Tag: กิเลส

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 10,324 views 2

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

กิเลสสอนว่า …หาคู่ดีไม่ได้ อยู่เป็นโสดดีกว่า มีคู่ดีนั้นเป็นสุขที่สุดในชีวิต

ธรรมะสอนว่า … ผู้รู้ย่อมประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง

– – – – – – – – – – – – – – –

กิเลสจะเอาแต่สร้างเงื่อนไขให้ไปเสพสุขโลกีย์ จะมีคู่ยังต้องมีให้มันสุขยิ่งกว่าสุขเดิม ต้องมีให้เสพมากขึ้น พาให้ต้องการอย่างไม่รู้จักพอ โดยมีภาพฝันแบบอุดมคติไว้ว่าถ้าได้เสพอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันจะต้องสุขแน่นอน ความเห็นของกิเลสหรืออธรรมมักจะเป็นไปในแนวทางนี้ คือต้องแสวงหาตามที่หลงติดหลงยึดมาเสพจึงจะเป็นสุข

ส่วนธรรมะจะสร้างข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส ไม่ให้กิเลสได้เสพสมใจ ชะลอ ต่อต้าน ผลักไส ทำลาย ไล่บดขยี้กำลังของกิเลสที่มี การประพฤติตนเป็นโสดคือการทำลายเหตุแห่งการไปมีคู่เรื่อยๆ จนหมดสิ้น ตั้งแต่ภายนอกจนไปถึงภายใน ภายนอกเราก็ไม่ไปยั่วกิเลสใคร ไม่แต่งตัวแต่งหน้า ไม่ทำให้ตนดูโดดเด่นล่อตาล่อใจใครไม่สื่อสารเรื่องที่จะพาให้รักใคร่ชอบพอกันในเชิงชู้สาว ภายในเราก็ล้างความใคร่อยากเสพสุขลวงจากการมีคู่ออกจากจิตใจเสีย กำจัดกิเลสออกจากจิตวิญญาณ โดยใช้ธรรมะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว

เรามีสิทธิ์เลือกที่จะฟังคำสอนจากทางใดก็ได้ ไม่ว่าจะฟังกิเลสก็ตาม จะฟังธรรมะก็ตาม แต่ความแตกต่างนั้นคือผลที่จะได้รับ กิเลสนั้นพาให้เกิดความทุกข์ ความชั่ว ความเบียดเบียน โทษภัยสารพัด ความฉิบหายวายวอดทั้งชีวิตและจิตใจ ส่วนธรรมะจะพาให้เกิดความสุข ความดี ความเกื้อกูล ความเจริญงอกงามทั้งชีวิตและจิตใจเช่นเดียวกัน เรามีอิสระที่จะเลือก และเลือกตามที่เราเห็นว่าเหมาะควร แต่สิ่งที่เราเลือก จะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เราจะได้รับเช่นกัน

กิเลสคือความหลงว่าสิ่งผิดเป็นสิ่งถูก หลงว่ารู้ทั้งๆที่ตนเองไม่รู้ ธรรมะคือความจริงที่จะสอนให้รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควรเพราะอะไรอย่างมีเหตุผล ผู้หลงมัวเมาย่อมจมอยู่กับการเสพสุขที่เต็มไปด้วยโทษภัยและการเบียดเบียน ส่วนผู้รู้ย่อมพาตนออกจากเหตุที่จะทำให้เป็นทุกข์เหล่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

29.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

จากโลกียะถึงโลกุตระ : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

January 3, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,736 views 2

ได้รับเชิญไปร่วมพูดคุยในรายการ “จากโลกียะถึงโลกุตระ” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากคนที่เคยสุขตามโลก มาเป็นคนที่พยายามออกจากโลกเดิมๆที่มีกิเลส ในตอนนี้ก็จะพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นมาของ “ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์” ว่าเป็นใคร ทำไมถึงมาเขียนบทความธรรมะ ทำไมถึงหันมาปฏิบัติธรรม รับชมได้ครับ มีทั้งหมด 2 ตอน

– – – – – – – – –

จากโลกียะถึงโลกุตระ คุณดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ตอน 1

จากโลกียะถึงโลกุตระ คุณดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ตอน 2

ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น

December 17, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,699 views 0

ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น

ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น

            คำว่าปล่อยวางนั้นมักจะเป็นคำที่นิยมใช้เมื่อชีวิตเจอกับอุปสรรคที่เป็นดั่งกำแพง ไม่สามารถทำอะไรได้ ทำได้แค่ปล่อยวางเท่านั้น การปล่อยวางตามความเข้าใจเช่นนี้เป็นสมมุติที่ใช้กันโดยทั่วไปในสังคม แต่สำหรับการปฏิบัติธรรมนั้นยังมีมิติหนึ่งที่ล้ำลึกกว่า

การปล่อยวางในทางธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้ชีวิตไปเจอกับปัญหาและอุปสรรค แต่เป็นการปล่อยวางกิเลสตัณหาตั้งแต่ปัญหาเหล่านั้นยังไม่มาถึงโดยใช้ศีลเป็นเครื่องกั้นให้เห็นอุปสรรค แล้วปฏิบัติไตรสิกขาเพื่อที่จะปล่อยวางปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อถือศีล

การที่เราจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงนั้น เราต้องรู้ก่อนว่าเรายึดมั่นถือมั่นในอะไร ถ้าไม่รู้ว่าตนเองถืออะไรไว้ ก็จะไม่สามารถปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะกิเลสนั้นเป็นเหมือนยางเหนียวติดแน่นไปกับจิตใจเรา มองดูเผินๆก็จะเป็นเหมือนตัวเราของเรา เหมือนเปลือกที่ห่อหุ้มเรา แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เรา

ถ้าเราไม่รู้ว่ายึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ การปล่อยวางนั้นก็คงจะเป็นได้แค่ วาทกรรมที่ดูดีเท่านั้น เพราะกิเลสตัวเองยังไม่มีปัญญาเห็นแล้วจะเอาปัญญาที่ไหนไปปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น

ดังนั้นถ้าจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริง อันดับแรกต้องรู้ไปถึงเหตุก่อนว่าถืออะไรไว้ ไอ้ที่ไปหลงสุขหลงเสพมันไปหลงตรงไหน ติดอะไร เพราะอะไร สุขยังไง เมื่อเห็นเหตุแล้วก็ค่อยทำความจริงให้แจ่มแจ้งท่ามกลางความลวงของกิเลส ให้มันพ้นสงสัยกันไปเลยว่าที่เราไปหลงสุขอยู่นั้นมันลวง ความจริงคือมันไม่มีสุขเลย

เมื่อเห็นจริงได้ดังนั้น สุดท้ายเราก็จะปล่อยจะคลายได้ด้วยปัญญาของตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าจะเอาความฉลาดของกิเลสที่ไหนไปยึดสุขลวงเหล่านั้นไว้อีก กลายเป็นสภาพปล่อยวางเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นในกิเลสนั้น เป็นการปล่อยวางอย่างพุทธ ไม่ใช่การปล่อยวางที่ปากแต่ยังหนักใจแบบที่ประพฤติและปฏิบัติกันโดยทั่วไป

– – – – – – – – – – – – – – –

17.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,814 views 1

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

ในทุก ๆ การตัดสินใจของชีวิตของคนที่ยังมีกิเลส ก็มักจะต้องเลือกระหว่างกิเลสหรือธรรมะ สองสิ่งนี้เป็นทางเลือกอิสระที่ให้ผลต่างกัน

กิเลสคือสิ่งที่จะพาให้ทุกข์ พาเสื่อม ห่างไกลความผาสุกในชีวิต ในขณะที่ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะพาให้พ้นทุกข์ นำความเจริญมาให้ และเข้าใกล้ความผาสุกที่ยั่งยืน

กิเลสและธรรมะนั้นไปด้วยกันไม่ได้ หากเราเลือกกิเลส เราก็จะต้องเสียธรรมะไป หากเราเลือกที่จะเสพสุขกับบางสิ่งบางอย่าง เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงธรรมเพราะมัวแต่สนใจสุขลวง เช่น นักบวชในพุทธศาสนาที่เลือกที่จะมีคู่ ก็ต้องสึกและเสื่อมจากธรรมเพื่อแลกกับการเสพโลกีย์สุข

ไม่มีอะไรได้มาโดยที่ไม่เสียอะไรไป เมื่อเราเลือกที่จะเสพโลกีย์สุขตามคำสั่งของกิเลส เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงโลกุตระสุขที่ปราศจากกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ เพราะสละความสุขพอประมาณไซร้ เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์ พึงสละความสุขพอประมาณเสีย

