Tag: ธรรมทาน

สัมมาศูนย์บาท มิจฉาค่าตัวแพง

July 3, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 949 views 0

สมัยศึกษาแรก ๆ แสวงหาหนทางธรรมใหม่ ๆ ผมก็เคยหลงไปหลงมาอยู่เหมือนกัน เพราะโลกนั้นร้ายลึก ทางหลงมากกว่าทางรู้ มันก็เป็นธรรมดาที่จะพลาดท่าเสียเวลาไป

แรก ๆ ก็สนใจศึกษาจากที่มันคล้าย ๆ ไลฟ์โค้ช แต่เขาอิงศาสนาพุทธเยอะ เขาก็เอาพุทธมาประยุกต์ แรก ๆ ยังไม่ดังก็สอนฟรีอยู่บ้าง แต่หลัง ๆ มีบริวารก็เริ่มเก็บเงินมากขึ้นและแพงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นหลักหมื่น หลักแสน

ตอนนั้นผมก็ไม่ได้มีเงินมากขนาดที่จะเอาไปใช้จ่ายในเรื่องนี้ แล้วมันก็ตะหงิด ๆ ในใจด้วยว่า แบบนี้มันไม่ควรนะ ก็เลยแสวงหาทางอื่นไปเรื่อย ๆ

จนพบครูบาอาจารย์ที่สอนฟรี ให้กินฟรี ที่พักฟรี รักษาฟรี มีแต่การแบ่งปัน ไม่มีเรื่องมารยาทสังคมเรื่องเงินให้ต้องมาเกรงใจ คือไม่มีการเรี่ยไรทั้งทางตรงทางอ้อม ไม่มีการเรียกร้องให้บริจาคตามกำลังศรัทธาให้ลำบากใจ แถมยังต้องตั้งกติกากันอีกว่าถ้าจะช่วย ห้ามเกินที่กำหนด

พอศึกษาตาม ผ่านมาหลายปี ผมก็พบว่าถูกแล้ว ดีแล้วที่เราไม่ไปจ่ายเงินเรียนธรรมะ ดีแล้วที่เราไม่ไปสนับสนุนคนไม่ดี เพราะจากที่เราเห็น ยิ่งนานไป เขาก็จะยิ่งแสวงหาโลกธรรม หาชื่อเสียง หาเงิน ล่าบริวาร ตรงข้ามกับพุทธะทุกอย่าง ถ้าเราตามไปก็ไปนรกนั่นแหละ

เพราะพระพุทธเจ้าและสาวกท่านก็สอนฟรี ไม่ได้เก็บเงิน แม้สาวกที่เป็นฆราวาสก็สอนกันฟรี เรื่องธรรมะไม่มีใครเขาเอามาหากิน ธรรมทานเป็นของประเสริฐ ไม่ใช่ของซื้อขาย ก็เป็นอันเข้าใจว่าที่ถูกต้อง ค่ารวม ๆ ถ้าจะพากันเจริญคนสอนต้องพึ่งตัวเองได้ แล้วแสดงความจริงให้เห็นเลยว่าธรรมะเนี่ยไม่เรียกร้องจากใคร มีแต่ให้

แต่คนมิจฉา เขาก็จะรู้ทางหนีทีไล่ เขาจะไม่เอาภาพพุทธสาวกมาใส่ เขาก็จะตั้งชื่อของเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สร้างบริบทขึ้นมาใหม่ แล้วก็เอาธรรมะมาหากิน พอเวลามีคนติ เขาก็จะมีทางหนี ทางเลี่ยง ตามที่เขาคิดไว้ว่าหนีได้

โดยสัจจะแล้วไม่มีใครหนีได้ กรรมทำแล้วต้องรับ ใครเอาธรรมะมาหากินนั้นบาปทั้งสิ้น เอามาหาเงินนี่หยาบร้ายมาก ขนาดทุกวันนี้ยังมีคนห่มจีวรเพื่อมาหาเงิน ทุกวันนี้มันเละไปหมดแล้ว ทำลายศาสนากันด้วยความโลภ สำคัญคือผู้ที่ตั้งตนเป็นแกนหลักที่มีอำนาจบริหารไม่จัดการ แสดงว่าเน่าในกันหมดแล้ว

ก็มีเหมือนกัน คนที่เคยรู้จักกัน เขาก็ไปหลงกับผู้แสวงหาในทางผิดเหล่านั้น ผมก็ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับเขาหรอก มันก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะเลือกชีวิตไปในเส้นทางไหน เลือกที่จะศรัทธาใคร เลือกที่จะทำตามใคร

เราก็เลือกได้แต่เส้นทางของตัวเอง ว่าเราจะทำตามครูบาอาจารย์นี่แหละทำตามท่าน ทำงานฟรี ช่วยคนฟรี ฝึกเสียสละให้หมดใจ อย่าไปเอาอะไรมาแลกแม้รอยยิ้มและคำขอบคุณ

ผมว่าคนที่เขาเก็บเงินคนที่มาปรึกษานี่เขาใจร้ายมากเลยนะ คนเขาทุกข์มาแล้ว เรายังจะไปเก็บเงินเขา ให้เขาลำบากเพิ่มขึ้นไปอีก มันจะซ้ำเติมกันไปถึงไหนนั่น แม้เขาจะยินดีจ่าย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะมีกำลังจ่าย

ช่วยคนฟรีดีกว่า คัดกันด้วยศีลธรรมนี่แหละ จะช่วยใครก็แค่ดูทรงว่าตั้งใจปฏิบัติไหม มีศีลไหม ทำความดีเสียสละอะไรมาบ้าง ถ้ามีพื้นฐานดี มันก็น่าจะช่วยกันไม่ยาก แต่ถ้าแบบศีลไม่มี อัตตาจัด รู้ทุกเรื่อง เก่งทุกอย่าง เถียงทุกคำ แบบนี้เอาไว้ก่อน เราน่าจะยังมือไม่ถึง คงต้องขอยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม มีศีลตั้งใจปฏิบัติธรรมแล้วค่อยมาว่ากัน

ประพฤติตนเป็นโสด คือความเป็นกลาง

January 9, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,066 views 0

ได้ไปเห็นความเห็นที่คนเขามองว่าการปฏิบัติตนเป็นโสด มันจะออกไปทางโต่ง ๆ ตามความเห็นของเขา อ่านแล้วก็เห็นใจเขา เพราะจริง ๆ ประพฤติตนเป็นโสดนั้น คือความเป็นกลาง เป็นทางพ้นทุกข์อย่างหาทางอื่นไม่ได้เลย

