Tag: การประมาณ
การประมาณในการช่วยคนที่ศีลธรรมต่ำกว่า
การประมาณในการช่วยคนที่ศีลธรรมต่ำกว่า
ถ้าการไม่คบคนพาลคือมงคล และการคบคนเลวทำให้เลวลง การะช่วยเหลือคนเหล่านี้ จะทำได้หรือไม่? และจะทำอย่างไร?
หลังจากที่นำ “ชิคุจฉสูตร” เกี่ยวกับการคบคนมาพิมพ์อธิบายเนื้อหา จะพบว่าคนที่เขาผิดศีล เน่าใน และพวกคนขี้โกรธ ขี้งอน ขี้น้อยใจนั้น เป็นบุคคลที่ไม่น่าคบหา ไม่ควรแม้แต่การเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ เพราะจะทำให้เกิดภัยในชีวิต ก็ได้มีคำถามเข้ามาว่า แล้วอย่างนี้เราจะช่วยคนอื่นได้ไหม คนที่เขามีศีลธรรมต่ำกว่า แต่เขาเดือดร้อน เรายังจะพอช่วยเหลือเกื้อกูลเขาได้หรือไม่?อย่างไร?
ถ้าเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือเร่งด่วนถึงแก่ชีวิตและความเดือดร้อนอื่น ๆ อันนี้เราก็ควรจะต้องช่วยเหลือกันให้ผ่อนและคลายจากสถานการณ์หนัก ๆ กันไปก่อน ส่วนที่จะกล่าวถึงนี้เป็นการช่วยแบบทั่วไป ไม่รีบเร่ง ไม่อันตราย มีเวลาที่พอจะใช้สติปัญญาพิจารณาความควรหรือไม่ควรพอเหมาะ
ใน “เสวิสูตร” (พระไตรปิฎก เล่ม 20 ข้อ 465) พระพุทธเจ้าได้แบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่มเช่นกัน แต่ในพระสูตรนี้แบ่งด้วยหมวดของศีล สมาธิ ปัญญา ท่านกล่าวถึงคนที่มีศีลสมาธิปัญญาที่เสมอกันหรือสูงกว่านั้น ควรคบหา ควรเข้าไปนั่งใกล้ ไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อความไม่เสื่อมในเบื้องต้นและความเจริญในธรรมที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นเป็นกำไร
ส่วนผู้ที่ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้นั้น ท่านหมายถึงคนที่ “เป็นคนเลวโดยศีล สมาธิ ปัญญา” มีศีลเลว คือ มีหลักปฏิบัติที่พาทุกข์พาหลง มีสมาธิเลว คือ วนอยู่กับเรื่องพาทุกข์ ไม่พ้นทุกข์จริง มีปัญญาเลวคือ พาแต่ให้ตัวเองและผู้อื่นเป็นทุกข์ เป็นคนมีความเห็นผิดในการปฏิบัติ คือมีการศึกษาศีลสมาธิปัญญาที่ไม่พาพ้นทุกข์ ไม่ละหน่ายคลายจากกิเลส ความเห็นและการปฏิบัติเหล่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อการหมดสิ้นซึ่งกิเลส แล้วท่านก็ยังตรัสต่อไปอีกว่า “บุคคลเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ นอกจากจะเอ็นดู อนุเคราะห์กัน”
ท่านก็เตือนเราไว้ว่าอย่าไปยุ่งกับเขา ปล่อยเขาไป แม้เขาจะรู้ผิด ๆ ปฏิบัติผิด ๆ แม้ศึกษาศีลสมาธิปัญญาแต่ก็ยังทำเลวอยู่ ก็ให้ห่างไว้ อย่าไปคบ แต่ก็มีข้อยกเว้นนะ
ท่านก็บอกว่า นอกเสียจากจะเอ็นดู อนุเคราะห์กัน คือแม้เขาจะเป็นคนไม่ดีเป็นคนหลงผิดอย่างนั้นก็ตาม เราก็ยังพอช่วยเขาได้เป็นกรณี ๆ ไป ซึ่งจะมีจุดสังเกตในพระสูตรนี้เช่นกัน ในส่วนของการเข้าหาผู้ที่เจริญกว่า จะมีประโยคที่ว่า “บุคคลที่จะต้องสักการะเคารพ แล้วจึงเสพ” หมายความว่าอย่างไร?
การที่เราทำความเคารพสักการะผู้ที่เจริญกว่า เป็นเหมือนการส่งสัญญาณว่า ให้เกียรติกัน ยกให้เหนือกว่า ยอมให้ทำหน้าที่สอน เป็นการบ่งบอกว่าพร้อมที่จะฟัง (แต่จะทำตามรึเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง) เราก็ใช้หลักการนี้แหละ มาตรวจความพร้อมของคนที่เราจะช่วยเหลือ ว่าเขาพร้อมให้เราช่วยหรือไม่ ใช่หน้าที่เราหรือไม่ เราไม่ควรทำเกินหน้าที่ ไม่ควรทำสิ่งที่เขาไม่ยินดีให้ทำ ไม่ใช่ว่าเราไปทึกทักเอาเองนะว่าเขาอยากให้ช่วย เราทำเพื่อช่วยเขา แต่พอไปถามเขา เขาก็ไม่ยินดี จะไม่ไปยุ่งกับเขา เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาไม่ได้ขอ จะกลายเป็นเบียดเบียนเขาเสียอีก
ในศีลข้อ ๒ อย่างละเอียด จะมีประโยคที่ว่า “รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้” โอกาสในการช่วยเหลือก็เช่นกัน มันจะต้องเกิดเพราะเขาให้เรามา ไม่ใช่เราไปขยันสร้าง แต่การช่วยเหลือเกื้อกูลนั้น จะเริ่มต้นต่อเมื่อเขาส่งสัญญาณนั้นมาเท่านั้น คือเขาบอกเรานั่นแหละ ว่าให้เราช่วยเขาหน่อย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ทำได้ ไม่ผิดศีล ไม่บาป
ก็จะครบองค์ประกอบของเสวิสูตร คือคนต่ำว่าก็เคารพคนสูงกว่า คนสูงกว่าก็เอ็นดู อนุเคราะห์คนที่ต่ำกว่า ทำแบบนี้ก็ไม่ขัดในธรรม แต่ถ้าเขาเห็นว่าเราไม่ได้มีศีลสมาธิปัญญาที่เลิศกว่า เราก็อย่าไปทำเกินความจริงของเขาเลย เพราะจริงของเขาคือเราไม่ได้สูง ดีไม่ดีเขาเห็นเราต่ำกว่าเขาอีก ก็เขาเห็นแบบนั้น มันก็จริงของเขาแบบนั้น เราอย่าไปทำเก๊กท่าหรือทำทีว่าสูงกว่าเขา ก็เป็นแบบที่เราเป็นนั่นแหละ ถ้าเขาไม่ศรัทธา ก็ปล่อยเขาเป็นไปตามกรรมของเขาไป เว้นเสียแต่จะมีประโยชน์อื่น ๆ
ทางฝั่งเขาเราก็ต้องประมาณให้ดี ให้เขาบอก ให้เขาแจ้ง อย่าพยายามเดาเอา มันมักจะผิด บางทีมันจะเดาผิดเพราะเกิดจากตัณหาของเรา เกิดจากความยึดดีของเรา ความสำคัญตนว่าเก่งกล้าสามารถของเรา เราเลยไปทำเกินหน้าที่ กลายเป็นบาป เป็นผิดศีล แม้ผลจะสำเร็จ แต่ก็ขาดทุน เพราะตนผิดศีล แถมผลนั้นก็อยู่ไม่ได้นานหรอก เพราะเกิดจากความดื้อที่จะยัดเยียดสิ่งที่ดีให้เขา แต่เขาไม่ได้ยินดีจากใจเขา บางทีเขาก็รับเป็นมารยาท เพราะเกรงใจเรา เพราะสงสารเรา เพราะอยากตัดรำคาญจากเราก็มี
รู้เรา…
ทีนี้ถ้าฝั่งเขายื่นมือมาเต็มที่แล้ว ก็ต้องพิจารณาฝั่งเรา รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งแม้จะไม่ชนะทุกครั้ง แต่ไม่พลาดไปทำบาป ไม่ทำเกินตัว ก็เรียกว่าไม่ขาดทุนกำไร
การพิจารณาความพร้อมของฝั่งเราก็เหมือนกับ Supply & demand มีความต้องการ มีสินค้า ลูกค้าก็ไม่รอเก้อ ทางฝั่งเราที่จะไปช่วยเหลือคนอื่นก็ต้องตรวจดูว่าเรามีความรู้ความสามารถที่จะช่วยเหลือเขาได้หรือไม่ มันพอมือเราหรือมันตึงมือ ก็ต้องหัดเรียนรู้ตัวเองว่าตนเองนั้นมีความจริง มีธรรมะอยู่ระดับไหน
