยุทธ์และการประมาณตน

ดาวน์โหลดภาพขนาดเต็ม | Download full size image

สมถะและวิปัสสนา กลยุทธ์และการประมาณตน

การทำกิจกรรมการงานใดๆนั้นเราควรทำให้เหมาะสมแก่กำลังของตน การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน เราควรปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่ธรรมที่เรามี จึงจะเกิดความเจริญ

ในบทความนี้จะขยายเกี่ยวกับกลยุทธ์ของการใช้สมถะและวิปัสสนาโดยการนำเจโตและปัญญาเข้ามาร่วมอธิบาย

เจโต นั้นคือกำลัง พลัง ความทนทาน การปฏิบัติสมถะจะสามารถทำให้เจโตพัฒนาได้ เช่นผู้ฝึกฝนสมาธิ เดินจงกรม ฯลฯ ก็จะมีภาพลักษณ์โดยทั่วไปที่ดูสงบ ทนต่อสิ่งกระทบหรือสิ่งเร้าได้ดีกว่าตอนที่เขาไม่เคยฝึกสมถะมาก่อน

ปัญญา นั้นคือความรู้ เป็นความรู้ระดับโลกียะ จนถึงระดับโลกุตระ คือรู้แจ้งแทงตลอดในทุกลีลาของกิเลสก็จะเรียกรวมว่าปัญญา เกิดได้จากหลายๆปัจจัย โดยเฉพาะการวิปัสสนาที่ถูกตรงจะทำให้เข้าถึงปัญญาโลกุตระได้

เราสามารถแจกแจงสภาพที่เกิดได้กว้างๆ สี่สภาวะดังนี้

๑). เจโตน้อย ปัญญาน้อย

โดยทั่วไปแล้วคนที่มีเจโตน้อยปัญญาน้อย เมื่อเจอกับต้องกระทบกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ ก็จะหลุด โกรธ ตบะแตก เรียกว่าพ่ายแพ้ต่อกิเลสไป โดนกิเลสจับไปกินหมด

ดังนั้นกลยุทธ์ในผู้ที่มีเจโตและปัญญาน้อยเมื่อเจอกับผัสสะที่เกินประมาณหรือศีลที่ยากเกินจะรับไหวก็คือหนีก่อน การหนีนี้เองก็เป็นการประมาณตนไม่ให้เกิดสภาพที่ทรมานตัวเองมากเกินไป ซึ่งก็เป็นกุศลอยู่มาก เพราะเป็นการลดอัตตาและลดโอกาสในการสร้างกรรมชั่วอื่นๆอีกมากมาย

บางคนมีกำลังน้อยปัญญาน้อย แต่ก็พยายามอดทนต่อสู้กับสิ่งกระทบโดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าได้หลุดแสดงความโกรธออกไปแล้ว หรือมีจิตอกุศลไปแล้ว ซึ่งการทนอยู่ในสภาพที่เกินกำลังจะรับไหวนั้นไม่เป็นผลดีกับใครเลย

เมื่อเราเรียนรู้แล้วว่าเรายังมีเจโตและปัญญาที่น้อยไปสำหรับการต่อกรกับเรื่องนั้นๆ ก็ให้หนีจากเรื่องนั้นมาก่อน การจะรู้ตัวจนกระทั่งหนีนี้เองก็ต้องใช้สติและปัญญาด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนเจโตและปัญญาน้อยจะยอมหนีจากสถานการณ์ตรงหน้า เพราะคนเราเวลายึดมั่นถือมั่นแล้วมันจะเห็นช้างเป็นมด มันจะสู้หมด อัตตามันใหญ่เกินจะยอมหนีหรือยอมแพ้

๒). เจโตมาก ปัญญาน้อย

ผู้ที่มีเจโตมากย่อมจะรับกับสิ่งกระทบได้ดี เช่นโดนเขานินทาด่าว่าต่อหน้าก็ยังสามารถใช้กำลังของจิต กดข่มความโกรธให้สงบได้ ซึ่งการกดข่มกิเลสได้นี้เอง จะช่วยให้เกิดความสุจริตอย่างน้อยๆก็ทางกาย วาจา ซึ่งจะทำให้ไม่ไปสร้างกายกรรม และวจีกรรมให้เกิดความแตกแยก ร้าวฉาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี

หากผู้ที่มีเจโตมากและสามารถเข้าใจวิปัสสนาได้ ก็จะค่อยๆพิจารณาทบทวนเหตุการณ์นั้นไป เหมือนกับว่าแบ่งงานมาทำ ไม่ได้ทำทั้งก้อน เพราะหากทำทั้งก้อน แล้วเราปัญญาน้อยมันก็ทำไม่ไหว ตายเปล่าๆ ดังนั้นการกดข่มไว้ส่วนหนึ่ง พิจารณาส่วนหนึ่ง ตรงกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ให้พรากไม้ที่ชุ่มด้วยยาง ออกจากน้ำก่อน แล้วจึงค่อยเผา” คือถ้าไฟเราไม่แรงขนาดกองไฟนี่มันเผาไม้เปียกยาก มันต้องทำให้ไม้แห้งเสียก่อน มันก็เผาได้ง่ายขึ้นเหมือนกับการที่ใช้สมถะกดไว้ก่อนแล้วค่อยวิปัสสนาก็เป็นสิ่งที่สมควรทำในผู้ที่มีเจโตมากปัญญาน้อย

ปัญหาของผู้ที่มีเจโตมาก มักจะเกิดในลักษณะของกดข่มจนดับไปโดยไม่รู้ตัว กระทำความดับไปด้วยความไม่ตั้งใจ เพราะชินในความสงบที่เคยได้รับ เมื่อผัสสะเกิดก็มักจะเกิดสภาพกดข่มจนดับไปโดยอัตโนมัติ ยิ่งผู้ที่ไม่ได้เรียนรู้วิปัสสนาหรือเข้าใจความหมายและวิธีปฏิบัติของวิปัสสนาผิด ก็จะไม่ได้ทำวิปัสสนา แม้จะมีเจโตมาก กดข่มกิเลสให้ดับลงได้ แต่ก็ไม่ใช่ทางของพุทธ เป็นเพียงวิธีทั่วไปที่ปฏิบัติกันก่อนจะมีศาสนาพุทธ นิยมกันมากในหมู่ฤๅษี

๓). เจโตน้อย ปัญญามาก

ผู้ที่มีปัญญามาก แม้จะมีเจโตน้อย ก็สามารถทำลายกิเลสได้ เพราะปัญญานี้เองคือตัวทำลายกิเลสให้สิ้นเกลี้ยงอย่างแท้จริง

เราสามารถใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งกระทบนั้นๆจนเกิดสภาพรู้แจ้งเห็นจริงในทุกลีลาของกิเลสได้ พอมันรู้จริงเห็นจริง ตามความเป็นจริง มันก็จะไม่ยินดีไปเสพสมใจตามกิเลสเหมือนเคย เพราะรู้แล้วว่ากิเลสมันไม่เที่ยง มันคือตัวทุกข์ มันไม่ใช่ตัวเราของเรา รู้ไปด้วยว่ามันทำให้เกิดกรรมชั่วแค่ไหนอย่างไรแล้วเราต้องมารับผลกรรมชั่วอีกเท่าไหร่ รู้ไปถึงคุณและโทษ กุศลอกุศลที่เกี่ยวกับกิเลสตัวนั้นๆ

เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงตามนี้ก็สามารถทำลายกิเลสได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้พลังของเจโตมากดข่มไว้ แน่นอนว่าโดยภาษาแล้วดูจะไม่สมบูรณ์นัก แต่เป็นลักษณะของปัญญาวิมุตติคือการหลุดพ้นด้วยปัญญา เมื่อปัญญาทำให้หลุดพ้นมันก็เลยไม่ต้องใช้กำลังอะไรอีก ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา คือความรู้โลก (โลกียะ+โลกุตระ) อย่างแจ่มแจ้ง

ดังนั้นเมื่อผัสสะหรือศีลใดที่เราต้องเผชิญ หากเราพอจะรู้ตัวว่ามีพลังปัญญามากก็ให้เพ่งเพียรพิจารณาก็จะสามารถหลุดพ้นได้โดยไม่ยากไม่ลำบากนัก ปัญญาที่มากนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ จะเกิดจากการบำเพ็ญเพียรศึกษาและสะสมมาหลายชาติ ไม่ใช่แค่คิดว่าตัวเองฉลาดรอบรู้แล้วจะมีปัญญามาก ซึ่งจะรู้ได้เองเวลาพิจารณากิเลสว่ามากหรือน้อย

๔). เจโตมาก ปัญญามาก

สภาพของเจโตและปัญญาที่มากนี้เอง จะสามารถรับมือกับทุกๆผัสสะและกิเลสได้ดีที่สุด โดยมากแล้วจะเป็นผู้ที่มีบุญบารมีสะสมมาจนเต็มรอบ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่จะอยู่ๆจะสามารถรับมือกับผัสสะได้โดยไม่หวั่นไหว และมีปัญญามากพอจะพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงได้