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “คนที่เขาประพฤติตนเป็นโสด คนเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต” นั่นหมายถึงก็มีแต่คนที่มีปัญญาเท่านั้นแหละ ที่จะตั้งตนอยู่ในความเป็นโสด ท่านยังตรัสไปต่ออีกว่า “ส่วนคนเขลาฝักใฝ่ในเมถุนย่อมเศร้าหมอง” นั่นก็หมายถึงคนที่เขาไม่มีปัญญา หรือที่เรียกกันว่าคนโง่ คนหลง เขาก็จะเศร้าหมองเพราะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการอยู่เป็นคู่ ๆ อยู่กับเรื่องคนคู่

ท่านยังตรัสไว้ใน พระไตรปิฎก เล่ม 25 ข้อ 29 ไว้อีกว่า “บุคคลผู้มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย เราเรียกว่า เป็นบัณฑิต

คนที่ประพฤติตนเป็นโสดนี่ทำไมถึงเป็นบัณฑิต แล้วทำไมบัณฑิตถึงไม่มีภัย นั่นก็เพราะการประพฤติตนเป็นโสด จะไม่สร้างเวรแค่ใคร ไม่มีภัยแก่ใคร เพราะไม่ทำให้ใครหลงรัก หรือหลงชัง ไม่ไปเป็นข้าศึกในวัฏสงสารอันยาวนานของเขา ออกจากวังวนแห่งการหลงสุขหลงเสพ อันเป็นธรรมชาติของสัตว์ทั่วไป

การที่คนเข้าไปรักกัน ไปแสดงความรักกันนั้น ก็ยังสร้างเวรสร้างภัยให้แก่กันอยู่ ด้วยการมอมเมาด้วยกาม ด้วยตัณหา ด้วยราคะ ด้วยอัตตา ก็ตาม ดังนั้นผู้ที่สร้างเวรสร้างภัย จะเรียกว่าเป็นบัณฑิตก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าตั้งตนอยู่บนทางสายกลางก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าปฏิบัติสู่ความเจริญก็ไม่ใช่

ทางสายกลางในมิติของคนโสดคนคู่นั้น จะอยู่ตรงการประพฤติตนเป็นโสด ส่วนทางโต่งสองด้านนั้น หนึ่งคือฝั่งของการหลงไปในทิศของกาม จะหลงใหลหมกมุ่นใคร่อยากในเรื่องคู่ครอง สองคือทิศของอัตตา จะเป็นความยึดดี ถือดี หลงดี จนเกิดความชังขึ้นในจิต อธิบายง่าย ๆ ว่าเกลียดความรัก เหม็นความรักอะไรทำนองนี้ เห็นเขารักกันก็จะไม่ชอบใจ อันนี้เป็นทางโต่งในทิศของอัตตา

แต่บัณฑิตที่ประพฤติตนเป็นโสดนั้น จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นว่าเขาติดกามก็เห็นใจเขา เพราะเขาหลงไปสุข ไปเสพกับสิ่งลวง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว แล้วก็มัวเมาอยู่กับกาม เขาก็ให้ค่ามัน ให้ความสำคัญกับมันเป็นธรรมดา แค่เขาหลงเขาก็ทุกข์พออยู่แล้ว มันก็น่าเห็นใจ

ส่วนทิศอัตตานี่ก็น่าสงสารอีก เขาจะยึดดีจนอึดอัด กดดัน บีบคั้น มีแต่รังสีอำมหิต เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วยความยึดดี มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรใครเลย ทำลายทั้งตัวเอง และคนรอบข้าง ดีไม่ดี ตบะแตก อดทน อดกลั้นการมีคู่ไหมไหว กลับไปหาฝั่งกามก็มีเยอะเหมือนกัน ก็คล้าย ๆ พวกทำเป็นเก๊ก แล้วสุดท้ายใจแตก ก็น่าเห็นใจเขา

ความจริงมันก็ไม่มีอะไรน่ายึด เพียงแต่มันจะมีจุดอาศัยที่พอดี เป็นกลาง เป็นความเบาสบาย ถ้าทั้งสองฝั่งคือพื้นที่ที่มีไฟลุกเผาใจอยู่ทุกวี่วัน การประพฤติตนเป็นโสดจนหลุดพ้นจากความอยากมีคู่ก็คือตรงกลางระหว่างนรกทั้งสองฝั่ง เป็นแดนสวรรค์ของจิตที่พ้นจากความเดือดเนื้อร้อนใจ

ก็อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่า บัณฑิตคือผู้ที่มีความเกษมสำราญในธรรม ไม่มีเวรไม่มีภัยแก่ใคร ใครจะมีคู่ก็เข้าใจ ใครจะชังการมีคู่ก็เข้าใจ แต่ก็จะทำงานของตนต่อไปคือเผยแพร่สิ่งที่ดี ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ทำกุศลให้ถึงพร้อม” เมื่อมีความรู้ ก็ควรจะแบ่งปันแจกจ่ายเป็นธรรมทาน เก็บไว้ หวงไว้ ซ่อนไว้ ไม่แบ่งแจก ก็เหมือนพรามห์ผู้เห็นผิดในโลหิจจสูตร ที่เห็นว่าผู้บรรลุธรรมนั้นไม่ควรเปิดเผยธรรม

พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้อีกว่า ธรรมะของท่าน ยิ่งเปิดเผย ยิ่งเจริญ แต่คนที่เขาไม่มีปัญญาเขาจะไม่ชอบใจหรอกนะ เขาจะค้านแย้ง ดังที่ท่่านได้ตรัสไว้ว่า ธรรมที่พาพ้นทุกข์ อสัตบุรุษจะไม่ยินดี ไม่ชอบใจ ให้พาออกจากกาม ออกจากอัตตานี่เขาจะไม่เอา เขาจะแย้ง มันก็เป็นธรรมดาของโลก ที่จะมีความเห็นทั้งสองทางมาค้านกัน

ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดต่าง จะเข้าใจว่าทางสายกลางกลางกามก็เป็นสิทธิ์ที่พึงทำได้ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำตามใจของตน และผลกรรมก็เป็นสิทธิ์ที่ทุกคนพึงได้รับเช่นกัน ทำดีก็ได้รับผลดีสะสมไว้ ทำชั่วก็ได้รับผลชั่วสะสมไว้ ก็ให้อิสระในการเลือกกันเองว่าจะทำอะไรแบบไหน

ศรัทธา

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,659 views 1

ศรัทธา

ศรัทธา

คนไม่มีศรัทธา พาตัวเองออกจากศาสนา

คนศรัทธาน้อย พาเงินเข้าวัด

คนศรัทธาดี พาธรรมเข้าสังคม

คนศรัทธามาก พากิเลสออกจากตน

คนศรัทธาเต็ม ชี้ทางนำกิเลสออกจากผองชน

. . . . . . . . . . . . . . . . . .