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการช่วยเขาได้นั้นคือเรามีสิ่งนั้นจริง ๆ เช่น เขาต้องการใช้เงินฉุกเฉิน เรามีเงิน เราก็ให้เขายืมได้ หรือถ้าเขากำลังเจ็บป่วยหนัก เรามีความรู้จริง จึงจะสามารถช่วยบรรเทาอาการเขาได้ (ถ้ารู้ไม่จริง แก้ผิด มันจะไปทิศตรงข้ามกับความสบาย) ธรรมะก็เช่นกัน เราก็ต้องมีของจริงในจิตตัวเอง ถ้าเราไม่มี เราก็ไม่ควรโกหก ทำวางท่าว่ามี มันจะเป็นบาปซ้อนไป ถ้าเราไม่มี เราก็บอกว่าไม่มี แต่ก็เคยได้ยินได้ฟังครูบาอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้ว่ามา พระพุทธเจ้าว่ามา ก็ลองพิจารณาดู เป็นการยืมพลังคนอื่นมาช่วย อันนี้ไม่ผิด เพราะเราไม่ได้โกหก และช่วยเหลือตามที่เป็นจริง
รบกันอีกสักครั้ง…
การลงมือไปช่วยเหลือคือของจริง ซึ่งผลอาจจะดีหรือร้ายก็ได้ การเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่มีศีลธรรมต่ำกว่านั้น จะต้องวางใจไว้ในเบื้องต้นเลยว่า เขาจะไม่สามารถเข้าใจที่เราสื่อสารได้ทั้งหมด เพราะเขามีความรู้น้อยกว่าเรา ดังนั้นศรัทธาที่เขามีให้เราตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ จะช่วยเป็นหลักประกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดร้ายแรง ความศรัทธากันจะลดการเพ่งโทษถือสา แม้จะช่วยเหลือกันไม่สำเร็จ แต่ก็จะไม่ผิดใจกัน ตรงนี้เราจะต้องประมาณ ต้องสังเกตว่าเขาศรัทธาเราพอที่จะช่วยเหลือเขาไหม บางเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้กำลังศรัทธามาก เชื่อถือ เชื่อฟัง เชื่อมั่นกันมาก จึงจะสำเร็จ
พอไปช่วยเข้าจริง อะไรจะเกิดก็ได้ จะดีจะร้ายก็ได้ ถ้ามันดีก็คงจะไม่มีอะไร แต่ถ้ามันร้าย หรือมีร้ายในดี เขาก็อาจจะแสดงอาการไม่พอใจออกมา ตรงนี้แหละที่เราจะต้องประเมินไว้ก่อนล่วงหน้าเลยว่าเรารับความเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จและจะควบคุมอาการตนเองไม่ให้โกรธเมื่อเขาทำไม่ดีกับเราได้ไหม เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “มือที่ไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่เป็นอันตราย”
ทีนี้บุคคลที่เขาเลวด้วยศีลสมาธิปัญญาเนี่ย เขามีพิษทั้งนั้นแหละ แล้วแต่ว่าจะพิษแรงเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณกิเลสของเขา แล้วที่นี้เราจะไปช่วยคนที่เขามีพิษ แล้วตัวเราเป็นแผล ไม่กันพิษ เราจะรอดไหมล่ะ? ก็เหมือนกับคนที่ยังควบคุมกายวาจาใจไม่ได้ ทะลึ่งไปช่วยเขาแล้วไม่สำเร็จ เขาก็หันมาโทษเรา แล้วเราดันไปโกรธเขาอีก หาว่าเขาไม่เห็นบุญคุณ อุตส่าห์มาช่วย ฯ อะไรทำนองนี้ ถ้าคิดว่าตนเองไม่ไหว มีโอกาสที่จะออกอาการทุจริตทำนองนี้ อย่ารีบไปช่วยใครเลย รีบช่วยตนเองให้พ้นทุกข์ดีกว่า เพราะไปช่วยคนอื่นแล้วจะกลายเป็นกอดคอพากันลงนรกเปล่า ๆ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “อย่าพรากประโยชน์ตนเพื่อประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก”
คำตรัสนี้เอาไว้ป้องกันความเห็นผิดของเรา เอาไว้กันการจัดลำดับความสำคัญที่ผิดของเรา เราควรจะจัดความสำคัญให้กับการทำใจตนเองให้ผาสุก ให้พ้นทุกข์ก่อนที่จะไปช่วยคนอื่น แม้ประโยชน์คนอื่นจะมากแค่ไหนก็ตามที กิเลสจะหลอกให้เราไปทำนาคนอื่น ไม่ทำนาตัวเอง ไปทำเรื่องที่ไม่พ้นทุกข์ โดยเฉพาะเรื่องช่วยคนที่ต่ำกว่านี่เป็นเรื่องที่พาลำบากเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว
รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง…
ก็มีคนที่เขาสงสัยเหมือนกันว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงยอมให้พระเทวทัตเข้ามาบวชปนอยู่ในหมู่กลุ่ม ทำไมไม่คัดออก ไม่เอาออกไปให้ห่างไกล ความจริงเรื่องเหล่านี้คืออจินไตย เป็นเรื่องที่คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก ไม่ควรคิดเพราะเป็นพุทธวิสัย คือเกินปัญญาของคนที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าจะเข้าใจได้
แต่ถ้าเราลองเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าในหลาย ๆ สูตรมาศึกษาก็จะพอเห็นภาพได้ว่า มือท่านไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่เป็นอันตราย คือคนที่หมดกิเลสแล้วเนี่ย ท่านจะมีพลังในการช่วยเหลือคน 100% ชีวิตเป็นไปเพื่อผู้อื่น 100% อย่างพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พบว่าตนเองรู้อยู่คนเดียวในโลก คนอื่นไม่รู้ นั่นหมายความว่าทุกคนในโลกล้วนเลวด้วยศีลสมาธิปัญญาสำหรับพระพุทธเจ้าหมด ตอนแรกท่านก็ว่าจะไม่สอน แต่ด้วยจิตเมตตาของท่านและเห็นว่ายังมีคนที่กิเลสน้อย (มีธุลีในดวงตาน้อย) คือสอนให้เห็นจริงได้ไม่ยาก สอนให้พ้นทุกข์ได้ไม่ยาก
จะเห็นได้ว่า แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สอนทุกคน ไม่ได้ช่วยทุกคนได้นะ ท่านก็สอนแต่ผู้ที่มีธุลีในดวงตาน้อยกับผู้ที่ศรัทธาท่าน เคารพและยินดีจะฟังท่านเท่านั้นแหละ พระเทวทัตที่แม้แต่ชั่วที่สุด เน่าในที่สุด ก็ยังรู้จักปฏิบัติไปตามธรรม คือสร้างภาพลักษณ์ที่พอจะเกาะมาตรฐานไว้ได้ แล้วยังรู้มารยาที่จะเคารพพระพุทธเจ้า และที่สำคัญ พระเทวทัตไม่เป็นภัยต่อพระพุทธเจ้าเลย เพราะแม้พระเทวทัตจะพยายามทำร้ายพระพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์เท่าไหร่ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่มีความโกรธ โลภ หรือหลงใด ๆ เกิดขึ้น นี่คือสภาพที่มือไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่อันตราย คือถ้าเรารักษาใจให้ไม่พลาดได้แล้ว เราก็จะมีกำลังที่จะเอื้อคนได้หลายฐานะมากขึ้น ทั้งคนดี คนบ้า คนมุ่งร้าย ก็จะสามารถให้เขาอยู่ร่วมกันไปได้ เกาะกลุ่มกันทำดีตามฐานะไปได้