การหลุดพ้นด้วยเจโตและปัญญา คือแม้สัมผัสกับสิ่งกระทบอยู่ก็ไม่ได้หวั่นไหวและมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในกิเลสนั้นๆคือสภาวะของอุภโตภาควิมุตติ เป็นที่สุดของผลแห่งการปฏิบัติแล้ว

*ข้อควรระวัง

การประมาณตนในการใช้กลยุทธ์ต่างๆนั้นมีข้อควรระวังดังนี้

อย่าประมาท

ในเรื่องหนึ่งเราอาจจะเก่ง เราอาจจะสามารถทนต่อสิ่งหนึ่งได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถทนหรือใช้ปัญญาเข้าใจทุกสิ่งได้ กิเลสนั้นมีสภาพหยาบ กลาง ละเอียด ศีลก็มีระดับของความยาก แม้เราจะสามารถผ่านผัสสะทั่วไปหรือศีลง่ายๆได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าศีลอื่นๆจะใช้กลยุทธ์เดิมได้

ซึ่งโดยมากเมื่อเพิ่มศีล หรืออธิศีลมากขึ้นเรื่อยๆ ศีลที่เพิ่มขึ้นมานั้นมักจะอยู่ในระดับที่ยากขึ้น เรามักจะต้องใช้กลยุทธ์หนีอยู่บ่อยครั้ง เพราะกำลังกับปัญญาไม่มากพอ

แต่ด้วยความประมาทและความไม่เข้าใจในระดับที่ต่างของผัสสะและศีล ทำให้เกิดการใช้กลยุทธ์เดิมเช่น ผู้ที่มาทางสายเจโต ก็มักจะเข้าใจว่ากดข่มไว้ก่อนแล้วค่อยพิจารณา ซึ่งอันนั้นมันก็อาจจะทำได้แค่ของง่ายๆ พอมาเจอโจทย์ยากๆที่สมควรหนี แต่เราประมาทหลงว่ามันง่าย เราก็ใช้แผนเดิม สุดท้ายโดนกิเลสกินรวบ

อย่าโลภ

ความโลภอยากบรรลุธรรมไวนี้เองคือสิ่งที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติอยู่บ่อยครั้ง เหตุจากความประมาทไม่ประมาณตนให้เหมาะกับสถานการณ์นั้นๆ แล้วหวังผลมากกว่าที่ควรจะได้

เช่นจริงๆแล้ว เราควรจะค่อยๆกดข่มแล้วพิจารณาไปทีละน้อย แบ่งงานทำ กำหนดขอบเขตให้เหมาะสมปัญญา พอเราคิดว่าเรากดข่มได้เราจึงเพิ่มขอบเขตการปฏิบัติด้วยความโลภ คิดว่าฉันทำได้ ฉันเอาอยู่ สุดท้ายพอเอาเข้าจริงๆทานกำลังกิเลสไม่ไหว แพ้กิเลสไปในที่สุด การแพ้กิเลสด้วยการประมาณผิดก็จะได้ผลอย่างหนึ่ง แต่การแพ้กิเลสด้วยความโลภจึงประมาณผิดก็ได้ผลอีกอย่างหนึ่ง

อย่าเปรียบเทียบ

การเปรียบเทียบนี้เองเป็นหลุมดักของผู้ที่ไม่รู้ เรามักจะชอบเปรียบเทียบอ้างอิงวิธีการปฏิบัติของครูบาอาจารย์หลายๆท่าน ทั้งๆที่ความจริงแล้ว “เรามีกรรมเป็นของของตน” นั่นคือทุกคนนั้นต่างกรรมต่างวาระ มีกิเลสที่ยึดต่างกัน มีบุญบารมีมาไม่เท่ากัน ดังนั้นกลยุทธ์ที่จะใช้เผชิญหน้าต่อกิเลสหนึ่งๆก็ย่อมต่างกันไปตามกัน

พอเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นด้วยความไม่มั่นใจแล้วเราก็จะยึดทางของเขามาปฏิบัติว่า เรายังไม่เหมือนครูบาอาจารย์เลยนะ มีคำกล่าวว่า “ให้เอาเยี่ยงอย่าท่าน แต่อย่าเอาอย่างท่าน” คือให้เอาเฉพาะสิ่งที่ดี แต่ไม่ต้องไปทำตามทั้งหมด

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าท่านเหล่านั้นหลุดพ้นกิเลสด้วยปัญญาที่มาก ทีนี้เราปัญญาน้อย เราก็หลงว่าต้องทำแบบนี้เท่านั้น เพราะท่านก็สอนมาแบบนี้ (ก็เพราะท่านผ่านมาในลักษณะนี้) เราก็เลยทำตามท่านทั้งๆที่ปัญญาน้อย เจโตก็น้อย สุดท้ายก็ตายเรียบ ดังเช่นที่มีกรณีในสังคมนักปฏิบัติธรรมบ่อยๆในข้อกล่าวหาที่ว่า สายเจโตก็เอาแต่สมถะ หรือสายวิปัสสนาก็เอาแต่คิด ซึ่งจะสรุปเรื่องนี้กันในข้อต่อไป

การเปรียบเทียบในมุมที่มั่นใจเกินตัวก็เช่นกัน เมื่อเราปฏิบัติได้ดีกว่าผู้อื่นในบางมุมเราก็จะหลงเปรียบเทียบว่าฉันเจโตมากกว่าบ้าง ฉันปัญญามากกว่าบ้าง จะเป็นเหตุให้เกิดอติมานะ คือการดูถูก ดูหมิ่นคนอื่น ซึ่งเมื่อคนเรามีกรรมต่างกัน ก็ต้องมีการปฏิบัติต่างกันเป็นธรรมดา เขาอาจจะหลุดพ้นด้วยเจโตก็ได้ ปัญญาก็ได้ ตามกรรมของเขา ซึ่งก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย

อย่ายึดมั่นถือมั่น

ความถือดีนั้นทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นได้ง่าย แม้จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติได้แล้วหรือเพียงแค่เรียนรู้มาอย่างผิวเผินแต่ยังไม่เคยปฏิบัติก็ตาม หากเกิดความถือดี ถือว่าของตนดีแล้วก็มักจะเกิดความยึดมั่นถือมั่น

การยึดมั่นถือมั่นเกิดได้จากหลายเหตุปัจจัย สรุปรวมๆได้ว่า “โง่” พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี

ความยึดมั่นถือมั่นนี่เองมักจะเป็นนรกของนักปฏิบัติ หรือคนที่ศึกษาธรรมะ เพราะตนปฏิบัติเช่นนั้นก็มักจะยึดแนวทางนั้นเป็นแนวทางหลักและบางทีถึงกับไปหลงมิจฉาทิฏฐิว่าทางนี้เองคือทางพ้นทุกข์ เมื่อมีการแนะนำหรือสั่งสอนผู้อื่นก็จะยึดแต่แนวทางที่ตนเชื่อเป็นหลักโดยที่ไม่เปิดช่องให้ความเห็นต่างใดๆเข้ามาแทรกแซง

ซึ่งโดยสามัญของโลกแล้ว ก็มักจะยึดกันผิดๆ คนมิจฉาทิฏฐิก็มักจะเห็นว่าตัวเองสัมมาทิฏฐิอยู่แล้ว พอเห็นผิดเป็นถูก มันก็ยึดไปทั้งที่จริงแล้วมันผิด พอยึดแล้วก็ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยน ไม่ยอมให้ใครโต้แย้ง ไม่ยอมให้ใครมาพิสูจน์ ไม่ยอมละวางอัตตา ยึดมั่นถือมั่นอยู่เช่นนั้น มันก็เป็นนรกดีๆนี่เอง

ถึงแม้ว่าแนวทางที่ได้ปฏิบัตินั้นจะเคยเกิดผลเจริญกับตนเองก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดความเจริญในคนอื่น หรือไม่ได้หมายความว่าจะเกิดความเจริญต่อตนเองในการปฏิบัติที่ยากขึ้น เพราะเมื่อปฏิบัติธรรมไปจนเจริญมากขึ้น จะพบว่ากิเลสระดับ หยาบ กลาง ละเอียดนั้น ไม่สามารถใช้สูตรสำเร็จในการปฏิบัติใดๆได้อย่างลงตัว ความแววไวในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จึงเป็นคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติธรรม

– – – – – – – – – – – – – – –

7.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา

April 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,105 views 0

การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา

การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา

โดยทั่วไปแล้วเรามักจะได้ยินความสัมพันธ์ของสมถะและวิปัสสนากันไปต่างๆนาๆ บ้างก็ว่าต้องคู่กันเสมือนขาทั้งสองข้างต้องก้าวไปด้วยกัน แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เราจะมาขยายกันในบทความนี้ด้วย 8 หัวข้อที่จะมาเสนอข้อมูลในหลายๆ ประเด็น