คนไม่มีศรัทธาจะไม่พาตัวเองเข้าหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และจะมีทิศทางที่จะห่างออกไปจากศาสนา ห่างออกไปจากศีลธรรม มักจะมีชุดความเชื่อของตนเอง ศีลธรรมของตนเอง ยึดตนเองเป็นที่ตั้งแห่งการตัดสินใจ

คนศรัทธาน้อยจะพาเอาลาภสักการะเข้าสู่ศาสนา มีเงินก็บริจาคเงิน มีที่ก็บริจาคที่ พาตัวเองเข้าวัดฟังธรรม ซึ่งหากขาดปัญญาแล้ว ศรัทธานั้นมักจะเป็นภัยแก่ตน คือไปศรัทธาอลัชชีผู้มักมาก หลอกล่อเอาลาภสักการะเข้าสู่ตน หลอกให้บริจาคทรัพย์ เวลา แรงงาน กระทั่งชีวิตให้แก่ตน

คนศรัทธาดีพอได้ศึกษาธรรมะบ้างแล้ว ก็จะมีความอยากเผยแพร่สิ่งดีๆให้กับคนอื่น ในขั้นหยาบๆมักมาในรูปของการเชิญชวนให้ทำทาน หรือให้ไปศรัทธาในอาจารย์ที่ตนนับถือ ในแบบทั่วๆไปก็คือการแจกจ่ายข้อมูลธรรมะ ตามคำบอกเล่า ตามหลักฐาน ตามที่มีที่อ้างต่างๆ มักจะเป็นธรรมะที่จำมา ซึ่งมักจะหลงผิดว่าเป็นการแจกจ่ายธรรมทาน ทั้งที่จริงแล้วเป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่สื่อเท่านั้น ธรรมทานจะให้ได้ก็ต่อเมื่อมีคุณสมบัติเหล่านั้นในตนจริงๆ หากผู้ใดไม่มีธรรมนั้นในตนจริงแล้วเอามาแจกจ่าย ก็เป็นเพียงผู้ที่มีส่วนช่วยในการจำและกระจายข้อมูลเท่านั้น

คนศรัทธามากจะเข้ามาปฏิบัติที่ตนอย่างจริงจัง คือแสวงหาหนทางที่จะพาตนเองให้พ้นไปจากทุกข์ให้ได้ ซึ่งความศรัทธามากนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถปฏิบัติจนถึงผลได้ ขึ้นอยู่กับวิถีปฏิบัติที่ศรัทธาอยู่นั้นถูกต้องหรือผิดทาง ถ้าผิดทางศรัทธาที่มากนั้นก็จะพาไปเข้ารกเข้าพงเข้าป่าหลงทางกันไป แต่ถ้าถูกทางก็จะสามารถทำลายกิเลสที่ตนเองหลงติดหลงยึดโดยลำดับจนสามารถเปลี่ยนอธรรมในตนให้เป็นธรรมะได้ จึงเรียกว่าเป็นผู้สร้างธรรมะให้มีในตนได้อย่างแท้จริง ก็จะสามารถเป็นผู้แจกจ่ายธรรมทานนั้นๆ เท่าที่ตัวเองปฏิบัติมาได้โดยไม่ผิดสัจจะ

คนศรัทธาเต็มจะมีความเห็นว่ากิเลสนั้นเป็นสิ่งชั่วจึงล้างกิเลสออกจากตนจนสิ้นเกลี้ยง ทั้งยังชักชวนให้ผู้อื่นออกจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น รวมทั้งยังกล่าวสรรเสริญคุณในกิจกรรมการงานใดๆก็ตามที่พาให้ลดกิเลส ลดการเบียดเบียน ซึ่งผู้ที่มีคุณดังนี้ก็จะสามารถชี้ทางให้คนอื่นออกจากกิเลสได้ เพราะได้ทำสิ่งที่ควรทำก่อนแล้วจึงสอนผู้อื่น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนในคุณธรรมอันสมควรก่อน จึงค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลัง จักไม่มัวหมอง

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ฉันคือผู้หลุดพ้น

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,455 views 0

ฉันคือผู้หลุดพ้น

ฉันคือผู้หลุดพ้น

…ความหลงว่าบรรลุธรรม กรณีศึกษามังสวิรัติ

(*คำเตือน!! บทความนี้มีเนื้อหาที่จะไปกระแทกอัตตาของผู้ที่หลงว่าบรรลุธรรม ผู้ที่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถรับสิ่งกระทบระดับนี้ไหวขอแนะนำว่าไม่ควรอ่าน ถ้าท่านฝืนอ่านแล้วเกิดอาการไม่พอใจก็สุดแล้วแต่บาปกรรมของท่านเอง)

สภาวะของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นได้เรียบเรียงกันไว้หลายบทหลายตอนแล้ว ในบทความนี้จะมาขยายในมุมของความหลงกันบ้าง เพื่อที่นำจะความรู้เหล่านี้ไปใช้พิจารณาหาประโยชน์ที่แท้จริงของการกินมังสวิรัติด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นทั้งหมด 9 ข้อ

1).กินมังสวิรัติไม่ลำบาก

มีหลายคนที่สามารถกินมังสวิรัติได้เองโดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก แต่เขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าเพราะอะไร เกิดมาจากอะไร การมีบารมีสะสมมาแบบนี้อาจจะเกิดจากการสะสมพลังเจโตสมถะมาหลายชาติก็ได้ เช่นในชาติที่เป็นฤๅษีก็กินผลไม้ รากไม้ ใบไม้ไป จนเกิดสภาวะเคยชินส่งผลมาถึงชาตินี้ก็สามารถกดข่มความรู้สึกได้ง่ายดายเหมือนกับว่าไม่ต้องพยายามใดๆเลย แต่เขาเหล่านี้จะไม่รู้จักกับความอยาก ไม่รู้จักกิเลส เพราะมันถูกกดลงไปก่อนที่จะรู้ตัวเป็นสภาพจิตกดข่มโดยอัตโนมัติเพราะเหตุที่สะสมมาหลายชาติ