แล้วหมู่สงฆ์จะคัดกรองคนออกไปเอง มันเป็นธรรมชาติที่คนชั่วจะปะปนเข้าไปในหมู่คนดี แต่กระนั้นภาพรวมก็เป็นหมู่ที่มีศีล เป็นพระอริยะ พระเทวทัตจึงทำอะไรศาสนาของพระพุทธเจ้าไม่ได้เลย คือได้แต่ทำ แต่ไม่มีผลเสียกับส่วนรวม เสียแต่กับตัวเองและหมู่คนพาลที่ตนคบเท่านั้น
สรุปว่าคนที่หมดกิจตนอย่างพระพุทธเจ้า ท่านก็เหลือแต่งานช่วยคนอื่นนั่นแหละ ส่วนจะช่วยใครยังไง เพราะไรนั้น บางทีมันก็เกินจะเข้าใจ เพราะบางเรื่องเป็นเหตุที่สะสมมาหลายต่อหลายชาติ ใช่ว่าจะศึกษากันให้รู้ได้ง่าย ๆ ดังนั้นท่านจึงสรุปว่าพุทธวิสัยนั้นเป็นอจินไตย อย่าไปอยากรู้มันเลย รู้แค่มือที่ไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่อันตราย ก็พอแล้ว
ไม่รู้จริงแล้วฝืนรบ…
ถ้าเรารู้จักคนอื่น รู้จักตัวเอง ประมาณธรรมให้เหมาะ ช่วยคนให้เหมาะกับฐานะ จะไม่ผิด จะไม่เดือดร้อนมาก ถ้าเราไม่มีความสามารถจริง หลงไปช่วยแล้วบังเอิญผลออกมาดี แล้วเขาชมเรา เห็นว่าเราช่วยเขาสำเร็จ เราก็ขาดทุน เพราะจริง ๆ ความสำเร็จนั้นไม่เกิดจากความสามารถของเราจริง ๆ หรอก ยิ่งถ้าเราไม่มีความสามารถ ไปช่วยเขาแล้วไม่สำเร็จ จะพาลให้เพ่งโทษถือสา จองเวรจองกรรมกันไปอีก
แม้เราจะมีความสามารถจริง แต่ใจเขาไม่ได้ศรัทธา เขาไม่ได้ยินดีให้เราช่วย เราไปยัดเยียดดี ช่วยเขา แม้จะเหมือนว่าสำเร็จ แต่จริง ๆ จะไม่สำเร็จ เพราะความจริง หรือความศรัทธาของเขานั้นยังไม่เต็มรอบ เราไปเติมฝั่งเขาด้วยอัตตามานะของเรา ผลที่ได้มันก็จะเป็นภาพลวงเราไปแบบนั้น
พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า “เราเป็นเพียงผู้ชี้ทาง ส่วนการเดินทางเป็นเรื่องของท่าน” เราก็ทำหน้าที่เดียวคือบอกทางเมื่อเขามาถาม ไม่ใช่ว่าไปชี้ ไปพาเขาเดิน เป็นผู้บีบคั้นหักคอให้เห็นทางและจ้ำจี้จ้ำไชให้เดินไปตามทางนี้ซะทีเดี๋ยวนี้ ทำทั้งที่เขาไม่ต้องการนะ เอาภาระแบบนั้น บำเพ็ญแบบนั้น ทำความดีแบบนั้น มันไม่พาพ้นทุกข์ทั้งเขาและเรานั่นแหละ
สรุปตอนท้ายไว้ว่า จะช่วยคนต่ำกว่าก็ช่วยได้ เพียงแต่ควรจะประมาณตนดี ๆ เอาตนเป็นหลักเลย ให้ตนไม่พ้นทุกข์ ไม่ทำบาป ไม่เบียดเบียน ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง อันนี้ถือว่าได้สำเร็จผลเป็นส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเรามีใจที่บริสุทธิ์ จากความโลภ โกรธ หลง การช่วยเขาจะเกิดประสิทธิผลสูงสุด
ดังประโยคทองของสมณะโพธิรักษ์ว่า “ความบริสุทธิ์เท่านั้น ที่จะชนะทุกสิ่งทั้งโลก ในที่สุด” ดังนั้น มุ่งทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสไว้ก่อน แล้ววันใดวันหนึ่งข้างหน้า ในชาตินี้หรือชาติหน้าเราก็จะช่วยเขาได้สำเร็จแน่นอน
29.2.2563
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ช่วยคนที่ช่วยไหว
หลักการประมาณน้ำหนักในการสื่อสารในเฟสบุคของผมคือ ช่วยคนที่ช่วยไหว
คือประมาณฐานสูงเป็นหลัก เพราะฐานคนที่เขามีอินทรีย์พละสูง จะลงน้ำหนักได้มาก ไม่ต้องอนุโลมมาก เปรียบเหมือนคุยกับคนมีประสบการณ์ ย่อมทำความเข้าใจเนื้อหาได้ไว
ผมก็ตรวจสอบเป็นระยะนะ ว่าถ้าเราพิมพ์ประมาณนี้เขาก็รับกันได้ เขาก็ยังยินดีกันอยู่ แสดงว่ามันพอไหว แต่จะให้อนุโลม ผ่อนลงไป มันก็ทั่ว ๆ ไปล่ะนะ ธรรมะแนวโลกสวยเขาก็มีคนทำกันเยอะอยู่แล้ว ตลาดนั้นเราไม่เอาหรอก ทำไปก็ไม่พ้นทุกข์ เราเอาแบบของเราดีกว่า แบบเบา ๆ เราก็เคยศึกษามา มันไม่ถึงใจ ไม่เข้าเนื้อ ไม่โดนอัตตา ศึกษาธรรมะไม่โดนอัตตามันจะล้างอัตตาได้ไหมล่ะ มันก็ต้องกระทบก่อนถึงจะจับได้ จับได้แล้วค่อยล้างกันต่อไป
พระพุทธเจ้าท่านก็ทำเป็นตัวอย่าง คือแสดงธรรมอย่างหนัก ด่าเป็นด่า จริง ๆ ก็คือเตือนละนะ ถ้าถ้าผมเอาประโยคเหล่านั้นไปเตือนใคร เขาก็คงคิดว่าด่าแน่ ๆ
ยกมาบทหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านให้ลูกศิษย์เลือกระหว่างไปกอดกองไฟที่กำลังลุกโชนกับไปกอดหญิงสาว ลูกสาวคนใหญ่คนโต ที่น่ารักน่าใคร่ คิดว่าอย่างไหนจะดีกว่า จะประเสริญกว่ากัน
ว่าแล้วลูกศิษย์ ก็ตอบว่า ไปกอดสาวสิประเสริฐกว่า … เท่านั้นแหละ โดนเป็นชุดใหญ่ ประมาณว่า เราจะเตือนเธอไว้ คนที่ผิดศีล มีธรรมลามก ประพฤติน่ารังเกียจ ปกปิดความชั่ว ไม่ใช่สมณะแต่บอกคนอื่นว่าเป็นสมณะ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์แต่บอกคนอื่นว่าประพฤติ เน่าใน มีความหื่นกระหาย การเข้าไปกอดหญิงสาวจะประเสริญยังไง …(อัคคิขันธูปมสูตร เล่ม 23 ข้อ 69)
ว่าแล้วท่านก็ไขความว่าอะไรดีกว่าเพราะอะไร แล้วก็ถามอย่างเดิมโดยยกตัวอย่างประเด็นอื่นมาตามลำดับ อีกหลายเรื่อง
ผลสรุปว่า 60 คนบรรลุธรรม 60 คนกระอักเลือด 60 คนลาสิกขา (ตายจากธรรม) สรุปคือ ตายไป 2 ใน 3 สำเร็จแค่ 1/3 ส่วน ซึ่งอันนี้คือความจริงที่ประเสริฐที่สุดแล้ว เก่งแค่ไหนก็ช่วยไม่ได้ทุกคน ขนาดพระพุทธเจ้ายังช่วยคนโง่ไม่ได้เลย แล้วท่านรู้ไหม? ท่านรู้โลกอย่างแจ่มแจ้งนะ กับผลแค่นี้ท่านรู้อยู่แล้วว่าผลจะออกมาแบบนี้
กลับไปที่ตอนตรัสรู้ใหม่ ๆ ท่านจะไม่สร้างศาสนา ไม่สอนคนเลยนะ เพราะมันเหนื่อย ยาก ลำบาก พอมีพรหมมาเชิญให้ท่านสอน ด้วยเหตุที่ว่า “คนที่มีฝุ่นในดวงตาน้อยยังมีอยู่” นั่นแหละ หมายถึงคนที่มีความโง่น้อยยังมีอยู่ ท่านก็สอนแต่คนเหล่านั้นนั่นเอง ท่านไม่ได้สอนทุกคนนะ
ถ้าคนโง่มากนี่ไม่ไหว พวกอินทรีย์พละอ่อนนี่ไม่ไหว ท่านก็ตรัสไว้ในอีกสูตรว่า พวกอินทรีย์พละอ่อนนี่ให้ทำอะไรก็บ่น ไม่อยากทำ สอนอะไรก็ไม่เอา อาการจะเป็นแบบนี้