1).สมถะและวิปัสสนา

สมถะนั้นเป็นการใช้อุบายต่างๆเข้ามาควบคุมใจ ไม่ว่าเราจะใช้วิธีนั่งสมาธิ เดินจงกรม สร้างตัวรู้ เจริญสติ เพ่งกสิณ หรือใช้การคิดบวกหรือพิจารณาธรรมเพื่อ “กด” ให้เกิดสภาพนิ่งของใจ ไม่ว่าจะอุบายเช่นไรแต่ถ้ากระทำไปเพื่อให้เกิดความสงบใจ นั้นคือสมถะทั้งสิ้น

ส่วนวิปัสสนานั้นเป็นอุบายทางปัญญา ที่จะทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามที่กิเลสอยากให้เป็น

สมถะนั้นมีอยู่คู่โลกนานแล้ว ต่างจากวิปัสสนาซึ่งเป็นวิธีของพุทธโดยตรง หากจะกล่าวว่าสิ่งใดถูกตรงก็คือวิปัสสนา แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ตีทิ้งสมถะ เพราะสามารถใช้เป็นอุปการะได้ คือเป็นเครื่องช่วยให้เจริญวิปัสสนาให้ดีขึ้นได้ แต่จะช่วยอย่างไรจะไปขยายกันในข้อต่อไป

2).สมถะอย่างเดียวทำได้ไหม

ตอบว่าได้ แต่ถ้าจะให้บรรลุธรรมตามแนวทางของพุทธนั้นตอบว่าไม่ได้

เมื่อเราทำแต่สมถะเราก็จะได้ผลแบบสมถะ (มิจฉาผล) ทางของสมถะคืออุบายทางใจ ยิ่งทำยิ่งสงบ ยิ่งทำยิ่งติดภพ จมดิ่งเข้าไปในความมืด ดับความคิด ดับสัญญา ดับไม่เหลืออะไรเลย สภาพของผู้ทำสมถะนั้นมักจะมีภาพลักษณ์ที่ดูสงบต่อสถานการณ์ได้ดี

ถ้าในยุคสมัยก่อนก็จะเรียกว่าฤๅษี แต่ตอนนี้ไม่มีภาพเช่นนั้นแล้ว เพราะเปลี่ยนรูปกันมาอยู่ในผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งฆราวาสทั้งนักบวชก็มีฤๅษีปนอยู่มาก ซึ่งมรรค(วิถีการปฏิบัติ)ของเขาเหล่านั้นมักจะหนักไปในทิศทางของทำสมาธิ การระลึกรู้ หรือวนเวียนอยู่กับการควบคุมกดข่มจิตใจให้เกิดสภาพสงบ

3).วิปัสสนาอย่างเดียวทำได้ไหม

ตอบว่าได้ ซึ่งวิปัสสนานี้เองเป็นกระบวนการโดยตรงของพุทธอยู่แล้ว

เราสามารถวิปัสสนาเพียงอย่างเดียวได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งสมถะเลย หากเรามีเจโตหรือพลังของจิตที่เคยสะสมไว้มากพอ เรียกได้ว่าสามารถพิจารณาทำลายกิเลสได้ด้วยปัญญาล้วนๆจนถึงปลายทางได้เลย เพราะถ้ามีปัญญาเต็มรอบมันก็ไม่ต้องไปกดข่มกิเลสให้เสียเวลา ชักดาบออกมาแล้วเชือดทิ้งได้ทันที

แต่ถ้าเรากำลังน้อย อินทรีย์พละอ่อน ก็อาจจะเหมือนเอาไม้จิ้มฟันไปสู้กับช้าง สมถะจะเข้ามาเติมเต็มในจุดนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้สมถะกดข่มได้เสมอไป เพราะมีองค์ประกอบอื่นที่ส่งผลเช่น กรรมและผลของกรรม หรือเหตุการณ์ที่เกินกำลังมากไป

สภาพของคนที่วิปัสสนาแต่ไม่มีกำลังมากพอก็เหมือนกับนักมวยผู้มีทักษะที่เก่งแต่ไม่ฝึกซ้อมร่างกาย ดังนั้นการจะเอาชนะกิเลสนั้นก็ยากหน่อย แต่ก็มีโอกาสถึงเป้าหมาย ต่างจากสมถะอย่างเดียวแม้จะเอาดีแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้บรรลุธรรมใดๆ

4).อะไรสำคัญกว่ากัน

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่าน้ำหนักของวิปัสสนามากกว่าเพราะมีมรรคผลในแบบพุทธอย่างชัดเจน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถจะสรุปได้ว่าอะไรสำคัญกว่ากันได้ชัดเจนเสมอไป

เราไม่สามารถบอกได้ว่าต้องใช้สมถะกดก่อนแล้วค่อยวิปัสสนาจึงจะถูก อันนี้มันก็ผิดสำหรับคนอินทรีย์พละแก่กล้า เพราะถ้าเขาไปเสียเวลาสมถะ เขาก็พ้นทุกข์ช้า และผิดไปจากสัจจะของพระพุทธเจ้านั่นคือธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า

และถ้าบอกว่าใช้แต่วิปัสสนา สุดท้ายก็ถึงอยู่ดี มันก็ถูก แต่ถ้ามันทำให้ช้า มันก็ผิด เพราะเมื่อปฏิบัติถึงระดับหนึ่ง ศึกษาสามอย่างคืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญาไประดับหนึ่ง อินทรีย์พละที่มีอยู่มันจะเริ่มไม่พอ เพราะศีลที่ยากขึ้นจะต้องใช้จิตที่มากขึ้นและปัญญาที่มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นผู้มีอินทรีย์พละแก่กล้าแม้ว่าจะวิปัสสนาได้ไวในช่วงแรก สามารถชำแหละกิเลสจนรู้แจ้งเห็นจริงได้ แต่ก็อาจจะไม่สามารถใช้ต่อกรกับกิเลสทุกตัวได้

ดังนั้นการจะสรุปว่าอะไรสำคัญกว่าคงต้องประเมินตามสถานการณ์ เพราะแต่ละคนมีกรรมเป็นของตน มีกิเลสของตัวเอง จึงต้องใช้วิธีและสัดส่วนในการแก้ของตนเอง ไม่ใช่ว่าจะมาสรุปว่าต้องสมถะมากกว่าหรือวิปัสสนามากกว่า ความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ทำให้บรรลุธรรมได้ไว แต่ความว่องไวในการปรับความพอดีของสมถะและวิปัสสนาต่างหากจึงทำให้เจริญ

5).กลยุทธ์ในการรับมือกับผัสสะ

เมื่อมีผัสสะหรือสิ่งที่เข้ามากระทบทาง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ การรับมือกับผัสสะโดยทั่วไปอย่างไม่ต้องศึกษากันเลยก็คือใช้สมถะกดข่มความคิดไม่ดีไว้ ถ้าเก่งขึ้นมาหน่อยก็เป็นสมถะจากการศึกษาธรรมะ เจริญสติบ้าง สร้างตัวรู้บ้าง ใช้ข้อธรรมะบ้าง ก็เอาไว้กดข่ม ดับความฟุ้งซ่าน ดับความคิดนั่นเอง

สมมุติว่ามีเหตุการณ์ดังเช่นว่า คนมานินทาเราทั้งต่อหน้าและลับหลัง สมถะในระดับสามัญสำนึก จะกดไว้ด้วยการรักษาภาพลักษณ์ สงบสยบความเคลื่อนไหว ถ้าเป็นผู้ศึกษาธรรมก็จะมีท่าของสมถะมากขึ้นในการตบผัสสะนั้นๆทิ้งเช่น บริกรรม ยุบหนอ พองหนอ , พุทโธ ,ตั้งสติรู้ไปที่ร่างกาย หรือใช้ข้อธรรมเข้ามาตบว่า ทุกสิ่งไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่ใช่ตัวเราของเรา สมถะจะทำงานในลักษณะนี้

ส่วนวิปัสสนานั้นจะต่างออกไปเพราะการวิปัสสนาได้นั้นต้องมีพื้นฐานของสติที่สมบูรณ์อยู่แล้ว นั่นหมายถึงว่าคนที่สามารถทำวิปัสสนาในระหว่างเกิดผัสสะนั้น เขามีอินทรีย์พละแกร่งพออยู่แล้ว จึงสามารถชำแหละกิเลส คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ของการนินทาได้ตรงนั้น ขณะนั้น จนกระทั่งสามารถทำให้เจริญถึงขั้นรู้แจ้งเห็นจริงได้จนทำลายกิเลสกันทั้งๆที่ถูกนินทาอยู่นั่นแหละ