2).เข้าใจว่ากินมังสวิรัติแล้วกิเลสลด

ตรงนี้เป็นความหลงที่ค่อนข้างหนัก เพราะการกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าลดกิเลสเป็น และไม่ได้หมายความว่ากิเลสลด คนที่กินมังสวิรัติได้เป็นสิบๆปี อาจจะลดกิเลสไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ข่มไว้ด้วยสัญชาติญาณปกติของมนุษย์คือเมื่อรับรู้ว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่ดี เป็นบาป เบียดเบียน ก็รู้สึกว่าไม่อยากทำก็เลยใช้การอดทนไปตามธรรมชาติ เหมือนกับการที่เราอดทนไม่ต่อว่าใครที่มาดูถูกเรา มันก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะอดทนต่อสิ่งเร้า เป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้เกี่ยวกับกระบวนการลดกิเลสแต่อย่างใด

คนที่กินมังสวิรัติแล้วลดกิเลสไม่เป็นจะไม่รู้ต้น ไม่รู้กลาง ไม่รู้ปลาย คือไม่รู้อะไรเลย รู้แค่กินมังสวิรัติแล้วดี แต่ไม่รู้ว่ากิเลสเริ่มเกิดจากตรงไหน ไม่รู้ว่ามันตั้งอยู่หรือซ่อนอยู่แบบใด และไม่รู้ว่ามันจบลงที่ใด ในพระไตรปิฏกมีการอธิบายเรื่องเจโตปริยญาณชัดเจนว่าต้องรู้ในทุกสภาวะจิต คือเกิดก็รู้ดับก็รู้ มีอยู่ก็รู้หายไปก็รู้ และรู้ได้ด้วยว่าเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงเท่าไหร่ นี้คือปัญญาของพุทธ คนที่ไม่มีปัญญาพุทธ จะเดาๆเอา มั่วเอา คาดคะเนเอาเอง แล้วมันก็เมาหมัดตัวเองเพราะดูสภาวะจิตตัวเองไม่ออก

คนที่ลดกิเลสได้จริงถ้าทำได้ถึงระดับดับจิตที่อยากให้สิ้นเกลี้ยงหรือสามารถดับกิเลสได้ จะดับวจีสังขารคือคำปรุงแต่งในใจได้ และดับไปถึงกายสังขารคือร่างกายจะไม่โหยหิว ไม่อยากกิน ไม่อร่อยตามไปด้วย คือถ้าดับกิเลสได้จริงมันจะไม่กินเป็นธรรมชาติเป็นเรื่องปกติ แต่ก็สามารถไปกินได้โดยการอนุโลมเป็นกรณีไป

3). การอนุโลมของผู้หมดกิเลส

สมมุติว่ามีหลวงปู่ท่านหนึ่งสามารถดับกิเลสเรื่องมังสวิรัติได้แล้ว แต่ลูกศิษย์ของท่านนั้นยังอินทรีย์พละอ่อนมาก ถ้าสอนให้กินมังสวิรัติเลยลูกศิษย์จะตายเพราะพลังไม่พอ จะทรมาน จะทุกข์ จะเข้าขีดของอัตตกิลมถะ ซึ่งเป็นทางโต่ง ท่านก็เลยไม่ได้เน้นหนักไปทางนั้นเพราะยังมีวิธีสอนให้ลดกิเลสอีกตั้งหลายทาง จึงยอมอนุโลมแบกวิบากบาปในการกินเนื้อสัตว์ตรงนี้ต่อไปเพื่อไม่ให้ศิษย์เครียด

หรือกรณีเอตทัคคะของพระพุทธเจ้าท่านหนึ่งสามารถกินข้าวเพียงหยิบมือเดียวแล้วมีกำลังอยู่ได้ทั้งวัน เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดี เบียดเบียนน้อย แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องทำเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ยาก และผู้ที่อินทรีย์พละอ่อนจะตายกันเสียก่อน ท่านจึงอนุโลมไว้เพียงแค่กินข้าวมื้อเดียว ดีที่สุดในโลก

ตรงนี้เองที่คนมีกิเลสใช้เอามาตีกิน มาเหมาเอาว่าตนเองบรรลุธรรม อ้างว่าอนุโลม แล้วบอกว่าทำให้พอดีเป็นเรื่องที่เห็นได้ในทุกยุคทุกสมัย หากถามถึงมรรคผลคือวิธีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์และสภาพพ้นทุกข์เป็นอย่างไรก็จะพบว่า “ไม่มี” และผู้หลงผิดที่มีกิเลสหนากว่านั้นก็บอกว่าจะ”ตนมีมรรคผล”แต่ไม่บอก ไม่ชี้แจง ไม่แถลง ไม่อธิบายให้ไปปฏิบัติเอาเองแล้วจะรู้

ซึ่งผิดกับผู้บรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาซึ่งจะมีหลักข้อหนึ่งคือ “ธรรมทาน ชนะทานทั้งปวง” เมื่อธรรมทานนั้นเป็นทานที่ดีที่สุด จะมีเหตุอันใดที่ผู้บรรลุธรรมนั้นจะไม่มอบทานนั้นแก่คนผู้ที่ยังมีความสงสัย เว้นเสียแต่เขาเหล่านั้นไม่มีธรรมนั้นในตนเอง พอไม่มีเลยไม่รู้ว่าจะให้อะไร

4).การรู้ประมาณ

การรู้จักประมาณในการบริโภคนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก มีหลายคนที่คิดว่ากินเนื้อกินผักมันก็เบียดเบียนเหมือนกัน อันนี้มันก็ถูกใครประโยคแต่ในสาระมันไม่ใช่ เพราะปริมาณมันต่างกัน

ทุกคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกนั้นเกิดมาพร้อมกับร่างกายที่ต้องคงสภาพด้วยการเอาธาตุอาหารมาเลี้ยง แต่เราจะเอาสิ่งใดมาเลี้ยงนั้นมีผลต่อชีวิตจิตใจเราด้วยเช่นกัน การรู้จักปัจจัยที่ส่งผล คือ บุญ บาป กุศล อกุศลนั้น จะทำให้เราวิเคราะห์การลงทุนใช้ชีวิตได้ดีขึ้น นักลงทุนที่ไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวปัจจัยหรือตัวแปรที่ส่งผลต่อชีวิตก็จะตีรวมๆ ว่าเบียดเบียนเหมือนกันหมดฟังแล้วมันก็ดูดีแต่ไม่ฉลาด

เพราะการที่เราใช้แต่ละสิ่งในการเข้ามาบำรุงร่ายกายเรานั้นให้ผลต่างกัน ทั้งในทางความรู้เชิงโลกเช่นกินเนื้อแล้วอาจจะเป็นมะเร็ง หรือกินผักแล้วถ่ายคล่อง หรือในทางธรรมคือบุญ บาป กุศล อกุศล คือการเบียดเบียนนี้สร้างทุกข์ หรือผลกระทบเท่าไร เช่นเรากินเนื้อวัว วัวเป็นสัตว์ที่มีบุญมาก มีพลังชีวิตมาก การจะฆ่าวัวมันจะเจ็บปวดทุกข์ทรมานมาก เราต้องรับกรรมส่วนนั้นมาด้วย

ในส่วนของการกินผัก ผักคือพืช พืชนั้นมีชีวิต แต่ไม่มีวิญญาณและเวทนา พืชไม่รู้สึกเจ็บ ไม่รู้สึกโกรธ ไม่แค้น ไม่อาฆาต สามารถเด็ดกิ่งไปชำได้ โตแล้วขยายพันธุ์ได้เรื่อยๆเพราะมันเป็นพืช ไม่ได้ใช้วิญญาณในการสังเคราะห์ร่างกาย แต่ใช้สัญญาในการสังเคราะห์เช่น เมื่อรดน้ำพืชจะดูดเอาน้ำไปสังเคราะห์รวมกับธาตุอื่นจนเป็นพลังงานขึ้นในตัว เกิดเป็นแป้ง เป็นเนื้อไม้หรืออื่นๆ ในกรณีของยางพืชที่ไหลออกเมื่อกรีดนั้นก็คือสัญญาที่มันรับรู้ว่าเมื่อลำต้นเป็นแผลก็ต้องหลั่งสารมาปิดแผล เป็นเช่นนี้เสมอมา ไม่มีพืชต้นไหนที่เคยงอนไม่ยอมหลั่งน้ำยาง หรือโกรธเราจนต้นเหี่ยวเฉาตายไปเอง แต่เป็นเพราะธาตุที่มาสังเคราะห์กันนั้นส่งผลให้มันโต ตรงไหนธาตุครบมันก็โตเหมือนกันหมด ไม่มีต้นไหนโตเอาใจเราเพราะรักเรา แต่มันโตเพราะได้ธาตุครบตามสัญญาที่มี

ดังนั้นเมื่อรู้ประมาณในเรื่องบุญบาปกุศลอกุศลแล้ว จึงใช้ความรู้เหล่านี้มาประมาณกรรมของตัวเอง ผู้มีปัญญาย่อมยึดอาศัยสิ่งที่ส่งผลต่อกรรมชั่วให้กับตัวเองน้อยที่สุด

ดังเช่นผู้ที่หมดกิเลสอย่างแท้จริง จะรู้ว่ากินเนื้อแล้วต้องทรมานร่างกายเช่นไร ได้รับผลกรรมเช่นไรบ้าง แต่บาปคือการสะสมกิเลสนั้นไม่มีแล้วเพราะไม่มีเชื้อกิเลสให้เพิ่ม กินเนื้อไปกิเลสก็ไม่เพิ่ม ดังนั้นจึงเหลือแต่กุศล อกุศลเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นคนที่มีชีวิตปกตินั้นก็ไม่จำเป็นต้องอนุโลมกลับไปกินเนื้อให้มันลำบากกายลำบากกรรม ส่วนคนที่หลงว่าบรรลุธรรมแล้วจะกินเนื้อกินผักให้พอดีนั้นนี้มันยังเห็นผิดอยู่มาก เพราะเอาผิดมาเป็นถูก เอากรรมชั่วเข้ามาใส่ตนโดยไม่จำเป็น

ถ้าจะให้เปรียบก็คงเป็น ความคิดประมาณว่า แหม…ช่วงนี้ชีวิตมันดีเหลือเกิน กินมังสวิรัติมาได้เป็นเดือนมีแต่เรื่องกุศล ว่าแล้วก็ชั่วเสียหน่อย กินเนื้อให้ชีวิตมันมีกรรมชั่วเข้ามาเสียหน่อยเดี๋ยวมันไม่เป็นกลาง …อันนี้มันก็ประมาทอยู่มาก เห็นผิดอยู่มาก เพราะกรรมมันไม่ได้มีแค่ในชาตินี้ชาติเดียว มันยังมีของเก่าที่ยังไม่ส่งผลอยู่ ผู้ดับกิเลสได้จริงจะเห็นถึงผลกรรมที่หนักหนา และก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะพิจารณาอนุโลมกลับไปกิน ท่านก็ยอมรับกรรมเหล่านั้นเพราะรู้ว่าแลกมาด้วยบางสิ่งซึ่งมีค่ากว่าจึงอนุโลมไปกิน

ไม่ใช่การตีกินของพวกหลงบรรลุธรรม ว่ากินเนื้อบ้างกินผักบ้าง ให้พอดีไม่ทรมาน ไม่ลำบาก การกินเนื้อสัตว์ไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับร่างกาย ไม่ได้เป็นกุศลใด ไม่ได้ช่วยให้ใครพ้นทุกข์ แถมตัวเองยังทำทุกข์ทับถมตัวเองไปเสียอีก

คนมีปัญญาจะสามารถรู้ได้ว่าเรารับมาเท่าไหร่ เราจ่ายออกไปเท่าไหร่ คือกินใช้เท่าไหร่ ทำประโยชน์ให้โลกมากเท่าไหร่ สิ่งไหนเป็นกำไรบุญ สิ่งไหนขาดทุน สิ่งไหนเป็นประโยชน์ สิ่งไหนเป็นโทษ แต่ถ้ามันหมดปัญญาขนาดเห็นว่าทำอะไรก็เบียดเบียนไปหมดแล้วไม่รู้จะหาทางออกยังไงเลยเบียดเบียนมันทุกอย่างนั่นแหละซึ่งใครจะคิดแบบนั้นก็คงช่วยไม่ได้