…ขนาดพระพุทธเจ้าท่านยังประมาณเลย ผมจะไม่ประมาณได้อย่างไร แต่จะประมาณยังไง ก็ตามความรู้ที่มี ถ้าเป็นไปได้ผมก็จะเอาฐานสูงไว้ก่อน เอาอินทรีย์พละแกร่ง ๆ ไว้ก่อน เพราะไม่ต้องเสียเวลาปรุงแต่งคำให้มันสละสลวยนัก มันจะเสียเวลาและเสียประโยชน์มาก ถ้าเราเอาใจฐานต่ำ ๆ เป็นหลัก
เพราะถ้าเราประมาณต่ำ คนที่เขาสูง ๆ เขาก็จะเบื่อ เขาก็จะเสียประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่เขามีองค์ประกอบที่จะเข้าใจเรื่องนั้น ๆ ได้ แต่เราก็มัวแต่โอ๋เด็ก คนฐานต่ำนี่ผมไม่หวังอะไรมากหรอก ไม่เอาจริงเอาจัง ไม่ตั้งใจ เป็นคนประมาท คนฐานนี้ก็ให้คนอื่นเขารับไป มีเยอะแยะเลย
แต่เราไม่เอาหรอก ไม่ไหว มันเมื่อยหัว ไม่มียังจะดีกว่า บอกกันตรง ๆ ถ้าไม่ได้ตั้งใจ ไม่จริงใจ ไม่ได้ทุกข์ขนาดที่ว่าจะหาทางออกจริง ๆ ไม่ได้คิดแสวงหาทางปฏิบัติจริง ๆ มาแบบเล่น ๆ หาเพื่อนคุย นี่ผมไม่เอาด้วยหรอก มันเสียเวลา
พระพุทธเจ้าท่านยังบอกเลยว่าให้คบคนที่สูงกว่าหรือเสมอกัน ส่วนฐานต่ำกว่าก็ละไว้ในฐานที่น่าจะพอเข้าใจว่าเพราะอะไร แต่ไปอ่านเจอในพระสูตรนึง ก็ยังมีอนุโลมอยู่บ้าง ในกรณีที่เขามาให้ช่วย ตรงนี้ก็ช่วยเขาได้ เขาศรัทธาเรา เราก็ช่วยเขา มันก็เป็นความเกื้อกูลกันไป แต่ถ้าไม่ได้ศรัทธากัน มันจะช่วยกันไม่ได้ คุยไป ๆ มันจะเพ่งโทษถือสา มันจะเสียมากกว่าได้ ดังนั้นผมจึงไม่ค่อยคุยเล่นสักเท่าไหร่ ยกเว้นบางท่านที่เคยรู้จักสนทนากันมาก่อน อันนั้นก็เป็นอีกบริบทหนึ่ง
ดังนั้นสรุปเลยว่า ผมจะเอื้อเฉพาะที่ผมเอื้อไหว ถ้าจะระดับเอื้อทุกฐานนี่ต้องครูบาอาจารย์ของผมแล้วล่ะ อันนั้นท่านมีบารมีมาก มีกำลังมาก เหมือนพระโพธิสัตว์พันมืออะไรแบบนั้น ท่านก็มีมือเยอะ มีปัญญาเยอะ ช่วยคนได้หลายฐานะ อันนี้เราก็เท่านี้ ก็เท่าที่พิมพ์กันทุก ๆ วันนี่แหละ ก็เก่งอยู่ไม่กี่เรื่อง ก็ช่วยได้เท่าที่รู้นั่นแหละ
แต่ที่ช่วยไม่ได้เลยนี่คือคนเก่งกว่าผม จะเก่งจริง หรือเก่งหลอกไม่รู้แหละ เก่งจริงก็ไม่ต้องไปช่วยแนะนำอะไรท่านอยู่แล้ว ช่วยเรื่องงานก็พอ ส่วนเก่งหลอกนี่มันก็หลอกทั้งตัวเองทั้งคนอื่น มันก็ติดเพดาน เหมือนชาเต็มถ้วย มันก็ช่วยกันไม่ไหว ก็ต้องปล่อยให้ศึกษากันไปเองตามที่สนใจ
สมถะและวิปัสสนา กลยุทธ์และการประมาณตน
ดาวน์โหลดภาพขนาดเต็ม | Download full size image
สมถะและวิปัสสนา กลยุทธ์และการประมาณตน
การทำกิจกรรมการงานใดๆนั้นเราควรทำให้เหมาะสมแก่กำลังของตน การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน เราควรปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่ธรรมที่เรามี จึงจะเกิดความเจริญ
ในบทความนี้จะขยายเกี่ยวกับกลยุทธ์ของการใช้สมถะและวิปัสสนาโดยการนำเจโตและปัญญาเข้ามาร่วมอธิบาย
เจโต นั้นคือกำลัง พลัง ความทนทาน การปฏิบัติสมถะจะสามารถทำให้เจโตพัฒนาได้ เช่นผู้ฝึกฝนสมาธิ เดินจงกรม ฯลฯ ก็จะมีภาพลักษณ์โดยทั่วไปที่ดูสงบ ทนต่อสิ่งกระทบหรือสิ่งเร้าได้ดีกว่าตอนที่เขาไม่เคยฝึกสมถะมาก่อน
ปัญญา นั้นคือความรู้ เป็นความรู้ระดับโลกียะ จนถึงระดับโลกุตระ คือรู้แจ้งแทงตลอดในทุกลีลาของกิเลสก็จะเรียกรวมว่าปัญญา เกิดได้จากหลายๆปัจจัย โดยเฉพาะการวิปัสสนาที่ถูกตรงจะทำให้เข้าถึงปัญญาโลกุตระได้
เราสามารถแจกแจงสภาพที่เกิดได้กว้างๆ สี่สภาวะดังนี้
๑). เจโตน้อย ปัญญาน้อย
โดยทั่วไปแล้วคนที่มีเจโตน้อยปัญญาน้อย เมื่อเจอกับต้องกระทบกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ ก็จะหลุด โกรธ ตบะแตก เรียกว่าพ่ายแพ้ต่อกิเลสไป โดนกิเลสจับไปกินหมด
ดังนั้นกลยุทธ์ในผู้ที่มีเจโตและปัญญาน้อยเมื่อเจอกับผัสสะที่เกินประมาณหรือศีลที่ยากเกินจะรับไหวก็คือหนีก่อน การหนีนี้เองก็เป็นการประมาณตนไม่ให้เกิดสภาพที่ทรมานตัวเองมากเกินไป ซึ่งก็เป็นกุศลอยู่มาก เพราะเป็นการลดอัตตาและลดโอกาสในการสร้างกรรมชั่วอื่นๆอีกมากมาย
บางคนมีกำลังน้อยปัญญาน้อย แต่ก็พยายามอดทนต่อสู้กับสิ่งกระทบโดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าได้หลุดแสดงความโกรธออกไปแล้ว หรือมีจิตอกุศลไปแล้ว ซึ่งการทนอยู่ในสภาพที่เกินกำลังจะรับไหวนั้นไม่เป็นผลดีกับใครเลย
เมื่อเราเรียนรู้แล้วว่าเรายังมีเจโตและปัญญาที่น้อยไปสำหรับการต่อกรกับเรื่องนั้นๆ ก็ให้หนีจากเรื่องนั้นมาก่อน การจะรู้ตัวจนกระทั่งหนีนี้เองก็ต้องใช้สติและปัญญาด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนเจโตและปัญญาน้อยจะยอมหนีจากสถานการณ์ตรงหน้า เพราะคนเราเวลายึดมั่นถือมั่นแล้วมันจะเห็นช้างเป็นมด มันจะสู้หมด อัตตามันใหญ่เกินจะยอมหนีหรือยอมแพ้
๒). เจโตมาก ปัญญาน้อย
ผู้ที่มีเจโตมากย่อมจะรับกับสิ่งกระทบได้ดี เช่นโดนเขานินทาด่าว่าต่อหน้าก็ยังสามารถใช้กำลังของจิต กดข่มความโกรธให้สงบได้ ซึ่งการกดข่มกิเลสได้นี้เอง จะช่วยให้เกิดความสุจริตอย่างน้อยๆก็ทางกาย วาจา ซึ่งจะทำให้ไม่ไปสร้างกายกรรม และวจีกรรมให้เกิดความแตกแยก ร้าวฉาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี
หากผู้ที่มีเจโตมากและสามารถเข้าใจวิปัสสนาได้ ก็จะค่อยๆพิจารณาทบทวนเหตุการณ์นั้นไป เหมือนกับว่าแบ่งงานมาทำ ไม่ได้ทำทั้งก้อน เพราะหากทำทั้งก้อน แล้วเราปัญญาน้อยมันก็ทำไม่ไหว ตายเปล่าๆ ดังนั้นการกดข่มไว้ส่วนหนึ่ง พิจารณาส่วนหนึ่ง ตรงกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ให้พรากไม้ที่ชุ่มด้วยยาง ออกจากน้ำก่อน แล้วจึงค่อยเผา” คือถ้าไฟเราไม่แรงขนาดกองไฟนี่มันเผาไม้เปียกยาก มันต้องทำให้ไม้แห้งเสียก่อน มันก็เผาได้ง่ายขึ้นเหมือนกับการที่ใช้สมถะกดไว้ก่อนแล้วค่อยวิปัสสนาก็เป็นสิ่งที่สมควรทำในผู้ที่มีเจโตมากปัญญาน้อย