ซึ่งผลของวิปัสสนานั้นเมื่อเกิดปัญญารู้แจ้งจริงๆแล้วก็ถือว่าจบ คำนินทาเหล่านั้นแม้จะมีก็เหมือนไม่มีอีกต่อไป มาอีกเป็นกองทัพก็เฉยๆ จะต่างกับสมถะตรงที่ว่าสมถะจะใช้การกด เมื่อปริมาณผัสสะมากเข้าๆ ก็จะเกินกำลังที่จะกดได้ ซึ่งแต่ละคนจะมีขอบเขตในการกดที่จำกัด ที่นี้พอสายสมถะโดนผัสสะกระทุ้งเอามากๆ สุดท้ายก็จะออกอาการที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง

ดังนั้นกลยุทธ์ในการรับมือกับผัสสะเมื่อเข้าใจสมถะและวิปัสสนาจึงควรใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ถ้าเรื่องนี้เริ่มเกินกำลังก็ให้กดไว้ก่อน ปัดทิ้งไปก่อน ปล่อยวางไปก่อน แล้วค่อยเก็บไปวิปัสสนาทีหลังก็ได้ แต่ถ้ามีกำลังมากพอ เจอผัสสะกระทบแล้วไม่ถึงกับออกอาการมาก เช่นโดนนินทาต่อหน้าแล้วยังเฉยๆ แต่ยังมีความไม่สบายใจ อึดอัดบ้างก็ให้ทำวิปัสสนาไปเลย ไม่ต้องไปข่ม เพราะมันจะเสียเวลาและเสียของสดไป นั่นเพราะการจะรู้ถึงกิเลสได้ต้องเผชิญกับผัสสะสดๆ กระทบกันสดๆ แม้ว่าเราจะสามารถระลึกย้อนได้แต่ก็ไม่ใช่ของสด เป็นของแห้ง พอใช้แทนกันได้แต่ไม่ดีเท่าสิ่งที่มากระทบสดๆ

6).การประมาณกำลัง

การใช้สมถะและวิปัสสนาไม่ได้ใช้เพื่อรับผัสสะหรือรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นจะใช้ศีลเข้ามาช่วยในการศึกษากิเลส ซึ่งจะต้องใช้สมถะและวิปัสสนาในกระบวนการเหล่านี้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่นว่า เราตั้งใจว่าจะลดเนื้อกินผักให้ได้มากที่สุด เมื่อเราตั้งศีลนี้ขึ้นมา ผัสสะจะมากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งศีล ศีลจะทำหน้าที่เป็นตัวชี้ให้เห็นถึงกิเลสที่ควรกำจัด เช่น เราไปกินข้าวกับเพื่อนร่วมงาน เรายังจะลดเนื้อกินผักได้ไหม ความอยากเราเกิด เรารู้ตัวไหม แล้วอยากขึ้นมาเราจะทำอย่างไร จะกดข่มความอยากคงสภาพรูปสวยด้วยสมถะไปก่อนดีไหม หรือมีแรงพอจะวิปัสสนาเลยไหม หรือจะเอาไว้ก่อน ยอมแพ้กิเลสไปก่อน

ธรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเอง สติมาปัญญาไม่ได้มาเองโดยอัตโนมัติ ถ้าเป็นปัญญาจากสภาพกิเลสสงบมันก็ใช่ แต่อธิปัญญานั้นต้องสร้างเอง จะมีผลได้ก็ต้องสร้างเหตุเอง หลักของวิปัสสนาคือการสร้างปัญญาให้เจริญขึ้นในจิตใจ ถ้าเอาแต่กดข่มด้วยสมถะ ปัญญาก็จะไม่เกิดเพราะไม่ได้วิปัสสนาต่อ ถ้าไม่ขยันวิปัสสนาไม่ติดกามก็ติดภพอยู่แบบนั้น

ยกตัวอย่างที่สองให้เห็นการประมาณที่ชัดขึ้น นั่นคือศีลที่ยากมากขึ้น เช่นเราตั้งใจจะถือศีลกินมื้อเดียว เราไม่เคยทำมาก่อนเลย แต่เราเห็นว่าศีลนี้ดีนะ เขาว่าดี พระพุทธเจ้าก็ว่าดี แม้เราจะยังไม่เห็นได้ชัดอย่างเขาว่ามันดีอย่างไร แต่เบื้องต้นเราก็ว่าดี อันนี้เรียกว่ามีปัญญาที่เป็นมรรค แต่เมื่อถึงเวลาจริงมันไม่มีปัญญาพอที่จะกินมื้อเดียวนะ คือมันรู้ว่าดีแต่มันกินไม่ได้ มันจะไปกินหลายมื้ออยู่เรื่อย ใช้สมถะกดก็แล้ว ทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนก็แล้ว สุดท้ายก็ตบะแตก ว่าแล้วก็ปล่อยวางศีล เดินตามกิเลสไปกินหลายมื้อเหมือนเดิมเฉยๆอย่างนั้น

แบบนี้เรียกว่าเกินกำลัง เพราะประมาณกำลังของกิเลสต่ำเกินไป ถ้าสมถะกดไม่ลงก็แทบจะไม่ต้องพูดถึงวิปัสสนา เพราะเมื่อพ่ายแพ้ให้กับกิเลสมากๆมันจะท้อได้เหมือนกัน วิปัสสนาไปมันก็แพ้กิเลสเท่านั้นเอง และมันไม่ได้ง่ายขนาดว่าพิจารณากันครั้งเดียวผ่าน มันต้องใช้เวลาขึ้นอยู่กับว่าทำสะสมมาเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่ากดข่มด้วยสมถะเก่งแล้วจะสามารถถือศีลนี้ได้เสมอไป แม้จะถือได้ด้วยสมถะแต่ถ้าไม่ทำวิปัสสนามันก็ไม่มีปัญญา มันก็ถือศีลแบบถือไว้อย่างนั้น ถือแบบงมงาย ถือแบบกดข่มเท่านั้นเอง

7). ผลของความพอดีจากสมถะและวิปัสสนา

ความพอดีของสมถะและวิปัสสนาที่ตอบสนองต่อผัสสะหรือสิ่งที่เข้ามากระทบคือเกิดความเจริญสูงสุด ความเจริญนี้ไม่ได้หมายถึงสามารถกดข่มได้อย่างยอดเยี่ยมหรือพิจารณาทีเดียวเกิดปัญญารู้แจ้ง แต่หมายถึงประสิทธิภาพสูงสุดที่จะสามารถทำได้ของคนนั้นๆ บางคนมีปัญญาต่อกิเลสในเรื่องนั้นๆ 50% การรักษาสภาพที่พอดีพอเหมาะสูงสุดอาจจะหมายถึง สมถะ 0 วิปัสสนา 100 หรือสมถะ 80 วิปัสสนา 20 ก็เป็นได้ และการเจริญจาก 50% ไปสู่ 51% ก็อาจจะเป็นความเจริญสูงสุดที่คนผู้นั้นทำได้ ณ เวลานั้นก็เป็นได้

เพราะศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้กระทำความดับในทันที แต่สอนให้เกิดปัญญาไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด โดยใช้ไตรสิกขาคืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเพื่อช่วยก้าวข้ามกิเลสสามภพ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ซึ่งสภาพของกิเลสในแต่ละภพนี้เองก็คือความหยาบ กลาง ละเอียดไปโดยลำดับ

เราไม่สามารถใช้สมถะในการทำลายภพของกิเลสเหล่านี้ได้ เพราะสมถะทำได้อย่างมากก็แค่กดข่ม แต่จะสามารถกดข่มได้กี่ภพกี่ชาตินั้นไม่รู้ ส่วนตัวที่จะทำลายภพชาติของกิเลสจริงๆนั้นคือวิปัสสนา ดังนั้นเมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรง ประมาณกำลังให้เหมาะก็จะมีทิศทางที่จะเจริญไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงผลสุดท้ายคือสภาพหลุดพ้นจากกิเลสหรือวิมุตติในที่สุด

8). สับสนสมถะวิปัสสนา

ในปัจจุบันมีความสับสนในวิธีการปฏิบัติของสมถะและวิปัสสนาอยู่มาก ทั้งในส่วนของบัญญัติภาษาและในส่วนของการปฏิบัติ

ในส่วนของบัญญัติภาษา มีอยู่มากที่เรียกสมถะของตนว่าวิปัสสนา ตั้งชื่อว่าวิปัสสนาแบบนั้นแบบนี้ แต่พอปฏิบัติก็ใช้การกดข่มจิตเข้ามาเป็นหลักในการปฏิบัติ หรือทั้งสมถะและวิปัสสนาของเขาก็เป็นแค่สมถะ แต่ไปแตกวิธีปฏิบัติสมถะว่านั่งสมาธิ แล้วหมายเอาว่าการใช้ธรรมเข้ามาพิจารณากดข่มกิเลสนั้นเป็นวิปัสสนา คือถ้าอยู่ในแนวทางของอุบายทางใจนั่นก็คือสมถะทั้งหมด จะตั้งชื่ออย่างไรก็แล้วแต่ แต่โดยสัจจะมันก็สมถะอยู่ดี