5).ปัญญากับมังสวิรัติ

การกินมังสวิรัติได้นั้นจำเป็นต้องศรัทธา มีปัญญาเป็นตัวเริ่ม คือเห็นความไม่ดีไม่งามของการกินเนื้อสัตว์ ปัญญาตรงนี้เป็นปัญญาตัวเริ่มไม่ใช่ตัวจบ เป็นปัญญาที่เป็นมรรคหรือเป็นทางเดินให้เราก้าวเข้าสู่การกินมังสวิรัติ

แต่ปัญญาที่เป็นมรรคนั้นไม่ได้หมายความว่าจะฉลาด รู้แจ้งทะลุปรุโปร่ง ก็รู้แค่เพียงว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดีด เป็นบาปกรรม ทำให้สุขภาพแย่ มันก็ได้เพียงแค่นั้น หลังจากกินมาได้สักพักจะนานเท่าไหร่ก็แล้วแต่ว่าจะกดข่มกิเลสไว้ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ถ้าล้างกิเลสไม่เป็นสุดท้ายจะหวนกลับไปกินเนื้อสัตว์

พอไม่ถึงผลที่แท้จริงมันจะเพี้ยนได้ปัญญาเฉโก ได้ปัญญาปนกิเลสไปแทน มันจะเข้าใจว่าปัญญาตัวนั้นคือตัวบรรลุธรรม จะเกิดสภาพหลอกๆเหมือนกับว่าปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติแล้วกลับมากินเนื้อได้อย่างเป็นสุข โดนกิเลสมันหลอกเข้าอย่างแนบเนียนที่สุด กิเลสผูกเข้ากับปัญญาเป็นเนื้อเดียวกัน พูดแล้วคนอื่นจะรู้สึกดูดีมีพลัง ฟังแล้วเหมือนคนบรรลุธรรม เหมือนคนหลุดพ้น จริงๆมันก็แค่พ้นจากทางสายกลางกลับไปเสพกามเท่านั้นเอง ทีนี้พอมาพูดให้คนที่มักกินเนื้อหรือกินมังสวิรัติไม่จริงจังกัน เขาก็จะเห็นดีด้วยชื่นชมกัน เพราะจริงๆแล้วก็ไม่มีใครอยากทรมานเพราะความอดอยากหรอก

การจะถึงผลที่แท้จริงถ้าเทียบอัตราส่วนก็สองต่อเส้นขนวัวทั้งตัว เป็นอัตราการประสบความสำเร็จที่ต่ำมาก เพราะไม่คบสัตบุรุษหรือผู้มีสัจจะแท้ กินมังสวิรัติเอาเอง เข้าใจธรรมเอาเอง คิดเอาเอง เดาเอาเอง พอได้เจอสภาวะหนึ่งก็หลงไปเองว่าบรรลุธรรม บางครั้งบางคนมีครูบาอาจารย์แต่ท่านเหล่านั้นกลับไม่ใช่สัตบุรุษ ไม่ใช่ผู้มีสัจจะ ไม่ใช่ผู้ดับกิเลสได้ ก็จะพากันเฉโก พากันหลงทางกันไปทั้งกลุ่มทั้งก้อนแบบนั้นเอง

เรื่องกิเลสนั้นเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ไขและขยายไว้อย่างละเอียดลออ ในบทของอวิชชา ๘ นั้นได้กล่าวไว้ว่า ถ้าไม่ได้คบหาสัตบุรุษย่อมไม่ได้ฟังสัจธรรม เมื่อไม่ได้ฟังสัจธรรมย่อมไม่เกิดศรัทธา เมื่อไม่เกิดศรัทธาย่อมไม่เกิดการพิจารณาลงไปถึงที่เกิด จึงไม่เกิดสติสัมปชัญญะ ไม่สำรวมตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ จนกระทั่งทำผิดทั้งกายวาจาใจ จนเกิดนิวรณ์ นำมาซึ่งอวิชชาในที่สุด

ดังนั้นเรื่องจะกินมังสวิรัติให้ถึงผลแท้จริงหรือการดับกิเลส โดยที่คิดเอาเอง ไม่มีครูบาอาจารย์ที่มีความรู้หรือมีสัจจะแท้ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ถ้าเห็นว่าเป็นไปได้แม้ไม่มีคนสอนก็จะมีสองกรณี หนึ่งคือเพี้ยนหลงว่าบรรลุธรรม สองคือมีธรรมนั้นในตัวมาอยู่แล้วเคยดับกิเลสนั้นๆมาก่อนแล้วในชาติก่อนภพก่อนกำเนิดก่อน

6). ทางสายกลวง

ทางสายกลางนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากแต่กลับเป็นสิ่งที่คนหลงผิดกันมากที่สุด ทางสายกลางนั้นมาจากบทหนึ่งของคำสอนในพุทธศาสนา คำว่ากลางนั้นไม่ได้หมายถึงกินเนื้อบ้างกินผักบ้างให้พอดี แต่เป็นกลางอยู่บนกุศลสูงสุด กลางด้วยปัญญา ไม่ใช่กลางแบบสบายๆ กินก็ได้ไม่กินก็ได้ อันนี้ถ้าตามหลักเขาจะเรียกพวกติดกาม คือกามสุขัลลิกะ คือโต่งไปในด้านเสพ แล้วอีกด้านหนึ่งก็คือโต่งไปในด้านการทรมานตัวเองด้วยอัตตาหรืออัตตกิลมถะ เช่นการพยายามฝืนกินมังสวิรัติด้วยความทรมานกายและใจ

คนที่อยู่บนทางสายกลางนั้นจะไม่ไปเสพเนื้อสัตว์ แต่ก็จะไม่ทุกข์กับการไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่กลางตามที่หลายคนเข้าใจ เพราะถ้าธรรมะมันง่ายขนาด 1+1 แล้วหารด้วย 2 เป็นกลาง พระพุทธเจ้าคงไม่ต้องลำบากถึงสี่อสงไขยกับแสนมหากัปหรอก ดังนั้นการเข้าใจคำว่าทางสายกลางจะคิดเอาเองไม่ได้นึกเอาเองไม่ได้ ต้องมีผู้ที่เข้าใจธรรมหรือบรรลุธรรมเป็นผู้ชี้แจงและแถลงให้เท่านั้น

