Tag: ดับทุกข์

แค่รู้ตัว ไม่พอ

December 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,609 views 0

แค่รู้ตัว ไม่พอ

แค่รู้ตัว ไม่พอ

การที่เราจะดับทุกข์ที่กำเริบขึ้นมานั้น การกำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้น สร้างความรู้ตัวใดๆก็ตาม อาจจะสามารถกำราบทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นให้สงบลงได้ แต่หากจะหวังให้การกระทำเหล่านั้นเป็นการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง แค่รู้ตัวนั้น…ยังไม่พอ

เราสามารถฝึกสมถะใช้กำลังของจิตสะกดความคิดฟุ้งซ่านได้ ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุขก็กดข่มให้ดับลงไปได้ หรือตามดู ตามรู้จนมันดับลงไปได้ แต่ความดับเหล่านั้นไม่ใช่ลักษณะของการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ ๔ ของพุทธ เป็นเพียงการดับจากสภาพเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นธรรมดาของจิต ซึ่งคนที่เขาไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมหรือกระทั่งคนไม่มีศาสนาก็สามารถทำได้

การรู้ตัวว่าจมไปกับจิตฟุ้งซ่านด้วยกิเลสแล้วสามารถละวางได้นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่กระนั้นก็ยังเรียกว่าไม่ถึงที่สุดของการปฏิบัติ ยังเป็นเพียงแค่ขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น ยังมีกระบวนการอีกมากที่จะพัฒนาจิตต่อไปจนถึงขั้นไม่จำเป็นต้องไปกำหนดรู้ใดๆอีก เพราะไม่มีกิเลสเกิดให้ต้องไปรู้แล้วละ คือมันไม่เกิดก็เลยไม่ต้องไปดับ นี่คือสภาพผลของการปฏิบัติในท้ายที่สุด

แค่รู้ตัวนั้น ยังไม่เรียกว่าเพียงพอในการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เพราะถ้าจะรู้ให้จริงต้องรู้ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ว่าทำไมทุกข์นั้นจึงเกิดมา ทำไมเราจึงสร้างความคิดเช่นนั้น ทำไมร่างกายจึงมีอาการสั่น หายใจติดขัด ทำไมจิตจึงหมองมัว

การดับทุกข์ของพุทธนั้นดับสังขารไปโดยลำดับ ตั้งแต่วจีสังขาร กายสังขาร จนถึงดับจิตสังขาร ในที่นี้ไม่ใช่การตาย แต่เป็นการดับกิเลส คือในท้ายที่สุดจะไม่มีกิเลสในจิตเลย ซึ่งการกำหนดรู้ การดับความคิด การควบคุมความคิดนั้นเป็นเพียงแค่การพยายามจัดการกับวจีสังขาร คือไม่ให้ปรุงแต่งความคิดใดๆ (วจีสังขาร ไม่ใช่วจีกรรม)

เพราะถ้าเอาแต่รู้ตัว ดับความคิด แม้จะควบคุมความคิดได้ แต่กายสังขารยังไม่ดับ ร่างกายก็จะออกอาการประหลาดๆ เหงื่อไหล หายใจขัด หมดแรง ฯลฯ ตามแต่จะสังเคราะห์ได้ เพราะมีใจเป็นประธาน คือจิตยังสังเคราะห์กับกิเลสนั้นๆ อยู่เกิดสภาพจิตที่เป็นลักษณะของนิวรณ์ ๕ คือกามฉันทะ(พอใจในกาม) พยาบาท(ไม่พอใจ) ถีนมิธทะ(ซึม จม หดหู่) อุทธัจจะกุกกุจจะ(ฟุ้งซ่าน ลอย ไม่สงบ) วิจิกิจฉา(สงสัย ไม่ชัดเจน ไม่แจ่มแจ้ง) นั่นเอง