ถามว่าทำได้ไหม มันก็ทำได้ แต่ก็น่าจะเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนา ไม่ใช่ปฏิบัติแต่สมถะและสมถะ แบบนี้มันก็พากันไปติดภพเท่านั้นเอง วิปัสสนาก็ยังเข้าใจไม่ได้ แล้วยังเข้าใจผิดไปอีก แบบนี้จะติดอีกนานแสนนาน

ในส่วนของการปฏิบัตินั้นมีความสับสนอยู่มากเช่นเดียวกับบัญญัติภาษา บางคนก็กล่าวหาว่าการคิดนั้นผิด ทั้งๆที่วิปัสสนานั้นเป็นการคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา ซึ่งโดยมากจะเป็นสายสมถะที่กระทำแต่การหยุดคิดแล้วหมายเอาการหยุดคิดนั้นเป็นวิปัสสนา มันก็เลยสับสนเช่นนี้

ถ้าหนักๆเข้าก็ข่มว่าวิปัสสนานั้นเอาแต่คิด ยิ่งคิดยิ่งฟุ้งซ่าน ซึ่งมันก็ถูกอย่างที่เขาว่า แต่ถ้าจะบอกว่าผิดทางนั้นก็ตอบว่าไม่ใช่ เพราะวิปัสสนาไม่ใช่ภพของการกดข่ม ไม่ได้ทำเพื่อความสงบอย่างสมถะ คนที่ติดสมถะและไม่มีปัญญาวิปัสสนาก็จะไม่เข้าใจการชำแหละกิเลสด้วยปัญญาจากความฟุ้งเหล่านั้น ที่มันฟุ้งซ่านเพราะมันมีกิเลส วิปัสสนานั้นกระทำต่อกิเลส ไม่ได้กระทำต่อความฟุ้งซ่านดังเช่นสมถะวิธี

เมื่อผู้ทำสมถะไม่ได้เรียนรู้วิปัสสนาก็จะไม่เข้าใจและพากันตีทิ้งวิปัสสนา เข้าไปติดภพ ติดสงบ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติเพราะสภาพสงบของสมถะมันสบายจริงๆ มันไม่ต้องคิด ไม่ต้องเอาภาระ ไม่ต้องอะไรมาก เหมาะจะเอาไว้พักจิต ซึ่งสรุปแล้วมันก็เป็นเพียงแค่อุบายทางใจเอาไว้พักเมื่อคิดพิจารณาทำลายกิเลสด้วยวิปัสสนาจนหัวร้อนนั่นแหละประมาณว่าเป็นที่พักริมทางเมื่อต้องเดินทางไกล

ทีนี้บางคนติดสบายก็หมายเอาสมถะเข้ามาเป็นทางปฏิบัติ หนักเข้าก็หมายว่าเป็นทางบรรลุธรรม ตีทิ้งวิปัสสนาไปเลยก็มีเหมือนกัน ถ้าจะยืนยันกันก็มีหลักฐานมากมายในยุคพุทธกาล ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าเทศน์โปรดหลายท่านไม่กี่ประโยคก็บรรลุธรรมได้ นั่นเพราะท่าน “คิด” พิจารณาตามโดยแยบคาย เห็นไหม คนที่มีอินทรีย์พละแก่กล้าไม่จำเป็นต้องใช้สมถะเลย

บางคนที่เข้าใจสมถะและวิปัสสนาอย่างผิวเผิน พอปฏิบัติมันก็แยกไม่ออก ปนเปกันไป ทำสมถะอยู่แต่ก็เข้าใจว่าทำวิปัสสนา หรือพวกที่วิปัสสนาก็เรียนรู้เพียงทฤษฏี คือรู้โดยภาษานะว่าวิปัสสนาเป็นอย่างไร แต่พอปฏิบัติก็กลายเป็นสมถะหมด

– – – – – – – – – – – – – – –

5.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

March 31, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,977 views 0

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

ดาวน์โหลดภาพขนาดเต็ม | Download full size image

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

ความแตกต่างของการใช้ไตรลักษณ์ระหว่างการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

หากจะจำแนกวิธีปฏิบัติธรรมในปัจจุบันคงจะมีมากมายหลากหลาย มีชื่อ นิยาม และความหมายไปตามทิฏฐิที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยหลักแล้วไตรลักษณ์ หรือลักษณะสามัญ 3 อย่าง คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนนี้เอง คือสิ่งที่หลายคนใช้ในการพิจารณาธรรม

แต่ในความจริงแล้ว การใช้ไตรลักษณ์เข้ามาพิจารณาธรรมนั้นก็มีวิธีการที่หลากหลายแตกต่างกันไป เหมือนกับมีเครื่องมืออยู่หนึ่งชิ้น สามารถนำไปทำอะไรได้หลายอย่าง มีวิธีการใช้และผลจากการใช้เครื่องมือนั้นที่เรียกกันว่า  “มรรค-ผล

การปฏิบัติโดยใช้สมถะก็มีมรรคผลแบบสมถะ การปฏิบัติโดยใช้วิปัสสนาก็มีมรรคผลแบบวิปัสสนา ถ้าโดยภาษาจะดูเหมือนมีมรรคผลเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดนั้นจะแตกต่างกัน เมื่อมรรคต่างกัน ผลที่ได้ก็ย่อมต่างกันไปด้วย แล้วสิ่งไหนที่จะเป็นทางเดินที่ถูก ทางที่พาพ้นทุกข์(สัมมาอริยมรรค) ที่จะนำไปสู่ผลคือสภาพหลุดพ้นจากกิเลส (วิมุตติ)

สมถะกับไตรลักษณ์

สมถะในรูปแบบทั่วไปนั้น จะใช้การกำหนดจิต กดจิต ดับความคิด หรืออุบายต่างๆเข้ามาเพื่อควบคุมใจ แต่ก็ยังมีสมถะที่ใช้ตรรกะเข้ามาช่วยกดข่ม ในแบบชาวบ้านทั่วไปเช่น เราเป็นคนดี, เราจะไม่โกรธ, เราจะไม่กลัว และในรูปแบบที่ใช้ธรรมะเข้ามาก็เช่นการใช้ไตรลักษณ์นี่เอง

การใช้ไตรลักษณ์เข้ามาช่วยกดจิตให้นิ่งเมื่อเจอกับผัสสะที่ทำให้เกิดเวทนา เมื่ออาการผิดปกติเหล่านั้นเกิดขึ้นในจิต ก็จะใช้ “ธรรมะ” เข้ามาเป็นเหตุผล หรือนำสัจจะเข้ามาตบความฟุ้งซ่านนั้นๆทิ้ง เช่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่พอใจก็จะใช้การท่อง ระลึกถึง พิจารณาไตรลักษณ์ ความโกรธนั้นไม่เที่ยง ความโกรธนั้นเป็นทุกข์ ที่เรามีความโกรธเพราะเรามีตัวตน ฯลฯ

ลักษณะเหล่านี้คือปัญญาสมถะ จะดูคล้ายกับการวิปัสสนามากจนหลายคนเข้าใจผิดว่าวิธีนี้คือการวิปัสสนา ทั้งๆที่กระบวนการเหล่านี้เป็นรูปแบบของสมถะเท่านั้น เป็นเพียงการกดข่มจิตไม่ให้ไหวไปตามผัสสะที่เข้ามา จะเกิดสภาพสงบจากกิเลสที่โดนกดได้

เป็นมรรคผล แบบสมถะที่เกิดความสงบได้จริง กิเลสสงบจริง สุขจริง ผ่อนคลายจริง แต่ก็ไม่ใช่ผลที่ยั่งยืน แม้จะกดได้ข้ามภพข้ามชาติแต่วันใดวันหนึ่งก็ต้องระเบิดออกมาอยู่ดี เพราะปัญหาไม่ได้ถูกแก้ เหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ทำให้รู้แจ้ง เพียงแค่ใช้ปัญญากดข่มอาการใดๆอันไม่น่าอภิรมย์ของจิตไปเท่านั้น

รูปแบบของสมถะจะซ้ำๆเดิมๆ เจอโจทย์ไหนก็ใช้วิธีเดิม ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ใช้ตรรกะ ธรรมะ เหตุผล คิดบวก ใช้ปัญญากดข่มอยู่แบบนี้เป็นมรรค และผลที่ได้จะเป็นเวทนา แบบเคหสิตอุเบกขา คือความวางเฉยแบบชาวบ้าน หรือความเบื่อแบบคนทั่วไป แบบโลกๆ แบบสามัญ ไม่ใช่ในแนวทางพ้นทุกข์ของพุทธศาสนา แต่เป็นแบบฤๅษีหรือเกิดความสงบอย่างผู้ปฏิบัติสมาธิทั่วไป