ปัญหาของผู้ที่มีเจโตมาก มักจะเกิดในลักษณะของกดข่มจนดับไปโดยไม่รู้ตัว กระทำความดับไปด้วยความไม่ตั้งใจ เพราะชินในความสงบที่เคยได้รับ เมื่อผัสสะเกิดก็มักจะเกิดสภาพกดข่มจนดับไปโดยอัตโนมัติ ยิ่งผู้ที่ไม่ได้เรียนรู้วิปัสสนาหรือเข้าใจความหมายและวิธีปฏิบัติของวิปัสสนาผิด ก็จะไม่ได้ทำวิปัสสนา แม้จะมีเจโตมาก กดข่มกิเลสให้ดับลงได้ แต่ก็ไม่ใช่ทางของพุทธ เป็นเพียงวิธีทั่วไปที่ปฏิบัติกันก่อนจะมีศาสนาพุทธ นิยมกันมากในหมู่ฤๅษี
๓). เจโตน้อย ปัญญามาก
ผู้ที่มีปัญญามาก แม้จะมีเจโตน้อย ก็สามารถทำลายกิเลสได้ เพราะปัญญานี้เองคือตัวทำลายกิเลสให้สิ้นเกลี้ยงอย่างแท้จริง
เราสามารถใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งกระทบนั้นๆจนเกิดสภาพรู้แจ้งเห็นจริงในทุกลีลาของกิเลสได้ พอมันรู้จริงเห็นจริง ตามความเป็นจริง มันก็จะไม่ยินดีไปเสพสมใจตามกิเลสเหมือนเคย เพราะรู้แล้วว่ากิเลสมันไม่เที่ยง มันคือตัวทุกข์ มันไม่ใช่ตัวเราของเรา รู้ไปด้วยว่ามันทำให้เกิดกรรมชั่วแค่ไหนอย่างไรแล้วเราต้องมารับผลกรรมชั่วอีกเท่าไหร่ รู้ไปถึงคุณและโทษ กุศลอกุศลที่เกี่ยวกับกิเลสตัวนั้นๆ
เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงตามนี้ก็สามารถทำลายกิเลสได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้พลังของเจโตมากดข่มไว้ แน่นอนว่าโดยภาษาแล้วดูจะไม่สมบูรณ์นัก แต่เป็นลักษณะของปัญญาวิมุตติคือการหลุดพ้นด้วยปัญญา เมื่อปัญญาทำให้หลุดพ้นมันก็เลยไม่ต้องใช้กำลังอะไรอีก ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา คือความรู้โลก (โลกียะ+โลกุตระ) อย่างแจ่มแจ้ง
ดังนั้นเมื่อผัสสะหรือศีลใดที่เราต้องเผชิญ หากเราพอจะรู้ตัวว่ามีพลังปัญญามากก็ให้เพ่งเพียรพิจารณาก็จะสามารถหลุดพ้นได้โดยไม่ยากไม่ลำบากนัก ปัญญาที่มากนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ จะเกิดจากการบำเพ็ญเพียรศึกษาและสะสมมาหลายชาติ ไม่ใช่แค่คิดว่าตัวเองฉลาดรอบรู้แล้วจะมีปัญญามาก ซึ่งจะรู้ได้เองเวลาพิจารณากิเลสว่ามากหรือน้อย
๔). เจโตมาก ปัญญามาก
สภาพของเจโตและปัญญาที่มากนี้เอง จะสามารถรับมือกับทุกๆผัสสะและกิเลสได้ดีที่สุด โดยมากแล้วจะเป็นผู้ที่มีบุญบารมีสะสมมาจนเต็มรอบ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่จะอยู่ๆจะสามารถรับมือกับผัสสะได้โดยไม่หวั่นไหว และมีปัญญามากพอจะพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงได้
การหลุดพ้นด้วยเจโตและปัญญา คือแม้สัมผัสกับสิ่งกระทบอยู่ก็ไม่ได้หวั่นไหวและมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในกิเลสนั้นๆคือสภาวะของอุภโตภาควิมุตติ เป็นที่สุดของผลแห่งการปฏิบัติแล้ว
*ข้อควรระวัง
การประมาณตนในการใช้กลยุทธ์ต่างๆนั้นมีข้อควรระวังดังนี้
อย่าประมาท
ในเรื่องหนึ่งเราอาจจะเก่ง เราอาจจะสามารถทนต่อสิ่งหนึ่งได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถทนหรือใช้ปัญญาเข้าใจทุกสิ่งได้ กิเลสนั้นมีสภาพหยาบ กลาง ละเอียด ศีลก็มีระดับของความยาก แม้เราจะสามารถผ่านผัสสะทั่วไปหรือศีลง่ายๆได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าศีลอื่นๆจะใช้กลยุทธ์เดิมได้
ซึ่งโดยมากเมื่อเพิ่มศีล หรืออธิศีลมากขึ้นเรื่อยๆ ศีลที่เพิ่มขึ้นมานั้นมักจะอยู่ในระดับที่ยากขึ้น เรามักจะต้องใช้กลยุทธ์หนีอยู่บ่อยครั้ง เพราะกำลังกับปัญญาไม่มากพอ
แต่ด้วยความประมาทและความไม่เข้าใจในระดับที่ต่างของผัสสะและศีล ทำให้เกิดการใช้กลยุทธ์เดิมเช่น ผู้ที่มาทางสายเจโต ก็มักจะเข้าใจว่ากดข่มไว้ก่อนแล้วค่อยพิจารณา ซึ่งอันนั้นมันก็อาจจะทำได้แค่ของง่ายๆ พอมาเจอโจทย์ยากๆที่สมควรหนี แต่เราประมาทหลงว่ามันง่าย เราก็ใช้แผนเดิม สุดท้ายโดนกิเลสกินรวบ
อย่าโลภ
ความโลภอยากบรรลุธรรมไวนี้เองคือสิ่งที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติอยู่บ่อยครั้ง เหตุจากความประมาทไม่ประมาณตนให้เหมาะกับสถานการณ์นั้นๆ แล้วหวังผลมากกว่าที่ควรจะได้
เช่นจริงๆแล้ว เราควรจะค่อยๆกดข่มแล้วพิจารณาไปทีละน้อย แบ่งงานทำ กำหนดขอบเขตให้เหมาะสมปัญญา พอเราคิดว่าเรากดข่มได้เราจึงเพิ่มขอบเขตการปฏิบัติด้วยความโลภ คิดว่าฉันทำได้ ฉันเอาอยู่ สุดท้ายพอเอาเข้าจริงๆทานกำลังกิเลสไม่ไหว แพ้กิเลสไปในที่สุด การแพ้กิเลสด้วยการประมาณผิดก็จะได้ผลอย่างหนึ่ง แต่การแพ้กิเลสด้วยความโลภจึงประมาณผิดก็ได้ผลอีกอย่างหนึ่ง
อย่าเปรียบเทียบ
การเปรียบเทียบนี้เองเป็นหลุมดักของผู้ที่ไม่รู้ เรามักจะชอบเปรียบเทียบอ้างอิงวิธีการปฏิบัติของครูบาอาจารย์หลายๆท่าน ทั้งๆที่ความจริงแล้ว “เรามีกรรมเป็นของของตน” นั่นคือทุกคนนั้นต่างกรรมต่างวาระ มีกิเลสที่ยึดต่างกัน มีบุญบารมีมาไม่เท่ากัน ดังนั้นกลยุทธ์ที่จะใช้เผชิญหน้าต่อกิเลสหนึ่งๆก็ย่อมต่างกันไปตามกัน
พอเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นด้วยความไม่มั่นใจแล้วเราก็จะยึดทางของเขามาปฏิบัติว่า เรายังไม่เหมือนครูบาอาจารย์เลยนะ มีคำกล่าวว่า “ให้เอาเยี่ยงอย่าท่าน แต่อย่าเอาอย่างท่าน” คือให้เอาเฉพาะสิ่งที่ดี แต่ไม่ต้องไปทำตามทั้งหมด
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าท่านเหล่านั้นหลุดพ้นกิเลสด้วยปัญญาที่มาก ทีนี้เราปัญญาน้อย เราก็หลงว่าต้องทำแบบนี้เท่านั้น เพราะท่านก็สอนมาแบบนี้ (ก็เพราะท่านผ่านมาในลักษณะนี้) เราก็เลยทำตามท่านทั้งๆที่ปัญญาน้อย เจโตก็น้อย สุดท้ายก็ตายเรียบ ดังเช่นที่มีกรณีในสังคมนักปฏิบัติธรรมบ่อยๆในข้อกล่าวหาที่ว่า สายเจโตก็เอาแต่สมถะ หรือสายวิปัสสนาก็เอาแต่คิด ซึ่งจะสรุปเรื่องนี้กันในข้อต่อไป