ซึ่งสภาพเหล่านี้ไม่ใช่ความคิดเลย แม้จะดับความคิด กดข่มความคิด รู้ตัวว่าคิด กำหนดรู้ว่าคิด ก็จะสลัดทุกข์ออกไปได้บางส่วน แต่จะไม่หมด เพราะเหตุแห่งทุกข์ยังอยู่ แม้มันจะหายและดับไปเองตามธรรมชาติ แต่มันก็ยังอยู่ ยังรอเวลาที่จะแสดงตัวอยู่เสมอเมื่อเกิดผัสสะ

ดังนั้นเมื่อกำหนดรู้ตัวได้แล้วว่าหลงไปกับกิเลส ก็ควรจะพิจารณาให้รู้ไปถึงรากเหง้าของกิเลส เหตุแห่งทุกข์นั้นๆด้วยว่า มันไปชอบไปชังในอะไร มันไปหลงเสพหลงสุขในอะไร มันไปยึดมั่นถือมั่นในอะไรจึงได้เกิดอาการซัดส่ายของจิตขึ้น เมื่อรู้กิเลสแล้วก็ใช่ว่าทุกอย่างจะจบหรือดับไป แค่จับตัวกิเลส หาเหตุแห่งทุกข์ได้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ยังต้องทำสงครามกับกิเลสอีกหลายครั้งหลายคราจนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง

– – – – – – – – – – – – – – –

22.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กว่าจะถึงธรรมทาน

November 27, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,456 views 0

กว่าจะถึงธรรมทาน

กว่าจะถึงธรรมทาน

…กว่าจะสร้าง กว่าจะให้ กว่าจะรับ กว่าจะเข้าใจ

            ขึ้นชื่อว่าธรรมทานนั้นก็รู้กันดีว่าเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ มีกุศลมาก เป็นบุญมาก มีอานิสงส์มาก แต่การจะให้ธรรมทานนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก กว่าจะสร้างธรรมขึ้นมาในตัวก็ว่ายากแล้ว การจะให้ธรรมนั้นยากยิ่งกว่าและการจะให้ไปจนถึงผลเจริญนั้นยากที่สุด

ก่อนจะให้ธรรมทานนั้นเราต้องมีธรรมนั้นในจิตวิญญาณก่อน เป็นธรรมะแท้ที่เกิดในจิตของเราเป็นของจริงของเรา เมื่อเรามีของจริงแล้วจึงจะสามารถให้ใครก็ได้

แต่การจะให้ธรรมทานนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนักจะเรียกว่ายากสุดยากเลยก็ว่าได้ ก่อนที่เราจะให้นั้นเราต้องบุกป่าฝ่าดงออกจากกองกิเลสของเราก่อน ทำลายดงอัตตาที่ผูกพันตัวเราออกเสียก่อนจึงจะสามารถส่งต่อธรรมทานได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าไม่ทำลายกิเลสของเราก่อนมันก็จะเป็นธรรมที่ไม่ผ่องใสเป็นธรรมที่ปนกิเลสเหมือนกับการให้ของสดปนกับของเน่า และการจะให้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าเราจะมีของดีแค่ไหน ดีที่สุดโลก ดีกว่าที่ใครต่อใครมี ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะยินดีรับธรรมนั้น การให้แก่ผู้ที่ไม่ยินดีรับย่อมไม่ใช่การให้แต่เป็นการยัดเยียดซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย

ถึงแม้ว่าเขาจะเปิดใจรับธรรมนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธรรมนั้นจะทะลุถึงใจเขาทันที เราต้องฝ่าด่านกิเลสที่ผูกมัดเขาและกำแพงอัตตาอันสูงใหญ่ของเขา เหมือนกับว่าเขาเปิดประตูบ้านต้อนรับเราก็จริง แต่ทางเข้าบ้านนั้นเต็มไปด้วยขวากหนาม มีกำแพงปกป้องบ้านอยู่มากมายหลายชั้น