วิปัสสนากับไตรลักษณ์

กระบวนการของวิปัสสนานั้นจะต่างไปจากสมถะอย่างชัดเจน เพราะเป็นการ “คิด” (สัมมาสังกัปปะ) โดยมีพื้นฐานของความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงที่ยังมีกิเลสปนเปื้อนอยู่ (สัมมาทิฏฐิที่ยังมีสาสวะ)

วิปัสสนานั้นเป็นอุบายทางปัญญาที่จะเข้ามาใช้บริหารจิตเพื่อกำจัดกิเลสโดยเฉพาะ เมื่อเจอกับอาการของกิเลสที่สะท้อนผ่านความสุขหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้น จึงใช้อาการเหล่านั้นเป็นเบาะแสที่จะขุดค้นลงไปหาต้นสายปลายเหตุแห่งทุกข์หรือรากของกิเลสนั้นๆ (สมุทัย)

เมื่อเจอกับต้นตอของปัญหา จึงใช้การคิดพิจารณาธรรมะต่างๆ เช่น การใช้เรื่องกรรม, ผลของกรรม, ประโยชน์, โทษ และการใช้ไตรลักษณ์นี้เองก็เป็นสุดยอดเครื่องมือในการพิจารณาเพื่อทำลายกิเลสเช่นกัน

เมื่อเราเจอกับตัวกิเลสจริงๆ มันจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง มันจะไม่คิดไปตามความถูกต้อง ยังเป็นมิจฉาสังกัปปะอยู่ คือคิดอย่างไรมันก็ตามใจกิเลสไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเรามาวิปัสสนา เราก็จะเริ่มให้ปัญญากับตัวเอง ซึ่งมันจะไม่ง่ายและไม่ดับลงในทันที

เราจะใช้ธรรมะต่างๆเข้ามาพิจารณาที่เหตุ เช่น เมื่อเราโกรธ เราก็จะหาเหตุแห่งความโกรธ ว่าเรานั้นหวังเสพสิ่งใด ไม่ถูกใจสิ่งใด ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด แล้วขุดค้นลงไปจนเจอตัวเหตุจริงๆ จึงใช้ธรรมะเข้าไปเจรจากับกิเลส

แต่จิตที่เต็มไปด้วยกิเลสมันจะไม่ยอม มันจะเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง มันจะเห็นทุกข์เป็นสุข มันจะเห็นอนัตตาเป็นอัตตา เช่นเราชอบกินขนม เราก็จะบอกว่ามันสุข มันอร่อย เราชอบกินมัน ซึ่งเราจะเห็นแบบถูกตรง(สัมมาทิฏฐิ)ไม่ได้ และคิดแบบถูกตรง(สัมมาสังกัปปะ)ไม่ได้ กิเลสมันจะค้าน กินยังไงมันก็จะยังอร่อยและเป็นสุขอยู่ดี เราจึงต้องใช้ปัญญาเข้ามาสู้ หาธรรม หาสัจจะ พิจารณาความจริง ทุกข์โทษภัยที่เกิดขึ้นจริงๆจากการเสพการติดสิ่งนั้น ประโยชน์เมื่อออกจากสิ่งที่ยึดติดนั้นผลกรรมที่จะต้องรับหากยังยึดติดสิ่งนั้น และสภาพจริงคือไตรลักษณ์นั้นหมายถึง ความสุขที่จะได้รับนั้นไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นความอยากกินขนมไว้เป็นตัวตน

ซึ่งจะยากตรงที่ต้องเปลี่ยนผี(กิเลส) ให้เป็นคนด้วยตัวเองนี่เอง ตรงนี้จะให้ใครทำแทนไม่ได้ ต้องเพียรพิจารณาจนกระทั่งเกิดปัญญาเอง รู้เองเห็นเอง ปริยัติ ปฏิบัติ จนเกิดปฏิเวธ กลายเป็นธรรมะในตน มีปัญญารู้แจ้งกิเลสในตน เป็นปัจจัตตังจริงๆ

การวิปัสสนาจะเห็นผลไม่ง่ายนัก ไม่ได้ทำเพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่ทำไปเพื่อให้รู้เห็นความเป็นจริงตามความเป็นจริงไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ซึ่งมีวิมุตติเป็นเป้าหมาย

ความต่างของสมถะและวิปัสสนากับไตรลักษณ์

สมถะนั้นจะใช้ไตรลักษณ์เพื่อทำความดับให้เกิดขึ้น ดับความคิด ดับจิตที่ฟุ้งซ่าน เรียกง่ายๆว่าดับทุกข์ที่เกิดนั่นเอง แต่วิปัสสนาจะใช้ไตรลักษณ์เพื่อทำให้เกิดปัญญา แต่ในส่วนของความดับกิเลสนั้นเป็นผลที่เกิดจากปัญญานั้นได้รู้แจ้งไปตามลำดับ

จะเห็นได้ว่าเครื่องมือเดียวกันแต่การใช้งานนั้นต่างกัน เราสามารถใช้ได้ทั้งวิธีสมถะและวิปัสสนา ซึ่งแล้วแต่เหตุปัจจัย เรื่องไหนควรดับในทันทีก็ควรจะใช้สมถะ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็ควรจะวิปัสสนาเป็นหลักแล้วใช้สมถะเป็นตัวเสริม เพราะสมถะเองนั้นมีไว้พักจิตเท่านั้น ไม่ใช่ตัวบรรลุธรรม ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้เกิดปัญญา

การประมาณการใช้สมถะวิปัสสนานั้นขึ้นอยู่กับอินทรีย์พละของแต่ละคนซึ่งมีสะสมมาต่างกัน บางคนไม่ต้องทำสมถะเลยก็สามารถผ่านโจทย์ต่างๆได้โดยง่าย แต่บางคนแม้จะทำสมถะก็แล้วแต่ก็ยังแพ้ให้กิเลสอยู่เรื่อยไป ดังนั้นอย่าพยายามอ้างอิงสูตรหรือวิธีการปฏิบัติของใครเพราะเรามีกรรมต่างกัน มีอินทรีย์พละต่างกัน ทั้งนี้สมถะนั้นเป็นตัวเสริมพลังให้วิปัสสนา ซึ่งทำควบคู่กันไปจะเห็นผลเจริญได้ไวที่สุด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรู้จักอย่างแท้จริงว่าอย่างใดคือสมถะ อย่างใดคือวิปัสสนา ไม่เช่นนั้นก็จะปฏิบัติหลงทางวนเวียนอยู่เรื่อยไปเพราะโดยพื้นฐานแล้ว คนจะไปติดสมถะกันมาก เพราะวิธีสมถะจะทำให้เกิดความสงบในทันทีซึ่งดูจะเป็นผลที่สัมผัสได้ง่ายกว่าวิธีวิปัสสนา

ในส่วนวิปัสสนา คนที่ไม่เข้าใจกระบวนการปฏิบัติก็เห็นว่าวิธีนี้จะไม่สามารถทำให้เกิดความสงบได้เลย เห็นว่าการคิดนี้เองจะยิ่งทำให้ฟุ้งซ่าน พอไม่ได้ความสงบอย่างที่หมายก็เลยหลงไปติดกับสมถะอีก แท้จริงแล้ววิปัสสนานี่แหละคือสงความความคิด ที่เราจะต้องสร้างความคิดที่จะชำระกิเลส(สัมมาสังกัปปะ)มาสู้กับความคิดที่อยากสนองกิเลส(มิจฉาสังกัปปะ) ดังนั้นสมถะจึงเหมือนสถานที่พักรบซึ่งคนชอบไปพักและติดสงบจนหลงว่าอารมณ์เหล่านั้นคือการบรรลุธรรมบ้าง คือการหลุดพ้นบ้าง นิพพานบ้าง ทั้งๆที่นั่นคือการพักรบเท่านั้นเอง

การวิปัสสนานั้นเป็นวิธีของคนที่เพียรอย่างถูกต้อง แต่กระนั้นก็เห็นผลไม่ได้ง่ายๆ จะเกิดปัญญารู้แจ้งกิเลสกันไม่ได้ง่ายๆ ทำความดับไม่ได้ง่ายๆ แต่จะรู้ได้เองว่ากิเลสลดลงไปเท่าไหร่แล้ว เมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรงจะมีญาณปัญญารับรู้กิเลสได้ชัดเจนขึ้นตามลำดับ และผลที่ได้นั้น ยั่งยืน เที่ยงแท้ ถาวร ตลอดกาล ข้ามภพข้ามชาติ ตราบปรินิพพาน