การเปรียบเทียบในมุมที่มั่นใจเกินตัวก็เช่นกัน เมื่อเราปฏิบัติได้ดีกว่าผู้อื่นในบางมุมเราก็จะหลงเปรียบเทียบว่าฉันเจโตมากกว่าบ้าง ฉันปัญญามากกว่าบ้าง จะเป็นเหตุให้เกิดอติมานะ คือการดูถูก ดูหมิ่นคนอื่น ซึ่งเมื่อคนเรามีกรรมต่างกัน ก็ต้องมีการปฏิบัติต่างกันเป็นธรรมดา เขาอาจจะหลุดพ้นด้วยเจโตก็ได้ ปัญญาก็ได้ ตามกรรมของเขา ซึ่งก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย
อย่ายึดมั่นถือมั่น
ความถือดีนั้นทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นได้ง่าย แม้จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติได้แล้วหรือเพียงแค่เรียนรู้มาอย่างผิวเผินแต่ยังไม่เคยปฏิบัติก็ตาม หากเกิดความถือดี ถือว่าของตนดีแล้วก็มักจะเกิดความยึดมั่นถือมั่น
การยึดมั่นถือมั่นเกิดได้จากหลายเหตุปัจจัย สรุปรวมๆได้ว่า “โง่” พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี”
ความยึดมั่นถือมั่นนี่เองมักจะเป็นนรกของนักปฏิบัติ หรือคนที่ศึกษาธรรมะ เพราะตนปฏิบัติเช่นนั้นก็มักจะยึดแนวทางนั้นเป็นแนวทางหลักและบางทีถึงกับไปหลงมิจฉาทิฏฐิว่าทางนี้เองคือทางพ้นทุกข์ เมื่อมีการแนะนำหรือสั่งสอนผู้อื่นก็จะยึดแต่แนวทางที่ตนเชื่อเป็นหลักโดยที่ไม่เปิดช่องให้ความเห็นต่างใดๆเข้ามาแทรกแซง
ซึ่งโดยสามัญของโลกแล้ว ก็มักจะยึดกันผิดๆ คนมิจฉาทิฏฐิก็มักจะเห็นว่าตัวเองสัมมาทิฏฐิอยู่แล้ว พอเห็นผิดเป็นถูก มันก็ยึดไปทั้งที่จริงแล้วมันผิด พอยึดแล้วก็ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยน ไม่ยอมให้ใครโต้แย้ง ไม่ยอมให้ใครมาพิสูจน์ ไม่ยอมละวางอัตตา ยึดมั่นถือมั่นอยู่เช่นนั้น มันก็เป็นนรกดีๆนี่เอง
ถึงแม้ว่าแนวทางที่ได้ปฏิบัตินั้นจะเคยเกิดผลเจริญกับตนเองก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดความเจริญในคนอื่น หรือไม่ได้หมายความว่าจะเกิดความเจริญต่อตนเองในการปฏิบัติที่ยากขึ้น เพราะเมื่อปฏิบัติธรรมไปจนเจริญมากขึ้น จะพบว่ากิเลสระดับ หยาบ กลาง ละเอียดนั้น ไม่สามารถใช้สูตรสำเร็จในการปฏิบัติใดๆได้อย่างลงตัว ความแววไวในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จึงเป็นคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติธรรม
– – – – – – – – – – – – – – –
7.4.2558
การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา
การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา
โดยทั่วไปแล้วเรามักจะได้ยินความสัมพันธ์ของสมถะและวิปัสสนากันไปต่างๆนาๆ บ้างก็ว่าต้องคู่กันเสมือนขาทั้งสองข้างต้องก้าวไปด้วยกัน แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เราจะมาขยายกันในบทความนี้ด้วย 8 หัวข้อที่จะมาเสนอข้อมูลในหลายๆ ประเด็น
1).สมถะและวิปัสสนา
สมถะนั้นเป็นการใช้อุบายต่างๆเข้ามาควบคุมใจ ไม่ว่าเราจะใช้วิธีนั่งสมาธิ เดินจงกรม สร้างตัวรู้ เจริญสติ เพ่งกสิณ หรือใช้การคิดบวกหรือพิจารณาธรรมเพื่อ “กด” ให้เกิดสภาพนิ่งของใจ ไม่ว่าจะอุบายเช่นไรแต่ถ้ากระทำไปเพื่อให้เกิดความสงบใจ นั้นคือสมถะทั้งสิ้น
ส่วนวิปัสสนานั้นเป็นอุบายทางปัญญา ที่จะทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามที่กิเลสอยากให้เป็น
สมถะนั้นมีอยู่คู่โลกนานแล้ว ต่างจากวิปัสสนาซึ่งเป็นวิธีของพุทธโดยตรง หากจะกล่าวว่าสิ่งใดถูกตรงก็คือวิปัสสนา แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ตีทิ้งสมถะ เพราะสามารถใช้เป็นอุปการะได้ คือเป็นเครื่องช่วยให้เจริญวิปัสสนาให้ดีขึ้นได้ แต่จะช่วยอย่างไรจะไปขยายกันในข้อต่อไป
2).สมถะอย่างเดียวทำได้ไหม
ตอบว่าได้ แต่ถ้าจะให้บรรลุธรรมตามแนวทางของพุทธนั้นตอบว่าไม่ได้
เมื่อเราทำแต่สมถะเราก็จะได้ผลแบบสมถะ (มิจฉาผล) ทางของสมถะคืออุบายทางใจ ยิ่งทำยิ่งสงบ ยิ่งทำยิ่งติดภพ จมดิ่งเข้าไปในความมืด ดับความคิด ดับสัญญา ดับไม่เหลืออะไรเลย สภาพของผู้ทำสมถะนั้นมักจะมีภาพลักษณ์ที่ดูสงบต่อสถานการณ์ได้ดี
ถ้าในยุคสมัยก่อนก็จะเรียกว่าฤๅษี แต่ตอนนี้ไม่มีภาพเช่นนั้นแล้ว เพราะเปลี่ยนรูปกันมาอยู่ในผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งฆราวาสทั้งนักบวชก็มีฤๅษีปนอยู่มาก ซึ่งมรรค(วิถีการปฏิบัติ)ของเขาเหล่านั้นมักจะหนักไปในทิศทางของทำสมาธิ การระลึกรู้ หรือวนเวียนอยู่กับการควบคุมกดข่มจิตใจให้เกิดสภาพสงบ
3).วิปัสสนาอย่างเดียวทำได้ไหม
ตอบว่าได้ ซึ่งวิปัสสนานี้เองเป็นกระบวนการโดยตรงของพุทธอยู่แล้ว
เราสามารถวิปัสสนาเพียงอย่างเดียวได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งสมถะเลย หากเรามีเจโตหรือพลังของจิตที่เคยสะสมไว้มากพอ เรียกได้ว่าสามารถพิจารณาทำลายกิเลสได้ด้วยปัญญาล้วนๆจนถึงปลายทางได้เลย เพราะถ้ามีปัญญาเต็มรอบมันก็ไม่ต้องไปกดข่มกิเลสให้เสียเวลา ชักดาบออกมาแล้วเชือดทิ้งได้ทันที
แต่ถ้าเรากำลังน้อย อินทรีย์พละอ่อน ก็อาจจะเหมือนเอาไม้จิ้มฟันไปสู้กับช้าง สมถะจะเข้ามาเติมเต็มในจุดนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้สมถะกดข่มได้เสมอไป เพราะมีองค์ประกอบอื่นที่ส่งผลเช่น กรรมและผลของกรรม หรือเหตุการณ์ที่เกินกำลังมากไป
สภาพของคนที่วิปัสสนาแต่ไม่มีกำลังมากพอก็เหมือนกับนักมวยผู้มีทักษะที่เก่งแต่ไม่ฝึกซ้อมร่างกาย ดังนั้นการจะเอาชนะกิเลสนั้นก็ยากหน่อย แต่ก็มีโอกาสถึงเป้าหมาย ต่างจากสมถะอย่างเดียวแม้จะเอาดีแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้บรรลุธรรมใดๆ