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะให้ธรรมนั้นแล้วเข้าไปถึงจิตใจจนมีผลเจริญทันที โดยส่วนมากเรามักจะต้องผ่าดงกิเลสและกำแพงอัตตาของเขาซึ่งเป็นสิ่งที่ยากลำบากและทำให้ผู้ให้และผู้รับหลายคนบาดเจ็บกันมานักต่อนักแล้ว เพราะการที่เขาบอกว่ายินดีฟังธรรมจากเราไม่ได้หมายความว่าเขาจะยินดีทั้งหมด เหมือนกับเราเข้าบ้านเขาไปแล้วไปรื้อดงกิเลสสุดหวงของเขา ไปทำลายกำแพงอัตตาสุดที่รักของเขา เขาก็อาจจะโกรธแล้วก็ไล่เราออกจากบ้านได้เหมือนกัน

การประมาณเป็นทักษะที่จำเป็นมาก ต้องรู้ว่าเราคือใคร เรากำลังให้อะไร ผู้รับเป็นใคร ผู้รับต้องการอะไร แค่ไหนที่เขาต้องการ เรื่องไหนที่ไม่ควรก้าวล่วง มีหลายครั้งที่เราอาจจะต้องเสี่ยง เมื่อมีการเสี่ยงนั่นหมายถึงผลอาจจะออกมาเป็นได้ทั้งดีและร้าย ธรรมะไม่เคยทำร้ายใคร แต่สิ่งที่ทำร้ายคือกิเลสของเราเอง รวมถึงดงกิเลสและกำแพงอัตตาของเขานั้นคือสิ่งกั้นธรรมะไว้

การที่เราจะให้ธรรมใดก็ตาม แม้ว่าจะเป็นธรรมสั้นหรือยาว ลึกตื้นหนาบาง เล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่ โลกียะหรือโลกุตระ จำเป็นต้องให้ธรรมหรือแสดงธรรมให้นุ่มนวลที่สุด เหมือนกับนักย่องเบาที่ก้าวผ่านดงกิเลสกำแพงอัตตาเข้าไปทำลายกิเลสโดยที่ผู้ฟังไม่รู้ตัวว่ากำลังโดนสอนธรรม เหมือนการผ่าตัดด้วยหมอที่มีความแม่นยำด้วยมีดอันคบกริบผ่ากิเลสออกได้โดยไม่สร้างบาดแผลที่ไม่จำเป็น

ยังมีอีกหลายเทคนิคที่ต้องใช้ต่างกันไปสำหรับต่างคน ต่างจริต ต่างกรรม เช่น บางคนต้องพูดตรงๆแรงๆ บางคนต้องพูดอ้อมๆ บางคนต้องพูดกระทบชิ่ง บางคนพูดไม่ได้ต้องทำให้ดู บางคนพูดไม่ได้เลยทำอะไรก็ไม่ได้ต้องปล่อยวางรอเวลาอย่างเดียวก็มี

การให้นี่ก็ยากแล้วใช่ไหม แต่เราให้ธรรมไปก็เป็นสิ่งดีแล้วถ้าเราให้ไปด้วยใจที่ไม่ยึดติดในผลก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้แล้ว เพราะการจะให้ธรรมจนเกิดผลเจริญนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ได้ดูง่ายดายเหมือนในประวัติศาสตร์สมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเพียงไม่กี่ประโยคก็บรรลุธรรมกันได้แล้ว

สมัยนั้นผู้ให้ธรรมทานก็เก่งที่สุดในโลกและเหล่าสาวกก็ยังเป็นผู้มีบุญบารมีที่ติดตามกันมาหลายภพหลายชาติ ย่อมจะฟังกันได้ง่าย พูดกันไม่กี่ประโยคก็เข้าใจ ต่างกับยุคเราที่อ่านธรรมพระพุทธเจ้าก็แล้ว ฟังธรรมหลวงปู่หลวงพ่อครูบาอาจารย์ก็แล้ว ปฏิบัติกันมาก็แล้ว ยังไม่บรรลุธรรมกันเสียที