– – – – – – – – – – – – – – –

31.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔

March 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,501 views 0

สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔

สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔

สมถะและวิปัสสนานั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็จะแตกต่างกัน เราจึงควรเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สมถะ คือ การใช้อุบายให้เกิดความสงบใจ เข้ามาควบคุมใจ ซึ่งจะเป็นการกดข่ม ตัดรอบ ทำเป็นลืม เปลี่ยนเรื่อง คิดบวก ฯลฯ การกระทำให้จิตที่ฟุ้งซ่านนั้นดับไปโดยทันทีจะอยู่ในลักษณะของสมถะ

วิปัสสนา คือ การใช้อุบายให้เกิดปัญญา ให้มองเห็นความจริงตามความเป็นจริง โดยการคิดพิจารณาความจริง ให้จิตเกิดปัญญารู้แจ้งว่าความจริงที่ไม่ถูกปนเปื้อนด้วยกิเลสนั้นเป็นเช่นไรเจริญไปตามลำดับหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับในทันที

สมถะ-วิปัสสนา สำหรับผู้ที่เข้าใจทั้งสองกระบวนการ จะบริหารการใช้อุบายเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้สมถะกดกิเลสไม่ให้ออกฤทธิ์ก่อนแล้วใช้ช่วงเวลานั้นๆพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงไป ถ้าไม่มีพลังของสมถะเลย แล้ววิปัสสนาอย่างเดียวก็จะช้า จะแพ้กิเลสจนท้อหรือกระทั่งเลิกพิจารณา ส่วนถ้าสมถะอย่างเดียวก็จะกดข่ม ตัดรอบกันอย่างเดียวจนไม่มีปัญญาใดๆเกิดขึ้น ได้เพียงความสงบเท่านั้น

และในบทความนี้เราก็จะมาไขความต่างของสมถะและวิปัสสนา เมื่อปฏิบัติตามแนวทางของอริยสัจ ๔

๑). ทุกข์

เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นนั้นก็หมายถึงเรามีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสักสิ่งหนึ่งแล้วเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพ ยกตัวอย่างเช่นมีคนมานินทาเราแล้วเราโกรธก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมา

๑.๑ ). สมถะกับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นความโกรธที่เกิดขึ้นนั้นเป็นตัวทุกข์

๑.๒ ). วิปัสสนากับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นว่าการโกรธนั้นเป็นตัวทุกข์

๑.๓ ). สรุปทุกข์ ในมุมมองของสมถะและวิปัสสนานั้นจะเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง คือสมถะจะเห็นความโกรธเป็นทุกข์ แต่วิปัสสนาจะเห็นว่าการที่เราต้องมาลำบากโกรธจนลำบากกายลำบากใจนี่แหละเป็นทุกข์ ความต่างคือสมถะมักจะมองความโกรธเป็นเรื่องนอกตัวไม่ใช่ตัวเรา แต่วิปัสสนาจะมองความโกรธเป็นเรื่องที่เกิดจากภายในซึ่งจะมีผลต่อไปถึงสมุทัย

การมองว่าทุกข์นั้นไม่ใช่ตัวเราของเราตั้งแต่ตอนแรกจะทำให้เราไม่คิดจะสืบหาสาเหตุแห่งทุกข์นั้นต่อไป เพราะไป “คิด” ว่าทุกข์ไม่ใช่เรา ความโกรธไม่ใช่เรา โดยที่กิเลสนั้นยังไม่ได้ถูกทำให้แสดงตัวและชำระให้สิ้น นั่นหมายความว่าการกดข่มจะทำให้ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์สูงสุดของการเกิดทุกข์ได้

๒).สมุทัย

การเห็นทุกข์นั้นเป็นประตูแรกของการเห็นธรรม แต่การเห็นเหตุแห่งทุกข์นั้นจำเป็นต้องใช้ความเพียรและปัญญาที่มากกว่า ขึ้นชื่อว่าเหตุก็ต้องศึกษาให้เห็นเหตุซึ่งจะยากเย็นแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่ผูกปมกิเลสนั้นๆไว้

๒.๑ ).สมถะกับสมุทัย จะเห็นความโกรธนี่เองเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์เพราะโกรธ ทุกข์เพราะคิดปรุงแต่ง ทุกข์เพราะมีตัวตน ทุกข์เพราะไม่มีสติ ฯลฯ

๒.๒ ).วิปัสสนากับสมุทัย จะค้นลงไปในความโกรธว่าสิ่งใดเป็นเหตุแห่งความโกรธนั้น แน่นอนว่าการมีอัตตานั้นคือปลายทาง แต่การวิปัสสนานั้นจะมองหาความจริงที่แท้จริงไปตามลำดับ ขุดค้นเหตุไปเรื่อยๆ เช่น โกรธเพราะเราเกลียดเขาอยู่แล้ว นั่นเพราะเขาเคยทำไม่ดีกับเรา คนอื่นนินทาเราไม่โกรธแต่คนนี้เราโกรธ ที่เขาเคยทำไม่ดีกับเราเราก็ฝังใจ ที่เขาทำไม่ดีนั้นไม่ดีจริงหรือไม่ แล้วถ้าไม่ดีจริงทำไมเราต้องถือสา ที่เราถือสาเพราะเรามีอคติอะไรอยู่แล้วรึเปล่า?

ซึ่งการหาเหตุนี้เองจะขุดค้นลงไปตามลำดับ ซึ่งจะไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ตั้งแต่แรก จึงจำเป็นต้องใช้ไตรสิกขาเข้ามาช่วยกระทุ้งกระแทกให้เห็นเหตุให้ชัดขึ้น

๒.๓ ).สรุปสมุทัย ที่สมุทัยนี้เองจะเริ่มเห็นความต่างของสมถะวิธีและวิปัสสนาวิธีอย่างชัดเจน ในมิติของความลึกในการแก้ปัญหา สมถะจะมองปัญหาแค่ผิวเผิน ส่วนวิปัสสนานั้นจะขุดลงไปที่เหตุที่แท้จริง นั่นก็เพราะว่าถ้าหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ การเห็นความจริงตามความเป็นจริงนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลย

๓).นิโรธ

นิโรธคือการดับทุกข์ การดับทุกข์นั้นสามารถดับได้หลายวิธี มีทั้งดับชั่วคราวและดับถาวร มีกลยุทธ์และวิถีทางในการดับหลายแบบ แต่จะสรุปคร่าวๆออกมาจากผลของสมถะและวิปัสสนาด้วยกันสองแนวทาง

๓.๑ ).สมถะกับนิโรธ เมื่อเห็นทุกข์ของความโกรธและเห็นว่าความโกรธ ความคิด การมีตัวตน การไม่มีสตินั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ สมถะจึงดับทุกข์ด้วยการดับความคิด ดับการปรุงแต่ง การคิดว่าต้องไม่มีตัวตน หรือการใช้สติ ซึ่งการดับเช่นนั้นเป็นการดับแบบชั่วคราว ดับเฉพาะไฟที่ลุกขึ้นแต่ไม่ได้ดับเชื้อไฟ นี้เองคือความตื้นของสมถะที่ลงไปไม่ถึงเหตุ แต่ถึงกระนั้นการดับแบบชั่วคราวก็สามารถดับข้ามภพข้ามชาติได้ แต่ที่แน่นอนคือมันไม่ถาวร

๓.๒ ).วิปัสสนากับนิโรธ เมื่อเห็นความทุกข์ของความโกรธ และค้นเจอเหตุแห่งทุกข์แล้ว ยกตัวอย่างเช่นว่า จริงๆที่มีอคติจนเป็นเหตุแห่งความโกรธเมื่อได้รับการนินทาก็คือ คนคนนี้มีท่าทีหยิ่งในตอนแรกที่พบกันแล้วเราไม่ถูกใจ ดังนั้นเหตุแห่งทุกข์ก็คือความอยากได้รับการยอมรับ การเอาใจใส่จากคนอื่นนั่นเอง ซึ่งการจะทำให้กิเลสดับไปนั้น วิปัสสนาจะมาดับกันที่ตรงนี้ จะพิจารณาธรรมกันตรงที่เหตุ ใช้ไตรลักษณ์ก็ใช้ที่เหตุ ใช้กรรมและผลของกรรมก็ใช้ที่เหตุ ใช้การพิจารณาประโยชน์และโทษก็กระทำที่เหตุ ซึ่งเมื่อดับเหตุที่แท้จริงได้ จึงจะเป็นการดับที่แท้จริง ตามที่ควรจะเป็นจริงๆ