คนที่เข้าใจว่าทางสายกลางคือไม่ยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติจนเกินไปแล้วผ่อนมากินเนื้อนั้น ขอสรุปตรงนี้เลยว่าเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะเป็นเพียงการปรับจากอัตตกิลมถะเข้าสู่กามสุขัลลิกะเท่านั้น คือมันลำบากใจก็ผ่อนกลับมากินแล้วก็สบายๆ มันก็เป็นการสนองกิเลสแบบสามัญธรรมดา เหมือนกับคนทั่วไปที่หิวแล้วไปกินข้าว ไม่ได้พิเศษอะไร ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร ไม่ได้มีสาระสำคัญใดๆ

7).กินมังเหยาะแหยะ

คนที่กินมังสวิรัติอย่างครึ่งๆกลางๆ กินบ้างไม่กินบ้าง กินเหยาะแหยะ กินมังสวิรัติแล้วก็กลับไปกินเนื้อ ไม่จริงจัง ไม่รู้สาระหรือประโยชน์ แม้ว่าจะกินมา 20 ปี 30 ปี หรือทั้งชีวิต ก็ไม่ก่อให้เกิดบุญเท่ากับผู้ที่ตัดสินใจเลิกเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตเพียงแค่หนึ่งเดือน

จริงอยู่ที่ว่าคนที่กินมานานนั้นทำความดีมามาก โดยรวบยอดแล้วกุศลจะมาก แต่บุญเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บุญนั้นคือการลดละกิเลส ดังนั้นจิตที่ตั้งใจว่าจะเลิกอย่างจริงจังนั้นหมายถึงความเข้มแข็งในจิตวิญญาณที่เข้มข้นจนกระทั่งตั้งตบะเลิกตลอดชีวิตเป็นความตั้งใจที่จะทำลายกิเลสนี้ให้สิ้นเกลี้ยง ถึงแม้ว่าจะทำจนถึงผลไม่ได้แต่ก็เป็นบุญที่มากกว่าในจิตวิญญาณที่มีความตั้งใจเช่นนั้นแล้ว

การบรรลุธรรมหรือการเข้าใจความจริงอย่างถ่องแท้ บรรลุสัจจะ เข้าใจโลก นั้นหมายถึงการตัดกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง ไม่ใช่แค่ระดับลด ละ แต่ต้องอยู่ในระดับที่เลิกไปเลย เลิกอย่างถาวรไม่มีความคิดที่จะกลับมากินอีกแม้น้อย ดังนั้นต่อให้กินมังสวิรัติมาทั้งชีวิต กินมาหลายภพหลายชาติ แต่ถ้าจบเรื่องกิเลสไม่เป็นมันก็เท่านั้นเป็นกุศลเกิดประโยชน์แต่ไม่เป็นบุญเพราะลดกิเลสไม่เป็น

คนที่จะสามารถอนุโลมได้อย่างไม่มีบาปนั้นคือผู้บริสุทธิ์ด้วยศีลมังสวิรัติ คือกินอย่างรู้สาระ และกินได้อย่างปกติ ไม่ใช่กินแบบงมงาย กินแบบเขาพูดกันมาว่าดี หรือกินเพราะสงสาร แต่ต้องรู้ไปถึงประโยชน์ขั้นปรมัตถสัจจะด้วย จึงจะเรียกได้ว่าอนุโลม ถ้ายังไม่ถึงระดับนั้นจะเรียกว่าตีกิน เนียนกินตามกิเลสโดยหาข้ออ้างที่ทำให้ตัวเองดูฉลาดเพื่อให้ได้กินเนื้อสัตว์

ถ้าลองให้คนที่หลงว่าบรรลุธรรมแล้วกลับไปกินเนื้อสัตว์เลิกเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต กิเลสของเขามันก็หาข้ออ้างที่ดูฉลาดๆเหมือนคนกินเนื้อนั่นแหละ สุดท้ายคนที่หลงว่าบรรลุธรรมกับคนยังอยากกินเนื้อมันก็เหมือนๆกัน คนที่ยังอยากกินเนื้อยังดีเสียกว่าด้วยซ้ำเพราะว่ายังรู้ว่าตัวเองอยาก การรู้ว่ากินเพราะอยากก็เป็นความเจริญอยู่บ้าง แต่อยากกินแล้วไม่รู้ว่าอยากกินนี่ไม่รู้ว่าจะเปรียบกับอะไร

8). กินอยู่อย่างพอดี

หลายคนที่กินมังสวิรัติแล้วหย่อนลงมากินเนื้อสัตว์อาจจะเพราะพบว่าเป็นทางที่สุขกว่า พอดีกว่า เห็นผลดีกว่า ที่มันสุขเพราะมันมีกิเลสมันเลยสุข ถ้าคนไม่มีกิเลสไปกินเนื้อมันจะไม่มีมีรสสุขและเขาจะไม่ไปกินให้ลำบากกายลำบากใจตัวเอง

ทีนี้ผู้หลงบรรลุธรรมแล้วเสพทั้งเนื้อสัตว์และผักก็จะหลงยึดว่านี่คือสิ่งที่ดี ความพอดี ความสมดุลนี่เองคือสิ่งที่เรียกว่าพอดี มันต้องแบบนี้ ดูๆแล้วเหมือนว่าจะดีแต่ก็ไม่ต่างกับคนทั่วไปที่กินเนื้อสัตว์และกินผักสักเท่าไหร่ พูดมาก็จะเหมือนๆกัน สรุปว่ามังสวิรัติที่กินไปก่อนหน้านั้นมีอะไรเจริญขึ้นบ้าง ปัญญาในการเริ่มต้นมันมีนะ แต่ปัญญาในตอนจบมันไม่มี มันเสื่อมถอยกลายเป็นเหมือนคนกินเนื้อสัตว์ไปอย่างนั้น จะว่าสูงสุดคืนสู่สามัญมันก็ไม่ใช่ เพราะมันก็ไม่ได้ไปสูงอะไร แค่กินมังสวิรัติวัวควายมันก็กินได้ มันกินมาทั้งชีวิตก็ไม่เห็นมันจะเจริญอะไรขึ้นมา คนกินมังสวิรัติที่ไม่รู้สาระก็เช่นกัน กินผักกินหญ้าไปมันก็ดำรงชีวิตได้เหมือนกินเนื้อนั้นแหละ คนที่ไม่รู้สาระไม่รู้สัจจะเขาก็ไม่คิดมากกินเนื้อกินผักไปทำบาปทำกุศลไปตามประสาคนโลกียะ