สุขจากกิเลสนั้นสุขน้อยทุกข์มาก หรือเรียกว่าเป็นสุขลวง ซึ่งการจะเห็นสุขแท้ที่ยั่งยืนนั้นต้องยอมสละสุขลวงจากกิเลส แต่การจะเห็นสุขแท้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีคำกล่าวว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ถึงกระนั้นสุขแท้จริงเหล่านั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะสัมผัสมันได้ง่ายนัก เพราะถ้าหากสุขแท้นั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้โดยทั่วไป รู้ได้โดยภาษา เข้าถึงได้โดยการเพ่งเพียรปฏิบัติ ทุกคนก็คงจะเห็นได้ว่าโลกุตระสุขนั้นมีค่ามากกว่าโลกีย์สุข(กิเลส)และยอมทิ้งโลกีย์สุขนั้นกันหมด ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะมีแต่คนที่เมินเฉยต่อการแสวงหาโลกุตระสุข เพียงเพราะพอใจในโลกีย์สุขที่ตนมี

และถึงแม้ว่าเราจะเลือกธรรมะ ก็ใช่ว่าเราจะหมดกิเลส ไม่เหมือนกับตอนที่เราเลือกตามใจกิเลสแล้วเราจะเสียธรรมะ ซึ่งการปฏิบัติของพุทธศาสนามิใช่การนึกคิดเอาเองว่าถ้าทำจิตให้เป็นเช่นนั้น แล้วทุกอย่างจะเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เราเข้าใจว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้วจะเป็นพระอรหันต์จริงๆ แต่ต้องเป็นการปฏิบัติที่ลงไปล้างถึงเหตุแห่งทุกข์ โดยใช้หลักของอริยสัจ ๔ ซึ่งจะปฏิบัติชำระความเห็นผิดไปโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ลาดลุ่มไปโดยลำดับเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว

นั่นหมายความว่าถึงจะเรียนรู้เป็นพันเป็นหมื่นคัมภีร์ ท่องจำได้คล่องปากไม่มีตกหล่น หรือแม้จะเพ่งเพียรปฏิบัติจนแทบจะเรียกได้ว่าเอาชีวิตไปทิ้ง แม้จะเด็ดเดี่ยวจนถึงขั้นยอมตายถวายธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงผลของธรรมะได้ หากยังมีความเห็นที่ตั้งไว้ไม่ตรง(มิจฉาทิฏฐิ)

การทำตามกิเลสแล้วเสื่อมจากธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่การทำตามธรรมะให้กิเลสเสื่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก มีแต่บัณฑิตเท่านั้นที่รู้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะด้นเดาเอาได้ เพราะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งยากจะเข้าใจเกินกว่าจะคิดคำนวณเอาเอง จึงมีแต่สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่แท้จริงเท่านั้นที่จะไขความลับนี้ได้

ผู้ที่เลือกตามใจกิเลสอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมจะเสื่อมจะกุศลธรรมไปเรื่อยๆ และห่างไกลจากโอกาสในการเข้าถึงธรรมะที่พาล้างกิเลสไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

และข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าให้ไว้เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสก็คือ “ศีล” ซึ่งศีลจะทำให้รู้ขอบเขตว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ หากปราศจากศีลแล้ว ก็คงยากจะแยกแยะว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดคือชั่ว สิ่งใดที่ควร สิ่งใดไม่ควร ดังนั้นผู้ที่ไม่มีศีลจึงไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ ผู้เสื่อมจากศีล จึงเสื่อมจากความเป็นพุทธ และเสื่อมจากธรรมทั้งหลายทั้งปวงด้วยเช่นกัน

ศีลคือข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการเข้าถึงการล้างกิเลส เมื่อผู้ปฏิบัติไม่มีศีล ก็ไม่มีไตรสิกขา ไม่มีการปฏิบัติที่ถูกตรงของพุทธ นั่นหมายถึงไม่มีการล้างกิเลส และไม่มีการหลุดพ้นจากกิเลส ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า หากเลือกธรรมะนั้นก็จำเป็นต้องมีศีลเป็นพื้นฐานด้วย ต่อให้อีกอ่านอีกกี่ล้านคัมภีร์ หรือนั่งนิ่งเป็นพรหมลูกฟัก อวดอ้างตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม หากปราศจากศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ก็คงจะเป็นเพียงแค่โมฆะบุรุษเท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)