4).อะไรสำคัญกว่ากัน
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่าน้ำหนักของวิปัสสนามากกว่าเพราะมีมรรคผลในแบบพุทธอย่างชัดเจน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถจะสรุปได้ว่าอะไรสำคัญกว่ากันได้ชัดเจนเสมอไป
เราไม่สามารถบอกได้ว่าต้องใช้สมถะกดก่อนแล้วค่อยวิปัสสนาจึงจะถูก อันนี้มันก็ผิดสำหรับคนอินทรีย์พละแก่กล้า เพราะถ้าเขาไปเสียเวลาสมถะ เขาก็พ้นทุกข์ช้า และผิดไปจากสัจจะของพระพุทธเจ้านั่นคือธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า
และถ้าบอกว่าใช้แต่วิปัสสนา สุดท้ายก็ถึงอยู่ดี มันก็ถูก แต่ถ้ามันทำให้ช้า มันก็ผิด เพราะเมื่อปฏิบัติถึงระดับหนึ่ง ศึกษาสามอย่างคืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญาไประดับหนึ่ง อินทรีย์พละที่มีอยู่มันจะเริ่มไม่พอ เพราะศีลที่ยากขึ้นจะต้องใช้จิตที่มากขึ้นและปัญญาที่มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นผู้มีอินทรีย์พละแก่กล้าแม้ว่าจะวิปัสสนาได้ไวในช่วงแรก สามารถชำแหละกิเลสจนรู้แจ้งเห็นจริงได้ แต่ก็อาจจะไม่สามารถใช้ต่อกรกับกิเลสทุกตัวได้
ดังนั้นการจะสรุปว่าอะไรสำคัญกว่าคงต้องประเมินตามสถานการณ์ เพราะแต่ละคนมีกรรมเป็นของตน มีกิเลสของตัวเอง จึงต้องใช้วิธีและสัดส่วนในการแก้ของตนเอง ไม่ใช่ว่าจะมาสรุปว่าต้องสมถะมากกว่าหรือวิปัสสนามากกว่า ความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ทำให้บรรลุธรรมได้ไว แต่ความว่องไวในการปรับความพอดีของสมถะและวิปัสสนาต่างหากจึงทำให้เจริญ
5).กลยุทธ์ในการรับมือกับผัสสะ
เมื่อมีผัสสะหรือสิ่งที่เข้ามากระทบทาง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ การรับมือกับผัสสะโดยทั่วไปอย่างไม่ต้องศึกษากันเลยก็คือใช้สมถะกดข่มความคิดไม่ดีไว้ ถ้าเก่งขึ้นมาหน่อยก็เป็นสมถะจากการศึกษาธรรมะ เจริญสติบ้าง สร้างตัวรู้บ้าง ใช้ข้อธรรมะบ้าง ก็เอาไว้กดข่ม ดับความฟุ้งซ่าน ดับความคิดนั่นเอง
สมมุติว่ามีเหตุการณ์ดังเช่นว่า คนมานินทาเราทั้งต่อหน้าและลับหลัง สมถะในระดับสามัญสำนึก จะกดไว้ด้วยการรักษาภาพลักษณ์ สงบสยบความเคลื่อนไหว ถ้าเป็นผู้ศึกษาธรรมก็จะมีท่าของสมถะมากขึ้นในการตบผัสสะนั้นๆทิ้งเช่น บริกรรม ยุบหนอ พองหนอ , พุทโธ ,ตั้งสติรู้ไปที่ร่างกาย หรือใช้ข้อธรรมเข้ามาตบว่า ทุกสิ่งไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่ใช่ตัวเราของเรา สมถะจะทำงานในลักษณะนี้
ส่วนวิปัสสนานั้นจะต่างออกไปเพราะการวิปัสสนาได้นั้นต้องมีพื้นฐานของสติที่สมบูรณ์อยู่แล้ว นั่นหมายถึงว่าคนที่สามารถทำวิปัสสนาในระหว่างเกิดผัสสะนั้น เขามีอินทรีย์พละแกร่งพออยู่แล้ว จึงสามารถชำแหละกิเลส คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ของการนินทาได้ตรงนั้น ขณะนั้น จนกระทั่งสามารถทำให้เจริญถึงขั้นรู้แจ้งเห็นจริงได้จนทำลายกิเลสกันทั้งๆที่ถูกนินทาอยู่นั่นแหละ
ซึ่งผลของวิปัสสนานั้นเมื่อเกิดปัญญารู้แจ้งจริงๆแล้วก็ถือว่าจบ คำนินทาเหล่านั้นแม้จะมีก็เหมือนไม่มีอีกต่อไป มาอีกเป็นกองทัพก็เฉยๆ จะต่างกับสมถะตรงที่ว่าสมถะจะใช้การกด เมื่อปริมาณผัสสะมากเข้าๆ ก็จะเกินกำลังที่จะกดได้ ซึ่งแต่ละคนจะมีขอบเขตในการกดที่จำกัด ที่นี้พอสายสมถะโดนผัสสะกระทุ้งเอามากๆ สุดท้ายก็จะออกอาการที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง
ดังนั้นกลยุทธ์ในการรับมือกับผัสสะเมื่อเข้าใจสมถะและวิปัสสนาจึงควรใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ถ้าเรื่องนี้เริ่มเกินกำลังก็ให้กดไว้ก่อน ปัดทิ้งไปก่อน ปล่อยวางไปก่อน แล้วค่อยเก็บไปวิปัสสนาทีหลังก็ได้ แต่ถ้ามีกำลังมากพอ เจอผัสสะกระทบแล้วไม่ถึงกับออกอาการมาก เช่นโดนนินทาต่อหน้าแล้วยังเฉยๆ แต่ยังมีความไม่สบายใจ อึดอัดบ้างก็ให้ทำวิปัสสนาไปเลย ไม่ต้องไปข่ม เพราะมันจะเสียเวลาและเสียของสดไป นั่นเพราะการจะรู้ถึงกิเลสได้ต้องเผชิญกับผัสสะสดๆ กระทบกันสดๆ แม้ว่าเราจะสามารถระลึกย้อนได้แต่ก็ไม่ใช่ของสด เป็นของแห้ง พอใช้แทนกันได้แต่ไม่ดีเท่าสิ่งที่มากระทบสดๆ
6).การประมาณกำลัง
การใช้สมถะและวิปัสสนาไม่ได้ใช้เพื่อรับผัสสะหรือรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นจะใช้ศีลเข้ามาช่วยในการศึกษากิเลส ซึ่งจะต้องใช้สมถะและวิปัสสนาในกระบวนการเหล่านี้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่นว่า เราตั้งใจว่าจะลดเนื้อกินผักให้ได้มากที่สุด เมื่อเราตั้งศีลนี้ขึ้นมา ผัสสะจะมากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งศีล ศีลจะทำหน้าที่เป็นตัวชี้ให้เห็นถึงกิเลสที่ควรกำจัด เช่น เราไปกินข้าวกับเพื่อนร่วมงาน เรายังจะลดเนื้อกินผักได้ไหม ความอยากเราเกิด เรารู้ตัวไหม แล้วอยากขึ้นมาเราจะทำอย่างไร จะกดข่มความอยากคงสภาพรูปสวยด้วยสมถะไปก่อนดีไหม หรือมีแรงพอจะวิปัสสนาเลยไหม หรือจะเอาไว้ก่อน ยอมแพ้กิเลสไปก่อน
ธรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเอง สติมาปัญญาไม่ได้มาเองโดยอัตโนมัติ ถ้าเป็นปัญญาจากสภาพกิเลสสงบมันก็ใช่ แต่อธิปัญญานั้นต้องสร้างเอง จะมีผลได้ก็ต้องสร้างเหตุเอง หลักของวิปัสสนาคือการสร้างปัญญาให้เจริญขึ้นในจิตใจ ถ้าเอาแต่กดข่มด้วยสมถะ ปัญญาก็จะไม่เกิดเพราะไม่ได้วิปัสสนาต่อ ถ้าไม่ขยันวิปัสสนาไม่ติดกามก็ติดภพอยู่แบบนั้น