๓.๓ ).สรุปนิโรธ จะเริ่มเห็นได้ชัดแล้วว่าเมื่อระบุเหตุของปัญหาที่ต่าง ก็จะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่าง ตรงนี้เองที่เป็นขีดจำกัดที่ว่าทำไมทำสมถะอย่างเดียวจึงไม่บรรลุธรรมหรือกลายเป็นฤๅษี เพราะสมถะไม่ได้ดับทุกข์ที่เหตุ แต่มักจะไปดับที่ผล ถึงแม้จะมีการหาเหตุแต่ก็มักจะเป็นหารวมๆ ใช้วิธีการเป็นรูปแบบ ซ้ำๆ ย้ำๆ เรียกได้ว่ากิเลสแบบไหนก็ใช้วิธีการเดิม ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ทุกอย่างไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวเราของเรา มันก็ใช้ธรรมะเข้ามากดข่มเท่านั้นเอง เพราะแท้จริงแล้วการดับกิเลสในแต่ละอย่างนั้นมีความต่างในองค์ประกอบหลายๆอย่างอยู่ หลายคนก็หลายรูปแบบ เพราะแต่ละคนผูกปมสะสมกิเลสมาไม่เท่ากัน การแก้ไขปัญหาก็ต่างกัน ความยุ่งยากซับซ้อนก็ต่างกัน ดังนั้นเมื่อสมุทัยไม่ถึงเหตุ นิโรธก็ไม่ถึงผลตามแนวทางของพุทธ

๔). มรรค

มรรค คือวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อย่างถูกตรง ประกอบด้วยความเข้าใจ การคิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ความเพียร การระลึกรู้ และความเป็นสมาธิที่ถูกตรง เกิดปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จะต้องประกอบด้วยมรรคทั้ง ๘ องค์ที่สมบูรณ์ครบพร้อม ซึ่งการจะเกิดมรรคทั้ง ๘ ได้ จะต้องกระทำมรรคในข้อ ๑-๗ อย่างถูกตรงจนกระทั่งเกิดเป็นสภาพของสัมมาสมาธิ ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจ คิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ขยัน มีสติอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

๔.๑ ).สมถะกับมรรค ในเมื่อสมถะมองความโกรธ เพราะความคิด การปรุงแต่ง การมีตัวตน การไม่มีสติเป็นปัญหา ดังนั้นจึงต้องดับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมรรคของสมถะจะกลายเป็นดำดิ่งสู่ความสงบ การกดข่ม การตัดรอบ การวางเฉย การใช้ธรรมะหรือเหตุผลต่างๆมากระทำต่อความฟุ้งซ่านนั้นๆ เช่นความโกรธไม่ใช่เรา ความโกรธไม่เที่ยง มาเป็นเครื่องมือสะกดจิต จนจิตสงบจากกิเลสนั้นๆ เป็นสภาพที่ความโกรธสงบลงเพราะใช้อุบายทางใจเข้ามาบริหารและความคุม ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นไปตามสัมมาอริยมรรค เป็นเพียงวิถีทางทั่วไปตามแบบฉบับของสมถะซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ในโลกอยู่แล้ว การทำสมถะนี้ไม่ว่าศาสนาใดก็ใช้กัน ซึ่งพุทธเองก็ใช้เป็นเครื่องอุปการะเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติ

๔.๒ ).วิปัสสนากับมรรค เมื่อเห็นตัวกิเลสที่ทำให้เกิดทุกข์แล้ว จึงทำการคิดพิจารณากิเลสนั้นๆไปตามความจริงที่เป็นจริง ไม่ใช่ตามกิเลส โดยใช้ศีลมาเป็นเครื่องชี้วัด ซึ่งในตอนแรกมันจะไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ แต่จะเห็นโน้มเอียงไปตามกิเลส แม้ว่าจะมีสัมมาทิฏฐิแล้วก็ตาม ซึ่งการจะทำให้คิดได้ตามจริงนั้นก็ต้องอาศัยการพูด ทำ เลี้ยงชีพ ไปตามหลักแห่งความพ้นทุกข์ และพิจารณากิเลสนั้นๆโดยใช้ความเพียรและมีสติเป็นที่ตั้งเพื่อชำแหละกิเลสที่โผล่มาจากการใช้ศีลจับ เพื่อกระทำทิฏฐิให้ถูกตรงโดยลำดับ ทั้งหมดนี้เพื่อผลแห่งความคิดที่ถูกต้องถูกต้องให้ถึงพร้อม

วิปัสสนานี้เองเป็นความคิดอย่างแน่แท้ แต่เป็นการคิดที่สวนทางกับกิเลส เป็นการคิดที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ (สัมมาสังกัปปะ)ซึ่งมีคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าวิปัสสนาไม่ใช่การคิด การทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงนี่เองคือการคิด แต่มันอยู่ที่รายละเอียดว่าคิดอย่างไรจึงจะถูกทางพ้นทุกข์ ถ้าไม่คิดเลยก็กลายเป็นสมถะ

๔.๓ ).สรุปมรรค วิปัสสนานั้นไม่ได้ปฏิเสธการมีสติ หรือการคิด พูด ทำใดๆ เพราะจำเป็นต้องปฏิบัติมรรคทุกองค์อยู่แล้วเพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิซึ่งเป็นผลจากการเห็นความจริงตามความเป็นจริง และยังไม่ได้ปฏิเสธการใช้สมถะเข้ามาร่วมในกระบวนการต่างๆเพื่อกดกิเลสไว้ เช่นมีความโกรธเราก็กดไว้ ก่อนที่เราจะตอบโต้ด้วยความโกรธ แต่จะไม่กดจะดับทั้งหมด เราจะยังต้องใช้เชื้อแห่งความโกรธที่เหลือมาเป็นเป็นต้นทางแห่งสมุทัย จนกระทั่งสามารถนำมาปฏิบัติตามมรรคได้

แต่มรรคของสมถะนั้นก็สามารถถึงสมาธิได้เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเกิดมาจากมิจฉามรรค นั่นเพราะทิฏฐิผิดรูปผิดรอยตั้งแต่แรก โดยเฉพาะผู้ที่เข้าใจว่าการดับ การไม่คิด การมีสติตลอดเวลาคือการพ้นทุกข์ เหล่านี้คือผู้หลงผิดไปติดสมถะทั้งสิ้น เพราะแท้จริงแล้วการดับหมายถึงการดับกิเลส ไม่ใช่การดับผลของกิเลส การไม่คิดหมายถึงไม่คิดตามกิเลส ไม่ใช่ไม่คิดอะไรเลย และถ้าเป็นความคิดที่ย้อนแย้งกิเลสยิ่งต้องคิด และการมีสตินั้นจำเป็นต้องมีในการวิปัสสนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ตัวบรรลุธรรม เพราะหลักของวิปัสสนานั้นคือทำให้เกิดปัญญารู้เห็นจริงตามความเป็นจริง สติเป็นเสมือนเครื่องหล่อเลี้ยงที่จำเป็นต้องมี แต่ไม่ใช่ตัวที่จะทำให้เกิดปัญญา เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดปัญญาก็คือสัมมาสังกัปปะที่เกิดจากสัมมาทิฏฐิเป็นตัวตั้ง มรรคทั้ง ๗ องค์ทำงานส่งเสริมกันจนกระทั่งเกิดสัมมาสมาธิเป็นองค์ที่แปด ซึ่งเป็นตัวจบของกิเลสนั้นๆหมายถึงเกิดสภาพของวิมุตติหรือการหลุดพ้นจากกิเลสอย่างถาวร

สัมมาสมาธิไม่ใช่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การกดข่มจิต หรือกระทำใดๆต่อจิตจนเกิดสภาพสมาธิ ลักษณะเหล่านี้เป็นวิธีของสมถะ ให้ผลเป็นสมาธิจริง แต่เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นแบบทั่วไป ศาสนาใดก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธ เพราะทางพ้นทุกข์พุทธนั้นมีทางเดียวคือ สัมมาอริยมรรค นั่นหมายถึงจะต้องถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์อย่างถาวรด้วย ไม่ใช่การดับอย่างชั่วคราว แม้จะดับได้ข้ามภพข้ามชาติแต่ถ้าไม่ถาวรก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ติดภพ ติดสงบ ติดดีเข้าไปอีก กลายเป็นฤๅษีไปอีก เนิ่นช้าไปอีก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้นไม่ใช่ของเราคถาคต

ดังนั้นการใช้สมถะเข้ามาช่วยกดข่มกิเลสในกรณีที่มีความรุนแรงมากนั้นก็สามารถทำได้และเป็นกุศล แต่หากจะตั้งสมถะเป็นเป้าหมายในการบรรลุธรรมก็ขอสรุปเลยว่าจะต้องวนเวียนติดสุขอยู่ในโลกอีกนานแสนนาน เพราะโดยหลักแล้วสมถะไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดเลย เพียงแต่ทำปัญหาที่เกิดให้ดับและจบไปเท่านั้น จึงต้องวนเวียนเกิดดับๆอยู่เรื่อยไปเพราะเหตุยังไม่ดับนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

6.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)