ส่วนคนที่กินมังสวิรัติแล้วหาสาระไม่เจอ สุดท้ายก็จะเสื่อมลงมาเหมือนกับคนกินเนื้อกินผักทั่วๆไปนี่เอง จะว่าสูงกว่าคนกินเนื้อกินผักมันก็คงจะไม่ใช่ เพราะเวลาร่วงลงมามันจะมีอัตตาติดมาด้วย มันจะยึดดี หลงว่าดี หลงว่าฉันนี่บรรลุธรรม ฉันนี่เคยกินมังสวิรัติมาแล้วและพบว่ามันไม่พอดี ต้องกินเนื้อกินผักสิจึงจะพอดีอัตตานี้เองจะเป็นตัวกั้นไม่ให้ผู้หลงว่าบรรลุธรรมเข้าถึงสิ่งที่ดีสิ่งที่มีประโยชน์เพียงแค่เพราะมีอัตตาว่า “ฉันก็เคยมาแล้ว” ทำให้ต้องติดอยู่ในอวิชชามากกว่าผู้ที่กินเนื้อกินผักทั่วไปด้วยซ้ำ

9).มังสวิรัติบารมี

ถ้ามองกันแบบชาวบ้าน มองกันทั่วไปแล้วเวลาเราไปกราบไหว้พระทำบุญกับนักบวช คิดว่าใครน่าศรัทธากว่ากันระหว่างพระที่ละเว้นเนื้อสัตว์กินมังสวิรัติได้ กับพระที่กินเนื้อกินผัก เอาแค่ข้อมูลเท่านี้นะ ไม่ต้องคิดถึงข้อมูลอื่น ไม่ต้องคิดถึงชื่อเสียงบารมี เราก็มักจะมองว่าพระรูปที่ละเว้นเนื้อสัตว์ได้น่าเคารพกว่าจริงไหม

หรือถ้าให้ชัดเลย คือระหว่างพระที่ฉัน 2 มื้อกับมื้อเดียวนี่แบบไหนน่าศรัทธาน่าเคารพกว่ากัน เอาข้อมูลแค่นี้นะ มันก็น่าจะเป็นฉันมื้อเดียวจริงไหม เพราะทำได้ยากกว่า ขัดกิเลสมากกว่า อดทนมากกว่า

ทีนี้ด้วยความที่คนมีกิเลสมากก็จะหาข้ออ้างต่างๆนาๆเพื่อที่จะกลบกองกิเลสของตนไว้ให้ดูสวยงาม แต่ยิ่งทำก็เหมือนช้างตายแล้วเอาใบบัวมาปิด คนตาดีเขาก็มองออกว่านั่นคือกิเลสนะ กลิ่นมันออก ภาพมันฟ้อง แต่คนที่มีกิเลสก็พยายามจะปิดไว้แล้วบอกมันไม่ใช่ความอยากไม่ใช่กิเลส เราพอดี เราปล่อยวาง เราเพียงเลี้ยงธาตุขันธ์ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่ความฉลาดของกิเลส

พอโดนไล่ไปมากๆคนมีกิเลสก็จะเริ่มทำลายบารมีของคนมีศีล ของคนที่ถือศีลมังสวิรัติ เช่นกินมังฯกินเนื้อมันก็เบียดเบียนเหมือนกันแหละ , คนเราทำลายกิเลสที่จิต จะกินก็ได้, กินด้วยจิตว่างก็ได้ , เรากินไปไม่ยึดมั่นถือมั่น คนกินมังฯสิยึดมั่นถือมั่น , กินผักทำลายโลก , กินผักทำให้คนอื่นลำบาก ฯลฯ อันนี้เป็นกลยุทธ์ของคนกิเลสหนาซึ่งพยายามจะดึงคนที่มีศีลลงต่ำ ทำให้การกินมังสวิรัติดูโง่ ดูไม่ดี ดูเป็นเรื่องธรรมดา ดูเป็นเรื่องงมงาย ดูเป็นเรื่องไม่จำเป็นหากอยากจะบรรลุธรรมหรือบรรลุอะไรก็ตามแต่จะเรียก

ว่ากันตามจริงเรื่องกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์นี่มันเป็นกิเลสหยาบๆ ในระดับรุนแรงเพราะต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ถ้ายังละ ยังวางไม่ได้ก็อย่าพึ่งไปคิดบรรลุธรรมให้มันลำบากเลย เดี๋ยวมันจะยิ่งเพี้ยนไปไกล เพราะหลงว่าบรรลุธรรมมันก็หนักหนาพออยู่แล้ว อย่าไปเพิ่มบาปให้กับตัวเองอีกเลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ดังนั้นคนที่ละเว้นศีลก็ยากที่จะมีปัญญา เพราะศีลนี้เองคือสิ่งที่ขัดเกลาปัญญา ปัญญาคือสิ่งที่ทำให้เราคิดถึงศีล และศีลสมาธิปัญญานั้นเป็นไปในทางเดียวกัน เป็นก้อนเดียวกัน ไม่แยกกันปฏิบัติ ไม่ขาดออกจากกัน

หากจะบอกว่าไม่มีศีลก็มีปัญญาได้ หรือมีสติก็มีปัญญาได้ มันก็เดาเอา มั่วเอา ปฏิบัติไม่ครบองค์ประกอบ ฟังเขามา ยืมเขามา แล้วก็หลงบรรลุธรรมตามเขา คือหลงกันไปทั้งสายทั้งคณะนั่นแหละ คล้ายๆกับธุรกิจขายตรงบางเจ้าที่อุปโลกน์ยศ ตำแหน่ง ชื่อเสียงขึ้นมา เพื่อปลุกเร้าให้คนหลงยึดหลงอยากได้นั่นแล เรื่องทางธรรมก็เช่นกัน ยศ สภาวะ ตำแหน่ง ระดับธรรมมันก็ปั้นขึ้นมาเป็นแบบโลกๆได้ อธิบายได้ อ้างอิงได้ ทำวิจัยได้ เชื่อถือได้ ยอมรับได้ แต่แค่มันไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนเท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

2.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์