ยกตัวอย่างที่สองให้เห็นการประมาณที่ชัดขึ้น นั่นคือศีลที่ยากมากขึ้น เช่นเราตั้งใจจะถือศีลกินมื้อเดียว เราไม่เคยทำมาก่อนเลย แต่เราเห็นว่าศีลนี้ดีนะ เขาว่าดี พระพุทธเจ้าก็ว่าดี แม้เราจะยังไม่เห็นได้ชัดอย่างเขาว่ามันดีอย่างไร แต่เบื้องต้นเราก็ว่าดี อันนี้เรียกว่ามีปัญญาที่เป็นมรรค แต่เมื่อถึงเวลาจริงมันไม่มีปัญญาพอที่จะกินมื้อเดียวนะ คือมันรู้ว่าดีแต่มันกินไม่ได้ มันจะไปกินหลายมื้ออยู่เรื่อย ใช้สมถะกดก็แล้ว ทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนก็แล้ว สุดท้ายก็ตบะแตก ว่าแล้วก็ปล่อยวางศีล เดินตามกิเลสไปกินหลายมื้อเหมือนเดิมเฉยๆอย่างนั้น
แบบนี้เรียกว่าเกินกำลัง เพราะประมาณกำลังของกิเลสต่ำเกินไป ถ้าสมถะกดไม่ลงก็แทบจะไม่ต้องพูดถึงวิปัสสนา เพราะเมื่อพ่ายแพ้ให้กับกิเลสมากๆมันจะท้อได้เหมือนกัน วิปัสสนาไปมันก็แพ้กิเลสเท่านั้นเอง และมันไม่ได้ง่ายขนาดว่าพิจารณากันครั้งเดียวผ่าน มันต้องใช้เวลาขึ้นอยู่กับว่าทำสะสมมาเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่ากดข่มด้วยสมถะเก่งแล้วจะสามารถถือศีลนี้ได้เสมอไป แม้จะถือได้ด้วยสมถะแต่ถ้าไม่ทำวิปัสสนามันก็ไม่มีปัญญา มันก็ถือศีลแบบถือไว้อย่างนั้น ถือแบบงมงาย ถือแบบกดข่มเท่านั้นเอง
7). ผลของความพอดีจากสมถะและวิปัสสนา
ความพอดีของสมถะและวิปัสสนาที่ตอบสนองต่อผัสสะหรือสิ่งที่เข้ามากระทบคือเกิดความเจริญสูงสุด ความเจริญนี้ไม่ได้หมายถึงสามารถกดข่มได้อย่างยอดเยี่ยมหรือพิจารณาทีเดียวเกิดปัญญารู้แจ้ง แต่หมายถึงประสิทธิภาพสูงสุดที่จะสามารถทำได้ของคนนั้นๆ บางคนมีปัญญาต่อกิเลสในเรื่องนั้นๆ 50% การรักษาสภาพที่พอดีพอเหมาะสูงสุดอาจจะหมายถึง สมถะ 0 วิปัสสนา 100 หรือสมถะ 80 วิปัสสนา 20 ก็เป็นได้ และการเจริญจาก 50% ไปสู่ 51% ก็อาจจะเป็นความเจริญสูงสุดที่คนผู้นั้นทำได้ ณ เวลานั้นก็เป็นได้
เพราะศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้กระทำความดับในทันที แต่สอนให้เกิดปัญญาไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด โดยใช้ไตรสิกขาคืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเพื่อช่วยก้าวข้ามกิเลสสามภพ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ซึ่งสภาพของกิเลสในแต่ละภพนี้เองก็คือความหยาบ กลาง ละเอียดไปโดยลำดับ
เราไม่สามารถใช้สมถะในการทำลายภพของกิเลสเหล่านี้ได้ เพราะสมถะทำได้อย่างมากก็แค่กดข่ม แต่จะสามารถกดข่มได้กี่ภพกี่ชาตินั้นไม่รู้ ส่วนตัวที่จะทำลายภพชาติของกิเลสจริงๆนั้นคือวิปัสสนา ดังนั้นเมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรง ประมาณกำลังให้เหมาะก็จะมีทิศทางที่จะเจริญไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงผลสุดท้ายคือสภาพหลุดพ้นจากกิเลสหรือวิมุตติในที่สุด
8). สับสนสมถะวิปัสสนา
ในปัจจุบันมีความสับสนในวิธีการปฏิบัติของสมถะและวิปัสสนาอยู่มาก ทั้งในส่วนของบัญญัติภาษาและในส่วนของการปฏิบัติ
ในส่วนของบัญญัติภาษา มีอยู่มากที่เรียกสมถะของตนว่าวิปัสสนา ตั้งชื่อว่าวิปัสสนาแบบนั้นแบบนี้ แต่พอปฏิบัติก็ใช้การกดข่มจิตเข้ามาเป็นหลักในการปฏิบัติ หรือทั้งสมถะและวิปัสสนาของเขาก็เป็นแค่สมถะ แต่ไปแตกวิธีปฏิบัติสมถะว่านั่งสมาธิ แล้วหมายเอาว่าการใช้ธรรมเข้ามาพิจารณากดข่มกิเลสนั้นเป็นวิปัสสนา คือถ้าอยู่ในแนวทางของอุบายทางใจนั่นก็คือสมถะทั้งหมด จะตั้งชื่ออย่างไรก็แล้วแต่ แต่โดยสัจจะมันก็สมถะอยู่ดี
ถามว่าทำได้ไหม มันก็ทำได้ แต่ก็น่าจะเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนา ไม่ใช่ปฏิบัติแต่สมถะและสมถะ แบบนี้มันก็พากันไปติดภพเท่านั้นเอง วิปัสสนาก็ยังเข้าใจไม่ได้ แล้วยังเข้าใจผิดไปอีก แบบนี้จะติดอีกนานแสนนาน
ในส่วนของการปฏิบัตินั้นมีความสับสนอยู่มากเช่นเดียวกับบัญญัติภาษา บางคนก็กล่าวหาว่าการคิดนั้นผิด ทั้งๆที่วิปัสสนานั้นเป็นการคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา ซึ่งโดยมากจะเป็นสายสมถะที่กระทำแต่การหยุดคิดแล้วหมายเอาการหยุดคิดนั้นเป็นวิปัสสนา มันก็เลยสับสนเช่นนี้
ถ้าหนักๆเข้าก็ข่มว่าวิปัสสนานั้นเอาแต่คิด ยิ่งคิดยิ่งฟุ้งซ่าน ซึ่งมันก็ถูกอย่างที่เขาว่า แต่ถ้าจะบอกว่าผิดทางนั้นก็ตอบว่าไม่ใช่ เพราะวิปัสสนาไม่ใช่ภพของการกดข่ม ไม่ได้ทำเพื่อความสงบอย่างสมถะ คนที่ติดสมถะและไม่มีปัญญาวิปัสสนาก็จะไม่เข้าใจการชำแหละกิเลสด้วยปัญญาจากความฟุ้งเหล่านั้น ที่มันฟุ้งซ่านเพราะมันมีกิเลส วิปัสสนานั้นกระทำต่อกิเลส ไม่ได้กระทำต่อความฟุ้งซ่านดังเช่นสมถะวิธี
เมื่อผู้ทำสมถะไม่ได้เรียนรู้วิปัสสนาก็จะไม่เข้าใจและพากันตีทิ้งวิปัสสนา เข้าไปติดภพ ติดสงบ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติเพราะสภาพสงบของสมถะมันสบายจริงๆ มันไม่ต้องคิด ไม่ต้องเอาภาระ ไม่ต้องอะไรมาก เหมาะจะเอาไว้พักจิต ซึ่งสรุปแล้วมันก็เป็นเพียงแค่อุบายทางใจเอาไว้พักเมื่อคิดพิจารณาทำลายกิเลสด้วยวิปัสสนาจนหัวร้อนนั่นแหละประมาณว่าเป็นที่พักริมทางเมื่อต้องเดินทางไกล
ทีนี้บางคนติดสบายก็หมายเอาสมถะเข้ามาเป็นทางปฏิบัติ หนักเข้าก็หมายว่าเป็นทางบรรลุธรรม ตีทิ้งวิปัสสนาไปเลยก็มีเหมือนกัน ถ้าจะยืนยันกันก็มีหลักฐานมากมายในยุคพุทธกาล ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าเทศน์โปรดหลายท่านไม่กี่ประโยคก็บรรลุธรรมได้ นั่นเพราะท่าน “คิด” พิจารณาตามโดยแยบคาย เห็นไหม คนที่มีอินทรีย์พละแก่กล้าไม่จำเป็นต้องใช้สมถะเลย
บางคนที่เข้าใจสมถะและวิปัสสนาอย่างผิวเผิน พอปฏิบัติมันก็แยกไม่ออก ปนเปกันไป ทำสมถะอยู่แต่ก็เข้าใจว่าทำวิปัสสนา หรือพวกที่วิปัสสนาก็เรียนรู้เพียงทฤษฏี คือรู้โดยภาษานะว่าวิปัสสนาเป็นอย่างไร แต่พอปฏิบัติก็กลายเป็นสมถะหมด
– – – – – – – – – – – – – – –
5.4.2558