เพราะธรรมทานไม่ใช่เรื่องง่ายแค่เปิดซีดีฟัง เปิดยูทูปฟัง หรืออ่านหนังสือธรรมะ การแสดงธรรมแบบสดๆ การถามตอบในเรื่องธรรมกันแบบสดๆจะมีพลังงานที่ต่างกันออกไป เป็นเรื่องสดใหม่ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากบุญของผู้พูดและบุญของผู้ฟัง เกิดเป็นธรรมนั้นๆ ธรรมที่ถูกปรุงแต่งให้เข้ากับเหตุการณ์ เข้ากับยุคสมัย เข้ากับคน เข้ากับจริต ตรงประเด็นของกิเลส ทำลายอัตตาได้

ยังมีเบื้องหลังอีกมากมายที่เรามองไม่เห็นเกี่ยวกับการบรรลุธรรมจากการฟังธรรม คนที่บุญบารมีถึงรอบที่ควรแค่ใบไม้หล่นก็บรรลุธรรมได้ ฟังธรรมไม่กี่ประโยคก็บรรลุธรรมได้ ถึงจะไม่ตั้งใจแต่ก็จะมีเหตุดลให้เข้าใจธรรมหรือให้ได้มาฟังธรรมนั่นก็เพราะเขามีบุญบารมีที่ควรจะได้รับธรรมนั้น เพราะเขาทำมาเขาจึงได้รับสิ่งนั้น

ส่วนคนที่บุญน้อยบารมีน้อย สะสมมาน้อย ทำมาน้อย แม้ว่าจะมีครูบาอาจารย์อยู่ตรงหน้า มีพระอริยะคอยสั่งสอน หรือมีพระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้ได้ฟัง ก็จะไม่เข้าใจธรรม ไม่บรรลุธรรม ฟังเท่าไรก็ไม่เข้าใจ ยิ่งฟังยิ่งงง เพราะเขาสะสมบุญบารมีมาน้อย ปฏิบัติธรรมมาน้อย ฟังธรรมมาน้อย เขาจึงไม่มีโอกาสได้รับธรรมนั้น เพราะเขาไม่ได้ทำมาเขาจึงไม่มีสิทธิ์รับสิ่งนั้น

ดังนั้นการให้ธรรมเป็นทานจนถึงผล จึงเป็นเรื่องสุดวิสัย เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาผลได้ เพราะเราไม่รู้ว่าตอนนั้นเขาบุญเปิดหรือบาปเปิดอยู่ เราอาจจะต้องลองโยนหินถามทางไปก่อนถามแหย่ไปก่อน สังเกตว่าเขาอยากฟังเราไหม หรือแค่อยากจะบ่นระบายปัญหาในชีวิตเท่านั้นไม่ได้ต้องการคำปรึกษา หรือถ้าหากต้องการคำปรึกษาเราจะพูดเรื่องอะไร เขาสนใจเรื่องอะไร ลองเกริ่นหัวข้อไปก่อนเขาสนใจก็ค่อยพูด เขาไม่สนใจก็ผ่านไปก่อน คนที่วิบากบาปยังส่งผลอยู่ยัดให้ตายก็ยัดไม่เข้า พูดไปก็เปลืองเวลาแถมยังเป็นโทษทั้งสองฝ่ายอีก

ทั้งหมดนี้คือความยากของการเกิดธรรมทาน ตั้งแต่การสร้างธรรมะนั้นในตัว การให้ธรรมะนั้นออกไปกับคนอื่น และการแสดงธรรมให้แจ่มแจ้งจนเกิดผลเจริญทางจิตใจ เป็นสิ่งที่ยากสุดยาก แต่ผลที่ได้นั้นก็คุ้มสุดคุ้มเพราะสามารถให้ธรรมนั้นไปเจริญในจิตใจของผู้อื่นจนเขาใช้ธรรมนั้นเป็นเครื่องมือดับทุกข์ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

27.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์